ผู้เข้าชม
0

ประวัติเกลือโดยย่อ

เกลือ’ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อารยธรรมของมนุษย์ในแต่ละแห่งแข็งแกร่งมากขึ้น จากความสำคัญที่ร่างกายต้องการเกลือโดยธรรมชาติอยู่แล้ว รวมทั้งสามารถใช้ในการถนอมอาหารและเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารของมนุษย์และสัตว์ เป็นยารักษาโรคและมีบทบาทในการแพทย์รวมทั้งในพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนา เกลือเป็นสินค้ามูลค่าสูงและซื้อขายกันอย่างแพร่หลายในโลกยุคโบราณและยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
24 สิงหาคม 2565


ประวัติศาสตร์ของเกลือโดยย่อ

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

หน้าที่ 1/11

ความสำคัญของเกลือต่อมนุษย์

‘เกลือ’ - ‘Salt’  เกิดจากแหล่งที่มา ๒ รูปแบบคือ เกลือจากน้ำทะเล [Sea salt] และแร่หินเกลือที่เรียกว่าเฮไรต์ [Helite] เกิดจากทะเลที่ถูกปิดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก เหือดแห้งกลายเป็นชั้นเกลือหินขนาดใหญ่ ปรากฎในหลายภูมิภาคในโลก จึงมีการทำเหมืองเกลือหิน [Mine salt] จากก้อนเกลือ หรือการละลายน้ำเกลือโดยธรรมชาติเป็น เกลือน้ำ [ฺฺBrine] มีทั้งที่เป็นบ่อน้ำเกลือและน้ำเกลือที่ผสมผสานกับดินผิวดินต่างๆ เรียกว่า เกลือดิน [Earth salt]

‘เกลือ’ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อารยธรรมของมนุษย์ในแต่ละแห่งแข็งแกร่งมากขึ้น จากความสำคัญที่ร่างกายต้องการเกลือโดยธรรมชาติอยู่แล้ว รวมทั้งสามารถใช้ในการถนอมอาหารและเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารของมนุษย์และสัตว์ เป็นยารักษาโรคและมีบทบาทในการแพทย์รวมทั้งในพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนา เกลือเป็นสินค้ามูลค่าสูงและซื้อขายกันอย่างแพร่หลายในโลกยุคโบราณและยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เกลือคือสารประกอบทางเคมีที่มีธาตุโซเดียม ๔๐ % และคลอไรด์ ๖๐ % เรียกว่า โซเดียมคลอไรด์ [Sodium chloride] สูตรเคมี : NaCl ช่วยรักษาสมดุลของเหลวในร่างกายของมนุษย์  ร่างกายของมนุษย์ที่โตเต็มวัยมีเกลือเป็นส่วนประกอบอยู่ราว  ๒๕๐ กรัม ปริมาณค่าประมาณของสารอาหารที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย Adequate Intake (AI) คนโตเต็มวัยกำหนดไว้ที่ ๑,๕๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อทดแทนโซเดียมที่มีการสูญเสียออกทางเหงื่อ

ร่างกายต้องการโซเดียมเพ่ือช่วยรักษาความสมดุลของแรงดันออสโมติกและการกระจายตัวของของเหลวในร่างกาย ทําให้ระบบไหลเวียนของของเหลวภายในร่างกายเป็นปกติ เรามีเกลืออยู่ในทุกเซลล์ในร่างกาย เป็นสาเหตุที่น้ำตาและเหงื่อของเรามีรสเค็ม ร่างกายจะปรับปริมาณเกลือที่เราบริโภค  ทำให้เรากระหายน้ำเมื่อจำเป็นต้องเจือจางเกลือ ร่างกายที่แข็งแรงจะประมวลผลเพียงปริมาณเกลือที่ต้องการและ ‘ไต’ จะช่วยขับส่วนเกินออกไป แต่ถ้าขับไม่หมดจะทำให้ ‘ความดันโลหิตสูงและหัวใจทำงานหนักมากขึ้น’ แต่ถ้าเรามีเกลือในร่างกายไม่เพียงพอ ‘กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงและเป็นตะคริว’

จากรายงานการสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยการสนับสนุนของสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา พ.ศ. ๒๕๕๕ กล่าวว่า คนไทยได้รับโซเดียมคลอไรด์ โดยเฉล่ีย ๑๐.๙ ± ๒.๖ กรัม ซึ่งมีแหล่งที่มาจากเครื่องปรุงรสต่างๆ ๘.๐.0 ± ๒.๖ กรัม ส่วนที่เหลือได้รับจากอาหารท่ีมีโซเดียมคลอไรด์สูง ซึ่งเครื่องปรุงรสในครัวเรือน ๕ ลําดับแรก คือ น้ําปลา ซีอ๊ิวขาว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม ส่วนอาหารที่นิยม ๑๐ อันดับแรกคือ  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  ปลากระป๋อง ปลาทูน่ึง น้ำพริกต่างๆ ปลาส้ม ข้าวโพดต้ม ลูกชิ้น แคปหมู มันฝรั่งทอด และไข่เค็ม คำนวณเทียบเป็นปริมาณโซเดียมพบว่า คนไทยได้รับโซเดียมจากอาหารท่ีบริโภคโดยเฉลี่ยสูงถึง ๔,๓๕๑.๗  มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน คิดเป็น ๒.๙ เท่าของความต้องการโซเดียมโดยเฉลี่ยต่อวันที่ร่างกายต้องการที่ ๑,๕๐๐ มิลลิกรัม จึงมีการรณรงค์เพื่อลดการบริโภคโซเดียมมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

สำรวจความสำคัญของเกลือในสังคมมนุษย์

เมื่อกว่า ๕,๐๐๐ ปีที่ผ่านมาในอารยธรรมของชาวอียิปต์ ชาวอียิปต์ยุคแรกขุดเกลือจากทะเลสาบและแม่น้ำที่แห้งแล้ง รวมทั้งผลิตเกลือจากน้ำทะเล ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อวัฒนธรรมการถนอมอาหารในยุคแรกๆ ที่มีการบันทึกไว้ในโลก เกลือชนิดพิเศษมีส่วนสำคัญในพิธีกรรมซึ่งรวมทั้งการทำมัมมี่เพื่อรักษาร่างกายและเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตหลังความตาย การค้าเกลือน่าจะสร้างความมั่งคั่งและอำนาจของอาณาจักรอียิปต์โบราณ   

