ผู้เข้าชม
0

ความสัมพันธ์ของภูกามยาวและหริภุญไชยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ : ร่องรอยจากเอกสารประวัติศาสตร์และหลักฐานโบราณคดี

พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ก่อนพญามังรายจะผนวกเมืองหริภุญไชยและสถาปนาเมืองเชียงใหม่ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นที่ตั้งของ ๓ อาณาจักรใหญ่คือ “หริภุญไชย” ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองลำพูน ในลุ่มแม่น้ำปิง-กวง “หิรัญนครเงินยาง” ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองเชียงแสนในลุ่มแม่น้ำกก และ “ภูกามยาว” ในลุ่มแม่น้ำอิงซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองพะเยา
20 มกราคม 2568


ความสัมพันธ์ของภูกามยาวและหริภุญไชยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ 
ร่องรอยจากเอกสารประวัติศาสตร์และหลักฐานโบราณคดี

วิวรรณ   แสงจันทร์

หน้าที่ 1/16

พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ก่อนพญามังรายจะผนวกเมืองหริภุญไชยและสถาปนาเมืองเชียงใหม่ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นที่ตั้งของ ๓ อาณาจักรใหญ่คือ “หริภุญไชย” ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองลำพูน ในลุ่มแม่น้ำปิง-กวง “หิรัญนครเงินยาง” ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองเชียงแสนในลุ่มแม่น้ำกก และ “ภูกามยาว” ในลุ่มแม่น้ำอิงซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองพะเยา

เอกสารประวัติศาสตร์กล่าวถึงการก่อตัวของเมืองหิรัญนครเงินยางว่า เกิดขึ้นเมื่อลวะจังกราชโอปาติกะจากดอยตุงมาสถาปนาเมืองหิรัญนครเงินยางขึ้นในแว่นแคว้นไชยวรนครเชียงลาวในลุ่มแม่น้ำกกขึ้นในจุลศักราชที่ ๑ (พ.ศ. ๑๑๘๑) (ประชากิจกรจักร, 2516: 224) และอีกราว ๒ ทศวรรษต่อมา พระนางจามเทวี ธิดาพระเจ้ากรุงละโว้จากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้เสด็จขึ้นมาครองเมืองหริภุญไชยในลุ่มแม่น้ำปิง (โพธิรังสี, 2463: 99) แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทั้ง ๒ แคว้น ซึ่งมีอาณาเขตใกล้ชิดกันและตั้งเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่ในช่วงเวลาไม่ห่างกัน แต่กลับไม่มีเอกสารประวัติศาสตร์ใด ๆ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัน

จนกระทั่งเวลาผ่านไปร่วม ๖๐๐ ปี พญามังรายผู้สืบเชื้อสายลวจังกราชจากลุ่มแม่น้ำกก จึงทราบเรื่องความมั่งคั่งของเมืองหริภุญไชยจากพ่อค้าที่ไปค้าขายที่เมืองฝาง จึงร่วมกับ “อ้ายฟ้า” ขุนนางชาวลัวะมาวางกุศโลบายกับพญายีบาจนสามารถผนวกเมืองหริภุญไชยได้ในที่สุด

ส่วนภูกามยาวหรือพะเยานั้น ในปัจจุบันพบเอกสารที่กล่าวถึงเมืองนี้ ๔ ฉบับคือ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๑ ซึ่งพิมพ์รวมอยู่ในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ที่นายสุด ศรีสมวงศ์ แปลไว้ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ (กรมศิลปากร, 2515) ตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติซึ่ง ในพ.ศ. ๒๕๒๖ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ได้ปริวรรตและพิมพ์เผยแพร่โดยศูนย์วัฒนธรรม จ.เชียงใหม่และวิทยาลัยครูเชียงใหม่ในชื่อ “ตำนานเมืองพะเยาและค่าวซอคำเล่นเป็นแท้” และ “ตำนานพื้นเมืองพะเยา” ซึ่งเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี ได้จัดพิมพ์ขึ้นจากการปริวรรตไมโครฟิล์มตำนานเมืองพะเยา ต้นฉบับของวัดศรีโคมคำจำนวน ๒ ฉบับ คือ ฉบับ ๖๒ หน้าลานและตรวจสอบกับฉบับ ๔๔ หน้าลาน โดยได้มีการนำตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติที่อรุณรัตน์ วิเชียรเขียวปริวรรตมาพิมพ์แนบไว้ในส่วนท้ายด้วย (เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี, 2557) 

ดังนั้นในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของภูกามยาวและหริภุญไชยในบทความนี้ จึงใช้คำว่า “ตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติ” แทนตำนานเมืองพะเยาที่อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ปริวรรต และใช้คำว่า “ตำนานเมืองพะเยาฉบับ ๖๒ หน้าลาน” แทน “ตำนานพื้นเมืองพะเยา” ที่เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี ปริวรรต

นอกจากนั้นเรื่องราวของภูกามยาวนี้ยังปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนกปริเฉทที่ ๑๑ ว่าด้วยลวะจังกราชสร้างเมืองเชียงลาว ทั้งนี้เอกสารทั้ง ๔ ฉบับ กล่าวถึงช่วงเวลาและเหตุการณ์ต่าง ๆ แตกต่างกัน การวิเคราะห์ในครั้งนี้จึงใช้ข้อมูลจากเอกสารทุกฉบับที่กล่าวถึงสอบทานกันร่วมกับตำนานเมืองหริภุญไชย

เรื่องราวของเมืองพะเยา เริ่มต้นตั้งแต่การโอปาติกะของลวะจังกราชมาครองเมืองเงินยาง มีการขยายเชื้อวงศ์ไปปกครองเมืองต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มแม่น้ำกก มีเชื้อสายปกครองต่อมาจนถึงขุนเงิน ซึ่งให้ขุนจอมธรรมบุตรชายองค์รองนำไพร่พลข้ามแม่น้ำกกมาฟื้นฟูเมืองภูกามยาว ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองร้าง บริเวณปลายดอยด้วน ทั้งนี้เอกสารต่าง ๆ ระบุตรงกันว่าเมื่อขุนจอมธรรมเข้ามาถึงภูกามยาวนั้น ได้ทำการตรวจสอบขอบเขตบ้านเมืองตามพื้นเมือง ซึ่งเป็นบันทึกการปกครองบ้านเมืองที่ขุนนางเมืองภูกามยาวนำมาถวาย

ดังนั้น ความเป็นเมืองร้างของภูกามยาวที่ปรากฏในเอกสารต่าง ๆ จึงไม่ได้หมายความถึงบ้านเมืองที่ถูกทิ้งให้ปรักหักพังเป็นป่าดงรกร้าง แต่หมายถึงเมืองที่ไม่รุ่งเรืองเหมือนก่อนเพราะร้างกษัตริย์ แต่ยังมีขุนนางเสนาทำหน้าที่ดูแลบ้านเมือง

ช่วงเวลาการเข้ามาฟื้นฟูภูกามยาวของขุนจอมธรรม

ตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติระบุว่า “เมื่อศักราชได้ ๓๔๘ ตัว มีเมืองอัน ๑ ทิสสะหนทักขิณ สักกะวัลราชหะ ท้าวพญาจักเสวิยราชสมบัติได้ เท้ามีขุนแสนแต่งบ้าน ขุนกว๊านแต่งเมือง แล ๑ ที่เมืองนั้นเป็นโกละหนมากนัก ที่นั้นยังมีพานิโช คือว่าพ่อค้าผู้ ๑ ชื่อว่าชายะเสน ก็พาเอาลูกค้าทั้งหลายหนีไปสู่เมืองเงินยาง ที่นั้นก็เอาประวัติข่าวสานอันนั้น อันเมืองพูกาม (ยาว) ที่นั้นหาท้าวพญาก็บ่ได้ นานได้ ๓ ปีล่วงแล้วว่าอั้น คำอันนั้นก็ฤาชาปรากฏไปทั่วเมืองเงินยาง ที่นั้นคำอันนั้นก็รอดหูท้าวตนชื่อว่าขุนเงิน...”  (เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี, 2557: 87-88)

