สู่ ‘สุวรรณภูมิ’ จากพระสถูปแห่งปิปราห์วา [Piprahwa] กรุงกบิลพัสดุ์ถึงหลักฐานทางโบราณคดีที่คอคอดกระ
การขุดค้นทางโบราณคดีที่พระสถูปปิปราห์วา เป็นหลักฐานยืนยันการมีตัวตนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีสำคัญในยุคอาณานิคม
สู่ ‘สุวรรณภูมิ’ จากพระสถูปแห่งปิปราห์วา [Piprahwa] กรุงกบิลพัสดุ์
ถึงหลักฐานทางโบราณคดีที่คอคอดกระ
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
รับพระบรมสารีริกธาตุจากปิปราห์วา อินเดีย
เหตุการณ์สำคัญในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วิลเลียม แคลกตันซ์ เปปเป [William Claxton Peppe] ชาวอังกฤษอาณานิคม อำนวยการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณเนินดินขนาดใหญ่ในพื้นที่ของเขาที่เรียกว่าเบิร์ดปรู [Birdpur] ใน ‘ปิปราห์วะ’ [Piparahawa] ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอบัสติ รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย ซึ่งติดพรมแดนเนปาล เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๙๗ (ราว พ.ศ. ๒๔๔๐) ในช่วงที่เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮมและคณะ พบเสาศิลาจารึกพระเจ้าอโศก ก่อนหน้านั้นราว ๑ ปี ที่ ‘สวนลุมพินี’ ในเนปาลซึ่งแถบนี้มีหลายแห่งจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของกบิลพัสดุ์ไปถึงลุมพินีทางตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอยู่ในเขตเนปาล และต่อเนื่องอีกนับหลายไมล์เข้ามาทางฝั่งอินเดียของอังกฤษ ในทศวรรษนี้จึงมีการขุดค้นทางโบราณคดีแล้วพบซากสถูปกว่า ๕๐ องค์ วิหารอาราม มีอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์ศุงคะ ราชวงศ์กุษาณะและจนถึงสมัยคุปตะ
จารึกอักษรพราหมีที่เสาพระเจ้าอโศกระบุว่า เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ กระตุ้นให้เปปเปสงสัยเนินดินขนาดใหญ่ในที่ดินของเขาซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนเนปาล นำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งเป็นที่โจษขานครั้งใหญ่ ต่อมาเขารายงานสรุปการขุดค้นในวารสาร Journal of the Royal Asiatic Society, July 1898 ได้พบโครงสร้างหลังคาโดมใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลางราว ๑๓๐ ฟุต ทำด้วยอิฐแดง เมื่อขุดลึกลงไป ๑๘ ฟุต เขาพบแผ่นหินขนาดใหญ่ที่เป็นฝาปิดหีบทำจากหินทรายขนาดใหญ่ ๑ ใบ ในหีบหินทรายนั้นพบภาชนะทำจากหินสบู่ ๕ ชิ้น ประกอบด้วย ผอบหิน ๒ ชิ้น, ตลับหิน ๒ ชิ้น, หม้อทำจากหิน ๑ ชิ้น, และชามแก้วมีฝาเป็นรูปปลาที่จุกจับ ๑ ชิ้น แต่ละใบขนาดความสูงไม่เกิน ๗ นิ้ว ภายในภาชนะเหล่านั้นมี “อัฐิหลายท่อน” แผ่นทองคำทำเป็นรูปดาวและสี่เหลี่ยมสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ไข่มุกหลายขนาดที่ทำเป็นชุด หินกึ่งรัตนชาติที่ทำจากคาร์นีเลียน [Carnelian]และอเมทิสต์ [Amethyst] ทำเป็นกลีบดอกไม้ บุษราคัม [Topaz] โกเมน [Garnet] ปะการัง [Coral] คริสตัล [Crystal] ที่สำคัญคือตามรอบของขอบผอบใบหนึ่ง มีคำจารึกเป็นอักษรพราหมี
