ผู้เข้าชม
0

‘ภูสามเส้า’ ร่องรอยวัฒนธรรมหินตั้งสู่ภูมิวัฒนธรรมของบ้านเมืองในยุคเกษตรกรรมสืบเนื่องปัจจุบัน

ภูสามเส้า เป็นหนึ่งในกลุ่มเทือกเขาแดนลาวที่กั้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา และติดกับพื้นที่ราบแอ่งเชียงแสนในลุ่มน้ำกก โดยมีภูเขาเรียงต่อกันสามลูกในแนวทิศเหนือ-ใต้ ได้แก่ ดอยจ้อง ปัจจุบันคือดอยนางนอน, ดอยปู่เฒ่า และดอยตุง หรืออีกชื่อหนึ่งในตำนานคือ ดอยดินแดง
16 ธันวาคม 2567


ภูสามเส้าร่องรอยวัฒนธรรมหินตั้งสู่ภูมิวัฒนธรรม
ของบ้านเมืองในยุคเกษตรกรรมสืบเนื่องปัจจุบัน

พรเทพ เฮง

หน้าที่ 1/13

ภูสามเส้า เป็นหนึ่งในกลุ่มเทือกเขาแดนลาวที่กั้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา และติดกับพื้นที่ราบแอ่งเชียงแสนในลุ่มน้ำกก โดยมีภูเขาเรียงต่อกันสามลูกในแนวทิศเหนือ-ใต้ ได้แก่ ดอยจ้อง ปัจจุบันคือดอยนางนอน, ดอยปู่เฒ่า และดอยตุง หรืออีกชื่อหนึ่งในตำนานคือ ดอยดินแดง 

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์โบราณของภูสามเส้า-ขุนน้ำนางนอนหรือดอยนางนอน กับตำนานปู่จ้าวลาวจก ในมิติภูมิวัฒนธรรม ตำนาน ประวัติศาสตร์สังคมที่น่าศึกษามาก พื้นที่ตรงนี้มีลักษณะพิเศษ ข้างหน้ามีที่ราบลุ่มและมีลำน้ำหล่อเลี้ยงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เหมาะสำหรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ จึงมีคนเข้ามาอยู่บริเวณนี้มาแต่โบราณนาน เห็นได้จากตำนานเชียงแสนเดิมที่อยู่ในพงศาวดารโยนก

การศึกษาประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม หลักฐานโบราณคดี ตำนานบอกชาติพันธุ์ แต่ถ้าจะศึกษาประวัติศาสตร์สังคมดูชุมชนที่เป็นบ้านและเมือง ศึกษาชาติพันธุ์ตรงนั้น ตำนานไม่ใช่หลักฐานประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง แต่ตำนานเป็นประวัติศาสตร์จากความเชื่อของคนท้องถิ่นที่อยู่ตรงนั้นสร้างตำนาน ไม่ใช่อายุตามความเป็นจริง 
 


ภูสามเส้า มีภูเขาเรียงต่อกันสามลูกในแนวทิศเหนือ-ใต้ ได้แก่ ดอยจ้อง
ปัจจุบันคือดอยนางนอน ดอยปู่เฒ่า และดอยตุง 

 

การศึกษาตำนานต้องเอาเปรียบเทียบกับโบราณคดี อดีตที่ห่างไกลกับปัจจุบันที่เห็นอยู่ ตำนานนำไปสู่การสร้างภูมิวัฒนธรรม (Culture Landscape) และนิเวศวัฒนธรรม (Culture Ecology) 

เทือกเขาดอยตุงนั้น มีการเคลื่อนไหวในการสร้างบ้านแปงเมืองของชุมชนกลุ่มลัวะ เห็นได้จากตำนานเมืองหิรัญนครเงินยางว่า โดยมีผู้นำทางวัฒนธรรมคือพระยาลวจักราช ในกลุ่มของปู่เจ้าลาวจก ได้นำคนจากที่สูงของเทือกเขาดอยตุงลงมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ริมลำน้ำที่ตีนเขา แล้วเกิดการขยายตัวไปตามเขาและที่สูงตามบริเวณโดยรอบ เช่น ที่สบรวก เชียงแสน ดอยจัน

เมืองหิรัญนครเงินยางในตำนานนั้น ถ้ามองจากตำแหน่งที่ตั้งของตัวเมือง คือเวียงจัน เป็นบริเวณที่มีแนวคันดินหรือกำแพงล้อมรอบนั้น น่าจะเป็นเมืองเดียวกับเวียงพางคำ ที่อยู่เชิงเขาดอยจ้องริมลำน้ำแม่สาย ปัจจุบันอยู่ในตัวอำเภอแม่สาย เพราะเป็นแหล่งโบราณคดีที่สัมพันธ์กับดอยตุง

ดอยจ้องนั้นเป็นหนึ่งในภูสามเส้าที่ชาวบ้านเรียกว่า ดอยจ้อง ดอยย่าเฒ่า และดอยตุง และคนรุ่นหลังในปัจจุบันเรียกว่า ภูนางนอน เพราะเป็นเทือกเขาคล้ายรูปผู้หญิงนอน ซึ่งในตำนานปู่จ้าวลาวจก ดอยส่วนศีรษะเรียกว่า ดอยจ้อง เป็นดอยของลูกชายปู่เจ้าลาวจกที่รอคอยพ่อ ดอยลูกถัดมาเรียกว่า ดอยย่าเฒ่า ซึ่งเป็นภรรยาของปู่เจ้าลาวจก ส่วนดอยอีกลูกหนึ่งคือ ดอยดินแดง หรือดอยปู่เจ้าลาวจก หรือเป็นที่รู้จักในนาม ดอยตุง

ในตำนานความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลจนถึงปัจจุบัน ภูสามเส้า หรือดอยนางนอน เทือกเขาที่ทอดยาวคล้ายผู้หญิงนอนเหยียดยาว ซึ่งมีความหมายต่อตำนานปู่จ้าวลาวจก ดอยส่วนศีรษะเรียกว่า ดอยจ้อง หรือดอยจิกจ้อง เดิมเรียกดอยนี้ว่า ดอยท่าหรือดอยต้า เป็นดอยของลูกชายปู่เจ้าลาวจกที่รอคอยพ่อ ดอยลูกถัดมาเรียกว่า ดอยย่าเฒ่า ซึ่งเป็นภรรยาของปู่เจ้าลาวจก ส่วนดอยอีกลูกหนึ่งคือ ดอยดินแดงหรือดอยปู่เจ้าลาวจก หรือเป็นที่รู้จักในนามดอยตุง

เมื่อดูลักษณะทางภูมิศาสตร์ โดยเอาความเป็นนิเวศวัฒนธรรม และภูมิวัฒนธรรมของชนเผ่าที่อยู่ในเขตเทือกเขาเดียวกันที่เชื่อมต่อ โดยไม่นำพรมแดนประเทศยุคปัจจุบันเข้ามาประมวลสังเคราะห์ เริ่มจากถิ่นฐานไทในเวียดนาม (ไทขาว ไทดำ ไทเเดง) ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งอาศัยของคนไทหลายกลุ่มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ไทขาว ไทดำ ไทแดง รวมถึงกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ที่มีการแสดงออกทางเอกลักษณ์เฉพาะตัว รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนจากการแต่งกาย ประเพณีและที่อยู่อาศัย เป็นต้น

 

หน้าที่ 2/13

ในด้านสถาปัตยกรรม บ้านเรือนที่อยู่อาศัยนั้น เป็นการแสดงออกถึงการดำรงชีวิตอีกด้านหนึ่ง  เนื่องจากที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต เรือนของกลุ่มคนต่างๆ จึงสะท้อนถึงตัวตนของชาติพันธุ์นั้นๆ ออกมาอย่างชัดเจน โดยมีปัจจัยทางด้านวิธีคิดและความเชื่อประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ในการตั้งถิ่นฐาน

กลุ่มชนชาวไทในเวียดนามมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายอาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำระหว่างหุบเขา เลี้ยงชีพด้วยการทำการเกษตรกรรมและมีความเชื่อที่แฝงเกี่ยวกับธรรมชาติในรูปแบบของผี ซึ่งมีทั้งผีที่เป็นรูปแบบของเทพ คือผีแถนและผีที่คุ้มครองบ้านเรือนและคนในครอบครัว คือผีบรรพบุรุษ ถึงแม้ว่าไทดำและไทด่อน (ไทขาว) เป็นกลุ่มชนชาติเดียวกัน แต่ลักษณะของแต่ละกลุ่มนั้นก็มีสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ 

การตั้งถิ่นฐานและวิถีชีวิตของกลุ่มชาวไทดำและไทด่อน (ไทขาว) ในดินแดนสิบสองจุไท อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติไทดำและไทด่อนมาแต่อดีต เป็นพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ระหว่างหุบเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม เป็นเทือกเขาสูงทอดยาวลงมาจากทางตอนใต้ของจีน เทือกเขาที่สำคัญคือ ‘ภูแดนดิน’ ‘ภูสามเส้า’ สลับกับที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนสภาพอากาศจะชุ่มชื้นจนถึงแห้งแล้ง เนื่องจากอยู่ใกล้กับเขตร้อนชื้นแถบศูนย์สูตร ในเขตป่าทึบและที่ภูเขาสูงจะมีสัตว์ป่าพืชพันธุ์ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้ผู้คนนิยมเลี้ยงชีพด้วยการเก็บของป่าและทำการเกษตร  

ตามความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ต่างก็ให้เหตุผลที่ต่างกันว่า แหล่งที่คนไทอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นที่อยู่แต่เดิมหรือมีการโยกย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นกำเนิดของกลุ่มไทที่เป็นตำนานของพญาแถน น้ำเต้าปุง และตำนานเมืองแถน อันเป็นต้นกำเนิดของเมืองในกลุ่มไท โดยมีความคล้ายคลึงกับตำนานเรื่องเล่าคล้ายกับเผ่าไทอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในจีนหรือลาว ซึ่งการกำเนิดของกลุ่มไทเรื่องการตั้งที่อยู่แต่เดิมนั้นยังเป็นปัญหาที่นักวิชาการยังให้ข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ จึงมีอยู่หลายทฤษฎี เช่น ในตำนานน้ำเต้าปุงก็จะเชื่อมโยงการเกิดขึ้นของคนกลุ่มข่าแจะ ไทดำ ลาว ฮ่อ และสุดท้ายคือแกว (ญวน) ว่าเกิดมาจากน้ำเต้าลูกเดียวกัน จึงเสมือนเป็นพี่น้องกัน จากตำนานและเรื่องเล่านี้มีการนำเอากลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในแถบนั้นมาร้อยเรียงให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างเชื้อชาติ 

เมื่อเพ่งความสนใจให้แคบลงมาที่ ‘ภูสามเส้า’ ความสำคัญของภูสามเส้าคือเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำสายต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มแอ่งเชียงแสน เช่น ลำน้ำรวก ลำน้ำแม่คำ ลำน้ำแม่มะ ลำน้ำเหมืองแดง เป็นต้น 

 

ลำน้ำเหล่านี้ล้วนไหลผ่านถ้ำในภูเขาและจะไหลออกมาจากตามช่องเขา ผ่านที่ราบแอ่งเชียงแสนไปทางทิศตะวันออกสบกับแม่น้ำโขง ทำให้บริเวณพื้นที่ราบลุ่มหน้าภูสามเส้าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม

ดังนั้นจึงเป็นพื้นที่ทำนาดำและยังพบร่องรอยของการตั้งชุมชนโบราณ เช่น บริเวณด้านหน้าภูสามเส้า ยังคงเหลือแนวคันดินที่ทอดยาวในแนวเหนือ-ใต้และวกไปทางทิศตะวันออก ซึ่งนักวิชาการบางท่านเสนอว่าเป็นที่ตั้งเมืองเวียงพานคำหรือเวียงพางคำ 
 


แนวคันดินที่นักวิชาการบางท่านเสนอว่า
เป็นที่ตั้งเมืองเวียงพานคำหรือเวียงพางคำ 
หน้าที่ 3/13

นอกจากนี้ในบริเวณที่ราบยังพบว่ามีน้ำซับจากใต้ดินอยู่บางแห่ง เช่น ที่หนองหล่ม ซึ่งในตำนานพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่าเดิมเป็นเวียงโยนก แต่ท้ายสุดล่มลงไปกลายเป็นหนองน้ำ หนองน้ำดังกล่าวอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงแสน ด้วยสภาพทางธรรมชาติดังกล่าวยังมีอิทธิพลต่อโลกทัศน์ของคนในท้องถิ่น กล่าวคือ ชาวลัวะซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในท้องถิ่นถือว่า ภูเขาแห่งนี้เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์เป็นหลักสำคัญ (Landmark) ในการแบ่งพื้นที่หรือการเดินทางและสัมพันธ์กับการโยนหินสามก้อนในการเดินผ่านแดนธรรมชาติแห่งนี้ ขณะที่ถ้ำตามภูเขาก็ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งที่มักจะมีการบูชาอยู่หน้าถ้ำและไม่รุกล้ำเข้าไปด้านใน
 


ผังโดยสังเขปบริเวณที่ตั้งของเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย

 

 

 

นอกจากมิติทางด้านภูมิศาสตร์ในการศึกษาและการทำความเข้าใจต่อภูสามเส้า ในอีกแง่หนึ่งมิติทางประวัติศาสตร์ยังสะท้อนพัฒนาการในพื้นที่ภูสามเส้า-แอ่งที่ราบเชียงแสนผ่าน ‘ตำนานพื้นเมืองเชียงแสน’ ยังเป็นอีกหนึ่งมิติที่สำคัญในการทำความเข้าใจและศึกษาพื้นที่ดังกล่าว และแม้ว่าหลักฐานจากตำนานท้องถิ่นจะไม่สามารถระบุช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน หากแต่ภาพสะท้อนจากเนื้อหาของตำนานย่อมทำให้เห็นถึงสาระสำคัญของพัฒนาการในพื้นที่ได้ 

ประการแรก คือการผสมผสานระหว่างกลุ่มคนดั้งเดิมในพื้นที่กับกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายมาจากต่างพื้นที่ กล่าวคือ กลุ่มชาวไทยผู้ที่เคลื่อนย้ายมาจากต่างพื้นที่ได้นำระบบความเชื่อทางศาสนาพุทธของตนเข้ามาผสมผสาน (Acculturation) กับความเชื่อดั้งเดิมในท้องถิ่นดังเห็นได้จากการสร้างพระธาตุดอยตุงตามตำนานได้กล่าวว่า

พระยาอชุตราชได้ให้ปู่เจ้าลาวจก หมายถึงชาวลัวะที่ตามตำนานกล่าวว่ามีศรัทธาในพระพุทธศาสนาถวายข้าวใส่บาตรให้แด่พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพระองค์เสด็จผ่านมายังบริเวณดอยดินแดงหรือดอยตุงแห่งนี้ เป็นผู้ดูแลองค์พระธาตุ พร้อมด้วยบริวารอีก ๕๐๐ คน 

ดังนั้นจึงเป็นภาพสะท้อนของพุทธศาสนาที่เข้ามาซ้อนทับและผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม (การนับถือธรรมชาติ-ภูเขาศักดิ์สิทธิ์) ขณะเดียวกันตำนานเกี่ยวกับภูสามเส้าในสมัยหลังที่อธิบายรูปร่างภูเขาเชื่อมโยงกับผู้หญิงนั้นก็ยังคงมีลักษณะเค้าโครงเรื่องการปะทะสังสรรค์ระหว่างคนที่มาจากสองกลุ่มที่ต่างกันและมีความสัมพันธ์กัน 

