ผู้เข้าชม
0

ศรีวิชัยที่ไชยา

ความสนใจในเรื่อง การค้นหาศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยมีมานาน ถือว่าเป็นรองเพียงการค้นหาคำตอบว่าที่ใดคือ “สุวรรณภูมิ” อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ชี้ให้เห็นข้อสังเกตในแนวคิดแต่ละอย่างนำเสนอวิธีการศึกษาที่น่าจะลงตัวสำหรับการอธิบายบ้านเมืองชายฝั่งทะเลที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากทำการค้าโพ้นถิ่น ที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองในลักษณะหลวมๆ โดยใช้ระบบเครือญาติ เสนอให้เห็นความสำคัญของบ้านเมืองรอบอ่าวบ้านดอน
24 เมษายน 2564


บทความชุด 'คาบสมุทรแห่งสยามประเทศ'

ศรีวิชัยที่ไชยา

ศรีศักร วัลลิโภดม

หน้าที่ 1/13

 

 

 

 

 

รายการอดีตในอนาคต

ชุดบ้านเมืองในคาบสมุทรแห่งสยามประเทศ

ตอน

ศรีวิชัยที่ไชยา


ภูมิหลังเรื่องศูนย์กลางของศรีวิชัย

ในวงการประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว ๔๐ ปีที่ผ่านมา มีการค้นคว้าและถกเถียงกันใหญ่โตถึงเรื่องอาณาจักรศรีวิชัยที่มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งการเมืองและเศรษฐกิจกว่าบรรดารัฐและบ้านเมืองอื่นๆ ในภูมิภาค ช่วงเวลาแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ อาณาจักรนี้มีอำนาจปกครองบรรดาบ้านเมืองต่างๆ ทั้งในหมู่เกาะและชายทะเลบนคาบสมุทรมลายู ที่ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศอินโดนีเซีย มลายู และทางตอนใต้ของประเทศไทย

ปัญหาทางประวัติศาสตร์ที่มีการถกเถียงกันก็คือ อาณาจักรศรีวิชัย มีเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ไหน  อยู่ทางใต้ของประเทศไทยหรือบนคาบสมุทรของมาเลเซีย หรือบนเกาะในประเทศอินโดนีเซีย? ดังกล่าวเป็นการถกเถียงกันในระดับระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันภายในแต่ละประเทศก็มีการถกเถียงกันว่าอยู่ที่เมืองใด เช่น ที่อินโดนีเซียอยู่ที่ชวาหรือสุมาตรา และในสุมาตราอยู่ที่เมืองปาเล็มบังหรือเมืองจัมบี ส่วนในประเทศไทยถกเถียงกันว่าอยู่ที่ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น

แต่เมื่อสรุปแล้ว นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดา และอินเดีย ให้น้ำหนักอยู่ที่เมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียว่าเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย

ในกรณีนี้มีการคัดค้านหลักฐานทางโบราณคดีโต้ตอบกันระหว่าง ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ [Prof. George Coedès] นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ผู้เป็นปรมาจารย์ของนักโบราณคดีไทย เสนอว่าเมืองปาเล็มบังคือเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย กับ ดร. เฮช.จี. ควอริตช์ เวลส์ [Dr.H.G. Quaritch Wales] นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ซึ่งเห็นว่าศูนย์กลางศรีวิชัยอยู่ที่เมืองไชยา อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ดร.เวลส์คือผู้ที่ศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากเมืองท่าที่เกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ทางฝั่งทะเลอันดามันข้ามเขาสกในเทือกเขาตะนาวศรี มาออกทะเลอ่าวไทยที่อ่าวบ้านดอนซึ่งเป็นแหล่งเมืองท่า แต่ภายหลังดร. เวลส์ ได้ยอมรับข้อเสนอของศาสตราจารย์เซเดส์ว่า ศรีวิชัยอยู่ที่ปาเล็มบัง

ขณะที่ท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้ศึกษาแหล่งโบราณคดีของอ่าวบ้านดอนยังยืนกรานตามข้อเสนอที่ว่า ศรีวิชัยอยู่ที่ไชยาและยืนยันข้อคิดเห็นนี้อย่างเหนียวแน่น ด้วยการหาหลักฐานทางโบราณคดีมาเสนอและเปรียบเทียบกันกับบรรดาหลักฐานที่ว่าศรีวิชัยอยู่ที่เมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา ความขัดแย้งดังกล่าวค่อยซาลงภายหลังสมัยเวลาของศาสตราจารย์เซเดส์ ดร. เวลส์ และท่านพุทธทาสภิกขุ

จนกระทั่งราว ๒๐ ปีให้หลัง การค้นคว้าประวัติศาสตร์โบราณเอเชียอาคเนย์ได้ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยการนำเสนอของ ศาสตราจารย์โอ. ดับเบิลยู. วอลเตอร์ส [Prof. O. W. Wolters] แห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา อาจารย์วอลเตอร์สและนักวิชาการร่วมสมัยกับท่านไม่สนใจในเรื่องเมืองหลวงหรือศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยว่าอยู่ตรงไหน แต่พยายามค้นคว้าเรื่องราวของศรีวิชัยทั้งบนคาบสมุทรและหมู่เกาะทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม

หน้าที่ 2/13


พร้อมเสนอว่า ศรีวิชัยไม่ใช่ราชอาณาจักรที่มีศูนย์กลางหรือเมืองหลวงอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งเพียงแห่งเดียว แม้ว่าในส่วนตัวจะเห็นว่าเมืองปาเล็มบังมีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่างชี้ให้เห็นว่าเป็นเมืองใหญ่และสำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมาก็ตาม

เหตุที่ไม่ยอมรับศรีวิชัยเป็นราชอาณาจักร เพราะโครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่จะต้องเป็นลักษณะรวมศูนย์ แต่ศรีวิชัยเป็นกลุ่มเมืองชายทะเลและหมู่เกาะที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะเป็นสหพันธรัฐที่เรียกว่า มัณฑละ [Mandala] หรือมณฑล ซึ่งแต่ละรัฐในมณฑลต่างๆ มีราชาของตนปกครองอย่างเป็นอิสระ แต่เชื่อมโยงกันด้วยความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองระหว่างกษัตริย์ของแต่ละรัฐ ด้วยการกินดองเป็นเครือญาติด้วยการแต่งงาน ที่ทำให้กษัตริย์ผู้อาวุโสและมากด้วยปัญญาบารมี ได้รับการยกย่องให้เป็นมหาราชาหรือจักรพรรดิราช อันเป็นแนวคิดของทางอินเดีย

โดยสรุปก็คือเป็นประมุขของสหพันธรัฐนั่นเอง และการเป็นประมุขของมัณฑละดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะกษัตริย์ ที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเมืองหลวงหรือเมืองสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจ หากสิ้นพระชนม์ไปแล้ว อาจมีกษัตริย์จากรัฐอื่นที่มีบารมีก้าวขึ้นแทนที่ จึงทำให้ตำแหน่งของเมืองสำคัญเปลี่ยนตามไปด้วย

แนวคิดในเรื่องการกินดองหรือความสัมพันธ์ทางการเมืองอันเกิดจากการแต่งงานระหว่างกษัตริย์ผู้ครองรัฐในรูปมัณฑละนี้ สอดคล้องกันกับการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองสุโขทัย สุพรรณภูมิ อโยธยา เพชรบุรี ราชบุรี แพรกศรีราชา และสุพรรณบุรี ที่เป็นบรรดานครรัฐในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลางของอาจารย์ศรีศักร ความเป็นราชอาณาจักรของกรุงศรีอยุธยานั้น หาได้เกิดมาแต่สมัยการสร้างกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ไม่

 

นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีชาวต่างประเทศที่มีสมมติฐานทางวิชาการที่แตกต่างกัน

สร้างแนวคิดเกี่ยวกับการมีอยู่ของบ้านเมืองที่ชื่อ 'ศรีวิชัย'

 

 

ท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

 

หน้าที่ 3/13

 

ภูมิทัศน์บริเวณเมืองไชยาโดยรอบ แนวเขาด้านหน้าคือเขาพุทธทอง ด้านล่างคือ 'วัดแก้ว'

 

 

ภาพวาดแนวผังเมืองไชยาบนสันทรายเก่าที่มีศาสนสถานสำคัญเรียงราย โดยมีเขาน้ำร้อนเป็นแกนหลัก


