ผู้เข้าชม
0

ชนชั้นของ “ข้า” สถานภาพทางสังคมของชนชั้นข้าและต่ำกว่าข้า จากเอกสารประวัติศาสตร์ล้านนา - สยาม

สังคมล้านนายุคจารีตแยกคนเป็นชนชั้น ๒ ชนชั้นใหญ่ ๆ คือ ชนชั้นมูลนาย ประกอบด้วยผู้เป็นมูลนายโดยกำเนิดเรียกว่า “เจ้า” กับพวกมูลนายเพราะทำราชการ หรือ “ท้าว” “ขุน” ฯลฯ กลุ่มนี้เรียกรวม ๆ ว่าพวก “เจ้าไท” มูลนายโดยกำเนิดที่สืบสายเลือดจาก “พระญา” เท่านั้นจึงมีสิทธิชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งปกครองประชากรทุกกลุ่มซึ่งถูกจัดรวมเป็น “ข้าของเจ้าแผ่นดิน” ดังภาษิต
11 มิถุนายน 2565


 

ชนชั้นของข้า” :

สถานภาพทางสังคมของชนชั้นข้าและต่ำกว่าข้า จากเอกสารประวัติศาสตร์ล้านนา - สยาม

 

ฉัตรลดา สินธุสอน

หน้าที่ 1/13

ชนชั้นของข้า” :  สถานภาพทางสังคมของชนชั้นข้าและต่ำกว่าข้า จากเอกสารประวัติศาสตร์ล้านนา - สยาม

สังคมล้านนายุคจารีตแยกคนเป็นชนชั้น ๒ ชนชั้นใหญ่ ๆ คือ ชนชั้นมูลนาย ประกอบด้วยผู้เป็นมูลนายโดยกำเนิดเรียกว่า เจ้า กับพวกมูลนายเพราะทำราชการ หรือ ท้าว” “ขุนฯลฯ กลุ่มนี้เรียกรวม ๆ ว่าพวก เจ้าไท มูลนายโดยกำเนิดที่สืบสายเลือดจาก พระญา เท่านั้นจึงมีสิทธิชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งปกครองประชากรทุกกลุ่มซึ่งถูกจัดรวมเป็น ข้าของเจ้าแผ่นดิน ดังภาษิตว่า เชื้อขุนก็ให้ปองเป็นขุนไจ้ เชื้อไพร่ให้หมั่นกระทำการ

ส่วนชนชั้นไม่ใช่มูลนาย คือ ไพร่ และ ข้า โดยพวก ไพร่ (ไพร่ไท, ไพร่ฟ้า) เป็นพวกที่ไม่มีราคาค่าตัว อยู่ภายใต้การควบคุมของมูลนายให้ทำงานราชการ และ สร้างผลผลิตส่งส่วยให้ราชสำนัก มีข้อห้ามมิให้ไพร่ที่มีทักษะการต่อสู้เป็น พลหอกพลอาวุธ” (ทหาร) ขายตัวเองเป็นข้าเพื่อเอาเงินใช้หนี้ จารีตล้านนาอนุญาตให้เอาที่นาประจำตำแหน่งตีราคาหรือขายลูกตัวเองเป็นข้า เพื่อเอาเงินไปใช้หนี้

ที่น่าสนใจคือพวกที่ถูกเรียกว่า ข้าปรากฏว่าในพวกเดียวกันเองกลับมีการแบ่งชนชั้น มีข้าที่มีสิทธิทางสังคมเทียบเท่าหรืออาจจะมีอภิสิทธิ์มากกว่าชนชั้นมูลนาย  และ พวกข้าที่ไร้สิทธิแม้แต่ชีวิตของตนเองก็ใช้อย่างใจไม่ได้

ชนชั้นข้า ในล้านนามี พวกใหญ่

ข้าพวกแรกพบหลักฐานอยู่ในจารึกสมัยล้านนากว่า ๗๐ หลัก มีหน้าที่ดูแลรักษาศาสนา รวมถึงผลประโยชน์ของศาสนสถานที่ตนสังกัด เรียกว่า ข้าพระ” “ข้าพระเจ้า” “ข้าวัด ฯลฯ ข้าอีกพวกที่ไม่ถูกกล่าวถึงในจารึก แต่ถูกกล่าวถึงในเอกสารด้านกฎหมายของล้านนา เป็นพวกที่ คนค้าข้า” (นายหน้าค้าข้า) นำพาไปซื้อขายได้เช่นเดียวกับสิ่งของ ข้า” พวกที่สองนี้จึงมีความหมายตรงกับคำว่า ทาส ในสังคมยุคจารีตแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีและไม่อาจเรียกร้องค่าแรงจาก เจ้าข้า และ ถูกจำกัดสิทธิทางสังคมรวมทั้งทางกฎหมาย เช่น หากข้าฆ่าเจ้าข้าไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดมีโทษสถานเดียว คือ ประหารชีวิต และคำว่า ข้ายังถูกใช้กล่าวถึงพวกคนรับใช้ที่อยู่ในเรือนของกลุ่มมูลนายไม่มีราคาซื้อขายหรือค่าตัว ได้รับค่าตอบแทนหรือสินจ้างเช่นเดียวกับ บ่าว ของสยาม ข้าพวกนี้อาจถูกเรียกว่า ข้าไท” “ข้าไท  อีกด้วย

จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ ด้านที่ ๒ (วัดกุ่กุด)

พุทธศตวรรษที่ ๑๗ ระบุว่ามีการถวายทาสชาย ๑๖ คน และทาสหญิง ๒๖

แก่ศาสนสถานแห่งหนึ่งปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

หน้าที่ 2/13

ข้าพระ” (ข้าพระเจ้า, ข้าวัด) คือกลุ่มประชากรที่ถูกถวายไว้ในพระพุทธศาสนา สำหรับพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง การถวายข้าพระน่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากวัฒนธรรมหริภุญชัย แล้วมีการถวายข้าพระสืบทอดต่อมาในอาณาจักรล้านนา ดังปรากฏจารึกล้านนาพบในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ทำให้ทราบว่ามีการทำบุญของพระเจ้าแผ่นดินโดยการถวายคนให้เป็น ทาส เพื่อทำงานให้แก่ศาสนสถาน มีข้อสังเกตว่าจารึกที่ทำขึ้นก่อนการก่อนรูปของอาณาจักรล้านนาจะไม่ระบุค่าไถ่ตัวหรือราคาค่าตัวของข้าพระ จนนำมาสู่ข้อสงสัยต่อมาว่า คนเหล่านั้นจะสามารถพ้นจากสถานะ ทาสหรือ ข้าของศาสนสถานได้ด้วยวิธีใด

เมื่อเข้าสู่ยุคอาณาจักรล้านนามีเรื่องราวของ ข้าพระ กล่าวไว้ในศิลาจารึกประมาณ ๗๐ หลัก เรียกคนพวกนี้ว่า ข้าพระ” “ข้าพระเจ้า” “ข้าวัดเป็นต้น มีหน้าที่ทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา หน้าที่หลักคือดูแลทำนุบำรุงถาวรวัตถุ พุทธสถาน พระพุทธรูป รวมทั้งพระภิกษุ

