ผู้เข้าชม
0

‘เชียงราย’ น้ำแม่กก หวนกลับไปสู่ภูมิวัฒนธรรมด้านน้ำในประวัติศาสตร์แอ่งเชียงราย

‘….เชียงรายคือหัวเมืองต่อแดนในภาคเหนือ รุ่งเรืองและร้างรามาหลายยุคหลายสมัย เป็นหน้าด่านตอนบนของล้านนาที่ปะปนไปด้วยผู้คนต่างเผ่าต่างชาติพันธุ์ ศูนย์รวมของความหลากหลายทางวัฒนธรรม…คือชีวิตที่เคยเป็นอยู่
13 พฤศจิกายน 2567


เชียงรายน้ำแม่กก หวนกลับไปสู่ภูมิวัฒนธรรมด้านน้ำในประวัติศาสตร์แอ่งเชียงราย
พรเทพ เฮง

หน้าที่ 1/13

การเกิดอุทกภัยในจังหวัดเชียงรายเมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา กระแสน้ำท่วมไหลผ่านได้ส่งกระทบถึง ๕๑,๓๕๓ ครัวเรือน เสียชีวิต ๔ คน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดเชียงราย สรุปสถานการณ์น้ำท่วมและดินถล่มในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ ๙-๑๒ กันยายน ซึ่งเป็นผลกระทบจากพายุยางิที่ทำให้ภาคเหนือมีฝนตกหนัก โดยเกิดน้ำท่วมและดินถล่มใน ๖ อำเภอ ๒๕ ตำบล ๑๒๕ หมู่บ้าน ๑ เทศบาลนคร (๒๒ ชุมชน) ตลาดชุมชนเศรษฐกิจ ๒ แห่ง รวมถึงร้านค้า-สถานประกอบการ ๙๒ แห่ง ทำให้นึกถึงบทความ ‘เวียงในเชียงรายความวิบัติภายใต้เงาทะมึนของสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ’ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ หรือเมื่อ ๓๐ ปีผ่านมาแล้ว โดยนำข้อมูลทางประวัติศาสตร์และภูมิวัฒนธรรมท้องถิ่นมาฉายภาพคาดเดาถึงความเป็นไปได้ของอนาคต และเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เชียงรายคราวนี้น่าจะเป็นคำตอบปรากฏชัดได้เช่นกัน
 


สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงรายเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๗
ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

‘….เชียงรายคือหัวเมืองต่อแดนในภาคเหนือ รุ่งเรืองและร้างรามาหลายยุคหลายสมัย เป็นหน้าด่านตอนบนของล้านนาที่ปะปนไปด้วยผู้คนต่างเผ่าต่างชาติพันธุ์ ศูนย์รวมของความหลากหลายทางวัฒนธรรม…คือชีวิตที่เคยเป็นอยู่ 

ความผันเปลี่ยนของทุ่งราบแม่จัน-เชียงแสน-แม่สายในภาพรวมของเชียงรายเป็นไปภายใต้กระแสธารแห่งกาลเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา การปลูกข้าวยังเป็นกิจกรรมส่วนใหญ่ในเชียงราย การผลิตข้าวได้มากทำให้เชียงรายมีโรงสีเชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานมากที่สุดในภาคเหนือ ทว่า ๑๐ ปีหลังจากนั้นเชียงรายกลับกลายเป็นจังหวัดที่ผลิตขิงอ่อนได้มากที่สุด เป็นการปลูกเพื่อส่งออกเพียงเพราะว่าขิงอ่อนที่เชียงรายถูกรสนิยมญี่ปุ่น

นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ มีการขยายตัวของธุรกิจเรียลเอสเตทในเชียงราย ทั้งการขายที่ดิน พัฒนาที่ดินและการก่อสร้างที่อยู่อาศัย เป็นผลพวงมาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่คือการสร้างสนามบินนานาชาติเชียงราย โครงการพัฒนาดอยตุง ปีท่องเที่ยวไทย นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นตลาดการค้าของรัฐบาลชาติชาย โครงการคาสิโนที่สามเหลี่ยมทองคำ ด้วยการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วขึ้น เชียงรายจึงเป็นบ้านหลังที่สองและสนามกอล์ฟของคนจากเมืองหลวง

ถึงปัจจุบัน โรงสีขนาดเล็กในเชียงรายปิดกิจการลงหลายแห่ง ธุรกิจค้าข้าวไม่ให้ผลกำไรเหมือนก่อน ชาวนามีโอกาสกู้เงินจากแหล่งอื่นโดยไม่ต้องพึ่งโรงสี ความเคลื่อนไหวของราคาข้าวมาจากช่องทางข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้างขึ้น โรงสีใหญ่ที่ทันสมัยเข้ามาแทนที่ ในขณะเดียวกันพื้นที่ปลูกข้าวลดลง เพราะคนปลูกข้าวขายที่ดินของตนเอง ที่หมู่บ้านบ่อก้าง อำเภอแม่จัน มีนายทุนญี่ปุ่นมาเปิดกิจการโรงสีผลิตข้าวบาสมาติกเพื่อส่งออก ผืนดินอุดมของเชียงรายหล่อเลี้ยงไปถึงหมู่คนแข็งกระด้างในโลกอุตสาหกรรม

ในคืนวันที่สถิติการซื้อขายรถกระบะและรถจักรยานยนต์ในเชียงรายพุ่งสูง ดอยจัน ดอยแห่งพระธาตุศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นดอยจันรีสอร์ท ห้ามบุคคลภายนอกเข้า หนองบงกายหรือทะเลสาบเชียงแสนกลายเป็นบึงขี่สกู๊ตเตอร์ ริมแม่น้ำโขงที่ดินมีค่าราวกับทองคำ เส้นทางโสเภณีเปิดด้วยนโยบายสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ห้าเชียง เชียงรายได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง....’

หน้าที่ 2/13

เมืองโบราณเชียงรายมีศูนย์กลางที่สำคัญ ๒ แห่งคือ ดอยจอมทองและวัดกลางเวียง ดอยจอมทองเป็นศูนย์กลางดั้งเดิมของเมือง ในขณะที่วัดกลางเวียงเป็นศูนย์กลางที่เกิดขึ้นในภายหลังในยุคที่เมืองเริ่มเติบโต สถานที่เหล่านี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยพบโบราณสถานจำนวนมากบริเวณค่ายเม็งรายมหาราช ซึ่งแสดงถึงการพัฒนาทางศาสนาและวัฒนธรรมของเมืองในอดีต​

น้ำแม่กก ซึ่งคำว่า กก เป็นภาษาไทยถิ่นเหนือ หรือเรียกโดยทั่วไปว่า แม่น้ำกก เป็นสายน้ำสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาของเมืองเชียงราย ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของเมืองเชียงรายที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำกก รวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการจัดการน้ำและการพัฒนาเมืองของผู้คนในพื้นที่เชียงรายตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะการตั้งเมืองเชียงรายในสมัยพญามังราย ซึ่งเลือกสร้างเมืองที่ดอยจอมทอง เป็นศูนย์กลาง หรือ ‘สะดือเมือง’ ของเชียงราย เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมกับการตั้งถิ่นฐาน นอกจากนี้ แม่น้ำกกยังเป็นเส้นทางการค้าและการคมนาคมที่สำคัญเชื่อมต่อเชียงรายกับเมืองโบราณอื่นๆ 

