กรณีศึกษาพระพุทธรูปศิลาสมัยก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาของ น. ณ ปากน้ำ ย้ำหลักฐานถึงอโยธยา
กรุงศรีอยุธยาเป็นลักษณะของเมืองน้ำ มีการออกแบบแนวคูคลองที่ทั้งใช้ประโยชน์ในการคมนาคม และเป็นการระบายน้ำในหน้าน้ำหลากด้วย ทำให้ผังเมืองอยุธยามีแม่น้ำลำคลองจำนวนมากเป็นเครือข่ายโยงใยกันทั้งนอกเมืองและในเมืองขนานไปกับแนวคูคลอง
‘กรณีศึกษาพระพุทธรูปศิลาสมัยก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา ของ น. ณ ปากน้ำ
ย้ำหลักฐานถึงอโยธยา’
พรเทพ เฮง
แผนที่แสดงขอบเขตเกาะเมืองอยุธยา
เกาะเมืองอยุธยา ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีพื้นที่ประมาณ ๔,๘๐๐ ไร่ ลักษณะของเกาะเมืองเป็นไปตามสภาพของแม่น้ำที่กัดเซาะแผ่นดินมีรูปร่างไม่แน่นอน บางครั้งมีผู้สันนิษฐานว่า มีลักษณะคล้ายน้ำเต้า
แรกเริ่มแต่เดิมกำแพงเมืองเป็นคันดินและมีเสาไม้ระเนียด ต่อมามีการเปลี่ยนเป็นกำแพงอิฐในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. ๒๐๙๑ – ๒๑๑๑) และถูกทำลายในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ รวมทั้งมีการรื้อถอนกำแพงเมืองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อนำอิฐมาใช้ ในการก่อสร้างที่กรุงเทพฯ และป้องกันไม่ให้มีการใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นที่ซ่องสุมผู้คนอีกต่อไป
กรุงศรีอยุธยาเป็นลักษณะของเมืองน้ำ มีการออกแบบแนวคูคลองที่ทั้งใช้ประโยชน์ในการคมนาคม และเป็นการระบายน้ำในหน้าน้ำหลากด้วย ทำให้ผังเมืองอยุธยามีแม่น้ำลำคลองจำนวนมากเป็นเครือข่ายโยงใยกันทั้งนอกเมืองและในเมืองขนานไปกับแนวคูคลอง คือถนนที่เป็นทั้งถนนดินและถนนปูอิฐ โดยมีสะพานสร้างข้ามคลองทั้งสะพานไม้และสะพานก่ออิฐมากกว่า ๓๐ แห่ง
สำหรับโบราณสถาน เท่าที่สำรวจพบแล้วทั้งภายในเมืองและนอกกำแพงเมืองมีมากกว่า ๔๒๕ แห่ง แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะโบราณสถานที่สำคัญ และอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาพื้นที่ ๑,๘๑๐ ไร่ ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ใจกลางเกาะเมืองและพื้นที่ด้านทิศเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมือง มีโบราณสถานที่สำรวจพบแล้วทั้งสิ้น ๙๕ แห่ง
ทำเลที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาที่มีลักษณะเป็นเกาะเมืองมีแม่น้ำที่สำคัญ ๓ สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน รวมทั้งเป็นชุมทางคมนาคม และเป็นปราการธรรมชาติในการป้องกันข้าศึก ศัตรู กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นราชธานีใหญ่สามารถกุมอำนาจเหนือเมืองใกล้เคียงเป็นเวลานาน
กรุงศรีอยุธยายังมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านการปกครอง กฎหมายการศาล ระบบสังคม การศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ประณีตศิลป์ ภาษาวรรณกรรม และ นาฏดุริยางคศิลป์ วิทยาการทุกแขนง ที่คนไทยในอาณาจักรอยุธยาสั่งสมไว้นั้น เป็นอารยธรรมที่กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ยึดถือเป็นแบบแผน
ในแง่มุมของการบุกเบิกและทำการสำรวจตามระเบียบแบบแผนการวิจัยอย่างเป็นทางการ รายงานภาคสนามบันทึกการสำรวจวัด โบราณสถาน และโบราณวัตถุในอยุธยาด้วยภาพถ่ายและภาพวาดลายเส้น โดย อาจารย์ น. ณ ปากน้ำและคณะ ตามโครงการของคณะกรรมการจัดงานอนุสรณ์อยุธยา ๒๐๐ ปี ถือว่าเป็นบันทึกหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาที่นำมาใช้เป็นหลักฐานทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอของการทำงานเชิงวิจัยในรุ่นหลังๆ โดยเฉพาะการสื่อสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีกับสาธารณชนหรือบุคคลทั่วไปผ่านการนำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือ ‘ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา’
สำหรับประเด็นสำคัญที่ไม่ค่อยมีการหยิบมากล่าวถึงในชั้นหลังกันมากนัก คือ กรณีศึกษาพระพุทธรูปศิลาสมัยก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาของ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ
อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ มีความเห็นว่า พระพุทธรูปศิลา หรือหินทรายทั้งหมดเป็นงานก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา หากจะทำกันอยู่บ้างในสมัยอยุธยาตอนต้นก็เป็นส่วนน้อย โดยใช้ทฤษฎีศิลปะร่วมสมัยเข้ามายืนยันถึงหลักฐานและความเชื่อนี้ว่า ในสมัยบายนตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เขมรหันมา สร้างพระพุทธรูปจากสำริดมากขึ้น ทำให้พระพุทธรูปศิลาหมดความนิยมลงไป ดังนั้นพระพุทธรูปศิลาซึ่งพบที่กรุงศรีอยุธยาทั้งหมด ควรเป็นของมีมาก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยเรียกว่า ศิลปะอโยธยา ซึ่งมีอายุร่วมสมัยศิลปะอู่ทอง
อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) ที่วัดสามวิหาร
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒
ที่มา: วารสารเมืองโบราณ-มากกว่าความคิดถึง บันทึกถึงอาจารย์ยูร
วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๓ เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ปี พ.ศ. ๒๕๒๖
ที่มา: Issuu-Muangboran Journal
น. ณ ปากน้ำ เป็นนามปากกาใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีของอาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ ยืนยันถึงทฤษฎีเกี่ยวกับพระศิลาที่พบในอยุธยาว่า เป็นพระที่มีมาก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา มิใช่จำหลักขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททองตามที่กล่าวอ้างกันแต่ประการใด โดยได้เสนอหลักฐานและข้อมูลใหม่ๆ ที่ค้นพบมาสนับสนุนความเชื่อนี้ ในบทความเรื่อง 'พระพุทธรูปสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา' ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๓ เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ปี พ.ศ. ๒๕๒๖
อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้เขียนในบทความไว้ว่า คำว่า ก่อนอยุธยา ประสงค์จะกล่าวถึงพระพุทธรูปรุ่นก่อนกรุงศรีอยุธยาเพียงเล็กน้อย เช่น สมัยอโยธยา สมัยอู่ทอง หรือสุพรรณภูมิ หรือสมัยลพบุรี ซึ่งมีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึง ๑๙ เป็นสำคัญ
อาจารย์ประยูร ย้ำในบทความว่า 'การศึกษาเรื่องพระพุทธรูปนั้น ข้าพเจ้าเคยกล่าวมาหลายครั้งแล้วว่า เราจะดูแต่สิ่งที่มีอยู่อย่างเดียวนั้นมิได้ จะต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีและวิชาการในด้านศิลปะร่วมสมัยเป็นเกณฑ์... '
'...ข้าพเจ้ายังขอยืนยันซ้ำอีกว่า ในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่มีแสนยานุภาพที่เก่งฉกาจสามารถทำลายอาณาจักรนครหลวงของขอมลงได้สำเร็จ สมัยอยุธยานี้ไม่มีพระศิลาเช่นเดียวกัน โดยให้สังเกตจากพระพุทธรูปสำคัญสมัยอยุธยาตอนต้น หรือก่อนอยุธยาเล็กน้อยล้วนเป็นพระโลหะทั้งสิ้น ดังเช่นพระพุทธรูปพนัญเชิง พระมงคลบพิตร พระศรีสรรเพชญ์ พระยืนสำริดหุ้มทองคำขนาดใหญ่ พระประธานวัดธรรมิกราช ฯลฯ ล้วนพระสำริดทั้งสิ้น
วัดสมัยอยุธยาตอนต้น ถ้าพระประธานไม่ทำด้วยสำริดก็จะทำด้วยปูนปั้น เช่น วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ (ในอุโบสถ) วัดพุทไธสวรรย์ วัดกุฎีทอง วัดวรเชษฐาราม การที่อยุธยาเต็มไปด้วยพระศิลาเกลื่อนกลาดก็เนื่องจาก ณ สถานที่นี้เป็นนครเก่าแก่สืบมาตั้งแต่สมัยทวารวดี อโยธยา และอยุธยา เคยรุ่งโรจน์มาแต่ละสมัยทัดเทียมกัน จึงเหลือพระศิลาจำนวนมาก
ผู้ที่คุ้นเคยกับการเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถ้าไปสังเกตในห้องศิลปะทวารวดีจะพบว่า พระศิลามหึมาจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของห้อง ล้วนเอาไปแต่อยุธยาทั้งสิ้น แสดงว่าอยุธยาเป็นแหล่งสำคัญของวัฒนธรรมรุ่นทวารวดีมาก่อน และสำคัญไม่แพ้แห่งใดทั้งสิ้น
พระพุทธรูปทวารวดีขนาดใหญ่ที่พบยังวัดขุนพรหม และวัดหน้าพระเมรุ (เอามาจากวัดมหาธาตุ สมัยรัชกาลที่ ๓) สิ่งเหล่านี้เป็นของเดิมของอยุธยา มิได้เอามาแต่ไหน ถ้าไปดูพระพุทธรูปทวารวดีที่วัดหน้าพระเมรุ จะพบว่าเป็นพระพุทธรูปแบบสลักนูนสูง (high-relief) คนละแบบกับที่นครปฐม แม้จะมีขนาดใหญ่เท่ากันก็ตาม
เรื่องขนาดนี้เป็นเรื่องแปลก ได้พบฐานบัวที่รองพระบาทพระนั่งห้อยพระบาทที่อยุธยา นครปฐม กับที่เมืองเสมา อำเภอสูงเนิน โคราชจำนวนมากมาย ล้วนเป็นขนาดเดียวกันทั้งสิ้น บ่งถึงอิทธิพลของศิลปะร่วมสมัยโดยแท้ แต่มิใช่เป็นนครเดียวกันอย่างแน่นอน การที่เจ้าหน้าที่เอาพระศิลาสีขาวมาต่อเติมโดยเก็บเศษมาจากที่อื่นจนครบองค์ ก็เพราะขนาดเท่ากันนั่นเอง แต่ต่อแล้วยังเหลืออีกแยะ เขาไม่พูดถึง เพราะถ้าพูดก็ต้องบ่งว่าเป็นของคนละที่กัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องตลกทางโบราณคดีอย่างหนึ่ง...'
อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้เขียนกล่าวถึงคตินิยมซึ่งเอาพระเก่าเป็นศิลามาปะติดปะต่อจนครบองค์ แล้วซ่อมปฏิสังขรณ์จนบริบูรณ์นี้ มีแจ้งอยู่ในศิลาจารึกหลักที่สอง หรือจารึกวัดศรีชุม ซึ่งกล่าวถึงสมเด็จเจ้าศรีศรัทธาราชจุฬามุนี ได้ทำการกุศลปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ทั่วเมืองไทย และเข้าไปปฏิสังขรณ์วัดสลักหักพังในป่าดง ทั้งยังเข้าไปปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุหลวงอันสูงถึงเก้าสิบห้าวา แล้วก่อทับปฏิสังขรณ์ใหม่สูงถึงร้อยสองวา ขอมเรียกว่า พระธม ซึ่งสถิตย์กึ่งกลางนครพระกฤษณ์
'…พระธมก็คือ พระประธม ซึ่งคนไทยก็เรียกเช่นนี้ นครพระกฤษณ์ ก็คือนครทวารวดีนั่นเอง พระมหาธาตุซึ่งเจ้าศรีศรัทธาราชจุฬามุนีไปปฏิสังขรณ์ก็คือ องค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเรียกว่า พระประธม การนั้นทำงานกลางป่า ยากลำบากหาปูนไม่ได้ แต่ภายหลังก็สามารถหาได้จำนวนมากด้วยปาฏิหาริย์...'
จารึกหลักที่สอง หรือจารึกวัดศรีชุม อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้บอกไว้ชัดเจนว่า การบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปเป็นประเพณีที่นิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว
'...เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นบนเกาะอันมีเมืองเก่าแก่ซับซ้อนกันมานานตั้งแต่ยุคร่วมสมัยกับทวารวดีกับสมัยอโยธยา แล้วรกร้างอีกจวบจนสมัยกรุงศรีอยุธยา พอสถาปนาเมืองใหม่ก็รวบรวมเอาพระศิลามาติดต่อเป็นองค์เอามาประดิษฐานไว้ที่วิหารต่างๆ จำนวนมาก และก็คงทำกันเรื่อยมา คือเมื่อแสวงหาพระศิลาเก่าแก่มาได้ ก็เอามาต่อแล้วปั้นปูนปฏิสังขรณ์ให้บริบูรณ์ไว้
พระพุทธรูปทวารวดีขนาดใหญ่สลักนูนสูง (high-relief)
ที่วัดหน้าพระเมรุ
วัดมหาธาตุ จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
เหตุนี้วัดมหาธาตุ ซึ่งสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นจึงเต็มไปด้วยพระศิลา มีทั้งสมัยทวารวดีขนาดใหญ่จำนวนมาก (มีเอกสารอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) และพระศิลาสมัยอู่ทองหรืออโยธยาจำนวนมาก รวมทั้งเศียรพระพุทธรูปขนาดมหึมาอันตั้งบนวิหารหลวงก็มีหลายสมัย ทั้งทวารวดี อโยธยา กับลวดลายจำหลักประกอบฐานชุกชีโบราณจำนวนมาก บางชิ้นของลวดลายเอาไปติดกับผนังหุ้มกลองหลังพระประธานก็มี บัดนี้กรมศิลปากรรื้อหมดแล้ว พระศิลาบางองค์ที่หาส่วนประกอบไม่ได้ก็เอาไปยัดไว้ที่ผนังพระวิหารเห็นได้ชัด (กรมศิลปากรก็เอาออกเสียอีก)
ข้าพเจ้ายังยืนยันและกล้าที่จะยืนยันในหลักการนี้ตลอดไป และการที่มีผู้อ้างว่ามีการจำหลักพระศิลาในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ด้วยว่าพระเจ้าปราสาททองไปตีเขมร เลยเอาแบบอย่างศิลปะเขมรมานั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องตลกสี่ดาวในวงการศิลปะของโลก เป็นไปได้อย่างไรกัน แบบที่เอามาจากเขมร คือที่นครหลวงก็เอามาแค่หน้าต่างและแบบแผนเป็นชั้นๆ เท่านั้น หรือที่วัดไชยวัฒนาราม ก็เอาแบบหน้าต่างลูกมะหวดหลอกเท่านั้น นอกนั้นเป็นไทยหมด วัดที่สร้างในสมัยปราสาททองก็มีวัดนี้ พระในพระระเบียงเป็นร้อยๆ องค์ล้วนเป็นพระปูนปั้นทั้งสิ้น
การเดาทางโบราณคดี ควรเลิกเดากันส่งเดชกันเสียที เป็นเรื่องน่าละอายที่สุด เป็นการทำลายประวัติศาสตร์อย่างยับเยินที่สุด คนที่เชื่อถือก็ยิ่งเลวหนักขึ้นไปอีก ไม่สนกับที่เกิดมาในสมัยที่วิชาความรู้เจริญรุ่งเรืองอย่างเต็มที่เช่นนี้
การศึกษาพระพุทธรูป เราจะต้องศึกษาถึงวิวัฒนาการทั้งรูปทรงและเทคโนโลยี ทั้งญาณทัศนะ เราได้เห็นพระปูนปั้นที่วัดไชยวัฒนารามจำนวนเป็นร้อยก็เห็นได้ชัดว่าเป็นพระสมัยอยุธยาและได้เห็นวิวัฒนาการต่อเนื่องกัน แต่การที่ไปชี้พระศิลาอันเกลื่อนกลาดในอยุธยาหรือที่ไหนๆ ว่าเป็นสมัยปราสาททอง หรือหลังปราสาททองนั้น เป็นความโง่อันบัดซบที่สุด สมัยนี้ไม่ควรเดาอย่างนั้น ด้วยขึ้นกับเทคโนโลยีและแบบแผนของศิลปะเป็นสำคัญ
เพราะมีตาก็หามีแววไม่ เราต้องรู้ดูให้ออกและให้เข้าใจในศิลปะ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น และมีวิวัฒนาการต่อเนื่องให้เห็นด้วย...'
