ผู้เข้าชม
0

จากสทิงพระสู่เมืองสงขลา

บทความชุด ‘คาบสมุทรแห่งสยามประเทศ’ ตอน สร้างบ้านแปลงเมืองที่ทะเลสาบสงขลา จากงานเขียนของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม แบ่งออกเป็น ๒ เรื่อง คือ จากโคกเมืองวัดเขียนบางแก้วสู่เมืองพัทลุง และ จากสทิงพระสู่เมืองสงขลา การสำรวจศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาโบราณคดีการสร้างบ้านแปลงเมืองในดินแดนประเทศไทย พบว่ารอบทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่สำคัญในการตั้งถิ่นฐานแต่แรกเริ่มและยุคสมัยแห่งการค้าของคาบสมุทรสยาม
29 มกราคม 2564


 

 

จากสทิงพระสู่เมืองสงขลา

ปรับจากบทความ 'ภูมิวัฒนธรรมการสร้างบ้านแปงเมืองที่ทะเลสาบสงขลา' ในวารสารเมืองโบราณปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๓

 

ศรีศักร วัลลิโภดม

หน้าที่ 1/12

 

 

 

 

 

รายการอดีตในอนาคต
ชุดบ้านเมืองในคาบสมุทรแห่งสยามประเทศ
'สร้างบ้านแปลงเมืองที่ทะเลสาบสงขลา' ตอนที่ ๒ 'จากสทิงพระสู่เมืองสงขลา'

 


จากสทิงพระสู่เมืองสงขลา

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม สำรวจศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาโบราณคดีการสร้างบ้านแปลงเมืองในดินแดนประเทศไทย มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕  สรุปเป็นแนวคิดเรื่องการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ได้ว่า

ความเป็นชุมชน “บ้าน” และ “เมือง” ของสังคมเกษตรกรรมแบบชาวนา ราวพุทธศตวรรษที่ ๓ เป็นต้นมา มักเกิดขึ้นในภูมิประเทศที่มี

๑. ลำน้ำไหลผ่านจากต้นน้ำ ตั้งแต่ภูเขาลงมาจนถึงชายทะเล

๒. ตามรอบๆ หนองน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ทะเลสาบ

เพราะมนุษย์ต้องอาศัยน้ำเพื่อการดำรงชีวิต ซึ่งชื่อบ้านนามเมืองก็มักสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์สภาพแวดล้อมและพืชพรรณ หรือสัตว์ที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นจากต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ   

 

 

ทะเลสาบสงขลา มองจากป้อมบนเขาแดง เห็นเกาะยอ สะพานเปรม ติณสูลานนท์ ที่เชื่อมกับฝั่งกระแสสินธุ์และสทิงพระ

หน้าที่ 2/12


จากสทิงพระสู่เมืองสงขลา

ชายฝั่งทะเลสาบตั้งแต่หาดใหญ่ รัตภูมิ ในจังหวัดสงขลา ไปจนถึงท่าศาลา สิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณลำน้ำเก่าและที่ราบตามหน้าเขาและชายเขา

ใช้พื้นที่บริเวณปากถ้ำเป็นแหล่งประกอบพิธีกรรมที่อยู่สืบเนื่องมาจนถึงสมัยศรีวิชัย พบพระพิมพ์ดินดิบและดินเผาตามถ้ำเขตอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ถ้ำเขาชัยสน ถ้ำวัดคูหาสวรรค์ และเขาอกทะลุ จังหวัดพัทลุง เป็นยุคสมัยที่มีการนับถือพุทธศาสนามหายานและศาสนาฮินดู ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลงมา

เป็นยุคที่มีการค้าขายทางทะเลจากมหาสมุทรอินเดีย ผ่านหมู่เกาะอินโดนีเซียและคาบสมุทรสยาม-มลายูไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้ เป็นยุคที่การเดินเรือจากฝั่งตะวันออกของอินเดีย สามารถเดินทางผ่านช่องแคบมะละกามายังเมืองปาเล็มบังที่เป็นเมืองสำคัญของรัฐศรีวิชัย แล้วอ้อมวกแหลมมลายูมายังทะเลอ่าวไทย ผ่านบ้านเมืองในกลุ่มรัฐทวารวดีไปยังกัมพูชา เวียดนาม และจีนใต้

ช่วงเวลาพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ยุคหรือสมัยเวลาทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า ทวารวดีและศรีวิชัย เป็นยุคของการเผยแผ่พุทธศาสนาทั้งเถรวาท มหายาน และฮินดู เป็นพัฒนาการที่การเดินทางค้าขายทางทะเลจากอินเดียสามารถอ้อมแหลมมะละกามายังอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ได้มากขึ้นจนเห็นได้ชัด