วิลเลียม แคลกตันซ์ เปปเป [William Claxton Peppe, ๑๘๕๒-๑๙๓๗]
ภาชนะทำจากหินสบู่ที่ขุดพบในหีบหินขนาดใหญ่ภายใต้สถูปปิปราห์วา กรุงกบิลพัสดุ์ รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย ซึ่งพบจารึก
‘นี่เป็นที่บรรจุพระสรีรธาตุแห่งพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคของเหล่าพี่น้องชายสุกิติตระกูลศากยะ
พร้อมทั้งพี่น้องหญิงพร้อมทั้งบุตรและภรรยา’
อย่างไรก็ตาม มีการถกเถียงเรื่องเป็นพระบรมธาตุทั้งหมดจริงหรือไม่ในเวลาต่อมาและร่ำลือว่าอาจจะมีเพียงพระบรมสารีริกธาตุเพียงส่วนน้อย ส่วนที่เหลือเป็นของเหล่าเจ้าในวงศ์ศากยะ อันเนื่องมาจากข้อความในจารึก
(อ้างจาก ‘พระสถูปแห่งกบิลพัสดุ์และพระบรมสารีริกธาตุ’ โดย Sãi Bản Mường https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=836297520232092&id=100015555556981)
แม้หลักฐานและที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีค่อนข้างตรงกับข้อมูลจากพระไตรปิฎกกล่าวถึงว่า หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระบรมสารีริกธาตุถูกแบ่งออกเป็น ๘ ส่วนไปยังเมืองต่างๆ หนึ่งในจำนวนนั้นถูกแบ่งให้เหล่าเจ้าศากยวงศ์ที่เมืองกบิลพัสดุ์ แต่ก็ยังมีความสงสัยต่อการค้นพบครั้งใหญ่ที่ปิปราห์วาที่บางกระแสถูกเชื่อว่าเป็นเรื่องหลอกลวงในช่วงเวลานั้นเริ่มตั้งราว ค.ศ. ๑๙๐๐ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกันในการประชุมเสนาบดีสยามก่อนหน้านั้นเล็กน้อยว่า อัฐิในภาชนะทั้ง ๕ ใบ ที่เปปเปขุดพบเป็นของพระพุทธองค์ทั้งหมดหรือเฉพาะอัฐิที่อยู่ในผอบใบที่มีอักษรโบราณจารึกอยู่ อันเนื่องมาจากรัฐบาลอินเดียในสมัยอาณานิคมของอังกฤษนั้นได้รับ ‘บันทึกข้อความ’ จาก ‘พระชินวรวงศ์’ คือ ‘พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์’ ในขณะผนวชเป็นพระภิกษุได้เดินทางออกจากศรีลังกาไปยังอินเดียเหนือพร้อมกับคณะสงฆ์ศรีลังกาจากข่าวที่มีการขุดค้นที่ปิปราห์วาเพียง ๑ อาทิตย์ภายหลังเริ่มขุดค้นและพบพระบรมสารีริกธาตุ จึงอยากขอแบ่งมาให้กับคณะสงฆ์ลังกาและถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นการถวายผ่านผู้สำเร็จราชการของอังกฤษ ทางราชสำนักและเสนาบดีสยามประชุมกันอย่างคร่ำเคร่ง เนื่องจากความไม่มั่นใจใน ‘พระชินวรวงศ์’ ส่วนหนึ่ง และการค้นพบที่มีความไม่แน่ใจว่าจะใช้พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวหรือไม่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนคงเป็นคติความเชื่อชาวพุทธในสยามมีความคุ้นเคยว่าพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แตกกระจายนั้นควรจะอยู่ในรูปผลึกแก้วเม็ดเล็กๆ มากกว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกและเถ้า
