ผู้เข้าชม
0

ในดินแดนแห่งเจนลีฟู นครรัฐที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สู่ปัญหาทางประวัติศาสตร์ที่หาทางออกไม่เจอของสังคมไทย

ก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกอยู่ในช่วงเวลาที่การค้าขายแลกเปลี่ยนทรัพยากรแร่ธาตุและของป่าจากเทือกเขาสูงจำพวกแร่ดีบุก ตะกั่ว เงิน และเหล็ก เจริญงอกงามชัดเจนแล้ว บ้านเมืองในชุมชนต่าง ๆ ก็น่าจะสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนทวารวดีที่เรียกว่ายุคฟูนัน เช่นที่เมืองอู่ทองและอาณาบริเวณโดยรอบ เช่น บริเวณดอนตาเพชร นาลาว และสวนแตงในลุ่มน้ำจระเข้สามพันและท่าว้า
6 มีนาคม 2568


ในดินแดนแห่งเจนลีฟู 
นครรัฐที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
สู่ปัญหาทางประวัติศาสตร์ที่หาทางออกไม่เจอของสังคมไทย

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

หน้าที่ 1/18

ก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกอยู่ในช่วงเวลาที่การค้าขายแลกเปลี่ยนทรัพยากรแร่ธาตุและของป่าจากเทือกเขาสูงจำพวกแร่ดีบุก ตะกั่ว เงิน และเหล็ก เจริญงอกงามชัดเจนแล้ว บ้านเมืองในชุมชนต่าง ๆ ก็น่าจะสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนทวารวดีที่เรียกว่ายุคฟูนัน เช่นที่เมืองอู่ทองและอาณาบริเวณโดยรอบ เช่น บริเวณดอนตาเพชร นาลาว และสวนแตงในลุ่มน้ำจระเข้สามพันและท่าว้า 

ขณะเดียวกันในช่วงเวลานี้เกิดนครรัฐริมเส้นทางน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง เริ่มมีเครือข่ายนครรัฐเป็นสหพันธรัฐ เช่น สุพรรณภูมิ แพรกศรีราชา สุโขทัย นครศรีธรรมราชที่รวมเอาสทิงพาราณสี (ในคาบสมุทรสทิงพระ) และมัณฑละละโว้ (หลอฮกในจดหมายเหตุจีน) ที่มีนครรัฐละโว้ อโยธยา ที่มีร่องรอยความสัมพันธ์กับนครรัฐบ้านเมืองบนที่ราบสูงโคราช เช่น พิมายและบ้านเมืองระหว่างลำน้ำมูล - พนมดงเร็กมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ 

ซึ่งน่าจะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติกับเหล่ากษัตริย์ผู้ปกครอง การแลกเปลี่ยนเชื่อมต่อทั้งทางศาสนาความเชื่อ การขนส่งสินค้า เช่น เครื่องถ้วยแถบกลุ่มเตาบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ การผลิตภาชนะดินเผาคุณภาพสูงโดยเทคโนโลยีการผลิตจากจีนตอนใต้ เช่นที่เตาบ้านบางปูน ริมแม่น้ำสุพรรณบุรี ตอนเหนือของเมืองสุพรรณภูมิ

ความเชื่อที่ฟื้นคืนด้วยข้อความคำเดียวในจารึกหลักหนึ่งอันห่างไกล

แม้ศาสตราจารย์เซเดส์จะเขียนบทความร่วมกับศาสตราจารย์บวส เซอลีเย่ ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ โดย ศ.มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล แปลในชื่อ ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยความเห็นของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ในงานชิ้นนี้ก็เปลี่ยนไปว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ไม่ใช่โอรสของกษัตริย์นครศรีธรรมราช แล้วยังระบุว่าศิลปะแบบลพบุรีนั้นสืบเนื่องมาจากศิลปะแบบทวารวดี ดังนั้นอิทธิพลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ที่ถูกเข้าใจผิดมาโดยตลอดและยกให้ละโว้เป็นเมืองขึ้นของกัมพูชาเทศะ อิทธิพลทางศิลปกรรมต่างๆ ในละโว้หรือลพบุรีรวมทั้งศิลปะแบบลพบุรีล้วนได้รับมาจากกัมพูชาก็แปรเปลี่ยนไปนานมากแล้ว 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการในรุ่นปัจจุบันได้พบหลักฐานจารึกที่กล่าวถึงการทำบุญและซื้อที่ดินและกัลปนาของแม่ทัพที่น่าจะเคยไปตีเมืองละโว้มาก่อน .. ๑๕๕๗ ยิ่งทำให้ความเชื่อชั้นหลังนี้กระพือขึ้นมาอีกในทุกวันนี้ 

 

ว่าบ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยา โดยเฉพาะเมืองละโว้เป็นอาณานิคมโดยชอบธรรมของพระเจ้าสุริยวรมันที่ โดยทวารวดีที่มีเมืองละโว้ เป็นตัวแทนนี้คือทวารวดี อาณาจักรแห่งลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมด นอกจากความเชื่อจะกลับคืนแล้ว ยังครอบคลุมกว้างๆ แทบทุกพื้นที่ไปเสียอีกและเผยแพร่ทางบทความในหนังสือและบทความทางออนไลน์เป็นความเชื่อหลักกันในทุกวันนี้

ต้นกำเนิดของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ นั้น นักวิชาการ หลังยุคศาสตราจารย์เซเดส์ ต่างสรุปว่าน่าจะมีรากฐานมาจากทางฝั่งตะวันออกของเมืองพระนคร ทางลุ่มน้ำโขง ไม่ใช่มาจากนครศรีธรรมราชหรือละโว้ ส่วนหลักฐานจารึก K.1198/Ka.18 พบที่ ช่องจอม - โอเสม็ด (ช่องเขาข้ามพรมแดนระหว่างอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ และอำเภอสำโรง จังหวัดอุดรเมียนเจย) อายุราว พ.ศ. ๑๕๕๗ ซึ่งเป็นช่องเขาสำคัญ มีทิศทางไปยังบ้านเมืองแถบสุรินทร์และศรีสะเกษ 
 


ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์
[Coedès George ; 1886-1969] 

หน้าที่ 2/18


จารึกที่กล่าวถึง พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑, K.1198/Ka.18,
in Khmer and Sanskrit, at the National Museum of Cambodia. Photograph by Ian Glover.
[THE FALL OF DVĀRAVATĪ AS MENTIONED IN THE KHMER INSCRIPTION K.1198, 2020]


ซึ่งในจารึกกล่าวว่าบริเวณนี้เรียกว่า มัธยประเทศ ตามจารึก ชี้ให้เห็นการแผ่อิทธิพลผ่านขุนนางหรือแม่ทัพใกล้ชิดชื่อ ‘ศรีลักษมีปติวรมัน’ [Lakmipativarman] ผู้มีพื้นเพต้นตระกูลอยู่ทางแถบตะวันออกในลุ่มน้ำโขง โดยผู้เขียนบทความตีความโศลกที่ ๒๓ กล่าวถึงสงครามทางตะวันตก และพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ตั้งให้ ศรีลักษมีปติวรมัน เป็นผู้ปกครอง Rāmanya ที่น่าจะเป็น Rāmañña แล้วตีความว่ารามัญน่าจะคือชาวมอญ และชาวมอญคือชาวทวารวดี และควรอยู่ที่ละโว้ เพราะมอญที่พม่า แม้จะอยู่ทางตะวันตกแต่ก็ไกลเกินไป จึงควรอยู่ที่ละโว้ดังกล่าว

 

และตีความอีกว่าละโว้ก็เท่ากับอาณาจักรทวารวดี ดังนั้นการตีเมืองละโว้ก็คงเป็นการตีเมืองทวารวดีเพราะเป็นเมืองมอญ นี่คือจุดสิ้นสุดของทวารวดี 

และโศลกที่ ๓๗ นิยมนำมาอธิบายเมืองละโว้ในรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ก็คือ กลียุคทำให้ละโว้ถูกทำลายเสมือนป่าดงดิบ ความสวยงามหายไปเต็มไปด้วยนักล่า เช่น เสือ ทำให้ดูน่ากลัวกว่าสถานที่เผาศพ (U-tain Wongsathit, Kangvol Katshima, and Chatupohn Khotkanok. The fall of Dvaravati as mentioned in the Khmer inscription K.1198 in Defining Dvravati, 2020)

ทั้งที่จารึกพบที่ละโว้ก่อนหน้านั้นกล่าวถึงการประนีประนอมความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ทั้งพราหมณ์และพุทธมหายานในราวสิบปีต่อมา ไม่มีจารึกหลักใดกล่าวถึงการรบฆ่าฟันอย่างนองเลือดจนทำให้บ้านเมืองร้างที่ปรากฏในโศลกเพียงสองสามคำ และมีแนวโน้มของการแต่งความเรียงเกินกว่าจะนำไปเป็นข้อเท็จจริง 

ตลอดยุคสมัยของเมืองพระนครไม่มีจารึกใดเอ่ยถึงการสงครามทางฝั่งตะวันตกในลุ่มเจ้าพระยาหรือเป็นสงครามใหญ่เทียบเท่ากับสงครามกับจามปา เฉพาะสงครามกับจามปาที่เริ่มตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และเมืองพระนครเพลี่ยงพล้ำถูกจามปายึดได้หลายครั้งและมีความขัดแย้งต่อเนื่องมาโดยตลอด จนสุดท้ายปราบกลับคืนเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากไดเวียดช่วงรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  

คำ Rāmanya ในจารึกเป็นบาลี ท่านตีความว่าควรเป็นคำเดียวกับ Rāmañña ที่จารึกก่อนเมืองพระนครเช่นที่พบจากปราสาทบาสัคใกล้กับสวายเรียง [Prasat Bassac, K.71]  เขียนชื่อทาสคนหนึ่งโดยมีคำ ramañ  เป็นชื่อของชาติพันธุ์มอญ 

เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่าคำว่า rmeñ / รเมง เก่าที่สุดพบในจารึกของพระเจ้าจันสิตถาแห่งพุกามเมื่อ พ.ศ. ๑๖๔๕ ซึ่งคำมอญเก่าคือ rmeñ /รเมง คำมอญสมัยกลางว่า rman / รมัน น่าจะรับมาจากคำจากภาษาบาลีทางหริภุญชัย หลังรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ เกือบร้อยปี

ดังนั้นการตีความง่ายๆ ว่า บ้านเมืองชื่อ Rāmanya คือบ้านเมืองชาวมอญที่ละโว้ก็ดูจะเกินหลักฐานไปมาก รามัญคือมอญและหมายถึงทวารวดีทั้งหมดถูกขุนนางแม่ทัพใหญ่จากเมืองพระนครตีแตกจนบ้านเมืองร้างแต่งเป็นโศลกได้เทียบกับกลียุคเช่นนั้น และก่อน .. ๑๕๕๗ คือจุดสิ้นสุดของทวา-รวดีและนิยามให้ทวารวดีคือละโว้เข้าไปอีก สำหรับผู้เขียนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้