การเปลี่ยนแปลงของเส้นทางแม่น้ำกกตามธรรมชาติและจากการขุดคลองเพื่อเบี่ยงเส้นทางในช่วงประวัติศาสตร์ หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือการขุดลำน้ำใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ในสมัยพระยาราชเดชดำรงและหมอบริดจ์ เพื่อเบี่ยงเส้นทางน้ำและสร้างระบบน้ำให้เหมาะสมกับการใช้งานในเมืองเชียงราย การขุดคลองนี้ทำให้เกิดเกาะลอย ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างเส้นทางน้ำใหม่​

ภาพรวมโครงสร้างทรัพยากรน้ำ น้ำแม่กก เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวในภาคเหนือที่มีแม่น้ำสายสำคัญ ส่วนใหญ่จะไหลไปทางทิศเหนือ โดยจะไปรวมกับแม่น้ำโขงทั้งหมดทั้งสิ้น

ซึ่งมีแม่น้ำสายสำคัญดังนี้ น้ำแม่กก น้ำแม่ลาว น้ำแม่อิง น้ำแม่จัน แม่น้ำโขง น้ำแม่คำ แม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก ต้นน้ำเกิดในประเทศพม่า ไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่หมู่ที่ ๑ บ้านสบรวก ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดน ระหว่างประเทศไทย และประเทศพม่า ในระหว่างนี้แม่น้ำรวกจะไปรวมกับแม่น้ำสายที่ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย อีกด้วย

 

น้ำแม่กก เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งในภาคเหนือของประเทศไทย มีต้นกำเนิดจากทิวเขาแดนลาวและทิวเขาผีปันน้ำตอนเหนือของเมืองกก จังหวัดเชียงตุง ภายในอาณาเขตของรัฐฉานในประเทศเมียนมา ไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่ช่องน้ำแม่กก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ไหลมาเรื่อยๆ จนผ่านตัวอำเภอเมืองเชียงราย หลังจากนั้นก็ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บริเวณสบกก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีความยาว ๒๘๕ กิโลเมตร (ในประเทศไทยยาว ๑๓๐ กิโลเมตร) ลำน้ำสาขาที่สำคัญได้แก่ น้ำแม่ฝาง น้ำแม่ลาว น้ำแม่กรณ์ และน้ำแม่สรวย

เมืองโบราณในแอ่งที่ราบเชียงรายในตำนานพื้นเมืองต่างๆ ของล้านนากล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในแอ่งที่ราบแห่งนี้​ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่​ ๑๒ รวมทั้งในตำนานท้าวฮุ่ง-ท้าวเจือง​ ก็ทำให้เห็นภาพของกลุ่มบ้านเมืองบริเวณนี้ในช่วงพุทธศตวรรษที่​ ๑๗
 


น้ำแม่กก หรือแม่น้ำกก ที่มา: มิวเซียมไทยแลนด์-แม่น้ำกก
หน้าที่ 3/13

จากการศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมของ​ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทิวา​ ศุภจรรยา​ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากการสำรวจทางโบราณคดีของกรมศิลปากร​ พบเมืองโบราณในแอ่งเชียงรายมากกว่า​ ๑๒๐​ เมือง​ และบริเวณที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นเมืองโบราณอีกประมาณ​ ๔๐​ แห่ง

เมืองโบราณสำคัญแต่ละแห่ง​ มักมีระยะห่างจากเมืองใหญ่อีกแห่งที่ใกล้ที่สุด​ ค่อนข้างเป็นระยะแน่นอน​ คือ​ ๓๐​ หรือ​ ๖๐​ กิโลเมตร​ โดยมีชุมชนเล็กๆ​ ที่เรียกในตำนานต่างๆ ว่า​ บ้าน กระจายตัวอยู่ตามเส้นทางสัญจร เมืองเหล่านี้กระจายตัวอยู่ตามแนวขอบของแอ่งที่ราบ​ หรือบริเวณที่เป็นเชิงเขา​ แต่ไม่ห่างจากแม่น้ำสายหลักมากนัก​ โดยพื้นที่เหล่านี้จะไม่ได้รับผลกระทบในฤดูน้ำหลาก​ และยังสะดวกต่อการติดต่อคมนาคมและการค้ากับเมืองอื่นๆ


เมืองโบราณในแอ่งที่ราบเชียงราย
ที่มา: กรมศิลปากร-กลุ่มเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

 

ลุ่มน้ำกก เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของเมืองโบราณในภูมิภาคนี้อีกที่หนึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ นัก-ประวัติศาสตร์ชื่อดัง เชื่อว่าลุ่มแม่น้ำกกเป็นศูนย์กลางสำคัญของสังคมและอารยธรรมก่อนปี พ.ศ. ๑๘๐๐ ชื่อแม่น้ำอาจมาจากต้นกกที่ขึ้นอยู่โดยรอบ หลักฐานทางโบราณคดีที่มาสนับสนุนแนวคิดนี้ มีการพบซากเมืองโบราณกว่า ๓๐ แห่งตามสองฝั่งแม่น้ำในจังหวัดเชียงรายและอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซากเมืองเหล่านี้คาดว่าสร้างขึ้นหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗ แต่มีการอยู่อาศัยของชนชาติไต-ไทในพื้นที่นี้มาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ศูนย์กลางการปกครองได้ย้ายจากแม่น้ำสายมาสู่แม่น้ำกก และขยายอิทธิพลลงทางใต้

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อพญามังราย กษัตริย์แห่งเมืองเงินยาง สร้างเมืองเชียงรายในปี พ.ศ. ๑๘๐๕ และต่อมาในปี พ.ศ. ๑๘๓๙ ได้ย้ายเมืองหลวงลงมาสร้างเชียงใหม่ริมแม่น้ำปิง นับแต่นั้นศูนย์กลางอารยธรรมล้านนาก็ย้ายจากลุ่มแม่น้ำกกมาสู่ลุ่มแม่น้ำปิง และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพที่ถูกบันทึกไว้ของอาจารย์มานิต วัลลิโภดมและอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่สบกก สามเหลี่ยมทองคำ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สองพ่อลูกได้เคยเดินทางร่วมกันไปสำรวจทางโบราณคดีและภูมิวัฒนธรรมในแถบจังหวัดภาคเหนือเมื่อหลายทศวรรษก่อน ทำให้ต้องไปค้นข้อมูล  ‘๓ บทรัฐสุวรรณโคม’ ในบทความ 'สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน' ของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒ เล่มที่ ๔ เดือนกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งให้ภาพของภูมิศาสตร์เมืองเชียงราย โดยเฉพาะด้านแม่น้ำผ่านตำนานและพงศาวดารตามภูมิศาสตร์โบราณคดี โดยเฉพาะ ‘ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ’

‘….เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ กรมศิลปากรตีพิมพ์หนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๒ เรื่องตำนานเมืองสุวรรณโคมคำออกเผยแพร่ ข้าพเจ้าสนใจอ่านแล้วอ่านเล่าอยู่หลายปี ทั้งหาโอกาสไปศึกษาพิจารณาภูมิประเทศในเนื้อเรื่อง เท่าที่สามารถจะกระทำได้ไปด้วย จึงถากกระพี้ คือข้อความที่แฝงอยู่ในสำนวนเทศนาออกใต้ เหลือแต่แก่นอันเป็นความสำคัญของเรื่องราว ทำให้ทราบว่า ตำนานเรื่องนี้เป็นตำราภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์มนุษย์ในสมัยโบราณนานไกล....’

