‘เมืองโบราณรอบบึงบอระเพ็ด’ จุดเชื่อมต่อภูมิวัฒนธรรมภาคกลางตอนบนสู่ภาคเหนือและอีสานตอนบน
บึงบอระเพ็ด เป็นบึงทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อที่ ๑๓๒,๗๓๗ ไร่ อยู่ในท้องที่ ๓ อำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอท่าตะโก และอำเภอชุมแสง หากมองจากยอดเขากบหรือเขาหลวง จะเห็นบึงน้ำกว้างใหญ่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมือง มีอาณาเขตในระหว่างรอยต่อของ ๓ อำเภอคือ ตำบลหนองกรด ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมือง ตำบลเขาพนมเศษ อำเภอท่าตะโก และตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง

‘เมืองโบราณรอบบึงบอระเพ็ด’ จุดเชื่อมต่อภูมิวัฒนธรรมภาคกลางตอนบน
สู่ภาคเหนือและอีสานตอนบน
พรเทพ เฮง
บึงบอระเพ็ด เป็นบึงทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อที่ ๑๓๒,๗๓๗ ไร่ อยู่ในท้องที่ ๓ อำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอท่าตะโก และอำเภอชุมแสง หากมองจากยอดเขากบหรือเขาหลวง จะเห็นบึงน้ำกว้างใหญ่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมือง มีอาณาเขตในระหว่างรอยต่อของ ๓ อำเภอคือ ตำบลหนองกรด ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมือง ตำบลเขาพนมเศษ อำเภอท่าตะโก และตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง
ลักษณะทางธรณีสัณฐานบริเวณบึงบอระเพ็ด อธิบายได้ว่ามีความสัมพันธ์กับแนวรอยเลื่อนแม่น้ำปิงที่พาดจากแนวตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ และที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ซึ่งมีแม่น้ำไหลมารวมกันหลายสาย จนเกิดการทรุดตัวของบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนบนเป็นแอ่ง ภายหลังมีตะกอนทับถมจนกลายเป็นบึงในปัจจุบัน

บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เป็นบึงทะเลสาบน้ำจืด
ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เทือกเขาเพชรบูรณ์ เป็นขอบเขตด้านตะวันออกของที่ราบเจ้าพระยาตอนบน มีทางน้ำหลายสายไหลลงสู่แม่น้ำน่านและแม่น้ำยม ทำให้เกิดเป็นพื้นที่เนินตะกอนรูปพัด เกิดจากการที่น้ำไหลพาตะกอนจากภูเขาลงมาตามหุบเขาแคบๆ ด้วยความเร็วสูง พอถึงบริเวณที่ราบความเร็วของน้ำลดลง ตะกอนน้ำพามาจึงตกทับถมแผ่กว้าง แต่เดิมบึงบอระเพ็ดเป็นเพียงคลองสายใหญ่ซึ่งรับน้ำจากเขตอำเภอท่าตะโกต่อเขตแดนเพชรบูรณ์ ในอดีตชาวบ้านรอบๆ เรียกว่า คลองบอระเพ็ด
ในอดีตหากตั้งต้นตั้งแต่สถานีรถไฟปากน้ำโพไปทางทิศตะวันออกจนถึงอำเภอท่าตะโก มีป่ามากมาย เป็นป่าที่มีหนองน้ำเป็นพันๆ หนอง ในลำคลองบอระเพ็ดมีแต่จระเข้ ตามลำคลองตามหนองมีปลามากมาย เป็นแหล่งที่เคยมีมหิงสาหรือควายป่ามากที่สุด และมีพวกละมั่งมาก มีต้นจิกต้นกระทุ่มทึบไปหมด
ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ดร. ฮิวห์ แมคคอร์มิค สมิธ (Dr.Hugh McCormick Smith) ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันที่รัฐบาลไทยจ้างมาเป็นที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำของประเทศ แนะนำให้สร้างประตูระบายน้ำทำให้ที่ลุ่มกลายเป็นบึง ต่อมากรมประมงได้ดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำและฝายน้ำล้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้ที่ระดับ ๒๓.๘๐ เมตร จากระดับทะเลปานกลาง วัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และได้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ
ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๘๐ มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตคุ้มครองของกรมประมง นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศให้บึงบอระเพ็ดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดหรืออุทยานนกน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของบึงบอระเพ็ด ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของบึง โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีนกอพยพมามากที่สุด นกชนิดหนึ่งที่ค้นพบที่บึงบอระเพ็ดเป็นแห่งแรกในประเทศไทยคือ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร โดยนายกิตติ ทองลงยา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นนกหายากมากจนไม่มีผู้พบเห็นมาหลายปีแล้ว ปัจจุบันได้รับการคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ ๑
ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ กรมประมงสร้างเขื่อนและประตูระบายน้ำใหม่ ทำให้กักเก็บน้ำไว้ได้เพิ่มขึ้นอีก ๒๐ เซนติเมตร เป็นโครงการบูรณะแหล่งน้ำโดยปล่อยน้ำออกจากบึงเพื่อซ่อมประตูระบายน้ำ สร้างเขื่อนหรือคันกั้นน้ำใหม่ ขุดลอกบึง ทำลายวัชพืช จนทำให้บึงบอระเพ็ดแห้งแตกระแหง กลายเป็นผืนดินกว้างใหญ่ก่อนจะปล่อยน้ำให้มีระดับสูงขึ้นกว่าเดิม มีพื้นที่เหนือผิวน้ำประมาณ ๑๓๒,๗๓๗ ไร่ มีความลึกเฉลี่ยราว ๒.๖๒ เมตร บริเวณกลางบึงมีความลึกมากที่สุด ๔.๓๘ เมตร
บึงบอระเพ็ดกักเก็บน้ำฝนจากธรรมชาติ และน้ำที่ไหลลงจากที่สูงทางทิศตะวันออก ไหลลงสู่บึงทางคลองท่าตะโก คลองสายลำโพง คลองบอน คลองห้วยหิน ในบึงบอระเพ็ดมีพันธุ์ปลาประมาณ ๒๐๐ สายพันธุ์ โดยเฉพาะปลาเสือตอที่กำลังสูญพันธุ์ มีพรรณไม้น้ำทั้งสิ้น ๒๙ วงศ์ ๕๒ สกุล และมากกว่า ๗๓ ชนิด
ในบึงมีพรรณไม้น้ำแบ่งออกตามลักษณะการขึ้นตามธรรมชาติ เช่น บริเวณพื้นน้ำ มีพืชจำพวกแนนหรือดีปลีน้ำ สาหร่ายข้าวเหนียว สาหร่ายเส้นด้าย สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายฉัตร พืชลอยน้ำ เช่น จอกหูหนู แหน ผักตบชวา ผักแพงพวย กระจับ พืชพ้นน้ำ เช่น กกต่างๆ ปรือ ธูปฤาษี บัวหลวง หญ้าแพรกน้ำ แห้วทรงกระเทียม เอื้องเพ็กม้า เทียนนา พืชที่อยู่บนเกาะหรือชายฝั่งที่น้ำอาจท่วมในฤดูน้ำหลาก เช่น ลำเจียก อ้อ พงแขม หญ้าปล้อง สนุ่น หญ้าชันกาด หญ้าไทร หญ้านกขาว และโสนกินดอก
จากการสำรวจความหลากหลายของนกที่อาศัยบึงบอระเพ็ดในเวลา ๑ ปี ว่ามีราว ๑๑๐ ชนิด ๗๘ สกุล ๓๕ วงศ์ เป็นนกประจำถิ่นราว ๔๗ ชนิด เช่น นกเป็ดผีเล็ก นกกาน้ำเล็ก นกอีโก้ง นกกวัก นกกระแตแต้แว้ด เป็นต้น นกอพยพที่ย้ายถิ่นหนีหนาวลงใต้ ราว ๔๒ ชนิด เช่น นกยางดำ นกยางแดง นกปากห่าง เป็ดลาย เป็ดหางแหลม เหยี่ยวทุ่ง นกอินทรีปีกลาย เป็นต้น และนกที่เป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพราว ๒๑ ชนิด เช่น นกยางโทนใหญ่ นกยางกรอก เป็ดหงส์ เป็ดแดง นกอีล้ำ นกแซงแซวหางปลา เป็นต้น ซึ่งนกทั้งหลายจะมีจำนวนมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน
เมื่อมองบึงบอระเพ็ดจากภูมิวัฒนธรรม อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งได้เดินทางสำรวจศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาโบราณคดีการสร้างบ้านแปลงเมืองในดินแดนประเทศไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้สรุปเป็นแนวคิดทฤษฎีว่า ความเป็นชุมชน ‘บ้าน’ และ ‘เมือง’ ของสังคมเกษตรกรรมแบบชาวนา เกิดเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๓ เป็นต้นมา และมักเกิดขึ้นในภูมิประเทศที่มีลำน้ำไหลผ่านจากต้นน้ำ ตั้งแต่ภูเขาลงมาจนถึงชายทะเล และตามรอบๆ หนองน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ทะเลสาบ เพราะมนุษย์ต้องอาศัยน้ำเพื่อการดำรงชีวิต ทั้งในด้านอุปโภคบริโภคและการคมนาคม
ชื่อบ้านนามเมืองก็มักสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์จากต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ กับการตั้งถิ่นฐาน สภาพแวดล้อมและพืชพรรณ หรือสัตว์ที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในลักษณะที่เป็นนิเวศวัฒนธรรมของย่านเมืองนั้นด้วย โดยอธิบายว่า
‘….หนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เรียกว่าบึงหรือทะเลสาบนั้น นับเนื่องเป็นส่วนหนึ่งตามทางเดินของลำน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำจนถึงปลายน้ำ เพราะไม่มีลำน้ำธรรมชาติสายใดที่ไหลลงจากที่สูงหรือต้นน้ำอย่างตรงๆ โดยไม่มีการคดเคี้ยวเมื่อผ่านบริเวณตะพักต่างๆ ที่เป็นที่ราบลุ่ม เช่น พื้นที่สูงในภาคเหนือที่มีหุบเขา เช่น เชียงใหม่และลำปาง น้ำผ่านหุบเขา (Valley) ลงมาสู่ตะพักที่มีที่กว้างและหนองบึง (Basin) กระจายกันอยู่ โดยเฉพาะหนองหรือบึงขนาดใหญ่จะกลายเป็นทะเลสาบที่รับน้ำจากที่สูงลงมาคล้ายกับแก้มลิง
เมื่อน้ำล้นจะระบายลงหนอง ผ่านลำน้ำธรรมชาติที่อาจมีหลายสายแยกย้ายผ่านลงไปยังตะพักที่ต่ำกว่า ลงไปยังพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำ หนองหรือบึงน้ำ ตามตะพักที่เป็นที่ราบกว้างซึ่งเรียกว่า ทุ่ง จึงเป็นบริเวณที่มีน้ำธรรมชาติกักเก็บไว้ตลอดทั้งปี แม้ว่าจะเป็นฤดูน้ำมากและน้ำน้อยในหน้าแล้งก็ตาม

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ค้นพบที่บึงบอระเพ็ดเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