นอกจากนี้ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้กล่าวถึงศิลปะอู่ทอง หรืออโยธยา หรือศิลปะสมัยก่อนอยุธยาว่า สมัยดังกล่าวนี้ การทำพระพุทธรูปมักทำขนาดใหญ่และจำหลักด้วยศิลา มีพระพุทธลักษณะคือ พระพักตร์กลมรี พระเนตรหรี่ พระขนงโค้งสวย พระโอษฐ์แบนสนิท มีพรายอยู่เหนือริมพระโอษฐ์เบื้องบน เส้นพระศกละเอียดมาก มีเส้นขอบไรพระศกเล็กน้อย พระรัศมี หรือศิรประภาแข็ง บางทีก็ดูเป็นปุ่มเป็นก้อน ลักษณะนี้แตกต่างกับพระพุทธรูปสมัยปราสาททองที่วัดไชยวัฒนารามอย่างมาก พระพุทธรูปที่มีพรายเหนือปากบน พบแบบนี้ที่อยุธยา ลพบุรี และศิลปะขอม
'…พระพุทธรูปที่วัดไลย์ ลพบุรี สมัยลพบุรี ก็เป็นแบบเดียวกับที่พรรณนามาแล้ว เหนือขอบปากมีรอยพรายปากด้วย มีเส้นไรพระศก มีเส้นพระศกเล็ก ข้อสำคัญพระสำริดรุ่นนี้ คือก่อนกรุงศรีอยุธยาเล็กน้อย จะมีเรือนแก้วอยู่ด้านหลัง เช่น พระพุทธชินราช พิษณุโลก วัดจอมคีรีนาคพรต ศิลปะสุโขทัย วัดพิชัยปุรณาราม ที่อุทัยธานี ศิลปะอโยธยา มีเรือนแก้วที่วิหารวัดพระธาตุ นครศรีธรรมราช เป็นต้น
พระพุทธรูปศิลาแบบรุ่นนี้เหมือนกันหมด ลักษณะคล้ายกัน เช่น วัดไลย์เหมือนวัดละมุด ที่วัดละมุดเคราะห์ดีที่เป็นพระทรงเครื่อง มีลวดลายที่ชฎาเทริดและกรองพระศอ ได้เห็นลายจำหลักศิลาเป็นลายอู่ทอง แบบเดียวกับที่ปรากฏบนใบเสมาอู่ทองทุกอย่าง ซึ่งเป็นลายเก่าแก่คนละแบบกับลายอยุธยาอย่างแน่นอน ทั้งหมดนี้ คือพระประธานองค์ใหญ่ ส่วนพระรองลงมา ใหญ่กว่าคนเล็กน้อย หรือขนาดเท่าคนจริง มักจะมีพระพักตร์กลมมน หน้าหวาน บางองค์มีเส้นพรายเหนือขอบริมพระโอษฐ์ องค์พระอ่อนหวานงดงามมาก นิ้วพระหัตถ์เป็นแบบธรรมชาติและงามเป็นลำเทียน ส่วนใหญ่มักหน้าแข้งคม ด้วยอยู่ร่วมสมัยกับศิลปะบายน เพราะสมัยบายนนั้น นิยมแบบแข้งคมมาก
เรื่องพระพุทธรูปสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งนักโบราณคดีรุ่นก่อนไม่เข้าใจ มักจะโยนเข้าไปในหมวดศิลปะอยุธยาเสียทั้งนั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะในสมัยอยุธยานั้น ไม่มีพระพุทธรูปศิลาเลยแม้แต่องค์เดียว ที่ปรากฏให้เห็นนับเป็นร้อยๆ องค์นั้น ก็เป็นการนำเอาของเก่ามาปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งสิ้น'
เมื่อลงไปสู่รายละเอียดถึงวัสดุและเทคนิคในการก่อสร้างพระพุทธรูปศิลา ศิลาที่นิยมนำมาใช้ในการทำพระพุทธรูป ได้แก่ หินทราย เพราะมีเนื้อละเอียด และสลักได้ง่าย รองลงมา ได้แก่ หินชั้นชนิดอื่นๆ หินชนวน และหินแกรนิต ในระยะหลังๆ ยังมีพวกหินสีต่างๆ ตระกูลควอตซ์ เช่น หินสีเขียวที่นำมา สร้างเป็นพระแก้วมรกต รวมทั้งหยกและหินอ่อน เทคนิคการสร้างพระพุทธรูปศิลานำมาใช้ทั้งในงานประติมากรรมนูนสูงและประติมากรรมลอยตัว ในศิลปะทวารวดี และศิลปะขอม ที่พบในประเทศไทย ตั้งแต่หลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงมา ในสมัยสุโขทัย ล้านนา และอยุธยา นิยมหล่อด้วยทองสำริดเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีการสลักศิลาปนอยู่บ้างในศิลปะอยุธยา และสกุลช่างพะเยาในล้านนา
ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้วิเคราะห์ถึงพระพุทธรูปสลักจากศิลา ไว้ในหนังสือ 'พระพุทธรูปในประเทศไทย' โดยเน้นว่าหลักฐานการค้นพบพระพุทธรูปที่สันนิษฐานว่าเป็นการสร้างขึ้นในดินแดนไทยระยะแรกลักษณะของพระพุทธรูปมีรูปแบบใกล้เคียงกับศิลปะอมราวดีอย่างมาก ได้แก่ พระพุทธรูปสลักจากศิลาสันนิษฐานว่ามาจากภาคใต้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพุทธรูปอิทธิพลศิลปะอมราวดี สันนิษฐานว่ามาจากภาคใต้?