การอธิบายภูมิศาสตร์ทางหนองน้ำขนาดใหญ่ แม่น้ำ มหาสมุทร จากดินแดนทางตอนใต้ของจีน อาจารย์มานิต ได้สังเคราะห์ฉายภาพให้เห็น โดยใช้พื้นฐานของตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ

หน้าที่ 4/13

‘….ในบทสามรัฐได้ อธิบายไว้แล้วว่า แม่น้ำแตกหลวง คือแม่น้ำคงไหลไปลงอ่าวตังเกี๋ย และแม่น้ำแตกน้อยคือแม่น้ำคำไหลจากหนองกระแสน้อย (สระลูกที่ ๒) ไปร่วมกันแม่น้ำแดงลงอ่าวตังเกี๋ย เมื่อรู้จักหนองใหญ่ทั้งคู่ที่กล่าวชื่อมาแล้ว จะได้หาตำแหน่งของหนองใหญ่ในทิศอาคเนย์ (สระลูกที่ ๓) ต่อไป หนองนี้มีจุดสำคัญกล่าวในตำนานคือห้วยคำอยู่ข้างทิศเหนือกับแม่น้ำกุกะนที (กุกกุฏ นที) คือแม่น้ำกกอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห้วยคำหรือแม่น้ำคำ ตั้งต้นมาแต่หนองน้ำอ่างบนดอยมาแตะ ไหลผ่านดอยต่างๆ มายังดอยแม่สแลบ ซึ่งอยู่ทางใต้ของดอยตุง ลงสู่พื้นที่ราบที่บ้านเวียงสา อำเภอแม่จัน ผ่านถนนพหลโยธิน (แม่จัน-แม่สาย) ที่บ้านแม่คำ ไหลไปยังตะวันออกเฉียงเหนือผ่านบ้านแม่คำ หนองบัวและบ้านร้องข่าง ณ ที่นี้มีลำน้ำแม่จันมาลงร่วม แล้วโค้งลงใต้ผ่านถนนพหลโยธิน (แม่จัน เชียงแสน) หลังอำเภอเชียงแสน ผ่านดอยจันไปออกแม่น้ำโขงที่ บ้านสบคำข้างเหนือเมืองเวียงปรึกษา 



โบราณสถานถ้ำพระ อยู่เชิงดอยถ้ำพระ อำเภอเมืองเชียงราย
ที่มา: มิวเซียมไทยแลนด์-โบราณสถานถ้ำพระ

 

 

เหนือบ้านแม่คำขึ้นไปตามถนนพหลโยธิน (แม่จัน-แม่สาย) ระยะหนึ่งทางฝั่งตะวันตก ห่างถนนเข้าไปประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ มีชื่อถ้ำปลา ปัจจุบันจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง มีลำธารไหลออกจากถ้ำนี้ เรียกว่า ห้วยน้ำล้ำ ไหลไปทางทิศตะวันออกติดต่อกับลำน้ำแม่มะ ถ้ำปลาน้ำ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ำกุ่ม ซึ่งในตำนานเรียก ถ้ำกุมภ์ เล่าเป็นนิทานว่าเป็นที่พระทำภัตตกิจของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ส่วนแม่น้ำกุกะนทีหรือแม่กกนั้น ต้นน้ำมาจากเมืองสาดในแดนไทยใหญ่ ประเทศพม่า ผ่านเทือกเขามายังดอยหลักแต่ง ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ไหลผ่านบ้านท่าตอนและสบฝาง อันเป็นจุดที่แม่น้ำฝางลงร่วมกับแม่น้ำกก แล้วโค้งไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านดอยต่างๆ มาจนถึงดอยถ้ำพระ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเมืองเชียงราย จากเมืองเชียงรายไหลขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ จนออกบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บ้านสบกกข้างใต้เวียงปรึกษา

ลักษณะภูมิประเทศตั้งแต่ดอยถ้ำพระ อำเภอเมืองเชียงราย ตลอดมาจนท้องที่อำเภอแม่จันฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้กับอำเภอเชียงแสนฝ่ายใต้เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ แสดงว่าครั้งบรมโบราณเคยเป็นเวิ้งน้ำใหญ่ แล้วต่อมาได้แห้งตื้นเขินเป็นที่ราบเหมาะแก่การกสิกรรม 

ส่วนที่ยังเหลือเป็นร่องน้ำคือ ลำน้ำแม่กก ลำน้ำแม่ลาว ลำน้ำแม่ฮาง ฉะนั้น ท้องทุ่งราบนี้คือ หนองน้ำทิศอาคเนย์ ในตำนานเล่าว่า พระยาศรีสัตตนาคขุดควักจากหนองกระแสหลวงลงมายังหนองน้ำใกล้ถ้ำกุมภ์เกิดเป็นแม่น้ำขลนที (ขรนที) ผู้แต่งตำนานสมมติเอากระแสน้ำที่ไหลเซาะแผ่นดินคดเคี้ยวคล้ายงูเลื้อยเป็นนาคราชจึงตรวจดูในแผนที่ พบที่หนองกระแสหลวงตอนใต้มีลำน้ำไหลออกมาติดต่อกับแม่น้ำโขง (ลานฉาง) ก็ทราบได้ว่าในแม่น้ำโขงช่วงนี้เรียกแม่น้ำชลนที อันแม่น้ำโขงนั้นเป็นลำน้ำใหญ่ไหลผ่านมาแต่ประเทศจีนตอนเหนือลงมายังแคว้นยูนนาน

ดังนั้นลำน้ำช่วงนั้นคือแม่น้ำมหิ ตำนานกล่าวอีกว่า พระยาศรีสัตตนาคได้ขุดควักลำน้ำอีกสายหนึ่งทางทิศอาคเนย์ เรียกแม่น้ำอู แม่น้ำอูนั้นไหลมาแต่ข้างเหนือของเมืองอูเหนือ เมืองอูใต้ ผ่านเมืองพงสาลี เมืองหัน ปากอู เมืองหลวงพระบาง เมืองปากสาย ออกบรรจบแม่น้ำโขงที่บ้านปากเหือง ตรงข้ามอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย 

ฉะนั้น ดินแดนประเทศจีนลงมาจนภาคเหนือของประเทศไทยสยาม แคว้นตังเกี๋ย (เวียดนาม) โดยถือแม่น้ำแดงแม่น้ำดำเป็นสำคัญ และแคว้นหลวงพระบางเป็นอุตรกุรุทวีป

หน้าที่ 5/13

รวมความว่าภาคกลางของประเทศอินเดีย ประเทศพม่า ประเทศจีน แคว้นตังเกี๋ย พื้นที่ส่วนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่กับเชียงราย และแคว้นหลวงพระบาง เป็นทวีปทั้ง ๔ ของตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ โดยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า ตำนานเรื่องนี้เป็นตำราภูมิศาสตร์โบราณว่าโดยเฉพาะท้องที่ซึ่งเรียกหนองน้ำทิศอาคเนย์ในจังหวัดเชียงรายนั้น จะตื้นเขินเป็นทุ่งไร่ทุ่งนามาแต่เมื่อใด ไม่อาจพูดได้ เพราะไม่มีความรู้ทางธรณีวิทยา แต่พื้นที่ตั้งแต่สบรวกลงมาจนบ้านแซวในอำเภอเชียงแสนใกล้ลำน้ำแม่คำ แม่กกนั้น ได้มีการขุดค้นพบเครื่องมือสมัยหินเก่าและหินใหม่ แสดงว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่มาแล้วเป็นพันๆ ปี 

อนึ่งที่ดอยถ้ำพระ อันเป็นตำแหน่งที่แม่น้ำกกผ่านเข้ามาในเขตอำเภอเมืองเชียงรายนั้น เมื่อก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ ดร. พริทซ์ สารสิน เคยขุดค้นในถ้ำพบเครื่องมือหินรุ่นเก่า มนุษย์พวกนี้มีเรื่องราวประการใด นอกจากจะเป็นตำราภูมิศาสตร์ แล้ว ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำยังเป็นประวัติศาสตร์มนุษย์ในสมัยโบราณนานไกล....’

