ผู้เข้าชม
0

‘ภาพเขียนสีถ้ำเขาปลาร้า’ พิธีกรรมใต้ชะง่อนเพิงผาหินกับการสยบต่ออำนาจพลังเหนือธรรมชาติที่สัมพันธ์กับพัฒนาการทางสังคม

การขึ้น 'เขาปลาร้า' สำรวจภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อนำมาเสนอในวารสารเมืองโบราณ โดย วิยะดา ทองมิตร กับบังอร กรโกวิท การสำรวจในครั้งนั้น เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น เพื่อบันทึกสภาพของแหล่งและลักษณะของภาพเขียนสีที่พบ ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของอุทัยธานี และทำให้ภาพเขียนสีจากแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ภาคตะวันตกของสยามเทศะได้เป็นที่รู้จักของคนทั่
26 พฤศจิกายน 2567


‘ภาพเขียนสีถ้ำเขาปลาร้า’ พิธีกรรมใต้ชะง่อนเพิงผาหิน

กับการสยบต่ออำนาจพลังเหนือธรรมชาติที่สัมพันธ์กับพัฒนาการทางสังคม

 

พรเทพ เฮง

หน้าที่ 1/12

การขึ้น 'เขาปลาร้า' สำรวจภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อนำมาเสนอในวารสารเมืองโบราณ โดย วิยะดา ทองมิตร กับบังอร กรโกวิท การสำรวจในครั้งนั้น เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น เพื่อบันทึกสภาพของแหล่งและลักษณะของภาพเขียนสีที่พบ ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของอุทัยธานี และทำให้ภาพเขียนสีจากแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ภาคตะวันตกของสยามเทศะได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

เขาภูปลาร้า (เขาปลาร้า) แหล่งภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ที่มนุษย์เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐–๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว เขียนภาพเขียนสีที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตมนุษย์ในชุมชนบริเวณภูปลาร้าได้เป็นอย่างดี ว่ามีลักษณะชุมชนในสังคมเกษตรกรรมที่มีแบบแผนและพิธีกรรม ภาพที่พบได้แก่ ภาพสัตว์เลี้ยง ภาพคนจูงวัว ภาพขบวนแห่ เป็นต้น 

เขาปลาร้า ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งนางาม อำเภอลานสัก เดินทางจากอำเภอหนองฉาง ไปตามเส้นทางสายหนองฉาง-ลานสัก ประมาณ ๒๑.๕ กิโลเมตร จะแลเห็นเทือกเขาปลาร้าทางด้านซ้ายมือ ซึ่งต้องแยกซ้ายเข้าไปตามทางลาดยางอีกประมาณ ๗.๕ กิโลเมตร เดินเท้าปีนเขาอีกประมาณ ๒ ชั่วโมง จึงจะถึงบริเวณยอดเขา ลักษณะทั่วไปเขาปลาร้า ยังมีสภาพป่าบนเขาค่อนข้างสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำธรรมชาติบนเขา และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด

จากเส้นทางขึ้นสู่ยอดเขาจะแลเห็นภูมิประเทศที่สวยงาม และที่สำคัญที่สุดบริเวณเพิงผาถ้ำทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเขาปลาร้า ระดับความสูงประมาณ ๓๒๐ เมตร มีภาพเขียนสีผนังถ้ำตลอดแนวยาว ประมาณ ๙ เมตร ซึ่งเป็นภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่ยังคงความสมบูรณ์สวยงาม แสดงให้เห็นถึงชีวิตสังคมของคนในยุคโบราณเหล่านั้น โดยภาพเขียนเป็นรูปคนและสัตว์เลี้ยงประมาณ ๔๐ ภาพ เขียนด้วยสีแดงและดำนับเป็นบริเวณที่น่าสนใจที่สุดของเขาปลาร้า

ภาพเขียนสีบนเพิงผายังคงอยู่ในสภาพดี มีพื้นที่โบราณสถาน ๑๓,๒๔๗ ไร่ ๓ งาน ๔๖ ตารางวา ลักษณะรูปแบบศิลปกรรมเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๐ง วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ เขาหินปูนที่มีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์นี้ ถือเป็นภูเขาลูกใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านภูผา เป็นเหมือนเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างหมู่บ้านห้วยโศก อำเภอลานสัก กับตำบลเขาบางแกรก อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี

ภูเขาหินปูนทางทิศตะวันตกของอำเภอหนองฉาง ทอดตัวยาวตามแนวเหนือ-ใต้ จากเส้นทางขึ้นสู่ยอดเขาจะแลเห็นภูมิประเทศที่สวยงาม และที่สำคัญที่สุดบริเวณเพิงผาถ้ำทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเขาปลาร้า บริเวณถ้ำประทุน ซึ่งพบภาพเขียนสีบนผนังเพิงผาบนเขาปลาร้า อยู่ทางด้านตะวันตกของภูเขา จึงอยู่ในเขตอำเภอลานสัก เป็นภูเขาที่สูงชันมาก ลักษณะของถ้ำประทุน บนเขาปลาร้า อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๔๘๐ เมตร หรือสูงจากพื้นล่าง ๓๙๕ เมตร เป็นถ้ำที่สูงสุดของเขาปลาร้า หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เพิงผาที่มีภาพเขียนสีเป็นแนวผนังยาวประมาณ ๓๘ เมตร เป็นเพิงผาที่ลาดเอียงประมาณ ๘๐ องศา ภาพที่ต่ำสุดสูงจากพื้นประมาณ ๔ เมตร และอยู่สูงสุดประมาณ ๙ เมตร

แรกเริ่มของการค้นพบภาพเขียนสี บุคคลที่พบภาพเขียนสีนี้เป็นคนแรกและเป็นผู้นำทางขึ้นไป คือ นายพรานชื่อ ทำ อินทประเทศ อายุ ๔๖ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๒๘ หมู่ ๑๒ ตำบลทุ่งโพ อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ปกตินายทำมีอาชีพทำไร่และล่าสัตว์บ้างเป็นครั้งคราว 
 


เพิงผาเขาภูปลาร้า หรือ เขาปลาร้า
ที่มา: กรมศิลปากร-เขาภูปลาร้า

 

หน้าที่ 2/12

สาเหตุที่พบเนื่องจากไปล่าสัตว์บนเขาภูปลาร้า เผอิญฝนตกจึงหนีเข้าไปหลบฝนในเพิงผา เมื่อแหงนหน้าขึ้นไปก็พบกับภาพเขียนสีบนผนังเพิงหินของถ้ำประทุน บนเขาปลาร้า แล้วแพร่กระจายข่าวกันออกไป จนกระทั่งคุณพลาดิสัย สิทธิธัญกิจ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของจังหวัดอุทัยธานี และคุณวิทยา อินทโกศัย นักโบราณคดีจากกรมศิลปากร ได้ขึ้นไปสำรวจและนำมาพิมพ์เผยแพร่