แต่ความเป็นราชอาณาจักรที่มีโครงสร้างการปกครองรวมศูนย์ปรากฏขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมา เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าบ้านเมืองที่ประกอบด้วยหลายนครรัฐแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ขึ้นไป ก็คือการเป็นกลุ่มของนครรัฐ ซึ่งหมายความว่าเมืองอโยธยาหรืออยุธยาเอง ก็เป็นหนึ่งในนครรัฐที่มีสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เป็นประมุขของสหพันธรัฐดังกล่าว ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับแนวคิดของศาสตราจารย์วอลเตอร์สในการเรียก ‘มัณฑละ’ เพราะหมายถึงความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองในรูปการกินดองของการแต่งงานระหว่างกษัตริย์ผู้ปกครองแต่ละนครรัฐ

มัณฑละในที่นี้จึงหมายถึงแวดวงของกษัตริย์ [Circle of the kings] ไม่ใช่แวดวงของนคร [Circle of the city states]

 

ไชยา : มัณฑละหนึ่งในสหพันธรัฐศรีวิชัย

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปสอนวิชาประวัติศาสตร์โบราณคดีประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลเป็นเวลา ๖ เดือน ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้กับศาสตราจารย์วอลเตอร์ส ศาสตราจารย์สแตนลีย์ เจ. โอคอนเนอร์ [Prof. Stanley O’Connor] นักโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะ และศาสตราจารย์โทมัส เคิร์ช [Prof. Thomas Kirsch] นักมานุษยวิทยาอาวุโส ผู้ร่วมงานกับอาจารย์วอลเตอร์สในการศึกษาประวัติศาสตร์ศรีวิชัย

ข้าพเจ้าเคยเสนอกับท่านว่า ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับการเป็นกลุ่มของนครรัฐในรูปสหพันธรัฐของศรีวิชัยที่เรียกว่า มัณฑละ เพราะได้ศึกษาการเมืองการปกครองในลักษณะนี้เช่นกันกับเมืองอโยธยา และนครรัฐร่วมสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๑  คือเกิดก่อนการรวมศูนย์อำนาจที่พระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชอาณาจักร และข้าพเจ้าเชื่อว่าก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ ๒๑ นั้น ประเทศไทยแต่โบราณไม่มีบ้านเมืองใดรวมตัวกันเป็นราชอาณาจักรทั้งสิ้น คงจะมีแต่ที่กัมพูชาในสมัยเมืองพระนคร ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ลงมา บ้านเมืองแต่สมัยเจนละและสมัยทวารวดีในประเทศไทยที่มีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ก็หาเรียกได้ว่าเป็นราชอาณาจักรไม่

ซึ่งบ้านเมืองเหล่านี้สะท้อนให้เห็นจากบันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียน หลวงจีนเหี้ยนจัง และหลวงจีนอี้จิง ที่เดินทางจากจีนไปสืบค้นและเล่าเรียนพุทธศาสนาในอินเดียระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓ ได้กล่าวถึงบรรดารัฐต่างๆ เช่น ศรีเกษตร หลั่งยะสิว (นครชัยศรี) ทวารวดี อิศานปุระ และมหาจำปา ที่นับเนื่องในบริเวณแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบรรดารัฐที่อยู่บนคาบสมุทรและหมู่เกาะที่เรียกว่า ศรีวิชัย ซึ่งล้วนอยู่ร่วมสมัยเดียวกันทั้งสิ้น จากแนวคิดดังกล่าว

ที่เรียกว่าอาณาจักรทวารวดีก็ดี หรืออาณาจักรเจนละก็ดี ล้วนเป็นกลุ่มนครรัฐร่วมสมัยที่เป็นลักษณะมัณฑละทั้งสิ้น

งานค้นคว้าหลักฐานทางโบราณคดีของท่านพุทธทาสภิกขุชี้ให้เห็นว่า บ้านเมืองรอบอ่าวบ้านดอนอยู่ในอาณาบริเวณของกลุ่มเมืองศรีวิชัยที่เรียกว่า ‘มัณฑละ’ เพราะนอกจากพบโบราณสถานและโบราณวัตถุในพุทธศาสนามหายาน และจารึกที่ปรากฏพระนามพระเจ้ากรุงศรีวิชัยแล้ว ยังสัมพันธ์กับการเป็นแหล่งเมืองท่าบนเส้นทางการค้าและการคมนาคม จากอินเดียและตะวันออกกลางผ่านคาบสมุทรไทยไปเวียดนามและจีนด้วย

หน้าที่ 4/13


เส้นทางและการค้าขายกับจีนในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ มีจารึกเอ่ยพระนามของพระเจ้ากรุงศรีวิชัย เพียงพอที่จะบอกว่าเมืองไชยาที่อ่าวบ้านดอนเป็นศรีวิชัย หรือเป็นเมืองหนึ่งในกลุ่มมัณฑละศรีวิชัย แต่ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นเมืองศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะเรื่องการเป็นเมืองหลวงของศรีวิชัยเป็นเรื่องพ้นสมัยไปแล้ว แต่ไชยาเป็นศรีวิชัย โดยเป็นนครรัฐหนึ่งในมัณฑละศรีวิชัย

จารึกที่เอ่ยพระนามของพระเจ้ากรุงศรีวิชัยนอกจากพบที่ไชยาแล้ว ยังพบอีกแห่งหนึ่งที่เมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เป็นภาษามลายูโบราณ มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แต่จารึกที่ไชยาเป็นภาษาสันสกฤต มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ จึงบอกได้ว่าเมืองปาเล็มบังเป็นนครรัฐแห่งหนึ่งของมัณฑละศรีวิชัย และศรีวิชัยเกิดขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ นับเป็นยุคแรกขณะที่ไชยาเป็นศรีวิชัยในยุคหลังลงมา ที่มีข้อความกล่าวถึงกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ที่อยู่ที่เกาะชวา อันแสดงให้เห็นว่าเป็นยุคที่มัณฑละศรีวิชัยแผ่กว้างไปถึงชวาและคาบสมุทรไทย เป็นยุคที่พุทธศาสนามหายานเป็นปึกแผ่นด้วยความเจริญทางศิลปวัฒนธรรม เช่น การเกิดสถาปัตยกรรมทางศาสนา พระพุทธรูปแบบศรีวิชัย ซึ่งเป็นลักษณะผสมผสานของศิลปะแบบปาละ ชวา และทวารวดี

แต่ที่เมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา แม้จะภูมิฐานเป็นเมืองใหญ่ใกล้แม่น้ำที่มาจากทะเล และตั้งอยู่ใกล้เขาศักดิ์สิทธิ์คือเขาบูกิตเซกุลตัง [Bukit Seguntang] พบโบราณสถานและโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาน้อยมาก ดูแล้วแทบไม่มีศาสนสถานและวัตถุในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ เท่าใด เท่าที่ข้าพเจ้าได้ไปเห็น คือพระพุทธรูปที่มีจีวรเป็นริ้วคล้ายกับพระพุทธรูปแบบอนุราธปุระของลังกาและแบบอมราวดีของทางอินเดีย ที่ล้วนมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ขึ้นไป แต่ที่สำคัญ ที่เมืองปาเล็มบังได้พบพระพุทธรูปแบบทวารวดี ซึ่งเป็นของที่นำไปจากทางไชยาหรือไม่ก็นครปฐม

 

จารึกสิทธิยาตราศรีวิชัย ราว พ.ศ. ๑๒๒๖ พบที่ Kedukan Bukit ปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินโดนีเซีย

 

พระพุทธรูปที่มีจีวรเป็นริ้วคล้ายกับพระพุทธรูปแบบอนุราธปุระของลังกาและแบบอมราวดี

พบที่ปาเล็มบัง

หน้าที่ 5/13


สิ่งที่ยืนยันได้ดีว่าศรีวิชัยที่ปาเล็มบังเก่าแก่กว่าศรีวิชัยที่ไชยาก็คือ รอบเขาบูกิตเซกุลตังพบเศษเครื่องปั้นดินเผาจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น ที่มีอายุเก่าแก่กว่าเครื่องปั้นดินเผาของราชวงศ์ถังหลายร้อยปี ขณะที่ไชยาพบแต่เครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ถังเป็นส่วนใหญ่ และสัมพันธ์กับแหล่งขนถ่ายสินค้าชายทะเลที่แหลมโพธิ์ รวมทั้งแหล่งเมืองท่าที่เกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า  จังหวัดพังงา

เครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ฮั่นดังกล่าว จากการค้นคว้าของนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลูกปัดให้ข้อมูลว่า พบมากที่เขาสามแก้วใกล้แม่น้ำท่าตะเภา อันเป็นแหล่งเมืองท่าโบราณที่มีอายุเก่าแก่ไปถึงพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ การพบเครื่องปั้นดินเผาเคลือบจากแหล่งท่าเรือชายทะเล แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อค้าขายกับจีนมาแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ ลงมาแล้ว เป็นการค้าจากฝั่งทะเลจีนผ่านคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะไปยังฝั่งทะเลอันดามัน ข้ามมหาสมุทรอินเดียไปยังเมืองท่าฝั่งตะวันออกของอินเดีย แต่ที่อ่าวบ้านดอนอันมีเมืองไชยาเป็นเมืองสำคัญนั้น จากการค้นคว้าของนักโบราณคดียังไม่พบเครื่องปั้นดินเผาสมัยฮั่น แต่แหล่งโบราณคดีที่พบลูกปัดสมัยสุวรรณภูมิตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ ลงมา พบเครื่องปั้นดินเผาจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นที่ท่าชนะซึ่งอยู่เหนืออ่าวบ้านดอนขึ้นไป บริเวณนี้มีแหล่งชุมชนโบราณบนแนวสันทรายใกล้กับเวิ้งน้ำที่เรียกว่า ลากูน มีทางน้ำไปออกทะเล ทำให้เรือสินค้าขนาดเล็กตามชายฝั่งเข้ามาได้ ชุมชนบนแนวสันทรายนี้คือแหล่งที่พบบรรดาลูกปัดสมัยสุวรรณภูมิลงมาจนถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น

แหล่งชุมชนบนแนวสันทรายในเขตอำเภอท่าชนะ น่าจะเป็นชุมชนที่ทำอุตสาหกรรมการผลิตแก้วและทำลูกปัด [Cottage industry] เพราะพบเศษชิ้นส่วนของแก้วและหินสีมีค่าที่ใช้ในการทำลูกปัดในสมัยก่อนทวารวดีและศรีวิชัย ส่วนบริเวณแหลมโพธิ์ซึ่งอยู่ตอนปลายสุดของแนวสันทรายที่ปลายแหลมซุยและแหลมโพธิ์ แหลมซุยเป็นแนวสันทรายเกิดใหม่ แต่แหลมโพธิ์ที่อยู่ต่ำลงมาเป็นแนวสันทรายเก่าที่อยู่ตรงปากคลองพุมเรียง ซึ่งไหลลงมาจากท้องน้ำที่เป็นลากูนริมทะเลในเขตตำบลตะกรบ อำเภอไชยา ตรงปลายแหลมโพธิ์คือบริเวณที่พบแหล่งลูกปัดและเครื่องปั้นดินเผาแต่สมัยราชวงศ์ถังลงมา เป็นแหล่งจอดเรือขนถ่ายสินค้าทางทะเล รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตแก้วและลูกปัดในสมัยทวารวดี-ศรีวิชัย

นับเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าและท่าจอดเรือของบรรดาพ่อค้านานาชาติในยุคนั้น การขุดค้นทางโบราณคดีพบร่องรอยอาคารก่ออิฐเพียงเล็กน้อย แต่พบบ่อน้ำกินกว่า ๒๐ แห่ง อันแสดงให้เห็นว่าเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของพวกพ่อค้า ไม่ใช่บริเวณชุมชนคนพื้นเมือง

แต่ชุมชนบ้านเมืองที่สัมพันธ์กับแหล่งขนถ่ายสินค้านั้นอยู่ที่ป่ายาง บนเนินทรายชายฝั่งทะเลใกล้กับปากคลองพุมเรียง เป็นพื้นที่ดอนเหมาะกับการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองแต่สมัยศรีวิชัยลงมา เป็นบริเวณที่ชาวบ้านขุดพบบรรดาเครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ถังลงมา และลูกปัดสีต่างๆ เช่นเดียวกันกับที่พบที่แหลมโพธิ์ นับเป็นแหล่งชุมชนบ้านเมืองเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยาและกรุงเทพฯ จนกลายเป็นที่ตั้งของเมืองไชยา ซึ่งมีขุนนางที่แต่งตั้งจากเมืองหลวงให้มาเป็นเจ้าเมือง

อาจกล่าวได้ว่าบริเวณนี้คือเมืองไชยาเก่าที่ตั้งอยู่ใกล้กับทะเล เช่นเมืองเก่าแต่สมัยอยุธยาลงมาในภาคใต้ทั้งหลาย เพราะอาศัยเส้นทางทะเลในการติดต่อกับบ้านเมืองอื่น

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการตัดทางรถไฟมายังภาคใต้ จึงขยายตัวเมืองและย้ายย่านตลาดมาอยู่ใกล้ทางรถไฟบริเวณสถานีไชยาแทน การขยายตัวของเมืองริมทะเลที่ไชยานั้น สะท้อนให้เห็นจากชีวิตของท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้เกิดในตระกูลพ่อค้าคนจีนที่ย่านตลาดพุมเรียง ได้ศึกษาเล่าเรียนและบวชที่วัดพุมเรียงอันเป็นเมืองไชยาเก่า

ลูกปัดยุคสุวรรณภูมิจากท่าชนะ ทำจากหินกึ่งรัตนชาติทำเป็นรูปสัญลักษณ์มงคลทางพุทธศาสนา
ซึ่งพบว่าเป็นแหล่งผลิตขนาดใหญ่ต่อเนื่องมาจากสมัยสุวรรณภูมิ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๘) จนถึงสมัยศรีวิชัย (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖)

เขาประสงค์ที่ท่าชนะ ถือว่าเป็นจุดหมายสำคัญ [Landmark] สำหรับการเดินทางเลียบชายฝั่งทะเล
มีถ้ำซึ่งประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์และถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนโบราณในแถบนี้

หน้าที่ 6/13

 

บริเวณวัดพระบรมธาตุไชยาวรวิหาร

 

การทอผ้าไหมยกดอกซึ่งเป็นเอกลักษณ์เด่นของชาวมุสลิมพุมเรียง

ปัจจุบันคนทั่วไปแทบไม่รู้เรื่องเมืองไชยาเก่า แต่รู้จักเมืองไชยาที่เกิดจากการโยกย้ายและเปลี่ยนแปลงจากเมืองเก่าที่พุมเรียงมาเป็นเมืองไชยาริมทางรถไฟ เมืองเก่าที่พุมเรียงเหลืออยู่ในสภาพเป็นย่านตลาดที่มีความเด่นในการเป็นที่อยู่อาศัยและตลาดที่ผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียงของกลุ่มคนมุสลิม เพราะกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเช่นไทยและจีน รวมถึงคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ต่างโยกย้ายออกไปอยู่ที่ตลาดไชยาริมทางรถไฟ หรือย้ายไปยังเมืองต่างๆ แต่คนมุสลิมอยู่ติดที่ จึงมีการขยายตัวของชุมชนและมัสยิดเพิ่มขึ้นอย่างเป็นปึกแผ่น ซึ่งพอจะพูดได้ว่าคนกลุ่มใหญ่ของย่านตลาดพุมเรียงในเวลานี้คือคนมุสลิม

 

เมืองโบราณบนสันทรายเก่า

อย่างไรก็ตาม เมืองไชยาหาได้หยุดเพียงจากพุมเรียงมาอยู่ใกล้ทางรถไฟที่สถานีไชยาเท่านั้น หากพบร่องรอยเมืองโบราณเก่าแก่กว่าเมื่อข้ามทางรถไฟไปทางตะวันตก อันเป็นพื้นที่ราบลงมาจากเทือกเขาตะนาวศรีที่กั้นระหว่างฝั่งทะเลอันดามันทางตะวันตกกับฝั่งทะเลอ่าวไทยทางตะวันออกบริเวณอ่าวบ้านดอน เป็นแหล่งชุมชนโบราณบนสันทรายเก่า มีศาสนสถานเก่าแก่แต่สมัยทวารวดี-ศรีวิชัย มีการขุดแต่งและบูรณะ ๔ แห่ง คือที่วัดแก้ว วัดหลง วัดเวียง และวัดพระบรมธาตุไชยา

ศาสนสถานที่วัดแก้ว วัดหลง และวัดพระบรมธาตุไชยา มีรูปทรงเป็นปราสาทที่ประดิษฐานรูปเคารพทั้งในพุทธศาสนามหายานและฮินดู หาใช่เป็นแบบพระสถูปที่บรรจุพระบรมธาตุไม่ บรรดาศิลปะและรูปแบบของพระพุทธรูปและเทวรูปที่พบในบริเวณนั้น ส่วนใหญ่เป็นแบบที่เรียกว่า ศรีวิชัย โดยบรรดาเทวรูปพระโพธิสัตว์และพระพิมพ์ที่เทียบอายุได้แต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา และยิ่งเมื่อนำศิลาจารึกที่มีพระนามพระเจ้ากรุงศรีวิชัยมาเชื่อมโยงก็เกิดความคิดเห็นและความเชื่อว่าเมืองโบราณแห่งนี้คือเมืองศรีวิชัย และเชื่ออีกว่าเป็นเมืองศูนย์กลางของอาณาจักร จึงเกิดวาทกรรมถึงเรื่องศรีวิชัยอยู่ที่ไชยาหรือปาเล็มบังขึ้นในบรรดานักโบราณคดีและประวัติศาสตร์ตามที่กล่าวมาข้างต้น

