ผู้เข้าชม
0

ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิเพื่อการพัฒนา

‘สุวรรณภูมิ’ เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของคนสมัยบิดาของข้าพเจ้าขึ้นไป หาได้อยู่ในความทรงจำของคนรุ่นปัจจุบันไม่ จนเกิดสะกิดใจขึ้นจากการที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานชื่อ ‘สนามบินสุวรรณภูมิ’ ขึ้นมา เป็นชื่อสถานที่ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าเป็นนวัตกรรมจากความคิดเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของสถานที่
30 มิถุนายน 2564


 

 

ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิเพื่อการพัฒนา

ศรีศักร  วัลลิโภดม

หน้าที่ 1/5


ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิเพื่อการพัฒนา

โดยเหตุที่ ‘มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์’ ได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมใน ‘โครงการศึกษาสุวรรณภูมิเพื่อการพัฒนา’ ที่ริเริ่มโดย ‘ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาแห่งชาติ ผู้เห็นว่าควรจะนำความรู้เรื่องสุวรรณภูมิมาสร้างเป็นนวัตกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในลักษณะที่เป็นสหวิทยาการ [Interdisciplinary] ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมด้วยได้จากนักวิชาการในศาสตร์ต่างๆ เช่น สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษย์ศาสตร์ และศิลปวิทยา

ความคิดริเริ่มดังกล่าวนี้เป็นที่น่ายินดีและน่าพิศวงสำหรับบรรดาผู้บริหารของประเทศชาติในยุคโลกาภิวัตน์ เพราะเรื่องราวของ  'สุวรรณภูมิ’ เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของคนสมัยบิดาของข้าพเจ้าขึ้นไป หาได้อยู่ในความทรงจำของคนรุ่นปัจจุบันไม่

จนเกิดสะกิดใจขึ้นจากการที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานชื่อ ‘สนามบินสุวรรณภูมิ’ ขึ้นมา เป็นชื่อสถานที่ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าเป็นนวัตกรรมจากความคิดเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของสถานที่ ซึ่งมาจากการโกงกินอย่างอย่างมหาศาลในขณะการก่อสร้าง

ย้อนเวลาขึ้นไปถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็เคยมีนวัตกรรมในเรื่องความเป็นมงคลและรุ่งเรืองของสุวรรณภูมิแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อมีการพระราชทานนามเมืองโบราณที่พบ ‘พระปฐมเจดีย์’ อันเป็นพระมหาสถูปที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือสุวรรณบุรีว่า ‘นครปฐม’ เพราะเชื่อว่าเป็นที่แรกที่พระพุทธศาสนาจากอินเดียในสมัยของ ‘พระเจ้าอโศกมหาราช’ เข้ามาประดิษฐานในดินแดน ‘สุวรรณภูมิ’

การที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานนามเมืองนครปฐมนั้น มีนัยสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยว่าเป็นบ้านเป็นเมืองที่มีอารยธรรมแล้ว [Civilization] นั่นคือการมีพระพุทธศาสนาเป็นหลัก และอีกอย่างหนึ่งก็คือการมีภาษาและอักษรที่เห็นได้จากการพบศิลาจารึกอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหง ที่สะท้อนให้เห็นการเป็นสังคมที่มีลายลักษณ์ [Literate society] จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๙ ทรงรับรู้เรื่องสุวรรณภูมิจากชาดกพระเจ้าสิบชาติที่เกี่ยวกับทศพิธราชธรรม ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ต้องทรงเรียนรู้เพราะเป็นที่มาของ ‘ทศบารมี’ คือ ชาดกแต่ละชาติ คือแต่ละพระบารมีที่พระมหากษัตริย์ต้องทรงบำเพ็ญและมหาชนกชาดก คือเรื่อง ‘พระวิริยะบารมี’ ที่เห็นจากความเพียรพยายามของพระมหาชนกทรงว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรบนเส้นทางเดินเรือไปดินแดนสุวรรณภูมิ อันเป็นดินแดนที่มั่งคั่งและรุ่งเรือในอุดมคติของคนอินเดีย

 

 