จากเอกสารดังกล่าวแสดงว่าเมืองภูกามยาวร้างกษัตริย์ในจุลศักราช ๓๔๘ (พ.ศ. ๑๕๒๙) ต่อมาบ้านเมืองเกิดความวุ่นวายจากการปกครองของเหล่าขุนนาง นายพาณิชชายะเสน จึงอพยพครอบครัวจากเมืองภูกามยาวไปอยู่เมืองเงินยางนานได้ ๓ ปี ข่าวจึงล่วงรู้ถึงขุนเงินเจ้าเมืองเงินยาง จึงให้ขุนจอมธรรมเข้ามาฟื้นฟูในจุลศักราช ๓๙๙ (พ.ศ. ๑๕๘๐) (เรื่องเดิม, 113) ส่วนเอกสารอื่นนั้นกล่าวว่า หลังขุนจอมธรรมครองภูกามยาวได้ ๓ ปี พระเทวีจึงประสูติขุนเจือง ซึ่งเอกสารต่าง ๆ ระบุช่วงเวลาที่ขุนเจืองประสูติไว้ต่างกัน 

 

หน้าที่ 2/16

  ตาราง -๑ ลำดับช่วงเวลาที่เมืองภูกามยาวร้าง พื้นที่และเหตุการณ์สมัยขุนเจืองและปีที่ขุนจอมธรรมเข้ามาฟื้นฟูภูกามยาว

 

หมายเหตุ  1. จุลศักราช ๔๐๑ และ ๔๖๑ ตรงกับปีกัดเหม้า (ปีเถาะ เอกศก)
                 2. จุลศักราช ๔๒๑ ตรงกับปีกัดใค้ (ปีกุญ เอกศก)
หน้าที่ 3/16

ทั้งนี้อาจกล่าวตามข้อมูลเอกสารว่า เมืองภูกามยาวร้างกษัตริย์ในจุลศักราช ๓๔๘ (พ.ศ. ๑๕๒๙) ส่วนปีที่ขุนจอมธรรมเข้าฟื้นฟูเมืองพะเยานั้น เมื่อเทียบเคียงกับศักราชที่ขุนเจืองประสูติที่ระบุในตำนานทุกฉบับ พบว่ามีศักราชที่ต่างกันถึง ๓ ช่วงเวลาคือ พ.ศ. ๑๕๘๐ พ.ศ. ๑๖๐๐ และพ.ศ. ๑๖๔๐ ซึ่งน่าสังเกตว่า พ.ศ. ๑๕๘๐ และ พ.ศ. ๑๖๔๐ เป็นช่วงเวลาห่างกันถึง ๖๐ ปี หรือ ๑ รอบนักษัตร และเอกสารทั้งหมดที่อ้างถึงล้วนเป็นเอกสารทุติยภูมิ

จึงเป็นได้ว่าความไม่สอดคล้องของช่วงเวลาที่ปรากฏ อาจเกิดผู้คัดลอกในยุคต่อมาได้ระบุศักราชเพิ่มเติมจากต้นฉบับที่เดิมอาจกำหนดเวลาเป็นปีนักษัตร หรือระบุตามลำดับเวลาเป็น ปี เดือน เช่นเดียวกับตำนานมูลศาสนา หรืออาจเกิดจากต้นฉบับเดิมชำรุดทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการคัดลอกสืบต่อกันมาและปัจจัยอื่น ๆ

ตาราง – ๒ แสดงการวิเคราะห์ค่าอายุของแหล่งโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำกก-อิง ที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาในตำนาน

ที่มา : ปรับปรุงจาก สำนักโบราณคดีที่ ๗ เชียงใหม่. (๒๕๖๖). รายงานการขุดตรวจทางโบราณคดี เมืองโบราณเวียงจันจว้า ต.จันจว้าใต้ อ.แม่จัน จ.เชียงราย, บทที่ ๕, น. ๕-๕๘

อย่างไรก็ตามการขุดค้นทางโบราณคดีในชุมชนโบราณของอาณาจักรภูกามยาวใน ๒ แหล่ง คือแหล่งโบราณคดีดอยวง ในเขต อ.แม่สรวย หรือในอดีตคือเมืองหนองขวางและเมืองโบราณเวียงลอ อ.จุน มีผลการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ว่ามีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ปรากฏในเอกสาร แต่ด้วยพื้นที่ดำเนินการเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยจากขอบเขตของพื้นที่ที่พบร่องรอยทางโบราณคดี จึงทำให้ไม่สามารถลดทอนคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของข้อมูลชุดใดได้ จึงกำหนดให้ช่วงเวลาที่เมืองภูกามยาวร้างกษัตริย์อยู่ในช่วง พ.ศ. ๑๕๒๙ ตามตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติ จนถึง พ.ศ. ๑๖๓๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขุนจอมธรรมเคลื่อนย้ายเข้าปกครองภูกามยาว หรือเป็นช่วงเวลา ๓ ปี ก่อนขุนเจืองประสูติตามพงศาวดารโยนก ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗

เขตแดนอาณาจักรภูกามยาวปะทะหริภุญไชยในสมัยขุนจอมธรรม

ตำนานพื้นเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติระบุว่า หัวเมืองนอกของเมืองภูกามยาว ก่อนขุนจอมธรรมเข้ามาปกครองนั้นประกอบด้วย “ลอ เธิง หงาว เชียงแลง เชียงคำ ค่อม คา เงิม ออย ปง สะงาว แช่คอด แช่ลุง แช่หลวง แช่เหียง แช่คอด หนองขวาง แช่เชียง แช่หลวง แช่ห่ม แม่วัง แช่ทือ แช่ทาง วานเอียง” (เฉลิมวุฒิ, 2547: 97) ส่วนเอกสารอื่นระบุต่างกันเล็กน้อย โดยชุมชนที่สามารถระบุตำแหน่งได้ในปัจจุบันคือ คือ ลอ (ปัจจุบันคือเมืองโบราณเวียงลอ อ.จุน จ.พะเยา) เทิง หงาว (ปัจจุบันทั้ง ๒ เมืองนี้อยู่ในเขต อ.เทิง จ.เชียงราย) เชียงแลง (ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.ภูซาง จ.พะเยา) เชียงคำ (ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.เชียงคำ จ.พะเยา) ค่อม (เมื่อเทียบกับเอกสารอื่น ๆ สันนิษฐานว่าคือเมืองคอบ ในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) คา ออย งิม ปง (เมื่อเทียบกับเอกสารฉบับอื่น “เมืองคา” คือเมืองควร ปัจจุบันทั้ง ๔ เมืองนี้อยู่ในเขต อ.ปง จ.พะเยา) หนองขวาง (ปัจจุบันคือ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย) แช่ห่ม (ปัจจุบันคือ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง) เมืองวัง (ปัจจุบันคือ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง)

จะเห็นได้ว่าหัวเมืองนอกของเมืองภูกามยาวก่อนขุนจอมธรรมเข้ามาฟื้นฟูบ้านเมืองนั้นมีขอบเขตครอบคลุมแอ่ง อ.เทิง แอ่ง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย แอ่ง อ.ปง จ.พะเยา แอ่ง อ.วังเหนือ - อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง และเมืองคอบในเขต สปป.ลาว และเมื่อขุนจอมธรรมครองเมืองภูกามยาว ได้ขยายเขตแดนของเมืองภูกามยาวเพิ่มเติมจากแนวเขตเดิม “แต่เช่นท้าวตนนี้ปราบไปหนหอรดีมีดอยราผาก้อนเส้าเป็นแดน หินทักขิณมีประตูผาเป็นแดน หนอาคะไนมีดอยน้ำนะเป็นแดน หนบุพพมีดอยอู่ฟ้าเป็นแดน หนอิสานมีดอยยาวเป็นแดน หนอุตระมีน้ำทรี (แม่น้ำกก) เป็นแดน หนปัสสิมมีดอยรังกาเป็นแดนแล…” (เรื่องเดิม, 29-30) 

หน้าที่ 4/16


แผนที่แสดงอาณาเขตอาณาจักรภูกามยาวก่อนรัชสมัยขุนจอมธรรมตามตำนานเมืองพะเยา
หน้าที่ 5/16

ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เป็นช่วงที่ขุนจอมธรรมเข้ามาฟื้นฟูภูกามยาวและขยายอาณาเขตด้านทิศใต้ของเมืองไปชนกับเขตแดนของเมืองเขลางค์ที่ประตูผา (ปัจจุบันคือเทือกเขาประตูผาในพื้นที่รอยต่อของ อ.งาว และ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง) นั้น เมืองเขลางค์ยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรหริภุญไชย

จึงมีประเด็นที่น่าสังเกตคือในขณะที่ตำนานเมืองหริภุญไชยกล่าวถึงสงครามกับเจ้าต่างเมืองหลายครั้งแต่กลับ ไม่ปรากฏเอกสารใด ๆ กล่าวถึงสงครามระหว่างหริภุญไชยและภูกามยาว จึงเป็นได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว สถานการณ์ทางการเมืองของเมืองหริภุญไชยไม่เข้มแข็งนัก ขุนจอมธรรมจึงสามารถขยายอำนาจเข้าไปในเขตของเขลางค์นครโดยไม่เกิดการสูญเสียไพร่พลมากมายจนต้องถูกกล่าวไว้ในเอกสารประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์หริภุญไชยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗

ประวัติศาสตร์ของเมืองหริภุญไชยถูกกล่าวไว้ในเอกสาร ๕ ฉบับ คือ ตำนานมูลศาสนา จามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลินี ชินกาลมาลีปกรณ์ (ซึ่งแปลจากต้นฉบับเดียวกับชินกาลมาลินี) และพงศาวดารโยนก ทั้งนี้พระโพธิรังสีผู้รจนาจามเทวีวงศ์ได้กล่าวว่า “หริปุญชัยนิทเทศดังนี้ พระมหาเถรผู้มีนามว่าโพธิรังสี ได้แต่งไว้แล้วตามคำมหาจารึก” แสดงว่าพระโพธิรังสีได้แต่งจามเทวีวงศ์ขึ้นตามตำนานที่มีมาก่อนหน้านั้น

ต่อมาเมื่อล้านนาอยู่ในการปกครองของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีการแปลจามเทวีวงศ์ขึ้น แต่ผู้แปลพบว่าเนื้อความปริเฉทที่ ๔, ๕ และ ๖ ขาดไป จึงนำเนื้อความในชินกาลมาลีปกรณ์มาแทรกให้ครบถ้วน โดยเนื้อความแทรกที่สำคัญคือศักราช ที่ฤาษีวาสุเทพสร้างเมืองหริภุญไชย และพระเจ้าอาทิตยราชผู้สร้างพระธาตุหริภุญชัยขึ้นครองเมือง ดังนั้นศักราชที่ปรากฏในเอกสารทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าวจึงไม่ต่างกัน

ส่วนพงศาวดารโยนกนั้นเป็นเอกสารเพียงฉบับเดียวที่ระบุศักราชที่กษัตริย์ขึ้นครองเมืองหริภุญไชยถี่มากกว่าฉบับอื่น ๆ จึงเป็นได้ว่าพระยาประชากิจกรจักรอาจมีตำนานเมืองหริภุญไชยอีกฉบับหนึ่งซึ่งต่างจากจามเทวีวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ ทั้งนี้ตำนานทั้ง ๕ ฉบับ มีรายละเอียด และระบบบันทึกข้อมูลดังนี้

 

 

ตาราง -๓ แสดงศักราชที่ระบุในเอกสารต่าง ๆ

หมายเหตุ    1. ระบุการครองเมืองของกษัตริย์แต่ละองค์เป็นปี เดือน           
           2. ระบุการครองเมืองของกษัตริย์เป็นปี เดือน ระบุศักราชเฉพาะช่วงสร้างเมือง และการครองเมืองของพระเจ้าอาทิตยราช
                  3. ระบุการครองเมืองของกษัตริย์เป็นปี เดือน ระบุศักราชในรัชกาลพระเจ้าอาทิตยราชและรัชกาลอื่น ๆ ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในเมืองหริภุญไชย


จากตารางจะเห็นว่าจำนวนกษัตริย์และระยะเวลาการครองเมืองหริภุญไชยตั้งแต่รัชกาลพระนางจามเทวี-พระเจ้าอาทิตยราช แม้จะมีจำนวนกษัตริย์มาก/น้อย ต่างกันถึง ๓ รัชกาล แต่ก็มีช่วงเวลาต่างกันเพียง ๓-๔ ปีเท่านั้น ส่วนตำนานมูลศาสนานั้น แม้ไม่ระบุเวลาในระบบศักราช แต่มีการลำดับช่วงเวลาการครองราชย์ของกษัตริย์แต่ละรัชกาลด้วยจำนวนปี เดือน ทั้งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นยังคล้ายคลึงกับฉบับอื่น จึงเชื่อได้ว่าเหตุการณ์ที่บันทึกในตำนานมูลศาสนานั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ปรากฏในตำนานฉบับอื่น ๆ และเป็นไปได้ว่าจะเป็น ๑ ในคัมภีร์หลายฉบับที่พระรัตนปัญญาเถระใช้ในการเรียบเรียงชินกาลมาลีปกรณ์ และเห็นด้วยว่าน่าจะเป็นเอกสารที่มีอายุเก่าแก่กว่าฉบับอื่นดังเช่นนักปราชญ์หลายท่านเคยตั้งข้อสังเกตไว้ (แสง มนวิทูร, 2516, (16) และ กรมศิลปากร, 2482: ข)

นอกจากนั้น ระบบการบันทึกที่คล้ายคลึงกันของตำนานมูลศาสนา และจามเทวีวงศ์ได้เชื่อมโยงให้เห็นว่า ระบบการบันทึกเอกสารของชุมชนโบราณในลุ่มแม่น้ำปิงก่อนที่จะเกิดการคำนวณศักราชในคัมภีร์ ที่พระรัตนปัญญาเถระนำมาอ้างอิงไว้ในชินกาลมาลีปกรณ์นั้น มีจารีตการบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองโดยผูกช่วงเวลาเข้ากับการครองราชย์ของกษัตริย์แต่ละพระองค์ ซึ่งระบุเวลาด้วยจำนวนปี เดือน

หน้าที่ 6/16

ทั้งนี้จากการอ้างอิงศักราชการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอาทิตยราช ซึ่งพงศาวดารโยนกและชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่า ทรงขึ้นครองหริภุญไชยในราว พ.ศ. ๑๕๘๖-๑๕๙๐ หรือปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ พบว่าใกล้เคียงกับการร้างกษัตริย์ของเมืองภูกามยาวใน พ.ศ. ๑๕๒๙ และการเคลื่อนย้ายของขุนจอมธรรมมาครองภูกามยาวใน พ.ศ. ๑๕๘๐ ตามที่ปรากฏตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติ

สงครามระหว่างหริภุญไชยและกษัตริย์ต่างเมืองในพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗

ก่อนรัชกาลพระเจ้าอาทิตยราช เอกสารกล่าวถึงสงครามที่เป็นเหตุให้เกิดการเสียเมืองหริภุญไชยแก่เจ้าต่างเมืองหลายครั้ง สงครามครั้งใหญ่คือสงครามที่ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “สงครามสามนคร” ในครั้งนั้นเมืองหริภุญไชยยกทัพล่องแม่น้ำปิงไปรบกับละโว้ ส่วนทัพละโว้ยกมาตั้งรับที่ปลายแดนเมืองโดยไม่ทิ้งกำลังไว้รักษาเมือง จึงถูกพระยาสุธรรมวดี (สะเทิม) ยกมายึดเมืองไว้ได้ พระเจ้าละโว้และพระเจ้าหริภุญไชยเห็นว่าเข้าเมืองละโว้ไม่ได้ ต่างจึงเร่งยกพลขึ้นมาเมืองหริภุญไชย แต่พระเจ้าละโว้ยกพลมาทางบกจึงเข้าปกครองเมืองหริภุญไชยได้ก่อน

หลังจากนั้นมีเหตุการณ์เจ้าต่างเมืองยกทัพมายึดเมืองหริภุญไชยอีก ๒ ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงที่เมืองหริภุญไชยเกิดโรคระบาด และอีก ๑๐ ปีหลังจากนั้นจึงถูกมหาราชเมืองสัปปาลยกทัพมาปกครอง ซึ่งในกรณีเมืองสัปปาลนี้ พระยาประชากิจกรจักรสันนิษฐานว่าคือเมืองแสนหวีหรือยศมาลา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ที่ปรากฏใน “หมานซู” ที่บันทึกว่าชนเผ่าหมาน เคยยกทัพมาตีแคว้นกษัตริย์หญิงหรือเมืองหริภุญไชยในช่วงต้นรัชกาลพระนางจามเทวี ซึ่งวินัย พงศ์ศรีเพียร ได้วิเคราะห์ไว้ว่า “ชนเผ่าหมาน” คือน่านเจ้า (วินัย พงศ์ศรีเพียร, 2564: 19) รวมทั้งเหตุการณ์ที่พระเจ้าโก๊ะล่อฝง (พ.ศ. ๑๒๙๑-๑๓๒๒) แห่งอาณาจักรน่านเจ้ายกทัพตีเซียนฉวน (Siun-tchoan) หรือศรีเกษตร ในราว พ.ศ. ๑๓๐๖ (สำนักนายกรัฐมนตรี, 2510: (6)-(7) และ 32) แสดงว่าในช่วงเวลาดังกล่าวอาณาจักรน่านเจ้า ซึ่งตั้งอยู่บริเวณมณฑลยูนนานได้ขยายอำนาจเข้าครอบครองพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอิรวดีแล้วในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓

ดังนั้นการวิเคราะห์ของพระยาประชากิจกรจักรจึงมีความเป็นไปได้สูง ส่วน แสง มนวิทูร ให้ข้อสังเกตว่าอาจเป็นเมืองปั่นหรือที่ไทยเรียกว่ารัฐพาน ปัจจุบันอยู่ในเขตรัฐฉานประเทศพม่า (2501: 85) ทั้งนี้เมืองปั่นปรากฏชื่อในเอกสารว่าอยู่ในกลุ่มเมืองไทใหญ่ที่พญามังรายส่งขุนเครือราชโอรสองค์ที่ ๒ ไปปกครอง พวกไทใหญ่จึงสร้างเมืองให้ชื่อว่าเมืองนาย ซึ่งต่อมากลายเป็นศูนย์กลางทางการเมืองของเชื้อวงศ์ขุนเครือสืบต่อมาจนถึงสมัยพระเมกุฏิ ซึ่งถูกเชิญมาครองเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๐๙๘ (คณะกรรมการฯ, 2538: 42-43)

 

ส่วนการเสียเมืองหริภุญไชยให้แก่เจ้าต่างเมืองในครั้งก่อนหน้า เกิดขึ้นในช่วงเมืองหริภุญไชยประสบภัยโรคระบาดครั้งใหญ่  ทั้งนี้พงศาวดารโยนก ตำนานมูลศาสนาและจามเทวีวงศ์ระบุว่า ก่อนเกิดโรคระบาดนั้น เมืองหริภุญไชยถูกปกครองโดยพระยากมลราชและจากเนื้อความในเอกสารที่สอดคล้องกัน พระยากมลผู้นี้จึงน่าจะเป็นผู้เดียวกับพระเจ้ากัมพลในชินกาลมาลีปกรณ์และชินกาลมาลินี เอกสารส่วนใหญ่ระบุว่ากษัตริย์องค์นี้ครองราชย์ได้ ๒๐ ปี ๗ เดือน ก็สวรรคตพร้อม ๆ กับการเกิดโรคระบาดในเมืองหริภุญไชย

ส่วนพงศาวดารโยนกซึ่งเป็นเอกสารเพียงฉบับเดียวที่ระบุช่วงเวลาเป็นศักราช มีข้อความต่างไปว่าหลังสิ้นรัชกาลพระยากมลราช พระเจ้าจุเลระได้ขึ้นครองเมืองหริภุญไชยในจุลศักราช ๓๐๙ (พ.ศ. ๑๔๙๐) โดยไม่กล่าวถึงระยะการครองเมืองหริภุญไชยของพระเจ้าจุเลระ รวมทั้งไม่ปรากฏพระนามของพระองค์ในเอกสารฉบับอื่น จึงเป็นได้ว่าอาจครองเมืองในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แล้วสวรรคตไปพร้อมกับเหตุการณ์โรคระบาดร้ายแรง จนทำให้ชาวหริภุญไชยพากันอพยพไปยังสุธรรมวดี (สะเทิม) ต่อมาพระเจ้าพุกามได้ยกทัพมาตีเมืองสุธรรมวดีและกวาดต้อนผู้คนไปเมืองพุกาม ชาวเมืองหริภุญไชยจึงพาหนีกันไปอยู่หงสาวดี บ้างมีครอบครัวตั้งรกรากอยู่ในเมืองนั้น จน ๖ ปีให้หลัง เมื่อโรคระบาดสงบลง บางส่วนจึงอพยพกลับคืนมายังหริภุญไชยโดยมีชาวเมืองหงสาวดีติดตามมาด้วย

จึงเป็นเหตุให้เมืองหริภุญไชย “..มีวิธีอักขระหนังสือใช้ในเมืองนี้...” (ประชากิจกรจักร, 2516: 205) ทั้งนี้พระราชพงศาวดารพม่าระบุว่าทัพพุกามตีเมืองสุธรรมวดีในช่วงต้นรัชกาลพระเจ้าอนุรุทธ ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรพุกาม ซึ่งช่วงเวลาการขึ้นราชย์ของพระองค์นั้นอยู่ในราว พ.ศ. ๑๕๕๓-๑๕๙๕  (นราธิปประพันธ์พงศ์, 2550: 48)  หรือ พ.ศ. ๑๕๘๗-๑๖๒๐ (รุจยา อาภากร และนฤมล ธีรวัฒน์, 2551: 296-297) 

เป็นไปได้ว่าการกลับคืนสู่บ้านเมืองหลังโรคระบาดสงบลง เมืองหริภุญไชยไร้กษัตริย์และอ่อนกำลังจากการฟื้นฟูบ้านเมือง จึงถูกจักรพรรดิต่างเมืองพระองค์หนึ่งยกทัพมาโจมตีได้โดยง่าย จักรพรรดิผู้นี้ชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่ามาจากเมืองอติคุยปุระ (2501: 87) ตำนานมูลศาสนาว่ามาจากเมืองอภิภุยย (2482: 184) จามเทวีวงศ์ว่ามาจากเมืองถมุยนคร (2463: 252-253) ส่วนพงศาวดารโยนกอ้างตำนานลำพูนว่ามาจากทุรฆะรัฐะนคร (2516: 205)

ทั้งนี้ตำนานทุกฉบับกล่าวสอดคล้องกันว่าจักรพรรดิผู้นี้ปกครองเมืองหริภุญไชยได้ ๙ ปี ก็สวรรคตลง ดังนั้นหากยึดศักราชจากพงศาวดารโยนก ชาวหริภุญไชยอพยพหนีโรคระบาดไปเมืองสุธรรมวดีและหงสาวดีใน พ.ศ. ๑๔๙๐ 

หน้าที่ 7/16

และอพยพกลับมาราว พ.ศ. ๑๔๙๖ ในช่วงเวลาเดียวกับจักรพรรดิต่างเมืองเข้ามาปกครองเมืองหริภุญไชยและสวรรคตลงในราว พ.ศ. ๑๕๐๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการร้างกษัตริย์ของเมืองภูกามยาวใน พ.ศ. ๑๕๒๙ ตามตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติ ๒๔ ปี

เมื่อทำการสืบหาที่ตั้งเมืองด้วยการถอดความหมายของชื่อเมืองทั้ง ๔ ด้วยความอนุเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์หลายท่าน พบว่า คำว่า “อภิภุยย” นั้น แปลตามศัพท์บาลี หมายถึง พระนครที่ควรไปบ่อย ๆ (พระมหาสิทธิทัศน์ ปญฺญาสิริ, 11 มกราคม 2567) และปรากฏชื่อ “ดอยพุย” เป็นเขาลูกหนึ่งในอาณาเขตภูกามยาวซึ่งมีลำห้วยน้อยแห่งหนึ่งคือ “ห้วยแก้ว” (เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี, 2557: 102) ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณ ต.ห้วยแก้ว อ.ภูกามยาว ด้านตะวันออกของดอยด้วนในปัจจุบัน

นอกจากนั้นยังพบชื่อ “เวียงพูย” หรือ “เวียงภูยะ” ว่าเป็นเมืองที่พญามังรายโปรดให้มางคุ้มและมางเคียนลัวะ ๒ พี่น้อง ตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นที่มั่นในการตีเมืองเชียงตุง (กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2545: 131 และ 228)  ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หรือต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาห่างจากการเสียเมืองหริภุญไชยให้เจ้าต่างเมืองในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ มาก

ส่วน “อติคุยปุระ” แปลตามศัพท์บาลีได้ว่า สถานที่เต็มไปด้วยเหล็ก หรือไม้เสียบ หรือเหล็กแหลม (พระมหาสิทธิทัศน์ ปญฺญาสิริ, 14 ธันวาคม 2567)  จึงน่าจะหมายความถึงเมืองที่มีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้หรืออาวุธจากเหล็ก ประเด็นนี้แม้บริเวณเชิงเขาฝั่งตะวันออกของดอยด้วน จะสำรวจพบร่องรอยของอุตสาหกรรมการหล่อโลหะและทำเครื่องมือเหล็กคุณภาพสูงในหลายบริเวณ แต่ยังขาดบริบททางโบราณคดีที่จะเชื่อมโยงความสำคัญของแหล่งโลหะกรรมนี้ว่าเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเมืองพะเยาอย่างไร