เมื่อราว ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว นักโบราณคดีเพิ่งค้นพบเมืองเหมืองเกลือในบัลแกเรีย ที่เมือง Solnitsata ซึ่งมีอายุมากกว่าอารยธรรมอียิปต์ และมีอายุมากกว่าอารยธรรมกรีกก่อนราวพันปี บริเวณนี้ผลิตเกลือซึ่งเป็นที่ที่ต้องการอย่างมากให้กับคาบสมุทรบอลข่านคือดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรปในปัจจุบัน  ชาวกรีกโบราณค้าขายเกลือและผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือ เช่น ปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวฟินีเซียนและชาวอียิปต์ การขยายตัวของจักรวรรดิโรมันตอนต้นยังมีต้นกำเนิดในการสร้างเส้นทางการค้าสำหรับสินค้าสำคัญ เช่น เกลือที่จะถูกนำกลับไปยังกรุงโรม ถนนสายหนึ่งที่มีคนใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดคือถนนสายโบราณที่มีมาตั้งแต่ยุคสำริดที่รู้จักกันในชื่อ ‘เวีย ซาลาเรีย’ - Via Salaria หรือเส้นทางเกลือ จาก Porta Salaria ทางตอนเหนือของอิตาลีไปยัง Castrum Truentinum ทางใต้ของทะเลเอเดรียติกรวมระยะทางกว่า ๒๔๐ กิโลเมตร และทหารโรมันได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นเกลือ และคำว่า Salaria กลายมาเป็น Salary ที่หมายถึงเงินเดือนค่าตอบแทนในปัจจุบัน ถือว่าชาวโรมันเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากการแปรรูปเกลือและการค้าที่ตามมาในเครือข่ายทั่วโลกอย่างแท้จริง เพราะมีการเก็บภาษีจากการผูกขาดในการผลิตและการขายเกลือ และกำหนดราคาตลาดขั้นสุดท้าย

ส่วนคำว่าซอลซ์เบิรก์ - ‘Salzburg’ ซึ่งเป็นเมืองในออสเตรีย แปลว่า ‘เมืองเกลือ'  เป็นศูนย์กลางการค้าเกลือที่สำคัญในยุโรปโบราณ ทุกวันนี้ เหมืองเกลือ Hallstatt ใกล้เมือง Salzburg ยังคงเปิดอยู่ และถือเป็นเหมืองเกลือเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ และยังมีคำว่า Sauce และ Sausage ก็กล่าวว่ามีที่มาจาการปรุงแต่งซึ่งมีที่มาจากการใช้เกลือเป็นองค์ประกอบในการถนอมและทำผลิตภัณฑ์อาหารเช่นกัน

สำหรับชาวฮีบรูโบราณหรือชาวยิว ‘เกลือ’ เป็นสัญลักษณ์ของความปิติยินดีในการรับประทานอาหารร่วมกัน หมายถึงการมีชีวิตอยู่ในความรักฉันพี่น้อง ส่วนท้องถิ่นหลายแห่งในยุโรป กำหนดให้โยน ‘เกลือ’ จำนวนหนึ่งลงในโลงศพของคนตายก่อนการฝัง ‘เกลือ’ น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เน่าเปื่อยและเป็นอมตะ

 

 

หน้าที่ 2/11

 

เกลือสำหรับอาหาร

          เกลือสำหรับทำอาหาร แบ่งออกได้เป็น เกลือแกง  เกลือสินเธาว์  โดยเกลือแกงได้มาจากการตกผลึกของน้ำทะเลอาจนำมาฟอกขาวหรือไม่ฟอกขาวก็ได้ ส่วนเกลือสินเธาว์ได้จากการผลิตจากหินเกลือในพื้นที่ห่างไกลทะเล เช่น จากบ่อน้ำเกลือ [Brine] จากการขูดหน้าดินที่มีความเค็มของโดมเกลืออยู่ในชั้นใต้ดินและเกลือจากเหมืองเกลือ ปัจจุบันหากขายเพื่อบริโภาคก็จะมีกฎหมายกำกับในเรื่องของการเสริมไอโอดีนร่วมเพื่อป้องกันการเกิดโรคคอหอยพอก

         ปัจจุบันมีความนิยมในการปรุงอาหารจากทั่วโลก โดยพ่อครัวที่เรียนรู้การปรุงอาหารต่างๆ จึงเริ่มมีการนำเกลือชนิดต่างๆ โดยเฉพาะเกลือจากหินเกลือหลากหลายที่มาเพื่อใช้ในการปรุงอาหารผสมกับการเล่าเรื่องทางวัฒนธรรมแหล่งที่มาของอาหารอันหลากหลาย เช่น เกลือโคเชอร์ [Kosher salt] เป็นเกลือเนื้อหยาบ ช่วยดึงเลือดออกจากเนื้อ พ่อครัวนิยมใช้ในการปรุงเนื้อก่อนย่าง เกลือหิมาลายันสีชมพู [Himalayan Pink Salt] มีโซเดียมที่น้อยกว่าเกลือทะเล มีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมาก นอกจากนี้ยังนิยมการใช้ ดอกเกลือ (Fleur de sel) ที่ได้จากการต้มน้ำเกลือ [Brine] จากบ่อและการตกตะกอนของนาเกลือทะเล เพื่อปรุงอาหาร ทำยาต่างๆ และนิยมนำไปทำเป็นสบู่ สครับผิว เกลือสปา ด้วย เกลือลาวา (Hawaiian Black Lava Salt) หรือเกลือฮาวายสีดำ เกิดจากการระเหยน้ำทะเล ผสมกับผงถ่านกะลามะพร้าว นิยมโรยอาหารประเภทสเต๊ก เนื้อย่าง สลัดผัก ซูชิ ไก่ย่างเทอริยากิ และเต้าหู้ เป็นต้น และยังมี เกลือรมควัน (Smoked salt) เกลือจะถูกนำไปรมควันด้วยกลิ่นไม้ต่างๆ เช่น ไม้โอ็ค ไม้แอปเปิ้ล ถึง ๑๔ วัน จึงเป็นเกลือที่มีกลิ่นและมีเอกลักษณ์เฉพะตัว เกลือทะเลเซลติก (Celtic Sea Salt) เกิดจากน้ำทะเลเซลติก ในประเทศฝรั่งเศส มีลักษณะหยาบ และมีสีเทาโดยไม่ผ่านการฟอกสี ด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบโบราณ  นิยมนำมาอบกับปลาและเนื้อวัว เพื่อเพิ่มรสชาติ  ฯลฯ