ที่มา: Birds of the Lower Northern Thailand
หนองบึงเหล่านี้เป็นนิเวศธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานโดยรอบหรือใกล้หนอง เป็นชุมชนบ้านและเมืองขนาดเล็ก แต่หากเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ เช่น หนองหานสกลนคร บึงบอระเพ็ด และกว๊านพะเยา จะเป็นแหล่งที่เกิดบ้านเมืองและนครขึ้นได้ เช่น เมืองพะเยาของภาคเหนือ เมืองหนองหานสกลนคร เมืองโยนกนาคพันธ์ที่หนองล่มในเขตอำเภอเชียงแสน เป็นต้น ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ เมืองพระนคร ที่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งตั้งอยู่บนขอบทะเลสาบเขมร
ความสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นเป็น ‘เมือง’ และ ‘รัฐ’ ของบริเวณที่เป็นหนองน้ำหรือทะเลสาบดังกล่าวก็คือ บริเวณเหล่านี้มีฤดูน้ำมากและน้ำน้อย (Seasonal Lake) ที่ทำให้พื้นที่รอบทะเลสาบแบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะที่เป็น ‘ทาม’ อยู่รอบนอก เป็นที่น้ำท่วมท้นในฤดูฝน และในฤดูแล้งที่น้ำลด พื้นที่ทามสามารถเพาะปลูกพืชพรรณได้เช่นเดียวกับ ‘บุ่ง’ หรือบึงที่อยู่ด้านในของหนองน้ำ มีน้ำตลอดปี แม้จะพร่องไปบ้างในฤดูแล้งก็ตาม
ทั้งบุ่งและทามนี้มีความหมายกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมนุษย์อย่างยิ่ง เพราะสามารถตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยบนบริเวณที่สูง ที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงรอบๆ ทะเลสาบ และอาศัยพื้นที่ทาม คือ พื้นที่รอบทะเลสาบชั้นในทำการเพาะปลูก เช่น ปลูกข้าว ที่อาศัยน้ำจากการชลประทาน (Wet Rice) สร้างทำนบชะลอน้ำเพื่อให้มีน้ำพอเพียงแก่การเพาะปลูก คือ ชะลอน้ำให้เลี้ยงต้นข้าวและพืชพรรณในเวลาแรกปลูก ไม่ให้ไหลลงสู่พื้นที่ที่เป็นบึงของทะเลสาบ ลักษณะการทำนาปลูกข้าวดังกล่าวเรียกว่า การทำนาทาม บรรดาบ้านเมืองที่เป็นเมืองใหญ่เป็นนครซึ่งมักเกิดขึ้นรอบทะเลสาบ จึงอาศัยพื้นที่ทำนาทามเป็นสำคัญ อย่างเช่นการปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงประชากรเมืองพระนครที่ทะเลสาบเขมร เป็นต้น….’
สอดคล้องกับแนวความคิดบ้านเมืองในยุคทวารวดีตอนกลางบนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ของอาจารย์ศรีศักร ที่ขยายภาพกว้างให้เห็นว่า
‘....เมืองใหญ่คือ เมืองบน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอพยุหะคีรี และกินอาณาเขตไปถึงเชิงเขาโคกไม้เดน เป็นเมืองใหญ่บนแพรกน้ำที่แยกและขนานไปกับลำน้ำเจ้าพระยาไปเป็นแม่น้ำหางสาคร
ส่วนเมืองอู่ตะเภาตั้งต่ำลงมาริมลำน้ำเก่าที่เรียกว่า ‘หางน้ำสาคร’ บนที่ลาดเชิงเขาแหลม เขาลูกโดดกลางที่ดอนขนาดใหญ่น้ำท่วมไม่ถึง ทั้งยังอุดมด้วยแร่เหล็ก พบร่องรอยชุมชนบ้านเมืองขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป เมืองอู่ตะเภาเป็นเมืองท่าภายใน มีลำน้ำขนาดใหญ่ติดต่อผ่านลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างไปออกทะเลที่อ่าวไทย ในตำนานท้องถิ่นเรียกเมืองนี้ว่า เมืองล่างคู่กันกับเมืองบนที่โคกไม้เดน
ลำน้ำหางน้ำสาครไหลลงใต้ไปยังอำเภอสรรพยาแตกออกมาเป็นหลายแพรก ขนานกับลำแม่น้ำน้อยที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านอำเภอมโนรมย์และอำเภอเมืองชัยนาท ท้องทุ่งลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงระหว่างลำน้ำหางน้ำสาครทางด้านตะวันออกที่กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อยทางด้านตะวันตก มีชุมชนบ้านเมืองเกิดขึ้นแต่ยุคเหล็กตอนปลายมาถึงสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา อันเป็นช่วงเวลาที่มีการขยายตัวของเส้นทางการค้าจากบ้านเมืองทางชายฝั่งทะเลเข้าสู่ภายใน พร้อมทั้งการแผ่พุทธศาสนามหายานแบบศรีวิชัยเข้ามา
อีกเมืองหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเมืองใหญ่คือ เมืองดอนคา เชิงเขาลูกโดดในเขตอำเภอท่าตะโก เป็นเมืองที่อยู่ตีนเขาต้นลำน้ำที่ไหลไปลงบึงบอระเพ็ดสายหนึ่ง และอีกสายหนึ่งลงสู่ที่ราบลุ่มไปรวมกับลำน้ำหางสาคร
อีกเมืองหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเมืองใหญ่คือ เมืองดอนคา เชิงเขาลูกโดดในเขตอำเภอท่าตะโก เป็นเมืองที่อยู่ตีนเขาต้นลำน้ำที่ไหลไปลงบึงบอระเพ็ดสายหนึ่ง และอีกสายหนึ่งลงสู่ที่ราบลุ่มไปรวมกับลำน้ำหางสาคร