หน้าที่ 3/18

ทั้งที่การวางตำแหน่งทวารวดีนั้น หมายถึงกลุ่มนครรัฐใหญ่น้อยทั้งลุ่มเจ้าพระยา ไม่ใช่เลือกเอาเฉพาะเพียงเมืองละโว้มาเป็นตัวแทนเท่านั้น เป็นปัญหาในการตีความเรื่องราวซับซ้อนแบบไม่คิดอะไรมาก อีกทั้งช่วงเวลานี้ยังคงมีการค้าที่เฟื่องฟูขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง เริ่มเกิดบ้านเมืองใหญ่น้อยขึ้นตามเส้นทางเดินทางภายในมากมาย ระบบเศรษฐกิจที่มีเครือข่ายการผลิตเพื่อส่งออกเช่นนี้ไปด้วยกันไม่ได้กับการตีความจากจารึกแบบหลวมๆ โดยสรุปว่า ละโว้ถูกทำลายและกลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์ผ่านขุนนางจากเมืองพระนคร สภาพปกติของบ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยาเป็นแบบหมดยุคหนึ่งเข้าสู่ยุคใหม่เพราะถูกทำลายอย่างเป็นเอกภาพดังข้อเสนอเช่นนี้ได้ไหม จึงเห็นควรวิเคราะห์ตั้งคำถามเอากับสมมติฐานที่มีปัญหาดังกล่าว

ทั้งการเกิดขึ้นและมีอยู่ของเมืองพระนครไม่ได้สมบูรณ์หรือราบรื่นเป็นเอกภาพแต่อย่างใด กลับมีปัญหาทางการเมืองทางฟากฝั่งตะวันออกกับอาณาจักรจามปาที่มีบ้านเมืองในระบบมัณฑละหลายแห่งตลอดชายฝั่งทางเหนือจนถึงส่วนกลางของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน

ความหลงใหลในอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ ต่อบ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยากำเนิดจากประวัติศาสตร์จากจารึกที่ถูกตีความโดยไม่คำนึงบริบทแวดล้อม

จากป้ายข้อมูลเป็นทางการที่ปักไว้บริเวณโบราณสถานหลายแห่งในภูมิภาคตะวันตก อันเนื่องจากข้อสันนิษฐานจากนักวิชาการชาวฝรั่งเศส ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ เป็นต้นทาง และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะใช้อ้างอิงเป็นกรอบการวิเคราะห์รูปแบบวัตถุและโบราณสถานมาตลอดจนถึงวันนี้ 

จารึกปราสาทพระขรรค์ พ.ศ. ๑๗๓๔ มีเนื้อความสรรเสริญพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ การสนับสนุนพุทธศาสนาแบบมหายาน บางบทกล่าวถึงให้นำพระชัยพุทธมหานาถ ๒๓ องค์ไปประดิษฐานตามตำบลหรือเมืองต่างๆ ที่เซเดส์ระบุว่าเป็น เมืองลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และเมืองสิงห์ ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในเขตแดนประเทศไทย โดยเสนอว่าคนไทยคงได้ดัดแปลงไปแล้ว 

และยังขยายความ เป็นการแสดงออกถึงความกลัวเพราะเชื่อถือในบางสิ่งบางอย่างและยังดูเป็นการประหลาดพอใช้  โดยเหตุนี้จึงยืนยันอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าแผ่นดินและแสดงถึงการวางรากฐานในฐานะอำนาจทางศาสนาของพระองค์ด้วย(ศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ค้นพบในบริเวณ

ปราสาทพระขรรค์เมื่อ .. ๒๔๘๒ โดยศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ เขียนบทความชื่อ La stèle du Práh Khằn d’Ankor, Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient Année 1941, p. 255-302 หรือเมื่อ .. ๒๔๘๔ แปลโดย สุภรณ์ อัศวสันโสภณ ในประชุมศิลาจารึกภาคที่ , สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๓ กล่าวว่าจารึกด้วยภาษาสันสกฤตแต่งเป็นโศลกต่างๆ ๑๗๙ บท เมื่อราว .. ๑๗๓๔)

ประเด็นสำคัญคือการตีความข้อมูลจากจารึกที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ถวายพระชัยพุทธมหานาถแก่เมืองต่างๆ มาเสนอว่า เมืองที่ได้รับพระนั้นอยู่ในอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์แห่งกัมพูชา โดยสันนิษฐานจากชื่อที่คล้ายคลึงกับบ้านเมืองปัจจุบันและศาสนสถานที่ได้รับอิทธิพลจากเมืองนครธมในสมัยรัชกาลนั้นเป็นสำคัญ
 


ป้ายที่ชุมชนสระโกสินารายณ์ ที่เลือกที่จะเขียนชื่อแหล่งโบราณสถานตามการสันนิษฐาน
ของนักวิชาการบางกลุ่มให้เป็นเมืองศัมพูกปฏนะที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์

 

หน้าที่ 4/18

แต่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลุ่มเจ้าพระยามีกลุ่มนครรัฐที่เกิดขึ้นและกระจายเป็นชุมชนขนาดใหญ่และน้อยในเส้นทางเศรษฐกิจการค้าและเส้นทางการเดินทางภายในทั้งทางน้ำและทางบกซึ่งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา ซึ่งสัมพันธ์กับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของป่าพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่ถือเป็นสินค้าป่าเพื่อส่งออกมาทุกยุคสมัยดังที่ได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสุวรรณภูมิมาแต่ยุคพุทธกาล และเป็นชุมชนบ้านเมืองที่เจริญอยู่ก่อนหน้าและหลังจากรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  โดยชัดเจน

กรณีการขุดค้นที่กำแพงเมืองเพชรบุรี ซึ่งเชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พบเศษภาชนะสามารถประเมินอายุได้ ๓ กลุ่ม คือจากเตาป่ายาง-เกาะน้อย ศรีสัชนาลัย, เตาบางปูน สุพรรณบุรีและเตาจากฝูเจี้ยนในช่วงราชวงศ์หยวนไปแล้ว
 


กำแพงแก้ววัดมหาธาตุ ราชบุรี ที่เลียนแบบกำแพงที่ปราสาทพระขรรค์
และป้ายทุกแห่งการท่องเที่ยวแม้แต่การจัดโดยสำนักพิมพ์ที่เสนองาน
ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี เสนอว่าที่นี่คือเมือง ศรี ชยราชปุระ

และพื้นที่บริเวณนี้ไม่พบเครื่องถ้วยแบบซ่งใต้เลยในชั้นก่อนหน้านี้ ซึ่งแสดงถึงการไม่พบเครื่องถ้วยในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และชุมชนเก่าใกล้เคียงที่เป็นชุมชนในทางการค้าเช่น บ้านยี่สารชั้นดินสุดท้ายก็พบเป็นเครื่องถ้วยศรีสัชนาลัยสุโขทัยร่วมกับเครื่องถ้วยในราชวงศ์หยวน ไม่มีเครื่องถ้วยจากราชวงศ์ซ่งแต่อย่างใด

โดยมีบันทึกในเอกสารจีนว่ามีเครือข่ายชุมชนกว่า ๖๐ แห่งที่ขึ้นตรงต่อเจ้าผู้ครองนครรัฐ ผู้ซึ่งสามารถส่งราชทูตไปยังราชสำนักซ่งใต้ ๓ ครั้งในช่วงเวลา ๕ ปี ในช่วง พ.ศ. ๑๗๔๓-๑๗๔๘ ในขณะที่บ้านเมืองอื่นๆ เช่น ละโว้ กัมพูชา ศรีวิชัย ตามพรลิงค์ เป็นต้น ราชสำนักซ่งให้ราชทูตจากบ้านเมืองทางใต้หยุดเดินทางมาส่งสารแสดงความเคารพนานแล้ว 

มีเพียงนครรัฐแห่งเดียวในดินแดนโพ้นทะเลทางใต้ที่สามารถส่งราชทูตและเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักจีนในช่วงเวลานี้ได้ นครรัฐแห่งนั้นชื่อเจนลีฟู

เจนลีฟูบ้านเมืองกลางลุ่มเจ้าพระยาในจดหมายเหตุจีนราชวงศ์ซ่ง และจากการวิเคราะห์ของ ศาสตราจารย์ โอ.ดับเบิลยู โวลเตอร์ส และอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

เอกสารทางราชการสมัยราชวงศ์ซ่งที่เรียกว่า ซ่งฮุยเหยา [Sung hui-yao chi-kao] เป็นเอกสารสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยราชวงศ์ซ่งตั้งแต่ พ.ศ. ๑๕๐๓ - ๑๘๒๒ น่าแปลกที่มีบันทึกรายละเอียดและธรรมเนียมปฏิบัติการรับราชทูตจากนครรัฐเล็กๆ ในลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งจีนมองว่าเป็นกลุ่ม หนานหมาน  หรือบ้านเมืองป่าเถื่อนทางใต้มาโดยตลอด

ธรรมเนียมการส่งทูตจากบ้านเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถวายเครื่องราชบรรณาการและนำพระราชสาส์นแก่พระจักรพรรดิจีนเป็นแบบรัฐการค้าที่ปกติทำกัน ๓ ปีต่อครั้ง แม้ความเป็นจริงจะมีความพยายามส่งกันแทบทุกปี ถือเป็นการแสดงความสวามิภักดิ์เพื่อความสะดวกในการค้าตามเมืองท่าทางใต้ของทั้งราชสำนักและพ่อค้าต่างๆ รู้จักกันในนาม จิ้มก้อง 

ในราวพุทธศตวรรษที่ ๔ สมัยราชวงศ์ฮั่น มีบันทึกการเดินทางเพื่อทำการค้าผ่านคาบสมุทรสยามไปยังชายฝั่งทางตอนใต้ของอินเดีย ในช่วงเวลานั้นคงใช้เรือของท้องถิ่นและใช้เส้นทางการเดินทางข้ามคาบสมุทรสยาม-มลายู ต่อมาจึงเป็นยุคราชวงศ์ถังตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕ การค้าทางทะเลจากจีนในยุคนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อบ้านเมืองแบบรัฐโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งแผ่นดิน

หน้าที่ 5/18

ภายใน คาบสมุทร และหมู่เกาะ หลังจากนั้นก็เกิดความขัดแย้งในจีนยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐในระยะเวลาราวห้าสิบปี

ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่งตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ บ้านเมืองในจีนพัฒนาทางเทคโนโลยี สร้างเส้นทางเดินทางที่ขยายทั่วถึงนำเอาสินค้าออกแพร่หลายทั้งในเมืองจีนและการค้าโพ้นทะเล แม้จะมีความวุ่นวายในบ้านเมืองกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ แต่ก็สามารถพัฒนาให้มีความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจการค้าระบบการเงินสูงสุด มีเทคโนโลยีประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ การเหมืองแร่ เช่น เหล็ก ทองแดง ทองคำ เงิน ผลิตเป็นทองคำและเงินแท่งรวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็กเพื่อการเกษตร ชีวิตประจำวันและการสงคราม

ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ถือเป็นความรุ่งเรืองของการทำเหมืองแร่ที่ควบคุมโดยรัฐอย่างแท้จริง และอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งออกเหรียญอีแปะทองแดงของจีนถูกห้ามส่งออกให้กับพ่อค้าบางแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งให้ยุติการค้าแบบรัฐบรรณาการกับบ้านเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคราชวงศ์ซ่งไปในที่สุด

