การสำรวจ ‘ภูพระบาท มหาวนาสีแห่งอีสาน’ เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว ก่อนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ปีพ.ศ. ๒๕๖๗
(UNESCO) ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี’ (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) ถือเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ ๘ และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ ๕ ของประเทศไทย
การสำรวจ ‘ภูพระบาท มหาวนาสีแห่งอีสาน’ เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว
ก่อนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ปีพ.ศ. ๒๕๖๗
พรเทพ เฮง
ช่วงเวลานี้ ถนนทุกสายและผู้คนกำลังเดินทางมุ่งหน้าไปสู่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ เดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังจังหวัดอุดรธานีเป็นระยะทาง ๕๖๔ กิโลเมตร ผ่านตัวเมืองอุดรธานีมุ่งหน้าไปทางจังหวัดหนองคาย เลี้ยวซ้ายที่บริเวณหมู่บ้านนาข่าเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๒๑ อีก ๖๗ กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
พลิกดูฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เคยได้นำเสนอภาพการสำรวจท้องถิ่นเพื่อทำวารสารเมืองโบราณช่วงแรก ระหว่างช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ถึงต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๙ หรือราวๆ เกือบ ๕๐ ปีมาแล้ว ในภาพประกอบด้วยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะหรือ น. ณ ปากน้ำ และอาจารย์ธิดา สาระยา สำรวจและศึกษาโบราณสถานบริเวณจังหวัดอุดรธานีและหนองคาย เพื่อจัดทำวารสารเมืองโบราณฉบับที่ ๔ (เดือนกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙) ในระหว่างช่วงนั้นอาจารย์ศรีศักรยังคงรับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยพร้อมไปกับออกสำรวจทุกเสาร์อาทิตย์
การสำรวจท้องถิ่นเพื่อทำวารสารเมืองโบราณช่วงแรก ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
มีภาพหนึ่งซึ่งแสดงถึงบริเวณที่น่าจะเป็นวัดพ่อตา-ลูกเขยที่ ‘พระบาทบัวบก’ ที่แยกสถานที่กันกับพระบาทบัวบาน และชาวบ้านมักเรียกว่า ‘พระบาทบัวบก-พระบาทบัวบาน’ ซึ่งภายหลังเมื่อกรมศิลปากรจัดการใหม่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์และเรียกรวมๆ กันว่า ‘ภูพระบาท’ ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งเดินทางสำรวจทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ทั่วอีสาน ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า เสมาหิน มีต้นตอจากหินตั้งในศาสนาผี และที่ภูพระบาทบัวบก-บัวบาน ก็เป็นแหล่งสำคัญที่พบความสืบเนื่องดังกล่าว
วัดพ่อตา อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
เมื่อมีการประกาศจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๖ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๑–๓๑ กรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี’ (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period)
ถือเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ ๘ และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ ๕ ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ ๒ ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๕
หากย้อนกลับไปสู่อดีต การสงวนรักษาและการเตรียมการเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก กรมศิลปากรได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนจำนวน ๓,๔๓๐ ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ ตอนที่ ๖๓ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด
อีก ๒๓ ปีต่อมา ในวันที่ ๑ เมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ยูเนสโกได้ขึ้นเป็นสถานที่ที่ได้รับขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม
เงื่อนไขเวลา เมื่อ ๒ ทศวรรษที่แล้ว ‘ภูพระบาท’ ได้รับการประกาศรายชื่อในบัญชีเบื้องต้นของมรดกโลก จากศูนย์มรดกโลกยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งตามข้อตกลงสากล ประเทศไทยต้องทำเอกสารขอเสนอเป็นมรดกโลกส่งไปยังศูนย์มรดกโลกภายใน ๑๐ ปี ซึ่งประเทศไทยส่งทันในปี พ.ศ. ๒๕๕๘
