ผู้เข้าชม
0

นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา

ประตูเปิดสู่ภาคอีสาน การบุกเบิกด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์แอ่งโคราชและพิมายของ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม
3 กรกฎาคม 2567


'นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา'

ประตูเปิดสู่ภาคอีสาน การบุกเบิกด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์แอ่งโคราชและพิมายของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม

(ภาพสำรวจอีสานของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม และคณะ ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๓ จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม)

 

พรเทพ เฮง

หน้าที่ 1/10


หนังสือเล่มที่มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อวงการโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานของประเทศไทย นั่นก็คือ 'นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา' นับเป็นจุดเริ่มต้นในการจุดประกายความสนใจการศึกษาทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในแอ่งโคราชและพื้นที่ทั้งหมดของภาคอีสานในประเทศไทยเมื่อเกือบ ๗ ทศวรรษที่แล้ว

เอกสารโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรมศิลปากร โดยนายมานิต วัลลิ-โภดม หัวหน้าคณะสำรวจและขุดแต่งฯ ทั้งภาค ๑ และภาค ๒ คือโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๒ กับโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๔ ถือเป็นฐานข้อมูลสำคัญของนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ รวมถึงขยายออกไปสู่ข้อมูลของการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ยุคบุกเบิกขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลานั้นด้วย

สำหรับเอกสารโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๒ (Plan and report of the survey and excavations of ancient monuments in North-Eastern Thailand ๑๙๕๙) ซึ่งจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม พิมพ์ครั้งแรกโดยกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ และจัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ หรืออีก ๑๙ ปีต่อมา

ต่อมาได้ถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่ชื่อว่า หนังสือ 'นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา' ของนายมานิต วัลลิโภดม พิมพ์ต่อๆ มาในงานพระราชทานเพลิงศพของข้าราชการระดับสูงอีกหลายท่าน โดยองค์การค้าของคุรุสภา  ซึ่งให้ความรู้ทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ตำนาน และโบราณคดีของจังหวัดนครราชสีมา

เมื่อค้นข้อมูลถึงมูลเหตุและที่มาของการทำงานสำรวจของโครงการนี้ก็พบว่า เนื่องจากกรมศิลปากรมีความมุ่งหมายที่จะดำเนินการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ส่งนายมานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์เอก เป็นหัวหน้าคณะการทำงาน โดยมีนายจำรัส เกียรติก้อง หัวหน้าแผนกสำรวจ กองโบราณคดี จัดทำแผนผังโบราณสถาน โดยได้ผลที่น่าพึงพอใจจึงปรากฏว่ามีนักทัศนาจรเดินทางไปเยี่ยมชมโบราณสถานบางแห่งที่มีการสำรวจและขุดแต่ง 

ต่อมานายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้นำเสนอรายงานชิ้นนี้ต่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และท่านได้ตอบบันทึกว่า “ผมสนใจมาก ดูแล้ว ขอบคุณท่านอธิบดีและเจ้าหน้าที่ทุกคน” อธิบดีกรมศิลปากร จึงดำริต่อว่า จะจัดพิมพ์รายงานชิ้นนี้ ด้วยประโยชน์ ๒ ประการคือ 

- ประการแรก เพื่อใช้เป็นแนวทางของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร 

- ประการที่สอง เสนอต่อผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้รายงานชิ้นนี้แพร่หลายในหมู่ผู้รู้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 

ในการนี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ จึงได้ทูลขอแรงหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทำต้นฉบับภาษาอังกฤษ โดยทั้งนี้ได้ขอร้อง นางอลิซเบธ ไลออนส์ (Elizabeth Lyons) ผู้ชำนาญพิเศษของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ช่วยพิจารณาตรวจแก้แล้วนำมาตีพิมพ์

 

ภาพหนังสือนำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา

โดยนายมานิต วัลลิโภดม

หน้าที่ 2/10

ภาพอาจารย์มานิต วิลลิโภดมและคณะ ขณะออกสำรวจภาคอีสาน

จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม



โครงการปริทัศน์พระนิพนธ์ ศ.ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้สรุปเนื้อหาถึงพระนิพนธ์แปลไว้ว่า พระนิพนธ์ชิ้นนี้ทรงแปลจากภาษาไทยซึ่งเป็นรายงานของนายมานิต วัลลิโภดม เป็นภาษาอังกฤษ โดยกล่าวถึงรายงานการสำรวจโบราณสถานในเขตจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และชัยภูมิ รวมถึงรายงานการขุดแต่งปราสาทหินพนมวันและปราสาทเมืองแขก โดยมีนางอลิซเบธ ไลออนส์ เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการพิเศษของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผลงานในการเขียนถึงประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ๒ เล่ม คือ ‘ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์’ และ ‘จิตรกรรมไทยจากเรื่องทศชาติ’ แสดงว่ามีความรู้เกี่ยวกับศิลปะในประเทศไทยในระดับที่สูง เป็นผู้ตรวจตราแก้ไขภาษาอังกฤษ

