รู้จัก 'หนังใหญ่' หัตถกรรมชั้นครูที่ใกล้สูญหาย
หนังใหญ่” การแสดงที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทย ที่เรียกว่า “หนัง” นั้นเพราะสิ่งที่ใช้แสดงเป็นตัวหนัง ทำมาจากหนังวัว หนังควาย แกะสลักเป็นรูปบุคคล สัตว์ สถานที่และสิ่งประกอบการแสดง เกิดจากภูมิปัญญาและทักษะความชำนาญฝีมือช่างที่มีความพิถีพิถันในการแกะและตอกเป็นรูป โดยมีผู้ถือเชิดให้เกิดเงาปรากฏบนจอผ้าขาวที่มีแสงไฟส่องจากด้านหลัง มีดนตรีปี่พาทย์บรรเลงประกอบลีลาการเชิด และการใช้คำพากย์เจรจาเป็นบทในการดำเนิน
รู้จัก "หนังใหญ่" หัตถกรรมชั้นครูที่ใกล้สูญหาย
มหรสพชั้นสูงและฝีมือช่างชั้นครูของไทยที่มีมาแต่สมัยโบราณ
-พชรพงษ์ พุฒซ้อน-
รู้จัก “หนังใหญ่” หัตถกรรมชั้นครู ที่ใกล้สูญหาย
“หนังใหญ่” การแสดงที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทย ที่เรียกว่า “หนัง” นั้นเพราะสิ่งที่ใช้แสดงเป็นตัวหนัง ทำมาจากหนังวัว หนังควาย แกะสลักเป็นรูปบุคคล สัตว์ สถานที่และสิ่งประกอบการแสดง เกิดจากภูมิปัญญาและทักษะความชำนาญฝีมือช่างที่มีความพิถีพิถันในการแกะและตอกเป็นรูป โดยมีผู้ถือเชิดให้เกิดเงาปรากฏบนจอผ้าขาวที่มีแสงไฟส่องจากด้านหลัง มีวงดนตรีปี่พาทย์บรรเลงประกอบลีลาการเชิดของคนเชิดที่ต้องตามจังหว่ะดนตรี และการใช้คำพากย์เจรจาเป็นบทในการดำเนินเรื่อง
โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นมหรสพชั้นสูงของไทยที่มีมาแต่สมัยโบราณ เพราะเป็นหนึ่งในการแสดงที่จะต้องจัดให้มีการแสดงทุกครั้ง เมื่อมีงานสำคัญของบ้านเมือง อาทิ พระราชพิธีอภิเษกของกษัตริย์และเจ้านาย พระราชพิธีเกี่ยวกับความตาย งานสมโภชต่างๆของบ้านเมือง สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยมักแสดงเรื่องรามเกียรติ์เช่นเดียวกับการแสดงโขน เป็นการสรรเสริญพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ และสอดแทรกหลักคุณธรรมจริยธรรมไปในการแสดง ที่เปรียบดั่งพระนารายณ์อวตาร โดยหนังใหญ่เกิดจากการผสมผสานของศิลปะชั้นสูงหลากหลายแขนง ทั้งหัตถศิลป์ วรรณศิลป์ วาทศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์
“หนัง” หรือการที่มนุษย์เล่นกับเงา ปรากฎให้เห็นอยู่ในหลายชุมชน หลายวัฒนธรรม และหลากหลายภูมิภาคของโลก ในโลกตะวันออกมีการเล่นหนังเป็นมหรสพมากกว่าสองพันปีและดูเหมือนจะเกิดขึ้นพร้อมๆกันในหลายประเทศ เช่น อินเดีย จีน อียิปต์ ตุรกี เป็นต้น โดยไม่อาจกล่าวได้ว่าใครเป็นต้นแบบหรือว่าใครรับอิทธิพลของใครมา
มีนักวิชาการและผู้ที่ศึกษา “หนัง” ของไทย สันนิษฐานว่า หนังใหญ่ของไทยอาจมีที่มาได้จาก ๓ แหล่ง ซึ่งอาจเข้ามาทั้งโดยตรงหรือโดยทางผ่าน ดังนี้
ตัวละครนนทกถือกระบวนตักน้ำ ในเรื่องรามเกียรติ์
แหล่งที่ ๑ อารยธรรมอินเดีย ที่เป็นแม่บทของนาฏศิลป์ ดนตรี วรรณกรรม ที่เผยแพร่มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับพันปี
แหล่งที่ ๒ วัฒนธรรมชวา จากดินแดนทะเลใต้ ในสมัยศรีวิชัย
แหล่งที่ ๓ วัฒนธรรมเขมร ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐
แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้สรุปว่า การแสดงด้วยตัวหนังขนาดใหญ่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่เรียกว่า “วาหยัง” ล้วนมีต้นเค้าจากการแสดง ฉายานาฏกะ จากอินเดีย ที่มีหลักฐานปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา เถรีกถา และคัมภีร์มหาภารตะ (ราศี บุรุษรัตนพันธ์, ๒๕๕๑, น.๖)