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เพิ่มความสำคัญของเมืองไชยาขึ้นไปอีกก็คือ เมื่อมีการตั้งชื่อพระบรมธาตุอันเป็นศาสนสถานโบราณเหมือนกับวัดแก้วและวัดหลงว่า พระบรมธาตุไชยา ซึ่งหมายถึงพระเจดีย์บรมธาตุแห่งเมืองไชยา เลยทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเมืองไชยาที่วัดพระบรมธาตุคือเมืองไชยาเก่ามาแต่โบราณ

ในการศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีในมิติทางภูมิวัฒนธรรม [Cultural landscape] ของข้าพเจ้า ถือว่าเมืองโบราณบนสันทรายเก่าที่มีปราสาทสมัยศรีวิชัยตั้งอยู่นั้น ไม่ได้เรียกชื่อเป็นเมืองไชยา อีกทั้งเมืองนี้ก็หาใช่เมืองชื่อศรีวิชัยไม่ เพราะศรีวิชัยเป็นชื่อทั้งแว่นแคว้นและพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของแคว้น เช่นเดียวกันกับคำว่าทวารวดีที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมืองโบราณแห่งนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลที่พุมเรียง แต่อยู่ห่างจากพุมเรียงเข้ามาภายในทางตะวันตกกว่า ๖ กิโลเมตร อยู่ในบริเวณที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำลำคลอง ซึ่งใช้ลำน้ำเป็นเส้นทางคมนาคม ตำแหน่งของเมืองอยู่ทางเหนือของอ่าวบ้านดอน ที่ติดกับพื้นที่ที่เป็นท้องทุ่งและป่าเขาของอำเภอท่าชนะ เป็นตำแหน่งที่อยู่ระหว่างลำน้ำหลายสายที่ไหลลงจากเทือกเขาทางตะวันตก ไหลมาถึงบริเวณสันทรายเก่าอันเป็นที่ตั้งของเมือง แตกออกเป็นแพรก ไหลผ่านบริเวณเมือง ก่อนจะไหลไปออกทะเลที่พุมเรียง โดยปากน้ำอยู่ที่ปากคลองไชยาและปากคลองท่าปูน บริเวณตั้งแต่คลองพุมเรียงลงมาถึงปากคลองไชยาและคลองท่าปูนดังกล่าว แม้จะมีลำน้ำลำคลองผ่านหลายสายก็ตาม แต่มิได้เป็นบริเวณที่ชายทะเลกินเว้าเข้ามาถึงเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บนสันทรายเก่า ผิดกันกับบริเวณทางใต้ของลำคลองท่าฉาง ที่ท้องทะเลเคยเว้าเข้าไปภายใน เป็นต้นอ่าวที่เป็นพื้นที่ลุ่มเก่า และจากร่องรอยของลำน้ำลำคลองที่ซับซ้อนอันเกิดจากการขุดลัดและเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างกัน ทำให้แลเห็นพื้นที่อันเป็นนิเวศของเมืองโบราณบนสันทรายเก่า นั่นคือเป็นบริเวณที่มีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านเมือง

หน้าที่ 7/13


พบร่องรอยของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ท่านพุทธทาสบันทึกไว้ในหนังสือ แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน ท่านได้ถ่ายภาพและรวบรวมโบราณวัตถุหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดีอันเป็นสมัยศรีวิชัยตอนต้นมาจนถึงสมัยศรีวิชัยตอนปลาย

สิ่งที่ให้ความหมายแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างมากก็คือ ในบันทึกที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่าลำคลองท่าโพธิ์ที่ไหลผ่านบริเวณย่านใหม่ของเมืองไชยาที่อยู่สองข้างทางรถไฟนั้น  เมื่อ ๕๐ ปีก่อนเคยเป็นคลองกว้างที่เรือเดินทะเลเข้าไปถึง และตามลำคลองนี้มีการพบชิ้นส่วนเทวรูปพระนารายณ์ถือตะบองและสังข์เหนือสะโพก ซึ่งนำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ในปัจจุบัน

เทวรูปพระนารายณ์ถือสังข์เหนือสะโพกนี้เป็นของเก่าแก่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ ซึ่งเก่าแก่กว่าสมัยทวารวดีและศรีวิชัย

เพราะฉะนั้นจากการเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำลำคลองที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าใด ยกเว้นการตื้นเขินของลำน้ำในปัจจุบัน เมืองโบราณบนสันทรายสมัยทวารวดี-ศรีวิชัยนั้น คือเมืองท่าที่เป็นนครรัฐ ซึ่งมักจะอยู่ห่างจากทะเลเข้ามาภายใน เช่นบรรดาเมืองท่าทั้งหลายในสมัยโบราณ และเรือทะเลที่จะเข้ามาถึงก็คงไม่ใช่สำเภาขนาดใหญ่ หากเป็นบรรดาเรือขนาดเล็กที่เดินทางตามชายฝั่งและสามารถเข้าไปตามลำน้ำใหญ่ถึงบ้านเมืองที่อยู่ภายในที่ราบลุ่มน้ำลำคลองได้  ปัจจุบันมีการพบซากเรือดังกล่าวหลายแห่งทางภาคใต้ เช่นที่คลองท่อมและอ่าวบ้านดอน ที่ข้าพเจ้าได้เห็นมามี ๒ แห่ง คือที่เมืองเวียงสระแห่งหนึ่ง และที่ก้นลากูนในเขตตำบลทุ่ง อำเภอไชยา เป็นเรือขนาดยาว ๑๕ เมตร และกว้าง ๓.๕๐ เมตร ที่มีรูเจาะและใช้เดือยไม้แทนตะปูเพื่อการยึดโยงองค์ประกอบของเรือ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบรรดาเรือเดินทะเลเหล่านี้จะไม่ใช้เหล็กหรือตะปูตอกยึดส่วนประกอบแต่อย่างใด เรือดังกล่าวทำด้วยไม้ตะเคียนและใช้เชือกที่ทำจากใยมะพร้าวเหมือนกับเชือกมะนิลาในการผูกติด เรือที่พบที่ก้นลากูนที่ตำบลทุ่งอยู่ในสภาพดีกว่าที่เวียงสระซึ่งอยู่ในสระน้ำ ที่สำคัญคือเมื่อพบยังมีชิ้นส่วนของเครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ถัง ๒-๓ ชิ้นภายในเรือ เป็นเครื่องยืนยันอายุของเรือในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ อันนับเนื่องในสมัยศรีวิชัยยุครุ่งเรืองที่มีการค้าขายกับจีน

จากการศึกษาทางภูมิวัฒนธรรม เรือลำนี้พบในพื้นที่ไม่ไกลจากฝั่งทะเลซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออก เพราะมีแนวสันทรายขวางกั้น แต่พบในพื้นที่เป็นเวิ้งน้ำเก่าของลากูนที่ปากน้ำออกทะเลไปอยู่ที่ปากคลองพุมเรียง ซึ่งมีแหล่งนำเรือออกขนถ่ายสินค้าอยู่ที่แหลมโพธิ์ และมีชุมชนโบราณอยู่ทางฝั่งเมืองไชยาเก่าตามที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นก็คือหนึ่งในเรือที่เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีทั้งสอง โดยเข้าไปจากทางปากคลองใหญ่พุมเรียง หรืออีกนัยหนึ่งตรงปากลากูนแล้วเข้าไปจนถึงก้นลากูนในเขตตำบลทุ่ง ส่วนเรือลำที่พบที่เวียงสระเหลือให้เห็นเพียงกระดูกงูและชิ้นส่วนอื่นๆ เล็กน้อย แต่ก็ชี้ให้เห็นว่ามีความยาวราว ๑๕ เมตร และมีการเจาะใส่เดือยไม้แทนตะปูเช่นที่พบที่ไชยา ถึงแม้ว่าจะไม่พบเต็มลำ แต่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรือขึ้นล่องตามลำน้ำ จากปากแม่น้ำตาปีเข้ามาเมืองเวียงสระที่อยู่ห่างจากปากแม่น้ำที่อ่าวบ้านดอนราว ๖๒ กิโลเมตร