ข้าพระจะได้รับอภิสิทธิ์ทางสังคม เช่น ไม่ต้องรับใช้บ้านเมืองทำราชการ ไม่ต้องส่งส่วย สามารถถือครองที่ดิน และ มีบ้านเรือนเป็นทรัพย์สินส่วนตัวได้ เช่น จารึกวัดพระธาตุศรีจอมทอง ทำขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๐๙๙ ระบุว่ามี ข้าพระ จำนวน ๔๑ ครัวเรือนที่คอยรับใช้พระมหาตุเจ้าจอมทอง ไม่ต้องทำงานของเจ้านายหรือขุนนาง ไม่ต้องถูกเกณฑ์มารบเป็น พลเสิก ไม่ต้องส่งส่วยภาษีตามระบบจารีต มีกรรมสิทธิ์ในการทำที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ เมื่อข้าพวกนี้มีลูก ๆ ของข้าจะสืบต่อสถานภาพข้าพระ ห้ามไม่ให้ถอดถอนพวกเขาเหล่านี้ออกจากความเป็นข้าพระมหาธาตุเจ้าจอมทอง จนกว่าจะสิ้นอายุพระพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปี ข้าบางคนได้รับผลประโยชน์จากภาษีนาที่ถวายไว้ให้แก่วัดเป็นของส่วนตัว ลักษณะเดียวกับเงินเดือน เช่น ข้าเฝ้าหอพระไตรปิฎกในวัดพระธาตุหริภุญชัย ตั้งแต่ตนเองไปจนถึงลูกหลานแหลน มีหน้าที่เป็นนายหอปิฎก ได้รับเบี้ยปีละ ๕๐๐,๐๐๐ เบี้ย ส่วนคนอื่นได้ปีละ ๑๐๐,๐๐๐ เบี้ย

ในพวกข้าพระ เหมือนกัน ไม่ต้องทำงานของทางบ้านเมือง กลับมีการแบ่งชนชั้นตามประวัติเดิม หรือพฤติการณ์ที่ได้เข้ามาเป็นข้าพระ เช่น ข้าพระที่เป็นลูกเมีย ญาติพี่น้อง หรือข้าในปกครองของผู้ที่ต้องการทำบุญโดยถวายคนเป็นข้า, เจ้าเมืองถวายคนทำบุญ, คนที่สมัครใจยินดีจะเป็น

ข้าวัดหรือข้าพระ ๆ จะมีระดับชนชั้นในสังคมของข้าพระด้วยกันสูงกว่าพวกข้าพระที่ถูกไถ่ตัวจากการเป็นลูกหนี้มาเป็นข้า หรือ ลูกหนี้ที่ยืมเงินของวัดของพระแล้วไม่มีใช้คืน (อมเงิน)คนที่ถูกซื้อหรือไถ่ตัวมาเป็นข้า การมอบคนให้เป็นข้าพระต้องมีการระบุจำนวนคน ชื่อตัว ชื่อครอบครัว รวมทั้งค่าตัวของคนเหล่านั้นกำกับอยู่เสมอ มักจะพบความแตกต่างของการใช้คำเรียก ระหว่าง ข้ากับ คน ปะปนกันในจารึกล้านนา อาจเป็นเพราะ ข้าบางคนไม่ได้มีสถานะเป็นข้าที่มีค่าตัวตั้งแต่แรก หากแต่เป็นไพร่หรือญาติพี่น้องลูกเมียของไพร่ที่ถูกมอบให้เป็นข้าใช้แรงงานในทางพระพุทธศาสนา จึงเป็นกลุ่มชนชั้นอภิสิทธิ์ยิ่งกว่าข้าพระอื่น ๆ ข้าจำพวกนี้บางครั้งถูกเรียกว่า คนสินทาน หรือ คนทาน คือคนที่มูลนายถวายไว้แด่พระพุทธศาสนานั่นเอง

การที่ข้ากลุ่ม ข้าพระ” “ข้าพระเจ้า” “ข้าวัด มีทั้งอภิสิทธิ์และผลประโยชน์ส่วนตน ผนวกกับการที่ข้าพระบางคนมีอำนาจจัดการเงินรายได้ของวัด และ ปกครองผู้ที่เข้ามาเป็นข้าวัดคนอื่น คงเป็นแรงจูงใจสำคัญทำให้มีผู้ประสงค์จะเข้ามาเป็นข้าในกลุ่มนี้มากกว่าจะหลบหนี อำนาจของพวกข้าพระคงมีมากจนสามารถสร้างข้อต่อรองทางการเมืองกับกลุ่มมูลนาย จนต้องมีข้อจำกัดว่าการถวายคนเป็นข้าในพระพุทธศาสนาจะต้องได้รับอนุญาตจากราชสำนักในเมืองเชียงใหม่ แต่ก็มีหลักฐานว่าข้าพระพวกที่ไม่มีอำนาจจัดการกับเงินรายได้ของวัด ไม่ได้รับผลประโยชน์จากภาษีที่ถวายไว้แก่วัด หรือข้าพระที่ประสบภัยสงคราม การขาดแคลนอาหาร ฯลฯ ข้าพระพวกนี้ก็อาจเพิกเฉยหรือละทิ้งหน้าที่ เช่น กรณีข้าพระเจ้าตนหลวงที่เมืองพะเยาละทิ้งหน้าที่ไปอยู่เมืองเวียงจันทน์

หากข้าพระแต่งงานไปกับคนนอกไม่ได้แต่งงานกับพวกข้าพระกลุ่มเดียวกัน ทางราชการจะแต่งตั้ง เจ้าไท เข้ามามาสืบสวนและนำตัวข้าส่งกลับคืนไปทำงานให้ต้นสังกัด หรือให้นำเงินมาซื้ออิสรภาพของตนเอง ที่น่าสนใจคือจารึกบางหลักตีความได้ว่ามีขุนนางยศ หมื่น คนหนึ่งได้ไถ่ตัวข้าวัดในเมืองพะเยาเพื่อไปเป็น พระมหาเทวี ถ้ามีโอกาสจะได้เล่าให้ฟัง

หน้าที่ 3/13

จารึกวัดควาง จารึกหลักนี้อุทิศพื้นที่ให้กับการสอบสวน และ การจ่ายเงินไถ่ตัวข้าพระ

สันนิษฐานว่าทำขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ปัจจุบันอยู่ที่วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา

ข้าพวกมีค่าตัวซื้อขายได้ดังสิ่งของ ข้า เรียกว่า ข้าน้ำเบี้ยน้ำเงิน ตรงกับคำว่าทาสสินไถ่ของสยาม สถานะทางสังคมของข้ากลุ่มนี้ด้อยกว่าข้าในพระพุทธศาสนา เพราะข้าในกลุ่มนี้จะไม่สามารถครอบครอบบ้านเรือนที่ดิน หรือผลประโยชน์ใดใดที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ผลผลิตหรือสินค้าที่ข้ากลุ่มนี้สามารถทำขึ้นได้ก็ต้องตกเป็นสมบัติของเจ้าข้า ยกเว้นแต่เจ้าข้าจะอนุญาตให้ข้ามีสิ่งของส่วนตัวได้เท่าไหร่ ก็จะมีได้เท่าที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น บางทีเจ้าข้าไปรับงานรับจ้างมาจากผู้อื่นแล้วสั่งให้ข้าไปทำงานแทนตน ส่วนเงินค่าจ้างเจ้าข้าเป็นผู้รับ เรื่องราวของข้ากลุ่มนี้มีแทรกอยู่ในเอกสารยุคจารีตที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดี เช่น คลองตัดคำพระพุทธโฆษาจารย์ ระบุว่า เมื่อครั้งที่พระญากือนาครองราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่

พระองค์ห้ามไม่ให้รับฟ้องกรณี ข้า ฟ้องเจ้าข้าที่ขายตนให้ไปอยู่กับเจ้าข้าคนใหม่ที่ตัว ข้า ไม่ได้สมัครใจไปอยู่ด้วย และ ให้เจ้าข้าเดิมของ ข้า ผู้นั้นจับกุมคุมตัวไปส่งให้แก่เจ้าข้าคนใหม่ ข้อความนี้แสดงชัดเจนถึงการไร้สิทธิในฐานะอิสระชน ในล้านนามีอาชีพ คนค้าข้า ลักษณะเป็นนายหน้าค้ามนุษย์ บางที่ข้าเหล่านี้ก็ถูกเรียกตามตำแหน่งราชการของมูลนาย คือ ข้าของขุน” “ข้าของไพร่” “ข้าของท้าวพระญา

 

