ผู้เข้าชม
0

‘เครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ’ ร่องรอยหนึ่งเดียวที่หลงเหลือของลมหายใจเทคโนโลยีโบราณแห่งคาบสมุทรสทิงพระ

ชุมชนช่างปั้นของชาวสทิงหม้อเลือนหายไปตามวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยน ร่องรอยที่หลงเหลือของชุมชนบ้านสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ริมชายฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา ห่างจากตัวเมืองสงขลาประมาณ ๘ กิโลเมตร มีคลองสทิงหม้อไหลผ่านด้านตะวันตกของชุมชนเป็นชุมชนโบราณในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีร่องรอยของความเป็นเมืองท่าและยังคงสืบทอดการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ
17 กันยายน 2567


‘เครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ’ ร่องรอยหนึ่งเดียวที่หลงเหลือของลมหายใจ

เทคโนโลยีโบราณแห่งคาบสมุทรสทิงพระ

พรเทพ เฮง

หน้าที่ 1/10

ชุมชนช่างปั้นของชาวสทิงหม้อเลือนหายไปตามวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยน ร่องรอยที่หลงเหลือของชุมชนบ้านสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ริมชายฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา ห่างจากตัวเมืองสงขลาประมาณ ๘ กิโลเมตร มีคลองสทิงหม้อไหลผ่านด้านตะวันตกของชุมชนเป็นชุมชนโบราณในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีร่องรอยของความเป็นเมืองท่าและยังคงสืบทอดการทำเครื่องปั้น ดินเผาแบบโบราณ ลักษณะที่โดดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ ใช้เนื้อดินเหนียวธรรมชาติจากตำบลปากรอ มาปั้นและเผาโดยไม่มีการเคลือบน้ำยามีสีสันสวยงามตามธรรมชาติ

การวิจัยและการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีชุมชนผลิตเครื่องปั้นดินเผาลุ่มทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือออกทะเลสาบสงขลาสู่อ่าวไทยนับแต่อดีต โดยเฉพาะพื้นที่ริมคลอง ซึ่งเป็นแหล่งเตาเผาโบราณมีความโดดเด่นเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีของพื้นที่อันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง 
 


คลองสทิงหม้อ ไหลผ่านด้านตะวันตกของชุมชนโบราณ
ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

น่าเสียดายที่ปัจจุบัน ชุมชนช่างปั้นและเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อไม่มีคนสืบทอดและเลิกการผลิตไปเสียแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยทำงานในวิชาชีพนี้ก็เลิกละวางมือและค่อยๆ ล้มหายตายจากไปตามอายุขัย เพราะฉะนั้นข้อมูลทั้งงานวิจัยและงานสัมภาษณ์ของชุมชนโบราณสทิงหม้อ คาบสมุทรสทิงพระ จึงทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง 

เมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่แล้ว ข้อมูลสัมภาษณ์ที่มีคุณค่ายิ่งของ อมรา ขันติสิทธิ์ และศรีอนงค์ ทองรักษาวงศ์ สองนักโบราณคดีที่ลงภาคสนามทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับพัฒนาการและการเชื่อมต่อเกี่ยวโยงรุ่นต่อรุ่นของอุตสาหกรรมขนาดเล็กเครื่องปั้นดินเผาในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา 

จากคำบอกเล่าของบรรดาผู้สูงอายุในชุมชนสทิงหม้อ จังหวัดสงขลา มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า บรรพบุรุษของชาวสทิงหม้อน่าจะอพยพมาจากชุมชนโบราณในคาบสมุทรสทิงพระ เช่น ชุมชนโบราณสทิงพระ ชุมชนโบราณพังยาง คนรุ่นแรกที่อพยพมามีความชำนาญในการทำภาชนะดินเผา จึงยึดอาชีพนั้นเลี้ยงตัวและส่งต่อความรู้สู่ลูกหลานสืบมา ชาวสทิงหม้อจึงเป็นนักปั้นหม้อกันทั้งหมู่บ้าน เป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนอย่างเดียวที่ทำให้ชาวสทิงหม้อเลี้ยงตัวอยู่ได้
 


ทะเลสาบสงขลา
หน้าที่ 2/10

ลักษณะพื้นที่โดยรอบหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่ม มีเนินสูงอยู่ด้านตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดโลการาม วัดประจำหมู่บ้าน และมีคลองไหลผ่านสองสาย คือ คลองสทิงหม้อ และคลองอด ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ มีจำนวนประชากรรวมทั้งหมด ๖๖๙ คน มีครัวเรือน ๔๓๐ หลังคาเรือน คนในชุมชนมีความผูกพันกันเหมือนญาติ พี่น้อง ชาวสทิงหม้อส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีอาชีพหลักคือ ค้าขาย และมีอาชีพเสริมคือ รับจ้างทั่วไป

ที่มาของชื่อชุมชนมีผู้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ต่างกัน สทิงหม้อ จึงเป็นชื่อตำบลและหมู่บ้านที่มีสองนัย 