หลักฐานที่กล่าวถึงหนังใหญ่ในไทย
ในสมัยอยุธยา หนังใหญ่เดิมที่เรียกว่า “หนัง” ส่วนคำว่า “หนังใหญ่” มีผู้สันนิษฐานว่าเริ่มใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งที่น่าจะเป็นการเรียกตามขนาดของตัวหนัง ให้เห็นความแตกต่างจากหนังตะลุงที่มีตัวหนังขนาดเล็กกว่าและนิยมเล่นกันในภาคใต้ (นวลพรรณ บุญธรรม, ๒๕๔๙, น.๓๐)
หลักฐานเก่าที่สุดที่กล่าวถึงการแสดงหนังใหญ่ของไทยที่สืบค้นได้ คือ กฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา หากยึดตามศักราชพบว่าตราขึ้นเมื่อ จ.ศ.๗๒๐ (พ.ศ. ๑๙๐๑) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง (แต่บ้างก็ว่าอยู่ในยุคสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) โดยกล่าวไว้ในเรื่องพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุด ลอยโคมลงน้ำ ซึ่งสันนิษฐานว่าเทียบเคียงได้กับการเฉลิมฉลองปีใหม่ มีพระราชพิธีสำคัญของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายที่สำคัญหลายพระองค์เสด็จร่วมงานบริเวณพื้นที่พระลานพระราชวัง และเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปประกอบพิธีที่หน้าวัดพุทไธศวรรย์ ในเอกสารกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“ครั้นถึงพุทไธสวรรย์จุดดอกไม้เล่นหนัง”
หลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่า “หนัง” หรือ “หนังใหญ่” เป็นที่รู้จักอย่างดี และเป็นมหรสพในพระราชพิธีสำคัญมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาตอนต้นแล้ว ทั้งนี้ยังปรากฎให้เห็นอย่างต่อเนื่อง สืบต่อมาหลายยุคหลายสมัย มีหลักฐานปรากฎในเอกสารต่างๆ อาทิเช่น ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บทแสดงหนังที่พบในวรรณกรรมสมุดโฆษคำฉันท์ ซึ่งมีที่มาจากสมุดโฆษชาดก แต่งโดยพระมหาราชครู สันนิษฐานว่าน่าจะมีพระราชประสงค์ให้จัดแสดง ฉลองพระชนมายุครบ ๒๕ พรรษา แต่คุณสุจิตต์ วงเทศ เคยให้ความเห็นว่าใน สมุทรโฆษคำฉันท์ ไม่มีหลักฐานว่ามีตัวหนังและไม่เคยเล่นด้วย
วัดพุทไธสวรรค์ อยุธยา ในปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า มหรสพต่างๆแทบจะเลือนหายไป จนถึงในสมัยกรุงธนบุรี การเล่นหนังใหญ่ก็ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯให้จัดแสดงมหรสพสมโภชอย่างยิ่งใหญ่เมื่อคราวฉลองรับพระแก้วมรกตที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอัญเชิญมาจากกรุงเวียงจันทน์ มีการ แสดงหนังใหญ่ หนังจีน ตลอดพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน (จากเอกสารหมายรับสั่งกรุงธนบุรี จ.ศ. ๑๑๓๘ เลขที่ ๒)
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานในการแสดงหนังใหญ่ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา เพื่อใช้ แสดงเพิ่มขึ้นนอกจากเรื่องรามเกียรติ์ และสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีหลักฐานการสร้างตัวหนังใหญ่และบทวรรณกรรมที่ใช้เรื่องรามเกียรติ์ “หนังใหญ่” ที่มีการสร้างขึ้นในสมัยนี้เป็นหนังใหญ่ที่เรียกว่า หนังกลางคืน ๒ สำนัก คือ หนังใหญ่ชุดพระนครไหวของวัดพลับพลาไชยจังหวัดเพชรบุรี (สันนิษฐานว่าเหตุที่เรียกว่าหนังใหญ่ชุดพระนครไหว เพราะมีศิลปะการแกะสลักที่ประณีตมาก ผู้เชิดมีลีลาที่งดงามมีผู้มาชมเนืองแน่นอย่างที่เรียกว่ามืดฟ้ามัวดินจนแผ่นดินสะเทือน) และสำนักอีกแห่ง คือ หนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง
เมื่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา บทบาทของหนังในฐานะมหรสพที่จัดแสดงทุกครั้งในงานพระราชพิธีเริ่มลดลงอย่างชัดเจน หนังได้กลายเป็นการแสดงเฉพาะในงานพระศพเจ้านาย เชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น โดยหลงเหลือเพียงการแสดงโขน หุ่น หนัง ๑-๒ โรง ส่วนในงานมงคล อวมงคล หรืองานสมโภชอื่นๆยังมีอยู่บ้างแต่ไม่บ่อยนัก เพราะเริ่มมีมหรสพแบบใหม่อีกหลายอย่างเข้ามาแทนนับตั้งแต่สังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปสู่กระแสสังคมตะวันตก คนไทยมีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสมหรสพศิลปะการแสดงรูปแบบใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น มหรสพแบบไทยแท้ โดยเฉพาะหนังดูเหมือนจะถูกลืมไปในเวลารวดเร็ว
การสร้างตัวหนังใหญ่ของไทย
การสร้างตัวหนังใหญ่ มีขั้นตอนหลายขั้นตอน โดยเริ่มจากการเตรียมหนัง มีหนังสัตว์หลายชนิดที่สามารถแกะฉลุลายเป็นรูปตัวหนังได้ เช่น หนังวัว หนังควาย หนังเสือ หนังหมี หนังแพะ แต่คนไทยนิยมใช้หนังวัวมากกว่าหนังชนิดอื่นๆ เพราะหนังวัวมีความบางกว่า มีความโปร่งใส และฉลุลายได้สวยกว่า หนังวัวหนึ่งตัวเท่ากับตัวละครหนึ่งตัว โดยตัวหนังใหญ่ที่แกะสลักเพื่อใช้ในการแสดงต้องมีความ หนา ๑.๕ มิลลิเมตร และมีขนาดใหญ่สุดจะกว้างยาว ๑.๘ เมตร
หลังจากนั้นเริ่มทำการการฟอกหนัง ฟอกหนังแบบโบราณ จะนำหนังสดมาหมักกับน้ำปูนขาว แล้วนำขึ้นมาใส่ครกตำข้าว ตำจนนิ่ม จากนั้นนำไปแช่ในน้ำลูกดอกลำโพง ๓ ถึง ๕ วัน เพื่อฟอกเอาผังผืดและไขมันออก ผึ่งแดดให้แห้ง เมื่อหนังเริ่มแห้งสนิททำความสะอาดอีกครั้งโดยใช้กะลามะพร้าว ขูดผังผืดและขนออกจนกระทั่งหนังทั้งผืนบางสม่ำเสมอกัน การฟอกหนังแบบโบราณเป็นกรรมวิธีที่เรียกว่า ฆ่าหนังให้ตาย
ส่วนในปัจจุบันการฟอกหนังนิยมใช้น้ำส้มสายชู ๑ ลิตร ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร หมักหนังที่ครูตกแต่งขนกับไขมันออกในอ่างหรือโอ่งที่ผสมน้ำส้มสายชู แช่ทิ้งไว้ประมาณ ๓ ชั่วโมง แล้วผึ่งลมไว้จนแห้งสนิท
จากนั้นจึงเขียนลวดลายบนตัวหนัง สมัยโบราณเอาเขม่าก้นหม้อ ละลายกับน้ำข้าว เช็ดทาพื้นหนังให้ทั่วทั้ง ๒ ด้าน แล้วใช้ดินสอพองเขียนลวดลายตามต้องการ ตัวหนังจะมีรูปร่างสวยงามมีความวิจิตรมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการเขียนลายนี้เอง ถ้าช่างเขียนลายฝีมือไม่เที่ยงพอ มีการเขียนลายผิด จะลบออกยาก (เสถียร ชังเกตุ, ๒๕๓๗, น. ๒๕ - ๒๖ ) และเมื่อเขียน ลวดลายลงบนผืนหนังดังกล่าวแล้วข้างต้น ช่างแกะฉลุจะใช้มุกหรือปัจจุบันเรียกว่าตาไก่ ตอก หรือใช้สิ่วขนาดต่างๆในการแกะสลัก และทำการลงสีบนตัวหนัง ตามแต่ลักษณะของละครแตกต่างกันไป
ครูวีระ มีเหมือน
ครูวีระ มีเหมือน ครูศิลป์ของแผ่นดิน งานเครื่องหนัง
เมื่อช่วงเดือนกันยายน ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดนิทรรศการ “หัตถกรรมชั้น “ครู” ที่ใกล้สูญหาย” อายุมากกว่า ๒๐๐ ปี ภายในนิทรรศการ ได้นำเอาชิ้นงานที่ทรงคุณค่าในสมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นข้าวของเครื่องใช้ของชนชั้นสูง ชั้นเจ้านาย กว่า ๓๐๐ ชิ้น นำมาจัดแสดงเทียบเคียงกันกับผลงาน “ครู” ที่ใกล้สูญหาย เช่น ตู้พระธรรมประดับกระจกเกรียบ สมบัติของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สมัยรัชกาลที่ ๑ อายุราว ๒๓๐ ปี ผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช ถ้าช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา อายุกว่า ๓๐๐ ปี กระเบื้องสังคโลกตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย อายุกว่า ๗๐๐ ปี กริชโบราณอายุกว่า ๒๐๐ ปี และ หนังใหญ่
