ผู้เข้าชม
0

เส้นทางข้ามคาบสมุทรที่ ‘คอคอดกระ’ จากการสำรวจ ตอนที่ ๒

เส้นทางติดต่อของอารยธรรมโบราณที่เข้ามาพร้อมกับพ่อค้า-นักเดินทางระยะไกล ที่นำร่องรอยความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ามาด้วยในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือที่ชาวอนุทวีปรู้จักกันในนาม "ดินแดนสุวรรณภูมิ"
30 กรกฎาคม 2567


เส้นทางข้ามคาบสมุทรที่ ‘คอคอดกระ’ จากการสำรวจ ตอนที่ ๒

 

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

หน้าที่ 1/10

เส้นทางในกลุ่มที่สองของการข้ามคอคอดกระ เส้นที่ ๓


 

เส้นทางที่ ๓. ภูเขาทอง / บางกล้วย-ในหยาน-คลองพะโต๊ะ-เขาเสก-ปากน้ำหลังสวน

ในทิศทางที่ออกเดินทางจาก ‘ปากคลองสุไหงอินู’ ลงไปทางใต้ราว ๑๑๕ กิโลเมตร บริเวณชายฝั่งอันดามันในตำแหน่งปากคลองบางกล้วย เป็นเส้นทางที่เมื่อแล่นเรือเข้าสู่แผ่นดินภายในไปตามระยะทางน้ำราว ๔ กิโลเมตร ตามคลองบางกล้วย ในอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง เข้าประชิดพื้นที่เนินสูงทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำที่กลายเป็นคลองเล็กๆ เมื่อปีนเนินสูงชันขึ้นไปกว่า ๕ เมตรก็จะพบว่ามีการทำแนวคันดินบางส่วนทำให้เกิดเป็นคันดินล้อมรอบพื้นที่เกือบจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งพื้นที่ส่วนกลางของเมืองสูงกว่าชายตลิ่งลำน้ำสาขาคลองบางกล้วยกว่า ๒๐ เมตรทีเดียว 

หน้าที่ 2/10

เมืองนี้มีแนวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดไม่ใหญ่โตนักราว ๒๕๐ เมตร x ๑๐๐ เมตร ทั้งบริเวณชายเนินริมลำน้ำด้านล่างและบริเวณภายในเมืองและโดยรอบ พบโบราณวัตถุพวกเครื่องทอง ลูกปัดทองคำและเครื่องทองที่พบกระจายตามในบริเวณเมืองท่าต่างๆ เหล่านี้ 

บริเวณภูเขาทองและในเมืองที่บางกล้วย พบโบราณวัตถุล้ำค่าหลายชนิด จำนวนมาก และมีการขุดค้นทางโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ต นำโดย ร.อ.บุญฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ถือว่าเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งแรกทางชายฝั่งอันดามันและมีความสำคัญจนกลายเป็นฐานข้อมูลอ้างอิงของนักวิชาการทั่วโลก นอกจากการอ้างอิงโบราณวัตถุจากแหล่งขุดค้นอย่างเป็นทางการได้แล้ว ยังมีการทำงานเพื่อกำหนดอายุซากเรือจมที่ปากคลองบางกล้วยราวพุทธศตวรรษที่ ๕ และพบหลักฐานสำคัญ เช่น ลูกปัดหินรูปสิงโตหมอบ คล้ายที่พบจากการขุดค้นที่ดอนตาเพชร ตราประทับสลักบนเนื้อหินหัวแหวนรูปบุคคลแบบกรีก-โรมันที่เรียกว่า Intaglio เครื่องประดับแบบแกะสลักบนผิวที่เรียกว่า Cameo ชิ้นส่วนเครื่องประดับทองคํา เศษภาชนะดินเผาที่มีต้นทางจากอินเดียตอนใต้ ภาชนะดินเผาที่มีจารึกอักษรพราหมี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบตราประทับทองคำมีจารึกอักษรพราหมี พฤหัสปติศรมัน นาวิกะ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานตัวอักษรที่ควรนำมาเปรียบเทียบเพื่อหาอายุ น่าจะอยู่ในช่วง ‘ราชวงศ์สาตวาหนะ’ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๓–๘ ลูกปัดหินกึ่งมีค่าชนิดต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าทรงคุณค่าต่างๆ โดยช่างจากแดนไกล และมีการสร้างพื้นที่อยู่อาศัยอย่างถาวรทางทิศใต้ของเมืองที่คลองบางกล้วย ซึ่งห่างไปไม่เกิน ๑.๕ กิโลเมตร คือที่ตั้งของภูเขาสูงที่ถูกเรียกว่า ‘ภูเขาทอง’ พบโบราณวัตถุจำนวนมาก ชาวบ้านค้นหาโบราณวัตถุรอบเชิงเขากันมากในช่วงหนึ่ง ปัจจุบันถูกห้ามปรามจึงลดการค้นหาลง

 

ตราประทับทองคำมีจารึก 'พฤหัสปติศรมัน นาวิกะ' พบที่ภูเขาทอง ชายฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง

สำหรับซากเรือที่ชายหาดต่อกับปากคลองบางกล้วย ภูเขาทอง ในจังหวัดระนอง โดยมีการตรวจค่าอายุและนำชิ้นส่วนเรือที่เหลือไปอนุรักษ์แล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ค่าอายุ ,๑๒๐ และ ,๑๔๐ ปีมาแล้ว หรือในราวพุทธศตวรรษที่ อาจจะเป็นซากเรือจมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย 

กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร วิเคราะห์ว่าเทคนิคการต่อเรือแบบโบราณ ด้วยการเซาะร่องตรงกลางของไม้เปลือกเรือแต่ละแผ่น แล้วสอดเดือยเข้าตรงกลางระหว่างไม้เปลือกเรือสองแผ่น จากนั้นยึดโดยการเจาะรูทะลุลงไประหว่างไม้เปลือกเรือกับตัวเดือย แล้วสอดลูกประสักเพื่อยึดเปลือกเรือทั้งสองเข้าด้วยกัน เทคนิคการต่อเรือดังกล่าวมีพัฒนาการมาจากทวีปยุโรป มักพบในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนช่วงสมัยยุคกลาง หลังจากนั้นได้แพร่หลายจนเป็นที่นิยมไปหลายแห่งรวมทั้งที่พบบริเวณปากคลองบางกล้วยในจังหวัดระนองนี้ด้วย

เส้นทางข้ามคาบสมุทรจาก ‘เมืองที่ริมคลองบางกล้วย’ สามารถใช้เรือเดินทางออกจากปากคลองบางกล้วย แล้วออกทะเลขึ้นเหนือ เพื่อเข้าไปยังปากน้ำกะเปอร์ ในอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ระยะทางราว ๒๐ กิโลเมตร หรือจะใช้เส้นทางเดินเท้าก็ได้เช่นกัน แล้วใช้คลองกะเปอร์เดินทางไปต่อราว ๒๐ กิโลเมตร จนถึงแพรกที่เป็นบริเวณคลองกะเปอร์ต่อกับ ‘คลองบางปรุ’ บริเวณริมตลิ่งของ วัดประชาธาราราม ซึ่งพบแหล่งโบราณคดีและพบลูกปัดจำนวนมาก 

 

ปากคลองบางกล้วย บริเวณที่พบซากเรือจมอายุกว่าสองพันปีมาแล้ว

หน้าที่ 3/10

จากนั้นใช้ลำน้ำกะเปอร์ไปทางต้นน้ำต่อ ผ่านช่องเขาเข้าไปภายในราว ๑๕ กิโลเมตร ไปจนถึงบริเวณ ‘บ้านนา’ ซึ่งชุมชนนี้เป็นชาวบ้านปากหมากทางฝั่งอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีมาแต่เดิม ใช้วิธีเดินเท้าข้ามเขามาแสวงหาที่ทำกินเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในรุ่นพ่อแม่และปู่ย่าตายายเมื่อราว ๖๐-๘๐ ปีที่ผ่านมา

เมื่อเดินเท้าขึ้นเขาไปราว ๓๐ กิโลเมตร จะถึงบริเวณ บ้านในหยาน ซึ่งพบโบราณวัตถุที่สำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะชิ้นส่วนแผ่นหน้าของ ‘มโหระทึก’ แบบเฮเกอร์ I บริเวณลำน้ำแถบนี้หลายสาย คือ คลองปลาด คลองปากทรงและคลองศอก และจุดที่คลองศอกสบกับคลองพะโต๊ะ บริเวณนี้ชาวบ้านเล่าว่าเคยใช้การร่อนแร่ดีบุกในลำน้ำพะโต๊ะและคลองศอก มักพบลูกปัดแก้วขนาดเล็กหรือลูกปัดลมหรือที่เรียกว่าลูกปัดแบบอินโด-แปซิฟิค แต่ชาวบ้านแถบนี้เรียกว่า ‘ลูกปัดตามด’ เพราะมีขนาดเล็กจิ๋วมาก และน่าจะพบลูกปัดชนิดอื่นๆ รวมทั้งโบราณวัตถุที่นอกเหนือจากชิ้นส่วนมโหระทึกแบบเอเกอร์ I เพียงแต่ไม่มีรายงานที่ชัดเจน

จาก ‘บ้านในหยาน’ ล่องลงไปตามลำน้ำพะโต๊ะอีกราว ๓๐-๓๕ กิโลเมตร จะถึง บ้านทอนพงษ์ ซึ่งพบโบราณวัตถุแบบขวานหินมีบ่าขนาดใหญ่จำนวนมาก แต่เท่าที่บันทึกได้มีความยาว ๔๙ และ ๒๕ เซนติเมตร ซึ่งถือว่าขนาดยาวมาก และพบขวานหินขนาดยาวเช่นนี้ตามแหล่งที่มีการทำเหมืองแบบร่อนแร่ดีบุกตามริมลำน้ำในเขตต้นน้ำลำธารหลายแห่งในภาคใต้ เช่นที่เขตอำเภอสิชล ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น และทางฝั่งตะวันตกของภาคกลางในเขตสวนผึ้งและจอมบึงของเทือกเขาตะนาวศรี และ บ้านปังหวาน ซึ่งทั้งที่ริมตลิ่งบ้านปังหวานฝั่งตรงข้ามกับวัดปังหวาน และชายตลิ่งเหนือวัดปังหวานใกล้กับตอม่อของสะพานข้ามลำน้ำพะโต๊ะ พบมโหระทึกเต็มใบและชิ้นส่วนของมโหระทึกตามลำดับ

อนึ่ง บ้านปังหวานริมลำน้ำพะโต๊ะนี้ คือสถานที่จอดเรือสัญจรเมื่อยังใช้เรือเมล์เดินทางระหว่าง ‘หลังสวน’ และ ‘พะโต๊ะ’ ในอดีต ที่เลิกไปเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๗ โดยหน้าวัดปังหวานเป็นที่จอดเรือแวะพักค้างคืนในระยะครึ่งทาง ดังนั้นหากใช้เรือเมล์หรือเรือแจวพายถ่อในอดีตที่ลำน้ำพะโต๊ะมีน้ำมากในฤดูน้ำหลากและในฤดูกาลปกติ ก็จะใช้บริเวณบ้านปังหวานในการจอดพักแรมมาตั้งแต่อดีตทีเดียว

 