นัยแรก กล่าวว่า สทิง แปลว่า ท่าน้ำ และ หม้อ ก็คือ ภาชนะชนิดหนึ่ง รวมกันเป็น สทิงหม้อ แปลว่า ท่าขนส่งหม้อ กล่าวคือ เมื่อครั้งที่หม้อภาชนะดินเผา ที่เป็นสินค้าหลักของหมู่บ้านนี้เป็นที่นิยมแพร่หลาย ปากน้ำยังตรงปากคลองสทิงหม้อเป็นร่องน้ำลึก มีเรือสินค้าเข้ามา สถานที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นท่าเรือสำหรับการขนส่งสินค้า คือ หม้อ นำไปขายทั้งเมืองใกล้เมืองไกล เมื่อเวลาผ่านไปคำนี้จึงกลายเป็นชื่อตำบล หมู่บ้านในที่สุด
 


หม้อดินเผาทำลวดลายต่างๆ เป็นสินค้าหลักของหมู่บ้าน 

นัยที่สอง กล่าวกันว่า สทิง เป็นชื่อของชายเชื้อสายจีน มีอาชีพทำหม้อ และมีเรื่องเล่ากันต่อมาว่า เริ่มแรกเดิมทีสถานที่ตรงนั้นไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ต่อมาเมื่อชาวจีนแล่นเรือเข้ามาขายข้าวกับเมืองสงขลา ชาวจีนบางส่วนจึงได้ตั้งถิ่นฐานที่นี่ ชาวจีนผู้หนึ่งชื่อ แป๊ะทิง หรือ ทิ้ง ชาวจีนเซี่ยงไฮ้ได้เข้าไปตั้งบ้านเรือนเป็นคนแรกและประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ด แต่มีความรู้ในการทำเครื่องปั้นดินเผาด้วย เขาจึงได้เริ่มปั้นหม้อใช้เองและจำหน่ายให้คนทั่วไปจนเป็นที่รู้จัก ชาวบ้านจึงขนานนามที่ตั้งบ้านแป๊ะทิ้งว่า บ้านแป๊ะทิงทำหม้อ เมื่อเรียกให้สั้นกร่อนลงเหลือ แป๊ะทำหม้อ และ สทิงหม้อ ในที่สุด

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสิงหนคร ได้กล่าวถึงประวัติบ้านสทิงหม้อ มีใจความว่า มีตำนานเล่าว่า ราษฎรในหมู่บ้านมีอาชีพปั้นดินแล้วนำมาเผา ซึ่งสิ่งที่ปั้นทั้งหมดนั้นจะเป็นภาชนะที่ใช้ในครัวเรือน เมื่อปั้นและเผาเสร็จจะบรรทุกเรือ นำไปเร่ขายในหมู่บ้านใกล้เคียง คนในหมู่บ้านนี้มีความภาคภูมิใจในฝีมือการปั้นมาก มี สทิง ซึ่งแปลว่า สวยงาม จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า สทิงหม้อ
 

หม้อดินเผาทำลวดลายต่างๆ เป็นสินค้าหลักของหมู่บ้าน 
หน้าที่ 3/10

สำหรับในมุมของประวัติศาสตร์ชุมชน นักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า ชาวบ้านสทิงหม้อเป็นผู้คนที่อพยพมาจากชุมชนโบราณสทิงพระ (ภายหลังการล่มสลายชุมชนโบราณสทิงพระ) ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แล้วมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบริมทะเลสาบสงขลา 

กลุ่มชนที่อพยพมามีความชำนาญในการปั้นหม้ออยู่แล้ว เมื่อย้ายบ้านมาอยู่ที่บริเวณนี้ก็ยังคงประกอบอาชีพเดิม จนทำให้ชุมชนสทิงหม้อเป็นชุมชนนักปั้นหม้อส่งขายให้แก่ชุมชนต่างๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบเตาเผาโบราณที่เรียกว่า ‘เตาหม้อ บ้านปะโอ’ บริเวณริมคลองโอ ที่เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่ชาวบ้านใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อไปออกปากทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านใช้เรือขนดินเหนียวมาจากปากรอ บริเวณปากทะเลสาบสงขลามาเป็นวัตถุดิบในการปั้นหม้อ และใช้เรือขนหม้อดินที่ปั้นเสร็จแล้วไปส่งขายแก่ชุมชนอื่นๆ ในเส้นทางเดียวกัน

ปัจจุบันยังมีประเพณีการทําบุญศาลาพ่อทวดภะคะวัน แม่คําแก้ว พ่อขุนโหร หรือชาวบ้านในชุมชน เรียกว่า ‘ทวดเจ้าบ้านสทิงหม้อ’ ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ เป็นประจําทุกปี

