ผู้เข้าชม
0

‘แหลมโพธิ์’ เมืองท่าสำคัญทางพาณิชย์นาวีบนคาบสมุทรสยามเทศะพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ สืบเนื่องถึงกรุงศรีอยุธยา

แหลมโพธิ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสันทรายขนาดใหญ่ มีคลองพุมเรียงไหลผ่าน ลักษณะทั่วไปบริเวณแหลมโพธิ์เป็นป่าโปร่ง บริเวณใกล้ปากน้ำเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน และที่จอดเรือของชาวประมง ทางด้านทะเลฝั่งตะวันออกเป็นดินโคลน มีป่าโกงกางขึ้นอยู่ทั่วไป จากปลายแหลมเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร มีซากโบราณสถาน ก่ออิฐ ๑ แห่ง แต่ปัจจุบันพังทลายไปมากแล้ว ใกล้ๆ กันเป็นบ่อน้ำรูป ๖ เหลี่ยม พบเสาธร
4 พฤศจิกายน 2567


แหลมโพธิ์เมืองท่าสำคัญทางพาณิชย์นาวีบนคาบสมุทรสยามเทศะ
พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ สืบเนื่องถึงกรุงศรีอยุธยา

 

พรเทพ เฮง

หน้าที่ 1/13

แหลมโพธิ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสันทรายขนาดใหญ่ มีคลองพุมเรียงไหลผ่าน ลักษณะทั่วไปบริเวณแหลมโพธิ์เป็นป่าโปร่ง บริเวณใกล้ปากน้ำเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน และที่จอดเรือของชาวประมง ทางด้านทะเลฝั่งตะวันออกเป็นดินโคลน มีป่าโกงกางขึ้นอยู่ทั่วไป จากปลายแหลมเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร มีซากโบราณสถาน ก่ออิฐ ๑ แห่ง แต่ปัจจุบันพังทลายไปมากแล้ว ใกล้ๆ กันเป็นบ่อน้ำรูป ๖ เหลี่ยม พบเสาธรณีประตูทำด้วยหินปูน

แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ ถือเป็นเมืองท่าริมชายฝั่งทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งในบริเวณอ่าวบ้านดอน เนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลที่เอื้อต่อการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนภายนอกทั้งใกล้และไกล คือมีลักษณะเป็นสันทรายขนาดใหญ่ยื่นออกไปในทะเล  มีเส้นทางแม่น้ำภายใน และมีอ่าวขนาดใหญ่ คือ ‘อ่าวบ้านดอน’ อันเหมาะสมต่อการจอดเรือสินค้า ซึ่งตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของคาบสมุทรภาคใต้ของไทย 



คลองแหลมโพธิ์ บริเวณใกล้ปากน้ำเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน
และที่จอดเรือของชาวประมง

 

ด้วยลักษณะทางกายภาพและตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ดังกล่าว แหลมโพธิ์จึงกลายเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งบริเวณตอนกลางของคาบสมุทรที่ปรากฏร่องรอยหลักฐานการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับบ้านเมืองภายนอกทั้งจากซีกโลกตะวันออกและซีกโลกตะวันตก

‘ศรีวิชัยที่ไชยา’ โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้สังเคราะห์ถึงความสำคัญของแหลมโพธิ์ ที่มีความสัมพันธ์เชิงภูมิวัฒนธรรมกับเขาศรีวิชัย ควนสราญรมย์ ถ้ำคูหา และชุมชนศรีวิชัยรอบอ่าวบ้านดอน ไว้ว่า

‘….เมืองไชยาโบราณที่สันทรายเก่าคือเมืองท่าภายใน ในบันทึกที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่า ลำคลองท่าโพธิ์ที่ไหลผ่านบริเวณย่านใหม่ของเมืองไชยาที่อยู่สองข้างทางรถไฟนั้น เมื่อ ๕๐ ปีก่อนเคยเป็นคลองกว้างที่เรือเดินทะเลเข้าไปถึง และตามลำคลองนี้มีการพบชิ้นส่วนเทวรูปพระนารายณ์ถือตะบองและสังข์เหนือสะโพก ซึ่งนำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ในปัจจุบัน
 


ศาสนสถานถ้ำเขาคูหา  อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 
หน้าที่ 2/13

เพราะฉะนั้นจากการเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำลำคลองที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าใด ยกเว้นการตื้นเขินของลำน้ำในปัจจุบัน เมืองโบราณบนสันทรายสมัยทวารวดี-ศรีวิชัยนั้น คือเมืองท่าที่เป็นนครรัฐ ซึ่งมักจะอยู่ห่างจากทะเลเข้ามาภายใน  เช่น บรรดาเมืองท่าทั้งหลายในสมัยโบราณ และเรือทะเลที่จะเข้ามาถึงก็คงไม่ใช่สำเภาขนาดใหญ่ หากเป็นบรรดาเรือขนาดเล็กที่เดินทางตามชายฝั่งและสามารถเข้าไปตามลำน้ำใหญ่ถึงบ้านเมืองที่อยู่ภายในที่ราบลุ่มน้ำลำคลองได้  