 

เกลือบำบัด

บทบาทของเกลือกับการแพทย์นั้นมีหลักฐานว่า ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) รู้จักการสูดดมไอเกลือเพื่อรักษาโรคทางเดินหายใจมาตั้งแต่สมัยกรีกแล้ว

เกือบสองร้อยปีที่ผ่านมา นายแพทย์ชาวยุโรปสังเกตว่า โรคระบบทางเดินหายใจเกิดขึ้นกับคนงานเหมืองเกลือน้อยมาก จึงเริ่มนำผู้ป่วยทั้งโรคทางเดินหายใจและภูมิแพ้ลงไปสูดดมไอเกลือในเหมืองหรือถ้ำเกลือใต้ดิน  พบว่าช่วยบำบัดโรคอย่างได้ผล   

สถิติทางการแพทย์พบว่า เกลือบำบัดช่วยรักษาโรคระบบทางเดินหายใจได้หลายชนิด เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไอจามจากภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง หายใจผิดปกติและแน่นหน้าอก ไอจากการสูบบุหรี่และรับควันบุหรี่ คัดจมูก ไซนัสอักเสบ อาการแพ้ฝุ่นและละอองเกสร  โดยก่อนเข้ารับการบำบัดจะต้องมีการวัดความดันและอุณหภูมิร่างกาย ดื่มน้ำสะอาดหนึ่งแก้วเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ  สวมชุดคลุมให้มิดชิดแล้วเข้าไปในถ้ำเกลือเพื่อสูดไอเกลือนาน ๔๕ นาที บำบัดต่อเนื่อง ๕ - ๑๐ ครั้ง จะเริ่มรู้สึกดีขึ้นได้ภายในหนึ่งอาทิตย์ถึงหนึ่งเดือนและคนไข้บางรายอาจไม่ต้องใช้ยาแก้ภูมิแพ้อีกเลย

หน้าที่ 3/11

ประวัติศาสตร์โดยย่อของเกลือในจีน

ในจีนสืบได้ถึงราว ๖,๐๐๐ ปี มนุษย์ยุคหินใหม่ผลิตเกลือจากน้ำเกลือในบ่อ มาต้มทำเป็นเกลือแล้ว มีรายชื่อเกลือมากกว่า ๔๐ ชนิดและคุณสมบัติของเกลือ นอกจากนี้ยังอธิบายวิธีการสกัดและเตรียมสำหรับการบริโภคของมนุษย์ ในช่วงราชวงศ์ซางราว ๑,๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาลการผลิตเกลือเริ่มขึ้นในวงกว้าง มีการค้าขายกันอย่างแพร่หลาย เกลือในจีนส่วนใหญ่ผลิตจากน้ำทะเลมากกว่าร้อยละ ๘๐ ต่อมาในยุคราชวงศ์ฮั่น ฉิน ถัง และซ่ง รัฐบาลเข้าควบคุมการผลิตและจำหน่ายเกลือ  เกลือ ซึ่งถือเป็นสินค้าจำเป็น จึงถูกเก็บภาษีและในอดีตเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับผู้ปกครองชาวจีน เกลือยังมีบทบาทในสังคมและวัฒนธรรม กล่าวถึงในหนังสือเดินทางท่องเที่ยวสมัยราชวงศ์ซ่ง คือ ‘ฟืน ข้าว น้ำมัน เกลือ ซอส น้ำส้มสายชู และชา’ ถือเป็น ๗ สิ่งจำเป็นในการเริ่มต้นวันใหม่ และรส ‘เค็ม’ เป็นหนึ่งใน ‘ห้ารสชาติ’ ซึ่งเป็นรากฐานของอาหารจีน

เกลือทะเล  แหล่งที่สำคัญที่สุด ในยุคแรกสุด นักทำเกลือชายฝั่งและเกาะใช้หม้อดินแล้วต้มในกระทะเหล็กเพื่อลดน้ำทะเลให้เป็นเกลือมีหลักฐานเมื่อราว ๓๐๐ BC. โดยการกรองน้ำทะเลผ่านกองขี้เถ้าหรือทรายลงในบ่อเพื่อผลิตน้ำเกลือที่สามารถต้มหรือระเหยโดยแสงแดดได้ ในสมัยราชวงศ์ถัง เกลือให้รายได้ประจำปีของรัฐบาลมากกว่าครึ่งของภาษีที่จัดเก็บได้

เกลือจากน้ำเกลือจากบ่อเกลือ บันทึกไว้ว่าสมัยราชวงศ์ซ่ง ราว พ.ศ. ๑๕๘๔ เกลือผลิตที่เสฉวนและยูนนานเป็นการผลิตหลักของจีน สร้างรายได้จากภาษีจำนวนมาก เทคโนโลยีการขุดเจาะหลุมเกลือความกว้างเท่ากับชาม บางครั้งลึกมากกว่า ๑ กิโลเมตร โดยใช้กระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่เอาส่วนที่คั่นกระบอกออกแล้วต่อกันแบบตัวผู้ตัวเมียกันน้ำจืดไม่ให้ปนน้ำเค็ม น้ำเค็มจะลอยอยู่ด้านบน แล้วใช้กระบอกไม้ไผ่ขนาดเล็กกว่าตักน้ำเค็มขึ้นมา เทคโนโลยีแบบนี้ ที่บ่อเกลือในจังหวัดน่านก็ผลิตเกลือในรูปแบบเช่นเดียวกัน นอกจากนี้พวกเขาผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิงมาใช้ต้มเกลือได้ด้วย บ่อเกลือเหล่านี้พบได้ทั่วไปในเสฉวน แต่เมื่อถึงปลายศตวรรษที่ ๑๙ เสฉวนผลิตเกลือได้ราว ๘ % ของทั้งประเทสเท่านั้น

