ผู้เข้าชม
0

ประติมากรรมครุฑ เมืองครุฑ ลักษณะเฉพาะฝีมือช่างพื้นเมืองรูปแบบที่ไม่เคยพบทั้งในไทยและกัมพูชา

มืองครุฑ ได้ชื่อนี้มา เพราะการค้นพบชิ้นส่วนประติมากรรมครุฑขนาดใหญ่จนเป็นที่มาของชื่อ และเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่เชื่อมต่อกับปราสาทเมืองสิงห์
19 สิงหาคม 2567


ประติมากรรมครุฑ เมืองครุฑ ลักษณะเฉพาะฝีมือช่างพื้นเมือง

รูปแบบที่ไม่เคยพบทั้งในไทยและกัมพูชา

 

พรเทพ เฮง

หน้าที่ 1/13

เมืองครุฑ ได้ชื่อนี้มา เพราะการค้นพบชิ้นส่วนประติมากรรมครุฑขนาดใหญ่จนเป็นที่มาของชื่อ และเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่เชื่อมต่อกับปราสาทเมืองสิงห์ โบราณสถานที่สำคัญ ซึ่งเป็นหลักหมายในการศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่เลียบเลาะลุ่มแม่น้ำแควน้อย ซึ่งสามารถบ่งชี้สะท้อนถึงความเชื่อทางศาสนาที่สำคัญและแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยของสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน ชิ้นส่วนประติมากรรมหินทรายรูปครุฑ ที่ค้นพบ ได้นำมาแสดงที่อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ เป็นชิ้นส่วนของ ขา, เท้า, สะโพก, อก และปีกขวาของครุฑ (คาดว่า ถ้าสมบูรณ์ครบทุกชิ้นส่วน จะสูงประมาณ ๒.๕๐ เมตร) เป็นรูปสลักครุฑแบบลอยตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมกับชิ้นส่วนลวดลายดอกไม้แกะสลักจากหินทราย

ทั้งที่มีความสำคัญอย่างมากในการเป็นชิ้นส่วนประติมากรรมที่สำคัญของการตีความประวัติศาสตร์และโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำแควน้อยและแม่กลอง กลับไม่ค่อยมีงานวิจัยออกมามากนัก อาจจะเป็นเพราะไม่พบเอกสารลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับเมืองครุฑเลย มีแต่เมืองสิงห์ที่ปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

 

เมืองครุฑในปัจจุบัน ยังคงหลงเหลือเป็นเนินดินเล็กๆ ทามกลางพื้นที่ทำไร่ทำสวนของชาวบ้าน

 

ศาลบริเวณด้านหน้าเนินดินภายในเมืองครุฑ

หน้าที่ 2/13

โบราณสถานเมืองครุฑนี้ตั้งอยู่ที่บ้านท่าตาเสือ ตำบลเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี  หนังสือ ‘เส้นทางเดินทัพ (พม่าตีไทย)’ โดย อาจารย์และนักศึกษา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้รายละเอียดเมืองครุฑแบบกระชับรวบรัดไว้ว่า

‘…ถัดจากเมืองสิงห์ไปทางตะวันออก ห่างจากลำน้ำแควน้อยประมาณ ๕ กม. มีเมืองโบราณขนาดเล็กเมืองหนึ่งตั้งอยู่ เป็นเมืองที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ขนาด ๓๐๐ X ๕๐๐ เมตร สัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบไม่สม่ำเสมอ 

ชาวบ้านเรียกว่า เมืองครุฑ เพราะกล่าวว่าเคยมีครุฑศิลาทราย อยู่เชิงเขาในเขตเมืองนี้ อันลักษณะการทำครุฑด้วยหินทรายนั้น พบมากในศิลปะสมัยลพบุรี และบริเวณเมืองครุฑ เมืองสิงห์ ก็ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลกัน จึงน่าจะเป็นเมืองในยุคเดียวกันได้ เมืองครุฑนี้คงเป็นเมืองหน้าด่าน และอยู่ในเขตปกครองของเมืองสิงห์ก็เป็นได้…’

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ตั้งข้อสังเกตที่เชื่อมโยงเมืองสิงห์กับเมืองครุฑไว้อย่างน่าสนใจ ใน ‘เที่ยวเส้นทางโบราณ ศึกลาดหญ้า-ปราสาทเมืองสิงห์' ถึงสายสัมพันธ์และความสำคัญของกันและกัน

‘…ความสำคัญของปราสาทเมืองสิงห์ไม่ได้อยู่ที่ปราสาท แต่อยู่ที่ตัวเมือง ซึ่งเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ริมลำน้ำแควน้อย แล้วกลางเมืองมีปุระหรือปราสาทเมืองสิงห์ ถ้าดูผังให้ดีเมืองนี้จะมีสองชั้น ด้านในที่ล้อมรอบปราสาทนั้น คือ อีกชั้นหนึ่ง สันนิษฐานว่าเป็นชั้นเก่าและการสร้างกำแพงเมืองนี้ได้สร้างในภายหลัง 

แต่อย่างไรก็ตาม เป็นเมืองที่มีมาก่อนสมัยอยุธยา หลายคนบอกว่า เมืองนี้สัมพันธ์กับพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เพราะนี่คือ ‘ศรีชัยยะสิงหปุระ’ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะเรื่องของจารึกที่พูดถึงเรื่องสิงหปุระของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ไม่ได้อยู่ที่นี่ อยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า 

แล้วเมืองนี้มีลักษณะพิเศษ เพราะไม่เหมือนกับเมืองร่วมสมัย แม้แต่ตัวปราสาทเมืองสิงห์ไม่ใช่การสร้างของขอม เป็นฝีมือของคนในท้องถิ่น ซึ่งการสร้างแบบขอมนั้น จะไม่มีคูน้ำเจ็ดชั้น


ภาพถ่ายทางอากาศโบราณสถานเมืองครุฑ ตั้งอยู่ห่างจากปราสาทเมืองสิงห์

ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 5 กิโลเมตร 

ที่มา: Google Earth


 

ผมคิดว่า เป็นคติที่อาจจะปรุงแต่งขึ้นในเขตนี้ แต่ลักษณะการทำกำแพงเมืองจะคล้ายคลึงกัน แต่ความคิดที่จะมีคูน้ำเจ็ดชั้นไม่เคยพบ ข้อสังเกตเหล่านี้น่าจะศึกษาว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม จะต้องสัมพันธ์กับพุทธศาสนาแบบมหายานอย่างชัดเจน

หน้าที่ 3/13


พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ประดิษฐานอยู่กลางโบราณสถานหมายเลข ๑

