ผู้เข้าชม
0

‘พระธาตุศรีสองรัก’ ลัทธิประเพณีผีบ้านและผีเมือง ผีและพุทธอยู่ร่วมกันได้อย่างมีกาลเทศะ

งานสมโภชพระธาตุศรีสองรักในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี ผู้ที่จะมาสักการะพระธาตุศรีสองรักห้ามใส่เสื้อผ้า ‘สีแดง’ หรือถือสิ่งของที่มีสีแดงเข้าไปบริเวณองค์พระธาตุ เพราะสีแดงอาจเปรียบได้กับ ‘เลือด’ ที่เป็นผลของการทำสงคราม ดังนั้น คนโบราณจึงมีการห้ามไม่ให้ผู้ที่สวมเสื้อผ้าสีแดง เข้าไปบริเวณองค์พระธาตุ จนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบันด้วยเช่นกัน
9 กันยายน 2567


‘พระธาตุศรีสองรัก’ ลัทธิประเพณีผีบ้านและผีเมือง ผีและพุทธอยู่ร่วมกันได้อย่างมีกาลเทศะ

 

พรเทพ เฮง

หน้าที่ 1/10

งานสมโภชพระธาตุศรีสองรักในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี ผู้ที่จะมาสักการะพระธาตุศรีสองรักห้ามใส่เสื้อผ้า ‘สีแดง’ หรือถือสิ่งของที่มีสีแดงเข้าไปบริเวณองค์พระธาตุ เพราะสีแดงอาจเปรียบได้กับ ‘เลือด’ ที่เป็นผลของการทำสงคราม ดังนั้น คนโบราณจึงมีการห้ามไม่ให้ผู้ที่สวมเสื้อผ้าสีแดงเข้าไปบริเวณองค์พระธาตุ จนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบันด้วยเช่นกัน

วัดพระธาตุศรีสองรัก ตั้งอยู่เลขที่ ๘๖ บ้านหัวนายูง หมู่ที่ ๑๔ ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๐๘ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสําคัญของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ สำหรับอาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ อาคารกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๐๖ ศาลาการเปรียญสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ นอกจากนี้มีหอระฆัง และศาลาราย ปูชนียวัตถุมีพระประธาน พระพุทธรูปนาคปรก ๗ เศียร และพระธาตุศรีสองรักเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมที่ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์
 


พระประธานพระพุทธรูปนาคปรก ๗ เศียร
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม

รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของพระธาตุเป็นศิลปกรรมเจดีย์แบบล้านช้าง ก่ออิฐถือปูนองค์พระธาตุสูง ๑๙.๑๙ เมตร ฐานกว้างด้านละ ๑๐.๙๐ เมตร ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง องค์ระฆังทรงบัว ตั้งอยู่บนฐานเขียงเตี้ย รองรับชั้นบัวคว่ำบัวหงายแบบย่อมุมไม้สิบสอง โดยทําส่วนมุมให้ตวัดงอนขึ้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ธาตุทรงบัวเหลี่ยม ตกแต่งมุมด้านล่างทั้งสี่ด้านขององค์ธาตุด้วยกาบลายสามหยักและขมวดก้นหอย เหนือขึ้นไปเป็นส่วนยอดเรียวแหลมประดับด้วยฉัตรและเม็ดน้ำค้าง เมื่อมองโดยรวมคล้ายสามเหลี่ยมที่ส่วนฐานมั่นคง ปลายยอดสอบเรียว ดูเรียบง่ายและอ่อนช้อย คล้ายพระธาตุพนม พระธาตุหลวง (เวียงจันทน์) พระธาตุศรีโคตรบอง (แขวงคำม่วน) และอีกมากแถบลุ่มน้ำโขง
 


พระธาตุศรีสองรัก จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
หน้าที่ 2/10

พระธาตุศรีสองรักสร้างขึ้นถวายเป็นอุเทสิกเจดีย์ (หมายถึงเจดีย์สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศให้พระ-ศาสนา โดยไม่กำหนดว่าต้องเก็บรักษาสิ่งใด) แต่ก็มีหลายคนเชื่อว่ากษัตริย์ทั้งสองพระองค์น่าจะนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พระพุทธรูป พระธรรมคัมภีร์บรรจุไว้ตามความเชื่อในศาสนาพุทธ