ปัจจุบันมีการพบซากเรือดังกล่าวหลายแห่งทางภาคใต้ เช่นที่คลองท่อมและอ่าวบ้านดอน ที่ข้าพเจ้าได้เห็นมามี ๒ แห่ง คือที่เมืองเวียงสระแห่งหนึ่ง และที่ก้นลากูนในเขตตำบลทุ่ง อำเภอไชยา เป็นเรือขนาดยาว ๑๕ เมตร และกว้าง ๓.๕๐ เมตร ที่มีรูเจาะและใช้เดือยไม้แทนตะปูเพื่อการยึดโยงองค์ประกอบของเรือ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบรรดาเรือเดินทะเลเหล่านี้จะไม่ใช้เหล็กหรือตะปูตอกยึดส่วนประกอบแต่อย่างใด 
 


ซากเรือจมบ้านคลองยวน ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ที่มา: 
กรมศิลปากร-เรือบ้านคลองยวน

เรือดังกล่าวทำด้วยไม้ตะเคียนและใช้เชือกที่ทำจากใยมะพร้าวเหมือนกับเชือกมะนิลาในการผูกติด เรือที่พบที่ก้นลากูนที่ตำบลทุ่งอยู่ในสภาพดีกว่าที่เวียงสระซึ่งอยู่ในสระน้ำ ที่สำคัญคือเมื่อพบยังมีชิ้นส่วนของเครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ถัง ๒-๓ ชิ้นภายในเรือ เป็นเครื่องยืนยันอายุของเรือในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ อันนับเนื่องในสมัยศรีวิชัยยุครุ่งเรืองที่มีการค้าขายกับจีน 

จากการศึกษาทางภูมิวัฒนธรรม เรือลำนี้พบในพื้นที่ไม่ไกลจากฝั่งทะเลซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออก เพราะมีแนวสันทรายขวางกั้น แต่พบในพื้นที่เป็นเวิ้งน้ำเก่าของลากูนที่ปากน้ำออกทะเลไปอยู่ที่ปากคลองพุมเรียง ซึ่งมีแหล่งนำเรือออกขนถ่ายสินค้าอยู่ที่แหลมโพธิ์ และมีชุมชนโบราณอยู่ทางฝั่งเมืองไชยาเก่าตามที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นก็คือหนึ่งในเรือที่เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีทั้งสอง โดยเข้าไปจากทางปากคลองใหญ่พุมเรียง หรืออีกนัยหนึ่งตรงปากลากูนแล้วเข้าไปจนถึงก้นลากูนในเขตตำบลทุ่ง

ส่วนเรือลำที่พบที่เวียงสระเหลือให้เห็นเพียงกระดูกงูและชิ้นส่วนอื่นๆ เล็กน้อย แต่ก็ชี้ให้เห็นว่ามีความยาวราว ๑๕ เมตร และมีการเจาะใส่เดือยไม้แทนตะปูเช่นที่พบที่ไชยา ถึงแม้ว่าจะไม่พบเต็มลำ แต่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรือขึ้นล่องตามลำน้ำ จากปากแม่น้ำตาปีเข้ามาเมืองเวียงสระที่อยู่ห่างจากปากแม่น้ำที่อ่าวบ้านดอนราว ๖๒ กิโลเมตร....’

‘….ชุมชนเมืองที่อยู่ใกล้กับเมืองโบราณสมัยทวารวดี-ศรีวิชัยบนสันทรายเก่าก็คือ แหลมโพธิ์ อันเป็นแหล่งท่าจอดเรือและขนถ่ายสินค้า ต่ำจากไชยาลงไปทางใต้ที่อยู่บริเวณอ่าวบ้านดอนตอนกลาง ที่มีแม่น้ำใหญ่ ๒ สายมาออกทะเล คือแม่น้ำพุมดวงหรือแม่น้ำคีรีรัฐ กับแม่น้ำหลวงหรือแม่น้ำตาปี ที่ลำคลองพุนพินมีเมืองอยู่ที่เขาศรีวิชัย อันเป็นแหล่งศาสนสถานฮินดู-พุทธ ที่มีอายุแต่สมัยทวารวดีลงมาจนถึงสมัยศรีวิชัย เป็นบริเวณที่เรือสินค้าเข้ามา เป็นแหล่งที่พบลูกปัดและสินค้าที่มาจากเมืองชายทะเลฝั่งอันดามันที่เกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า นับเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรสำคัญที่กล่าวมาแล้ว

เมืองที่เขาศรีวิชัยนี้ดูคล้ายกันกับเมืองที่แหลมโพธิ์ปากคลองพุมเรียง แต่เมืองใหญ่และสำคัญไปอยู่ที่ควนสราญรมย์ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน เป็นแหล่งที่พบศาสนสถานสมัยศรีวิชัย เมื่อขุดแต่งแล้วพบพระพิมพ์ดินเผาและพระพิมพ์ดินดิบมากมายหลายรูปแบบ ที่เป็นการผสมผสานของศิลปะแบบทวารวดีที่นครปฐมและเมืองโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลางกับศิลปะชวา กลายเป็นศิลปะที่เรียกว่า ศรีวิชัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา….’