โดยเฉพาะสินค้าส่งออกผ้าทอบางประเภท เครื่องปั้นดินเผาจากยุคราชวงศ์ซ่งเหนือสู่ราชวงศ์ซ่งใต้ ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้คนในเจนลีฟู จนพบหลักฐานนำส่งเทคโนโลยีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเคลือบในระดับอุตสาหกรรมกลุ่มใหญ่เท่าที่พบกว่า ๒๐๐ เตาในเขตเหนือแนวเทือกเขาพนมดงเร็กที่อำเภอบ้านกรวด ละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๗

ซึ่งจุดเริ่มต้นการผลิตรวมทั้งรูปแบบของภาชนะที่ได้ค่าอายุคาบเกี่ยวกับช่วงการเกิดขึ้นของราชวงศ์ซ่งเหนือ เตาเผาภาชนะเนื้อแกร่งทั้งขนาดใหญ่แบบโอ่งและไหในช่วงราชวงศ์ซ่งใต้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘  ที่บ้านบางปูนริมลำน้ำสุพรรณ ซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพัฒนายิ่งกว่าในอดีต

เครื่องถ้วยรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะแบบเต๋อฮัวที่เรียกว่าชิงไป๋ที่มีสีขาวอมฟ้าแพร่หลายไปยังชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วภูมิภาค รวมทั้งพัฒนาการการค้าทางทะเลที่ต้องทดแทนเส้นทางสายไหมแต่เดิมและยังเริ่มเข้าสู่ตลาดที่มีการแข่งขันสูงกับเรือสินค้าของชาวอาหรับเปอร์เซียและนักเดินเรือท้องถิ่นในน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านช่องแคบมะละกาไปถึงอ่าวเบงกอล รวมทั้งชายฝั่งแอฟริกาก็ยังพบเครื่องถ้วยชิงไป๋แบบราชวงศ์ซ่งใต้ มีพัฒนาการต่อเรือและเดินเรือทะเลให้บรรทุกสินค้าและเดินทางได้ไกลขึ้น 

 

ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้รัฐการค้าทางทะเลแบบผูกขาดเช่น ‘สหพันธรัฐศรีวิชัย’ ถูกลดบทบาทลง แต่กลับทำให้เกิดเมืองท่าทางการค้าชายฝั่งจนไปถึงเมืองท่าภายในเคลื่อนไหวอย่างสูงสุดในระยะนี้ ซึ่งในห้วงเวลานี้ นักวิชาการรุ่นปัจจุบันบางส่วนสร้างกระแสจากการจัดเสวนาและเขียนบทความเสนอว่าบ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นเป็น ‘ยุคมืด’ โดยเปรียบกับทางยุโรปและเสนอนัยยะแห่งการเป็นอาณานิคมในการปกครองของกัมพูชาเทศะ

รัฐการค้าทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบรัฐบรรณาการหรือจิ้มก้องน่าเริ่มเป็นระบบมากขึ้นในยุคราชวงศ์ซ่งนี้เป็นต้นมา ซึ่งรวมถึงการเกิดขึ้นของบ้านเมืองใหม่ที่ไม่เคยถูกกล่าวถึงในเอกสารจดหมายเหตุทางจีนอย่าง เจนลีฟู’  และกล่าวถึงในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เท่านั้น

ศาสตราจารย์ โอ.ดับเบิลยู โวลเตอร์ส [Prof. O. W. Wolters] เขียนบทความเรื่อง Chen-Li-Fu : A State on the gulf of Siam at the beginning of the 13th century  เสนอการวิเคราะห์รายละเอียดในบทความขนาดยาวนี้ด้วยประเด็นที่ว่า การส่งราชทูตไปยังราชสำนักจีนในช่วงเวลานั้นเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจเพราะเป็นราชทูตชุดสุดท้ายและชุดเดียวจากบ้านเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ถวายเครื่องราชบรรณาการต่อพระเจ้ากรุงจีน 
 


ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ [Coedès George ; 1886-1969] / ศาสตราจารย์ โอ ดับเบิลยู วอลเตอร์ส
[Oliver William Wolters ; 1915-2000] ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา / อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม วัดพ่อตาลูกเขย จังหวัดอุดรธานี

 

หน้าที่ 6/18

มีบันทึกว่าราชทูตชุดสุดท้ายของตามพรลิงค์ส่งไปยังราชสำนักซ่งใน พ.ศ. ๑๖๑๓ อาจจะเป็นชวาหรือศรีโพธิ์ใน พ.ศ. ๑๖๕๒ ละโว้ใน พ.ศ. ๑๖๕๘ และ ๑๖๙๘ กัมพูชาใน พ.ศ. ๑๖๗๘ และศรีวิชัยใน พ.ศ. ๑๗๒๑  

โดยมีเพียงนครรัฐแห่งเดียวในลุ่มเจ้าพระยาเท่านั้นที่เจ้าผู้ครองนครยังคงส่งราชทูตและเครื่องราชบรรณาการเดินทางไปยังราชสำนักซ่งใต้หลังที่สุดใน พ.ศ. ๑๗๔๓, ๑๗๔๕ และให้หยุดในที่สุดเมื่อ พ.ศ. ๑๗๔๘ หลังจากนั้นคือส่งราชทูตไปเช่นเดิมเมื่อเริ่มเข้าสู่สมัยราชวงศ์หยวนไปแล้ว

ชื่อของเจนลีฟูนั้น ศาสตราจารย์โวลเตอร์สให้ความเห็นว่าจีนใช้เรียกนครรัฐหลายแห่งในยุคนั้นลงท้ายด้วย ‘ฟู่’ ที่น่าจะมาจากคำว่า ‘ปุรี’  (เช่น เชียงใหม่ จีนเรียก T’ un-li-fu, สุพรรณ เรียก  Pa-pai-hsi-fu, ในเอกสารของหวังต้าหยวนเรียกว่า Su-mên-pang ซึ่งเอกสารสมัยราชวงศ์หมิงเรียก Su-mên-fu) ส่วนชื่อเจนลีนั้นไม่ได้วิเคราะห์ไว้ แต่ก็เป็นไปได้ว่ามีการเลียนแบบชื่อบ้านเมืองทางตะวันออกที่มีมาก่อนคือ เจนละ ซึ่งจีนใช้เรียก กัมพูชาเทศะ มาแต่แรกก็อาจเป็นไปได้

เพราะชื่อผู้ปกครองหรือพระราชาแห่งเจนลีฟูใช้คำนำหน้าว่า กัมรเตง และชื่อพระราชาที่ส่งราชทูตไปใน พ.ศ. ๑๗๔๘ ที่จีนบันทึกไว้คือ ‘ซี-หลี่-หมอ-ชี-ต๋อ-ป๋า-หลอ-ฮุง’ / Se-li-Mo-hsi-t’o-pa-lo-hung ที่ผู้เขียนเอกสารถอดเสียงได้ว่าเป็น ศรีมเหนทรวรมัน แต่ศาสตราจารย์เซเดส์แนะนำว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มักพบชื่อในจารึกว่า มหิธร  [Mah’idhara] มากกว่า มเหนธร [Mahendra]  และชื่อของพระราชาจากเจนลีฟูคือ กัมรเตง ศรี มหิธรวรมัน (ส่วนพระราชาแห่งเจนลีฟูในปี .. ๑๗๔๓ ถูกบันทึกชื่อไว้จากการมาถึงท่าเรือหนิงโปคือ Mo-lo-pa-kan-wu-ting-ên-ssu-li-fang-hui-chih ที่น่าจะแปลว่า Mo-lo-pa? Kamrateng An Sri Fan hui chin ผู้ครองราชย์มาแล้ว ๒๐ ปี)

ประเด็นจาก ‘ชื่อนำหน้า-กัมรเตง’ ที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากที่ราบสูงโคราชและกัมพูชาเทศะนี้เอง ทำให้ศาสตราจารย์โวลเตอร์สเสนอไปในทำนองว่ารัฐเจนลีฟูอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ซึ่งใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ช่วงเวลานั้น แนวทางการเขียนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงอยู่ภายใต้การชี้นำของศาสตราจารย์เซเดส์อย่างแท้จริง เพราะมีข้อเสนอของเซเดส์ว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ เสด็จมาจากนครศรีธรรมราช โดยอ้างอิงจากตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์ และจามเทวีวงศ์ฯ ซึ่งภายหลังก็เปลี่ยนไป (มานิต วัลลิโภดม. ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประติมากรรมในประเทศ. วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๒๗) หน้า ๑๑๐-๑๑๕)

 

ในช่วงเวลาที่เขียนบทความนี้ศาสตราจารย์โวลเตอร์สยังคงตั้งข้อสังเกตอย่างรัดกุมในกรอบของการปกครองโดยสุริยวรมันที่ ๑ แต่ก็เอ่ยถึงอย่างชัดเจนว่าในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ราชวงศ์มหิธรปุระที่มีที่มาจากตอนเหนือของกัมพูชามีบทบาทสูงเป็นเวลาหลายทศวรรษ จึงมีราชวงศ์สองราชวงศ์ซ้อนกันเพื่อแข่งขันควบคุมอาณาจักรเมืองพระนคร ซึ่งพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ก็ควบคุมวงศ์ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ซึ่งนักวิชาการรุ่นต่อมาอย่างไมเคิล วิคเคอรี่เสนอว่ามีพื้นฐานมาจากทางตะวันออกทางดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

การกล่าวถึงการมีอาณาจักรซ้อนก็เมื่อละโว้ส่งราชทูตชุดสุดท้ายไปเมืองจีนในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ แสดงนัยยะถึงอิทธิพลทางการเมืองระหว่างบ้านเมืองต่างๆ โดยฝ่ายจีนก็ไม่รู้จัก ละโว้และในช่วงการจลาจลในรัชกาลของพระเจ้ายโสวรมันที่ ๒ การแย่งชิงอำนาจของตรีภูวนาทิตยาวรมันและการโจมตีเมืองพระนครของจามปาใน พ.ศ. ๑๗๒๘ ทั้งหมดดังกล่าวมานี้ทำให้อาจารย์โวลเตอร์สไม่สามารถยอมรับได้ว่าเมืองพระนครสามารถควบคุมบ้านเมืองทางตะวันตกในฐานะเป็นเมืองขึ้นหรือเป็นบ้านเมืองในปกครองได้อย่างชัดเจน

นอกจากจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จากปราสาทพระขรรค์ที่ให้ถวายพระชัยพุทธมหานาถไปยังบ้านเมืองทางตะวันตก โดยเซเดส์เสนอว่าควรจะเป็นพระรูปเหมือนในภวังค์สมาธิพบที่ปราสาทบายนและหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ไม่พบในภาคกลาง จนต่อมานักวิชาการทางฝ่ายไทยมักเสนอว่าเป็นพระพุทธรูปนาคปรกหนึ่งในรูปประติมากรรมหินและสัมฤทธิ์รัตนตรัยมหายาน อันมีพระนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระนางปรัชญาปารมิตาเสมอ ซึ่งน่าจะเป็นการตีความจากโศลกต่างบทกัน  