แต่การค้าในยุคที่ยังใช้ เส้นทางข้ามคาบสมุทร (Trans-peninsular routes) ก่อนหน้านั้น ทำให้เกิดชุมชนท่าจอดเรือซื้อขายและขนถ่ายสินค้า และเป็นเมืองท่าที่เป็นนครรัฐ เพราะพื้นที่รอบๆ ทะเลสาบสงขลามีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เหมาะกับการตั้งถิ่นฐานและเหมาะกับการเป็นท่าจอดเรือที่เข้ามาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า

บริเวณที่เป็นชุมชนเมืองท่าและท่าจอดเรือที่เก่าที่สุด พบมากในพื้นที่เขาและแนวสันทรายจากหัวเขาแดงถึงอำเภอระโนด

 

อาจารย์ศรีศักรกับประสบการณ์ร่วมกับผู้ใหญ่แห่งลุ่มทะเลสาบ

ราว พ.ศ. ๒๕๑๗ อาจารย์ศรีศักรและอาจารย์มานิต วัลลิโภดม เคยไปสำรวจแหล่งโบราณคดีในเขตสงขลา พัทลุง ด้วยการนำของพระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส และคุณเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร ผู้เป็นปราชญ์ทางโบราณคดีเมืองสงขลา เรียกว่า แผ่นดินบก การสำรวจครั้งนั้น อาจารย์มานิตนำแผนที่โบราณของคาบสมุทรจากหอสมุดวชิรญาณไปสืบค้นในพื้นที่ และแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ และของกรมแผนที่ทหาร แลเห็นร่องรอยการตั้งถิ่นฐานตามแนวสันทรายที่เป็นชุมชนบ้านเมือง จากบริเวณที่มีสระน้ำหรือตระพัง บริเวณที่มีร่องรอยของคูน้ำและคันดิน รวมทั้งร่องรอยของพื้นที่ทำนาจากบริเวณที่ลุ่มต่ำระหว่างแนวสันทราย

เขาชัยสน ในอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง Landmark สำคัญริมทะเลสาบสงขลา

นางศยามตารา เป็นศักติหรือนางคู่พระบารมีของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พบที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕
หน้าที่ 3/12

พระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส เมื่อร่วมสำรวจถ้ำคูหา สทิงพระ ร่วมกับอาจารย์มานิต วัลลิโภดม

ปากคลองสทิ้งหม้อ ย่านทำเครื่องปั้นดินเผาเนื้อดีสำหรับใช้ในครัวเรือนโดยรอบทะเลสาบสงขลาและชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งเป็นย่านตลาดและท่าเรือเพื่อการเดินทางสำคัญในอดีต

ท่านเจ้าคุณฯ มองออกว่าเป็น ‘แผนที่การสร้างวัดและกัลปนาที่ดินให้กับวัดและชุมชน’ โดยเฉพาะบรรดาสระน้ำขนาดใหญ่ คนท้องถิ่นเรียกว่า พัง หรือ ตระพัง ที่ปรากฏในแนวสันทรายเป็นระยะๆ  ตีความได้ว่า เป็นแหล่งน้ำจืดเพื่อการอุปโภคบริโภคร่วมกันของคนในแต่ละชุมชน โดยเฉพาะชื่อวัดที่อยู่ในแผนที่ก็คือชื่อของชุมชนบ้านและเมืองที่ยังคงอยู่

การสำรวจและศึกษาครั้งนั้นทำให้อาจารย์มานิตและอาจารย์ศรีศักรกำหนดบริเวณสำคัญของชุมชนบ้านเมืองของแผ่นดินบกได้ชัดเจนสืบมา

 

พื้นที่บริเวณแรกตั้งแต่หัวเขาแดงไปจนถึงคลองปะโอ หัวเขาแดงคือที่ตั้งของเมืองสงขลาในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นเมืองที่มีคูน้ำ กำแพงเมือง และป้อมปราการบนเขา ปกครองโดยสุลต่านสุลัยมานเชื้อสายพ่อค้าอาหรับ เป็นเมืองท่าที่มีพ่อค้านานาชาติเข้ามาติดต่อค้าขาย และเกิดสงครามกับศูนย์กลางอำนาจที่อยุธยา ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจนมาแพ้สงครามในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ภายในเมืองมีเขาเตี้ยลูกหนึ่งคือ เขาน้อย เป็นที่ตั้งของพระสถูปวัดเขาน้อยที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา เป็นพระสถูปที่สร้างทับพระสถูปเดิมในสมัยศรีวิชัย คือ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๒ บริเวณฐานก่อด้วยอิฐที่ตัดมาจากหินปะการัง และมีร่องรอยกุฑุแบบจาม