ตั้งแต่สมัยโบราณ เสฉวนมีชื่อเสียงในด้านบ่อเกลือ ภาพบนแผ่นอิฐที่ถูกพิมพ์มานี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าชาวจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นขุดบ่อน้ำเพื่อให้ได้เกลือใต้ดินอย่างไร และใช้ท่อไม้ไผ่ลำเลียงน้ำเกลือไปยังหม้อขนาดใหญ่เพื่อต้มเพื่อให้ได้เกลืออย่างไร ปัจจุบันอิฐเดิมถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมือง Ch'ung-ch'ing ในเสฉวน

หน้าที่ 4/11

     

แหล่งผลิตเกลือในสมัยราชวงศ์หมิงของจีน ระหว่าง พ.ศ.  ๑๙๑๑-๒๑๘๗

       

เทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุคแรกในเกลือมีต้นกำเนิดมาจากราชวงศ์หยวนของจีน ประชากรที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเมืองทำให้เกิดความต้องการเกลือ การรวมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ประกอบการค้าขายต่างกระตือรือร้นที่จะคิดค้นและปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และวิธีการใหม่ในการจัดการผลิต การจัดจำหน่าย และการเก็บภาษีจากเกลือ

ในสมัยราชวงศ์หมิงโรงเกลือในบึงเกลือทางตอนเหนือของมณฑลเจียงซูและชายฝั่งตะวันออกใกล้เทียนจินในปัจจุบันเป็นผู้ผลิตเกลือรายใหญ่ที่สุด ใช้วิธีการระเหยของน้ำทะเลภายใต้แสงแดดบางช่วงนิยมใช้กันในฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยนและน่าจะส่งอิทะิพลต่อเทคนิคการผลิตเกลือมนเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก อีกวิธีหรึ่งคือการต้มน้ำทะเลซึ่งเป็นเทคนิคการผลิตที่แพร่หลายมากที่สุดในจีน ซึ่งมีช่วงเวลาแสงแดดแผดจ้าน้อย แต่ในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๙ ได้จัดหาเกลือของจีนประมาณ ๘๐ % แต่เมื่อถึงศตวรรษที่ ๒๐ เครื่องจักรอุตสาหกรรมได้เข้ามาแทนที่โรงเกลือชายฝั่งเหล่านี้

 

เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ชิง ได้เข้ายึดพื้นที่เกลือทันทีเพื่อตัดเสบียงของศัตรูและหารายได้สำหรับตนเอง พวกเขาฟื้นระบบสิบโซนที่จัดตั้งขึ้นในราชวงศ์ซ่ง จักรพรรดิราชวงศ์ชิงในยุคแรกตัดสินใจให้การกำกับดูแลเกลือไว้กับกรมราชทัณฑ์ ที่ตั้งอยู่ในพระราชวังต้องห้าม ซึ่งสามารถควบคุมรายได้ได้โดยตรง เมื่อระบบจักรพรรดิล่มสลาย แต่ระบบการจัดเก็บภาษีจากเกลือยังดำเนินต่อมาได้อย่างไม่ราบรื่นนักและดำเนินเรื่อยมาจนถึง และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๗ นี้เอง ที่รัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายจากการควบคุมที่เข้มงวดที่มีมากว่า ๒,๐๐๐ ปี น่าจะเป็นแห่งเดียวที่มีการผูกขาดยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติทีเดียว การผูกขาดเกลือด้วยการเก็บภาษีโดยตรงทำรายได้ให้รัฐเป็นรองเพียงภาษีที่ดิน

 

ภาพถ่ายการต้มเกลือที่เสฉวนเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จะเห็นเตาและกระทะทรงกลม เมื่อต้มเกลือได้แล้วจะใส่ เกลือใส่ตะกร้าแขวนไว้เหนือกระทะ น้ำเกลือจึงสามารถหยดกลับลงในกระทะและเกลือได้ คนงานถือช้อนขนาดใหญ่ รูปร่างแบบจอบวางบนเตา ในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๙ ที่ Daning เสฉวนตะวันออก ภาพเมื่อทศวรรษที่  ๒๔๗๓   ภาพจากSource : Wu Wei,Sichuan yanzheng shi tuce , vol. 3, p. 71

หน้าที่ 5/11

เหมืองเกลือโบราณ (Ancient Salt mine)

แนวเทือกเขาเกลือแหล่งมรดกโลกที่เหมืองเกลือเคียวรา ในรัฐปัญจาป ปากีสถาน [Khewra Salt Mine]

เทือกเขาเกลือในปากีสถาน มีการค้นพบ ‘เกลือหิน’ หรือ เฮไลต์ ‘Halite' ที่เกิดจากการระเหยของทะเลและทะเลสาบน้ำเค็มในสมัยโบราณ เหลือโซเดียมคลอไรด์และแร่ธาตุอื่นๆ เกลือหินหิมาลัยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อราว ๕๐๐ ล้านปีก่อนในยุคพรีแคมเบรียน [Precambrian] เมื่อ ๒๕๐ ล้านปีต่อมาแผ่นเปลือกโลกขนาดใหญ่กดทับบนเทือกเขาหิมาลัย จึงเกิดเป็นบริเวณแคบๆ ในรูปแบบของโครงสร้างโดมที่ไม่ปกติ มีตะเข็บเกลือ ๗ ชั้นที่มีความหนารวมราว ๑๕๐ เมตรในที่ราบปัญจาป พื้นที่นี้อุดมไปด้วยซากดึกดำบรรพ์ ภายในเทือกเขาเกลือมีกลุ่มโบราณสถานและสถานที่ต่างๆ หนาแน่นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๔ สมัยอเล็กซานเดอร์มหาราช ผ่านยุคฮินดู จักรวรรดิโมกุล จนถึงยุคการปกครองของซิกข์และการยึดครองเป็นอาณานิคมของอังกฤษ   

