ผู้เข้าชม
0

เมืองจันทบูรที่เพนียด ความสับสนจากการสร้างประวัติศาสตร์โบราณคดีท้องถิ่นแห่งแรกๆ ในประเทศไทย

บริเวณฝั่งตะวันตกของเขาสระบาปในอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี มีร่องรอยทั้งศาสนสถานและคันดินที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณอันเนื่องจากวัฒนธรรมเขมรยุคก่อนเมืองพระนครจนถึงสมัยเมืองพระนคร เรียกกันในปัจจุบันว่า ‘เมืองเพนียด’
10 กรกฎาคม 2567


 

เมืองจันทบูรที่เพนียด  

ความสับสนจากการสร้างประวัติศาสตร์โบราณคดีท้องถิ่นแห่งแรกๆ ในประเทศไทย

 

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

หน้าที่ 1/18


บริเวณฝั่งตะวันตกของเขาสระบาปในอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี มีร่องรอยทั้งศาสนสถานและคันดินที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณอันเนื่องจากวัฒนธรรมเขมรยุคก่อนเมืองพระนครจนถึงสมัยเมืองพระนคร เรียกกันในปัจจุบันว่า เมืองเพนียด ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า ‘เมืองนางกาไว’ ตำนานเรื่องนางกาไวนี้มีอิทธิพลความเชื่อแบบกลุ่มชาวชองซึ่งกล่าวกันว่าเคยอยู่อาศัยเป็นกลุ่มชาวชองอย่างชัดเจนในละแวกนี้  

ข้อมูลเบื้องต้นในการเขียนและศึกษาประวัติศาสตร์จันทบุรีในท้องถิ่นเมืองจันทบุรีและประเทศสยามหรือประเทศไทย ภาพรวมมักกล่าวถึงเมืองโบราณที่อยู่เชิงเขาสระบาปในชื่อควนคราบุรีหรือคานคราบุรีตั้งแต่เริ่มบอกกล่าวถึงข้อสันนิษฐานความเป็นมาในอดีตของเมืองโบราณที่เชิงเขาสระบาป ตั้งแต่น่าจะหลังการเข้ามาสำรวจทางโบราณคดีของนักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่ถูกจ้างมาสำรวจหลังจากได้คืนดินแดนจันทบุรีแก่สยามแล้ว ราว พ.ศ. ๒๔๕๐ และยังใช้ข้ออ้างอิงสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ 

จากเอกสาร ‘อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ๕ จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ระยอง’ ทั้ง ๕ จังหวัดนี้เคยขึ้นอยู่กับมณฑลปราจีนเดิมและจังหวัดใกล้เคียงที่คณะกรรมการราชบัณฑิตยสถานได้ทำขึ้นมาก่อนหน้า โดยตั้งใจจะให้เป็นคู่มือแบบคำค้นในการศึกษาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ในช่วงยุคสมัยนั้น กระบวนการจัดพิมพ์น่าจะอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๒ กล่าวถึงเมืองจันทบุรีว่า

 

...มีซากเมืองเก่าอยู่ ๒ แห่ง แห่งหนึ่งอยู่ในตำบลพุงทลาย อ.เมืองฯ ยังมีคูเมืองและเชิงเทินพอสังเกตได้ อีกเมืองหนึ่งอยู่ในตำบลคลองนารายณ์ ชาวบ้านเรียกว่าเมืองพะเนียดบ้าง เมืองกาไวบ้าง มีผู้ขุดพบศิลาจารึกที่วัดพะเนียดซึ่งเป็นวัดโบราณอยู่ทางทิศใต้กำแพงเมืองราว ๔๐๐ ม. (ศิลาจารึกอยู่ในพิพิธภัณฑสถาน) ในบริเวณเมืองยังมีศิลาแผ่นใหญ่ๆ สลักเป็นลวดลายอย่างโบราณเหลืออยู่บ้าง และยังมีเค้าเชิงเทินและถนนใหญ่ ๒ สาย และน่าจะเป็นเมืองเดียวกับที่มองสิเออร์เอยโมเมอร เขียนเรื่องราวในหนังสือ ‘แคมโบช’ ค.ศ. ๑๙๐๑ ว่า มีบาดหลวงคนหนึ่งได้พบแผ่นศิลาจารึกอักษรสันสกฤตที่ ตำบลเขาสระบาป มีข้อความว่า จังหวัดจันทบุรีได้ตั้งมาช้านานประมาณ ๑,๐๐๐ ปีแล้ว ในเวลานั้นเรียกว่า ควนคราบุรี (น่าจะเป็นจันทบุรี แต่ที่เขียนไว้เช่นนี้ คงจะเป็นด้วยผู้เขียนแปลผิดหรือเขียนผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง) ผู้สร้างเมืองชื่อหางหรือแหง คนพื้นเมืองเป็นชอง เมื่อประมาณ ๙๐๐ ปีมาแล้ว ไทยยกกองทัพไปตี เจ้าเมืองได้มอบเมืองให้แก่ไทยชื่อ วาปสเตนและอาคารยา...

 

 

ภาพโบราณสถานที่เพนียดปัจจุบันในช่วงที่ยังไม่มีการขุดแต่งทางโบราณคดี 

เมื่อไปเยี่ยมชมในช่วงหน้าฝนก็จะเห็นภาพของการกักเก็บน้ำได้ชัดเจน


 

โดยข้อมูลจาก ‘อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ๕ จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ระยอง’ ที่พิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ นี้ปรากฏข้อความเดิมอยู่ในฐานข้อมูลออนไลน์ของเว็บไซต์ราชบัณฑิตยสภา และถูกแก้ไขบางส่วนเกี่ยวกับชื่อควนคราบุรีในที่สุดเมื่อไม่นานนี้

หน้าที่ 2/18

 

ภาพโบราณสถานที่เพนียดปัจจุบันในช่วงที่ยังไม่มีการขุดแต่งทางโบราณคดี

โดยมีศาลนางกาไวที่ชาวบ้านโดยรอบเคารพนับถือ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง  



ส่วนหนังสือที่หลวงสาครคชเขตต์นำเสนอไว้ใน ‘จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีฯ ภาคสาม สารคดีสมัยอดีตกาลและปัจจุบัน’ ข้อมูลในภาคสามในเรื่องราวของสารคดีนี้น่าจะเขียนขึ้นในราว พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๔๙๕ 


     เมืองจันทบุรีเป็นเมืองที่มีตำนานกล่าวว่าได้มาตั้งมาแต่ครั้งโบราณกาล มีเนื้อความปรากฏว่า มีบาทหลวงคนหนึ่ง (ไม่ปรากฏชื่อ) ได้พบแผ่นศิลาจารึกเป็นอักษรสันสกฤตที่ตำบลเขาสระบาป มีเนื้อความว่า เมืองจันทบุรีได้ตั้งมาช้านานประมาณ ๑,๐๐๐ ปีแล้ว ในเวลานั้นชื่อเมือง ‘คานคราบุรี’ เจ้าเมืองผู้สร้างชื่อหางหรือแหง คนพื้นเมืองเป็นชอง เมื่อประมาณ ๙๐๐ ปีมาแล้ว ครั้งนั้นไทยได้ยกกองทัพออกมาตีเจ้าเมืองนั้นได้มอบเมืองนั้นให้แก่ไทย ผู้มีชื่อว่า วาปสตนะอคารญะ เมืองนั้นกว้างขวางใหญ่โตมาก ตั้งอยู่ใกล้กับภูเขาสระบาป เดี๋ยวนี้ยังมีกำแพงก่อด้วยศิลาแลงและเชิงเทินปรากฏสังเกตเป็นเค้าเมืองได้ และมีแผ่นศิลาใหญ่ๆ สลักเป็นลวดลายอย่างโบราณเหลืออยู่บ้าง แผ่นศิลานี้สันนิษฐานได้ว่าเป็นซุ้มประตูและธรณีประตู เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า สถานที่นี้เป็นสถานที่ตั้งเมืองครั้งโบราณเป็นแน่ ถ้านับแต่หนังสือแคมโบช ซึ่งได้กล่าวไว้ข้างต้นนี้ ก็เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐

 

ตามข้อความที่กล่าวมานี้ เป็นข้อความที่ได้มาจาก พระวิภาชวิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) ซึ่งเคยเป็นศึกษาธิกามณฑลจันทบุรี แต่พระวิภาชวิทยาสิทธิ์จะได้ข้อความเหล่านี้มาจากท่านผู้ใดโดยหลักฐานอย่างไร ก็หาทราบตลอดไม่ และหนังสือฝรั่งที่ชื่อว่า แคมโบชหรือหนังสือที่มองสิเออร์อิติแอนนิโอโมเนียได้กล่าวไว้นั้น ผู้เขียนก็ไม่มีโอกาสได้พบเห็น ฉะนั้น ข้อความที่กล่าวไว้จะมีความจริงเพียงใด ก็ยากที่จะยืนยันได้

ทั้งในเรื่อง ‘เมืองจันทบุรี’ ของ ‘ตรี อมาตยกุล’ เขียนตอนตำนานเมืองจันทบุรีไว้ น่าจะในช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นช่วงหลังจากหนังสือของหลวงสาครคชเขตต์ตีพิมพ์ไปแล้วราว ๔ - ๕ ปี และหลังจากปรากฏข้อมูล ในอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ๕ จังหวัด พิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยปรากฏข้อความใกล้เคียงกันว่า 

 

     ‘จันทบุรีเป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งในประเทศไทย แต่จะเริ่มสร้างขึ้นเมื่อใดไม่สามารถจะหาหลักฐานแน่นอนได้ ปรากฏหลักฐานในหนังสือฝรั่งเศสชื่อ แคมโบช ซึ่งชาวฝรั่งเศสชื่อ ม. อีตีเมอร์ เขียนไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ว่า มีบาทหลวงองค์หนึ่งพบศิลาจารึกภาษาสันสกฤตที่ตำบลเขาสระบาป ในศิลาจารึกนั้นมีข้อความว่า เมื่อ ๑,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้ว มีเมืองหนึ่งชื่อ ควนคราบุรี เป็นเมืองที่มีอาณาเขตกว้างขวางมาก ตั้งอยู่เชิงเขาสระบาป ชาวเมืองเป็นเชื้อชาติชอง’

หน้าที่ 3/18

ภาพการแสดงระบำควนคราบุรี โดยวิทยาลัยนาฏศิลป์จันทบุรี


 

พระวิภาชวิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) ซึ่งเคยเป็นธรรมการมณฑลจันทบุรี ผู้ดำเนินการจัดหาที่ตั้งโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี ที่เปิดสอนในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ซึ่งในขณะนั้นมณฑลจันทบุรีมีพระยารณชัยชาญยุทธ (ถนอม บุณยเกตุ) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลต่อจากพระยาวิชยาธิบดี (แบน บุนนาค) ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาหลังจากฝรั่งเศสคืนดินแดนกลางเมืองจันทบุรีให้กับสยามหลังจากยึดครองไปกว่า ๑๐ ปี และเพิ่งเริ่มตั้งมณฑลจันทบุรี ท่านน่าจะเป็นคนร่วมสมัยกับหลวงสาครคชเขตต์ (ป. สาคริกานนท์) ดังนั้น ข้อมูลที่ควรจะเป็นต้นทางข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเรื่องราวของเมืองโบราณที่เชิงเขาสระบาป ในชื่อ ควนคราบุรี จารึกที่พบโดยบาทหลวงผู้หนึ่ง โดยอ้างว่ามาจากหนังสือชื่อ แคมโบช ซึ่งผู้อ้างอิงแต่ละท่านนั้นยังไม่เคยได้อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวแต่อย่างใด อันเนื่องด้วยเป็นหนังสือหายากในช่วงเวลานั้นหรือแม้แต่ในปัจจุบัน 

ข้อมูลที่ท่านธรรมการมณฑลจันทบุรีเขียนน่าจะโดยเริ่มแรกได้ถูกอ้างอิงกันต่อมาเรื่อยๆ โดยเหตุนี้จึงอาจจะเป็นข้อสรุปที่ทำให้เกิดการยึดถือกันตลอดมาโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลง แม้จะมีข้อมูลใหม่ๆ ปรากฏแล้วก็ตาม ดังนี้ข้อมูลจากหน่วยงานทางวัฒนธรรมของจังหวัดในปัจจุบันก็ยังกล่าวถึง ‘ควนคราบุรี’ หมายถึง ชื่อเมืองจันทบุรี โดยอ้างจากหนังสือ ‘อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ๕ จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ระยอง’ โดยไม่อธิบายถึงที่มาและตั้งข้อสังเกตว่า ควนคราบุรีน่าจะเป็นความผิดพลาดของการออกเสียงในภาษาไทย แต่ก็ยังนำเอาชื่อไปประดิษฐ์เป็น ‘ระบำควนคราบุรี’ สร้างเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดจันทบุรีในปัจจุบัน

หน้าที่ 4/18

Etienne Aymonier นักภาษาศาสตร์และนักสำรวจชาวฝรั่งเศส สำรวจโบราณสถาน

ในอาณานิคมของฝรั่งเศสอย่างเป็นระบบในกัมพูชา ไทย ลาว และเวียดนามตอนใต้

โดยพิมพ์ในเอกสารชื่อ ‘Le Cambodge Le groupe d'Angkor et l’histoire’ ช่วง ๑๙๐๐-๑๙๐๔,

ที่มา: วิกิพีเดีย

เมื่อค้นข้อมูลแล้วปรากฏว่าข้อมูลที่อ้างอิงดังกล่าวมาจากหนังสือ ‘กัมโพช ประวัติศาสตร์แห่งกลุ่มเมืองนครวัด’ [Le Cambodge Le groupe d'Angkor et l’histoire] ซึ่งมีทั้งหมด ๓ เล่ม เขียนโดย เอเตียน เอมอนิเยร์ [Etienne Aymonier] โดยเนื้อหาในเล่มที่ ๒ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ หรือ ค.ศ. ๑๙๐๑ กล่าวว่า มีผู้พบจารึกที่จันทบุรีคือ บาทหลวงฟรองซัวส์ ชมิทต์’ [François Schmitt] ซึ่งเป็นบาทหลวงที่สนใจในภาษาโบราณและทำงานสำรวจและศึกษาจารึกร่วมกับ ‘นายปาวี’ [Jean Marie August Pavie]

โดยพบแผ่นจารึกที่ เจดีย์จันทบุรี วัดกลาง ในเมืองจันทบุรี โดยใช้ชื่อตามภาษาสันสกฤตว่า Candanapura (โดยคำนี้ผู้แปลมาเป็นข้อมูลในภาษาไทยน่าจะเข้าใจว่าเป็นชื่อเมืองเก่าที่เชิงเขาสระบาปและกลายเป็นคานคราบุรีหรือควนคราบุรีตามความเข้าใจส่วนตน) 

โดย เอเตียน เอมอนิเยร์ ได้อภิปรายเกี่ยวกับชื่อของ Candanapura ไว้ในเอกสารเรื่องกัมโพช เล่ม ๓ ที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ และในเวลานั้นนายเอเตียน เอมอนิเยร์ ยังไม่เคยเดินทางไปยังเมืองจันทบุรี และเขาอ้างว่านำมาจากเชิงเขาด้านข้างของเขาสระบาปที่ตั้งอยู่ห่างจากปากน้ำจันทบุรีราว ๑๐ กิโลเมตร

จารึกเขียนด้วยภาษาสันสกฤต อักษรขอม มีอยู่ ๘ บรรทัด เขากำหนดอายุไว้ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ ซึ่งเป็นกษัตริย์เขมรในระหว่าง พ.ศ. ๑๕๑๐-๑๕๕๐ เอมอนิเยร์ยังกล่าวอีกว่า ข้อความในจารึกเป็นธรรมเนียมการเขียนที่พบได้ทั่วไปและเขาพบเห็นหลายหลักจากการศึกษาจารึกต่างๆ ในกัมพูชา ซึ่งเนื้อหาเป็นคำสั่งที่มอบให้ทำในนามของกษัตริย์ ธรรมเนียมปฏิบัติของบรรดาบุคคลต่างๆ ซึ่งจารึกนี้น่าจะเป็น จารึกเพนียด ที่บันทึกไว้ว่าพบที่เมืองเพนียด ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี และหลวงสาครคชเขตต์บันทึกไว้ว่า
 

...มีผู้ขุดได้นำไปไว้ที่วัดทองทั่ว แต่ต่อมาภายหลังเมื่อระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๗ (ร.ศ. ๑๒๓) หลังจากที่ฝรั่งเศสได้ถอนกองทหาร ออกจากจันทบุรีไปตั้งที่จังหวัดตราดแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เสด็จเยี่ยมจังหวัดจันทบุรีแล้วพระองค์ท่านมีโอกาสไปตรวจภูมิประเทศพื้นที่บริเวณที่ตั้งเมืองเก่านั้นด้วย จึงได้ทรงนำศิลาจารึกชิ้นดังกล่าวเข้าไปไว้ในกรุงเทพฯ (เข้าใจว่าปัจจุบันนี้คงรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) นอกจากศิลาจารึกที่กล่าวแล้ว ยังปรากฏว่ามีศิลาที่ขุดได้ภายในบริเวณตัวเมืองนั้นอีกหลายชิ้น เวลานี้ (ราว พ.ศ. ๒๔๙๕) ยังรักษาอยู่ที่ลานหน้าพระอุโบสถวัดทองทั่วก็มี รักษาอยู่ที่บริเวณโรงเรียนเบญจมราชูทิศภายในตัวเมืองปัจจุบันก็มี...๘ 
 

ซึ่งบริเวณโรงเรียนเบญจมราชูทิศนั้นใช้พื้นที่วัดกลางที่เป็นบริเวณเดียวกับการพบชิ้นส่วน ‘จารึกเพนียด ๑’ ซึ่งเอ่ยถึงโดยบาทหลวงฟรองซัวส์ ชมิทต์

หน้าที่ 5/18


ต่อมาสำหรับชื่อ ‘ควนคราบุรี’ น่าจะมาจากอะไร เมื่อค้นต่อใน ‘กัมโพช ประวัติศาสต์แห่งกลุ่มเมืองนครวัด เล่ม ๓’ [Le Cambodge Le groupe d'Angkor et l’histoire] ของเอเตียน เอมอนิเยร์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ หรือ ค.ศ. ๑๙๐๔ พบว่าในช่วงที่มีการกล่าวถึงกษัตริย์ผู้สร้างเมืองหางหรือแหงนั้น เขากล่าวถึงข้อมูลจากหนังสือชื่อ ‘ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม’ เขียน โดย ‘นิโกลาส์ แชร์แวส์’ นักเขียนและนักเดินทางชาวฝรั่งเศสที่ติดตามคณะเผยแพร่ศาสนาเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ แชร์แวส์เขียนถึงประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างสยามและกัมพูชาในช่วง พ.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๓๖ แถบเมืองจันทบุรีและชลบุรีที่เอมอนิเยร์ เชื่อว่ามีคนเชื้อสายเขมรถูกตียึดครองไปเป็นของสยาม

ต่อมาใน พ.ศ. ๑๙๒๕ ในยุค ‘ราชาดำ’ ผู้ไปตีเชียงใหม่ก็นำผู้คนมาอยู่ที่จันทบุรี ต่อมากัมพูชายกทัพมานำผู้คนกลับไป ๖,๐๐๐ คน แล้วในปีต่อมานครธมจึงถูกตีแตกไป ตรงนี้แชร์แวส์และเอมอนิเยร์เข้าใจผิด เพราะราชาดำหรือองค์ดำคือสมเด็จพระนเรศวรฯ แต่เหตุการณ์นี้อยู่ในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวรที่ยกทัพไปตีเชียงใหม่แล้วกัมพูชายกทัพมากวาดต้อนผู้คนที่จันทบุรีและชลบุรี หลังจากนั้นในรัชกาลเจ้าสามพระยา กษัตริย์กัมพูชาที่นครธมคือ ‘พระเจ้าธรรมาโศก’ มากวาดต้อนผู้คนไปอีก เจ้าสามพระยาจึงยกทัพไปตีนครธมและให้พระอินทรราชา โอรสปกครองนครธมในฐานะเมืองประเทศราชต่อไป 

เอกสารของ ‘แชร์แวส์’ กล่าวถึงเมืองจันทบุรีที่เอมอนิเยร์เอาไปอ้างในหนังสือของตนว่า
 

...สร้างโดย’เจ้าเมืองหาง’ (Chaou Moeung Hang) ผู้มีฉายาว่า ราชาดำ ซึ่งเป็นผู้สร้างพิษณุโลกได้เป็นผู้ก่อตั้งเมืองนี้บนฝั่งแม่น้ำสายหนึ่งซึ่งมีชื่ออย่างเดียวกัน จันทบุรีเป็นเมืองชายแดนของเขมร อยู่ห่างจากฝั่งทะเลเป็นระยะทางวันหนึ่ง ไทยกับเขมรได้รบกันเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๓๖ เพื่อแย่งกันครอบครอง ‘เมืองจันทบูน’ ซึ่งบางทีก็เรียกว่า ‘เมืองจันทบุรี’ [Chandraburi] คือเมืองแห่งพระจันทร์ และอีกเมืองหนึ่งชื่อว่า เมืองชลบุรี (Choloburi) หรือเมืองจุลบุรี (Culapuri) คือเมืองเล็ก๙ 

ส่วนเอกสารกัมโพชของเอมอนิเยร์เขียนชื่อสถานที่ทั้งสองโดยมีการวงเล็บจากความเข้าใจของเขาซึ่งต่างจากแชร์แวส์คือ ‘Chantaboun (Candrapura?) และ Cbonbouri หรือ Clioloborei (CulapurI?)’ แต่ทั้งคู่ก็เข้าใจไปว่าชื่อ ‘จันทบุรีหรือจันทปุระ’ หมายถึงเมืองแห่งพระจันทร์ ที่ไม่ใช่ไม้หอม และ ‘ชลบุรี’ ที่หมายถึงเมืองแห่งสายน้ำที่ไม่ใช่เมืองเล็กๆ ดังที่พวกเขาเข้าใจ  