‘ปากคลองจะทิ้งหม้อ’ บทความผ่านสายตานักโบราณคดีที่ทำการวิจัยเชิงภูมิวัฒนธรรมถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นร่วมสมัย โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้กวาดภาพกว้างของ ‘คลองจะทิ้งหม้อ หรือสทิงหม้อ’ ซึ่งยาวระยะกว่า ๑๕ กิโลเมตร ว่าเป็นคลองขุดอยู่ในอำเภอสิงหนคร ฝั่งแผ่นดินบกสทิงพระ โดยสันนิษฐานว่าคลองจะทิ้งหม้อน่าจะเคยเป็นคูคลองธรรมชาติมาก่อน ต่อมาคงมีการขุดให้เป็นเส้นตรง น้ำในคลองเป็นน้ำเค็มราว ๑๐ เดือน ส่วนในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระยะฝนชุกจะเป็นน้ำจืด

‘…ปลายคลองเริ่มจากบ้านป่าขวาง ตำบลรำแดง ซึ่งบริเวณนี้มีลำคลองสำคัญในสมัยประวัติศาสตร์ช่วงศรีวิชัยที่ขุดเชื่อมทางฝั่งทะเลนอกหรืออ่าวไทยตัดขวางเข้ามาต่อกับคลองจะทิ้งพระเรียกว่า ‘คลองปะโอ’ ส่วนคลองจะทิ้งพระที่น่าจะเคยเป็นคูคลองธรรมชาติมาก่อนในบริเวณนี้ ต่อมาคงมีการขุดให้เป็นเส้นตรง ไหลลงใต้ขนานกับแนวทะเลสาบสงขลาสู่ปากคลอง ซึ่งเป็นย่านชุมชนตีหม้อ ทำหม้อดินเพื่อใช้ในครัวเรือนมาแต่โบราณ ซึ่งมีอยู่หลายชุมชน ปากคลองทั้งฝั่งคลองจะทิ้งพระ ใช้เพื่อการคมนาคมกับชุมชนภายในได้มากกว่า ๕ ตำบลในปัจจุบัน 

ชุมชนปากคลองจะทิ้งหม้อ เคยเป็นท่าเรือเก่า และเป็นที่พักหรือรอขึ้นเรือเพื่อที่จะเดินทางเข้าเมืองสงขลา เดินทางไประโนด หรือเดินทางไปยังอำเภออื่นๆ นับว่าเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในสงขลา มีเรือจอดเทียบท่าเกือบตลอดทั้งวันอีก และมีเรือสินค้าจากต่างถิ่นเทียบท่าเพื่อนำสินค้ามาขายและซื้อหาสิ่งของกลับไป เช่น อาหารทะเล ของป่า น้ำผึ้งป่า และเครื่องปั้นดินเผา จนกลายเป็นตลาดใหญ่ที่ทิ้งร่อยรอยให้พบเห็นได้จนถึงปัจจุบัน คนในคลองจะทิ้งหม้อและใกล้เคียงต้องใช้เส้นทางคลองสทิ้งหม้อเพื่อเดินทางต่อเรือที่ท่าเรือไปสงขลา ซึ่งมีอยู่หลายลำ 

อาชีพคนปากคลองจะทิ้งหม้อมักจะค้าขาย เป็นร้านขายของชำรายใหญ่ๆ ก็จะนำสินค้าไปขายตามนัดที่อยู่ริมคลองและริมทะเลสาบ หลังปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ รัฐบาลก็เริ่มทำถนนทั่วประเทศ มีการสร้างแพขนานยนต์ให้รถข้ามฟากไปยังเมืองสงขลาได้สะดวก รถโดยสารมากขึ้น เรือโดยสารจากปากคลองจะทิ้งหม้อก็คงค่อยๆ หมดความสำคัญและหายไป
 


‘คลองปะโอ’ คลองสำคัญในสมัยศรีวิชัยที่ขุดเชื่อมทางฝั่งทะเลนอกหรืออ่าวไทย
ตัดขวางเข้ามาต่อกับคลองจะทิ้งพระ
หน้าที่ 4/10

พร้อมกับความรุ่งเรืองของตลาดปากคลองสทิ้งหม้อที่มีทั้งเรือนค้าขายขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ต่อเป็นแถวๆ อยู่หลายถนนซึ่งเชื่อมต่อถึงกันหมด พร้อมทั้งบ้านขนาดใหญ่แบบพ่อค้าคหบดี ที่เป็นเรือนหลังคาปั้นหยาก็พบเห็นอยู่หลายหลัง แต่ปัจจุบันกลายเป็นบ้านเรือนร้างเงียบเหงาจนน่าใจหาย 