ข้า ในชนชั้นนี้บางคนอาจเป็นไพร่มาก่อนแต่เลี้ยงตัวเองไม่ไหว ยอมขายตัวเองเป็นข้าเพื่อให้นายเลี้ยงดู การขายตัวเองเป็นข้าเท่ากับยอมรับที่จะถูกลิดรอนสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง และ ผลประโยชน์ทางกฎหมาย เช่น รับมรดกของบิดามารดาที่เป็นไพร่ไม่ได้ จะฟ้องร้องต่อมูลนายขอรับมรดกตามที่กฎหมายจารีตระบุไว้ว่า เมื่อบิดามารดาตายสมบัติให้ตกทอดแก่ลูกหลานสัดส่วนเท่าใดไม่อาจทำได้ ยกเว้นแต่ว่าทาสผู้นั้นจะมีพยานยืนยันว่าบิดามารดาสั่งเสียไว้ก่อนตาย ว่ามอบสิ่งใดไว้ให้ตนเองบ้าง

 บางครั้งบิดามารดานำลูกของตนไปขายเป็นข้าเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ที่ตนเองเป็นผู้ก่อขึ้น ผู้เป็นลูกจะขัดขืนไม่ได้ ลูกที่เกิดจากแม่ที่เป็นข้า ก็จะต้องเป็นข้า และ เป็นสมบัติของเจ้าข้าตั้งแต่แรกเกิดหรือตรงกับคำว่า ทาสในเรือนเบี้ย แต่มีบางกรณีที่ยกเว้นไม่ต้องเป็นข้า ตัวอย่างเช่น ข้าของขุนนางไปอยู่กินกับไพร่ผู้หญิง หากมีลูกสามคน ลูกสองคนให้เป็นไพร่เหมือนแม่ ส่วนอีกคนเป็นข้าเหมือนพ่อ หรือถ้าข้าของกษัตริย์ไปอยู่กินกับไพร่ผู้หญิง ลูกที่เกิดมาทุกคนเป็นไพร่ ถ้าพ่อตายลงให้พิจารณาว่ามีการนำสิ่งของของพระญาไปเก็บรักษาไว้เท่าใด ให้ส่งคืนแก่กษัตริย์ แต่ถ้าใช้สอยไปแล้วหมดสิ้นติดตามไม่ได้ ถือว่าแล้วกันไป

แต่ถ้าข้าผู้หญิงไปอยู่กินกับไพร่ ลูกที่เกิดมากี่คนเป็นข้าทุกคน ไม่ได้ยกเว้น

หน้าที่ 4/13

นักโทษทำความผิด หรือหญิงมีชู้ อาจได้รับโทษตามกฎหมายจารีตให้ขายตัวเป็นข้า เพื่อนำเงินค่าตัวไปชดใช้ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับคดี กฎหมายห้ามมิให้มูลนายรับเอานักโทษหลบหนีมาขอเป็นข้าไว้ภายใต้การปกครอง หมายถึง พวกที่หนีหนี้มาเป็นข้า มีคดีติดตัวมาขอเข้ามาเป็นข้าเพื่อชนะคดี รวมทั้งพวกโจรผู้ร้ายลักวิ่งชิงปล้น ฆ่าคน หรือผู้ที่ทิ้งงานหลวง ห้ามไม่ให้เอามาเป็นข้า ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ข้าเหล่านั้นอาศัยอำนาจบารมีของเจ้าข้าเป็นเครื่องงดโทษหรือข่มแหงทำร้ายผู้อื่น

กฎหมายจารีตของล้านนายังเปิดโอกาสให้ข้าได้เป็นไท ถ้าหากข้ามีเงินค่าตัวมาจ่ายให้แก่เจ้าข้า ข้าผู้นั้นย่อมเป็นอิสระได้ แต่จารีตทางสังคมรวมทั้งระบบกฎหมายโบราณ ทำให้ข้ากลุ่มนี้แทบไม่มีโอกาสที่จะทำงานหารายได้เป็นของส่วนตัวถ้าเจ้าข้าไม่อนุญาต ถ้าจะรับจ้างทำงาน เงินที่ข้าหามาได้ก็ต้องตกเป็นของเจ้าข้า ข้าจะไม่สามารถครอบครองที่ดิน บ้าน แม้แต่ลูกของตนเกิดมาก็มีสถานะข้าตั้งแต่แรก ถือเป็นทรัพย์สินของเจ้าข้า

แต่ถ้าข้าผู้หญิงตั้งครรภ์แล้วหลบหนีจากเจ้าข้าไปจนข้ามแม่น้ำคง (แม่น้ำสาละวิน) ไปคลอดลูกอยู่อีกฟากหนึ่งของฝั่งน้ำ ให้ถือว่าข้านั้นเป็นอิสระจากเจ้าข้าทั้งแม่และลูก รวมทั้งบรรดาข้าชายและหญิงที่หนีข้ามแม่น้ำคงไปแล้วด้วยเช่นกัน แต่ข้าเหล่านี้จะข้ามแม่น้ำคงกลับเข้ามาไม่ได้ หากข้ามกลับมาแล้วถูกจับตัว จะถูกส่งกลับคืนเจ้าข้า หรือเจ้าข้าเป็นชู้กับเมียข้า จะต้องปล่อยผัวให้เป็นอิสระ หากเจ้าข้าจ่ายเงินไถ่ตัวข้าผู้หญิงมาเป็นเมีย หญิงนั้นจะพ้นสภาพข้าเปลี่ยนสถานะเป็นไพร่ ลูกที่เกิดมามีสถานะเป็นไพร่ และหญิงที่นั้นมีสิทธิรับมรดกที่ผัวสั่งเสียไว้ให้มอบให้แก่ตนเอง รวมทั้งมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของ ข้า ของผัวสืบต่อไป แต่ต้องมีพยานรู้เห็นคำสั่งเสียนั้นด้วย หรือกรณีที่เจ้าข้าบวชเป็นพระภิกษุ อาจจะปลดปล่อยข้าในครอบครองของตนให้เป็นไทเพื่อทำบุญ แต่ถึงจะมีฐานะทางสังคมเป็นไพร่ ๆ ทุกคนก็ถูกนับรวมเป็น ข้าแผ่นดิน

ข้าปลายหอกงาช้าง” “ข้าหอคนโฮ่งเกิดจากธรรมเนียมการรบทัพจับศึกในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในยุคจารีตที่กำลังคนมีผลต่อการสร้างผลผลิตและสะสมความมั่งคั่งในบ้านเมือง เมื่อฝ่ายใดได้รับชัยชนะ ก็มักจะกวาดต้อนคนจากฝ่ายแพ้กลับไปเป็นแรงงาน สร้างผลผลิตและสร้างสิ่งต่าง ๆ เรียกว่าเชลยสงครามหรือ ข้า หลักฐานกล่าวถึงข้า พวกนี้มีเค้าลางอยู่ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ปีพุทธศักราช ๑๘๓๕ ว่า “... กูไปตีบ้านตีเมือง ตีได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงินได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู ...” รวมถึงข้าที่ได้จากการ หลอน หรือการจับตัวคนของบ้านเมืองอื่นระหว่างการตรวจตราพื้นที่ชายแดนระหว่างรัฐต่อรัฐ เพราะความต้องการกำลังคนในการผลิตสิ่งของต่าง จะมากน้อยกี่คนที่จับได้มาก็ตาม ต้องนำเข้ามาถวายให้แก่กษัตริย์ กลายเป็น ข้าหอคนโฮ่ง การนำพาคนข้ามพรมแดนไปในลักษณะนี้ กฎหมายยุคจารีตของรัฐและอาณาจักรโบราณในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะห้ามมิให้ติดตามพวกที่ถูกนำพาไปยังแผ่นดินอื่น ทั้งนี้เพื่อป้องกันความยุ่งยากที่จะเกิดตามมาหากเกิดการต่อสู้แย่งชิงคน จนอาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามระหว่างบ้านเมือง ถ้าคนพวกนี้อยากกลับไปบ้านเมืองของตนเอง จะต้องหาทางหลบหนีออกมาด้วยตนเองเท่านั้น

กลุ่มประชากรพวกที่ล้านนาระบุว่าเป็น “ข้าปลายหอกงาช้างหรือข้าหอคนโฮ่ง ตรงกับคำเรียก ทาสเชลย ของสยาม