เชิงอรรถ หรือคำอธิบายเพิ่มเติม เป็นข้ออ้างอิงที่แสดงไว้ตอนท้ายในการปริทัศน์ ได้ขยายความถึงความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ของอาจารย์มานิต วัลลิโภดมไว้อย่างละเอียดว่า รายงานการสำรวจโบราณสถานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของนายมานิต วัลลิโภดม ถือว่ามีความสำคัญมากทางวิชาการ ทั้งนี้เพราะหลังจากรายงานการสำรวจของ Étienne Aymonier, Lunet de Lajonquière และ Major Erik Seidenfaden ของฝรั่งเศส ไม่มีการทำรายงานสำรวจโบราณสถานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม ในรายงานชิ้นนี้ของนายมานิต วัลลิโภดม ไม่ได้ระบุว่าก่อนที่ท่านจะทำการสำรวจนั้นท่านได้ข้อมูลพื้นฐานโบราณสถานต่างๆ จากเอกสารชิ้นใด ซึ่งผู้ทำการปริทัศน์ สันนิษฐานน่าจะอาศัยจากประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติที่ลงในราชกิจจานุเบกษา

เนื้อหาในรายงานชิ้นนี้นอกจากการบรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานตามสภาพที่เห็นเมื่อขณะทำงานสำรวจ แต่อย่างไรก็ตามในรายงานชิ้นนี้ยังได้มีการนำเสนอเนื้อหาคำอ่าน-แปลจารึก กรอบคันฉ่องจากปราสาทหินโคกปราสาท หรือบางเอกสารเรียกจารึกบ้านโคกงิ้ว (บร.๗, K.๙๗๓) ซึ่งในรายงานชิ้นนี้ไม่ได้ระบุว่าคำอ่านแปลจารึกหลักนี้เป็นผลงานของใคร แต่พิจารณาจากข้าราชการกรมศิลปากรสมัยนั้น สันนิษฐานว่าเป็นผลงานของนายฉ่ำ ทองคำวรรณ

ในอีกด้านหนึ่งในประโยชน์จากการสำรวจและขุดแต่ง ได้ระบุว่านอกจากการศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชักจูงชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวโบราณสถาน อีกทั้งยังทำให้ผู้คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเศรษฐกิจดีขึ้นและบังเกิดความรักชาติ

การประโยชน์ที่ได้รับมีการกล่าวถึงการท่องเที่ยวนั้น เป็นเพราะความตื่นตัวด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทย เพราะช่วงระยะที่นายมานิต วัลลิโภดม ทำการสำรวจโบราณสถานอยู่ในช่วงที่มีการประกาศตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งวัตถุประสงค์ข้อที่ ๑ ในมาตราที่ ๖ ของพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว พ.ศ. ๒๕๐๒ คือ ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของชาติ และเผยแพร่ประเทศไทยในด้านวัฒนธรรม ศิลปกรรม ประเพณี นาฏศิลป์ การกีฬา และกิจการอย่างอื่น อันจะเป็นการชักจูงหรือเป็นที่สนใจแก่นักท่องเที่ยว โดยมีอนุสาร อ.ส.ท. ซึ่งเป็นนิตยสารท่องเที่ยวขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) (ปัจจุบันเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ออกวางตลาดเป็นปฐมฤกษ์ ในฉบับเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยคำว่าอนุสาร หมายถึงสารฉบับเล็ก มียอดพิมพ์ครั้งแรก ๕๐,๐๐๐ ฉบับ เนื้อหานำเสนอเรื่องราวของแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งในด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต เป็นแหล่งเผยแพร่อีกทางหนึ่ง

เมื่อมองลงไปถึงระบบระเบียบและแบบแผนวิธีคิดของการวิจัยทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในยุคเกือบ ๘ ทศวรรษที่แล้ว ยังเป็นของใหม่เอี่ยม และไม่มีบุคคลหรือสถาบันศึกษาที่เป็นกิจจะลักษณะ มีแต่การเดินตามรอยคิดและวิธีการแบบยูโรเซนตริค (Eurocentric) จากอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นหลัก