ทั้งสามเมืองนี้เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีร่องรอยของศาสนสถานและพระสถูปเจดีย์กระจายอยู่ตามพื้นที่โดยรอบในลักษณะเป็นปริมณฑล อันแสดงให้เห็นการมีอยู่ของชุมชนบ้านและเมืองเล็กๆ ที่เป็นบริวาร แต่เมืองสำคัญที่เป็นเมืองท่านั้นน่าจะเป็นเมืองอู่ตะเภาริมลำน้ำหางสาคร แม่น้ำที่เรือสินค้าจากท้องทะเลสามารถเข้าไปถึงได้
นอกจากนี้ บรรดาเมืองโบราณในเขตนี้มีร่องรอยแสดงถึงการติดต่อกับบ้านเมืองในดินแดนภาคอีสานตอนบน ‘ละโว้ในสหพันธรัฐทวารวดี’ ซึ่งสังเคราะห์ผ่าน จาก 'ละโว้ถึงลพบุรี' โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวถึงจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของร่องรอยภูมิวัฒนธรรมลำน้ำเจ้าพระยาเก่าที่ไหลมาจากบึงบอระเพ็ด ผ่านอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ไว้อย่างน่าสนใจว่า
‘….บรรดาเมืองโบราณในประเทศไทยที่มีอายุแต่สมัยทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา จนถึงสมัยลพบุรี อยุธยา และกรุงเทพฯ ในทุกวันนี้ เมืองที่ยังรักษาชื่อบ้านนามเมืองแต่เดิมไว้อย่างสืบเนื่องมีอยู่ ๓ เมือง คือเมืองละโว้ ในลุ่มน้ำลพบุรีของภาคกลาง เมืองพิมายในลุ่มน้ำมูลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเมืองหริภุญชัยหรือลำพูนในลุ่มน้ำกวงของภาคเหนือ
เมืองอื่นๆ ทั้งเมืองใหญ่และเล็กจำนวนเป็นร้อยกว่าแห่งขึ้นไปดูจะเลือนหายไปจากความทรงจำและการจดจำของคนรุ่นหลังเกือบทั้งสิ้น จากการศึกษาสำรวจของข้าพเจ้าในเรื่องภูมิวัฒนธรรมของบรรดาเมืองโบราณในประเทศไทยที่ผ่านมา พอหาเหตุผลได้ว่าทำไมชื่อเมืองสำคัญทั้งสามแห่งนี้จึงยังไม่ขาดหายไป
นั่นเพราะเมืองทั้งสามแห่ง ล้วนตั้งอยู่ในตำแหน่งภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมที่เป็นชุมทางการคมนาคมทางน้ำ คือเป็นบริเวณที่มีแม่น้ำและลำน้ำไหลมารวมกัน เกิดการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านและเมืองในท้องถิ่นเดียวกัน อยู่ในระบบนิเวศวัฒนธรรมเดียวกัน แม่น้ำอันเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญไม่แห้งไปหรือเปลี่ยนทางเดิน ชุมชนจึงยังดำรงอยู่อย่างสืบเนื่อง
แม้ว่ากลุ่มชนที่เป็นชาติพันธุ์เดิมจะหายไปแล้วก็ตาม แต่คนกลุ่มใหม่ก็จะเคลื่อนเข้ามาแทนที่ตลอดเวลา ทำให้ชื่อบ้านนามเมืองเก่าๆ ยังจดจำกันอยู่ แม้ว่าจะเป็นตำนานก็ตาม
จากหลักฐานทางตำนาน โดยเฉพาะ ‘ตำนานจามเทวีวงศ์’ ของเมืองหริภุญชัย พระนางจามเทวีน่าจะเสด็จโดยทางน้ำจากเมืองละโว้ไปครองเมืองลำพูนหรือหริภุญชัยทางเหนือ โดยเริ่มแต่แม่น้ำลพบุรีหน้าเมืองละโว้ผ่านทุ่งพรหมมาสตร์ แยกเข้าปากน้ำบางขามเข้าเขาสมอคอน ไปวัดไลย์ จนถึงตำบลมหาสอนในเขตอำเภอบ้านหมี่ อันเป็นที่สบกันระหว่างลำน้ำที่มาจากอำเภอบ้านหมี่กับลำน้ำที่มาจากอำเภอตาคลี แล้วเสด็จตามลำน้ำที่มาจากที่สูงในเขตอำเภอตาคลีขึ้นไปจนถึงเขตเมืองจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ อันเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่มีรกรากมาแต่สมัยยุคเหล็ก

พระปรางค์สามยอด เมืองละโว้ ในลุ่มน้ำลพบุรีของภาคกลาง
จากเขตเมืองจันเสนก็เดินทางตามลำน้ำไปยังลำน้ำเจ้าพระยาเก่าที่ไหลมาจากบึงบอระเพ็ด ผ่านอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มายังตำบลหางน้ำสาครในเขตอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท พระนางจามเทวีเสด็จขึ้นตามลำน้ำเจ้าพระยาเก่าผ่าน เมืองอู่ตะเภา (เมืองล่าง) ที่ตำบลหางน้ำสาคร ขึ้นมายังเมืองบนสมัยทวารวดีที่บ้านโคกไม้เดน ตำบลท่าน้ำอ้อย เขตอำเภอพยุหะคีรี ไปยังต้นน้ำเจ้าพระยาที่บึงบอระเพ็ด แล้วเสด็จขึ้นไปทางเหนือโดยลำน้ำปิงที่เมืองพระบางหรือนครสวรรค์
เท่าที่กล่าวมาแล้วคือร่องรอยของเส้นทางคมนาคมทางน้ำจากเมืองละโว้ไปสัมพันธ์กับบ้านเมืองทางเหนือตามชายขอบที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนถึงเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน ซึ่งเมื่อมองภาพรวมทางภูมิวัฒนธรรมของลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเห็นได้ว่า ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองละโว้ คือนครรัฐที่เป็นเมืองท่าทางฟากตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่คนละฟากกับเมืองนครชัยศรีและเมืองอู่ทองทางฟากตะวันตก

กำไลเปลือกหอยมือเสือ จากชุมชนก่อนประวัติศาสตร์
บริเวณลุ่มน้ำลพบุรี