ที่มา: พระพุทธรูปในประเทศไทย โดยศาสตราจารย์
ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์
พระพักตร์พระพุทธรูปชำรุด พระกรขวาหักหายไป แต่สิ่งสำคัญคือ พระกรซ้ายที่ยึดชายจีวรและยกขึ้นระดับพระอุระ เป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปอมราวดี รวมทั้งพระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาใหญ่แบนแนบกับพระเศียร ครองจีวรห่มเฉียง รูปแบบนี้มีลักษณะผสมระหว่างพระพุทธรูปอมราวดีและคุปตะ กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๑ อาจเป็นพระพุทธรูปรุ่นเก่าสุดที่พบหรือสร้างขึ้นในดินแดนไทย
พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะเขมรแบบนครวัด พบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี (ซ้าย)
พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะเขมรแบบบายน พบที่ลพบุรี (ขวา)
เศียรพระพุทธรูป ศิลปะลวะปุระหรือศิลปะลพบุรี
ในการศึกษาพระพุทธรูปเขมรที่พบในประเทศไทยจึงแบ่งตามลักษณะทางศิลปกรรมที่อิงกับศิลปะเขมร ซึ่งโดยรวมแล้ววัฒนธรรมเขมรมีแบบแผนที่แน่นอน เพราะฉะนั้น รูปแบบพระพุทธรูปจึงมีลักษณะเทียบเท่ากับศิลปะเขมรที่พบในดินแดนกัมพูชา จะมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่แสดงให้เห็นถึงงานช่างท้องถิ่นที่สร้างแทรกเพิ่มเติมเข้าไป พระพุทธรูปศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทยแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งพบตั้งแต่สมัยบาปวนถึงสมัยบายน ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปนาคปรก ปางสมาธิ กลุ่มที่ ๒ กลุ่มพระพุทธรูปสำริด ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องขนาดเล็ก อยู่ในสมัยนครวัดและบายน
การกำหนดเรียกศิลปะลพบุรีกับศิลปะเขมรที่พบในภาคอีสานจึงไม่ครอบคลุมพื้นที่ทางวัฒนธรรมอย่างยิ่ง อำนาจทางการเมืองและอิทธิพลทางศิลปะของเขมรได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะในภาคกลางของประเทศไทยที่เมืองลพบุรี ในช่วงหลังสมัยบายนและก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อย่างน้อยเป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปี ประกอบกับการได้ค้นพบหลักฐานทางศิลปกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะที่เกิดขึ้นอย่างใหม่ แม้ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมเขมร เช่น พระปรางค์ประธาน ปรางค์ หมายเลข ๑๖ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี เป็นต้น
กลุ่มพระพุทธรูปที่มีพัฒนาการต่างจากพระพุทธรูปเขมรแล้ว และได้พบหลักฐานว่าเมืองละโว้เคยส่งทูตไปยังเมืองจีนระหว่าง พ.ศ. ๑๘๓๒ – ๑๘๔๒ แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของความเป็นรัฐอิสระด้วย ด้วยเหตุนี้จึงขอเสนอให้มีการเรียกชื่อศิลปะในช่วงนี้ใหม่ เช่น อาจเรียกเป็น ศิลปะลพบุรี (ที่เมืองลพบุรี) และกำหนดระยะเวลาที่อยู่ในช่วงระหว่างการสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองของเขมรและก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (ระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙)
ศิลปะสมัยลพบุรีเกิดขึ้นบริเวณภาคกลางของประเทศไทยที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลพบุรีและบริเวณใกล้เคียง เป็นระยะเวลาที่วัฒนธรรมเขมรหมดลงไปแล้ว (กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘) จนถึงก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา (ในปี พ.ศ. ๑๘๙๓)
ช่วงเวลานี้ได้มีการสร้างงานศิลปกรรมอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งยังมีวิวัฒนาการมาจากอิทธิพลท้องถิ่นเดิม ได้แก่วัฒนธรรมทวารวดี แต่พบอยู่น้อยมาก ส่วนสำคัญได้แก่การสืบต่อมาจากศิลปะเขมรโดยเฉพาะแบบนครวัดและบายน ที่สืบต่อไปจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น และมาปรากฏหลักฐานการเรียกลักษณะของพระพุทธรูปว่า ‘พระลวะปุระ’ แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นที่เมืองลพบุรี จึงอาจเรียกศิลปกรรมในช่วงนี้ว่า ศิลปะลวะปุระหรือศิลปะลพบุรีได้
การวิจัยที่สำคัญอีกชุดที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของพระพุทธรูปหินทรายค่อนข้างละเอียด คือ 'แบบพระพักตร์พระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา' บทความในหนังสือ ‘ประทีปวิทรรศน์ : รวมเรื่องโบราณคดีอยุธยา’ ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นหนังสือที่คัดสรรผลงานทางวิชาการอันเป็นผลจากการศึกษา ค้นคว้า และประสบการณ์ความรู้ของนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ผู้ที่ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักโบราณคดีของกรมศิลปากรในพื้นที่พระนครศรีอยุธยามาอย่างยาวนานกว่า ๑๒ ปี ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ปัจจุบันความรู้เรื่องพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยายังไม่แน่ชัด ยังคงเป็นปัญหาถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการว่า พระพุทธรูปหินทรายควรจะเป็นงานที่ทำมาก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา หรืองานสมัยอยุธยาตอนต้น หรืองานสมัยอยุธยาตอนปลาย
