พระถ้ำเสือ : ข้อสันนิษฐานจากบริบทการสำรวจใน พ.ศ. ๒๕๖๖
การสำรวจทบทวนข้อมูลทางโบราณคดี บริเวณที่ภูเขาและแนวเขาที่สูง ซึ่งพาดผ่านเป็นแนวยาวจากเหนือลงใต้ตั้งแต่แนวเขาวงทางด้านเหนือรอยต่อกับเขตอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ลงใต้ผ่านเมืองโบราณอู่ทองคือเขากำแพง เขาพระหรือเขาดีสลัก เขาพุหางนาค จนถึงเขาคอกในอาณาบริเวณของเมืองอู่ทองสมัยทวารวดีที่มีการสร้างโบราณสถานแบบฮินดูที่คอกช้างดินและเขาพุม่วง
พระถ้ำเสือ : ข้อสันนิษฐานจากบริบทการสำรวจใน พ.ศ. ๒๕๖๖
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
แผนที่แสดงตำแหน่งของเมืองโบราณอู่ทองและเมืองสุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรี และตำแหน่งที่พบพระถ้ำเสือ
ตามเขาต่างๆ และตำแหน่งชุมชนโบราณบ้านหนองแจง
การสำรวจทบทวนข้อมูลทางโบราณคดี บริเวณที่ภูเขาและแนวเขาที่สูง ซึ่งพาดผ่านเป็นแนวยาวจากเหนือลงใต้ตั้งแต่แนวเขาวงทางด้านเหนือรอยต่อกับเขตอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ลงใต้ผ่านเมืองโบราณอู่ทองคือเขากำแพง เขาพระหรือเขาดีสลัก เขาพุหางนาค จนถึงเขาคอกในอาณาบริเวณของเมืองอู่ทองสมัยทวารวดีที่มีการสร้างโบราณสถานแบบฮินดูที่คอกช้างดินและเขาพุม่วง ทำให้ทราบและรับรู้ข้อมูลที่น่าสนใจ และนำเสนอเป็นการเบื้องต้นในที่นี้
กลุ่มโบราณสถานบนเขาในเขตอาณาบริเวณเมืองอู่ทอง ได้แก่ ‘เขาคอก’ ซึ่งถูกสัมปทานระเบิดหินไปจนถึงเขตวนอุทยานพุม่วง ที่มีโบราณสถานในกลุ่มความเชื่อแบบฮินดู มีทั้งฐานอาคารศาสนสถานและคอกช้างดินที่น่าจะเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมการเก็บน้ำศักดิ์สิทธิ์บางประการ โดยกลุ่มศาสนสถานแบบฮินดูนี้อยู่ห่างจากเมืองอู่ทองที่เป็นเมืองทวารวดีราว ๔ กิโลเมตร ใกล้เคียงกับศาสนสถานแบบฮินดูและน้ำตกพุม่วงปรากฏ ‘ถ้ำเสือ’ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ‘พระถ้ำเสือ’ และกลายเป็น ‘วัดถ้ำเสือ’ ในทุกวันนี้เป็น สถานที่แรกๆ ที่พบพระพิมพ์ขนาดเล็ก ซึ่งไม่เป็นที่สนใจของนักโบราณคดีหรือนักวิชาการทั่วไปนัก แต่เป็นที่สนใจของนักสะสมพระด้วยความไม่แน่ใจว่าเป็นสิ่งของที่ผลิตขึ้นในยุคสมัยใด และมีข้อถกเถียงซึ่งยังไม่เป็นที่ยุติเรื่อยมา และมีศรัทธาเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์เฉพาะตนเฉพาะกลุ่ม
ภาพถ่ายพระกรุถ้ำเสือกรุเก่า พิมพ์ใหญ่ (ซ้าย) และพระถ้ำเสือกรุเก่า พิมพ์กลาง (ขวา) จากภาพถ่ายจดหมายเหตุของคุณมนัส โอภากุล, พฤศจิกายน ๒๕๖๖,
‘พระถ้ำเสือ’ ซึ่งมีอัตลักษณ์เป็นพระพิมพ์ดินดิบ ทำจากพิมพ์ฝีมือแบบช่างชาวบ้านที่แกะพิมพ์อย่างหยาบๆ บางพิมพ์ดูผิดสัดส่วนเช่นพระพักตร์ พระเนตร โตผิดปกติ ไม่ใช่พิมพ์ที่นำเข้าหรือถูกแกะพิมพ์อย่างประณีตงดงามดังเช่นพระพิมพ์ที่พบตามเมืองโบราณที่มีการบรรจุในพระสถูปเจดีย์หลายแห่งในเขตลุ่มเจ้าพระยา การอัดพิมพ์พระถ้ำเสือนั้นคล้ายการทำแบบรวดเร็วไม่ละเอียดเพื่อทำเป็นปริมาณมากในแต่ละครั้ง ขนาดองค์เล็กๆ ไม่ใหญ่มากมักทำปางสมาธิหรือหัตถ์แตะธรณีหรือมารวิชัย ที่จะทำปางแปลกๆ ไปพบได้น้อย และนิยมบรรจุไว้ตามถ้ำหรือโพรงหินขนาดต่างๆ ตามแนวเขาและภูเขาในเขตอำเภออู่ทอง
ถัดจาก ‘เขาคอก’ ที่เป็นแนวเขาเดียวกันและต่อเนื่องกันสูงขึ้นมาคือ ‘เขาพุหางนาค’ มีโบราณสถานสมัยทวารวดีตอนปลายที่ ‘ยอดเขารางกะปิด’ เรียกว่า โบราณสถานหมายเลข ๒ พุหางนาค ส่วน โบราณสถานหมายเลข ๑ ที่อยู่ไม่ไกลกันนั้น เป็นเจดีย์ทรงกลมสร้างด้วยอิฐแบบทวารวดีอยู่บนแนวก้อนหินที่ทำเป็นฐาน พบโบราณวัตถุพวกชิ้นส่วนสถูปจำลองและภาชนะดินเผาและอื่นๆ ที่น่าสนใจคือพบต่างหูทำจากตะกั่วและแผ่นพิมพ์รูปบุคคลทำจากตะกั่ว
จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า สร้างโดยการเรียงก้อนหินธรรมชาติจัดเรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบเรียงหยาบๆ มีก้อนศิลาแลงและอิฐร่วมด้วย อิฐแบบทวารวดีมีจำนวนไม่น้อย นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานรูปแบบอาคารจากการขุดแต่งเป็นฐานเขียงของสถูป เพราะพบพระพิมพ์ดินเผาอิทธิพลปาละพิมพ์เดียวกันหลายองค์ เป็นพระพิมพ์รูปพระพุทธรูปปางสมาธิ มีประภามณฑล ประทับบนบัลลังก์เหลี่ยมแวดล้อมด้วยเครื่องสูง ๕ ตำแหน่ง คือเหนือพระเศียรมีฉัตร ๑ คัน ข้างพระวรกาย มีบังแทรกหรือบังสูรย์ ๒ คัน ถัดลงมามีจามร ๒ คัน ซึ่งบรรจุอยู่ในภาชนะที่เป็นไหขนาดใหญ่โดยฝังอยู่ใต้ฐานโครงสร้างโบราณสถาน