บริเวณปากคลองบ้านสทิงหม้อ เดิมอาจเป็นบริเวณชุมชนโบราณที่เรือสินค้าเข้ามาจอด พบเศษภาชนะดินเผาหลายยุคหลายสมัย เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาสำคัญจนมาเลิกเมื่อไม่นานนี้ ที่วัดธรรมโฆษณ์เก็บเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรศิลาเนื่องในพุทธศาสนามหายานที่มีความเก่าไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ท่านเจ้าคุณฯ ได้ขอมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส

ตามสันทราย บริเวณคลองปะโอ เป็นแหล่งผลิตภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่พบซากเตาเรียงรายอยู่สองฝั่งคลอง จากการขุดค้นทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ พบภาชนะโบราณรูปกาน้ำที่เรียกว่า กุณฑี จานแบน กระปุกสีเทา และเศษภาชนะเคลือบขาวเนื้อบาง

ยังพบโบราณวัตถุทั้งในพุทธศาสนามหายาน เช่น พระโพธิสัตว์สำริด อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖  พระพุทธรูปสำริดแบบทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒

เมืองโบราณสทิงพระหรือจะทิ้งพระ มีตระพังน้ำหลายแห่งทั้งใหม่และเก่า เช่น พังเสม็ด พังจิก พังยาง พบรอยร่องน้ำของคลองโบราณจากหาดมหาราช ตัดข้ามไปยังแถบวัดคลองขุด เชื่อมระหว่างชายฝั่งทะเลทางตะวันออกกับชายฝั่งทะเลสาบ

เหนือขึ้นไปเป็นที่ตั้งของ ‘เมืองสทิงพระ’ ซึ่งมีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันมีถนนหลวงผ่านกลาง มีวัดจะทิ้งพระหรือวัดสทิงพระอยู่ทางฝั่งตะวันตก เป็นวัดเก่าที่มีพระมหาธาตุเจดีย์ ที่แสดงสถานภาพความเป็นเมืองในระดับ ‘นคร’

หน้าที่ 4/12

  

พระวิษณุ ๔ กร แบบเทวรูปรุ่นเก่าช่วงหลังคุปตะ พบบริเวณเมืองสทิงพระ จังหวัดสงขลา เก็บรักษาจากศาลหลักเมืองสงขลา กล่าวกันว่าเดิมอยู่ที่วัดพระสิง เมืองสทิงพระ   อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา   

 

พระพุทธรูปปางสมาธิ สกุลช่างแบบอินเดียใต้หรือแบบลังกา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางสมันตมุข หมายถึงปรากฎพระพักตร์อยู่ทุกทิศจึงแลเห็นทั้งหมด เป็นพระผู้เป็นใหญ่ที่ปกป้องดูแลสรรพสัตว์ในคติพุทธฝ่ายมหายาน การนุ่งผ้านั้นมีความคล้ายคลึงกับประติมากรรมบุคคลในศิลปะแบบเกาะแกร์ของเขมรเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ พบที่พังปริง บ้านวัดขนุน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

พระวัชรโพธิสัตว์แบบศรีวิชัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ พบที่ทุ่งนา ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

หน้าที่ 5/12

ชิ้นส่วนมโหระทึกสำริดแบบเฮเกอร์ I เนื่องในวัฒนธรรมดองเซิน อายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๕ หรือร่วมสมัยกับยุคสุวรรณภูมิของคาบสมุทรสยาม-มลายู พบที่บ้านจะโหนง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

เจีย์ที่เขาน้อย ตั้งอยู่ในเมืองสงขลาสมัยอยุธยา แม้จะมีร่องรอยการบูรณะเจดีย์ในสมัยอยุธยา แต่ค้นพบหินแกะสลักรูปกุฑุเนื่องในวัฒนธรมแบบฟูนันทางชายฝั่งทะเลเวียดนามตอนกลางถึงตอนใต้ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๖

หินทรายแดงสลักรูปกุฑุ ที่ใช้ประดับช่องโบราณสถานแบบปราสาทหรือเจดีย์ทางพุทธศาสนา ร่องรอยรูปแบบศิลปกรรมแบบฟูนันอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๖

โบราณสถานที่สร้างด้วยหินกระเทาะเป็นก้อนขนาดใหญ่ขนาดไม่เท่ากัน จัดเรียงเป็นระเบียบทำเป็นอาคารโบสถ์ ฐานเสมา ฐานเจดีย์ ฐานอาคารอื่นๆ พบบนเขาที่วัดสูงเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ร่องรอยมีเศษภาชนะแบบเคลือบของจีนในราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หมิง ส่วนจะเก่าไปกว่านี้หรือไม่ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้มาก และต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนมากขึ้น
หน้าที่ 6/12