ภายในงาน ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยสอบถามกับครูวีระ มีเหมือน ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี ๒๕๕๒ งานเครื่องหนัง ผู้ที่สืบทอดวิชาการทำหนังใหญ่ และการพากษ์หนัง ปัจจุบันอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์กุฎีไศเลนทร อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง สำหรับรายละเอียดเรื่องการทำหนังใหญ่ ครูวีระเล่าว่า เริ่มสนใจและเรียนกับครูตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ ทั้งวิธีการทำตัวหนัง การพูด การร้องบทละคร และการเชิด
"เพราะการเป็นเจ้าของหนังใหญ่ จำต้องเรียนรู้เรื่องวิชาพวกนี้ทุกอย่าง จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้"
ครูวีระเล่าต่อว่า ในทุกวันนี้หนังใหญ่แทบจะไม่มีคนรู้จัก หาดูได้ยากแล้ว แต่ยังมีสำนักที่ยังคงสืบทอดอยู่ มีเพียงวัดบ้านดอนที่ระยอง วัดขนอน ราชบุรี วัดสว่างอารมณ์ สิงห์บุรี บางที่ต้องแสดงในวัด ไปแสดงข้างนอกไม่ได้
ในขณะที่เล่าอธิบายเกี่ยวกับหนังใหญ่ ท่านก็ได้สาธิตการตอกลวดลายบนตัวหนังให้ชมไปด้วย หนังใหญ่นั้นมีอยู่ ๒ ชนิด อย่างแรกเรียกว่าหนังกลางคืน มีสีพื้นเป็นสีดำกับสีขาวของช่องไฟตัวลาย อย่างที่สองเรียกว่า หนังกลางวัน มีหลายสีบนตัวหนังคือ สีขาว สีดํา สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีต่าง ๆ จะช่วยขับให้ตัวหนังมีความสวยงามเด่นชัดขึ้น หากเป็นตัวใหญ่ต้องใช้เวลาทำถึง ๒๐ วันต่อ ๑ ตัวจึงเสร็จสมบูรณ์แบบ ในทุกวันนี้ หนังวัว หนังควายที่ใช้ในการทำ ต้องสั่งมาจากคาลิฟอร์เนีย เพราะเป็นพันธุ์ตัวใหญ่ โดยการทำในแต่ละตัวก็มีลักษณะท่าทางแตกต่างออกไปตามเนื้อเรื่องด้วย อย่างเรื่องรามเกียรติ์ นอกจากทำตัวละครทุกตัวแล้ว แต่ละตัวต้องมีท่าแตกต่างกันออกไป เช่น ตัวพระราม มีท่าแผลงศร ๑ ตัว ท่าเชิด ๑ ตัว ท่ารำ ๑ ตัว เมื่อคนพากย์บรรยายอย่างไรก็เอาตัวหนังตัวนั้นขึ้นไป ในหนึ่งตอนตกประมาณ ๕๐ ตัว
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ครูวีระ มีเหมือน ครั้งหนึ่งเคยนำหนังใหญ่มาร่วมจัดแสดงกับมูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์ ในงานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๑ ที่เมืองโบราณ สมุทรปราการ โดยครั้งนั้นได้นำเยาวชนวัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี จัดทำการแสดงหนังใหญ่เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “ศึกทศกัณฐ์ยกรบขาดเศียรขาดกร” โดยเริ่มตั้งแต่การตั้งเสา ปักจอ ณ บริเวณลานสนามชัย หน้าพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท ซึ่งเป็นการเลียนแบบอย่างโบราณ (ตามกฎมณเฑียรบาลของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาที่ระบุไว้ว่าจะต้องเล่นหนังใหญ่เพียง ๒ แห่ง คือหน้าพระบรมมหาราชวังที่อยุธยาบริเวณพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาทซึ่งก็มีลานสนามชัย และอีกแห่งหนึ่งเล่นที่วัดพุทไธสวรรค์)