ส่วนคำว่า “ถมุย” ในเชิงพื้นที่เป็นชื่อเมืองแห่งหนึ่งในรัฐอานธรประเทศ ประเทศอินเดีย (อุเทน วงศ์สถิตย์, 12 ธันวาคม 2567) ซึ่งในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ พื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ปัลลวะที่ส่งอิทธิพลทางศาสนาและศิลปะมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๗ โดยในประเทศไทยนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ศิลปะทวารวดีตอนปลาย” แต่หากแปลตามศัพท์ภาษาบาลี จะมีความหมายว่าลูกรัง (พระมหาสิทธิทัศน์ ปญฺญาสิริ, 11 มกราคม 2567) และหากเป็นภาษามอญมีความหมายว่า “หม้อ” (พงษ์เกษม  สนธิไชย, 17 ธันวาคม  2567) ดังนั้น “ถมุยนคร” ในภาษาบาลี จึงหมายถึงเมืองที่เต็มไปด้วยลูกรัง หรือแปลว่าเมืองที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตหม้อตามภาษามอญ   

 

ในเขตแดนของอาณาจักรภูกามยาว ปัจจุบันพบแหล่งผลิตภาชนะที่สำคัญอยู่ ๓ แหล่ง คือแหล่งเตาเวียงกาหลง แหล่งเตาพานและแหล่งเตาเวียงบัว  โดยแหล่งเตาเวียงกาหลงนั้นเป็นแหล่งผลิตภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ระดับอุตสาหกรรมครอบคลุมพื้นที่อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย และ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ทั้งนี้ผลการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์จากแหล่งเตาแม่เฮียว อ.วังเหนือ พบว่ามีการผลิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๔ (นนทรัตน์ นิ่มสุวรรณ, 2551: 51-55 และสายันต์ ไพรชาญจิตร, 2553: 194)
 


 ชามเคลือบเขียวแกมเหลือง ประทับลายสิงห์กลางสุริยมณฑล 
ลายเอกลักษณ์ของแหล่งเตาเวียงบัว ที่มา: สายันต์ ไพรชาญจิตร. (2567). เครื่องถ้วยพะเยา.

กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาพัฒนาโบราณคดีชุมชน. น. 49 
หน้าที่ 8/16

อย่างไรก็ตามมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าแหล่งเตาเวียงกาหลงนี้อาจเป็นที่เดียวกับเมืองแช่สัก แหล่งผลิตภาชนะสำคัญในสมัยพญากือนา (ศิลปวัฒนธรรม, 2542: 50-53) ซึ่งหากเป็นดังที่ผู้สันนิษฐานไว้แล้วนั้น แสดงว่าเตาเวียงกาหลงน่าจะสามารถผลิตภาชนะชั้นดีได้แล้วตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ หรือก่อนหน้านั้น

อีกแหล่งคือแหล่งเตาพาน อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งปัจจุบันยังมีการศึกษาเพียงเล็กน้อยและกำหนดอายุโดยการศึกษาเปรียบเทียบว่ามีช่วงการผลิตอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ และที่สำคัญมีอายุใกล้เคียงกับช่วงเวลาในตำนานคือแหล่งเตาเวียงบัว ตั้งอยู่บริเวณเมืองโบราณเวียงบัว ต.แม่ต๋ำ อ.เมืองพะเยา เป็นแหล่งผลิตภาชนะที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของอาณาจักรภูกามยาว

ซึ่งได้มีการสำรวจพบการกระจายตัวของเตาเผาในพื้นที่ประมาณ ๔ ตารางกิโลเมตร แต่มีการขุดค้นทางโบราณคดีเพียง ๓ เตา คือเตาพ่ออุ้ยแต๋ง และเตาเก๊ามะเฟือง ๑-๒  โดยมีการนำถ่านที่เกิดจากกระบวนการใช้งานครั้งสุดท้ายของเตาเก๊ามะเฟือง-๑ ไปกำหนดอายุด้วยวิธี C-๑๔ พบว่ามีค่าอายุอยู่ใน พ.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๔๔ ร่วมสมัยกับรัชกาลพญางำเมือง

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตานี้ มีการตกแต่งด้วยลวดลายพิเศษ เช่น สิงห์ ช้าง ม้า นกยูง พระอาทิตย์และลายมงคลต่าง ๆ เช่น ธรรมจักร ก้นหอย อนันตวัฏฏะ ศรีวัตสะ นกยูง ซึ่งมีความงดงามและสื่อให้เห็นถึงเทคนิคขั้นสูงและความหมายที่เป็นสิริมงคล รูปแบบการตกแต่งเช่นนี้ไม่พบจากแหล่งเตาใด ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน รวมทั้งยังไม่เคยพบชิ้นส่วนภาชนะกลุ่มนี้ในแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ ในประเทศไทยรวมทั้งใน จ.พะเยา

จึงน่าจะถูกผลิตเพื่อใช้เป็นภาชนะที่ใช้ในพิธีกรรมหรือราชสำนักของเมืองภูกามยาวและน่าจะยุติการผลิตไปเมื่อสิ้นรัชกาลพญางำเมืองหรืออย่างช้าเมื่อเมืองภูกามยาวถูกปกครองโดยเมืองเชียงใหม่ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ส่วนช่วงเวลาเริ่มผลิตภาชนะของแหล่งเตานี้ จะร่วมสมัยกับอาณาจักรหริภุญไชยและเป็นเหตุให้ชาวมอญในหริภุญไชยเรียกภูกามยาวว่า “ถมุยนคร” หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป  

ส่วน “ทุรฆะรัฐะนคร” นั้น พระยาประชากิจกรจักร ได้มีวงเล็บไว้ว่า (เมืองยาว) และทำเชิงอรรถขยายความไว้ว่า “น่าจะเป็นเมืองเชียงรุ้ง เพราะเชียงรุ้งแปลว่ายาวและไกล” นอกจากนั้นยังระบุว่า “ตำนานทั้งหลายเรียกเมืองเชียงรุ้งว่า อาฬวีรัฏฐะ สมมุติว่าเมืองอาฬวกยักษ์ บางแห่งเรียกว่า อภิทุรฆะรัฏฐะ บ้าง”   (2516: 15, 205) 

แต่ ทวี สว่างปัญญากูร ระบุว่าเมืองเชียงรุ้งมีชื่อเป็นภาษาบาลีไว้ว่า“สิริวิสุภวภต” ส่วนตำนานพื้นเมืองสิบสองพันนาเรียก อารวี อาฬวี หรือ อาลโวสวนตาล (2529: 8) ทั้งนี้ตำนานกล่าวถึงประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวสิบสองปันนาย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล แต่เริ่มลำดับรายพระนามและช่วงเวลาของกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองในสมัยพญาเจิงซึ่งประสูติใน พ.ศ. ๑๕๕๐ ขึ้นครองเมืองเชียงรุ่งใน พ.ศ. ๑๕๘๕ และสวรรคตใน พ.ศ. ๑๖๓๖

ชามเคลือบเขียว ประทับรูปนก อาจเป็นหงส์หรือฟีนิกซ์ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์
ของชาวจีนและชาวเอเชียตะวันออก ยืนกางปีกกลางสุริยมณฑล
เป็นลายเอกลักษณ์ของแหล่งเตาเวียงบัว 
ที่มา: สายันต์  ไพรชาญจิตร. (2567). เครื่องถ้วยพะเยา.
กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาพัฒนาโบราณคดีชุมชน. น. 72
หน้าที่ 9/16

เมื่อพิจารณาลักษณะการแปลศัพท์ภาษาบาลีเป็นภาษาไทยในชินกาลมาลีปกรณ์ พบว่ามีทั้งการแปลตามความหมายเช่น “ลุททบรรพต” แปลว่า ภูเขาซึ่งเป็นที่อยู่ของคนหยาบช้าหรือคนร้ายกาจ หมายถึงพรานล่าสัตว์ จึงแปลเป็นภาษาไทยว่า “ดอยพราน” แปลตามชื่อเช่น พิงฺคนที แปลว่าแม่น้ำปิง และแปลตามลักษณะที่โดดเด่นเช่น “หลิททวัลลินคร” หรือเมืองศรีสัชนาลัยของอนุสิสฤาษีว่า “เมืองขมิ้นเครือ”