ตำนานความเชื่ออื่นๆ ที่กล่าวไว้ว่า พระธาตุศรีสองรักมี ‘นายมั่นนายคง’ ยอมอุทิศชีวิตเป็นข้าคอยเฝ้าไปชั่วนิรันดร์ และตำนานเรื่องเจ้าพ่อกวน-เจ้าแม่นางเทียมว่า เป็นวิญญาณของชาย-หญิงที่ถูกกีดกันในความรักและมาเสียชีวิตลงที่พระธาตุแห่งนี้ ซึ่งทั้งคู่หนีเข้าไปในอุโมงค์ตอนก่อสร้างองค์พระธาตุ แต่ว่าช่างไม่รู้ จึงได้ก่อสร้างปิดอุโมงค์จนทั้งสองเสียชีวิต กลายเป็นวิญญาณที่คอยเฝ้าปกปักรักษาองค์พระธาตุศรีสองรักมาจนถึงทุกวันนี้
 


ชาวบ้านกำลังสักการะพระธาตุศรีสองรัก
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม

จากตามตำนานที่สืบทอดกันมาของพระธาตุศรีสองรักกล่าวไว้ว่า ได้สร้างขึ้น ณ ที่กึ่งกลางระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำน่านบนโคกไม้ติดกัน เริ่มสร้างแต่ พ.ศ. ๒๑๐๓ และเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๖ และได้ทำพิธีฉลองสมโภชในวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖

ในแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้ครอบครองกรุงศรีอยุธยาแห่งอาณาจักรสยามสมัยนั้น และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) แห่งอาณาจักรล้านช้างสมัยนั้น เพื่อเป็นสักขีพยานในการทำสัญญาทางพระราชไมตรี และเป็นด่านกั้นเขตแดนของสองพระนครในสมัยโน้น  

ทั้งนี้เนื่องจากในระหว่างที่กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ครองราชสมบัติตรงกับสมัยที่พม่าเรืองอำนาจ เพราะพม่ามีกษัตริย์ที่เข้มแข็งในการสงครามปกครองคือ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ และพระเจ้าบุเรงนองได้ยกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยา กับกรุงศรีสัตนาคนหุตหลายคราว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงทำไมตรีกัน เพื่อร่วมกันต่อสู้กับพม่า

พระธาตุศรีสองรักนี้ ประชาชนในท้องที่จังหวัดเลยและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ เป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในวันเพ็ญเดือน ๖ จะทำการพิธีสมโภชและนมัสการพระเจดีย์ขึ้นทุกปีจนถือเป็นประเพณีตลอดมาจนทุกวันนี้ นอกจากเป็นปูชนียสถานสำคัญของอำเภอด่านซ้าย ยังเป็นปูชนีย-สถานที่สำคัญที่สุดของจังหวัดเลย

เรื่องพระธาตุศรีสองรัก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองด่านซ้าย โดยอาจารย์ศรีศักร  วัลลิโภดม ซึ่งได้ใช้แนวคิดมานุษยวิทยาที่เน้นความสำคัญของศาสนากับสังคม มากกว่าการมองศาสนาลักษณะที่เป็นปรัชญาซึ่งหยุดนิ่ง โดยมองศาสนากับสังคมแลเห็นคนและความเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลง

ทำให้เกิดความเข้าใจชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนและเปิดมุมมองใหม่ทางภูมิวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระธาตุที่มีลักษณะพิเศษในการเชื่อมโยงผู้คนและสังคมให้เชื่อมต่อกับลัทธิประเพณีผีบ้านและผีเมือง ผีและพุทธอยู่ร่วมกันได้อย่างมีกาลเทศะ ซึ่งเป็นรากฐานของชุมชนและเมืองมาตั้งแต่โบราณกาล ไว้ว่า
 


 

หน้าที่ 3/10

‘…เรื่องของพระมหาธาตุเจดีย์ในสยามประเทศนั้น ตัวเป็นคนที่รู้ดีผู้หนึ่ง เลยทำให้เกิดความเข้าใจว่า พระธาตุศรีสองรักนั้นก็เหมือนพระมหาธาตุเจดีย์องค์อื่นๆ อันเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า เพราะเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยและลาวแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาทรงสร้างขึ้นเพื่อแสดงความเป็นไมตรีต่อกันในพื้นที่อันเป็นเขตชนแดนระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงศรีสัตนาคนหุต พระธาตุเจดีย์ศรีสองรักจึงนับเป็นวัดในพุทธศาสนาตลอดมา

วัดพระธาตุศรีสองรักไม่เหมือนวัดมหาธาตุตามเมืองสำคัญๆ หรือวัดที่มีพระบรมธาตุเจดีย์อื่นๆ ในทุกวันนี้ที่ล้วนเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ โดยมีเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสอยู่ในบริเวณวัดเดียวกัน หากเป็นวัดที่มีแต่เพียงพุทธาวาสจึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา

วัดประเภทนี้เป็นวัดแบบโบราณที่พบทั้งในเมืองและนอกเมือง อย่างเช่นวัดมหาธาตุของพระนครศรีอยุธยา วัดมหาธาตุของเมืองสุโขทัยและกำแพงเพชรนั้น ล้วนแต่ไม่มีร่องรอยว่ามีพระอยู่ทั้งสิ้น หรือที่โดดเด่นที่พระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช และพระมหาธาตุหริภุญชัยที่ลำพูนนั้น มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าไม่มีพระสงฆ์อยู่ แต่จะมีคณะสงฆ์สี่คณะที่อยู่ห่างออกไปเฝ้าดูแล หรืออีกนัยหนึ่งก็คือวัดที่เป็นส่วนสังฆาวาสนั้นอยู่แยกออกไปต่างหาก

ปัจจุบันประเพณีที่วัดพุทธาวาสแยกกันอยู่ตามลำพังยังมีอยู่มากมายในประเทศพม่า ถ้าใครไปจะเห็นได้ว่า พม่าเต็มไปด้วยพระเจดีย์นับหมื่นๆ องค์ ซึ่งก็ล้วนเป็นวัดแบบพุทธาวาสทั้งสิ้นโดยไม่มีพระสงฆ์อยู่

เมื่อแรกรู้จักพระธาตุศรีสองรักนั้น ข้าพเจ้าเหมาเอาว่าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่มีการบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นพุทธาวาสที่ไม่มีพระสงฆ์อยู่ แต่วัดสังฆาวาสที่ดูแลพระมหาธาตุเจดีย์นั้นอยู่ที่วัดโพนชัยที่อยู่ห่างพระธาตุเจดีย์ออกมา ก็เท่ากับวัดโพนชัยคือคณะสงฆ์ที่รักษาพระบรมธาตุนั่นเอง

สิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่ในสังคมของคนด่านซ้ายในทุกวันนี้ วัดโพนชัยและคณะสงฆ์ดูไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับวัดพระธาตุศรีสองรักเท่าใด ในทำนองตรงข้าม วัดพระธาตุศรีสองรักกลับอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดของเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม พ่อแสน และนางแต่ง ในลัทธิประเพณีผีบ้านและผีเมืองมากกว่า 

ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่า มีศาลาของเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมอยู่ในเขตวัด และมีพ่อแสนทำหน้าที่เป็นคนดูแล อีกทั้งพระธาตุเจดีย์ก็มีความสัมพันธ์กับกับหอผีใหญ่ประจำเมืองสองแห่ง คือหอน้อยและหอหลวง คนที่มาจากภายนอกหารู้และเข้าใจในเรื่องความสำคัญของเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมตลอดจนประเพณีพิธีกรรมในการถือผีกับพระธาตุศรีสองรักไม่ มักเข้าไปกราบไหว้พระธาตุเจดีย์และทำบุญเสี่ยงทายกันแบบที่ทำกับวัดอื่นๆ ในทุกวันนี้
 

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

หน้าที่ 4/10

ภายใต้การจัดการของเจ้าพ่อกวนและพ่อแสน นางเทียม วัดพระธาตุศรีสองรักกำหนดให้ทุกคนที่ขึ้นไปต้องระมัดระวังในเรื่องเขตศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีอะไรรุงรังในเรื่องการขอบริจาคแจกวัตถุมงคลและการโฆษณาไหว้พระปิดทองรดน้ำมนต์กันแบบวัดเป็นจำนวนมากในทุกวันนี้ ผู้ที่มาประกอบพิธีแก้บนและถวายของอะไรต่างๆ นั้น จะทำอะไรตามลำพังไม่ได้ ต้องผ่านการดูแลและการจัดการอย่างมีระบบและถูกประเพณีโดยเจ้าพ่อกวนและพ่อแสนทั้งสิ้น ข้าพเจ้าไม่แปลกใจอะไรในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อในเรื่องพุทธและผีที่อยู่ร่วมกัน เพราะที่ไหนๆ ก็เป็นเช่นนี้ โดยเฉพาะที่พม่าก็เช่นกัน เพราะผีได้ถูกนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งภายใต้ร่มเงาของพุทธศาสนาเสมอ

ความโดดเด่นของคนด่านซ้ายและพระธาตุศรีสองรักนี้ ก็คือทางฝ่ายความเชื่อในเรื่องผีเข้ามามีบทบาทในการจัดการในพุทธาวาสมากกว่าทางพระสงฆ์ ซึ่งก็เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าสนใจใคร่รู้และใคร่ถาม ทำให้แลเห็นโครงสร้างทั้งกายภาพและพฤติกรรมในเรื่องประเพณีและศาสนาของคนด่านซ้ายที่มีความแตกต่างไปจากความเป็นอยู่ในชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นอื่นๆ

