ปราสาทสด๊กก๊อกธม นัยยะบ่งชี้ความแตกต่างระดับโครงสร้างข้างบน อันเป็นเรื่องของศาสนา การเมือง และสถาบันกษัตริย์แบบศาสนาฮินดูและพุทธ
ปราสาทสด๊กก๊อกธม อยู่ห่างจากชายแดนประเทศไทย - ประเทศกัมพูชา เป็นระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร เดิมเรียกว่าปราสาทเมืองพร้าว ต่อมาเรียกว่า ปราสาทสด๊อกก๊อกธม คำว่า สด๊กก๊อกธม เป็นภาษาเขมร คำว่า สด๊ก มาจากคำว่า สด๊อก แปลว่า รก ทึบ คำว่า ก๊อก แปลว่า ต้นกก และคำว่า ธม แปลว่า ใหญ่ ดังนั้น สด๊กก๊อกธม จึงแปลว่า รกไปด้วยต้นกกขนาดใหญ่
ปราสาทสด๊กก๊อกธม นัยยะบ่งชี้ความแตกต่างระดับโครงสร้างข้างบน
อันเป็นเรื่องของศาสนา การเมือง และสถาบันกษัตริย์แบบศาสนาฮินดูและพุทธ
พรเทพ เฮง
ทางเดินที่มีเสานางเรียง ผ่านโคปุระ เข้าไปสู่ปราสาทประธาน
ปราสาทสด๊กก๊อกธม อยู่ห่างจากชายแดนประเทศไทย - ประเทศกัมพูชา เป็นระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร เดิมเรียกว่าปราสาทเมืองพร้าว ต่อมาเรียกว่า ปราสาทสด๊กก๊อกธม คำว่า สด๊กก๊อกธม เป็นภาษาเขมร คำว่า สด๊ก มาจากคำว่า สด๊อก แปลว่า รก ทึบ คำว่า ก๊อก แปลว่า ต้นกก และคำว่า ธม แปลว่า ใหญ่ ดังนั้น สด๊กก๊อกธม จึงแปลว่า รกไปด้วยต้นกกขนาดใหญ่
เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ขณะนั้นจังหวัดสระแก้วยังเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรี และแถบชายแดนตะวันออกติดกับ ราชอาณาจักรกัมพูชายังระอุด้วยไฟสงครามของอุดมการณ์ทางการเมือง อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เคยได้ออกสำรวจปราสาทสด๊กก๊อกธม พร้อมกับกลุ่มนักศึกษาโบราณคดีในยุคนั้น ซึ่งถือว่าเป็นการสำรวจยุคแรกๆ ที่เป็นไปตามหลักระเบียบวิธีวิจัยทางวิชาการของไทย
ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นโบราณสถานขอมที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออก ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เพื่อใช้ประดิษฐานรูปเคารพและใช้ประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ทั้งนี้คำว่า ‘สด๊กก๊อกธม’ นั้น หมายถึง ‘เมืองที่มีต้นกกขึ้นรกในหนองน้ำใหญ่’ และในปัจจุบันเค้าลางของความหมายนี้ ก็ยังพอมองเห็นได้จากหนองน้ำใหญ่ที่น่าจะเป็นร่องรอยของอดีตตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก
หนองน้ำขนาดใหญ่บริเวณปราสาทสด๊กก๊อกธม
บรรณาลัยภายในเขตปราสาทสด๊กก๊อกธม
อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหญ้าแก้ว ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว มีอายุกว่า ๙๐๐ ปี กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ แต่เนื่องจากภัย-ธรรมชาติและการสู้รบตามแนวชายแดนทำให้ปราสาทแห่งนี้รกร้างยาวนาน
ในพุทธศักราช ๒๕๓๘ - ๒๕๕๓ กรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยดำเนินงานทางโบราณคดี และบูรณะปราสาทด้วยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) ซึ่งเป็นวิธีประกอบรูปโบราณสถานขึ้นจากซากปรัก-หักพัง ให้กลับมามีสภาพที่รักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด
ตัวปราสาทสด๊กก๊อกธม ก่อด้วยหินทรายมีโคปุระ หรือซุ้มประตูเหลืออยู่เพียงด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเท่านั้น ภายในระเบียงคดมีบรรณาลัยก่อด้วยหินทราย ๒ หลังอยู่หน้าปราสาทหลังกลางซึ่งเป็นปรางค์ประธาน ส่วนด้านนอกปราสาททางทิศตะวันออก มีสระน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมและมีถนนปูด้วยหินจากตัวปราสาทไปจนถึงสระน้ำ ปราสาทนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้วยความเชื่อที่ว่าทิศตะวันออกเป็นทิศแห่งพลังแสงสว่างและสิริมงคล ส่วนทิศตะวันตกเป็นทิศแห่งความตาย