หน้าที่ 3/10


จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ปี พ.ศ. ๒๕๖๗ แบ่งการปกครองออกเป็น ๓๒ อำเภอ ๒๘๙ ตำบล ๓,๗๔๓ หมู่บ้าน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ หรือเมื่อ ๖๕ ปีที่แล้ว ที่หนังสือ 'นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา' ตีพิมพ์ออกมาโดยกรมศิลปากร จังหวัดนครราชสีมา ยังแบ่งเขตการปกครองท้องที่ออกเป็น ๑๔ อำเภอ และอีก ๒ กิ่งอำเภอเพียงเท่านั้น ซึ่งแต่ละอำเภอกินพื้นที่กว้างขวางมากในฐานะประตูสู่ภาคอีสานที่ราบสูงแอ่งโคราช

ภาคอีสานเป็นที่ราบสูงแบบแอ่งแผ่นดินตื้น (Shallow Basin) เรียกกันโดยรวมว่า ที่ราบสูงโคราช (Khorat Plateau)  มีรูปร่างคล้ายถ้วยเป็นแอ่งอยู่ตรงกลาง ลาดเอียงจากทางตะวันตกไปทางตะวันออก บริเวณชายขอบเป็นภูเขาสูง พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยหิน มีชั้นหินกรวดมน หินดินดาน และเกลือหิน แทรกอยู่เป็นตอนๆ

จากลักษณะทางธรณีวิทยาและอายุของหิน ทำให้ทราบว่าแผ่นดินอีสานอยู่ในช่วงตอนปลายของมหายุคเมโสโซอิก ที่ราบสูงแห่งนี้เป็นที่ราบสูงขนาดใหญ่ของทวีปเป็นแอ่งที่มีการทับถมของตะกอน บางช่วงได้ยุบจมลง เป็นทะเลตื้นๆ และเมื่อน้ำทะเลระเหย จึงตกตะกอนเป็นชั้นของเกลือหินแทรกอยู่ทั่วทั้งบริเวณที่ราบ

ต่อมาในมหายุคซีโนโซอิก เกิดการบีบตัวของเปลือกโลกทำให้เกิดรอยเลื่อนของเปลือกโลกขึ้นทางด้านตะวันตกและด้านใต้ของภาค เป็นเทือกเขาเพชรบูรณ์ ดงพญาเย็น สันกำแพง  และพนมดงรัก ขณะเดียวกันตอนกลางของที่ราบก็เกิดการโค้งตัวขึ้นเป็นสัน จากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเทือกเขาภูพานแบ่งแอ่งที่ราบต่ำตอนกลางของภาคออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่อยู่ตอนเหนือเรียกว่า ‘แอ่งสกลนคร’ ส่วนที่อยู่ทางใต้เรียกว่า ‘แอ่งโคราช’

สำหรับแอ่งโคราช พื้นที่ราบเป็นแอ่งแผ่นดินขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ ๓ ใน ๔ ส่วนของภาคอีสานทั้งหมด ถือว่าเป็นที่ราบกว้างที่สุดของประเทศไทยมีความสูงโดยเฉลี่ย ๑๒๐-๑๗๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ตรงกลางแอ่งเป็นที่ราบลุ่มต่ำ มีแม่น้ำมูล แม่น้ำชี เป็นแม่น้ำสายหลักที่ระบายน้ำออกจากขอบที่ราบของแอ่ง 

ที่ราบแอ่งโคราชนี้ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร อำนาจเจริญ ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานีทางด้านตะวันออก ล้อมรอบด้วยเทือกเขาเพชรบูรณ์ ดงพญาเย็น สันกำแพง พนมดงรัก และเทือกเขาภูพาน

อย่างที่กล่าวภาคอีสานตั้งอยู่บนที่ราบสูงที่เราเรียกกันว่า ‘ที่ราบสูงโคราช’ ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะหลายแอ่งและยังมีภูเขาทั้งขนาดใหญ่ขนาดย่อมลูกโดดๆ อีกหลายลูก ตามทฤษฏีแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ (Plate tectonics) ทำให้สันนิษฐานว่าการเกิดทั้งภูเขาและแอ่งกระทะ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก โดยภาคอีสานนั้นอยู่ในเขตแผ่นเปลือกโลกที่เราเรียกกันว่า ‘อินโดจีน’ (Indochina)

 

 

ภาพถ่ายทางอากาศเมืองพิมาย จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม

 

ที่ราบสูงโคราช มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคอีสานประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ตร.กม. และครอบคลุมถึงแขวงสะหวันนะเขตและเมืองปากเซ สปป.ลาว ประมาณ ๘๐,๐๐๐ ตร.กม.

