'คอกช้างดิน' กลุ่มโบราณสถานเขตวัฒนธรรมพราหมณ์-ฮินดู ในเมืองโบราณอู่ทอง
เมืองโบราณอู่ทองและปริมณฑล ถือเป็นพื้นที่ที่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของสยามเทศะ นักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ให้ความสนใจศึกษาค้นคว้ามาเป็นเวลานานแล้ว และได้มีการสํารวจทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถาน รวมทั้งได้ทำการบูรณะโบราณสถานสำคัญๆ ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ - ๒๕๑๐
‘คอกช้างดิน’ กลุ่มโบราณสถานเขตวัฒนธรรมพราหมณ์-ฮินดู ในเมืองโบราณอู่ทอง
พรเทพ เฮง
เมืองโบราณอู่ทองและปริมณฑล ถือเป็นพื้นที่ที่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของสยามเทศะ นักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ให้ความสนใจศึกษาค้นคว้ามาเป็นเวลานานแล้ว และได้มีการสํารวจทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถาน รวมทั้งได้ทำการบูรณะโบราณสถานสำคัญๆ ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ - ๒๕๑๐
ในบริเวณพื้นที่นอกเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองโบราณอู่ทองที่เชิงเขาคอก ห่างออกไปประมาณ ๕ กิโลเมตร มีแนวดิ่ง ก่อสร้างด้วยดินที่น่าสนใจอีก ๒ จุด คือแนวคันดินเป็นทางยาวคดเคี้ยวเรียกกันว่า ถนนท้าวอู่ทอง ด้วยเหตุที่เชื่อกันมาแต่เดิมว่าเป็นถนนโบราณของเมืองแห่งนี้จุดหนึ่ง และกลุ่มโบราณสถานที่ส่วนหนึ่งมีร่องรอยเป็นแนวคันดินรูปเกือกม้า อันเป็นที่ตั้งกลุ่มโบราณสถานที่เรียกว่า ‘คอกช้างดิน’ บ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณนี้นอกจากจะมีศักยภาพในทางวิชาการสูง ซึ่งเดิมเชื่อกันว่าเป็นคอกขังช้างสมัยทวารวดี แต่จากการดําเนินงานศึกษาทางโบราณคดีในยุคต่อมา ทำให้ได้ข้อมูลใหม่ที่นําไปสู่ข้อสันนิษฐานที่ว่า คอกช้างดิน โบราณสถานที่เป็นคันดินรูปเกือกม้า ดังที่เชื่อกันว่าเป็นคอกขังช้างในสมัยทวารวดีนั้น แท้จริงแล้วน่าจะเป็นที่สำหรับเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคมากกว่า
ทั้งนี้เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในจุดที่สามารถจะรับน้ำจากธารน้ำตกพุม่วงได้เป็นอย่างดี ประกอบกับได้พบร่องรอยของคันดินที่กรุด้วยก้อนหิน ที่ใช้สำหรับบังคับน้ำให้ไหลเข้าสู่คอกช้างดิน นอกจากคอกช้างดินที่สร้างเป็นคันดินแล้ว ในบริเวณดังกล่าวยังมีโบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐ หิน และศิลาแลงกระจายอยู่ตั้งแต่บนยอดเขาคอก จนถึงที่ราบเชิงเขาอีกจำนวนไม่น้อยกว่า ๓๐ แห่ง และจากการดําเนินงานขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดีที่ผ่านมาในโบราณสถานหมายเลข ๕, ๖, ๗ และ ๑๓ ทำให้เชื่อได้ว่า โบราณสถานดังกล่าว สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์
กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดิน ตั้งอยู่ที่เชิงเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาคอก ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของวนอุทยานพุม่วง ในท้องที่ตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ห่างจากเมืองเก่าอู่ทองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ ๓ กิโลเมตร สภาพพื้นที่ของกลุ่มโบราณสถานประกอบไปด้วยภูเขา (เขาคอก) และที่ลาดเชิงเขา พื้นที่มีความลาดเอียงจากเชิงเขาสู่ที่ราบทางทิศตะวันออกและทิศใต้ ภูมิประเทศเป็นป่าเบญจพรรณ ลักษณะดินเป็นดินลูกรังผสมเศษหิน มีน้ำตกพุม่วงซึ่งเป็นน้ำตกขนาดเล็กเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของพื้นที่ เดิมน้ำตกนี้จะมีน้ำในช่วงฤดูฝน แต่ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทำให้น้ำตกไม่มีน้ำไหลมาหลายปีแล้ว
ห่างออกไปจากพื้นที่กลุ่มโบราณสถานทางทิศใต้ ประมาณ ๒ กิโลเมตร มีแม่น้ำจระเข้สามพันไหลผ่าน จากการศึกษาสภาพภูมิประเทศจากภาพถ่ายทางอากาศพบว่า ในอดีตนั้นแนวการไหลของแม่น้ำจระเข้สามพัน อยู่ใกล้ชิดติดกับพื้นที่โบราณคอกช้างดินมากกว่าปัจจุบัน แต่ต่อมาแม่น้ำเกิดเปลี่ยนทางเดินทำให้เกิดผลกระทบกับกลุ่มโบราณสถานคอกช้างดิน และเมืองโบราณอู่ทอง
คอกช้างดิน เป็นโบราณสถานแท่นฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลงขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๒ เมตร กรมศิลปากรขุดค้นโบราณสถานแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้พบมุขลึงค์หินเขียว ๑ องค์ ประดิษฐานอยู่บนแท่นหินฐานแห่งนี้

แผนที่เมืองโบราณอู่ทอง มีกลุ่มโบราณคอกช้างดิน
การได้พบมุขลึงค์ซึ่งเป็นรูปเคารพแทนพระศิวะ แสดงให้เห็นว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด มีอายุอยู่ในสมัยทวารวดี
อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งมีขนาดใหญ่อายุสมัย ๑,๑๐๐ - ๑,๖๐๐ ปีมาแล้ว โดยมีแหล่งน้ำสำคัญคือ พุม่วง และจระเข้สามพัน ในบริเวณเขตอุทยานพุม่วง มีพื้นที่หนึ่งที่มีลักษณะเป็นแนวคันดินรูปโค้งเกือกม้า ก่อด้วยอิฐแลงสูงจากผิวดิน ชาวบ้านเข้าใจและเรียกพื้นที่นี้ว่า คอกช้างดิน ด้วยเข้าใจว่าน่าจะเป็นคอกเพนียดคล้องช้างของคนโบราณ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ นักโบราณคดีบอกว่า ที่นี่คือ แหล่งกักน้ำเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ และใช้ในการเกษตรกรรม ที่เรียกกันว่า บาราย ที่มีอายุสมัยทวารวดี ตามความเชื่อในทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะไม่ไกลจากที่นี้มากนัก มีทางน้ำที่ใช้แนวหินบีบเข้าสู่บาราย และมีศาสนสถานที่ทำจากหินกรวด

กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดิน
บารายนี้แสดงถึงความชาญฉลาดของคนโบราณ ในการเปลี่ยนอู่ทองที่เป็นพื้นที่แล้งน้ำ ให้กลายเป็นพื้นที่การเกษตรกรรม ส่งผลให้มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น จนทำให้เมืองอู่ทองโบราณมีความเจริญรุ่งเรืองมากเมืองแรกๆ ของพื้นที่แถบนี้
จุดเริ่มต้นทางการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีมีขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ คอกช้างดิน ได้รับการสำรวจโดย ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งในเวลานั้นสันนิษฐานว่า พูนดินวงกลมนั้นอาจเป็นคอกช้างสมัยโบราณ
ต่อมา พอล วิทลีย์ (Paul Wheatley) นักภูมิศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก และเป็นศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เบิร์กลีย์ ยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน และมหาวิทยาลัยชิคาโก ตามลำดับ เสนอข้อสันนิษฐานว่า เมืองโบราณอู่ทองอาจเป็น ‘จินหลิน’ และเชื่อว่าบริเวณคอกช้างดินเป็นเพนียดคล้องช้าง (จินหลิน ตามบันทึกจีนราวพุทธศตวรรษที่ ๘ ระบุว่า ตั้งอยู่บนอ่าวใหญ่ ห่างจากฟูนันไปทางทิศตะวันตก ๒,๐๐๐ ลี้ (ราว ๑,๐๐๐ กิโลเมตร) มีทะเลชางไฮคั่นอยู่ ทางทิศเหนือของจินหลินคือ บูหลุน อยู่ห่างจากฟูนันไปทางทิศตะวันตก ๒,๐๐๐ ลี้ เช่นเดียวกัน จินหลินมีแร่เงิน พลเมืองมาก และชอบจับช้าง เมื่อจับได้เป็นๆ ก็ใช้เป็นพาหนะ ครั้นช้างตายก็ถอดเอางา
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ สมศักดิ์ รัตนกุล ภัณฑารักษ์ประจำหน่วยศิลปากรที่ ๒ ได้ขุดค้นที่โบราณสถาน ๒ แห่ง จึงได้พบภาชนะดินเผาบรรจุเหรียญเงินทวารวดีประทับลายสังข์จำนวนมากที่โบราณสถานหมายเลข ๑๘ และพบมุขลึงค์ที่โบราณสถานหมายเลข ๕ พร้อมยังเสนอว่า คอกช้างดินอาจเป็น ‘สระเก็บน้ำ’ ไม่ใช่ ‘เพนียดคล้องช้าง’
ผ่านมาอีก ๓๑ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงได้มีการทำแผนปฏิบัติการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่โบราณสถานคอกช้างดิน มีการศึกษาและอนุรักษ์เมืองแห่งนี้ในปีงบประมาณ โดยในเวลานั้น สายันต์ ไพรชาญจิตร์ ได้เป็นผู้ขุดค้นโบราณสถานต่างๆ ได้แก่ โบราณสถานหมายเลข ๓ และ ๗
ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้มีการขุดค้นเพิ่มเติมที่โบราณสถานหมายเลข ๖ ซึ่งได้พบโบราณวัตถุหลายประเภทโดยเฉพาะภาชนะดินเผาที่ไม่ต่างจากโบราณสถานแห่งอื่นๆ ผลจากการสำรวจในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้พบโบราณสถานทั้งหมด ๒๐ กลุ่มใหญ่ๆ ในเขตคอกช้างดิน และในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงได้มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง โบราณคดีคอกช้างดิน
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ประมวลข้อมูลและสังเคราะห์แหล่งโบราณคดีคอกช้างดิน ผ่านภูมิวัฒนธรรม และการจัดการน้ำในสมัยโบราณ ไว้ว่า
‘….ในสมัยทวารวดี พบว่า ชุมชนโบราณมีการตั้งถิ่นฐานอยู่ ๒ แบบ คือ ที่ลาดเขาและที่ราบลุ่ม ซึ่งด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันจึงทำให้มีรูปแบบการจัดการน้ำที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่พื้นที่ลาดเขาใกล้กับตะพัง เดิมเคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์แต่ถูกซ้อนทับด้วยวัฒนธรรมแบบทวารวดีในสมัยต่อมา
เมืองนี้พบว่ามีการสร้างสระน้ำและคูเมืองล้อมรอบเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและยังใช้เป็นตัวกำหนดขอบเขตของเมืองโบราณ ส่วนนอกเมืองออกไปยังพบการจัดการน้ำอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การกักเก็บน้ำใน ‘คอกช้างดิน’ ซึ่งเป็นวิธีการยกคันดินให้สูงขึ้นถึงสิบเมตรเพื่อใช้เก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยมีการสร้างทางน้ำจากบนเขาเชื่อมลงมาที่คอกช้างดินอีกทอดหนึ่ง
นอกจากนี้ ในพื้นที่ดังกล่าวยังมีการขุดพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และแสดงให้เห็นว่าเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพวกฮินดูในสมัยทวารวดี ในขณะที่ตัวเมืองโบราณอู่ทองนั้นเป็นเมืองพุทธศาสนาโดยมีศูนย์กลางของพื้นที่อยู่ที่เขาศักดิ์สิทธิ์บริเวณวัดเขาพระศรีสรรเพชรญารามในปัจจุบัน....’