หน้าที่ 3/13

สำหรับแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ มีการเข้ามาศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์โบราณคดีอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานทางโบราณคดีครั้งสำคัญ เช่น การขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากรในปี พ.ศ.๒๕๒๕ พบหลักฐานสำคัญที่สนับสนุนบทบาทการเป็นเมืองท่าการค้าในสมัยศรีวิชัยของแหลมโพธิ์ เช่น เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง เครื่องถ้วยเปอร์เซีย ภาชนะดินเผาลายซี่ฟันเฟือง (rouletted ware) ของอินเดีย ขวดแก้วอาหรับ และลูกปัดซึ่งพบทั้งลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว 

การดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ – ๒๕๓๒ ในโครงการศึกษาการตั้งถิ่นฐานและการค้าสมัยโบราณในประเทศไทย หรือ PASTT (Program for Ancient Settlement and Trade in Thailand) ซึ่งได้เข้ามาขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ และแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก จังหวัดพังงา เพื่อศึกษาเส้นทางการค้าสมัยโบราณและเพื่อหาหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับอินเดียและตะวันออกกลาง ผลการขุดค้นในครั้งนี้พบความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ และแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่เหมือนกัน เช่น เครื่องถ้วยจีน เครื่องแก้ว ภาชนะเคลือบจากตะวันออกกลาง และลูกปัด 

นอกจากนั้น จากการศึกษาในครั้งนั้นยังมีการระบุว่ามีการค้นพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถังในแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ และแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากไม่นับรวมที่แหล่งโบราณคดีเมนไท ศรีลังกา แล้วก็ถือได้ว่าที่แหลมโพธิ์และทุ่งตึกพบเครื่องถ้วยจีนมากกว่าแหล่งเมืองท่าแห่งอื่นๆ ทั้งในภาคกลางของไทย สุมาตรา ชวา ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๖๔ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช โดยกลุ่มโบราณคดี ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาชุมชนโบราณในเส้นทางข้ามคาบสมุทรในภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย เพื่อตรวจสอบร่องรอยหลักฐานทางโบราณของเมืองโบราณไชยาซึ่งตั้งอยู่ในเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร และศึกษาลำดับพัฒนาการทางวัฒนธรรม ทั้งด้านการค้า ศาสนา และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในเมืองโบราณไชยา โดยทำการขุดค้นตามพื้นที่ต่างๆ ในเมืองไชยา รวมถึงแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ 

การขุดค้นในครั้งนั้นได้ทำการขุดค้นศึกษาจำนวน ๒ หลุมขุดค้น ผลการขุดค้นพบหลักฐานโบราณคดี เช่น ลูกปัดแก้ว ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ รูปแบบที่พบ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนเนื้อแกร่งและเคลือบเขียว และชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนเนื้อแกร่งมีการแต่งลายเซาะร่องและเคลือบเขียว และอิฐดินเผา 

จากการขุดค้นดังกล่าวจึงช่วยสนับสนุนบทบาทการเป็นเมืองท่าการค้าในสมัยศรีวิชัยของแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากหลักฐานดังกล่าว จากการดำเนินงานทางโบราณคดีที่ผ่านมายังพบหลักฐานที่เป็นสิ่งของแลกเปลี่ยนทางการค้าภายในแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์อีกจำนวนมาก ที่แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้าชาวอินเดีย จีน และตะวันออกกลาง ในสมัยศรีวิชัย หลักฐานที่พบ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งพบหลากหลายรูปแบบ เช่น เครื่องถ้วยจีนแบบฉางชา ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ มีการเขียนลายที่ก้นภาชนะเป็นภาษาอาหรับ อ่านว่า อัลเลาะห์ 
 


เครื่องถ้วยจีนแบบฉางชา เขียนลายที่ก้นภาชนะเป็นภาษาอาหรับอ่านว่า อัลเลาะห์
ที่มา: Facebook-สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
 

หน้าที่ 4/13

เครื่องถ้วยจีนรูปแบบนี้พบที่แหล่งอื่นๆ เช่นที่แหล่งโบราณคดีทุ่งตึก จังหวัดพังงา และแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด จังหวัดกระบี่ นอกจากนั้น ยังพบเหรียญจีนสมัยราชวงศ์ถัง (อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕) ลักษณะเป็นเหรียญกลมเจาะรูตรงกลางเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีตัวอักษรจีนบนเหรียญ ๔ ตัว อ่านว่า คาย เอวียน ถ่ง ป่าว แปลว่าทำขึ้นในรัชกาลพระเจ้าคายเอวียน ซึ่งในภาคใต้ของไทยมีการค้นพบเหรียญรูปแบบเดียวกันนี้ ที่แหล่งโบราณคดีคลองท่าเรือและคลองท่าวัง จังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งโบราณคดีในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และแหล่งโบราณคดีบ้านดี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

และยังพบปี้จีน (สำหรับใช้แทนเงิน) ลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาว มีการประดับด้วยลวดลายดอกไม้หลายสี และมีการเขียนตัวอักษรจีนทั้งสองด้านของปี้ รวมถึงการค้นพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าชาวจีนอย่างต่อเนื่องมาถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘....’
 