แอ่งโคราชมีพื้นที่กว้างขวางกว่าแอ่งสกลนคร มีทั้งบริเวณที่สูง ทั้งทางตอนเหนือ และตอนใต้ โดยเฉพาะทางตอนใต้นั้น เป็นที่ลาดลงจากเทือกเขาพนมดงรัก ส่วนบริเวณตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำชี (ยาว ๔๔๒ กม.) และแม่น้ำมูล (ยาว ๖๗๒ กม.) ไหลผ่านจากทางตะวันตก ไปออกแม่น้ำโขงทางตะวันออก

โดยเฉพาะที่ราบลุ่มของแม่น้ำมูลนั้น มีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก พื้นที่ตั้งแต่เขตจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานีนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่มีแม่น้ำมูลและชีหล่อเลี้ยง เป็นที่ราบกว้างใหญ่ที่มีผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่ง อาศัยมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ทีเดียว อย่างเช่น ในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นต้น

คนทั่วไปแลดูว่าแห้งแล้ง แต่แท้ที่จริงแล้ว พบแหล่งชุมชนโบราณของมนุษย์ที่มีมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยทวารวดี และลพบุรีเป็นจำนวนกว่าร้อยแห่งทีเดียว แสดงว่าเคยเป็นที่อุดมสมบูรณ์ในสมัยนั้น การตั้งหลักแหล่งชุมชนบนที่ราบน้ำท่วมถึงนี้ ดูแตกต่างไปจากบริเวณที่ลุ่มต่ำของแอ่งสกลนคร ซึ่งเพิ่งมีผู้คนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานกันในสมัยหลัง

หน้าที่ 4/10

ภาพปราสาทหินพิมาย ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๖ จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม


 

ในแอ่งโคราช ดูเหมือนประชาชนจะหนาแน่นอยู่ในที่ลุ่มต่ำก่อน แล้วค่อยๆ เคลื่อนย้ายไปอยู่บนที่สูงในภายหลัง อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในขณะนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีผู้คนตั้งหลักแหล่งชุมชนหมู่บ้านขึ้น ตามบริเวณที่ราบลุ่มต่างๆ ในแอ่งโคราช ไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีความหนาแน่น และครอบคลุมบริเวณไม่เท่ากัน และมีความแตกต่างกันในด้านวัฒนธรรม ซึ่งแลเห็นได้จากบรรดาภาชนะดินเผาที่ใช้ในการประดับแหล่งฝังศพ กลุ่มชนเหล่านี้ ได้แก่

(๑) กลุ่มโนนชัย ในเขตจังหวัดขอนแก่น

(๒) กลุ่มทุ่งกุลาร้องไห้ หรือร้อยเอ็ด ในเขตจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ

(๓) กลุ่มทุ่งสัมฤทธิ์ในเขตจังหวัดนครราชสีมา

เพราะฉะนั้นการบุกเบิกสำรวจและขุดแต่งโบราณสถานในแอ่งโคราชและพิมาย นับได้ว่าเป็นการปักธงและวางรากฐานองค์ความรู้เกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ และจารึกต่างๆ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและระเบียบวิธีการเก็บข้อมูลการวิจัยและตีความตามการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดียุคใหม่

คุณูปการที่สำคัญของหนังสือในแบบฉบับที่ตีพิมพ์ตามเอกสารโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรมศิลปากร โดยนายมานิต วัลลิโภดม หัวหน้าคณะสำรวจและขุดแต่งฯ ทั้งภาค ๑ และภาค ๒ คือโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๒ กับโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๔ 

หน้าที่ 5/10


ภาพเก่าการสำรวจของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ซึ่งตีพิมพ์ในเอกสารและหนังสือ โดยเฉพาะภาพถ่ายโบราณสถานและโบราณวัตถุที่กลายมาเป็นหลักฐานยืนยันถึงการทวงโบราณวัตถุสำคัญในแอ่งโคราชภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ถูกลักลอบขโมยขนย้ายออกจากประเทศไทยกลับคืนมา อย่างเช่นกรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง เป็นโบราณวัตถุที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของไทย ที่เชื่อว่าถูกโจรกรรมไปเมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๐๓ ในช่วงสงครามเวียดนาม และถูกนำไปจัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะชิคาโก ในรัฐอิลลินอย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งเมื่อแรกสร้างเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย คือนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด ส่วนทับหลังหมายถึงแผ่นหินที่วางเป็นคานอยู่เหนือประตูทางเข้า ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่กล่าวถึงนี้เคยอยู่เหนือประตูทิศตะวันออกของมุขหน้ามณฑปปราสาทประธาน แกะสลักจากหินทราย เดิมคงมีขนาดสูงประมาณ ๗๕ เซนติเมตร ยาวราว ๒๔๐ เซนติเมตร

