ผู้เข้าชม
0

เด็กก้าวร้าว : สัญญาณปฏิวัติวัฒนธรรม?

ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นนักวิชาการทางสังคม ไม่เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์จะเป็นอุปสรรคของความเป็นประชาธิปไตยตามแนวคิดวิวัฒนาการทางสังคม หากมองในทางตรงข้ามว่า สถาบันกษัตริย์ยังมีหน้าที่ในทางคุณูปการแก่สังคมที่มีอยู่ในสยามประเทศตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมาช้านานแล้ว เพราะเป็นสถาบันที่จรรโลงทั้งสถาบันศาสนาและสถาบันครอบครัวและชุมชน อันเป็นสถาบันสากลในความเป็นมนุษย์
19 กันยายน 2563


เด็กก้าวร้าว

สัญญาณปฏิวัติวัฒนธรรม?

ศรีศักร  วัลลิโภดม

 

หน้าที่ 1/5


 

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้านที่เป็นนักการเมืองใหม่ในสังคมเพื่อล้มล้างรัฐบาลในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดยการปลุกระดมให้มีเด็กนักเรียนออกมาเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้คือ การเคลื่อนไหวในลักษณะการปฏิวัติวัฒนธรรมที่มีมาแต่ยุคสงครามเย็น

สมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยมก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ครั้งนั้น โลกแบ่งสังคมออกเป็นสองฝ่าย คือ ‘ฝ่ายที่มีการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยที่เป็นทุนนิยม’ กับ ‘ฝ่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย’ ที่คนไทยเรียกว่า ‘คอมมิวนิสต์’ เป็นสิ่งที่รัฐบาลและคนส่วนใหญ่ในประเทศมองว่าเป็นฝ่ายอธรรม ที่กำลังขยายตัวแผ่อำนาจเข้ามายึดครองบ้านเมือง เปลี่ยนแปลงการปกครอง ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม และชีวิตวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิมให้หมดไป

ครั้งนั้นข้าพเจ้าเป็นนักเรียน ข้าพเจ้าได้รับการอบรมบอกเล่าจากพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และผู้รู้ในสังคมว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นปลุกขึ้น สอนให้ผู้คนในสังคมโดยเฉพาะบรรดาเด็กนักเรียนที่เป็นเยาวชนเลิกเคารพพ่อแม่ว่าไม่ได้เป็นผู้มีพระคุณแต่อย่างใด เพราะการให้กำเนิดลูกเต้านั้นเป็นผลมาจากความสุขในทางเพศ ส่วนผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ก็เป็นเพียงแต่ผู้รับจ้างสอนหนังสือเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังและนบนอบ เด็กและผู้ใหญ่ทัดเทียมกันหมด ส่วนเรื่องศาสนาก็เป็นเรื่องงมงายไม่จำเป็นต้องมีวัดและมีพระหรือนักบวชเพื่อสั่งสอนศาสนาและทำพิธีกรรม

ในสมัยข้าพเจ้าเป็นเด็กนักเรียนการบอกเล่าและอบรมให้เด็กและคนตามท้องถิ่นต่างๆ ในชนบทหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ดูได้ผลดี เพราะคนที่เป็นชาวบ้านพื้นถิ่นมองคอมมิวนิสต์เหมือนภูตผีปีศาจ กลายเป็นความเชื่อที่อยู่สืบมาจนกระทั่งราว พ.ศ. ๒๕๐๙-๑๐ สมัยเมื่อข้าพเจ้าไปเก็บข้อมูลทางชาติวงศ์วรรณาในชุมชนหมู่บ้านที่จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อนำไปเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ทางมานุษยวิทยาสังคมเสนอต่อมหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลีย เพราะตามบ้านเรือนของชาวบ้านมักมีรูปภาพของหัวกะโหลกผีและรูปภูตผีปีศาจ มีเขาแบบผีฝรั่ง เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายแบบคอมมิวนิสต์


 

ความเชื่อดังกล่าวนี้มีผลถึงข้าพเจ้าที่เข้าไปศึกษาพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชน เพราะระยะแรกๆ ที่เข้าไปในฐานะคนแปลกหน้า ไม่ใช่คนในชุมชน ข้าพเจ้ามักถูกมองและสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ก็เป็นสายลับของทางราชการ