แต่เมื่อได้ข้อสรุปจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยพินิจ (ปั้น สุขุม) ซึ่งเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชและคณะรวม ๒๓ ท่าน เดินทางไปรับมอบที่อุตตรประเทศในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน คณะเดินทางกลับมาขึ้นฝั่งที่เมืองตรังมีการแห่เฉลิมฉลองทั่วคาบสมุทร แล้วเดินทางต่อมาประดิษฐานที่พระสมุทรเจดีย์ ปากน้ำเป็นการชั่วคราว จากนั้นจึงแห่พระบรมสารีริกธาตุพร้อมด้วยอัญมณีบางส่วนถูกประดิษฐานในเจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ (เพ็ญนภา หงษ์ทอง. ตามรอยพิสูจน์พระบรมสารีริกธาตุ จากกบิลพัสดุ์สู่บรมบรรพต. กรุงเทพธุรกิจ https://www.scribd.com/doc/155287508/ตามรอยพิสูจน-พระบรมสารีริกธาตุ-จากกบิลพัสดุ-สู-บรมบรรพต)
จากเงื่อนไขการถวายที่จะต้องแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ชาวพุทธในพม่าและลังกาด้วย จึงมีการแบ่งพระบรมธาตุที่เป็นกระดูกและเถ้าจากกรุงเทพฯไปยังมัณฑะเลย์และย่างกุ้งในพม่า รวมทั้งอนุราธปุระ แคนดี้ และโคลอมโบในศรีลังกา ส่วนหีบหินทรายขนาดใหญ่และโกศภาชนะทั้ง ๕ ใบ ถูกนำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่กัลกัตตา ส่วนอัญมณีและแผ่นทอง ‘เปบเป’ ได้รับอนุญาตให้เก็บรักษาและตกอยู่กับครอบครัวรุ่นต่อมาในอังกฤษ จนปัจจุบันนี้มีการเขียนเป็นนิทรรศการ จัดทำสารคดีทางช่องเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค [Bones of the Buddha] และถูกนำไปจัดแสดงยังพิพิธภัณฑ์สำคัญๆ หลายแห่ง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะนครนิวยอร์ค [MET] และมีโครงการจะนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย [Asian Civilizations Museum] ที่สิงคโปร์ในอีก ๒ ปีหน้า (http://www.piprahwa.com/home)
ปิปราห์วาสถูป’ จากการขุดค้นทางโบราณคดี
การขุดค้นทางโบราณคดีที่พระสถูปปิปราห์วา เป็นหลักฐานยืนยันการมีตัวตนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีสำคัญในยุคอาณานิคม ต่อมาในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๖ มีการทำงานศึกษาทางโบราณคดีที่สถูปปิปราห์วาอีกครั้งโดยนักโบราณคดีชาวอินเดีย เค.เอ็ม. ศรีวาสตวะ [K.M. Srivastava] ได้ขุดค้นสถูปปิปราห์วาและกันวาเรีย [Piprahwa and Ganwaria] ที่เป็นชุมชนเมืองห่างจากกันราว ๑ กิโลเมตร ซึ่งมีรูปแบบคล้ายคลึงกันในทุกแห่งที่มีการสร้างศาสนสถานโดยมีชุมชนอยู่ห่างออกไปในระยะพอประมาณเพื่อไม่ให้รบกวนต่อกัน
การขุดค้นที่สถูปปิปราห์วาต่อจากระดับที่เปปเปเคยค้นพบหีบหินขนาดใหญ่ในระดับลึกลงไปอีกราว ๑ เมตร ก็พบห้องกรุขนาดเล็ก ๒ ห้อง พบผอบหินสบู่ห้องละ ๑ ใบ ซึ่งมีรูปแบบเดียวกันกับการขุดค้นโดยเปบเป ผอบทั้งสองใบบรรจุชิ้นส่วนกระดูกที่ถูกเผามาก่อนแตกหักเพราะรับน้ำหนักมาก และสันนิษฐานว่าชั้นดินที่พบผอบนี้ร่วมสมัยกับชั้นดินที่พบเศษภาชนะดินเผาแบบสีดำขัดมันทางเหนือยุคแรก [Northern Black Polished Ware-NBPW] อายุราว ๔-๕ B.C. ซึ่งเป็นช่วงเวลาอาจจะใกล้เคียงหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า น่าจะเป็นการก่อพูนดินโดยเหล่าศากยวงศ์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว ๓๘.๙ เมตรและสูง ๐.๙ เมตร และมีการบรรจุผอบที่มีจารึกซึ่งพบในหีบหินซึ่งเปบเปค้นพบในครั้งแรก
ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช คาดว่าพระเจ้าอโศกฯ ทรงนำพระบรมสารีริกธาตุออกมาจากสถูปเดิมเพื่อแจกจ่ายไปยังสถูปแห่งอื่นๆ และปฏิสังขรณ์พระสถูปเก่านี้พร้อมบรรจุพระสารีริกธาตุส่วนหนึ่งกลับเข้าไป และพบว่าสถูปที่ปิปราห์วามีการบูรณะด้วยการเติมดินเหนียวหนา สร้างทับเป็นสองชั้นด้วยอิฐดินเผาจนกลายเป็นสถูปขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ เมตร และสูงราว ๔.๕๕ เมตร
ยุคต่อมาคือสมัยกุษาณะ พระสถูปได้รับการบูรณะขยายใหญ่จนกระทั่งสูงถึง ๖.๓๕ เมตร พร้อมทั้งทำฐานสี่เหลี่ยม โดยรอบพระสถูปยังมีอารามทิศตะวันออกกว้างใหญ่ ประกอบด้วยลานกลางภายในพร้อมห้องกุฏิเล็กรายรอบกว่า ๓๐ ห้อง มีการสร้างอารามด้านตะวันตก เหนือ และใต้ด้วย ในพระอารามแห่งปิปราห์วาพบตราประทับดินเผายุคกุษาณะมีจารึกอักษรพราหมีอายุราว ๑-๒ A.D. ความว่า ‘Om, Devaputra Vihare, Kapliavastu, Bhikhu, Sanghas ‘ที่นี้, วิหารเทวบุตรของคณะสงฆ์แห่งกบิลพัสดุ์’ จำนวนมาก ยิ่งเป็นการยืนยันว่าที่นี่คือเมืองกบิลพัสดุ์โดยแท้ (อนึ่ง มีการหาค่าอายุจาก C 14 ที่ได้จากยุคแรกอายุราว ๔๑๐ B.C., ๓๗๐ BC. และ ๒๘๐ B.C. ระยะเดียวเท่านั้นที่)
สำหรับการขุดค้นที่กันวาเรีย [Ganwaria] เพื่อตรวจหารูปแบบการอยู่อาศัยจากชั้นดินพบว่าน่าจะมีอยู่ ๔ สมัยคือ ยุคแรก พบเศษภาชนะแบบสีดำสีแดงขัดมัน จานชามแบบขัดมันสีแดง ลูกปัดแก้วและเครื่องประดับกำไลสันนิษฐานว่าอายุราว ๖๐๐-๘๐๐ B.C. ซึ่งอยู่ในช่วงก่อนสมัยของพระพุทธเจ้า, ยุคที่สอง พบเครื่องปั้นดินเผาแบบสีดำขัดมันทางเหนืออย่างชัดเจนและมีรูปแบบภาชนะที่เกี่ยวเนื่องกัน น่าจะอายุราว ๖๐๐-๒๐๐ B.C., ยุคที่สาม สมัยราชวงศ์สุงคะราว ๒๐๐ B.C. - ๑๐๐ A.D. พบเศษภาชนะในุร่นนี้และชิ้นส่วนของตุ๊กตาดินเผาจำนวนมาก, ยุคที่สี่ สมัยราชวงศ์กุษาณะ ราว ๑๐๐ A.D. - ๓๐๐ A.D. พบเศียรพระพุทธรูปและตุ๊กตาดินเผาจำนวนมาก เหรียญแบบ Punched Mark coins ในราชวงศ์กุษาณะ ลูกปัดดินเผา ลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติ ตราประทับดินเผาจำนวนมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับช่วงอายุสมัยที่สันนิษฐานได้จากการขุดค้นที่สถูปปิปราห์วา (Srivastava, K.M. Excavations at Piprahwa and Ganwaria, https://indianculture.gov.in/ebooks/excavations-piprahwa-and-ganwaria?fbclid=IwAR1ABUrqDHD-tKTtNE2Tj0VJY1B9B8N-Ty2VChcP6qYNTrvlL4kok2L1NuU)
ภาพเครื่องประดับที่พบภายในกรุหลังการขุดค้นและก่อนที่จะแบ่งปันไปยังประเทศและบุคคลต่างๆ
เครื่องประดับอุทิศเป็นพุทธบูชาควรค่าเมือง
จากปิปราห์วาสู่คาบสมุทรสยามประเทศที่คอคอดกระ