สำหรับที่ตั้งของเมืองโบราณอู่ทอง ในความเห็นของอาจารย์ศรีศักร ก็คือศูนย์กลางของสุวรรณภูมิ มีโบราณสถานและวัตถุสิ่งของสนับสนุนมากกว่าที่อื่นๆ นอกจากตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมแล้ว ยังเป็นเส้นทางที่ข้ามคาบสมุทร จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียมายังฝั่งทะเลจีนในอ่าวไทย
เนื่องจากชุมชนบริเวณเมืองอู่ทองมีพัฒนาการมาจากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยทวารวดีที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนภายนอก ทั้งทางบก ทางเรือ โดยคงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ระหว่างช่วงพุทธศตวรรษที่ ๘ – ๑๒ หลังจากนั้นจึงค่อยลดบทบาทเป็นเมืองรองจากนครปฐม ก่อนที่จะร้างไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยอาจารย์ศรีศักรได้เท้าความถึงการศึกษาตีความคอกช้างดินว่า คอกช้างดิน เดิมเริ่มแรกเชื่อกันว่าเป็นบริเวณที่จับหรือขังช้าง แต่เมื่อมีการศึกษาและวิจัยสภาพดิน จึงเห็นว่าน่าจะเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ในเมืองอู่ทอง
นอกเหนือจากโบราณสถานที่กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สนับสนุนแล้ว สิ่งหนึ่งที่พบเห็นในแถบนี้เช่นเดียวกันคือ คอกช้างดิน ซึ่งแต่เดิมนั้นเข้าใจกันว่าเป็นที่กักขังช้าง แต่เมื่อมีการศึกษาลงลึก จึงพบว่าแท้จริงแล้วเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณในการเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในเมือง
‘….เชิงเขารอบๆ ตรงเขตถ้ำเสือจะมีเนินดินสูงเรียกว่า คอกช้างดิน มี ๒ - ๓ คอกช้าง ลักษณะคอกช้างเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า บาราย ใช้เก็บกักน้ำไว้บนผิวดิน เพราะบริเวณอู่ทองนี้เป็นที่แล้งน้ำ จำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้ คือการทำคันดิน ทั้งชะลอน้ำ แยกน้ำ แบ่งน้ำ น้ำนี้เขาเน้นเป็นน้ำกินน้ำใช้ในเมือง ไม่ใช่น้ำเพื่อการเกษตรกรรม

เนินดินสูงเรียกว่า คอกช้างดิน หรือ โบราณสถานคอกช้างดิน
เราจึงพบว่าบริเวณนี้เป็นที่พบกันระหว่างวัฒนธรรมสองแบบ แบบหนึ่งที่มาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน ตั้งแต่เวียดนามเหนือลงมาแล้วมาจากทางทะเลด้วย อีกทางหนึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มาจากอินเดีย ขณะที่เราพบลูกปัดเหล่านี้ ก็พบภาชนะอย่างหนึ่งที่เป็นภาชนะสำริดมีลวดลายประดับ เป็นรูปควาย เป็นรูปลวดลายสัญลักษณ์ และเป็นรูปผู้หญิงที่แสดงให้เห็นถึงในยุคนั้นคนที่อยู่ในช่วงของประวัติศาสตร์ในยุคเหล็ก ทรงผมเป็นแบบอินเดีย ไม่ใช่ล้าหลังอย่างที่เราคิด
ชิ้นส่วนภาชนะแบบนี้จะพบอีกแห่งหนึ่งที่จอมบึง มีลวดลายของผู้หญิง เห็นทรวดทรงที่หน้าอกใหญ่ เอวคอด ซึ่งเป็นลักษณะสรีระของคนอินเดียโดยตรง หลักฐานต่างๆ เหล่านี้ทำให้เห็นชัดว่า อายุของอู่ทองและบริเวณใกล้เคียงมีอายุเข้าไปถึงตั้งแต่ ๒,๕๐๐ ปีลงมา แล้วยุคนี้เป็นยุคที่มีคนอินเดียเข้ามาในบริเวณนี้ ตรงกับยุคที่เราเรียกว่า ‘สุวรรณภูมิ’ เพราะเรื่องราวปรากฏอยู่ในตำนานในคัมภีร์โบราณของอินเดียที่พูดถึงสุวรรณภูมิ....’