ที่อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ 

ที่มา: อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์



บริเวณตัวปราสาทตั้งอยู่นั้นเป็นอีกชั้นหนึ่ง เมืองนี้มีความกว้างประมาณหนึ่งกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับเมืองโกสินารายณ์ แล้วปราสาทนั้นไม่เหมือนขอม เพราะตัวปราสาทเป็นที่ประดิษฐานประติมากรรมตามแบบความเชื่อของพุทธศาสนาแบบมหายาน และมีประติมากรรมที่เรียกว่า ‘พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี’ อยู่ที่นั่น

เมืองสิงห์เป็นเส้นทางสำคัญบนการคมนาคมในลุ่มน้ำแควน้อยแล้วตัดไปด่านเจดีย์สามองค์โดยตรง เพราะเรามีการติดต่อกับทางมอญ เมาะตะมะ สะเทิม ซึ่งอยู่ในเส้นทางนี้ เพราะในเขตทองผาภูมิมีการขุดพบร่องรอยของแหล่งโบราณคดีในสมัยทวารวดีตอนปลาย ถ้าเราไปหยุดที่เมืองกาญจนบุรีเก่าที่พบร่องรอยพุทธศาสนามีสถูปแบบทวารวดี ถ้าไปตามทางนั้นตัดมาในแนวทางนี้ แล้วจากนี้ไปยังลำน้ำแควน้อยและไปยังด่านเจดีย์สามองค์อีกครั้ง

มีกลุ่มพื้นที่หกถึงเจ็ดแห่งที่อยู่ร่วมสมัยกันที่มีปราสาทสัมพันธ์กับมหายานในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เช่น ที่ลพบุรี คือ พระปรางค์สามยอด ถัดจากปรางค์สามยอดเข้ามาในเขตสุพรรณบุรี ก่อนจะถึงสุพรรณบุรีจะมีเนินทางพระ ที่เดิมบางนางบวช บริเวณนี้พบแต่ฐาน แล้วมาถึงบริเวณที่เรียกว่า ‘ไร่รถ’ บริเวณนั้นเป็นเมือง แต่พังเสียหายทั้งหมด 

แล้วพื้นที่ต่ำจากนั้นจะเข้ามาที่เมืองโกสินารายณ์ พื้นที่ต่อไปคือ ราชบุรีและอีกแห่งหนึ่งที่เพชรบุรี เมืองเหล่านี้อยู่ร่วมสมัยกันทั้งสิ้น ทำให้เห็นว่า มีเมืองยุคหนึ่งในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เกิดขึ้นเนื่องในคติมหายานก่อนที่พุทธศาสนาแบบเถรวาทจะเข้ามาครอบงำ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านในขณะนั้น ฉะนั้นมีหลายจุดชี้ให้เห็นว่า เมืองไทยเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนามหายาน และสร้างขึ้นพร้อมกันและในช่วงเวลา ๕๐ กว่าปีก็ได้หายไป

แต่อย่างไรก็ตาม บริเวณเมืองสิงห์นี้ พบการตั้งถิ่นฐานแต่เดิมแล้ว เพราะพบมนุษย์ยุคสำริดและยุคเหล็กที่นี่ แสดงว่า มีการเข้ามาเกี่ยวข้องในยุคเหล็กอยู่แล้ว และยุคเหล็กเป็นยุคของคนที่เข้าไปเพื่อแสวงหาของป่าและแร่ธาตุ กาญจนบุรีเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยของป่าและแร่ธาตุมาก และอีกอย่างหนึ่งเป็นเส้นทางที่ติดต่อไปเมืองเมาะตะมะของมอญก็ได้

มีการเปลี่ยนมากมาย และช่วงเวลานี้เริ่มเปลี่ยนคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาจะเห็นว่า มีเรื่อง ‘พระเจ้าอู่ทอง’ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามา แล้วคนเหล่านี้มาจากภายนอก และช่วงนี้แทบทุกแห่ง มีการเปลี่ยนราชวงศ์ ขอมเองได้สลายตัวไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หลังสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทางเขตเพชรบุรีและราชบุรีก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะมีตำนานเรื่องท้าวอู่ทองมาจากทางทะเล แล้วคนกลุ่มใหม่เข้ามา มีข้อสันนิษฐานว่าคนกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับจีนใต้มาก

หน้าที่ 4/13

พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี ปราสาทที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนามหายานในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ (ซ้าย)

สระโกสินารายณ์ เมืองโกสินารายณ์ จังหวัดราชบุรี (ขวา)

หน้าที่ 5/13


ทั้งช่วงเวลานี้ภาษาไทยเริ่มเข้ามามีอิทธิพล พร้อมกับเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ถ้าจะดูการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ให้ไปดูที่ลพบุรี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ยุคเหล็กเรื่อยมาถึงยุคที่เป็นฮินดู เถรวาท และมหายาน แล้วเปลี่ยนมาเป็นพุทธศาสนานิกายเถรวาทอีกครั้ง 

ถ้าหากกล่าวว่าร่วมสมัยที่นครปฐมนั้น จะเป็นพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบเดิม แล้วพอมาอีกช่วงหนึ่งมีพุทธศาสนานิกายมหายานเข้ามา เช่น เมืองคูบัว ส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนานิกายมหายานแล้วอยู่เรื่อยมา แต่ขณะเดียวกันกลุ่มเถรวาทก็ยังดำรงอยู่ พอมาถึงรุ่นลพบุรีเป็นพุทธศาสนานิกายมหายานแบบกัมพูชา ซึ่งพบว่า มีการนำเทวรูปจากกัมพูชามาจำนวนมากแทนที่จะเป็นมหายานแบบกัมพูชา ซึ่งจะไปดูว่า มีความแตกต่างจากพุทธศาสนานิกายมหายานแบบศรีวิชัย ถ้าเป็น เมืองคูบัว จะต่างจากศรีวิชัย

ที่นี่มีความแปลกในการไม่ตรวจสอบเรื่องการจัดการน้ำ ทั้งที่อยู่ริมลำน้ำ ความจริงควรมีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนแต่ก่อนนี้ ถือว่าเป็นน้ำทิพย์

สำหรับภาพสลักของครุฑในสมัยลพบุรี แต่ว่าไม่ได้อยู่ที่เมืองสิงห์ จะอยู่บริเวณที่เรียกว่า ‘เมืองครุฑ’ อยู่ห่างจากที่นี่ไปประมาณสักสองสามกิโล เมืองนั้นไม่มีกำแพงแลงล้อมรอบอย่างที่เป็นอยู่นี่ แต่มีแนวคันดินและก็มีแหล่งของการตั้งถิ่นฐานอาศัย แต่ไม่มีซากปราสาท และบอกว่ามีรูปครุฑสลักอยู่ที่หน้าผา แล้วต่อมาก็พังลงมาจึงมาเก็บไว้ที่นี่ เหตุที่พบครุฑ ตอนนั้นจึงเรียกว่าเมืองครุฑ แต่อย่างไรก็ตามมันสะท้อนให้เห็นว่าบริเวณนี้ในลุ่มน้ำแควน้อยนี้เป็นบริเวณที่สำคัญเพราะมีการสร้างบ้านแปลงเมืองทั้งสองเมืองอยู่ด้วยกัน แต่เมืองที่เป็นเมืองสำคัญทางศาสนาคือ เมืองสิงห์