ลำน้ำพะโต๊ะหน้าวัดปังหวาน เหนือขึ้นไปคือลำน้ำปังหวานมาสมทบ

บริเวณที่พบมโหระทึกนั้นอยู่ชายตลิ่งฝั่งตรงข้ามกับวัดปังหวาน

หน้าที่ 4/10

บริเวณตรงข้าม ‘วัดปังหวาน’ เคยเป็นพื้นที่ราบชายตลิ่งและน้ำเซาะชายตลิ่งพังไปหลายสิบปีมากกว่า ๒๐-๓๐ เมตร ‘อาจารย์สุนทร เกิดด้วง’ ผู้เป็นทั้งเจ้าของที่และผู้พบโบราณวัตถุในกลุ่มนี้พบกลองมโหระทึกฝังอยู่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ภายในพบชิ้นส่วนกะโหลก ฟัน และกระดูกมนุษย์บางส่วน อันแสดงอย่างชัดเจนว่าเป็นแนวคิดวิธีการฝังศพครั้งที่สอง ซึ่งกล่าวกันว่าที่เขาสามแก้วก็พบการบรรจุใส่กระดูกและเครื่องประกอบใส่ลงไปในกลอง ‘มโหระทึก’ แบบเฮเกอร์ I 

 

อาจารย์สุนทร เกิดด้วง และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปังหวาน

ให้ข้อมูลรายละเอียดการพบมโหระทึกที่ริมตลิ่งลำน้ำพะโต๊ะฝั่งตรงข้ามวัดปังหวาน

 

นอกจากนี้ ในกลองที่ใส่สิ่งของร่วมกับชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์นี้ยังพบเบ้าหล่อหัวขวานสำริดด้านเดียว ๑ ชิ้น  ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า พบไม่บ่อยนักในบริเวณแหล่งโบราณคดีในแถบคาบสมุทร แต่จะพบมากในแถบภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครื่องประดับทองแบบต่างหูตันมีน้ำหนัก ๒-๓ ชิ้น กำไลทำจากเนื้อเงิน กำไลทำจากหินควอตซ์หนาหนักสีใสขุ่นและสีคล้ำขุ่น ๔ ข้างหรือ ๒ คู่ที่มีรูปแบบคล้ายกัน กำไลหินสบู่ซึ่งแตกหักเป็นชิ้นๆ แต่น่าจะเป็นหินหาได้ยากจากแดนไกล หินกึ่งมีค่าพวกคาร์เนเลียนรูปแบบรีและกลมขนาดใหญ่ ซึ่งลูกปัดคาร์เนเลียนแบบกลมมีการฝังลายเส้นสีขาวคาด [Etched carnelian beads] โดยรอบหลายชิ้น ลูกปัดสีม่วงเข้มโปร่งใสและลูกปัดสีเขียวแบบสีเดียวจำนวนมาก รวมทั้งก้นของภาชนะสำริดแบบก้นภาชนะแบบมีปุ่ม [Knobbed ware] ที่น่าจะเป็นแบบสัดส่วนดีบุกสูงและผลิตขึ้นจากการหล่อ ๑ ชิ้น รวมทั้งปากภาชนะสำริดมีการประดับลวดลายเรขาคณิตที่น่าจะเป็นแบบวัฒนธรรมดองซอน ขันสำริดแบบสัดส่วนดีบุกสูง [High tin bronze] ที่เนื้อบาง แลเห็นสีทองมันวาวภายในภาชนะชัดเจน

และผู้พบกล่าวว่า พบโดยลักษณะเป็นการรวบปากภาชนะให้ม้วนหุบเข้าหากัน และด้านในไม่มีวัตถุอื่น แต่ก็อาจบรรจุหรือห่อสิ่งของที่เป็นสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้และมีความสำคัญต่อการบรรจุในพิธีกรรมการตายหรือการฝังศพครั้งที่สองนั้น ถือว่าการพบการฝังศพในมโหระทึกที่บ้านปังหวานนี้ได้ข้อมูลค่อนข้างมากและสมบูรณ์กว่าที่อื่นๆ โดยความพยายามอนุรักษ์ของทั้งเจ้าหน้าที่รัฐคือทางนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปังหวานและเจ้าของที่คือ ‘อาจารย์สุนทร เกิดด้วง’ ได้นำกำไลคู่หนึ่งและลูกปัดทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเดินทางมายังพะโต๊ะ ส่วนมโหระทึกนำไปมอบให้กับกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กรุงเทพฯ แล้วเช่นกัน ส่วนพื้นที่อื่นๆ รอบนอกใกล้กับที่พบมโหระทึก ก็พบพวกเครื่องมือเหล็กจำนวนมากและลูกปัดอีกจำนวนหนึ่ง แต่เจ้าของพื้นที่ไม่ได้มีการขุดค้นหาสิ่งของมากนักและบริเวณนี้มีการห้ามปรามจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นด้วย จึงทำให้การหาสิ่งของที่บ้านปังหวานหยุดไป

 

แผ่นส่วนก้นภาชนะแบบมีปุ่มด้านใน [Knobbed Ware] กำไลงาช้าง

เครื่องประดับทองคำแบบตัน และแม่พิมพ์หัวขวาน

 

บริเวณบ้านปังหวานนี้ยังเดินทางลัดเลาะไปออกบริเวณต้นน้ำของคลองละแมได้ และพบแหล่งโบราณคดีในบริเวณต้นน้ำละแมที่ ‘บ้านรุ่งเรือง’ ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นหมู่บ้านเกิดใหม่ ชาวบ้านเดินทางมาแสวงหาที่ทำกินจากที่ต่างๆ และชาวบ้านแถบปังหวานกล่าวว่าเป็นเส้นทางลัดที่จะเดินทางไปยังแถบชายฝั่งหรือชุมชนในเขตอำเภอละแม จังหวัดชุมพร ได้พบชิ้นส่วนของภาชนะสำริด ลูกปัดทองคำ ลูกปัดสีม่วงเข้มโปร่งใสแบบเดียวกับที่พบในแถบบ้านปังหวานและลูกปัดหินอาเกต