ชิ้นส่วนภาชนะลวดลายของผู้หญิง เห็นทรวดทรงที่หน้าอกใหญ่ เอวคอด
อาจารย์ศรีศักรชี้ว่า บริเวณ ‘คอกช้างดิน’ อยู่บริเวณตะวันตกของเมืองอู่ทองเป็นแหล่งที่สำคัญ ซึ่งเป็นจุดที่จะอธิบายให้เห็นถึงความเป็นสุวรรณภูมิและสิ่งที่ต่อเนื่องได้อย่างชัดเจน ผ่านดินดอนสามเหลี่ยมเก่าตั้งแต่ชัยนาทลงมาถึงสิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี เป็นดินดอนสามเหลี่ยมเก่า พบร่องรอยของเมืองโบราณสมัยทวารวดี ลพบุรีจากเขตนี้
‘….บริเวณนี้ในสมัยหลังเป็นเส้นทางคมนาคมโบราณ แม้กระทั่งการเดินทัพในสมัยพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาก็ต้องผ่านบริเวณนี้ ผ่านอู่ทองอ้อมไปยังเขตดอนเจดีย์เป็นเส้นทางโบราณ เมืองนี้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเส้นทางคมนาคม ตำแหน่งของเมืองอู่ทองเรือเข้ามาจอดเทียบท่าได้และเป็นแหล่งที่ชุมนุมทางที่มาจากทางเหนือ สินค้าต่างๆ จะมาจากทางนี้ทางตะวันตก จึงเป็นจุดที่มีคนอยู่มาตลอด
การตั้งถิ่นฐานอย่าไปมองที่ตัวเมืองอู่ทองแต่ควรดูที่ปริมณฑล ตรงลำน้ำจระเข้สามพัน ตรงนี้เป็นที่ราบลุ่ม มีแนวเส้นทางการเปลี่ยนปรับทางน้ำ โดยการใช้คันดินบีบน้ำไม่ให้ลงที่ราบลุ่มกว้างแต่บีบให้ลงจระเข้สามพัน เพราะมีการเปลี่ยนแปลง คันดินนี้เขาเรียก ‘ถนนท้าวอู่ทอง’ ใกล้กับบริเวณนี้มีซอกเขาที่ ‘เขาคอก’ มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญเรียกว่า ‘คอกช้างดิน’ เป็นการตีความของคนปัจจุบัน แต่ถ้ามองจากหลักฐานทางโบราณคดี อันนี้เป็นแทงค์น้ำหรือสระน้ำขนาดใหญ่ซึ่งมีหลายแห่งในบริเวณนี้ แหล่งน้ำนี้เป็นแหล่งของชุมชนที่เป็นฮินดู เพราะว่าพบร่องรอยของโบราณสถานแบบฮินดูเต็มไปหมด ทำให้รู้ว่าเมืองอู่ทองในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ลงมา เป็นเมืองที่เป็นนานาชาติ เพราะมีคนหลากหลายด้วยศาสนาและหลายถิ่นฐานเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เหมือนกับอยุธยา
เวลาสำรวจรอบๆ เมืองอู่ทอง มีชุมชนมากมายเหลือเกิน ตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิ ฟูนัน เรื่อยมาจนถึงทวารวดี แต่จะมารุ่งเรืองถึงขีดสุดก็คือในยุคของทวารวดี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๓ จะเจริญมาก ก็จะเห็นการจัดการน้ำในบริเวณนี้ การที่พบคอกช้างก็ดี หรือแนวคันดินก็ดี ทำให้ได้ความว่า สมัยก่อนนี้เขามีการจัดการน้ำ น้ำจะมาจากที่สูง จะทำอย่างไรให้น้ำเหล่านี้มาใช้ในการอุปโภคบริโภคจึงทำแท้งค์น้ำขึ้นมา
แล้วขณะเดียวกันลำน้ำจระเข้สามพันซึ่งไหลมานี้ มีการเปลี่ยนทางลงมาทางที่ราบลุ่มก็ทำคันดินเพื่อเบนน้ำให้เข้ามาสู่ที่เดิม น้ำเหล่านี้ก่อนที่จะแห้งลงไป พื้นที่ทั้งสองฝั่งใช้ในการปลูกข้าว ในการปลูกข้าวของคนสมัยโบราณไม่ใช่ปลูกข้าวนาปรังตามที่เห็น เป็นนาปี แล้วทำในลักษณะที่เรียกว่าเป็นนาทาม ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่ที่ลุ่มมาก เขาใช้คันดินกักไว้แล้วเขาก็ปลูกข้าว อันนี้จะปรากฏตามผังของเมืองโบราณเป็นจำนวนมาก
ตรงนี้คือบริเวณคอกช้างท่านจะเห็นว่าใกล้ๆ กับคอกช้าง อ่างเก็บน้ำมีศาสนสถานเยอะเลย ถึงได้รู้ว่าเป็นของฮินดู แต่ขณะเดียวกันศาสนาหลักระยะหลังคือพุทธศาสนา จะพบซากพระสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่เต็มพื้นที่....’