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ สภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (International Council on Monuments and Sites) หรือ อิโคโมส (ICOMOS) ได้แจ้งให้ทางการไทยทราบเกี่ยวกับการเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของทางการไทย โดยมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมของสีมากับพุทธศาสนา เพื่อนำไปสู่ศักยภาพที่โดดเด่นของอุทยานฯ รวมทั้งหากเป็นไปได้ เสนอให้พิจารณาเกณฑ์และขอบเขตการขึ้นทะเบียนอุทยานฯ ที่ทางการไทยเสนอ
โดยมีข้อมติเสนอให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นแหล่งมรดกโลก ประเภทภูมิทัศน์วัฒนธรรม และเสนอให้เปลี่ยนชื่อแหล่งเป็น ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี’ รวมทั้งขอให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ภายหลังจากการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกด้วยคุณค่าความโดดเด่นของการแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี จนมาประสบความสำเร็จในอีก ๘ ปีต่อมาคือ ปี พ.ศ. ๒๕๖๗ นี้
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่า ภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นเทือกเขาหินทราย อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางประมาณ ๓๒๐ – ๓๕๐ เมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง มีพืชพันธุ์ธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุม
ภาพถ่ายทางอากาศเมืองอุดรธานีในอดีต
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
บริเวณลานเพิงหิน อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
จากการสำรวจทางโบราณคดีที่ผ่านมาได้พบว่าบนภูพระบาทแห่งนี้ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กำหนดอายุได้ราว ๒,๕๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ดังตัวอย่างการค้นพบภาพเขียนสีอยู่มากกว่า ๕๔ แห่งบนภูเขาลูกนี้ นอกจากนี้ก็ยังพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้างและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
กรมศิลปากร ได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด และได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยสมเด็จพระเทพรัตน-ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด
ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น ๗๘ แห่ง มีภารกิจหลักในการดูแลรักษา อนุรักษ์และพัฒนา และทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโบราณสถานและโบราณวัตถุที่อยู่ภายในพื้นที่อุทยานฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งยังเปิดให้บริการในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป
บทความ ‘พระป่าสายอีสานและอรัญวาสีสองฝั่งโขง: ภูพานมหาวนาสี’ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ซึ่งได้แนวคิดเบื้องต้นมาจาก ‘ภูพานมหาวนาสี’ ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม โดยให้ความคิดหลักในการตั้งข้อสังเกตกลุ่มโบราณสถานบนเทือกเขาภูพานว่า เป็นต้นเค้ากำเนิดของพระป่าในอีสานที่มีความสืบเนื่องมาจากการเข้ามาของพุทธศาสนาแบบเถรวาทในยุคเริ่มแรก มากกว่าช่วงที่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เข้ามาประดิษฐานในแคว้นสุโขทัยเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้ฉายภาพให้เห็นความสืบเนื่องตกทอดของคติความเชื่อความศรัทธาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงศาสนาต่างๆ ที่เผยแผ่เข้ามา โดยเฉพาะพุทธศาสนาที่ปักหลักอย่างมั่นคงมาถึงปัจจุบันอย่างเป็นระบบตามระเบียบวิจัยผ่านวิธีคิดภูมิวัฒนธรรม
‘ …เทือกเขาหินทรายในเขตภูพาน ทั้งที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี แถบอุบลราชธานีและมุกดาหาร มีกลุ่มก้อนหินโพล่ซ้อนกันคล้ายดอกเห็ดหรือตั้งพิงกันหลายแห่ง เรียกว่า เพิงหิน [Rock shelter] ส่วนพื้นที่รอบๆ เป็นลานหินกว้างน่าจะเหมาะสำหรับเป็นลานพื้นที่เพื่อทำพิธีกรรมร่วมกันของกลุ่มคนที่เดินทางมาจากท้องถิ่นต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
บริเวณเหล่านี้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อต่อเนื่องกันมานับจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ปรากฏภาพเขียนสีลวดลายเรขาคณิต ภาพฝ่ามือ ภาพเลียนแบบคนและสัตว์ต่างๆ เขียนไว้ตามผนังหรือใต้เพิงหินหลายจุด และในกาลต่อมาบริเวณเพิงผาหินและลานหินเหล่านี้ถูกปรับเพื่อใช้เป็นสำนักสงฆ์หรือวัดที่แฝงเร้นตามป่าเขา อันเรียกได้ว่าเป็นอรัญวาสีทางพุทธศาสนา