หน้าที่ 5/10

จากนั้นเดินทางโดยใช้คลองพะโต๊ะอีกราว ๓๐ กิโลเมตร ก็จะถึง เขาเสก ซึ่งเป็นจุดพักสำคัญและน่าจะต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบันเมื่อเกิดเมืองหลังสวน เพราะอีกฝั่งนั้นเป็นที่ตั้งของเมืองหลังสวนที่อยู่ภายใน จากนั้นต้องเดินทางผ่านลำน้ำหลังสวนเพื่อออกปากน้ำหลังสวนอีกราว ๑๒ กิโลเมตร

ที่เขาเสกพบว่าที่ราบเชิงเขาต่อกับลำน้ำหลังสวนหรือน้ำพะโต๊ะมีการพบโบราณวัตถุจำนวนมาก และวัตถุสำคัญที่นำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร เป็นชามปากกว้างก้นตื้นแบบ ภาชนะสีดำขัดมัน’ [Black Polished Ware] ด้านนอกวาดลวดลายเป็นลูกคลื่น เพราะพบตามแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในอินเดียทางชายฝั่งเบงกอลและมีการผลิตต้นทางจากทางเหนือ ตั้งแต่ก่อนพุทธ-ศาสนากำเนิดขึ้นราว ๒๐๐ ปี ทำจากดินเผาเนื้อละเอียด เนื้อบาง เผาคุณภาพดีและมีการเคลือบน้ำเคลือบบางๆ ก่อนจะนำมาขัดมัน สีของผิวภาชนะมีตั้งแต่สีดำสนิท น้ำตาลคล้ำ เทา และแดง ถือเป็นภาชนะมีมูลค่าสูงของชนชั้นนำ โดยสันนิษฐานอายุที่ปรากฏทางใต้ของอินเดียอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒ ถึง ๗ พบว่าแหล่งโบราณคดีแทบทั้งหมดที่พบภาชนะสีดำขัดมันคือศูนย์กลางทางพุทธศาสนายุคเริ่มแรกในอินเดีย

และที่จัดแสดงไว้มีแม่พิมพ์หินหล่อเครื่องประดับแก้วที่รูปลักษณ์ของแก้วที่หล่อเช่นนี้พบในแหล่งโบราณห่างไกลออกไป เช่นที่บ้านเชียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับรูปสัตว์สองหัวทำจากหินหยกไต้หวัน หรือ Nephrite และตราประทับที่มีอักษรพราหมี ๔ ตัวเทียบได้กับตัวอักษร  ศ ศ ซึ่งยังไม่ทราบความหมาย ด้านล่างตัวอักษรเป็นสัญลักษณ์รูปนันทิยาวัตตะหรือตรีรัตนะ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร ประเมินอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๔–๙

บริเวณเขาเสกนี้ น่าจะเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าสำคัญ ส่วนจะเป็นแหล่งผลิตด้วยหรือไม่นั้นไม่แน่ใจนัก และอาจจะเป็นชุมชนในระดับเมืองขนาดย่อยบริเวณชายฝั่งอ่าวไทย และเส้นทางจาก ‘บางกล้วย/ภูเขาทอง’ สู่ ‘เขาเสก’ ผ่านทางคลองพะโต๊ะ น่าจะเป็นเส้นทางสำคัญ เพราะสามารถเดินทางได้ค่อนข้างสะดวกกว่าเส้นทางอื่น 

 

เขาเสก ฝั่งตรงข้ามคือตัวอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

บริเวณที่ราบเชิงเขาติดกับลำน้ำพะโต๊ะหรือคลองหลังสวน

 

การพบว่ามีการนำมโหระทึกเข้าไปยังบริเวณบ้านในหยานและบ้านปังหวานทั้งสองแห่งที่อยู่บนเส้นทางลำน้ำพะโต๊ะ ยิ่งทำให้ต้องคำนึงถึงความสำคัญของเส้นทางดังกล่าวที่มีชุมชนที่มีพัฒนาการที่ซับซ้อนกว่าหรือเจริญในทางโครงสร้างสังคมมากกว่าชุมชนในบริเวณตามถ้ำหรือเพิงผาเขาหินปูนที่มีการใช้พื้นที่ตามป่าเขา เพราะเป็นชุมชนที่ควบคุมการขนส่งบริเวณริมลำน้ำพะโต๊ะหรือลำน้ำหลังสวน ที่ใช้เชื่อมเดินทางระหว่างคาบสมุทรที่ค่อนข้างสะดวกมากกว่าการเดินทางในเขตแรกทางคอคอดกระด้านบน มีการใช้การฝังศพที่น่าจะเป็นผู้มีสถานภาพขั้นสูงสุดของชุมชนในละแวกนี้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย มีการรับวัฒนธรรมทางวัตถุต่างๆ เพื่อใช้เป็นสิ่งของมีคุณค่าที่อุทิศให้กับศพ เช่น รูปแบบภาชนะดินเผาต่างๆ จากแดนไกล ลูกปัดมีคุณค่าสูงจากทางฝั่งอนุทวีปอินเดียที่บรรจุลงภายในมโหระทึกขนาดใหญ่ที่ทำจากสำริดจากทางฝั่งทะเลจีนใต้และฝังไว้ที่ริมคลองพะโต๊ะในจุดกึ่งกลางของเส้นทางการเดินทางข้ามคาบสมุทรสยาม 