หลักฐานทางโบราณคดีภายในถ้ำ พบขวานหินขัด ๒ ชิ้น และเศษภาชนะดินเผาจำนวนหนึ่ง ภาพเขียนสีที่ปรากฏมีประมาณ ๔๐ ภาพ เป็นภาพคนและภาพสัตว์ วางภาพตามแนวเฉียงจากซ้ายไล่สูงเรื่อยขึ้นไป ภาพทั้งหมดเขียนด้วยสีแดง และสีแดงเข้ม มีการเขียนภาพซ้อนทับกันบางตำแหน่ง และยังเห็นลายเส้นที่ร่างภาพขึ้นก่อนด้วยสีดำ 
 


ภาพเขียนสีแดง และยังเห็นลายเส้นที่ร่างภาพขึ้นก่อนด้วยสีดำ 
ที่มา: กรมศิลปากร-ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม

 

ลักษณะของภาพ เขียนลงสีในแบบต่างๆ หลายแบบ ส่วนมากเขียนแบบเงาทึบ (silhouette) แบบเงาทึบบางส่วน (partial silhouette) แบบโครงร่างภายนอก (outline) และแบบกิ่งไม้ (stick man) 

ภาพคนและสัตว์ที่เขาปลาร้านี้เขียนได้เหมือนจริง และใกล้เคียงกับธรรมชาติมาก เขียนง่ายๆ แต่ได้สัดส่วน แสดงถึงความเข้าใจในรูปร่างสรีระ ดังภาพคนที่เขียนให้เห็นกล้ามเนื้อน่องที่โป่งพอง หรือแสดงเพศผู้หญิงด้วยหน้าอก เมื่อหันด้านข้าง แสดงนิ้วมือนิ้วเท้าด้วย และมีการเสนอมิติของภาพด้วยขนาดเล็กใหญ่ แสดงความใกล้ไกลและการจัดระดับของภาพ รวมทั้งแสดงการเคลื่อนไหวของคน ด้วยการเขียนภาพด้านข้าง (profile) และภาพบิดมุมมอง (twisted perspective) ด้วยการเขียนภาพส่วนบนของลำตัวด้านตรง แต่ส่วนล่างหันด้านข้าง ซึ่งใบหน้าอาจหันด้านข้างด้วย (Cestosomatic)

แหล่งภาพเขียนสีที่เขาปลาร้านี้ นับเป็นแหล่งที่มีภาพเขียนสีปรากฏชัดเจน มองเห็นได้ชัดและสวยงามมากแหล่งหนึ่ง ภาพทั้งหมดที่เขียนไว้น่าจะเป็นการวาดขึ้นเนื่องในพิธีกรรม ความเชื่ออันมีมาอย่างต่อเนื่องของกลุ่มคนที่มีความเชื่อร่วมกันมาใช้สถานที่นั้น ภาพที่ปรากฏจึงน่าเป็นเรื่องราวของขบวนแห่ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนที่ทำการเกษตรกรรม โดยใช้การสื่อความหมายด้วยภาพคนและสัตว์ ที่ประดับตกแต่งร่างกายและศีรษะ แสดงอาการเคลื่อนไหวคล้ายเต้นรำ 

ภาพสัตว์ต่างชนิดกันที่น่าจะมีความหมายเป็นตัวแทนของสิ่งที่พวกตนนับถือ หรือภาพคนคล้ายลิงหรือมีท่าทางเลียนแบบสัตว์ หรือแต่งกายคล้ายสัตว์ ซึ่งล้วนแต่มีความหมายถึงการเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของความเชื่อในสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติแห่งความอุดมสมบูรณ์ ภาพต่างๆ เหล่านั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเป็นเรื่องราวบอกเล่าเรื่องเดียวกัน แต่อาจจะไม่ได้เขียนขึ้นคราวเดียวกัน เพราะมีการเขียนซ้อนทับกัน และลักษณะของภาพก็แตกต่างกันด้วย อย่างไรก็ตามภาพเหล่านั้นก็คงจะถูกเขียนขึ้นตามความเชื่อและยังคงมีพิธีกรรมสืบต่อเนื่องกันมาระยะเวลาหนึ่ง ประกอบกับหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ที่พบในบริเวณใกล้เคียงในเขตจังหวัดอุทัยธานี เขาปลาร้านี้มีชุมชนที่ทำการกสิกรรม แล้วมาใช้ประโยชน์ถ้ำนี้เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน

นักโบราณคดีได้แบ่งกลุ่มภาพเขียนบนเขาปลาร้าไว้ ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ กลุ่มภาพที่มีคนท่ามกลางสัตว์เลี้ยง (คาดว่าเป็นสุนัข) กลุ่มที่ ๒ กลุ่มภาพที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับวัว มีการเล่าถึงการไปจับวัวป่าแล้วนำกลับมาเลี้ยง กลุ่มที่ ๓ กลุ่มภาพที่แสดงถึงการประกอบพิธีกรรม ซึ่งคนที่อยู่ในภาพมีเครื่องประดับแตกต่างจากคนทั่วไป และสัตว์ที่อยู่ในภาพมีลักษณะคล้ายลิงอยู่ด้วย และสุดท้ายกลุ่มที่ ๔ เป็นกลุ่มภาพเบ็ดเตล็ดซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพสัตว์

หน้าที่ 3/12

วิวัฒนาการของการทอผ้าในประเทศไทย ได้อ้างอิงถึงภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ เช่น ที่เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี ว่ามีรูปมนุษย์โบราณกับสัตว์เลี้ยง เช่น ควายและสุนัข แสดงว่า มนุษย์ยุคนั้นรู้จักเลี้ยงสัตว์แล้ว ลักษณะการแต่งกายของมนุษย์ยุคนั้น ดูคล้ายกับจะเปลือยท่อนบน ส่วนท่อนล่างสันนิษฐานว่า จะใช้หนังสัตว์ หรือผ้าหยาบๆ ร้อยเชือกผูกไว้รอบๆ สะโพก บนศีรษะประดับด้วยขนนก

ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ คณะสำรวจจากงานวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ร่วมด้วยภัณฑารักษ์จากกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้มาสำรวจเก็บข้อมูล และบันทึกภาพแหล่งศิลปะถ้ำเขาปลาร้าแห่งนี้ ข้อมูลเหล่านี้ได้ใช้เป็นบรรทัดฐานในการศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งศิลปะถ้ำอื่น ๆ และการวิเคราะห์ตีความเรื่องราวของสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของอุทัยธานี ซึ่งตีพิมพ์เป็นบทความทางวิชาการหลายชิ้น