ทั้งหมดนี้คือร่องรอยที่ค้นจากหนังสือชุดกัมโพชของเอเตียน เอมอนิเยร์ ที่ถูกอ้างอิงจากข้อมูลจากพระวิภาชวิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) หรือในอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ๕ จังหวัดฯ ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ เรื่องจันทบุรีของนายตรี อมาตยกุล แต่แปลงความไปเป็นความหมายอื่นที่ไม่ตรงกับข้อมูลในเอกสาร แต่ก็อ้างอิงคัดลอกต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ แม้แต่ในอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ฯ ซึ่งเป็นหนังสืออ้างอิงในระดับประเทศก็ยังไม่ได้แก้ไขแต่อย่างใด


ต่อมาการศึกษาทางฝ่ายไทยที่พบว่า จารึกเพนียด น่าจะมีความสำคัญ เกิดจากนักภาษาโบราณจากกรมศิลปากร ศึกษาจารึกหลักหนึ่งที่ได้มาจากจำปาศักดิ์ เรียกว่า จารึกโรงนางสีดาพบในตำบลหนองเวียน นครจำปาศักดิ์ ซึ่งทางคณะอ่านจารึกไทยไปทำสำเนาจากจำปาศักดิ์ ที่เจ้าบุญอุ้มขอความช่วยเหลือมาถึงรัฐบาลไทยในช่วงก่อนสงคราม พ.ศ. ๒๕๑๙ ในลาว ซึ่งมีข้อความเดียวกับจารึกบนเสาหินที่ตำบลพระบาท อำเภอเชิงไพร [Cheung Prey] ในจังหวัดกำปงจาม ตั้งอยู่ทางเหนือของพนมเปญและอยู่ระหว่างแม่น้ำโตนเลสาบและแม่น้ำโขง

เนื้อความเป็นฉบับเต็มจากทั้งสองแห่งว่าเป็นจารึกของ ‘พระเจ้ายโศธรวรมันที่ ๑’ พ.ศ. ๑๔๓๒ เป็นโศลกคาถาอักษรขอมโบราณประพันธ์เป็นฉันท์รูปแบบต่างๆ ภาษาสันสกฤตด้านหนึ่งและอักษรอินเดียเหนือ ภาษาสันสกฤตข้อความเช่นเดียวกัน  ซึ่งด้านที่ ๑ จะเป็นจารึกอักษรขอมโบราณ เป็นโศลกภาษาสันสกฤต ๔๙ บท และมีข้อความร้อยแก้วภาษาเขมรสั้นๆ ไว้ตอนท้าย ด้านที่ ๒ จารึกด้วยอักษรอินเดียเหนือ ภาษาสันสกฤต (อาจจะเป็นอักษรพราหมีฝ่ายเหนือมากกว่าอักษรเทวนาครีที่นิยมใช้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เป็นต้นมาซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากนั้น) เนื้อความตรงกับด้านที่ ๑ และมีจารึกอักษรขอมโบราณที่ตรงกับด้านแรกในภาษาเขมร๑๐

 

สำเนาภาพชิ้นส่วนจารึกเพนียด ๑ ด้านหน้าและหลัง น่าจะเป็นจารึกที่ผู้พบคือ

บาทหลวงฟรองซัวส์ ชมิทต์’ [François Schmitt] ซึ่งเป็นบาทหลวงที่สนใจใ

ภาษาโบราณ ทำงานสำรวจและศึกษาจารึกร่วมกับ ‘นายปาวี’ พบแผ่นจารึกที่

‘เจดีย์จันทบุรี วัดกลาง’ ในเมืองจันทบุรี

 

 

หน้าที่ 6/18

 

จารึกโรงนางสีดา พบในตำบลหนองเวียน นครจำปาศักดิ์

ซึ่งทางคณะอ่านจารึกไทยไปทำสำเนาจากจำปาศักดิ์


เนื้อความเริ่มต้นด้วยการอ้อนวอนเทพเจ้าทั้ง ๓ พรรณนาถึงราชวงศ์ของพระเจ้ายโศวรมัน สรรเสริญพระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้า      ยโศวรมันที่ประดิษฐานเทวรูปทั้ง ๔ ของพระศิวะและเทพีทุรคาไว้ในเกาะบ่อน้ำที่พระบิดาของพระองค์ (พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ ทรงให้ขุดไว้ และตัวพระองค์เองก็ขุดบ่อน้ำ (บารายตะวันออก) ระบุช่วงเวลาในปีมหาศักราชที่ ๘๑๑ ทรงประดิษฐานอารามแห่งหนึ่งชื่อว่า ยโศธาราม เพื่อเคารพพระคเณศ บนภูเขาจันทนะ และวางกฎเกณฑ์เพื่อบริหารกิจการสำนักนี้ จารึกที่เหลือคือกล่าวถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ

โดยการศึกษาของมาร์ชุมดา๑๑ เมื่อเปรียบเทียบจารึกที่มีข้อความเกือบเหมือนกันทุกประการกับจารึกอีก ๑๑ หลัก พบที่พระตะบอง เสียมเรียบ จำปาศักดิ์ กำปงจาม บาพนม บันทายมาศ และบาสัก แตกต่างเพียงคาถาที่ ๓๖ ซึ่งใช้ชื่อเทพและเทพี ๙ แห่งที่แตกต่างกันตามท้องถิ่น ดังนี้ ปราสาทตาเสียว พระตะบอง เทพสตรีชื่อ ‘นิทรา’, ปราสาทพะโค เสียบเรียบ เทพเจ้าชื่อ ปรเมศ, ปราสาทพระนาคโพ มูลไพร หรือมโนไพร อยู่ในเขตเขมรใกล้จำปาศักดิ์ เทพเจ้าชื่อ คเณศ, พระธาตุพระศรี ตโบงฆมุม (ตโบงฆมุม แปลว่าอำพันเป็นจังหวัดอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยมีกำปงจามอยู่ทางฝั่งซ้ายในประเทศกัมพูชา) เทพเจ้าชื่อ ปัญจลิงเคศวร, พระธาตุขะท่อม ตะโบงฆมุม เทพเจ้าชื่อ เทพเจ้าแห่งเราทร-ปรฺวตะ, วัดหา บาพนม เทพเจ้าชื่อ การ์ติเกยะ, วัดกันดาล บาพนม เทพเจ้าชื่อ นารายณะ, พระโองการ บันทายมาศ เทพเจ้าชื่อพราหมรักษาษะ, คูหาพระ บันทายมาศ โศลกที่ ๓๖ ชำรุดไม่ปรากฏ, โหทะมะ บาสัค เทพเจ้าชื่อรุทธรา-ณี, พะเนียด จันทบุรี โศลกที่ ๓๖ ชำรุดไม่ปรากฏ

จารึกเพนียด สภาพชำรุดมาก แต่พบว่าจารึกด้านที่ ๑ มี ๘ บรรทัด ส่วนจารึกด้านที่ ๒ มี ๕ บรรทัด ซึ่งเป็นชิ้นส่วนจารึกที่มีรูปแบบและข้อความตอนท้ายเหมือนกัน แต่บทความของเอมอนิเยร์สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ ที่ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๑๐-๑๕๕๐ โดยเขาระบุว่า ‘จำ’ ข้อความบางส่วนที่พบเพียง ๘ บรรทัดนั้นได้จากการสำรวจจารึกต่างๆ ทั่วกัมพูชา

แต่จารึกกลุ่มนี้หลักหนึ่งถูกเรียบเรียงข้อมูลใหม่ในชื่อ ‘จารึกพระบาท’ ซึ่งภายหลังทั้ง ‘เดอลาชงกิแยร์’ และ ‘ยอร์จ เซเดส์’ เห็นว่าเป็นจารึกในรัชกาลของพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ พ.ศ. ๑๔๓๒ ซึ่งเซเดส์ค้นคว้าและเขียนรายงานว่ามีข้อความเหมือนกันทั้ง ๑๑ แห่ง ซึ่งต่างเฉพาะโศลกที่ ๓๖ และโดยเปรียบเทียบกับจารึกอีกหลายหลักดังแสดงหลักฐานข้างต้น

หากรวมกับจารึกพบที่จำปาศักดิ์ในบริเวณที่เรียกว่าปราสาท​โรงสีดาในนครจำปาศักดิ์และจารึกพระบาทที่เชิงไพรในกำปงจามก็จะเป็นจารึกจำนวน ๑๑ หลักที่มีข้อความเดียวกันและแตกต่างในการกล่าวบูชาเทพประจำอาศรมนั้นตามพื้นที่ซึ่งนำไปประดิษฐาน กรณีที่พระเจ้ายโสวรมันที่ ๑ สร้างอาศรมเพื่อเป็นที่พักกลางทางสำหรับนักบวชและราชวงศ์ และมอบจารึกไปทั่วกล่าวกันว่ากว่า ๑๐๐ แห่งในช่วงปีแรกแห่งรัชกาล และเมื่อมาพบที่โบราณสถานเพนียด เชิงเขาสระบาปจึงน่าจะเป็นหลักฐานสำคัญในการวิเคราะห์สภาพบ้านเมืองในบริเวณเมืองจันทบุรีโบราณได้อย่างดี เพียงแต่ต้องคลี่คลายในรายละเอียดอันคลุมเครือที่มีมาของหลักฐานต่างๆ เสียก่อน

หน้าที่ 7/18

ในครั้งนี้ ‘เดอ ลาชงกิแยร์’ ถือเป็นนักสำรวจชาวฝรั่งเศสคนแรกที่เริ่มสำรวจพื้นที่เชิงเขาสระบาปอย่างละเอียดและทำแผนผังบันทึกเท่าที่ข้อจำกัดเรื่องเวลาจะทำได้ โดยเริ่มงานสำรวจและทำแผนผังในจันทบุรี ‘ตั้งแต่ ๒๙ เมษายน-๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๑’ เขาบันทึกในรายงานสรุปไว้ว่า ‘บาทหลวงฟรังซัว ชมิทต์’ เข้ามาสำรวจพบ ‘จารึกเพนียด ๑’ นี้ที่วัดกลาง และสันนิษฐานว่าอาจจะมาจากแถบเขาสระบาป โดยบาทหลวงชมิทต์ส่งสำเนาไปให้ ‘เอมอนิเยร์’ อ่าน ซึ่งกรณีนี้เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของ ‘ม.ปาวี’ อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่ฝรั่งเศสจะยึดเมืองจันทบุรีที่ศูนย์กลางการปกครองเป็นประกันให้สยามจ่ายค่าเสียหายจากกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ร.ศ. ๑๑๒ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยการอ้างถึงข้อมูลของเอมอนิเยร์ และกล่าวว่าจารึกที่เพนียดนั้นพบว่าอยู่ที่ในบริเวณที่ว่าการ ‘มณฑล’ ซึ่งช่วงเวลาที่ ‘เดอ ลาจงกิแยร์’ เข้ามาสำรวจนั้น