คนด่านซ้ายแม้ว่าจะแก่ผีแต่ก็ไม่ทิ้งพุทธ ทั้งผีและพุทธอยู่ร่วมกันได้อย่างมีกาลเทศะที่สามารถสร้างความมั่นคงทั้งด้านจิตใจและสังคมให้แก่คนด่านซ้าย คนด่านซ้ายคือคนที่เคลื่อนย้ายมาจากถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะจากทางหลวงพระบาง มาตามลำน้ำโขงแล้วขึ้นมาตามลำน้ำเหืองที่เป็นสาขา แล้วเข้ามาตั้งถิ่นฐานตามสองฝั่งลำน้ำหมันอันเป็นต้นน้ำสายหนึ่งของลำน้ำเหือง สองฝั่งลำน้ำหมันเป็นที่ราบที่มีเทือกเขาขนาบทั้งสองด้าน ต้นน้ำหมันมาจากเทือกเขาที่มีสันปันน้ำระหว่างลำน้ำป่าสัก ลำน้ำแควน้อย และลำน้ำหมัน คนโบราณให้ความศักดิ์สิทธิ์แก่บริเวณต้นน้ำเป็นอย่างยิ่ง จึงได้กำหนดเอาเขาดินลูกหนึ่งที่อยู่ในบริเวณต้นน้ำหมันและมีลำน้ำหมันไหลโอบล้อมให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ บริเวณนี้คือที่ตั้งของพระธาตุศรีสองรัก ได้ถูกกำหนดเป็นอนุสรณ์สถานในพระราชพิธีเจริญไมตรีระหว่างอยุธยาและล้านช้างในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒

นอกจากเป็นตำแหน่งที่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว บริเวณต้นน้ำหมันในตอนนี้ยังเป็นศูนย์กลางของเส้นทางคมนาคมที่ติดต่อระหว่างหลวงพระบาง นครไทย พิษณุโลก และเมืองอื่นๆ ในเขตแคว้นสุโขทัย บ้านเมืองทางเพชรบูรณ์ในลุ่มน้ำป่าสัก รวมไปถึงบ้านเมืองทางลุ่มน้ำโขง เช่น ที่ผ่านอำเภอวังสะพุงไปยังอุดรธานีและขอนแก่น ในภาคอีสานเป็นต้น 

ความสำคัญของการเป็นศูนย์กลางเส้นทางคมนาคมดังกล่าว จึงได้ทำให้บริเวณต้นน้ำหมันแห่งนี้ กลายเป็นเมืองด่านและศูนย์กลางของบรรดาชุมชนบ้านและเมืองเล็กๆ ที่อยู่สองฝั่งน้ำหมันแต่ต้นน้ำไปจนสบกับลำน้ำเหืองในเขตแดนประเทศลาวปัจจุบัน ลำน้ำหมันเป็นหุบเขาเล็กๆ ที่เป็นตัวอย่างของกระบวนการสร้างบ้านแปงเมืองในอดีต คือ ผู้คนจากถิ่นต่างๆ เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านตามสองฝั่งน้ำก่อน แล้วเมื่อมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม กันดีแล้ว จึงเกิดชุมชนเมืองที่เป็นศูนย์กลางขึ้นมา คือ เมืองด่านซ้าย ปัจจุบันมีชุมชนที่ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำเดียวกันถึง ๗ แห่ง แต่ละแห่งมีความสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จนทำให้คนในแต่ละชุมชนรู้จักกันหมด 
 

สะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว (ขณะกำลังก่อสร้าง)
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
หน้าที่ 5/10


เจ้าพ่อกวน ผู้ถูกรัฐมองว่าเป็นเจ้าพ่อ

อีกทั้งมีสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ร่วมกัน เช่น แต่ละชุมชนทั้งในระดับบ้านและเมืองต่างก็มีทั้งวัดและหอผีเหมือนกัน โดยแต่ละชุมชนจะมีผู้นำทางความเชื่อและพิธีกรรมที่เรียกว่า พ่อกวน และคณะที่รวมตัวกันเป็นทั้งองค์กรและสถาบันดูแลในเรื่องความเชื่อและประเพณีพิธีกรรม โดยเฉพาะที่ด่านซ้ายที่เป็นเมืองนั้น พ่อกวนถูกยกขึ้นเป็นเจ้าพ่อที่มีผู้คนเคารพกราบไหว้และเชื่อฟัง ดูเหมือนจะมีบารมีมากกว่าหัวหน้าฝ่ายทางราชการ เช่น นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และแม้แต่ขุนนางสงฆ์ในวัดต่างๆ บรรดาประเพณีพิธีกรรมของผู้คนในทุกชุมชนในท้องถิ่นด่านซ้ายหรืออีกนัยหนึ่งลุ่มน้ำหมันนั้นมีทั้งพุทธและผีไปด้วยกัน โดยเฉพาะที่พระธาตุศรีสองรัก การจัดการและอำนาจในการดูแลสถานที่ในประเพณีและความเชื่อของผู้คนท้องถิ่นอยู่ที่เจ้าพ่อกวนที่มีหน้าที่ดูแลทั้งพิธีกรรมที่เกี่ยวกับพุทธและผี