ความสำคัญของเมืองท่าทั้งสองต่างกัน เมืองนครชัยศรีคือเมืองท่าใหญ่สำหรับการติดต่อโพ้นทะเลที่มาจากทางตะวันตก และเส้นทางคมนาคมที่มาจากบ้านเมืองมอญและพม่าทางชายฝั่งทะเลอันดามัน แต่เมืองละโว้มีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองทางฟากตะวันออกที่ผ่านลุ่มน้ำป่าสักขึ้นไปยังที่ราบสูงโคราชในดินแดนลุ่มน้ำโขงทางชายฝั่งทะเลจีนใต้ จึงเห็นได้ว่าเมืองละโว้มีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองที่เก่าแก่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในอาณาบริเวณกว้างขวางใหญ่โตกว่าทางเมืองนครชัยศรีที่พัฒนาขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำลำคลอง [Riverine Area]
แต่เมืองละโว้ครอบคลุมพื้นที่บนที่สูง ที่ราบสูง ป่าเขาที่เต็มไปด้วยของป่าและแร่ธาตุในบริเวณและปริมณฑลที่ มากกว่า โดยเฉพาะพื้นที่ภูมิวัฒนธรรมโดยรอบเมืองละโว้ ซึ่งเป็นกลุ่มเขานงประจันต์ เขาพระงาม เขาสามยอด และกลุ่มเขาพระพุทธบาท ล้วนเป็นแหล่งชุมชนบ้านเมืองที่เกี่ยวกับการอุตสาหกรรมถลุงเหล็กและทองแดงที่หนาแน่นกว่าแห่งใดๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
อายุและพัฒนาการเมืองละโว้ เทียบได้กับเมืองอู่ทองที่มีอายุเก่าขึ้นไปถึงสมัยฟูนันและสุวรรณภูมิ ซึ่งแสดงให้เห็นจากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีที่ตำบลท่าแค ตำบลห้วยโป่ง เมืองซับจำปา จังหวัดลพบุรี บ้านใหม่ชัยมงคลที่จันเสน จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น
ชุมชนบ้านเมืองเหล่านี้ในยุคเหล็กหาได้อยู่โดดเดี่ยวไม่ หากมีความสัมพันธ์กับการค้าระยะไกลจากแหล่งอารยธรรมยุคสำริดจากทางยูนนาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากรูปแบบของอาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนเครื่องประดับ เช่น รูปแบบของขวานสำริด กลองสำริด กำไลสำริด ตุ้มหู ลูกปัดที่ทำด้วยหินสี หินกึ่งหยก สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของแหล่งโบราณคดีที่บ้านท่าแค ซึ่งนอกจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรมทองแดงและเหล็กแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับด้วยหอยทะเลลึก เช่น หอยมือเสือและหอยสังข์ การใช้เปลือกหอยทะเลลึกทำเครื่องประดับและเป็นวัตถุมงคลนี้ เป็นสิ่งสากลของบรรดาบ้านเมืองโบราณที่มีความสัมพันธ์การค้าระยะไกลโพ้นทะเลมาราว ๓,๐๐๐ ปีทีเดียว
จากรูปแบบของโบราณวัตถุ เช่น เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในการเซ่นศพซึ่งพบตามแหล่งฝังศพในพื้นที่ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสักนั้น มีความคล้ายคลึงกับรูปแบบของกลุ่มวัฒนธรรมแบบซาหวิ่นห์ อันเป็นบรรพบุรุษพวกจามในเวียดนาม คนเหล่านี้เป็นพวกพ่อค้าระยะไกลทั้งทางบกและทางทะเล และเป็นกลุ่มชนที่นำพาเครื่องประดับและรูปแบบของศิลปะแบบดองซอนแพร่ไปตามชุมชนต่างๆ ที่อยู่ชายฝั่งทะเลจีน ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย เช่นเดียวกันกับเมืองอู่ทองและชุมชนทางฟากตะวันตกและฝั่งอันดามันของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีการเกี่ยวข้องกับอินเดียในสมัยสุวรรณภูมิ คือราวพุทธศตวรรษที่ ๒-๓ ลงมา บ้านเมืองทางฟากฝั่งเมืองละโว้ก็มีความสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน แต่ไม่มากเท่ากับทางฝั่งเมืองอู่ทอง
หลักฐานที่แสดงให้เห็นก็คือบรรดาภาชนะดินเผาสีดำที่มีการขัดผิวและประดับด้วยลายเส้นเบาๆ ที่ไม่กินลงไปถึงพื้นผิวภาชนะ เป็นสิ่งที่ศาสตราจารย์วิลเฮล์ม จี. โซลไฮม์ (Prof. Wilhelm G. Solheim) จากมหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา พบเห็นจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีในที่ราบสูงโคราช โดยเฉพาะในชั้นดินชั้นล่างของปราสาทหินพิมาย โซลไฮม์ให้ชื่อภาชนะดินเผานี้ว่า พิมายดำ (Phimai Black Ware) มีอายุราว ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาลลงมา เป็นรูปแบบที่พบตามแหล่งโบราณคดีในประเทศอินเดีย ได้มีการพบเห็นภาชนะแบบพิมายดำนี้ในที่อื่นๆ เช่นที่ เมืองจันเสน ซับจำปา และศรีเทพ
จากอิทธิพลของการค้าระยะไกลทั้งทางบกและโพ้นทะเลทางฝั่งอ่าวไทยและทะเลจีน ทำให้มีพัฒนาการของเมืองท่าทางชายขอบที่สูงทางฟากตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาหลายเมืองตั้งแต่สมัยฟูนันลงมา เช่น เมืองอู่ตะเภาที่ตำบลหางน้ำสาคร เมืองจันเสน เมืองละโว้ และเมืองขีดขิน จังหวัดสระบุรี….’
