ผู้เข้าชม
0

หัวนะโมและโควิด จากวัตถุมงคลของแผ่นดินสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์พกพา

โลกทัศน์ของผู้คนแต่เดิม แบ่งแยกขอบเขตระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ [Sacred] กับสิ่งสาธารณ์ [Profane] ออกจากกันอย่างชัดเจน การนำสิ่งที่เป็นตัวแทนความบริสุทธิ์สูงส่งเช่นพระพุทธรูปหรือวัตถุที่มีการสลักด้วยตัวอักษรศักดิ์สิทธิ์เช่นหัวนะโมมาแขวนห้อยคอหรือสัมผัสร่างกายถือเป็นเรื่องต้องห้าม และรังแต่จะนำความอัปมงคลมาสู่ชีวิต
12 เมษายน 2564


 

หัวนะโมและโควิด : จากวัตถุมงคลของแผ่นดินสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์พกพา

อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม

หน้าที่ 1/4


ในที่สุด...สยามประเทศก็ได้ต้อนรับการระบาดของโควิด-๑๙ ระลอกใหม่ก่อนจะผลัดพุทธศักราชเพียงไม่กี่อาทิตย์

หลังจากปลุกปล้ำทำความเข้าใจเพื่อมิให้กลายเป็นคนตกเทรนด์ว่านี่ไม่ใช่การ”ระบาดระลอก ๒” แต่เป็นการ “ระบาดระลอกใหม่” เพราะมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจนพอจะสรุปคร่าวๆ ได้ว่า

คำว่า “ระบาดระลอกใหม่” ซึ่งเรียกว่า Newly Emerging นั้น คือการติดเชื้อครั้งใหม่จากสถานที่และกลุ่มก้อนซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับการระบาดระลอกแรกเลย ส่วนคำว่า “ระบาดระลอกสอง” หรือ Re-emerging นั้น  จะเข้าข่ายก็ต่อเมื่อมีผลพวงอันสืบเนื่องจากการระบาดระลอกแรกด้วย

เมื่อย้อนดูลักษณะการระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จึงกล่าวได้ว่า นี่คือการระบาดระลอกใหม่ เพราะการติดเชื้อครั้งนี้ไม่ได้มาจากผู้ป่วยจากสนามมวยหรือผับทองหล่อ แต่เป็นกลุ่มก้อนของผู้ติดเชื้อชุดใหม่ที่เป็นแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง ซึ่งกระจุกตัวอยู่หนาแน่นในจังหวัดสมุทรสาคร

 

กว่า ๑ ปีเต็มแล้ว ที่ประเทศไทยและประชากรโลกจำต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาให้ได้   เผลอชั่วพริบตาเดียว “New Normal” หรือ“ความปกติรูปแบบใหม่” ซึ่งเพิ่งจะนิยามเปิดตัวอย่างเป็นทางการในยุคโควิด-๑๙  ก็ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นความปกติอย่างยิ่ง หน้ากากอนามัย สายคล้อง เจลแอลกอฮอล การล้างมือ และการรักษาระยะห่าง ได้กลายเป็นอาภรณ์และสัญลักษณ์ของยุคสมัยไปเสียแล้ว พร้อมกันนั้นก็ยังเป็นตัวบ่งชี้ถึงการยอมรับกฎเกณฑ์อันแสดงถึงสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน

หลายเดือนมานี้..แม้ไวรัสจะกลายพันธุ์เป็นรูปชีวิตที่แตกต่างจากสายพันธุ์ตั้งต้น ณ เมืองอู่ฮั่น และแม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกจะเลยหลักร้อยล้านมาไกลโขแล้ว แต่ความวิตกกังวลของพลเมืองโลกดูจะลดระดับลง เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศ เริ่มทะยอยประกาศข่าวดีเกี่ยวกับความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-๑๙