ประการที่สองคือ การจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติผ่านระบบความเชื่อและจารีตที่กล่าวถึงกฎระเบียบข้อปฏิบัติต่างๆ ต่อการอยู่อาศัยในพื้นที่ เช่น ข้อห้ามและข้อปฏิบัติของคนในพื้นที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยเช่นกัน เช่น ข้อห้ามในการสร้างบ้านที่พักขวางทางน้ำ ซึ่งถือว่าหากฝ่าฝืนจะถือเป็นการ ‘ขึด’ หรือทำผิดจารีตจะเกิดหายนะ เป็นต้น

จากจุดตั้งต้นทางภูมิวัฒนธรรมและนิเวศวัฒนธรรมของภูสามเส้า สะท้อนออกมาในแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมหินตั้ง (Megalithic Culture) ซึ่งมีการใช้เรียกโครงสร้างที่ผู้คนจากทั่วโลกสร้างขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ โดยทั่วไปแล้วจะเกี่ยวข้องกับการฝังศพ และมักเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาและเหนือธรรมชาติ

หน้าที่ 4/13

เวอร์ กอร์ดอน ไชลด์ (Vere Gordon Childe) นักโบราณคดีชาวออสเตรเลียที่เชี่ยวชาญในการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของยุโรป ทำงานเป็นนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ และสถาบันโบราณคดี ลอนดอน ได้อรรถาธิบาย คำว่า Megalithic มาจากคำภาษากรีก 2 คำ คือ Megas แปลว่าใหญ่ และ Lithos แปลว่า หิน โดยนักโบราณคดีได้นำมาใช้ครั้งแรกเพื่ออธิบายประเภทของอนุสรณ์สถานที่สามารถกำหนดได้ค่อนข้างง่ายในยุโรปตะวันตกและตอนเหนือ ซึ่งประกอบด้วยหินขนาดใหญ่

กล่าวอีกนัยหนึ่งมักหมายถึงการฝังศพด้วยหินขนาดใหญ่ในสุสานที่อยู่ห่างจากพื้นที่อยู่อาศัยและการค้นพบนี้มีอายุย้อนกลับไปถึง ๕,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล โดยโครงสร้างที่สร้างด้วยหินก้อนใหญ่ มีอยู่เป็นจำนวนมากทั่วโลก มีมาตั้งแต่ยุคหินกลางและยุคหินใหม่ 

อย่างไรก็ตาม แหล่งโบราณคดีหินตั้งส่วนใหญ่มาจากยุคเหล็ก แม้ว่าบางแหล่งจะสร้างขึ้นก่อนยุคเหล็ก ซึ่งเดิมหมายถึงหินก้อนใหญ่ที่แสดงถึงยุคหินใหญ่ ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ ๒,๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาลถึง ๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์หรือสถานที่ฝังศพเป็นหลัก และถือเป็นโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เรารู้จักในปัจจุบัน เชื่อกันว่าหินเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหลังการฝังศพหรือพิธีฝังศพ 

หินตั้ง (Standing Stone) คือ เขตแดน หรือ การสร้างปริมณฑล (Boundary) เพื่อพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อของแต่ละท้องที่ ซึ่งชุมชนบรรพกาลทั่วโลก ล้วนมีร่องรอยพิธีกรรมเพื่อความเชื่อในลัทธิบูชาอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือ ผี (Animism) จึงมักจะมีการสร้างสถานที่ติดต่อกับอำนาจเหนือธรรมชาติในรูปแบบของอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ หรือเขตหวงห้าม มิให้ผู้คนทั่วไปในชุมชน เข้ามารบกวนกระบวนการเซ่นสรวง บูชา และลุกล้ำสิ่งอื่นๆ ที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสถานที่นั้นๆ 

ชุมชนโบราณอายุ ๓,๐๐๐ - ๑,๐๐๐ ปี ทั่วโลกต่างก็ล้วนมีร่องรอยของวัฒนธรรมหินตั้งกันแทบทั้งสิ้น เช่น ในประเทศลาว มีทุ่งไหหิน เมืองโพนสะหวัน ก็จัดเป็นวัฒนธรรมหินตั้งอีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตามที่นักมานุษยวิทยาได้ลงความเห็นกันว่า บริเวณที่มีหินตั้ง น่าจะเป็นที่ฝังกระดูกของบรรพบุรุษ หรือเป็นสถานที่เพื่อทำพิธีฝังศพครั้งที่สอง หลังจากมีการนำซากศพจากแร้งกิน หรือจากการเผามาแล้วในครั้งแรก พิธีฝังศพครั้งที่สอง น่าจะมีการฆ่าสัตว์ เช่น วัว ควาย เพื่อการเซ่นไหว้บูชาอำนาจเหนือธรรมชาติและผีบรรพบุรุษ  

หินตั้งจะถูกใช้เพื่อการล่ามสัตว์ที่นำมาฆ่าบูชายัญ ฉะนั้นจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่วิญญาณบรรพบุรุษกับวิญญาณสัตว์ที่ถูกฆ่าจะมาสิงสถิตเพื่อคอยดูแลปกป้องคุ้มครองเผ่าพันธุ์ลูกหลาน นอกจากการใช้หินในการตั้งเป็นขอบเขตของปริมณฑลแห่งความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังพบว่ามีร่องรอยของการใช้เสาไม้เป็นหลักเขตพิธีกรรมแทนการใช้หินอีกด้วย

สำหรับสยามเทศะหรือดินแดนประเทศไทย มีการค้นพบวัฒนธรรมหินตั้งและร่องรอยประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับการบูชายัญและผี เป็นปริศนามากมายหลายแห่งทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ กระจัดกระจายตัวไปทั่ว เช่นที่ ลุ่มน้ำอิง จังหวัดเชียงราย ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี 

ร่องรอยวัฒนธรรมหินตั้งนั้น มีการสืบเนื่องในศาสนาผีราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยใช้สืบเนื่องมาจนรับศาสนาจากอินเดียราวหลังปี พ.ศ. ๑,๐๐๐ ในตำนานนิทานในแต่ละภูมิภาคมีการเรียกชื่อหินตั้งแตกต่างกันตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น 
 


ทุ่งไหหิน ประเทศลาว
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
หน้าที่ 5/13

จากความเชื่อและเรื่องเล่าตำนานต่างๆ ทำให้รู้ว่าหินตั้งมีความสำคัญมากต่อการสร้างบ้านปักหลักเมืองของคนโบราณ ซึ่งสถานที่ที่จะสร้างเมืองได้นั้นจะต้องถูกหลักต่อการสร้าง มีพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ แหล่งทำการเกษตรต่างๆ เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตคนในเมืองได้ และยังต้องมีรั้วบ้านที่สามารถป้องกันภัยจากภายนอกได้ 

นอกจากนี้ เขตแดนบริเวณที่มีหินตั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นเขตสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากเป็นสถานที่เซ่นไหว้บูชาหลังการสร้างเมือง และบูชาผีบรรพบุรุษของผู้คนตามท้องถิ่นนั้นๆ   
 

 
แม่น้ำกกในลุ่มน้ำกก แอ่งเชียงแสน  
ที่มา: มิวเซียมไทยแลนด์-แม่น้ำกก

 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งได้เดินเท้าศึกษาและสำรวจแหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ ในดินแดนประเทศไทย และนำมาใช้เป็นพื้นฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้แก่ชาวบ้านชาวเมืองที่มีสำนึกในเรื่องชาติภูมิและมาตุภูมิ ตามแนวคิดของอาจารย์ศรีศักรนั้น การเข้าถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้นต้องทำความเข้าใจกับสาระสำคัญ ๓ เรื่อง คือ ‘ภูมิวัฒนธรรม’/‘นิเวศวัฒนธรรม’ และ ‘ชีวิตวัฒนธรรม’

ภูมิวัฒนธรรมที่อาจารย์ศรีศักรกล่าวถึงในภาคเหนือที่ในอดีตเรียกว่า ล้านนาไทย แบ่งย่อยๆ ออกเป็นแอ่งใหญ่ๆ ได้ ๒ แอ่ง คือ ‘แอ่งเชียงใหม่’ และ ‘แอ่งเชียงราย’ โดยเฉพาะแอ่งเชียงรายนั้น มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ‘โยนก’ และผู้คนได้รับการขนานชื่อว่า ยวนหรือไทยยวน 