สำหรับโบราณวัตถุที่พบจากกลุ่มโบราณสถานคอกช้างดิน เมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาคอก นอกคูเมืองโบราณอู่ทอง ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๓ กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร พบโบราณสถานทั้งหมด ๒๐ กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วยโบราณสถานที่สร้างเป็นคันดิน และโบราณสถานที่สร้างด้วยโครงสร้างอิฐ ศิลาแลง และหิน
กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดินที่สร้างเป็นคันดินมีทั้งหมด ๔ แห่ง ลักษณะเป็นคันดินคล้ายอ่างเก็บน้ำ เดิมเชื่อว่าเป็นคอกขังช้างหรือเพนียดคล้องช้าง แต่ปัจจุบันพบหลักฐานจากการดำเนินงานทางโบราณคดีที่โบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ พบว่าสร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลมาจากเขาคอกทางทิศเหนือ
โบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐ ศิลาแลง และหิน ตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขาคอก ปัจจุบันปรากฏเป็นเนินดิน แบ่งเป็นกลุ่มได้ ๑๖ กลุ่ม ส่วนมากยังไม่ได้ขุดศึกษา โบราณสถานคอกช้างดินที่สร้างด้วยอิฐ ศิลาแลง และหิน ซึ่งผ่านการดำเนินงานทางโบราณคดีมาแล้วและพบหลักฐานที่สำคัญ มีดังนี้
• โบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๕ ผ่านการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ เอกมุขลึงค์
• โบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๖ ผ่านการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ ขันสำริด เชิงเทียนสำริด ตุ้มเหล็ก และแท่งเหล็ก เป็นต้น
• โบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๗ ผ่านการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ ภาชนะดินเผาบรรจุแท่งเงินตัด เหรียญเงินมีจารึก ‘ศรีทวารดี ศวรปุณยะ’ เหรียญเงินมีสัญลักษณ์มงคล (รูปหอยสังข์ รูปศรีวัตสะ รูปพระอาทิตย์) ชิ้นส่วนหัวงูดินเผา เครื่องถ้วยจีน เคลือบสีเขียวสมัยราชวงศ์ถัง เป็นต้น
• โบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๑๓ ผ่านการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ แผ่นเหล็กคล้าย ใบมีดเหล็ก แหวนสำริด แม่พิมพ์หรือเบ้าหลอมดินเผา เป็นต้น
• โบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๑๘ ผ่านการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ กระปุกดินเผาบรรจุเหรียญเงิน เป็นต้น
สำหรับโบราณวัตถุที่สำคัญ ซึ่งได้รับการจัดสรรจำแนกนำมาสังเคราะห์เปรียบเทียบและตีความยุคสมัยของพื้นที่กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดินโดยภาพรวม ซึ่งได้ข้อสรุปว่า กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดินมีทั้งส่วนที่เป็นคันดินสำหรับกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค
และส่วนที่เป็นอาคารศาสนสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เนื่องจากพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไศวนิกาย สัมพันธ์กับการเลือกใช้ภูเขาเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเปรียบเสมือนเขาไกรลาศ ที่ประทับของพระศิวะ พื้นที่บริเวณคอกช้างดินจึงน่าจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำพิธีกรรมของพราหมณ์ในไศวนิกาย

เอกมุขลึงค์ พบที่โบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๕
ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
โบราณวัตถุชิ้นสำคัญของกลุ่มโบราณสถานคอกช้างดินทั้งหมดมี ดังนี้
• ชิ้นส่วนภาชนะมีพวย เป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินส่วนปาก คอ และบ่า มีพวยหนึ่งข้าง สันนิษฐานว่าป็นภาชนะสำหรับใช้สรงน้ำในพิธีกรรม โบราณวัตถุชิ้นนี้พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๓
• ศิวลึงค์ เป็นศิวลึงค์ที่ทำจากหินขนาดสูง เพียง ๑๘.๕ เซนติเมตร ส่วนฐานเป็นแท่งสี่เหลี่ยมส่วนปลายเป็นแท่งกลมมน เนื่องจากเป็นศิวลึงค์ขนาดเล็ก จึงสันนิษฐานว่าอาจไม่ใช่ศิวลึงค์ประจำศาสนสถาน แต่สามารถพกพาเพื่อนำไปประกอบพิธีกรรมหรือบูชาได้

ภาชนะดินเผาบรรจุเหรียญเงินตราสังข์ ส่วนคอแคบสูง ภายในบรรจุเหรียญเงินตราสังข์
พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๑๘
• ภาชนะดินเผาบรรจุเหรียญเงินตราสังข์ เป็นภาชนะดินเผา ส่วนลำตัวคล้ายบาตรพระ ส่วนคอแคบสูง ภายในบรรจุเหรียญเงินตราสังข์เต็มกระปุก พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๑๘