โดยจัดให้เป็นศิลปะเพื่อพิธีกรรม และได้แบ่งภาพลงสีออกย่อยเป็น ๑๔ กลุ่ม เพื่อสะดวกแก่การอธิบายถึงการแสดงออกที่มีลักษณะร่วมกัน คือเป็นภาพที่แสดงลักษณะการเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่อยู่ในท่ากระโดดโลดเต้นและร่ายรำ รูปคนและสัตว์ เน้นถึงการตกแต่งร่างกาย อันเป็นเครื่องหมายของการเข้าร่วมพิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง

เมื่อพิจารณาภาพทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง จะมองดูคล้ายริ้วขบวนแห่ มีการเริงระบำกับแสดงกิจกรรมของแต่ละกลุ่มเรียงไล่กันลงมา ขนาดของคนในขบวนไม่เพียงแต่เน้นความสำคัญของแต่ละบุคคลที่ต่างกันแล้ว แต่ยังให้เกิดมิติ คือเป็นระยะใกล้ไกลของภาพอีกด้วย

รูปลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในภาพสัมพันธ์กัน เมื่อประกอบกับรายละเอียดต่างๆ ที่เจตนาแสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นคนตัวใหญ่เดินนำหน้าถือธัญพืชอย่างหนึ่ง มีผู้หญิงตั้งครรภ์ร่ายรำอยู่ด้วยกัน พร้อมด้วยสุนัขซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงและสัญญาณอย่างหนึ่งของการตั้งถิ่นฐานถาวรแบบสังคมเกษตรกรรม ภาพคนกับวัวที่แสดงความสัมพันธ์กัน ตั้งแต่คนจูงวัว คนไถนา มีขบวนแหนแห่เริงระบำประกอบตลอดจนท่าเต้นที่เลียนแบบลีลาสัตว์ การต่อสู้กับกระทิงเหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนถึงภาพพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ (fertility rite) เป็นสำคัญ

เข้าใจว่ามีพิธีกรรมเพื่อการเกษตรกรรมเป็นหลักคล้ายๆ พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญพืชมงคล ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญของชุมชนเกษตรกรรมในสมัยประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

อย่างไรก็ดี ภาพการต่อสู้วัวกระทิงก็เน้นให้เห็นว่า ชุมชนเจ้าของศิลปะถ้ำที่เขาปลาร้ายังคงมีการเข้าป่าล่าสัตว์อยู่ด้วย จากเรื่องราวที่ปรากฏในศิลปะถ้ำ ประกอบกับโบราณวัตถุที่พบในบริเวณนี้ เปรียบเทียบกับหลักฐานทางโบราณคดีในแหล่งใกล้เคียงและแหล่งอื่นๆ ที่ได้กำหนดอายุไว้ จึงสันนิษฐานว่า ศิลปะถ้ำเขาปลาร้า เป็นการรังสรรค์ศิลปะของกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อ ๕,๐๐๐ ถึง ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๑ กรมศิลปากรเคยมาทำการขุดค้นที่เขานาค ตำบลเขาขี้ฝอย อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี และจากการขุดค้นในครั้งนั้นได้พบหลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีหลายอย่าง เช่น โครงกระดูกมนุษย์ เศษเครื่องปั้นดินเผา ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว กำไลหิน กำไลสำริด แวดินเผา ลูกกระสุนดินเผา เศษเครื่องประดับสำริด เปลือกหอยกาบ กระดูกและเขาสัตว์ ฯลฯ
 


ภาพเขียนสีมนุษย์ สันนิษฐานว่าใช้หนังสัตว์ ผ้าหรือเชือกผูกไว้รอบสะโพก

 

หน้าที่ 4/12

เมื่อมีการค้นพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่ภูเขาปลาร้า จึงทำให้คิดไปได้ว่าภาพเขียนที่ภูเขาปลาร้า และแหล่งโบราณคดีที่เขานาคนั้น น่าจะมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างใดอย่างหนึ่ง บางทีผู้ที่วาดภาพเขียนสีบนภูเขาปลาร้านั้น อาจจะไม่ใช่คนอื่นไกลที่ไหน อาจจะเป็นมนุษย์ที่อาศัยอยู่ที่เขานาคก็ได้ และนอกจากนี้น่าจะได้มีการศึกษาค้นคว้าว่าภาพเขียนสีที่ภูเขาปลาร้านี้ จะมีส่วนสัมพันธ์ คล้ายคลึงหรือแตกต่างไปจากภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำรูปเขาเขียว ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับเขตแดนทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุทัยธานี 
 


ภาพเขียนสีที่ ‘ผาแต้ม’ เขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ที่มา: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

ในการศึกษาภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เชิงมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปฏิกิริยาที่มีต่อสัมพันธสารหรือวาทกรรมที่ขึ้นอยู่กับสิ่งตรงกันข้ามระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ ตามที่มนุษย์ได้อยู่อาศัยในสภาวะธรรมชาติ นักมานุษยวิทยาได้โต้เถียงว่า วัฒนธรรม คือธรรมชาติของมนุษย์ และผู้คนทั้งหลายมีความสามารถที่จะจำแนกประสบการณ์ ถอดรหัสการจำแนกในเชิงสัญลักษณ์ และสอนความเป็นนามธรรมนั้นให้แก่ผู้อื่น โดยที่มนุษย์ได้วัฒนธรรมมาด้วยการเรียนรู้ในกระบวนการของการทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมและการสัมพันธ์กันในสังคม

เมื่อผู้คนอยู่อาศัยในที่แตกต่างกัน แตกต่างด้วยสิ่งล้อมรอบ จึงอาจทำให้มีการพัฒนาวัฒนธรรมออกมาต่างกัน นักมานุษยวิทยายังได้ชี้ประเด็นว่า ด้วยวัฒนธรรมนั่นเองที่ทำให้ผู้คนสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้สืบมาทางพันธุกรรม 