แอ่งเชียงรายมีพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญอยู่ ๒ ที่ราบลุ่ม คือแม่น้ำกกและแม่น้ำอิง แต่ละลุ่มน้ำก็มีแอ่งและหุบ (Basin และ Valley) หลายแห่ง อันเป็นพื้นที่คนเคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านและเมือง และทำเกษตรกรรมเพื่อดำรงชีวิตร่วมกัน แต่ละแอ่งดังกล่าวนี้เป็นเบ้าหลอมที่ทำให้คนหลายชาติพันธุ์ หลายภาษาและศาสนา ความเชื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานร่วมกัน สัมพันธ์กันทางสังคม ทั้งการแต่งงานและทำกินในพื้นที่เดียวกัน เป็นที่เกิดและตายร่วมกัน ทำให้มีสำนึกร่วมในพื้นที่เกิดหรือมาตุภูมิเดียวกัน โดยสร้างความรู้ชั้นชุดหนึ่งในนามของจารีตและประเพณีให้เป็นสิ่งรับรู้ร่วมกันและถ่ายทอดมายังคนรุ่นหลังๆ เพื่อการอยู่รอดร่วมกัน 

นับเป็นความรู้จากคนภายในท้องถิ่นและระหว่างถิ่นที่สัมพันธ์กันเป็นภูมิวัฒนธรรมจากสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม วัฒนธรรมก็คือการเรียกชื่อสถานที่ต่างๆ ทั้งแม่น้ำลำคลอง หนอง ห้วย ป่าเขา ทุ่งราย และนามบ้านนามเมือง อันเป็นที่รับรู้กันของบรรดาคนใน โดยมีการถ่ายทอดผ่านตำนานและนิทานจากทั้งทางเอกสารและการบอกเล่า

อาจารย์ศรีศักร ได้แบ่งแอ่งย่อยๆ ๒ แอ่ง ในลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำอิงมากล่าวถึง นั่นคือ ‘แอ่งเชียงแสน’ ในลุ่มน้ำกก กับ ‘แอ่งพะเยา’ ในลุ่มน้ำอิง โดยเพ่งความสนใจไปที่สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละแอ่งเป็นจุดเริ่มต้น คือดอยตุงของแอ่งเชียงแสน และดอยด้วนของแอ่งพะเยา ทั้งสองแอ่งนี้เป็นพื้นที่และภูมิวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดนครรัฐสองรัฐในแอ่งเชียงรายคือ เชียงแสนและพะเยา เป็นนครรัฐก่อนเกิดการรวมตัวกันขึ้นโดยพญามังราย 

หน้าที่ 6/13

หลังจากนั้นได้ขยายอำนาจเข้าไปในแอ่งเชียงใหม่จนทำให้เกิดแคว้นล้านนาขึ้น ลักษณะทางภูมิศาสตร์กายภาพหรือภูมินิเวศทางธรรมชาติ (Natural Landscape) ของทั้งสองแอ่งคือเชียงแสนและพะเยานั้นเหมือนกัน คือประกอบด้วยพื้นที่ที่มีเขาอยู่โดยรอบ ที่มีลำน้ำลำห้วยไหลลงจากเขาและที่สูงลงสู่ที่ลุ่มต่ำ อันเป็นที่รับน้ำ เช่น บึงและหนอง ที่มีระดับน้ำแตกต่างกันระหว่างฤดูแล้งกับฤดูฝน (Seasonal Lake) ในฤดูแล้งพื้นที่รอบหนองส่วนหนึ่งแห้ง พอถึงฤดูฝนน้ำท่วมบริเวณชายขอบบึงทำให้เกิดเป็นปริมณฑลกว้างขวาง ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า หนอง 

สังคมเกษตรกรรมแบบชาวนา (Peasant Communities) พัฒนาขึ้นตามขอบหนองเหล่านี้ ตามบริเวณชายขอบที่สูงที่สามารถใช้น้ำจากลำห้วยลำธารที่ไหลลงจากเขาและที่สูงมาเป็นน้ำกินและน้ำอุปโภค รวมทั้งเพื่อทำการเพาะปลูกในพื้นที่แห้งในฤดูแล้งรอบหนองได้ 

พื้นที่ชายขอบหนองที่เกิดชุมชนบ้านและเมืองนั้นเรียกในทางธรณีสัณฐานว่า ที่ราบขั้นกระได หรือที่ลาดต่ำ (Low Terrace) แต่พื้นที่ลุ่มต่ำที่ทำการเพาะปลูกนั้นคือที่ราบลุ่มหรือลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมถึง ชุมชนชาวนาของสังคมชาวนาในระยะแรกๆ มักจะทำนาแบบนาทาม คืออาศัยพื้นที่ทามในการหว่านข้าวลงไป โดยการชะลอน้ำในตอนปลายฤดูฝนด้วยการใช้คันดินหรือทำนบกักน้ำ ชะลอน้ำ และแบ่งน้ำเพื่อการเติบโตของต้นข้าว เป็นการทำนาปีแต่เพียงอย่างเดียว ลักษณะการตั้งถิ่นฐานและการทำเกษตรกรรมแบบนี้ไม่ใคร่ทำให้ลักษณะของภูมินิเวศธรรมชาติและภูมิวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงเท่าใด 

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายหลังเมื่อมีพัฒนาการของการทำนาแบบทดน้ำ (Irrigated Rice Cultivation) เกิดขึ้นโดยเฉพาะการชลประทานแบบเหมืองฝาย ที่มาพร้อมกับคนกลุ่มใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงกว่า หรือมาจากการได้รับอิทธิพลทางเทคโนโลยีในการชลประทานและการทำการเพาะปลูกจากภายนอก

เทือกเขาและแอ่งที่ราบเชียงแสน กลุ่มชนแรกเริ่มกระจายกันอยู่ตามที่ลาดสูงและลาดต่ำของเทือกเขาด้านตะวันตกของแอ่ง อันมีดอยตุงเป็นสัญลักษณ์ทางภูมิทัศน์ ที่ในตำนานเมืองเชียงแสนและพงศาวดารโยนกเรียกว่า ภูสามเส้า เป็นกลุ่มชนที่เรียกว่า พวกลัวะ ที่มีปู่เจ้าลาวจกเป็นหัวหน้า คนเหล่านี้ใช้เสียมตุ่นเป็นเครื่องมือทำกินแบบทำสวนคือ ปลูกพืชปลูกต้นไม้แต่พอเลี้ยงตัวเอง (Horticulture) อันเป็นระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ (Subsistence Economy) 

เสียมตุ่น เป็นรูปแบบหนึ่งของเครื่องมือหินขัดที่พบกระจายอยู่ทั่วไปทั้งบนที่สูงและที่ต่ำ กลุ่มลัวะนี้มีการเติบโตและขยายตัว และบริเวณเทือกเขาด้านตะวันตกไปตามเขาและที่ลาดสูงที่อยู่โดยรอบของแอ่ง โดยเฉพาะทางด้านใต้ ด้านเหนือ และที่สูงทางตะวันออกที่ต่อกับบริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่สบรวกลงไปถึงเชียงแสนและเวียงปรึกษา จนจดปากแม่น้ำกก อันเป็นบริเวณที่มีหนองน้ำและที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงที่เรียกว่า หนองหล่ม โดยลักษณะภูมิประเทศดังกล่าวอาจแบ่งบริเวณแอ่งเชียงแสนออกได้เป็น ๒ บริเวณใหญ่ บริเวณแรกคือที่ราบลุ่มและหนองบึงด้านหน้าดอยตุงของลำน้ำลำห้วยที่ไหลลงจากเทือกเขาดอยตุง เช่น ลำน้ำแม่สาย ลำน้ำแม่คำ และลำน้ำแม่จัน ลำน้ำแม่สายอยู่ทางเหนือไหลไปทางตะวันออกไปสบกับลำน้ำรวกที่ไหลมาจากเทือกเขาด้านเหนือในเขตประเทศพม่า รวมกันเป็นลำน้ำรวกไหลไปออกแม่น้ำโขงที่สบรวกที่ปัจจุบันเรียกว่า สามเหลี่ยมทองคำ
 