สิ่งเหล่านี้เป็นชิ้นส่วนของปราสาท ยอดปราสาท และสังเกตว่า บริเวณนี้มีการใช้หินทรายและศิลาแลงในการสร้างสถาปัตยกรรม แต่ฝีมือนี้ไม่ใช่ฝีมือแบบขอม แต่เป็นแบบท้องถิ่นมาก จึงไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ ก็เป็นส่วนของยอดปราสาทยอดซุ้มประตูเท่านั้น...’


รายงานพิเศษ 'เมืองครุฑ' ในสารศิลปากร โดยนายสถาพร ขวัญยืน ได้สรุปถึงข้อมูลที่ได้จาการขุดแต่งโบราณสถาน การขุดตรวจชั้นดิน และการศึกษาสภาพของแหล่งโบราณคดีเมืองครุฑแห่งนี้ไว้อย่าง กว้างๆ ว่า

'...เมืองครุฑเป็นเมืองโบราณตั้งอยู่ในหุบเขาเขตบ้านท่าตาเสือ ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ลักษณะเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๓๓๐ เมตร และยาว ๕๖๐ เมตร มีกำแพงดินขนาดกว้างประมาณ ๑๕ เมตร และสูงประมาณ ๓ เมตร ล้อมอยู่ ๓ ด้าน ยกเว้นด้านทิศตะวันตก ซึ่งอยู่ติดกับเขาเมืองครุฑนั้น ไม่มีกำแพงดิน มีแต่ห้วยมะไฟไหลผ่านเท่านั้น

 

ชิ้นส่วนยอดปราสาททำจากศิลาแลง จากปราสาทเมืองสิงห์

ที่มา: อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์

หน้าที่ 6/13

ภายในเมืองพบซากโบราณสถานขนาดเล็ก ซึ่งถูกลักลอบขุดทำลาย เหลือแต่เพียงส่วนฐานขนาดกว้าง ๕,๖๐๐ เมตร และยาว ๖ เมตร โบราณสถานก่อด้วยอิฐศิลาแลง มีร่องรอยของการฉาบปูนหลงเหลืออยู่บ้าง มีการเตรียมฐานรากก่อนการก่อสร้างด้วยการใช้เศษหินทราย หินกรวดแม่น้ำและเม็ดศิลาแลงอัดแน่นเป็นฐาน บริเวณห้วยมะไฟพบร่องรอยของฝายที่สร้างด้วยศิลาแลง โดยการเรียงศิลาแลงเป็นสองแถว และถมดินอัดตรงกลางเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ด้วย

บริเวณโดยรอบโบราณสถานขุดพบชิ้นส่วนครุฑหินทรายบางชิ้นแกะสลักยังไม่เรียบร้อย ไม่พบส่วนที่เป็นหัว และปีกด้านซ้าย นอกจากนี้ ยังพบชิ้นส่วนลวดลายดอกไม้หินทรายจํานวน ๒ ชิ้น และเศษภาชนะดินเผาแบบพื้นเมืองอีกเล็กน้อยในระหว่างการขุดแต่ง
 

ร่องรอยของเส้นทางน้ำ ที่น่าจะเป็นลำห้วยมะไฟ ปัจจุบันน้ำในลำห้วยแห้ง

มีน้ำไหลผ่านช่วงหน้าฝนเท่านั้น

จากหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่พบ ทําให้พิจารณาได้ว่าเมืองครุฑแห่งนี้คงมีอายุสมัยเดียวกันกับเมืองสิงห์ คือมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เมืองทั้งสองแห่งนี้คงมีความสัมพันธ์กันด้วย เพราะบริเวณใกล้เคียงกันนี้ก็ไม่พบเมืองโบราณในลักษณะเช่นนี้อีกเลย 

วัสดุก่อสร้างใช้ศิลาแลงเหมือนกันและมีการเตรียมฐานรากโดยใช้หินกรวดแม่น้ำคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ลวดลายที่ปรากฏบนประติมากรรมรูปครุฑซึ่งมีลักษณะเป็นฝีมือช่างท้องถิ่น ก็มีลวดลาย ขนนกประกอบตัวครุฑมากขึ้น ลายดอกไม้สี่กลีบที่ปรากฏก็เป็นลักษณะของศิลปขอมแบบบายนซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และเมืองสิงห์ก็ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมส่วนหนึ่งจากศิลปะแบบ  บายนนี้เช่นเดียวกัน

ประติมากรรมรูปครุฑที่พบใกล้เคียง และอยู่ในสมัยเดียวกัน ได้แก่ ครุฑปูนปั้นที่ใช้เป็นลวดลายประดับบนโบราณสถาน เป็นรูปครุฑจับช้างพบที่เนินทางพระ อําเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี 

ความสัมพันธ์ของเมืองครุฑและเมืองสิงห์ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันนี้ จากคําบอกเล่าของชาวบ้านสูงอายุเล่าว่าสมัยก่อนนั้นเคยเห็นแนวถนนยกระดับสูงกว่าพื้นปกติจากเมืองครุฑมาทางตะวันตก ผ่านสถานีรถไฟท่ากิเลนไปทางเมืองสิงห์ แต่ปัจจุบันนี้ ไม่เหลือร่องรอยอยู่แล้ว เพราะถูกไถปรับพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมไปหมดแล้ว ชาวบ้านแต่เดิมเรียกว่า 'ถนนขาด'

เมืองครุฑคงถูกทิ้งร้างไปเนื่องจากสภาพภูมิประเทศไม่เหมาะสม คือ มีลักษณะเป็นเมืองปิด มีภูเขาล้อมรอบ ทําให้การขยายเมืองทําได้ยาก อีกทั้งคงมีความแห้งแล้งกันดาร เพราะอยู่ห่างจากลําน้ำแควน้อย มีเพียงลําห้วยเล็กๆ สายหนึ่งไหลผ่าน คือ ห้วยมะไฟ ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำแควน้อย ปัจจุบันนี้แทบไม่มีน้ำไหลแล้ว คงมีเฉพาะในฤดูฝนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานที่พบ ได้แก่ แนวศิลาแลงบริเวณลําห้วยมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมือง ย่อมแสดงให้เห็นว่า มีความพยายามในการสร้างฝายเก็บกักน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ด้วย แต่คงไม่เกิดประโยชน์มากนัก จึงต้องทิ้งเมืองนี้ไปในที่สุด การอยู่อาศัยภายในบริเวณตัวเมืองคงเป็นระยะเวลาไม่นานนัก เพราะพบเศษภาชนะดินเผาจํานวนน้อยมากจากการสํารวจบนผิวดิน และการขุดตรวจสอบ ดังนั้นจึงไม่สามารถศึกษารูปแบบของโบราณสถานแห่งนี้ได้