ตัวอย่างลูกปัดบางส่วนที่พบ
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา

 

การค้นพบหลักฐานลูกปัดเป็นจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ สนับสนุนว่าเมืองท่าแห่งนี้มีการติดต่อค้าขายกับอินเดียอย่างเป็นล่ำเป็นสันในสมัยศรีวิชัย คติความเชื่อ สภาพสังคม เศรษฐกิจการค้า และการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในแหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัยกับชุมชนทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค ผ่านการศึกษาและตีความจากหลักฐานทางโบราณคดีประเภทลูกปัดแก้วที่พบในแหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย และแหล่งโบราณคดีแห่งอื่นๆ ในภาคใต้ของไทย ด้วยวิธีการศึกษาลักษณะทางกายภาพ และองค์ประกอบทางเคมีของลูกปัดแก้วด้วยเทคนิค XRF ผลการวิเคราะห์พบว่าในแหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย 

ลูกปัดแก้วไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงการติดต่อค้าขายกับอินเดีย จีน ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๕ – ๙ เป็นต้นมา แต่ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะวัตถุศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา และเป็นเครื่องบอกสถานภาพทางสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มคนผู้ใช้ลูกปัด 

นอกจากนั้น จากการวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพของลูกปัดแก้ว พบความนิยมด้านสีของลูกปัดแก้วในภาคใต้ ๑๑ สี ได้แก่ สีเหลือง สีส้ม สีแดง สีเขียว สีฟ้า สีน้ำเงิน สีม่วง สีน้ำตาล สีดำ สีขาว และแบบเส้นสี การวิเคราะห์ด้านรูปทรง พบรูปทรงลูกปัดแก้ว ๘ รูปทรง ได้แก่ ทรงกระบอก (cylinder), ทรงกระบอกสั้น (cylinder disk), ทรงกลมแบน (oblate), ทรงหลอด (tube), ทรงวงแหวน (annular), ทรงกระบอกป่อง (barrel), ทรงกลมแป้น (spherical) และทรงมีคอคอด (collared)

ส่วนการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของลูกปัดแก้ว สามารถจัดแบ่งกลุ่มแก้วได้ ๗ กลุ่ม คือ m-Na-Al, m-Na-Ca, v-Na-Ca, m-K-Ca-Al, m-K-Al, Mixed-alkali glass และ Pb 

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับลูกปัดแก้วที่พบในพื้นที่อื่นๆ ของโลก พบว่าลูกปัดแก้วในภาคใต้มีองค์ประกอบด้านรูปแบบและธาตุประกอบทางเคมีที่บ่งชี้ว่ามีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ในอินเดีย จีน และตะวันออกกลาง อันแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในภาคใต้ของไทยกับอินเดีย จีน ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงรูปแบบความนิยมและความแพร่หลายของลูกปัดแก้วในภาคใต้ของไทย ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ได้เป็นอย่างดี

‘….สำหรับหลักฐานที่แสดงถึงการติดต่อค้าขายกับตะวันออกกลาง เช่น ขวดแก้วอาหรับและเครื่องเคลือบเปอร์เซีย ลักษณะเป็นเครื่องเคลือบสีน้ำเงินหรือสีฟ้า เครื่องเคลือบประเภทนี้มีแหล่งผลิตในเปอร์เซีย (อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕) 

 

หน้าที่ 5/13

โดยพบมากตามแหล่งเมืองท่าสมัยศรีวิชัยของภาคใต้ เช่น แหล่งโบราณคดีทุ่งตึก อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และแหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบหลักฐานลูกปัดเป็นจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ สนับสนุนว่าเมืองท่าแหล่งนี้มีการติดต่อค้าขายกับอินเดียอย่างเป็นล่ำเป็นสันในสมัยศรีวิชัย เห็นได้จากการค้นพบลูกปัดชนิดต่างๆ ทั้งลูกปัดหินคาร์เนเลียน หินอาเกต หินควอตซ์ และลูกปัดแก้วซึ่งได้พบทั้งลูกปัดสีเดียว ลูกปัดหลายสี และลูกปัดมีตา ซึ่งคล้ายคลึงกับลูกปัดที่พบในประเทศอินเดีย ชุมชนโบราณสมัยทวารวดีทางภาคกลางของประเทศไทย และชุมชนเมืองท่าร่วมสมัยหลายแห่งในภาคใต้ เช่น แหล่งโบราณคดีทุ่งตึก จังหวัดพังงา แหล่งโบราณคดีท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง แหล่งโบราณคดีทุ่งตึก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และแหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา 

ลูกปัดเหล่านี้สันนิษฐานว่าในระยะแรกพ่อค้าชาวอินเดียคงนำเข้ามาเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนผู้คนในชุมชนโดยตรง โดยสามารถเข้ามาได้ทั้งจากเส้นทางน้ำและเส้นทางบกโดยการเดินทางตัดข้ามคาบสมุทรจากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออก ต่อมาภายหลังเมื่อชุมชนโบราณบางแห่งในภาคใต้เริ่มมีการผลิตลูกปัดขึ้นเอง เช่น แหล่งโบราณคดีควนลูกปัด จังหวัดกระบี่ และแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ลูกปัดจึงกลายเป็นสินค้าสำคัญที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันภายในภูมิภาคอย่างกว้างขวาง....’

บทบาทความสำคัญของแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ในฐานะเมืองท่าการค้ากับชุมชนภายนอกทั้งใกล้และไกล เมื่อพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ พบว่าเมืองท่าแห่งนี้ยังตั้งอยู่ในเส้นทางข้ามคาบสมุทร ซึ่งเป็นเส้นทางที่พ่อค้านักเดินเรือจากต่างชาติใช้เดินทางตัดข้ามจากฝั่งตะวันออกมาสู่ฝั่งอ่าวไทยได้โดยการใช้ทั้งเส้นทางบกและเส้นทางน้ำ 

‘….สำหรับเส้นทางที่ต้องออกสู่ทะเลทางอ่าวบ้านดอนบริเวณแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ ได้แก่ เส้นทางสายคลองปากลาว - อ่าวบ้านดอน เส้นทางสายปะกาไสย - อ่าวบ้านดอน เส้นทางสายคลองท่อม - อ่าวบ้านดอน โดยเฉพาะเส้นทางสายตะกั่วป่า - อ่าวบ้านดอน ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสมัยโบราณ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีหลักฐานทางโบราณคดีรองรับมากที่สุด ทั้งการค้นพบเมืองท่าริมชายฝั่งทะเลที่มีอายุร่วมสมัยกันทั้งสองฝั่ง และมีแหล่งโบราณคดีหรือโบราณสถานที่มีอายุร่วมสมัยกระจายตัวตามเส้นทางแม่น้ำภายในคาบสมุทรตลอดทั้งเส้นทาง

 

 


เส้นทางออกสู่ทะเลทางอ่าวบ้านดอนบริเวณแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ 
มีเส้นทางสายตะกั่วป่า - อ่าวบ้านดอน น่าจะเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
หน้าที่ 6/13

จากการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นสิ่งของแลกเปลี่ยนทางการค้าภายในแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ดังกล่าวมานั้น แสดงให้เห็นถึงบทบาทการเป็นเมืองท่าริมชายฝั่งทะเลที่มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนภายนอกทั้งจากซีกโลกตะวันออกและซีกโลกตะวันตก ทั้งอินเดีย จีน และตะวันออกกลาง รวมทั้งชุมชนร่วมสมัยในภูมิภาค และนอกจากนั้นหลักฐานที่พบยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ในฐานะเมืองท่าบนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรในสมัยศรีวิชัย หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๘ ด้วย….’

เมื่อมาพิจารณาถึง ‘เส้นทางศรีวิชัย: เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเกี่ยวกับสมาพันธรัฐศรีวิชัย’ โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน ได้ค้นคว้าเอกสารแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่สมาพันธรัฐศรีวิชัย โดยแบ่งเป็น ๔ พื้นที่ ๑. แหลมมลายู ๒. เกาะสุมาตรา ๓. เกาะชวา และ ๔. นอกเขตสมาพันธรัฐศรีวิชัย โดยมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับแหลมโพธิ์
 


โบราณสถานวัดแก้ว (วัดรัตนาราม) ตั้งอยู่ในตำบลเลม็ด อำเภอไชยา
จังหวัดสุราษฎร์ธานี

‘….ในแหลมมลายูมีการค้นพบโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัยในหลายจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เช่น ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีแหล่งโบราณคดี ๒ แหล่งใหญ่ๆ คือ ครหิ (ไชยา) และปัน-ปัน (แม่น้ำตาปี) ในไชยามี วัดพระบรมธาตุไชยาเป็นโบราณสถานสมัยศรีวิชัยที่ค่อนข้างสมบูรณ์ วัดแก้ว วัดหลง วัดหัวเวียง และคลองพุมเรียง และแหลมโพธิ์ ในอำเภอไชยารอบบริเวณเมืองครหิ จอห์น มิกซิค เชื่อว่าหลักฐานในแหลมโพธิ์ที่บอกว่าแหลมโพธิ์เป็นท่าเรือของไชยาได้ถูกแทนที่โดยนครศรีธรรมราช เขาศรีวิชัยในอำเภอพุนพินและอำเภอเวียงสระรอบบริเวณเมืองปัน-ปัน ในจังหวัดนครศรีธรรมราช....’ 

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญในการยืนยันถึงความเป็นเมืองท่าทางพาณิชย์นาวี คือ ซากเรือบ้านคลองยวน สำรวจพบที่บ้านเลขที่ ๑๑๙/๒ หมู่ที่ ๘ บ้านคลองยวน ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนางพรพิมล มีนุสรณ์ เจ้าของบ้านเล่าว่าได้พบซากเรือไม้ในที่ดินของตนเองระหว่างการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำใช้ทำสวนปาล์มและได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีโดยการก่อพื้นเทปูนมุงหลังคาคลุมซากเรือลำนี้ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ 
 


โบราณสถานวัดหลง ตั้งอยู่ในตำบลตลาด อำเภอไชยา
จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ภาพมุมสูง)

 