แต่ก็มีหนึ่งในราชโอรสของกษัตริย์ชัยวรมันที่ ๗ ที่เซเดส์บันทึกว่าน่าจะเป็นอุปราชแห่งเมืองลพบุรีภายใต้บรรดาศักดิ์ เจ้าชายแห่งละโว้ (อ้างจาก George Cœdès. Les états hindouisés d'Indochine et d’Indonésie  du Monde, tome VIII). De Boccard, Paris, 1948, p. 303 )  ซึ่งไม่ค่อยได้ถูกนำมาอ้างถึงนัก แต่ยืนยันความสัมพันธ์ทางการเมืองผ่านการเกี่ยวดองในระบบเครือญาติ [Cognatic relationship] ในเวลาต่อมาเมื่อมีการนำรูปประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกกิเตศวรเปล่งรัศมีที่คล้ายคลึงกับที่พบในกัมพูชาจำนวนหนึ่งและก็น่าจะมีการสร้างขึ้นเองในท้องถิ่น ถวายไปยังศาสนสถานแบบพุทธมหายานแบบเดิมในพื้นที่ตามเส้นทางเศรษฐกิจของทางละโว้และเจนลีฟูในช่วงหลังจารึกปราสาทพระขรรค์ พ.ศ. ๑๗๓๔ และอย่างน้อยคงหลังจากการส่งราชทูตไปยังจีนของเจนลีฟูครั้งสุดท้ายใน พ.ศ. ๑๗๔๘ นานหลายปี จึงเห็นเพียงร่องรอยของความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่ละโว้ในสมัย

หน้าที่ 7/18

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในรุ่นพระโอรสที่ส่งผ่านเจ้านายหรือผู้ปกครองในท้องถิ่นที่ไม่เห็นการบริหารราชการแผ่นดินแบบที่ละโว้หรือกัมพูชาเทศะมีอำนาจเหนือบ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยาช่วงเวลานั้น เพราะทั้งจารึกและหลักฐานทางโบราณคดีช่วงนี้เห็นร่องรอยความสัมพันธ์กับหริภุญไชยทางเหนือ กลุ่มเมืองสุโขทัย และตามพรลิงค์ทางใต้ รวมทั้งมีเครือข่ายบ้านเมืองในแถบเมืองท่าทางฝั่งตะวันตกหรือทางฝั่งอ่าวไทยกำลังขยับขยายเจริญทางเศรษฐกิจ 

จนเริ่มเห็นกลุ่มเมืองชื่อสุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ในจารึกของพ่อขุนรามคำแหงและจารึกวัดศรีชุม ที่เล่าย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อันร่วมสมัยกับบ้านเมืองที่ชื่อเจนลีฟูแห่งนี้กำลังดำเนินการค้ากับจีนอย่างรุ่งเรืองกว่าบรรดาบ้านเมืองในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ 

อนึ่ง ชื่อ มหิธรวรมันอาจจะเป็นนามพระราชาผู้มีบารมีจากกลุ่มบ้านเมืองเหนือเทือกเขาพนมดงเร็ก ที่ถูกนำมาใช้เป็นพระนามอ้างอิงอย่างเป็นทางการต่อพระจักรพรรดิจีนและอาจมีความเกี่ยวดองในฐานะเครือญาติ ถือเป็นการรับวัฒนธรรมเขมรจากที่ราบสูงโคราชและลุ่มทะเลสาบเขมรมาใช้นำหน้าชื่อพระราชาและต่อมาคือข้าราชการชั้นสูงหรือเทวรูปสำคัญต่างๆ ในลักษณะเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ตามที่ปรากฏเป็นประเพณีพิธีกรรมที่มักใช้รูปแบบจากพราหมณ์พิธีกรรมในราชสำนักเสมอ

ซึ่งในช่วงเวลานั้น จากจารึกดงแม่นางเมือง พ.ศ. ๑๗๑๐ ก็มีการนำชื่อพระราชาผู้มีบารมีจากคาบสมุทรในพระนาม ศรีธรรมาโศกราช มากล่าวอ้างถึงการทำบุญพระสรีรธาตุแก่ กัมรเตง ชคต ศรีธรรมาโศก ในจารึกดงแม่นางเมือง หรือแม้แต่การนำพระนามของ ศรีมหาราชาพระนามกษัตริย์ผู้มีบารมีแห่งศรีวิชัยมาเป็นชื่อสถานที่เมืองแพรกศรีราชา ก็เช่นเดียวกัน

จากหลักฐานจากจดหมายเหตุจีนในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ แสดงถึงความนิยมนำมาใช้เรียกพระราชาที่เมืองสุโขทัย เมืองเพชรบุรี และเจนลีฟู อย่างเป็นทางการเมื่อส่งพระสุพรรณบัตรไปยังราชสำนักจีน ก็ล้วนใช้คำนำหน้าขึ้นต้นด้วย ‘กัมรเตง’ ในจารึกดงแม่นางเมืองร่วมสมัยกันก็ใช้ กัมรเตง ชคต ศรีธรรมาโศก ซึ่งคำกัมรเตงก็กลายเป็นตำแหน่งข้าราชการปรากฏในกฎหมายตราสามดวงคือ ผแดง’, ผะแดง, ปะแดง จากชื่อเทวรูปที่ขุดพบก็แผลงไปเป็นชื่อเมืองท่าหรือเมืองด่านที่ พระประแดง อันเป็นเมืองหน้าด่านเก่าแก่มีมาก่อนพระรามาธิบดีที่ ๑ ที่คลองสำโรงขุดต่อกับคลองทับนางสู่แม่น้ำบางปะกง เส้นทางเดินทางภายในไปยังชายฝั่งและหัวเมืองทางตะวันออกได้ทั้งทางบกและทางน้ำ  

 

บันทึกจาก ซ่งฮุยเหยา กล่าวว่า เจนลีฟูมีบ้านเล็กเมืองน้อยที่มีผู้ปกครองของตนเองอีกกว่า ๖๐ แห่ง และไม่มีบรรดาศักดิ์กัมรเตงกำกับหน้าชื่อ ได้ส่งราชทูตไปยังราชสำนักซ่งใต้ เมื่อ พ.ศ. ๑๗๔๓, ๑๗๔๕ และ ๑๗๔๘  

ก่อนหน้านั้นคงมีเรือสินค้าจากจีนเข้ามาติดต่อค้าขายในอ่าวสยามกันอยู่แล้วที่ตั้งอยู่ในบริเวณเหนืออ่าวไทย โดยมีเพื่อนบ้านทางตะวันออกเฉียงใต้คือ โปซู่หลัน [Po-ssu-lan] และตะวันตกเฉียงใต้คือ เต็งหลิ่วเหม่ย และบันทึกบางแห่งเขียนว่าตันหลิวเม่ย [T’eng-liu-mei]



ภาชนะแบบโอ่งขนาดใหญ่เนื้อแกร่งผลิตจากเตาบางปูน ริมแม่น้ำสุพรรณ
พบบริเวณปากน้ำแขมหนู ซึ่งมีเส้นทางภายในติดต่อกับแม่น้ำจันทบูรได้
ช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ เมืองท่าโปซือลันอาจเป็นได้ทั้งบริเวณปากน้ำสำคัญ
เช่นที่แขมหนูและปากน้ำจันทบูรที่แหลมสิงห์ได้เช่นกัน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดปากน้ำแขมหนู

หน้าที่ 8/18

ซึ่ง ศาสตราจารย์โวลเตอร์สวิเคราะห์ว่า โปซู่หลันคือเมืองจันทบูร ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญริมอ่าวไทยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕ ในการกำกับของตระกูลเสนะแห่งอีสานปุระ และ เต็งหลิ่วเหม่ยคือตามพรลิงค์ หมายถึงชุมชนชายฝั่งของเมืองนครศรีธรรมราช ศาสตราจารย์โวลเตอร์สให้นัยยะขึ้นมาถึงเมืองเพชรบุรีทีเดียว 

และยังวิเคราะห์อีกว่า ท่าเรือเดินทะเลของเจนลีฟูควรอยู่ในตำแหน่งตอนบนของคาบสมุทรน่าจะอยู่ที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือและทางตอนเหนือของอ่าวไทย ซึ่งจะใช้เวลา ๕ วันเดินทางไปถึง ‘โปซู่หลัน’ ทางชายฝั่งตะวันออกเพื่อเดินทางไปให้ถึงเมืองท่าในจีนตอนใต้ช่วงต้นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ‘เหตุใดชาวจีนจึงกล่าวถึงเพื่อนบ้านที่ชิดกันคือตามพรลิงค์ ไม่ใช่ละโว้ โดยเชื่อมโยงกับที่ตั้งของเจนลีฟู’ ซึ่งอาจแปลความจากการตั้งคำถามนี้ได้ว่า เจนลีฟูอยู่ติดกับพื้นที่ทางการเมืองของตามพรลิงค์ทางตะวันตกเฉียงใต้ในจุดที่ต้องเดินทางออกจากเมืองท่าทางฝั่งตะวันตกตอนบนสุดของคาบสมุทรสยามใช้เวลาเดินเรือทะเลเลียบชายฝั่ง ๕ วัน จึงถึงบริเวณปากน้ำจันทบูรซึ่งเป็นท่าเรืออิสระนอกเขตอำนาจทางการเมืองของเจนลีฟูในยุคนั้น  
 


ภาชนะแบบซ่งเหนือและใต้ที่พบจากท้องน้ำแม่กลอง
หน้าวัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม

และ ‘นครรัฐเจนลีฟู’ ไม่ควรอยู่ในบริเวณปากน้ำหรือเมืองท่าที่มีการค้าขาย เมืองสำคัญส่วนใหญ่ในยุคนั้นมักเป็นเมืองท่าภายในแผ่นดิน ซึ่งน่าจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง [Riverine] ที่ใช้เวลาเดินทางถึงปากน้ำไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ โดยคำนวณจากจำนวนวันที่เดินทางไปถึงเมืองท่าตอนใต้ของจีนที่ใช้เวลาราว ๖๐ วัน 

บริเวณมุมตะวันตกเฉียงใต้ของอ่าวไทยนั้นน่าจะอยู่ใกล้กับปากน้ำแม่กลองที่ราชบุรีก็ได้ เพราะพบเครื่องปั้นดินเผาจากจีนตั้งแต่สมัยฮั่น สมัยห้าราชวงศ์ สมัยถัง และสมัยซ่งตั้งแต่สมัยซ่งเหนือและใต้เป็นจำนวนมาก มีการงมขึ้นมาแจกจ่ายบางส่วนเก็บรักษาไว้ที่ วัดเกาะนัมมทาปทวลัญชารามตัวเมืองราชบุรี ซึ่งทั้งเมืองราชบุรีและเพชรบุรี ล้วนเป็นบ้านเมืองยุคใหม่กว่าที่เจริญขึ้นมาจากถิ่นฐานบ้านเมืองเดิมที่เมืองคูบัวและเมืองท่าที่เขาเจ้าลายที่ชายฝั่งชะอำ
 


ภาชนะแบบซ่งเหนือและใต้ที่พบจากท้องน้ำแม่กลอง
หน้าวัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม

หน้าที่ 9/18

ส่วนที่เหนืออ่าวไทย น่าจะหมายถึงปากน้ำเจ้าพระยา ซึ่งบริเวณปากน้ำเจ้าพระยานี้อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม วิเคราะห์ภายหลังว่าน่าจะสอดรับกับบ้านเมืองริมน้ำเจ้าพระยาที่เก่าแก่ก่อนการขุดคลองลัดบางกอกและคลองลัดเกร็ดใหญ่ที่เชียงราก บริเวณคลองบางควายและคลองบางเตยริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสามโคกในปัจจุบัน แล้วใช้เส้นทางตามลำแม่น้ำน้อยเดินทางขึ้นไปถึงเมืองแพรกศรีราชาซึ่งอาจารย์ศรีศักร สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญของสหพันธรัฐเจนลีฟูช่วงต้นของพุทธศตวรรษที่ ๑๘