สำหรับคนท้องถิ่นที่เป็นชาวด่านซ้ายและผู้ที่อยู่ใกล้เคียง พระธาตุศรีสองรัก คือแหล่งที่คนมากราบไหว้และทำพิธีแก้บนที่ต้องผ่านการจัดการของเจ้าพ่อกวนและคณะทั้งเรื่องของพุทธและผี ถ้าเป็นพุทธก็จะจัดให้มีการทำต้นผึ้งไปถวายพระธาตุ โดยมีพ่อแสนนำไปตั้งไว้ในบริเวณรอบพระเจดีย์ แต่ถ้าเป็นเรื่องของผีก็จะทำการฆ่าควาย ฆ่าหมู และเครื่องสุราบานไปทำประกอบพิธีกรรมให้ จึงเป็นเหตุให้บริเวณพระธาตุศรีสองรักเป็นพื้นที่มีระเบียบแบบแผน ในยามที่ผู้คนไปไหว้ก็ไม่พลุกพล่านเหมือนวัดอื่นๆ ที่มีการตกแต่งจนเกินธรรมชาติที่ระคนไปด้วยคนหลายกลุ่มเข้าไปขายดอกไม้ธูปเทียนทอง โฆษณาวัตถุมงคลและเรี่ยไรเงินทองเพื่อสินค้าบุญกันต่างๆ นานา

เรื่องของการไหว้พระธาตุศรีสองรักนี้ ทำให้ข้าพเจ้าเคยเข้าใจผิดอันเนื่องมาจากการรู้น้อยรู้มากของตนเอง คือเชื่อว่าพระธาตุองค์นี้คือพระสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุพระพุทธเจ้า เพราะการสร้างพระธาตุเจดีย์โดยพระมหากษัตริย์อย่างที่มีพงศาวดารและจารึกระบุไว้นั้น น่าจะมีการบรรจุพระบรมธาตุไว้ด้วย จำได้ว่าเมื่อครั้งได้สัมภาษณ์เจ้าพ่อกวนนั้น ท่านบอกว่าพระธาตุศรีสองรักไม่มีพระบรมธาตุจึงไม่ควรเรียกพระบรมธาตุเจดีย์ แต่ข้าพเจ้าไม่ใส่ใจเพราะไปคิดถึงประเพณีจากความเป็นจริงในที่อื่น หาได้ให้ความสำคัญในเรื่องความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของผู้คนในท้องถิ่นไม่…’

อาจารย์ศรีศักรชี้ว่า ในสำนึกของชาวบ้าน พระธาตุศรีสองรักไม่เคยมีหน้าที่เป็นวัด นับเป็นเรื่องของศาสนาและความเชื่อที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคมโดยแท้ 

หน้าที่ 6/10

‘…ข้าพเจ้าได้รับการศึกษาอบรมมาในวิชามานุษยวิทยาที่เน้นความสำคัญของศาสนากับสังคมมากกว่าการมองศาสนาลักษณะที่เป็นปรัชญาซึ่งหยุดนิ่ง แต่ถ้ามองศาสนากับสังคมก็จะแลเห็นคนและความเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความเข้าใจชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนเหล่านั้นได้ดี และแลเห็นว่าคนเหล่านั้นแตกต่างกับคนในกลุ่มของเราอย่างไร รวมทั้งทำให้เกิดความเข้าใจว่า ทำไมคนแต่ละกลุ่มจึงแตกต่างกัน ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาในวิชานี้จึงเท่ากับเตือนสติให้ข้าพเจ้าต้องหยุดมองและหยุดคิดในเรื่องการหาข้อเท็จจริงว่ามีพระบรมธาตุในพระธาตุศรีสองรักหรือเปล่า ต้องกลับหันมาจำนนต่อความเชื่อและการปฏิบัติของคนด่านซ้ายในด้านประเพณีพิธีกรรมที่มีทั้งพุทธและผีร่วมกัน เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้คนด่านซ้ายดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันมาอย่างราบรื่นเป็นเวลาหลายร้อยปี อาจพูดได้ว่านับแต่มีการสร้างพระธาตุขึ้นมาก็ว่าได้

พระธาตุศรีสองรัก คือสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าทั้งความเชื่อในเรื่องพุทธและผีนั้นอยู่ด้วยช่วยกันในเรื่องความมั่นคงทางจิตใจและสังคมให้กับคนด่านซ้ายอย่างยั่งยืนเสมอมา...’

สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีชิ้นสำคัญที่มาช่วยกำหนดอายุพระธาตุศรีสองรัก นั่นคือ จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก ๑ ปีที่พบจารึกประมาณ พุทธศักราช ๒๔๔๙ สถานที่พบเจดีย์ศรีสองรัก วัดพระธาตุศรีสองรัก ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย พบโดย ม. ปาวี ชาวฝรั่งเศส ปัจจุบันอยู่ที่ หอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

สภาพจารึกชำรุดแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ เรียงต่อกัน ๔ ชิ้น ทำให้มีข้อความขาดหายไปหลายช่วง และมีไม่ครบจบเรื่อง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ ได้เดินทางไปสำรวจเอกสารโบราณในจังหวัดภาคอีสาน จึงทำให้มีโอกาสทราบว่า จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก หลักจริงนั้นอยู่ที่หอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก ๑ เป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษา ประวัติ และวิวัฒนาการของอักษร ภาษา รวมทั้งประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยอยุธยาตอนต้น กรมศิลปากรได้เล็งเห็นความสำคัญของเอกสารโบราณชิ้นนี้เป็นอย่างดี จึงได้ติดต่อขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีหนังสือที่ ศธ ๐๗๐๙/๒๗๔๔๑ ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อขอให้จัดทำสำเนา หรือถ่ายภาพจารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก

 

และต่อมากระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้มีหนังสือ ที่ กต ๐๗๐๓/๔๑๖๓๓ ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ นำส่งสำเนาภาพถ่ายจารึกจำนวน ๒ ชุด รวม ๔ แผ่น โดยกรมศิลปากร ต้องจ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการทำสำเนาจารึกนั้นเป็นเงิน ๑,๖๘๘ กีบ คิดเป็นเงินไทยในเวลานั้น ๓,๔๔๔.๒๐ บาท สำเนาจารึกดังกล่าว เจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ รับไว้เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ 
 


จารึกหลักอื่นๆ ที่วัดพระธาตุศรีสองรัก
สำรวจโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ 
หน้าที่ 7/10

การได้ภาพสำเนาจารึกวัดพระธาตุศรีสองรักครั้งนี้ ทำให้ได้ทราบว่า อักษรในจารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก ด้านที่ ๑ ใช้อักษรธรรมอีสาน ภาษาไทย เหลือเพียง ๒๘ บรรทัด ส่วนด้านที่ ๒ ใช้อักษรขอม ภาษาไทย เหลือเพียง ๒๖ บรรทัด อักษรข้อความในจารึกตรงกันทั้ง ๒ ด้าน เป็นการประกาศความสัมพันธ์ในฐานะมิตรประเทศระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีอยุธยา กับ พระไชย-เชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ซึ่งได้ทรงร่วมกันสร้างพระเจดีย์ศรีสองรักขึ้นเป็นสักขีพยานว่า กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ทรงรักและสนิทสนมกันตามนามของพระเจดีย์องค์นี้ 

อักษรสองแบบในจารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก ๑ บอกให้รู้ว่าความนิยมในการใช้รูปอักษรของสองอาณาจักรนี้ต่างกัน แม้จะมีภาษาไทยใช้ร่วมกันก็ตาม ด้านที่ใช้อักษรธรรมอีสานเป็นของฝ่ายกรุงศรี สัตนาคนหุต ส่วนด้านที่ใช้อักษรขอมเป็นของฝ่ายกรุงศรีอยุธยา อักษรทั้งสองรูปแบบสามารถนำมารวมไว้ในจารึกหลักเดียวกันได้ โดยมีภาษาไทยเป็นสื่อกลาง อีกทั้งจารึกข้อความตรงกันทั้งสองรูปแบบอักษร สำหรับเนื้อหาโดยสังเขปมีดังนี้

‘ในปี พ.ศ. ๒๑๐๓ มีพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีอยุธยา กับพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ได้นิมนต์มหาอุ-บาลี มหาเถรวิริยาธิกมุนี และพระสงฆ์อีก ๑๐ รูป พร้อมเชิญมหาอุปราชและเสนาอำมาตย์ของทั้งสองอาณาจักร มาร่วมพิธีกระทำสัตยาธิษฐาน แล้วทรงร่วมกันสร้างพระเจดีย์ศรีสองรักไว้เป็นสักขีพยาน’

ส่วนการกำหนดอายุข้อความจารึกบรรทัดที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๕ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๑๐๖ และด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๐ ระบุมหาศักราช ๑๔๘๕ อันเป็นสมัยที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง (พ.ศ. ๒๐๙๓ – ๒๑๑๕) และสมัยที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิปกครองราชอาณาจักรไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๐๙๑ – ๒๑๑๑)