พวกข้าปลายหอกงาช้าง เมื่อมีลูกหลานก็ต้องดำรงสถานะทางสังคมเป็นข้าตั้งแต่แรกเกิดคล้ายกับพวกที่สยามเรียกว่า ทาสในเรือนเบี้ย แต่ลูกหลานของข้าปลายหอกงาช้างมักไม่มีหลักฐานความเป็นข้าอยู่กับเจ้าข้าคนใดแน่ชัดต่างจากพวกข้าพระที่จะถูกรับรองสถานะโดยศิลาจารึก หากมีการหลบหนีทางบ้านเมืองจะทำการตรวจสอบสืบพยาน เพราะพวกข้าปลายหอกงาช้างมักจะตกทอดมาเป็นมรดกสืบต่อมาเรื่อย ๆ หากเกิดคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะกรณีข้าหนีเจ้าข้า ก็ไม่มีหลักฐานที่เจ้าข้านำสืบความได้ชัดเจน มีแต่พยานบุคคลเท่านั้น พวกข้าปลายหอกงาช้างไม่มีการเกษียนไปจากความเป็นทาสจนชั่วลูกชั่วหลาน รวมทั้งเกือบจะเป็นพวกที่ไม่มีตัวตนอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของล้านนาเลย

หน้าที่ 5/13

 “ยอง” กลุ่มชนที่ตอบโต้การเข้ามาครอบครองเมืองยองของพม่า ด้วยการประกาศให้แผ่นดินเมืองยอง เป็นแผ่นดินพระธาตุ คนในเมืองยองเป็นข้าพระธาตุเจ้าจอมยอง ไม่ยอมให้พม่าเข้ามาเป็นส่วยภาษี และเมื่อพระสังฆโมลีชาวยองอนุญาตให้พม่ากินข้าวกินน้ำเมืองยองได้ ชาวยองต่อต้านด้วยการโจทย์ว่าพระสังฆโมลีนั้นเมื่อตายไปก็ไปกลายเป็นเปรต เมื่อต้องเข้ามาสวามิภักดิ์พระญากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ ก็มาอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะข้าพระธาตุ ภายใต้การนำของมูลนายเมืองยอง ภาพจาก https://pantip.com/topic/32459263 สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕

“ยอง” กลุ่มชนที่ตอบโต้การเข้ามาครอบครองเมืองยองของพม่า ด้วยการประกาศให้แผ่นดินเมืองยอง เป็นแผ่นดินพระธาตุ คนในเมืองยองเป็นข้าพระธาตุเจ้าจอมยอง ไม่ยอมให้พม่าเข้ามาเป็นส่วยภาษี และเมื่อพระสังฆโมลีชาวยองอนุญาตให้พม่ากินข้าวกินน้ำเมืองยองได้ ชาวยองต่อต้านด้วยการโจทย์ว่าพระสังฆโมลีนั้นเมื่อตายไปก็ไปกลายเป็นเปรต เมื่อต้องเข้ามาสวามิภักดิ์พระญากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ ก็มาอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะข้าพระธาตุ ภายใต้การนำของมูลนายเมืองยอง

ภาพจาก https://pantip.com/topic/32459263 สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕

ชนชั้นที่ต่ำกว่า ข้าหรือชนชั้นที่ต่ำสุดในสังคมล้านนาเป็นพวกนักโทษที่ต้องถูกเนรเทศไปเมืองอื่น โทษเนรเทศ ได้แก่ โทษเกี่ยวกับการทำยาพิษยาเบื่อ วางยาคน ฆ่าพ่อแม่ พี่น้องฆ่ากัน ข้าฆ่าเจ้า เมียฆ่าผัว กฎหมายจารีตไม่ฆ่าให้ตายและไม่ขายลงเป็นข้า แต่ให้ริบทรัพย์สินเงินทองเข้าคลังหลวงแล้วเนรเทศให้พ้นจากแผ่นดิน หากพิจารณาจากกฎหมายโบราณ แผ่นดินของล้านนามีขอบเขตเดินทางในระยะ ๒ เดือน การคุมตัวข้าออกไปให้พ้นแผ่นดินก็คือการปล่อยให้ไปตามยถากรรม ตัดขาดจากสิทธิในฐานะประชากรในสังคม โอกาสที่คนเหล่านี้จะมีชีวิตรอดเป็นไปได้ยากมาก หากไม่มีทักษะในการเอาตัวรอด หรือรู้วิธีการหาอาหารจากป่า หรือมีที่พึ่งพิงอยู่ภายนอกอาณาจักรก่อนแล้ว

ชนขั้นข้า เมื่อล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามฟื้นม่าน (ตั้งแต่เมืองเชียงแสนแตกในพุทธศักราช ๒๓๔๗) มูลนายของล้านนาเริ่มการฟื้นฟูบ้านเมืองโดยใช้หลักจารีตประเพณีและกฎหมายโบราณ เช่น มุลลกัณฑ์ไตร คดีโลกคดีธรรม ธรรมศาสตร์ (พระมนูธรรมศาสตร์) กฎหมายโบราณ ธรรมศาสตร์หลวง มังรายศาสตร์ (คลองมังราย) คลองตัดคำพระพุทธโฆษาจารย์ อาณาจักรหลักคำ เป็นต้น ต้นแบบของกฎหมายเหล่านี้อยู่ในเอกสารโบราณที่มีการคัดลอกสืบต่อกันมา กฎหมายโบราณของล้านนา เช่น มังรายศาสตร์ฉบับวัดแม่คือคัดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๘๓ มีการกล่าวถึงพวกข้า และ ประมวลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้า ที่ยังคงมีการคัดลอกสืบทอดมาจนถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

การคัดลอกกฎหมายที่กล่าวถึงข้า ประเภทของข้า และหลักการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับข้าเอาไว้เพื่อใช้ตัดสินคดี เป็นหลักฐานชัดเจนว่าล้านนายังคงมี ข้าเป็นกลุ่มประชากรหนึ่งในสังคม ส่วนสยามซึ่งสถาปนาขึ้นในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ก็มีการสืบเนื่องแนวปฏิบัติทางสังคม การเมือง การปกครอง จากต้นแบบคือกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งรูปแบบการบริหารประชากรที่ยังมี ทาส สืบต่อมาและมีกฎหมายสำหรับพิจารณาคดีความเกี่ยวกับทาสโดยเฉพาะ คือ พระไอยการทาษ และ พระไอยการลักษณกู้หนี้ เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสนกับคำเรียกชื่อกลุ่มประชากร จากนี้ผู้ศึกษาขอเรียกประชากรกลุ่ม ข้าและทาส ด้วยคำเดียวว่า ทาส เนื่องจากประชากรในกลุ่มดังกล่าวของดินแดนล้านนาและสยาม มีสถานภาพทางสังคมคล้ายคลึงกัน ยกเว้นพวกที่เป็น ข้า ในพระพุทธศาสนาของล้านนาที่มีหน้าที่เฉพาะ และ ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษแตกต่างจากความหมายของคำว่าทาสโดยทั่วไป

ทาสล้านนา และ สยามก่อนการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สมัยใหม่ตามการจัดระเบียบของสยาม ยังไม่มีการเกษียณอายุ หากเป็นทาสแล้วจะต้องเป็นตลอดไปจนกว่าจะหาทรัพย์สินมาซื้ออิสรภาพจากเจ้าของได้

หน้าที่ 6/13

 

แม่น้ำสาละวิน เป็นเส้นเลือดใหญ่ของแผ่นดินพม่ามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สายน้ำพรมแดนพม่า - ล้านนา ที่ถูกระบุว่า หากข้าผู้หญิงล้านนาที่ตั้งครรภ์ สามารถหนีข้ามแม่น้ำไปคลอดลูกทางฝั่งพม่า มูลนายห้ามติดตามเข้าไป และหญิงนั้นกับลูก จะข้ามกลับมาอีกไม่ได้ ประมาณปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ เริ่มมีรายงานข่าวว่าจะมีการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน เพื่อพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในพม่า แนวเขื่อนชื่อ ยวาติ้ด เว่ยจี และ ดากวิน คือเส้นทางข้ามสู่อีกฝั่งแม่น้ำมาแต่เดิม