บันทึกไว้ในเอกสารกัลปนาว่าวัดสทิงพระและพระบรมธาตุองค์ใหญ่แยกพื้นที่ออกจากกัน จากขวาไปซ้าย พระบรมธาตุสทิงพระซึ่งเคยเป็นพระบรมธาตุสำคัญของเมืองและมีกำแพงแก้วกั้น ต่อมาคือวิหารพระนอน และเจดีย์องค์ระฆังซึ่งเป็นส่วนของวัดสทิงพระ

'พังชิ' หรือ 'ตระพังชิ' อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพระบรมธาตุและด้านนอกคูเมืองสทิงพระ ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่มีคูน้ำล้อมรอบ [Citadel]

ครั้งที่อาจารย์ศรีศักรไปสำรวจ พบถนนผ่ากลางเครื่องปั้นดินเผาเคลือบที่เป็นสินค้าทางทะเล มีของจีนแต่สมัยราชวงศ์หยวนลงมาจนถึงเหม็งตอนต้น บริเวณที่ติดรั้วของโรงเรียนประจำอำเภอ ซึ่’แสดงให้เห็นว่าเมืองสทิงพระเป็นเมืองท่า มีเรือเดินทะเลมาจอด ชาวบ้านยังเคยชี้ให้เห็นร่องรอยทางน้ำที่เรือเข้ามา

สิ่งสำคัญที่สุดในบริเวณเมืองสทิงพระก็คือ พระมหาธาตุเจดีย์ที่เป็นพระสถูปทรงกลม องค์ระฆังตั้งอยู่บนฐานสูงย่อมุม คล้ายพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ซึ่งน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงมา แผ่นอิฐที่ก่อพระเจดีย์นั้นเป็นหินปะการัง ไม่ใช่อิฐจากดินเผาหรือศิลาแลง  พระสถูปมหาธาตุสทิงพระองค์นี้คงสร้างครอบฐานศาสนสถานของพระสถูปทรงกลม คล้ายกับเจดีย์รายเจดีย์ประดับมุม ๔ ทิศของฐานพระบรมธาตุไชยา เป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสูง

แสดงว่าเมืองสทิงพระหรือสทิงพาราณสีบนแผ่นดินบก เป็นเมืองที่เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ลงมา จนถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง สัมพันธ์กับตำนานเมืองและตำนานพระธาตุของบ้านเมืองในสยามประเทศ ตั้งแต่สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช เพชรบุรี ราชบุรี และอยุธยา

แต่หลักฐานทางโบราณวัตถุที่พบในบริเวณสันทราย อันเป็นที่ตั้งของเมืองสทิงพระนั้น มีหลายยุคหลายสมัยที่มีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เป็นของเนื่องในศาสนาฮินดู พุทธเถรวาทและมหายาน ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา หรือก่อนหน้านี้ พระพุทธรูป  ปางสมาธิสมัยฟูนัน ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ ลงมา เป็นของที่พบในบ้านเมืองโพ้นทะเลอื่นๆ เช่น เวียดนาม ยิ่งกว่านั้นยังมีผู้พบลูกปัดแก้วสีหรือหินสีที่มีอายุเก่ากว่าสมัยทวารวดีขึ้นไป มีการขุดพบบ่อน้ำที่กรุด้วยอิฐและหลักเสาในบริเวณสระน้ำโบราณเรียกว่าเสาตะลุง

ตามแนวสันทรายต่อจากเมืองสทิงพระขึ้นไปทางเหนือจนถึงคลองระโนด อำเภอระโนด พบแหล่งชุมชนบ้านเมืองและวัดที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับเมืองสทิงพระ คือตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงมาหลายแห่ง แต่แหล่งชุมชนหนาแน่น มีทั้งวัดและตระพังมากจะอยู่ตั้งแต่บริเวณวัดดีหลวง วัดพะโคะ วัดนางเหล้า ขึ้นไปจนถึงวัดสีหยังและวัดเจดีย์งาม

วัดพะโคะตั้งอยู่กลางทุ่งที่มีเขาลูกโดด ๒ ลูกอยู่ใกล้กัน ลูกใหญ่เป็นที่ตั้งของวัดพะโคะและพระมหาธาตุเจดีย์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นวัดศูนย์กลางของคณะสงฆ์ฝ่ายลังกาชาติ พระมหาธาตุเจดีย์มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระมหาธาตุสทิงพระ  เขาคูหา อันเป็นเขาลูกเล็ก เหนือเขาพะโคะ มีถ้ำ ๒ แห่งที่มนุษย์สร้างโดยการเจาะภูเขาเพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพราหมณ์ มีแท่นหินขนาดใหญ่เพื่อประดิษฐานศิวลึงค์ และจากหน้าถ้ำไปทางตะวันออกกลางทุ่ง เป็น ‘พังพระ’ ที่เป็นสระน้ำใหญ่เพื่อประกอบพิธีกรรม