หน้าที่ 7/13

นอกจากหลักฐานตัวเรือแล้ว บริเวณที่พบซากเรือก็นับว่ามีความสำคัญทางโบราณคดีด้วยเช่นกัน เนื่องจากตั้งอยู่ไม่ห่างจากคลองท่าชนะ (๓ กิโลเมตร) ซึ่งเป็นคลองที่ไหลออกสู่อ่าวไทย ณ บริเวณที่เรียกว่าแหลมโพธิ์ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในพื้นที่แหลมโพธิ์บ่งชี้ว่า บริเวณนี้เป็นชุมชนเมืองท่าสำคัญมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ ดังสะท้อนผ่านหลักฐานการค้านานาชาติ เช่น ลูกปัดโบราณ เครื่องถ้วยจีนและเปอร์เซียที่พบ

จากการตรวจสอบพบว่า บริเวณหลังบ้านของนางพรพิมล เป็นพื้นที่สวนปาล์ม มีการขุดสระน้ำสำหรับใช้ภายในสวน ภายในมีซากของไม้เรือโบราณถูกเก็บรักษาอยู่ภายในโรงเปิดโล่งมีหลังคาคลุม ซากเรือดังกล่าวประกอบด้วยไม้ ๘๔ ชิ้น เป็นไม้กระดานขนาดยาว ไม้ที่ทำเป็นทรงแหลมสำหรับหัวเรือ และเศษไม้ที่ไม่สามารถระบุส่วนได้

ไม้กระดานเรือแต่ละแผ่น มีการเจาะรูที่ด้านสันของไม้ตลอดความยาว อีกทั้งยังพบลูกประสักหรือสลักไม้สวนอยู่ในรูบางส่วน นอกจากนี้ที่แผ่นกระดานเปลือกเรือด้านในมีการทำปุ่มสันทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้านูนออกมาจากระดับพื้นกระดาน ยาวตลอดความยาวของแผ่นเปลือกเรือ

นอกจากไม้เรือแล้ว ในบริเวณที่เป็นที่เก็บซากเรือยังพบเศษเชือกสภาพเปื่อยยุ่ยอยู่ที่พื้นและปะปนอยู่กับซากเรือ คาดว่าน่าจะเป็นเชือกที่มากับเรือ จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ สภาพของซากเรือยังอยู่ในสภาพที่แข็งแรง แต่เนื่องจากไม่ได้รับการอนุรักษ์อย่างถูกวิธีตัวเรือจึงเริ่มเสื่อมสลายผุพังไปตามกาลเวลา

เมื่อวิเคราะห์จากลักษณะของซากเรือลำนี้โดยคร่าวเป็นเรือที่ต่อด้วยเทคนิค Lashed-Lug หรือ เชือกรัดสันรูเจาะ เป็นเทคนิคแบบโบราณที่มีมานานกว่า ๑,๐๐๐ ปี พบแพร่กระจายอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทะเล

หลังจากที่นำซากเรือบ้านคลองยวนกลับมาเก็บรักษาที่สำนักงานกองโบราณคดีใต้น้ำแล้ว ได้นำตัวอย่างไม้เรือส่งไปวิเคราะห์ตรวจหาชนิดไม้และหาค่าอายุที่นำมาใช้ในการต่อเรือ ณ สํานักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ โดยส่งตัวอย่างชิ้นไม้จำนวน ๓ ชิ้น ประกอบด้วย เปลือกเรือ ๑ ชิ้น และลูกประสัก ๒ ชิ้น ผลการตรวจพิสูจน์พบว่า ไม้เปลือกเรือบ้านคลองยวนนั้นทำจากไม้ในสกุลตะเคียน (Hopea sp.) แต่ไม่ทราบชนิด และลูกประสักทำจากไม้ตะแบกเลือด (Terminalia mucronata Craib & Hutch.)

 

นอกจากการตรวจหาชนิดไม้แล้ว กองโบราณคดีใต้น้ำยังนำตัวอย่างจากตัวเรือไปหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี Accelerator Mass Spectrometry (AMS) ณ ห้องปฏิบัติการในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย โดยส่ง ๓ ตัวอย่าง ประกอบด้วย ไม้เปลือกเรือ เศษเชือก และลูกประสัก ซึ่งผลของค่าอายุที่ได้บ่งชี้ว่า เรือบ้านคลองยวนมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (คริสต์ศตวรรษที่ ๙)

จากการวิเคราะห์รูที่สันไม้กระดาน (dowel & lashing holes) เปลือกเรือแต่ละแผ่นที่พบมีการเจาะรูที่ด้านสันของไม้กระดานยาวไปตลอดแนวของไม้เปลือกเรือและพบมีลูกประสักเสียบอยู่ในรูที่ถูกเจาะ จากการพินิจแล้วพบว่า การเจาะรูสันเปลือกเรือมีรูปแบบที่ซ้ำกันชัดเจน จากข้อมูลของเรือประเภทเดียวกันที่พบในต่างประเทศ เช่น แหล่งเรือ Punjurhajo บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซียนั้น พบเปลือกเรือเป็นไม้แผ่นเดียวยาวตลอดลำเรือ จึงพอสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีลักษณะเหมือนกัน
 