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้งเป็นประติมากรรมแสดงเรื่องราวสืบเนื่องมาจากบนหน้าบัน (หน้าจั่วด้านบน) ซึ่งสลักภาพพระศิวนาฏราช หรือพระศิวะทรงฟ้อนรำอันเป็นทั้งการกำหนดจังหวะเคลื่อนไหว และยังเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายล้างจักรวาลเดิมให้จบสิ้นลง

 

ภาพฐานประติมากรรม ที่พบบริเวณปราสาทพนมรุ้ง จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม


ส่วนภาพสลักบนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่อยู่ด้านล่างคือปกรณัมว่าด้วยการกำเนิดจักรวาลใหม่ตามคติศาสนาฮินดู กล่าวถึงขณะเมื่อพระนารายณ์บรรทมหลับอยู่เหนือพญาอนันตนาคราชกลางเกษียรสมุทร หรือทะเลนํ้านม ระหว่างนั้นเองบังเกิดดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี (สะดือ) ของพระองค์ ภายในดอกบัวคือพระพรหม ผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งในจักรวาลขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง

หลักฐานสำคัญที่ใช้ยืนยันความเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมชิ้นนี้ของประเทศไทย คือภาพถ่ายทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ขณะเมื่อยังตกหล่นอยู่กับพื้นหลังจากตัวปราสาทพังทลายลง ตีพิมพ์ในรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค ๒ พ.ศ. ๒๕๐๓–๒๕๐๔

การสำรวจโบราณสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคณะสำรวจจากกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ในภาพเป็นทีมงานที่ต้องขึ้นช้างเพื่อขึ้นไปบนเขาพนมรุ้ง โดยมีอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ร่วมทางสำรวจและถ่ายภาพ ที่นำมาซึ่งภาพถ่ายสำคัญภาพหนึ่งที่ยืนยันการมีอยู่ของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่หล่นอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงกับประตูปราสาทประธานตั้งแต่ในครั้งนั้น 

 

ภาพทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง ขณะตกหล่นอยู่กับพื้นหลังจากตัวปราสาทพังทลายลง

ตีพิมพ์ในรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค ๒

พ.ศ. ๒๕๐๓–๒๕๐๔ จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม

หน้าที่ 6/10


การเดินทางสำรวจโบราณสถานในยุคนั้น แม้จะใช้รถจี๊ปเพื่อการเดินทาง แต่โบราณสถาน เช่น ปราสาทพนมรุ้งบนเขาพนมรุ้งนั้นยังเข้าถึงยาก ไม่มีทางรถยนต์ จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นใช้ช้างสำหรับเดินทางเข้าไปสำรวจ ถ่ายภาพ ทำแผนผัง แผนที่ รวมทั้งบันทึกเรื่องราวต่างๆ ถือว่าการทำงานทางโบราณคดียุคแรกเริ่มนั้นไม่ใช่การทำงานที่สะดวกสบายและต้องใช้ความมานะอุตสาหะแตกต่างไปจากภาพที่เห็นในปัจจุบันมากทีเดียว...

อีกกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ทับหลังรูปพระยมทรงกระบือ (นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเป็นรูปพระอิศวรทรงโคนนทิ) จากปราสาทหนองหงส์ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เคยจัดแสดงอยู่ที่ Asian Art Museum ในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แต่การรับมอบทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น คืนจากพิพิธภัณฑ์ชอง มุน ลี (Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยนายมานิต วัลลิโภดม ได้กล่าวถึงทับหลังของปราสาทหนองหงส์ทั้ง ๓ ท่อน ไว้ดังนี้

 

ภาพคณะสำรวจจากกรมศิลปากร ขึ้นช้างเพื่อเดินทางไปสำรวจบนเขาพนมรุ้ง

จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม


๑. ทับหลังปราสาทประธาน (องค์กลาง) สลักเป็นรูปพระอินทร์ประทับยืนบนหลังช้างเอราวัณ ๓ เศียร เหนือหน้ากาล มือหน้ากาลยึดท่อนพวงมาลัยแวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษาใบไม้ตั้งขึ้นและตกลง