ดังนั้น จึงเป็นได้ว่า “ทุระฆะรัฐะ” ที่พระยาประชากิจกรจักรแปลว่า “เมืองยาว” นั้น มีหลักการแปลเช่นเดียวกับชินกาลมาลีปกรณ์ คือเป็นการแยกศัพท์ภาษาบาลี ๒ คำคือ ทุระฆะ+รัฐะ โดยแปลตามศัพท์ภาษาบาลีของ “ทุระฆะ” ว่า “ยาว,ไกล” และ “รัฐ” ว่า “เมือง” 

“ทุระฆะ” เป็นรากศัพท์ของคำว่า “ทีฆะ” แปลตามศัพท์ภาษาบาลีว่า “ยาว นาน” ซึ่งจัดอยู่ในประเภท “คำวิเศษณ์” ทั้งนี้หลักภาษาไทยได้จำแนกการใช้คำวิเศษณ์ออกเป็น ๑๐ ประเภท ซึ่งเมื่อพิจารณาจากคำขยายความในเชิงอรรถของพระยาประชากิจกรจักร ที่ระบุว่า “เชียงรุ้ง แปลว่า ยาว ไกล” ท่านคงแปล คำว่า “ทุระฆะ” ให้อยู่ในบริบทของคำวิเศษณ์ประเภท “สถานวิเศษณ์”  ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์บอกสถานที่ เช่น ใกล้ ไกล บน ล่าง เหนือ ใต้ ฯลฯ จึงแปลความหมายของคำ “ทุระฆะรัฐ” ว่าเมืองยาว และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองเชียงรุ้ง “เพราะเชียงรุ้งแปลว่ายาวไกล”

แต่หากแปลคำว่า “ยาว” ในบริบทคำวิเศษณ์ประเภท “ลักษณวิเศษณ์” ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ที่ใช้บอกลักษณะต่าง ๆ เช่น สี ขนาด สัณฐาน ฯลฯ แล้ว คำว่า “ทุระฆะรัฐ” จะหมายถึงเมืองที่มีผังเมืองรูปทรงยาวหรือตั้งอยู่ในชัยภูมิที่มีสัณฐานยาวเป็นลักษณะโดดเด่นก็ได้

ชื่อเมือง “ภูกามยาว” มาจากการสมาสของคำ ๓ คำ คือ ภู+กาม+ยาว พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม) เคยรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับที่มาของชื่อนี้ไว้ว่า “ภู” หมายถึงภูเขา ส่วนคำว่า“กาม” เพี้ยนมาจาก “คาม” หมายถึงบ้านหรือหมู่บ้าน ส่วนคำว่า “ยาว” เป็นสถานวิเศษณ์ขยายนาม ๒ คำข้างต้น เมื่อรวมกันแล้วจึงมีความหมายว่า บ้านที่เรียงรายไปกับภูเขายาว (2552: 10)

ต่อมาได้เปลี่ยนจากชื่อภูกามยาวเป็น “พยาว” ในช่วงเวลาใดไม่ปรากฏ แต่ชื่อ “พยาว” นั้น เริ่มพบเป็นหลักฐานที่กำหนดช่วงอายุได้ ในจารึกกษัตริย์ราชวงศ์มังราย (ลพ.๙ พ.ศ. ๑๙๕๔) นอกจากนั้นยังพบในกลุ่มเงินเจียงของเมืองพะเยาซึ่งมีการประทับอักษรฝักขามเป็นชื่อเมือง “พยาว” “พย” และ “ยาว” ด้วย             

 

ดังนั้น หาก “ทุระฆะรัฐ” ถูกใช้ในบริบทของคำ “ลักษณะวิเศษณ์” ดังสันนิษฐานแล้ว เมืองนี้น่าจะหมายความถึงเมืองภูกามยาว ซึ่งตั้งอยู่ปลายดอยด้วนหรือดอยชมภู ซึ่งตั้งอยู่กลางอาณาจักรภูกามยาว เป็นภูเขาขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ อ.แม่ใจ ภูกามยาว อ.เมือง จ.พะเยา อ.ป่าแดด และอ.พาน จ.เชียงราย สัณฐานของเขาลูกนี้มีลักษณะเด่นคือ หัวดอยค่อนข้างลาดชัน ทำให้ดูคล้ายถูกตัดให้ตรงซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อ “ดอยด้วน” และยอดดอยวางตัวในแนวระนาบทำให้มีลักษณะโดดเด่นแตกต่างจากภูเขาอื่น ๆ ในภาคเหนือ

จึงเป็นจุดสังเกตของนักเดินทางที่ถูกกล่าวถึงในเอกสารประวัติศาสตร์หลายครั้ง เช่น ในครั้งพระเจ้าไชยศิริอพยพหนีทัพเมืองสุธรรมวดี “ก็พากันหนีไปทางตะวันออก ล่องใต้ไปทางเมืองผาหมื่นผาแสน แล้วล่องไปทางตะวันออกเข้า (เขา) ชมพูคือว่าดอยด้วนนั้น อยู่บ่ได้ กลัวข้าศึกจะติดตามทันก็พากันหนีไปทางตะวันออกได้เดือนหนึ่ง ก็ไปถึงที่พระยาพรหมราชตนพ่อแห่งท่านไล่ขอมไปถึงที่นั้น...”

และเป็นได้ว่าเส้นทางอพยพของพระเจ้าไชยสิริจะเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางขับไล่ขอมของพระเจ้าพรหมผู้เป็นบิดาที่ตำนานฉบับเดียวกันกล่าวว่า “ส่วนพรหมกุมารท่านก็ขี่ช้างพานคำตัวกล้าพาเอาคนหาญไล่ติดตามกำจัดพระยาขอมดำและบริวารทั้งหลาย ลำดับผ่านบ้านมิลักขุทั้งหลายไปไกลยิ่งนัก...พ้นจากเขตแดนพ่อของตนไปได้เดือนหนึ่งถึงแดนเมืองลวะรัฐ...” (มานิต วัลลิโภดม, 2516: 82-92)

นอกจากนั้นในครั้งขุนจอมธรรมยกพลจากเมืองเงินยางมายังภูกามยาวยังใช้เส้นทางผ่านบ้านเชียงเคี่ยนเลียบหัวดอยด้วน – ทุ่งลอ มาตั้งมั่นที่บ้านกว๊าน (ปัจจุบันอยู่ในเขต ต.ดงเจน อ.ภูกามยาว) ก่อนเข้าฟื้นฟูเมืองภูกามยาว รวมทั้งอยู่ในเส้นทางทัพของขุนเจืองไปยังเมืองเงินยางโดยมีการตั้งบ้านแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเมืองแช่พรานในเวลาต่อมา (เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี, 2545: 90-113)

จากการวิเคราะห์ภูมินาม รวมทั้งความสอดคล้องของเวลาที่ปรากฏในตำนานเมืองหริภุญไชยและตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติเป็นไปได้ว่า “ทุรฆะรัฐ” คือภูกามยาว และเป็นไปได้ว่าหลังจากพระเจ้าจักรวรรดิราชไปครองเมืองหริภุญไชยในพ.ศ. ๑๔๙๖ ได้มอบหมายให้เชื้อวงศ์ปกครองเมืองภูกามยาว ด้วยช่วงเวลาและเหตุการณ์ที่สอดคล้อง จึงเป็นไปได้ว่าต่อมาเชื้อวงศ์ที่ครองเมืองภูกามยาวได้สวรรคตไปโดยไม่มีรัชทายาทสืบต่อราชวงศ์ จึงเกิดการเคลื่อนย้ายของขุนจอมธรรมจากเมืองเงินยางมาตั้งมั่นฟื้นฟูเมืองภูกามยาว และขยายอาณาเขตด้านทิศใต้ไปจนจรดประตูผาได้สำเร็จ โดยปราศจากการต่อต้านจากทัพเมืองเขลางค์และหริภุญไชย 

หน้าที่ 10/16

ส่วนการเรียกพระนามกษัตริย์ผู้นี้ว่า พระเจ้าจักรพรรดิ หรือ พระเจ้าจักรวรรดิราชนั้น เมื่อพิจารณาร่วมกับตำแหน่งหัวเมืองนอกของภูกามยาวที่สืบค้นได้ แสดงให้เห็นว่าขอบเขตของอาณาจักรภูกามยาวก่อนรัชสมัยของขุนจอมธรรมนั้น มีความกว้างใหญ่ไม่น้อยกว่าหริภุญไชยและหิรัญนครเงินยาง จึงเป็นไปได้ที่ตำนานเมืองหริภุญไชยจะถวายพระนามกษัตริย์ผู้ครองเมืองภูกามยาวนี้ว่า “พระเจ้าจักรพรรดิ” สอดคล้องกับการพบร่องรอยความเชื่อมโยงของคำบาลี “ฑีฆรัฏฐะ” ว่าคือคำขยายนามของเมืองพะเยาที่พบจากพับสาที่เขียนขึ้นในยุครัตนโกสินทร์หลายฉบับ เช่นพับสาของวัดศรีโคมคำ เรื่อง “ขอฝนจิมพระเจ้าห้าตน” ของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา
 