หน้าที่ 7/13


ประติมากรรมครุฑ ขาด้านขวาทำจากหินทรายสีเทา

ขาด้านซ้ายทำจากหินทรายสีแดง


 

ข้อมูลที่ได้นี้มีน้อย เนื่องจากถูกขุดทำลายดังกล่าวแล้ว นับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง แต่หลักฐานที่พบนี้ส่วนหนึ่งก็ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการตั้งหลักแหล่งของชุมชนโบราณที่เมืองครุฑนี้ได้ในระดับหนึ่ง ความแห้งแล้งกันดารคงเป็นสาเหตุสําคัญที่ทําให้เมืองครุฑนี้ต้องถูกทิ้งร้างไปในช่วงระยะเวลาอันสั้น

โบราณสถานขนาดเล็กที่พบภายในตัวเมืองและพบเศษชิ้นส่วนประติมากรรมรูปครุฑนั้น อาจเป็นที่ตั้งศาลเทพารักษ์ประจําเมือง เพราะคติความเชื่ออย่างหนึ่งของครุฑคือการเป็นผู้พิทักษ์

ในวรรณคดีภาษาบาลีให้ครุฑทําหน้าที่เสมือนผู้พิทักษ์สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บุคลิกของครุฑก็เข้มแข็งและมีอํานาจ ครุฑจึงแสดงความหมายในด้านการเป็นผู้พิทักษ์ศาสนสถานด้วย ประติมากรรมลอยตัวรูปครุฑนี้ปกติจะพบน้อยมากในประเทศไทย 

ครุฑที่เมืองครุฑมีลักษณะเป็นแบบพื้นเมืองซึ่งไม่เคยพบลักษณะเช่นนี้มาก่อนเลยทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา ถ้ามีความสมบูรณ์ครุฑนี้จะมีความสูงประมาณ ๒.๕๐ เมตร ซึ่งนับว่าใหญ่มาก 

อย่างไรก็ตาม ประติมากรรมรูปครุฑนี้ก็ยังแกะสลักไม่เสร็จเรียบร้อย ประกอบกับตัวโบราณสถานเองก็ถูกลักลอบขุดทําลายไปมาก แม้แต่ส่วนฐานที่เหลืออยู่ก็ไม่สมบูรณ์ไม่พบหลักฐานที่เป็นชิ้นส่วนลักษณะของเครื่องบนโบราณสถานเลยนอกจากศิลาแลงก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดาเท่านั้น

สำหรับโบราณวัตถุที่สำคัญก็คือ ประติมากรรมครุฑองค์ใหญ่ที่แตกแยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ดังนี้

๑. ขาครุฑหินทราย (๑) ชิ้นแรกที่พบจากการลักลอบขุด แกะสลักจากหินทรายสีแดง เป็นส่วนของครุฑบริเวณข้อเท้า จนถึงบริเวณเข่าตอนล่างสลักเป็นลวดลายดอกประจํายาม บริเวณหัวเข่ามีลวดลายขนนกประกอบอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขนาดกว้าง ๐.๕๔ เมตร และสูง ๐.๕๗ เมตร

๒. ขาครุฑหินทราย (๒) คล้ายคลึงกับชิ้นแรกที่พบจากการลักลอบขุด พบในระหว่างการขุดแต่งห่างจากแนวฐานด้านตะวันตกประมาณ ๒.๕๐ เมตร ลักษณะเป็นหินทรายสีเทา เป็นส่วนของขาครุฑบริเวณข้อเท้า จนถึงบริเวณหัวเข่า ตอนล่าง สลักเป็นลวดลายดอกประจํายาม ตอนบนเป็นลวดลายขนนกประกอบอยู่ ขนาดกว้าง ๐.๕๙ เมตร และสูง ๐.๕๘ เมตร

๓. เท้าครุฑหินทราย พบจํานวน ๒ ชิ้น คือส่วนที่เป็นเท้าขวาและเท้าซ้าย ส่วนที่เป็นเท้าขวาโกลนไว้เป็นรูปร่างเท่านั้น แกะสลักยังไม่เสร็จเรียบร้อย ส่วนที่เป็นเท้าซ้ายนั้นประกอบด้วยนิ้ว ด้านหน้า ๔ นิ้ว และด้านหลังอีก ๑ นิ้ว ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและยังแกะสลักไม่เรียบร้อยเช่นกัน ปลายนิ้วด้านหน้าจะแหลมเป็นเล็บชัดเจน ขนาดของชิ้นส่วนเท้าครุฑแต่ละชิ้นมีขนาดกว้างประมาณ ๐.๖๐ - ๐.๖๗ เมตร ยาวประมาณ ๑๐.๔ - ๑.๑๖ เมตร และสูง ๐.๔๗ – ๐.๕๐ เมตร ขุดพบบริเวณทิศเหนือของฐานโบราณสถานในลักษณะคว่ำ

หน้าที่ 8/13

๔. ชิ้นส่วนสะโพกหินทรายด้านหน้า มีลวดลายขนนกประกอบบริเวณลําตัวด้านข้างทั้งสองด้านแกะสลักเป็นลวดลายขนนกที่เป็นปึกแข็ง ๒ ชั้น ขนาดของชิ้นส่วนนี้กว้าง ๐.๕๐ เมตร ยาว ๑.๒๕ เมตร และสูง ๐.๔๙ เมตร พบอยู่ทางทิศตะวันตกห่างจากแนวฐานประมาณ ๓.๘๐ เมตร 

๕. ชิ้นส่วนบริเวณหน้าอก สลักจากหินทรายสีแดง ลักษณะแอ่นโค้ง ทับทรวงเป็นรูปกระจัง มีลวดลายขนนกและลายกลีบบัวซ้อนกันอยู่เป็นแถวขนาดกว้างประมาณ ๐.๑๘ เมตร ยาว ๐.๖๖ เมตร และสูง ๐.๓๖ เมตร พบบนฐานทางทิศตะวันออกห่างจากแนวฐานด้านทิศตะวันตกประมาณ ๗ เมตร