สำหรับภาพเขียนสีที่โดดเด่นที่แสดงความซับซ้อนของภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เลือกมาเป็นตัวอย่างในบทความ ‘ศาสนาของคนก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย’ คือ ภาพเขียนสีบนเพิงผา ‘เขาปลาร้า’ เขตอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ภาพเขียนสีบนผนัง ‘ถ้ำตาด้วง’ เขตอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และภาพเขียนสีที่ ‘ผาแต้ม’ เขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อนำแนวคิดและวิธีการทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรมมาเป็นกรอบและทิศทางในการศึกษาและวิเคราะห์จากร่องรอยทางพฤติกรรมของคนในยุคนั้นที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางโบราณคดีเป็นสำคัญ ในแนวคิดของนักมานุษยวิทยา อาจารย์ศรีศักรเชื่อว่า ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ และความเชื่อเป็นมิติของความจริงอย่างหนึ่งในความเป็นมนุษย์ ศาสนาของมนุษย์โบราณคือ ศาสนาและไสยศาสตร์ ในขณะที่ศาสนาของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ส่วนใหญ่คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาต้องหันมาใช้การศึกษาในเชิงเปรียบเทียบกับสังคมมนุษย์ที่ยังมีความล้าหลังทางเทคโนโลยีและไม่มีลายลักษณ์แทน เพราะสังคมในลักษณะนี้ยังคงเหลือร่องรอยพฤติกรรมทางความเชื่อและความคิดทางศาสนาและไสยศาสตร์ที่คล้ายๆ กันกับคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่ แต่เรื่องนี้ก็ต้องกระทำกันด้วยความระมัดระวังในการวิเคราะห์ ตีความ และสรุป เพราะผู้คนของสังคมที่ล้าหลังทางเทคโนโลยีเหล่านี้ ล้วนมีความรู้สึกนึกคิด [Mentality] เป็นคนสมัยปัจจุบันทั้งสิ้น

หน้าที่ 5/12

หลักฐานและร่องรอยพัฒนาการทางสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาโบราณคดีของอาจารย์ศรีศักร ซึ่งท่านพอสรุปได้ว่า ในดินแดนประเทศไทย แม้จะมีพัฒนาการของมนุษย์มาแต่สมัยก่อนคน จนมาถึงสมัยเป็นคนในยุคหินกะเทาะ อันเป็นสังคมมนุษย์แบบเร่ร่อนตามฤดูกาล จนถึงสมัยหินใหม่อันเป็นยุคที่เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานติดที่ [Sedentary settlements] มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์นั้น ยังเป็นยุคสมัยที่มีผู้คนอาศัยในดินแดนประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น้อยมาก การตั้งหลักแหล่งจึงเป็นกลุ่มเล็กๆ และกระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกลกัน

เมื่อลำดับพัฒนาการของสังคมบ้านเมืองและรัฐ ในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศาสนาของผู้คนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้น จะนับเนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีที่มีมาแต่สมัยหินเก่า หินกะเทาะ หินใหม่ มาจนถึงสมัยยุคก่อนเหล็กเป็นสำคัญ 

‘....โดยเฉพาะในสมัย ๓,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปี ลงมานั้น พบหลักฐานทางพิธีกรรมในระบบความเชื่ออย่างชัดเจน ๒ ประการใหญ่ๆ คือ ภาพเขียนสีและโลงไม้ที่ขุดจากลำต้นไม้ขนาดใหญ่  เรื่องภาพเขียนสีบนเพิงผานั้น มักถูกมองโดยนักโบราณคดีไทยของกรมศิลปากรว่า เป็นศิลปะถ้ำอะไรทำนองนั้น จึงเป็นการมองแต่เพียงรูปแบบทางศิลปะไป ทั้งๆ ที่ในแง่คิดทางมานุษยวิทยานั้น สิ่งเหล่านี้ (ภาพเขียนสีและโลงไม้) คือผลผลิตจากระบบความเชื่อของผู้คนในสังคมที่เป็นเจ้าของอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะภาพเขียนสีเหล่านั้นมิได้เกิดขึ้นจากความรู้สึกนึกคิดของปัจเจกบุคคลแบบปัจจุบันที่มองว่าศิลปะเป็นไปเพื่อศิลปะ [Art for art sake] หากแต่เป็นภาพทางสัญลักษณ์ที่สื่อสารกันได้ทั้งกลุ่มชนในสังคม

ภาพที่เขียนขึ้นมีทั้งที่เป็นรูปเรขาคณิตแบบต่างๆ ซึ่งยากที่จะเข้าถึงในเรื่องความหมายว่าหมายถึงอะไร ภาพมือแดงที่พบเกือบทุกแห่ง ภาพสัตว์นานาชนิดซึ่งมีทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า และคน มีทั้งภาพที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่กันเป็นกลุ่มร่วมกันทำกิจกรรม และมีทั้งภาพที่แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของบุคคลสำคัญ เป็นต้น ภาพเหล่านี้มีทั้งที่ขูดเขียนโดยบุคคลที่เป็นผู้ชำนาญและเขียนตามประสาคนเขียนไม่เป็นของบรรดาผู้คนที่มาร่วมในงานประเพณีพิธีกรรม....’ 

อาจารย์ศรีศักร อรรถาธิบายว่า หลักฐานในบริเวณเพิงผาหน้าถ้ำตามที่กล่าวมาแล้วนี้ มีพบในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็นับเป็นการยืนยันให้เห็นความคิดของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอะไรๆ เหมือนกัน

 

‘….ความคิดในการเลือกแหล่งทำพิธีกรรมทางศาสนานี้ สืบเรื่อยมาจนกระทั่งยุคสำริด ยุคเหล็กและยุคต้นประวัติศาสตร์ทีเดียว อย่างเช่น เพิงผาที่ผาแต้ม ริมแม่น้ำโขงในเขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เพิงผาที่ประตูผา จังหวัดลำปาง ซึ่งนับได้ว่ามีขนาดและอาณาบริเวณใหญ่โตมาก หรือในเขตภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็มีที่เพิงผาวัดพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี เป็นอาทิ 



เพิงผาวัดพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี

หน้าที่ 6/12

แต่ที่น่าสังเกตก็คือ มีเพิงผาหลายแห่งโดยเฉพาะบรรดาที่เป็นเขาหินปูนมักจะสัมพันธ์กับบริเวณหน้าถ้ำ และถ้ำที่มีพื้นที่เป็นโถงขนาดใหญ่ที่มีอากาศถ่ายเทได้พอสมควร พื้นที่เช่นนี้อาจมีการอยู่อาศัยโดยกลุ่มชนตามฤดูกาลหรือเป็นที่พำนักของบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่มีความรู้ในเรื่องความเชื่อและพิธีกรรมของผู้คนในสังคม

เพิงผาหน้าถ้ำดังกล่าวนี้มักมีการอยู่สืบเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ทีเดียว อย่างเช่น อาจจะเป็นที่พำนักของฤาษีหรือนักพรตในลัทธิศาสนาฮินดู-พุทธ จึงมักพบการสลักพระพุทธรูปหรือเทวรูปไว้ตามหน้าผาหรือเพิงผา และกำหนดบริเวณที่ประกอบพิธีกรรมด้วยการปักหินตั้งหรือเสมาหินแสดงเขตและบริเวณศักดิ์สิทธิ์ ในหลายๆ แห่ง ห้องโถงของถ้ำได้กลายเป็นวิหารเพื่อประกอบพิธีกรรมทีเดียว