ความคิดริเริ่มดังกล่าวนี้เป็นที่น่ายินดีและน่าพิศวงสำหรับบรรดาผู้บริหารของประเทศชาติในยุคโลกาภิวัตน์ เพราะเรื่องราวของ สุวรรณภูมิ เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของคนสมัยบิดาของข้าพเจ้าขึ้นไป หาได้อยู่ในความทรงจำของคนรุ่นปัจจุบันไม่

 

 

ปากคลองบางกล้วย อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง

 

หน้าที่ 2/5


มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิในลักษณะที่ว่าเป็นประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม [Cultural history] ที่คนทั่วไปมักเรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์โบราณคดี’ ที่ทำการศึกษาความเป็นมาของผู้คน [People] ดินแดน [Land] และผู้คนของประเทศไทยแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนสมัยปัจจุบัน ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในลำดับเวลายุคสมัยในการศึกษาค้นคว้าของมูลนิธิฯ ที่ดำเนินมาตั้งแต่แรก คือนับเป็นเวลาล่วงมาแล้วกว่า ๔๐ ปี

จากการสำรวจศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นแหล่งชุมชนบ้านเมืองและรัฐที่พัฒนาขึ้นในดินแดนประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสุวรรณภูมิ พอสรุปได้ว่า ก่อนสมัยหินใหม่ [Neolithic] ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีผู้คนในสุวรรณภูมิน้อยมาก ผู้คนมีชีวิตอยู่ในสังคมแบบร่อนเร่ไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอน และมีจำนวนน้อยมากในแต่ละแห่ง เพราะการค้นพบแต่แหล่งที่มีเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยหิน กระดูก และอินทรีย์วัตถุ จนกระทั่งถึงสมัยหินใหม่อันเป็นยุคสมัยของการตั้งถิ่นฐานติดที่ [Sedentary settlements] ที่มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แล้ว จึงเห็นร่องรอยของการเคลื่อนย้ายของผู้คน จากแคว้นเสฉวนทางใต้ของประเทศจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนหมู่บ้านเล็กๆ ตามท้องถิ่นที่ห่างกันดังเช่นที่ ‘บ้านเก่า’ ใกล้ลำน้ำแควน้อยในเขตจังหวัดกาญจนบุรี และ ‘หนองราชวัตร’ ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น ซึ่งในยุคหินใหม่นี้ยังไม่พบบรรดาเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับทำจากแร่ธาตุที่เป็นโลหะผสมที่เรียกว่าสำริด

จนถึงประมาณ ๓,๕๐๐ ปี หรืออีกนัยหนึ่ง ๑,๕๐๐ B.C. ลงมา การเคลื่อนย้ายมีมากขึ้นโดยเฉพาะจากทางยูนนานลงมาอย่างต่อเนื่อง เป็นช่วงเวลาที่รู้จักการถลุงโลหะสำริดและทำเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับและอาวุธอย่างมีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากบ้านเมืองทางยูนนาน โดยมีการติดต่อระหว่างกันนอกจากเส้นทางภายในตามแนวเทือกเขา แล้วยังมาจากทางชายฝั่งทะเลจีนและเวียดนามลงมา การตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านในระยะนี้มีมากกว่าแต่ก่อน ที่มีความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอย่างมีศูนย์กลางเป็นบ้านใหญ่และบ้านเล็ก

ชุมชนในยุคโลหะสำริดนี้เกิดขึ้นมากตามท้องถิ่นให้เขาและที่สูงอันเป็นแหล่งแร่ธาตุ เช่นในเขตลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสักและที่ราบสูงโคราช ทั้งในแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร แต่เมื่อเปรียบเทียบของความหนาแน่นของชุมชนในทุกภูมิภาคของประเทศแล้ว ก็ต้องยุติได้ว่าตั้งแต่ยุคโลหะเป็นต้นมาไม่มีภูมิภาคใดๆ ในประเทศจะมีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนที่มีจำนวนประชากรมากเท่าดินแดน ‘ที่ราบสูงโคราช’ ที่แลเห็นการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากภายนอก จากยุคสำริดเข้าสู่ยุคเหล็กในช่วงเวลา ๒,๕๐๐ ปี หรือ ๕๐๐ B.C. ลงมา เป็นช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายที่ไม่ได้มาจากเส้นทางบกทางใต้ของประเทศจีนแต่ทางเดียว หากเข้ามาหลายทางจากดินแดนโพ้นทะเลจากหลายๆ แห่งในลักษณะเป็นเส้นทางการค้าระยะไกลโดยเฉพาะจากอินเดียและจีน