เมื่อพิจารณาตามภูมิวัฒนธรรมของอาจารย์มานิต มาเทียบกับลุ่มน้ำกกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นลุ่มน้ำลำดับที่ ๓ จาก จำนวน ๒๕ ลุ่มน้ำหลักของประเทศไทย โดยมีต้นกำเนิดมาจากภูเขาทางเหนือในรัฐเชียงตุง สหภาพเมียนมา ไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่ช่องน้ำกก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกผ่านอำเภอแม่อาย เข้าสู่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย จากนั้นไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  เข้าสู่อำเภอเชียงแสน แล้วไหลสู่แม่น้ำโขง ที่บ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ความยาวประมาณ ๒๘๕ กิโลเมตร ส่วนที่อยู่ในประเทศไทยมีพื้นที่ลุ่มน้ำ ๗,๓๐๐ ตารางกิโลเมตร

ลุ่มน้ำกก แบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาออกเป็น ๔ ลุ่มน้ำสาขา คือ ลุ่มน้ำแม่ฝาง ลุ่มน้ำแม่ลาว ลุ่มน้ำแม่สรวย และลุ่มน้ำกกตอนล่าง เปิดข้อมูลจากประวัติศาสตร์การพัฒนาแคว้นโยนก ที่ราบลุ่มน้ำกก พบว่า แคว้นโยนก ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำหลายแห่ง ในเขตจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ตอนเหนือ ได้แก่ แม่น้ำกก แม่น้ำสาย  แม่น้ำลาว และแม่น้ำโขง ซึ่งเรียกรวมกันว่า ที่ราบลุ่มเชียงราย เคยมีร่องรอยของคนที่มาอยู่อาศัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีร่องรอยคูน้ำคันดิน โดยเป็นชุมชนโบราณกระจายไปทั่ว ซึ่งพบมากถึง ๑๐๕ แห่ง โดยเขตพื้นที่ที่พบมากที่สุดในอำเภอเมืองและอำเภอเวียงชัย มากที่สุดถึง ๕๕ แห่ง จึงมีตำนานต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น ตำนานสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวัติ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น 

โดยในระยะแรกของแคว้นโยนกและหิรัญนครเงินยาง ประกอบไปด้วยเมืองต่างๆ ที่อยู่ในเขตที่ราบลุ่มเชียงรายและใกล้เคียงคือ เมืองเงินยาง เมืองฝาง เมืองสาด เมืองหางรังรุ้ง และเมืองจวาดน้อย ต่อมาได้ขยายเมืองให้ไกลออกไปยังเชียงของ เมืองยอง และเลยจดไปถึงกลุ่มเมืองในเขตสิบสองปันนา

เขาขุนน้ำนางนอน: ภูศักดิ์สิทธิ์ของแอ่งเชียงแสน บทความโดย ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจากหลักฐานของการสร้างบ้านแปงเมืองในภูมิวัฒนธรรมของดินแดนล้านนาในภาคเหนือของประเทศไทย ที่ปรากฏตามที่ลาดลุ่มและที่ราบลุ่มในบริเวณระหว่างเขา [Intermountain Area] ที่เรียกว่า หุบ [Valley] และแอ่ง [Basin] นั้น ได้ขยายภาพของแอ่งเชียงแสนไว้อย่างเข้าใจและมองเห็นภาพกว้างของเมืองโบราณในแถบนี้ว่า
 


ดอยขุนน้ำนางนอน แอ่งเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 
หน้าที่ 6/13

‘….เขาขุนน้ำนางนอนเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของแอ่งเชียงแสนในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มโอบล้อมด้วยภูเขาทุกด้าน ด้านตะวันตกคือเขาขุนน้ำนางนอนที่เป็นขอบของเทือกเขาแดนลาวที่เป็นพื้นที่ของรัฐฉานในเขตประเทศพม่าทางเหนือ เป็นเขาที่อยู่ในเขตพม่าที่มีลำน้ำสายและลำน้ำรวกมาสบกันเป็นลำน้ำใหญ่ไหลผ่านที่ลาดลุ่มทางตอนเหนือของแอ่งเชียงแสนไปออกแม่น้ำโขงทางตะวันออกที่ตำบลสบรวก หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า ‘สามเหลี่ยมทองคำ’ ลำน้ำรวกคือเส้นเขตแดนที่แบ่งเขตประเทศไทยออกจากประเทศพม่า
 


ภาพถ่ายทางอากาศเวียงพางคำที่แม่สาย ก่อนพ.ศ. ๒๕๐๐
ที่มา: จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๑๑๙

 

จากสบรวกลงมาทางใต้จนถึงปากลำน้ำแม่คำใกล้กับเมืองเชียงแสน มีเขาเตี้ยๆ ทำหน้าที่เป็นขอบของแอ่งเชียงแสนก่อนที่จะถึง บริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขงและตอนปลายเขากลุ่มนี้ซึ่งเป็นที่ลาดลุ่มชายขอบลงแม่น้ำโขง ลำน้ำรวก และเมืองเชียงแสนทางตอนล่างที่ใกล้กับปากลำน้ำแม่คำทางด้านใต้ของแอ่งเชียงแสน มีกลุ่มเขาเตี้ยๆ จากอำเภอแม่จัน เป็นขอบแอ่งเป็นบริเวณที่มีลำน้ำสองสายจากทางตะวันตกผ่านแอ่งเชียงแสนมาออกแม่น้ำโขงใต้เมืองเชียงแสนลงมา ลำน้ำทั้งสองนี้คือ ‘ลำน้ำแม่จัน’ กับ ‘ลำน้ำแม่คำ’

ลำน้ำแม่จันไหลผ่านช่องเขาทางใต้ของเขาขุนน้ำนางนอน เลียบกลุ่มเขาแม่จันมาสมทบกับลำน้ำแม่คำที่ไหลมาจากขุนน้ำนางนอนกลายเป็นลำน้ำแม่คำไหลผ่านเมืองเชียงแสนไปออกแม่น้ำโขงที่ปากคำ กลุ่มเขาของแม่จันจากอำเภอแม่จันมาออกปากลำน้ำคำนี้คือ ทิวเขาที่กั้นบริเวณแอ่งเชียงแสนของลำน้ำแม่สาย ลำน้ำคำและลำน้ำแม่จันออกจากลุ่มน้ำแม่กกที่นับเนื่องเป็นบริเวณแอ่งเชียงรายที่มีลำน้ำแม่ลาวและแม่กกรวมไหลกันมาออกแม่น้ำโขงที่ตำบลสบรวก