เคียวรา เป็นแหล่งเกลือที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งมีการใช้ประโยชน์จากเกลือมาอย่างน้อยหนึ่งพันปี   ขึ้นชื่อในเรื่องแหล่งเกลือหินสีชมพูที่ใช้กันอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ เกลือหินหิมาลัยเริ่มต้นที่อเล็กซานเดอร์มหาราชใน ๓๒๖ ปีก่อนคริสตกาล ผู้ปกครองและผู้พิชิตมาซิโดเนียโบราณได้รับการบันทึกว่าพักกองทัพของเขาในภูมิภาค Khewra ซึ่งตอนนี้อยู่ทางเหนือของปากีสถาน ทหารของเขาสังเกตเห็นม้าเริ่มเลียหินที่มีรสเค็มในบริเวณนั้น ซึ่งเป็นส่วนพื้นผิวเล็กๆ ของสิ่งที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบันว่าเป็นแหล่งสะสมเกลือหินใต้ดินที่กว้างที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การทำเหมืองเกลือขนาดใหญ่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ในภูมิภาค Khewra จนกระทั่งในช่วงจักรวรรดิโมกุล วันนี้ เหมืองเกลือ Khewra ในปากีสถานใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และมีชื่อเสียงในด้านการผลิตเกลือสินเธาว์สีชมพูสำหรับทำอาหารและตะเกียงเกลือหิมาลัย

เหมืองเกลือในบริเวณนี้กระจายอยู่ใต้ดิน กินพื้นที่ราว ๑๐๐ ตารางกิโลเมตรอยู่เหนือระดับน้ำทะเลราว ๒๘๘ เมตร และทอดตัวเข้าไปในเทือกเขาราว ๗๓๐ เมตรทั้ง ๙ ทางเข้า ความยาวทั้งหมดของอุโมงค์รวมกันมากกว่า ๔๐ กิโลเมตร ความบริสุทธิ์ของเกลือจากที่นี่สูงถึงร้อยละ ๙๙ มีความโปร่งแสง มีหลายสีทั้งสีขาว สีชมพู สีแดงเรื่อๆ ไปจนถึงสีแดงเข้ม มีการประมาณการว่าที่เหมืองเกลือคิวรามีปริมาณของเกลือราว ๒๒๐ ล้านตัน  มีเกลือเพียงร้อยละ ๕๐ เท่านั้นที่ถูกขุดออกมา ส่วนอีกครึ่งหนึ่งทำไว้ให้เป็นเสาค้ำน้ำหนัก 

        

เทือกเขาเกลือแหล่งมรดกโลกที่เหมืองเกลือเคียวรา 
ในรัฐปัญจาป ปากีสถาน 
[Khewra Salt Mine]

 

หน้าที่ 6/11

เกลือในไทย

เกลือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางอุตสาหกรรมพื้นฐานของมนุษย์โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ในยุคเหล็กเป็นต้นมา ตั้งแต่ราวต้นพุทธกาลจนถึงเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ ในพื้นที่แผ่นดินภายในของประเทศไทย ซึ่งได้แก่ การถลุงโลหะธาตุ การทำเกลือ และการรวบรวมของป่าเพื่อการแลกเปลี่ยนในการค้าขายระยะไกลและส่งอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นของบ้านเมืองให้กลายเป็นชุมชนระดับนครหรือระดับรัฐ โดยเฉพาะ ดินแดนในอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีร่องรอยของการผลิตเกลือสินเธาว์ที่ผลิตจากดินเอือดหรือดินขี้ทาที่ขูดเอาจากผิวดินในหน้าร้อน สร้างเตาต้มเกลือแบบง่ายๆ

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมศึกษาทางโบราณคดีในภาคอีสานพบว่า มีเนินดินที่ทำเกลือสมัยโบราณมากมาย พื้นที่ทำกิจกรรมต้มเกลือในสมัยโบราณ มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่คล้ายเนินเขาขนาดย่อมอยู่ในพื้นที่ราบ มีชั้นดินผสมกับเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก การทำเกลือก็เป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง ถือเป็นแอ่งอารยธรรมที่สำคัญในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การทำเกลือบริเวณภาคอีสานทั้ง ๒ แอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร มีโดมเกลือ [Rock salt dome] ที่อยู่ใต้พื้นดินใหญ่เป็นอันดับสามของโลกในโลก การขุดค้นทางโบราณคดีของศาสตราจารย์อิจิ นิตต้า ที่ขุดค้นที่เนินทุ่งผีโพน อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา พบกรรมวิธีการผลิตมีขั้นตอนแต่การเตรียมภาชนะในการต้มเกลือและใส่เกลือ การนำเกลือจากแหล่งธรรมชาติมากรอง มาต้ม กำหนดอายุได้ราว ,๐๐๐ ปีมาแล้ว หรือในช่วงยุคเหล็ก (-)

โดมหินเกลือในอีสานมีลักษณะของหมวดหินมหาสารคาม เป็นชั้นหินที่วางตัวอยู่ในระดับราบหรือเอียงเทเล็กน้อย ประกอบด้วยหินทราย หินโคลน และมีชั้นเกลือหินแทรกอยู่ข้างล่างเป็นแหล่ง ๆ ประกอบด้วย เกลือหิน ๓ ชั้น ในระดับความลึกต่างๆ แต่ในบางบริเวณจะพบเพียง ๒ ชั้นหรือชั้นเดียว จะมีชั้นดินเหนียวคั่นอยู่ระหว่างชั้นเกลือหิน และมีแร่แอนไฮไดรต์ชั้นบางๆแทรกอยู่เล็กน้อย ชั้นเกลือหิน  มีอยู่ด้วยกัน ๓ ชั้น และมีความหนาต่างๆ กัน โดยลึกประมาณ ๒๐๐-๕๐๐ เมตรจากพื้นดิน ยกเว้นบริเวณขอบแอ่งและบางแห่งมีชั้นเกลือหินอยู่ในระดับตื้น คือ ๕๐-๑๐๐ เมตร