เมืองท่าของ ‘เจนลีฟู’ ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ กล่าวว่าเป็นสถานที่พลุกพล่านที่สุดและมีเรือเดินทะเลเข้าถึงได้ ผู้คนชมชอบเครื่องปั้นดินเผาของจีนเป็นพิเศษ เป็นสถานที่ซึ่งนำเอา ‘นอแรด’ จำนวนหนึ่ง (เขตนี้มีชื่อเรื่องนอแรดหายากมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง) และ ‘ช้าง’ ขึ้นเรือไปถวายพระเจ้ากรุงจีนได้ ผู้คนของเจนลีฟูในยุคนั้นยังไม่สามารถระบุกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างชัดเจน
 


เศษภาชนะแบบเครื่องเคลือบแบบจีนและจากเตาบางปูนและภาชนะต่างๆ
จากท้องน้ำแม่กลองหน้าวัดเกาะนัมมทาปทวลัญชารามเมืองราชบุรี 

 

 

แต่อาจารย์โวลเตอร์สก็เชื่อว่าน่าจะเป็นมอญอยู่มากและคงไม่ใช่คนไตหรือไทผู้เป็นเจ้าของอักษรและภาษาไทยเสียทีเดียว ซึ่งอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ให้ข้อเสนอว่า ในยุคนี้เริ่มเห็นว่ามีร่องรอยของกลุ่มชาติพันธุ์ปะปนกันอย่างชัดเจน เพราะพบทั้งรูปแบบทางศิลปกรรมแบบดั้งเดิมในสมัยทวารวดีที่น่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาในกลุ่มตระกูลมอญ - เขมรเป็นพื้น จารึกจำนวนหนึ่งกล่าวถึงข้าพระที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไต รวมทั้งจารึกในภาษาไทหรือไต แต่ใช้อักษรขอมระบุตำแหน่งและชื่อผู้นำชุมชน เช่นที่ปราสาทเมืองสิงห์ชื่อ พระยาไชยกรรวมทั้งผู้อพยพจากเมืองจีนในบริเวณเมืองท่าค้าขายและร่องรอยของตำนานที่เห็นเป็นแนวทางเดียวกันในเรื่องพ่อค้าชาวจีนเข้ามาค้าขายและแต่งงานกับชาวพื้นเมืองสืบมา 
 


โอ่งขนาดใหญ่พบที่โคกพริก ริมคลองแม่น้ำอ้อม
ต่อเนื่องกับเมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี 

 

 

หน้าที่ 10/18

บันทึกซ่งฮุยเหยากล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติของเจนลีฟูที่เป็นสินค้า เช่น งาช้าง นอแรด ขี้ผึ้ง ไม้หอม น้ำมันหอม กระวาน และไม้มะเกลือ พระราชาอยู่ในพระราชวังที่คล้ายกับวัดทางพุทธศาสนา ใช้เครื่องใช้ทำด้วยทองคำ ทรงพระภูษาสีขาว พลับพลาประดับกระโจมทำด้วยผ้าไหมจีนแบบนุ่ม ผ้าม่านเป็นผ้าสาลูดิ้นทอง เมื่อข้าราชบริพารไปที่ราชสำนักก็จะถวายความเคารพพนมมือนบนอบแก่พระราชา

การเขียนของพวกเขาจะเขียนลงบนกระดาษพื้นดำตัวอักษรสีขาว ประชาชนประพฤติตามกฎเกณฑ์ทางพุทธศาสนา เมื่อมีข้อขัดแย้งก็มักจะพากันไปที่วัดและดื่มน้ำสาบานต่อหน้าพระถ้าใครพูดไม่จริงขอให้มีอันเป็นไป ซึ่งคนพูดโกหกมักตกใจกลัวจนยอมรับในที่สุด และสำหรับการค้าเสื้อผ้าแพรพรรณและอาหาร พวกเขาใช้ชิ้นส่วนของแร่ตะกั่วเป็นเงินตรา พวกเขาจะซื้อสินค้าจากเรือสินค้าจีนพวกผ้าสาลูโปร่งสีแดงแห้งๆ และภาชนะจากเมืองจีน

พระราชสาส์นจากเจนลีฟูนั้นเขียนด้วยภาษาของเขาเอง ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นภาษาใดและมีการทำสำเนาเป็นภาษาทมิฬเก่า (มาละบาร์) โดยพราหมณ์จากราชสำนักอีกฉบับหนึ่งส่งมาด้วย โดยพระราชสาส์นม้วนใส่ไว้ในกล่องทองคำลงยาสลักลวดลาย

นครรัฐเจนลีฟูประกอบด้วยบ้านเล็กเมืองน้อยกว่า ๖๐ แห่ง และการปกครองน่าจะยังเป็นระบบสหพันธรัฐที่มีเมืองสำคัญของพระราชาผู้มีบารมีที่มีเมืองตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสำคัญที่สามารถเดินทางออกสู่ปากน้ำได้สะดวกพอประมาณ เจนลีฟูนั้นนับถือพุทธศาสนาอย่างแจ้งชัด การซื้อขายในตลาดใช้โลหะที่เป็นแร่ตะกั่ว

ซึ่งในบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยาในบริเวณเมืองโบราณหลายแห่งก็มักพบก้อนตะกั่วรูปแบบต่างๆ มากมาย คงใช้ในอัตราน้ำหนักแทนที่การใช้หอยเบี้ยในช่วงก่อนและหลังจากยุคสมัยนี้ ที่ตั้งและชุมชนบริวารน่าจะอยู่ในบริเวณลุ่มเจ้าพระยาที่น่าจะอยู่ด้านบนสุด ซึ่งอาจจะต้องใช้การเดินทางมายังเมืองปากน้ำชายฝั่งทะเลราวหนึ่งสัปดาห์ น่าจะเป็นบ้านเมืองที่มีความสำคัญทางการเมืองรวมไปถึงการค้าและระบบเศรษฐกิจที่โดดเด่นกว่าเมืองละโว้ที่อยู่ทางตะวันออกในยุคสมัยเดียวกัน

และในช่วงเวลานั้น ‘เจนลีฟู’ เป็นอิสระจากอำนาจทางการเมืองของกัมพูชาเทศะที่เมืองพระนครหรือนครธมในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อย่างชัดเจน

 

 

เจนลีฟูวิเคราะห์จากฐานข้อมูลวัตถุทางวัฒนธรรมของมนัส โอภากุล’ และการทบทวนสำรวจงานโบราณคดีในปัจจุบัน

มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้รับโอกาสจาก คุณยืนยง โอภากุล บุตรชายของ อาจารย์มนัส โอภากุล ผู้ล่วงลับ อาจารย์มนัสจัดระบบฟิล์มเนกาทีฟขาวดำที่ถ่ายภาพทั้งสิ่งของและเหตุการณ์ของเมืองสุพรรณไว้ตลอดช่วงชีวิตอันยาวนานเกิน ๙๐ ปีของท่านไว้อย่างเป็นระบบ เป็นภาพถ่ายโบราณวัตถุสำคัญที่ระบุสถานที่พบ ไม่เพียงแต่จะเป็นกลุ่มพระเครื่องเมืองสุพรรณเท่านั้น แต่ยังบันทึกภาพพระบูชาและเทวรูปแบบท้องถิ่นทำจากสัมฤทธิ์องค์ขนาดย่อมๆ มีรูปแบบหลากหลาย

ที่สำคัญคือระบุแหล่งที่พบชัดเจน แม้จะไม่สามารถชี้จุดได้ทุกแห่งแต่เมื่อนำมาจัดทำเป็นแผนที่ก็พบร่องรอยของความสัมพันธ์ในช่วงเวลาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ ที่ถูกเรียกมาโดยตลอดว่าเป็น ยุคลพบุรี ถือเป็นระบบจดหมายเหตุที่จัดระบบไว้อย่างละเอียดลออ มีความสมบูรณ์แบบ ซึ่งจัดทำด้วยคนเพียงคนเดียว ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์เกินยุคสมัยที่ริเริ่มเก็บรักษาและสมควรที่จะได้รับการทำงานในระบบหอจดหมายเหตุ [Archive] อย่างยิ่ง 

จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายสามารถค้นพบข้อมูลทางโบราณคดีที่สำคัญชัดเจนขึ้นในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน้อยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี และหาความสัมพันธ์ของพื้นที่ชุมชนโบราณต่างๆ ที่สัมพันธ์กับยุคสมัยการมีอยู่ของบ้านเมืองที่ชื่อ ‘เจนลีฟู’ ในพื้นที่ตอนบนของลุ่มเจ้าพระยา

ชุมชนต่างๆ เหล่านี้มีพัฒนาการของบ้านเมืองที่สัมพันธ์กับเส้นทางคมนาคมและเศรษฐกิจสู่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ มีกลุ่มบ้านเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำระหว่างกลางของแม่น้ำน้อยและแม่น้ำท่าจีนและลำน้ำเก่าและลำน้ำกุดต่างๆ อีกมากมายหลายสาย ถือเป็นบ้านเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำ [Riverine area] อย่างแท้จริง 

พิจารณาจากแผนที่ชุมชนโบราณที่สร้างขึ้นจากฐานข้อมูลดังกล่าว ผสมผสานกับความรู้ทางโบราณคดีที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้เพื่อแสดงเส้นทางน้ำ แนวเขาสำคัญ และแหล่งโบราณคดีที่พบโบราณวัตถุอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ ในอาณาบริเวณภูมิภาคตะวันตกตั้งแต่พื้นที่ดอนเชิงที่ราบเชิงเขาของเทือกเขาตะนาวศรีไปจนถึงแนวขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา 

หน้าที่ 11/18

พื้นที่ระหว่างกลางมีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำน้อยทางฝั่งตะวันออก ต่อมาไล่มาทางตะวันตกคือลำน้ำสีบัวทองและเครือข่ายสายน้ำใหญ่น้อยต่างๆ ต่อมาคือแม่น้ำสุพรรณ และเมื่อถึงบริเวณสามชุกก็มีแนวแม่น้ำเก่าสำคัญอีกแห่งคือ แม่น้ำท่าคอยหรือท่าว้าที่ไปต่อกับลำน้ำจระเข้สามพันที่ผ่านเมืองอู่ทอง

ข้อค้นพบจากการพิจารณาแหล่งโบราณคดีสำคัญในพื้นที่สามารถนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นได้ดังนี้

๑. เมืองอู่ทอง อยู่ในเส้นทางคมนาคมจากชายฝั่งทะเลและแนวเทือกเขาตะนาวศรีทางใต้มาตามลำน้ำแม่กลองหรือแม่น้ำภาชี เข้าสู่แหล่งทรัพยากรที่สำคัญคือเหมืองดีบุกในกลุ่มอำเภอสวนผึ้ง ทุ่งคา และจอมบึง ในจังหวัดราชบุรี และเหมืองตะกั่วในพื้นที่ระหว่างลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่ ซึ่งมีกลุ่มคนบนที่สูง เช่น ‘ชาวละว้า’ เป็นผู้เสาะหาทรัพยากรธรรมชาติ เช่นไม้หอม เขาสัตว์ หนังสัตว์ ขี้ผึ้ง รวมทั้งนำแร่ธาตุที่มีอยู่ตามลำธารต่างๆ รวบรวมส่งขายแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าคนกลางหรือส่งส่วยให้กับรัฐท้องถิ่น