เมืองเวียงสระนับเป็นเมืองท่าภายในบนลำน้ำตาปี แต่ที่อยู่ห่างไกลจากชายทะเลนั้น เพราะก้นอ่าวบ้านดอนจากปากแม่น้ำตาปีอยู่ลึกกว่าเมืองไชยาที่อยู่ตอนเหนือของอ่าวบ้านดอน ซึ่งบริเวณชายฝั่งทะเลเป็นสันทรายและเนินทราย มีแต่ลำน้ำสายเล็กๆ ไม่เป็นลำน้ำใหญ่ เช่นลำน้ำพุนพินและลำน้ำตาปี ก้นอ่าวของลำน้ำตาปีกินลึกมาจนถึงตำบลบ้านท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน ที่เริ่มแลเห็นร่องรอยของชุมชนริมฝั่งน้ำไปจนเขตอำเภอบ้านนาสาร เวียงสระ พระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช อันเป็นชุมทางของบรรดาลำน้ำที่เป็นต้นแม่น้ำตาปี

เทวรูปพระนารายณ์ถือสังข์เหนือสะโพก อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ 

 

ลำน้ำตาปีจากอำเภอพระแสงที่ไหลลงไปถึงอำเภอฉวาง คนท้องถิ่นเรียกว่า ลำน้ำฉวาง หรือคลองฉวาง เป็นเส้นทางตามลำน้ำที่คนเมืองสุราษฎร์ธานีเดินทางล่องตามลำน้ำไปไหว้พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช นั่นคือเมื่อเดินทางตามแม่น้ำมาถึงอำเภอฉวาง ก็แยกจากแม่น้ำเข้าคลองมินและคลองจันดี ที่มีต้นน้ำอยู่ที่น้ำตกท่าแพของเทือกเขาหลวง แล้วเดินทางจากบ้านคลองจันดีข้ามผ่านช่องเขามาลงลำน้ำที่ไหลมายังอำเภอลานสกา เข้าสู่นครศรีธรรมราช

เส้นทางข้ามช่องเขาหลวงจากคลองจันดีมายังนครศรีธรรมราชนี้ นับเนื่องเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรเก่าแก่และร่วมสมัยกับเส้นทางจากตะกั่วป่าผ่านช่องเขาสกมาลงแม่น้ำพุมดวงหรือแม่น้ำคีรีรัฐมายังชุมชนที่เขาศรีวิชัย เส้นทางข้ามคาบสมุทรเส้นนี้คือสิ่งที่ดร. ควอริทช์ เวลส์ และท่านพุทธทาสภิกขุเชื่อว่าเป็นเส้นทางการค้าที่สนับสนุนความเป็นศูนย์กลางอาณาจักรของศรีวิชัย

หน้าที่ 8/13

อาณาบริเวณเมืองเวียงสระ บริเวณวัดคือพื้นที่ด้านนอก ซึ่งมีแนวคูน้ำเข้าไปสู่ส่วนที่เป็นดงไม้หนาทึบคือบริเวณเมืองชั้นใน

มีแนวลำน้ำเก่าของแม่น้ำตาปีตวัดเข้ามาใกล้กับตัวเมืองซึ่งเป็นพชื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมถึง

บ้านเมืองรอบอ่าวบ้านดอน

เมืองเวียงสระคือเมืองท่าภายในบนแม่น้ำตาปี ที่อยู่ห่างฝั่งทะเลอ่าวบ้านดอน แต่เป็นเมืองที่อยู่บนเส้นทางคมนาคมที่สัมพันธ์กับเส้นทางข้ามคาบสมุทร เช่นเดียวกันกับเมืองที่อยู่บนลำน้ำพุมดวงหรือแม่น้ำคีรีรัฐที่อยู่ในบริเวณควนสราญรมย์และเขาศรีวิชัย

ตำแหน่งเมืองดังกล่าวล้วนมีลำน้ำที่เรือเดินทะเลขนาดเล็กตามชายฝั่งเข้ามาถึงได้ ดังเห็นได้จากที่เวียงสระ แต่เมืองไชยาไม่ได้อยู่ลึกเข้ามาตามลำแม่น้ำ นอกจากลำคลองเช่นคลองท่าโพธิ์และคลองท่าปูน ซึ่งมีเรือชายฝั่งทะเลเข้าไปถึงได้ เป็นบ้านเมืองที่ตั้งอยู่บนแนวสันทรายเก่าของอ่าวบ้านดอนตอนบนที่อยู่ใกล้กับทะเล และหาได้อยู่บนเส้นทางข้ามคาบสมุทร หากเป็นบริเวณเมืองที่สัมพันธ์กับบรรดาชุมชนชายทะเลบนแนวสันทรายใกล้ทะเลในเขตตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอละแมและอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ซึ่งบรรดาชุมชนเมืองท่าเหล่านี้มีเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่อยู่เหนืออ่าวบ้านดอนขึ้นไปตามช่องเขา ตั้งแต่อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี  และอำเภอหลังสวน สวี และท่าแซะในเขตจังหวัดชุมพร เส้นทางข้ามคาบสมุทรเหล่านี้อยู่คนละช่วงสมัยเวลากับสมัยทวารวดี-ศรีวิชัยที่อ่าวบ้านดอนทั้งสิ้น และเป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้ามาก่อนการเดินทางจากฝั่งทะเลอันดามันอ้อมแหลมมะละกามายังอ่าวไทย ซึ่งข้าพเจ้าวิเคราะห์ว่าเป็นเส้นทางแต่สมัยสุวรรณภูมิ ราวพุทธศตวรรษที่ ๓ ลงมา จนถึงสมัยฟูนันในพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐

ในขณะที่เส้นทางข้ามคาบสมุทรของอ่าวบ้านดอนอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา อันเป็นสมัยทวารวดี-ศรีวิชัย ที่มีการเดินทางอ้อมแหลมมะละกา ทำให้เกิดรัฐที่เป็นพ่อค้าคนกลางที่เรียกว่า สหพันธรัฐศรีวิชัย และที่อ่าวบ้านดอนเมืองไชยาก็คือรัฐหนึ่งในสหพันธรัฐที่เรียกว่ามัณฑละตามที่กล่าวมาแล้ว เป็นรัฐที่มีเมืองใหญ่และเมืองน้อยอยู่ในบริเวณรอบอ่าวบ้านดอน


ชุมชนเมืองที่อยู่ใกล้กับเมืองโบราณสมัยทวารวดี-ศรีวิชัยบนสันทรายเก่าก็คือ ‘แหลมโพธิ์’ อันเป็นแหล่งท่าจอดเรือและขนถ่ายสินค้าต่ำจากไชยาลงไปทางใต้ที่อยู่บริเวณอ่าวบ้านดอนตอนกลาง ที่มีแม่น้ำใหญ่ ๒ สายมาออกทะเล คือแม่น้ำพุมดวงหรือแม่น้ำคีรีรัฐ กับแม่น้ำหลวงหรือแม่น้ำตาปี ที่ลำคลองพุนพินมีเมืองอยู่ที่เขาศรีวิชัย อันเป็นแหล่งศาสนสถานฮินดู-พุทธ ที่มีอายุแต่สมัยทวารวดีลงมาจนถึงสมัยศรีวิชัย เป็นบริเวณที่เรือสินค้าเข้ามา เป็นแหล่งที่พบลูกปัดและสินค้าที่มาจากเมืองชายทะเลฝั่งอันดามันที่เกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า นับเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรสำคัญที่กล่าวมาแล้ว

เมืองที่เขาศรีวิชัยนี้ดูคล้ายกันกับเมืองที่แหลมโพธิ์ปากคลองพุมเรียง แต่เมืองใหญ่และสำคัญไปอยู่ที่ควนสราญรมย์ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน เป็นแหล่งที่พบศาสนสถานสมัยศรีวิชัย เมื่อขุดแต่งแล้วพบพระพิมพ์ดินเผาและพระพิมพ์ดินดิบมากมายหลายรูปแบบ ที่เป็นการผสมผสานของศิลปะแบบทวารวดีที่นครปฐมและเมืองโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลางกับศิลปะชวา กลายเป็นศิลปะที่เรียกว่า ศรีวิชัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา

ที่ว่าแหล่งชุมชนเมืองที่ควนสราญรมย์เป็นเมืองใหญ่ ก็เพราะมีบริเวณพื้นที่กว้างใหญ่กว่า อันเป็นบริเวณที่ลำน้ำพุนพินมาสบกับลำแม่น้ำตาปี ก่อนจะแยกกันไปลงอ่าวบ้านดอน ลำน้ำพุมดวงหรือลำน้ำคีรีรัฐไหลจากเขาสกผ่านที่สูงมาออกอ่าวบ้านดอน แต่ลำน้ำตาปีไหลมาจากเทือกเขาหลวงนครศรีธรรมราชซึ่งอยู่ทางใต้ ไหลผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำที่เป็นก้นอ่าวบ้านดอน ซึ่งแยกออกเป็นแพรกหลายลำน้ำลงสู่อ่าว บริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่ต่ำ เพิ่งมาดอนขึ้นทีหลัง รวมทั้งตัวเมืองสุราษฎร์ธานีในปัจจุบันด้วย จึงไม่พบร่องรอยของบรรดาชุมชนโบราณตามลำน้ำ จนกระทั่งบริเวณตำบลท่าสะท้อนจึงเริ่มพบแหล่งชุมชนเก่า