นอกจากนี้ ผังปราสาทยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องจักรวาลของศาสนาฮินดู โดยมีเขาพระสุเมรุอยู่กึ่งกลางล้อมด้วยห้วงน้ำมหึมา เมื่อเดินเข้าโคปุระด้านทิศตะวันออกของกำแพงแก้ว ผ่านคูน้ำและระเบียงคดเข้าไป จะเท่ากับได้เข้าสู่ใจกลางจักรวาล ซึ่งปรางค์ประธานเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยเสาเป็นปริมณฑลบ่งบอกว่าเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์สูงสุด และภายในปรางค์ประธานนั้น เดิมเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์อันเป็นรูปเคารพแทนองค์พระศิวะ หนึ่งในเทพสูงสุดสามองค์ของฮินดู ปัจจุบันเหลือแต่เพียงฐานโยนีเท่านั้น
สิ่งที่ถือว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญของปราสาทสด๊กก๊อกธม คือการค้นพบศิลาจารึก ๒ หลักที่จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงอายุการสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้ ทั้งยังบอกถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างจารึกหลักที่ ๒ ด้วยว่า พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ได้ปฏิสังขรณ์ปราสาทเมื่อปี พ.ศ. ๑๕๙๕ และกษัตริย์แห่งอาณาจักรขอมได้เป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนา โดยมีพราหมณ์ปุโรหิตเป็นผู้นำศาสนาคอยให้คำปรึกษาแนะนำและเป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้าและกษัตริย์ รวมทั้งประวัติสายสกุลพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีเทวราชา การปฏิบัติพระเทวราชและรูปเคารพ การสร้างหมู่บ้าน การบุญต่างๆ ในศาสนา เป็นต้น โดยปัจจุบันจารึกทั้ง ๒ ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
การศึกษาเรื่องราวของปราสาทสด๊กก๊อกธมนั้น จากวิทยานิพนธ์ ‘ปราสาทสด๊กก๊อกธม : ปราสาทเขมรทรงพุ่มรุ่นแรกในประเทศไทย’ โดย ราฆพ บัณฑิตย์ ได้ให้ข้อมูลถึงรายละเอียดการวิจัยจากหลักฐานที่ปรากฏในข้อความจากศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม ๑ ซึ่งได้ระบุศักราช พ.ศ. ๑๔๘๐ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ กล่าวถึงการกัลปนาข้าทาสให้แก่ศาสนสถานซึ่งตั้งยู่ที่ภัทรปัฏนะ
ครั้นต่อมาสถานที่แห่งนี้ได้ถูกทำลายลงจวบจนถึงปี พ.ศ. ๑๕๙๕ ข้อความศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม ๒ ระบุถึงการฟื้นฟูพื้นที่แห่งนี้อีก โดยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ เพื่อประทานแก่พราหมณ์สทาศิวะผู้เป็นพระอาจารย์และเกี่ยวดองเป็นพระญาติ พร้อมทั้งให้สร้างศาสนสถานปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้ ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า ‘ภัทรนิเกตน’
จากการกำหนดโครงสร้างทางศิลปกรรมนั้น ได้พบหลักฐานที่สำคัญที่สนับสนุนให้ปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้ ซึ่งเคยถูกทำลายจากผลของระเบิดและการโจรกรรมขนย้ายโบราณวัตถุ สิ่งนั้นคือ กลีบขนุนรูปนาค ซึ่งใช้เป็นส่วนประดับที่สำคัญของโครงสร้างที่ชี้ให้เห็นถึงการคลี่คลายและพัฒนารูปแบบของทรงปราสาทประธานที่เคยประดับด้วยปราสาทจำลองมาสู่ปราสาททรงพุ่ม
ศิลาจารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม ๒
ระบุว่าปฏิสังขรณ์ปราสาทเมื่อปี พ.ศ. ๑๕๙๕
แผนผังจำลองปราสาทสด๊กก๊อกธม
ซึ่งที่ผ่านมาเคยทราบกันว่าปราสาทหินพิมายที่มีอายุอ่อนกว่าปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้ เป็นปราสาททรงพุ่มหลักแรกในศิลปะเขมร แต่ผลจากการศึกษาครั้งนี้เองจึงทำให้ทราบว่านอกเหนือจากปราสาทหินพิมายแล้ว ปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้ ควรที่จะให้อยู่ในกลุ่มปราสาทศิลปะเขมรในประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นทรงพุ่มรุ่นแรกด้วยเช่นกัน
สำหรับคติการสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นคติการจำลองจักรวาลของการสร้างศาสนสถานรับผ่องถ่ายความเชื่อที่วัฒนธรรมเขมรรับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดีย โดยเชื่อว่าการสร้างศาสนสถานสำหรับเป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าในศาสนาฮินดู เปรียบเหมือนเป็นที่สถิตของเทพเจ้า คือ เขาพระสุเมรุ อันเป็นแกนกลางของจักรวาล โดยตัวศาสนสถานมีสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ใช้แทนความหมายของภูมิจักรวาล เช่น ปราสาทประธานแทนเขาพระสุเมรุ สระน้ำแทนมหาสมุทรทั้งสี่ การสร้างศาสนสถานเป็นการจำลองจักรวาลมาไว้บนโลกมนุษย์ และเป็นที่สถิตของเทพเจ้า จึงต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ ตามที่กำหนดไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาอย่างเคร่งครัด ศาสนสถานจึงมีขนาดใหญ่โต และใช้เวลาก่อสร้างยาวนาน ซึ่งใช้ในความหมายที่เป็นศูนย์กลางของเมืองหรือชุมชน
ลักษณะแผนผังบริเวณปราสาทสด๊กก๊อกธม แสดงให้เห็นถึงแผนผังการก่อสร้างอาคารที่มีทางเดินมุ่งเข้าสู่จุดศูนย์กลาง ซึ่งลักษณะของแผนผังรูปแบบนี้ เรียกว่า ‘แผนผังที่ใช้แกนเป็นหลัก’ สร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล ตั้งอยู่บนเนินดินสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีองค์ประกอบและความหมายดังนี้
• บาราย เป็นสัญลักษณ์ที่เปรียบเทียบเสมือนมหานทีสีทันดร บารายเป็นที่เก็บน้ำขนาดใหญ่สำหรับการอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม
• สระน้ำรูปปีกกา สัญลักษณ์ที่เปรียบเสมือน มหาสมุทรทั้งสี่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ
• ทางดำเนิน ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์เปรียบเสมือนสะพานสายรุ้ง คือเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์
• ประสาทประธาน เป็นอาคารจุดศูนย์กลางของปราสาทสด๊กก๊อกธม เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุหรือเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระศิวะ และภายในปราสาทประธานเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ ที่เป็นรูปเคารพแทนองค์พระศิวะ
ปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว
‘ภูมิวัฒนธรรมของการตั้งถิ่นฐานสมัยโบราณกับเมืองหน้าด่านตะวันออก’ บทความที่สังเคราะห์ความรู้ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้ขยายภาพเพ่งไปที่บริเวณเขตสันปันน้ำด้านตะวันออกของภูมิภาคนี้ที่เป็นรอยต่อของราชอาณาจักรกัมพูชาไว้ว่า
‘… กลุ่มชุมชนบริเวณตาพระยาซึ่งพื้นที่เป็นแบบที่ราบลุ่มสลับภูเขาลูกโดด ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับเทือกเขาพนมดงเร็กลง มาทางใต้จนจดเขตตำบลโคกสูง แยกออกได้เป็นสองส่วนคือ อาณาบริเวณด้านทิศเหนือกินพื้นที่ในเขตตำบลนางรอง ตำบลทัพราช ตำบลทัพไทย ตำบลทัพเสด็จ ลงมาถึงตลาดสดตาพระยา พบแหล่งโบราณคดีที่เป็นปราสาทในวัฒนธรรมแบบเขมรทั้งเล็กและใหญ่มากมาย ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่อยู่ในระนาบเดียวกันกับ ‘ปราสาทบันทายฉมาร์’ อันเป็นเมืองใหม่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทางฝั่งกัมพูชา จังหวัดบันเตยเมียนเจยในปัจจุบัน
บริเวณด้านใต้อันเป็นที่ลุ่มต่ำมีลำน้ำสายเล็กๆ และที่เป็นหนองขึงในเขตตำบลหนองปรือ ตำบลหนองแวงลงมาถึงตำบลโคกสูงและตำบลโนนหมากมุ่น บรรดาสายน้ำที่ลงจากเขาและที่สูงในบริเวณนี้ไม่ได้ไหลจากตะวันตกมายังตะวันออกอย่างบริเวณตอนบน หากไหลลงจากทางตะวันตกและทางเหนือลงใต้โดยที่มารวมกันในพื้นที่ตำบลหมากมุ่นก่อนที่จะพากันไหลผ่านเข้าเขตกัมพูชา ไปในเขตจังหวัดบันเตยเมียนเจย ก่อนเข้าบริเวณที่ลุ่มต่ำในเขตเมืองศรีโสภณ
เรียกได้ว่าเป็น พื้นที่รอบเขาอีด่าง อันเป็นพื้นที่ที่มีทั้งเขาลูกโดด เขาเล็กเขาน้อย หนองน้ำขนาดใหญ่และเล็ก รวมถึงพื้นที่โคกเนินที่มีลำน้ำใหญ่น้อยไหลลงจากเขาและที่สูงมากมาย พบชุมชนโบราณสมัยเมืองพระนครกระจายกันอยู่มากมาย มีทั้งปราสาทที่ตั้งอยู่บนเขาและหนองน้ำ สระน้ำจำนวนมาก เช่น ปราสาทเขาโล้น ปราสาทสด๊กก๊อกธม ปราสาทสระแซร์ออ ปราสาททับเซียม เป็นต้น
ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว อายุกำหนดตามจารึกที่พบราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ นับเป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในเขตสันปันน้ำฝั่งตะวันออก เป็นปราสาทที่มีรูปแบบทางศิลปกรรมในช่วงเกลียงต่อกับบาปวน
ชุมชนโบราณและสภาพภูมิประเทศในเขตฟากสันปันน้ำทางตะวันออกนี้ หากใช้ ‘เขาสามสิบ’ เป็นเขาศักดิ์สิทธิ์และเป็นจุดสันปันน้ำ ธารน้ำลำห้วยที่ไหลลงจากเขาและที่สูงจะไหลผ่านลงที่ลุ่มต่ำไปรวมกับลำน้ำพรมโหดไหลผ่านที่ราบลุ่มเข้าสู่บริเวณตัวอำเภออรัญประเทศ อันเป็นจุดที่มีลำห้วยไผ่ไหลผ่านเมืองไผ่มาสมทบ
จากนั้นกลายเป็นลำน้ำรวมที่ไหลผ่านเมืองปอยเปต หรือบันเตียเมียนเจย ลงสู่ที่ราบลุ่มไปยังเมืองศรีโสภณ ถือว่าเป็นสันปันน้ำที่แบ่งเขตภูมิวัฒนธรรมอันมีพัฒนาการของชุมชนโบราณแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์คือยุคเหล็กตอนปลายเข้าสู่สมัยก่อนเมืองพระนคร และเมืองพระนครอย่างชัดเจน
โดยสรุป กล่าวได้ว่าพัฒนาการของบ้านเมืองในเขตบริเวณตอนต้นของลุ่มน้ำบางปะกงบรรดาชุมชนเหล่านี้ มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงยุคหิน เช่นที่โคกพนมดีที่ใช้เครื่องมือหิน ซึ่งสัมพันธ์กับการปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเลเมื่อราว ๔,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว และเข้าสู่ยุคเหล็กตอนปลายเมื่อราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ก่อนจะเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่เมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการอยู่อาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์บ้างไม่เห็นภาพของความเป็นชุมชนที่หนาแน่นแต่อย่างใด
หลุมฝังศพแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี จังหวัดชลบุรี
ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยที่มีการรับอิทธิพลวัฒนธรรมทางศาสนาแล้ว พบว่าชุมชนขนาดใหญ่เช่นที่เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรีและเมืองพระรถที่จังหวัดชลบุรี มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับความเชื่อในศาสนาฮินดูมากกว่าพุทธศาสนาเถรวาทแบบทวารวดีอันอยู่ในช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา ก่อนที่ศิลปวัฒนธรรมแบบเขมรสมัยเมืองพระนครที่มีทั้งศาสนาฮินดูและพุทธมหายานจะแพร่เข้ามาในภายหลัง ซึ่งเห็นได้จากรูปแบบของปราสาทขอมและอโรคยศาล สมัยบายนที่เป็นพุทธมหายานแต่รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ราวสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ก็แพร่หลายเข้ามาเป็นช่วงสุดท้าย และเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ บ้านเมืองทั้งในเขตประเทศไทยและกัมพูชาก็เปลี่ยนมาเป็นพุทธเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์
แต่ในพื้นที่ภาคตะวันออกตอนบนแต่เขตอำเภอวัฒนานคร ที่ลำน้ำลำห้วยจากเขาและที่สูงไหลผ่านอำเภอตาพระยาและอรัญประเทศไปลงทะเลสาบเขมรในเขตกัมพูชานั้น หาได้เป็นบริเวณที่นับถือศาสนาฮินดูเหมือนกันกับชุมชนในลุ่มน้ำปราจีนบุรีหรือลุ่มน้ำบางปะกง แต่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมสมัยก่อนเมืองพระนคร (ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๕) ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘วัฒนธรรมเจนละ’
ผังเมืองโบราณศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี
เพราะพบจารึกหลายหลักในบริเวณนี้ที่สัมพันธ์กับกษัตริย์ในวัฒนธรรมเจนละ เช่น ‘จารึกที่ช่องสระแจง’ ซึ่งกล่าวพระนามของ ‘กษัตริย์มเหนทรวรมัน’ สร้างบ่อน้ำในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบริเวณที่อยู่บนช่องเขาพนมดงเร็ก ซึ่งเป็นเส้นทางเดินทางสู่บ้านเมืองในพื้นราบของอำเภอตาพระยา กษัตริย์มเหนทรวรมันคือพระองค์เดียวกันกับเจ้าชายจิตรเสนวรมันของเจนละบกที่อยู่ในที่ราบสูงโคราช ผู้ทรงจารึกพระนามไว้ตามสถานที่ต่างๆ เมืองต่างๆ สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ต่อมาเจ้าชายจิตรเสนพระองค์นี้ได้เข้ามาเป็นใหญ่ในเจนละน้ำ คือพื้นที่รอบทะเลสาบเขมรในพระนามว่า ‘มเหนทรวร-มัน’ เพราะพระองค์ทรงมีศักดิ์เป็นพระอนุชาของ ‘ศรีภววรมัน’ ผู้เป็นใหญ่ของแคว้นเจนละและเป็นพระราชธิดาของ กษัตริย์อิศานวรมันผู้ครองเมืองสมโบร์ไพรกุก เป็นนครหลวงของเจนละน้ำใกล้กับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
นอกจากจารึกที่กล่าวถึงพระนามของ มเหนทรวรมัน ที่ปราสาทช่องสระแจงแล้ว ยังพบจารึกที่เอ่ยพระนาม ศรีภวรวรมัน ข้อความจากศิลาจารึกได้แสดงให้เห็นภาพเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองหลายบริเวณ คือบริเวณทะเลสาบเขมรและลุ่มน้ำโขงตอนล่าง บริเวณลุ่มน้ำมูล-ชีตอนล่างในเขตลุ่มน้ำโขงตอนบน และบริเวณจังหวัดจันทบุรี
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เสนอว่าบ้านเมืองในบริเวณนี้แสดงให้เห็นความแตกต่างในระดับโครงสร้างข้างบน อันเป็นเรื่องของศาสนา การเมือง และสถาบันกษัตริย์แบบศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ โดยเฉพาะศาสนสถานสำคัญของฮินดูคือ ปราสาทและเทวสถาน ทางพุทธเถรวาทคือ สถูปหรือธาตุ ส่วนโครงสร้างข้างล่าง อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องการตั้งถิ่นฐานและชีวิตในการกินอยู่อาศัยโดยเฉพาะเครื่องมือเครื่องใช้เครื่องประดับ และบรรดาภาชนะลักษณะเป็นวัฒนธรรมแบบทวารวดี
ในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ บ้านเมืองบริเวณนี้ไม่ปรากฏว่าเป็นชุมชนที่เป็นบ้านเมืองสำคัญเช่นในอดีต แต่กลายเป็นเมืองหรือชุมชนเมืองด่านที่อยู่ในเส้นทางข้ามภูมิภาคที่เป็นปากประตูไปสู่บ้านเมืองในเขตเขมรต่ำและบริเวณรอบทะเลสาบเขมร รวมทั้งเป็นเส้นทางเดินทางสู่บ้านเมืองในเขตอีสานใต้โดยใช้ช่องเขาของเทือกเขาพนมดงเร็กผ่านไปสู่บ้านเมืองต่างๆ ในเขตชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะทางจันทบุรีที่สามารถเดินทางเรือเลียบชายฝั่งไปสู่บ้านเมืองโพ้นทะเลต่างๆ ได้…’
จารึกที่ช่องสระแจง กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์ชื่อ มเหนทรวรมัน
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทสด๊กก๊อกธมครั้งแรก ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ วันที่ ๘ มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ต่อมาได้กำหนดเขตพื้นที่โบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนพิเศษ ๘๑ ง วันที่ ๑๕ กันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ รวมพื้นที่โบราณสถาน ๖๔๑ ไร่ ๒ งาน ๘๒ ตารางวา การจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรได้อนุรักษ์ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๖ – ๒๕๕๗ ตามหลักการอนุรักษ์และบูรณะโดยวิธีอนัสติโลซิส บนพื้นฐานของงานโบราณคดี
ฃ
หน้าบันของปราสาท จะเห็นลักษณะของหินที่แตกต่างกัน
จากการบูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซิส
วิทยานิพนธ์ ‘อนัสติโลซิสเพื่อการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม (An anastylosis for the restoration of sdok kok thom temple) โดย วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกเชี่ยวชาญด้านโบราณสถาน เป็นการวิจัยเกี่ยวกับวิธีการอนุรักษ์โบราณสถานประเภทหินที่เรียกว่า อนัสติโลซิส
วิธีการวิจัยได้เริ่มต้นจากการทบทวนสารสนเทศงานวิจัยที่เกี่ยวข้องงานศึกษาในช่วงก่อนหน้านี้ของผู้วิจัยเกี่ยวกับอนัสติ-โลซิส รวบรวมข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งแนวคิดของ ดร.สัญชัย หมายมั่น ผู้เป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ปราสาทหินในประเทศไทย