ยอดเขารางกะปิด ซึ่งเป็นเขาที่สูงที่สุดในบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง
และเป็นที่ตั้งของโบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒
มีการปรับพื้นที่บนยอดเขาเป็นพื้นเรียบ แล้วสร้างอาคารที่น่าจะเป็นพระสถูปเจดีย์
ด้านบน โดยการขุดแต่งจากกรมศิลปากรแล้ว และซ่อมเป็นฐานเขียงลดชั้นซ้อน
พบว่าเป็นอิฐแบบทวารวดีที่ผสมแกลบข้าวปนอยู่
ภาชนะขนาดใหญ่รูปทรงพิเศษทำจากดินเผา ถูกฝังไว้ภายในแท่นหินและน่าจะอยู่ภายในพระสถูป ภายในบรรจุพระพิมพ์ดินเผา รายงานกล่าวว่าพบ ๓ ใบ ส่วนพระพิมพ์น่าจะพบจำนวนไม่น้อย (ซ้าย)
พระพิมพ์ด้านหลังบางชิ้นมีจารึกอักษรหลังปัลลวะ ภาษามอญโบราณ แปลความว่า ‘บุญนี้ (เป็นของ) กษัตริย์มะระตา (ผู้สร้าง) พระพุทธรูป’ กำหนดอายุจากจารึกได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ (ขวา)
โดยภาชนะดินเผาที่พบรูปแบบไหขนาดค่อนข้างใหญ่ ปากแคบเล็กกว่าตัวภาชนะ ซึ่งคล้ายกับภาชนะทำด้วยหินขนาดใหญ่มากที่พบบริเวณเมืองนครปฐมโบราณ เป็นรูปแบบที่ไม่ใช่ภาชนะธรรมดาแต่สร้างเป็นพิเศษเพื่อการบรรจุพระพิมพ์กลุ่มนี้โดยเฉพาะ เมื่ออ่านจารึกหลังพระพิมพ์องค์หนึ่งก็พบว่าเป็นการทำบุญกุศลของบุคคลสำคัญ จารึกอักษรหลังปัลลวะ ภาษามอญโบราณ แปลความว่า 'บุญนี้ (เป็นของ) กษัตริย์มะระตา (ผู้สร้าง) พระพุทธรูป' กำหนดอายุจากตัวอักษรได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕
พระพิมพ์รูปแบบนี้พบในเมืองโบราณ เช่นพบจากเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ วัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี พระพิมพ์จากเมืองนครปฐมโบราณและเมืองกำแพงแสน และคล้ายคลึงกับที่พบพระพิมพ์จากดงแม่นางเมือง ในจังหวัดนครสวรรค์ด้วย เป็น พระพิมพ์ที่ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาแบบมหายานในศิลปะแบบปาละ ร่วมสมัยกับยุคทวารวดีตอนปลายและยุคสมัยศรีวิชัยทางคาบสมุทร อันแสดงถึงบริเวณเมืองอู่ทองก็ยังคงมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อมา และการพบพิมพ์โลหะขนาดเล็กที่ไม่ใช่โลหะผสมแบบสำริด ที่มักสร้างเป็นประติมากรรมลอยตัว ส่วนพระพิมพ์นิยมใช้เนื้อดินหรือหากใช้โลหะจะเป็นแร่เงินและทองเป็นพระพิมพ์แบบดุนลายลงบนแผ่นเงินและทอง หากแต่เป็นการใช้ตะกั่วทั้งชิ้นสร้างพระพิมพ์และรูปบุคคลสำคัญขนาดเล็กนี้ จึงน่าสนใจว่า ‘จะเป็นการเริ่มให้ความสำคัญกับแร่ตะกั่วในพื้นที่แถบนี้ด้วย ?’
นอกจากนี้ในภาชนะเดียวกันยังพบพระพิมพ์ดินเผาพิมพ์เดียวกันแต่ปิดทองคำเปลว พระพุทธรูปสำริดปางสมาธิพระพักตร์แบบทวารวดี รูปพระโพธิสัตว์ ๔ กร อาจจะเป็นพระมัญชุศรีทรงชฎามงกุฎและประภามณฑล นั่งแบบมหาราชลีลาบนฐานบัว การทำแม่พิมพ์ละเอียดประณีต เนื้อหล่อจากตะกั่ว และรูปสตรี ผมเกล้ามวย นั่งพนมมือบนฐานบัว ๒ องค์ หล่อจากตะกั่วเช่นเดียวกัน
ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ถึง ๑๕ เมืองอู่ทองยังคงเป็นเมืองสำคัญที่มีกษัตริย์ปกครองและทำนุบำรุงพุทธศาสนาต่อเนื่องเรื่อยมา การสร้างศาสนสถานบนเขานี้ แม้จะไม่แน่ชัดว่าเป็นฐานอาคารรูปลักษณ์อย่างไร เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระสถูปเจดีย์หรืออาคารอื่นใด
บนยอดเขาทำเทียมพบว่ามีการสร้างฐานอาคารที่อาจจะเป็นฐานเจดีย์
สมัยทวารวดี ต่อมามีการสร้างเจดีย์ทับอาจจะในสมัยอยุธยา
พร้อมกับสร้างวิหารแกลบขนาดเล็กขึ้นพร้อมกัน
ส่วนบริเวณต่อมาคือ ‘เขาทำเทียม’ บนยอดเขามีฐานเจดีย์สร้างบนแท่นหินเช่นเดียวกับโบราณสถานพุหางนาค และโดยรอบมีการจัดเรียงทั้งอิฐแบบทวารวดีและหินต่างๆ เจดีย์องค์ระฆังและพระวิหารบนยอดเขาทำเทียมน่าจะมีการสร้างซ่อมแซมจากฐานอาคารแบบทวารวดีแต่เดิมเป็นแบบสมัยอยุธยาช่วงหลังๆ ก็ได้
แต่เมื่อราว พ.ศ. ๒๕๔๓ ชาวบ้านจำนวนมากแตกตื่นพากันไปขุดหาพระพิมพ์ดินเผา คุณมนัส โอภากุล เป็นผู้บันทึกข้อมูลว่า ‘เป็นพระพิมพ์ดินเผาแบบศรีวิชัยขนาดเล็กและขนาดฝ่ามือ ปางมารวิชัย ปางยมกปาฏิหาริย์ และปางนาคปรกรัตนตรัยมหายานแบบลพบุรี’ ทั้งบันทึกภาพไว้และระบุว่าพระพิมพ์เหล่านั้นอยู่ในกองใบไม้ที่ทับถมกันมานานแล้วและน่าจะมาจากกรุเจดีย์ของเขาทำเทียมแต่เดิม (ข้อมูลจากภาพและบันทึกระบบภาพส่วนตัวของมนัส โอภากุล / สืบค้นตุลาคม ๒๕๖๖, โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
