‘ปราสาทกู่พระโกนา’ ทับหลังศิลปะขอมแบบบาปวน ร่องรอยภูมิวัฒนธรรมการถลุงเหล็กและทำเกลือที่พัฒนาขึ้นสืบเนื่องตามความสัมพันธ์กับการฝังศพครั้งที่สอง
กู่พระโกนา หรือกู่สี่แจ่ง หรือกู่คำกูนา โบราณสถานแห่งนี้เป็นปราสาทแบบเขมรโบราณ แต่ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ถูกดัดแปลงให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท สังกัดมหานิกาย ชื่อ วัดกู่พระโกนา ที่นี่เป็นโบราณสถานที่มีการพบทับหลังซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะเขมรสมัยบาปวน ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖
‘ปราสาทกู่พระโกนา’ ทับหลังศิลปะขอมแบบบาปวน ร่องรอยภูมิวัฒนธรรมการถลุงเหล็กและทำเกลือที่พัฒนาขึ้นสืบเนื่องตามความสัมพันธ์กับการฝังศพครั้งที่สอง
พรเทพ เฮง
กู่พระโกนา หรือกู่สี่แจ่ง หรือกู่คำกูนา โบราณสถานแห่งนี้เป็นปราสาทแบบเขมรโบราณ แต่ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ถูกดัดแปลงให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท สังกัดมหานิกาย ชื่อ วัดกู่พระโกนา ที่นี่เป็นโบราณสถานที่มีการพบทับหลังซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะเขมรสมัยบาปวน ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ โดยบริเวณปราสาทด้านทิศเหนือ พบทับหลังภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ พระนารายณ์ทรงครุฑ รามเกียรติ์ และรูปบุคคลเหนือหน้ากาล ส่วนบริเวณปราสาทด้านทิศใต้ พบทับหลังเป็นภาพบุคคลประทับนั่งบนหลังโค และบุคคลประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล
พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ณ ปราสาทกู่พระโกนานี้ นับเป็นทับหลังและภาพสลักที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในสยามเทศะ อีกทั้งพบเพียงแห่งเดียวในจังหวัดร้อยเอ็ด มีความสมบูรณ์งดงามด้วยรูปแบบศิลปะ และยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมเมื่อครั้งแรกสร้าง มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างยิ่ง
ทั้งนี้กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานกู่พระโกนาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ ๒ งาน ๑๖ ตารางวา
ปราสาทกู่พระโกนา ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ วัดกู่พระโกนา หมู่ ๒ ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ภายในวัดกู่พระโกนา ประกอบด้วยปรางค์อิฐ ๓ องค์ บนฐานศิลาทราย เรียงจากเหนือ-ใต้ ทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงล้อมและซุ้มประตูเข้า-ออกทั้ง ๔ ด้าน ก่อด้วยหินทรายเช่นกัน
ประวัติการศึกษาทางโบราณคดีของโบราณสถานกู่พระโกนาเท่าที่ผ่านมา พบว่ากู่พระโกนาแห่งนี้ นายลูเนต์ เดอ ลาจองกีแยร์ (E, Lunet de Lajonquiere) ได้กล่าวถึงในหนังสือเรื่อง บัญชีรายชื่อโบราณสถานในประเทศกัมพูชา เล่ม ๒ (Inventaire descriptif des Monuments du Cambodge, Tome Deuxieme) ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เป็นโบราณสถานในเขตมณฑลอีสาน เมืองสุวรรณภูมิ โดยเรียกชื่อโบราณสถานแห่งนี้ว่า กู่สี่แจง (Ku Si Cheng) เป็นโบราณสถานลำดับที่ ๓๖๑ ในหนังสือเล่มนี้ โดยการศึกษาครั้งนั้น นายลูเนต์ เดอ ลาจองกีแยร์ (E. Lunet de Lajonquiere) ได้ทําการศึกษาผังของโบราณสถานแห่งนี้ พร้อมทั้งเขียนแผนผังโบราณสถานแห่งนี้เอาไว้
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงนําอาจารย์และนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางไปสํารวจทางโบราณคดีภายในประเทศ ได้ทรงนําคณะร่วมเดินทางไปแวะเยี่ยมชม และสํารวจโบราณสถานกู่พระโกนา
กู่พระโกนา ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ถูกดัดแปลง
ให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนา
ซึ่งท่านก็ได้ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับโบราณสถานแห่งนี้ขึ้นในชื่อเรื่อง ‘ปรางค์กู่วัดพระโกณา’ ตีพิมพ์ในวารสารโบราณคดี ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓ ซึ่งนับเป็นงานเขียนที่กล่าวถึงการศึกษากู่พระโกนาเป็นข้อมูลภาษาไทยครั้งแรก
บทความของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงอ้างถึง หนังสือเรื่องบัญชีรายชื่อโบราณสถานในประเทศกัมพูชา เล่ม ๒ ของนายลาจองกีแยร์ที่เคยศึกษาด้านแผนผัง เอาไว้เมื่อครั้งก่อน พร้อมทั้งเขียนแผนผังโบราณสถานแห่งนี้ขึ้นใหม่อีกครั้งจากสภาพที่ทรงพบในขณะนั้น โดยอาศัยผังเดิมจากที่นายลาจองกีแยร์ได้เขียนไว้ ซึ่งพอนํามาเปรียบเทียบกันกับของนายลาจองกีแยร์ พบว่ามีสิ่งก่อสร้างภายในเปลี่ยนแปลงไป นั่นคืออาคารทรงสี่เหลี่ยมที่อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธานได้หายไป ไม่ปรากฏในแผนผังที่หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเขียนขึ้น

ลักษณะเด่นของทับหลังที่พบส่วนใหญ่ เป็นรูปหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย
ออกมาทั้งสองข้างและใช้มือจับท่อนพวงมาลัยนั้นไว้
นั่นเพราะอาคารหลังนี้ได้ถูกรื้อออกไปโดยราษฎรในชุมชน จึงทำให้อาคารทรงสี่เหลี่ยมเหลือเพียงหลังที่อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวปราสาทประธานเท่านั้น นอกจากนี้ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศสกุล ได้ทรงศึกษาเพื่อกำหนดอายุของโบราณสถานแห่งนี้ โดยวิเคราะห์หลักฐานจากลวดลายและภาพสลักของส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมที่หลงเหลืออยู่ เช่น เศียรนาค ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู เสาติดผนัง ซึ่งเมื่อทำการเปรียบเทียบศิลปะขอมแล้ว ทรงสรุป ไว้ว่า ปรางค์กู่วัดพระโกนานี้อยู่ในศิลปะขอมสมัยบาปวน ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๕๐–๑๖๕๐ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ของขอม และคงสร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) เนื่องจากภาพสลักต่างๆ ที่ยังเหลืออยู่ล้วนเป็นเรื่องเล่าหรือคติในศาสนาพราหมณ์ฮินดูทั้งสิ้น
ส่วนการกำหนดอายุสมัยของปราสาทกู่พระโกนานั้น ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงกำหนดอายุสมัยไว้โดยอาศัยลวดลายสลักตามส่วนประกอบต่างๆ ที่ประดับตกแต่งตัวสถาปัตยกรรม เช่น นาคศิลาสลักซึ่งมี ๗ เศียร เป็นนาคเศียรโล้นมีลวดลายข้างหลังเป็นลายก้านต่อดอก แต่มีสิ่งพิเศษในการตกแต่งนาคอยู่อย่างหนึ่งคือ ต้นคอนาคสลักเป็นศีรษะมังกรกําลังคายนาคอยู่
ทับหลังที่พบก็มีทั้งแบบที่ตกแต่งเป็นลายท่อนพวงมาลัยและตกแต่งเล่าเรื่องราวตอนใดตอนหนึ่งในคัมภีร์ทางคติของศาสนาฮินดู ลักษณะเด่นของทับหลังที่พบส่วนใหญ่เป็นรูปหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้าง และใช้มือจับท่อนพวงมาลัยนั้นไว้ พร้อมทั้งแลบลิ้นออกมาเป็นรูปสามเหลี่ยมทั้งด้านบนและด้านล่างมีลายใบไม้ประกอบ ไม่มีพวงอุบะมาแบ่งที่เสี้ยวของทับหลัง
ส่วนทับหลังที่ตกแต่งเล่าเรื่อง เช่น พระวิษณุทรงครุฑ มีนาคล้อมรอบโดยนาคนั้นมีเศียรโล้น การตกแต่งเสาประดับกรอบประตูแสดงการรักษาลำดับของลวดบัวที่ประดับเสาว่า ลายตรงกลางสำคัญและหนากว่าลายที่เสี้ยว ซึ่งลักษณะต่างๆ เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า อายุสมัยทางศิลปะของกู่พระโกนานั้นเมื่อเทียบกับศิลปะเขมรโบราณ กำหนดอยู่ในสมัยเดียวกับศิลปะแบบบาปวน มีอายุการสร้างอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๕๐–๑๖๕๐
ปรางค์องค์กลางถูกดัดแปลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ โดยการฉาบปูนทับและก่อขึ้นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีซุ้มพระทั้ง ๔ ทิศ หน้าปรางค์องค์กลางชั้นล่างสร้างเป็นวิหารพระพุทธบาทประดับเศียรนาค ๖ เศียรของเดิมไว้ด้านหน้า ส่วนปรางค์อีก ๒ องค์ ได้รับการบูรณะจากทางวัดเช่นกัน ปรางค์องค์ทิศเหนือทางวัดสร้างศาลาครอบ ภายในมีหน้าบันสลักเรื่องรามายณะและทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ติดอยู่เหนือประตูทางด้านหน้า
ส่วนทับหลังประตูด้านทิศตะวันตกหล่นอยู่บนพื้นเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ปรางค์องค์ทิศใต้ยังคงมีทับหลังของเดิมเหนือประตูหลอก ด้านทิศเหนือเป็นภาพเทวดานั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล
นอกจากนี้ ทางด้านหน้ายังมีทับหลังภาพพระอิศวรประทับนั่งบนหลังโค และมีเสานางเรียงด้วย สันนิษฐานว่า กู่พระโกนาเดิมจะมีสะพานนาคและทางเดินประดับเสานางเรียงทอดต่อไปจากซุ้มประตูหน้าไปยังสระน้ำหรือบารายซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๓๐๐ เมตร จากรูปแบบลักษณะทางศิลปกรรมทั้งหมดของภาพสลักและเสากรอบประตู ซึ่งเป็นศิลปะขอมแบบบาปวน มีอายุในราว พ.ศ. ๑๔๖๐–๑๖๓๐ สันนิษฐานว่ากู่พระโกนาคงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖
กู่พระโกนามีภาพสลักประดับตามส่วนต่าง ๆ ของปราสาทงดงามน่าชม เช่น ลายบัวแปดกลีบที่อกเลาประตูหลอก (อกเลา คือ ไม้สันคมตรงกลางของประตูหน้าต่าง เพื่อใช้เป็นตัวประกบระหว่างบานประตู) ลายก้านขด/ลายก้านต่อดอกที่เสาซุ้มประตูปราสาท เป็นต้น
ถึงแม้โบราณสถานแห่งนี้จะพังทลายตามกาลเวลาและมีการซ่อมแซมในสมัยหลัง แต่ยังมีภาพสลักเล่าเรื่องที่งดงามปรากฏอยู่ ได้แก่ ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ ซึ่งเป็นเรื่องราวการบรรทมของพระวิษณุเหนือพญาอนันตนาคราชเพื่อสร้างโลก ณ เกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนมอันเป็นที่ประทับของพระองค์ โดยตามความเชื่อของฮินดูกล่าวว่า เมื่อโลกถึงกลียุคพระศิวะจะทำลายล้างโลก จากนั้นพระวิษณุ (พระนารายณ์) จะสร้างโลกใหม่โดยกระทำโยคะนิทราจนบังเกิดเป็นดอกบัวทองผุดจากพระนาภี (สะดือ) ภายในดอกบัวมีพระพรหมประทับอยู่และจะทำหน้าที่สร้างโลกต่อไป
ภาพสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่กู่พระโกนาพบบนทับหลังด้านทิศตะวันออกของปราสาทองค์เหนือ ซึ่งปัจจุบันปราสาทดังกล่าวมีการสร้างอาคารครอบไว้ ทับหลังของปราสาทองค์นี้มีความพิเศษพบได้น้อยมาก กล่าวคือ เป็นทับหลังซ้อนกัน ๒ ชิ้น สลักแยกกัน ชิ้นที่ ๑ อยู่ด้านล่างมีขนาดใหญ่ สลักภาพบุคคลที่กึ่งกลางทับหลังซึ่งลบเลือนไปแล้วแต่ยังปรากฏท่อนพวงมาลัย/พวงอุบะ และลายพรรณพฤกษา ชิ้นที่ ๒ อยู่ด้านบนมีขนาดเล็กกว่าสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ โดยลักษณะทับหลังที่มี ๒ ชิ้น ซ้อนกันแบบนี้นิยมในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ แต่พบว่าทับหลังปราสาทบางองค์ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ก็ยังคงปรากฏอยู่ ดังเช่นปราสาทองค์เหนือที่กู่พระโกณาแห่งนี้

ทับหลังด้านทิศตะวันออกของปราสาทองค์เหนือ ปัจจุบันมีการสร้างอาคาร
ทับหลังชิ้นที่ ๒ ปราสาทองค์เหนือดังกล่าว สลักภาพพระวิษณุ (พระนารายณ์) ๒ กร พระกรซ้ายถือดอกบัว พระกรขวาหนุนพระเศียรขณะบรรทมตะแคงขวาเหนือพญาอนันตนาคราช ๕ เศียร (ช่างสลักให้เห็นเพียง ๓ เศียร อีก ๒ เศียรถูกบังไว้) ที่พระนาภี (สะดือ) มีก้านดอกบัวผุดออกมาและมีพระพรหมประทับอยู่บนนั้น แต่น่าเสียดายที่ภาพสลักส่วนนี้ชำรุด บริเวณปลายพระบาทของพระวิษณุมีพระลักษมีชายาของพระองค์ประทับอยู่ นอกจากนี้ที่ด้านปลายทั้ง ๒ ข้าง สลักรูปหงส์ข้างละ ๒ ตัวอีกด้วย
จากลักษณะของนาคเศียรโล้นและรูปแบบการแต่งกายของพระวิษณุ รวมถึงรูปแบบของทับหลังชิ้นที่ ๑ กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ศิลปะแบบบาปวน ร่วมสมัยกับปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ ปราสาทสด๊กก็อกธม จังหวัดสระแก้ว ปราสาทบ้านพลวง จังหวัดสุรินทร์ และปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์

ทับหลังชิ้นที่ ๑ สลักภาพบุคคลที่กึ่งกลางทับหลังซึ่งลบเลือนไปแล้ว
ส่วนทับหลังชิ้นที่ ๒ สลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์
เมื่อพิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ตามอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร เพื่ออุทิศแด่เทพเจ้าทั้ง ๓ ในลัทธิตรีมูรติของศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ พระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์ ผังกู่พระโกนามีลักษณะเดียวกับกู่กาสิงห์ ที่ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างภายในกำแพง ได้แก่กลุ่มปราสาท ๓ หลัง สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน และอาคารบรรณาลัยทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกลุ่มปราสาท ส่วนนอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสระน้ำ
ลักษณะสถาปัตยกรรมกลุ่มปราสาท ๓ หลัง สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ใช้หินทรายและอิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง โดยวางตัวเรียงกันไปในแนวทิศเหนือ-ใต้ ปัจจุบันปราสาทหลังกลางได้ดัดแปลงสภาพให้เป็นเจดีย์ทรงมณฑปในผังย่อมุมไม้สิบสอง มีซุ้มโค้งประดิษฐานพระพุทธรูปมารวิชัยทั้งสี่ด้าน เหนือมณฑปเป็นชั้นลดเรียงหลั่นกันขึ้นไป ๕ ชั้น บริเวณมุมของชั้นลดประดับกลีบขนุน ต่อจากชั้นลดเป็นองค์ระฆังขนาดเล็กที่เหนือขึ้นไปเป็นปล้องไฉนและปลียอด ปราสาทอิฐทิศเหนือถูกรบกวนด้วยการสร้างกุฏิสมัยใหม่ทับลงบนฐานปราสาทเดิม