เขาพะโคะ เขาคูหา และพังพระ คือศาสนสถานสำคัญของผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู มีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา

และตามแนวสันทรายต่อเนื่องในบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของวัดสนามชัย วัดชุมพล วัดดีหลวง วัดนางเหล้า คือชุมชนที่เป็นฐานทัพของพญาศรีธรรมาโศกราช เมื่อครั้งยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองนครศรีธรรมราชที่ถูกยึดครองโดยพวกทมิฬจากอินเดียใต้

หน้าที่ 7/12


เหนือวัดนางเหล้าขึ้นไปเป็น ‘วัดสีหยัง’ เป็นเวียงโบราณรูปสี่เหลี่ยมขนาดไล่เลี่ยกับเวียงของ ‘เมืองสทิงพระ’ และมีพระสถูปทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสูงเป็นประธาน เคยมีการขุดค้น พบเศษภาชนะเคลือบของจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ที่มีอายุอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ นับเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งทางชายฝั่งทะเลจีนในอ่าวไทย

เหนือขึ้นไปทางสันทรายจาก ‘เวียงสีหยัง’ ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณที่มี ‘วัดเจดีย์งาม’ เป็นศูนย์กลาง เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุเจดีย์ทรงกลมที่ตั้งอยู่บนฐานสูง สร้างด้วยอิฐปะการัง น่าจะเป็นพระสถูปที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระมหาธาตุวัดสทิงพระที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ลงมา

‘เวียงสีหยัง’ เป็นศูนย์กลางและมีศาสนสถานสำคัญอยู่ที่เขาพะโคะ เขาคูหา และวัดเจดีย์งาม เป็นกลุ่มชุมชนบนแผ่นดินบกที่มีความกว้างราว ๑๐ กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังมีที่ ‘พังยาง' ห่างจากวัดเจดีย์งามมาทางเหนือราว ๗ กิโลเมตร มีคลองขุดจากชายฝั่งของแผ่นดินบกทางฟากทะเลสาบมาออกฝั่งทะเลในบริเวณบ้านพังยาง ซึ่งมีร่องรอยของแนวคูน้ำรูปสี่เหลี่ยมที่แสดงสถานะความเป็นเมือง ผ่านไปออกทะเลที่ปากระวะ ปัจจุบันคงเหลือสิ่งเก่าแก่อยู่เพียงวัดและพระสถูปโบราณขนาดเล็ก ลักษณะทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสูง  และร่องรอยอยู่เพียงการตั้งชื่อวัดในบริเวณนี้ว่า วัดหน้าเมือง

เมืองพังยางคือชุมชนบ้านเมืองตรงปลายสุดของแนวสันทรายที่เรียกว่า ‘แผ่นดินบก’ เพราะเหนือขึ้นไปจนถึงคลองระโนด เลยไปจนอำเภอหัวไทรและปากพนัง ไม่ปรากฏร่องรอยชุมชนที่รวมกลุ่มกันเป็นบ้านเมืองให้เห็นเท่าใดนัก

 

เมืองสงขลาหรือสิงโคราของสุลต่านสุไลมาน

ขณะที่ทางทะเลสาบฟากพัทลุง มีพัฒนาการของ ‘เมืองไชยบุรี’ ขึ้นเป็นเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยา ทางฟากฝั่งทะเลบนคาบสมุทร ก็มีพัฒนาการของเมืองสงขลาขึ้นที่บริเวณหัวเขาแดงตรงปากทะเลสาบสงขลา คนทั่วไปเรียก ‘สงขลา’ ขณะที่คนต่างชาติเรียก ‘สิงโคราหรือซิงกอรา’ [Singora] เป็นเมืองที่เกิดใหม่โดยพ่อค้าชาวอาหรับ-มลายูที่มาจากภายนอก ที่เรียกว่าอาหรับ-มลายูก็เพราะเดินทางผ่านมลายูก่อนเข้ามาใช้บริเวณท่าจอดเรือที่มีอยู่ก่อนแล้ว เป็นแหล่งขนถ่ายและซื้อขายสินค้ากับพ่อค้านานาชาติที่มาจากภายนออก เช่น ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส มลายู เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ อันเป็นยุคเริ่มต้นที่กรุงศรีอยุธยาเป็นปึกแผ่นทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

ในจดหมายเหตุฝรั่งระบุว่า ทางกรุงศรีอยุธยาตั้งให้พ่อค้าอาหรับ-มลายูท่านหนึ่งเป็นข้าหลวงเมืองสิงโครา คือ ‘ดาโต๊ะโมกอล’ ที่เป็นเมืองท่าส่งออกผลผลิตของป่า เช่น รังนกนางแอ่น พริกไทย เมื่อเสียชีวิต ได้ตั้งลูกชายคือ ‘สุลัยมาน’ ให้ดูแลบ้านเมืองต่อมา

เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต เกิดการแย่งชิงราชสมบัติโดยออกญากลาโหม ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีที่ตั้งตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ นาม ‘พระเจ้าปราสาททอง’ ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้จงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมกับทางฝ่ายพระเจ้าปราสาททอง อันส่งผลมายังการปกครองบ้านเมืองทางภาคใต้ด้วย

 

วัดพังยางและแนวขอบเขตคูน้ำล้อมรอบทั้งคูขุดและลำน้ำธรรมชาติ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

บนป้อมหัวเขาแดง มองออกไปเห็นทะเลนอกและปากทางเข้าทะเลสาบสงขลา

หน้าที่ 8/12

ป้อมรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนเขาค่ายม่วงที่ต่อกับเขาแดง กว้าง ๑๔.๘๐ เมตร ยาว ๒๓.๕๐ เมตรสูง ๒.๘๐ เมตร สามารถคุมทิศทางการมองเห็นทางฝั่งทะเลสาบด้านในและทะเลนอก

มรหุ่มสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ หรือสุสานของสุลต่านสุลัยมานที่ฝั่งสิงหนคร

 


สุลัยมานผู้เป็นเจ้าเมืองสงขลาได้ประกาศแยกตัวเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นสุลต่าน มีการสร้างเมืองและป้อมปราการบนเขาและที่ราบชายทะเลระหว่างเขาให้เป็นเมืองที่แข็งแรง โดยเฉพาะป้อมปืนซึ่งมีความแข็งแรงและทันสมัยตามแบบตะวันตกในสมัยนั้น ทำให้เมืองสงขลาของสุลต่านสุลัยมานมีความแข็งแกร่ง สามารถต่อต้านการรุกทำลายของข้าศึกทั้งทางน้ำและทางบกได้ดีกว่าบ้านเมืองโบราณอื่นๆ ในประเทศไทย

เมืองสงขลาของสุลต่านสุลัยมานอยู่บนเขาและพื้นที่โดยรอบของเขา ๓ ลูก คือ เขาแดง หัวเขา และเขาเขียว โดยหัวเขาแดงอยู่ทางชายฝั่งทะเลด้านทะเลหลวง หน้าเขาเป็นชายหาดกว้างที่เรือสามารถมาจอดได้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีพื้นที่ราบพอกับการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ขึ้นไปทางเหนือจนถึงบริเวณที่เป็นสุสานสุลต่านสุลัยมาน

จากหัวเขาแดงมาตามช่องแคบ อันเป็นช่องทางออกทะเลของทะเลสาบสงขลา อยู่ระหว่างหัวเขาแดงกับ ‘แหลมสน’ ทางฝั่งที่เป็นเมืองสงขลาปัจจุบัน พื้นที่บริเวณนี้ชายเขาเป็นหน้าผาสูงขึ้นไปจนสุดเขาที่ต่อกับเขาหัวเขา ซึ่งอยู่เข้ามาทางฝั่งทะเลสาบ ที่มีชายทะเลกว้างพอเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนไปจนรอบหัวเขา กินพื้นที่ตามชายฝั่งทางด้านใต้และด้านตะวันตกไปจนถึงเขาเขียว

พื้นที่ชายทะเลรอบเขาหัวเขาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนหนาแน่นมาจนถึงปัจจุบัน มีทั้งชุมชนคนพุทธ คนจีน และคนมุสลิม โดยเฉพาะเจ้าเมืองสงขลาและกุโบร์ของคนมุสลิม อันแสดงให้เห็นว่าเป็นบริเวณที่มีคนอยู่สืบมาแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนพื้นที่ทางฝั่งทะเลสาบระหว่างเขาหัวเขากับเขาเขียว เป็นอ่าวเล็กๆ ที่มีพื้นที่ทำการเพาะปลูก มีลำน้ำที่ไหลลงจากหัวเขาแดงมาออกทะเลสาบ มีร่องรอยการทำนาและนาเกลือ อีกทั้งเป็นพื้นที่สลับกับที่สูงผ่านเขาน้อย อันเป็นเขาเล็กๆ ที่ติดกับเขาแดงไปจนถึงชายทะเลหลวง บริเวณนี้เป็นพื้นที่ของตัวเมืองสงขลาในยุคสุลัยมาน