คนปากคลองจะทิ้งหม้อยังเป็นเจ้าของเรือรับส่งหม้อไปขายต่างอำเภอในทะเลสาบสงขลาและรับขนไม้ฟืนกลับมาเผาหม้อ มีทำสวนไม่มากนัก แต่เกือบครึ่งของชาวบ้านในหมู่บ้านนี้และรอบๆ ปั้นหม้อขาย ภาชนะที่ปั้นเป็นแบบไม่เคลือบ แต่คุณภาพเนื้อดินแกร่งกว่าเตาแถบภาคกลางอยู่มาก ที่กล่าวกันว่าปั้นมาแต่ดั้งเดิมมีอยู่ ๗ อย่าง คือ เผล้ง หรือหม้อใส่น้ำขนาดใหญ่ หม้อสำหรับหุงข้าวต้มแกง หวด อ่าง เตาหุงข้าว ครกตำน้ำพริก กระทะ ลวดลายที่ใช้ไม้ตีลาย เช่น ลายก้านคู่ ลายก้านแย่ง ลายคิ้วนาง ลายดอกพิกุล เป็นต้น
 


ไม้ตีลาย ลายก้านคู่ ลายก้านแย่ง ลายคิ้วนาง และลายดอกพิกุล

แม้ว่าจะเคยมีเตาเผาภาชนะขนาดใหญ่หลายแห่ง แต่การเดินทางไปนำดินเหนียวจากปากรอมาใช้ทำขึ้นรูปทำภาชนะ ซึ่งปัจจุบันถูกสงวนไว้สำหรับชาวบ้านในพื้นที่ก็เป็นปัญหาหนึ่ง อีกปัญหาหนึ่งคือไม่มีคนทำงานปั้นภาชนะต่างๆ อีกต่อไป จนอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่ต่อเนื่องมานับร้อยปีก็ถึงคราวสิ้นสุดลงเมื่อราวๆ สิบกว่าปีที่ผ่านมา เหลือไว้เพียงแม่เฒ่าบางท่านที่พอจะสาธิตวิธีการตีหม้อโดยใช้หินดุหรือดินเผารองด้านในและใช้ไม้สำหรับตีแบบแผ่นเรียบและแบบมีลวดลายสาธิตวิธีการให้ดู

บริเวณเกือบกึ่งกลางหมู่บ้านมีศาลาทวดเพื่อใช้ทำพิธีกรรม โดยมีบุคคลในตำนานที่เป็นบรรพบุรุษและนับถือกัน ๓ ท่านคือ ‘พ่อทวดพะคะวัน แม่คำแก้ว พ่อตาโหร’ 
 


แม่เฒ่าสาธิตวิธีการตีหม้อโดยใช้หินดุหรือดินเผารองด้านในและใช้ไม้สำหรับตี
หน้าที่ 5/10

วัดโลการามหรือวัดจะทิ้งหม้อ อยู่อีกด้านของหมู่บ้าน บนพื้นที่สูงที่เป็นเนินทราย มีต้นยางใหญ่ที่แสดงถึงอายุอันยาวนานและเป็นจุดสังเกตหรือแลนด์มาร์คของชุมชนปากคลองจะทิ้งหม้อ เวลาชาวเรือจะเข้ามาที่ท่าเรือก็ต้องหมายตาที่ต้นยางสูงในวัดโลการามเป็นหมาย  

ส่วนโบสถ์นั้นเป็นแบบโบสถ์โถง ซึ่งเป็นที่นิยมมาแต่เดิมในภาคใต้ ส่วนหน้าบันเป็นแบบงานพระราชนิยมในช่วงรัชกาลที่ ๓ หรือรัชกาลอื่นๆ ลงมา หน้าบันเป็นลายต้นไม้กิ่งไม้ และมีเทวดาทรงครุฑที่กึ่งกลาง สวยงามมาก แต่มีการอนุรักษ์บูรณะจนมีสภาพใช้งานได้ดี รวมทั้งหอระฆังที่น่าจะสร้างมาในคราวเดียวกัน ถือว่าเป็นงานช่างชั้นครูแห่งคาบสมุทรสทิงพระทีเดียว…’

การศึกษาทางโบราณคดีในบริเวณพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่เจริญขึ้นเป็นบ้านเมืองตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นต้นมา ซึ่งข้อเขียนหลายชิ้นได้กลายเป็นรากฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะ ในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยในเวลาต่อมา

จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๑ – ๒๕๒๒ พบว่าทางภาคใต้ของประเทศไทยมีแหล่งทำภาชนะดินเผาแหล่งใหญ่อยู่ด้วยเช่นกัน ในบริเวณที่เรียกว่า แหล่งผลิตภาชนะดินเผาเตาบ้านปะโอ ซึ่งตั้งอยู่ในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ไม่ห่างจากแหล่งที่พบเตาเผาโบราณมีชุมชนเล็กๆ ชื่อว่า สทิงหม้อ เป็นหมู่บ้านที่มีการสืบทอดการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณอยู่ด้วย

คาบสมุทรสทิงพระ-แผ่นดินบก ในการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีและภูมิวัฒนธรรมของอาจารย์  ศรีศักร วัลลิโภดม พบว่า บริเวณที่เป็นชุมชนเมืองท่าและท่าจอดเรือที่เก่าที่สุด พบมากในพื้นที่ที่เป็นเขาและเกาะอันเกิดจากการทับถมของปะการัง กลายเป็นแนวสันทรายที่ยาวเกือบ ๗๐ กิโลเมตร จากหัวเขาแดงถึงอำเภอระโนด ซึ่งผู้รู้ทางโบราณคดีและวัฒนธรรมของท้องถิ่นอย่างพระราชศีลสังวร (ช่วง) และคุณเยี่ยมยง ส. สุรกิจบรรหาร เรียกว่า แผ่นดินบก