ส่วนปราสาทอิฐทิศใต้มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด พบทับหลังและเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทราย สำหรับบรรณาลัยปรากฏเฉพาะส่วนฐาน ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ต่อมุขออกมาทางด้านทิศตะวันตก เพื่อใช้เป็นทางเข้าที่ปัจจุบันได้ก่อสร้างหอระฆังทับด้านบน ลักษณะกำแพงเป็นกำแพงศิลาแลงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกที่ก่อเป็นรูปกากบาท (โคปุระ) โดยก่อมุขยาวด้านนอกและมุขที่สั้นกว่าด้านในกำแพง
บริเวณกึ่งกลางกำแพงทางทิศเหนือและทิศใต้มีห้องในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูด้านในกำแพง ส่วนด้านนอกทำเป็นซุ้มประตูหลอก ส่วนสระน้ำที่อยู่นอกกำแพง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันถูกขุดลอกและปรับให้เป็นแหล่งน้ำสาธารณะ จากหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่าเดิมคงจะมีสะพานนาคและทางเดินประดับเสานางเรียงจากประตูด้านหน้าไปยังสระน้ำ
สำหรับการสำรวจและศึกษาชุมชนรอบโบราณสถานกู่พระโกนา ซึ่งทำการกำหนดจุดศึกษาซึ่งมีพื้นที่โดยรอบๆ โบราณสถานกู่พระโกนา ได้แก่ บ้านกู่ บ้านหนองหว้า บ้านน้อย เพื่อหาร่องรอยหลักฐานร่วมสมัยกับโบราณสถานกู่พระโกนา ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างในวัฒนธรรมแบบเขมรโบราณสมัยบาปวน อายุราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๗
จากการสำรวจพบแหล่งจำนวน ๑๘ แห่ง โดยสามารถจัดแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม จากการพิจารณาตรวจสอบจากตำแหน่งที่ตั้งและความสำคัญของหลักฐานที่พบ คือ ๑. กลุ่มที่มีอายุร่วมสมัยหรืออาจร่วมสมัยกับโบราณสถานกู่พระโกนา ๔ แห่ง คือ หนองสา / บ่อน้ำดื่มที่หนองแล้ง บ้านหนองหว้า / ท่าแจ้ง และถนนโบราณที่เชื่อมระหว่างโบราณสถานกู่พระโกนากับลำน้ำกุดยาง
๒. กลุ่มที่ถูกสร้างขึ้นสมัยชุมชนวัฒนธรรมลาว ๓ แห่ง คือ หลักบือบ้านหมู่บ้านกู่ / หลักบือบ้าน หมู่บ้านหนองหว้า / ที่ประดิษฐานนางนอนดาย
๓. กลุ่มที่ยังคลุมเครือ ยังไม่สามารถจัดลำดับอายุสมัยได้ ๑๑ แห่ง คือ บ่อน้ำดื่มประจำหมู่บ้านกู่ / หนองไฮ / สวนยายกอง / พื้นที่เคยขุดพบโครงกระดูกมนุษย์สวนตาฤทธิ์ / พื้นที่เคยขุดพบภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกบ้านคุณครูพรทิพย์ / หนองน้อย / หนองหว้า / บ่อน้ำดื่มโบราณประจำหมู่บ้านหนองหว้า / กอนกลาง / โนนหัวคน และโพนกุลา
รายละเอียดของโบราณสถานปราสาทกู่พระโกนา ประกอบไปด้วยกลุ่มสิ่งปลูกสร้าง ๕ ส่วนด้วยกัน
(๑.) กลุ่มปรางค์ประธาน ประกอบด้วยปราสาท ๓ หลังตั้งบนฐานไพทีเดียวกันมีทางเข้าด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออก ปราสาททั้งหมดตั้งเรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้
+ ปราสาทองค์กลาง ปรากฏร่องรอยของส่วนก่อสร้างเดิม มีเพียงส่วนฐานเท่านั้น ส่วนตัวเรือนธาตุปราสาทตลอดจนถึงเรือนยอด ได้ถูกดัดแปลงเพิ่มเติมในยุคหลัง เปลี่ยนจากสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ กลายเป็นสถูปที่คนท้องถิ่นเรียกว่า ธาตุ ตามแบบวัฒนธรรมลาวล้านช้าง ซึ่งก่อขึ้นเป็นชั้นๆ และตกแต่งด้วยซุ้มพระพุทธรูปประจำทิศ ปราสาทแห่งนี้ได้ถูกดัดแปลงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๑
นอกจากนี้ด้านหน้าของปราสาทยังมีการก่ออาคารคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมมุงหลังคาเชื่อมต่อกับด้านหน้าของปราสาททำเป็นวิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาทและรูปเคารพทางพระพุทธศาสนา ด้านหน้าของวิหารมีเศียรพญานาคประดับข้างบันไดทางขึ้นข้างละเศียร โดยเศียรด้านขวามือทางขึ้น เป็นของโบราณซึ่งแต่เดิมประดับอยู่หน้าประตูทางเข้าทางทิศตะวันออกด้านนอกกำแพง อยู่ตำแหน่งขวามือของทางเดินเข้า แต่เจ้าอาวาสวัดให้ขุดและสกัดตัดเอาส่วนเศียรมาประดับไว้ด้านข้างของบันไดทางขึ้นวิหาร ส่วนเศียรด้านซ้ายเป็นของที่ทำขึ้นใหม่ให้คู่กันแต่มีขนาดใหญ่กว่า แกะสลักโดยนายช่างท้องถิ่น ชื่อ นายวิเชียร อิ่มน้ำคำ
+ ปราสาทด้านทิศเหนือ ส่วนฐานถูกเทพื้นคอนกรีตทับ เหลือส่วนที่สมบูรณ์คือตัวเรือนปราสาทเท่านั้น ส่วนเรือนยอดได้พังทลายลงมา ตัวของปราสาทองค์นี้ มีการสร้างอาคารมุงหลังคาครอบทับ ซึ่งทำโดยราษฎรในท้องที่ เพื่อใช้เป็นกุฏิที่จำวัดของเจ้าอาวาสวัดกู่พระโกณา แต่ปัจจุบันผนังของตัวอาคารได้ทุบออกไปและเลิกใช้เป็นกุฏิแล้ว เหลือเพียงตัวหลังคาที่มุงครอบปราสาทอยู่

ปราสาทองค์กลาง ตัวเรือนธาตุปราสาทตลอด
จนถึงเรือนยอดได้ถูกดัดแปลงเพิ่มเติมในยุคหลัง