หลักฐานอีกชิ้นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก ๒ อักษรที่มีในจารึกคือ ธรรมอีสาน พุทธศักราช ๒๔๔๙ ลักษณะวัตถุเป็นรูปใบเสมาศิลา กว้าง ๘๐ ซม. สูง ๒๕๐ ซม. หนา ๔๕ ซม. พบที่วัดพระธาตุศรีสองรัก ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ปัจจุบันอยู่ที่หอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จารึกวัดพระธาตุศรีสองรักนี้ เป็นศิลาจารึกที่พระครูรุณ (พระครูลุน) และพระแก้วอาสา นายอำเภอด่านซ้าย ได้จำลองขึ้น โดยคัดลอกข้อความจากจารึกเดิมไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๙ แทนศิลาจารึกของเดิมที่ถูก ม. ปาวี ชาวฝรั่งเศส ขนย้ายไปประเทศลาว

จารึกวัดพระธาตุศรีสองรักเดิมนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา กับพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง ได้ทรงร่วมกันสถาปนาขึ้นเพื่อประกาศความสัมพันธ์ มีฐานะเป็นมิตรประเทศที่มีไมตรีต่อกันระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงศรีสตนาคนหุต (ล้านช้าง) เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๓ และประดิษฐานจารึกไว้ที่พระเจดีย์ศรีสองรัก ในวัดพระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย แต่ศิลาจารึกของเดิมนั้น ปัจจุบันชำรุดแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ เก็บอยู่ในหอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 
 


จารึกหลักอื่นๆ ที่วัดพระธาตุศรีสองรัก
สำรวจโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เมื่อ ปีพ.ศ. ๒๔๙๗ 
หน้าที่ 8/10

ข้อความจารึกบรรทัดที่ ๑ ระบุ ค.ศ. ๑๙๐๖ และ จ.ศ. ๑๒๖๘ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๙ ซึ่งตรงกับสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปกครองราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๖๓) เนื้อหาโดยสังเขปได้กล่าวถึงการกระทำสัตยาธิษฐานปักปันเขตแดนกันระหว่างอาณาจักรล้านช้าง และกรุงศรีอยุธยา โดยให้มหาอุปราชและเสนาอำมาตย์ตลอดจนพระสงฆ์ผู้ใหญ่ของทั้งสองอาณาจักรได้มาทำการแทนองค์พระมหากษัตริย์ทั้งสองอาณาจักร และสร้างพระเจดีย์ศรีสองรักไว้เป็นสักขีพยานในการทำสัตยาธิษฐานในครั้งนั้น

หลุยส์ ฟิโนต์ นักโบราณคดีฝรั่งเศสและนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อดีตผู้อำนวยการ Ecole française d'Extrême-Orient ได้ข้อสรุปว่า จารึกด่านซ้าย เป็นสัญญาที่ฝ่ายกรุงศรีอโยธยาและกรุงศรีศัตนาคนหุตทําขึ้นเพื่อเชื่อมผูกไมตรีกันและปักปันเขตแดนกันจึงถือเป็น ‘หลักด่าน’ (ศัพท์ที่ใช้ในจารึกบนใบลาน)

จารึกพระธาตุศรีสองรักไม่เพียงแต่เป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์สยามกับลาว แต่อยู่ในสถานภาพพิเศษเพราะเป็นจารึกหลักเดียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บันทึกการทำสัญญาสัมพันธไมตรีระหว่างสองราชอาณาจักร ซึ่งต้องทำความเข้าใจในบริบทความสัมพันธ์สยาม-ลาว-พม่า ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ (หรือต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒) แม้สาระของจารึกนี้เป็นเรื่องการเมือง แต่ก็ให้ข้อมูลร่วมสมัยด้านวัฒนธรรมและคติความเชื่อที่ไม่อาจหาได้จากที่อื่น เช่น การกระทำสัจปฏิญาณระหว่างพระมหากษัตริย์ของสองแผ่นดิน เป็นต้น ในแง่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ จารึกที่มีเนื้อความกระท่อนกระแท่นนี้ ได้ให้โจทย์ที่ท้าทายนักอ่านจารึกและนักประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้น พระธาตุศรีสองรัก ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย จึงเป็นสถานที่หนึ่งที่ได้รับการกำหนดให้มีความหมายที่แตกต่างหลากหลาย สถานที่แห่งนี้เป็นทั้งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาและระบบความเชื่อเรื่องผีวิญญาณของชาวบ้าน เป็นทั้งสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด ขอบเขตแรงศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระธาตุศรีสองรักนี้ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งอยู่แวดล้อมด่านซ้ายอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่พื้นที่อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย อำเภอชาติการ จังหวัดพิษณุโลก / อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ / อำเภอเมือง อำเภอภูเรือ อำเภอท่าลี่ อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย

แรกเริ่มพระธาตุศรีสองรักถูกนิยามความหมายให้เป็นสัญลักษณ์แสดงขอบเขตพระราชอำนาจของอาณาจักรอยุธยาและล้านช้าง ขณะเดียวกันก็มีความหมายแห่งการเป็นศูนย์กลางของเมือง หรือ ‘หลักบ้านใจเมือง’ หลอมรวมผู้คนในเมืองให้เป็นหนึ่งภายใต้ระบบความเชื่อเดียวกัน ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของ ดร. เอเดรียน สนอดกราส (Adrian Snodgrass) สถาปนิกและนักวิชาการชาวออสเตรเลียในด้านพุทธศึกษาและพุทธศิลป์ เขาได้พัฒนาทฤษฎีในสาขาปรัชญาอรรถศาสตร์และการประยุกต์เพื่อการผลิตความรู้และความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม และความรู้เชิงมานุษยวิทยาทางภูมิวัฒนธรรมของอาจารย์  ศรีศักร วัลลิโภดม 

ทว่า ความหมายของพระธาตุศรีสองรักไม่ได้หยุดนิ่ง แต่เลื่อนไหลจากการเป็นพุทธสถานในการนิยามของชนชั้นปกครอง มาสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อและระบบคุณค่าของชาวบ้าน ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ซึ่งเปิดโอกาสให้แก่การสร้างความหมายใหม่ๆ ตามเงื่อนไขและยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้โดยตลอด

ฉะนั้นการสร้างพระธาตุศรีสองรักขึ้น จึงเป็นเครื่องมือหรืออุดมการณ์ อย่างหนึ่งที่ผู้ปกครองใช้ครอบงำผู้ใต้ปกครองให้สยบยอมอยู่ภายใต้อำนาจนั่นเอง ดังจะเห็นได้จากข้อความตามจารึกซึ่งพบที่พระธาตุศรีสองรักที่บ่งบอกว่า ทั้งผู้ปกครองอยุธยาและล้านช้างต่างพยายามแสดงให้ผู้ใต้ปกครองเห็นว่าตนคือกษัตริย์ที่ดี เป็นกษัตริย์ที่เปี่ยมล้นด้วยศรัทธาในพระศาสนา โดยอุทิศทั้งผู้คนและทรัพย์ศฤงคารในการสร้างพระธาตุศรีสองรัก
 


 

 

หน้าที่ 9/10

อ้างอิง

‘วัดพระธาตุศรีสองรัก’ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

'รู้น้อยรู้มาก: เรื่องพระธาตุศรีสองรัก' โดย ศรีศักร วัลลิโภดม เปิดประเด็น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๕๐ (เดือนกันยายน - ตุลาคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๗)

‘พระธาตุศรีสองรักแห่งเมืองด่านซ้าย: ความหมายและการนิยามความหมายในบริบทการท่องเที่ยว’ โดย นพพล แก่งจำปา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วารสารวิจัยและพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-เมษายน ปี พ.ศ.๒๕๖๕

'จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก ๑ / จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก ๒' เรียบเรียงข้อมูลโดย นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หรือ ศมส., ปี พ.ศ. ๒๕๕๐

จารึกพระธาตุศรีสองรัก: มรดกความทรงจำแห่งจังหวัดเลย ว่าด้วยสัญญาทางไมตรีศรีอโยธยา-ศรีศัตนาคนหุต พ.ศ. ๒๑๐๓ โดย วินัย พงศ์ศรีเพียร, ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี, ธีรวัต ณ ป้อมเพชร เอกสารลำดับที่ ๓๕ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

'พระธาตุสำคัญในล้านช้าง: วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ พุทธศิลป์ และความสัมพันธ์กับผู้คนสองฝั่งโขง' โดย ธีระวัฒน์แสนคำ รายงานการวิจัยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์เลย ปี พ.ศ. ๒๕๖๐

'พระเจดีย์สำคัญในจังหวัดเลย: วิเคราะห์ประวัติศาสตร์พุทธศิลปกรรม ศรัทธา และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง' โดย พระมหาสมศักดิ์ สติสมฺปนฺโน, ธีระวัฒน์ แสนคำ และ บุญวัฒน์ บุญทะวงศ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย Journal of Modern Learning Development ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑ ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. ๒๕๖๓

คำสำคัญ : พระธาตุศรีสองรัก,การนับถือผี,พุทธศาสนา
พรเทพ เฮง
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกโบราณคดี รุ่น ๓๘ ทำงานด้านสื่อ ด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และสาระบันเทิงมาค่อนชีวิต
หน้าที่ 10/10