จากนั้นทำพิธีไหว้ครู พร้อมทั้งเชิญหนังครู ๓ ตัวคือ ตัวฤษี พระนารายณ์ และพระอิศวร เพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นโหมโรงด้วยการบรรเลงวงปี่พาทย์ ๒ คณะ และเปิดจอด้วยการนำหนังลิงขาวจับลิงดำ ที่เรียกว่า จับลิงหัวค่ำ มาแสดง ก่อนนำเข้าสู่การแสดงหนังใหญ่ มีคุณ สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงความเป็นมาของหนังใหญ่ ในหัวข้อ “หนังใหญ่ มหรสพหรือพิธีกรรม” โดยเข้าใจว่าได้รับอิทธิพลมาจากเขมร เขมรเรียก ‘สะแบก’ สะแบกแปลว่า ‘หนัง’ ในสมุทรโฆษคำฉันท์เขาก็ใช้คำว่า ‘หลุสะแบก’ สะแบกของเขมรนั้นเล่นแบบสนุกสนานเฮฮา เพราะฉะนั้น คนโบราณเขาจึงดูหนังใหญ่กันทั้งคืน
“หนังใหญ่” มหรสพที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ รวมเอาศิลปกรรมหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะการแกะและตอกหนังให้เกิดรูปร่าง จากภูมิปัญญาและทักษะความชำนาญฝีมือช่าง อีกทั้งยังเป็นต้นกำเนิดการละเล่น “โขน” อีกด้วย เป็นที่น่าเสียดายว่าในปัจจุบันการแสดง ไม่มีให้คนรุ่นหลังได้ชมแล้ว คงเหลือเพียงที่แสดงเพื่อการศึกษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดขนอนจังหวัดราชบุรี วัดสว่างอารมณ์จังหวัดสิงห์บุรี และวัดบ้านดอนจังหวัดระยอง เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากแต่ในวันนี้ยังมีผู้ที่มีความรู้เรื่องราวของหนังใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญชั้นสูง ทั้งการเชิด การพากย์หนัง และการตอกตัวหนังอย่างครูจฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงษ์ ครูช่างหัตถกรรม ปี ๒๕๕๘ งานเครื่องหนัง และครูวีระ มีเหมือน กับคำกล่าวของครูที่ว่า “จะยังคงรักษางาน หนังใหญ่ ไว้เพื่อคนรุ่นหลังได้รู้จัก และยังขอมุ่งมั่นทำไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ” ทั้งนี้ก็เพื่อ ไม่ต้องการให้ เรื่องของ “หนังใหญ่” ต้องเป็นงาน หัตถกรรมชั้นครู ที่ใกล้สูญหาย
ภาพในงานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๑ ปี ๒๕๔๖ ที่เมืองโบราณ สมุทรปราการ
บรรณานุกรม
กนกวรรณ สุวรรณวัฒนา. หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : ห้องสมุด
มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, ๒๕๒๗
กรมศิลปากร. เหลียวหน้า แลหลัง ดูหนังใหญ่. พ.ศ. ๒๕๕๑
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ (และคนอื่นๆ). หนังใหญ่วัดบ้านดอน. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(องค์การมหาชน), ๒๕๔๙
ปราณี กล่ำส้ม. หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์. จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
ฉ.๔๕ (ก.ย.-ต.ค.๒๕๔๖)
ผะอบ โปษะกฤษณะ. วรรณกรรมประกอบการเล่นหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี
พระนคร : โรงพิมพ์สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. พ.ศ. ๒๕๒๐
สุจิตต์ วงเทศ. (๒๕๕๙). หนังใหญ่ มหรสพหรือพิธีกรรม. จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก- ประไพ
วิริยะพันธุ์ ฉ.๔๖ (ม.ค.-ก.พ.๒๕๔๗). น. ๓-๔.
เสถียร ชังเกตุ. หนังใหญ่ ศิลปการแสดงชั้นสูงของไทย. จัดพิมพ์เนื่องในปีอนุรักษ์
วัฒนธรรมไทย มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๗
อนุสรณ์ โพธิ์แก่นแก้ว. ในความเคลื่อนไหวงานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๑. จาก
เว็บไซต์https://lek-prapai.org/home/view.php?id=408
เอนก นาวิกมูล. หนังตะลุง-หนังใหญ่. กรุงเทพฯ : บริษัทเยลโล่การพิมพ์, ๒๕๕๖.