ผู้เข้าชม
0
11 ธันวาคม 2567

เมืองโบราณอู่ทองและปริมณฑล ถือเป็นพื้นที่ที่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของสยามเทศะ นักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ให้ความสนใจศึกษาค้นคว้ามาเป็นเวลานานแล้ว และได้มีการสํารวจทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถาน รวมทั้งได้ทำการบูรณะโบราณสถานสำคัญๆ ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ - ๒๕๑๐ 

ในบริเวณพื้นที่นอกเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองโบราณอู่ทองที่เชิงเขาคอก ห่างออกไปประมาณ ๕ กิโลเมตร มีแนวดิ่ง ก่อสร้างด้วยดินที่น่าสนใจอีก ๒ จุด คือแนวคันดินเป็นทางยาวคดเคี้ยวเรียกกันว่า ถนนท้าวอู่ทอง ด้วยเหตุที่เชื่อกันมาแต่เดิมว่าเป็นถนนโบราณของเมืองแห่งนี้จุดหนึ่ง และกลุ่มโบราณสถานที่ส่วนหนึ่งมีร่องรอยเป็นแนวคันดินรูปเกือกม้า อันเป็นที่ตั้งกลุ่มโบราณสถานที่เรียกว่า ‘คอกช้างดิน’ บ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณนี้นอกจากจะมีศักยภาพในทางวิชาการสูง ซึ่งเดิมเชื่อกันว่าเป็นคอกขังช้างสมัยทวารวดี แต่จากการดําเนินงานศึกษาทางโบราณคดีในยุคต่อมา ทำให้ได้ข้อมูลใหม่ที่นําไปสู่ข้อสันนิษฐานที่ว่า คอกช้างดิน โบราณสถานที่เป็นคันดินรูปเกือกม้า ดังที่เชื่อกันว่าเป็นคอกขังช้างในสมัยทวารวดีนั้น แท้จริงแล้วน่าจะเป็นที่สำหรับเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคมากกว่า 

ทั้งนี้เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในจุดที่สามารถจะรับน้ำจากธารน้ำตกพุม่วงได้เป็นอย่างดี ประกอบกับได้พบร่องรอยของคันดินที่กรุด้วยก้อนหิน ที่ใช้สำหรับบังคับน้ำให้ไหลเข้าสู่คอกช้างดิน นอกจากคอกช้างดินที่สร้างเป็นคันดินแล้ว ในบริเวณดังกล่าวยังมีโบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐ หิน และศิลาแลงกระจายอยู่ตั้งแต่บนยอดเขาคอก จนถึงที่ราบเชิงเขาอีกจำนวนไม่น้อยกว่า ๓๐ แห่ง และจากการดําเนินงานขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดีที่ผ่านมาในโบราณสถานหมายเลข ๕, ๖, ๗ และ ๑๓ ทำให้เชื่อได้ว่า โบราณสถานดังกล่าว สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์

กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดิน ตั้งอยู่ที่เชิงเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาคอก ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของวนอุทยานพุม่วง ในท้องที่ตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ห่างจากเมืองเก่าอู่ทองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ ๓ กิโลเมตร สภาพพื้นที่ของกลุ่มโบราณสถานประกอบไปด้วยภูเขา (เขาคอก) และที่ลาดเชิงเขา พื้นที่มีความลาดเอียงจากเชิงเขาสู่ที่ราบทางทิศตะวันออกและทิศใต้ ภูมิประเทศเป็นป่าเบญจพรรณ ลักษณะดินเป็นดินลูกรังผสมเศษหิน มีน้ำตกพุม่วงซึ่งเป็นน้ำตกขนาดเล็กเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของพื้นที่ เดิมน้ำตกนี้จะมีน้ำในช่วงฤดูฝน แต่ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทำให้น้ำตกไม่มีน้ำไหลมาหลายปีแล้ว 

ห่างออกไปจากพื้นที่กลุ่มโบราณสถานทางทิศใต้ ประมาณ ๒ กิโลเมตร มีแม่น้ำจระเข้สามพันไหลผ่าน จากการศึกษาสภาพภูมิประเทศจากภาพถ่ายทางอากาศพบว่า ในอดีตนั้นแนวการไหลของแม่น้ำจระเข้สามพัน อยู่ใกล้ชิดติดกับพื้นที่โบราณคอกช้างดินมากกว่าปัจจุบัน แต่ต่อมาแม่น้ำเกิดเปลี่ยนทางเดินทำให้เกิดผลกระทบกับกลุ่มโบราณสถานคอกช้างดิน และเมืองโบราณอู่ทอง

คอกช้างดิน เป็นโบราณสถานแท่นฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลงขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๒ เมตร กรมศิลปากรขุดค้นโบราณสถานแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้พบมุขลึงค์หินเขียว ๑ องค์ ประดิษฐานอยู่บนแท่นหินฐานแห่งนี้ 
 


แผนที่เมืองโบราณอู่ทอง มีกลุ่มโบราณคอกช้างดิน
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่มา: เมืองโบราณ