'…ที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาก่อนเป็นราชธานีเป็นบริเวณที่ศิลปกรรมแบบลพบุรีเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ในขณะที่ศิลปะอู่ทองก็กำลังแพร่หลายอยู่ในขณะนั้น ดังนั้นงานประติมากรรมแห่งกรุงศรีอยุธยาระยะแรกจึงได้สืบต่อหรือรับอิทธิพลทางด้านรูปแบบจากศิลปะลพบุรี และศิลปะอู่ทอง ต่อมาศิลปะสุโขทัยซึ่งกำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ทางฝ่ายเหนือก็น่าจะมีอิทธิพลต่อประติมากรรมอยุธยาระยะแรกด้วย…'
สรุปจากการศึกษารูปแบบพระพักตร์พระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา สามารถแบ่งออกได้เป็น ๗ กลุ่ม ตามลักษณะอิทธิพล และแรงบันดาลใจจากศิลปกรรมหลายแบบมาผสมผสานกันจนเกิดลักษณะเฉพาะตามความนิยมแต่ละยุคสมัย สามารถสรุปได้ดังนี้
๑. เนื่องจากบริเวณเมืองพระนครศรีอยุธยาก่อนเป็นราชธานีเป็นบริเวณที่ศิลปกรรมแบบลพบุรีเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ดังนั้นจึงพบว่าพระพุทธรูปหินทรายในระยะก่อนและแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาได้รับอิทธิพล และแหล่งบันดาลใจจากศิลปะลพบุรีตอนปลาย คือวงพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระพักตร์ยิ้ม พระโอษฐ์กว้าง ริมฝีพระโอษฐ์บนเป็นมุมแหลมที่กึ่งกลาง พระมัสสุเป็นเส้นมีอยู่เสมอ พระนาสิกค่อนข้างสั้น พระเนตรเหลือบลง พระขนงเป็นเส้นนูนโค้ง เม็ดพระศกเป็นตุ่มเล็ก มีไรพระศกอยู่เหนือพระนลาฏ ได้แก่ แบบพระพักตร์พระพุทธรูปหินทรายที่จัดไว้เป็นกลุ่ม ก แบบที่ ๑ ซึ่งกำหนดอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐
การพัฒนาของแบบพระพักตร์พระพุทธรูปกลุ่ม ก เกิดจากการทำรายละเอียดภายในวงพระพักตร์ที่ได้รับแหล่งบันดาลใจจากศิลปะสุโขทัยเข้ามาผสมผสานมากบ้างน้อยบ้าง ดังปรากฏอยู่ในแบบพระพักตร์กลุ่ม ก แบบที่ ๒ ซึ่งกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ในระยะเดียวกันนี้อิทธิพลศิลปะพม่าแบบพุกามได้มีส่วนเป็นแรงบันดาลใจอยู่ด้วย คือ พระพุทธรูปกลุ่ม ก แบบที่ ๓
พระพุทธรูปปูนปั้นในจระนำทิศเหนือของปรางค์ประธานวัดพระราม
พระพักตร์แบบเดียวกับกลุ่ม ก แบบที่ ๒
เศียรพระพุทธรูปสำริด วัดธรรมิกราช พระพักตร์กลุ่ม ข ศิลปะอู่ทอง รุ่นที่ ๒
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
๒. ในระยะคาบเกี่ยวกับการทำพระพุทธรูปซึ่งมีแบบพระพักตร์กลุ่ม ก ก็มีการทำพระพุทธรูปซึ่งมีพระพักตร์รูปสี่เหลี่ยม คือ พระพุทธรูปกลุ่ม ข ซึ่งเกี่ยวข้องกับอิทธิพลศิลปะแบบอู่ทอง รุ่นที่ ๒ แม้ว่ารายละเอียดบนพระพักตร์ของพระพุทธรูปกลุ่มนี้จะไม่สามารถแยกออกจากพระพักตร์กลุ่ม ก อย่างชัดเจน แต่วงพระพักตร์ซึ่งเป็นสี่เหลี่ยมก็เกี่ยวข้องกับศิลปะอู่ทองยิ่งกว่าศิลปะลพบุรี โดยแบบพระพักตร์กลุ่ม ข กำหนดอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เช่นกัน
๓. ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ช่างชาวอยุธยาได้พัฒนาพระพุทธรูปที่มีการผสมผสานระหว่างลักษณะสำคัญในศิลปะลพบุรีกับศิลปะสุโขทัย ในปริมาณเท่าๆ กัน คือ พระพุทธรูปซึ่งจัดไว้เป็นกลุ่ม ค ซึ่งสามารถเทียบได้กับพระพุทธรูปแบบอู่ทอง รุ่นที่ ๓ ลักษณะสำคัญคือ พระโอษฐ์ พระมัสสุ และไรพระศก ทำตามแรงบันดาลใจในศิลปะลพบุรี ขณะที่วงพระพักตร์รูปไข่ค่อนข้างยาว พระนาสิก พระขนง และพระรัศมีทำตามแรงบันดาลใจในศิลปะสุโขทัย
๔. ในพุทธศตวรรษเดียวกันมีการทำพระพุทธรูปอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยมากกว่าศิลปะลพบุรีเล็กน้อย คือ พระพุทธรูปกลุ่ม ง ลักษณะวงพระพักตร์และรายละเอียดโดยรวมในพระพักตร์ทำตามแบบพระพุทธรูปกลุ่ม ค มีข้อแตกต่างแต่เพียงพระพักตร์ กลุ่ม ง ไม่ทำไรพระศก คือพยายามทำตามสุนทรียภาพแบบสุโขทัยมากกว่า ต่อจากนี้การสลักพระพุทธรูปหินทรายมีแนวโน้มลดลง
๕. ในระยะต่อมาช่างชาวอยุธยาพยายามสลักพระพุทธรูปหินทรายตามสุนทรียภาพแบบพระพุทธรูปสุโขทัยมากยิ่งกว่าแต่ก่อน โดยทำวงพระพักตร์รูปไข่ เทียบได้ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบสุโขทัยหมวดใหญ่ รวมทั้งลักษณะอย่างอื่น ได้แก่ พระโอษฐ์ พระนาสิก พระขนง พระรัศมี ทั้งนี้ยกเว้นพระมัสสุและไรพระศกซึ่งยังคงปรากฏอยู่บ้าง พระพุทธรูปกลุ่มนี้คือ พระพุทธรูปที่จัดไว้เป็นกลุ่ม จ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และน่าจะทำต่อเนื่องมาในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ด้วย