‘…การสำรวจครั้งนั้น อาจารย์มานิตนำแผนที่โบราณของคาบสมุทรที่ถ่ายเอกสารลงบนม้วนกระดาษไขจากหอสมุดวชิรญาณไปสืบค้นในพื้นที่ ขณะที่ข้าพเจ้าเตรียมตัวศึกษาร่องรอยแหล่งโบราณคดีจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ และแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐

แลเห็นร่องรอยการตั้งถิ่นฐานตามแนวสันทรายที่เป็นชุมชนบ้านเมือง จากบริเวณที่มีสระน้ำหรือตระพัง บริเวณที่มีร่องรอยของคูน้ำและคันดิน รวมทั้งร่องรอยของพื้นที่ทำนาจากบริเวณที่ลุ่มต่ำระหว่างแนวสันทราย

แผนที่นี้ท่านเจ้าคุณมองออกว่าเป็นแผนที่การสร้างวัดและกัลปนาที่ดินให้กับวัดและชุมชนที่มีชื่อระบุอยู่ในแผนที่ โดยเฉพาะบรรดาสระน้ำขนาดใหญ่ที่คนท้องถิ่นเรียกว่า พัง หรือตระพัง ที่ปรากฏในแนวสันทรายเป็นระยะๆ ไปนั้น ทำให้ข้าพเจ้าตีความได้ว่า เป็นแหล่งน้ำจืดเพื่อการอุปโภคบริโภคร่วมกันของคนในแต่ละชุมชน โดยเฉพาะชื่อวัดที่อยู่ในแผนที่ก็คือชื่อของชุมชนบ้านและเมือง
 


แนวสันทรายจากหัวเขาแดงถึงอำเภอระโนด เรียก 'แผ่นดินบก'
หน้าที่ 6/10

การสำรวจและศึกษาครั้งนั้นโดยการนำของผู้รู้ในท้องถิ่น ทำให้อาจารย์มานิตและข้าพเจ้าสามารถกำหนดบริเวณสำคัญของชุมชนบ้านเมืองของแผ่นดินบก ที่ตั้งอยู่บริเวณแนวสันทรายและเชิงเขาจากหัวเขาแดง คืออำเภอสิงหนคร ผ่านอำเภอสทิงพระไปจนถึงอำเภอระโนด ที่แต่เดิมก็คือเกาะหินปะการังก่อนที่แผ่นดินซึ่งงอกขึ้นจากอำเภอระโนด อำเภอหัวไทร ไปอำเภอปากพนังจะปิดผืนน้ำทะเล ทำให้เกิดลากูนขึ้น

พื้นที่สำคัญของแผ่นดินบกบริเวณแรกอยู่ในเขตอำเภอสิงหนคร ตั้งแต่หัวเขาแดงไปจนถึงคลองปะโอในเขตตำบลวัดขนุนและตำบลม่วงงาม บริเวณหัวเขาแดงคือที่ตั้งของเมืองสงขลา (Songkhla) ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นเมืองที่มีคูน้ำ กำแพงเมือง และป้อมปราการบนเขา ปกครองโดยสุลต่านสุลัยมาน พ่อค้าอาหรับ เมืองนี้เป็นเมืองท่าที่มีพ่อค้านานาชาติเข้ามาติดต่อค้าขาย และเป็นเมืองที่เกิดสงครามกับศูนย์กลางอำนาจที่อยุธยา ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจนมาแพ้สงครามในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
 


ย่านเมืองเก่าสงขลาในปัจจุบัน

ภายในบริเวณเมืองมีเขาเตี้ยลูกหนึ่งคือ เขาน้อย เป็นที่ตั้งของพระสถูปวัดเขาน้อย ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา เป็นพระสถูปที่สร้างทับพระสถูปเดิมในสมัยศรีวิชัย คือ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๒ ลงมา พระสถูปนี้บริเวณฐานก่อด้วยอิฐที่ตัดมาจากหินปะการัง 

แหล่งโบราณคดีถัดมาคือบริเวณปากคลองบ้านสทิงหม้อ หรือเดิมอาจเป็นบริเวณชุมชนโบราณที่เรือสินค้าเข้ามาจอด พบเศษภาชนะดินเผาหลายยุคหลายสมัย ณ วัดธรรมโฆษณ์ ตำบลสทิงหม้อ เพราะยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผามาจนปัจจุบัน ในบริเวณนี้มีพระภิกษุในวัดธรรมโฆษณ์เก็บเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรศิลาไว้ ซึ่งท่านเจ้าคุณได้ขอมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมา-วาส เป็นเศียรเทวรูปในพุทธศาสนามหายานที่มีความเก่าไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๒
 