ถัดจากเพิงผาหน้าถ้ำและภาพเขียนสี ก็เป็นแหล่งฝังศพ ที่นับว่าเป็นหลักฐานสำคัญในเรื่องของศาสนาและความเชื่อของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ความสำคัญอันดับแรกของแหล่งฝังศพก็คือเป็นหลักฐานที่แสดงการมีอยู่ของชุมชน เพราะกลุ่มชนในสังคมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็นบ้านและเมืองจะได้นำเอาศพของสมาชิกในชุมชนมาฝังหรือเผาและประกอบพิธีกรรมตามประเพณี นั่นคือความตายเป็นสิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของคนในสังคมที่คิดและปฏิบัติร่วมกัน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย [Life after death] เป็นความเชื่อที่ควบคู่มากับความเป็นมนุษย์ ซึ่งสัตว์เดรัจฉานไม่มี ความเชื่อในเรื่องของความตายนี้แลเห็นจากรูปแบบในการจัดการทำศพที่อาจมีความแตกต่างและคล้ายคลึงกันซึ่งสัมพันธ์กับพื้นที่และเวลาแต่ละยุคสมัย....’

ความเชื่อเรื่องศาสนาและไสยศาสตร์จากแหล่งโบราณคดี อาจารย์ศรีศักรขยายความเชิงมานุษยวิทยาวัฒนธรรมและภูมิวัฒนธรรมอย่างละเอียดว่า

‘….แหล่งโบราณคดีที่เป็นประโยชน์กับการศึกษาและตีความเกี่ยวกับศาสนาและไสยศาสตร์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในขณะนี้ มีอยู่ ๒ บริเวณด้วยกันคือ เพิงผาหน้าถ้ำที่มีการเขียนภาพ หรือสลักภาพทางสัญลักษณ์อันนับเนื่องเป็นแหล่งประกอบประเพณี-พิธีกรรมในระบบความเชื่อ กับแหล่งฝังศพอันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชุมชนที่มีการนำสมาชิกที่ตายแล้วมาประกอบพิธีกรรมในระบบความเชื่อ

แหล่งที่เป็นเพิงผาหน้าถ้ำนั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความคิดเหมือนกันในการเลือกบริเวณที่เป็นเพิงผาหน้าถ้ำให้เป็นที่ประกอบประเพณี พิธีกรรม ซึ่งความคิดเช่นนี้ดำรงสืบมาในสมัยประวัติศาสตร์

 

ความสำคัญของเพิงผาหน้าถ้ำนั้นอยู่ที่การเป็นแหล่งที่ผู้คนในชุมชนท้องถิ่นใช้เป็นที่ชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีกรรมตามประเพณีในรอบปีเป็นสำคัญ เพราะมักเป็นแหล่งที่ค่อนข้างอยู่ไกลกับถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของผู้คนในชุมชนต่างๆ ของท้องถิ่น 

แหล่งพิธีกรรมเหล่านี้ไม่เป็นแหล่งที่เป็นของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หากเป็นพื้นที่ร่วม ของหลายชุมชนที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกันหรือภูมิภาคเดียวกันเป็นสำคัญ ในการเข้ามาชุมนุมร่วมกันตามเวลาที่กำหนดในรอบปีหนึ่งๆ นั้น พื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนซึ่งมาร่วมกันชุมนุมจะประกอบพิธีกรรมร่วมกัน มีทั้งการเต้นรำ การส่งเสียงร้อง และการสวดมนต์ รวมทั้งการเขียนภาพที่เป็นสัญลักษณ์ลงบนพื้นหินของเพิงผาหน้าถ้ำเหล่านั้น
 


ภาพเขียนสีที่เพิงผาถ้ำบริเวณเขาภูปลาร้า
ที่มา: กรมศิลปากร-ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม
หน้าที่ 7/12

เหตุที่แหล่งพิธีกรรมในระบบความเชื่อของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มักอยู่ในบริเวณที่เป็นกลางไม่เป็นของชุมชนใดชุมชนหนึ่งนั้น ก็เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของคนก่อนประวัติศาสตร์สมัยแรกๆ หาได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในพื้นที่เดียวกันไม่ หากมีการกระจายกันอยู่เป็นกลุ่มของครอบครัวและเครือญาติตามบริเวณต่างๆ ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตน แหล่งที่เกี่ยวกับความเชื่อที่ใกล้ตัวก็มักจะเป็นแหล่งป่าช้าหรือหลุมศพเท่านั้น โดยเหตุนี้จึงพบหลุมศพและแหล่งที่เป็นป่าช้ามากกว่าแหล่งประกอบพิธีกรรมในรอบปี และอื่นๆ ที่เป็นส่วนร่วมของท้องถิ่น

ยิ่งกว่านั้นบริเวณที่ทำพิธีมักจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่ผู้คนเห็นและจินตนาการพ้องกันว่า มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับพลังเหนือธรรมชาติ ดังเช่น เพิงผาหน้าถ้ำ ยอดดอย หรือต้นน้ำลำธาร และแหล่งที่มีน้ำสบกันเป็นน้ำวนหรือน้ำเชี่ยว บริเวณที่มีสภาพแวดล้อมแปลกไม่เหมือนที่อื่นๆ เป็นต้น 
 


ภาพเขียนสีมนุษย์กับสัตว์ สันนิษฐานว่าเป็นวัว
ที่มา: กรมศิลปากร-ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม

 

ความโดดเด่นของสถานที่และสภาพแวดล้อมดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ผู้คนในสมัยหลังๆ เห็นพ้อง จึงสืบเนื่องเป็นความทรงจำในรูปของตำนานที่เกี่ยวกับชื่อของสถานที่และเหตุการณ์เรื่อยมา ดังเห็นได้จากการเล่าขานกันในตำนานท้องถิ่นและการทำให้แหล่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น สืบเนื่องเป็นวัดหรือเป็นสถานที่เพื่อจาริกแสวงบุญมาจนถึงปัจจุบัน….’