ขณะรอคอยการเข้าถึงวัคซีนอย่างถ้วนหน้า ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจในประเทศไทยก็เป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะการกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งของ “หัวนะโม” เครื่องรางของขลังประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเชื่อสืบกันมายาวนานว่าเป็นของขลังของดีมีสรรพคุณครอบจักรวาล ทั้งด้านโชคลาภ เมตตามหานิยม ป้องกันภัยให้แคล้วคลาดจากสิ่งชั่วร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปกป้องผู้สวมใส่จากโรคระบาดร้ายแรง ซึ่งเรียกเหมารวมโดยใช้คำกลางๆ ว่าโรคห่า-ซึ่งมิได้จำเพาะว่าต้องเป็นอหิวาตกโรคเสมอไป

หัวนะโม เปรียบเสมือนแมวเก้าชีวิตโดยแท้  เพราะแม้จะมิได้พุ่งทะยานราวพลุเสียดฟ้า แต่ก็ไม่เคยหลุดจากความนิยมจนวูบดับลับลาเหมือนวัตถุมงคลประเภทอื่นๆ ที่ซื้อขายกันในตลาดสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ยังคงเกาะกระแส “ขายได้เรื่อยๆ"  เป็นภาวะยืนพื้น  รอจังหวะและความประจวบเหมาะของเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดคลื่นแห่งความนิยมเวียนกลับมาเป็นระลอกๆ อีกครั้ง

 


ในช่วงเดือนพฤษภาคมของปี ๒๕๖๒ ราวหกเดือนก่อนการระบาดของไวรัสโคโรนาครั้งแรก หัวนะโมเป็นกระแสโด่งดังขึ้นมาหลังจากมีภาพของ “พระองค์ภา” หรือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ทรงสวมใส่กำไลหัวนะโมที่ข้อพระหัตถ์ด้านขวาในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กอรปกับในปีนั้น ปวีณสุดา ดรูอิ้น (ฟ้าใส) มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2019 นางงามตัวเต็งมีลุ้นตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส ก็ใส่แหวนนะโมไว้ที่นิ้วโป้งตลอดเวลาขณะประกวด แม้แต่นักการเมืองอย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็มีแหวนหัวนะโมไว้ประดับบารมี

ครั้นเมื่อไวรัสโคโรนาระบาดเข้าจริงๆ จนนำไปสู่มาตรการทยอยล็อกดาวน์ขั้นเด็ดขาดในหลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๓ เรื่อยลงมา นอกจากไอ้ไข่ซึ่งขึ้นแท่นที่พึ่งอันดับหนึ่งในยุคโควิดพ่นพิษแล้ว หัวนะโมก็เป็นอีกหนึ่งของขลังยอดฮิตที่ผู้คนแห่แหนไปเช่ามาบูชาจนผลิตสนองความต้องการแทบไม่ทัน

ยังไม่ทันจะซาความนิยม การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ปลายปี ๒๕๖๓ ต่อต้นปี ๒๕๖๔ ก็ทำให้กระแสเสาะหาหัวนะโมกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง  มักปรากฏเป็นข่าวว่า วัดในท้องถิ่น เช่น วัดเขาพระทอง อ.ชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และวัดจันดีซึ่งเป็นต้นกำเนิดหัวนะโมพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ ในอ.ช้างคลาน จังหวัดเดียวกัน ต่างต้องผลิตซ้ำหัวนะโมและแหวนนะโมกันอีกหลายรอบ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่ยังคงเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่าหัวนะโมที่ผ่านการปลุกเสกตามพิธีโบราณ จะสามารถป้องกันและปัดเป่าโรคร้ายโควิด-19 ได้ ดังที่เคยสร้างปาฏิหาริย์มาแล้วเมื่อ ๗๐๐ กว่าปีก่อน

 

แหวนนะโม พ่อท่านคล้าย วัดจันดี อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