พระสถูปบนเขารางกะบิด ฐานทำด้วยหินก้อนใหญ่และอิฐแบบทวารวดี
พบพระพิมพ์แบบมหายานอิทธิพลแบบปัลลวะจารึกอักษรหลังปัลลวะ ภาษามอญ
พระราชานาม ‘กษัตริย์มะระตา’ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕

จากนั้นมีการเดินทางตัดผ่านทางบกระหว่างตะวันตก-ตะวันออก เลียบพื้นที่ดอนและพื้นที่ราบเชิงเขาจากแควใหญ่สบกับลำตะเพิน ผ่านดอนตาเพชร เข้าสู่แนวเทือกเขาทำเทียม เขาพระ ไปจนจรดเขาวงที่อยู่ปลายเทือกเขาทางเหนือสุด เมืองอู่ทองตั้งอยู่หลังแนวเทือกเขาดังกล่าว และเป็นพื้นที่ติดต่อกับที่ราบลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง ซึ่งมีเส้นทางคมนาคมที่สำคัญคือลำน้ำจระเข้สามพันที่ไปต่อกับแม่น้ำท่าว้าทางเหนือและลำน้ำสองพี่น้องทางตะวันออก ร่องรอยของเส้นทางเดินทางนี้ มีชุมชนในสมัยยุคเหล็กหรือสุวรรณภูมิหรือในสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีนปรากฏอยู่โดยตลอด และน่าจะเป็นเส้นทางสำคัญเส้นทางหนึ่งของการปรากฏวัฒนธรรมในยุคเหล็กบริเวณพื้นที่ลุ่มลพบุรี - ป่าสัก และขึ้นเหนือไปทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำปิง 

การคงอยู่ของเมืองอู่ทองนั้นนับแต่ยุคเหล็กเป็นต้นมาก็เข้าสู่ยุคฟูนัน เข้าสู่ยุคทวารวดี จนถึงยุคทวารวดีตอนปลายราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ก็ยังพบพระพิมพ์แบบมหายานอิทธิพลแบบปัลลวะจารึกอักษรหลังปัลลวะภาษามอญถึงพระราชานาม กษัตริย์มะระตาผู้อุทิศทำบุญสร้างพระพิมพ์ประดิษฐานในอาคารศาสนสถานพุหางนาคบนเทือกเขารางกะบิด
 


พระพิมพ์แบบมหายานอิทธิพลแบบปัลลวะจารึกอักษรหลังปัลลวะ ภาษามอญ
พระราชานาม ‘กษัตริย์มะระตา’ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕

 
หน้าที่ 12/18

และยังพบพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางสมาธิแบบทวารวดี พิมพ์ตะกั่วรูปพระโพธิสัตว์ และพิมพ์ตะกั่วรูปสตรี ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับจารึก ปุษยคีรีพบที่หน้าเขาทำเทียม อิทธิพลแบบวัฒนธรรมการนับถือพุทธศาสนาแบบมหายานแบบปาละจากชายฝั่งอินเดียตะวันออกในรัฐโอดิชาหรือกลิงคะแต่เดิม ส่งผ่านสู่อาณาบริเวณเมืองอู่ทองมาโดยตลอด เพราะแนวเทือกเขาหลังเมืองอู่ทองและลำน้ำที่ไหลจากที่สูงคือห้วยจะร้ามีการสืบต่อการแสวงบุญและอุทิศพระพิมพ์เพื่อสืบต่อทางพุทธศาสนาในถ้ำต่างๆ ของแนวเทือกเขานี้ที่รู้จักกันในนามของ พระถ้ำเสือเป็นพระพิมพ์ดินดิบพิมพ์แบบง่ายๆ ส่วนใหญ่เป็นปางมารวิชัยและมีบ้างที่เป็นพระพุทธรูปยืน แม้จะสร้างด้วยฝีมือแบบหยาบๆ อาจจะเนื่องจากต้องการบรรจุจำนวนมาก

โดยลักษณะแล้วก็ดูเหมือนจะเป็นพระที่สร้างในช่วงเวลาที่เรียกว่าสมัยลพบุรีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ เป็นต้นมา และพระถ้ำเสือส่วนใหญ่ที่พบนั้นอยู่ในถ้ำตามแนวเทือกเขาซึ่งมักพบศาสนสถานบนยอดเขา รูปแบบอาคารลักษณะเดียวกับศาสนสถานบนเขารางกะบิด คือสร้างบนแนวหินธรรมชาติของเขาเหล่านั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้า บางแห่งพบพระพุทธบาทหินลวดลายสัญลักษณ์มงคลที่มีความสืบเนื่องกับลวดลายสมัยทวารวดีคือ พระบาทดีสลัก ซึ่งพบพระพิมพ์ดินดิบแบบพระถ้ำเสือร่วมด้วย
 


ศาสนสถานบนยอดเขาพระหรือเขาดีสลักที่กล่าวว่าพบรอบพระบาทจำลอง (ซ้าย)
ซึ่งใต้พระบาทพบพระถ้ำเสือ (ขวา)

 

ดังนั้นบริเวณเมืองอู่ทองและอาณาบริเวณจึงมีการอยู่อาศัยสืบเนื่องต่อจากยุคทวารวดีที่เข้าใจกันมาจนถึงสมัยปลายยุคทวารวดีต่อกับยุคสมัยที่เรียกว่าทั่วไปว่ายุคลพบุรีและเข้าสู่ยุคลพบุรีจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ทีเดียว

๒. บริเวณที่ดอนเชิงเขาตะนาวศรีลาดลงสู่ลำน้ำท่าว้าตั้งแต่บริเวณแนวเขาทำเทียมที่อู่ทอง เขาพระสองสามแห่งและปลายสุดที่เขาวงเป็นพื้นที่ติดต่อกับทางสระกระโจมซึ่งเป็นบ้านด่านชายป่า มีชุมชนสำคัญต่อเนื่องในพื้นที่ดอนแห้งแล้งนี้คือ ชุมชนโบราณที่บ้านหนองแจง พบการขุดสระรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสหลายสระ กล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มๆ ราว ๒ หรือ ๓ แห่งและแนวคันดินทำเป็นทำนบและคูน้ำเป็นแนวยาวมากกว่าห้าหกแนวเพื่อปะทะน้ำหลากจากป่าหรือที่สูงบังคับลงสระที่ขุดไว้ เนื่องจากไม่มีลำห้วยลำน้ำตามธรรมชาติที่สามารถเลี้ยงดูคนในชุมชนได้ทั้งปี บริเวณหนองแจงเป็นพื้นที่แห้งแล้งไม่เหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐานในระดับชุมชนเมืองมาจนถึงปัจจุบัน 
 


ศาสนสถานบนเขาวงเป็นฐานอาคารขนาดใหญ่ ข้อมูลโดยกรมศิลปากร
มักสรุปเพียงอายุสมัยอยุธยา บริเวณนี้พบการบรรจุพระถ้ำเสือจำนวนมาก

 

หน้าที่ 13/18

มีภาพถ่ายเก่าของคุณมนัส โอภากุลเป็นร่องรอยของศาสนสถานขนาดไม่ใหญ่นักหลายแห่งรอบๆ สระน้ำซึ่งฐานอาคารทำจากศิลาแลงและมีการปั้นปูนประดับอาคาร มีร่องรอยของการถลุงโลหะหลายประเภท แต่ที่พบคือก้อนตะกั่วรูปแบบต่างๆ ซึ่งก็พบทั่วไปในเมืองเขตลุ่มลพบุรี-ป่าสัก เช่นที่จันเสน ลุ่มเจ้าพระยาที่เมืองอู่ตะเภาหางน้ำสาคร และเมืองในลุ่มน้ำสีบัวทอง และพบก้อนตะกั่วก้อนใหญ่ๆ หลายแห่ง รวมทั้งตะกั่วนมซึ่งมักพบในเรือสินค้าโบราณที่จมลงตั้งยุคปลายสมัยศรีวิชัยซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ หรือ ๑๕ ทางปลายของคาบสมุทรมลายูเรื่อยมาจนถึงสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา

การส่งออกตะกั่วนมเหล่านี้ถูกบันทึกเป็นสินค้าส่งออกจำนวนมากโดยเฉพาะในเรือจมที่เกาะคราม ซึ่งพบว่าแหล่งผลิตสำคัญอยู่บริเวณเหมืองสองท่อและลำห้วยคลิตี้ในปัจจุบัน อดีตนั้นพบก้อนตะกั่วนมจำนวนมาก บริเวณแถบนี้น่าจะผลิตมาตั้งแต่ยุคเหล็กหรือยุคสุวรรณภูมิ เพราะพบมโหระทึกจำนวนมากและการฝังศพครั้งที่สองในโลงไม้ที่ถ้ำองบะซึ่งอยู่ใกล้เคียง

นอกจากนี้ ยังพบตะกรันของการผลิตทองเหลืองอีกด้วย จึงเป็นสถานที่น่าสนใจศึกษาเรื่องเศรษฐกิจการค้าและการถลุงโลหะในอดีตของพื้นที่ใกล้แนวเทือกเขาฝั่งตะวันตกพบภาชนะตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่งเหนือจนถึงซ่งใต้ รวมทั้งเหรียญอีแปะที่อยู่ในยุคสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือทั้งสิ้น (มนัส โอภากุล. อีแปะจีน ใต้พื้นดินเมืองสุพรรณ. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๔ (กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙) หน้า.๑๘๙-๑๙๖)

นอกจากนั้นยังพบเครื่องถ้วยแบบเตาบุรีรัมย์ เครื่องเหล็กต่างๆ สามารถยืนยันอายุของชุมชนขนาดใหญ่บริเวณบ้านหนองแจงน่ามีการอยู่อาศัยและเป็นชุมชนถลุงโลหะที่ได้แร่ดิบจากเทือกเขาภายใน เปลี่ยนเป็นก้อนโลหะ [Ingot] จะอยู่ในช่วงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา สัมพันธ์กับพ่อค้าชาวจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือและน่าจะเรื่อยมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยประมาณ พระพุทธรูป พระพิมพ์ แม่พิมพ์พระพุทธรูปแบบซุ้มปรางค์ พระพุทธรูปนาคปรก  และพระพิมพ์ดินเผาแบบซุ้มพุทธคยาที่เลียนแบบพระพิมพ์แบบปาละหรือพุกามชัดเจน 

อย่างไรก็ตาม พบการฝังพระพุทธรูปบูชาใส่ในไหจากจีน รูปแบบการฝังพบทั้งที่ฝังไว้ในกรุศาสนสถานขนาดเล็ก หรือฝังในพื้นดินซึ่งน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยแล้วทำเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะชุมชนแบบชุมนุม (ชุมนุมหนึ่งๆ อาจจะมีราว ๑-๒ ครัวเรือน / ประเมินจากแผนที่เก่าสมัยรัชกาลที่ ๖ - ๗ คำว่าชุมนุมหมายถึงบ้านห่าง) ซึ่งพบการฝังแบบนี้เต็มพื้นที่บริเวณบ้านหนองแจงและชุมชนโบราณใกล้เคียง ทางด้านเหนือไปถึงบริเวณตัวอำเภอดอนเจดีย์ในปัจจุบัน ส่วนด้านตะวันออกเฉียงใต้มีทิศทางเดินทางบกเข้าสู่แถบวัดสมอลมริมลำน้ำท่าว้าที่พบเหรียญอีแปะจีนสมัยฮั่นและสมัยซ่ง 