ภาพเขียนสีในถ้ำคน อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
บริเวณเหล่านี้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อต่อเนื่องกันมานับจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ปรากฏภาพเขียนสีลวดลายเรขาคณิต ภาพฝ่ามือ ภาพเลียนแบบคนและสัตว์ต่างๆ เขียนไว้ตามผนังหรือใต้เพิงหินหลายจุด และในกาลต่อมาบริเวณเพิงผาหินและลานหินเหล่านี้ถูกปรับเพื่อใช้เป็นสำนักสงฆ์หรือวัดที่แฝงเร้นตามป่าเขา อันเรียกได้ว่าเป็นอรัญวาสีทางพุทธศาสนา
พระบาทบัวบกและพระบาทบัวบานในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพานคำ อยู่ทางทิศตะวันตกของอุดรธานี ประกอบด้วยทิวเขาขนาดใหญ่และภูเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ในแนวเดียวกัน เป็นส่วนที่ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาภูพานที่กั้นขวางระหว่างแอ่งโคราชและแอ่งสกลนครบนที่ราบสูงของอีสาน ขอบของแอ่งนี้ยกตัวขึ้นเป็นแนวเขาหินทรายเป็นส่วนใหญ่ รอบๆ เขานี้มีป่าไม้ ๓ ชนิด คือ ป่าเต็งรัง พวกไม้เต็ง รัง เหียง พลวง ป่าเบญจพรรณ ไม้ที่พบได้แก่ ประดู่ แดง เหียง เต็ง รัง ตะแบก ส้าน ซ้อ มะม่วงป่า กะบาก ยอป่า ป่าดิบแล้ง ไม้ที่พบได้แก่ มะค่าโมง ประดู่ ตะเคียนหิน ไทร เป็นต้น ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นที่พบเป็นส่วนใหญ่ในภาคอีสานและยังคงมีสภาพสมบูรณ์อยู่มาก เป็นที่กำเนิดของลำน้ำโมงที่ไหลไปตกแม่น้ำโขง
แนวเทือกเขาภูพานคำนี้ต่อเนื่องเป็นแนวเทือกเขาเดียวกับแนวเขาด้านในสุดด้านตะวันออกของที่ราบลุ่มน้ำงึมในประเทศลาว และถูกแม่น้ำโขงตัดผ่านแนวเทือกเขานี้จนแยกออกอยู่ระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ
บริเวณเชิงเขาภูพาน ในเขตบ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน เป็นที่ตั้งของพระพุทธบาทบัวบก และพระพุทธบาทหลังเต่า ซึ่งมีร่องรอยพุทธสถานเป็นกลุ่มอารามที่มีการปักหินเสมาเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาเป็นกลุ่มๆ หลายแห่งและหลายช่วงเวลา กล่าวได้ว่าเป็นอารามแบบอรัญวาสีอย่างชัดเจน
ส่วนพระพุทธบาทบัวบาน อยู่ในเขตบ้านไผ่ล้อม ตำบลเมืองพาน พบกลุ่มเสมาหินทราย จำหลักภาพบุคคลตามเรื่องราวในพุทธประวัติและชาดก ปักเป็น ๘ ทิศ ซ้อนกัน ๓ หลัก บางหลักถูกทำให้ล้ม หลายหลักถูกดินทับถม มีจำนวนทั้งหมด ๓๑ หลัก นับเป็นบริเวณที่แสดงถึงรูปแบบคติการปักใบเสมาแปดทิศที่ชัดเจนและสมบูรณ์ที่สุด
ไม่ไกลจากพระบาทบัวบาน คือบ้านหนองกะลึม ที่มีตำนานเล่าว่าเป็นบ้านเกิดของเจ้าราชครูหลวงโพนสะ-เม็ก หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกท่านว่า ยาคูขี้หอม ซึ่งเป็นผู้นำราษฎรข้ามโขงมาบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม และเป็นพระเถระผู้ใหญ่และผู้นำทางจิตวิญญาณและการเมือง นำผู้คนอพยพไปสร้างบ้านเมืองเป็นแคว้นจำปาสักสืบต่อมา
หมู่บ้านนี้เป็นชุมชนเก่า เพราะมีเนินดินโบราณขนาดใหญ่ กลางชุมชนพบเสมาปักอยู่ในบริเวณที่เป็นวัดโนนศิลาอาสน์ในปัจจุบัน ใบเสมากลุ่มนี้แสดงเรื่องเล่าในพุทธประวัติและชาดก ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับเรื่องราวและลวดลายบนใบเสมาพบบนเขาที่พระบาทบัวบาน ทั้งสองแห่งนี้มีลักษณะเทียบเคียงกันได้ว่า เป็นงานช่างทำขึ้นในคราวเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน น่าจะอยู่ในช่วงทวารวดีตอนปลายและศิลปะร่วมแบบเขมรแบบเกาะแกร์ ที่กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เป็นต้นมา
ข้อสังเกตก็คือ แม้จะได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมแบบเขมรในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิพลในทางความเชื่อแบบฮินดูตามแบบเขมร เพียงแต่รับอิทธิพลงานช่างแบบเขมรมาเท่านั้น แต่เห็นได้ชัดว่าอยู่ในธรรมเนียมการนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่เน้นการปฏิบัติธรรมในพื้นที่ห่างไกลและป่าเขาแบบอรัญ-วาสี
หลังจากการเข้ามาใช้พื้นที่ของพระป่าบนลานหินใช้เพื่อทำพิธีกรรมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ แล้ว ก็มีการเข้ามาของพุทธศาสนาที่กำหนดเพิงหินรูปร่างแปลกตา เช่นคล้ายดอกเห็ดบ้าง คล้ายพานที่ตั้งอยู่บนแท่นบ้าง เป็นเขตอรัญวาสีอย่างต่อเนื่องเช่นที่บนเทือกเขา