ปราสาทหลังนี้มีประตูทางเข้าด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออก ส่วนอีกทั้งสามด้านทำเป็นประตูหลอก ด้านทิศตันออกของตัวปราสาทปรากฏส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ที่สุดกว่าบริเวณอื่น คือมีเสาประดับกรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลังสลักเป็นรูปหน้ากาลจับขาสิงห์สองตัวคายท่อนพวงมาลัย แต่ส่วนที่เป็นหน้ากาลได้ชำรุดและหักหายไป
เหนือแผ่นทับหลังขึ้นไปเป็นแผ่นหินสลักประดับเหนือทับหลัง เป็นรูปวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ หรือนารายณ์บรรทมสินธุ์ทรงประทับเหนือพระยาอนันตนาคราชสามเศียรแบบเศียรโล้นแผ่พังพาน องค์พระนารายณ์มีสองพระหัตถ์ พระหัตถ์ซ้ายถือปัทมะ (ดอกบัว) พระหัตถ์ขวาประคองพระเศียรไว้ ที่พระนาภีมีร่องรอยของการสลักเป็นรูปดอกบัวผุดออกมา แต่ชำรุดหักหายไป ซึ่งถ้ามีการพบแบบสมบูรณ์คงปรากฏเป็นรูปพระพรหมประทับอยู่บนดอกบัวที่ผุดออกมาจากพระนาภี เบื้องปลายพระบาทปรากฏรูปสตรีคือพระลักษมีชายาของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ นั่งอยู่ในท่าปรนนิบัติ ที่มุมด้านซ้ายและด้านขวาของนารายณ์บรรทมสินธุ์แกะสลักเป็นรูปหงส์ด้านละ ๒ ตัว

แผ่นทับหลัง สลักเป็นภาพขบวนมีบุคคลนั่งบนสัตว์พาหนะรูปโค
ด้านหน้าและด้านหลังมีบุคคลถือเครื่องสูง
ถัดขึ้นไปจากนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นลวดลายของส่วนหน้าบัน แกะสลักเป็นเรื่องราวในรามายณะตอนพญาสุครีพกำลังต่อสู้กับพญาพาลี
ประตูทางด้านทิศเหนือของปราสาท ปรากฏร่องรอยของการขึ้นแผ่นทับหลังวางเหนือกรอบประตูหลอกไว้ โดยยังคงทำเป็นโกลนไว้บางส่วนแต่ยังแกะสลักไม่เสร็จ ประตูหลอกทางด้านทิศตะวันตกของปราสาทพบแผ่นทับหลังหนึ่งแผ่นตกอยู่ใกล้กับตัวปราสาท สลักเป็นรูปพระวิษณุทรงครุฑยุดนาค ตัวครุฑไม่มีแขนแต่แกะเป็นปีกแทน พระวิษณุมี ๒ กร ทรงถืออาวุธคล้ายตรีศูล ส่วนประตูหลอกทางด้านทิศใต้เหลือเพียงประตูหลอก
+ ปราสาทด้านทิศใต้ เป็นปราสาทที่ยังคงสภาพดั้งเดิมมากที่สุด ฐานล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ตัวเรือนปราสาทยังเรือนยอดก่อด้วยอิฐ แต่อยู่ในสภาพพังทลายลงมาบ้างแล้ว มีประตูทางเข้าด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออก อีกทั้งสามด้านทำเป็นประตูหลอก ด้านทิศเหนือของปราสาท เหนือประตูหลอกมีทับหลังประดับสลักเป็นภาพบุคคลนั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้ว เหนือหน้ากาลพระเศียรของบุคคลในซุ้มเรือนแก้วได้ชำรุดหักหายไป ตัวหน้ากาลที่คายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้าง ปัจจุบันด้านหน้าประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกของปราสาทองค์นี้ได้มีการก่ออาคารคอนกรีตไว้ด้านหน้าเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาสวัด
(๒.) บรรณาลัย อาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลงมีประตูทางเข้าด้านเดียวคือด้านทิศตะวันตก เป็นสิ่งก่อสร้างที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน สภาพปัจจุบันของบรรณาลัยได้พังทลายลงมาบางส่วน เหลือผนังที่สมบูรณ์ทางด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ด้านหน้าของกรอบประตูทางเข้ามีแผ่นทับหลังตกอยู่หนึ่งแผ่น แกะสลักเป็นภาพขบวนมีบุคคลนั่งบนสัตว์พาหนะรูปโค ด้านหน้าและด้านหลังมีบุคคลถือเครื่องสูง จากเรื่องราวดังกล่าวสันนิษฐานว่าเป็นภาพแกะสลักตอนอุมามเหศวร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พระศิวะประคองพระอุมาประทับนั่งบนโคนนทิ
(๓.) ซุ้มประตู (โคปุระ) มีประตูทางเข้าสองทาง คือด้านทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตกเชื่อมกำแพงแก้ว โดยช่องทางเข้าได้เจาะช่องกึ่งกลางของผนังกำแพงด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกกำหนดเป็นทางเข้าสู่ตัวปราสาท ด้านบนของประตูมีทับหลังเป็นรูปเทพอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว มีบุคคลยกสตรีถวายสันนิษฐานว่าเป็นตอนท้าวหิมวัติถวายพระนางปารวตีหรือพระศิวะแก่พระศิวะ ด้านล่างเทพมีตัวหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้างและใช้มือจับท่อนพวงมาลัยนั้นไว้พร้อมแลบลิ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม
(๔.) กำแพงแก้ว กลุ่มปราสาทประธานและบรรณาลัยล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมกับซุ้มประตูทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก กำแพงแก้วยังคงสภาพเดิม ส่วนฐานและตัวกำแพงก่อด้วยอิฐ ที่กลางแนวกำแพงแก้วด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ก่อเป็นห้องมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลาย ห้องกำแพงด้านทิศเหนือใช้เป็นทางเข้าสู่ปราสาท
(๕.) บาราย ห่างจากปราสาทออกไปทางด้านทิศตะวันออกจะมีสระน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่าหนองสา ซึ่งสันนิษฐานว่า คือบารายประจำโบราณสถานกู่พระโกนา สภาพปัจจุบันกลายเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับผลิตน้ำปะปาของชุมชนบ้านหนองหว้า จากตำแหน่งของผังโบราณสถานกู่พระโกณาที่ทางเดินจากประตูด้านหน้าทอดยาวมาสู่ตัวหนองน้ำโดยตรง อันแสดงถึงความสัมพันธ์ในการกำหนดผังการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกัน
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ตั้งข้อสังเกตถึงกู่พระโกนา จังหวัดร้อยเอ็ด ว่ามีการเก็บน้ำโดยก่อบารายยกขึ้นเหนือจากผิวดินขนาดสูงท่วมหัว โดยนำน้ำที่เทจากที่สูงในช่วงน้ำหลากนำมาเก็บไว้ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับบารายของพระนครวัด และชุมชนนี้ยังพบคันดินมากมายเลยไปถึงกู่กาสิงห์ คันดินนี้ชะลอน้ำไว้ใช้ ทั้งยังพบทำนบเก่าๆ เลยขึ้นไปเป็นลำน้ำเสียว บริเวณดังกล่าวเคยเป็นแหล่งผลิตเกลือขนาดใหญ่ และมีการส่งสินค้าไปยังเขมรต่ำด้วย
วัฒนธรรมทุ่งกุลากับนาทาม เป็นประเด็นที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ไปร่วมสัมมนากับโครงการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำชีของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยได้สรุปวิเคราะห์องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับทุ่งกุลาร้องไห้ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในลุ่มน้ำชีเป็น ๒ อย่าง
อย่างแรกทำให้สามารถวิเคราะห์การตั้งถิ่นฐานของผู้คนแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในแอ่งโคราชออกเป็น ๓ บริเวณคือ บริเวณตอนเหนือ อันเป็นที่ลาดและที่ราบขั้นบันไดของลำน้ำชี ที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และยโสธร
บริเวณตอนกลาง ที่เป็นที่ราบต่ำน้ำท่วมถึง ที่อยู่บริเวณริมฝั่งเหนือของลำน้ำมูลจนถึงบริเวณฝั่งใต้ของลำน้ำชี ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี และบริเวณตอนใต้ อันเป็นที่ลาดแต่เทือกเขาพนมดงเร็กลงมาจนถึงที่ราบขั้นบันไดต่ำทางฝั่งใต้ของลำน้ำมูล ในเขตจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ จนถึงอุบลราชธานี
ทั้งสามบริเวณนี้ แม้ว่าจะมีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เหมือนกัน แต่ก็มีพัฒนาการทางอารยธรรมต่างกัน จากหลักฐานทางโบราณคดี บริเวณตอนเหนือมีความเคลื่อนไหว และพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับจีนใต้ เวียดนาม และอินเดียมากกว่าเพื่อน
รองลงมาคือบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำมูลจนถึงเทือกเขาพนมดงเร็กที่มีพัฒนาการเกี่ยวข้องกับอารยธรรมทวารวดีและขอมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และกัมพูชาตั้งแต่สมัยทวารวดี-ลพบุรีลงมา เพียงแต่เมืองพิมาย ในเขตทุ่งสำริดเท่านั้น ในขณะที่เขตทุ่งกุลาร้องไห้และบริเวณทุ่งราศีไศลอยู่ในสภาพล้าหลังเรื่อยมา....’

บาราย ห่างจากปราสาทออกไปทางด้านทิศตะวันออกจะมีสระน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่าหนองสา
ที่มา: Facebook กู่พระโกนา
ประเพณีฝังศพครั้งที่สอง สืบเนื่องเรื่อยมาจนเข้าสู่ยุคต้นประวัติศาสตร์ที่มีวัฒนธรรมทวารวดี เจนละ และลพบุรีผ่านเข้ามา การมองภูมิวัฒนธรรม ด้วยรูปแบบลักษณะของวัฒนธรรมท้องถิ่นนั่นเอง ซึ่งอาจารย์ศรีศักร ได้ขยายความถึงความสืบเนื่องว่า
‘….ความเป็นท้องถิ่นของทุ่งกุลานั้น เห็นได้จากการเป็นบริเวณท้องทุ่งราบที่มีน้ำท่วมถึงในฤดูฝน แต่กลับแห้งแล้งเต็มไปด้วยทุ่งหญ้าและทรายในฤดูแล้ง ลำน้ำที่หล่อเลี้ยงชุมชนมนุษย์ในบริเวณนี้ ก็ไม่ใช่ลำน้ำมูลและลำน้ำชี หากเป็นลำน้ำลำห้วยสายเล็กๆ ที่ไหลมาจากที่สูงทางฝั่งใต้ของลำน้ำชี ผ่านท้องทุ่งกุลาไปรวมกับลำน้ำมูลทางด้านตะวันออกเฉียงใต้
สิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับประเพณีฝังศพครั้งที่สองในยุคนี้ก็คือ เป็นสิ่งที่เข้ากันได้ดีกับบรรดาหม้อหรือไหที่บรรจุอัฐิคนตาย หลังจากการเผาศพแล้ว ของผู้คนที่นับถือพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู ในสมัยทวารวดีและลพบุรี หรืออาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ประเพณีการฝังอัฐิในหม้อ ไห รวมทั้งตามสถูปธาตุนั้นก็คือประเพณีฝังศพครั้งที่สองเช่นเดียวกัน