จากตำบลท่าสะท้อนผ่านอำเภอบ้านนาสารลงไปถึงอำเภอเวียงสระและพระแสง ซึ่ง ‘เมืองเวียงสระ’ ก็คือเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองท่าภายในซึ่งติดต่อไปยังเมืองนครศรีธรรมราช ถัดจากบริเวณตอนกลางของอ่าวบ้านดอนของแม่น้ำพุนพินและแม่น้ำตาปี เป็นบริเวณตอนใต้ของอ่าวบ้านดอนที่เป็นที่สูงและภูเขา มีลำน้ำสำคัญอยู่ที่แม่น้ำท่าทองในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ เป็นลำน้ำที่ไม่ยาวเหมือนลำน้ำตาปี ยังไม่พบร่องรอยแหล่งโบราณคดีที่พอจะเห็นว่าเป็นเมืองได้ มีโบราณสถานแห่งเดียวที่สำคัญอยู่ที่ถ้ำคูหา ซึ่งเป็นถ้ำวิหารสมัยศรีวิชัย มีการเอาดินเหนียวหรือดินดิบมาตกแต่งเป็นภาพเมืองและวัดที่มีพระสถูปเจดีย์ พระพุทธรูป ประดับไว้ที่ผนังถ้ำ ความโดดเด่นอยู่ที่พระพุทธรูปประทับนั่งบนเก้าอี้แบบพระทวารวดีที่นครปฐม แต่พระพักตร์และรูปแบบทางศิลปกรรมกระเดียดไปทางศิลปะจามเช่นที่ชายฝั่งทะเลเวียดนามตอนกลาง ซึ่งลักษณะดังกล่าวก็เหมือนกับที่พบที่ปราสาทวัดแก้ว เมืองโบราณบนสันทรายที่ไชยา ซึ่งมีอิทธิพลศิลปะสถาปัตยกรรมจามสมัยจาเกี้ยว ที่มีอายุร่วมสมัยกับศรีวิชัย สิ่งดังกล่าวคงสะท้อนให้เห็นว่าบนเส้นทางการค้าทางทะเลของบ้านเมืองรอบอ่าวบ้านดอน มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นพ่อค้านานาชาติ ซึ่งพ่อค้าจามเป็นส่วนหนึ่ง

อาณาบริเวณตอนเหนือของอ่าวบ้านดอนถัดจากอำเภอกาญจนดิษฐ์เป็นอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่พบแหล่งบ้านเมืองและแหล่งโบราณคดีสมัยศรีวิชัย เพราะเป็นที่สูง มีชายทะเลเว้าแหว่งเป็นโขดสูง ซึ่งมีบ้านเมืองเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา แต่ตรงสุดเขตของอ่าวบ้านดอน ชายฝั่งทะเลหักวกลงใต้ในเขตอำเภอขนอมที่เป็นจุดเริ่มต้นของชายฝั่งทะเลที่เป็นแนวตรง ขนานกับแนวสันทรายที่ทอดยาวผ่านอำเภอสิชล ท่าศาลา เมืองนครศรีธรรมราช ปากพนัง ลงไปจนถึงอำเภอชะอวด ในการศึกษาและสำรวจแหล่งโบราณคดีตามแนวสันทรายที่เริ่มแต่อำเภอขนอม สิชล ท่าศาลา ไปจนถึงนครศรีธรรมราชนั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นของในลัทธิศาสนาฮินดู ที่มีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา โดยมีแหล่งศาสนสถานและศาสนวัตถุที่เป็นพุทธมหายานบ้างเล็กน้อย ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมา

หน้าที่ 9/13

แหลมโพธิ์ที่ไชยา พื้นที่ด้านหน้าคือบริเวณย่านที่พักจอดเรือในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ 

พบเศษภาชนะทั้งจากจีนในสมัยราชวงศ์ถังและแบบเปอร์เซียมากมาย

ควนสราญรมย์ เป็นเนินเขาที่สำคัญในพื้นที่ลุ่มน้ำตาปีในบริเวณที่ลำน้ำพุมดวง

จากเทือกเขาภายในมาสมทบ ในอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

พระปั้นดินดิบ รูปลักษณ์บางประการคล้ายคลึงศิลปะจามทางภาคกลางของเวียดนาม เป็นงานรุ่นศรีวิชัย

ภายในถ้ำคูหา อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

บริเวณด้านหลังของเขาจอมทอง ซึ่งมีโพรงถ้ำที่พบศิวลึงค์ทองคำในผอบทอง

ด้านหน้าเรียกว่าทุ่งพลีเมืองต่อเนื่องกับเทือกเขาพลายดำในอำเภอขนอมติดชายฝั่งทะเล

หน้าที่ 10/13


บ้านเมืองโบราณเก่าๆ ที่พบบนแนวสันทรายเหล่านี้ นับเป็นเขตพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากบ้านเมืองรอบอ่าวบ้านดอน เป็นบ้านเมืองและพื้นที่ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาสันสกฤตในจารึกและเอกสารโบราณว่า ตามพรลิงค์ เรียกว่าเป็นชื่อของนครรัฐที่อยู่เรื่อยมาจนพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยมีเมืองสำคัญอยู่ที่เมืองพระเวียง บนแนวสันทรายต่ำจากตำแหน่งเมืองนครศรีธรรมราชลงมาเล็กน้อย ส่วนนครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ในสมัยอยุธยา

 

ไชยาหรือเมืองครหิในพุทธศตวรรษที่ ๑๘

ที่กล่าวมาเป็นการเสนอให้เห็นภาพกว้างของเมืองไชยาในบริเวณอ่าวบ้านดอน ที่เป็นนครรัฐร่วมสมัยของมัณฑละศรีวิชัย และมีขอบเขตอยู่ที่อ่าวบ้านดอนในแว่นแคว้นตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช สิ่งที่จะกล่าวต่อไปก็คือ ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองโบราณบนสันทรายเก่าที่เป็นตัวนครรัฐ จากการสำรวจหลักฐานทางโบราณคดีที่บันทึกไว้ในหนังสือ แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน ของท่านพุทธทาสภิกขุ พบว่าตำแหน่งของเมืองตั้งอยู่บนแนวสันทรายที่มีวัดเวียงอยู่ตอนเหนือ ต่ำลงมาทางใต้เป็นวัดหลงและวัดแก้ว มีลำคลองไชยาจากวัดพระบรมธาตุไชยาไหลลงมาตัดผ่านสันทราย ทำหน้าที่เป็นคลองเมืองหรือคูเมืองด้านใต้และไหลไปทางตะวันออก ความยาวของเมืองราว ๕๐๐ เมตร กว้าง ๔๒๐ เมตร จากตะวันตกไปตะวันออก โดยมีวัดหลงอยู่ภายในเมือง และวัดแก้วต่ำลงมาอยู่นอกเมือง

แต่แนวสันทรายที่เป็นพื้นที่ตั้งชุมชนที่อยู่อาศัยตลอดแนวเหนือ-ใต้ตั้งแต่บริเวณวัดเวียงทางเหนือ ลงไปทางใต้คือเขาน้ำร้อนซึ่งเป็นเขาลูกโดดสูงประมาณ ๓๐ เมตร มีความยาว ๒.๓๗ กิโลเมตร ทั้งหมดนี้นับเนื่องเป็นเมือง (นครา) โดยมีปุระ [Citadel] อยู่ที่วัดเวียงและวัดหลง ซึ่งการกำหนดพื้นที่เช่นนี้เป็นลักษณะของความเป็นบ้านเมืองแต่โบราณ ทั้งในอินเดียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วย ‘นคร’ และ ‘ปุระ’ นครคือพื้นที่ทั้งหมดที่คนทั่วไปอยู่อาศัย เมืองหรือนครนั้นบางแห่งมีแนวคูน้ำคันดินล้อมรอบ แต่บางแห่งก็ไม่มี อาจทำอย่างหลวมๆ โดยใช้แนวไม้ระเนียดโอบล้อมเพื่อการป้องกัน แต่ปุระทุกแห่งต้องมีคูน้ำและคันดินเป็นกำแพงล้อมรอบ เพราะเป็นที่รวมถึงพระราชวังหรือจวนเจ้าเมือง และสถานที่อาคารในการบริหารปกครอง ท้องพระคลังและคลังสินค้า กองทหาร เป็นต้น รวมทั้งวัดสำคัญๆ ด้วย