เพราะชาวบ้านนอกจากไม่ชอบคอมมิวนิสต์แล้วยังไม่ชอบคนที่เป็นข้าราชการด้วย ข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เป็นบุคคลไม่น่าไว้ใจรวม ๔-๕ เดือน แต่เมื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมได้เป็นที่วางใจแล้ว ราว ๖ เดือนต่อมา ชาวบ้านก็ยอมรับและมักเรียกข้าพเจ้าเป็นญาติพี่น้องเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในชุมชน  แต่ในขณะที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษานานาชาติ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเวียดนามรวมอยู่ด้วย ข้าพเจ้าและนักศึกษาที่เป็นคนไทยมักถูกมองจากบรรดานักศึกษาจากประเทศอื่นว่ามาจากประเทศที่เป็นขี้ข้ารับใช้อเมริกันในการทำสงครามกับเวียดนาม มักถูกมองด้วยสายตาที่เย้ยหยัน เลยพยายามหาทางทำความเข้าใจว่าทำไมนักศึกษาต่างชาติเหล่านั้นไม่ชอบคนไทย จนได้บทเรียนจนหายโง่เมื่อพบปะสนิทสนมกับนักศึกษาเวียดนามใต้คนหนึ่งและถามเขาว่าทำไมมีใจให้กับเวียดนามเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์ เขาบอกว่าเขาเป็นคนชาติเวียดนาม เช่นเดียวกันทั้งเหนือและใต้ แต่อเมริกันคือผู้รุกรานและใช้เมืองไทยเป็นฐานทัพ ส่งเครื่องบินและกำลังรบไปทำลายบ้านเมืองเขา คนเวียดนามผู้เป็นพี่น้องร่วมชาติภูมิล้มตายเป็นล้านๆ คน บ้านเมืองพินาศวอดวายอย่างทนโท่ ไม่น่าจะต้องมาวุ่นวายกับการเป็นคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตยที่ทั้งคนไทยและอเมริกัน

ถือว่าเป็นความสำคัญ ข้าพเจ้าเห็นใจและเข้าใจในความรู้สึกของนักศึกษาคนนั้น และกลับทุเรศในความเป็นคนไทยที่บ้าบอกับลัทธิความเป็นคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย

เมื่อได้เรียนรู้วิชามานุษยวิทยาสังคมและมีโอกาสออกไปศึกษาความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนตามท้องถิ่นต่างๆ ข้าพเจ้าก็สามารถทำความเข้าใจได้ว่า ความเป็นระบอบการเมืองที่เรียกว่าประชาธิปไตยเป็นอุดมคติของทั้งสองค่าย แต่ต่างกันทางรูปแบบ

หน้าที่ 2/5


 

ทางค่ายคอมมิวนิสต์คือสังคมนิยมประชาธิปไตย ในขณะที่ทางค่ายประชาธิปไตยคือทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยที่เน้นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการลงทุนทางเศรษฐกิจ ส่วนทางด้านคอมมิวนิสต์เน้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องของส่วนรวมหรือกลุ่มทางสังคมเป็นสำคัญ โดยใช้ฐานทางสังคมที่เรียกว่า คอมมูน เป็นเป้าหมายของการอยู่ร่วมกัน

คอมมูนเป็นโครงสร้างและองค์กรที่มีรากเหง้ามาจาก Community หรือชุมชนอันเป็นองค์สังคมธรรมชาติ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีโครงสร้างและระเบียบแบบแผนจึงจะมีชีวิตรอดร่วมกันได้ การเกิดของชุมชนตั้งอยู่บนฐานของการเข้ามารวมกันของครอบครัวและเครือญาติ [Family และ Kinship] ซึ่งนับเนื่องเป็นสถาบันสากลของความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์ไม่ใช่สัตว์โลกที่เป็นเดรัจฉานที่ช่วยตัวเองได้และแยกตัวออกไปอยู่ตามลำพัง

หลายครอบครัวและเครือญาติที่แตกต่างกันในทางสายเลือดและชาติพันธุ์มารวมกันเป็นชุมชนในพื้นที่ซึ่งเป็นแผ่นดินเกิดเดียวกัน และมีการเติบโตตั้งขึ้นจากชุมชนหมู่บ้าน [Village] มาเป็นเมือง นคร และรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องมีผู้นำผู้ปกครองและองค์กรทางรัฐศาสตร์และการบริหารทำหน้าที่ในการปกครอง ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากกษัตริย์ จนถึงประธานาธิบดีหรือผู้นำของรัฐในรูปแบบต่างๆ

ทั้งหมดนี้นับเนื่องเป็นมิติทางสังคมที่มีอยู่ควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรม [Culture] เพื่อมีชีวิตรอดร่วมกันที่มีศาสนาเป็นสถาบันสากล [Universal institution] ที่ขาดไม่ได้ในความเป็นมนุษย์ควบคู่ไปกับสถาบันทางสังคม อันได้แก่ ครอบครัวและชุมชน

