ผู้เข้าชม
0

พิพิธภัณฑมหาวีรวงศ์ ของดีในย่านเมืองเก่าโคราชที่เงียบแต่งาม

พิพิธภัณฑสถานสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ อาคารชั้นเดียวทรงไทยประยุกต์ จัดแสดงโบราณวัตถุ ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และวัฒนธรรมต่างๆตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ อาทิ สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเป็นโบราณวัตถุที่ได้จากแหล่งขุดโบราณคดี โบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสิ่งของที่ประชาชนบริจาคให้เพิ่มเติมในภายหลังด้วย
16 กันยายน 2566


 

 

พิพิธภัณฑ์มหาวีรวงศ์ 

ของดีในย่านเมืองเก่าโคราช

ที่เงียบแต่งาม

พชรพงษ์ พุฒซ้อน

หน้าที่ 1/5

 

พิพิธภัณฑสถานสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ จังหวัดนครราชสีมา อาคารชั้นเดียวทรงไทยประยุกต์ ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา ในพื้นที่ของวัดสุทธจินดาวรวิหาร ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ภายนอกคูเมืองเก่าด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นคูเมืองที่สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ชื่อของ พิพิธภัณฑ์สถานสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ นั้นมาจากชื่อของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)

เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ริเริ่มก่อตั้ง อดีตพระเถระสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาส วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อำเภอเมืองอุบลราชธานี , วัดสุทธจินดาวรวิหาร มณฑลนครราชสีมา , วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ และวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ  โดยมีตำแหน่งและสมณศักดิ์ เป็นถึงสังฆนายกรูปแรกแห่งประเทศไทย

 

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาวรวิหาร ได้มอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ท่านรวบรวมไว้ให้กับกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาค้นคว้าจัดแสดง และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน  กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์สถานขึ้น เป็นอาคารชั้นเดียวทรงไทยประยุกต์ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ และเปิดบริการให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่  ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๗

ภายในพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และวัฒนธรรมต่างๆตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ อาทิ สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์  โดยเป็นโบราณวัตถุที่ได้จากแหล่งขุดโบราณคดี โบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา เช่น บ้านปราสาท บ้านดอนขวาง เมืองเสมา และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสิ่งของที่ประชาชนบริจาคให้เพิ่มเติมในภายหลังด้วย

หน้าที่ 2/5

โบราณวัตถุที่น่าสนใจในพิพิธภัณฑ์มีหลายอย่าง เช่น

กลองมโหระทึก ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยสำริด อายุประมาณ ๒,๐๐๐ - ๒,๔๐๐ ปี ขนาด สูง ๔๐ เซนติเมตร กว้าง ๗๒ เซนติเมตร พบในที่นาของนายหลั่น พรหมเสน อำเภอปักธงชัย ลวดลายหน้ากลอง ตรงกลางหน้ากลองมีลายดาวหรือดวงอาทิตย์ ๑๒ แฉก ระหว่างแฉกมีลายหางนกยูงคั่นล้อมรอบด้วยวงกลม ๑ วง แถวลายซี่หวี ลายบุคคลสวมเครื่องประดับศีรษะ ตกแต่งด้วยขนนก ลายนกกระสาบินทวนเข็มนาฬิกา ลายบุคคลสวมเครื่องประดับศีรษะตกแต่งด้วยขนนกนั่งในเรือ ซึ่งอาจมีความหมายถึง เรือส่งวิญญาณ

พระพุทธรูปยืน ศิลปะทวารวดี อายุประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕  หินทราย สูง ๑๕๕ เซนติเมตร กว้าง  ๕๒ เซนติเมตร พบที่ บ้านดอนขวาง ตำบลทัพรั้ง พบโดยกรมทหารช่างที่ ๑๑ ชุดปฏิบัติการที่ ๒ โครงการน้ำพระทัยจากในหลวง (อีสานเขียว) ในขณะขุดลอก

มีลักษณะ พระองค์ตั้งตรง พระหัตถ์และพระบาทหักหายไปทั้งสองข้าง ทรงแสดงปางวิตรรกะ (ประทานธรรม) พระโอษฐ์สลักเป็นร่องลงไปและแสดงอาการยิ้ม พระกรรณค่อนข้างยาว ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดขนาดใหญ่