อาจกล่าวได้ว่า ‘ทิวเขาแม่จัน’ นี้คือ สันปันน้ำที่แบ่งแอ่งเชียงรายออกจากแอ่งเชียงแสน แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่าการแบ่งสันปันน้ำก็คือ ทางเชิงเขาฟากฝั่งแอ่งเชียงรายเป็นที่ลุ่มต่ำเต็มไปด้วยหนองบึงที่เรียกว่า ‘หนองหล่ม’ คือหนองที่มีน้ำซับหรือน้ำใต้ดินที่มีระดับน้ำไม่คงที่ เช่น เวลาฝนตกและมีน้ำใต้ดินมากน้ำอาจท่วมท้นทำให้เกิดน้ำท่วมดินถล่มกลายเป็นทะเลสาบได้ หรือเมื่อน้ำใต้ดินลดน้อยลงแผ่นดินโดยรอบก็จะแห้งกลับคืนมา ทำให้คนเข้าไปตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยโดยรอบของหนองหรือทะเลสาบนั้นได้

ในการศึกษาทางภูมิวัฒนธรรมของการสร้างบ้านแปงเมืองในแอ่งเชียงแสนจากตำนานของข้าพเจ้าและบิดาคือ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม พบว่าแอ่งเชียงแสนเป็นที่เกิดของเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของคนไทยสองเมือง คือ ‘เมืองเวียงพางคำ’ เชิงที่ราบลุ่มของเขาขุนน้ำนางนอนที่อยู่ขอบเขาใกล้กับลำน้ำแม่สายที่อยู่ทางตอนเหนือของแอ่งเชียงแสนกับ ‘เมืองเวียงหนองหล่ม’ ที่อยู่ชายขอบทิวเขาแม่จันทางฟากลุ่มน้ำแม่กกซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของแอ่งเชียงแสน ตำนานที่กล่าวถึงการสร้างบ้านแปงเมืองที่ว่านี้เป็นตำนานของคนสองเผ่าพันธุ์ คือ ‘คนไทย’ และ ‘คนลัวะ’

ตำนานของคนไทยคือ ‘ตำนานสิงหนวัติ’ ส่วนตำนานของคนลัวะคือ ‘ตำนานเกี่ยวกับปู่เจ้าลาวจก’ ความต่างกันของตำนานทั้งสองก็คือตำนานของคนไทยคือตำนานของคนที่เข้ามาในแอ่งเชียงแสนจากภายนอก ในขณะที่ตำนานปู่เจ้าลาวจกเป็นตำนานของคนที่มีถิ่นฐานอยู่ในแอ่งเชียงแสนมาก่อน 

หน้าที่ 7/13

ตำนานของคนลัวะตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่สูง เช่น เชิงเขาและเขาเตี้ยๆ ส่วนของคนไทยตั้งหลักแหล่งในที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำลำน้ำและหนองบึงและคนเหล่านี้ก็เข้ามาพร้อมกันกับความเชื่อในเรื่องของผีบนท้องฟ้า เช่น ผีแถนและพญานาคที่เป็นเจ้าของแผ่นดินและน้ำ

ดังเช่นบริเวณใดที่เป็นหนองบึงที่มีน้ำซับก็จะเชื่อว่าเป็น ‘รูของพญานาค’ เมื่อมาผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนาแล้วก็มักจะสร้างพระมหายอดเจดีย์ ณ ตำแหน่งที่เป็นรูของพญานาค ให้เป็นหลักของบ้านและเมือง ส่วนความเชื่อของคนลัวะไม่มีเรื่องผีบนฟ้า เช่น ผีแถน ผีฟ้า และพญานาค ซึ่งเป็นสัตว์เนรมิต แต่เชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนดินและสัตว์ธรรมชาติที่เป็นสัตว์กึ่งน้ำกึ่งบก เช่น งู ปลาไหล จระเข้ ตะกวด เหี้ย ที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งความเชื่อในเรื่องผู้หญิงเป็นใหญ่กว่าผู้ชายในสังคม เช่น ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองและปกครองคนคือผู้ที่เป็นหญิง ฯลฯ

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้ศึกษาและสำรวจมาเกี่ยวกับคนลัวะที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่สูงตามเขาและเนินเขาเหล่านี้พบว่า ระบบความเชื่อของคนลัวะได้พัฒนาขึ้นเป็น ‘ระบบหินตั้ง’ [Megalithic] คือ มีการแยกพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ออกจากพื้นที่ธรรมดาสาธารณ์ด้วยแท่งหิน ก้อนหิน หรือแผ่นหิน รวมทั้งการกำหนดลักษณะภูเขา ต้นไม้ เนินดิน ให้เป็นแหล่งที่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น การกำหนดให้เป็นที่ฝังศพของคนสำคัญหรือไม่ก็เป็นบริเวณที่สัมพันธ์กับการอยู่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ และพื้นที่ในการมาประกอบพิธีกรรมร่วมกัน ฯลฯ

การฝังศพของบุคคลสำคัญมักจะถูกกำหนดให้ฝังไว้ในที่สูง ที่ไม่ไกลจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อาจจะเป็นโขดหิน เพิงหิน หรือกองหินสามก้อนหรือสามเส้าที่อาจจะเป็นก้อนหินธรรมชาติหรือเป็นของที่เคลื่อนย้ายจากที่อื่นมาประดิษฐานไว้

ในขณะที่บริเวณที่ฝังศพจะทำให้เป็นเนินดินล้อมเป็นรูปกลมหรือรูปเหลี่ยม รวมทั้งนำแท่งหินหรือก้อนหินมาปักรอบในระยะที่ห่างกันเป็นสี่ก้อนหรือมากกว่านั้น โดยไม่กำหนดตามจำนวนอย่างใด และบริเวณที่วางศพก็จะมีเครื่องเซ่นศพที่อาจจะเป็นเครื่องประดับ อาวุธและภาชนะดินเผารวมทั้งเครื่องใช้บางอย่าง คนที่อยู่ในที่สูง เช่น พวกลัวะที่กล่าวมานี้ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่มากมายตามเขาต่างๆ ในเขตแคว้นล้านนา อาจแบ่งออกได้เป็นหลายเผ่า [Tribes] แม้ว่าจะเป็นชาติพันธุ์เดียวกันก็ตาม บางเผ่ามีพัฒนาการทางสังคมและการเมืองใหญ่โตเป็นเมืองเป็นรัฐ [Tribal State] เกิดขึ้นมา ซึ่งแลเห็นได้จากการสร้างเนินดินที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบเป็น “เวียง” ขึ้นเพื่อการอยู่อาศัย การจัดการน้ำและการป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรู….’