ภาพจาก https://transbordernews.in.th/home/wp-content/uploads/Map_Proposed-Dam-in-the-Salween-Basin-768x661.jpg สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕

การมีทาสเป็นเรื่องที่พบเห็นและยอมรับกันได้โดยทั่วไป จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหารามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เริ่มเกิดแนวความคิดเรื่องสิทธิของประชากรในฐานะปัจเจกบุคคลขึ้นในสยาม เมื่ออำแดงจั่นทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๔ ว่าถูกนายเอี่ยมผู้เป็นผัวลักเอาชื่อไปขายเป็นทาส รัชกาลที่ ๔ ทรงให้สอบสวนกฎหมายเก่า ๆ มาประกอบคำพิจารณา ปรากฏว่ากฎหมายเก่าอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ พระองค์ทรงพระราชดำริว่ากฎหมายนี้ไม่ยุติธรรม ทำให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการขายตัวลงเป็นทาสขึ้นในปีจุลศักราช ๑๒๒๙ (พุทธศักราช ๒๔๐๙) ระบุว่า พ่อแม่จะขายลูก หรือผัวจะขายเมียเป็นทาสโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมไม่ได้ แต่สยามยังไม่ก้าวไปสู่กระบวนการเลิกทาสอย่างเป็นระบบ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์สมบัติ ปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ พระองค์ทรงมีชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา กับ ๑๐ วัน ต้องมีผู้สำเร็จราชการ แต่เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาสามารถว่าราชการได้ด้วยพระองค์เองในปีพุทธศักราช ๒๔๑๖ พระองค์ทรงใช้โอกาสอันเป็นมงคลนั้นให้สำรวจ และ จดทะเบียนทาสที่เกิดในปีขึ้นครองราชย์ อันเป็นกระบวนการแรกของโครงการเลิกทาสในสยาม ที่พระองค์ใช้เวลาตลอดรัชสมัยดำเนินการ อาจจะกล่าวได้ในที่นี้ว่าโครงการเลิกทาสเป็นการโต้ตอบกับทัศนคติของชาวยุโรปที่มุ่งหวังจะใช้ข้ออ้างนี้ในการเข้ามาครอบครองสยาม

แต่ที่ล้านนาการมีทาสยังคงเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป โครงการเลิกทาสที่ได้เริ่มต้นขึ้นในสยามยังไม่มาถึงดินแดนล้านนา เห็นได้จากหนังสือที่เขียนโดยมิชชันนารีชาวอเมริกันปีพุทธศักราช ๒๔๒๗ กล่าวถึง

... นอกเหนือจากบรรดาเชลยที่ถูกจับในสงครามและลูกหลานของพวกเขาแล้ว ยังมีลูกหนี้จำนวนมากที่ต้องตกเป็นทาส ..."

หน้าที่ 7/13

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคืนความเป็นไทให้แก่กลุ่มทาสเชลยในล้านนาที่มีอายุถึง ๖๐ ปี ในทันทีที่ประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙(พุทธศักราช 2444) เพราะทรงพระราชวินิจฉัยว่าการที่คนเหล่านี้ต้องตกมาเป็นทาสเรียกว่าเป็นการกดขี่ที่ร้ายแรง เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นทาสเพราะเจตนาของตนหรือทำตัวเองให้ตกต่ำ หากถูกบังคับมาให้เป็น พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายเรื่องทาสในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือว่า มีพวกทาสที่ได้มาระหว่างการทำสงครามเรียกว่า ทาสเชลย และทาสที่ได้มาด้วยทรัพย์เรียกว่า ทาสสินไถ่ ไว้ว่า ทาสเชลยเกิดขึ้นจากประเพณีโบราณเมื่อกษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้เจ้านาย พระญา แสน ท้าว หัวเมือง ในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือยกกำลังไปปราบปรามเมืองใด หากได้รับชัยชนะมาแล้ว บรรดาคนของฝ่ายข้าศึกซึ่งจับมาเป็นเชลยจำนวนมากน้อยเท่าใดก็ตาม จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แบ่งให้เป็นบำเหน็จบำนาญของบรรดาแม่ทัพนายกอง ข้าราชการ ที่ได้ไปรบทัพจับศึกครั้งนั้น ตามแต่ความดีความชอบในราชการสงคราม ส่งผลทำให้คนจำนวนมากต้องถูกลดสถานะทางสังคมตกเป็นทาสเชลยในสังกัดของแม่ทัพนายกองรวมทั้งบรรดาข้าราชการทั้งหลาย

แต่เมื่อไม่มีสงคราม ทาสเชลยก็จะมีไม่ได้

พระราชบัญญัตินี้เองที่อาจเป็นต้นเค้าความวุ่นวายในล้านนาเพื่อฟื้นสยามครั้งสุดท้าย และยังมีชนชั้นข้าที่ยังปรารถนาจะคงสถานภาพ ข้า ของตนสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน จะกล่าวถึงต่อไป

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศให้ใช้ พระราชบัญญัติลักษณทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙ ในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยายน รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙ (พุทธศักราช ๒๔๔๓)

พระราชบัญญัตินี้เน้นไปที่การปลดปล่อย ทาสเชลย หรือ ทาสที่เรียกว่า ค่าปลายหอกงาช้าง” “ค่าหอคนโฮ่งเหตุเพราะ เมื่อไม่มีสงคราม ทาสเชลยก็จะมีไม่ได้ ส่วนพวก ทาสสินไถ่ หรือ ข้าน้ำเบี้ยน้ำเงิน ก็ได้มีการลดค่าตัวทาสทุกเมืองในล้านนาลงประมาณครึ่งหนึ่ง ทาสชายมีค่าตัว ๒๕ บาท ทาสหญิงมีค่าตัว ๓๒ บาท ไม่เกินกว่านี้ และ () ทาสที่มีอายุถึง ๖๐ ปี ทั้งทาสเชลยและทาสสินไถ่ให้พ้นจากการมีค่าตัวเป็นไทในทันที () ทาสเชลยที่มีเงินมาขอไถ่ตัวตามอัตราค่าตัวในพระราชบัญญัตินี้ นายเงินจะ “ต้อง” รับเงินค่าไถ่ตัวจากทาสจะไม่ยอมรับไม่ได้ () ลูกทาสเชลยเป็นไท เฉพาะผู้ที่เกิดในวันที่ ๑๖ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ เป็นต้นมา จะต้องไม่เป็นทาส ลูกทาสเชลยเกิดก่อนวันนั้น ให้คิดค่าตัวตามอายุ ปีละ ๒ บาท ๓๒ อัฐจนเต็มค่าตัวเมื่ออายุ ๑๐ ปี คือมีค่าตัว ๒๕ บาท นอกจากนั้นยังกำหนดข้อลดหย่อนต่าง ๆ จำนวนมาก เพื่อให้ทาสมีโอกาสถอนตนจากการเป็นทาสได้อย่างรวดเร็ว นายเงินที่ซื้อคนเกิดหลังวันที่ ๑๖ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ มาเป็นทาส ภายหลังเกิดปัญหาทาสหนีหรืออย่างใด นายเงินจะจับกุมตัวทาสไม่ได้ หรือจะเอาเงินค่าตัวคืนไม่ได้ เพราะถือว่าทำผิดกฎหมาย

หลักฐานในราชกิจจานุเบกษา ค่าตัวทาสแต่ละเมืองไม่เท่ากัน

และค่าตัวแพงมากเกินกว่าที่ทาสจะสามารถไถ่ตัวเองให้เป็นอิสรชน

หน้าที่ 8/13

การเลิกทาสในล้านนาตามที่ปรากฏใน พระราชบัญญัติลักษณทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙ (ประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๔๓) เข้าใจว่าในช่วงต้นรัตนโกสินทร์มาจนถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวนทาสเชลยในล้านนาคงมีจำนวนมาก เป็นผลมาจากการกวาดครัวเรือนผู้คนจากเมืองต่าง ๆ เข้ามาฟื้นฟูบ้านเมืองในยุคแห่งการ เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองรวมทั้งการซื้อทาสเข้ามาสะสมเป็นแรงงาน