• ขัน เป็นขันสำริดทรงกระบอก เนื้อหนาผิวไม่สม่ำเสมอ สันนิษฐานว่าขึ้นรูปด้วยการตี และเป็นเครื่องใช้ในพิธีกรรม โบราณวัตถุชิ้นนี้พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๖
• เชิงเทียน เป็นเชิงเทียนสำริด สันนิษฐานว่าขึ้นรูปด้วยการตี และเป็นเครื่องใช้ ในพิธีกรรม พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๖
• ตุ้มเหล็ก เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู สภาพไม่สมบูรณ์ มีสนิมกินทั้งชิ้น ไม่ทราบลักษณะการใช้งาน แต่สันนิษฐานว่าเป็นตุ้มถ่วงชั่งน้ำหนัก พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๖
• แท่งเหล็ก เป็นแท่งเหล็กเรียวยาวสภาพไม่สมบูรณ์ มีสนิม ไม่ทราบลักษณะการใช้งาน แต่สันนิษฐานว่าเป็นคานที่ใช้กับเครื่องชั่งน้ำหนัก เนื่องจากพบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๖ ใกล้กับตุ้มเหล็ก
• ใบมีด ? เป็นแผ่นเหล็กแบนยาว ด้านหนึ่งบางกว่าอีกด้าน คล้ายกับใบมีด มีสนิมเกาะทั้งแผ่น พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๑๓
• แหวน เป็นเส้นลวดขดเกลียวเป็นเส้น และขดเป็นวงแหวน ไม่ทราบ ลักษณะการใช้งานที่แท้จริง สันนิษฐานว่าอาจเป็นของใช้ในพิธีกรรม พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๑๓
• เบ้าหลอมเป็นแผ่นดินเผา มีหลุมตรงกลาง สันนิษฐานว่าเป็นเบ้าหลอมหรือ แม่พิมพ์ พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๑๓
ส่วนโบราณวัตถุชิ้นสำคัญจากโบราณสถานคอกช้างดินคือ เหรียญรูปสังข์บรรจุภายในภาชนะดินเผา จากโบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๑๘ เมืองโบราณอู่ทอง พบจากการขุดศึกษาโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ จัดแสดงห้องโบราณคดีเมืองอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง โบราณวัตถุชิ้นนี้ เป็นเหรียญขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๓ – ๑.๕ เซนติเมตร ลักษณะบางคล้ายเกล็ดปลา ด้านหน้ามีรูปสังข์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลที่หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งลวดลายนี้พบบนเหรียญเงินสมัยทวารวดี ทั้งแบบที่มีรูปสังข์หน้าเดียว และแบบที่มีรูปสังข์ – ศรีวัตสะอยู่คนละด้าน
ส่วนด้านหลังเรียบไม่มีลาย เหรียญอยู่ในสภาพชำรุด และติดกันแน่นเป็นกลุ่มอยู่กับดินบริเวณส่วนคอของภาชนะดินเผาทรงกลมที่มีคอสูง กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
สำหรับโบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๑๘ เมืองโบราณอู่ทองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู มีลักษณะเป็นเนินดินที่มีวัสดุโครงสร้างของโบราณสถานได้แก่ ศิลาแลง ก้อนหินปูน และอิฐ กระจายอยู่ทั่วเนินดิน โดยพบภาชนะดินเผาดังกล่าวในลักษณะวางตั้งตรง ส่วนคอมีรอยแตก สามารถแยกออกจากลำตัวได้ ภายในมีเหรียญรูปสังข์บรรจุอยู่เต็ม เหรียญเกาะตัวกันแน่นจนไม่สามารถนำออกมาได้ ต่อมามีการนำเหรียญดังกล่าวออกจากตัวภาชนะ คงเหลือเพียงเหรียญที่ติดแน่นบริเวณส่วนคอจนกระทั่งปัจจุบัน
นักโบราณคดีที่ทำการศึกษาวิจัยสันนิษฐานว่า เหรียญรูปสังข์พร้อมภาชนะดินเผานี้ ทำขึ้นสำหรับใช้ในการประกอบพิธีกรรม หรืออาจเกี่ยวข้องกับการวางฤกษ์ศาสนสถาน การบรรจุเหรียญลงในภาชนะดินเผาแล้วฝังไว้บริเวณศาสนสถาน ยังพบที่โบราณสถานแห่งอื่นด้วย เช่น เหรียญเงินมีจารึก ‘ศรีทวารดี ศวรปุณยะ’ เหรียญมีสัญลักษณ์มงคล และแท่งเงินตัดบรรจุในภาชนะดินเผาพบที่โบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๗ และเหรียญรูปสังข์บรรจุในภาชนะดินเผาร่วมกับพระพิมพ์พบที่โบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง เป็นต้น
ภูมิวัฒนธรรมของเขตคอกดินช้าง-เขาพระ-เมืองอู่ทอง อาจารย์ศรีศักรได้ใช้แนวความคิดนิเวศวัฒนธรรมเข้ามาสังเคราะห์ตีความออกมาว่า
‘….อู่ทอง ตั้งอยู่บนเนินเขาที่ทำเป็นแกนของชุมชนนี้เขาทำเป็นเชิงเขา เรียกว่า เขาทำเทียม มันมีพบรอยสลักที่เป็นภาษาสันสกฤตที่เรียกว่า ปุษยคีรี คือแปลว่าเขาดอกไม้ แล้วความสำคัญของเขานี้อยู่ที่เขาพระ แล้วที่ตีนเขาพระนี้เป็นแหล่งพุทธศาสนา เพราะว่านอกจากพบพระสถูปแบบพุทธศาสนาแล้ว ยังพบพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่สลักแกะด้วยหิน เป็นพระพุทธรูปแบบแรกๆ ปัจจุบันนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เขตนี้เป็นเขตฮินดู ถ้าหากว่าลงไปตามลำน้ำ ลำน้ำจระเข้สามพันอยู่ทางขวามือเป็นที่ต่ำ ตามลำน้ำนี้เป็นการตั้งถิ่นฐานของคนในพุทธศาสนามาก ถัดจากนี้ก็กระจายกันไปทั่ว แต่ว่าพุทธศาสนาจะสำคัญมาก เพราะว่าต่อเนื่องและมีจำนวนมากกว่า