หน้าที่ 3/5

ทับหลังสลักรูปเทวดานพเคราะห์ ศิลปะลพบุรี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗    หินทราย ขนาด กว้าง ๒๕ เซนติเมตร ยาว ๑๑๓ เซนติเมตร หนา ๒๙ เซนติเมตร สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ประทานให้กรมศิลปากร มีลักษณะแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สลักภาพเทวดานพเคราะห์จำนวน ๙ องค์อยู่ในซุ้ม แต่ละองค์ประทับอยู่บนสัตว์พาหนะ ยกเว้นพระราหู แผ่นหินสลักนี้คล้ายกับทับหลังที่ใช้ประดับอยู่บนกรอบประตูของปราสาทแบบเขมร แต่แผ่นหินนี้มีขนาดเล็กกว่ามาก

พระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธินาคปรก  ศิลปะอยุธยา อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐เป็นสำริด สูง ๙๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๕๖ เซนติเมตร  สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ประทานให้กรมศิลปากร   ลักษณะพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่องปางสมาธิประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปสี่เหลี่ยม พระเนตรเปิด เหลือบมองต่ำ พระโอษฐ์ค่อนข้างหนา พระกรรณยาวสวมกุณฑลหรือตุ้มหู ทรงสวมมงกุฎทรงกรวยหรือชฎามกุฎ  สวมกรองศอ พาหุรัด กำไลข้อพระกร หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางบนพระเพลา ขอบสบงเว้าต่ำ ประทับนั่งบนขนดนาคสามชั้น มีเศียรนาคเจ็ดเศียร แผ่พังพานอยู่ด้านบน

พระพุทธรูปทรงเครื่องปางป่าเลไลยก์ ศิลปะอยุธยา อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ –๒๓  เป็นไม้ สูง ๑๓๙ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๔๓.๘ เซนติเมตร  โดยพระครูสิริธรรมาทร เจ้าอาวาสวัดสะแก เจ้าคณะอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕  ลักษณะ พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ประทับนั่งบนฐานบัวหงาย ห้อยพระบาททั้งสองข้างบนฐานสี่เหลี่ยมยกสูง  พระพักตร์รูปไข่ พระเนตรเหลือบมองต่ำ ปลายพระเนตรชี้ขึ้น พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็ก พระหัตถ์ขวาวางคว่ำ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระชานุ สันนิษฐานว่า สร้างรูปช้างและวานรประกอบที่ฐานด้านหน้า แต่หลุดหายไป เป็นพระพุทธรูปที่ฉลองพระองค์ทรงเครื่องขัตติยราชแบบกษัตริย์ เช่น สวมมงกุฎ กรองศอ ทับทรวง ฉลองพระบาท ฯลฯ โดยเป็นที่นิยมสร้างกันมากในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และแบ่งออกได้เป็น ๒ แบบ คือ แบบทรงเครื่องใหญ่ และแบบทรงเครื่องน้อย

ภายในพื้นที่จัดแสดงด้านในยังมีโบราณวัตถุที่น่าสนใจนอกเหนือจากนี้ อย่างสิ่งของที่ประชาชนมอบให้ ได้แก่  ภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์รูปแบบต่างๆ เครื่องมือเครื่องใช้สำริด เครื่องถ้วยจีน ตลอดจนศิลปะพื้นบ้านอีสาน   และมีศิลปวัตถุที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ อย่าง พระเก้าอี้ ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาแล้ว 3 รัชกาลด้วยกัน คือ

1. รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี เสด็จมาทำพิธีเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา พ.ศ.2443

2. รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พิธีฉลองโล่ห์กองทหารม้า พ.ศ.2446

3. รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คราวเสด็จประพาสเมืองนครราชสีมา พ.ศ.2498

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปท่องเที่ยวเยี่ยมชม ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ใจกลางเมืองจังหวัดนครราชสีมา

การบริการ- การเข้าชม มีอัตราค่าธรรมเนียมเข้าชม

  • ประชาชนชาวไทย คนละ 10 บาท
  • ชาวต่างประเทศ คนละ 50 บาท
  • นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ พระภิกษุ-สามเณร ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม

เวลาปิด-เปิด

  • เปิดทำการวันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 09.00 - 16.00 น.
  • หยุดประจำสัปดาห์ วันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
หน้าที่ 4/5

คำสำคัญ : อ้วน ติสฺโส,พิพิธภัณฑมหาวีรวงศ์

พชรพงษ์ พุฒซ้อน
อีเมล์: [email protected]
เจ้าหน้าที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะมนุษยศาสตรและสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
หน้าที่ 5/5