 

บริเวณนี้ชาวบ้านเรียกกันในยุคเก่าว่า ‘ท่าข้าม’ สามารถเดินทางไปยังริมลำน้ำสุพรรณทิศทางไปยังแนวคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสุพรรณบุรีในยุคสมัยอยุธยา ส่วนทิศทางจากนั้นลงใต้ไปตามลำน้ำท่าว้าจนถึงบ้านท่าว้าหรือท่าสเด็จในปัจจุบัน ที่มีสระสี่เหลี่ยมศักดิ์สิทธิ์จำนวน ๔ สระ ทั้งชื่อสถานที่และการทำสระศักดิ์สิทธิ์สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นบริเวณสุดท้ายก่อนเข้าสู่อาณาบริเวณเมืองสุพรรณภูมิหรือก่อนหน้านั้นคงเป็นบ้านเมืองที่กำลังก่อร่างสร้างตัวในกลุ่มสหพันธรัฐเจนลีฟูในการส่งสินค้าป่าจากผู้คนบนที่สูงแก่บ้านเมืองในแถบลุ่มน้ำท่าว้าและสุพรรณ 

จากนั้นคือ ‘วัดเขาดิน’ ที่คำบอกเล่าจากท่านเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิในยุคเก่าผ่านอาจารย์มนัส โอภากุล ว่านำเอาพระพุทธบาทไม้จำหลักลวดลายเรื่องพุทธประวัติและลายสัญลักษณ์มงคลที่น่าจะทำขึ้นร่วมสมัยกับชุมชนโบราณที่กล่าวมา และย่านสวนแตงต่อเนื่องกับลำน้ำทั้งทางจระเข้สามพันและนาลาวและสองพี่น้อง จุดนี้ถือเป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางเดินทางและเศรษฐกิจมาแต่โบราณ  

ส่วนด้านเหนือขึ้นไปตามลำน้ำท่าว้าและแม่น้ำสุพรรณ ก็จะพบแพรกน้ำใหญ่ที่บางขวาก พบโบราณวัตถุตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิจำนวนมากในหลุมฝังศพบริเวณโรงงานน้ำตาลและต่อมาคือในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ พบมากบริเวณสะพานข้ามลำน้ำบางขวาก ส่วนทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำท่าคอยมีกลุ่มวัดโบราณตั้งแต่วัดลาดสิงห์ หนองผักนาก และหนองโรงไปจนถึงโป่งแดง ซึ่งบริเวณนี้น่าจะเป็นชุมชนบ้านด่านพบเนินดินขนาดใหญ่ เศษภาชนะที่พบไม่มีจากแหล่งเตาทางสุโขทัยหรือศรีสัชนาลัยแต่อย่างใด เหนือวัดลาดสิงห์ไม่ไกลนักมีโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสในผังขนาดราว ๕๐ x ๕๐ เมตร เรียกกันว่าเนินทางพระ พบโบราณวัตถุทั้งที่เป็นศาสนสถาน พระบูชา พระเครื่องเนื้อชินขนาดเล็กที่เรียกว่าพระร่วง ศาสนสถานประดับด้วยลายปูนปั้น รูปแบบเหมือนกับที่บ้านหนองแจง บ้านดอนกระโดนทางตอนเหนือ และที่เมืองโกสินารายณ์ ริมแม่น้ำแม่กลองในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี รูปแบบปูนปั้นที่ประดับศาสนสถานเช่นเทวดาต่างๆ รวมถึงพระพุทธรูปที่ทรงเทริดขนนก อิทธิพลศิลปกรรมแบบปาละในช่วงหลังครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ชัดเจนล้วนมีความคล้ายคลึงกัน และดูเหมือนจะมีอิทธิพลจากทางพุกามโดยมาก  

จากนั้นขึ้นไปทางเหนือบริเวณแยกคลองโป่งแดงและเหนือขึ้นไปคือย่านวังสำเภาล่มและแพรกน้ำกระเสียว  ซึ่งพบแหล่งชุมชนริมน้ำอีกสองสามแห่ง จากนั้นข้ามน้ำกระเสียวไปยังบริเวณบ้านหัวเขาในอำเภอเดิมบางนางบวชแหล่งชุมชนเหนือสุดทางฝั่งน้ำสุพรรณที่พบหลักฐานคือบ้านดอนกระโดนในอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ซึ่งอยู่ไม่ไกลและใกล้เคียงกับแนวระนาบของบ้านดงคอนและเมืองแพรกศรีราชา

หน้าที่ 14/18


ภาพเก่าจากการสำรวจของอาจารย์มนัส โอภากุล ที่บ้านดอนกระโดน อำเภอหันหา จังหวัดชัยนาท เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งพบกรุพระพิมพ์โลหะ
หลายปางบรรจุภายในไหแบบจีนที่ฝังไว้ในกรุที่เป็นก้อนแลงทำเสมือนเป็นพระสถูป  
โดยการนำเอาชิ้นส่วนของปราสาทที่เป็นศาสนสถานแต่
เดิมมาใช้ โดยมีปูนปั้นเนื้อดีรูปต่างๆ อยู่ด้วย
เปรียบเทียบกับการสำรวจในปัจจุบัน (ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๗) บริเวณนี้ไม่ใช่ชุมชนขนาดใหญ่ริม
แม่น้ำสุพรรณ
จึงไม่มีกำลังในการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่

หน้าที่ 15/18

ซึ่งพบต่อเนื่องไปตามลำน้ำนี้ที่ชาวบ้านเคยเรียกว่าแม่น้ำวังลึก แม่น้ำวังกุหล่า  และคลองปากน้ำ คลองควาย ที่มีลำน้ำต่อไปถึงแพรกศรีราชาและเมืองโบราณดงคอนในอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท  คลองสีบัวทองที่ต่อเนื่องไปถึงเมืองคูเมืองที่บ้านพักทัน อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เมืองคูเมืองที่ทุ่งคลี อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ลงไปจนถึงบ้านคูเมืองที่อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเมืองโบราณเหล่านี้ยกเว้นเมืองแพรกศรีราชา สืบเนื่องมาแต่ยุคทวารวดีและเข้าสู่ยุคสมัยลพบุรีที่รับอิทธิพลพุทธศาสนาแบบมหายานแบบปาละโดยเฉพาะในสมัยยุคราชวงศ์ซ่งทั้งซ่งเหนือและซ่งใต้ 

พบโบราณวัตถุและศาสนสถาน ปูนปั้นประดับศาสนสถานที่ไม่น่าจะมีขนาดใหญ่โตนัก ตามเส้นทางลำน้ำสายเล็กเหล่านี้ระหว่างแม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มีลำน้ำจักรสีห์ที่ต่อเนื่องมาจากลำน้ำการ้องและแม่ลาไปสู่เมืองสิงห์และเมืองพรหมเป็นเมืองซึ่งมีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยทวารวดีและพบหลักฐานเศษภาชนะแบบราชวงศ์ซ่งเหนือและใต้ รวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาแบบบุรีรัมย์ จากบริเวณเมืองพรหมบุรีฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้ลำน้ำสายในคือคลองบ้านแป้งและคลองบางน้ำเชี่ยวเดินทางไปสู่บ้านแพรกเข้าสู่ลำน้ำลพบุรีสู่เมืองละโว้ทางด้านเหนือได้ การเดินทางก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ใช้เส้นทางนี้ก่อนที่จะขุดคลองลพบุรีไปต่อคลองบางพุทราและออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่เหนือเมืองพรหมไปเล็กน้อย 

ส่วนเมืองแพรกศรีราชาน่าจะเป็นเมืองในรุ่นหลัง ซึ่งการขุดค้นทางชั้นดินในเมืองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นในยุคราชวงศ์ซ่งใต้หรือราชวงศ์หยวน ซึ่งหากเป็นในระยะหลัง การเป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญของสหพันธรัฐเจนลีฟูนั้น เคลื่อนจากบ้านเมืองในลุ่มน้ำภายในที่เต็มไปด้วยบึงน้ำกุดสายน้ำมาเป็นเส้นทางน้ำใหญ่ขึ้น สะดวกแก่การเดินทางสู่บ้านเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะลำน้ำสู่ปากน้ำชายฝั่งทะเล เหมาะสมแก่การเดินทางหรือการเป็นนครรัฐที่มีความสำคัญสำหรับการเดินทาง การค้า และการปกครอง การสร้างแนวคันริมเป็นกำแพงเมืองและคูน้ำขนาดใหญ่กว่าเมืองรูปสี่เหลี่ยมในรุ่นก่อนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำน้อยนั้นถือเป็นพัฒนาการของนครรัฐที่เติบโตขึ้นเนื่องจากเหตุผลดังที่กล่าวมา 

ส่วนเมืองสำคัญที่น่าจะเป็นที่ตั้งของพระราชาแห่งเจนลีฟู จึงน่าจะอยู่ในบริเวณชุมชนริมลำน้ำในเขตเมืองแพรกศรีราชา อาณาบริเวณเมืองโบราณดงคอนที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือมีกลุ่มเมืองขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและมีวัดเก่าในสมัยอู่ทองหรือลพบุรีอีกสองสามแห่งหรือบริเวณเมืองโบราณบ้านคูที่ตำบลพักทัน ซึ่งไม่ไกลระหว่างแม่น้ำน้อยและลำน้ำสีบัวทอง 

 

กลุ่มเมืองเหล่านี้ตั้งแต่บริเวณเมืองแพรกศรีราชาลงไปจนถึงย่านริมแม่น้ำสุพรรณและท่าว้า ลำน้ำต่างๆ ทางลุ่มน้ำสีบัวทอง แต่ละแห่งเป็นชุมชนขนาดเล็กๆ ไม่ใหญ่โต และบางแห่งเป็นเมืองโบราณสืบมาตั้งแต่สมัยทวารวดี จำนวนน่าจะถึง ๖๐ แห่งในจดหมายเหตุจีน ซ่งฮุยเหยา เป็นไปได้มากที่จะเป็นนครรัฐเจนลีฟูที่ส่งทูตไปยังราชสำนักจีนในช่วง พ.ศ. ๑๗๔๓ - ๑๗๔๘ 

เมื่อพิจารณาจากการกระจายตัวของโบราณวัตถุที่พบ เนื่องจากพบโบราณวัตถุที่ฝังในไหทั้งพระบูชาและพระเครื่องพระพิมพ์โลหะทั้งสัมฤทธิ์และเนื้อชินและเนื้อตะกั่วจำนวนมาก ไหที่ฝังจากที่พบจากบริเวณบ้านหนองแจง, บ้านดอนกระโดน และไหที่พบจากการฝังในบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียสถาบันราชภัฎลพบุรีน่าจะเป็นไหสมัยซ่งเหนือ อาจกล่าวได้ว่าพบวิธีฝังไหในพื้นดินทั่วบริเวณพื้นที่ระหว่างแนวเทือกเขาของอำเภออู่ทองขึ้นไปตามฝั่งขวาของลำน้ำท่าว้าในพื้นที่ราบเชิงเขาของอำเภอดอนเจดีย์ขึ้นไป จนถึงอำเภอด่านช้าง