บนยอดเขาทำเทียมพบว่ามีการสร้างฐานอาคารที่อาจจะเป็นฐานเจดีย์
สมัยทวารวดีต่อมามีการสร้างเจดีย์ทับอาจจะในสมัยอยุธยา พร้อมกับ
สร้างวิหารแกลบขนาดเล็กขึ้นพร้อมกัน
พระพิมพ์แบบเม็ดกระดุม พบมากบริเวณแหล่งโบราณคดีแถบลุ่มน้ำตาปีและควนสราญรมย์
ในอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ส่วนนักสะสมบางท่านเสนอข้อมูลนัยว่าเป็นพระถ้ำเสือกรุเขาทำเทียม ในขณะที่คุณมนัสให้ข้อมูลว่าเป็นพระพิมพ์แบบศรีวิชัย ซึ่งชัดเจนว่าเป็นพระพิมพ์ในอิทธิพลพุทธศาสนาแบบมหายานที่เข้ามาสู่คาบสมุทร ภาพพระเม็ดกระดุมแบบพระพิมพ์รูปกลมเช่นที่พบทางพุนพินและพระพุทธเจ้าประทับบนแท่นเหมือนนั่งเก้าอี้ล้อมรอบด้วยพระโพธิสัตว์หรือบุคคลต่างๆ พบมากทางแถบควนสราญรมย์ แหล่งเขานุ้ย ในอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง แต่ก็ดูจะเหมือนเป็นพิมพ์ที่ไม่คมชัด ค่อนข้างรางเลือนอาจจะเนื่องด้วยสภาพแวดล้อมที่พบหรืออาจจะมีการทำพิมพ์เลียนแบบในช่วงสมัยเดียวกัน ไม่ใช่แม่พิมพ์มาตรฐานดังเช่นที่มักพบในเขตคาบสมุทร ซึ่งการบันทึกข้อมูลจะมีพระปางสมาธิแบบพระถ้ำเสือร่วมด้วยและที่น่าสนใจคือรูปแบบพระถ้ำเสือขนาดเล็กแต่ทำปางปฐมเทศนาหรือวิตรรกะมุทรา ซึ่งมีภาพบันทึกอยู่ในฐานข้อมูลของคุณมนัส โอภากุล เช่นเดียวกัน (อดุลย์ ฉายอรุณ. พระถ้ำเสือ มรดกของสุวรรณภูมิ, ๒๕๕๑)
อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่ามีพระพิมพ์แบบพระถ้ำเสือพบร่วมกับพระพิมพ์แบบคาบสมุทรหรือแบบศรีวิชัยอย่างแน่ชัดหรือเป็นการค้นหาจนทำให้มีการพบร่วมกันก็เป็นได้
ภาพชิ้นส่วนที่มีอักษรจารึก เป็นอักษรแบบหลังปัลลวะ พบในกลุ่มพระพิมพ์เขาทำเทียม
ภาพการขุดหาพระพิมพ์ที่เขาดีสลัก ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑
ภาพพระพิมพ์และการค้นหาพระที่เขาดีสลักจากระบบภาพส่วนตัวของคุณมนัส โอภากุล
จากการสำรวจบนเขาทำเทียมพบว่า การเรียงหินที่เป็นฐานของพระเจดีย์ที่ซ่อมสร้างขึ้นในยุคหลังและมีอิฐแบบทวารวดีปะปนนั้นค่อนข้างเรียงแบบหยาบๆ คล้ายกับการเรียงหินของฐานโบราณสถานบนเขาพุหางนาคหรือยอดเขารางกะปิดที่พบพระพิมพ์ เหล่านี้น่าจะร่วมสมัยหรืออยู่ในช่วงอายุหลังจากพระพิมพ์ต้นแบบทางคาบสมุทรที่กำหนดจากรูปแบบอักษรที่จารึก (อักษรหลังปัลลวะ ภาษาบาลี ข้อความ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ในแบบพระพิมพ์ชุดเดียวกันไว้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ไปแล้วไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม การพบพระพิมพ์แบบรัตนตรัยมหายานทำจากดินดิบหรือดินเผาที่คุณมนัส โอภากุล บันทึกไว้ได้ ยิ่งทำให้เห็นแนวโน้มความเป็นไปได้ที่พระพิมพ์กลุ่มพบจากเขาทำเทียมน่าจะอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ และพบพระพิมพ์แบบลพบุรีเช่นนี้ในถ้ำเขากอบ ใกล้กับเขานุ้ย ในอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรังเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้บริเวณเขาทำเทียม ซึ่งเป็นเวิ้งเขาที่เคยสวยงามของอาณาบริเวณเมืองอู่ทอง มีการบันทึกว่า หินที่จารึกอักษรแบบหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต คำว่า ‘ปุษยคิริ’ สันนิษฐานว่าได้มาจากแถบเขาทำเทียม คำว่า ปุษยคิริหรือปุษยคีรี ที่หมายถึง ‘เขาดอกไม้’ มีความหมายมากเมื่อพบที่อู่ทอง เพราะไปพ้องกับเขาปุษยคีรีคือมหาวิหารบนยอดเขาแลงกูดี ในเขตชัยปุระ รัฐโอดิชา หรือกลิงคะรัฐโบราณของอินเดีย ที่หลวงจีนเหี้ยนจังหรือพระถังซำจั๋งเดินทางไปเยือนอนุทวีปอินเดียระหว่าง พ.ศ. ๑๑๗๒-๑๑๘๘ โดยสันนิษฐานจากจารึกที่พบจากซากอาคารที่มหาวิหารบนเนินเขาแลงกูดี ‘puṣpa sabhar giriya’ หรือโดยย่อว่า ‘ปุษปคีรี’ นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าน่าจะเป็นสถานที่บนเขาแลงกูดี
‘ปุษยคีรี’ มีความหมายในการเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อการจาริกแสวงบุญทางพุทธศาสนาในยุคสมัยที่หลวงจีนอี้จิงเดินทางไปถึงเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และยังเป็นมหาวิหารสถานศึกษาเก่าแก่ที่รุ่งเรืองตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ จนถึง ๑๖ พร้อมกับนาลันทา วิกรมศิลา โอดันตาปุรี วัลลาภี และตักศิลา เป็นหนึ่งในเครือข่ายมหาวิหารเพื่อการศึกษาระดับสูงทางตะวันออกของอินเดียในบริเวณอ่าวเบงกอลที่ได้รับการอุปถัมภ์ในสมัยราชวงศ์ปาละ