เมืองสำคัญในสมัยทวารวดีและเจนละหลายแห่งที่อยู่บริเวณตอนบนของทุ่งกุลาร้องไห้ นับตั้งแต่เมืองจำปาขัณฑ์ ในเขตบ้านตาเณร อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และเมืองโบราณที่บ้านบึงแก บ้านดงเมืองเตย และบ้านตาดทอง จังหวัดยโสธร เมืองนครจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม และบ้านเมืองเพีย อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น ล้วนเป็นชุมชนเมืองที่มีพัฒนาการมาจากชั้นดินทางวัฒนธรรม ในยุคเหล็กตอนปลายที่สัมพันธ์กับประเพณีฝังศพครั้งที่สองที่กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น
ยิ่งกว่านั้น การเติบโตของบรรดาเมืองตั้งแต่สมัยทวารวดี เจนละ และลพบุรีเหล่านี้ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ที่สัมพันธ์กับการผลิตเกลือ และเหล็กอย่างชัดเจน อย่างเช่นเมืองที่ดงเมืองเตย นอกจากมีฐานปราสาทสมัยเจนละ และศิลาจารึกที่กล่าวถึงกษัตริย์ในตระกูลเสนะแล้ว ยังเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนแหล่งถลุงเหล็กอีกด้วย หรือเมืองนครจำปาขัณฑ์ที่อำเภอสุวรรณภูมิก็ตั้งอยู่ท่ามกลางแหล่งผลิตเกลือ ที่มีการส่งผ่านไปตามเส้นทางคมนาคม ผ่านกู่พระโกนาและทุ่งกุลาร้องไห้เข้าสู่เขตจังหวัดสุรินทร์ ผ่านช่องเขาไปเขตเขมรต่ำในประเทศกัมพูชา
ในขณะที่เมืองนครจำปาศรีที่อำเภอนาดูนตั้งอยู่บนเส้นทางที่แยกจากกู่พระโกนาไปทางตะวันตก ไปตามลำเตา ผ่านกู่กาสิงห์ เมืองบัว ขึ้นไปจนถึงนครจำปาศรี ซึ่งมีกู่น้อยและกู่สันตรัตน์ที่เป็นศาสนสถานแบบขอมตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และต่อจากนครจำปาศรีก็มีเส้นทางขึ้นไปยังลุ่มน้ำชีในเขตจังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น และอุดรธานี
ตามเส้นทางดังกล่าวนี้ มีร่องรอยปราสาทขอมเป็นระยะๆ ไป บรรดาชุมชนใหญ่น้อยตามเส้นทางนี้ล้วนมีความสัมพันธ์กับการถลุงเหล็กและทำเกลือด้วยกันทั้งนั้น และหลายๆ แห่งที่พัฒนาขึ้นตามเส้นทางนี้ก็มีความสัมพันธ์กับการฝังศพครั้งที่สอง เช่นที่พบในเขตทุ่งกุลาในชั้นดินทางวัฒนธรรมชั้นบนๆ

ประเพณีฝังศพครั้งที่สอง มีมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์
สืบเนื่องเรื่อยมาจนเข้าสู่ยุคต้นประวัติศาสตตร์
บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้แม้ว่าจะเป็นชายขอบทางวัฒนธรรมของบรรดารัฐ และบ้านเมืองที่อยู่โดยรอบ แต่ก็มีความเจริญเป็นบ้านเป็นเมืองร่วมสมัย ที่มีฐานความเจริญมาจากการผลิตเกลือและเหล็ก อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยยุคเหล็กลงมาจนถึงสมัยลพบุรี หลังจากนั้นแล้วบ้านเมืองก็ซบเซาลง น่าจะมีการเคลื่อนย้ายของผู้คนลงไปสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและบริเวณทะเลสาบเขมรในประเทศกัมพูชา
ความเป็นบ้านเมืองที่มีชุมชนกระจายอยู่มากอย่างแต่ก่อนก็ลดน้อยลง เกิดบ้านเมืองร้างหลายแห่ง ในขณะที่หลายๆ แห่งก็มีการอยู่อาศัยอย่างสืบเนื่อง อันเนื่องจากมีคนกลุ่มใหม่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน แต่ก็มักจะสร้างบ้านเรือนทับบนชุมชนเก่าๆ โดยอาศัยความเหมาะสมของถิ่นฐานที่อยู่ที่ทำกิน รวมทั้งแหล่งน้ำและการชลประทานที่เคยมีมาแต่เดิมเป็นพื้นฐาน
ทุกวันนี้ ผู้คนที่อยู่ในทุ่งกุลาคือกลุ่มชนที่มีการผสมผสานของกลุ่มชาติพันธุ์กุย (หรือที่เรียกว่าพวกส่วย) เขมร และลาว ดูเหมือนพวกกุยหรือส่วยน่าจะเป็นพวกเดิมๆ ที่อาจเข้ามาตั้งถิ่นฐานช้านานกว่ากลุ่มอื่นๆ ก็ได้ เพราะเห็นได้จากเรื่องราวในตำนานที่เกี่ยวกับผู้นำทางวัฒนธรรม และประเพณีพิธีกรรมในระบบความเชื่อ ที่กลายเป็นของส่วนรวมในท้องถิ่น อย่างเช่นเชียงศรี ซึ่งเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมของคนส่วยนั้นก็ได้ถูกยกย่องเป็นเจ้าศรีนครเตา ที่พวกลาวเคารพกราบไหว้ และสร้างตำนานและประเพณีพิธีกรรมให้บรรดาลูกหลานได้กระทำในฤดูเทศกาล
ในบรรดาคนทุ่งกุลาในปัจจุบัน สิ่งที่ทำให้ดำรงชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนได้เสมอมา ก็คือการตั้งถิ่นฐานบนแหล่งชุมชนเดิม และพัฒนาการจัดการในเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือการสร้างทำนบน้ำเพื่อการแบ่งน้ำ กักน้ำในการเพาะปลูก ที่ล้วนต่อยอดมาจากระบบที่เคยมีมาแต่โบราณทั้งสิ้น….’