สามเหลี่ยมทองคำ บริเวณบ้านสบรวก
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
หน้าที่ 7/13

ลำน้ำดำนั้นไหลลงจากเทือกเขาดอยตุงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ไปรวมกับลำน้ำจันที่ไหลมาจากที่สูงทางตะวันตกเฉียงใต้เลียบภูเขาในเขตอำเภอแม่จัน ไปออกแม่น้ำโขงที่บริเวณสบคำเชิงเขาดอยจันที่อยู่ระหว่างเมืองเชียงแสนและเวียงปรึกษา 

ส่วนบริเวณที่สองคือ บริเวณด้านตะวันตกหลังเขาดอยจันที่เป็นหล่มเป็นหนองที่เรียกว่า หนองหล่ม ซึ่งปัจจุบันคนรู้จักกันในนามว่าทะเลสาบเชียงแสน และมีตำนานที่กล่าวถึงการสร้างบ้านแปงเมืองที่มีชื่อว่า เมืองโยนกนาคพันธ์ อันเป็นต้นกำเนิดของคำว่า โยนก และกลุ่มคนยวน โดยคนชาติพันธุ์ไทยใหญ่ที่เคลื่อนย้ายจากลุ่มน้ำสาละวินผ่านมายังแม่น้ำกก และเคลื่อนย้ายผ่านเมืองเชียงรายมายังบริเวณหนองหล่มมาตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ในบริเวณนี้ ผู้นำทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยใหญ่ก็คือ พระเจ้าสิงหนวัติกุมาร 



ภูนางนอน ดูเป็นรูปผู้หญิงนอน
และเกิดตำนานนางนอนขึ้นภายหลัง

บริเวณแรกที่อยู่ตีนเทือกเขาดอยตุงนั้น ก็มีการเคลื่อนไหวในการสร้างบ้านแปงเมืองของชุมชนกลุ่มลัวะ อันเห็นได้จากตำนานเมืองหิรัญนครเงินยางว่าผู้นำทางวัฒนธรรมคือ พระยาลวจักราชในกลุ่มของปู่เจ้าลาวจก ได้นำคนจากที่สูงของเทือกเขาดอยตุงลงมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ริมลำน้ำที่ตีนเขา แล้วเกิดการขยายตัวไปตามเขาและที่สูงตามบริเวณโดยรอบ เช่นที่สบรวก เชียงแสน ดอยจัน 

เมืองหิรัญนครเงินยางในตำนานนั้น ถ้ามองจากตำแหน่งที่ตั้งของตัวเมือง คือเวียงจันเป็นบริเวณที่มีแนวคันดินหรือกำแพงล้อมรอบนั้น น่าจะเป็นเมืองเดียวกับเวียงพานคำที่อยู่เชิงเขาดอยจ้องริมลำน้ำแม่สาย ปัจจุบันเป็นอำเภอแม่สาย เพราะเป็นแหล่งโบราณคดีที่สัมพันธ์กับดอยตุง เพราะดอยจ้องนั้นเป็นหนึ่งในภูสามเส้าที่ชาวบ้านชาวเมืองเรียกว่า ดอยจ้อง ดอยปู่เฒ่าและดอยตุง และคนรุ่นหลังในปัจจุบันเรียกว่า ภูนางนอน เพราะดูเป็นรูปผู้หญิงนอนและเกิดตำนานนางนอนขึ้นภายหลัง  

ตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า ตำนานเกี่ยวกับดอยตุงอาจวิเคราะห์ได้เป็น ๓ ตอน ตอนแรกคือ ภูสามเส้า ตอนที่สองเรียกดอยตุง และตอนสามคือ ดอยนางนอน อันเป็นสมัยปัจจุบัน ซึ่งเรื่องราวของตำนานทั้งสามตอนนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะภูมิวัฒนธรรมเป็นสามยุคคือ ยุคหินตั้ง อันเป็นยุคของการทำไร่หมุนเวียนและการทำนาหว่านแบบไม่ทดน้ำ ยุคที่สองการสร้างบ้านแปงเมืองที่ทำการเพาะปลูก ทำนาแบบทดน้ำที่เป็นนาดำและเพาะกล้าอันสัมพันธ์กับระบบชลประทานแบบเหมืองฝาย ส่วนยุคที่สามคือยุคเกษตรอุตสาหกรรมในสังคมอุตสาหกรรมปัจจุบัน

หลักฐานที่ใช้ประกอบให้เห็นลักษณะภูมิวัฒนธรรมในยุคหินตั้งของแอ่งเชียงแสนก็คือ 

๑. การมีอยู่ของภูสามเส้าและตำนานเกี่ยวกับภูสามเส้า  

๒. บรรดาเครื่องปั้นหินขัดที่มีหลายรูปแบบที่กระจายอยู่ทั่วไปตามที่สูง ชายขอบที่สูงและที่ลาดต่ำ  

๓. เนินดินและหลักหิน กองหินที่แสดงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และหลุมศพของบุคคลสำคัญ 

ภูสามเส้า คือความคิดในเรื่องสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัญลักษณ์ทางจักรวาลและความเชื่อทางศาสนา มักจะตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นต้นน้ำที่ไหลลงหล่อเลี้ยงชุมชน ชีวิตความเป็นอยู่และการเกษตรกรรม เป็นที่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติที่ทุกคนต้องสยบและเกรงกลัว จะปรากฏตามภูเขาและโขดหินที่ดูแปลกประหลาดทางธรรมชาติ หรืออาจหมายถึงกองหินหรือก้อนหินที่มีการเคลื่อนย้ายมาตั้งแสดงไว้เป็นสัญลักษณ์ 
 

 
หน้าที่ 8/13

ภูมิวัฒนธรรมหินตั้งของกลุ่มชนโบราณที่เรียกว่าพวกลัวะมีความชัดเจน อีกทั้งยังได้เห็นการสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเข้าสู่ภูมิวัฒนธรรมในยุคต่อมา อันเป็นสมัยที่มีกลุ่มคนจากภายนอก เช่น คนยวนอันเป็นชนชาติในกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนย้ายเข้ามาผสมผสาน เป็นยุคที่มีการนำเอาความคิดทางเทคโนโลยีของการทำชลประทานแบบเหมืองฝายและนาดำเข้ามา ทำให้เกิดการแปงป่าให้เป็นนาในการสร้างบ้านแปงเมือง

คนกลุ่มใหม่ที่เคลื่อนจากภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ของคนลัวะแต่เดิมนั้น โดยตำนานเป็นชนชาติพันธุ์ไทยที่มีชีวิตอยู่บนพื้นที่ราบ รอบๆ หนองน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็นทะเลสาบ เช่น ทะเลสาบคุนหมิงและทะเลสาบตาหลี่ในมณฑลยูนนานของจีนตอนใต้ คนเหล่านี้มีประสบการณ์ในการทำนาทดน้ำด้วยระบบเหมืองฝาย เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่รอบๆ หนองหล่ม อันหมายถึงหนองน้ำที่มีน้ำผุดจากใต้ดิน นับเป็นภูมินิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์ การกระจายตัวของคนจากที่ราบดังกล่าวนี้ไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของคนกลุ่มลัวะแต่เดิม ได้ทำให้เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองไปทั่วอาณาบริเวณของแอ่งเชียงแสน 

การขยายและการกระจายตัวของชุมชนนั้น เห็นได้จากการสร้างสถานที่ทางวัฒนธรรมขึ้นทับและซ้อนกับแหล่งความเชื่อดั้งเดิมในระบบหินตั้ง ด้วยการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์และรอยพระพุทธบาทบนแหล่งศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิหินตั้ง เช่น สร้างพระธาตุดอยตุงและพระธาตุดอยจ้องขึ้นมาแทนที่ภูสามเส้าในวัฒนธรรมของคนลัวะ โดยเฉพาะพระธาตุนั้นจะตั้งอยู่ในบริเวณที่สัมพันธ์กับแหล่งที่เป็นชุมชนเมือง เช่น พระธาตุปูเข้าที่สบรวกริมแม่น้ำโขง เป็นของคู่กันไปกับบริเวณตัวเมืองที่เรียกว่า เวียง เช่น พระธาตุปูเข้าสัมพันธ์กับเวียงปูเข้า พระธาตุจอมกิติสัมพันธ์กับเวียงเชียงแสน และพระธาตุดอยจันสัมพันธ์กับเวียงปรึกษา เป็นต้น

การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของภูมิวัฒนธรรมของภูสามเส้ามาเป็นดอยตุง อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์ของพุทธศาสนาแทนแหล่งศักดิ์สิทธิ์ของคนลัวะในวัฒนธรรมหินตั้งมาสู่ภูมิวัฒนธรรมของบ้านเมืองในยุคเกษตรกรรมที่มีการชลประทานเหมืองฝาย ก็คือตำนานพงศาวดารโยนกนั้นกล่าวว่า เจ้าผู้ครองเวียงพานคำริมลำน้ำแม่สาย ตีนเขาดอยจ้อง คือเชื้อสายของพระเจ้าพรหมของตระกูลสิงหนวัติ เป็นผู้สร้างฝายและขุดเหมืองแดง ระบายน้ำจากลำน้ำแม่สายและธารน้ำที่ไหลลงจากเขามาเลี้ยงแหล่งทำนาปลูกข้าวในพื้นที่ราบลุ่มของแอ่งเชียงแสน ซึ่งปัจจุบันนี้เหมืองแดงก็ยังคงมีอยู่ รวมทั้งการขยายตัวของเหมืองฝายไปทั่วพื้นที่เกษตรกรรมของแอ่งเชียงแสน

เมื่อนำความรู้ทางด้านคติชนวิทยา ในเรื่อง ‘ปู่เจ้าลาวจก’ ตำนานดั้งเดิมแห่งภูสามเส้าหรือดอยนางนอน พบว่า ปู่เจ้าลาวจก หรือลาวจง เป็นปฐมกษัตริย์ของล้านนา คำว่า ลาว ที่นำหน้าหมายถึงนาย หรือผู้มีอำนาจ ต่อมาในยุคที่วรรณกรรมภาษาบาลีในล้านนาเฟื่องฟู จึงแปลงพระนามเป็น ลวจักราช

ตามตำนาน เช่น พื้นเมืองเชียงใหม่ หรือพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่า เมื่อพระเจ้าอนุรุทธ แห่งพุกาม ประชุมกษัตริย์เมืองต่างๆ เพื่อตั้งศักราชใหม่ ปรากฏว่าพวกลุ่มน้ำกกหามีกษัตริย์ไม่ พระอินทร์จึงส่งลาวจงเทวบุตร ก่าย เกินเงิน (บันไดเงิน) แต่จอมเขายุคุนธร มาสู่บริเวณดอยตุงที่ต้นไม้หมากขะทัน พร้อมบริวารหนึ่งพันคน ลาวจงเทวบุตรมายืนบนแท่นเงินใต้ต้นหมากขะทัน (พุทรา) แล้วกลายเพศจากเทวดา โอปปาติกะเป็นมนุษย์เหนือแท่นเงินนั้น ชาวเมืองจึงยกให้เป็นปฐมกษัตริย์พระองค์แรก

จากตำนานพอจะเห็นถึงร่องรอยเค้าโครงได้ว่า ปู่เจ้าลาวจกเป็นคนที่มีถิ่นฐานอยู่บนดอยตุง มีการติดต่อสัมพันธ์กับคนพื้นที่ราบเชิงดอยตุง ภายหลังนำคนจากที่สูงบนดอยตุงลงมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ที่ลำน้ำตีนเขา
 


พระธาตุจอมกิติ จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
หน้าที่ 9/13

ในพงศาวดารโยนกอธิบายว่า เหตุที่เรียก ปู่เจ้าลาวจกเพราะว่ามีจก คือ จอบขุดดิน มากกว่าห้าร้อยเล่มขึ้นไป สำหรับแจกจ่ายให้คนในปกครองเช่ายืมทำไร่ ข้อมูลนี้จึงทำให้เห็นว่ากลุ่มชนของปู่เจ้าลาวจกมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีเรื่องเหล็กเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ในพงศาวดารโยนกยังระบุว่า บริเวณที่ปู่เจ้าลาวจกตั้งถิ่นฐานแต่ก่อนที่จะลงมาสร้างเมืองเงินยางนั้น มีถิ่นฐานอยู่ที่ดอยสามเส้า หรือดอยสามยอด ดอยนี้ประกอบไปด้วย

๑. ดอยทา เป็นทางขึ้นลงซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มลาวจกกับพวกชาวเมืองที่ราบดอยตุง

๒. ดอยย่าเถ้า ที่อยู่ภรรยาปู่เจ้าลาวจก

๓. ดอยดินแดง ที่อยู่ปู่เจ้าลาวจก ภายหลังคือดอยธง (ดอยตุง) เพราะมีธงตะขาบใหญ่ที่พระเจดีย์เป็นสัญลักษณ์

ภายหลังดอยสามเส้านี้ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดอยนางนอน
 


ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงลักษณะภูมิประเทศบริเวณดอยตุง 

 

 

อาจารย์ศรีศักร ได้สังเคราะห์องค์ความรู้ถึงวิวัฒนาการทางสังคมของแหล่งโบราณคดีที่อยู่ในพื้นที่และขอบเขตของภูสามเส้าผ่านภูมิวัฒนธรรม นิเวศวัฒนธรรม และมานุษยวิทยาวัฒนธรรม มาเชื่อมต่อร้อยชุดความคิดออกมาดังนี้

‘….ทิวเขาแม่จัน คือ สันปันน้ำที่แบ่งแอ่งเชียงรายออกจากแอ่งเชียงแสน แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่าการแบ่งสันปันน้ำก็คือ ทางเชิงเขาฟากฝั่งแอ่งเชียงรายเป็นที่ลุ่มต่ำเต็มไปด้วยหนองบึงที่เรียกว่า หนองหล่ม คือหนองที่มีน้ำซับหรือน้ำใต้ดินที่มีระดับน้ำไม่คงที่ เช่น เวลาฝนตกและมีน้ำใต้ดินมากน้ำอาจท่วมท้นทำให้เกิดน้ำท่วมดินถล่มกลายเป็นทะเลสาบได้ หรือเมื่อน้ำใต้ดินลดน้อยลงแผ่นดินโดยรอบก็จะแห้งกลับคืนมา ทำให้คนเข้าไปตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยโดยรอบของหนองหรือทะเลสาบนั้นได้

ในการศึกษาทางภูมิวัฒนธรรมของการสร้างบ้านแปงเมืองในแอ่งเชียงแสนจากตำนานของข้าพเจ้าและบิดาคือ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม พบว่าแอ่งเชียงแสนเป็นที่เกิดของเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของคนไทยสองเมือง คือ เมืองเวียงพางคำ เชิงที่ราบลุ่มของเขาขุนน้ำนางนอนที่อยู่ขอบเขาใกล้กับลำน้ำแม่สายที่อยู่ทางตอนเหนือของแอ่งเชียงแสนกับเมืองเวียงหนองหล่ม ที่อยู่ชายขอบทิวเขาแม่จันทางฟากลุ่มน้ำแม่กกซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของแอ่งเชียงแสน ตำนานที่กล่าวถึงการสร้างบ้านแปงเมืองที่ว่านี้เป็นตำนานของคนสองเผ่าพันธุ์ คือ คนไทย และคนลัวะ

ตำนานของคนไทยคือ ตำนานสิงหนวัติ ส่วนตำนานของคนลัวะคือ ตำนานเกี่ยวกับปู่เจ้าลาวจก ความต่างกันของตำนานทั้งสองก็คือตำนานของคนไทยคือตำนานของคนที่เข้ามาในแอ่งเชียงแสนจากภายนอก ในขณะที่ตำนานปู่เจ้าลาวจกเป็นตำนานของคนที่มี ถิ่นฐานอยู่ในแอ่งเชียงแสนมาก่อน 

ตำนานของคนลัวะตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่สูง เช่น เชิงเขาและเขาเตี้ยๆ ส่วนของคนไทยตั้งหลักแหล่งในที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำลำน้ำและหนองบึงและคนเหล่านี้ก็เข้ามาพร้อมกันกับความเชื่อในเรื่องของผีบนท้องฟ้า เช่น ผีแถนและพญานาคที่เป็นเจ้าของแผ่นดินและน้ำ ดังเช่นบริเวณใดที่เป็นหนองบึงที่มีน้ำซับก็จะเชื่อว่าเป็น รูของพญานาค เมื่อมาผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนาแล้วก็มักจะสร้างพระมหายอดเจดีย์ ณ ตำแหน่งที่เป็นรูของพญานาค ให้เป็นหลักของบ้านและเมือง ส่วนความเชื่อของคนลัวะไม่มีเรื่องผีบนฟ้า เช่น ผีแถน ผีฟ้า และพญานาค ซึ่งเป็นสัตว์เนรมิต แต่เชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนดินและสัตว์ธรรมชาติที่เป็นสัตว์กึ่งน้ำกึ่งบก เช่น งู ปลาไหล จระเข้ ตะกวด เหี้ย ที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งความเชื่อในเรื่องผู้หญิงเป็นใหญ่กว่าผู้ชายในสังคม เช่น ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองและปกครองคนคือผู้ที่เป็นหญิง ฯลฯ

หน้าที่ 10/13

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้ศึกษาและสำรวจมาเกี่ยวกับคนลัวะที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่สูงตามเขาและเนินเขาเหล่านี้พบว่า ระบบ ความเชื่อของคนลัวะได้พัฒนาขึ้นเป็น ระบบหินตั้ง [Megalithic] คือมีการแยกพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ออกจากพื้นที่ธรรมดาสาธารณ์ด้วยแท่งหิน ก้อนหิน หรือแผ่นหิน รวมทั้งการกำหนดลักษณะภูเขา ต้นไม้ เนินดิน ให้เป็นแหล่งที่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น การกำหนดให้เป็นที่ฝังศพของคนสำคัญหรือไม่ก็เป็นบริเวณที่สัมพันธ์กับการอยู่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ และพื้นที่ในการมาประกอบพิธีกรรมร่วมกัน ฯลฯ

การฝังศพของบุคคลสำคัญมักจะถูกกำหนดให้ฝังไว้ในที่สูง ที่ไม่ไกลจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อาจจะเป็นโขดหิน เพิงหิน หรือกองหินสามก้อนหรือสามเส้าที่อาจจะเป็นก้อนหินธรรมชาติหรือเป็นของที่เคลื่อนย้ายจากที่อื่นมาประดิษฐานไว้

ในขณะที่บริเวณที่ฝังศพจะทำให้เป็นเนินดินล้อมเป็นรูปกลมหรือรูปเหลี่ยม รวมทั้งนำแท่งหินหรือก้อนหินมาปักรอบในระยะที่ห่างกันเป็นสี่ก้อนหรือมากกว่านั้นโดยไม่กำหนดตามจำนวนอย่างใด และบริเวณที่วางศพก็จะมีเครื่องเซ่นศพที่อาจจะเป็นเครื่องประดับ อาวุธและภาชนะดินเผารวมทั้งเครื่องใช้บางอย่าง คนที่อยู่ในที่สูง เช่น พวกลัวะที่กล่าวมานี้ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่มากมายตามเขาต่างๆ ในเขตแคว้นล้านนา อาจแบ่งออกได้เป็นหลายเผ่า (Tribes) แม้ว่าจะเป็นชาติพันธุ์เดียวกันก็ตาม บางเผ่ามีพัฒนาการทางสังคมและการเมืองใหญ่โตเป็นเมืองเป็นรัฐ (Tribal State) เกิดขึ้นมา ซึ่งแลเห็นได้จากการสร้างเนินดินที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบเป็น ‘เวียง’ ขึ้นเพื่อการอยู่อาศัย การจัดการน้ำ และการป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรู

เหนือความเชื่อในเรื่องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นแหล่งฝังศพของคนสำคัญ โขดหินและเนินศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นแหล่งพิธีกรรมดังกล่าวมานี้ ก็เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่มีลักษณะโดดเด่นทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นขุนเขาหรือยอดเขาที่มีความสูงเป็นที่สุดเหนือบริเวณเขาทั้งหลาย หรือที่มีรูปร่างแบบไม่ธรรมดาที่ชวนให้คนที่เห็นมีจินตนาการนึกเห็นเป็นเรื่องราวอะไรต่างๆ ก็ได้

ก็คือบรรดาขุนเขาที่สัมพันธ์กับตำนาน ความเชื่อในเรื่องของความเป็นมาของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น บรรดาขุนเขาเหล่านี้ที่โดดเด่นในภาคพื้นล้านนาก็มี เช่น ดอยหลวง เชียงดาว ดอยสุเทพ ดอยด้วน ดอยตุง ฯลฯ

 

ในที่นี้ ดอยตุง ก็คือดอยที่สูงสุดของขุนเขาขุนน้ำนางนอน ในพงศาวดารโยนกที่กล่าวถึงเรื่องราวของกลุ่มคนลัวะในตระกูลของปู่เจ้าลาวจกที่ต่อมาพัฒนาการเป็นราชวงศ์ลวจักราชของพญามังราย ปฐมกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ในพงศาวดารไม่เรียกว่า ดอยตุง แต่เรียกว่า ‘ภูสามเส้า’ จากรูปร่างที่ปรากฏอยู่ของดอยสามดอยในบริเวณใกล้เคียงกัน คือ ดอยจ้อง ดอยผู้เฒ่า และดอยตุง ซึ่งในบรรดาดอยทั้งสามนี้ดอยตุงอยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นที่ซึ่งมีการนำพระธาตุมาประดิษฐานไว้เหนือดอยที่รู้จักกันในนามของดอยตุง

คำว่า ตุง โดยทั่วไปหมายถึงธงที่เป็นสัญลักษณ์ในทางศาสนาและความเชื่อ แต่ผู้รู้ในท้องถิ่นบางท่านบอกว่า เป็นบริเวณที่มีน้ำมารวมกัน
 


พญามังราย ราชวงศ์ลวจักราช ปฐมกษัตริย์เมืองเชียงใหม่
ที่มา: มิวเซียมไทยแลนด์-พญามังราย
หน้าที่ 11/13

ในตำนานของดอยตุงจากพงศาวดารโยนกบอกว่า บนดอยตุงเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของกลุ่มคนลัวะที่มีปู่เจ้าลาวจกเป็นผู้นำทำการเพาะปลูกพืชพันธุ์ด้วยการใช้เสียมตุ่น (เครื่องมือหิน) ในการพรวนดิน ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงจากบนเขามาสร้างบ้านแปงเมืองที่เชิงเขาใกล้กับลำน้ำสายที่ตอนปลายน้ำเรียก ลำน้ำรวก และเรียกชื่อเมืองนี้ว่าหิรัญนครเงินยางที่เป็นต้นกำเนิดให้เกิดเมืองเชียงแสนขึ้นเป็นรัฐเป็นนครในสมัยต่อมา 
 


อนุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

 

 

โดยมีกษัตริย์ผู้เป็นต้นตระกูลมีพระนามว่า ‘ลวจักราช’ ผู้ทำให้เกิดรัฐเชียงแสนขึ้น กษัตริย์สำคัญของราชวงศ์นี้คือ ‘ขุนเจือง’ เป็นผู้ที่แผ่อำนาจของรัฐเชียงแสนกว้างใหญ่ไปทั้งสองฟากของแม่น้ำโขง และต่อมาจากขุนเจืองอีก ๔ รัชกาล ก็มาถึงพญามังรายผู้สถาปนาแคว้นล้านนาขึ้นโดยมีเมืองสำคัญอยู่ที่เชียงใหม่