๖. ปีกครุฑหินทราย หินทรายสีน้ำตาล ขนาดกว้าง ๐.๔๓ เมตร ยาว ๐.๓๔ เมตร และสูง ๐.๕๒ เมตร เป็นปีกด้านขวา ลักษณะด้านหน้ามีลวดลายกนกเป็นแถวยาว ด้านล่างมีลวดลายขนนกพริ้ว ต้นแขนและข้อมือแกะเป็นลวดลายดอกประจำยาม (ลายดอกไม้สี่กลีบ) เป็นกําไลที่ต้นแขนและข้อมือโดยมีสายทําเป็นลายกลีบบัวซ้อน และมีลายขนนกขนาบอยู่ทั้งสองด้าน ด้านหลังของปีกนกนั้น แกะสลักเป็นลายกลีบบัวซ้อน และลายกนกขนาบอยู่คล้ายลวดลายด้านหน้า โดยแกะลวดลายเป็นแกนกลางไปตามความยาวของปีก ซึ่งมีลวดลายขนนกพริ้วประกอบอยู่ทั้งสองด้าน บริเวณโคนปีกด้านบนมีลอยบาก รูปตัวที (T) เพื่อประโยชน์ในการใช้โลหะยึดระหว่างชิ้นหินทรายที่ประกบเข้าด้วยกันให้มั่นคงมากขึ้น

๗. สะโพกหินทราย เป็นหินทรายสีน้ำตาล บริเวณส่วนเอวจนถึงต้นขานุ่งผ้าลายขนนก มีเข็มขัดคาดเอวเป็นลายกนกและกลีบบัวซ้อน หัวเข็มขัดเป็นลายดอกประจํายามซ้อนกัน ๒ ชั้น ด้านข้างสองข้างมีลายขนนกที่เป็นปีกแข็ง ๒ ชั้น ด้านซ้ายจะมีขนาดเล็กและสั้นกว่าขนาดกว้าง ๐.๕๕ เมตร ยาว ๑.๑๔ เมตร และสูง ๐.๕๐ เมตร พบอยู่ห่างจากฐานโบราณสถานด้านทิศตะวันตก ประมาณ ๐.๙๐ เมตร ใกล้กับชิ้นส่วนที่เป็นปึก

๘. ชิ้นส่วนลวดลายดอกไม้ แกะสลักจากหินทราย สภาพชำรุด ลวดลายมีลักษณะเป็นรูปร่างกลมซ้อนกัน ๓ วง กลางสุดเป็นลายดอกไม้สี่กลีบ ถัดออกมาเป็นลายลูกประคำ และลายกลีบบัวตามลำดับ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลมประมาณ ๐.๑๘ เมตร

๙. ชิ้นส่วนลวดลายดอกไม้หินทราย ลวดลายมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ๓ วงซ้อนกันอยู่ คล้ายคลึงกับลวดลายดอกไม้ในข้อ ๘ แต่ชิ้นนี้มีขนาดใหญ่กว่า

ชิ้นส่วนครุฑที่พบจะกระจัดกระจายกันอยู่ และพบไม่ครบทุกชิ้น ส่วนหัวและปีกด้านซ้ายหายไป บางชิ้นแกะสลักไม่เสร็จ ถ้ามีความสมบูรณ์และเมื่อนำมาประกอบเข้าด้วยกัน ครุฑตัวนี้จะมีความสูงทั้งหมดประมาณ ๒.๕๐ เมตร

เศษภาชนะดินเผาที่พบในระหว่างการขุดแต่ง เป็นแบบเนื้อเครื่องดิน (Earthen Ware) เนื้อดินสีเทามีดินเชื้อผสมอยู่มาก ลักษณะปากผายออกหยักเป็นร่อง เป็นภาชนะแบบพื้นเมืองพบปนอยู่กับเศษหินทรายที่อัดทับถมเป็นพื้น บริเวณมุมตะวันออกเฉียงใต้ของโบราณสถาน
 

ประติมากรรมครุฑ เมื่อนำชิ้นส่วนที่พบมาประกอบกัน

ประติมากรรมนี้จะมีขนาดความสูงประมาณ ๒.๕ เมตร

ที่มา: อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์

หน้าที่ 9/13

เมื่อกรมศิลปากร ได้จัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ กาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เอกสารนำชมอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ได้กล่าวถึงตำนานจากคำบอกเล่าของชาวพื้นเมืองที่เมืองครุฑบอกว่า เมืองครุฑเป็นเมืองที่สร้างไม่เสร็จ

‘…จำเดิมมีพระฤาษีตนหนึ่ง อาศัยอยู่ที่เขาสูงงิ้วดำ ด้านทิศเหนือของจังหวัดนครศรีธรรมราช ฤาษีมีลูกศิษย์อยู่สองคน คือ ท้าวอู่ทองกับท้าวเวชสุวรรณโณ ภายในบริเวณอาศรมที่หลังเขาสูงงิ้วดำ มีบ่อทอง บ่อเงิน และบ่อน้ำกรด ซึ่งพระฤาษีห้ามลูกศิษย์ทั้งสองลงไปเล่นบริเวณนั้น

อยู่มาวันหนึ่ง พระฤาษีไม่อยู่ ท้าวอู่ทองกับท้าวเวชสุวรรณโณจึงหนีไปที่บ่อทั้งสาม ทั้งสองจึงเกิดความคิดอยากจะลงไปในบ่อ และตกลงกันว่าถ้าใครลงไปในบ่อ คนที่อยู่ข้างบนต้องฉุดขึ้นมาครั้นตกลงกันเสร็จแล้ว ท้าวอู่ทองจึงลงไปก่อนในบ่อเงิน บ่อทอง

บ่อเงิน บ่อทอง จึงแห้งหมด ท้าวเวชสุวรรณโณจึงฉุดท้าวอู่ทองขึ้นมา คราวนี้ท้าวเวชสุวรรณโณจะต้องลงไปบ้าง ซึ่งเหลือบ่อน้ำกรดเป็นบ่อสุดท้าย และท้าวเวชสุวรรณโณก็ยินยอมลงไปในบ่อน้ำกรดนั้น

เมื่อท้าวเวชสุวรรณโณลงไปแทนที่น้ำกรดจะแห้งเหมือนบ่อเงิน บ่อทอง กลับปรากฏว่าร่างของท้าวเวชสุวรรณโณถูกน้ำกรดกัดจนกร่อนละลาย ท้าวอู่ทองเห็นดังนั้นจึงไม่ยอมฉุดท้าวเวชสุวรรณโณขึ้นมาจากบ่อน้ำกรดนั้น และตนเองก็หลบหนีไป