สำหรับสภาพปัจจุบันของโบราณสถานกู่พระโกนา ซึ่งประกอบด้วยปรางค์อิฐ ๓ องค์บนฐานศิลาทรายเรียงจากเหนือถึงใต้ ทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกําแพงล้อม และซุ้มประตูเข้า–ออก ทั้งปรางค์องค์กลางถูกดัดแปลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ โดยการฉาบปูนทับและก่อขึ้นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีซุ้มพระทั้ง ๔ ทิศ หน้าปรางค์องค์กลาง ชั้นล่างสร้างเป็นวิหารพระพุทธบาท ประดับเศียรนาค ๖ เศียรของเดิมไว้ด้านหน้า
ส่วนปรางค์อีก ๒ องค์ได้รับการบูรณะจากทางวัด แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนรูปทรงอย่างปรางค์องค์กลาง ส่วนปรางค์องค์ทิศเหนือ ทางวัดสร้างศาลาครอบ ภายในมีหน้าบันสลักรามายณะและประทับสลัก ภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่ที่เดิมคือเหนือประตูทางด้านหน้า ส่วนทับหลังประตูด้านทิศตะวันตกหล่นอยู่บนพื้นเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ปรางค์องค์ทิศใต้ยังคงมีทับหลังของเดิมเหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือเป็นภาพเทวดานั่งชันเข่า ในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล นอกจากนี้ทางด้านหน้ายังมีทับหลังหล่นที่พื้นเป็นภาพพระอิศวรประทับนั่งบนหลังโคและมีเสานางเรียงวางอยู่ด้วย สันนิษฐานว่ากู่พระโกนาเดิมคงจะมีสะพานนาคและทางเดินประทับเสานางเรียงทอดต่อจากซุ้มประตูหน้าไปยังสระน้ำหรือบาราย ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๓๐๐ เมตร
บทวิเคราะห์ตัวโบราณสถานกู่พระโกนา ผลจากการดัดแปลงต่อเติมของราษฎรกลุ่มใหม่ที่อพยพเข้ามาในพื้นที่ โดยเข้ามาใช้กู่พระโกนาเป็นที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นต้นมา
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่พบจากการศึกษาตัวโบราณสถาน คือ ปราสาทองค์ด้านทิศใต้ที่เห็นว่าคงสภาพดั้งเดิมมากที่สุด คือ ยังไม่ได้ต่อเติมอะไรมาก แต่จากการสังเกตถึงร่องรอยที่ปรากฏอยู่พบว่า ปราสาทองค์นี้ก็ได้รับการซ่อมแซมมาแล้วโดยมีการนําอิฐไปซ่อมแซมส่วนที่หายไปและฉาบปูนตําแบบโบราณทับอีกที ดังเห็นได้จากการเรียงอิฐที่เรียงไม่สมานกันและการตกแต่งบางอย่างที่ปะปนเข้าไปไม่ใช่ลวดลายหรือลักษณะทางศิลปะเขมรโบราณ เช่น นาคปูนปั้นที่ประดับอยู่เหนือประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก และเสาติดผนังที่ก่อด้วยอิฐ การเสริมแผ่นไม้รองอิฐที่ก่อขึ้นเหนือประตูแทนที่จะเป็นทับหลัง รวมถึงการฉาบปูนทับผิวนอกของตัวปราสาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวปราสาทองค์ด้านทิศใต้องค์นี้ก็ได้รับการดัดแปลงตกแต่งโดยช่างท้องถิ่นในภายหลังด้วยเช่นกัน ไม่ใช่องค์ปราสาทที่มีความเป็นดั้งเดิมโดยไม่ได้รับการซ่อมแซมดัดแปลงเลย
อีกทั้งหากสังเกตเปรียบเทียบระหว่างปราสาทองค์ทิศเหนือกับทิศใต้ จะพบว่าการก่อสร้างปราสาทอาจไม่ได้แล้วเสร็จสมบูรณ์เลยทั้งสองหลัง เนื่องจากร่องรอยของการตกแต่งลวดลายการประดับตัวสถาปัตยกรรมก็ยังไม่แล้วเสร็จเป็นแบบครึ่งๆ กลางๆ ยกตัวอย่าง ทั้งเสาติดผนัง เสากรอบประตู ทับหลัง ส่วนใหญ่มีร่องรอยแสดงให้เห็นว่ายังอยู่ในระหว่างการดำเนินการตกแต่งที่ยังไม่แล้วเสร็จ
เนื่องด้วยกู่พระโกนาได้ถูกดัดแปลงสภาพจากเทวสถานแบบฮินดูให้เป็นพุทธสถานแบบเถรวาทในคติทางวัฒนธรรมแบบลาว ดังเช่นตัวปราสาทองค์กลางถูกแปลงเป็นธาตุเจดีย์ และมีการใช้งานประกอบพิธีกรรมจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่ได้รับการขุดแต่งบูรณะด้วยหลักวิชาทางโบราณคดีที่ถูกต้อง การศึกษารายละเอียดที่ลึกซึ้งในตัวปราสาทจึงทำได้ยากมาก เพราะตัวโบราณสถานถูกสงวนให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ห้ามรุกล้ำ อีกทั้งมีการซ่อมแซมต่อเติมกันเอง โดยการนําของเจ้าอาวาสและกลุ่มผู้สนับสนุนจึงทำให้โบราณศาสนสถานแห่งนี้ถูกเปลี่ยนสภาพทางศิลปกรรมอย่างหนัก และการดัดแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ทางความเชื่อของราษฎรในพื้นที่ ทำให้หลักฐานทางโบราณคดีหลายชิ้นถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย
อ้างอิง
‘วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้’ โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๙ ฉบับ ๒ เมษายน - มิถุนายน ปีพ.ศ. ๒๕๔๖
‘วัฒนธรรมทุ่งกุลากับนาทาม’ โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เปิดประเด็น: จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๔๐ เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ปีพ.ศ. ๒๕๔๖
'กู่พระโกนา' กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
'เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่โบราณสถานวัดกู่พระโกนา อุบลราชธานี' สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี ปีพ.ศ. ๒๕๔๕
'รูปเคารพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในประเทศไทย' กษมา เกาไศยานนท์ เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคลปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีพ.ศ. ๒๕๒๘
'การสำรวจและศึกษาชุมชนรอบโบราณสถานกู่พระโกนา ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด' วัฒนรัชต์ แสนสุพันธ์ การค้นคว้าอิสระ หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีพ.ศ. ๒๕๕๖
‘แนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของวัดกู่พระโกนา’ ตําบลสระคู อําเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด’ โดย พระอธิการธีรศักดิ์จกฺกวโร (เวียงสมุทร) วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปีพ.ศ. ๒๕๖๒