การสร้างเมืองขึ้นที่เชิงดอยตุงใกล้กับลำน้ำที่กล่าวในตำนานปู่เจ้าลาวจกนี้ มีเมืองอยู่จริงในบริเวณเชิงเขา ดอยเวา อันเป็นแนวเขาต่อเนื่องจากดอยจ้องลงไปจดลำน้ำสายที่กั้นเขตแดนไทย-พม่าที่ตำบลท่าขี้เหล็ก แต่คนท้องถิ่นในปัจจุบันไม่ได้เรียกว่าเมืองหิรัญนครเงินยางดังกล่าว 

ในตำนานลวจักราชผู้มีต้นตระกูลเป็นคนลัวะบนดอยตุง แต่เรียกชื่อเมืองว่า เวียงพางคำ เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพระเจ้าพรหมมหาราช มหาราชพระองค์แรกของชนชาติไทยในดินแดนประเทศไทย เป็นการอ้างเรื่องราวในตำนานสิงหนวัติของกลุ่มคนไทยที่เคลื่อนย้ายจากทะเลสาบตาลีฟูหรือหนองแส เป็นต้น แม่น้ำโขงในมณฑลยูนนานของประเทศจีน เป็นกลุ่มของชนเผ่าไทยที่อยู่ในพื้นราบทำนาในที่ลุ่มที่เชื่อกันว่าอพยพผ่านเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตามลำน้ำแม่กกลงมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ ณ บริเวณหนองหล่มใกล้ กับแม่น้ำโขงใกล้กับเมืองเชียงแสน

ในการศึกษาสำรวจทางโบราณคดีของข้าพเจ้าทั้งจากภาพถ่ายทางอากาศและการศึกษาภาคพื้นดินได้ความว่าเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างเป็นผืนผ้าแบบไม่สม่ำเสมอ พอแลเห็นแนวคูน้ำและคันดินเป็นรูปเหลี่ยมค่อนข้างชัดทางตะวันตกเฉียงเหนือ อันเป็นด้านติดกับภูเขาขุนน้ำนางนอนที่มีความยาวประมาณ ๑,๐๑๐ เมตร และทางด้านใต้ประมาณ ๑,๐๒๓ เมตร ทางด้านเหนือแนวกำแพงและคูน้ำคดเคี้ยวอันเนื่องมาจากเป็นบริเวณที่รับน้ำจากลำห้วยที่ลงจากเขาเพื่อชักให้ไหลผ่านคูเมืองออกไปลงพื้นที่ราบลุ่มทางตะวันออก 

ในขณะที่ทางด้านตะวันออกที่อยู่ในที่ลาดลุ่มไม่มีร่องรอยของแนวคันดินและคูน้ำปล่อยให้เปิดกว้างเป็นที่รับน้ำของลำห้วยและลำเหมืองที่มาจากเขาทางมุมเมืองด้านเหนือต่อกับด้านตะวันตก และการที่มีคูน้ำและคันดินไม่ครบทุกด้านเช่นนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าการสร้างคูน้ำและคันดินของเวียงพางคำไม่ใช่เป็นเรื่องของการป้องกันการรุกรานของศัตรูในยามสงครามเป็นเรื่องสำคัญ หากเป็นเรื่องการจัดการน้ำในเรื่องการป้องกันน้ำป่าบ่าไหลเข้าท่วมเมืองประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ก็คือการชักน้ำเข้ามาใช้ในเมืองและเบนน้ำเข้าตามลำเหมืองออกไปยังพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของผู้คนที่อยู่นอกเมืองทางด้านตะวันออก 

หน้าที่ 12/13

เขาขุนน้ำนางนอน คือชื่อในปัจจุบัน แต่ก่อนในตำนานเป็นเขาของคนลัวะที่เรียกว่า ‘ภูสามเส้า’ ต่อมาเปลี่ยนเป็น ‘ดอยตุง’ อันเนื่องมาจากการสร้างพระธาตุบนยอดเขาที่สูงสุดในบริเวณนี้

ข้าพเจ้าเคยขึ้นไปสำรวจดูบริเวณเขานี้ในเวลาอันจำกัด ไม่พบร่องรอยของโขดหินศักดิ์สิทธิ์ หรือเนินดินที่ฝังศพคนสำคัญในรอบหินตั้งเหมือนในที่อื่น แต่พบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ปัจจุบันยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แทน ซึ่งพอนำมากล่าวตีความได้ว่าน่าจะเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ของคนลัวะก่อนการสร้างพระธาตุดอยตุงที่มากับความเชื่อของคนเผ่าไทย-ลาวในล้านนาและล้านช้างที่เชื่อว่าที่ใดมีน้ำซับหรือน้ำใต้ดินเป็นรูพญานาคจะมีการสร้างพระธาตุในทางพุทธศาสนาขึ้นปิดรูนาคทำให้มีการสร้างพระธาตุดอยตุงขึ้นในบริเวณนี้ และเปลี่ยนชื่อภูสามเส้ามาเป็นดอยตุงทางพุทธศาสนาแทน จนมาปัจจุบันคนทั่วไปรุ่นใหม่ๆ กำลังลืมชื่อดอยตุงมาเป็นเขาขุนน้ำนางนอนแทน โดยเอาตำนานท้องถิ่นของคนรุ่นหลังๆ มาอธิบาย

การเปลี่ยนแปลงของเรื่องในตำนานและชื่อสถานที่ตลอดจนบุคคลสำคัญเกี่ยวกับเขาขุนน้ำนางนอนดังกล่าวนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิวัฒนธรรมของพื้นที่แอ่งเชียงแสนที่มีขุนเขาน้ำนางนอนเป็นประธานว่าเป็นแอ่งของที่ลาดลุ่ม และกลุ่มที่มีการเคลื่อนย้ายของคนหลายชาติพันธุ์จากภายนอกที่ผลัดกันอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแอ่งเชียงแสนของจังหวัดเชียงรายถึงสามสิบชนชาติและชาติพันธุ์....’

ภูสามเส้า จึงเป็นพื้นที่ของเทือกเขาและภูดอยที่แสดงให้เห็นถึงความสืบเนื่องของภูมิโบราณคดีและภูมิวัฒนธรรมที่เชื่อมต่อพัฒนาการทางสังคมและการแปรเปลี่ยนชื่อของดอยต่างๆ ตามยุคสมัยในเชิงมานุษยวัฒนธรรมของการครอบครองพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างเด่นชัดจนถึงปัจจุบัน


อ้างอิง

+ 'จากดอยตุงถึงดอยด้วน: ภูมิวัฒนธรรมยุคหินตั้งในล้านนา' โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม บทบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๔

คำสำคัญ : ภูสามเส้า,แอ่งที่ราบเชียงแสน,ลุ่มน้ำกก

‘เขาขุนน้ำนางนอน : ภูศักดิ์สิทธิ์ของแอ่งเชียงแสน’ โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เปิดประเด็น: จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๑๑๙ เดือนกรกฎาคม - กันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๖๑

‘ภูสามเส้า-ขุนน้ำนางนอน จากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สู่การท่องเที่ยว’ โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

'วัฒนธรรมหินตั้ง' โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม บทบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๖๓

'อดีตในอนาคต ตอนที่ ๑๖ ภูสามเส้า' โดย พนมกร นวเสลา

'ตำนานเมืองเชียงแสน' โดย พระธรรมวิมลโมลี (ปริวรรต)

‘ประวัติศาสตร์ล้านนา’ สรัสวดี อ๋องสกุล

‘พงศาวดารโยนก’ พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค)

‘พื้นเมืองเชียงแสน: ฉบับชำระ’ โดย สรัสวดี อ๋องสกุล

‘ประวัติศาสตร์สิบสองจุไท’ โดย ภัททิยา  ยิมเรวัต

พรเทพ เฮง
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกโบราณคดี รุ่น ๓๘ ทำงานด้านสื่อ ด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และสาระบันเทิงมาค่อนชีวิต
หน้าที่ 13/13