‘โบราณคดีเหนือบึงบอระเพ็ด’ บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักโบราณคดีและนักวิจัยได้ทำการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งได้ประมวลประเมินข้อมูลของโบราณวัตถุที่มีความสำคัญของพื้นที่บริเวณนี้และเชื่อมภาพทางภูมิวัฒนธรรมไว้อย่างน่าสนใจ ทำให้เห็นภาพรวมของจุดเชื่อมต่อของนิเวศวัฒนธรรมภูมิภาคแถบนี้ของเมืองโบราณต่างๆ

ภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ (Phimai Black Ware)
‘….บริเวณเหนือบึงบอระเพ็ดเป็นที่ลุ่มต่ำ มีลำน้ำหลายสายและเต็มไปด้วยเส้นทางน้ำเก่าที่เป็นกุดน้ำหรือบึงน้ำรูปแอกวัว ซึ่งเกิดจากลำน้ำเปลี่ยนเส้นทาง ในบริเวณนี้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนือต่างๆ เช่น พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย สวรรคโลก เป็นต้น อาชีพของชาวบ้านนอกจากการทำประมงแล้ว การทำนาปลูกข้าวมักได้รับความเสียหายอยู่เสมอ ทำให้มีการอยู่อาศัยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันไม่หนาแน่นเท่าใดนัก
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีชุมชนโบราณอยู่อาศัยอย่างชัดเจน แต่ก็พบโบราณวัตถุและโบราณสถานที่มีความสำคัญแก่การกล่าวถึง ได้แก่ ‘ธรรมจักรแห่งเสาหิน วัดท่าไม้’ ธรรมจักรศิลาเป็นศิลปะสมัยทวารวดี มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๔๐ นิ้ว วงล้อทำเป็นแผ่นทึบ วิวัฒนาการของลวดลายสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ส่วนเสาเป็นเสาแปดเหลี่ยม ไม่มีจารึกแต่อย่างใด

ธรรมจักรแห่งเสาหิน วัดท่าไม้ จังหวัดนครสวรรค์
ชาวประมงไปพบธรรมจักรพร้อมเสาจมอยู่ในท้องน้ำที่คุ้งน้ำอันคดโค้งของแม่น้ำยม แล้วนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดท่าไม้ ตำบลท่าไม้ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ วัดนี้อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม อยู่เหนือปากน้ำเกยไชยที่แม่น้ำยมมาสบกับแม่น้ำน่านราว ๕ กิโลเมตร โดยประมาณ สอบถามจากผู้ศึกษาเรื่องวิวัฒนาการลวดลายแล้ว ให้อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑
การพบธรรมจักรในท้องน้ำของแม่น้ำยมนับเป็นเรื่องแปลก เพราะไม่พบว่ามีชุมชนสมัยทวารวดีอยู่ในเขตที่ลุ่มน้ำท่วมนี้ อาจสันนิษฐานได้หลายทาง เช่น มีการนำขึ้นเรือมาในเวลาร่วมสมัยกับการสร้างธรรมจักรนั้น หรืออาจนำมาภายหลังในฐานะที่เป็นโบราณวัตถุ
บริเวณนครสวรรค์ มีชุมชนสมัยทวารวดีอยู่หลายแห่ง แต่มักมีหลักแหล่งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขาหรือที่ราบลอนลูกคลื่นซึ่งเป็นที่ดอน เช่น ทางด้านทิศเหนือขึ้นไปแถวบ้านคลองเดื่อและทับคล้อ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นชุมชนสมัยทวารวดีที่ถูกทำลายไปเกือบหมดแล้ว

ที่ตั้งของวัดเกยไชยเหนือ ปากน้ำเกยไชย บริเวณที่แม่น้ำน่านและยมสบกัน
ทางตะวันออกคือ เมืองโบราณดอนคา บริเวณที่ราบลอนลูกคลื่นต่อเนื่องกับเขตเพชรบูรณ์ ในอำเภอท่าตะโก ทางด้านใต้มีเมืองบน ที่โคกไม้เดน ในอำเภอพยุหะคีรี และเมืองทัพชุมพล ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกที่ดงแม่นางเมืองใกล้แม่น้ำปิง อำเภอบรรพตพิสัย การขนส่งทางน้ำบริเวณนี้ก็อาจเป็นเรื่องที่ทำได้เพราะมีชุมชนสมัยทวารวดีรายรอบพื้นที่ลุ่มแห่งนี้ในรัศมีที่สามารถเดินทางถึงอยู่ทุกด้าน
โบราณวัตถุอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ ใบเสมาที่วัดเกยไชยเหนือ ปรากฏชื่อเกยไชยในแผนที่ยุทธศาสตร์ครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งอยู่ในระหว่างเส้นทางน้ำที่แยกออกจากนครสวรรค์ต่อเนื่องขึ้นไปถึงปากพิง เมืองพิจิตร และท่าฬ่อ ทำให้ทราบว่าเส้นทางน้ำแถบแควใหญ่หรือแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม เป็นเส้นทางสำคัญที่จะขึ้นไปรับศึกทางหัวเมืองฝ่ายเหนือในสมัยอยุธยา
นอกจากนี้ เกยไชยยังมีชื่อในเรื่องที่มีจระเข้ดุร้ายตามเรื่องเล่าภายในท้องถิ่นและเป็นที่รับรู้กันทั่วไป คือเรื่องของไอ้ด่างเกยไชย เล่ากันว่า ที่เกยไชยมีวังตะกอนหรือปากแม่น้ำที่มีความลึกมาก มีจระเข้ชุกชุม เรียกกันว่าวังไอ้เข้ ชาวบ้านจะลงอาบน้ำแต่ละครั้งต้องเอาไม้ปักทำรั้วเพื่อป้องกันจระเข้ จระเข้ชื่อดังตัวหนึ่งคือไอ้ด่างเกยไชย ผู้เดินทางไปมาหรือพวกหาปลาจะถูกไอ้ด่างอาละวาดเป็นประจำ เล่าสืบทอดว่ามีคนขี้เมาคนหนึ่งใช้เรือท้องแหลม (ชาวจีนเรียกว่าเรือไหหลำ) บรรทุกข้าวมาท้าทาย ไอ้ด่างหนุนเรือข้าวจนเรือคว่ำ แต่คนขี้เมาใช้หอกแทงจนเป็นแผลตามตัวมากมาย ไอ้ด่างทนไม่ได้จึงเอาหัวมาเกยหาดหน้าวังตะกอนแล้วถูกยิงซ้ำจนตาย ชาวบ้านทำการผ่าท้องไอ้ด่าง พบของมีค่ามากมาย จึงเอาหัวไอ้ด่างไปไว้ที่ศาลเจ้าพ่อจุ๊ยที่ตั้งอยู่ตรงวังตะกอนบริเวณปากน้ำ ชาวเกยไชยนับถือกันมาก