ฝรั่งเศสยึดบริเวณที่มีคันดินรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัสกลางเมืองเก่าจันทบุรี [Citadel] ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของจวนเจ้าเมืองจันทบุรีแต่ดั้งเดิม ต่อมาสร้างตึกที่ทำการอีกหลายหลังแบบโคโรเนียล ปัจจุบันคือกลุ่มตึกฝรั่งเศสในเขตตัวเมืองจันทบุรีเก่าในกองพลนาวิกโยธินค่ายตากสิน และช่วงถอนตัวออกไปแล้วรัฐบาลสยามยังคงใช้พื้นที่ตัวตึกอาคารต่างๆ ที่ฝรั่งเศสสร้างไว้เป็นที่ทำการมณฑลที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังจากฝรั่งเศสถอนกองทหารไปแล้ว บริเวณนี้จึงเป็นที่เก็บโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งดังที่บาทหลวงชมิทต์ไปเก็บมาจากแถบเจดีย์วัดกลางที่อยู่ไม่ไกลนัก   

เดอ ลา ชงกิแยร์ เข้าไปสำรวจแถบคลองนารายณ์หลังจากสอบถามข้อมูลคนท้องถิ่นและบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่อยู่จันทบุรีมาอย่างยาวนานก็ไม่มีใครให้ข้อมูลเรื่องโบราณสถานแบบปราสาทหินที่เชิงเขาสระบาปได้ เขาพบเนินโบราณสถานและชิ้นส่วนครึ่งด้านขวารูปมกรตรงกลางอาจจะเป็นครุฑ ส่วนด้านบนเห็นว่าหายไป ภาพสลักบนแท่นหินรูปหญิงห้าคนถือดอกบัวและพัดใบตาล และชิ้นส่วนกรอบประตู เมื่อไปสำรวจที่เพนียด เขากล่าวว่าศิลาแลงจากที่นี่ถูกขนไปสร้าง ท่าเรือจันทบุรี และทำเป็นรากฐานอาคารโบสถ์เจดีย์ 

การทำท่าเรือจันทบุรีและการสร้างและซ่อมบูรณะวัดวาอารามต่างๆ ในจันทบุรีนั้นซึ่งใช้เป็นสถานที่ต่อเรือรบและเรือต่างๆ เพื่อสนับสนุนการรับศึกญวนในครั้งการเตรียมรับศึกระหว่างสยามและอันนัมหรือฝ่ายญวน ระหว่างช่วง .. ๒๓๗๖-๒๓๙๐ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณท่าแฉลบในปัจจุบัน๑๓

แต่ชาวบ้านท้องถิ่นเล่ากันต่อมาว่า มีการก่อสร้างศาสนสถานที่ริมแม่น้ำจันทบุรีในเขตตำบลพุงทะลายหรือตำบลจันทนิมิต ชาวบ้านกล่าวว่าชาวฝรั่งเศสให้ชาวบ้านทองทั่วขนศิลาแลงดังกล่าวใส่เกวียนไปถมพื้นที่ลุ่มบริเวณนั้น แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลของ ‘เดอ ลาชงกิแยร์’ แล้ว อาจจะเป็นการขนศิลาแลงไปใช้ในช่วงการสร้างท่าเรือจันทบุรีที่ท่าแฉลบและการก่อสร้างเมืองใหม่ที่เนินวงในครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

แผนผังที่ ‘เดอ ลาชงกิแยร์’ กล่าวถึงสิ่งก่อสร้าง ๓ กลุ่ม กลุ่ม A สูงราว ๕๐ เมตร กว้าง ๑๐ เมตร

ส่วนด้านนอกที่เชื่อมต่อแนวด้านตะวันออก-ตะวันตก มีขนาดราว ๗๐ เมตร และแนวเหนือ-ใต้ราว ๓๕ เมตร

อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ เขาสันนิษฐานว่าเป็นอาคารพระราชวังของเมือง เป็นแนวระเบียงที่ต่อกับ

หอเปลื้องเครื่อง ส่วนทางทิศใต้ห่างไปราว ๑๐๐ เมตร อาจเป็นศาสนสถานขนาดเล็กๆ ฐานทำจากศิลาแลง

ที่มา: Le domaine archéologique du Siam, 1909



ซึ่งมีบันทึกโดยละเอียดในเอกสารของหมอบรัดเลย์ และถ้าจะขนไปที่ตำบลพุงทะลาย ก็มีการสร้างเจดีย์ขนาดย่อมที่เขาน้อยซึ่งมีการใช้ก้อนศิลาแลงขนาดใหญ่และเป็นจุดหมายสำคัญของเมืองที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับเมืองจันทบุรีเก่า แต่พื้นที่ริมน้ำในปัจจุบันกลายเป็นเขื่อนริมน้ำของอาคารและโรงแรมสร้างใหม่ในบริเวณติดกับเจดีย์เขาน้อย ส่วนพื้นที่โดยรอบนั้นล้อมรอบด้วยที่ลุ่มต่ำ ยกเว้นเขามอบริเวณรอบเขาน้อยนี้เท่านั้น

หน้าที่ 8/18

นอกจากนี้ ‘เดอ ลาชงกิแยร์’ ยังกล่าวถึงซากฐานขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบลานด้านในสองส่วนเขาสันนิษฐานว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งแตกต่างไปจากผังของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ขนาดใหญ่แบบที่พบในกัมพูชา มีกลุ่มอาคารต่างๆ โดยรอบที่เขาทำแผนผังมาด้วย พบแผ่นหินสลักภาพมกรหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางเขาสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นพระวิษณุส่วนด้านบนหายไป ซึ่งคล้ายกับชิ้นที่พบจากสำนักงานที่ทำการเมือง ที่สำคัญคือเขาคิดว่าน่าจะใช้ตกแต่งหน้าจั่วหรือ ‘หน้าบัน’ โดยชิ้นส่วนหินทรายนี้มีรูปแบบคล้ายกับลวดลายที่พบจากโบราณสถานแบบ ‘ถาลาบริวัต’ ที่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ คนในปัจจุบันมักเรียกเป็น ‘ทับหลัง’ ทั้งที่ลักษณะค่อนข้างเล็กสั้นกว่าการเป็นทับหลัง สังเกตว่ารูปด้านบนถูกตัดออกหรือหายไป ปัจจุบันโบราณวัตถุชิ้นนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 

เขายังกล่าวถึงเจดีย์ที่วัดทองทั่วที่อยู่ห่างจากเพนียดไปทางทิศตะวันออกเฉียงหนือราว ๑๐๐ เมตร มีฐานของวิหารที่ยกขึ้นอาจจะเป็นฐานเก่า อย่างไรก็ตาม เขามั่นใจว่าน่าจะเป็นศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องกับที่พบในกัมพูชาและวิเคราะห์ไปว่าเนื่องจากเป็นเขตที่ห่างไกลจึงน่าจะเป็นกลุ่มบ้านเมืองอาณานิคมที่สถาปนาโดยพวกพราหมณ์ฮินดูและถูกผนวกให้กลายเป็นอาณาจักรกัมพูชา โดยใช้คำอธิบายจากข้อความในจารึกนั้น

กล่าวโดยสรุปสิ่งที่นักสำรวจชาวฝรั่งเศสทั้งบาทหลวงชมิตท์ และเดอ ลาชงกิแยร์ พบและบันทึกส่งให้ข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาลจันทบุรีและถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่หอวชิรญาณคือ จารึกเพนียด ๑, แผ่นหินสลักรูปหญิง ๕ คน แผ่นหินที่อาจจะเป็นหน้าจั่วหรือหน้าบัน ๒ ชิ้น โดยเป็นชิ้นส่วนด้านขวา ๑ ชิ้น ซึ่งทั้ง ๓ รายการนี้นำไปเก็บรักษาไว้ที่หอวชิรญาณ ส่วนชิ้นเต็มที่วาดลายเส้นไว้คงอยู่ที่วัดทองทั่วและส่วนด้านปลายข้างขวาน่าจะหักหายไป นอกจากนั้นเป็นวัตถุที่ติดอยู่กับโบราณสถานที่กลุ่มเพนียดริมคลองนารายณ์ที่เขาสันนิษฐานว่าน่าจะมีร่องรอยของความเชื่อในพระวิษณุแต่คงสูญหายไปหมดแล้ว

 

 

ภาพลายเส้นที่เขาระบุว่าเป็นหน้าบันรูปจั่ว พบที่บริเวณเพนียด มีรูปลวดลายเป็นวงรีตรงกลางระหว่างหัวมกร ๒ ด้าน ด้านในน่าจะเป็นกลุ่มของรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ

ชิ้นส่วนหินทรายนี้มีรูปแบบคล้ายกับลวดลายที่พบจากโบราณสถานแบบ ‘ถาลาบริวัต’ ที่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒

ที่มา: Le domaine archéologique du Siam, 1909

หน้าที่ 9/18

‘อุไรวรรณ รัตนวิระกุล’ ศึกษาแหล่งโบราณคดีกลุ่มเพนียดเพื่อขอรับวิทยานิพนธ์ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร๑๔ โดยบรรยายถึงผลการสำรวจและข้อสันนิษฐานกลุ่มโบราณสถานเพนียด นำมาเรียบเรียงเพิ่มเติมและจัดกลุ่มใหม่ได้ดังนี้คือ

กลุ่มโบราณสถานเพนียดริมคลองนารายณ์

- โบราณสถานเพนียดหรือบาราย ได้รับการขุดแต่งทางโบราณคดีแล้ว พบว่าเป็น ‘สระน้ำยกสูงหรือบาราย’ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๒ สระ วางตัวในแนวเหนือใต้ น่าจะเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นโบราณสถานเด่นชัดเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ของบ้านเมืองที่เชิงเขาสระบาปแห่งนี้ มีการขุดแต่งทางโบราณคดีที่บารายด้านทิศเหนือ ส่วนบารายฝั่งทิศใต้นั้นยังไม่เห็นรูปสัณฐานที่ชัดเจน บารายด้านทิศเหนือ ขอบฝั่งด้านเหนือซึ่งเหลือขอบสูงกว่าด้านอื่นๆ เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่กาไวที่มีตำนานในท้องถิ่นของชาวบ้านโดยรอบ ความสูงแต่ละด้านนั้นไม่อาจประเมินได้ว่าขอบสระนั้นเท่ากันทุกด้านหรือไม่ เพราะมีรายงานว่าก้อนศิลาแลงถูกนำไปใช้สร้างศาสนสถานและท่าเรือทางท่าแฉลบ บารายมีขนาดกว้างราว ๖๐ เมตร ยาวราว ๔๐ เมตร มีมุขยื่นอยู่ทางทิศใต้ด้านนอก ส่วนบันไดทางขึ้นลงสระอยู่ทางด้านในในทิศตะวันตก ขอบด้านในอาจจะทำแบบลดระดับเป็นชั้นๆ ในทางทิศเหนือ ส่วนด้านในเป็นพื้นลานที่ในอดีตอาจจะมีตาน้ำ โดยรอบยังพบอิฐดินเผาเนื้อแกร่งละเอียด อาจจะมีโบราณสถานแบบปราสาทในบริเวณใกล้เคียงมาก่อน การศึกษาทางโบราณคดีเมื่อไม่นานที่ผ่านมาซึ่งยังไม่เสนอรายงานกล่าวโดยรวบรัดว่า พบกระเบื้องกาบกล้วยและเชิงชายและชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม พบโบราณวัตถุที่เป็นภาชนะและเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแบบเคลือบสีน้ำตาลแบบเตาบ้านกรวด เช่น กระปุก ไหเท้าช้าง, เคลือบเขียวแบบราชวงศ์ซ่ง และมีการพบชิ้นส่วนมโหระทึกที่กล่าวกันว่านำมาจากแถบนี้ด้วยและจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัดทองทั่วซึ่งอาจจะได้รับมาจากชาวบ้านในละแวกนี้ก็น่าจะเป็นได้