หน้าที่ 2/4


ศาสตร์ของหัวนอโม: อำนาจแห่งอักขระ

สิ่งที่ทำให้วัตถุเงินเม็ดกลมๆ ที่เรียกว่าหัวนะโมหรือหัวนอโมมีความศักดิ์สิทธิ์ คือตัวอักษรปัลลวะบนเหรียญ ซึ่งเป็นตัวอักษรที่แพร่เข้ามายังสุวรรณภูมิในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ จากอินเดียตอนใต้ พร้อมกลุ่มคนที่ใช้ภาษาสันสกฤตได้แก่ พ่อค้าวานิช นักเดินทาง และพราหม์ผู้นับถือศาสนาฮินดูโดยเฉพาะไศวะนิกาย เป็นที่ยอมรับกันว่าตัวอักษรปัลลวะซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากอักษรพราหมีในพุทธศตวรรษที่ ๓ นั้น ถือเป็นอักษรต้นแบบที่พัฒนาเป็นอักษรมอญโบราณ อักษรขอมโบราณ และอักษรไทยในเวลาต่อมา

ต้นตอของคำว่านอโมหรือนะโม มาจากคำว่า “นมะ” หรือ “นมัส” เป็นคำกลางๆ ที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงออกถึงความเคารพต่อพระผู้เป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ก็ได้ที่นับถือ ทั้งในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ  นะโมเป็นพยางค​์ศักดิ์สิทธิ์คล้ายกับคำว่า “โอม” ซึ่งเป็นตัวแทนเทพเจ้าฮินดูที่ยิ่งใหญ่ ๓ พระองค์คือ พระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม ข้อมูลจากบางแหล่งกล่าวว่า หัวนะโมในยุคแรกๆ จะมีรอยบากด้านหลังลักษณะคล้ายโยนี ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของพระอุมา  จึงเท่ากับว่ายิ่งเพิ่มความขลังและพลังอำนาจเพราะผนวกเอาความบริบูรณ์ของศักติ-เทวะ [Divine Feminine และ Divine Masculine] หลอมรวมพลังตรงข้ามทั้งหยินและหยางของมหาเทพและเทพนารีเข้าไว้ด้วยกัน ดังคำบูชาว่า โอม นมัส ศิวะ อุมะ

ไม่ว่าจะบูชาเทพทางพราหมณ์หรือพระทางพุทธ ตัวอักษรที่จารเป็นหัวนะโมก็มีรูปแบบเดียวกัน ดังพบหลักฐานการสลักคำกล่าวแสดงความเคารพต่อองค์ศิวะมหาเทพบนแผ่นหินธรรมชาติบริเวณร่องน้ำในหุบเขาช่องคอย ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตัวอย่างอักษร “นะโม” ที่สลักลงบนศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยนี้น่าจะเป็นต้นแบบให้หัวนะโมที่ผลิตต่อมาอย่างสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

จากยันต์แผ่นดินสู่ยันต์ปัจเจก

 

สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าสนใจหัวนะโม ไม่ใช่เพราะคุณสมบัติครอบจักรวาล หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนในสังคมที่มีต่อเครื่องรางของขลังซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติต่างหาก

 

 


ในระยะแรกหัวนะโมถูกนำมาใช้เป็นสกุลเงินในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย เฉกเช่นกับเงินเบี้ยและเงินพดด้วง  นอกจากนี้ความเชื่อเรื่องอักขระศักดิ์สิทธิ์บนเหรียญยังส่งผลให้เกิดความนิยมในการฝังหัวนะโมไว้ตามสถานที่สำคัญๆ เช่นซุ้มประตูโบสถ์ กำแพงเมือง บริเวณใบเสมา หรือใส่ไหฝังไว้ในดินเพื่อความเป็นสิริมงคลรวมไปถึงการป้องกันภัยอันตรายต่างๆ  คงคล้ายๆ กับปัจจุบันที่เรามักฝังแก้วแหวนเงินทองของมงคลไปพร้อมกับไม้มงคลในพิธียกเสาเอกเพื่อสร้างบ้านสร้างศาลพระภูมิ