การปรากฏชื่อ ‘ปุษยคีรี’ ที่มีความหมายเดียวกับ ‘ปุษปคีรี’ คือ ‘เขาดอกไม้’ ที่เมืองอู่ทองนั้น ทำให้เห็นว่ามีการติดต่อสัมพันธ์และมีการรับรู้อย่างดีในเรื่องมหาวิหารเพื่อการศึกษาชั้นสูงบนยอดเขา ที่มีนัยยะไปถึงยุคสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชในพุทธ-ศตวรรษที่ ๓ ที่มีการบุญล้างบาปหลังจากการเข่นฆ่าครั้งมโหฬาร และความมีชื่อเสียงในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการจาริกแสวงบุญของเหล่านักบวชเพื่อแสวงหาวิชาความรู้และสามัญชนผู้จาริกแสวงบุญเพื่อสืบพระศาสนาร่วมสมัยกับยุคทวารวดีและศรีวิชัยในเวลาต่อมา
เขาศักดิ์สิทธิ์ ‘ปุษยคีรี’ สืบเนื่องมาจนกลายเป็นสถานที่เพื่อการจาริกแสวงบุญของเมืองอู่ทอง ที่ผู้คนจากบ้านเมืองร่วมสมัยอื่นๆ ต่างมีความพยายามเดินทางมาเพื่อการสืบพระศาสนาตามคติที่แพร่มาสู่ดินแดนต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศไทย อาจจะตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ที่ ‘เมืองอู่ทอง’ เจริญสูงสุดจนถึงในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ และหลังจากนั้น
ก้อนหินสลักคำว่า ‘ปุษยคิริ’ น่าจะเป็นอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อาจจะมีอายุในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ จากการกำหนดของกรมศิลปากร ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
แผนที่แสดงตำแหน่งที่พบพระถ้ำเสือบริเวณเทือกเขาในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
บริเวณโดยรอบเขากำแพง อำเภออู่ทอง มีคำบอกเล่าว่าบนเขาพบฐานอาคารทำจากแนวหิน
และสร้างอาคารปัจจุบันคลุมทับหมดแล้ว พระสงฆ์บางรูปกล่าวอีกว่ามีการเก็บพระถ้ำเสือไว้บ้าง
แต่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ
แนวคิดเพื่อการสืบพระศาสนาที่ปุษยคีรีสู่การประดิษฐานพระพิมพ์ตามเทือกเขา : จุดกำเนิดพระถ้ำเสือ
จากยอดเขาทำเทียม จนถึงบริเวณ ‘ยอดเขาพระ’ หรือเขาพระศรีสรรเพชญาราม ที่บนยอดเขามีฐานอาคารแบบทวารวดี และมีการสร้างพระเจดีย์ขึ้นสวมทับ สันนิษฐานว่าเป็นสมัยอยุธยา ถ้ำด้านล่างเชิงเขาพระนั้นมีผู้พบพระถ้ำเสือประดิษฐานอยู่ในถ้ำด้วย
จากบทความของคุณมนัส โอภากุล นักวิชาการคนสำคัญชาวสุพรรณบุรีผู้ล่วงลับ ได้บันทึกไว้อย่างรวบรัดแต่มีความหมายมากว่า มีการพบพระถ้ำเสือที่ใดบ้าง (มนัส โอภากุล. พระถ้ำเสือเมืองสุพรรณ, ศิลปวัฒนธรรม, มีนาคม ๒๕๓๖) นักนิยมพระเครื่องรุ่นแรกของอำเภออู่ทองเล่าว่ามีอยู่ดังนี้ เขาวงพาทย์ (บนยอดเขาพบอิฐโบราณสถานแบบทวารวดี ), เขาคอก (ถ้ำเสือ), วัดเขาพระ (วัดพระศรีสรรเพชญาราม), เขากำแพง, เขากุฎิ, เขาดีสลัก, วัดเขาพระ (บ้านจร้าเก่า-จร้าใหม่), เขาวง, เขากระจิว, เขานกจอด, วัดหลวง
เมื่อตามไปสำรวจยังสถานที่ดังกล่าวสอบถามพระสงฆ์และผู้คนที่อยู่อาศัยโดยรอบได้ข้อมูลปัจจุบันและเอกสารของผู้สะสม พระถ้ำเสือประเมินได้ดังนี้
กลุ่มที่ ๑ มีร่องรอยจากคำบอกเล่า และพระถ้ำเสือจากกรุดังกล่าวไม่พบเห็นแพร่หลาย
‘เขาวงพาทย์' ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับลำน้ำจระเข้สามพัน ห่างจากวัดถ้ำเสือที่เขาคอกราว ๗ กิโลเมตรมาทางทิศใต้ มีรายงานว่าพบอิฐจากโบราณสถานสมัยทวารวดีขนาดใหญ่บนยอดเขา รูปแบบไม่แตกต่างจากอิฐที่ยอดเขารางกะปิดหรือโบราณสถานพุหางนาค แต่ไม่มีข้อมูลของพระถ้ำเสือจากเขาวงพาทย์ นอกจากการบอกเล่าซ้ำว่ามีอยู่ที่ใดบ้าง
‘เขาคอก’ และ ‘เขาพระ’ วัดศรีสรรเพชญาราม มีรายงานว่าพบพระถ้ำเสือที่ถ้ำเสือใกล้กับน้ำตกพุม่วง และกล่าวว่าพบพระถ้ำเสือในถ้ำด้านล่างเชิงเขาพระ
‘เขากำแพง’ มีรายงานว่าเคยพบพระถ้ำเสือและมีเก็บไว้บ้าง รวมทั้งกล่าวว่าเคยพบเห็นฐานอาคารโบราณสถานทำด้วยหินบนเขาค่อนข้างสูงแต่ปัจจุบันถูกสร้างอาคารทับไปแล้ว ด้านใต้ของเขากำแพงมีการระเบิดหินจากภูเขาขนาดใหญ่