ตำแหน่งของป้อมที่หัวเขาแดงใกล้กับถ้ำแม่นางทวดหัวเขาแดง มีร่องรอยของแนวกำแพงเมืองเลียบชายฝั่งทะเล ผ่านที่ราบกว้างหน้าเขามายังทางเหนือ แล้วหักวกลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ไปถึงเขาน้อย ยังเห็นร่องรอยแนวกำแพงและคูเมืองอยู่ และมุมเมืองทางใต้ที่เขาน้อยยังมีซากป้อมปราการขนาดใหญ่โตสร้างด้วยหิน จากมุมป้อมเขาน้อย แนวกำแพงด้านใต้ผ่านเชิงเขาขึ้นไปบนยอดเขามีป้อมปืนใหญ่ตั้ง  นอกจากพบป้อมปืนใหญ่สำคัญแล้ว ยังมีหลุมศพของทหารดัตช์ที่น่าจะมีอายุร่วมสมัยกับสุลต่านสุลัยมาน

 

เมืองสงขลาที่แหลมสนและบ่อยาง

เมืองสงขลาที่ฝั่งด้านเหนือของเขาแดงที่เป็นเมืองป้อมค้าขายขนาดใหญ่ หลังจากถูกทำลายไปในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ราว พ.ศ. ๒๒๒๓ โดยนำเจ้าเมืองลูกหลานชาวบ้านหนุ่มสาวเข้าไปตั้งชุมชนอยู่ในกรุงศรีอยุธยา  ต่อมาก็มีการสร้างชุมชนอยู่อาศัยทั่วไปในรอบทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะทางฝั่งแหลมสนอีกด้านหนึ่งของเขาแดง ซึ่งหลบเข้าไปอยู่ภายในและมีพื้นที่คับแคบขยายตัวได้ยาก  อย่างไรก็ตามมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชุมชนอยู่ทั้งทางฝั่งแหลมสนและฝั่งบ่อยาง ซึ่งภายหลังทั้งสองบริเวณนั้นก็กลายเป็นเมืองสงขลาต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ  เมื่อหลังยุคกรุงศรีอยุธยาหมดสิ้นไป พระยาจักรียกทัพมากำกับการจัดการบ้านเมืองในทางหัวเมืองมลายู ก็แต่งตั้งเจ้าเมืองสงขลาที่เป็นชาวบ้านขึ้นมาเป็นพระสงขลาทางฝั่งแหลมสน

หน้าที่ 9/12

สุสานเจ้าเมืองสงขลาที่ฝั่งแหลมสน ที่บ้านใน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

 

 


ขณะนั้นมีชาวจีนเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนคนหนึ่งชื่อ  ‘เหยี่ยง แซ่เฮา’ ซึ่งอพยพมาจากเมืองเจียงจิ้งหู มลฑลฟูเจี้ยน ได้มีข้อเสนอแลกกับสัมปทานผูกขาดธุรกิจรังนกบน เกาะสี่เกาะห้า ในทะเลสาบสงขลา จึงแต่งตั้งให้เป็น ‘หลวงอินทคีรีสมบัติ’ นายอาการรังนกเกาะสี่เกาะห้า ซึ่งเป็นสินค้าผูกขาดของหลวง  แล้วเลื่อนตำแหน่งเป็น หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ เจ้าเมืองสงขลา

นับว่าเป็นการเริ่มต้นสายสกุล ณ สงขลา ซึ่งต่อมาได้ปกครองเมืองสงขลาถึง ๘ รุ่น และสายตระกูลเจ้าเมืองสงขลาซึ่งเป็นชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยนนี้ ล้วนใกล้ชิดกับส่วนกลางและราชสำนักนับแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และโดยเฉพาะรัชกาลที่ ๒ และ รัชกาลที่ ๓ เมื่อต้องมีการปกครองแก้ปัญหาหัวเมืองมลายูทางใต้ลงไปของคาบสมุทรที่เมืองสงขลาถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ โดยมีการสร้าง ‘เจดีย์สองพี่น้อง’ อันหมายถึงเจดีย์ที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต) สร้างขึ้น เมื่อมากำกับการแก้ปัญหาหัวเมืองมลายูต่างคราวกัน

แผ่นดินบริเวณฝั่งบ่อยางนั้นมีผู้คนเข้าไปอยู่อาศัยตั้งแต่เมืองสงขลาที่เขาแดงล่มสลายไป  เพียงแต่ไม่ถูกสถาปนาเป็นเมืองสงขลา กล่าวกันว่าวัดมัชฌิมาวาสแต่เดิมสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเช่นเดียวกับวัดสุวรรณคีรีและวัดอื่นๆ เมื่อย้ายเมืองจากฝั่งแหลมสน บ้านหัวเขามาตั้งอยู่ทางฝั่งบ่อยางในสมัยรัชกาลที่ ๓  และซ่อมสร้างพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวนในสมัยรัชกาลที่ ๔   ซึ่งเจดีย์ ๒ พี่น้องและพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน กลายเป็นเจดีย์สัญลักษณ์หนึ่งของเมืองสงขลาในสมัยกรุงเทพฯ