เมื่อพระฤาษีกลับมาที่พักไม่เห็นลูกศิษย์ทั้งสอง จึงไปดูที่บ่อน้ำทั้งสามเห็นร่างของท้าวเวชสุวรรณโณถูกน้ำกรดกัดกร่อนเหลือเพียงเล็กน้อยจึงช่วยขึ้นมาจากบ่อน้ำกรด แล้วชุบตัวท้าวเวชสุวรรณโณขึ้นมาใหม่

ท้าวเวชสุวรรณโณได้รับการชุบตัวขึ้นมาใหม่ ก็เคียดแค้นท้าวอู่ทองจึงคิดตามล่าล้างแค้นท้าวอู่ทองให้จงได้ ท้าวอู่ทองผู้เป็นฝ่ายหนีเดินทางก้าวหนึ่งเท่ากับนกเขาเหินหนึ่งครั้ง ส่วนท้าวเวชสุวรรณโณเป็นฝ่ายตามล่านั้นเดินทางก้าวหนึ่งเท่ากับนกเขาเดินหนึ่งก้าว

ดังนั้น ท้าวอู่ทองจึงมีเวลาหนีไปได้ไกลและสามารถสร้างเมืองครอบครองได้ แต่ทว่าท้าวเวชสุวรรณโณก็ไม่ละความพยายามที่จะติดตามและมาทันทุกครั้งที่ท้าวอู่ทองหยุดสร้างเมือง ท้าวอู่ทองซึ่งมุ่งหน้ามาทางทิศเหนือ มาสร้างเมืองครั้งแรกมีสระ ๔ มุม แต่สามารถสร้างได้เพียงสระเท่านั้น ยังไม่ทันสร้างเมือง ท้าวเวชสุวรรณโณก็ตามมาทันอีก ท้าวอู่ทองจึงต้องหนีต่อไป มาถึงวังเย็นแต่สร้างเสร็จแค่กลอนประตู ท้าวเวชสุวรรณโณก็ตามมาทันอีก

ท้าวอู่ทองจึงต้องหนีไปสร้างเมืองขึ้นอีกเรียกว่า เมืองครุฑ ท้าวเวชสุวรรณโณก็ตามมาทันอีก ท้าวอู่ทองจึงต้องหนีจากเมืองครุฑมาสร้างเมืองสิงห์ และสามารถสร้างได้สำเร็จ มีการสร้างกำแพงป้องกันอย่างแน่นหนาเพื่อป้องกันท้าวเวชสุวรรณโณและสร้างกำแพงดินล้อมรอบกำแพงเมือง ๗ ชั้น จึงสร้างกำแพงเมือง ซึ่งด้านนอกก่อด้วยศิลาแลง สร้างกำแพงแก้วล้อมรอบตัวปราสาทอีกชั้นหนึ่ง ยากที่ท้าวเวชสุวรรณโณจะต้องเข้าไปข้างในได้… ’

สำหรับการสำรวจและขุดค้นเมืองครุฑ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ กรมศิลปากรได้เริ่มทำการสำรวจเนินดินขนาดไม่ใหญ่นัก บริเวณที่ราบใกล้กับช่องเขาครุฑห่างไปทางตะวันออกจากปราสาทเมืองสิงห์ กลางเมืองโบราณที่มีร่องรอยคูน้ำคันดินสัณฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชาวบ้านในในท้องถิ่นแควน้อยจะเรียกบริเวณนี้ว่า เมืองครุฑ เพราะในสมัยก่อนนั้น เคยมีรูปประติมากรรมครุฑโผล่ขึ้นมาจากเนินดิน 

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นเนินดินใจกลางเมือง ได้พบกับฐานของสิ่งก่อสร้างขนาดไม่ใหญ่นัก รวมทั้งพบชิ้นส่วนที่ประกอบกันเป็นรูปพญาครุฑจมดินอยู่จนเกือบครบทุกชิ้นส่วน เมื่อนำชิ้นส่วนมาประกอบกันและประมาณค่าความสูงของหัวรูปสลักที่หายไปแล้ว พบว่ามีความสูงรวมทั้งตัวเกือบ ๓ เมตร ส่วนเนินดินนั้นเป็นอาคารส่วนฐานอัดดินและผนังแผ่นหลังของรูปครุฑที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้าง ส่วนประกอบอื่น ๆ อย่างเครื่องไม้และภาชนะดินเผา ได้สูญสลายแตกหักไปมากแล้ว 

เมื่อนำผลการวิจัยใน ‘การตีความแนวคิดเรื่องครุฑในพุทธปรัชญาเถรวาท’ ได้ไขให้เห็นภาพถึงการนับถือครุฑว่า เป็นเทวดาชั้นล่างประเภทหนึ่ง อยู่ในวิมานสิมพลี กินนาคเป็นอาหาร เป็นบริวารของท้าววิรุฬหก กำเนิดมาจากมนุษย์ผู้ทำบุญเจือปนด้วยโมหะ หลงผิดว่าการฆ่าสัตว์ไม่บาป 

หน้าที่ 10/13

‘ …จากหลักฐานเหล่านี้ประกอบกัน ทำให้มีการพิจารณาในแนวคิดใหม่ว่า โบราณสถานปราสาทเมืองสิงห์ ไม่น่าจะเป็นของร่วมสมัยกับศิลปะขอมแบบบายนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แต่น่าจะเป็นการก่อสร้างที่เลียนแบบปราสาทขอมสมัยหลังจากนั้น เมื่ออาณาจักรขอมได้เสื่อมลงอย่างสุดขีดหลังจากสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙) เนื่องจากการแตกแยกภายในราชวงศ์ขอม การทรุดโทรมทางเศรษฐกิจ และภัยรุกรานจากภายนอกอาณาจักรขอม ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นศูนย์แห่งจักรวาลของภูมิภาคนี้ได้เสื่อมสลายลง จึงเกิดการเกาะกลุ่มรวมตัวกันใหม่ระหว่างบ้านเมืองในภูมิภาคนี้เป็นแว่นแคว้นต่างๆ

ช่วงเวลานี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการแข่งขันกันสร้างสมอำนาจชอบธรรมของบ้านเมืองเหล่านี้ขึ้นแทนที่ศูนย์เดิมแห่งอาณาจักรขอมกัมพูชา ซึ่งบางแห่งได้พยายามนำคติทางพุทธศาสนาฝ่ายหินยานเข้ามา สร้างเสริม ดังจะเห็นได้จากความพยายามของแคว้นสุโขทัยเมื่อตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท และกรุงศรีอยุธยาที่พยายามสืบทอดคติเก่าบางอย่างจากอาณาจักรขอมกัมพูชา โดยนำมาผสมผสานกลมกลืนกับคติใหม่ทางพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน
 