‘เขากระจิว’ เป็นเนินเขาหินขนาดย่อม ไม่สูงนัก อยู่เหนือเขาวงมาทางแถบบ้านทุ่งดินดำทางทิศใต้ของคลองหมื่นทิพ ที่เป็นคลองรับน้ำจากที่สูงของบริเวณแนวเขาต่างๆ ที่พบพระถ้ำเสือทางทิศตะวันตก ที่เชิงเขาบริเวณทางขึ้นพบอาคารก่อสร้างด้วยหินก้อนใหญ่ๆ เรียงซ้อนกันเป็นพระสถูป สภาพพังทลาย ด้านในเป็นห้องกรุอาจเคยบรรจุพระหรือสิ่งของต่างๆ มาก่อนก็ได้ พระสงฆ์ที่อยู่ในปัจจุบันไม่ทราบเรื่องการพบพระถ้ำเสือ
เขากระจิวเป็นเขาหินมอขนาดเล็กๆ บริเวณฐานด้านทางขึ้นเขาปัจจุบันพบการก่อสร้าง
โดยนำหินมาเรียงคล้ายอาคารแบบสถูปเจดีย์ ภายในมีห้องกรุ อาจเคยบรรจุสิ่งของ
ปัจจุบันสอบถามแล้วยังไม่พบผู้รู้เรื่องพระถ้ำเสือ
‘เขาสำเภาจอด’ หรือ ‘เขานกจอด’ เป็นกลุ่มแนวเขา ๓ เขาต่อกัน คือเขาหัวเขาที่มีวัดหัวเขาเป็นวัดสำคัญ แต่สอบถามไม่มีใครทราบเรื่องพระถ้ำเสือ มีการระเบิดหินจากเขาสำเภาจอด ซึ่งเคยเป็นภูเขาที่สูงสุดเขาสุดท้ายทางด้านตะวันตกจนราบเรียบไป ถ้ำสำคัญที่อยู่ด้านหลังของเขาสำเภาจอด ใกล้กับหมู่บ้าน ชาวบ้านเล่าว่าเคยเป็นถ้ำและสำนักสงฆ์สำคัญของย่านนี้ น่าจะเคยพบวัตถุสำคัญหลายอย่าง ก็ถูกแรงระเบิดหินถล่มพังปากถ้ำไปหมดแล้ว
อนึ่ง สันนิษฐานว่าแนวเขาสำเภาจอดในอดีตน่าจะสูงเด่นเป็นจุดสำคัญทางสายตาของนักเดินทาง เพราะเหมือนรูปร่างของเรือสำเภาที่จอดลอยอยู่กลางอากาศ เมื่อมองจากพื้นราบโดยรอบ และบริเวณนี้อยู่ในเส้นทางเดินทางจากแถบบ้านเลาขวัญ เข้าสู่ห้วยกระพร้อยที่สามารถเดินทางสู่บ้านท่ากระดาน ในเทือกเขาของลำน้ำแควใหญ่หรือศรีสวัสดิ์ได้ บริเวณนี้เป็นทางออกของเหมืองแร่ตะกั่วที่มีการทำมาอย่างยาวนาน การนำออกต้องใช้ผู้ชำนาญพื้นที่สูงในกลุ่มชาวละว้าหรือชาวกะเหรี่ยง แต่ในอดีตน่าจะเป็นชาวละว้าเสียมากกว่า ดังชื่อลำน้ำ ‘ท่าว้า’ หรือเปลี่ยนมาเป็น ‘ท่าเสด็จ’ ในเขตอำเภอเมืองสุพรรณบุรีปัจจุบัน
เขาสำเภาจอด ถ้ำสำคัญก้อนหินถล่มปิดปากถ้ำ ไม่มีผู้ใดในหมู่บ้านใกล้เคียงทราบเรื่องพระถ้ำเสือแต่อย่างใด
ผู้ชำนาญเส้นทางที่สูงเพื่อนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนเหล่านี้สามารถเดินทางไปสู่ ‘บ้านหนองแจง’ ที่พบการสร้างสระน้ำหลายแห่ง การทำแนวทำนบ สามหรือสี่แนวและบางทีอาจจะเป็นแนวคูคันดินรูปสี่เหลี่ยม เป็นโครงสร้างของชุมชนแบบลพบุรีแม้จะมีขนาดใหญ่ แต่อยู่ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอย่างเห็นได้ชัด จาก ‘บ้านหนองแจง’ สามารถเดินทางเพื่อไปยังแนว ‘ลำน้ำท่าว้า’ ได้ไม่ไกลนักในระยะไม่เกิน ๒๐ กิโลเมตร
แผนที่ทางทหารมาตราส่วน ๑: ๕๐,๐๐๐ ลำดับชุด L708 แสดงแนวทำนบและสระน้ำบริเวณ
บ้านหนองแจง อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งติดต่อกับที่เนินสูงแถบอำเภอเลาขวัญ
จังหวัดกาญจนบุรี
พบโบราณวัตถุสำคัญในรุ่นลพบุรีมากมาย กระจายอยู่ในอาณาบริเวณกว้างขวาง โดยเฉพาะเครื่องถ้วยแบบราชวงศ์ซ่งเหนือและซ่งใต้เทียบอายุได้ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จนถึง ๑๘ และพบเหรียญอีแปะจีนช่วงราชวงศ์ซ่งเหนือ อายุในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จำนวนหนึ่ง (มนัส โอภากุล, อีแปะจีน ใต้พื้นดินเมืองสุพรรณ, ศิลปวัฒนธรรม. กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙)
นอกจากนี้พบพระพิมพ์ดินเผาและโลหะแบบลพบุรี พระพิมพ์ปางพุทธคยา โซ่ทำจากตะกั่ว ฯลฯ และบริเวณนี้ไม่พบการบรรจุพระพิมพ์แบบถ้ำเสือเช่นที่พบตามเขตภูเขาที่สูงแต่อย่างใด
เศษภาชนะเนื้อแกร่ง เคลือบสีขาวและขาวเทาและมีลวดลายดุนนูนใต้เคลือบ น่าจะเป็นภาชนะใน
สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ซึ่งสอดคล้องกับเหรียญอีแปะที่พบ
ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผาอิทธิพลปาละแบบซุ้มพุทธคยาแบบนั่งเก้าอี้ พระพิมพ์ดินเผาแบบนี้พบที่พงตึกและเมืองราชบุรีรวมถึงทำเป็นพระพิมพ์เนื้อชินขนาดใหญ่กว่าราวสองเท่าพบ
ในกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา (ซ้าย) พระพิมพ์ซุ้มพุทธคยา แม่พิมพ์เดียวกับชิ้นส่วนพระพิมพ์พบที่หนองแจง อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี (ขวา)
กลุ่มที่ ๒ มีร่องรอยโบราณสถานอยู่บ้างและพระถ้ำเสือปรากฏเป็นพิมพ์ต่างๆ ได้รับการเผยแพร่ในเอกสารของนักสะสม
‘วัดหลวง’ แม้สภาพแวดล้อมน่าจะเคยเป็นพื้นที่อยู่อาศัยเก่าแก่ของอาณาบริเวณเมืองอู่ทองและการอยู่อาศัยในยุคต่อมา แต่ก็ไม่พบร่องรอยของโบราณสถานไม่ว่าจะในยุคใดๆ หลงเหลืออยู่อีก นอกจากคำบอกเล่าว่าพบพระถ้ำเสือในอิฐแบบทวารวดี และปัจจุบันทางวัดและชาวบ้านไม่มีผู้ใดเคยพบเห็นแต่อย่างใด