๖. พระพุทธรูปซึ่งทำแบบพระพักตร์รูปไข่คงจะทำสืบต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ด้วย อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ได้พบพระพุทธรูปบางองค์ซึ่งทำพระโอษฐ์ขนาดเล็กและยื่น ริมฝีพระโอษฐ์บางและยิ้ม ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลศิลปะลาวเข้ามาผสมอยู่ด้วย
๗. พระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยากลุ่มสุดท้าย คงทำกันในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ พระพุทธรูปกลุ่มนี้มีวงพระพักตร์รูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างยาว ส่วนบน (พระนลาฏ) กว้างกว่าส่วนล่าง พระโอษฐ์แม้ว่าจะอมยิ้มเล็กน้อย แต่วงพระพักตร์ก็ดูแข็งกระด้าง บางครั้งก็หันกลับไปทำไรพระศกอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยนี้ได้พบพระพุทธรูปหินทรายทรงเครื่องรวมอยู่ด้วย
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้วิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลในหนังสือ 'กรุงศรีอยุธยาของเรา' ว่า นครอโยธยาหรืออยุธยานี้ เป็นเมืองสำคัญในรัฐละโว้ หรือลวรัฐ ที่ดำรงอยู่มาแต่สมัยทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แต่ก่อนเมืองละโว้ หรือ ลวปุระ คือเมืองหลวงของรัฐ เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองมาหลายสมัย จนถึงตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงค่อยคลายความสำคัญลง ความเจริญเปลี่ยนมาอยู่ที่เมืองอโยธยาแทน เพราะอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางทางคมนาคมและเศรษฐกิจได้ดีกว่า
'…การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้น เมื่อบรรดารัฐและบ้านเมืองในภูมิภาคนี้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ เป็นระบบความเชื่อที่สำคัญ เมืองอโยธยาจึงเหมาะแก่การที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนานี้ได้ดี
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า บรรดาศาสนสถานในลัทธิพุทธศาสนามหายานที่พบที่เมืองละโว้ หรือลพบุรี ได้มีการนำเอารูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมแบบลพบุรี อาทิ ปราสาทแบบขอมมาดัดแปลงให้เป็นพระปรางค์และพระเจดีย์ขึ้นรูปหลายแบบเกิดคติการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นเป็นศาสนสถานอย่างที่มีในประเทศลังกาแพร่หลายเช่นเดียวกันกับบรรดารัฐอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เมืองอโยธยามีพระพุทธรูปวัดพนัญเชิง พระประธานวัดธรรมิกราช (เหลือแต่พระเศียร ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อยุธยา) เมืองสุพรรณบุรีมีพระพุทธรูปยืนกลางอรัญญิก และพระพุทธรูปประธานที่วัดศรีชุม เป็นต้น...'
หากสรุปสุดท้ายด้วยการสังเคราะห์ข้อมูลจาก 'ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา' ของ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ซึ่งแสดงถึงความรุ่งโรจน์เรืองรองของพระพุทธศาสนาแบบหินยานลังกาก่อนสุโขทัย
'...อยุธยามิใช่อาณาจักรอันผุดผ่องเกิดขึ้นใหม่ โดยขาดความสัมพันธ์กับอดีตอันลึกล้ำก็หาไม่ แท้จริง ในแอ่งอารยธรรมของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเนื้อที่ครอบงำไปยังจังหวัดต่างๆ คือ อยุธยา ลพบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี มีร่องรอยศิลปวัตถุและสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ยิ่งกว่าแหล่งใดทั้งหมดในแหลมทอง ซึ่งเป็นที่รู้จักอันดีในนามศิลปะทวารวดี อยุธยามรดกการสืบสายสัมพันธ์จากอดีตไปสู่วัฒนธรรมเก่าแก่อย่างนี้แน่นอน ให้สังเกตว่า มีการผนวกเอาชื่อทวารวดีเข้าไปในชื่อของอาณาจักรอยุธยาด้วย แสดงว่าย่อมสืบเชื้อสายกันมา
ทวารวดีเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดและมีชื่อเสียงโด่งดัง อย่างน้อยก็ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นต้นมา และที่รู้จักกันอย่างดีก็ตอนปรากฏในบันทึกของหลวงจีนเฮี้ยนจัง ซึ่งเป็นสมณะทูตจาริกเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในอินเดีย เมื่อพระพุทธศาสนากำลังรุ่งโรจน์อยู่ในชมพูทวีป อโยธยาสมัยโบราณมีอำนาจอันเกรียงไกรได้ทิ้งร่องรอยศิลปวัตถุไว้เกลื่อนทั่วอยุธยา ตลอดจนภาคกลางของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ละโว้ และสุพรรณบุรี ยังเหลือร่องรอยมากพอๆ กับอยุธยา พงศาวดารของอโยธยาปรากฏบันทึกไว้อย่างละเอียด
ตลอดในพระราชพงศาวดารที่เหลือ ซึ่งจากการสำรวจศิลปวัตถุในอยุธยาอย่างละเอียด ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า อโยธยาดูเหมือนจะเจริญยิ่งกว่าอยุธยาเสียอีก หลักฐานของศิลปวัตถุที่เหลืออยู่จำนวนมากมายเป็นประจักษ์พยานเพียงพอว่า อาณาจักรอโยธยาเคยเป็นเพชรน้ำเอกจรัสแสงรุ่งโรจน์ที่สุดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับอาณาจักรพุกามและอาณาจักรขอมที่ขนาบอยู่สองข้าง...