 

ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในลำดับเวลายุคสมัยในการศึกษาค้นคว้าของมูลนิธิฯ ที่ดำเนินมาตั้งแต่แรก คือนับเป็นเวลาล่วงมาแล้วกว่า ๔๐ ปี

 

ต่างหูทองคำ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๕ พบที่เขมายี้

หน้าที่ 3/5

 

ดินแดนประเทศไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมินั้นไม่เป็นเพียงดินแดนสุวรรณภูมิที่พ่อค้าจากอินเดียและที่อื่นเข้ามาเพียงค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น หากเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุนานาชนิดและของป่าที่ราบลุ่มแม่น้ำและลำน้ำมากมายพอเพียงกับการสร้างบ้านแปลงเมือง โดยเฉพาะอีสานเป็นแหล่งโลหะธาตุสำคัญ เช่น ‘เกลือและเหล็ก’

 

 

 

ลูกปัดตรีรัตนะ สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา พบที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร


ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้ความเข้าใจเพิ่มเติมกว่าแต่ก่อนว่า ดินแดนประเทศไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมินั้นไม่เป็นเพียงดินแดนสุวรรณภูมิที่พ่อค้าจากอินเดียและที่อื่นเข้ามาเพียงค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น หากเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุนานาชนิดและของป่าที่ราบลุ่มแม่น้ำและลำน้ำมากมายพอเพียงกับการสร้างบ้านแปลงเมือง โดยเฉพาะอีสานเป็นแหล่งโลหะธาตุสำคัญ เช่น ‘เกลือและเหล็ก’ ที่กลายเป็นดินแดนภายใน [Hinterland] ของผู้คนจากชายทะเล จากเวียดนามและอ่าวไทยเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นสังคมอุตสาหกรรม ผลิตเกลือ เหล็กกันมาก จนเกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภคและอุปโภคในฤดูแล้ง เป็นเหตุให้เกิดการสร้าง ‘ชุมชนบ้านเมืองที่มีสระน้ำคูน้ำแลคันดินล้อม’ กระจายกันทั่วไป และมีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองและรัฐอย่างสืบเนื่องสืบต่อหลายยุคหลายสมัยทางวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ ฟูนัน ทวารวดี จนถึงสมัยลพบุรีและอยุธยา

สุวรรณภูมิคือประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ

จากการศึกษาสำรวจแหล่งชุมชนโบราณยุคสมัยต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่า สุวรรณภูมิเป็นดินแดนโพ้นทะเลทางตะวันออกของที่ก่อน ๓,๕๐๐ ปี หรือ 1,500 B.C. มีคนอยู่น้อย แต่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งบรรดาโลหะธาตุและของป่านานาชนิด รวมทั้งที่ราบลุ่มน้ำลำคลองและดินฟ้าอากาศเหมาะสมกับการปรับตัวเองของมนุษย์ ในการสร้างบ้านแปงเมือง จึงเกิดการเคลื่อนย้ายจากภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันแต่สมัยหินใหม่ จากดินแดนมณฑลเสฉวนลงมาแต่ประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นการเคลื่อนย้ายทางบกมาตามแนวเขาจนสุดคาบสมุทรมลายู พอราว ๓,๕๐๐ ปีลงมาก็มีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนทางใต้ของจีน โดยเฉพาะจากทางยูนนานในยุคสำริดเข้ามา ที่กลุ่มหนึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในที่ราบสูงโคราชของภาคอีสาน เป็นการเคลื่อนย้ายมาตามเส้นทางบก พอราวต้นพุทธกาลราว ๒.๕๐๐ หรือ ๕๐๐ B.C. ลงมา ก็มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนโพ้นทะเลเข้ามาทั้งตั้งถิ่นฐานและทำการค้าขายกับคนท้องถิ่น ทำให้เกิดเส้นทางการค้าระหว่างทะเลในระยะไกลกับคนอินเดียที่มีความเจริญมาแล้วแต่สมัยยุคเหล็กตอนต้นราว ๑,๒๐๐ B.C.  การเคลื่อนย้ายจากภายนอกทางทะเลเข้ามาดังกล่าวนี้ ราว ๕๐๐ B.C. นับเนื่องเป็นสมัยเหล็กตอนปลายของคนอินเดีย อันเป็นยุคที่อินเดียมีความเจริญเป็นนครรัฐ และอาณาจักรแล้ว  ในขณะที่ในดินแดนสุวรรณภูมิ มีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนทั้งบริเวณชายฝั่งทะเลดินแดนภายใน อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเส้นทางการค้า ทำให้เกิดบ้านเมืองและรัฐสมัยแรกเริ่มขึ้น นับเป็นการเริ่มต้นของสมัยประวัติศาสตร์ในดินแดนประเทศไทย