การปักเสมา ๘ ทิศ รอบขอบเขตลานหิน ที่กู่นางอุสา อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
พระบาทบัวบกมีการปักเสมาล้อมรอบขอบเขตบนลานหิน ซึ่งกำหนดให้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์เป็นกลุ่มๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน จนดูคล้ายการแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็นหลายคณะ แม้มีเพิงผาที่พักแบ่งแยกชัดเจนแต่ก็อยู่ในบริเวณเดียวกัน อาณาเขตของคณะต่างๆ กว้างขวาง มีการเจาะรูน้ำสำหรับดึงขึ้นมาใช้และบางแห่งก็เจาะพื้นเป็นบ่อน้ำเก็บน้ำไว้ได้บนลานหิน สมเป็นสถานที่พิเศษที่เงียบสงบเพื่อปฏิบัติธรรมสมาธิวิปัสสนาอย่างยิ่ง
บ่อน้ำนางอุสา อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
จากระบบภาพฐานข้อมูลศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
ร่องรอยของฐานแท่นหินประดิษฐานพระพุทธรูปและมีการใช้หินทรายเรียงก่อเป็นกำแพงที่วัดลูกเขย บ่ง-บอกอิทธิพลการใช้วัตถุเนื่องในวัฒนธรรมแบบเขมร ซึ่งก็คงมีอายุร่วมสมัยในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ต่อมาก็เห็นอิทธิพลของตำนานเรื่องอุสา-บารส เรื่องพญานาคในการเสริมเพิ่มเติมตกแต่งเพิงหินตามธรรมชาติให้มีรูปร่างเป็นอาคาร เป็นห้องในระยะต่อมาอย่างชัดเจน และที่เห็นอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบลาวล้านช้างก็คือ พระพุทธรูปแบบประทับยืนปางเปิดโลกที่อยู่เหนือพระพุทธรูปนั่งบริเวณถ้ำพระซึ่งเป็นคตินิยมเดียวกันกับการสร้างพระพุทธรูปประทับยืนโดยทั่วไปในวัฒนธรรมลาวล้านช้าง
อีกฝั่งหนึ่งในเทือกเขาหินทรายที่ต่อเนื่องถึงกันทางฝั่งลาวอันเป็นแนวเขาเดียวกันกับภูพาน ห่างจากนครเวียงจันทน์ไปราว ๗๐ กิโลเมตร บนเส้นทางที่จะเดินทางไปสู่เขตเทือกเขาภายใน ตรงจุดที่เป็นช่องเขาจากที่ราบลุ่มน้ำงึมเริ่มต้นเข้าเขตที่สูง พบอรัญวาสีที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง บนเพิงผาที่ถูกปรับให้เป็นลานกว้างร่มรื่น มีพระพุทธรูปประทับนั่งขนาดใหญ่พระพักตร์แสดงออกแบบฝีมือช่างลาวท้องถิ่น และมีการจีบพระหัตถ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปในบริเวณลุ่มน้ำงึม ซึ่งพบพระพุทธรูปที่จีบพระหัตถ์แบบนี้องค์หนึ่งเก็บรักษาไว้ที่พระธาตุหลวงในเมืองเวียงจันทน์ ประเมินอายุได้ว่าอยู่ในกลุ่มทวารวดีตอนปลาย เพราะบริเวณนี้มีรายงานว่าพบชุมชนโบราณที่มีการปักใบเสมาและรูปแบบศิลปะและการอยู่อาศัยอยู่ในสมัยทวารวดีตอนปลายหลายแห่ง
บ้านเมืองพาน เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีชื่ออยู่ในตำนานอุรังคธาตุ และตามตำนานท้องถิ่นเรื่องอุสา-บารส ในตำนานอุรังคธาตุ กล่าวถึงบริเวณ ภูกูเวียน ในเทือกเขาภูพานนี้ว่าเป็นที่อยู่ของพญานาคชื่อ สุวรรณนาคและพุทโธปาปนาค ซึ่งแต่เดิมหนีจากหนองแสมาตามลำน้ำโขง แล้วมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าได้มาโปรดสัตว์ที่แคว้นศรีโคตรบูรได้แวะมาประทับที่ภูกูเวียน ทรงทรมานจนพญานาคยอมแพ้จึงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้นาคได้สักการบูชา
นอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแล้ว ตำนานยังกล่าวว่าพญานาคเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับเมืองพาน ซึ่งเป็นเมืองที่พระอิศวรสร้างไว้ในเขตเทือกเขาภูพาน ครั้งแรกพญานาครบกับพระอิศวร ในที่สุดก็ยอมแพ้และกลายเป็นผู้ดูแลเมืองพานช่วยเหลือกษัตริย์ผู้ครองเมือง ต่อมาเมื่อพระบารสมายุ่งเกี่ยวกับนางอุสา ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าเมืองพาน พญานาคก็ช่วยเจ้าเมืองพานจับพระบารสมัดไว้ ร้อนถึงพระกิดนารายณ์ (พระกฤษณะ) ตำนานนี้จึงเรียกกันอีกว่าเรื่อง พระกิดพระพาน แล้วต้องมารบกับเจ้าเมืองพานและพญานาค แล้วจึงช่วยพระบารสไปได้
ปัจจุบันชาวบ้านเรียกบริเวณตอนหนึ่งของเทือกเขานี้ว่าเมืองพาน ผู้คนในท้องถิ่นได้นำเอาตำนานพื้นบ้าน นิทานพื้นเมืองเรื่อง ‘อุสา-บารส’ มาตั้งชื่อและเล่าถึงสถานที่ต่างๆ สถานที่ต่างๆ ที่เป็นอารามบนภูพระบาทจึงมีชื่อเรียกตามจินตนาการจากนิทานเรื่องอุสา-บารส เป็นส่วนใหญ่ เช่น หอนางอุสา กู่นางอุสา บ่อน้ำนางอุสา วัดลูกเขย วัดพ่อตา คอกม้า ท้าวบารส เป็นต้น