จึงน่าจะมีกิจกรรมต่อเนื่องกับเส้นทางที่ต้องพึ่งพาผู้คน ซึ่งอยู่อาศัยบนที่สูงเช่นชาวละว้าให้เดินทางข้ามช่องเขาติดต่อกับผู้คนในที่ราบในเครือข่ายของนครรัฐเจนลีฟู ซึ่งบันทึกถึงความรุ่งเรืองถึงขีดสุดในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งควรมีพื้นฐานมานานก่อนหน้านั้น

โบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่ฝังในไห พบทั้งพระบูชาและพระเครื่องและพระพิมพ์โลหะทั้งเนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อชินและเนื้อตะกั่วจำนวนมาก พระบูชาส่วนใหญ่เป็นเนื้อสัมฤทธิ์เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยในซุ้มเรือนแก้วใบระกาแบบพุกามที่ได้รับอิทธิพลปาละ แต่ที่มีอัตลักษณ์เด่นคือมีต้นไม้ที่อาจจะเป็นต้นสาละเลื้อยคลุมเหนือซุ้มใบระกาอีกที ฐานมีครุฑ สิงห์ แบก ซึ่งเลียนแบบฐานของสถาปัตยกรรมแบบทวารวดี

เช่นที่วัดหน้าพระเมรุ เมืองนครปฐมโบราณ พระพุทธรูปบ้างสวมเทริดขนนกแบบปาละ บ้างเป็นแบบอู่ทอง รวมทั้งมีพระพุทธรูปยืนแบบปางวิตรรกะและแบบปางประทานอภัยที่พบมาก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นางปรัชญาปารมิตา พระโพธิสัตว์วัชรธร เหวัชระทั้งเพศชายและหญิง พระนารายณ์และพระอิศวร ทั้งหมดนี้ได้รับอิทธิพลพระพุทธรูปแบบปาละ บางองค์สืบเนื่องจากสมัยทวารวดีค่อนข้างชัดเจน บางองค์มีลักษณะศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากเมืองพระนคร พระพุทธรูปและเทวรูปทำจากการหล่อสัมฤทธิ์ฝีมือแบบท้องถิ่น บ้างก็เป็นชิ้นที่มีความงามและความหมายมากดังที่พบบริเวณเมืองโบราณหลังเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น

หน้าที่ 16/18

ตัวอย่างกลุ่มพระพุทธรูปบูชาขนาดย่อมทำจากการหล่อแบบสัมฤทธิ์ที่ทำสืบมาแบบเถรวาทแบบเดิมทำเป็นพระพุทธรูปปางประทานธรรมและประทานอภัย พระพุทธรูปปางสมาธิ พบมากที่สุดคือมารวิชัย และต่อมาแบบมหายานอิทธิพลศิลปกรรมแบบปาละ เป็นพระทรงเครื่องสวมเทริด และต่อมาคือวัชรยานมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นางปรัชญาปารมิตา เหวัชระ พระนารายณ์ พระอิศวร และพระคเนศวรทำจากสัมฤทธิ์ พบทั่วพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงตามเส้นทางเศรษฐกิจคือกาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท และสิงห์บุรี และมีรายงานว่าพบอีกบางแห่งที่ห่างไกล เช่นที่ลพบุรี ปากช่อง โคราช เป็นต้น ถือเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว ภาพจากฐานข้อมูลภาพของอาจารย์มนัส โอภากุล เผยแพร่โดยการอนุญาตของครอบครัวโอภากุล 


พระพุทธรูปอันเป็นอัตลักษณ์เหล่านี้มักพบการฝังในไหแบบจีน และพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ ก็ฝังเป็นจำนวนมากในไหจากจีนเช่นกัน (คำบอกเล่าจากชาวบ้านผู้พบที่บ้านดอนกระโดน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท พบพระเครื่องพิมพ์ที่เรียกว่าพระร่วงซุ้มใบระกา หมายถึงพระปางประทานอภัยในซุ้มเรือนแก้ว พระพุทธรูปนั่งปางสมาธิและปางมารวิชัย ส่วนใหญ่เป็นเนื้อชินที่มีส่วนผสมตะกั่วมาก)

พระพุทธรูป เหวัชระ พระโพธิสัตว์ และนางปรัชญาปารมิตาที่เป็นพระบูชาขนาดย่อมๆ เหล่านี้ ล้วนสร้างขึ้นเนื่องในคติพุทธศาสนาแบบมหายานดั้งเดิมที่พัฒนามาเป็นแบบวัชรยานในเวลาต่อมา โดยแตกต่างไปจากพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่เป็นประติมากรรมทำจากหินทรายขนาดใหญ่ องค์ที่พบจากเนินทางพระน่าจะสร้างเลียนแบบพระโพธิสัตว์ทำจากหินทรายจากทางเมืองพระนคร ส่วนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีพบที่เมืองสิงห์ เมืองโกสินารายณ์ และที่ลพบุรี น่าจะสร้างขึ้นจากเมืองพระนครหรือทำด้วยฝีมือช่างหลวงที่แตกต่างไปจากฝีมือช่างท้องถิ่นแถบเนินทางพระ 

ดังนั้นวัฒนธรรมจากเมืองพระนครในช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จึงน่าจะได้รับอิทธิพลผ่านการนำแนวคิด ความเชื่อและการสร้างศาสนสถานในช่วงเวลาหลังจากรัชกาลนั้นหรือราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ไปแล้ว และในขณะนั้น บ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยากำลังเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจจากพ่อค้าชาวจีนที่เดินทางนำเอาทั้งเทคโนโลยีการผลิตเครื่องปั้นดินเผา นำสินค้าเช่นเครื่องปั้นดินเผาในสมัยราชวงศ์ซ่งเข้ามาแลกเปลี่ยนกับสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะที่มาจากป่าเทือกเขาสูงแบบเมืองร้อนและทรัพยากรจากแร่ธาตุอันเป็นพื้นฐานของบ้านเมืองที่ถูกเรียกว่า ‘สุวรรณภูมิ’  มีการทำเหมืองแร่เพื่อใช้ทั่วทุกภูมิภาคภายในและการส่งออก ส่งผลให้เกิดการเดินทางเข้ามาของคนหลากหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มคนไทย เช่น จารึกอักษรขอมแบบลุ่มเจ้าพระยาในภาษาไทยระบุชื่อ ‘พระยาไชยกร’  จากฐานที่ตั้งประติมากรรมทางศาสนาอันเป็นประธานของปราสาทเมืองสิงห์ ก็น่าจะเป็นข้าราชการชั้นสูงผู้ปกครองเมืองในครั้งนั้น  เป็นต้น

 
หน้าที่ 17/18

บทสรุป ‘เจนลีฟู’  คือบ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยาก่อนการเกิดสยามหรือเสียมในจดหมายเหตุจีน

จากหลักฐานและข้อสันนิษฐานของนักวิชาการทุกท่านที่เอ่ยนาม รวมทั้งข้อวิเคราะห์ผู้เขียนบทความนี้นำเหตุการณ์ในช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดกรุงศรีอยุธยาและเกิดการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางอย่างสมบูรณ์ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในนาม สยามประเทศ บ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยานั้นเป็นช่วงเวลานี้เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง มีการเข้ามาของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ในลักษณะการเป็นเมืองท่าทั้งภายในและภายนอก การค้ากับจีนนั้นถือเป็นเหตุสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและสร้างสมความรุ่งเรืองจนเกิดสหพันธรัฐขนาดเล็กในบริเวณตอนกลางระหว่างแม่น้ำน้อยและแม่น้ำสุพรรณ ซึ่งเรียกว่า เจนลีฟู ชื่ออันแท้จริงของบ้านเมืองแห่งนี้เราไม่ทราบว่าควรจะเป็นเช่นไร แต่เห็นได้ชัดว่าช่วงเวลาก่อนครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ขึ้นไปจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ หรือ ๑๖ อันต่อกับยุคศรีวิชัยที่เป็นรัฐการค้าทางทะเลและถือเป็นช่วงปลายสมัยทวารวดี มีความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวของผู้คนต่างชาติพันธุ์เข้ามาในดินแดนนี้ และในขณะเดียวกันก็รับอิทธิพลพุทธศาสนาแบบมหายานโดยเฉพาะจากปาละเข้ามาตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้ว

หลังจากครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ กลุ่มบ้านเมือง ‘เจนลีฟู’ น่าจะพัฒนามาเป็นบ้านเมืองที่ชื่อ ‘สุพรรณภูมิ’ ซึ่งกินพื้นที่รวมไปถึงชุมชนที่แม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่และตามลำน้ำแม่กลองด้วยส่วนหนึ่ง เมืองแพรกศรีราชาหรือสรรคบุรีส่วนหนึ่ง เมืองชัยนาทที่ปากแม่น้ำน้อยส่วนหนึ่ง รวมทั้งสัมพันธ์กับบ้านเมืองทางคาบสมุทร ส่วนเมืองสิงห์บุรีและเมืองพรหมบุรีเป็นเมืองในเครือข่ายรัฐละโว้ ที่เริ่มเข้ามาพัฒนาพื้นที่บริเวณปลายสุดของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่าบริเวณฝั่งเหนือและใต้ของแม่น้ำป่าสักที่เป็นกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา

มีการแบ่งแยกพื้นที่และอำนาจทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด ฟากทางตะวันตกจากทางรัฐสุโขทัย สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ลงไปถึงนครศรีธรรมราชทางฝ่ายจีนในสมัยราชวงศ์หยวนเรียกรวมๆ ว่า ‘เสียน' หรือ ‘สยาม' ส่วนทางฟากตะวันออกเรียกว่า ‘ละโว้’ และมีการบันทึกถึงการรวมกันของสองรัฐในปลายต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ใช้ชื่อว่า ‘เสียนหลอหู’ หรือ ‘เสียนโล้’ ที่กลายเป็น ‘เสียมหลอ’ ชื่อบ้านเมืองและผู้คนสยามสำหรับชาวจีนต่อมาอีกหลายศตวรรษ

เจนลีฟูคือการรวมตัวของบ้านเล็กเมืองน้อยในลุ่มเจ้าพระยาตอนบน เป็นรัฐแรกเริ่มคือในลุ่มเจ้าพระยาก่อนการเกิดสหพันธรัฐสยาม หรือเสียน หรือเสียมในจดหมายเหตุจีนนั่นเอง

คำสำคัญ : เจนลีฟู,สุพรรณภูมิ,แพรกศรีราชา,โบราณคดี,ประวัติศาสตร์


แผนที่แสดงเส้นทางน้ำ ชุมชน และเมืองโบราณ สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มนครรัฐ
เจนลีฟู ในลุ่มเจ้าพระยาตอนบน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
อีเมล์: [email protected]
เจ้าหน้าที่วิชาการของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เริ่มทำงานกับมูลนิธิฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ ทำโครงการนำร่องร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่ง ก่อนทำงานศึกษาท้องถิ่นร่วมกับชาวบ้าน และปัจจุบันกลับมาสนใจศึกษางานโบราณคดี
หน้าที่ 18/18