หลังจากการขุดค้นพบโบราณวัตถุสำคัญที่เป็นหีบหินทรายขนาดใหญ่ พบภาชนะทำจากหินสบู่ที่มีการบรรจุพระบรมธาตุภายในแล้วมีการแจกจ่ายกันออกไปในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศไทย เปบเปผู้ขุดค้นได้รับอนุญาตให้นำเครื่องประดับเพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชาส่วนหนึ่งกลับไปเป็นสมบัติส่วนตัวที่อังกฤษเมื่อย้ายกลับไป และปัจจุบันตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทรุ่นปัจจุบันที่สนใจในการศึกษาอีกครั้งหนึ่งจึงอนุญาตให้นักวิชาการหลากหลายเข้ามาศึกษาและนำไปจัดแสดงยังพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในหลายประเทศ
สิ่งที่น่าพิศวงก็คือ เครื่องประดับทำจากหินกึ่งรัตนชาติเหล่านี้ ทั้งวัตถุดิบจากหินชนิดต่างๆ รูปแบบการผลิตและฝีมือช่างนั้นปรากฎว่ามีแหล่งผลิตใหญ่อยู่บริเวณคอคอดกระทั้งสองฝั่งทะเล คือ บริเวณเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ไปจนถึงท่าชนะในจังหวัดสุราษฎร์ธานีทางฝั่งอ่าวไทยและบริเวณแม่น้ำกระและบางกล้วยและภูเขาทองในจังหวัดระนองทางฝั่งอันดามันที่ปรากฎว่าเป็นแหล่งผลิตลูกปัดจากหินกึ่งรัตนชาติขนาดใหญ่มากแห่งหนึ่งที่อยู่นอกอนุทวีปอินเดีย และมีหลักฐานแวดล้อมว่าน่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๘ หรือราว ๒๐๐ B.C.-๓๐๐ A.D. ซึ่งน่าจะเป็นข่วงเวลาร่วมสมัยกันในช่วงหลังการครองราชย์ของพระเจ้าอโศกฯ แห่งราชวงศ์โมริยะไปแล้ว
โดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์อัญมณีโบราณ ดร. แจ็ค ออกเดน [Dr. Jack Ogden] (Jack Ogden. Report on the beads and related objects from the Piprahwa stupa. 2018. https://static1.squarespace.com/static/561b7e62e4b0b66177bc2043/
t/5d4bfe1f1b41860001ec86e1/1565261412774/Piprahwa+Report-JO.pdf)
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๙ จนมีบทความสำคัญในการวิเคราะห์เครื่องประดับเพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชาเหล่านี้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ระบุว่า แบ่งออกเป็นพวกดอกไม้ที่รวมกันเป็นชิ้น เครื่องทองแผ่นบางทำเป็นกลีบดอกไม้และบางชิ้นมีรอยประทับเป็นรูปสิงห์ก็มี หินกึ่งรัตนชาติที่ยังไม่ได้เจียระไน ไข่มุกและปะการัง วัตถุดิบและฝีมือช่างที่ผลิตเครื่องประดับพบที่ปิปราห์วานี้ มีคุณภาพดีมากและผลิตโดยช่างที่ฝีมือขั้นสูงมากเมื่อเปรียบเทียบจากวัตถุที่พบจากสถูปอื่นๆ ที่พบจากแถบบังคลาเทศ อัฟกานิสถาน ปากีสถานและอินเดีย ซึ่งตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า เป็นสิ่งของพุทธบูชาในกลุ่ม “ชนชั้นสูง” ทางศาสนาหรือในกลุ่มผู้ปกครอง ซึ่งน่าจะมีอายุอยู่ในราวไม่เกิน ๑๐๐ B.C.- ๒๐๐ หรือ ๒๐๐ B.C. ซึ่งอายุของจารึกที่ถูกวิเคราะห์ก็อยู่ในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๒ (๑๐๐ B.C.- ๑๕๐ B.C.)