กาลล่วงเลยจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ หลังพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (จันทรภาณุ) ครองเมืองนครศรีธรรมราชได้ระยะหนึ่ง ก็เกิดโรคห่าระบาด ราษฎรพากันเจ็บป่วยล้มตาย พระองค์จึงทรงอพยพผู้คนย้ายหนีไข้ห่าไปตั้งบ้านเมืองและพระราชวังในหุบเขาร่มรื่นมีลำน้ำสองสายโอบรอบซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอลานสะกา บริเวณนี้พบแผ่นหินขนาดใหญ่หลายแผ่น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแท่นประทับที่ทำด้วยหินในเขตพระราชสถาน จากนั้นได้ทรงคิดวิธีรักษาไข้ห่าให้กับผู้คน โดยทรงทำพิธีปลุกเสกหัวนะโมขึ้นด้วยพิธีกรรมแบบพราหมณ์ อัญเชิญเทพเจ้าทั้งสามคือ พระศิวะ พระนารายณ์และพระพรหม มาสถิตย์ในหัวนะโม เป็นอักขระแทนเทพเจ้าทั้งสาม แล้วจึงนำไปหว่านรอบเมืองและสถานที่เกิดโรคระบาด เรื่องการสร้างของขลังนี้ บ้างก็กล่าวว่า มีการนำปรอทมาทำเป็นหัวนะโมแล้วหว่านไปทั่วต้นน้ำ ซึ่งผู้คนใช้ประโยชน์จากสายนำ้นี้ทั้งการหุงต้มและการดื่มกิน ปรากฏว่าไข้ห่าที่ระบาดอยู่นั้นได้หายไปจากนครศรีธรรมราชนับแต่นั้น พระองค์จึงเสด็จกลับเข้าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นการถาวร

จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับหัวนะโมทั้งจากหลักฐานทางโบราณคดี ตำนาน และความเชื่อที่ส่งทอดสืบๆ กันมา  จะเห็นได้ว่าหัวนะโมถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสิ่งคุ้มครองและปัดเป่าภัยที่เกิดขึ้นในระดับเมืองและชุมชน

การหว่านหัวนะโมลงในแผ่นดิน ฝังตามมุมเมืองทั้งสี่  หรือโปรยลงน้ำ ล้วนเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นของส่วนรวม การนำหัวนะโมมาใช้เพื่อเป็นเครื่องรางของขลังส่วนบุคคล น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง และสะท้อนถึงโลกทัศน์และวิธีคิดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แปรเปลี่ยนไปอย่างใหญ่หลวงในสังคมไทย

โลกทัศน์ของผู้คนแต่เดิม แบ่งแยกขอบเขตระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (sacred) กับสิ่งสาธารณ์ (profane) ออกจากกันอย่างชัดเจน  การนำสิ่งที่เป็นตัวแทนความบริสุทธิ์สูงส่งเช่นพระพุทธรูปหรือวัตถุที่มีการสลักด้วยตัวอักษรศักดิ์สิทธิ์เช่นหัวนะโมมาแขวนห้อยคอหรือสัมผัสร่างกายถือเป็นเรื่องต้องห้าม และรังแต่จะนำความอัปมงคลมาสู่ชีวิต การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นในยุคกรุงเทพฯ ราวสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ มานี้เอง

ดังจะเห็นได้จากการ “กล้า” ขุดพระพิมพ์ที่บรรจุไว้ในกรุตามวัดเพื่อสืบอายุพระศาสนามาเป็นพระเครื่องห้อยคอในลักษณะเครื่องรางของขลัง หัวนะโมเองก็ผ่านเข้าสู่ยุคที่ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องรางของขลังประจำตัวบุคคลไป ดังจะเห็นได้จากการแปรรูปให้กลายเป็นเครื่องรางกึ่งเครื่องประดับที่มีความทันสมัยและสะดวกในการพกพา เช่นการทำเป็นแหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ จี้ และกำไล เป็นต้น

 

 

 


 
หน้าที่ 3/4


บรรณานุกรม

ศรีศักร วัลลิโภดม, วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. พุทธศาสนาและความเชื่อในสังคมไทย. กรุงเทพฯ:มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยพันธุ์, ๒๕๖๐.