ไม้กระดานกระดูกงู จากแหล่งเรือจมบ้านคลองยวน
ที่มา: กรมศิลปากร-เรือบ้านคลองยวน
หน้าที่ 8/13

การยืนยันถึงความเป็นเมืองท่าพาณิชย์นาวีของแหลมโพธิ์ที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักความน่าเชื่อถือทางการวิจัยทางภูมิวัฒนธรรม คือ เครื่องถ้วยจีนพบจากการขุดค้นทางโบราณคดี ณ โบราณสถานวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

จากการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี โบราณสถานวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญหลายประการ เช่น แนวอิฐ ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินกึ่งมีค่า ชิ้นส่วนเครื่องแก้วสีเขียว อิฐบัว อิฐดินเผา ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินมีลายกดประทับ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (พุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๙) ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐) เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๒) ที่น่าสนใจคือพบว่าชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่โบราณสถานที่ต่อเนื่องยาวนานหลายสมัย จากการขุดค้นพบเครื่องถ้วยจีนทั้งหมด ๑๐๖ ชิ้น สามารถกำหนดอายุได้ ๓ สมัย ได้แก่

 ๑. สมัยราชวงศ์ซ่ง พุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๙ ส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาเคลือบสีเขียว มีแหล่งผลิตจากเตาถงอัน มณฑลฝูเจี้ยน และเตาหลงเฉวียน มณฑลเจ้อเจียง โดยการส่งออกเครื่องปั้นดินเผาในระยะนี้มักพบบริเวณภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย

๒.  สมัยราชวงศ์หยวน พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ ส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาเคลือบสีเขียว มีแหล่งผลิตจากเตาหลงเฉวียน มณฑลเจ้อเจียง โดยการส่งออกเครื่องปั้นดินเผาในระยะนี้มักพบบริเวณภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทยมากกว่าภาคใต้ ซึ่งก็สอดคล้องกับจำนวนเครื่องถ้วยจีนที่พบในหลุมขุดค้นที่มีปริมาณน้อยสุดในบรรดาราชวงศ์ต่างๆ ที่กำหนดอายุได้

๓. สมัยราชวงศ์หมิง พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๒ ส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาประเภทลายคราม โดยมีแหล่งผลิตจากเตาผิงเหอ มณฑลฝูเจี้ยน และเตาจิ่งเติ๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี โดยการส่งออกเครื่องปั้นดินเผาในระยะนี้มักพบบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของประเทศไทย

จากการขุดค้นพบเครื่องถ้วยจีนดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างโบราณสถานวัดหลง กับจีนสมัยราชวงศ์สุ้งถึงสมัยราชวงศ์หมิง รวมทั้งชุมชนโบราณร่วมสมัยแห่งอื่นๆ ทั้งในอำเภอไชยา และในคาบสมุทรภาคใต้ของไทย เช่น โบราณสถานวัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ แหล่งโบราณคดีทุ่งตึก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา คลองท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเมืองสทิงพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีการค้นพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์สุ้งและสมัยราชวงศ์หยวน 

นอกจากนี้ ด้วยลักษณะทำเลที่ตั้งของโบราณสถานวัดหลงซึ่งตั้งอยู่ริมเส้นทางน้ำ ยังเหมาะสมต่อการตั้งชุมชน (โดยพบว่าชุมชนสำคัญในไชยามักตั้งถิ่นฐานอยู่บนแนวสันทรายไชยา และแนวลำคลองไชยา เช่น วัดพระบรมธาตุไชยาฯ วัดแก้ว วัดเวียง และวัดศาลาทึง) และเอื้อต่อการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนโบราณแห่งอื่นๆ ทั้งในอำเภอไชยา และชุมชนภายนอกจากที่เข้ามาทางฝั่งทะเลตะวันออก โดยมีแหลมโพธิ์เป็นเมืองท่าการค้าสำคัญซึ่งสามารถติดต่อกับต่างชาติได้โดยตรง เนื่องจากอยู่ริมชายฝั่งทะเล และมีบริเวณที่เป็นอ่าวขนาดใหญ่ซึ่งเหมาะแก่การจอดเรือสินค้า ทำให้มีโอกาสรับวัฒนธรรมที่หลากหลายจากบ้านเมืองภายนอกเข้ามา

หน้าที่ 9/13

ดังปรากฏจากหลักฐานโบราณสถาน และโบราณวัตถุทั้งที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนา และโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น สินค้าจากจีน (ดังมีการค้นพบเครื่องถ้วยจีนหลากหลายสมัยในวัดหลง และชุมชนโบราณแห่งอื่นๆ ในอำเภอไชยา) อินเดีย และตะวันออกกลาง ด้วยความเหมาะสมด้านทำเลที่ตั้งและการเข้ามาของวัฒนธรรมจากต่างชาติดังกล่าว จึงส่งผลให้ชุมชนโบราณไชยามีพัฒนาการและเจริญรุ่งเรืองขึ้นจนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและศาสนาที่สำคัญในสมัยศรีวิชัย และมีการใช้พื้นที่สืบมาจนถึงสมัยหลัง