เครื่องประดับทำจากหินกึ่งรัตนชาติในปัจจุบัน
เครดิตภาพ ๑.-๖. จากเวบไซต์ http://www.piprahwa.com
วัตถุดิบที่นำมาใช้ทำลูกปัดทำจากลูกปัดทำจากวัสดุหลายชนิด ได้แก่ อเมทิสต์ (ควอทซ์สีม่วง), อะความารีน (เบริลสีฟ้า), คาร์เนเลียน (และคาร์นีเลียนเซาะร่องสีขาว), ซิทริน (ควอทซ์สีเหลือง), ปะการัง, โกเมน, แก้ว, โมราเขียว, ไอโอไลต์ มุก, คริสตัลและเปลือกหอย
ลูกปัดคาร์เนเลียนขนาดเล็กที่ทำขึ้นอย่างประณีต โดยมีชั้นสีขาวที่เป็นสีธรรมชาติ และชั้นสีแดงในเม็ดเดียวกันที่น่าจะถูกการหุงหรือปรุงแต่ง น่าจะเป็นเม็ดกระดุมและกลีบดอกไม้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดอกไม้ ๘ กลีบ รูปลักษณ์เช่นนี้พบที่ตักศิลา และ ‘วารี-เบตาชวาร์ Wari-Bateshwar’ ในบังคลาเทศ (ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีทางพุทธศาสนาขนาดใหญ่และแหล่งการค้าอายุเริ่มแรกใกล้เคียงกัน)
นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือโกเมนรูปตรีรัตนะสีสวยเนียนและรูปทรงชัดเจนด้วยช่างฝีมือเจียระไนชั้นสูง ซึ่งพบที่ตักศิลาเช่นเดียวกัน (ที่สถูปธรรมมหาราชิกา Dharmarajika Stupa)
คาร์นีเลียนหุงสองสีคือขาวและแดงในชิ้นเดียวและต่างชิ้นกันเหล่านี้ปรากฎพบที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ทำเป็นรูปดอกไม้ชิ้นเดียวมี ๕ กลีบ และกลีบดอกชิ้นเดียวที่ประกอบเป็นกลุ่มได้ เช่นเดียวกับที่พบในสถูกปอราห์วา ถือว่าผลิตโดยช่างฝีมือชั้นเยี่ยม
นอกจากพระบรมสารีริกธาตุจากปริปาห์วาและเครื่องประดับที่เป็นพุทธบูชาบางส่วนจะถูกนำมาประดิษฐานไว้ในประเทศสยามในครั้งรัชกาลที่ ๕ แล้ว ทุกวันนี้มีการศึกษาและค้นพบและตระหนักว่า ‘บ้านเมืองของเราเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับจากหินกึ่งรัตนชาติที่สำคัญ’ เพื่อใช้เป็นพุทธบูชาในอนุทวีปเองหรืออุทิศให้กับชนชั้นสูงตามความเชื่อหลังความตายของผู้คนที่อาจจะไม่ได้นับถือพุทธศาสนาในครั้งนั้น เช่นที่พบในหลุมศพสุสานสมัยราชวงศ์ฮั่น Huangnigang tomb M1, เมืองเหอผู่ มณฑลกวางสี อายุในราว ๑๐๐ B.C.– ๑๐๐ A.D. ซึ่งสิ่งของที่พบจำพวกเครื่องประดับจากหินกึ่งรัตนชาติที่พบทั้งประเภทและรูปลักษณ์จนถึงฝีมือช่างชั้นสูงมีความคล้ายคลึงกับแหล่งผลิตลูกปัดที่พบในแถบคอคอดกระของประเทศไทยอย่างยิ่ง
ยังไม่มีความชัดเจนหรือสามารถอธิบายถึงรายละเอียดในการเป็นแหล่งผลิตงานฝีมือชั้นสูงที่ช่างฝีมืออันน่าจะมีต้นกำเนิดจากอินเดีย เลือกพื้นที่ ‘บริเวณคอคอดกระ’ เพื่อใช้ผลิตและกระจายงานช่างชั้นเยี่ยมเหล่านี้ด้วยเหตุใดหรือมีข้อมูลสนับสนุนใดบ้างในการกล่าวถึงความสำคัญของพื้นที่นี้อย่างชัดแจ้งมากไปกว่าสิ่งที่ค้นพบแล้วนี้
ไม่มีสิ่งใดจะแจ้งชัดเท่ากับการเริ่มปฎิบัติการศึกษาอย่างจริงจัง โดยจบประเด็นข้อถกเถียงที่มีมานานนับศตวรรษถึง ความเป็นพื้นที่ ‘สุวรรณภูมิ’ ตามคัมภีร์มหาวงศ์ที่เขียนขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ โดยถูกปฏิเสธความน่าเชื่อถือและมองเห็นภาพสุวรรณภูมิว่าเป็นเพียงจินตนาการของนักวิชาการท้องถิ่นเท่านั้น
เครื่องประดับรูปกลีบดอกไม้สีเดียวและสองสีในชิ้นเดียว และกลีบดอกไม้ ๕ กลีบทำจากหินคาร์นีเลียน
ในความครอบครองของคุณเนาวรัตน์ สิบพลาง พบที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร
กลีบดอกไม้ ๕ กลีบทำจากหินคาร์นีเลียน