มโหระทึกที่เป็นของหายากต้องขนส่งจากแดนไกลมากจนถึงคาบสมุทร และปรากฏร่องรอยว่าเดินทางเรื่อยไปจนถึงเกาะชวาและบาหลีอันเป็นสถานที่บรรจบของการเดินเรือจากอนุทวีปอินเดียสู่ดินแดนสุวรรณภูมิทั้งทางคาบสมุทรและหมู่เกาะ จึงน่าจะมีคุณค่ามหาศาลเมื่อช่วงต้นพุทธกาลนั้น เราไม่ทราบว่าชุมชนดั้งเดิมผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ที่กึ่งกลางคาบสมุทรนี้จะใช้ ‘ตี’ ในพิธีกรรมเช่นเดียวกับเจ้าของวัตถุในวัฒนธรรมต้นทางอย่างทางจีนตอนใต้หรือทางดองซอนในเวียดนามตอนเหนือหรือไม่ หรือเพียงแต่นำมาใช้เป็นเครื่องบ่งบอกสถานภาพชนชั้นที่สูงกว่าผู้อื่นในชุมชนและนำไปอุทิศเพื่อใส่กระดูกและของอุทิศประกอบในพิธีกรรมการฝังศพครั้งที่สอง ซึ่งก็เป็นวัฒนธรรมเกี่ยวกับการตายที่น่าจะนิยมปฏิบัติกันในช่วงหลังจากการฝังศพแบบครั้งเดียวไปแล้ว การฝังศพครั้งที่สองปรากฏในแถบชุมชนดั้งเดิมแถบหมู่เกาะและชาวเขาในป่าสูงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเกาะไต้หวันหรือชาวเกาะที่ใช้โลงไม้นำไปไว้บนหน้าผาหรือถ้ำต่างๆ ‘มโหระทึก’ แบบเฮเกอร์ I ดังกล่าวถูกเก็บรักษาโดยการส่งมอบจากชาวบ้านปังหวานและยังไม่เห็นลวดลายหรือรูปแบบของมโหระทึกนี้แต่อย่างใด

 

แม่พิมพ์หินหล่อเครื่องประดับแก้ว เครื่องประดับรูปสัตว์สองหัว

และตราประทับที่มีลายสัญลักษณ์นันทิยาวัตตะหรือตรีรัตนะ พบที่เขาเสก

หน้าที่ 6/10

เส้นทางในกลุ่มที่สองของการข้ามคอคอดกระ เส้นที่ ๔


 

เส้นทางที่ . ภูเขาทอง / บางกล้วย-ปากหมาก-ท่าชนะ

เส้นทางจากคลองบางกล้วยที่เดินทางได้ทั้งทะเลและบนบกตัดไปออกคลองกะเปอร์ แล้วไปทางต้นน้ำกะเปอร์สู่แถบตำบล ‘บ้านนา’ บริเวณนี้มีข้อมูลจากชาวบ้านที่ตำบลบ้านนา อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนองว่า พวกตนนั้นมีบรรพบุรุษเป็นคนจาก ‘บ้านปากหมาก’ ในอำเภอไชยาเป็นส่วนใหญ่ อพยพเข้ามาหาที่ทำกินราวสองสามรุ่นมาแล้ว และปัจจุบันญาติพี่น้องล้วนเป็นคนทางฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขา

ตามคำบอกเล่ากล่าวว่า การเดินทางจากบริเวณ ‘บ้านนา’ นั้นใช้การเดินทางตามลำน้ำแพรกซ้ายผ่านหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านนาราว ๒๐ กิโลเมตรก็ข้ามสันปันน้ำ แล้วเดินทางตามแนวลำน้ำผ่านเหมืองดีบุกเก่าอีกราว ๓๐ กิโลเมตร เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงในปัจจุบันก็จะถึงต้นน้ำของคลองท่าไม้แดง ที่มาสบกับคลองไชยา จนกลายเป็นคลองไชยานั้นบริเวณบ้านปากหมาก ในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

หน้าที่ 7/10

บริเวณต้นน้ำริมคลองท่าไม้แดง พบหลักฐานว่าพบขวานหินขนาดใหญ่หลายชิ้น บริเวณริมคลองท่าไม้แดง โบราณวัตถุประเภทนี้บ่งบอกถึงน่าจะมีการทำเหมืองแร่ดีบุกที่ใช้วิธีการร่อนแร่บริเวณริมน้ำ โดยใช้แท่งขวานหินขนาดใหญ่ดังกล่าวเป็นเครื่องมือช่วยโกยดินหินทรายและแร่บริเวณริมตลิ่ง ต้นน้ำบริเวณคลองท่าไม้แดงนั้นน้ำไหลแรงมากในฤดูน้ำและสามารถหลากลงได้เร็วจนเกิดภาวะน้ำท่วมได้เสมอ การเดินทางข้ามคาบสมุทรในบริเวณนี้จึงอาจจะใช้เส้นทางลงสู่ลำคลองไชยาได้หลากหลายตามแต่ความสะดวก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการสำรวจพื้นที่ให้แน่ชัดต่อไปอีกตามความเหมาะสม

 

ขวานหินมีบ่า ขนาดความยาว ๔๙ เซนติเมตร พบที่ริมคลองท่าไม้แดง1

จากนั้นเดินทางตามแนวคลองท่าไม้แดงไปสมทบกับคลองไชยา ต้องเดินทางผ่านลำน้ำที่เป็นบริเวณเมืองไชยาในยุคต่อมา บริเวณนี้อาจจะเดินเท้าหรือใช้เรือเดินทางออกปากน้ำคลองไชยาที่บ้านดอนประดู่ แล้วเลียบอ่าวเพื่อวกเข้าแหลมโพธิ์ที่ปากน้ำท่าชนะ ล่องตาม คลองท่าชนะ ผ่านพุมเรียงขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ เลียบขนานชายหาดฝั่งทะเลด้านนอกและสบกับคลองท่าม่วงหรือคลองประสงค์ใช้ระยะตามลำคลองจนถึงปากคลองท่าชนะด้านเหนือราว ๒๐-๒๕ กิโลเมตร ตามแนวนี้ทั้งสองฝั่งถนนของชาวบ้านเลียบ เขาประสงค์ จากแนวปากคลองท่าชนะ คือบริเวณที่มีการผลิตลูกปัดและสินค้าทรงคุณค่าต่างๆ โดยแหล่งที่พบตั้งอยู่บริเวณ ‘สันทรายเก่า’ ที่เป็นทรายคุณภาพในระดับทรายแก้ว [Glass sand] ทีเดียว โดยพื้นที่แหล่งผลิตอยู่บริเวณชายเนินลาดเชิงเขาใหญ่หรือเขาประสงค์ อาณาบริเวณทั้งหมดของพื้นที่ทำงานหัตถศิลป์ต่างๆ เหล่านี้มีเนื้อที่เท่าไหร่นั้นยังไม่ชัดเจน ต้องสำรวจละเอียดให้ทั่วบริเวณ แต่ชาวบ้านกล่าวว่า พื้นที่แทบทุกแห่งที่พบโบราณวัตถุนับจากชั้นดินด้านบนลงไปจนถึงชั้นทรายละเอียดด้านล่างไม่เกิน ๑-๑.๕๐ เมตร ด้านล่างชั้นทรายไม่มีโบราณวัตถุปนอยู่แล้ว