‘เขากุฎิ’ เป็นเนินเขาหินขนาดเล็กๆ บนยอดเขาพบแนวอาคารฐานหินก้อนเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบ โดยปรับพื้นเขาให้เรียบบางส่วนแลเสริมหินเข้าไปบางส่วน มีการสร้างอาคารแบบศาลาขนาดเล็กๆ ในยุคปัจจุบันทับลงไปบางส่วน มีถ้ำที่เป็นโพรงถ้ำขนาดเล็กหลายแห่ง และได้รับการบอกเล่าจากพระสงฆ์ภายในวัดเขากฎิว่ามีการพบพระถ้ำเสือจำนวนมาก ชาวบ้าน รอบๆ มีฐานะดีขึ้นจากการพบพระถ้ำเสือกรุเขากุฎิดังกล่าวหลายราย
เขากุฎิ เป็นเขาหินมอขนาดเล็กๆ ไม่สูงนัก ด้านบนยอดเขามีลานหินและช่องถ้ำ อาจมีฐานแท่น
ทำด้วยหินก้อนใหญ่ อาจเคยเป็นฐานอาคารและน่าจะถูกรื้อกระจัดกระจาย
กลุ่มที่ ๓ มีโบราณสถานสำคัญและพบพระถ้ำเสือพิมพ์ต่างๆ แพร่หลายทั่วไป
‘เขาดีสลัก’ หรือ ‘เขาพระ’ ในอดีต พบว่ามีโบราณสถานทำด้วยหินเรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดย่อมๆ บนยอดเขา และอิฐที่ไม่ใช่อิฐแบบทวารวดีซึ่งจะมีการผสมแกลบข้าวและมีขนาดใหญ่ แต่เป็นอิฐขนาดเล็กกว่า ไม่ผสมแกลบข้าวและเนื้อเผาแกร่งอยู่บนฐานอาคารที่สร้างด้วยหินเรียงอย่างประณีตอีกชั้นหนึ่ง น่าจะเป็นสถูปเจดีย์
อาคารฐานหินก้อนขนาดใหญ่เรียงเป็นฐานอาคาร ด้านบนน่าจะสร้างอาคารก่อด้วยอิฐ
มีคำบอกเล่าว่าพระพุทธบาทจำลองเขาดีสลักทำจากหินทรายพบบริเวณนี้
และยังพบพระถ้ำเสืออยู่ด้านใต้แผ่นหินพระบาทด้วย
ภาพพระถ้ำเสือที่พบใต้แท่นพระบาท วัดเขาดีสลัก พิมพ์ใหญ่ หูบายศรี (ซ้าย)
ภาพพระถ้ำเสือที่พบใต้แท่นพระบาท วัดเขาดีสลัก พระพิมพ์ดินเผาปางมารวิชัย มีหู (ขวา)
อย่างไรก็ตาม ที่เขาดีสลักนี้ คุณมนัส โอภากุลได้เขียนบทความเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ว่าพบ พระพุทธบาทจำลองทำจากหินที่ยอดเขาดีสลัก ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่บนอาคารที่สร้างด้วยหินเรียงบนยอดเขานี้ นอกจากนั้นเมื่อสำรวจภาพข้อมูลที่เป็นสมบัติส่วนตัวของคุณมนัส โอภากุล เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ นี้พบว่า มีภาพพระถ้ำเสือที่เขียนกำกับว่า พบภายใต้แท่นหินพระพุทธบาทจำลอง แสดงว่าเมื่อพบพระพุทธบาทที่บนอาคารบนยอดเขานั้น ภายในกรุแท่นหินก็พบพระพิมพ์แบบพระถ้ำเสือบรรจุอยู่ด้วย จึงมีโอกาสเป็นไปได้มากที่พระถ้ำเสือจะเป็นสิ่งของร่วมสมัยกับรอยพระพุทธบาท ซึ่งได้รับการประเมินอายุจากนักวิชาการหลายท่านโดยเฉพาะอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมว่าอยู่ในช่วงทวารวดีตอนปลายต่อเนื่องกับสมัยลพบุรีในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
อย่างไรก็ตาม ที่มาของการพบรอยพระพุทธบาทนี้มีหลายกระแส บ้างก็ว่าถูกนำไปไว้ที่วัดมหาธาตุ สุพรรณบุรีแล้วนำมาคืนบ้าง บ้างก็บอกว่าไม่เคยได้ยินเรื่องดังกล่าว บ้างก็ว่ามีการพบนานมาแล้วก่อน พ.ศ. ๒๕๓๓ แต่จะอย่างไร การพบรอยพระพุทธบาทนี้สัมพันธ์กับรูปแบบของการสร้างอาคารบนยอดเขาที่อยู่ในยุคหลังลงมาจากการสร้างศาสนสถานเช่นนี้และบรรจุกรุพระในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ เช่นที่โบราณสถานพุหางนาคหรือเขาทำเทียมซึ่งอยู่ในช่วงทวารวดีตอนปลายหรือในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖
นอกจากนี้ยังมีการพบพระถ้ำเสือจำนวนมากจากเขาดีสลัก ในถ้ำที่เป็นโพรงขนาดเล็กๆ ซึ่งคุณมนัส โอภากุลได้เขียนเล่าถึงการแตกกรุครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายที่เขาดีสลักไว้ในบทความเรื่องเดียวกัน และปรากฏแพร่หลายมากทีเดียวในหมู่ผู้สะสมในทุกวันนี้
‘เขาวง’ และ ‘เขาพระ’ มีความสับสนพอสมควรที่จะค้นหาว่า สถานที่ของกรุเขาวงนั้นคือที่ใด และกรุเขาพระนั้นคือที่ใด บริเวณนี้แผนที่ในอดีตเรียกว่า เขาพระ เป็นภูเขารูปกรวยโดดเด่นอยู่ทางด้านหน้าของแนวเขาด้านหลังที่ในแผนที่เก่าเรียกว่า ‘เขาวง’ เพราะน่าจะเป็นแนวเทือกเขาที่เป็นแนวยาวล้อมพื้นที่ราบและเขาพระด้านหน้าไว้ จนทำให้ ‘ภูมิทัศน์ของเขาพระ’ โดดเด่นเป็นประธานในกลุ่มเทือกเขาทางตอนเหนือในพื้นที่ในรอยต่อกับอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรีและอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันคือที่ตั้งของวัดเขาวง ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง
บริเวณโดยรอบเขาพระหรือที่เรียกกันภายหลังว่า ‘เขาวง’ โดยมีวัดเขาวงตั้งขึ้น