อย่างไรก็ดีในวงวิชาการส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีการยอมรับในเรื่องนี้ เพราะยังเชื่อว่าสุวรรณภูมิเป็นเรื่องราวในความเชื่อที่เรียกตำนานประวัติศาสตร์ และยังคงให้เพดานของยุคสมัยทางประวัติศาสตร์อยู่เพียงแต่สมัยทวารวดี คือช่วงเวลาแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ที่ตามมาด้วยสมัยศรีวิชัย ลพบุรี และกรุงเทพฯ แต่เมื่อการค้าพบโบราณวัตถุ เช่น ลูกปัดและเครื่องประดับที่ทำจากวัสดุมีค่า เช่น หินสีกึ่งรัตนชาติ แก้วและทองคำจากการลอบลักขุดหาสมบัติของชาวบ้านและคนค้าของเก่า อันเป็นโบราณวัตถุที่เคลื่อนย้ายได้ ซึ่งนักวิชาการในวงโบราณคดีของรัฐส่วนใหญ่ด้อยค่าว่าไม่อาจเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ และเรื่องราวของสุวรรณภูมิเป็นเพียง ‘ตำนานประวัติศาสตร์’ เท่านั้น

 

หน้าที่ 4/5


ทว่าเมื่อได้รับการศึกษาแหล่งที่มาได้อย่างแน่นอน รวมทั้งการศึกษารูปแบบศิลปกรรมที่สามารถกำหนดอายุได้อย่างมีแบบของนักโบราณคดีสมัครเล่น เช่น นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช และผู้ที่สนใจท่านอื่นๆ ก็ได้ทำให้สุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่มีอยู่จริง ไม่ใช่เป็นเรื่องราวในตำนานประวัติศาสตร์อีกต่อไป

ทำให้ข้าพเจ้าแลเห็น ‘สุวรรณภูมิ’ ในมิติของเวลา [Time line] และพื้นที่ [Space] ทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน โดยเสนอว่าสมัยเวลาทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่แต่เดิมมีเพดานอยู่เพียงแต่ ‘สมัยทวารวดี-เจนละ’ ขึ้นมาเป็น ‘สมัยฟูนัน’ ที่มีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ ลงมา จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๘  และจากพุทธศตวรรษที่ ๗ ไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๓ คือ ‘สมัยสุวรรณภูมิ’

นวัตกรรมประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิเพื่อการพัฒนา

นวัตกรรม [Innovation] คือสิ่งที่คิดใหม่แบบต่อยอดจากฐานความรู้ทางวัฒนธรรมแต่เดิมในสังคมไทย ไม่ใช่ลอกเลียนมาจากภายนอก [Culture contact]

นวัตกรรมที่ทางมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ต้องการที่จะดำเนินการ คือการสร้างความรู้และแนวทางในการพัฒนาสุวรรณภูมิทั้งในเรื่องพื้นที่ [Space] และเวลา [Time] เพื่อการจัดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ โดยคนท้องถิ่นเพื่อให้มีรายได้ทางเศรษฐกิจ [Sustainable tourism] โดยแบ่งออกเป็น ๒ โครงการดังต่อไปนี้

. โครงการสำรวจและพัฒนาแหล่งโบราณคดีบนคาบสมุทรสยาม บริเวณสองฝั่งของคาบสมุทรสยามตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงไปจนถึงปัตตานี

คือบริเวณส่วนแคบที่สุดของคาบสมุทรมลายูที่ในเอกสารของนักเดินทางทะเลแต่ปลายสมัยสุวรรณภูมิและสมัยฟูนันเรียกว่า ‘แหลมทอง’ [Golden khersonese] มีเส้นทางข้ามคาบสมุทร [Peninsular routes] หลายเส้นที่มีอายุแต่สมัยสุวรรณภูมิ ฟูนัน และทวารวดี-ศรีวิชัย เป็นแหล่งที่พบชุมชนท่าเรือ [Entrepots] ที่พ่อค้าแต่สมัยสุวรรณภูมิเดินทางเข้ามาพบโบราณวัตถุและเครื่องประดับที่มีค่า และแหล่งผลิตเป็นสินค้าเกียรติภูมิ [Prestige goods] ของคนอินเดียและพ่อค้านานาชาติ นับเป็นพื้นที่ในสมัยสุวรรณภูมิอย่างแท้จริง  ทางมูลนิธิได้ทำการสำรวจเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่สำคัญไว้บ้างแล้ว และคิดจะทำการสำรวจศึกษาเพิ่มเติมในทางภูมิวัฒนธรรมในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยคนในชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงร่วมกัน

 ๒. โครงการสำรวจศึกษาเหล่าชุมชนโบราณมีคูน้ำล้อมรอบในที่ราบสูงโคราชเพื่อดูพัฒนาการของชุมชนบ้าน เมือง และรัฐ [Formation of states] 

ที่พัฒนาขึ้นแต่สมัยยุคเหล็ก ๕๐๐ B.C. อันนับเป็นสมัยสุวรรณภูมิลงมาจนถึงสมัยทวารวดีและลพบุรี ข้าพเจ้าและมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้ทำการศึกษาสำรวจแหล่งชุมชนโบราณในแต่ละลุ่มน้ำสำคัญของทั้งแอ่งโคราชและแอ่งสกลนครมาอย่างสืบเนื่องกว่า ๔๐ ปีที่ผ่านมา ได้ข้อมูลและหลักฐานทางโบราณคดีเพียงพอแก่การสร้างให้เห็นพัฒนาการของรัฐแรกเริ่ม [Early states] มาเป็นนครรัฐ [City states] และการรวมกลุ่มของนครรัฐเป็น ‘สหพันธ์รัฐหรือมัณฑละ’ ในสมัยทวารวดีและเจนละ จนถึงสมัยลพบุรีและอยุธยา อันเป็นช่วงเวลาที่เกิดราชอาณาจักรขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ในนามของอยุธยาสยามประเทศ

คำสำคัญ : วิเคราะห์วัฒนธรรม,สุวรรณภูมิ,คาบสมุทรสยาม,ต่างหูทองคำ

การดำเนินการศึกษาที่ราบสูงโคราชในเรื่องพัฒนาการของรัฐนี้แบ่งออกเป็น ๒ ระยะ ระยะแรกคือ การสำรวจศึกษาทบทวนเพิ่มรายละเอียดตามกลุ่มของเมือง ตามลุ่มน้ำสำคัญที่เป็นสาขาของแม่น้ำมูล แม่น้ำชีในแอ่งโคราชและแม่น้ำสงครามในแอ่งสกลนคร อันได้แก่ ลุ่มน้ำลำปลายมาศ ลุ่มน้ำลำชี และลุ่มน้ำทับทันทางฝั่งใต้ของแม่น้ำมูล ลุ่มน้ำสะแทด ลุ่มน้ำเสียงทางฝั่งเหนือของแม่น้ำมูล อันเป็นที่ตั้งของนครรัฐกลุ่มศรีจนาศะ และเจนละในสมัยทวารวดี และระยะที่สอง ผลจากการศึกษานี้จะนำไปสู่การวางแผนเพื่อการท่องเที่ยวให้กับการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและพหุวัฒนธรรมให้แก่คนในชุมชนท้องถิ่น โดยจะนำร่องด้วยการศึกษาและท่องเที่ยวนครรัฐสำคัญของกลุ่มรัฐศรีจนาศะในลุ่มน้ำลำปลายมาศเป็นปฐม

ศรีศักร วัลลิโภดม
อีเมล์: [email protected]
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมและสังคม ผู้สนใจศึกษางานทางโบราณคดีมาแต่วัยเยาว์จนปัจจุบัน ปรากฎผลงานเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
วิเชียร หลงละเลิง
อีเมล์: Wichianlonglalerng​@gmil.com,
ช่างภาพอิสระ
หน้าที่ 5/5