ดินเทศสีแดงที่ถูกบดเพื่อใช้โรยในพิธีกรรมและนำมาเป็นสีเพื่อเขียนภาพ อาจารย์ศรีศักร ได้อธิบายถึงพิธีกรรมสัมผัสกับพลังเหนือธรรมชาติที่สถิตอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ของสถานที่และสภาพแวดล้อม

‘….หลักฐานร่องรอยของการใช้สีแดงเห็นได้จากการฝังศพที่มีมาแต่สมัยหินกะเทาะเช่นที่ถ้ำพระในเขตจังหวัดกาญจนบุรี มีการใช้ดินเทศที่มีสีแดงโรยศพซึ่งแสดงให้เห็นว่าสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของพลังชีวิตให้กับคนที่ตาย ทำให้ตีความได้ว่า คนในสมัยนั้นมีความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณที่ว่าเมื่อตายแล้ววิญญาณก็ยังดำรงอยู่ แต่ความชัดเจนในเรื่องสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ได้เห็นชัดในสมัยหลังลงมาคือ ยุคโลหะที่เริ่มแต่สมัยก่อนเหล็ก (ประมาณก่อน ๒,๕๐๐ ปีขึ้นไป และหลังลงมา) นั่นก็คือ การเกิดภาพเขียนสีขึ้นตามผนังถ้ำและเพิงผา ซึ่งนักโบราณคดีไทยแบบกรมศิลปากร เรียกว่า ศิลปะถ้ำ เพราะเน้นความสำคัญที่รูปแบบมากกว่าความหมาย

ภาพเขียนสีที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อพื้นฐานของคนที่สำคัญก็คือ ภาพมือแดง ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยก่อนเหล็กจนถึงยุคเหล็กเป็นภาพที่แสดงถึงการที่ผู้คนที่มาร่วมพิธีกรรมสัมผัสกับพลังเหนือธรรมชาติที่สถิตอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ของสถานที่และสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเพิงผาที่เป็นหิน ความเชื่อที่ว่าสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เช่น หิน น้ำ ต้นไม้ และอื่นๆ มีจิตวิญญาณนี้ เป็นสิ่งที่เรียกว่า Animism ซึ่งนับเป็นพัฒนาการในระยะแรกเริ่มของศาสนาและไสยศาสตร์ เพราะพิธีกรรมที่ผู้คนจากที่หลากหลายในท้องถิ่นมาประกอบร่วมกันนั้น เป็นสิ่งที่แสดงการสยบต่ออำนาจเหนือธรรมชาติอันเป็นการแสดงอาการทางศาสนา แต่ในการประกอบพิธีกรรมก็มีอาการทางไสยศาสตร์ผสมผสานอยู่ 

ดังเห็นจากสัญลักษณ์อื่นๆ เป็นแบบเรขาคณิตที่ไม่เหมือนธรรมชาติ และภาพคน-สัตว์-สิ่งของ-ต้นไม้ที่เป็นธรรมชาติเพื่อเรียกร้องและบังคับให้อำนาจที่อยู่ตามสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมารับใช้พวกตนในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ความปลอดภัย และความมั่นคงของชีวิต ดังนั้น ภาพที่เห็นจากการประกอบพิธีกรรมในระบบความเชื่อจึงมีลักษณะทั้งศาสนาและไสยศาสตร์ผสมกัน [Magico-religious practice]

หน้าที่ 8/12

เมื่อได้ประมวลภาพสัญลักษณ์จากแหล่งเพิงผาหน้าถ้ำในที่ต่างๆ ที่พบในดินแดนประเทศไทยมาวิเคราะห์อย่างคร่าวๆ แล้ว ก็พอแลเห็นพัฒนาการของระบบความเชื่อที่เรียกว่า ศาสนา-ไสยศาสตร์ [Magico-religious ritual] ที่เชื่อว่าสิ่งที่เป็นธรรมชาติในโลกมีจิตวิญญาณ [Animism] ที่สัมพันธ์กับพัฒนาการทางสังคม

นั่นก็คือสังคมก่อนประวัติศาสตร์ของผู้คนที่เขียนภาพสีได้สะท้อนให้เห็นการมีคนสำคัญที่อาจเป็นหัวหน้าตระกูลและเผ่าพันธุ์ จากภาพของคนที่มีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดา รวมทั้งมีเครื่องประดับตกแต่งร่างกายหรือศีรษะที่โดดเด่นกว่าผู้อื่น อย่างเช่น ภาพเขียนสีที่เพิงผาถ้ำเขาจันทร์งาม ในเขตอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นภาพของคนที่มีทั้งหญิงและชาย สัตว์เลี้ยง และสัตว์ล่า อันสะท้อนให้เห็นถึงสังคมประเภทร่อนเร่ล่าสัตว์

ภาพสำคัญคือ ภาพชายร่างใหญ่กำลังโก่งธนู อันเป็นการแสดงอำนาจและอาการของการล่าสัตว์ ภาพเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์ทางไสยศาสตร์ เพื่อความสำเร็จในการล่าสัตว์เป็นสำคัญ นับเป็นพิธีกรรมในเรื่องความอุดมสมบูรณ์อย่างหนึ่ง 

ในขณะที่ภาพมือแดงเป็นจำนวนมากที่ทับซ้อนกันหลายระยะเวลา ภาพสัตว์ เช่น วัวควาย และภาพสัญลักษณ์บางอย่างที่แหล่งโบราณคดีประตูผาของเขาลูกโดดในระหว่างอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และอำเภองาว แสดงให้เห็นถึงการชุมนุมของผู้คนเป็นจำนวนมากจากท้องถิ่นต่างๆ มาประกอบพิธีกรรมในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ร่วมกัน ซึ่งก็นับเนื่องในพิธีกรรมในระบบความเชื่อที่เรียกว่า Animism เหมือนกัน ทั้งนี้รวมไปถึงบรรดาเพิงผาที่อยู่ในเขตวัดพระพุทธบาทบัวบก ที่กรมศิลปากรไปเปลี่ยนเป็นอุทยานโบราณคดีภูพระบาท อีกหลายแห่งที่มีการเขียนรูปวัวควาย ช้าง และรูปเรขาคณิตแบบต่างๆ

การดำรงอยู่ของความเชื่อในเรื่อง Animism ดังกล่าวนี้ สืบมาจนถึงสมัยเหล็กเพราะแม้ว่าสังคมหลายแห่งในสมัยนี้จะมีพัฒนาการทางศาสนาและไสยศาสตร์ที่สูงกว่านี้ไปแล้วก็ตาม ดังเช่นภาพสลักขูดขีดที่ถ้ำผาลายภูผายนต์ จังหวัดสกลนคร ที่เปลี่ยนจากการเขียนสีมาเป็นการใช้เครื่องมือเหล็กขูดขีดไปบนหินแทน มีภาพต้นไม้ คน สัตว์และสัญลักษณ์แบบเรขาคณิตมากมาย ภาพสัญลักษณ์ที่โดดเด่นคือ ภาพของควาย ซึ่งน่าจะเป็นทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ล่า

 

 