นอกจากนั้นยังมีข้อมูลจากนักสำรวจชาวอังกฤษอาร์ซิบอล อาร์ โคลฮูน เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๗ ทำให้ทราบว่า เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ครอบครองทาส ๑,๕๐๐ คน เจ้าหอหน้ามีทาส ๑,๐๐๐ คน เจ้าราชวงศ์มีทาส ๘๐๐ คน เจ้านายที่มีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่า มีทาสได้ ๑๐๐ คน ส่วนขุนนางชั้นท้าวมีทาสได้ ๑๕ – ๒๐ คน ทาสเหล่านั้นคงรวมเอาผู้เป็นทาสเชลยและทาสสินไถ่เป็นกลุ่มเดียวกัน

เมื่อลองคำนวณสัดส่วนประชากรต่อจำนวนทาสโดยใช้ข้อมูลทำเนียบนามพญาเค้าสนาม นครเมืองน่านที่มีการจดบันทึกไว้ในช่วงที่เจ้าอนันตวรฤทธิเดชครองนครเมืองน่าน (พุทธศักราช ๒๓๙๕ – ๒๔๓๔) ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่อาร์ซิบอล อาร์ โคลฮูน เขียนหนังสือ จำนวนพญาเค้าสนามหลวงมี ๓๒ คน ดังนั้นพวกที่เป็นทาสภายใต้กลุ่มเจ้านายที่บริหารงานบ้านเมือง คงมีประมาณ ๖,๕๐๐ คน ขณะที่รายงานบัญชีสำมะโนครัวมณฑลลาวเฉียงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๔๐ ระบุจำนวนประชากรของเมืองเชียงใหม่และเมืองขึ้นของเมืองเชียงใหม่ว่ามีจำนวนประชากรรวม ๑๕๕,๕๓๗ คน แสดงว่าเฉพาะทาสที่รับใช้เจ้านายก็มีจำนวนมากถึงร้อยละ .๑๘% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยตัวเลขดังกล่าวไม่สามารถคำนวณไปถึงจำนวนข้าพระกับทาสในครอบครองของขุนนางระดับล่างและนายเงินที่เป็นชาวบ้าน

การมีทาสในครอบครองทำให้นายของทาสมีศักยภาพในการต่อรองทางการเมืองสูง จนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญเมื่อสยามเข้ามาจัดระเบียบการปกครองรูปแบบใหม่ในล้านนา รวมทั้งไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของคนด้านการศึกษาได้อย่างเต็มที่ เพราะ ทาสเชลยและ ทาสสินไถ่ ต้องอยู่ในอำนาจของนายทั้งชีวิตและเวลา จึงมีความจำเป็นต้องเลิกระบบทาสในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือให้ได้ผลสำเร็จโดยเร็ว เพื่อป้องกันการที่กลุ่มเจ้านายใช้ทาสในการสะสมกำลัง และ เสบียงอาหารเพื่อต่อสู้กับสยาม เป็นเวลาเดียวกันกับที่ฝรั่งเศสและอังกฤษพยายามรุกคืบเข้ามาช่วงชิงทรัพยากรในดินแดนล้านนา ด้วยการใช้ระบบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตสร้างข้อได้เปรียบทางกฎหมายแก่คนในบังคับ บางครั้งมีการอ้างความเป็นคนในบังคับละเมิดกฎหมายสยาม และ ไม่จ่ายส่วยภาษีหรือดึงกระบวนการทางยุติธรรม ปฏิเสธระบบกฎหมายจารีตที่ใช้กันสืบมาในล้านนา ฯลฯ กลวิธีการช่วงชิงประชากรดังกล่าว ส่งผลให้สยามต้องเดินหน้าปฏิรูปกฎหมายทั้งพระราชอาณาจักร และ สำรวจจัดทำแผนที่พระราชอาณาเขตอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยลูกจ้างชาวต่างประเทศเข้ามาทำงานในกรมกองต่าง ๆ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อผลักดันสยามให้เจริญในระดับก้าวกระโดด และถ่ายทอดวิทยาการให้แก่ข้าราชการชาวสยาม ขณะที่มีปฏิกิริยาต่อต้านสยามของเจ้านายในท้องถิ่นที่มองว่าการปฏิรูปทำให้เจ้านายท้องถิ่นขาดผลประโยชน์จากส่วยภาษีและแรงงานคน

ท่ามกลางบรรยากาศการช่วงชิงกำลังประชากร ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการได้ครอบครองพื้นที่ล้านนาทวีความรุนแรงมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกสิทธิอำนาจที่นายทาสในล้านนามีอยู่เหนือชีวิต และ เวลาของทาสเชลยในทันทีที่พวกเขาอายุครบ ๖๐ ปี รวมทั้งการประกาศให้ลูกทาสชาวล้านนาที่เกิดในวันที่ ๑๖ ธันวาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๑๖ เป็นต้นมาได้เป็นไทตั้งแต่เกิด ทำให้เจ้านายท้องถิ่นบางคนที่คิดรวบรวมกำลังคนก่อการต่อต้านการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่สยามดำเนินการอยู่ในล้านนาสูญเสียโอกาสฟื้นสยาม เพราะผลจากการเกษียณอายุทาสกับการลดค่าตัวทาสครึ่งหนึ่ง และให้ลูกทาสเป็นไท ทำให้ประชากรล้านนาหลายคนได้รับชีวิตและเวลากลับคืนมา รวมไปถึงสิทธิทางกฎหมาย ตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้ คือ บรรดาลูกหลานของกลุ่มชาวนาแถบบ้านสันป่าสัก ที่ถูกเรียกว่าพวกกบฏพญาผาบ ซึ่งก่อความวุ่นวายต่อต้านการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ของสยามโดยเจ้าภาษีเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๒ ได้ถูกนำตัวไปเป็นทาสเชลยของเจ้านายที่เมืองเชียงใหม่แทนตัวพญาผาบและครอบครัวที่หลบหนีไปเมืองเชียงตุง คนเหล่านี้ได้โอกาสเป็นไทแก่ตัวกลับเข้าสู่ความเป็นประชากรของบ้านเมือง กลับไปอยู่ถิ่นฐานเดิมของตนเองเพราะพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ด้วย

การได้รับอิสรภาพที่ไม่คาดคิดครั้งนี้คงก่อให้เกิดคำถามอย่างกว้างขวางในหมู่ประชากรล้านนาว่า ใครเป็นนายเหนือหัวที่มีอำนาจแท้จริงในการปกครองล้านนา เพราะการเป็นไทคือการคืนสิทธิทางกฎหมายและร่างกายให้แก่คน ๆ นั้น ตัวอย่างของการขาดสิทธิเหนือร่างกายและชีวิตของทาสในล้านนา มีอยู่ในอัตชีวประวัติของศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี เรื่องของน้อยเตโชที่เคยเป็นทาสของเจ้านายในเมืองลคร เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผีก๊ะ และถูกขับไล่ออกจากเมืองละคร แต่ก่อนที่จะถูกขับไล่ออกมา เจ้านายของเขาบังคับให้เขาขอยืมเงินเพื่อไถ่ถอนอิสรภาพของตนเอง และต้องทิ้งลูกสาวไว้สองคนเป็นประกันอีกด้วย ตัวน้อยเตโชย้ายที่อยู่หลายครั้งจนได้มาตั้งบ้านอยู่ที่บ้านปางกรายแถบเวียงป่าเป้า