วัตถุสิ่งของที่แสดงถึงการเป็นแหล่งผลิตลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติและลูกปัดแก้ว ซึ่งพบว่ามีการทำลูกปัดเป็นรูปสัญลักษณ์และรูปสัตว์สัญลักษณ์มงคลต่างๆ แบบที่นิยมในช่วงต้นพุทธกาลและพบเช่นเดียวกันกับที่เขาสามแก้วจนเป็นเอกลักษณ์และมีจำนวนมากซึ่งอยู่ในการเก็บรักษาของนักสะสม  

อีกทั้งยังพบชิ้นส่วนของรอกทดแรงทำจากดินเผา ชิ้นส่วนของลูกปัดหินที่ยังคงมีหัวเหล็กหักค้างสำหรับเจาะ ซึ่งน่าจะตรวจดูว่าที่ด้านปลายเป็นหัวเจาะทำจากเพชรหรือไม่ แม่พิมพ์สำหรับขึ้นรูปแหวนที่มีการประทับรูปสัญลักษณ์แบบนันทิยาวัตตะหรือตรีรัตนะ และวัตถุอื่นๆ จำนวนมาก โดยลูกปัดหินจากแถบท่าชนะนี้ได้ชื่อว่ามีความใส สวย สะอาดหรือที่เรียกในหมู่นักสะสมว่ามีน้ำงาม

 

ต้นน้ำคลองท่าไม้แดง ก่อนไหลมารวมกับคลองไชยา

หน้าที่ 8/10

ยังมีการพบชิ้นส่วนแม่พิมพ์ต่างๆ ที่ยังไม่ทราบรูปแบบ เครื่องทองต่างๆ ทั้งที่ทำแบบตันและกลวง บางชิ้นทำแบบแท่งกลวงและใช้การขึ้นรูปถักร้อยที่หลายชิ้นแทบจะเหมือนแบบเดียวกับทางภูเขาทองฝั่งอันดามัน ซึ่งแสดงถึงการเดินทางติดต่อกันอย่างแน่แท้ระหว่างฝั่งอันดามันทั้งที่เขมายี้และภูเขาทองกับทางท่าชนะ แหวนทองคำที่มีหัวแหวนเป็นหินกึ่งรัตนชาติ หัวธนูทำจากสำริด ชิ้นส่วนของเบี้ยทำจากกระดองเต่าที่อาจใช้ในการเล่นสกา เศษเครื่องปั้นดินเผาแบบฮั่นที่มีลายประทับต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งน่าจะมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๘ เศษภาชนะแบบราชวงศ์ถังในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เพราะก็อยู่ไม่ห่างจากแหลมโพธิ์ที่อ่าวบ้านดอน ซึ่งพบเศษภาชนะในยุคสมัยนี้เป็นจำนวนมาก และเครื่องประดับรูปพระจันทร์เสี้ยวและดาวที่เป็นรูปสัญลักษณ์ในทางศาสนาอิสลามและนิยมกันมากในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑

นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือการพบชิ้นส่วน ‘ลูกปัดแก้วที่มีฟอยล์สีทองด้านใน' [Gold-foil glass bead] เป็นรูปเทพปกรณัมแบบกรีก-โรมัน ซึ่งเป็นเทคนิคการทำลูกปัดฟอยล์สีทองในยุคแรกอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๗

มีการพบกลุ่มพระพิมพ์จำนวนหนึ่งในชั้นดินที่อยู่ในบริเวณที่ราบริมน้ำใกล้เชิงเขา และพบที่เดียวในบริเวณท่าชนะที่มีการประดิษฐานพระพุทธรูปและร่องรอยของพระพุทธรูปหินทรายแบบไชยาตอนปลายในถ้ำเขาประสงค์ ซึ่งมีถ้ำลักษณะเช่นนี้กว่า ๒๐ แห่ง ซึ่งมีการแตกหักเสียหายทั้งหมด เป็นการพบพระพิมพ์ที่ไม่ได้นำไปใส่ไว้ตามถ้ำเพราะอาจแตกหักเสียหายมาแต่ในอดีตแล้ว เป็นพระพิมพ์เนื้อดินพิมพ์พระพุทธเจ้าปางสมาธิ และประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่นบัลลังก์และอาจมีพระพุทธเจ้าห้าพระองค์โดยรอบ ซึ่งเป็นพระพิมพ์แบบศรีวิชัยที่พบในแถบพุนพินและควนสราญรมย์ที่อยู่ต่อเนื่องในเขตอ่าวบ้านดอนลงไป นอกจากนี้บริเวณใกล้กันยังพบเหรียญเพนนีทองแดงในระดับชั้นดินใกล้กัน พบการเขียนสลักลงในเนื้อเหรียญเป็นภาษาอังกฤษที่อาจมีอายุไม่มากนักและอาจเรียกว่าเป็น Luck Penny แสดงให้เห็นถึงความปะปนการใช้งานในพื้นที่บริเวณเขาประสงค์และท่าชนะที่อาจมีการขุดค้นหาของเก่ามาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๒๐๐ ปีก็ได้ เพราะเขาประสงค์เป็นจุดผ่านหรือจุดแวะพักของนักเดินทางชาวเรือมาตลอดทุกยุคสมัย ดังที่พบวัตถุที่มีความแตกต่างหลากหลายที่มา ความเชื่อและช่วงเวลา จนการเดินทางทางทะเลนั้นเลิกไปเมื่อราวร้อยปีก่อน

ความสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้บริเวณในโรงเรียนท่าชนะห่างจากปากน้ำหาดสวนสนราว ๕ กิโลเมตร ที่พบแนวพื้นที่สี่เหลี่ยมบางส่วนที่น่าจะเป็น Citadel ของชุมชนโบราณอีกแห่งหนึ่ง เพราะพบศาสนวัตถุแบบฮินดู พบเอกมุขลึงค์และเศียรพระวิษณุซึ่งมีแนวคิ้วต่อกันแบบการรับรูปแบบทางวัฒนธรรมที่นิยมสร้างพระพุทธรูปแบบยุคทวารวดีทางภาคกลาง และอาจจะมีเทพอื่นๆ ที่สวมเครื่องประดับศีรษะแบบเทริดขนนก โดยน่าจะมีความร่วมสมัยกับชุมชนพุทธศาสนาที่เมืองไชยาในยุคสมัยศรีวิชัยแรกๆ หรือในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔

บริเวณนี้อาจจะเป็นลักษณะของชุมชนช่างฝีมือที่แบ่งออกมาจากทาง ‘เขาสามแก้ว’ หรือจากกลุ่มช่างทางแถบ ‘บางกล้วย/ภูเขาทอง’ หรือแถบ ‘เขมายี้’ ทางฝั่งอันดามัน แต่ทั้งหมดนี้คือช่างฝีมือที่มีฝีมือและแนวคิดในการผลิตสิ่งของที่เป็น เครือข่ายแบบเดียวกัน เดินทางข้ามไปมาในระหว่างคาบสมุทรโดยการพึ่งพิงชุมชนและผู้คนในกลางแผ่นดินตามแถบเทือกเขาและที่สูงและตามลำน้ำ โดยใช้พาหนะที่แน่นอนคือ ‘เรือขุด’ และการเดินทางด้วย ‘ช้าง’ อาจจะสั่งนำวัตถุดิบขนส่งมาจากแหล่งเดียวแล้วแจกจ่ายออกไป 

ช่างฝีมือแถบ ‘ท่าชนะ’ อาจจะพิถีพิถันคัดเลือกวัตถุดิบได้ดีกว่าหรือมีโอกาสมากกว่า จึงสามารถผลิตชิ้นงานที่ดูสวยงามกว่าเล็กน้อยก็เป็นได้ และบริเวณนี้ยังสามารถเดินทางเข้าสู่ดินแดนที่มีแหล่งทรัพยากรภายในที่รอบอ่าวบ้านดอนไปยังต้นน้ำพุมดวงและแม่น้ำตาปี ซึ่งพบร่องรอยของการเป็นแหล่งแร่ดีบุก โดยที่พบมโหระทึกทางด้านในแถบริมแม่น้ำพุมดวงที่อำเภอพุนพินและที่ไชยารวมทั้งด้านหลังเขาหลวงที่ฉวาง ส่วนบริเวณริมชายฝั่งทะเลนั้นก็พบด้านหน้าเขาหลวงตั้งแต่ที่สิชล ท่าศาลา จนถึงแถบอำเภอเมืองบ้านท่าเรือ และเรื่อยลงมาจนถึงจะนะและตรังกานู

กลุ่มพิเศษ

อย่างไรก็ตาม พื้นที่อีกบริเวณหนึ่งที่น่าสนใจและอาจจะเป็นกลุ่มที่มีอายุร่วมสมัยในราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ หรือหลังจากนั้น ในบริเวณช่วงต้นของแผ่นดินบกที่ทะเลสาบสงขลาด้านบนที่พบหลักฐานประเภทลูกปัดที่ทำจากหินกึ่งมีค่า ใกล้ชายฝั่งทางอ่าวไทย เช่น ที่ริมคลองบ้านโคกทอง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นคลองขุดเชื่อมชายฝั่งทะเลอันดามันและทะเลสาบสงขลา เป็นเส้นทางเก่าที่ใช้มาโดยตลอดทุกยุคสมัย การพบหลักฐานในยุคสุวรรณภูมิ แสดงถึงในบริเวณที่ต่ำลงมาจากแนวคอคอดกระ 

โดยบริเวณนี้น่าจะผ่านไปทางเขาปู่เขาย่าในจังหวัดพัทลุง ข้ามเขาผ่านไปยังอำเภอนาโยงและอำเภอห้วยยอด ในย่านนี้มีแหล่งทรัพยากรที่เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่อยู่บริเวณเทือกเขาหินปูน ริมแม่น้ำตรังหลายแห่ง โดยน่าจะเป็นแหล่งทรัพยากรดีบุก และสัมพันธ์กับคลองท่อมที่น่าจะเป็นเมืองท่าการค้าขนาดใหญ่ในยุคคาบเกี่ยวกับยุคสุวรรณภูมิ ราวพุทธศตวรรษที่ ๒-๗ และหลังจากนั้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ที่มีความเคลื่อนไหวทางการค้าและสร้างผลผลิตมากในแถบคอคอดกระและคลองท่อมเติบโตขึ้นแทนที่ในยุคต่อมา และน่าจะเป็น เมืองท่าตักโกลา ที่เจริญขึ้นมาจนกลายเป็นเมืองท่าแบบเอมโพเรียอย่างเต็มที่ ทดแทนเมืองกึ่งก่อนเมืองท่าในบริเวณคอคอดกระในยุคที่ปโตเลมีบันทึกไว้ราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ แล้ว