- เนินโบราณสถานที่วัดเพนียด (ร้าง) เนินโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่สูงกว่า ๓ เมตรจากพื้นที่โดยรอบ ขนาดราว ๒๐x๔๐ เมตร ฐานก่อด้วยอิฐไม่สอปูนและมีแนวกำแพงแก้วทำด้วยศิลาแลงส่วนหนึ่ง ตั้งอยู่ริมคลองนารายณ์ ห่างจากโบราณสถานเพนียดหรือบารายมาทางตะวันออกเฉียงใต้ไม่ไกลนัก โบราณวัตถุที่สันนิษฐานว่าพบในบริเวณนี้ นอกจาก ‘จารึกเพนียด ๑’ ที่กล่าวไปแล้วว่ามีการเก็บรักษาไว้ที่ ‘วัดกลาง’ จากนั้นนำไปรวบรวมไปไว้ยังที่ทำการมณฑลจันทบุรีตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือ ‘จารึกเพนียด ๑’ แล้วเอกสารจากกรมศิลปากรกล่าวว่ายังมี ‘จารึกเพนียดหลักที่ ๕๒’๑๕ ที่นักสำรวจชาวฝรั่งเศสไม่ได้กล่าวถึง เป็นจารึกภาษาขอม อักษรขอมโบราณสันนิษฐานจากรูปแบบอักษรว่าน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เช่นกัน เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดวชิรญาณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน  

บริเวณโดยรอบแถบนี้ น่าจะเป็นสถานที่พบแผ่นหินแกะสลักแบบถาลาบริวัต จำนวน ๒ ชิ้น สลักลวดลายเป็นรูปมกรหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางเป็นรูปครุฑยุดนาคภายในวงโค้ง ซึ่งส่วนด้านบนหายไป อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดทองทั่วชิ้นหนึ่ง และที่นักสำรวจชาวฝรั่งเศสรายงานว่าพบที่วัดกลาง เมืองจันทบุรีและนำไปรวบรวมไว้ยังที่ทำการมณฑลเทศาภิบาลก่อนจะนำไปเก็บรักษาไว้ที่หอวชิรญาณ

 

แผ่นหินแบบถาลาบริวัตรที่อาจจะเป็นหน้าจั่วเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 

หน้าที่ 10/18


แผ่นหินสลักภาพเล่าเรื่องบุคคลนั่งบนแท่น ๕ คน ถือดอกไม้ นุ่งผ้าสั้นจีบริ้ว นั่งอยู่หน้าอาคารที่มุงหลังคาเป็นรูปกระเบื้องกาบกล้วย เชิงชายสลักเป็นรูปกลีบบัว ซึ่งเป็นชุดที่ได้มาจากที่ทำการณฑลเทศาภิบาลในยุครัชกาลที่ ๕ เช่นกัน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ซึ่งโบราณวัตถุที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งซึ่งนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรีเช่นเดียวกันคือ ‘เศียรพระหริหระ’ ซึ่งหมายถึงการอวตารรวมกันของพระศิวะและพระวิษณุในศิลปะแบบพนมดา ซึ่งต้นแบบอยู่ทางใต้ของพนมเปญตามลำน้ำบาสัคใกล้กับอังกอร์บอเรยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาร่วมสมัยกับการปรากฏของพระหริหระในอินเดียตอนเหนือ นอกจากนั้นเป็นส่วนต่างๆ ของศาสนสถาน เช่น แท่งหินปลายงอน ที่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของศาสนสถานแบบปราสาทจาม โดยแบ่งไปเก็บรักษาไว้ทั้งที่วัดทองทั่วเป็นส่วนใหญ่  

 

ภาพถ่ายชิ้นส่วนแผ่นสลักเรื่องราวที่มีสตรี ๕ คน และอาคารที่เห็นหน้าจั่วและเห็นการใช้กระเบื้องกาบกล้วยมุงหลังคาชัดเจน

โดยนำไปเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดวชิรญาณในคราวเดียวกันกับแผ่นหินแบบถาลาบริวัตร ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี

 

หน้าที่ 11/18

ภาพชิ้นส่วนแผ่นหินที่น่าจะเป็นหน้าจั่วหรือทับหลังแบบไพรกเมง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดทองทั่ว (ซ้าย)

และแผ่นหินสลักลวดลายแถบบถาลาบริวัตรเต็มชิ้น แม้จะมีรอยแตกหักเสียหาย เก็บรักษาไว้ที่วัดบนในอำเภอท่าใหม่ (ขวา)


 

‘วัดทองทั่ว’ ตั้งอยู่ไม่ไกลจาก ‘บารายเพนียด’ แต่เฉพาะโบราณสถานที่วัดทองทั่วมีร่องรอยว่าเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งชาวบ้านและทางวัดนำโบราณวัตถุจากวัดเพนียดและพื้นที่โดยรอบไปเก็บรักษาไว้จนกลายเป็นสิ่งของสำคัญหรือศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน เช่น โบราณวัตถุที่เป็นรูปแบบทับหลังบ้าง ประติมากรรมบ้าง ฐานเทวรูปบ้าง โดยเก็บรักษาแผ่นหินสลักลายแบบ ‘ถาลาบริวัตอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และแผ่นหินที่น่าจะเป็น ทับหลังแบบไพรกเมงอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของวัด สำหรับชิ้นที่พบจากเมืองเพนียดชำรุดฝั่งขวาและมีร่องรอยการกลึงขอบให้มีขนาดเล็กลงจนตัดเอาลวดลายด้านบนและล่างบางส่วนหายไป 

นอกจากนี้ยังพบแผ่นหินแกะสลักเก็บรักษาไว้ที่ ‘วัดบน’ ในอำเภอท่าใหม่แบบถาลาบริวัตที่เป็นรูปมกรคายเส้นวงโค้งและมีกรอบรูปคนด้านในถือบางอย่างทั้งสองมือ ส่วนด้านล่างเป็นรูปพวงอุบะห้อย รูปร่างของแผ่นหินเป็นวงโค้งขนาดเล็ก แต่เป็นชิ้นส่วนที่ครบสมบูรณ์เพียงแต่มีรอยแตกหักในส่วนที่ค่อนไปทางซ้าย รูปแบบเดียวกับแผ่นหินจากกลุ่มโบราณสถานเพนียด ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับการแกะสลักลวดลายบนทับหลังที่ถาลาบริวัตในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ซึ่งรูปแบบแผ่นหินเต็มใบนี้ ‘เดอลาชงกิแยร์’ ร่างภาพลายเส้นแบบเต็มชิ้นไว้และน่าจะเป็นชิ้นเดียวกับแผ่นหินเก็บรักษาไว้ที่วัดบน ท่าใหม่ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าอาจจะนำมาจากสถานที่รวบรวมแห่งเดียวกันคือที่วัดกลางในเมืองจันทบุรี และนำมาอีกทอดหนึ่งจากที่เพนียด เชิงเขาสระบาปนั่นเอง โดยชิ้นที่ส่วนชิ้นหักครึ่งขวานั้นลวดลายเด่นชัดสมบูรณ์กว่า และมีในราย-  งานที่เดอ ลาชงกิแยร์พบด้วย จึงน่าจะถูกนำไปเก็บรักษาไว้ในพระนครภายหลัง

หน้าที่ 12/18

แผ่นหินสลักลายบนพื้นผิวเป็นรูปพระพิฆเนศ เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดทองทั่ว (ซ้าย)

และโกลนสิงห์นั่งแบบยุคสมัยเมืองพระนคร ที่ เดอ ลาชงกิแยร์ กล่าวถึงไว้ในการสำรวจว่าพบบริเวณวัดทองทั่ว (ขวา)


ยังมีกรอบประตูและเสาประดับกรอบประตู แท่งหินรูปร่างยาวปลายงอนประดับปราสาทแบบจามที่ได้มาจากวัดเพนียด (ร้าง) ๒ ชิ้น, พระคเณศหินแกะเป็นลายเส้นลงบนแผ่นทราย, โกลนสิงห์นั่งนำไปประดับอยู่ที่หน้าโบสถ์วัดทองทั่ว เหลือเพียงตัวเดียวจากความทรงจำของชาวบ้านที่กล่าวว่ามี ๒ ตัว  สิงห์อีก ๒ ตัวน่าจะมาจากบริเวณใกล้เคียงนี้ถูกนำไปไว้ที่ ‘วัดกลาง’ ในเมืองจันทบุรี ก่อนจะถูกนำไปไว้ที่โรงเรียนชายประจำมณฑลจันทบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ซึ่งคือโรงเรียนเบญจมราชูทิศในปัจจุบันซึ่งอยู่ในพื้นที่ด้านหลังของวัดกลางนั่นเอง เป็นสิงห์รูปแบบยุคสมัยเมืองพระนครไปแล้วคือหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ไปแล้ว ซึ่งเคยอยู่ในบริเวณเดียวกับวัดโบสถ์เมืองและวัดบน 

และที่เนินโบราณสถานใกล้กับวัดทองทั่ว พบร่องรอยแนวศิลาแลง ไม่มีซากอาคารโบราณสถาน พบหลักฐานอื่นๆ ในบริเวณนี้ เช่น แผ่นหินทรายขนาดราว ๑ เมตร กว้างประมาณ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร คล้ายกับที่พบบริเวณวัดเพนียด (ร้าง), ชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมต่างๆ มีทั้งเป็นแผ่นหินและแบบสลักลวดลาย, แท่งศิลาแลงที่อาจจะเป็นส่วนเสา, ชิ้นส่วนประติมากรรมทำจากหินทรายแดง  