วัดเกยไชยเหนือ ตั้งอยู่ที่ปากน้ำระหว่างแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม มีเรื่องเล่าในท้องถิ่นว่าพระเจ้าเสือได้ยกขบวนประกอบด้วยช่างฝีมือจำนวนมากจะไปสร้างวัดโพธิ์ประทับช้าง โดยเสด็จทางชลมารค ขบวนเรือไม่สามารถไปได้ เพราะเรือเกยน้ำตื้นของแม่น้ำยม
ส่วนแม่น้ำน่านในสมัยนั้นก็เป็นเพียงลำคลองเล็ก ชาวบ้านเรียกว่า คลองเรียง จึงได้สั่งพักพลริมแม่น้ำฝั่งตะวันตกสถานที่ตั้งวัดในปัจจุบัน แล้วให้ไพร่พลสร้างพระเจดีย์และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ องค์พระเจดีย์ ประชาชนจึงเรียกพระเจดีย์นี้ว่า พระบรมธาตุ จึงเรียกชื่อวัดนี้ตามชื่อของเจดีย์ว่า วัดบรมธาตุ
ภายในวัดพระบรมธาตุ มีสิ่งที่น่าสนใจคือ เจดีย์พระบรมธาตุซึ่งได้รับการซ่อมแซมอยู่ตลอดมา และใบเสมาทำจากหินชนวนปักไว้โดยรอบพระอุโบสถ นับว่าเป็นร่องรอยทางศิลปกรรมที่สำคัญเมื่อพิจารณาจากลวดลายที่อยู่กึ่งกลางเสมา
ศ.ดร. สันติ เล็กสุขุม ให้ความเห็นว่า เป็นลวดลายที่มีลักษณะเฉพาะและยังไม่มีระเบียบแบบแผนที่สมดุล แต่ละใบมีการใส่ลวดลายที่ไม่เหมือนกัน เช่น ลายเทพนมเหนือดอกบัว ลายกนกผสมกับลายพันธุ์พฤกษาที่ได้รับอิทธิพลจากลวดลายจีนซึ่งพบมากในศิลปะล้านนา อีกทั้งมีความคล้ายคลึงกับลวดลายบนลายสลักหินที่พบจากใต้ฐานชุกชีวิหารหลวงวัดมหาธาตุอยุธยา หากใช้การประมาณอายุด้วยวิธีพิจารณาจากวิวัฒนาการลวดลาย กลุ่มลายเหล่านี้น่าจะมีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑
ส่วนในโบสถ์วัดเกยไชยเหนือมีการเก็บรักษาโบราณวัตถุ บางส่วนได้จากบริเวณวัดและท้องน้ำหน้าวัด เป็นพวกเครื่องถ้วยจีนและไทยสมัยอยุธยาทั้งสิ้น
ปรางค์จำลองทำจากหินทราย พบใกล้บริเวณโบราณสถานที่พันลาน ซึ่งเป็นการยืนยันถึงการติดต่อกับภูมิภาคในเขตอีสาน โดยน่าจะมีการนำมาไว้ในท้องถิ่นนี้อย่างชัดเจนที่สุด บริเวณบ้านพันลานพบโบราณสถานที่ยังไม่เป็นที่รู้จักนัก ในบริเวณสำนักสงฆ์เป็นพระปรางค์ ห่างจากริมแม่น้ำน่าน หรือแควใหญ่มาทางฝั่งตะวันออกราว ๕๐๐ เมตร ก่อนถึงวัดพันลานเล็กน้อย และต่ำกว่าปากน้ำเกยไชยราว ๗-๘ กิโลเมตร

ใบเสมาทำจากหินชนวนปักไว้โดยรอบพระอุโบสถ วัดเกยไชยเหนือ
ตัวโบราณสถานจากสภาพเท่าที่เห็น ฐานที่น่าจะเป็นตัวปรางค์หรือเจดีย์ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นฐานเขียงที่ไม่มีการลดชั้นหรือย่อมุม ต่อด้วยอาคารก่ออิฐซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการก่ออิฐปิดต่อกับตัวฐานเจดีย์หรือปรางค์ มีการขุดฐานอาคารบริเวณนี้พบว่า เป็นการก่อปิดเชื่อมต่อกันภายหลัง
ส่วนด้านบนของเจดีย์หรือปรางค์มีการขุดกรุภายใน ทำให้เห็นว่าฐานเดิมก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่แล้ว จึงมีการก่ออิฐปิดในภายหลัง นับว่าเป็นรูปแบบอาคารที่แปลกและสันนิษฐานรูปแบบและการใช้งานได้ยาก นอกจากจะทำการขุดแต่งศึกษากันอย่างจริงจัง
โบราณวัตถุที่ได้จากกรุอาคารด้านในที่ทำจากศิลาแลงคือพระพุทธรูปที่เป็นพระพิมพ์ และชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมที่ตกอยู่ภายนอกโบราณสถานคือ ปรางค์จำลองทำจากหินทราย ส่วนใหญ่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นที่สถานพระนารายณ์

โบราณสถานที่พันลาน ฐานน่าจะเป็นปรางค์หรือเจดีย์ก่ออิฐขนาดใหญ่
จังหวัดนครราชสีมา และพบที่ปราสาทเมืองแขก อำเภอสูงเนิน และพบที่วัดหนองปรือ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และที่กู่พระโกนา อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น ปรางค์จำลองเป็นส่วนที่ใช้ประดับสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ขึ้นไป
นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมหินทรายสลักลวดลายคล้ายเป็นชิ้นส่วนของทับหลัง ชิ้นส่วนกลีบบัว เป็นต้น และยังได้พบเศษเครื่องถ้วยที่เป็นเครื่องเคลือบจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัยและสุโขทัยด้วย

นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมหินทราย
สลักลวดลายคล้ายทับหลัง ชิ้นส่วนกลีบบัว เป็นต้น
บริเวณบ้านพันลานสามารถติดต่อกับชุมชนสมัยทวารวดีและลพบุรี เช่นที่ดอนคา ทางพื้นที่ในเขตอำเภอท่าตะโกตลอดจนถึงไพศาลี และชุมชนในเขตลพบุรีและเพชรบูรณ์ ซึ่งติดต่อกับแอ่งอีสานได้ การที่พบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมในศิลปะที่มีอิทธิพลของขอมในบริเวณนี้จึงยืนยันถึงการติดต่อระหว่างภูมิภาคในเขตภาคกลางและในภาคอีสาน
สำหรับช่วงเวลาการติดต่อนั้น น่าจะนำมาจากแหล่งที่อีสานหลังจากพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นไป และน่าจะร่วมสมัยกับชุมชนในสมัยสุโขทัยจนถึงอยุธยาตอนต้น เมื่อพิจารณาจากบริบทแวดล้อมทั้งหลาย….’