๒. ทับหลังปราสาทด้านทิศเหนือ สลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหนือหน้ากาล มือหน้ากาลยึดท่อนพวงมาลัยแวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษาใบไม้ตั้งขึ้นและตกลง

ทับหลังทั้ง ๒ ชิ้นปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานว่าอยู่ที่ใด

๓. ทับหลังปราสาทด้านทิศใต้ สลักเป็นรูปพระยมทรงกระบือ ด้านล่างสลักเป็นรูปหน้ากาล มือหน้ากาลยึดท่อนพวงมาลัยแวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษาใบไม้ตั้งขึ้นและตกลง 

กรณีทับหลังพระยมทรงกระบือ ปราสาทหนองหงส์ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงหลักฐานสำคัญที่อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ถ่ายภาพปราสาทหนองหงส์ไว้ ขณะนั้นทับหลังยังอยู่ครบ แสดงว่าทับหลังถูกขโมยไปหลังจากนั้น

 

ภาพคณะสำรวจจากกรมศิลปากร ขึ้นช้างเพื่อเดินทางไปสำรวจบนเขาพนมรุ้ง

จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม

หน้าที่ 7/10


กรณีล่าสุด ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ นี้ นายแมกซ์ ฮอลเลน ผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) สหรัฐอเมริกา มอบหมายให้นายจอห์น กาย ภัณฑารักษ์แผนกเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้แทนเข้าพบอธิบดีกรมศิลปากร ส่งมอบหนังสือแจ้งขอส่งคืนโบราณวัตถุ จำนวน ๒ รายการ ให้แก่ประเทศไทย

การส่งคืนโบราณวัตถุในครั้งนี้ สืบเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทันตรวจสอบรายการโบราณวัตถุที่มีประวัติการได้มาเกี่ยวข้องกับนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด นายหน้าค้าโบราณวัตถุ ผู้ซึ่งถูกสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้แจ้งดำเนินคดีค้าโบราณวัตถุโดยผิดกฎหมายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒ พบว่า มีโบราณวัตถุประติมากรรมสำริดจากประเทศไทย คือประติมากรรมเทวรูปสำริด ที่รู้จักในชื่อ Golden Boy และยังพบโบราณวัตถุที่มีที่มาเกี่ยวพันกับนางดอรีส วีเนอร์ ซึ่งถูกสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กแจ้งดำเนินคดีค้าโบราณวัตถุโดยผิดกฎหมายเช่นกัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นโบราณวัตถุประติมากรรมสตรี จำนวน ๑ รายการ คณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทร โปลิทันจึงมีมติถอดโบราณวัตถุทั้ง ๒ รายการ ออกจากบัญชีทะเบียนโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ และประสานแจ้งวัตถุประสงค์การส่งคืนแก่ไทยตามข้อตกลงกับสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้

Golden Boy ประติมากรรมสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ที่ไทยเพิ่งได้รับคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The MET) สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เนื่องจากพิสูจน์ยืนยันได้ว่า Golden Boy เป็นของไทย พบที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา จ.บุรีรัมย์ เป็นหนึ่งในโบราณวัตถุที่ไม่พบหลักฐานการซื้อขายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และยังพบว่า Golden Boy เป็นของไทย ดังนั้น The MET จึงตัดสินปลดทะเบียนออกจากพิพิธภัณฑ์ และส่งกลับคืนไทยในที่สุด

ข้อถกเถียงและสันนิษฐานถึงประติมากรรมสัมฤทธิ์ Golden Boy ยังไม่มีจุดสิ้นสุดในตอนนี้ 

จากข้อมูลในหนังสือ Khmer Gold เขียนโดย Emma C. Bunker กับ Douglas Latchford อดีตพ่อค้าโบราณวัตถุสัญชาติไทย ระบุพิกัดว่าพบ Golden Boy ที่บ้านยาง อ.ละหาน (อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์) อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ รูปแบบเป็นบุคคลสวมเครื่องทรงแบบคนชั้นสูง สูง ๑๒๙ เซนติเมตร มีเทคนิคการสร้างแบบพิเศษคือ หล่อด้วยสัมฤทธิ์และกะไหล่ทอง 

เอกสารโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง ๒ ภาคของอาจารย์มานิต วัลลิ-โภดม ได้กล่าวถึงการสำรวจพื้นที่บริเวณแอ่งโคราชที่พบประติมากรรมสัมฤทธิ์ Golden Boy ในบท 'ข้อสันนิษฐานเรื่องตำนานโบราณ' อาจารย์มานิต ได้ยกเอาพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงเล่าไว้ในเรื่อง 'เที่ยวมณฑลเพชรบูรณ์' มาอ้างอิง ที่สำคัญข้อมูลชุดนี้สามารถสะท้อนให้เห็นเป็นพื้นฐานที่สำคัญของโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในแอ่งโคราช โดยเฉพาะข้อสังเกตเรื่องอิทธิพลของขอม ซึ่งดินแดนทางแอ่งโคราชมีโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัวแตก-ต่างออกไป และสามารถนำมาใช้ได้มาถึงปัจจุบันนี้ หลังจากพบหลักฐานใหม่ๆ ที่มาสมทบ

 

ภาพประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ ทำจากสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ที่ไทยเพิ่งได้รับคืน

จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The MET) สหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗ พร้อมกับ Golden Boy

หน้าที่ 8/10

 

 

ภาพประติมากรรม Golden Boy ทำจากสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ที่ไทยเพิ่งได้รับคืน

จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The MET) สหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗ 


' ...เมื่อราวพ.ศ. ๑๘๐๐ พ่อขุนรามคำแหงได้เสวยสิริราชสมบัติกรุงสุโขทัย มีอานุภาพมาก แผ่ราชอาณาเขตกว้างขวาง ดังปรากฏในศิลาจารึกแสดงเขตอาณาจักรสุโขทัยสมัยนั้น ว่าเขตแดนทางทิศเหนือ ตั้งแต่เมืองแพร่เมืองน่าน ตลอดจนถึงริมแม่น้ำโขง ทางทิศตะวันตกตลอดเมืองหงสาวดี ทางทิศใต้ตลอดแหลมมลายู แต่ทางทิศตะวันออกบอกเขตแดนทางแผ่นดินสูงเพียงตอนเหนือ ราวท้องที่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดเลยและหนองคายไปจนถึงเมืองเวียงจันทน์ เวียงคำเป็นที่สุด ไม่ปรากฏชื่อเมืองทางแผ่นดินสูงตอนใต้กับทางแผ่นดินต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรี เช่น เมืองลพบุรี เมืองอโยธยา เมืองปราจีนบุรี เป็นต้น โดยเหตุนี้จึงมีคำสันนิษฐานเกิดขึ้นว่า ดินแดนเหล่านี้เป็นอาณาจักรของขอมซึ่งมีกำลังแข็งแรงกว่าอาณาจักรสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงจึงไม่อาจจะแผ่เดชานุภาพเข้ามา

แต่เท่าที่ได้สังเกตศึกษาทั้งทางด้านศิลปะและตำนาน สงสัยว่าดินแดนเหล่านี้หาได้อยู่ในความปกครองของขอมไม่ หากแต่อยู่ในอำนาจอาณาจักรไทยพวกหนึ่ง ซึ่งมีราชธานีเรียกว่า กรุงอโยธยาเป็นอาณาจักรที่มีมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ และสิ่งสำคัญเป็นหลักฐานของอาณาจักรนี้ ก็คือศิลปกรรมอู่ทอง (หรือลพบุรีตอนต้น) อันมีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกับศิลปกรรมของขอมอยู่มาก จนกระทั่งถูกเข้าใจคลุมๆ ไปว่าเป็นประดิษฐกรรมของพวกขอมเสียเกือบทั้งสิ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณวัตถุจำพวกหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เข้าใจว่าขอมจะไม่ถนัดทำเลย) อาณาจักรอโยธยาคงจะรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ทั้งอำนาจและศิลปศาสตร์ จึงปรากฏในพงศาวดารทางลานนาประเทศว่า พ่อขุนรามคำแหงและพ่อขุนงำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา ขณะยังเยาว์วัยต้องลงมาศึกษาวิชาการ ณ เมืองละโว้ (ลพบุรี) ในแว่นแคว้นนี้ ถึงแม้ประเทศกัมพูชาอันมีพระนครหลวง เป็นราชธานีก็คงตกอยู่ในความปกครองระยะใดระยะหนึ่งในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เพราะตอนปลายพุทธศตวรรษนั้น เมื่ออาณาจักรอโยธยาเปลี่ยนผู้สืบสันตติวงศ์ใหม่เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จึงเกิดขอมแปรพักตร์ขึ้น ถึงกับต้องกรีธาทัพไปกำราบปราบปราม