สำหรับประวัติศาสตร์และพัฒนาการของชุมชนเมืองเก่าเชียงราย สามารถแบ่งเป็นช่วงดังนี้

ช่วงที่ ๑ การกำเนิดเมืองเชียงรายในยุคราชวงศ์มังราย กับความสำคัญของกลุ่มดอยขนาดเล็กกลางเมือง (ปี พ.ศ. ๑๘๐๕–พ.ศ. ๒๑๐๐ / ๒๙๕ ปี)

ช่วงที่ ๒ การย้ายจุดศูนย์กลางเมืองเชียงรายในยุคราชวงศ์มังราย สู่ตัวเมืองเชียงรายในยุครัตนโกสินทร์ (ปีพ.ศ. ๒๑๐๑-พ.ศ. ๒๔๗๗ / ๓๗๖ ปี)

ช่วงที่ ๓ ย่านภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ในช่วงสงครามโลกมหาเอเชียบูรพา สู่การเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน (ปีพ.ศ. ๒๔๗๘-ปัจจุบัน )

โบราณสถานในเมืองเชียงราย ทั้งดอยถ้ำพระ พระธาตุดอยจอมทอง วัดพระแก้ว และกำแพงเมือง-คูเมืองเชียงราย มีการใช้งานตลอดระยะเวลาตั้งแต่สมัยล้านนาจนถึงปัจจุบัน จึงถูกดัดแปลงปรับเปลี่ยนตลอดมา จนไม่ทราบลักษณะดั้งเดิมเมื่อสมัยแรกสร้างแล้ว 
 


พระธาตุดอยจอมทอง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ที่มา: มิวเซียมไทยแลนด์-พระธาตุดอยจอมทอง

 
หน้าที่ 8/13

โบราณสถานเกือบทั้งหมดที่ค้นพบยังไม่เคยได้รับการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดี ขอบเขตของเมืองเชียงรายนั้น ดร. ฮันส์ เพนธ์ สันนิษฐานไว้ว่าเมื่อแรกสถาปนาในสมัยราชวงศ์มังราย มีขนาดไม่ใหญ่นัก มีกำแพงเมืองเก่าเป็นอิฐเพียงบริเวณตีนดอยจอมทองเท่านั้น นอกนั้นเป็นกำแพงดินและอาศัยแม่น้ำกกเป็นคูเมือง

เมืองเชียงรายจากหลักฐานทางโบราณคดี การตั้งถิ่นฐานแรกเริ่ม–สมัยล้านนา โดยเฉพาะในพื้นที่เทศบาลนครเชียงราย พบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาเนิ่นนาน โดยในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ศาสตราจารย์ฟริทซ์ สารสิน (Fritz Sarasin) ได้ขุดค้นพบเครื่องมือหินที่ถ้ำพระ เป็นเครื่องมือแบบไซแอเมียน (Siamian) ในยุคหินเก่า แบบเดียวกับที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี แหล่งโบราณคดีที่บ้านผาหมู อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ และแหล่งโบราณคดีในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พบเศษภาชนะดินเผา และเครื่องมือที่ทำด้วยกระดูกสัตว์ สรุปว่าคนที่อาศัยอยู่นี้เป็นกลุ่มชนล่าสัตว์ ยังไม่รู้จักการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์
 


หลุมขุดค้นทางโบราณคดีในค่ายเม็งรายมหาราช

 

ส่วนในเอกสารประวัติศาสตร์ พบการกล่าวถึงเมืองเชียงรายในพื้นเมืองเชียงแสน ฉบับรวบรวมและปริวรรตโดย ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ตั้งแต่สมัยตำนานจนถึงสมัยล้านนาและสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มจาก ลวจังกราช (พ.ศ.๑๑๘๒-๑๓๐๔) ได้โปรดฯ ให้สร้างเมืองแห่งหนึ่งขึ้นในบริเวณที่พบช้างป่าใหญ่ แล้วเรียกชื่อเมืองแห่งนี้ว่า ‘เวียงเชียงรอย’ ซึ่งภายหลังคำว่าเชียงรอยได้แผลงไปเป็น ‘เชียงราย’

ตำนานยังเล่าอีกว่า ปี พ.ศ. ๑๔๓๘  พญาเรือนแก้วผู้ครองเมืองไชยนารายณ์ทรงสร้างพระธาตุขึ้น บนยอดดอยจอมทองริมฝั่งแม่น้ำกกในเขตตัวเมืองเชียงราย ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๕๘๗ ท้าวกีฅำลาน เจ้าเมืองแคว้นกาวได้ยกทัพมารบกับลาวจังกวาเรือนฅำแก้วที่กลางทุ่งเชียงราย ลาวจังกวาเรือนฅำแก้วพ่ายแพ้ ชาวเชียงรายเสียแม่ทัพ เมืองแตก ทิ้งเมืองไป ทำให้เมืองเชียงรายกลายเป็นเมืองร้างไป

จนกระทั่งพญามังราย เสด็จประพาสป่าพร้อมกับบริวาร พบเมืองเชียงรายร้าง ทางใต้ของเวียงเงินยาง มีความพึงพอใจ จึงได้สร้างเมืองขึ้นมาใหม่ และประทับอยู่เมืองเชียงรายนี้ ไม่ได้กลับไปยังเมืองเงินยางอีก โอรสของพระองค์คือ พญาไชยสงครามก็ประทับอยู่ที่เมืองเชียงรายนี้จนสิ้นพระชนม์

หลังจากนั้นบทบาทของเมืองเชียงรายก็ลดน้อยลง กษัตริย์โปรดฯ ให้ขุนนางปกครองเมืองแห่งนี้แทน แต่ยังคงปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองเชียงรายด้านพุทธศาสนาในสมัยล้านนาอยู่ ดังเช่น ชินกาลมาลี-ปกรณ์

ในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน เกิดฟ้าผ่าองค์เจดีย์วัดป่าเยี้ยะ ได้พบพระแก้วมรกตในองค์เจดีย์นั้น วัดป่าเยี้ยะจึงถูกเรียกว่าว่าวัดพระแก้วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จารึกดอยถ้ำพระเป็นหลักฐานแสดงถึงประเพณีการนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ยังถ้ำพระ ในปี พ.ศ. ๒๐๒๗ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีประเพณีนี้มาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ถ้ำพระจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่สมัยล้านนา 

ความก้าวหน้าของการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีเมืองโบราณเชียงราย ได้มีการดำเนินการเป็นรูปเป็นร่างในทางวิจัยและวิชาการมากขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ มีโอกาสได้ดำเนินการทางโบราณคดีในพื้นที่มณฑลทหารบกที่ ๓๗ ค่ายเม็งรายมหาราช ทำให้ได้ข้อมูลทางโบราณคดีที่สำคัญของเมืองเชียงรายเพิ่มขึ้น 

 

หน้าที่ 9/13

หลักฐานใหม่จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมืองเชียงราย เมื่อมณฑลทหารบกที่ ๓๗ ค่ายเม็งรายมหาราชได้แจ้งมายังสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ว่า พบโบราณวัตถุในบริเวณที่จะดำเนินการก่อสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย ในพื้นที่ค่ายฯ จึงขออนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว การดำเนินการทางโบราณคดี ด้วยการขุดค้นขุดแต่งโบราณสถานดอยเจดีย์ และสำรวจทางโบราณคดีในพื้นที่ค่ายฯ ทั้งหมด 

ผลจากการศึกษาทางโบราณคดีเบื้องต้นพบแหล่งโบราณคดี ทั้งประเภทที่เป็นศาสนสถานและแหล่งที่อยู่อาศัย โดยพื้นที่บนเขาเป็นที่ตั้งของศาสนสถาน ทั้งที่ตั้งอยู่บนยอดเขาและกลางเนินเขา ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังเป็นทำเลที่สามารถมองเห็นพื้นที่โดยรอบได้ ใช้สังเกตการณ์ได้เป็นอย่างดี ส่วนพื้นที่ราบเป็นพื้นที่ชุมชนหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดีอย่างหนาแน่นในบริเวณสนามหญ้าหน้าตึกกองร้อยของค่ายฯ เช่น กล้องยาสูบดินเผา ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนเครื่องเคลือบทั้งจากเตาในล้านนาและจากแหล่งเตาในประเทศจีน 