ป้อมหัวเขาแดงคือป้อมปราการบนเขาของเมืองสงขลา (Songkhla)
ในสมัยอยุธยาตอนปลาย 
หน้าที่ 7/10

ถัดจากเมืองโบราณที่หัวเขาแดงมาตามสันทรายยังบริเวณคลองปะโอ ตำบลม่วงงาม ชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่พบซากเตาเรียงรายอยู่สองฝั่งคลอง จากการขุดค้นทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ พบภาชนะโบราณรูปกาน้ำที่เรียกว่า กุณฑี (มีหลายกา) และกุณโฑ จานแบน กระปุกสีเทา และเศษภาชนะเคลือบขาวเนื้อบาง มีการค้นคว้ากันว่าภาชนะเหล่านี้ส่งไปขายที่อินโดนีเซีย

นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุทั้งในพุทธศาสนามหายาน เช่น พระโพธิสัตว์สำริด อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ในเขตบ้านขนุน กับพระพุทธรูปสำริดแบบทวารวดี ราวพุทธ-ศตวรรษที่ ๑๒ ที่บ้านม่วง อำเภอสิงหนคร เหนือตำบลม่วงงามตามแนวสันทรายขึ้นไปจะเข้าเขตอำเภอสทิงพระ เมื่อถึงตำบลบ่อแดงและตำบลบ่อดานเริ่มปรากฏชุมชนและวัดเรียงรายในระยะที่ไม่ห่างกันเท่าใดนัก เช่น วัดพระสิงห์ วัดสุวรรณาราม ที่มีตระพังชื่อว่า บ่อดาน เป็นอ่างน้ำของชุมชน
 


ที่ตั้งของเมืองสทิงพระ ปัจจุบันมีถนนหลวงผ่านกลาง
และมีวัดสทิงพระอยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนน

จากนั้นชุมชนหนาแน่นขึ้น นอกจากมีวัดมากขึ้นแล้ว ก็มีตระพังหรือสระน้ำเพิ่มขึ้นด้วย เช่น พังงามของชุมชนบ้านพังงาม ตำบลบ่อดาน ต่อจากนั้นเข้าเขตตำบลจะทิ้งพระ ที่เป็นพื้นที่บริเวณชุมชนเมืองโบราณ มีตระพังน้ำหลายแห่งทั้งใหม่และเก่า เช่น พังเสม็ด พังจิก พังยาง ปัจจุบันชายหาดบริเวณนี้มีชื่อว่า หาดมหาราช พบรอยร่องน้ำของคลองโบราณจากหาดมหาราช บริเวณพังยวง ตัดข้ามคาบสมุทรไปยังบริเวณวัดคลองขุด เชื่อมระหว่างชายฝั่งทะเลทางตะวันออกกับชายฝั่งทะเลสาบในบริเวณวัดคลองขุด ทางตะวันตกไปจนถึงชายฝั่งทางตะวันออก

เหนือขึ้นไปเป็นที่ตั้งของเมืองสทิงพระ ซึ่งมีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันมีถนนหลวงผ่านกลางและมีวัดจะทิ้งพระหรือวัดสทิงพระอยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนน เป็นวัดเก่าที่มีพระมหาธาตุเจดีย์ ที่แสดงสถานภาพความเป็นเมืองในระดับนครของสทิงพระ เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้านำนักศึกษาของชุมนุมศึกษาโบราณคดีและวัฒนธรรม คณะโบราณคดี เข้าไปศึกษาสำรวจเมืองนี้ ถนนยังเป็นลูกรัง ผ่ากลางกองเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาเคลือบที่เป็นสินค้าทางทะเล มีเครื่องปั้นดินเผาของจีนแต่สมัยราชวงศ์หยวนลงมาจนถึงราชวงศ์เหม็งตอนต้นบริเวณที่อยู่ติดกับรั้วของโรงเรียนประจำอำเภอ ซึ่งปัจจุบันร่องรอยเหล่านี้สูญหายไปหมดแล้ว

การพบเศษภาชนะเคลือบของจีนดังกล่าว คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณเมืองสทิงพระเป็นเมืองท่า ที่มีเรือเดินทะเลมาจอดในบริเวณชายหาดมหาราช เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าไปสำรวจนั้น ชาวบ้านยังชี้ให้เห็นร่องรอยทางน้ำที่เรือเข้ามา...’