เวลานี้เรื่องราวของอาณาจักรอโยธยายังมืดมัวอยู่ แต่วัตถุพยานที่ชี้ร่องรอยชวนให้ศึกษาค้นคว้ามีประจักษ์อยู่ คือ พระเศียรพระพุทธรูปสัมฤทธิ์วัดธรรมิกราชขนาดใหญ่ที่เก็บรักษาไว้ในอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน กับพระพุทธตรัยรัตนนายกวัดพนัญเชิง ซึ่งมีมาก่อนสร้างพระนครศรีอยุธยา พระเศียรพระพุทธศิลาขนาดใหญ่ที่วัดเดิม อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งโบราณวัตถุสถานแบบอู่ทองที่มีอยู่ในพระนครหลวงกัมพูชา เช่นที่ปราสาทหินเทพประณม ปราสาทหินนครวัด ตลอดจนศิลาจำหลักบางชิ้นในพิพิธภัณฑสถานกรุงพนมเปญ อันเป็นของเคลื่อนย้ายไปจากกลุ่มปราสาทหินบรรยงก์ เป็นต้น... '

ส่วนในเอกสารข่าวของกระทรวงวัฒนธรรม ที่ส่งให้สื่อมวลชนในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ระบุว่า Golden Boy คือ พระศิวะ ในขณะที่เว็บไซต์ของ The MET เขียนหัวข้อบรรยายถึงประติมากรรมนี้ว่า พระศิวะประทับยืน (?) หรือ Standing Shiva (?) และบอกว่าประติมากรรมนี้มีการแสดงมือแบบมุทรา (mudra) และไม่ได้ถือครองสิ่งสำคัญใดๆ ไว้ แต่ก็สันนิษฐานว่านี่คือ พระศิวะในแบบมานุษยรูปนิยม (Shiva in anthropomorphic form) ซึ่งไม่พบในศิลปะเขมร และไม่ตรงกับหลักประติมานวิทยา (Iconography) ใดๆ จึงมีอีกข้อสันนิษฐานว่านี่อาจไม่ใช่เทพเจ้าแต่เป็นบุคคล และก็อาจเป็นรูปฉลองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ ๖

หน้าที่ 9/10

จากรายงานที่มีชื่อว่า ‘ราชวงศ์มหิธรปุระ : ข้อสันนิษฐานใหม่’ ของนายดุสิต ทุมมากรณ์ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการ  กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น ได้อ้างอิงจารึกปราสาทพระขรรค์ที่ได้บันทึกว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ กษัตริย์แห่งศรียโสธรปุระ (เมืองพระนคร) ทรงมีครอบครัววงศ์ญาติอยู่ที่มหิธรปุระ พระกนิษฐาของพระองค์มีพระราชธิดา ซึ่งเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด

การมีญาติวงศ์อยู่ที่มหิธรปุระทำให้นักวิชาการเรียกราชวงศ์ของพระองค์ว่า ราชวงศ์มหิธรปุระ โดยนางอมรา ศรีสุชาติ นักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์) กรมศิลปากร สันนิษฐานว่ามหิธรปุระ น่าจะอยู่ในดินแดนแถบภาคอีสานของไทย และมีกำสเตงมหิธรวรมันเจ้าเมืองวิเภทะ ผู้ดูแลปราสาทพระวิหารเป็นต้นสกุล เป็นรูปแบบศิลปะที่มีเพียง ‘พิมาย’ เท่านั้น

จากการที่ยกข้อมูลมานำเสนอทั้งหมดเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า หนังสือโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๒ กับโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๔ ซึ่งต่อมาคือหนังสือ 'นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา' ของนายมานิต วัลลิโภดม เป็นรากฐานและมูลฐานที่สำคัญของการศึกษาและทำงานวิจัยทางวิชาการและการท่องเที่ยวเชิงโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สำคัญอย่างมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

คำสำคัญ : ปราสาทหินพิมาย,มานิต วัลลิโภดม,โบราณคดีภาคอีสาน

อ้างอิง

หนังสือ 'นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา' ของ นายมานิต วัลลิโภดม

โครงการปริทรรศน์พระนิพนธ์ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

ข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับทับหลังปราสาทหนองหงส์ และโบราณวัตถุสำคัญอื่นๆ ที่พบจากการขุดศึกษาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พรเทพ เฮง
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกโบราณคดี รุ่น ๓๘ ทำงานด้านสื่อ ด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และสาระบันเทิงมาค่อนชีวิต
หน้าที่ 10/10