ในยุคสงครามเย็นทั้งด้านทุนนิยมเสรีและสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ต่างก็ต้องมีการพัฒนาสังคม บ้านเมืองเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยมีการสร้างแผนพัฒนาสังคมเศรษฐกิจเป็นฐานในการพัฒนาที่มีความแตกต่างกัน ทางฝ่ายทุนนิยมเสรีเน้นการพัฒนา หรืออีกนัยหนึ่งการเปลี่ยนแปลงในลักษณะปฏิรูปที่มีการวางแผนแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่หักโหม เพราะเกรงว่าคนในสังคมที่มีหลากหลายระดับจะปรับตัวไม่ได้เท่ากัน เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้ง


 

ในขณะที่ทางค่ายคอมมิวนิสต์สร้างแผนพัฒนาแบบบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยอำนาจของรัฐ ในลักษณะที่เป็นการปฏิวัติ [Revolution] เพื่อให้ประสบผลสำเร็จโดยรวดเร็ว ทำให้ลักษณะการปกครองเป็นแบบเผด็จการ เกิดการฆ่าฟัน บรรดาเศรษฐี นายทุน ขุนนาง ข้าราชการ และกษัตริย์ที่เคยมีมาแต่อดีต

การปฏิวัติดังกล่าวนี้มีลักษณะองค์รวมที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งสถาบันทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจที่เรียกรวมๆ ว่าการปฏิวัติวัฒนธรรม หัวใจของการปฏิวัติดังกล่าวนี้อยู่ที่คนรุ่นใหม่ [Young generation] ลึกๆ ลงไปในสาเหตุของการปฏิวัติวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ เนื่องมาจากความยากจน [Poverty] และความอดอยาก [Hunger] ผู้คนในระดับต่างๆ ทางสังคมได้รับจากการเอารัดเอาเปรียบจากบรรดาผู้มีอำนาจและนายทุนของบ้านเมืองในระบบการปกครองที่มีมาแต่เดิม จึงสรรหาวิธีการใหม่ๆ ที่เป็นการปฏิวัติล้มล้างลัทธินายทุน และระบบการปกครองที่มีมาแต่เดิมที่ไม่สามารถทำให้คนจนในระดับล่างอยู่ดีกินดีได้

เพราะฉะนั้นเพื่อสร้างสังคมใหม่ให้ได้ผลดี ก็ต้องสร้างพลังอำนาจใหม่ให้เกิดขึ้น คือจากคนรุ่นใหม่ โดยทำลายสิ่งที่เป็นสถาบันในความเป็นมนุษย์ เช่น สถาบันครอบครัว ชุมชน และการแต่งงาน ซึ่งนับเนื่องในมิติทางสังคม กับสถาบันทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งคือศาสนา รวมทั้งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นจากความมั่งคั่งและเป็นอารยธรรมที่มีมาแต่อดีต

สังคมมนุษย์ที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตที่กล่าวถึงในบทความนี้ก็คือ อิสราเอลและจีนคอมมิวนิสต์อิสราเอล สร้างโรงเลี้ยงเด็กเป็นคอมมูนในนามของ คิบบุทซ์ เอง เด็กแยกออกจากพ่อแม่มาเลี้ยงให้การศึกษาอบรมให้กลายเป็นเด็กและคนของรัฐโดยไม่ต้องมีพ่อแม่ เช่นเดียวกันกับจีนคอมมิวนิสต์สมัยเหมาเจอตุงเป็นผู้นำ จีนสร้างโรงเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นกำลังของรัฐและภักดีต่อประธานเหมา อันเป็นผู้นำสูงสุดที่ใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมของบ้านเมืองในนามของ เรดการ์ด ที่เติบโตอย่างทำให้เยาวชนและองค์กรเยาวชนมีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของบ้านเมือง รวมทั้งก่อความรุนแรงไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายขนบประเพณีของบ้านเมือง เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลต้องจัดระเบียบบ้านเมืองใหม่ และสมัยต่อมาเมื่อเติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำก็ได้ปราบปรามลดอำนาจของพวกเยาวชนเรดการ์ดให้หมดไป

หน้าที่ 3/5

 