อีกประการหนึ่งก็คือ ความสำคัญของแร่ธาตุในภูมิภาคนี้ น่าจะเป็นความขึ้นชื่อของแหล่งทรัพยากรสำคัญในบริเวณคาบสมุทรและแผ่นดินภายใน โดยเฉพาะพื้นที่ในประเทศไทย ที่มักพบแหล่งโบราณคดีที่ใช้ขวานหินขนาดใหญ่ หรือขวานจงอยปากนกหรือขวานผึ่งขนาดยาวใหญ่ ในบริเวณพื้นที่ภายในภูเขาหรือเทือกเขาต่างๆ และเป็นแหล่งที่มีทรัพยากร เช่น ดีบุกที่มากับลำน้ำตามธรรมชาติ โดยการใช้เครื่องมือหินขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นหลักในการผลิตเพื่อร่อนแร่แบบเก่าแก่ที่สุดที่ยังไม่ต้องใช้เครื่องทุ่นแรงอื่นๆ ในการผลิต  

จากการศึกษาพื้นที่และโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบในบริเวณคอคอดกระและเส้นทางต่างๆ มีข้อเสนอและสรุปได้ว่า แม้จะมีกลุ่มเส้นทางข้ามคาบสมุทรหลายแห่ง และจัดกลุ่มได้ในแนวระนาบที่ต่างกัน และเกิดขึ้นเหลื่อมเวลากันเล็กน้อย เมื่อวิเคราะห์จากหลักฐานที่ปรากฏ แต่จดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่นหรือฮั่นซูกล่าวถึงการเดินทางข้ามคาบสมุทรและเรียกเมืองท่า ที่ในทางระดับของความเจริญน่าจะเป็นเมืองท่ายุคแรกเริ่มที่ก่อตัวและสัมพันธ์กันอย่างหลวมๆ ซึ่งยังไม่มีระบอบราชามหากษัตริย์ แต่ก็เป็นเมืองท่านานาชาติในระดับที่มีผู้ควบคุม ซึ่งตรงนี้ควรหารูปแบบทางระดับสังคมเพื่ออธิบายในความสัมพันธ์เหล่านี้ แต่ก็รูปแบบบ้านเมืองแบบเมืองท่าแบบ Thalassocracy ในยุคเริ่มแรกก็ได้ 

หน้าที่ 9/10

กลุ่มแรกที่เกิดเส้นทางข้ามคาบสมุทรคือจากปากคลองท่าตะเภาริมฝั่งอ่าวไทยถึงเขมายี้ในสหภาพเมียนมา เป็นเส้นทางเริ่มแรก ในฮั่นซูเรียกบริเวณที่เป็นชุมชนเมืองหรือเมืองท่าทางฝั่งอ่าวไทยว่า เซินหลี่ [Shin-li]

กลุ่มที่สองที่เป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรในยุคต่อมาคือเส้นทางบริเวณปากน้ำหลังสวน เขาเสก คลองพะโต๊ะที่ตัดข้ามไปยังเมืองใกล้ชายฝั่งอันดามันที่คลองบางกล้วยในจังหวัดระนอง เมืองบริเวณนี้อยู่ในที่สูงของชายตลิ่ง เป็นเนินสูงจากแนวลำน้ำที่ต่อเนื่องออกไปทะเลได้ บางส่วนก็มีการขุดคูคันสูงป้องกันได้รอบด้าน และไม่ไกลจากปากคลองบางกล้วยที่พบเรือจมที่ปากคลองอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๕ และน่าจะเป็นเรือที่เหลือหลักฐานปรากฏว่ามีอายุเก่าที่สุดลำหนึ่งในเอเชียทีเดียว  

เมืองที่คลองบางกล้วย ในจังหวัดระนองอาจจะเรียก  ฟู-กัน-ตู-ลู [Fu-kan-tu-lu] ในฮั่นซูได้อย่างยิ่ง ซึ่งการเดินทางที่บันทึกไว้ในฮั่นซูเมื่อ พ.ศ. ๔๓๒ ที่ใช้เวลาเดินทางจากเซินหลี่ซึ่งเป็นการเดินทางทางบกหรือข้ามคาบสมุทรราว ๑๐ วัน บริเวณเมืองที่ริมคลองบางกล้วยก็น่าจะเป็นไปได้มาก เพราะเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สามารถเดินทางข้ามคาบสมุทรและแลกเปลี่ยนทรัพยากรได้หลายทิศทาง เช่นทางต้นน้ำพะโต๊ะและคลองพะโต๊ะสู่ปากน้ำหลังสวนและข้ามสู่คลองปากหมาก ไชยาและท่าชนะ ซึ่งสามารถติดต่อกับชุมชนทรัพยากรภายในที่เทือกเขาหลวงได้ตามทิศทางของแม่น้ำตาปีและแม่น้ำพุมดวง รวมทั้งสามารถเดินทางออกสู่ทะเลในอ่าวไทยที่จะเลียบชายฝั่งสู่ปากน้ำต่างๆ และชุมชนภายในกลุ่มใหญ่ที่บริเวณเขาทะลุจนถึงปากน้ำตะโกและปากน้ำสวีได้อย่างสะดวกเช่นกัน

 

คำสำคัญ : สุวรรณภูมิ,เส้นทางข้ามคาบสมุทรโบราณ,คอคอดกระ,ดินแดนทองคำ

บรรณานุกรม

1สารัท ชลอสันติสุข, อภิรัฐ เจะเหล่า, ชาคริต สิทธิฤทธิ์. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ชุมพร เล่ม , สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช, ๒๕๕๗. 

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
อีเมล์: [email protected]
เจ้าหน้าที่วิชาการของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เริ่มทำงานกับมูลนิธิฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ ทำโครงการนำร่องร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่ง ก่อนทำงานศึกษาท้องถิ่นร่วมกับชาวบ้าน และปัจจุบันกลับมาสนใจศึกษางานโบราณคดี
หน้าที่ 10/10