พระพิมพ์ดินเผาในกลุ่มพระตรีกาย ศิลปะหริภุญไชย
อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พบบริเวณเวียงอ้อย อำเภอแม่ใจ
ปัจจุบันจัดแสดงในหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ 

 

หน้าพับสาที่ ๔๓ เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “พับของธ่านเจ้าครูบา ชื่อ สีวิราศ วชิรปัญา เวียงภยาว ทีฆรัฏฐ หัวเมืองภเยาไจ” และหน้าพับสาที่ ๖๓ เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “รอดจุฬสกฺกราชได้ย ๑๒๕๖ ตัว ปลีกาบสง้า ข้าภเจ้าภยาเทพฺพอุณดร เมิงทีฆรัฏฐภยาว ไดยร่ายกดหมายอันนี้ไว้ย” รวมทั้งพับสาเรื่อง โอกาส/ปริวาร ฯลฯ หน้าพับที่ ๗ (หัวข้อเกณฑ์เมืองนามเมือง) มีการใช้คำระบุนามเมืองพยาวว่า “เมืองทีฆรัฏฐพรยาว” รวมทั้งยังพบคำว่า “ทีฆรัฏฐพรยาว” จากใบลานที่พบในวัดปงสนุกเหนือ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นเคยเป็นศูนย์กลางของชาวพะเยาที่อพยพหนีศึกพม่าไปอยู่เมืองลำปางใน พ.ศ. ๒๓๓๐ (ชาญคณิต อาวรณ์, อภิรดี เตชะศิริวรรณ, 27 ธันวาคม 2567)
 


พระพิมพ์ดินเผาในกลุ่มพระคงศิลปะหริภุญไชย
อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พบในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยา
ปัจจุบันจัดแสดงในหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ 
หน้าที่ 11/16

ทั้งนี้นอกจากข้อมูลเอกสารที่เชื่อมโยงให้เห็นว่า ทุระฆะรัฐ คือภูกามยาวหรือเมืองพะเยาแล้ว ยังพบโบราณวัตถุสถานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหริภุญไชยและภูกามยาวจำนวนมาก เช่นพระพิมพ์ดินเผาแบบหริภุญไชยแบบต่าง ๆ อย่างไรก็ตามโบราณวัตถุกลุ่มนี้อาจถูกพกพาเข้ามาตามความเชื่อของผู้คนตามเส้นทางคมนาคมและการค้า แต่ที่สำคัญและเป็นหลักฐานเด่นชัดว่ามีผู้คนในวัฒนธรรมหริภุญไชยใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ จ.พะเยา คือ การได้พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาในกลุ่มหม้อบรรจุกระดูกในวัฒนธรรมหริภุญไชยอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ บริเวณกว๊านพะเยา 
 


จารึกอักษรธรรมล้านนา อิทธิพลอักษรมอญ ภาษาบาลี
พบที่เมืองโบราณเวียงห้าว อำเภอพาน 
จังหวัดเชียงราย
ที่มา: https://www.facebook.com/Lanna.SRIinCMU

รวมทั้งการพบจารึกอักษรมอญจำนวน ๓ ชิ้น คือ จารึกพระอภิธรรมสังคินีลานเงิน อายุราว พ.ศ. ๒๐๐๐ จากโบราณสถานแห่งหนึ่งในบริเวณทุ่งลอในอาณาบริเวณของเมืองโบราณเวียงลอ อ.จุน (กรมศิลปากร, 2503: 207) และศิลาจารึกปฏิจจสมุปบาท อักษรธรรมล้านนาที่มีร่องรอยว่าคลี่คลายมาจากอักษรมอญ ๒ ชิ้น ที่เวียงห้าวหรือเมืองแช่พรานบริเวณเชิงดอยด้วนฝั่งตะวันตกในเขตอ.พาน จ.เชียงราย และที่เมืองโบราณเวียงลอ อ.จุน จ.พะเยา 

และที่สำคัญคือเจดีย์องค์ในของวัดพระธาตุลานเตี้ย (ร้าง) ต.ห้วยแก้ว อ.ภูกามยาว บริเวณที่ลาดเชิงดอยด้วนฝั่งตะวันออก ซึ่งแสดงลักษณะสถาปัตยกรรมส่วนองค์ระฆังคอดกิ่วเช่นเดียวกับรัตนเจดีย์ วัดจามเทวี เมืองหริภุญไชย และเจดีย์สมัยทวารวดีอีกหลายองค์ในภาคกลาง แต่ลักษณะของปลียอดเป็นบัวคว่ำคั่นด้วยท้องไม้ที่ซ้อนเหลื่อมกันขึ้นไปนั้น ยังไม่พบในสถาปัตยกรรมของเจดีย์ที่ปรากฏในประเทศไทยปัจจุบัน 
 


จารึกอักษรธรรมล้านนา อิทธิพลอักษรมอญ ภาษาบาลี พบที่เมืองโบราณเวียงลอ
อำเภอจุน จังหวัดพะเยา 
เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ พบในอุโบสถวัดศรีปิงเมือง พ.ศ. ๒๕๔๕

หน้าที่ 12/16

แต่พบว่ามีความคล้ายคลึงกับ “ฉัตรวลัย” ที่ปรากฏในสถาปัตยกรรมประเภทสถูปที่ปรากฏร่วมกับประติมากรรมพระพิมพ์แบบต่าง ๆ ในศิลปะทวารวดี เช่น พระพิมพ์ดินเผาที่พบที่เมืองโบราณศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี และเมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี รวมทั้งยอดสถูปดินเผาที่พบในเมืองโบราณบ้านคูเมืองอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ฯลฯ ซึ่งมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖

ในเชิงภูมิศาสตร์ อาณาจักรหริภุญไชยและภูกามยาวมีเขตแดนติดต่อกันกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร จึงเป็นได้ว่าก่อนการยึดครองหริภุญไชยของกษัตริย์จากเมืองภูกามยาวหรือ “ทุรฆะรัฐ” นั้น ชุมชนทั้ง ๒ มีการปฏิสัมพันธ์กันอยู่ก่อนแล้ว โดยปรากฏหลักฐานคือโบราณวัตถุสถานหลายช่วงอายุที่พบในพื้นที่ เส้นทางคมนาคมสำคัญที่ถูกใช้สืบต่อมาจนปัจจุบัน คือช่องทางประตูผา
 


เจดีย์องค์ในวัดพระธาตุลานเตี้ย ตำบลห้วยแก้ว อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา
มีส่วนองค์ระฆังคอดกิ่ว ปล้องไฉนแบบฉัตรวลัย แสดงอิทธิพลปาละ

โดยมีหลักฐานคือแหล่งภาพเขียนสีและแหล่งฝังศพประตูผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่เชื่อมโยงให้เห็นว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ สอดคล้องกับจารึกบนแผ่นไม้ไม่ต่ำกว่า ๕ แผ่น ที่มีข้อความระบุว่าบริเวณนี้เป็นด่านระหว่างเขตแดนของเมืองลำปางและเมืองพะเยามาตั้งแต่ต้นราชวงศ์มังราย และอีกเส้นทางคือเลียบแม่น้ำวังจากเมืองลำปางมายัง อ.แจ้ห่ม ซึ่งสอดคล้องกับตำนานพระแก่นจันทน์แดงที่มีเส้นทางเคลื่อนย้ายจากสุวรรณภูมิ มาเมืองตาก ผ่านลำปาง มาประดิษฐานที่แจ้ห่มและพะเยาก่อนที่จะถูกนำไปประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่แล้วหายสาบสูญไป 



พระพิมพ์ดินเผา ประทับนั่งวชิรประภา ศิลปะหริภุญไชย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘
พบจากวัดร้างแห่งหนึ่งในเขตบ้านห้วยแก้วหลวง ตำบลดงเจน อำเภอภูกามยาว
ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี)  