ข้อมูลจากการทดลองประกอบหินหล่นและการขุดแต่งมาผสมผสานกันเข้าเป็นข้อมูลทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานที่สามารถตรวจสอบและยืนยันได้ ด้วยการศึกษาเปรียบเทียบกับรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรที่มีการเรียงลำดับอายุสมัยไว้แล้วโดยนักวิชาการชาวฝรั่งเศส
จากการวิเคราะห์แต่ละองค์ประกอบทำให้สามารถสรุปได้ว่าสิ่งก่อสร้างของปราสาทสด๊กก๊อกธมที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างยุคสมัยคลังหรือเกลียง และสมัยบาปวน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ สอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ ๒ ซึ่งระบุถึงรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างปราสาทบาปวนขึ้นเป็นปราสาทประจำรัชกาลที่เมืองพระนคร แต่ด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมในบางองค์ประกอบที่ยังคงมีรูปแบบค่อนข้างโน้มเอียงไปในลักษณะของยุคก่อนมากกว่า
จึงสันนิษฐานได้ว่า เป็นการปฏิสังขรณ์เทวาลัยที่มีมาก่อนการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ หรือเป็นการก่อสร้างในช่วงตอนต้นของรัชสมัย โดยมีองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่ให้ข้อมูลสำคัญที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะของยุคสมัยที่ทำการก่อสร้างปราสาท เช่น รูปแบบของปราสาทประธาน และการตั้งเสาหินที่มีลักษณะเหมือนเสานางเรียงขนาดเล็กล้อมรอบปราสาทประธาน เหมือนเป็นการแสดงถึงปริมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์ที่ยังไม่มีหลักฐานปรากฏที่ใดมาก่อน ดังนั้นลักษณะทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของปราสาทสด๊กก๊อกธม จึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบเพื่อกำหนดอายุสมัย
สำหรับประวัติการสำรวจรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเตรียมการจัดทำโครงการอนุรักษ์เป็นครั้งแรกโดยหน่วยศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ และยังได้สำรวจเพื่อประกาศขอบเขตพื้นที่เพิ่มเติมครอบคลุมเนื้อที่ ๖๔๑ ไร่เศษ เพื่อให้ครอบคลุมบริเวณที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ซึ่งได้เริ่มมีการกู้ทุ่นระเบิดโดยกองทัพบก
ตั้งแต่ในช่วงต้นที่กรมศิลปากรเข้ามาดำเนินการสำรวจเตรียมการอนุรักษ์ ในขณะเดียวกันได้เริ่มต้นการสำรวจเขียนแบบสภาพก่อนการอนุรักษ์ ทำผังแสดงชั้นความสูง (contour line) โดยวิธีจ้างเหมา จากนั้นดำเนินการขุดตรวจ กำหนดรหัสหินพร้อมขนย้าย (บริเวณโคปุระตะวันออกชั้นนอก) เขียนแบบสภาพหลังการเคลื่อนย้ายหินในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เริ่มดำเนินการขุดแต่งเคลื่อนย้ายหินหล่น ใช้เวลาดำเนินการมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยระหว่างนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ขณะขุดแต่งโคปุระด้านทิศตะวันออกชั้นนอก ทำแบบรูปสันนิษฐานเพื่อการบูรณะ มีการพบชิ้นส่วนภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ และหินที่มีลวดลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนหน้าบัน
ในปีถัดมา ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้ดำเนินการบูรณะอาคารโคปุระตะวันออกชั้นนอกไป พร้อมกันด้วยโดยยังไม่ได้ทำการวิเคราะห์ทดลองประกอบหินหล่นอย่างเป็นระบบให้ครบถ้วนทั้งหมดก่อน จึงบูรณะได้ขึ้นเพียงหน้าบันชั้นล่างสุด
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ทดลองประกอบหินหล่นทั้งหมด และทำการวิเคราะห์รูปแบบสถาปัตยกรรม ดำเนินการขุดตรวจหาขนาดขอบเขตของสระน้ำ และออกแบบวางแผนการบูรณะปราสาท รวมทั้งฟื้นฟูสระน้ำรอบปราสาท และยังได้ทำการขุดแต่งและบูรณะทางดำเนินด้านหน้าปราสาทเป็นระยะทาง ๖๕ เมตร ต่อมามีการบูรณะตามรูปแบบรายการตามแผนการเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยเริ่มที่อาคารขนาดเล็กก่อน ได้แก่ บรรณาลัย ๒ หลัง ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ดำเนินการบูรณะโคปุระตะวันออกชั้นใน และในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้เริ่มการบูรณะที่ปราสาทประธาน ดำเนินการในส่วนฐาน เรือนธาตุ และส่วนยอดชั้นที่ ๑