ว่าไปแล้ว หากมองกลับไปยังบรรดาเมืองโบราณในเขตนี้มีร่องรอยแสดงถึงการติดต่อกับบ้านเมืองในดินแดนภาคอีสานตอนบน ดังปรากฏประเพณีการปักหินตั้งหรือเสมาแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ของศาสนสถาน เช่นที่รอบพระสถูปของดงแม่นางเมือง บริเวณท้องถิ่นนี้เป็นแหล่งที่อุดมด้วยแร่เหล็กทรัพยากรสำคัญทางการค้า จึงพบตะกรันที่หลงเหลือจากการถลุงแร่กระจายอยู่ทั่วไป
เพราะฉะนั้นการศึกษาถึงโบราณคดีบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นภูมิวัฒนธรรมที่สำคัญของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนมีรัฐอิสระ รับนับถือพุทธศาสนาเถรวาท ดังเห็นได้จากการเรียกนามพระมหากษัตริย์ว่า ศรีธรรมาโศกราช อันเป็นประเพณีนิยมในวัฒนธรรมพุทธศาสนาแบบเถรวาท แตกต่างจากที่เคยปลูกฝังตามประวัติศาสตร์กระแสหลักมาแต่เดิมว่า ดินแดนสยามประเทศก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นั้นตกอยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรขอม ทั้งเมืองธานยปุระน่าจะสัมพันธ์กับเมืองเจนลีฟูที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีนในพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ รวมถึงมีการติดต่อสัมพันธ์กับเมืองโบราณหลายแห่งที่พบในเขตนครสวรรค์ เช่น เมืองบน (เขาโคกไม้เดน) เมืองล่าง (หางน้ำสาคร) เมืองท่าตะโก เมืองไพศาลี ฯลฯ ซึ่งเมืองเหล่านี้เกาะกลุ่มกันในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำน่าน รวมถึงลุ่มน้ำเกรียงไกรที่เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำน่านด้วย
การมองในเชิงนิเวศวัฒนธรรมเกี่ยวกับชุมชนโบราณรอบบึงบอระเพ็ด จากยุคทวารวดีต่อเนื่องมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาได้จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเมืองนครสวรรค์มีฐานะเป็นเมืองประชุมพลและเดินทัพผ่าน เพราะจากพม่าเข้าทางด่านแม่ละเมาตัดเข้าระแหง กำแพงเพชร นครสวรรค์ใช้เพียงช่วงประมาณ พ.ศ.๒๑๐๖–๒๑๒๙ หลังจากนั้นใช้เส้นทางเดินทัพใหม่ทางด่านเจดีย์สามองค์ แต่ก็กลับมาใช้เส้นทางนี้เมื่อสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ นครสวรรค์ทำหน้าที่เป็นเพียงเมืองส่งกำลังบำรุงทัพหลวงที่ขึ้นไปตั้งรับทัพพม่าในเขตหัวเมืองฝ่ายเหนือ และเป็นเมืองพักทัพ
ชุมทางน้ำที่บึงบอระเพ็ดการขนส่งสินค้าจากเหนือคือไม้สักและข้าว ซึ่งส่งมาทางแม่น้ำน่านโดยอาศัยเรือยนต์ ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟในสมัยรัชกาลที่ ๕ การขยายตัวของการค้ามีมากขึ้น มีชาวจีนมากมายเข้ามาอยู่อาศัย ประมาณกันว่า พ.ศ.๒๔๔๗ มีชาวจีนในนครสวรรค์ถึง ๖,๐๐๐ คน ในขณะที่ชาวจีนในกรุงเทพฯ มีราว ๑๐,๐๐๐ คน ชุมชนแต่เดิมอยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำน่าน (แควใหญ่) เพราะข้าวถูกส่งมาทางลำน้ำน่าน ต่อมาตัวเมืองขยายมาทางตะวันตกความเจริญสูงสุดในรัชกาลที่ ๖ และต้นรัชกาลที่ ๗
บริเวณนครสวรรค์เป็นชุมทางการค้า เป็นที่ชุมนุมของเรือสินค้าที่ใหญ่ที่สุดนอกจากกรุงเทพฯ ไม้สักจากภาคเหนือเป็นจำนวนมาก จะถูกส่งมาตามแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านมารวมกันที่ปากน้ำโพก่อนจะแยกส่งไปตามที่ต่างๆ เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการขยายเส้นทางรถไฟไปถึงเชียงใหม่ใน พ.ศ.๒๔๖๕
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้สร้างสถานีรถไฟหนองปลิง (สถานีนครสวรรค์) ทำให้ความสำคัญในบริเวณแควใหญ่และการใช้เส้นทางน้ำลดลง ประกอบกับมีการสร้างถนนและเปิดสะพานเดชาติวงศ์ใน พ.ศ.๒๔๙๓ นครสวรรค์ได้กลายมาเป็นเมืองผ่าน เพราะสินค้าต่างๆ ไม่ต้องมารวมที่นครสวรรค์อีกต่อไปจนถึงปัจจุบันนี้
อ้างอิง
‘โบราณคดีเหนือบึงบอระเพ็ด’ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๖ เดือนมกราคม-มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๓
‘ชุมทางน้ำที่บึงบอระเพ็ด’ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
‘ทะเลสาบ: ภูมินิเวศสำคัญในการตั้งถิ่นฐาน’ โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
จาก 'ละโว้ถึงลพบุรี' โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
‘ศิลปะโบราณวัตถุพบที่จังหวัดนครสวรรค์ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ใน นครสวรรค์: รัฐกึ่งกลาง’ โดย พิริยะ ไกรฤกษ์ บรรณาธิการโดย สุภรณ์ โอเจริญ