นอกจากนั้น ยังมีบริเวณที่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย พบหลักฐานทางโบราณคดีบนผิวดินเป็นสิ่งของเครื่องใช้ ประเภทภาชนะแบบเคลือบสีเขียว ได้แก่ ฝากระติก และผางประทีป จากแหล่งเตาวังเหนือ ไห กระปุก และพาน จากแหล่งเตาพาน แสดงให้เห็นว่าผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณนั้น คงเป็นผู้มีฐานะสูงหรือมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เนื่องจากคนทั่วไปจะใช้ภาชนะดินเผาเนื้อดินที่พบโดยทั่วไปมากกกว่า

โบราณสถานที่พบเกือบทั้งหมดก่อสร้างด้วยอิฐ ยกเว้นเพียงแห่งเดียว ที่ใช้ศิลาแลงก่อ ซึ่งปัจจุบันสำรวจพบแหล่งตัดศิลาแลงที่บ้านป่าอ้อดอนไชย แต่ยังไม่มีการศึกษาถึงขนาดของแหล่งฯ ว่ามีความสามารถในการผลิตมากน้อยเท่าไหร่ อาจเป็นไปได้ว่ามีแหล่งตัดศิลาแลงในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมากกว่าหนึ่งแห่ง เนื่องจากมีโบราณสถานหลายแห่งในเมืองเชียงแสน และโบราณสถานในอำเภอเทิงที่ใช้ศิลาแลงในการก่อสร้าง เป็นองค์ประกอบของส่วนฐานและเสา

ส่วนโบราณวัตถุที่พบจากการสำรวจและขุดศึกษาทั้งชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาพานและเตาเวียงกาหลง ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินควอตซ์ รูปแบบเจดีย์แปดเหลี่ยม และรูปแบบของพระพุทธรูปที่ถูกกล่าวอ้างว่าค้นพบบนโบราณสถานดอยเจดีย์

สามารถกำหนดอายุโดยการเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะได้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐–๒๑ รวมทั้งค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ของอิฐที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถานดอยเจดีย์ โดยวิธีเรืองแสงความร้อน (Thermoluminescence Dating-TL) ได้ค่าอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑

ในช่วงเวลานี้ เมืองเชียงรายถูกปกครองด้วยขุนนาง แต่ก็ยังคงเป็นเมืองที่มีความสำคัญ เนื่องจากพบการกล่าวถึงเมืองเชียงราย ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ของล้านนา ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า โบราณวัตถุที่พบมีความหลากหลายของวัสดุที่ใช้ผลิตค่อนข้างมาก ทั้งชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินควอตซ์ เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือเครื่องใช้สำริด แสดงให้เห็นว่ามีการใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่หลากหลายในช่วงสมัยเดียวกัน ไม่ได้มีการแบ่งเครื่องมือเครื่องใช้จากวัสดุที่ใช้ผลิตตามเกณฑ์การแบ่งอายุสมัยตามแบบแผน



การขุดแต่งเจดีย์รายในค่ายเม็งรายมหาราช
ที่มา: กรมศิลปากร-สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่

 

 

 

หน้าที่ 10/13

ข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการขุดค้นขุดแต่งและสำรวจครั้งนี้ เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าพื้นที่เทศบาลนครเชียงรายในปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณเชียงรายที่สร้างขึ้นอย่างน้อยตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย 

สำหรับเมืองเก่าเชียงราย หากสืบค้นข้อมูลลงไปในช่วงก่อนประวัติศาสตร์บริเวณจังหวัดเชียงราย ปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยกระจายอยู่ทั่วไปโดยมีการพบร่องรอยคูน้ำและคันดินแสดงถึงการเป็นชุมชนโบราณ และมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีในหลายบริเวณ หลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบ ได้แก่ เครื่องมือหินกะเทาะที่มีอายุราว ๑๕,๐๐๐–๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว บริเวณถ้ำพระ ริมฝั่งแม่น้ำกก ในเขตอําเภอเมืองจังหวัดเชียงราย 
 


คูเมืองเชียงราย สภาพในปัจจุบัน
ที่มา: Facebook-ล้านนาประเทศ

ต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ปี พ.ศ. ๑๘๐๒ พญามังรายได้ ขึ้นครองราชสมบัติที่เมืองหิรัญนครเงินยาง และโปรดให้สร้างเมืองขึ้นโดยย้ายราชธานีจากเมืองหิรัญนครเงินยางมาสู่ราชธานีแห่งใหม่ในบริเวณเวียงชัยนารายณ์ดอยจอมทอง ริมฝั่งแม่น้ำกกโดยก่อปราการโอบเอาดอยจอมทองไว้กลางเมือง และได้ขนานนามเมืองแห่งนี้ว่า เชียงราย 

ภายหลังสมัยของพระเจ้าติโลกราช อาณาจักรล้านนาเริ่มเสื่อมถอยลง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับพระเจ้าบุเรงนองกยอดินนรธากษัตริย์พม่าได้ขยายพระราชอํานาจเข้ามายังดินแดนในแถบนี้ อาณาจักรล้านนาจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าในปี พ.ศ. ๒๑๐๑ ถือเป็นการสิ้นสุดอาณาจักรล้านนา ที่มีอายุถึง ๒๖๒ ปีและสิ้นสุดราชวงศ์มังรายที่สืบเนื่องมา ๒๘๓ ปี

ในปี พ.ศ. ๒๑๒๑ อาณาจักรล้านนาและเมืองเชียงรายตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลานานถึงกว่า ๒๐๐ ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว อาณาจักรล้านนาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและกรุงศรีอยุธยาสลับกันไปมา ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เกิดกบฏเงี้ยวขึ้น พวกเงี้ยวยกกําลังเข้าโจมตีเมืองแพร่ เมืองพะเยา และเมืองเชียงราย แต่รัฐบาลกลางได้ดําเนินการปราบปรามอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้พวกกบฏหมดสิ้นไป และทําให้บรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือต้องยอมรับในอํานาจของรัฐบาลกลางมากขึ้น 

ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์จึงได้มีพระบรมราชโองการยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ ส่งผลให้เชียงรายกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามอย่างสมบูรณ์และขึ้นกับรัฐบาลกลางโดยตรง 

ต่อมารัชกาลที่ ๗ รัฐบาลกลางได้ปรับปรุงระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาค โดยยกเลิกการบริหารแบบมณฑลมาเป็นจังหวัด เมืองเชียงรายจึงอยู่ในจังหวัดเชียงรายมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงราย เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๘