เขตนี้เป็นเขตฮินดู ถ้าหากว่าลงไปตามลำน้ำ ลำน้ำจระเข้สามพันอยู่ทางขวามือเป็นที่ต่ำ ตามลำน้ำนี้เป็นการตั้งถิ่นฐานของคนในพุทธศาสนามาก ถัดจากนี้ก็กระจายกันไปทั่ว แต่ว่าพุทธศาสนาจะสำคัญมาก เพราะว่าต่อเนื่องและมีจำนวนมากกว่า
บริเวณที่เป็น ‘เขาคอก’ นี้ อ่างเก็บแบบโบราณที่เรียกว่า ‘บาราย’ คำว่าบารายหมายความว่าต้องเก็บน้ำบนผิวดิน มีคำเป็นภาษาสันสกฤตมาแบบนี้ ถ้าไปดูที่อีสาน บารายในอีสานพื้นที่กว้างครึ่งกิโลเมตรก็มี แต่ที่นี่เล็กเพราะว่าพื้นที่จำกัดจึงทำขอบอ่างให้มันสูงขึ้นเพื่อที่จะเก็บน้ำให้ได้ปริมาตรมาก เป็นลักษณะของการตั้งถิ่นฐานตรงนี้

เหรียญเงินมีจารึก ‘ศรีทวารดี ศวรปุณยะ’ และเหรียญมีสัญลักษณ์มงคล
แล้วลำน้ำนี้ใช้ในการติดต่อกับคมนาคมจากลำน้ำหนึ่งไปอีกลำน้ำหนึ่ง พอมาถึงตรงนี้เป็นที่ๆ ขนาดใหญ่ แต่ก่อนเป็นลุ่มน้ำมาก ทำนาทำไร่ไม่ได้แต่มาทำทีหลัง แล้วเส้นทางนี้จากอู่ทองนี้ไปพบกับลำน้ำท่าจีน สมัยก่อนนี้ลำน้ำท่าจีนเป็นเวิ้งน้ำใหญ่เรือโบราณจะเข้าไปมาที่หน้าเมืองอู่ทอง แล้วเมืองอู่ทองตั้งอยู่บนที่ชายเกาะที่สูง รอบๆ เมืองอู่ทองเลยขึ้นไปเป็นที่ตั้งถิ่นฐานทั้งสิ้น
ผังบริเวณที่เป็นคอกช้างดินที่เราไป นี้คือโบราณวัตถุที่เราไปพบเป็นเงินตราที่เป็นสัญลักษณ์ของอินเดียที่เป็นรูปศรีวัตสะ เป็นรูปหอยสังข์ซึ่งมีมาก ลักษณะการใช้เงินนี้ในยุคทวารวดีนี้คล้ายๆ กับของอินเดียที่เรียกว่าพวก ‘กษาปณะ’ คือเขาจะบิเงินออกเป็นส่วน คือเขาจะตัดเงินออกมา เพราะเงินเป็นวัตถุที่มีค่า แล้วน้ำหนักเท่าไหร่ก็จะว่ากัน นี่เป็นความก้าวหน้า แต่ว่าที่นี่พบพวกเงินที่เป็นหอยสังข์เยอะ

ต่างหูทำจากเหล็กและตะกั่ว
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
การพบโบราณวัตถุที่สำคัญก็คือ ของในราชวงศ์ถัง มีการติดต่อกับราชวงศ์ถัง นี้เป็นพวกลูกปัด และดวงตราที่ใช้เป็นแบบนี้ เป็นเงินตราที่พบในบริเวณนี้ จากนี้ไปมีการค้าที่เจริญแล้ว พวกเครื่องปั้นดินเผานี้เป็นรุ่นทวารวดี เป็นอิทธิพลของอินเดียที่เป็นพวยกาขึ้นมา ที่รู้ว่าเป็นฮินดูที่ชัดเจน คือศาสนสถานที่พบเขาจะประดิษฐานรูปเคารพ ‘ศิวลึงค์’ นี้คือเครื่องหมายของพระศิวะ ตรงนี้เป็นฐานโยนี ตรงนี้เป็นศิวลึงค์ ศิวลึงค์นี้มีสามภาคด้วยกัน แต่ว่าอันนี้เป็นรุ่นแรกๆ เพราะจะมีรูปพระศิวะอยู่ตรงนี้ โบราณวัตถุแบบนี้เป็นของยุคแรกๆ
นี่คือโบราณวัตถุที่พบที่เมืองอู่ทอง ของเหล่านี้เป็นแท่งศิวลึงค์ทั้งสิ้นในยุคต่างๆ ลักษณะยังเป็นของที่ใกล้กับธรรมชาติ ศิวลึงค์ที่แท้จริงนี่ที่เห็นเป็นตรีมูรตินี้จะมาพบแบบนี้ ที่จริงแล้วเป็นลักษณะแรกๆ ชิ้นนี้เป็นรุทรภาคคือจะรูปกลม ถัดไปรุ่นหลังนี้ทำเป็นแปดเหลี่ยมเขาเรียกวิษณุภาค ถัดไปต่ำสุดคือพรหมภาค ทั้งสามอันเป็นพระเจ้าองค์เดียวกัน เขาเรียกตรีมูรติ
ระยะแรกจะให้ความสำคัญคล้ายคลึงกับธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับเรื่องรูปกลมก่อน รูปกลมนี้หมายถึงพระศิวะ พระศิวะเป็นเทพเจ้าแห่งการทำลาย พระพรหมเป็นผู้สร้าง พระนารายณ์เป็นผู้รักษา ค่อนข้างจะสมบูรณ์ที่เป็นมูรติที่สมบูรณ์และจะพบในครั้งหลังมาก ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องหมายทางจักรวาลด้วย
นี่คือของแรกๆ ซึ่งพบที่อู่ทองที่สำคัญ เหมือนกับพบที่ออกแอว* และที่อื่น เป็นมุขลึงค์ คำว่ามุขลึงค์หมายความว่า ตั้งอยู่บนฐานโยนีและยังมีรูปพระศิวะตั้งอยู่ข้างหน้าเรียกมุขลึงค์ ของที่เรียกว่ามุขลึงค์นี้จะพบในระยะแรกๆ ที่เป็นฮินดู อันนี้เป็นโบราณวัตถุที่พบในเขตอู่ทอง ให้สังเกตว่าเป็นดินเผาที่เก่ามาก ให้เห็นลักษณะอิทธิพลอินเดียที่เข้ามา พวกนี้จะนุ่งผ้าโจงกระเบนมีชายสั้นและมีชายผ้าลงมา แต่งตัวมีตุ้มหู แต่ทรวดทรงเป็นของอินเดีย เอวคอด หน้าอกใหญ่นี่เป็นเรื่องของอินเดีย
ตุ๊กตาที่พบในเขตนี้ และพวกเงินตรา จะมีอีกชนิดหนึ่ง นี่คือตุ้มหู ในตัวตุ้มหูนี้เป็นเงินตราชนิดหนึ่ง จะเห็นว่าหนักมากคือเป็นโลหะใช้ทำตุ้มหูด้วย ทำไมตุ้มหูถึงใหญ่และหนักเพราะอะไรทราบไหม เพราะคนโบราณต้องการเจาะหูเพื่อให้ยาน เจาะเสร็จก็ถ่วงให้ยาน แล้วน้ำหนักก็เอามาใช้เป็นเงินตราได้ เพราะพวกนี้เอาไปเป็นพิมพ์หล่อเป็นพวกดีบุกตะกั่ว แล้วอันนี้เป็นหินกึ่งธรรมชาติเอามาเป็นเครื่องลูกปัด แวดินเผา ซึ่งใช้ในการปั่นฝ้าย ทำให้รู้ว่าในสมัยนี้มีผ้าใช้แล้วมีการทอเป็นกึ่งอุตสาหกรรมแล้ว....’