ปฏิกิริยาของเหล่าเจ้านายล้านนาที่เสียประโยชน์จากการมีทาส และ ผลประโยชน์เศรษฐกิจ ปรากฏอยู่ในสำเนาโทรเลขลับของหม่อมอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ ข้าหลวงประจำเมืองนครเชียงใหม่ กราบทูลเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๔ ก่อนเกิดกบฏเงี้ยวที่เมืองแพร่ กล่าวถึงความอึดอัดของเจ้านายท้องถิ่นเพราะทาสไม่มีใช้ จนแทบจะต้องตักน้ำกินเอง ป่าไม้ก็หมดแล้ว

การขาดสิทธิอำนาจปกครองและสั่งการทาสของกลุ่มเจ้านายที่ปรากฏอยู่ในสำเนาโทรเลขลับฉบับนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยวต่อต้านอำนาจสยาม (แต่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกไว้ว่า เรื่องกบฏเงี้ยวเป็นแค่พวกคนหนีหนี้มาจากเมืองเชียงตุง เข้ามาก่อความวุ่นวายขึ้นในล้านนาเพื่อปล้นเงินไปใช้หนี้ แต่กลับเลยเถิดจนกลายเป็นการกบฎไป)

หน้าที่ 9/13

ผู้ศึกษามีความเห็นว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การก่อกบฏเงี้ยวไม่ประสพผลสำเร็จ เพราะการดำเนินโครงการเลิกทาสที่ทำให้ประชากรล้านนาจำนวนมากกลายเป็นอิสระชนหรือไพร่

โครงการนี้เข้ามาพร้อมกับของมิชชันนารีและชาวยุโรปที่นำความเจริญทางการแพทย์เข้ามาด้วย ผนวกกับบรรยากาศของการแข่งขันกันตั้งโรงเรียนในหลายพื้นที่ ทำให้ประชากรล้านนาโดยเฉพาะพวกที่เคยมีสถานภาพทางสังคมเป็นทาสมาก่อน เกิดความลังเลใจรวมทั้งอาจจะตั้งคำถามต่อสถานะทางอำนาจของกลุ่มเจ้านายที่เคยมีเหนือชีวิตของตนเพิ่มมากขึ้นทุกที เพราะพวกเขาได้รับรู้ข้อมูลและทัศนคติอย่างใหม่ที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยในสังคมล้านนายุคจารีต รวมถึงการที่สยามเปิดโอกาสให้ไพร่สามารถเรียนหนังสือและสอบเข้ารับราชการได้เช่นเดียวกับมูลนายโดยกำเนิด ส่งผลทำให้ความสัมพันธ์แบบจารีตระหว่างเจ้านายกับไพร่ลดลง จนเกิดกรณีที่ขุนนางระดับต่ำกล้าฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้านายที่ดำรงตำแหน่งเค้าสนามหลวงได้ โดยอาศัยกฎหมายสยาม ทาสล้านนาจึงไม่จำเป็นต้องร่วมมือกับพวกกบฎเพื่อจะได้เป็นอิสรชน

ต่อมา สถิติการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรในล้านนาที่ได้รับการปรับปรุงจนเข้ารูปเข้ารอยขึ้นทุกที ทำให้สยามมีเงินใช้ในราชการเพิ่มมากขึ้น แล้วมอบค่าตอบแทนกลับมาเป็นเงินเดือนให้แก่เจ้านายท้องถิ่น แทนผลประโยชน์ที่เคยได้รับโดยตรงจากการเก็บส่วย บริบททางสังคมเหล่านั้นคงจะลดแรงต้านทานการปฏิรูปการปกครองในล้านนาโดยสยามไปได้มาก

แต่เพราะผลจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙ ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดกบฏเงี้ยวต่อต้านสยามดังกล่าว ทำต่อมาให้ไม่มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณทาษรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔(วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๔๘) ที่มีสาระสำคัญ คือ ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทในทันที ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ลูกทาส ให้ลดค่าตัวลงเดือนละ ๔ บาท หากนายทาสจะขายทาสไปให้นายคนใหม่ ห้ามขายแพงกว่าค่าตัว พระราชบัญญัตินี้ได้ถูกกำหนดให้ใช้ทั่วพระราชอาณาจักร ยกเว้นมณฑลพายัพ (ชื่อใหม่ของมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ) กับมณฑลบูรพา ที่มีพระราชบัญญัติทาสสำหรับสองมณฑลไว้ต่างหากอยู่ก่อนแล้ว ส่วนมณฑลไทรบุรีกับเมืองกลันตัน และ เมืองตรังกานู โปรดให้ใช้กฎหมายตามลัทธิศาสนาของเมืองนั้น ๆ

เจ้าอุบลวัณณา เจ้าหญิงแม่เลี้ยงแห่งเชียงใหม่ ผู้ซึ่งโฮลต์ ฮาเลตต์ ระบุว่ามีข้าทาสนับไม่ถ้วน

 

หน้าที่ 10/13

การละเว้นใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ทำให้มีประชากรที่เรียกว่าทาสคงหลงเหลืออยู่ในล้านนา ปรากฏหลักฐานในจารึกฉลองพระวิหารหลวงเจ้าพูเพียงเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ กล่าวถึงผู้อยู่ใต้พระอาชญาพระเจ้านครเมืองน่าน ยังมีกลุ่มทาสาทาสี

หลักฐานเอกสารราชการของทางล้านนาและสยาม ได้สะท้อนให้เห็นว่ายิ่งนานวันกลุ่มเจ้านายในล้านนายิ่งเพิ่มความระมัดระวังในการแสดงบทบาทของตนเองที่จะไม่แสดงความขัดแย้งกับสยาม คงเพราะเกิดความเข้าใจว่า ท้ายที่สุดแล้วล้านนาต้องกลายเป็นดินแดนในปกครองของยุโรปหรือสยามไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง เพราะนอกเหนือจากความเคารพยกย่องของประชากรทั่วไปที่มีต่อเจ้านายตามจารีตที่สืบต่อกันมานาน กลุ่มเจ้านายไม่ได้มีอำนาจปกครองหรือสั่งการไพร่พล และเก็บผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรงเหมือนแต่ก่อน เมื่อเจ้าประกอบอาชีพอย่างอื่นก็ไม่ประสพความสำเร็จ จึงไม่อาจตั้งตนเป็นเอกเทศหรือสร้างเงื่อนไขเพื่อการต่อรองทางการเมืองกับทั้งล้านนาและชาติยุโรปมากนัก

ทำให้ในที่สุดโครงการเลิกทาสในล้านนาที่เคยถูกพักไปได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณทาษรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ในดินแดนล้านนาเดิม เนื่องจากทรงพระราชดำริว่าขณะนี้การซื้อขายตัวลงเป็นทาสในมณฑลพายัพก็คงมีแต่พวกที่เกิดก่อนวันที่ ๑๖ ธันวาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ เท่านั้น แต่กว่าที่คนเหล่านี้จะพ้นค่าตัวเป็นไทกินเวลาอีกหลายสิบปี ไม่ทันต่อความเจริญของบ้านเมืองและยุคสมัย ประกอบกับที่ผ่านมาได้มีการประกาศลดหย่อนค่าตัวทาสเป็นแบบแผน คนที่เคยมีทาสในล้านนาก็ไม่ได้รับความเดือดร้อน พระองค์ทรงวินิจฉัยว่าสมควรที่จะใช้ พระราชบัญญัติลักษณทาษรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ ในมณฑลพายัพได้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติลักษณทาษ ศก ๑๒๔ ในมณฑลพายัพ” พระราชบัญญัตินี้มีความสำคัญอยู่ที่การลดค่าตัวทาสในมณฑลพายัพตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๑ (พุทธศักราช ๒๔๕๕) เป็นต้นไป โดยให้ลดลงเดือนละ ๔ บาท ส่งผลทำให้ทาสหมดไปจากมณฑลพายัพอย่างรวดเร็ว เนื่องจากขณะประกาศใช้พระราชบัญญัติฯ ทาสมีพิกัดค่าตัวทุกเมืองเท่ากัน คือ ชาย ๒๕ บาท และ หญิง ๓๒ บาท หากลดค่าตัวลงเดือนละ ๔ บาท ทาสชายจะเป็นไทได้ภายใน ๖ – ๗ เดือน ส่วนทาสหญิงก็จะพ้นจากความเป็นทาสภายใน ๘ เดือน เท่านั้น และ เมื่อทาสหมดค่าตัวเป็นไทแล้วก็มีคำสั่งห้ามมิให้ขายตัวเองเป็นทาสได้อีก