 
หน้าที่ 13/16

ส่วนในเชิงประวัติศาสตร์แม้ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ตำนานเมืองหริภุญไชยและหิรัญนครเงินยางจะไม่กล่าวถึงภูกามยาว แต่ร่องรอยจากเหตุการณ์ครั้งขุนจอมธรรมเข้าฟื้นฟูภูกามยาว ได้แสดงให้เห็นว่า อย่างช้าในช่วงเวลาดังกล่าวภูกามยาวเป็นอาณาจักรที่มีขอบเขตชัดเจนและกว้างใหญ่ จึงอาจเป็นคำตอบได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่ตำนานกลุ่มเมืองเชียงแสนและกลุ่มเมืองหริภุญไชยไม่กล่าวถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเพราะมี “อาณาจักรภูกามยาว” คั่นไว้นั่นเอง



ประติมากรรมปูนปั้นศิลปะหริภุญไชย พบประดับอยู่บริเวณฐานเจดีย์วัดโพธิงาม ตำบลฝั่งหมิ่น
อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี)
ที่มา: เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ. ศิลปวัตถุที่พบในเมืองพะเยา. 2561


ส่วนหนึ่งของเศษภาชนะดินเผา ในวัฒนธรรมหริภุญไชย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗
เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ พบจากการสำรวจในกว๊านพะเยา ใน พ.ศ. ๒๕๖๑



ส่วนหนึ่งของเศษภาชนะดินเผา ในวัฒนธรรมหริภุญไชย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗
เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ พบจากการสำรวจในกว๊านพะเยา ใน พ.ศ. ๒๕๖๑
หน้าที่ 14/16

ขอขอบคุณ 

พระมหาสิทธิทัศน์ ปญฺญาสิริ ปธ.๗ วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา
พระครูสมุห์สุวิทย์ กลฺยาณธมฺโม ศูนย์วิปัสสนาวิสุทธิมรรค ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา
รศ.ว่าที่ ร.ต. ดร.ชาญคณิต อาวรณ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
ดร.อภิรดี เตชะศิริวรรณ นักวิจัยโครงการโครงการจัดตั้งศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.อุเทน วงศ์สถิต ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
พงศ์เกษม สนธิไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและอักษรมอญโบราณ
ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
จีรศักดิ์ เดชวงศ์ญา นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมล้านนา
เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ นักวิชาการอิสระด้านพะเยาศึกษา
พงศธร บัวคำปัน ผู้ช่วยวิจัยสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ (EFEO) ศูนย์เชียงใหม่

เอกสารอ้างอิง

กนกพร นุ่มทอง. (2563). “หลักฐานล้านนาในเอกสารโบราณจีน : บันทึกเกี่ยวกับอาณาจักรสนมแปดร้อยในพงศาวดารหมาน พงศาวดารราชวงศ์หยวน พงศาวดารราชวงศ์หยวนฉบับใหม่และเจาปู๋จ่งลู่.” วารสารจีนศึกษา, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 157-227.

กรมศิลปากร. (2515). ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางสมานทะเบียนกิจ (น้อม สัจจะเวทะ) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2515. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร: ชวนพิมพ์.

กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์. (2550). พระราชพงศาวดารพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา.

กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. (2545). ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษกเล่ม 7. ม.ป.ท.

 

 

 

โขมศรี  แสนจิตต์. (2552). "เมืองโบราณหริภุญไชย จากหลักฐานโบราณคดี." วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี สมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี  บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. (2557). ตำนานพื้นเมืองพะเยา. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่: นครพิงค์การพิมพ์.

ทวี สว่างปัญญากูร. (2519). ตำนานพื้นเมืองสิบสองพันนา. จัดพิมพ์เป็นลำดับ 10 ในโครงการตำรามหาวิทยาลัย ดำเนินการโดยห้องจำหน่ายหนังสือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่: มิตรนราการพิมพ์.

นนทรัตน์ นิ่มสุวรรณ. (2551). "การกำหนดอายุของอิฐจากแหล่งเตาเวียงกาหลง บริเวณอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน (Thermoluminescence Dating)." การศึกษาเฉพาะบุคคลตามหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร.

บุษกร หนูนิล. (2530). "การศึกษาเมืองโบราณบ้านประตูชัย ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา." วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร

ธรรมวิมลโมลี, พระ. ปริวรรต. สมหมาย เปรมจิตต์, ตรวจสอบชำระ (2538). ตำนานเมืองเชียงแสน. ศิลปวัฒนธรรมจัดพิมพ์ถวาย เนื่องในงานฉลองสมณศักดิ์ พระธรรมวิมลโมลี 11 มิถุนายน 2538. กรุงเทพฯ: พิฆเณศ พริ้นติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด.

ประชากิจกรจักร, พระยา. (2516). พงศาวดารโยนก. กรุงเทพ: คลังวิทยา.

พุทธพุกาม, พระ. แลพระพุทธญาณ. (2482). ตำนานมูลศาสนา. นายพันตำรวจเอก พระยาทรงพลภาพ พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานประชุมเพลิงศพ คุณหญิงทรงพลภาพ (ชุน พลธร) ณ เมรุวัดจักรวรรดิราชาวาส วันที่ 3 ธันวาคม 2482. พระนคร: ยิ้มศรี.

รัตนปัญญาเถระ, พระ. (แต่ง). แสง มณวิฑูร (แปล) (2501). ชินกาลมาลีปกรณ์. พิมพ์ครั้งแรก. กรมศิลปากร

 

 

 

หน้าที่ 15/16

เอกสารอ้างอิง (ต่อ)

มานิต วัลลิโภดม. (2516). ตำนานสิงหนวติกุมาร ฉบับสอบค้น. พิมพ์ครั้งแรก. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี.

โพธิรังสี, พระ. แต่ง. (2473). จามเทวีวงษ์ พงษาวดารเมืองหริภุญไชย ทั้งภาบาฬีและคำแปล. เจ้าดารารัศมี พระราชชายา พิมพ์ในงานปลงศพเจ้าทิพเนตร อินวโรรสสุริยวงศ์ ปีวอก พ.ศ.2463. พระนคร: โสภณพิพรรณธนากร.

รุจยา อาภากร, ม.ร.ว. และนฤมล ธีรวัฒน์ (บก). (2551). มองพม่าผ่านชเวดากอง. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม.

เรณู วิชาศิลป์. (2550). พื้นเมืองแสนหวี ฉบับหอคำเมืองไหญ. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพ: ซิลค์เวอร์ม.

วินัย พงศ์ศรีเพียรและคณะ. (2564). ล้านนามหาปกรณัม ความทรงจำแห่งอภินว-ศรีหริภุญชัย ประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 1. มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม.

วิวรรณ แสงจันทร์. (2567). รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อตรวจสอบความเป็นโบราณสถานม่อนป่าซางบ้านห้วยข่อย หมู่ที่ 3 ต.วังเหนือ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง. เสนอสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่.

วิสิฐ ตีรณวัฒฒนากูล. (2531). "การศึกษาเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาเผากลุ่มเวียงกาหลง." วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สายันต์ ไพรชาญจิตร์, บรรณาธิการ. (2540). โบราณคดีล้านนา 1. สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ กรมศิลปากร จัดพิมพ์เพื่อเป็นที่ระลึกร่วมเฉลิมฉลองในปีกาญจนาภิเษกและในวาระที่เมืองเชียงใหม่มีอายุครบ 700 ปี. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สมาพันธ์.

 

คำสำคัญ : ภูกามยาว,หริภุญไชย,ภาคเหนือ,หิรัญนครเงินยาง,ลุ่มแม่น้ำอิง

สำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน และองค์การบริหารส่วนตำบลลอ. (2547). รายงานเบื้องต้น การขุดค้นทางโบราณคดีเมืองโบราณเวียงลอ ตำบลลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา. เอกสารอัดสำเนา.

สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. (2560). รายงานการขุดค้นทางโบราณคดี กำแพงเมืองคูเมืองเวียงพะเยา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา. จัดทำโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดบูรณาไท. เอกสารอัดสำเนา.

โสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม), พระครู. (2552). ชื่อบ้าน ภูมิเมืองพะเยา. พิมพ์ครั้งที่ 2. พะเยา: เจริญอักษร.

นิตยสาร

กชกร นันทพันธ์. “แช่สักอยู่ที่ไหน.” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 20 ฉบับที่ 5 มีนาคม 2542. กรุงเทพฯ: พิฆเนศ พรินติ้ง เซนเตอร์.

วิวรรณ แสงจันทร์
อีเมล์: [email protected]
นักโบราณคดีอิสระ นักวิจัยโครงการจารึกและโบราณคดีลุ่มน้ำฝาง และที่ปรึกษาด้านท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี
หน้าที่ 16/16