เนื้อเรื่องในตำนานอุสา-บารส อ้างอิงสถานที่ตั้งแต่บ้านเมืองพานในเขตภูพานต้นน้ำโมง กล่าวถึงเมืองพาน เมืองปะโค เวียงงัว ภูกูเวียน ฯลฯ เป็นชาดกนอกพระสูตรที่ใช้สถานที่ตามท้องถิ่นต่างๆ อ้างอิงถึง ซึ่งเป็นอิทธิพลการเล่าเรื่องตามขนบในพุทธศาสนาเถรวาทในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ลงมา หลังรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เป็นช่วงที่บ้านเมืองทางฝั่งลาวมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผู้คนโยกย้ายเข้ามาทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในดินแดนอีสานจำนวนมากเป็น ระลอกๆ
บ้านเมืองทางฝั่งซ้ายแยกออกเป็นสามแคว้นคือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาสัก ผู้คนที่ข้ามมาอยู่ทางนี้ผสมผสานกับผู้คนแต่เดิมและมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับพญานาค ตำนานพระเจ้าเลียบโลกที่เป็นตำนานพระธาตุต่างๆ และตำนานชาดกที่ผูกพันกับชื่อสถานที่ในท้องถิ่นต่างๆ ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมความเชื่อและประเพณีแบบลาวล้านช้างที่แพร่หลายอยู่ทั้งสองฝั่งโขงจนถึงปัจจุบัน
ชาวบ้านในท้องถิ่นเมืองพาน แม้ไม่สามารถสืบต่อถึงความหมายและความสำคัญของอรัญวาสีสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในสองฝั่งโขงตกทอดต่อเนื่องมาได้ แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญแก่รอยพระพุทธบาทบนภูเขาและตำนานเรื่องรูนาคตามธรรมเนียมการเล่าเรื่องพระเจ้าเลียบโลก และถือเอางานนมัสการรอยพระพุทธบาทสามสี่แห่งในเทือกเขาภูพานในละแวกเมืองพาน ให้เป็นงานประจำปีประจำท้องถิ่นที่สำคัญ เริ่มที่พระบาทบัวบานก่อน เพราะถือว่าเป็นพระบาทพี่ในเดือนสามแล้วจึงมีงานนมัสการพระบาทบัวบกและพระบาทหลังเต่าที่อยู่ใกล้เคียงกันในเดือนสี่
เมื่อกรมศิลปากรเข้ามากำหนดพื้นที่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ทำให้คนทั่วไปไม่ทราบถึงความหมายของพระบาททั้งสองแห่งที่เรียกชื่อคู่กันมา คือ พระบาทบัวบาน พระบาทบัวบก รวมถึงพระบาทอีกสองสามแห่งในบริเวณใกล้เคียงกัน แต่ไปกำหนดเอาบริเวณพระบาทบัวบกที่มีกลุ่มอาคารศาสนสถานตามธรรมชาติที่สัมพันธ์กับตำนานเรื่องอุสา-บารส แล้วตั้งชื่อว่า ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’
ทั้งชื่อและความหมายจึงปรับเปลี่ยนไปตามการท่องเที่ยวที่เห็นบางจุดและเน้นบางแห่งเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวมากกว่าที่จะเห็นเรื่องราวและความสำคัญของศาสนสถานจากภาพรวมทั้งหมดในท้องถิ่น และคงไม่ต้องคิดไปไกลถึงเรื่องอารามในป่าอันเป็นมหาวนาสีบนภูพานที่คนรุ่นปัจจุบันหมดความเข้าใจและทิ้งการสืบต่อไปเพื่อค้นหาความหมายไปเนิ่นนานแล้ว... ’
รอยพระพุทธบาทหลังเต่า มีการจัดงานนัสการบูชาในเดือนสี่
(ที่มา: เฟสบุ๊กอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท)
การสืบเนื่องศรัทธาที่ถ่ายทอดกันมาจากโบราณกาลรุ่นต่อรุ่นจนถึงปัจจุบัน ‘ประเพณีนมัสการพระพุทธบาทบัวบก : พัฒนาการประเพณี พิธีกรรม สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุดรธานี’ งานวิจัยโดย ไกรฤกษ์ ศิลาคม, ธัชวรรธน์ หนูแก้ว, สุพัฒน์ ศรีชมชื่น คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ซึ่งได้ศึกษาพัฒนาการของงานประเพณีนมัสการพระพุทธบาทบัวบก ผ่านพิธีกรรมและความเชื่อเพื่อหาคุณค่าทางวัฒนธรรมของประเพณี โดยวิธีการวิจัยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ จากการศึกษาจากเอกสาร การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิจัย พบว่า
‘ ...ภูพระบาทเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาและความเชื่อมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาถึงยุควัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมขอม และวัฒนธรรมล้านช้าง พระพุทธบาทบัวบก เป็นรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนไหล่เขาภูพระบาท เดิมมีการก่อมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๕ พระอาจารย์สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ ได้รื้อมณฑปเก่าออกแล้วสร้างพระธาตุขึ้นใหม่ หลังการสร้างเสร็จเรียบร้อยได้จัดให้มีการทำบุญเพื่อเฉลิมฉลองสมโภชองค์พระธาตุและได้มีการสืบทอดงานดังกล่าวเป็นประเพณีประจำปีของวัดและได้พัฒนามาเป็นงานประเพณีนมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทในปัจจุบัน
โดยมีพิธีกรรมเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาท และตำนานพญามิลินทนาค ถือเป็นงานประเพณีประจำปีของวัดและของชุมชนที่มีมายาวนานเกือบ ๑๐๐ ปี ซึ่งมีความสำคัญต่อการสืบสานพระพุทธศาสนาในท้องถิ่น พุทธศาสนิกชนและชุมชนโดยรอบภูพระบาทมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ประเพณีนี้สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ชุมชนยังมีส่วนสำคัญต่อการรักษาอัตลักษณ์ของงานบุญประเพณีควบคู่ไปกับการรักษาตำนานอุษา-บารส และการรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทด้วย ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ใกล้จะสูญหายไปจากสังคม สมควรอย่างยิ่งที่รัฐและท้องถิ่นต้องร่วมกันส่งเสริม สืบสาน และอนุรักษ์ให้ต่อเนื่องไปถึงยังอนุชนรุ่นหลัง... ’
สำหรับภาพรวมของหลักฐานทางโบราณคดีทั้งหมด วิทยานิพนธ์ ‘การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อําเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี: จากหลักฐานทางโบราณคดี’ โดย พิทักษ์-ชัย จัตุชัย ซึ่งเป็นการค้นคว้าอิสระ ส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ซึ่งศึกษาและวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อําเภอ บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี โดยทําการศึกษาจากการสํารวจเพิงหิน แหล่งภาพเขียนสีและโบราณสถานในบริเวณเทือกเขาภูพระบาท ทั้งนี้เพื่อต้องการทราบถึงร่องรอยของการอยู่อาศัยและการใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาและความเชื่อ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
จากการศึกษาเพิงหินซึ่งเป็นแหล่งภาพเขียนสีและโบราณสถานในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท สามารถกําหนดระยะเวลาของการใช้พื้นที่ได้ ๓ ยุคสมัย คือ ๑. แหล่งภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ๒. โบราณสถานสมัยทวารวดี-ลพบุรี และ ๓. โบราณสถานสมัยล้านช้าง-รัตนโกสินทร์ แต่ทั้งนี้แหล่งภาพเขียนสีและโบราณสถานต่างๆ ดังกล่าวนั้นได้มีการใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องซ้ำซ้อนกันหลายยุคสมัย โดยเพิงหินหลายแห่งมีการดัดแปลงให้เป็นไปตามรูปแบบศิลปกรรมของตามยุคสมัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในบริเวณเทือกเขาภูพระบาท
การดัดแปลงเพิงหินด้วยการสกัดให้เป็นห้องหรือการสร้างประติมากรรม
พระพุทธรูปนูนต่ำ ที่บริเวณถ้ำพระ จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
บริเวณเทือกเขาภูพระบาทมีร่องรอยของการใช้พื้นที่เพื่อการประกอบพิธีกรรมมาตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ มีร่องรอยของการอยู่อาศัยและการประกอบพิธีกรรมในสมัยยุคเหล็ก (ราว ๓,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว) การดัดแปลงเพิงหินให้เป็นศาสนสถานเนื่องในพระพุทธศาสนาในสมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕) สมัยลพบุรี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘) สมัยล้านช้าง (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๑) และสมัยรัตนโกสินทร์ (ปัจจุบัน) ภายใต้บริบทของ ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ ที่เป็นบริเวณพื้นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่ให้ความเคารพนับถือ และมีการใช้บริเวณพื้นที่เพื่อการประกอบพิธีกรรม ซึ่งอาจเป็นของกลุ่มคนในท้องถิ่นหรือกลุ่มคนที่อยู่ห่างไกลแต่มีความเคารพนับถือต่อบริเวณพื้นที่ดังกล่าว โดยพื้นที่มีการใช้งานอย่างต่อเนื่องยาวนาน
งานวิจัยนี้ได้สรุปว่า เมื่อทําการศึกษาแหล่งภาพเขียนสีและโบราณสถานทั้งหมดพบว่า เทือกเขาภูพระบาท มีร่องรอยของกลุ่มคนมาตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายยุคโลหะราว ๓,๐๐๐-๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว โดยมีร่องรอยของภาพเขียนสีที่เขียนขึ้นตามเพิงหินต่างๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงลักษณะของเพิงหินและลักษณะของภาพเขียนสีแล้ว อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นสัญลักษณ์เพื่อเป็นเครื่องแสดงถึงการครอบครอง หรือการแสดงอาณาเขตการจับจองพื้นที่ของครอบครัวหรือกลุ่มคนที่ใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่การออกหาของป่าล่าสัตว์ รวมถึงการใช้เพิงหินที่มีภาพเขียนสีเพื่อการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือความเชื่อท้องถิ่น
ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ วัฒนธรรมสมัยทวารวดีได้เข้ามามีอิทธิพลต่อพื้นที่บริเวณเทือกเขาภูพระบาท โดยพบโบราณวัตถุและโบราณสถานเนื่องในพระพุทธศาสนาจํานวนมาก โดยเฉพาะการดัดแปลงเพิงหินด้วยการสกัดให้เป็นห้องหรือการสร้างประติมากรรมพระพุทธรูปนูนต่ำ รวมถึงการปักใบเสมาหินซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการกําหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาหรือเป็นโบสถ์
นอกจากนี้ ยังพบเพิงหินหลายแห่งที่มีร่องรอยของการสกัดให้เป็นสถานที่ที่สามารถอยู่อาศัยได้ หรือเป็นสถานที่เพื่อการบําเพ็ญเพียร และยังมีร่องรอยของหลักฐานที่แสดงอิทธิพลศิลปะเขมรราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ เข้ามาผสมผสานกับศิลปกรรมแบบทวารวดีในบริเวณพื้นที่นี้ด้วย
แม้ว่าหลักฐานทางศิลปกรรมในบริเวณเทือกเขาภูพระบาทได้ขาดหายไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง คือราวพุทธ-ศตวรรษที่ ๑๕-๒๑ ซึ่งอาจเป็นช่วงที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนหรือดัดแปลงเพิงหินให้เป็นมากนัก แต่คงเป็นการใช้เพิงหินเดิมที่มีการดัดแปลงแล้ว เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมโดยไม่ได้มีการดัดแปลงให้ออกไปจากรูปแบบเดิม แต่เมื่อมาถึงช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ อิทธิพลวัฒนธรรมลาว (ล้านช้าง) ได้แผ่ขยายและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น และได้ส่งอิทธิพลมาสู่ดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งบริเวณพื้นที่แถบเทือกเขาภูพระบาทนี้ด้วย จึงได้ปรากฏโบราณสถานและโบราณวัตถุบนภูพระบาทที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาภายใต้อิทธิพลวัฒนธรรมและรูปแบบศิลปกรรมลาว
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าบริเวณเทือกเขาภูพระบาทมีร่องรอยของการใช้พื้นที่เพื่อการประกอบพิธีกรรมมาตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ มีร่องรอยของการอยู่อาศัยและการประกอบพิธีกรรมในสมัยยุคเหล็ก สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยล้านช้าง และสมัยรัตนโกสินทร์ ภายใต้บริบทของ ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ ซึ่งหมายถึงบริเวณพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่มีความเคารพนับถือ หรือการใช้บริเวณพื้นที่เพื่อการประกอบพิธีกรรม ซึ่งอาจเป็นของกลุ่มคนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่แถบนั้นหรือกลุ่มคนที่อยู่ห่างไกล แต่มีความเคารพนับถือต่อบริเวณพื้นที่นั้นๆ
จากร่องรอยของหลักฐานที่ได้กล่าวมาทั้งหมดแล้วนั้น ย่อมแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า บริเวณพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีการอยู่อาศัยและการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาและคติความเชื่อท้องถิ่นมาตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะร่องรอยของหลักฐานการประกอบพิธีกรรมอย่างชัดเจนในสมัยทวารวดี และในปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทก็ยังคงเป็นพื้นที่ที่ได้รับการเคารพนับถือของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
จุดที่น่าสนใจสำหรับการประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี’ ของยูเนสโก ศาสตราจารย์ ดร.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนอรรถาธิบายใน เฟซบุ๊ก Sayan Praicharnjit ถึงการพิจารณาคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของภูพระบาทในทัศนะของเขาดังนี้
‘ …ตามเกณฑ์ข้อ ๓: เป็นประจักษ์พยานของวัฒนธรรมสีมา (SIMA Culture) ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของอารยธรรมพุทธศาสนาทวารวดีในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของดินแดนสุวรรณภูมิที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในห้วงคริสต์ศตวรรษที่ ๖-๑๐
สีมาหรือเสมาหินมีจารึก บ้านดอนแก้ว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
ตามเกณฑ์ข้อ ๕: เป็นประจักษ์พยานของแนวคิดและการปฏิบัติตามกฎแห่งการพึ่งพิงสัมพันธ์อันเกื้อกูล (Law of Interdependency) ระหว่างมนุษย์ (Human) กับธรรมชาติกายภาพ (Physical nature) และสิ่งเหนือธรรมชาติ (Supernature) ในการจัดการพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปี
กฎแห่งการพึ่งพิงสัมพันธ์ (Law of Interdependency) เป็นกฎธรรมชาติในชุดความรู้ ความเข้าใจ เรื่อง อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท หัวใจของพุทธศาสนา ที่สอนให้รู้และเข้าใจว่าสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีสิ่งใดมีสิ่งจําเป็นครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวเอง ต่างก็เป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน การเกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ต้องพึ่งพิงสัมพันธ์กันอย่างเกื้อกูลให้ประโยชน์แก่กันและกันตลอดเวลา ไม่สามารถแยกออกไปอยู่เดี่ยวๆ โดดๆ ได้
มนุษย์ (human) เข้าไปจัดการพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บนภูพระบาทตามแนวคิดในกฎแห่งการพึ่งพิงสัมพันธ์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย โดยเลือกพื้นที่/สถานที่ธรรมชาติ (Physical nature) ที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษ ได้แก่ เสาเฉลียง เพิงหิน และลานหินต่างๆ เป็นที่ประกอบพิธีกรรมในการสื่อสารสร้างความสัมพันธ์อันเกื้อกูลกับสิ่งเหนือธรรมชาติมิติต่างๆ มีการวาดภาพระบายสีเป็นรูปคน สัตว์ สิ่งของ และสัญลักษณ์ต่างๆ
ในสมัยทวารวดี พุทธบริษัท ที่มีพระสงฆ์เป็นกลุ่มนําได้เข้ามาดัดแปลงปรับปรุงพื้นที่/สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามแหล่งเสาเฉลียง เพิงหิน และลานหินเดิมที่สืบทอดมาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ให้เป็นศาสนถานในพุทธศาสนา มีการกําหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นพุทธสถาน (เป็นสถูป เจดีย์ วิหาร อุโบสถ) มีการปักหลักหินสีมาลักษณะต่างๆ ล้อมรอบ มีการสกัดแท่งหินให้เป็นผนังห้อง ขุดแต่ง และสกัดพื้นหินระดับต่างๆ ให้เรียบเสมอกัน ทําเป็นแท่นประดิษฐานรูปเคารพและเป็นพื้นห้องสําหรับนั่ง นอนตามโอกาส บางแห่งมีการก่อผนัง กั้นเป็นห้องขนาดต่างๆ และบางแห่งมีการแกะสลักเป็นพระพุทธรูปและประติมากรรมรูปเทวดาและบุคคลไว้ด้วย บางแห่งมีการขุดสกัดพื้นหินให้ลึกลงไปเป็นบ่อน้ำ ซึ่งการดําเนินการดัดแปลงเน้นการขุด สกัด แต่เพียงเล็กน้อยเท่าที่จําเป็น ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างหรือรูปลักษณ์ดั้งเดิมของธรรมชาติกายภาพแต่อย่างใด... ’
เพราะฉะนั้นการประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี’ มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ซึ่งวลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้ตั้งข้อสังเกตมาเป็นสิบๆ ปีแล้วว่า ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ ทั้งชื่อและความหมายจึงปรับเปลี่ยนไปตามการท่องเที่ยวที่เห็นบางจุดและเน้นบางแห่งเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวมากกว่าที่จะเห็นเรื่องราวและความสำคัญของศาสนสถานจากภาพรวมทั้งหมดในท้องถิ่น
รวมทั้งอาจารย์ศรีศักร วิลลิโภดม เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อหลายปีที่ผ่านมาว่า ภูพระบาท ก็เป็นมรดกโลกอยู่แล้วในตัวของมันเอง ควรให้ความสำคัญกับความหมายในสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในภูมิภาค ดูพัฒนาการความเชื่อว่า ภูพระบาท เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาที่มีพัฒนาการเชื่อมโยงมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จากศาสนาผีสู่มิติของความเชื่อความศรัทธาในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์...
อ้างอิง
‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
'ภูพานมหาวนาสี' โดย ศรีศักร วัลลิโภดม นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๕ เดือนมีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๒
‘พระป่าสายอีสานและอรัญวาสีสองฝั่งโขง’ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๒๙๒ (เดือนมิถุนายน ๒๕๕๒) และหนังสือ ‘เมืองหนองหารหลวงและภูพานมหาวนาสี’
วิทยานิพนธ์ ‘การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อําเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี: จากหลักฐานทางโบราณคดี’ โดยนายพิทักษ์ชัย จัตุชัย หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
ประเพณีนมัสการพระพุทธบาทบัวบก : พัฒนาการประเพณี พิธีกรรม สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุดรธานี โดย ไกรฤกษ์ ศิลาคม, ธัชวรรธน์ หนูแก้ว, สุพัฒน์ ศรีชมชื่น วารสารภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม, ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-มิถุนายน ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น