เว็บไซต์

ผู้จัดการออนไลน์. “หัวนะโม” ของขลังของดีแห่งนครศรีธรรมราช. แหล่งที่มา: https://mgronline.com/travel/detail/9620000074818

สิวะ พันธภาค. “คึกคัก!คนแห่เช่าหัวนะโมป้องกันโควิด”. แหล่งที่มา: http://www.thethaipress.com/2020/31183/

สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช. ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=502586570340929&id=327219807877607

เล่าเปลี่ยนโลก EP.5. “หัวนะโม อักขระศักดิ์สิทธิ์แห่งทะเลใต้”.แหล่งที่มา: https://youtube.com/watch?v=OZ1yaVzHDNY&feature=share

Super User.ตามรอยพราหมณ์วังโบราณลานสกา.แหล่งที่มา: © 2021 เว็บไซต์ให้ความรู้เรื่องพราหมณ์,ความเป็นมาของพราหมณ์

Image. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: จารึกหุบเขาช่องคอย. แหล่งที่มา: https://images.app.goo.gl/hoGBGWjtto6e7uUX7

 

Hua Namo and COVID-19

From Shared to Personal Sacred Objects

Arpapirat Vallibhotama
Translated by Pornnalat Prachakorn

Overview

Hua Namo is a sacred talismanic object originating from Nakhon Si Thammarat Province. It has long been believed that Hua Namo not only brings luck to its wearer but also provides magical protection against dangers and misfortunes, especially deadly diseases. Hua Namo began gaining its popularity in Thailand in May 2019, six months before the COVID-19 pandemic hit, as Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn Chao Fah Patcharakitiyapha was seen wearing a bracelet adorned with Hua Namo pellets.

คำสำคัญ : หัวนะโม,โควิด ๑๙,การระบาดระลอกใหม่,วัตถุมงคล,New normal

At the end of 2020 when Thailand was facing the second wave of COVID-19 infection, Hua Namo again became one of the most sought-after items among those who believed that it could protect them from COVID-19. This article is aimed to focus on the changes in people’s perceptions of charms and amulets in relation to supernatural powers.

The sacredness of Hua Namo, a small round silver object, lies in the South Indian Pallava letter inscribed on it. The Pallava script, developed in the 4th century CE, evolved into many Southeast Asian scripts such as the Old Khmer script and the Thai alphabet. The word “Nomo” or “Namo” is derived from the word “Nama” or “Namas” which is recited to pay homage to gods or any supernatural beings in both Brahmanism and Buddhism. It is a sacred sound similar to “Om” which represents the three major gods of Hinduism.

Hua Namo was first used as currency in trading goods and services. The belief in the sacred letter on Hua Namo also led to a popular tradition of burying them under the base of, for example, ordination halls, city walls and sema stones. Around the 13th-14th centuries CE, there was a cholera outbreak in Nakhon Si Thammarat. Its then ruler, King Chandrabanu, attempted to cure the illness by consecrating Hua Namo through a Brahmin ritual, summoning the three Hindu gods namely Brahma, Vishnu and Shiva to dwell in Hua Namo. Then, they were scattered around the city and the infected areas including water sources. It can be seen that Hua Namo was created as a means for protection at a city/community level as they were all placed in public areas. The use of Hua Namo as a personal sacred object probably occurred in a later time, reflecting significant changes in worldviews and perceptions about sacred items in the Thai society. Prior to the reigns of King Rama III-IV, a person was forbidden to wear or carry any religious objects. However, this perception gradually changed as wearing sacred items such as Buddha figurines and Hua Namo as personal sacred items increasingly became popular that they were used as ornaments on jewelry including rings, necklaces, pendants and bracelets.

อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม
อีเมล์: [email protected]
เรียนทางมานุษยวิทยา น่าจะเป็นนักเรียนที่โลกคือห้องเรียนชั่วชีวิต สนใจความเชื่อและวิธีมองโลกที่ส่งผลต่อพฤติกรรม การก่อร่างรูปแบบทางสังคม ไปๆ มาๆ เขียนแต่บทความ สายมู จนแอบคิดว่าน่าจะเอาดีทางนี้ได้
พรนลัท ปรัชญากร
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ภายหลังย้ายมาอยู่ไต้หวันกลายเป็นแม่บ้านลูกสอง มีอาชีพรับงานแปลและวาดรูปอิสระ
หน้าที่ 4/4