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ บูรณะปราสาทประธานสมบูรณ์ทั้งองค์ โคปุระเหนือ โคปุระใต้ ระเบียงคดมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้เฉพาะส่วนฐานศิลาแลง และในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ บูรณะโคปุระตะวันตก ระเบียงคดมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ (เฉพาะส่วนฐานศิลาแลง) ลานศิลาแลงภายในระเบียงคด
งานบูรณะในลำดับต่อมา ได้แก่ โคปุระเหนือ โคปุระใต้ โคปุระตะวันตก ระเบียงคดในส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ ส่วนผนังอาคารและหน้าบัน งานขุดลอกฟื้นฟู สระน้ำรอบปราสาทและด้านหน้าปราสาท กำแพงแก้ว ซุ้ม ประตูทิศตะวันตก ทางดำเนินประดับเสานางเรียงส่วนที่เหลือทั้งด้านในและด้านนอกปราสาท งานปรับปรุงพื้นที่โดยรอบ งานพื้นฟูการกักเก็บน้ำของบาราย งานสื่อความหมายส่วนคันดินโบราณ งานก่อสร้างอาคารศูนย์ข้อมูล อาคารบริการต่างๆ และงานปรับปรุงภูมิทัศน์
จากหลักฐานที่ได้ปรากฏยังตัวบริเวณปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้ วิทยานิพนธ์ ‘ปราสาทสด๊กก๊อกธม: ปราสาทเขมรทรงพุ่มรุ่นแรกในประเทศไทย’ ระบุถึงการศึกษาวิจัยว่า มิได้ปรากฏถึงสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมที่มีอายุเก่าแก่กว่าพุทธ-ศตวรรษที่ ๑๖ ตอนปลายเลย และจากการกําหนดอายุสมัยศิลปะของตัวปราสาทพบว่า ตัวปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้มีลักษณะรูปแบบทางศิลปะตรงกับศิลปะเขมรแบบบาปวน ซึ่งก็เป็นรูปแบบศิลปะที่นิยมและเกิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒
หน้าบันรูปบุคคลสวมต่างหูอยู่ในซุ้มทางด้านขวา
และรูปครุฑมีปีกสองข้าง พบจากปราสาทสด๊กก๊กธม
ปราสาทประธานปราสาทสด๊กก๊อกธม
ฐานไม่มีร่องรอยของการแกะสลักลวดลายใดๆ
เมื่อวิเคราะห์โครงสร้างของปราสาทประธานปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณส่วนฐานของตัวปราสาทประธาน ผู้วิจัยพบว่า ไม่มีร่องรอยของการแกะสลักลวดลายใดๆ ทั้งสิ้น จากหลักฐานเหล่านี้เองจึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า ตัวปราสาทประธานปราสาทสด๊อกก๊อกธมยังคงสร้างไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์
ตามข้อเสนอของผู้วิจัยสันนิษฐานว่า ด้วยสาเหตุที่ตัวปราสาทแห่งนี้มีการสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ คงเนื่องมาจากสาเหตุที่พราหมณ์สทาศิวะ ผู้ซึ่งมีความสําคัญยิ่งได้ถึงแก่อสัญกรรม นอกจากนั้นยังทําให้พบว่าเทคนิคและวิธีการดําเนินงานของช่างเขมรโบราณในการแกะสลักลวดลายต่างๆ ที่จะประดับประดาลงบนตัวอาคารสถาปัตยกรรมนั้น ช่างชาวเขมรโบราณได้มีเทคนิคการแกะสลักหินทราย โดยเริ่มต้นจากบริเวณส่วนบนของตัวอาคารก่อน แล้วจึงได้มีการแกะสลักหินทรายส่วนอื่น ไล่ลงมายังบริเวณส่วนล่างของตัวสถาปัตยกรรม ซึ่งมีตัวอย่างเช่นเดียวกันนี้ที่ปราสาทตาแก้ว เมืองพระนคร
ลักษณะเด่นที่สําคัญของปราสาทประธานปราสาทสด๊กก๊อกธม คือตัวปราสาทประธานควรที่อาจจะจัดได้ว่าเป็นปราสาททรงพุ่มในรุ่นแรกของศิลปกรรมเขมร และอาจถือได้ว่าเป็นปราสาททรงพุ่มที่มีความเก่ากว่าปราสาทหินพิมาย โดยอาศัยหลักฐานข้อความจากศิลาจารึกที่กล่าวถึงปีการสถาปนาปราสาทสด๊กก๊อกธมที่สร้างขึ้นก่อน คือในปี พ.ศ. ๑๕๙๕ แต่การที่จะกล่าวสรุปได้ว่าปราสาทประธานปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้เป็นปราสาททรงพุ่มหลังแรกนั้นคงยังไม่เด่นชัด อันเนื่องด้วยสาเหตุที่ได้มีการค้นพบปราสาทหลังอื่นๆ ที่มีลักษณะการก่อสร้างเป็นทรงพุ่มมาก่อนแล้วด้วยเช่นกัน โดยที่บรรดาปราสาทเหล่านั้นซึ่งได้แก่ ปราสาทตาเมือนธม อําเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ และปราสาทสระกําแพงใหญ่ อําเภออุทุม-พรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับการสถาปนาขึ้นในรัชกาลพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๑ ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าปราสาทสด๊กก๊อกธมทั้งสิ้น