ในขณะที่ภาพสัญลักษณ์เรขาคณิตที่ดูเป็นอวัยวะเพศของสตรีและการแสดงความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างหญิง-ชาย สะท้อนให้เห็นถึงการทำพิธีเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ ดูเหมือนภาพบนผนังผาที่มีการขูดขีดด้วยเครื่องมือเหล็กที่แสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ทางเรขาคณิตที่ยากแก่การถอดรหัสว่าหมายถึงอะไร แสดงให้เห็นถึงจินตนาการที่ซับซ้อนของคนสมัยเหล็กที่ยังดำรงความเชื่อในเรื่อง Animism ที่สำคัญนั้นอยู่ที่ผากระดานเลข ในเขตอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

อย่างไรก็ตาม บรรดาแหล่งภาพเขียนสีของคนก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็กรุ่นหลังๆ ที่เชื่อมต่อกับสมัยต้นประวัติศาสตร์หลายแห่งก็สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของระบบความเชื่อจาก Animism มาเป็นความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติที่สูงกว่าที่เรียกว่า Supernaturalism ความต่างกันระหว่างความเชื่อและศาสนาสองระดับนี้ก็คือ
 


ภาพเขียนสีที่เพิงผาถ้ำเขาจันทร์งาม ในเขตอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
ที่มา: ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หน้าที่ 9/12

ระดับแรก เป็นเรื่องของความเชื่อที่เกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติบนพื้นดินหรือบนโลกเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น การนับถือผี ต้นไม้ ภูเขา หนองน้ำ ลำธาร สัตว์และคน รวมทั้งปรากฏการณ์ที่เป็นฝนตกฟ้าร้อง เป็นต้น ส่วนระดับหลังนั้น เป็นความเชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติที่สูงขึ้นไปจากบนดินมาเป็นบนท้องฟ้า ซึ่งทำให้มีความซับซ้อนเกิดขึ้นในการแสดงสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ในการประกอบพิธีกรรม

การเกิดระดับชั้นของผู้คนและการกำหนดตำแหน่งและให้ความหมายแก่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ความซับซ้อนในเรื่องรูปแบบของสัญลักษณ์เห็นได้จากภาพเขียนสีที่มีองค์ประกอบเพิ่มขึ้นทั้งในรูปแบบเรขาคณิตจนไม่อาจถอดรหัสได้ก็มีภาพของธรรมชาติ เช่น สัตว์ คน สิ่งของ ก็หลากหลายและมีอาการใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น สัตว์บางชนิดมีรูปร่างแปลกๆ และมีอาการกิริยาแปลกๆ ไม่เหมือนธรรมชาติ 
 


ในกลุ่มภาพแรกที่เขาปลาร้า เป็นเพิงผาบนภูเขาที่ปัจจุบันเดินทางขึ้นไปยาก
ที่มา: กรมศิลปากร-ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม

ในขณะที่ภาพของคนก็ดูหลากหลายด้วยอาการกิริยา ขนาด และการแต่งกาย อันแสดงให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่และฐานะทางสังคมซึ่งอาจพูดได้ว่า ในระยะของพัฒนาการขั้นนี้ สังคมก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็กได้พัฒนาเข้าสู่การเกิดบ้านเมืองและรัฐแรกเริ่มที่มีเจ้านายและคณะบุคคลปกครองแล้ว

ทำให้ภาพของบุคคลที่มีบทบาทและสถานภาพอย่างน้อย ๒ อย่างปรากฏขึ้น คือ ผู้นำ และคณะที่ปรึกษาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีเครื่องแต่งกายเช่นเครื่องประดับศีรษะประดับร่างกาย มีลักษณะแตกต่างจากคนทั่วไป บุคคลที่มีฐานะเป็นผู้นำนั้นมักแสดงจากการถืออาวุธที่เป็นสัญลักษณ์แสดงอำนาจและมีอาการลีลาที่องอาจ ในขณะที่คนหรือคณะที่ปรึกษามักมีการแต่งกายที่ผิดมนุษย์ หลายๆ แห่งแต่งตัวใส่หน้ากากหรือสวมหัวโขนเป็นสัตว์ คนพวกนี้คงได้แก่พวกหมอผีหรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิญญาณและเวทมนตร์คาถา ซึ่งดูสอดคล้องกันกับการขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่ฝังศพ เพราะมักพบศพบางศพที่มีการนำเอาเขาสัตว์ เขี้ยวสัตว์ และสิ่งสัญลักษณ์บางอย่างมาฝังไว้ 

ส่วนศพของคนที่เป็นผู้นำก็มักพบเครื่องเซ่นศพที่มีเครื่องประดับที่มีค่ามากกว่าศพคนทั่วไป หลายแห่งพบอาวุธสำคัญประจำตำแหน่งรวมอยู่ด้วย เช่น มีดหรือหอกที่ใบมีดเป็นเหล็กแต่ด้ามเป็นสำริดมีลวดลายสัญลักษณ์ประดับ แต่ที่สำคัญคือภาพเขียนสีของช่วงเวลานี้มักแสดงให้เห็นถึงการประกอบประเพณีพิธีกรรมที่มีการชุมนุมที่ส่ออาการเต้นรำหรือร่ายรำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้....’

ในกลุ่มภาพแรกที่เพิงผาถ้ำเขาปลาร้านั้น ความโดดเด่นอยู่ที่เป็นเพิงผาบนภูเขาที่ปัจจุบันการเดินทางขึ้นไปค่อนข้างยากมาก อาจารย์ศรีศักรบอกว่า คนก่อนประวัติศาสตร์เลือกตำแหน่งได้ดีมาก เพราะบนเขามีสภาพแวดล้อมที่เป็นธารน้ำและพื้นที่พอแก่การเข้าไปพักแรมของคนเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาประกอบพิธีกรรมรอบๆ เขาปลาร้าเป็นที่ราบลุ่ม มีลำน้ำหล่อเลี้ยงสลับไปด้วยป่าเขาและที่สูง อันแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณ สัตว์ป่า และแร่ธาตุ มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่สมัยหินขัดมาจนถึงสมัยโลหะ

‘….ข้าพเจ้าได้สำรวจพบแหล่งถลุงเหล็กที่เป็นชุมชนที่สืบเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดี เพราะพบร่องรอยชุมชนโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบศาสนสถาน รูปปูนปั้นประดับ รวมทั้งบรรดาเครื่องประดับ เครื่องมือสำริด เหล็ก และลูกปัดแบบต่างๆ มากมาย ทั้งหลายแหล่เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคเหล็กอันเป็นสังคมเกษตรกรรมที่สืบเนื่องเข้าสู่สังคมพุทธ-ฮินดูในสมัยทวารวดี 