เมืองโบราณเชียงราย มีประตูเมือง ๑๒ ประตู มีระบบระบายน้ำและป้องกันด้วยคูเมืองโบราณเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันมีเหลือให้เห็นอยู่  ๓ แห่ง ๑) บริเวณหน้าโรงเรียนสามัคคี ประตูป่าแดง ผ่านประตูเชียงใหม่ไปถึงประตูผี ๒) บริเวณหน้าโรงเรียนเทศบาล ๑ ศรีเกิด ประตูเจ้าชาย และ ๓) บริเวณข้างกำแพงเมือง ประตูยางเสี้ง ห้าแยกพ่อขุน โดยมีหน้าที่ป้องกันข้าศึกอีกชั้นหนึ่ง โดยไม่ให้ข้าศึกเข้ามาในเมืองได้โดยง่าย 

หน้าที่ 11/13

คูเมืองเชียงรายจะอยู่ด้านนอก รอบๆ กำแพงเมืองเชียงราย สันนิษฐานว่า น่าจะถูกสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๐๕ สมัยพ่อขุนมังรายมหาราช มาสถาปนาเมืองเชียงราย ซึ่งเป็นเมืองเอก เป็นเมืองแรกที่สร้าง

สภาพภูมิวัฒนธรรมคูเมืองเชียงรายนั้น ทางทิศเหนือใช้แม่น้ำกกและแม่น้ำกกน้อยเป็นปราการธรรมชาติ ขณะที่ด้านอื่นๆ ที่เหลือ มีการผันน้ำกกเข้ามาทางสนามกอล์ฟแม่กก ไหลอ้อมดอยทอง ผ่านสะพานประตูเชียงใหม่ เลียบถนนบรรพปราการในปัจจุบันไปทางตะวันออก ก่อนไปบรรจบกับแม่น้ำกกสายเก่าที่ชุมชนเกาะทอง แล้วไหลลงแม่น้ำกกบริเวณสนามกีฬากลาง

ในช่วงยุคทศวรรษที่ ๒๔๕๐ ฝ่ายราชการและนายแพทย์วิลเลียม เอ บริกส์ มิชชันนารี ร่วมกันจัดผังเมืองเชียงรายใหม่ โดยการวางถนนให้มีลักษณะตัดกันคล้ายตารางหมากรุกตามแบบเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา ในการนี้ได้มีการถมคูเมืองและรื้อกำแพงเมืองลงเพื่อป้องกันน้ำในคูเมืองมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันเราจึงไม่เห็นร่องรอยของคูเมืองและกำแพงเมืองเชียงราย

เพราะฉะนั้นอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ จึงเป็นผลพวงการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงรายบริเวณรอบลำน้ำต่างๆ ส่งผลให้ทางน้ำแคบลง และทำให้พื้นที่รองรับน้ำลดลง มาตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา แต่จริงๆ แล้วอุทกภัยเกิดขึ้นไปเมื่อ ๓ ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง โดยย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่เชียงราย ปัญหาคือน้ำท่วมครั้งนั้นน้ำไม่ได้ล้นมาจากลำน้ำกก แต่มาจากลำน้ำกอน โดยหนึ่งในปัจจัยคือ มีโรงแรมมาสร้างในที่ดินริมตลิ่งของ ๒ ฝั่งของลำน้ำกอน ทำให้แม่น้ำแคบลงและรองรับปริมาณน้ำไม่ได้เท่าเดิม น้ำจึงเอ่อล้นเข้าท่วมตัวเมือง บทเรียนจากครั้งนั้นทำให้เชียงรายสร้างคลองผันน้ำกก-กอน เพื่อระบายน้ำไม่ให้ท่วมเขตตัวเมือง หรือเขตเศรษฐกิจ

สำหรับน้ำท่วมครั้งนี้ ปี พ.ศ. ๒๕๖๗ เนื่องจาก ๒ ปัจจัยคือ มวลน้ำขนาดใหญ่ไหลจากประเทศเมียนมาไหลทะลักเข้ามาที่เชียงราย พอผ่านลำน้ำกก ซึ่งแต่เดิมรอบๆ ลำน้ำเป็นเรือกสวนไร่นา และเป็นพื้นที่รองรับน้ำ แต่ถูกประชาชนและรัฐเข้าไปใช้ประโยชน์มากขึ้น มีการถมที่สร้างสถานที่พักผ่อน โรงแรม ศูนย์ราชการ และอื่นๆ ส่งผลให้ลำน้ำแคบลงมาก

และอีกปัจจัยคือการขยายเมือง การสร้างสนามบิน ถนนบายพาส หรือการสร้างบ้านจัดสรรต่างๆ ปัญหาที่เจอบ่อยๆ คือน้ำระบายไม่ทัน เวลาน้ำหลากจากแม่น้ำหรือพื้นที่ป่าที่มาพร้อมกับดินตะกอนหรือโคลน ซึ่งจะไปอุดตันท่อระบายน้ำ ทำให้ระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพจากก่อนหน้านี้ที่เคยรับปริมาณน้ำฝน ๓๐-๔๐ มิลลิลิตร (มล.) ได้สบายๆ ก็ระบายไม่ได้ จึงเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในที่สุด 

จากการศึกษาด้านภูมิศาสตร์โบราณคดีและภูมิวัฒนธรรม เมืองโบราณเชียงรายมีระบบการบริหารจัดการน้ำบริเวณลุ่มน้ำแม่กกอย่างดีมากมาตั้งแต่อดีตกาล

 


 

หน้าที่ 12/13

อ้างอิง

ข้อมูล ‘๓ บทรัฐสุวรรณโคม’ ในบทความ 'สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน' ของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒ เล่มที่ ๔ เดือนกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ 

เขาขุนน้ำนางนอน : ภูศักดิ์สิทธิ์ของแอ่งเชียงแสน' โดย ศรีศักร วัลลิโภดม

‘เวียงในเชียงรายความวิบัติภายใต้เงาทะมึนของสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ’ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ 

'เมืองเชียงรายจากหลักฐานทางโบราณคดี' โดย นงไฉน ทะรักษา นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

โบราณคดีเชียงราย กองโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

‘รู้เรื่องเมืองเชียงราย’ โดย อภิชิต ศิริชัย สำนักพิมพ์ล้อล้านนา, ๒๕๕๙

'พื้นเมืองเชียงแสน' โดย สรัสวดี อ๋องสกุล ปริวรรต ตรวจสอบ และวิเคราะห์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ

'เมืองเก่าเชียงราย' โครงการบริหารหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

'ตำนานพื้นเมืองเชียงราย' ฉบับวัดศรีส้มสุก ตำบลแม่ข้าวต้ม จังหวัดเชียงราย 

'คูเมืองเชียงราย' เทศบาลเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดย ย่านเมืองเก่าเชียงราย.ไทย

 

คำสำคัญ : เมืองเชียงราย,แม่น้ำกก,แอ่งเชียงราย

'งานสมโภชเสาสะดือเมืองและกำแพงเมืองเมืองเชียงราย' สำนักงานจังหวัดเชียงราย ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ 

'ที่ระลึกพิธีเปิดป้ายชื่อประตูเมืองเชียงราย ๒๕ มกราคม ๒๕๓๐' ชมรมเสวนาประวัติศาสตร์ไชยนารายณ์ จังหวัดเชียงราย

'อนุสรณ์การสมโภชเมืองเชียงราย ๗๒๕ ปี สำนักงานจังหวัดเชียงราย ปี พ.ศ. ๒๕๒๙

พรเทพ เฮง
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกโบราณคดี รุ่น ๓๘ ทำงานด้านสื่อ ด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และสาระบันเทิงมาค่อนชีวิต
หน้าที่ 13/13