เป็นวัดมาหลายปีแล้ว พบกรุพระถ้ำเสือจำนวนมาก โดยเรียกกันทั่วไปว่า
กรุพระถ้ำเสือเขาพระ (บ้านจร้า) และกรุพระถ้ำเสือเขาวง และทั้งสองแห่งได้รับ
การบอกเล่าว่าอยู่บริเวณภูเขาเดียวกันทางด้านหน้าของแนวเทือกเขาวง
นักสะสมบางท่านให้ข้อมูลว่า พระถ้ำเสือซึ่งพบจาก ‘กรุเขาพระ’ มีจำนวนมากกว่าสองพันองค์ และให้เขาพระนั้นอยู่ในบริเวณถ้ำด้านล่าง ส่วน ‘กรุเขาวง’ อยู่ในถ้ำพระพุธที่อยู่เหนือขึ้นไปอีกราว ๓๐ เมตร แต่อย่างไรก็ตาม ที่นี่คือ ‘เขาพระ’ ในอดีตที่เป็นประธานของแนวเทือกเขาแถบนี้
ฐานอาคารขนาดใหญ่บนยอดเขา ทำจากหินก้อนใหญ่ตัดเป็นชิ้นแล้วเรียงอย่างมีระเบียบ
น่าจะเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มศาสนสถานบนเขาในรุ่นหลังจาก
ยุคทวารวดีตอนปลาย ศาสนสถานบนเขาเหล่านี้ชี้ค่อนข้างชัดว่าเป็นอาคาร
ในยุคสมัยลพบุรีจนถึงสมัยอู่ทอง/สุพรรณภูมิ
ภาพเขียนจากสีแดงและสีขาว-เทา รูปธรรมจักรบริเวณภายในถ้ำ
และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ คุณมนัส โอภากุล ชี้ว่าบนยอดเขามีถ้ำเล็ก ผนังถ้ำมีภาพเขียนสีเป็นรูปดอกไม้และธรรมจักร สันนิษฐานว่าเป็นภาพเขียนสียุคสมัยทวารวดีที่มีความหมายถึงอริยสัจสี่และมรรคแปด เมื่อติดตามไปสำรวจภายในถ้ำพบว่า เป็นถ้ำขนาดเล็กและมีร่องรอยการเกลาปากถ้ำและพื้นผนังถ้ำให้กว้างขึ้นและเรียบขึ้น ถ้ำนี้อาจจะเคยบรรจุพระพุทธรูปมาก่อน อันอาจจะเป็นร่องรอยของการไว้ชื่อว่า ‘เขาพระ’ มาแต่อดีตนั่นเอง ภายในมีการเขียนสีด้วยลายเส้นสีแดงจากแร่เฮมาไทต์และแร่สีขาวที่อาจทำมาจากดีบุก เป็นรูปธรรมจักรขนาดต่างๆ พบผนังถ้ำทั้งเพดานด้านบนและด้านข้าง ทั้งชัดเจนและลบเลือน นับได้น่าจะไม่ต่ำกว่า ๘-๑๐ วง
สิ่งที่สำคัญอย่างมากของ ‘เขาพระ’ ก็คือ บนยอดเขามีฐานอาคารทำด้วยหินก้อนใหญ่ เรียงอย่างประณีต ขนาดราว ๑๑ x ๒๓ เมตร บริเวณตรงกลางมีร่องรอยของฐานอิฐและกระเบื้องกาบกล้วยเนื้อแกร่งเหลืออยู่ไม่มากนัก ไม่แน่ใจว่าเป็นฐานของพระสถูปหรือไม่ หากใช่ก็น่าจะมีรูปลักษณ์และระเบียบแบบแผนไม่ต่างไปจากโบราณสถานตั้งแต่ ‘เขาพุหางนาค’ ที่มีอายุค่อนข้างเก่าที่สุดในกลุ่มโบราณสถานบนภูเขาคือในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ บนยอด เขาทำเทียม ที่มีร่องรอยของพระพิมพ์อาจจะอยู่ในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖
ส่วนกลุ่มโบราณสถานที่ เขาพระหรือวัดเขาวง นี้ น่าจะอยู่ในช่วงสมัยเดียวกับ โบราณสถานที่เขาดีสลัก ซึ่งกำหนดอายุไว้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ สืบเนื่องต่อมาในภายหลังอย่างชัดเจนกับแนวคิดของการจาริกแสวงบุญตามแนวเทือกเขาเลียนแบบการจาริกแสวงบุญสู่ ‘ปุษยคีรี’ จากรัฐโอดิชาหรือกลิงคะโบราณที่ปรากฏในอาณาบริเวณเมืองอู่ทองในช่วงยุคปลายสมัยทวารวดีที่ร่วมสมัยกับยุคศรีวิชัยที่ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาแบบมหายานแบบปาละที่แพร่เข้ามาสู่ลุ่มเจ้าพระยาและเข้าสู่ภาคอีสานในช่วงนี้อย่างชัดเจน
ซึ่งการพบการเขียน ภาพธรรมจักรและตราสัญลักษณ์คล้ายรูปธรรมจักร เขียนด้วยสีแดง (จากแร่เฮมาไทต์) และดำ (ที่น่าจะทำจากแร่แมกนีไทต์) นั้น พบเป็นเอกลักษณ์ในบริเวณถ้ำในเขตจังหวัดตรัง เช่นที่ ‘ถ้ำวัดเขาพระ’ ตำบลคลองปาง อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง พบภาพเขียนสีแดงบริเวณเพิงผาหน้าถ้ำซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายฝีมือช่างแบบที่เรียกว่าพระไชยาหรือ ‘ พระข้อมือหัก’ ที่เป็นอัตลักษณ์สำคัญของพระพุทธรูปที่แพร่หลายในเขตไชยา นครศรีธรรมราชและตรังช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ที่ผนังถ้ำเหนือเศียรพระพุทธรูปมีลายเขียนเป็นรูปวงกลมคล้ายดอกบัว มีอักษรไทยอักษรถ้ำเขาสามบาตร แต่ลบเลือนมากจนจับใจความไม่ได้