นอกจากวิธีการผลิตเกลือจากดินเอือดหรือดินขี้ทา ยังมีการทำเกลือจากการขุดบ่อน้ำเค็ม จากชั้นเกลือที่อยู่ในระดับตื้นมาต้มโดยตรง เป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมอยู่บริเวณบ่อหัวแฮด เกาะกลางลำน้ำสงคราม บ้านท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย

การทำเกลือจากดินขี้ทาในปัจจุบัน ใช้ความสะดวกสบาย โดยนำดินขี้ทามาจากท้องนามากรองและต้มที่บ้าน โดยใช้ถังน้ำมันขนาดใหญ่ วางอยู่บนยกพื้น ใส่ฟางข้าวและดิน เติมน้ำ กรองจนได้น้ำเค็ม แล้วจึงนำมาต้ม บ่อน้ำเกลือ หรือที่เรียกว่า บ่อน้ำสร้าง ขุดลึกลงไปใต้ดิน น้ำเค็มจะขึ้นมา หากต้มโดยใช้น้ำเค็มอย่างเดียว ปริมาณที่ได้แต่ละครั้งจะได้น้อย  และถ้าต้มโดยใช้ดินขี้ทากรองน้ำเค็มอย่างเดียวก็จะเสียเวลาและได้ปริมาณน้อยเช่นกัน ชาวบ้านจึงใช้วิธีใช้ดินขี้ทา ๑ ส่วน ผสมกับน้ำเค็มจากบ่อ ๑ ส่วน ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนจนน้ำใส จึงปล่อยน้ำผ่านท่อไม้ไผ่ลงไปในแอ่งหรือบ่อพักน้ำเกลือ เพื่อรอการต้มต่อไป

 

หน้าที่ 7/11

นอกจากนี้ยังพบว่าทางภาคเหนือที่อำเภอบ่อเกลือในจังหวัดน่านที่บ้านบ่อหลวง หลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่พบเศษเครื่องเคลือบจากแหล่งเตาล้านนา เศษเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัยและเศษเครื่องถ้วยลายครามสมัยราชวงศ์หมิงซึ่งพอจะตีความรวมๆ ได้ว่า ควรจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ และที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ พบมโหระทึกสำริดแบบเฮเกอร์ ๑ ถึง ๒ ใบ อายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๑๐ ซึ่งถือว่าเป็นยุคเหล็กหรือร่วมสมัยกับวัฒนธรรมดองเซินที่มักพบมโหระทึกในชุมชนผู้ผลิตหรืออยู่ในเส้นทางการค้าแบบโบราณทางแผ่นดินภายในและชายฝั่งทะเล

นอกจากบ่อเกลือบ่อหลวงแล้วยังมีบ่อเกลืออีกหลายบ่อกระจายตัวไปทางด้านทิศเหนือตามลำน้ำน่านและลำน้ำสาขา ได้แก่ บ่อเวร บ่อแคะ บ่อหยวก บ่อตอง บ่อกิ๋น บ่อน่าน บ่อเจ้า และบ่อเกล็ด ทั้งนี้ในปัจจุบันปรากฏการทำเกลือเพื่อการบริโภคให้เห็นเพียงบางบ่อเท่านั้น เช่น  บ่อหยวก หรือบ่อเวร เป็นต้น

สำหรับการผลิตเกลือด้วยการต้มในกระทะเหล็กและบ่อที่ใช้ปล้องลำไผ่ขนาดใหญ่มากเป็นตัวกันระหว่างน้ำเค็มกับน้ำจืดนั้น มีความใกล้เคียงกับบ่อเกลือที่ยูนนานและเสฉวนซึ่งมีบันทึกว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีการผลิตเกลือมากกว่าเขตอื่นๆ เป็นสินค้าที่ราชสำนักจีนเก็บภาษีโดยตรงในยุคสมัยราชวงศ์ซ่ง

บ่อเกลือนอกจากที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านแล้ว ยังพบบริเวณอำเภอนครไทยและอำเภอวัดโบถส์ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งน่าจะอยู่ร่วมสมัยกับยุคล้านนาและสุโขทัย

 

ความสำคัญของเกลือทะเล ประวัติศาสตร์โดยย่อ

          สำหรับการผลิตเกลือจากน้ำทะเล มีหลักฐานในช่วงเวลาที่เห็นร่องรอยของอิทธิพลวัฒนธรรมจากการเข้ามาของกลุ่มคนจีนจากการเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงปลายสมัยศรีวิชัยและเข้าสู่ยุคสมัยลพบุรี

ซึ่งเป็นช่วงสมัยราชวงศ์ซ่งเข้าสู่ราชวงศ์หยวนในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ ซึ่งเป็นช่วงที่การค้าทางทะเลอันรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์ซ่ง และมีการเปลี่ยนแปลงเป็นราชวงศ์หยวนที่ชาวมองโกลเข้ามามีอิทธิพลควบคุมในแผ่นดินจีนโดยจักรพรรดิกุบไล่ข่าน สันนิษฐานว่าในครั้งนั้นน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คลื่นของชาวจีนฮั่นเคลื่อนย้ายอพยพเข้ามาสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในแผ่นดินลุ่มน้ำเจ้าพระยาและคาบสมุทรสยาม-มลายู

บริเวณตั้งแต่อำเภอบ้านแหลมและอำเภอเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ทำนาเกลือขนาดใหญ่ที่สุดในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเพราะน้ำทะเลมีความเข้มข้นของเกลือเหมาะสม ผืนแผ่นดินเป็นดินเหลวปนทรายหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเป็นทะเลตม รวมทั้งอุณหภูมิที่ร้อนและมีแสงแดดแรงกล้ายาวนาน องค์ประกอบที่พร้อมและเหมาะสมเช่นนี้ทำให้บริเวณ ‘บ้านแหลม’ ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์และชี้ให้เห็นว่ามีความสำคัะญต่อเศรษฐกิจและการเกิดขึ้นของนครรัฐในแถบลุ่มน้ำแม่กลองและบริเวณเมืองเพชรบุรีไปจนถึง เมืองนครศรีธรรมราช โดยการนำไปขายยังบ้านเมืองภายในและทางเขตคาบสมุทรในช่วงเวลานั้น