คาบสมุทร สทิงพระ อันเป็นที่รู้จักกันดีในแง่ที่มีชุมชนโบราณและหลักฐานทางโบราณคดีมากมายนั่นเอง และไม่ห่างจากแหล่งที่พบเตาเผาโบราณก็มีชุมชนเล็กๆ ที่เรียกกันว่า 'สทิงหม้อ' ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ยังคงมีการสืบทอดการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณอยู่…’

คาบสมุทรสทิงพระ เป็นที่รู้จักกันดีในแง่ที่มีชุมชนโบราณและหลักฐานทางโบราณคดีมากมายนั่นเอง และไม่ห่างจากแหล่งที่พบเตาเผาโบราณก็มีชุมชนเล็กๆ ที่เรียกกันว่า 'สทิงหม้อ' ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เคยมีการสืบทอดการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ แต่ปัจจุบันไม่มีชาวบ้านทำเครื่องปั้นดินเผาอีกแล้ว 

หน้าที่ 8/10

แต่เมื่อ ๔๕ ปีที่แล้ว ‘สทิงหม้อ แหล่งเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ' โดย อมรา ขันติสิทธิ์ และศรีอนงค์ ทองรักษาวงศ์ สองนักโบราณคดีได้ลงภาคสนามและบันทึกเรื่องราวของสทิงหม้อไว้ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๒

‘…สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการอพยพมาตั้งชุมชนอยู่ใหม่บริเวณริมทะเลสาบสงขลา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของชุมชนสทิงพระโบราณ ณ บริเวณที่เรียกกันว่าสทิงหม้อในปัจจุบัน

กลุ่มชนที่อพยพมานี้แต่เดิมมีหน้าที่และความชำนาญในการทำภาชนะดินเผาเป็นส่วนใหญ่ จึงได้ใช้วิชาชีพเดิมประกอบกิจการสืบต่อมา จนทำให้ชุมชนสทิงหม้อกลายเป็นชุมชนของนักปั้นหม้อ เป็นแหล่งใหญ่ที่ผลิตภาชนะดินเผาป้อนให้กับชุมชนต่างๆ ที่อยู่ข้างเคียงตลอดคาบสมุทรสทิงพระ

จากหลักฐานทางโบราณคดีได้พบ เตาเผาโบราณ ในบริเวณที่เรียกกันว่า เตาหม้อ บ้านปะโอ ซึ่งอยู่ห่างจากสทิงหม้อไปทางทิศเหนือ ๒ กิโลเมตร โดยมีการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โดย ธรา-พงศ์ ศรีสุชาติ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้พบเตาเผาตั้งอยู่ริมคลองโอ ซึ่งผู้สูงอายุ ในท้องถิ่นเล่าสืบต่อกันมาว่า แต่เดิมคลองนี้เป็นทางสัญจรภายใน มีเรือสัญจรไปออกปากทางทะเลสาบ ซึ่งจะเป็นเรือที่บรรทุกขนส่งพวกภาชนะดินเผาที่ได้จากเตาเผาที่ตั้งอยู่บนลำน้ำนี้ จึงเรียกกันว่า เตาหม้อ (เอาท่าหม้อ) และทางน้ำสายนี้ก็มีสายแยกไปต่อกับทางน้ำของหมู่บ้านสทิงหม้อ ซึ่งยังคงมีการทำภาชนะดินเผาในปัจจุบัน และในอดีต นักปั้นหม้อแห่งชุมชนสทิงหม้อคงจะได้ใช้เส้นทางน้ำนี้ ในการขนส่งสินค้าด้วยเช่นกัน

จากการสอบถามนางพร้อม สังฆะไร ผู้ยังคงรักษาอาชีพปั้นหม้อตามบรรพบุรุษในขณะนั้น ทำให้ทราบว่า ชาวสทิงหม้อต้องอาศัยเรือล่องไปตามทางน้ำนี้ออกสู่ทะเลสาบเพื่อเอาดินบริเวณริมทะเลสาบในบริเวณที่เรียกกันว่า ปากรอ 

หลังจากที่นำดินดิบที่ใช้ในการปั้นเครื่องปั้นดินเผาตลอดจนตัวอย่างภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเผาโบราณที่เตาหม้อและเตาสทิงหม้อปัจจุบันให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านปฐพีวิทยา พิจารณาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อดินดิบ และภาชนะดินเผาประเภทเครื่องดิน (earthenware) ทั้งภาชนะดินเผาโบราณจากการขุดค้นที่สทิงพระ ภาชนะดินเผาจากเตาเผาโบราณที่เตาหม้อ ปะโอ และภาชนะดินเผาจากเตาเผาปัจจุบันที่สทิงหม้อนั้น มีคุณสมบัติแบบเดียวกันทั้งสิ้น 

นั่นคือเป็นภาชนะดินเผาที่ทำจากดินเหนียวที่ปากรอและผสมทรายที่หาได้ทั่วไปในคาบสมุทรสทิงพระ (เป็นทรายที่ต่างจากที่อื่น คือมีเนื้อนุ่มละเอียดและมีไมกาสูง ซึ่งเป็นทรายที่ชุมชนโบราณสทิงพระได้ใช้นำมาผสมในการทำอิฐเพื่อเป็นสิ่งก่อสร้างด้วย) 