แต่การปลุกปั่นเด็กเยาวชนให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองตามที่กล่าวมานี้ก็หาได้หมดไปไม่ ดูเหมือนจะไปเกิดขึ้นที่กัมพูชายุคเขมรแดง สมัยพล พต เป็นผู้นำ การดำเนินงานของเด็กเยาวชนที่มีอำนาจ ได้ทำให้เกิดการฆ่ากันอย่างมโหฬาร [Killing Field] นับล้านคนในสังคมกัมพูชาก่อนที่พล พตจะสิ้นอำนาจ ถึงแม้ในทุกวันนี้การใช้เด็กเยาวชนเป็นเครื่องมือเพื่อการปฏิวัติและกระทำการรุนแรงก็ยังหาได้หมดไปไม่ เพราะได้ยินมาว่า การเกิดความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดภาคใต้ก็มีการใช้เด็กและผู้หญิงเป็นกำลังในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน

จนมาในทุกวันนี้การปลุกปั่นเด็กและเยาวชนเพื่อการปฏิวัติ โผล่ให้เห็นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง เริ่มด้วยการแสดงออกของเยาวชน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนหญิงในชั้นมัธยมออกมาด่าว่าพ่อแม่ ครูบาอาจารย์และผู้ใหญ่ เช่นพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีพระคุณ เพราะเด็กเกิดมาอันเนื่องมาจากการเสพย์ต่อทางเพศ ส่วนครูบาอาจารย์ก็เป็นเพียงคนรับจ้างสอนหนังสือเพื่อเลี้ยงชีพ  คนเหล่านี้ไม่ทันโลก เป็นพวกเต่าล้านปีไดโนเสาร์อะไรทำนองนั้น


 

แต่สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าแปลกใจก็คือ วิธีการใช้เด็กเยาวชนเป็นเครื่องมือในการปฏิวัตินั้นหาได้เป็นความคิดมาจากสังคมที่เป็นคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม เช่น จีน รัสเซีย และอิสราเอล ที่เลิกไปนานแล้ว เพราะตระหนักดีว่าการใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการปฏิวัตินั้นใช้ในยุคที่สังคมวิกฤตที่ต้องต่อสู้เท่านั้น เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติแล้วทุกอย่างในความเป็นมนุษย์ก็กลับมา ดังเช่นที่อิสราเอลและจีนไม่มีใครปล่อยให้ลูกอยู่ในคิบบุทช์  และโรงเลี้ยงเด็กอีกต่อไป

ความเป็นสถาบันครองครัวก็กลับมา เมื่อความคิดที่สอนให้เด็กอกตัญญูกับพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หาได้มาจากสังคมฝ่ายสังคมนิยมแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นว่ามีที่มาจากสังคมเสรีประชาธิปไตยที่เป็นทุนนิยมสามานย์ เช่น อเมริกาอย่างแน่นอน เพราะมหาวิทยาลัยสำคัญๆ ในอเมริกามักสอนให้บรรดาสักศึกษาไทยที่จบการศึกษามาเป็นข้าราชการ ครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยว่า

‘ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่สุดที่มีการปกครองแบบประธานาธิบดีนั้น ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เพราะมีสถาบันกษัตริย์เป็นอุปสรรคในขั้นตอนวิวัฒนาการของประชาธิปไตยแบบอเมริกัน’

ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นนักวิชาการทางสังคมที่ไม่ได้เรียนจบจากอเมริกา ไม่เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์จะเป็นอุปสรรคของความเป็นประชาธิปไตยตามแนวคิดวิวัฒนาการทางสังคม หากมองในทางตรงข้ามว่าสถาบันกษัตริย์ยังมีหน้าที่ [Function] ในทางคุณูปการแก่สังคมที่มีอยู่ในสยามประเทศตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมาช้านานแล้ว

เพราะเป็นสถาบันที่จรรโลงทั้งสถาบันศาสนา [Religion]  และสถาบันครอบครัว [Family] และชุมชน [Community] อันเป็นสถาบันสากลในความเป็นมนุษย์ โดยหน้าที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกปกครองดูแลพระสงฆ์และวัด อันเป็นศูนย์กลางสังคมของครอบครัวและชุมชน ดังเห็นได้แต่อดีตมาจนปัจจุบัน วัดและบ้านหรือชุมชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การสร้างวัดคือการสร้างชุมชน เช่นในยามที่มีผู้คนโยกย้ายเข้ามาจากภายนอกเข้ามาเป็นคนในแผ่นดินก็มี หรือเมื่อมีการทำศึกสงครามกับประเทศอื่น เมืองอื่น การกวาดต้อนผู้คนเข้ามาก็นำเอามาเป็นพลเมืองโดยพระมหากษัตริย์ก็ไม่ฆ่าตี หรือเอามารับใช้เป็นทาสแบบอย่างที่มีในบ้านอื่นเมืองอื่นในยุโรปหรืออเมริกา หากจะให้เข้ามาอยู่รวมกันในท้องถิ่นเป็นชุมชนด้วยการที่พระมหากษัตริย์ทรงกัลปนาที่ดินสร้างวัดแล้วกัลปนาผู้คนที่มาจากภายนอกให้เป็นข้าวัด ตั้งบ้านเรือนและทำกินในที่ดินของวัด และดูแลรักษาวัดให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนและครอบครัว เพื่อคนจะได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนทางสังคม ที่กลายมาเป็นคนไทยตามท้องถิ่นในเวลาผ่านไป