หน้าที่ 10/12

สิ่งที่สนับสนุนให้เห็นว่าสังคมก่อนประวัติศาสตร์ในที่นี้เป็นสังคมเกษตรกรรม ก็เพราะแหล่งประกอบพิธีกรรมอันมีภาพเขียนสีบนผนังผาเขาปลาร้านั้นมีองค์ประกอบหลายอย่างที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติได้ 

ในเรื่องแรกคือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้น ดูได้จากการปรากฏภาพคนที่มีการแต่งกายในวาระที่มาชุมนุม แสดงท่าร่ายรำในการประกอบพิธีกรรม คนทั่วไปนุ่งผ้าเตี่ยวมีชายไหวชายแครงประดับ บนศีรษะมีใบไม้และดอกไม้รวมทั้งขนนกประดับ มีภาพบุคคลที่น่าจะเป็นหมอผี [Shaman] แต่งตัวในลักษณะจำแลงกายเป็นสัตว์เพื่อสื่อสารกับธรรมชาติและสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ แต่ภาพคนที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นประมุขของเผ่าพันธุ์ ซึ่งก็คือ ภาพบุคคลที่มีขนาดใหญ่ มีรายละเอียดของการแต่งกายและเครื่องประดับ มือถืออาวุธแสดงท่าร่ายรำที่มีอานุภาพ ข้างๆ มีสัตว์เลี้ยงเช่นสุนัข ส่วนภาพของคนกับธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาตินั้น แลเห็นได้ชัดเจนจากภาพของสัตว์ป่า สัตว์ล่า และสัตว์เลี้ยง อันแสดงให้เห็นชัดว่าเป็นสังคมเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แล้ว 

ภาพของสัตว์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาติก็คือ ภาพของวัวมีหนอกที่คอ เป็นภาพใหญ่ที่เขียนได้อย่างชัดเจนมีสัดส่วน บนหลังวัวมีผ้าที่เป็นลวดลายพาดทับให้เห็นว่าเป็นอาสนะที่มีผู้ทรงอำนาจประทับนั่ง วัวนี้มีคนจูง อาจนับได้ว่าเป็นจุดเด่นสำคัญ เช่นเดียวกันกับภาพของบุคคลตัวใหญ่ที่เป็นประมุขของเผ่าพันธุ์ทีเดียว ภาพวัวที่มีผ้าพาดทับนี้มีหนทางที่อาจตีความได้เป็น ๒ อย่างคือ อย่างแรก อาจเป็นพาหนะของบุคคลตัวใหญ่ที่น่าจะเป็นประมุขหรือบุคคลศักดิ์สิทธิ์อันเป็นประธานของพิธีกรรม อย่างที่สองก็คือ วัวมีหนอกคือพาหนะของเจ้า ผี หรือเทพที่จะต้องนำมาประกอบพิธีเซ่นสรวง คือฆ่าบูชายัญส่งไปให้นั่นเอง

ส่วนภาพสัตว์ขนาดใหญ่อีกภาพหนึ่งก็คือ ภาพลิงใหญ่ที่ดูแล้วเป็นลิงเนรมิตที่แสดงพลังเหนือธรรมชาติมีบริวารล้อม แต่เป็นภาพที่ยังเขียนไม่เสร็จ ภาพสัตว์เนรมิตดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงความเชื่อว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์มีสัตว์เป็นบรรพบุรุษ [Totem] ของเผ่าพันธุ์หรือตระกูล มาเป็นสัญลักษณ์รวมของผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ในท้องถิ่น ลิงอาจเคยเป็นสัญลักษณ์ของเผ่าใดเผ่าหนึ่งที่มีอำนาจเหนือเผ่าพันธุ์อื่นๆ ในท้องถิ่นเดียวกัน….’

ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนเพิงผาเขาปลาร้า อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานีนี้ นอกจากเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเป็นแหล่งที่มีมนุษย์อาศัยอยู่มาแต่ครั้งสมัยหินใหม่แล้ว ยังเป็นภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่สวยงามที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย

เช่น ภาพคนจูงวัว การแสดงการปราบวัว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสมัยที่มีการนำวัวมาใช้เป็นสัตว์เลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้ในการวาดภาพยังได้มีการเน้นให้เห็นถึงสิ่งที่สำคัญ โดยการสร้างภาพให้มีลักษณะเป็นพิเศษ เช่น ภาพบุคคลสำคัญ ภาพวัว และภาพคนจูงสุนัข ซึ่งมีการตกแต่งและวาดให้เห็นส่วนสัดกว่าภาพธรรมดาอื่นๆ 

โดยเฉพาะภาพที่สำคัญ คือภาพที่แสดงถึงบุคคลสำคัญในท่าแสดงอำนาจ ในระหว่างการกระทำพิธีทางศาสนา เบื้องหน้าของบุคคลผู้นี้ มีภาพอีกบุคคลหนึ่งขนาดเล็กลงมา แต่งกายคล้ายกับสัตว์ มีเครื่องประดับศีรษะเดินนำหน้า ซึ่งอาจจะเป็นพ่อมดหรือหมอผีก็ได้ สองข้างของบุคคลที่เป็นใหญ่มีสุนัขแวดล้อม
 


ภาพสำคัญ คือภาพบุคคลสำคัญในท่าแสดงอำนาจ
หน้าที่ 11/12

โลกมีจิตวิญญาณ [Animism] เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ความปลอดภัย และความมั่นคงของชีวิต ที่สัมพันธ์กับพัฒนาการทางสังคมผ่านภาพเขียนสี นับเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นสังคมของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในสยามเทศะอย่างแท้จริง 

 


 

 

 

คำสำคัญ : ภาพเขียนสี,เขาปลาร้า,จังหวัดอุทัยธานี,ศิลปะถ้ำ

อ้างอิง

'ศาสนาของคนก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย' โดย ศรีศักร วัลลิโภดม

 'ภาพเขียนสีและภาพสลักศิลปะก่อนประวัติศาสตร์' รวบรวมและเรียบเรียงโดย ผศ. พัชรี สาริกบุตร ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับการสนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลจากกรมศิลปากร

'ศิลปะถ้ำเขาปลาร้า อุทัยธานี' โดย กองโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ 

'ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ภูปลาร้า' โดย วิยะดา ทองมิตร, บังอร กรโกวิท วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕ เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๔๒๒

'เขาปลาร้า' โดย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

‘วิวัฒนาการของการทอผ้าในประเทศไทย’ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๒๑ เรื่องที่ ๓ ศิลปะการทอผ้าไทย ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทยในปัจจุบัน

พรเทพ เฮง
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกโบราณคดี รุ่น ๓๘ ทำงานด้านสื่อ ด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และสาระบันเทิงมาค่อนชีวิต
หน้าที่ 12/12