เพราะฉะนั้นกล่าวโดยสรุปกลุ่มโบราณสถานคอกช้างดิน ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาคอก ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองโบราณอู่ทอง เป็นพื้นที่ทางโบราณคดีที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่ง เป็นกลุ่มโบราณสถานที่ร่วมสมัยกับเมืองโบราณอู่ทองและน่าจะมีความสัมพันธ์กับเมืองอู่ทอง ในฐานะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นที่ตั้งศาสนสถานและใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของศาสนาพราหมณ์
จากการสํารวจพื้นที่บริเวณนี้ได้พบโบราณสถานทั้งหมด ๒๐ กลุ่มใหญ่ด้วยกัน แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือโบราณสถานที่สร้างด้วยดิน และโบราณสถานที่มีโครงสร้างก่อด้วยอิฐศิลาแลงและหิน โบราณสถานที่สร้างด้วยดินหรือที่เรียกกันว่า คอกช้างดิน มีจำนวน ๔ แห่ง ลักษณะคล้ายอ่างเก็บน้ำหรือบ่อน้ำมีคันดินล้อมรอบรูปร่างและลักษณะแตกต่างกันไป

กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดินก่อด้วยอิฐ ศิลาแลงและหิน
จากรูปร่างและลักษณะของตัวโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่โต ทำให้ดูคล้ายคอกขังช้าง ประกอบกับจดหมายเหตุสมัยราชวงศ์เหลียงของจีนที่กล่าวถึงรัฐจินหลินและการคล้องช้างป่า ทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่าคอกช้างดินทั้ง ๔ แห่งนี้ เป็นเพนียดคล้องช้างหรือคอกขังช้างสมัยทวารวดี แต่หลักฐานจากการศึกษาทางด้านโบราณคดีที่ผ่านมาสามารถสรุปได้ว่า คอกช้าง ดินทั้ง ๔ แห่งนี้น่าจะใช้ประโยชน์ในการกักเก็บน้ำ หรือเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์มากกว่าที่จะใช้เป็นเพนียดหรือคอกขังช้าง
ส่วนโบราณสถานที่มีโครงสร้างก่อด้วยอิฐศิลาแลงและหิน ที่พบจำนวน ๑๖ กลุ่มนั้น จากการขุดค้นศึกษาที่ผ่านมา พบว่าโบราณสถานส่วนหนึ่งเป็นศาสนาสถานหรือเทวาลัยเนื่องในศาสนาพราหมณ์ และจากการขุดค้นศึกษาพื้นที่อยู่อาศัยบริเวณริมห้วยน้ำตกพุม่วงพบว่า พื้นที่บริเวณนี้ มีร่องรอยการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างต่อเนื่องในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔
กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดินก่อด้วยอิฐ ศิลาแลงและหิน
ดังนั้นโบราณสถานคอกช้างดินทั้ง ๔ แห่ง หรือ ๔ คอกนี้ น่าจะเป็นเขื่อนกักเก็บน้ำ หรือสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่ในบริเวณนี้จึงเป็นเขตที่อยู่อาศัยและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ตั้งเทวาลัยเพื่อประกอบพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ และเป็นที่อยู่อาศัยของนักบวช พราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดูแลเทวสถานอีกด้วย
อ้างอิง
‘อาจารย์ศรีศักรพาเที่ยวอู่ทอง-สุวรรณภูมิ’ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
‘ภูมิวัฒนธรรม และการจัดการน้ำในสมัยโบราณ: ทวารวดี - รัตนโกสินทร์’ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
'ข้อมูลใหม่สุวรรณภูมิ พาเที่ยวที่อู่ทอง' อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
'โบราณคดีคอกช้างดิน' สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๒ สุพรรณบุรี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ปีพ.ศ. ๒๕๔๕
'โบราณคดีเมืองอู่ทอง' สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๒ สุพรรณบุรี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ปี พ.ศ. ๒๕๔๕
'รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานเมืองเก่าอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี' กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙
'การขุดแต่งโบราณสถานด้านทิศเหนือของคอกช้างดิน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี' สมศักดิ์ รัตนกุล วารสารศิลปากร ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๒ เดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๕๑๐
'เหรียญรูปสังข์บรรจุภายในภาชนะดินเผา จากโบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๑๘ เมืองโบราณอู่ทอง' พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
'ศาสนสถานและสิ่งก่อสร้างบนเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์เมืองอู่ทอง: ผลการสำรวจ ทางโบราณคดีบนเขตภูเขานอกเมืองอู่ทอง พ.ศ. ๒๕๖๒' สุภมาศ ดวงสกุล และคณะ