 

หน้าที่ 4/5


 

สังคมไทยอยู่กันอย่างนี้เป็นบ้านเป็นเมือง เป็นรัฐมาแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในดินแดนที่เรียกว่า สยามประเทศ โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชู ร่วมกันกับชุมชนในศาสนาอื่นๆ ไม่มีความเดียดฉันท์ แม้ในปัจจุบันสังคมบ้านเมืองก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทุกแห่งทุกภาคของประเทศก็ยังคงเป็นสังคมที่มีบ้านและวัดอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตวัฒนธรรมที่ไม่ผิดแผกไปจากเดิม โดยไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นประเทศประชาธิปไตยแบบมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของสาธารณรัฐ เช่น อเมริกาแต่อย่างใด

ในทุกวันนี้ทุกแห่งทุกภูมิภาคของประเทศก็ยังอยู่กินอย่างเป็นชุมชนที่มีวัดเป็นศูนย์กลางที่มีมาแต่อดีต ล้วนเป็นชุมชนที่ไม่ขาดแคลนในเรื่องอาหารการกิน เพราะเป็นชุมชนเกษตรกรรมแบบพอเพียงตามโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ข้าพเจ้าผ่านไปมาแทบทุกภูมิภาคก็แลไม่เห็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองเพื่อล้มล้างความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด ต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ และผู้มีบุญคุณต่อแผ่นดินอย่างที่มีอยู่ในภาพข่าวทางทีวีหรือจากทางสื่อต่างๆ ที่ทำให้ดูเหมือนเมืองไทยกำลังเดือดร้อนภายใต้การปกครองของทรราชผู้กดขี่อะไรทำนองนั้น

ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็แลเห็นความร่วมมือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนในชุมชนที่ถูกคุกคามโดยโรคระบาดร้ายโควิด ๑๙ ที่ทำให้มีคนติดเชื้อและตายกันทั้งโลก เมืองไทยแต่อดีตจนปัจจุบันไม่มีใครอดอยาก ขาดแคลนอาหารการกิน ไม่มีทางที่จะเกิดความวุ่นวาย ฆ่าฟันกันอย่างประเทศอื่นๆ ในโลกที่มีการปฏิวัติทางสังคม เศรษฐกิจอย่างรุนแรง ดังเช่นในสังคมคอมมิวนิสต์หรือเป็นแบบในสังคมกัมพูชา เขมรแดงสมัยพล พต ทั้งๆ ที่บ้านเมืองก็เป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ เช่นเมืองไทย

ข้าพเจ้ายังอดคิดไม่ได้ว่า การปฏิวัติ ฆ่าฟันกันอย่างเป็นสงครามภายใน เช่น กัมพูชาสมัยพล พต นั้น หาใช่มาจากความหิวโหยในเรื่องอาหารการกินและนำไปสู่ความโกรธ ความเกลียด ที่นำไปสู่การล้มล้างเผ่าพันธุ์  หากมาจากลัทธิการเมืองการปกครองที่มาจากความต้องการอำนาจ ความโลภละโมบในทางวัตถุที่ทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียดและสุดท้ายก็ฆ่าฟันกันอย่างสิ้นความเป็นมนุษย์

และในสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าก็มองโลกในทางที่ดีว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องของเด็กและเยาวชนก้าวร้าวด้วยความคิดที่ผิดความเป็นมนุษย์นั้นเป็นเพียงแค่ ‘แฟลชไลท์’ วูบวาบอยู่พักหนึ่งเท่านั้น ที่มีที่มาจากการยุยงจากมหาอำนาจตะวันตกเสรีประชาธิปไตยที่ใกล้จะถูกทำลายโดยโควิด ๑๙ สัตว์ตัวเล็กที่สุดในจักรวาล

คำสำคัญ : ปฏิวัติวัฒนธรรม,สถาบันกษัตริย์,คนรุ่นใหม่,ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน,โรงเลี้ยงเด็ก
ศรีศักร วัลลิโภดม
อีเมล์: [email protected]
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมและสังคม ผู้สนใจศึกษางานทางโบราณคดีมาแต่วัยเยาว์จนปัจจุบัน ปรากฎผลงานเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
หน้าที่ 5/5