วัดบ่อทรัพย์ ตั้งอยู่ย่านเมืองสงขลาเก่า ฝั่งแหลมสน บริเวณบ้านหัวเขา ด้านหน้าวัดมีบ่อน้ำขนาดใหญ่กรุอิฐขนาดเส้นผ่านศูนยืกลางราว ๗ เมตร ใช้สำหรับชุมชนในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนเมืองย้ายไปอยู่ฝั่งบ่อยางเพื่อการเสาะหาน้ำจืดที่ดีกว่า เมื่อชุมชนขนายใหญ่โตขึ้น

เจดีย์สองพี่น้องแบบย่อมุมไม้สิบสอง  สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับป้อมเมืองสงขลาในสมัยอยุธยา  เจดีย์องค์ซ้าย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เป็นผู้สร้าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๓ เจดีย์องค์ขวาพระยาศรีพิพันรัตนราชโกษา (ทัด บุนนาค) น้องชาย  สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๑ เมื่อมาราชการจัดการหัวเมืองมลายูทั้งสองคราว
หน้าที่ 10/12

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องมหาชนกชาดก ในพระอุโบสถวัดกลางหรือวัดมัชฌิมาวาส เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง จังหวัดสงขลา น่าจะเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

 

พระประธานและภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดสุวรรณคีรี ซึ่งเป็นวัดสำคัญในการอุปถัมภ์ของตระกูลเจ้าเมืองสงขลา ทางฝั่งแหลมสน

 

This article is the second part in the series: ‘The Peninsula of Siam’

Part 2: Urban Settlements in the Songkhla Lake Region

Article by Srisakra Vallibhotama

Overview

This article provides a comprehensive overview of an urban development around the Songkhla Lake region based on a study of geographical landscape and archaeological evidence conducted since 1974. It focuses on the development of Songkhla City from past to present.    

Human settlement around Songkla Lake began since the pre-historic time. Since the thirteenth Buddhist century, the peoples dwelling around Songkhla Lake were exposed to Hinduism and Buddhism. As maritime trade increasingly became important with trade routes connecting the South China Sea and the Indian Ocean through the Straits of Melaka, many trading harbor communities and coastal city-states were established.

 

หน้าที่ 11/12


According to the survey and study of archaeological sites in Songkhla and Phatthalung, the land community areas can be clearly defined into three major areas as follows: areas from Hua Khao Daeng to Khlong Pa-O, areas at the mouth of Khlong Sathing Mo and Muang Sathing Phra (Cha Thing Phra).

Songkhla City was located in Hua Khao Daeng in the late Ayutthaya period. It was a port city ruled by a Persian descendant, Sultan Sulaiman. Meanwhile, Khlong Sathing Mo was possibly an ancient community that accommodated trading vessels as shown by the remains of pottery from various eras. Archaeological discoveries such as man-made moats surrounding Muang Sathing Phra and Chinese glazed pottery reveal that Muang Sathing Phra was not only a ‘city’, but also a flourishing seaport city.

While Phatthalung City developed from ‘Muang Chai Buri’ during the Ayutthaya period, on the coastal side of the lake lies Singora, the precursor to Songkhla City, which began to develop in the Khao Hua Daeng area at the mouth of Songkhla Lake. Sultan Sulaiman, the ruler of Songkhla City at the time, declared independence from Ayutthaya. He heavily fortified Songkhla with city walls and moats. Sulaiman’s Songkhla City covered three mountains including Khao Daeng, Hua Khao and Khao Khiew and their surrounding areas. The coastal areas around Hua Khao have been densely populated since Ayutthaya period until present day.

After Songkhla City in the north of Khao Daeng was destroyed in the reign of King Narai the Great, residential communities were then built around the Songkhla Lake area. There were Buddhist, Chinese and Muslim settlements at both Laem Son and Bo Yang which later became Songkhla City during the Thon Buri and Bangkok periods.

     

คำสำคัญ : ทะเลสาบสงขลา,เมืองสทิงพระ,เมืองสงขลาที่เขาแดง,เมืองสงขลาที่บ่อยาง,วัดมัชฌิมาวาส
ศรีศักร วัลลิโภดม
อีเมล์: [email protected]
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมและสังคม ผู้สนใจศึกษางานทางโบราณคดีมาแต่วัยเยาว์จนปัจจุบัน ปรากฎผลงานเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
พรนลัท ปรัชญากร
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ภายหลังย้ายมาอยู่ไต้หวันกลายเป็นแม่บ้านลูกสอง มีอาชีพรับงานแปลและวาดรูปอิสระ
วิเชียร หลงละเลิง
อีเมล์: Wichianlonglalerng​@gmil.com,
ช่างภาพอิสระ
หน้าที่ 12/12