เอกลักษณ์รูปแบบของปราสาทที่มีลักษณะเป็นทรงพุ่มนั้น จึงพอที่จะสรุปได้ว่าน่าที่จะได้เริ่มทําการก่อสร้างและกําเนิดขึ้นในช่วงราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นอย่างน้อย โดยที่ปราสาทสระกําแพงใหญ่ เราได้พบมีการใช้กลีบขนุนรูปนาคและปราสาทจําลองในการประดับชั้นหลังคาอยู่ ส่วนที่ปราสาทตาเมือนธมพบเพียงแต่การใช้กลีบขนุนรูปนาคประดับชั้นหลังเท่านั้น จึงทําให้พอที่จะกล่าวได้ว่าปราสาทสระกําแพงใหญ่คงจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถาปัตยกรรมในศิลปะเขมรที่จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการประดับชั้นหลังคาปราสาทที่เคยใช้ตัวปราสาทจําลองอันเป็นอิทธิพลอินเดีย มาสู่การประดับชั้นหลังคาปราสาทด้วยตัวกลีบขนุนรูปนาค
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบความนิยมของการประดับชั้นหลังคาในสถาปัตยกรรมเขมรนั้น คงมิใช่จะเกิดขึ้นแต่เฉพาะตัวปราสาทประธานเท่านั้น ดังเช่นตัวโคปุระชั้นในด้านทิศตะวันออกของปราสาทก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากการที่เคยประดับชั้นหลังคาด้วยปราสาทจําลองมาสู่การประดับชั้นหลังคาด้วยตัวกลีบขนุนรูปนาคด้วยเช่นกัน ซึ่งการที่โคปุระของปราสาทสด๊กก๊อกธมได้นําเอาตัวกลีบขนุนรูปนาคมาใช้เป็นส่วนประกอบที่สําคัญในการประดับชั้นหลังคานั้น จึงได้ทําให้ตัวโคปุระแห่งนี้กลายเป็นทรงพุ่มด้วยเช่นเดียวกัน จากช่วงเวลานี้เองความนิยมนี้คงได้ส่งผลให้ตัวโคปุระของปราสาทอื่นๆ ในศิลปะเขมรมีรูปร่างที่คล้ายคลึงและสอดคล้องกับรูปทรงของปราสาทประธานด้วย ยกตัวอย่างเช่น ตัวโคปุระของปราสาทบา-ปวน
จากหลักฐานข้อความในศิลาจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ ๒ ได้ทําให้คลี่คลายและทราบว่าปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้ ได้เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย แต่อย่างไรก็ตาม รูปเคารพหลักของตัวปราสาทสด๊กก๊อกธมก็มิได้มีการถูกค้นพบและกล่าวถึงในรายงานสํารวจมาก่อนเลย จึงทําให้เกิดข้อสันนิษฐานได้ว่ารูปเคารพหลักที่ประดิษฐานอยู่ ณ ปราสาทแห่งนี้นั้นคงได้ถูกโจรกรรมและขนย้ายออกไปนานมากแล้ว
นอกเหนือจากนี้ บรรดาภาพสลักเล่าเรื่อง ที่ปรากฏยังปราสาทสด๊กก๊อกธมก็พบเพียงไม่มากนัก ทั้งนี้คงเนื่องมาจากสาเหตุสําคัญคือ บรรดาภาพเล่าเรื่องเหล่านี้คงได้ถูกโจรกรรมและทําลายลงด้วยเช่นกัน ภาพสลักเล่าเรื่องที่สําคัญที่สุดที่ได้ปรากฏอยู่ ณ ปราสาทสด๊กก๊อกธมคือ ภาพศิวคชาสูร ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาพประติมานวิทยาที่หาพบได้ยากและไม่บ่อยนักในศิลปะเขมร และถือได้ว่าเป็นภาพคชาสูรแห่งเดียวที่ได้ปรากฏอยู่ในศิลปะเขมรในประเทศไทย
อ้างอิง
ปราสาทสด๊กก๊อกธม อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม กรมศิลปากร
‘ภูมิวัฒนธรรมของการตั้งถิ่นฐานสมัยโบราณกับเมืองหน้าด่านตะวันออก’ บทความที่สังเคราะห์ความรู้ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
'ปราสาทสด๊กก๊อกธม: ปราสาทเขมรทรงพุ่มรุ่นแรกในประเทศไทย' วิทยานิพนธ์โดย โดย ราฆพ บัณฑิตย์ ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖
‘อนัสติโลซิสเพื่อการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม (An anastylosis for the restoration of sdok kok thom temple) วิทยานิพนธ์ โดย วสุ โปษยะนันทน์ หลักสูตรปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๒