และตั้งอยู่ไม่ไกลจากกลุ่มพระพิมพ์ที่บรรจุไว้ตามถ้ำที่เขากอบและเขานุ้ย ซึ่งเป็นพระพิมพ์แบบอิทธิพลปาละหรือที่เรียกว่า พระพิมพ์แบบศรีวิชัย พระพิมพ์จากเขานุ้ยในอำเภอห้วยยอดนี้ บางชิ้นพบในรูปแบบเช่นเดียวกับพระพิมพ์ที่เขาทำเทียม อู่ทอง ส่วนพระดินเผาที่พบจากถ้ำเขากอบเป็นพระพิมพ์แบบลพบุรี แม้จะทำพิมพ์ไม่เหมือนปางที่พบในเขตภาคกลาง แต่ก็เห็นชัดเจนว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันในรูปแบบที่เรียกว่า พระพิมพ์แบบลพบุรี นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปหินทรายแดงขนาดเล็กที่ถูกบรรจุไว้ตามถ้ำเขากอบนี้ มีลักษณะแบบพระข้อมือหักที่เป็นพระในรูปลักษณ์แบบไชยา บริเวณเขานุ้ย เขากอบ เขา- ปินะ ในอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เป็นแหล่งที่พบแร่ดีบุกและน่าจะมีการผลิตดีบุกมาแต่โบราณ เป็นเขาหินปูนต่อกันที่มีเพิงผาถ้ำ [Shelter] ขนาดใหญ่ริมลำน้ำตรัง ซึ่งแตกต่างไปจากกลุ่มเขาที่อู่ทอง ซึ่งเป็นเขาหินผสมหลากหลาย และมีเพียงโพรงถ้ำขนาดเล็กๆ เป็นส่วนใหญ่อีกแห่งที่สำคัญคือบริเวณ ‘ถ้ำตรา’ เขาหินปูนในตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ภายในถ้ำบริเวณเพดานมีภาพคล้ายตราประทับรูปวงกลมและมีลวดลายแต่ค่อนข้างลบเลือน ทั้งถ้ำเขาพระและถ้ำตรา อยู่ในเส้นทางข้ามเขาบรรทัดออกสู่พื้นที่ในจังหวัดพัทลุงได้ และในเขตพัทลุงนี้มีการพบการวาดภาพเป็นเรื่องราวลงบนผนังถ้ำที่เป็นเพิงผาหินปูนในยุคประวัติศาสตร์หลายแห่ง
การเขียนภาพดวงตราคล้ายธรรมจักร ที่ผนังเผิงผาของวัดถ้ำเขาพระ อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ซึ่งมีตำนาน
นางเลือดขาวปรากฏอยู่ โดยตำนานนี้อิงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘
การเปรียบเทียบไปยังถ้ำเขานุ้ยและเขากอบในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นเขตการทำเหมืองแร่ดีบุกชัดเจนและมีอยู่ติดกับเส้นทางคมนาคมจากชายฝั่งอันดามันสู่ชายฝั่งอ่าวไทย การพบพระพิมพ์แบบมหายานปาละ พระพิมพ์แบบที่คล้ายพระพิมพ์ลพบุรี พระพุทธรูปแบบไชยาที่เป็นพระแบบข้อมือหัก การเขียนภาพสีแดงรูปธรรมจักรหรือตราเป็นวง แบบแผนเหล่านี้ล้วนปรากฏอยู่ที่อาณาบริเวณเมืองอู่ทองเช่นกัน
จากภาพถ่ายสมบัติส่วนตัวของคุณมนัส โอภากุล ที่ระบุว่าเป็น ‘พระถ้ำเสือพิมพ์ใหญ่แบบเก่า’ เป็นพระปางมารวิชัย เห็นชัดเจนเลยว่ามีรูปแบบของ ‘พระข้อมือหัก’ แบบที่พบในบริเวณกลุ่มเมืองไชยาและนครศรีธรรมราช และเรื่อยมาจนถึงเมืองเพชรบุรี ราชบุรีทีเดียว และที่น่าแปลกใจคือพบว่ารูปแบบพระข้อมือหักเช่นนี้เก็บรักษาไว้ในระเบียงคดของปราสาทนครวัดเป็นกลุ่มใหญ่ด้วยซึ่งต้องศึกษาถึงเหตุผลนี้อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต
‘พระถ้ำเสือ’ จำนวนมากคือคติการบรรจุพระที่ผลิตจากพิมพ์ทำอย่างหยาบๆ เพื่อทำจำนวนมากๆ เป็นประกอบการเดินทางจาริกตามขนบการเดินทางสู่ ‘ปุษยคีรี’ และต่อมาคือการรับคติเรื่องการจาริกแสวงบุญเพื่อมาไหว้พระบาทที่เขาดีสลักต่อมาในช่วงสมัยลพบุรี ซึ่งพระบาทที่เขาดีสลักนี้รับอิทธิพลรูปแบบความเป็นตัวเองมาจากสมัยทวารวดีตอนปลายนี้อย่างแจ่มชัด และน่าจะส่งอิทธิพลให้แก่พระพุทธบาทหินทรายซึ่งพบที่นครวัดด้วย
การบรรจุพระจำนวนมากๆ แม้จะเป็นพระพิมพ์แบบท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะก็ตาม แต่ต้องใช้อานิสงส์ความเพียรไม่น้อยในการบรรจุแต่ละคราว แต่ละเขาแต่ละเทือกเขา เป็นการสืบพระศาสนาให้แก่ผู้มีความเพียรและมีฐานะที่สามารถทำพระพิมพ์ดินดิบครั้งละมากๆ ได้ และแนวเขาของเมืองอู่ทองนี้จึงมีการอยู่อาศัยใช้งานสืบเนื่องมาจากสมัยทวารวดีจนถึงสมัยลพบุรีและน่าจะถึงสมัยสุพรรณภูมิ/อโยธยาในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง และเห็นได้ชัดในการตั้งชุมชนที่สอดรับกับเส้นทางการเดินทางเพื่อการรับส่งสินค้าของป่าโดยเฉพาะแร่ตะกั่วจากต้นน้ำแม่กลองในเขตเทือกเขาทางตะวันตก
‘พระถ้ำเสือ’ จึงสืบเนื่องเป็นผลมาจากคติการจาริกแสวงบุญในการเดินทางสู่‘ ปุษยคีรี’ ศาสนสถานบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองอู่ทอง และการขยายตัวไปตามแนวเขาทางด้านเหนือที่สอดรับกับการเกิดขึ้นของบ้านเมืองใหม่ๆ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ ซึ่งในที่สุดก็เกิด ‘ เมืองสุพรรณภูมิ’ ริมแม่น้ำสุพรรณบุรีของกลุ่มชาวสยาม
สันนิษฐานว่า ‘พระถ้ำเสือ’ ที่มีอัตลักษณ์ถือกำเนิดในช่วงเวลานี้
บรรณานุกรม
มนัส โอภากุล. พระถ้ำเสือเมืองสุพรรณ, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๔ , ฉบับที่ ๕, มีนาคม ๒๕๓๖
มนัส โอภากุล, อีแปะจีน ใต้พื้นดินเมืองสุพรรณ, ศิลปวัฒนธรรม. กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙
อดุลย์ ฉายอรุณ. พระถ้ำเสือ มรดกของสุวรรณภูมิ, ๒๕๕๑