บริเวณชะอำที่อยู่ชายฝั่งทะเลก็มีพื้นที่เหมาะสมแก่การทำนาเกลือเช่นกัน ทั้งยังมี ‘มหาสถูป’ ที่ชะอำนี้มีรูปแบบมาตรฐานเดียวกับเจดีย์ที่สร้างกันอยู่ในบริเวณเมืองคูบัวและมีขนาดใหญ่เทียบได้กับเจดีย์สำคัญของเมือง มีการอยู่อาศัยอย่างถาวรตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ร่วมสมัยทวารวดีไปจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗  ซึ่งเป็นยุคปลายสมัยศรีวิชัยที่ต่อเนื่องกับราชวงศ์ซ่ง

บริเวณเมืองท่าที่ชะอำเป็นสถานีการค้าอันเป็นจุดสังเกตของการเดินเรือเลียบชายฝั่งอันมีรูปแบบที่แน่นอนมาแต่ครั้งโบราณ และอยู่ในจุดพักของการเดินทางบกข้ามคาบสมุทรจากเมืองคูบัวผ่านเทือกเขาตะนาวศรีสู่เมืองท่าทางฝั่งอ่าวเบงกอล ชุมชนสมัยทวารวดีที่เชิงเขาเจ้าลายจึงเพิ่มมิติของเครือข่ายสนับสนุนต่อการเป็นเมืองท่าสำคัญของเมืองคูบัวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

   

หน้าที่ 8/11

ความรู้เกี่ยวกับการเดินเรือเลียบชายฝั่งหรือการเดินทางข้ามคาบสมุทรตอนบนสุดนี้มีอยู่เป็นอย่างดีตั้งแต่สมัยทวารวดีหรือก่อนหน้านั้น และจากหลักฐานโบราณวัตถุที่พบรวมทั้งความสำคัญของเขาเจ้าลายในแผนที่โบราณของชาวตะวันตกยุคเริ่มแรกของยุครุ่งเรืองจากการค้าทางทะเลในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นมา ก็จะลงจุดสังเกตที่เขาเจ้าลาย [Chao Lai Peak] ว่าเป็นเมืองขนาดเล็กหรือจุดสังเกตในการเดินเรือตัดผ่านข้ามอ่าวไทยสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือตัดข้ามอ่าวเพื่อเดินทางไปยังชายฝั่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมาโดยตลอด มีสัญญาณให้เห็นชัดเจนจากทั้งตำนานเรื่องเล่า จารึกที่มีการกำหนดอายุ และจดหมายเหตุการส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังจีนซึ่งล้วนอยู่ในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๙  ว่าเกิดการรวมบ้านเมืองซึ่งเคยเป็นอิสระต่อกันและตั้งอยู่ชิดริมแม่น้ำสายหลักต่างๆ ในแอ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา [Chao Phraya Delta] และเมืองแต่ละแห่งนั้นมีความสัมพันธ์กันจากการเป็นเครือญาติในระดับของผู้ปกครอง จากสุโขทัยที่เป็นเมืองใหญ่สำหรับการค้าทางไกลข้ามภูมิภาค ติดต่อลงมาถึงบ้านเมืองทางคาบสมุทร ผ่านการเดินทางในเส้นทางของบ้านเมืองต่างๆ ในภูมิภาคตะวันตก ซึ่งมีหลักฐานของสัมพันธ์ของบ้านเมืองต่างๆ ในยุคนี้ เช่น จดหมายเหตุของโจวต้ากวานกล่าวถึง เสียนหลอหู ซึ่งมีนัยว่า บ้านเมืองสองแห่งที่แยกกันคือ เสียน ซึ่งน่าจะเป็นเมืองสุพรรณภูมิที่มีความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัย อโยธยาและเพชรบุรี และ หลอหู คือ ละโว้ ได้รวมเป็นหนึ่งเดียวแล้ว และมีความหมายถึงการเริ่มต้นสถาปนาการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่อโยธยา เมืองเก่าทางฝั่งขวาของแม่น้ำป่าสัก จนกลายมาเป็นกรุงศรีอยุธยา เมืองท่าสำคัญในบริเวณที่สามารถเชื่อมต่อได้ทุกลุ่มน้ำช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น

ตำนานเมืองและตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีว่าเป็นเมืองร่วมสมัยกับเมืองนครศรีธรรมราชและมีกษัตริย์ปกครอง ทางฝ่ายเมืองนครฯ คือ พญาศรีธรรมาโศกราช ฝ่ายเมืองเพชรบุรีคือ พระเจ้าอู่ทอง ทั้งสองพระนามนี้เป็นกษัตริย์ที่เป็นผู้นำทางวัฒนธรรม [Culture Hero] ของบ้านเมืองแถบคาบสมุทรและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามลำดับ ภายหลังมีปัญหาเรื่องเขตแดนรบกันไม่แพ้ไม่ชนะจึงตกลงทำสัญญาแบ่งเขตและเป็นไมตรีต่อกัน ทั้งฝากฝังเครือญาติและแลกเปลี่ยนทรัพยากร ฝ่ายเมืองนครฯ มาขอเกลือจากเมืองเพชรบุรี หลังจากนั้นเมืองนครฯ ร้างเป็นป่าดง

ต่อมา พระพนมทะเลฯ เจ้านายซึ่งมีเชื้อสายอโยธยามาตั้งบ้านเมืองริมสมุทรที่เพชรบุรี สร้างชุมชนทำนาเกลือ อีกทั้งยังทำนาอยู่ที่บางสะพาน ต่อมาได้ติดต่อค้าขายกับสำเภาจากราชสำนักจีนซึ่งซื้อไม้ฝางกลับไป มีโอรสคือ พระพนมวัง และ เจ้าศรีราชา ที่ไปสร้างเมืองนครดอนพระ ซึ่งสัมพันธ์กับเมืองนครศรีธรรมราช เหตุการณ์ในตำนานน่าจะเทียบได้กับจดหมายเหตุจีนที่เมืองกมรเตงเจ้าเมืองเพชรบุรีเพชรบุรีส่งทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักหยวนเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๗ 

      