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า แหล่งวัตถุดิบโบราณของเตาเผาที่เตาหม้อกับที่สทิงหม้อปัจจุบันมาจากแหล่งเดียวกัน โดยใช้เส้นทางน้ำสายนี้ไปเอาดินที่เป็นวัตถุดิบภายในบริเวณเดียวกันสืบต่อกันมา และอาจกล่าวได้อีกว่า ในสมัยโบราณบริเวณชุมชนที่เป็นแหล่งปั้นหม้อไม่เพียงมีอยู่เฉพาะในหมู่บ้านสทิงหม้อเท่านั้น หากขยายแหล่งผลิตภาชนะดินเผาอยู่ตามเนินบนแนวสันทรายริมทางน้ำที่เป็นทางสัญจรเพื่อสะดวกแก่การคมนาคมขนส่ง ดังที่ได้พบเตาเผาโบราณอยู่ริมคลองโอซึ่งเป็นคลองต่อออกไปสู่ทะเลสาบ นอกจากจะใช้เป็นเส้นทางที่จะไปเอาดินสำหรับนำมาปั้นหม้อจากบริเวณริมทะเลสาบแล้ว ยังเป็นเส้นทางลำเลียงภาชนะดินเผาที่ได้จากเตาเผาที่ตั้งอยู่ริมคลองเหล่านี้ด้วย
 


เนื้อของภาชนะดินเผาที่บ้านสทิงหม้อ ทำจากดินเหนียวที่ปากรอ
และผสมทรายที่หาได้ทั่วไปในคาบสมุทรสทิงพระ
หน้าที่ 9/10

เตาเผาบริเวณริมคลองโอคงจะเลิกราไป โดยที่ยังไม่อาจทราบสาเหตุได้แน่ชัด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะทางน้ำของคลองโอตื้นเขินหรืออาจเป็นเพราะแหล่งผลิตภาชนะดินเผาที่สทิงหม้อเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น หลังจากมีการอพยพมาจากสทิงพระ มาตั้งเป็นหมู่บ้านนักปั้นหม้อกลุ่มใหญ่...’

บันทึกทางประวัติศาสตร์สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ระบุว่า มีการส่งเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อเข้าแสดงในงานสินค้าพื้นเมือง เพื่อเฉลิมฉลองงานสมโภชพระนครในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ปัจจุบัน ชุมชนสทิงหม้อยังมีประเพณีการทําบุญศาลาพ่อทวดภะคะวัน แม่คําแก้ว พ่อขุนโหร หรือชาวบ้านในชุมชน เรียกว่า ‘ทวดเจ้าบ้านสทิงหม้อ’ ในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๖ เป็นประจําทุกปี 

จากการขุดค้นโบราณคดี พบหลักฐานการตั้งชุมชนซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสองสมัยคือ สมัยเริ่มแรกที่ยังคงไม่มีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเพื่อการค้าคงเป็นเพียงผลิตขึ้นใช้เองภายในชุมชนเท่านั้น ในสมัยนั้นคงมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศแล้วโดยพบหลักฐานประเภทเศษเครื่องถ้วยจีน และเครื่องถ้วยต่างชาติซึ่งมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ สมัยที่สองมีอายุอยู่ในช่วง หลังจากพุทธศตวรรษที่ ๒๒ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เมื่อมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ หรือกับชุมชนภายนอกมากขึ้นก็ผลิตเพื่อใช้เองในชุมชนและผลิตเพื่อการค้า

สทิ้งหม้อ ในทุกวันนี้ไม่มีผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่สืบทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาเทคนิคการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณที่เลื่องชื่อไปทั้งคาบสมุทรสทิงพระและพื้นที่ต่างๆ ทั่วคาบสมุทรสยามเทศะอีกแล้ว....

 


 

คำสำคัญ : สทิงหม้อ,เครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ,คาบสมุทรสทิงพระ,จังหวัดสงขลา

อ้างอิง

'สทิงหม้อ แหล่งเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ' โดย อมรา ขันติสิทธิ์ และศรีอนงค์ ทองรักษาวงศ์ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๑ (ธันวาคม ๒๕๒๓–มีนาคม ๒๕๒๔) 

'ภูมิวัฒนธรรมการสร้างบ้านแปงเมืองที่ทะเลสาบสงขลา: คาบสมุทรสทิงพระ-แผ่นดินบก' โดย ศรีศักร วิลลิโภดม 

'ปากคลองจะทิ้งหม้อ' โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

'บ้านสทิงหม้อ' ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

‘การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี ชุมชนผลิตเครื่องปั้นดินเผาลุ่มทะเลสาบสงขลาเพื่อพัฒนาสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจสังคมในโลกปัจจุบัน’ โดย เขมิกา หวังสุข, วิเชษฐ์ จันทร์คงหอม

‘การพัฒนารูปแบบศิลปหัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา : กรณีศึกษาชุมชนบ้านสทิงหม้อ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา’ โดย ดำรงค์ ชีวะสาโร สาขาวิชาทัศนศิลป์และการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วารสารปาริชาต สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ

พรเทพ เฮง
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกโบราณคดี รุ่น ๓๘ ทำงานด้านสื่อ ด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และสาระบันเทิงมาค่อนชีวิต
หน้าที่ 10/10