โดยย่อก็คือปุระหรือเวียงเป็นตำแหน่งสำคัญของเมืองหรือนคร บรรดาเมืองโบราณในภาคใต้เท่าที่ข้าพเจ้าเคยสำรวจศึกษา แทบไม่พบร่องรอยคูน้ำคันดินรอบเมือง ยกเว้นที่ชัดเจนคือที่เมืองพระเวียงและนครศรีธรรมราช รวมทั้งเมืองรุ่นหลังๆ ในสมัยอยุธยา เช่นสงขลาและไชยบุรีของพัทลุง แต่มักพบปุระหรือเวียงแทน เช่นที่เมืองสทิงพระ เมืองประแวที่ปัตตานี

ที่ไชยาก็เช่นกัน ความเป็นนครต้องกำหนดพื้นที่บนสันทรายทั้งหมด ตั้งแต่วัดเวียงลงไปถึงเขาน้ำร้อน โดยมีปุระอยู่ที่วัดเวียงและวัดหลง เรื่องการกำหนดพื้นที่ถิ่นฐานบ้านเมืองโบราณแห่งนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้ศึกษาที่มีความชัดเจนมากที่สุดจากแหล่งศาสนสถานทางโบราณคดี ที่ได้บันทึกไว้ในหนังสือแนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอนของท่าน โดยเฉพาะการกล่าวถึงเขาน้ำร้อน โบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบบนเขาและบริเวณโดยรอบ รวมถึงบรรดาวัดสำคัญที่พบโบราณวัตถุตั้งแต่สมัยทวารวดี-ศรีวิชัย บนแนวสันทรายจากเขาน้ำร้อน ผ่านวัดนบและวัดอื่นๆ ไปจนถึงวัดแก้ว วัดหลง และวัดเวียง รวมทั้งวัดพระบรมธาตุไชยาที่อยู่กลางทุ่งนอกแนวสันทรายไปทางตะวันตก ห่างจากวัดเวียงราว ๗๘๐ เมตร ตั้งอยู่ริมคลองไชยาที่ไหลผ่านวัดไปยังสันทราย ทำหน้าที่เป็นคูเมืองพระเวียงก่อนไหลลงสู่ที่ลุ่มทางตะวันออก

เขาน้ำร้อน ต้นแนวสันทรายเดิมที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหรือเมืองไชยาในยุคศรีวิชัยและสมัยเมืองครหิ

บริเวณภายในปุระที่เป็นเวียงมีวัดสำคัญแห่งเดียวคือ ‘วัดหลง’ แต่ที่วัดเวียงหาใช่วัดไม่ น่าจะเป็นบริเวณพระราชวังและที่ทำการบริหารปกครองบ้านเมือง ที่มีการถวายวังเป็นวัด ทำให้เกิดมีวิหารที่นำเอาพระพุทธรูป เทวรูป และโบราณวัตถุทางศาสนาเก่าๆ หลายยุคสมัยที่พบที่เมืองโบราณและบริเวณโดยรอบมาประดิษฐานไว้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

ในการศึกษารูปแบบและสมัยเวลาของบรรดาโบราณวัตถุที่พบทั้งที่วัดเวียงและข้าวของที่ท่านพุทธทาสรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา แล้ว ข้าพเจ้าสามารถกำหนดสมัยเวลาทางวัฒนธรรมของเมืองไชยาโบราณแห่งนี้ได้ดังนี้

สมัยแรก ที่เรียกว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีโบราณวัตถุ เช่น เครื่องมือหินและเศษเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นหม้อไห ใช้ในการหุงต้มและอุทิศแก่ศพนั้น เป็นสิ่งที่กำหนดอายุชัดเจนไม่ได้ เพียงแต่ประมาณได้ว่าตั้งแต่ ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล หรือพุทธศตวรรษที่ ๑-๒ ขึ้นไป

สมัยที่ ๒ ราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑ เห็นได้จากเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขก ถือสังข์เหนือสะโพกในศาสนาฮินดู ที่คงได้รับมาจากบ้านเมืองโบราณในเขตนครศรีธรรมราช อาจมาจากอำเภอสิชลหรือท่าศาลา อันเป็นบ้านเมืองที่นับถือศาสนาฮินดู สมัยเวลาดังกล่าวนี้นับเนื่องเป็นสมัยฟูนัน

สมัยที่ ๓ คือสมัยทวารวดี-ศรีวิชัย แต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ด้วยเหตุนี้ในพื้นที่เมืองไชยาและแหล่งโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน พบโบราณสถานวัตถุที่เป็นพระพุทธรูปและพระพิมพ์แบบทวารวดีผสมผสานกันอยู่ ทั้งพุทธศาสนาเถรวาทและมหายานปะปนกัน และมีพัฒนาการร่วมกันมาจนสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อันเป็นเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการหันมานับถือพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากกรุงโปโลนนารุวะของลังกา

 

หน้าที่ 11/13

พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ประทับนั่งเหนือบัลลังก์นาคราช ๗ เศียร เป็นศิลปะแบบลพบุรี มีจารึกภาษาขอมระบุ พ.ศ. ๑๗๒๕

การเปลี่ยนแปลงของเมืองและศาสนานั้น แลเห็นได้จากวัดเวียงที่ข้าพเจ้าเสนอว่าเป็นบริเวณพระราชวังในตัวเวียงของเมืองโบราณบนสันทราย บริเวณวังกลายเป็นวัด มีซากวิหารหรือโบสถ์ที่มีการนำพระพุทธรูป เทวรูป และรูปเคารพของเมืองที่มีมาแต่เดิมมาประดิษฐานไว้ ในยุคนี้การสร้างเทวรูปพระโพธิสัตว์และพระพิมพ์ค่อยๆ หมดไป มีการสร้างพระพุทธรูปนั่งแบบเถรวาทด้วยหินทรายแดงขึ้นมาแทน รวมทั้งแปลงศาสนสถานที่เป็นปราสาทสมัยศรีวิชัย เช่น วัดแก้วและวัดหลง ให้เป็นวัดในพุทธศาสนาเถรวาท เช่น การสร้างช่องคูหาแต่ละทิศของปราสาทวัดแก้วให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายแดง รวมทั้งการซ่อมแซมเครื่องบนช่องปราสาทวัดแก้วด้วยหินทรายแดง มีการสร้างวัดวาอารามตามถ้ำและภูเขาทางด้านตะวันตกที่มีหินทรายแดงหลายแห่ง เช่นที่เขานางเอและเขาสายสมอ เป็นต้น

แต่ศาสนสถานสำคัญที่สุดในสมัยการเปลี่ยนแปลงเป็นพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ที่ไชยาก็คือ วัดพระบรมธาตุไชยา ที่รูปแบบของพระสถูปอันเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุเลียนแบบทรงปราสาทสมัยศรีวิชัย มีซุ้มทิศที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีโบสถ์และวิหารโถงขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายแดง และที่ระเบียงคดรอบพระอุโบสถก็เป็นที่รวมของพระพุทธรูปหินทรายแดงในช่วงเวลาต่างๆ แต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๑

ในบรรดาพระพุทธรูปหินทรายแดงของเมืองไชยาเหล่านี้ มีพระพุทธรูป ๒ องค์ที่ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นอัตลักษณ์ของสกุลช่างเมืองไชยา คือพระพุทธรูปหินทรายแดงปางห้ามญาติที่เคยประดิษฐานอยู่ที่ซุ้มหน้าประตูพระอุโบสถ ลักษณะท่าทางการยืนเป็นแบบพระพุทธรูปสมัยทวารวดี แต่นุ่งผ้าแบบศิลปะลพบุรี พระพักตร์แบบทวารวดี และมีรูปใบโพปิดหน้าพระเกตุมาลาแทนรูปพระธยานิพุทธอมิตาภะบนพระเศียรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร


พระพุทธรูปองค์ที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ประทับนั่งเหนือบัลลังก์นาคราช ๗ เศียรที่เป็นศิลปะแบบลพบุรี มีจารึกภาษาขอมระบุ พ.ศ. ๑๗๒๕ เป็นรับสั่งของพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองแคว้นในสมัยนั้น ให้เสนาบดีผู้รักษาเมืองครหิสร้างพระพุทธรูปนี้ไว้ให้ผู้คนสักการบูชา จึงทำให้รู้ว่าเมืองไชยาในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อันเป็นสมัยที่มีการนับถือพุทธศาสนาเถรวาทนั้น มีชื่อว่า ครหิ และเมืองครหิก็กลายเป็นเมืองแห่งหนึ่งในแว่นแคว้นที่มีพระราชาธิบดีปกครอง ซึ่งนักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์หลายท่านถกกันว่าพระราชาธิบดีแห่งแคว้นนั้นคือใคร บางท่านบอกว่าอยู่ที่สุมาตรา แต่ข้าพเจ้าขอฟันธงว่าคือแคว้นตามพรลิงค์ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า จันทรภาณุศรีธรรมราช เป็นผู้ปกครอง เพราะนอกจากมีอาณาเขตต่อแดนกับอ่าวบ้านดอนจากเขตอำเภอขนอม ผ่านสิชล ท่าศาลา ลงไปจนถึงปากพนังแล้ว ยังมีเมืองที่เป็นศูนย์กลางของรัฐอยู่ที่เมืองพระเวียงในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช

ตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชมีการติดต่อกับลังกาและรับพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์เข้ามา ทำให้เกิดการสร้างพุทธสถาปัตยกรรมและประติมากรรมแบบใหม่เข้ามาแทนที่รูปแบบศาสนสถานและรูปเคารพเดิมที่มีทั้งฮินดูและพุทธมหายานแต่ครั้งสมัยศรีวิชัย อันได้แก่ พระสถูปทรงกลมตั้งอยู่บนฐานทักษิณ มีพระสถูปเล็กๆ ประดับ ๔ ทิศ และพระหินทรายแดงนั่งและยืนที่แพร่หลายทั่วไปในภาคใต้และกินไปถึงภาคกลาง เป็นพุทธศิลป์ที่นับเนื่องในศิลปะแบบอู่ทอง

เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมา ไชยาเคยเป็นรัฐสำคัญในกลุ่มสหพันธรัฐศรีวิชัย และย้ำอีกครั้งว่า เมืองโบราณบนสันทรายเก่าคือเมืองนครรัฐหนึ่งของศรีวิชัย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือศรีวิชัยอยู่ที่ไชยาตามที่ท่านพุทธทาสภิกขุและนักโบราณคดีและประวัติศาสตร์รุ่นของท่านหลายคนเสนอไว้ ความเป็นเมืองศรีวิชัยที่ไชยา คือเมืองที่ในจดหมายเหตุจีนตามบันทึกของหลวงจีนอี้จิงเรียกว่า นครซิลิโฟซิ (Shih-li-Fo-Shih) ซึ่งเป็นคำที่ใกล้เคียงกับคำว่า “ศรีวิชัย” เป็นบ้านเมืองที่นับถือพุทธศาสนาอย่างเป็นปึกแผ่น และเป็นนครที่หลวงจีนอี้จิงและพระภิกษุจีนองค์อื่นๆ ที่จะไปศึกษาพระไตรปิฎกยังอินเดีย มาศึกษาภาษาสันสกฤตก่อน ๑-๒ ปี มีพระภิกษุสงฆ์พำนักถึง ๑,๐๐๐ รูป

ซึ่งบรรดาพระภิกษุจีนเหล่านี้คงอาศัยอยู่ในกุฏิที่สร้างด้วยไม้เป็นกระท่อม การที่พระสงฆ์จีนต้องมาศึกษาภาษาสันสกฤตก่อนไปอินเดียนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาในยุคของหลวงจีนอี้จิงคือพุทธศาสนาเถรวาทที่เรียกว่า สรวาสติวาทิน ซึ่งเป็นพุทธศาสนาที่ใช้ภาษาสันสกฤต เป็นสิ่งที่แพร่หลายในบ้านเมืองสมัยทวารวดีในภาคกลาง นับแต่นครปฐม คูบัว ไปจนบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และให้ความสำคัญกับพระโพธิสัตว์ เช่นอวโลกิเตศวรและปัทมปาณี หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นพระพุทธศาสนาเถรวาทที่มีพุทธมหายานเข้ามาผสมผสานด้วยแล้ว เรื่องราวการหาหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์มายืนยันความเป็นเมืองศรีวิชัยที่ไชยานี้ ได้เสนอไว้อย่างชัดเจนและดีแล้วในหนังสือแนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน ซึ่งมีบทความกล่าวถึงเส้นทางเรือของหลวงจีนอี้จิง จากจีนผ่านไชยา อ้อมแหลมมลายู ผ่านช่องแคบมะละกาไปออกทะเลอันดามันสู่อินเดีย ซึ่งช่วงเวลานั้นมีการใช้เรือเดินทะเลอย่างเร็วที่เรียกว่า “เรือเปอร์เซีย” แล้ว (มีภาพเรือพนมสุรินทร์ตามออนไลน์ค้นได้เลย)

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ทางกรมศิลปากรมีการขุดพบซากเรือโบราณขนาดใหญ่ยาว ๒๕ เมตร กว้าง ๑๐ เมตร ที่มีอายุอยู่ในสมัยศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ลงมา ที่ใกล้ชายฝั่งทะเลในเขตตำบลพันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร มีหลักฐานหลายอย่างแสดงให้เห็นว่าเป็นเรืออาหรับหรือเปอร์เซีย ที่ข้าพเจ้าคิดว่าคือเรือประเภทเดียวกันกับที่หลวงจีนอี้จิงและพระสงฆ์จีนอาศัยเดินทางผ่านอ่าวบ้านดอนมายังอ่าวไทยภาคกลางที่เมืองนครปฐมโบราณหรือนครชัยศรี ซึ่งเป็นเมืองท่าที่เป็นนครรัฐของแคว้นทวารวดี เป็นเมืองที่มีการนับถือพุทธศาสนาร่วมสมัยกับไชยาในยุคนั้น นครปฐมจึงน่าจะเป็นอีกเมืองหนึ่งที่หลวงจีนจากเมืองจีนมาศึกษาภาษาสันสกฤตและพุทธศาสนาก่อนไปอินเดีย

หน้าที่ 12/13


This article is a part of the series: ‘The Peninsula of Siam’

Srivijaya at Chaiya

Article by Srisakra  Vallibhotama

Translated by Pornnalat Prachakorn

Overview

Srivijaya was a powerful ancient maritime empire which dominated modern-day Sumatra, the Malay Peninsula and southern Thailand between the 7th to 13th centuries. Chaiya, a district in Surat Thani province in southern Thailand, is thought to have been under the suzerainty of the Srivijaya Empire. Srivijaya, consisting of a group of islands and coastal towns, was a federation of smaller city-states known as the mandala polity. In this political form, each city-state had its own ruler and these rulers were linked with one another through social and political relations. This article will give a broad picture of Chaiya in the Bandon Bay area of how it was once a regional center of the Srivijaya Empire employing the cultural landscape approach.

A number of archaeological remains related to Mahayana Buddhism as well as inscriptions suggest that cities around Bandon Bay, whose major city was Chaiya, were part of Srivijaya’s mandalas. There are temple ruins depicting the Dvaravati-Srivijaya architecture situated in an ancient community on the old beach ridge of Bandon Bay including Wat Kaew, Wat Long, Wat Wieng and Wat Phra Borommathat Chaiya. Based on the author’s cultural landscape studies, the said ancient community was a port city-state located inland further away from the sea where large junk ships could not access through inland waterways. The wrecks of small ships were discovered in many locations in the South such as in Wiang Sa and at the bottom of a lagoon in Chaiya district with fragments of Chinese Tang Dynasty ceramics found in one of the ships dating back to the prosperous era of Srivijaya engaging in maritime trade with China. Laem Po and Kuan Saranrom in Phunphin district were other main settlements of that time where many artifacts in Srivijayan art styles were unearthed.

In defining the location of the ancient city-state, it was located on the old beach ridge with Wat Wiang lying to the north and Wat Long, Wat Kaew and Khao Nam Ron to the south. The citadel of the city which was usually surrounded by water-filled moats was at Wat Wiang and Wat Long. The Chaiya Canal flows eastward from Wat Phra Boromthat Chaiya cutting through the beach ridge serving as a city canal.

 

 

 

 

คำสำคัญ : ศรีวิชัย,ไชยา,พุทธทาสภิกขุ,แหลมโพธิ์,พุมเรียง

According to the author’s study of patterns and periods of artifacts, there are three cultural periods of the ancient Chaiya which are the prehistoric period (500 BCE), the Funan period (4th-6th centuries) and the Dvaravati-Srivijaya period (7th-12th centuries). As a result, archaeological finds in Chaiya and the areas around Bandon Bay indicate the sharing of Dvaravati art styles as well as a combination of both Theravada and Mahayana Buddhist arts. These combined arts continued to develop together until the 13th century when there were changes in politics, economy and religion.

Therefore, it can be said that Chaiya was an important city-state in the Srivijaya Federation. In other words, Srivijaya was at Chaiya as suggested by many archaeologists and historians.

ศรีศักร วัลลิโภดม
อีเมล์: [email protected]
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมและสังคม ผู้สนใจศึกษางานทางโบราณคดีมาแต่วัยเยาว์จนปัจจุบัน ปรากฎผลงานเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
พรนลัท ปรัชญากร
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ภายหลังย้ายมาอยู่ไต้หวันกลายเป็นแม่บ้านลูกสอง มีอาชีพรับงานแปลและวาดรูปอิสระ
หน้าที่ 13/13