หน้าที่ 13/18

กลุ่มโบราณสถานวัดสมภารร้างริมคลองสระบาป

- วัดสมภาร (ร้าง) เป็นเนินดินสูงประมาณ ๒ เมตรที่ถูกไถทิ้งไปแล้วและกลายมาเป็นบึงน้ำ ตั้งอยู่ใกล้กับริมคลองสระบาปที่ไหลขนานกับแนวคลองนารายณ์และห่างจากวัดเพนียด (ร้าง) ทางตะวันออกเฉียงใต้ราว ๖๐๐ เมตร และห่างจากตัวบารายเพนียดราว ๑ กิโลเมตร กล่าวว่าหลักฐานทางโบราณคดีส่วนหนึ่งนำไปเก็บไว้ที่วัดสระบาป ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน เป็นจำพวกแผ่นหินทรายขนาดใหญ่ บ้างชิ้นน่าจะเป็นชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมและจารึกชิ้นที่เป็นรูปเหลี่ยมมีช่องด้านในคล้ายฐานรองเทวรูป แต่นำมาใช้จารึก เรียกว่าจารึกวัดไชยชุมพลหรือวัดสระบาปนั่นเอง 

อีกชิ้นหนึ่งพบที่วัดทองทั่ว เป็นชิ้นเล็กกว่า แต่การวิเคราะห์เนื้อหา ยอร์ช เซเดส์ ซึ่งขณะนั้นรับราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ใหญ่ประจำหอสมุดวชิรญาณระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๑-๒๔๗๒ เสนอบทความ ‘การขยายตัวของกัมพูชาไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ในคริสต์ศตวรรษที่ ๗ จากจารึกที่พบใหม่ที่จันทบูร’ ในวารสาร Bulletin de l'Ecole française d’Extrême-Orient. พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยจารึกสำคัญพบโดย le Frère Hilaire บาทหลวงผู้เป็นอาจารย์จากวิทยาลัยอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ พบชิ้นเล็กที่วัดทองทั่ว เมื่อราวเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๒ และ ‘พระวิภาชวิทยาสิทธิ’ พบจารึกชิ้นใหญ่ที่พบที่วัดสระบาปหรือในชื่อเดิมคือวัดไชยชุมพล

เมื่อ ยอร์ช เซเดส์ อ่านจึงสรุปว่า ชิ้นส่วนจารึกวัดทองทั่วและจารึกจากวัดสระบาปหรือวัดไชยชุมพลเป็นจารึกหลักเดียวกัน จึงเรียกว่า จารึกจันทบุรี หรือ จารึกวัดทองทั่ว-วัดไชยชุมพล ชิ้นเล็กพบที่วัดทองทั่วมี ๘ บรรทัด และชิ้นใหญ่พบที่วัดสระบาปหรือวัดไชยชุมพลที่สันนิษฐานอีกว่าอาจจะนำมาจากวัดสมภาร (ร้าง) ที่อยู่ใกล้เคียง แท่นหินนั้นรูปร่างน่าจะเคยเป็นฐานเทวรูปมาก่อนมีอยู่ ๑๖ บรรทัด เขียนด้วยอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร ประมาณอายุแล้วอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ น่าจะสั่งให้ทำโดย ‘พระเจ้าศรีอี-ศานวรมันที่ ๑’ (พ.ศ. ๑๑๕๘-๑๑๗๘) เนื้อความโดยส่วนใหญ่เป็นรายชื่อของทาสจำนวนมากและโค-กระบือที่ทรงอุทิศถวายไว้ให้แก่เทวสถานนั้น โดยตอนท้ายในบทความของเซเดส์ได้ตั้งประเด็นเรื่องชื่อของทาสเหล่านั้นหลายชื่อเป็นชื่อในภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาเขมร๑๖ 

การวิเคราะห์จารึกนี้แสดงออกถึงแนวคิดแบบอาณานิคมของเซเดส์และนักวิชาการทั้งชาวฝรั่งเศสและอินเดียอย่าง มาจุมดาร์ ที่เสนอมั่นใจว่าเป็นการยึดครองดินแดนนี้ (จันทบุรี) โดยกษัตริย์กัมพูชาตั้งแต่เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ยังยอมรับว่าประชากรพื้นฐานในระดับล่างเป็นเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกันไป ดังปรากฏรายชื่อของผู้รับใช้ที่วิหารไม่ใช่ชื่อชาวเขมรอย่างแน่นอน๑๗ 

ชื่อกษัตริย์ที่ปรากฏในประโยค ‘ศิลาที่สกัดด้วยเหล็กที่พระเจ้าศรีอีศานวรมัน ได้พระราชทานไว้’ โดย ‘พระเจ้าอีศานวรมัน' ครองราชย์ในช่วง พ.ศ. ๑๑๕๘-๑๑๗๘ ทรงเป็นโอรสของ ‘มเหนทรวรมัน’ หรือ ‘จิตรเสน’ ทั้งสองพระองค์เป็นกษัตริย์แห่ง ‘เจนละ’ โดยมีร่องรอยของจารึก ‘จิตรเสน’ ในแถบปากน้ำมูล โขงเจียม ร้อยเอ็ดในกลุ่มนครจำปาศรี และแถบเทือกเขาพนมดงเร็ก มาจนถึงกลุ่มปราสาทเขาน้อยที่สระแก้วและวัฒนานครกว่า ๑๕ หลัก จนถึงเพนียดที่จันทบุรี

ภาพสำเนาจารึกจันทบุรี’ หรือ ‘จารึกวัดทองทั่ว-วัดไชยชุมพล’ ชิ้นเล็กพบที่วัดทองทั่วมี ๘ บรรทัด

และชิ้นใหญ่พบที่วัดสระบาปหรือวัดไชยชุม 


 

พระเจ้าอีสานวรมันครองราชย์ที่ ‘อีสานปุระ’ ซึ่งอยู่บริเวณที่มี ‘ปราสาทสมโบร์ไพรกุก’ ในจังหวัดกำปงธมของกัมพูชาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีกลุ่มปราสาทอยู่ ๓ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า ๒,๕๐๐ ไร่ หรือราว ๔ ตารางกิโลเมตร ถือว่าเป็นเมืองใหญ่โตแห่งหนึ่งในยุคแรกเริ่มนครรัฐในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

หน้าที่ 14/18

ชิ้นส่วนจารึกที่อาจจะแตกกระจัดกระจายมาจากจารึกวัดทองทั่ว-วัดไชยชุมพลหรือจารึกอื่น พบที่ค่ายตากสิน และในอาณาบริเวณเมืองเพนียด


 

โบราณวัตถุซึ่งเก็บไว้ที่ ‘วัดสระบาป’ นักวิชาการท้องถิ่นเช่น อุไรวรรณ รัตนวิระกุล สัมภาษณ์ชาวบ้านและข้อมูลอื่นๆ ประกอบก็เชื่อว่านำมาจาก ‘วัดสมภาร (ร้าง)’ ที่อยู่ฝั่งคลองตรงข้ามโดยไม่พบโบราณวัตถุดั้งเดิมที่วัดสระบาป เช่น ชิ้นส่วนพระหัตถ์ถือสังข์ ทำจากหินทราย, พระหัตถ์ถือคทาแปดเหลี่ยม, พระหัตถ์ทรงธรณี ชิ้นส่วนแขน ซึ่งทั้งหมดอาจจะเป็นพระวิษณุ, ศิวลึงค์หินทรายและแท่นใส่ศิวลึงค์, รางโสมสูตร, ฐานโยนี, ชิ้นส่วนหินทรายปลายงอนที่น่าจะใช้ประดับศาสนสถานแบบจาม ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดทองทั่ว  

ส่วน ‘จารึกขลุง’ เป็นชิ้นส่วนแตกหักและมีข้อความไม่มากนัก กว้างด้านละประมาณ ๑๘ เซนติเมตร อักษรปัลลวะ รูปแบบอักษรสันนิษฐานว่าอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ร่วมสมัยกับจารึกวัดสระบาปและจารึกวัดทองทั่ว เป็นจารึกที่กล่าวถึงการทำบุญโดยพระราชาพระองค์หนึ่งไม่ทราบพระนามเพราะจารึกชำรุด และอาจมีนามของผู้เป็นใหญ่อีกผู้หนึ่งว่า ‘ศรี จันทรายณนาถะ’ ที่ปรากฏในบรรทัดต่อมา ประวัติว่า ผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่งขุดพบโดยบังเอิญ ขณะกำลังทำสวนพริกไทยซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ ศาลเจ้า ใกล้กับที่ว่าการอำเภอขลุงที่อยู่สุดปลายคลองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑๑๘

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีชิ้นส่วนจารึกอีกหลายชิ้นที่พบกระจัดกระจายเหลืออยู่ที่กองพลนาวิกโยธิน ในอาคารตึกกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส ค่ายตากสิน จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของที่ทำการมณฑลเทศาภิบาลในช่วงรอยต่อหลังการรับมอบพื้นที่ซึ่งฝรั่งเศสยึดที่ทำการของรัฐคืนและเดอลาชงกิแยร์เคยกล่าวถึง ยังพบเศษจารึกอีก ๒ ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นอักษรหลังปัลวะ ภาษาสันสกฤตและเขมร อีกชิ้นยังไม่ได้อ่านเป็นหลักฐานเพื่อพิจารณาถึงเนื้อความทั้งสองชิ้นกันแต่อย่างใด ซึ่งเป็นข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์วัดทองทั่ว และกล่าวอีกว่ายังพบประติมากรรมพระนารายณ์ทำจากสำริดขนาดเล็กในแบบสมัยเมืองพระนครไปแล้วก็เห็นว่าถูกนำมาจากบริเวณเพนียดและจัดแสดงไว้ในที่เดียวกัน 

หน้าที่ 15/18

อย่างไรก็ตามมีเรื่องเล่าภายในท้องถิ่นของเมืองจันทบุรีกล่าวถึงการนำวัตถุจำนวนมากไปไว้ที่ ‘วัดกลาง’ ฝั่งตรงข้ามถนนกับวัดโบสถ์เมือง เช่น แผ่นหินทรายสลักถูกเกลาทำให้เป็นรูปร่างคล้ายหน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประทับเหนือหน้ากาล มือยุดท่อนพวงมาลัย ปลายพวงมาลัยเป็นนาค ๕ เศียร แบบยุคบาปวนในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ, สิงห์ ๒ ตัวแบบเมืองพระนครแล้วเคยอยู่ที่ ‘วัดกลาง’ ในเมืองจันทบุรี ก่อนจะถูกนำไปไว้ที่โรงเรียนชายประจำมณฑลจันทบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ซึ่งคือโรงเรียนเบญจมราชูทิศในปัจจุบันซึ่งอยู่ในพื้นที่ด้านหลังของวัดกลาง ทั้งข้อมูลท้องถิ่นยังกล่าวว่ายังมีร่องรอยอยู่อีกที่วัดหน้าพระธาตุ (ร้าง) ในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนหินทราย ฐานเทวรูปและชิ้นส่วนหินต่างๆ รวมทั้งแผ่นหินทรายแบบถาลาบริวัตครบชิ้นแม้จะมีรอยแตกหักเสียหาย เก็บรักษาไว้ที่ ‘วัดบน ตำบลบ่อพุ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรีที่ห่างออกไปราว ๑๒ กิโลเมตรด้วย  