นักโทษในคดีกบฎเงี้ยวเมืองแพร่

 

โครงการเลิกทาสในดินแดนล้านนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองรัชกาลที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องกันมาระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๔๓๒๔๕๕ ใช้เวลา ๑๒ ปี ทำให้ทาสเชลยตามประเพณีโบราณล้านนาที่จะต้องเป็นทาสไปจนสิ้นอายุขัย รวมไปถึงลูกหลานก็ต้องเป็นทาสเชลยไปไม่รู้จักจบสิ้น สามารถมีอิสรภาพในการเลือกใช้ชีวิตและเวลาไปตามหนทางของตนเอง ส่วนคนที่ยอมขายตัวลงเป็นทาสสินไถ่ก็หมดโอกาสที่จะขายตัวกลับลงเป็นทาสได้อีก คนที่รับเงินทองของนายเงินไว้ก่อนลงมือทำงานให้ก็เป็นเพียงลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างทำงานไปล่วงหน้าเท่านั้น

หน้าที่ 11/13

หม่อมอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ ข้าหลวงประจำเมืองนครเชียงใหม่

แต่ข้าพระของพระธาตุเจ้าจอมทอง ยังคงยืนยันขอเป็นข้าพระต่อไป เพราะจากที่กล่าวมาเบื้องต้น ความเป็น ข้า ของพวกเขาหมายถึงการยกเว้นให้ไม่ต้องรับใช้ราชการบ้านเมือง หรือต้องเสียส่วยภาษี พวกเขามิใช่ทาสอย่างข้าจำพวกอื่น ๆ ที่ต้องทำงานรับใช้มูลนายตามแต่จะสั่ง หน้าที่อย่างเดียวที่ต้องทำคือปรนนิบัติพระธาตุ ซึ่งหน้าที่อันชอบธรรม มีศักดิ์และสิทธิสืบมาทางสายเลือด ตั้งแต่ครั้งที่แผ่นฟ้าหนังดินยังเป็นของล้านนา  เรื่องราวนี้ปรากฏในเอกสารสมัยรัชกาลที่ ๖ ศธ.๔๓/ ๑๔ รายงานตรวจราชการมณฑลพายัพของพระยาศึกษาสมบูรณ์ (วันที่ ๖ พฤษภาคม – ๒๘ สิงหาคม ๒๔๕๖)

“... วัดนี้มีข้าวัดราว ๗๐๐ คน สำหรับผลัดเปลี่ยนมาทำงาน ข้าวัดนี้ไม่ได้รับยกเว้นเงินค่าราชการ ที่ได้ยกเว้นก็มีการเกณฑ์จ้างบางคราว พระครูเจ้าคณะแขวงปรารภว่าอยากจะให้ได้ยกเว้น เกล้าฯ ได้ชี้แจงให้ท่านพูดแก่ฝ่ายบ้านเมือง ...”

ปัจจุบันนี้ ข้าพระธาตุเจ้าจอมทองมิได้ปรนนิบัติใกล้ชิดพระบรมสารีริกธาตุอย่างในอดีต หากหลอมรวมตนเข้ากับสังคมโลกอย่างกลมกลืน เพราะมีการยอมรับและเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกที่พวกเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เมื่อมีโอกาส พวกเขาก็จะกลับมาทำหน้าที่ถวายปรนนิบัติพระธาตุเจ้าจอมทองเป็นครั้งคราว และยังคงภูมิใจกับความเป็นข้าพระธาตุเจ้าจอมทอง ไม่เสื่อมคลาย

หน้าที่ 12/13

หนังสืออ้างอิง

โครงการวิจัยการปริวรรตและชำระจารึกล้านนา. “พย. ๔๘ จารึกวัดควาง พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒”.จารึกล้านนา ภาค เล่ม : จารึกจังหวัด  เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิ้ลยู ทอมป์สัน, ๒๕๓๔)

เจมส์ แมคคาร์ธี. ผู้เขียน. สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์. แปล. บุกเบิกสยาม การสำรวจของพระวิภาคภูวดล (กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊ค. ๒๕๖๑)

ชัปนะ ปิ่นเงิน.การปริวรรตและวิเคราะห์เนื้อหา กฎหมายมังรายศาสตร์ฉบับวัดแม่คือ (เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ๒๕๕๑)

ทวี สว่างปัญญางกูร. ตำนานเมืองยองภาคปริวรรต (เชียงใหม่ : ทรัพย์การพิมพ์, ๒๕๒๗)

นิธิ เอียวศรีวงศ์. บรรณาธิการ. สรัสวดี อ๋องสกุล. ปริวรรต ตรวจสอบและวิเคราะห์.ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่ : พื้นเมืองเชียงแสน (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่งจำกัด มหาชน, ๒๕๔๖)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “ตำนานเรื่องเลิกหวยแลบ่อนเบี้ยในกรุงสยาม”. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๗ (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. ๒๔๖๒)

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๗ หน้า ๑๓๗ ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ มิถุนายน รัตนสินทร ศก ๑๑๙.

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๘ หน้า ๗๖๔ ประกาศ ณ วันที่ ๕ มกราคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐.

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๙ หน้า ๕๖๖ ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๑.

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๘ หน้า ๔๓๑ ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ มกราคม ๑๓๐.

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๘ หน้า ๔๓๑ ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ มกราคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๐.

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๗ หน้าที่ ๑๒๒ ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๑ หน้า ๙ ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ มกราคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๓.

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๒ หน้า ๙ เดือนเมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔.

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๕๖๗ วันที่ ๘ กันยายน รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๖.

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๓๘ หน้า ๔๓๑ วันที่ ๒๘ มกราคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๐.

วินัย พงศ์ศรีเพียร. คลองตัดคำพระพุทธโฆษาจารย์ : บันทึกการตัดสินความของล้านนาโบราณ. (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. ๒๕๔๙)

สมหมาย เปรมจิตต์. ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับสอบชำระ (เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม โครงการวิจัยเอกสารตัวเขียนในล้านนา ๒๕๓๙)

สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา ฉบับสมบูรณ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. ๒๕๖๑)

สรัสวดี อ๋องสกุล. พินิจหลักฐานประวัติศาสตร์ล้านนา (เชียงใหม่ : ศูนย์ล้านนาศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.๒๕๕๙)

สิงฆะ วรรณสัย. ถอดความ. โคลงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่. พิมพ์เนื่องในงานฉลองอายุ ๗ รอบ ของ นางกิมฮ้อ นิมมาเหมินทร์ วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๒ (ม.ป.ป. : ม.ป.ท, ๒๕๒๒)

สุจิตต์ วงศ์เทศ. บรรณาธิการ. “ตำนานพระเจ้าตนหลวง”.เมืองพะเยา. (กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม. ๒๕๓๘)

สุจิตต์ วงษ์เทศ. บรรณาธิการ. ประชุมจารึกเมืองพะเยา (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน. ๒๕๓๘)

สุเทพ สุนทรเภสัช. มานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่๒ (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ. ๒๕๔๘)

คุรุสภา. องค์การค้า. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๑ พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน (พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา. ๒๕๑๒)

 

สืบค้นฐานข้อมูล Internet

เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕

https://vajirayana.org/ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔

https://www.facebook.com/watphrathatsrichomthong/posts/1105318639543208/

 

คำสำคัญ : ชนชั้นของข้า,ประวัติศาสตร์ล้านนาสยาม,กบฎเงี้ยวเมืองแพร่
ฉัตรลดา สินธุสอน
อีเมล์: [email protected]
หน้าที่ 13/13