เมืองกลอนโดในปัจจุบัน มีถนนตัดผ่านคูเมือง

ด้านซ้ายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านที่ชาวบ้านนับถือ

 

‘...ผลกรรมทำให้มาเกิดเป็นครุฑ มีกำเนิด ๔ อย่าง คือเกิดขึ้นเอง เกิดในครรภ์ เกิดในไข่ เกิดในเถ้าไคล ที่อยู่ของครุฑคือป่าหิมพานต์ เชิงเขาสิเนรุ สวรรค์จาตุมหาราชิกา ครุฑมีจะงอยปากแหลม เป็นครึ่งคนครึ่งนก มีปีกยาว มีกายใหญ่โต บินได้รวดเร็วในอากาศ เมื่อโผบินจะเกิดพายุ ครุฑเป็นศัตรูกับนาค หน้าที่ครุฑคือพิทักษ์ศาสนา ช่วยเหลือผู้มีศีลธรรม อ่อนน้อม ถ่อมตน ถือคำสัตย์ มีความกตัญญูกตเวที และมีมนตราวิเศษชื่อว่า อาลัมพายน์ 

อรรถปริวรรตศาสตร์กับการศึกษาคัมภีร์ในพุทธปรัชญาเถรวาท เป็นกุญแจดอกสำคัญของการตีความ เป็นการทำความเข้าใจตัวบท และเป็นการอธิบายความให้ถูกต้อง อรรถปริวรรตศาสตร์แนวตะวันออก เรียกว่า พุทธอรรถปริวรรต คือการตีความแนวพุทธ โดยใช้หลักการตีความในคัมภีร์เนตติปกรณ์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการตีความแนวพุทธ ได้แก่ หาระ ๑๖ นัย ๕ และสาสนปัฏฐาน ๑๖ นำมาตีความแนวคิดเรื่องครุฑในพุทธปรัชญาเถรวาทให้กระจ่าง และเป็นกลางทำให้สามารถไขข้อความที่น่าสงสัย ออกมาอย่างน่าอัศจรรย์นัก

จากการตีความแนวคิดเรื่องครุฑในพุทธปรัชญาเถรวาทพบว่า ครุฑในพุทธปรัชญาเถรวาทแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ 

๑) ประเภทบุคลาธิษฐาน คือสัตว์เดรัจฉานประเภทหนึ่ง มีรูปร่างกึ่งเทวดากึ่งนก อยู่ในวิมานฉิมพลี กินนาคเป็นอาหาร เป็นศัตรูกับนาค เป็นบริวารของท้าววิรุฬหก และอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีกำเนิด ๔ แบบ คือเกิดในครรภ์ เกิดในฟองไข่ เกิดในสิ่งหมักหมม เกิดขึ้นมาแล้วโตทันที 

๒) ประเภทธรรมาธิษฐาน คือฝ่ายกุศลจิต จัดเป็นฝ่ายโวทาน มีศรัทธาในพระสงฆ์ ชอบสร้างมหาทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นประจำ ส่วนฝ่ายอกุศลจิต จัดเป็นฝ่ายกิเลส มีโมหะจริตหลงผิดว่า การฆ่าสัตว์ปีกไม่เป็นบาป ชอบอาฆาตริษยาต่อผู้อื่น ครุฑในแนวคิดพุทธปรัชญาเถรวาท ไม่มีชีวิตเป็นอมตะ ไม่ใช่ผู้วิเศษ เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วจะต้องเกิดในสังสารวัฏ

จากการตีความและประกอบเรื่องราวสร้างใหม่ (Reconstruction) จากหลักฐานต่างๆ ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีใน ‘เมืองสิงห์ และปราสาทเมืองสิงห์ที่แควน้อย ไม่ใช่ “ขอม” (เขมร) ?!?’ โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี (โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์) กรมศิลปากร ได้สรุปว่า ลักษณะโดยทั่วไปของเมืองสิงห์ ซึ่งประกอบด้วยกำแพงและคูน้ำหลายชั้นล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยมีศาสนสถานคือตัวปราสาทเมืองสิงห์เป็นศูนย์กลางของตัวเมืองนั้น เป็นรูปแบบของเมืองที่เรียกว่า ‘ปุระ’ หรือเมืองทางศาสนา ซึ่งในสมัยโบราณระยะหนึ่งนิยมใช้เป็นศูนย์กลางของชุมชนในระดับเมือง อันเป็นอิทธิพลทางวัฒนธรรมขอมแห่งประเทศกัมพูชา ที่จำลองแบบของจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางล้อมรอบด้วยทวีปและมหาสมุทรต่างๆ ซึ่งแสดงออกโดยกำแพง และคูเมืองหลายๆ ชั้น โดยโยงได้กับเมืองครุฑที่มิอาจจะไม่ข้องเกี่ยวกันได้

หน้าที่ 11/13

‘…จากหลักฐานเหล่านี้ประกอบกัน ทำให้มีการพิจารณาในแนวคิดใหม่ว่า โบราณสถานปราสาทเมืองสิงห์ ไม่น่าจะเป็นของร่วมสมัยกับศิลปะขอมแบบบายนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แต่น่าจะเป็นการก่อสร้างที่เลียนแบบปราสาทขอมสมัยหลังจากนั้น เมื่ออาณาจักรขอมได้เสื่อมลงอย่างสุดขีดหลังจากสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙)

เนื่องจากการแตกแยกภายในราชวงศ์ขอม การทรุดโทรมทางเศรษฐกิจ และภัยรุกรานจากภายนอกอาณาจักรขอม ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นศูนย์แห่งจักรวาลของภูมิภาคนี้ได้เสื่อมสลายลง จึงเกิดการเกาะกลุ่มรวมตัวกันใหม่ระหว่างบ้านเมืองในภูมิภาคนี้เป็นแว่นแคว้นต่างๆ

ช่วงเวลานี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการแข่งขันกันสร้างสมอำนาจชอบธรรมของบ้านเมืองเหล่านี้ขึ้นแทนที่ศูนย์เดิมแห่งอาณาจักรขอมกัมพูชา ซึ่งบางแห่งได้พยายามนำคติทางพุทธศาสนาฝ่ายหินยานเข้ามา สร้างเสริม ดังจะเห็นได้จากความพยายามของแคว้นสุโขทัยเมื่อตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท และกรุงศรีอยุธยาที่พยายามสืบทอดคติเก่าบางอย่างจากอาณาจักรขอมกัมพูชา โดยนำมาผสมผสานกลมกลืนกับคติใหม่ทางพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ปรากฏชื่อเมืองสิงห์ในทำเนียบศักดินาหัวเมือง คงมีแต่ชื่อเมืองศรีสวัสดิ์ เมืองปากแพรก (กาญจนบุรี) และเมืองไทรโยค รวม ๓ เมืองที่อยู่ในละแวกเดียวกัน คงมีแต่ประวัติคำบอกเล่าที่เป็นปรัมปราคติเกี่ยวข้องกับท้าวอู่ทอง ผู้ทรงหนีภัยจากท้าวเวสสุวรรณโณ ไปเที่ยวสร้างเมืองหลบซ่อนตามที่ต่างๆ แถบนั้น เช่น เมืองกลอนโด เมืองครุฑ และเมืองสิงห์ ซึ่งคำบอกเล่าประเภทนี้ หากจะถือข้อเท็จจริงตามสาระเนื้อหา ก็จะแสดงให้เห็นได้เพียงการไม่มีความต่อเนื่องระหว่างผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวปรัมปรากับโบราณสถานแห่งนั้นๆ 