กล่าวโดยสรุป จากร่องรอยโบราณและโบราณวัตถุจำนวนมาก แม้จะถูกเก็บรักษายังสถานที่ต่างๆ ด้วยปัจจัยในอดีตที่หาข้อสรุปได้ยากว่าคือเหตุผลใดอย่างแน่นอน แต่มีร่องรอยว่าน่าจะถูกรื้อไปสร้างบ้านสร้างเมืองเพื่อเตรียมตัวรับศึกญวน ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ในพื้นที่เมืองเพนียดนี้เห็นได้ชัดเจนว่ามีชุมชนขนาดใหญ่เริ่มตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ตั้งชุมชนอยู่บริเวณเชิงเขาสระบาปฝั่งตะวันตก บริเวณที่ราบเชิงเขาต่อกับที่ราบลุ่มต่ำของลำน้ำจันทบุรี โดยพบแผ่นหินลักษณะคล้ายหน้าบันมากกว่าจะเป็นแผ่นหินที่เป็นทับหลังแกะสลักลวดลายแบบกลุ่มโบราณสถานที่เมืองถาลาบริวัต ซึ่งสร้างอาคารศาสนสถานขนาดเล็ก ทับหลังรูปแบบการแกะสลักลวดลายแบบมกรที่เป็นสัตว์ผสมระหว่างจระเข้และช้าง คายลายเส้นที่นำไปสู่ครุฑกึ่งคนแคระยุดนาคไว้ทั้งสองมือ ตัวนาคนั้นมองไม่ชัดเป็นข้อสันนิษฐานเพราะด้านบนภาพนั้นถูกเกลาให้เป็นแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายทับหลัง ซึ่งพบจากกลุ่มโบราณสถานแห่งนี้ถึง ๓ ชิ้น และมีชิ้นเดียวที่มีครบเพียงแต่ชำรุดหักกลาง ส่วนชิ้นอื่น ด้านขวาบ้างด้านซ้ายบ้างหักหายไป พบที่กลุ่มโบราณสถานเพนียดแห่งเดียวในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังพบทับหลังและจารึกที่เกี่ยวเนื่องกับรัชกาลพระเจ้าอีสานวรมันที่ ๑ จากสมโบร์ไพรกุกต่อเนื่องกับไพรกเมงในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ เช่นกัน ถือว่าเป็นแหล่งที่พบโบราณสถานและร่องรอยที่เกี่ยวข้องรัฐโบราณที่เรียกว่า ‘เจนละ’ ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำโขง ถือว่าเห็นร่องรอยความสัมพันธ์กับชุมชนที่อยู่ในเส้นทางการค้าติดต่อระหว่างชายฝั่งทะเลและเส้นทางน้ำสายใหญ่ในลุ่มแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา

แผ่นหินทรายสลักถูกเกลาทำให้เป็นรูปร่างคล้ายหน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประทับเหนือหน้ากาล

มือยุดท่อนพวงมาลัย ปลายพวงมาลัยเป็นนาค ๕ เศียร แบบยุคบาปวนในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖

ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ วัดโบสถ์เมือง ริมแม่น้ำจันทบุรี



ซึ่งสามารถเดินทางเข้าสู่บ้านเมืองภายในตั้งแต่แคว้นศรีโคตรบูร ชุมชนในลุ่มน้ำมูล จำปาสักและวัดพูที่ภูเก้า เขตชายขอบทุ่งกุลาร้องไห้ ไปจนถึงแนวเชิงเขาพนมดงเร็ก ถาลาบริวัตที่สตึงเตรงซึ่งทั้งสองแห่งที่กล่าวถึงสามารถเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตกไปยังบ้านเมืองของสหพันธรัฐจามปาชายฝั่งทางเวียดนามตอนกลางได้สะดวก ไล่ลงมาจนถึงสมโบร์ไพรกุกที่ตั้งของรัฐขนาดใหญ่ที่ต่อเนื่องจากยุคนี้ที่เรียกว่า ‘อีสานปุระ’ สู่อังกอร์บอเรยและพนมดาดินแดนในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงยุคแรกรับวัฒนธรรมแบบอินเดีย ซึ่งที่เพนียดนั้นก็พบเศียรพระหริหระแบบพนมดาเช่นเดียวกัน

หน้าที่ 16/18

เพราะพบหลักฐานการอยู่อาศัยในยุคต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ในรัชกาลพระเจ้ายโสวรมันที่ ๑ และการพบจารึกหนึ่งใน ๑๑ หลักซึ่งมีข้อความเหมือนกันและอาจจะมีมากกว่า ๑๑ หลักนั้นถือว่าบริเวณเมืองเพนียดเป็นอาณาบริเวณสำคัญแห่งหนึ่ง และเมื่อดูจากพื้นที่ซึ่งพบจารึกแล้ว เห็นว่าอยู่ในแนวชุมชนบริเวณลุ่มน้ำโขงและต่อเนื่องกับลำน้ำทะเลสาบและลำน้ำบาสัค รวมถึงบริเวณก่อนเมืองพระนครและหัวเมืองที่จะติดต่อกับเส้นทางทางทะเลได้สะดวกคือบันทายมาศทางหนึ่ง พระตะบองและเพนียดในจันทบุรีอีกทางหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานได้ถึงกลุ่มเมืองสำคัญที่มีความต่อเนื่องกับความสำคัญในเส้นทางการค้าและเมืองท่าชายทะเลและการแลกเปลี่ยนสินค้าจากป่าเขาที่สูงภายในและสินค้าจากภายนอกตั้งแต่ยุคสมัยเจนละที่อีสานปุระ อันเป็นช่วงที่การค้าทางทะเลในสมัยปลายราชวงศ์ถังและราชวงศ์เหลียงในระยะเริ่มสร้างเมืองพระนครในรัชกาลนี้

ในยุคนี้น่าจะมีการสร้างบารายหรือสระน้ำขอบยกสูงบนผืนดิน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ๒ สระ เหนือและใต้ขนาดราว ๖๐ เมตร และ ๔๐ เมตร วางตัวในแนวยาวทางทิศตะวันออกและตะวันตก น่าจะเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นร่วมสมัยกับจารึกพระเจ้ายโสวรมันที่ ๑ ที่ให้สร้างอาศรมและมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้คนผู้มีความแตกต่างถือปฏิบัติ พระองค์เป็นผู้สร้างบารายตะวันออกขนาดมโหฬารที่เมืองพระนคร ปราสาทและศาสนสถานอีกหลายแห่ง

การอยู่อาศัยที่เมืองเพนียดยังคงมีความต่อเนื่องในวัฒนธรรมเขมรในยุคก่อนเมืองพระนครและแบบเมืองพระนคร เพราะพบโบราณวัตถุ เช่น สิงห์ เทวรูปขนาดเล็ก เสาประดับกรอบประตู หน้าบันแกะลวดลายแบบบาปวน น่าจะมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ 

ชุมชนที่เมืองเพนียดนี้สัมพันธ์กับการขยายเส้นทางการค้าในยุคสมัยราชวงศ์ถังของจีนต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดีศรีวิชัย โดยมีบ้านเมืองร่วมสมัยกับยุคทวารวดีในแถบลุ่มเจ้าพระยา, กลุ่มบ้านเมืองศรีวิชัยแถบคาบสมุทร และกลุ่มบ้านเมืองแบบจามที่อาจเรียกว่าเป็นสหพันธรัฐจามปาแถบชายฝั่งภาคกลางของเวียดนามปัจจุบัน โดยมีแกนกลางทางวัฒนธรรมแรกเริ่มแบบเจนละที่เห็นชัดในการเข้ามาของวัฒนธรรมความเชื่อจากอินเดีย โดยสัมพันธ์กับบ้านเมืองขนาดใหญ่ที่อีสานปุระ สู่การเริ่มต้นเป็นบ้านเมืองระดับอาณาจักรที่เมืองพระนคร และเห็นร่องรอยชัดเจนเพียงนี้โดยไม่น่าจะมีช่วงเวลาที่เกินเลยมาจนถึงในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งชุมชนที่นี่น่าจะค่อยๆ ลดบทบาทลงในฐานะเมืองท่าทางการค้าแห่งหนึ่งของอาณาจักรเขมรที่เมืองพระนคร 

กลุ่มเมืองที่เพนียดเกาะกลุ่มอยู่ในบริเวณบารายหรือสระน้ำขนาดใหญ่ตามแนวคลองนารายณ์ที่ไหลจากหุบเขาหนึ่งในกลุ่มเขาสระบาป มีโบราณสถานโดยรอบที่วัดเพนียดร้างดูจะเป็นกลุ่มใหญ่ และอีกกลุ่มหนึ่งน่าจะอยู่ที่วัดสมภารร้างที่เป็นกลุ่มโบราณสถานที่มีโบราณวัตถุไม่น้อยอยู่ริมคลองสระบาปที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ไม่ไกลกัน โบราณสถานทั้งสองกลุ่มน่าจะอยู่ในรัศมีไม่เกิน ๑.๕ ตารางกิโลเมตร ถือว่าเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่พอสมควรในดินแดนภูมิภาคตะวันออกชายฝั่งทะเลนี้ หากเปรียบเทียบกับบ้านเมืองร่วมสมัยที่เมืองพระรถที่พนัสนิคมที่มีขนาดราว ๑.๓ ตารางกิโลเมตร และมีผู้อยู่อาศัยตั้งเป็นชุมชนในช่วงเวลาร่วมสมัยและต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

บริเวณนี้มีการค้าทางทะเล โดยการนำของป่าจากเทือกเขาภายในเป็นสินค้าส่งออก ชุมชนที่นี่อาจจะเป็นผู้คนที่มีความชำนาญการเดินเรือค้าขายทางทะเลเลียบชายฝั่ง เช่น ‘ชาวจาม’ จากชายฝั่งทะเลเวียดนามและผู้คนหลากกลุ่มที่ผสมปนเปอันเป็นลักษณะบ้านเมืองที่เป็นเมืองท่าภายใน มีระบบการเมืองที่สัมพันธ์กับเครือข่ายทางการเมืองแบบเจนละและแบบเขมรเมืองพระนครดังกล่าวข้างต้น ส่วนกลุ่มผู้มีความชำนาญในการเก็บของป่าทางแถบนี้คือ ‘ชาวชอง’ แถบเชิงเขาสระบาปและที่อยู่ภายในป่าเขาจำเป็นต้องพึ่งพาคนจามนักเดินเรือทางทะเลเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าอันเป็นส่วนหนึ่งของระบบการค้าทางทะเลที่มีมานานนับพันปีก่อนหน้านั้น

 


เชิงอรรถ

๑. จากเนื้อหาที่เป็นข้อมูลปริมาณน้ำฝนล่าสุดในจังหวัดจันทบุรีก่อนพิมพ์อยู่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ดังนั้นการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนน่าจะอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๒, กรมศิลปากร. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ระยอง, ๒๔๘๒. 