อโยธยา เป็นศูนย์กลางความรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนาแบบหินยานลังกาก่อนสุโขทัย นับเป็นศตวรรษที่พระพุทธศาสนาจากลังกาได้แผ่อิทธิพลเข้ามายังอโยธยาหลายทางด้วยกัน แห่งแรกผ่านมาทางเมืองมอญคือ เมืองสุธรรมนคร แห่งที่สองขึ้นบกที่เมืองตะนาวศรี...'
งานวิจัย 'การศึกษาวิเคราะห์พุทธศิลป์เชิงสุนทรียศาสตร์ (กรณีเฉพาะพระพุทธรูปสมัยอยุธยา)' โดยผู้วิจัย พระมหาอุดม ปญฺญาโภ (อรรถศาสตร์ศรี) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้อรรถาธิบายถึงพุทธสุนทรียศาสตร์มีเกณฑ์การตัดสินคุณค่าความงามสามารถกระทำได้ในสองระดับก็คือระดับสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พุทธสุนทรียศาสตร์พิจารณาความงามมี ๒ ระดับ และได้เชื่อมโยงไปถึงคติในการสร้างพระพุทธรูปศิลาก่อนเกิดกรุงศรีอยุธยาว่า
ประกอบไปด้วย ๑) ความงามภายนอก คือความงามของรูปธรรม อาทิ ความงามของรูป ความงามของวัตถุต่างๆ ๒) ความงามภายใน คือความงามที่เกี่ยวกับเรื่องนามธรรม อาทิ ความงามของจิตใจที่ประกอบด้วยกุศลธรรมต่างๆ อีกประการหนึ่งพุทธปรัชญาเถรวาทให้พิจารณาคุณค่าของความงามเป็น ๒ ลักษณะ คือคุณค่าเทียม หมายถึงคุณค่าของความงามอันเกี่ยวข้องกับตัณหาหรือสนองตัณหา ส่วนคุณค่าแท้หมายถึงคุณค่าของความงามที่เกี่ยวข้องกับปัญญาหรือสนองปัญญา
การสร้างพระพุทธรูปตั้งแต่สมัยอินเดียจนถึงปัจจุบัน ก็ต้องมีเกณฑ์การสร้างให้ถูกต้องตามมหาปุริส-ลักษณะ ๓๒ ประการของพระพุทธเจ้าด้วย การสร้างพระพุทธรูปต้องมีทฤษฎีการควบคุมทฤษฎีที่สำคัญที่จะนำเสนอ ได้แก่ ทฤษฎีภังคะ มุทรา เป็นต้น ส่วนพระพุทธรูปในสมัยอยุธยาที่มีพุทธลักษณะต่างๆ เช่น ทรงเครื่องนั้น พระพักตร์เข้ม เป็นการสะท้อนให้เห็นสภาพสังคม การเมือง วัฒนธรรมในสมัยอยุธยาด้วย
'...สรุปได้ว่า สมัยอู่ทอง-อโยธยานั้น อาณาจักรพระนครศรีอยุธยาเดิมเคยเจริญรุ่งเรืองด้วยพระพุทธ-ศาสนาสมัยทวารวดี มีบริเวณกว้างขวางครอบคลุมหลายจังหวัด มีหลักฐานมากมายที่จังหวัดนครปฐม ศิลาจารึกเป็นอักษรมอญ ต่อมาได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนามหายานเมืองลพบุรีจึงเกิดศิลปะอู่ทองหรืออโยธยา ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของขอมในอดีต ต่อมาก็ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์จากเมืองสุโขทัยมาผสมผสานเกิดเป็นพุทธศิลป์ที่มีลักษณะหลากหลาย มีพุทธลักษณะที่งดงามยิ่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น (ยุคพระพุทธรูปคลาสสิกสมัยอยุธยา) อาณาจักรอโยธยา จึงปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย โดยเฉพาะพระพุทธรูปศิลาทราย เป็นต้น เพื่อยืนยันว่าบริเวณของกรุงศรีอยุธยาในอดีตมีความเจริญรุ่งเรืองก่อนหน้ามาหลายร้อยปี...'
อ้างอิง
'กรุงศรีอยุธยาของเรา' โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
'ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา' โดย อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ
'พระพุทธรูปสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา' โดย อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๓ เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ปี พ.ศ. ๒๕๒๖
'อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา' กรมศิลปากร
‘ประทีปวิทรรศน์ : รวมเรื่องโบราณคดีอยุธยา’ ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ โดย นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๙ / เรื่องที่ ๒ พระพุทธรูป / ประเภท วัสดุ และเทคนิคในการก่อสร้างพระพุทธรูป
'พระพุทธรูปในประเทศไทย' โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
วิทยานิพนธ์ 'การศึกษาวิเคราะห์พุทธศิลป์เชิงสุนทรียศาสตร์ (กรณีเฉพาะพระพุทธรูปสมัยอยุธยา)' ผู้วิจัย พระมหาอุดม ปญฺญาโภ (อรรถศาสตร์ศรี) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา ปี พ.ศ.๒๕๔๗