ชื่อเมืองที่เกิดขึ้นมาจึงเป็นการตั้งขึ้นตามประสบการณ์ของผู้เล่า ที่จะอธิบายประวัติความเป็นมาของโบราณสถานแห่งนั้นตามแนวคิดของตน (เรื่องท้าวอู่ทอง) กับปรากฏการณ์ที่โบราณสถานนั้น เช่น ชื่อเมืองกลอนโด ก็เพราะสภาพโบราณสถานเหลือเพียงซากซึ่งผู้เล่าเห็นว่าเป็นกลอนประตูทิ้งอยู่ เมืองครุฑและเมืองสิงห์ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ของผู้เล่า ที่พบรูปครุฑและรูปสิงห์ถูกตั้งร้างอยู่ที่โบราณสถานแห่งนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรจะเป็นชื่อที่เรียกขึ้นมาใหม่ มิใช่ชื่อดั้งเดิมซึ่งสืบทอดมาแต่สมัยโบราณที่เรียกว่า ศรีชัยสิงห์บุรี ดังปรากฏอยู่ในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์แต่อย่างใด นั่นคือ เมืองสิงห์ที่กล่าวถึงนี้มิใช่และไม่เกี่ยวข้องกันเลยทางประวัติศาสตร์กับเมืองศรีชัยสิงห์บุรี

แม้ว่าเรื่องของเมืองสิงห์จะมีแนวคิดทางประวัติศาสตร์แตกต่างกันออกเป็นสองแนว แต่ก็พอจะสรุปให้ทราบถึงอายุความเก่าแก่ของโบราณสถานแห่งนี้ไม่ต่างกันมากนัก กล่าวคือ เมืองสิงห์และซาก      ศาสนสถานต่างๆ ภายในเมืองได้มีการก่อสร้างร่วมสมัยเดียวกัน เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เป็นเมืองที่สร้างขึ้นตามคติแบบขอมที่นิยมเอาศาสนสถานไว้กลางเมือง นับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองปากทางเข้าสู่เส้นทางที่จะติดต่อไปยังดินแดนในประเทศพม่าตอนใต้แถบบริเวณอ่าวเมาะตะมะ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า เส้นทางด่านพระเจดีย์สามองค์
 

แม่น้ำแควใหญ่มีเมืองศรีสวัสดิ์เป็นเมืองยุทธศาสตร์ ใกล้ๆ มีเมืองไทรโยคและเมืองปากแพรก

ระยะหลังเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป น่าจะส่งผลให้เมืองสิงห์หมดอำนาจลง

หน้าที่ 12/13

และเนื่องจากสถานที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับจุดยุทธศาสตร์ ดังนั้นในระยะหลังเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างดินแดนต่างๆ เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในยุทธวิธีการรบ การวิเคราะห์ในการจัดตั้งเมืองทางยุทธศาสตร์จึงเปลี่ยนไปด้วย ทำให้เกิดมีเมืองทางยุทธศาสตร์ในเส้นทางสายนี้ขึ้นใหม่ ดังเช่น เมืองไทรโยคทางเส้นทางแควน้อย เมืองศรีสวัสดิ์ทางเส้นทางแควใหญ่ โดยมีเมืองใหญ่กำกับอีกเมืองหนึ่ง ณ ที่ที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกันคือเมืองปากแพรกหรือกาญจนบุรีเก่า

จากจุดนี้เองที่น่าจะทำให้ เมืองสิงห์ ได้หมดความสำคัญ หรือหมดสภาพของฐานะการเป็นเมืองลงไป ศาสนสถานต่างๆ ภายในตัวเมืองจึงถูกปล่อยทิ้งร้างลงไปด้วย

จากแนวคิดใหม่ที่เสนอในเรื่องการกำหนดอายุ แม้จะเป็นการกำหนดอายุให้เมืองสิงห์ไม่เก่าเท่าการกำหนดอายุตามแนวคิดเดิม คือ จะมีอายุใหม่ขึ้นประมาณ ๕๐ ปี แต่เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ และเพิ่มคุณค่าให้แก่ประวัติศาสตร์ของเมืองสิงห์ เพราะเวลาในช่วงนี้ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในภูมิภาคแถบนี้...’

 


 

อ้างอิง

อาจารย์ศรีศักรพาเที่ยว 'เส้นทางโบราณ ศึกลาดหญ้า-ปราสาทเมืองสิงห์' มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

รายงานพิเศษ 'เมืองครุฑ' โดย สถาพร ขวัญยืน สารกรมศิลปากร ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๓๗

'เส้นทางเดินทัพ (พม่าตีไทย)' โดย อาจารย์และนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 

คำสำคัญ : ประติมากรรมครุฑ,เมืองครุฑ,ปราสาทเมืองสิงห์

'เมืองสิงห์ และปราสาทเมืองสิงห์ที่แควน้อย ไม่ใช่ “ขอม” (เขมร) ?!?' พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๓๐

เอกสารอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ 

'เมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี' กรมศิลปากร 

‘การตีความแนวคิดเรื่องครุฑในพุทธปรัชญาเถรวาท’ โดย พระปลัดทองคำ โอภาโส, พระครูศรีปัญญาวิกรม, พระมหาพจน์ สุวโจ วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วารสารวิชาการ มจร บุรีรัมย์ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑ มกราคม – เมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๖๖

รายงานวิจัยการสำรวจวัฒนธรรมโบราณบนลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ ด้วยเทคโนโลยีสื่อระยะไกล สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) (GISTDA)

'ชุมชนร่วมแบบเขมรบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน : พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม' โดย ธัชสร ตันติวงศ์ นักวิชาการวัฒนธรรม กลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ดำรงวิชาการ

พรเทพ เฮง
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกโบราณคดี รุ่น ๓๘ ทำงานด้านสื่อ ด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และสาระบันเทิงมาค่อนชีวิต
หน้าที่ 13/13