๒. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย จันทบุรี. ข้อมูลใช้เช่นเดียวกับฉบับพิมพ์ ‘อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ๕ จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ระยอง’ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒, เช่น..จังหวัดจันทบุรี เดิมเป็นเมืองโบราณ สันนิษฐานว่า น่าจะมีอายุในปลายสมัยฟูนันเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ปัจจุบันยังมีซากกำแพงก่อด้วยศิลาแลง มีเชิงเทินเศษอิฐและหิน ถนนปูด้วยศิลาแลง ปรากฏเป็นเค้าเมืองเดิมอยู่ที่หน้า ข.สระบาป ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี และยังพบจารึกและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นศิลปะของเขมรระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๘ แสดงว่าที่ตั้งของเมืองจันทบุรีเคยเป็นดินแดนที่อยู่ใต้อิทธิพลของเขมรโบราณมาเป็นเวลาช้านานแล้ว นอกจากนี้ ยังมีผู้ยืนยันว่าได้พบศิลาจารึกเป็นอักษรสันสกฤตที่บริเวณเขาสระบาป มีเนื้อความว่า เมืองจันทบุรี แต่เดิมชื่อ คราควนบุรี ตั้งมาประมาณ ๑,๐๐๐ ปีแล้ว พลเมืองเป็นชนชาติชอง ซึ่งคงจะสืบเชื้อสายมาจากเขมรโบราณ ปัจจุบันชนชาตินี้ก็ยังมีพบอยู่ในพื้นที่ชายแดนจันทบุรีติดต่อกับกัมพูชาในท้องที่อำเภอมะขาม และอำเภอโป่งน้ำร้อน เข้าใจว่าแต่เดิมชนชาตินี้คงจะตั้งถิ่นฐานอยู่ตามท้องที่ต่าง ๆ ในเมืองจันทบุรี เพิ่งจะถอยร่นเข้าป่าดงไปเมื่อไทยมีอำนาจเข้าครอบครองเมืองจันทบุรีในสมัยอยุธยา.... เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, http://legacy.orst.go.th/?page_id=143 ปัจจุบัน (๖/๗/๒๕๖๗) มีการแก้ไขบางส่วนแล้ว

ราชบัณฑิตยสภานั้นจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ต่อมาแยกไปจัดตั้งเป็นสำนักงานราชบัณฑิตยสถาน ขึ้นกับกรมศิลปากร ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ และเปลี่ยนเป็นสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๕๘, งานอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ถือเป็นงานหลักที่ทำมาตั้งแต่เริ่มแรกตั้ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานวิชาการ การผลิตตำราในยุคสมัยก่อนหน้านี้ จนถึงเมื่อพิมพ์งานฉบับนี้อยู่ในยุคสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และหลวงวิจิตรวาทการเป็นเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานคนแรก โดยมีภาคีราชบัณฑิตเขียนงานต่างๆ และมีราชบัณฑิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยมีการแบ่งกิจการในช่วงเริ่มต้นของราชบัณฑิตยสถานยึดหลักการของฝรั่งเศสแต่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม, อ้างใน เจริญ อินทรเกษตร,  ๕๐ ปีราชบัณฑิตยสถาน ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๗.

๓. ต้นฉบับของเอกสารภาคสามที่เป็นสารคดีเกี่ยวกับเมืองจันทบุรีพิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งภาคแรกนั้นพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ภาคสองเป็นเรื่องฝรั่งเศสยึดเมืองตราด พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๕ จึงนำทั้งสองเรื่องนั้นมาพิมพ์รวมกัน และเพิ่มสารคดีเกี่ยวกับเมืองจันทบุรี เป็นภาคสาม เอกสารที่นำมาเสนอในภาคสามนี้จึงน่าจะเขียนขึ้นในราว พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๔๙๕, หลวงสาครคชเขตต์ (ป.สาคริกานนท์). จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ .. ๒๔๓๖ ถึง .. ๒๔๔๗. ภาคสาม สารคดีสมัยอดีตกาลและปัจจุบัน. สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, ๒๕๕๒.

๔. ตรี อมาตยกุล. ประวัติเมืองจันทบุรี, ชุมนุมเรื่องจันทบุรี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางวรรณ จันทวิมล ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔. เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:2630 , คุณตรี อมาตยกุล เป็นผู้มีผลงานเขียนประวัติศาสตร์ในเชิงสารคดีและภูมิศาสตร์ของจังหวัดต่างๆ ถือเป็นผลงานในเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชิ้นแรกๆ ของประเทศไทย ซึ่งผลงานชิ้นนี้ ‘เมืองจันทบุรี’ และ ‘ประวัติเมืองจันทบุรี’ น่าจะเริ่มพิมพ์เพื่อการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๕๐๐ และอยู่ในเอกสารรวมเล่มต่างๆ มีการขอไปตีพิมพ์อีกมาก ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองจันทบุรีของคุณตรี อมาตยกุลเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

หน้าที่ 17/18

๕. พระวิภาชวิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส)  นอกไปจากเป็นธรรมการมณฑลจันทบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ผู้ดำเนินการจัดหาที่ตั้งโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี หรือโรงเรียนประจำจังหวัดชาย ยังเป็นผู้ที่แต่งแบบหัดอ่านหนังสือไทย เล่มปลาย ชั้นประถมปีที่ ๑ เมื่อเป็นอำมาตย์โท พระวิภาชวิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) ที่แต่งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๗, ดังนั้นจึงน่าจะเป็นบุคคลที่มีอายุร่วมสมัยกับหลวงสาครคชเขตต์ (ป.สาคริกานนท์)

๖. ระบำควนคราบุรี โดยกล่าวว่า ‘ควนคราบุรี’ เป็นชื่อเดิมของจังหวัดจันทบุรี วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรีได้ประดิษฐ์ขึ้น โดยศึกษาจากหนังสือประวัติศาสตร์เมืองจันทบุรีและรูปจำหลักศิลปสมัยขอม การแสดงเน้นให้เห็นถึงชาวควนคราบุรีซึ่งต่างฐานะกันมีทั้งชายและหญิง แต่งกายแบบสมัยขอม ทำนองเพลงมีสำเนียงเขมร และจังหวะของการละเล่นรำสวด ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวจังหวัดจันทบุรี, งานเผยแพร่ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยนาฎศิลปจันทบุรี. เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, https://sites.google.com/site/phlngansrangsrrkh/fxn

๗. Etienne Aymonier. Le Cambodge Le groupe d'Angkor et l’histoire Vol.II, Paris, 1900-1904 , p.80, เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k841314?rk=42918;4 หนังสือชื่อกัมโพชนี้ ในชุดมีอยู่ ๓ เล่ม [Aymonier, Etienne, 1844-1929, Le Cambodge, Date de publication : 1900-1904, : 3 vol., in-8, Lieu de publication : Paris]  ที่นำไปอ้างอิงนั้นอยู่ในเล่มที่ ๒, เขียนเมื่อ ราว พ.ศ. ๒๔๔๔ โดยอ้างถึงบทความของบาทหลวงชมิดท์ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ le Siam ancien โดย M. Fournereau ที่กล่าวถึงชิ้นส่วนศิลาจารึกพบที่วัดกลางหรือบริเวณที่ตั้งของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จันทบุรี ในปัจจุบัน.

๘. หลวงสาครคชเขตต์ (ป.สาคริกานนท์). อ้างแล้ว, หน้า ๓๘๑.

๙. Etienne Aymonier. Le Cambodge Le groupe d'Angkor et l’histoire. Vol.III, p.738, เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k84132g.texteImage

๑๐. ชูศักดิ์ ทิพยเกษร, ประสาร บุญประคอง และเทิม มีเต็ม. จารึกบนเสาหินที่ตำบลพระบาทของพระเจ้ายโศธรวรมันที่ .. ๘๑๑, .. ๑๔๓๒. วารสารศิลปากร. ปีที่ ๒๒ เล่มที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๑. เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, http://digitalcenter.finearts.go.th/magazine-detail/843#.YYobkC8Rrf8

๑๑. R. C. Majumdar, No. 23 Vat Sabab Inscription of Īśāna-Varman. Inscriptions of Kambuja, เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, The Asiatic Society. p. 28-29. เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, https://archive.org/details/in.ernet.dli.2015.181497

๑๒. Lunet de Lajonquière, E. Rapport sommaire sur une mission archéologique au Cambodge, au Siam, dans la presqu'île malaise et dans l'Inde (1907-1908).  Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient Année 1909, 9. p. 351-368. เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, https://www.persee.fr/doc/befeo_0336-1519_1909_num_9_1_2362

๑๓. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. ข้อสังเกตการเดินทางของหมอบรัดเลย์สู่จันทบูรในสมัยรัชกาลที่ เมืองโบราณ ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๖๑) และ เอกสารอิเล็กทรอนิกส์,  https://suanleklek.wordpress.com/2018/06/08/chanthaboon-bradley/

๑๔. อุไรวรรณ รัตนวิระกุล. การศึกษาแหล่งโบราณคดี วัดทองทั่วและบริเวณใกล้เคียง ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี, ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์, ๒๕๓๓. เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, http://www.thapra.lib.su.ac.th/thesis/showthesis_th.asp?id=0000000056

คำสำคัญ : จันทบูร,เมืองเพนียด,จันทบุรี,ควนคราบุรี

๑๕. การพบจารึกที่เป็นชิ้นส่วนในบริเวณเมืองเพนียดน่าจะพบหลายชิ้น กรณีจารึกเมืองเพนียดหลักที่ ๕๒ นั้นยังไม่พบว่ามีการอ่านข้อความในจารึกหรือภาพของตัวจารึกเผยแพร่ แต่การมีอยู่นั้นอ้างจากเพจอย่างเป็นทางการของกรมศิลปากร กล่าวกันว่าน่าจะมีอายุรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับจารึกเพนียด ๑ มีความน่าจะเป็นได้ว่าอาจจะเป็นจารึกชิ้นเดียวกันแต่พบชิ้นส่วนคนละช่วงเวลา อ้างใน จิราพร กิ่งทัพหลวง. โบราณสถานเมืองเพนียด จังหวัดจันทบุรี, กุมพาพันธ์-มีนาคม ๒๕๖๑, นำเข้าเมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔, เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, https://finearts.go.th/main/view/17457-โบราณสถานเมืองเพนียด-จังหวัดจันทบุรี

๑๖. Cœdès Georges. Etudes cambodgiennes. In: Bulletin de l'Ecole française d'Extrême-Orient. Tome 24, 1924. p. 352-358.

๑๗. R. C. Majumdar, อ้างแล้ว.

๑๘. Cœdès Georges, อ้างแล้ว และ การค้นพบ ‘จารึกขลุง’ จารึกในประเทศไทย, เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/525

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
อีเมล์: [email protected]
เจ้าหน้าที่วิชาการของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เริ่มทำงานกับมูลนิธิฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ ทำโครงการนำร่องร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่ง ก่อนทำงานศึกษาท้องถิ่นร่วมกับชาวบ้าน และปัจจุบันกลับมาสนใจศึกษางานโบราณคดี
หน้าที่ 18/18