เรือฉลอมในอดีตที่ท่าจีน 
ฟิล์มกระจกชุดภาพส่วนพระองค์สมเด็จกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน
https://db.sac.or.th/samutsakhon/ethno-map/show_img.php?communityID=SKN-CHI-01

ทรัพยากรที่สำคัญของเมืองเพชรบุรีนั้นคือ เกลือสมุทร (ที่บ้านแหลมรวมทั้งนาเกลือเก่าแก่แถบบางเก่าและบ้านโตนดหลวง) รวมไปถึง ไม้ฝางจากป่าเขาตะนาวศรี ทั้งมีพื้นที่ทำนาปลูกข้าว และเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลที่เป็นศูนย์กลางทั้งการเดินเรือเลียบชายฝั่งและเส้นทางข้ามคาบสมุทร ความสัมพันธ์กับบ้านเมืองที่อยู่ภายใน เช่น สุโขทัย แพรกศรีราชา สุพรรณภูมิ ราชบุรี และบ้านเมืองทางแถบคาบสมุทรที่นครศรีธรรมราช ซึ่งปรากฏเนื้อความอยู่ในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ และจารึกวัดเขากบ  เมืองเพชรบุรีจึงเป็นเมืองท่าภายในศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ ทั้งเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรที่สำคัญ ตั้งแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมาแล้ว  

         

หน้าที่ 9/11

 

นอกจากนี้ ยังมีแหล่งทำเกลือซึ่งเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาอีกแห่งในคาบสมุทรคือบริเวณเมืองปัตตานีที่อยู่ริมชายฝั่งทะเล ภูมิทัศน์ของเมืองปาตานีที่ตั้งอยู่บนแนวสันทรายริมอ่าวปัตตานีในปัจจุบัน ในบริเวณบ้านกรือเซะ-บานา-ตันหยงลูโละ-ปาเระ ในพื้นที่ผสมผสานระหว่างนิเวศภายในของที่ราบลุ่มริมฝั่งน้ำสามารถปลูกข้าวได้ตามฤดูกาลและนิเวศแบบน้ำกร่อยและชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นอ่าวและแหลมด้านหน้าเมือง ทำให้คลื่นลมสงบกว่าทะเลนอกเหมาะสำหรับเป็นอ่าวจอดเรือสินค้าขนาดกลางๆ โดยธรรมชาติรวมทั้งระบบนิเวศแบบน้ำกร่อยป่าชายเลนนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากสามารถเลี้ยงผู้คนได้จำนวนมาก

บริเวณนี้ยังมีฤดูกาลที่มีแดดและอุณหภูมิที่เหมาะสมจนทำให้สามารถทำนาเกลือได้ดีกว่าชายฝั่งอื่นๆ ในแหลมมลายู ความเป็นตลาดค้าเกลือนี้เองก็พอเพียงที่จะทำให้เมืองปาตานีกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วกว่าเมืองท่าใดๆ ในคาบสมุทร ซึ่งยังมีการผลิตเกลือทะเลที่มีรสอมหวานกว่าเกลือทะเลทั่วไป ในอดีตนั้นใช้ได้สำหรับหัวเมืองมลายูบางแห่ง ส่วนศูนย์กลางการค้าเกลือเมื่อยังใช้การเดินเรือทะเลขนส่งอยู่นั้น มีสิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางการค้าและส่งออกไปยังเมืองต่างๆ ทางฝั่งอันดามัน และมีปราหูหรือเรือขนส่งของชาวมลายูจากเมืองตรังกานูเป็นพาหนะเข้ามารับส่งเกลือทะเลและสินค้าต่างๆ จากทางบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี ไปจนถึงแม่กลองจนเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้จึงยุติ

         

อนันต์ วัฒนานิกร ผู้บุกเบิกสำรวจ ‘เมืองเก่าปตานี’ ที่อ่าวปัตตานีบันทึกหลักฐานไว้ว่า เคยพบเห็นแนวกำแพงเมืองและเศษภาชนะดินเผาเคลือบที่เป็นของจีนและของต่างประเทศ เช่น ดัชท์จำนวนมาก ริมลำน้ำเก่าที่ผ่านท้ายเมืองในเขตบ้านกรือเซะไปออกทะเลที่ปากคลองปาเระพบร่องรอยของเตาเครื่องปั้นดินเผาทั้งแบบเผาแกร่งและแบบเคลือบที่มีอายุขึ้นไปจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น จุดที่คลองปาเระร่วมกับคลองบ้านดีมีร่องรอยของเนินดินริมฝั่งน้ำที่เคยเป็นชุมชนดั้งเดิม พบเศษภาชนะดินเผาทั้งเคลือบและไม่เคลือบมากมาย โดยเฉพาะเครื่องเคลือบของจีนแบบราชวงศ์หมิงในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ เป็นต้นมา

หน้าที่ 10/11

บรรณานุกรม

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. บ่อเกลือเมืองน่านที่บ้านบ่อหลวง. เมืองโบราณ  (ม.ค.-มี.ค. ๒๕๓๕)

วันทนีย์ เกรียงสินยศ. ลดโซเดียม ยืดชีวิต, กันยายน ๒๕๕๕. http://110.164.147.155/kmhealth_new/Documment/blood/approach/11.pdf

ศรีศักร วัลลิโภดม. ความสำคัญของยุคเหล็กในประเทศไทย ตอนที่ ๓,  https://lek-prapai.org/home/view.php?id=800

Nitta, Eiji. Ancient Industries, Ecosystem and Environment : Special Reference to the Northeast of Thailand. Historical Science Report. Kagoshima University. 1992.

The History of Salt in Ancient Civilizations. https://historycooperative.org/the-history-of-salt-in-ancient-civilizations/

Salt in Chinese history. https://www.wikiwand.com/en/Salt_in_Chinese_history

คำสำคัญ : เกลือ,ความสำคัญของเกลือ
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
อีเมล์: [email protected]
เจ้าหน้าที่วิชาการของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เริ่มทำงานกับมูลนิธิฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ ทำโครงการนำร่องร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่ง ก่อนทำงานศึกษาท้องถิ่นร่วมกับชาวบ้าน และปัจจุบันกลับมาสนใจศึกษางานโบราณคดี
หน้าที่ 11/11