เมื่อนำมาประมวลผนวกเข้ากับโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) สำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งพบซากเรือบริเวณแหลมโพธิ์แสดงให้เห็นว่าคงเป็นที่จอดเรือของชาติต่างๆ อาจมีการพักชั่วคราว เพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับเมืองโบราณไชยา ทั้งหาเสบียงอาหารและน้ำจืด เพื่อทำการเดินเรือค้าขายกับชาติอื่นไกลออกไป และได้ขุดค้นเป็นหลุมทดสอบเพื่อสุ่มตัวอย่าง ๒ หลุมจากการศึกษาหลักฐานที่ขุดพบ แหลมโพธิ์เป็นเมืองท่าทางพาณิชย์นาวีที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ และคงสืบเนื่องถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาด้วย

หลักฐานที่พบมีโบราณวัตถุสำคัญที่ได้จากการขุดค้น คือ ๑. ลูกปัด พบจำนวนมากกว่าร้อยละ ๙๐ เป็นลูกปัดแก้ว นอกนั้นเป็นจำพวกหินอะเกต และคาร์เนเลียน รูปทรงเป็นแบบกลองรำมะนาเจาะรู พบมากที่สุด รองลงมาเป็นแบบวงแหวนทรงรูปไข่ ทรงกระบอก ส่วนใหญ่มีสีเหลือง น้ำเงิน ฟ้า และดำ ๒. เหรียญจีน เป็นเหรียญเงินสมัยราชวงศ์ถัง ลักษณะเป็นเหรียญกลม เจาะรูตรงกลางเป็นรูปสี่เหลี่ยม ๓. เครื่องถ้วย พบเครื่องถ้วยพื้นเมืองเปอร์เซียและจีน การกำหนดอายุสมัยซึ่งกำหนดอายุจากเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕) เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘) แหล่งเมืองท่าทางพาณิชย์นาวีแหลมโพธิ์คงมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ และคงสืบเนื่องมาถึงสมัยอยุธยาด้วย

อีกผลงานวิจัยที่สำคัญคือ การศึกษาเครื่องแก้วจากแหล่งโบราณคดีชายฝั่งทะเลในภาคใต้ของประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ที่ศึกษาองค์ประกอบทางเคมี แหล่งผลิต บทบาทหน้าที่ การกำหนดอายุของวัตถุที่พบ และสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงการค้าในยุคอินโด-โรมัน ที่มีการติดต่อระหว่างซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออก เป็นการนำเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ร่วมกับงานทางด้านโบราณคดี โดยแหล่งโบราณคดีที่พบเครื่องแก้ว มีทั้งสิ้น ๗ แหล่ง ได้แก่ แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง, นางย่อน, ทุ่งตึก, คลองท่อม, เขาศรีวิชัย, ท่าชนะ (วัดอัมพาวาส) และแหลมโพธิ์ 

กระบวนการวิจัยนี้ได้ใช้การตรวจสอบโดยเครื่องสแกนนิ่งอิเล็กตรอนไมโครสโคปพร้อมด้วยอุปกรณ์ติดตั้งเอ็กซ์เรย์ (SEM-EDX) ธาตุองค์ประกอบสามารถแบ่งได้เป็นธาตุหลักและธาตุรอง มี ๑๕ องค์ประกอบ ได้แก่ ซิลิกอน (Si), อะลูมิเนียม (Al), แคลเซียม (Ca), โซเดียม (Na), โปรแตสเซียม (K), แมกนีเซียม (Mg), ไททาเนียม (Ti), ตะกั่ว (Pb), แมงกานีส (Mn), คอปเปอร์ (Cu), ดีบุก (Sn), โคบอลต์ (Co), โครเมียม (Cr), สังกะสี (Zn) และแบเรียม (Ba) ผลการศึกษาสามารถแบ่งกลุ่มภาชนะแก้วได้ ๕ กลุ่ม คือ กลุ่มแก้วโซดา, กลุ่มแก้วโปแตส, กลุ่มแก้วที่มีแคสเซียมสูง อะลูมิเนียมนาต่ำ และแก้วตะกั่ว ซึ่งสัมพันธ์กับแหล่งที่พบเครื่องแก้วทั้งซีกโลกตะวันออกและตะวันตก 

ดังนั้น การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเคมีของเครื่องแก้วทำให้สันนิษฐานได้ว่าแหล่งโบราณคดีเหล่านี้มีบทบาทเป็นเมืองท่าทางการค้ามาตั้งแต่สมัยยุคอินโด-โรมัน (พุทธศตวรรษที่ ๕ - ๙) จนกระทั่งถึงสมัยประวัติศาสตร์ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖) แสดงให้เห็นว่าเป็นเครือข่ายเส้นทางการค้าระหว่างซีกโลกตะวันตกและตะวันออกซึ่งพบว่าสัมพันธ์กับยุโรป ตะวันออกกลาง อินเดียและจีน นอกจากการตรวจสอบระหว่างชิ้นส่วนภาชนะแก้ว เศษแก้ว และก้อนแก้ว พบว่ามีความเป็นไปได้ที่มีการนำชิ้นส่วนภาชนะแก้วกลับมาหลอมใหม่อีกครั้งเพื่อทำลูกปัดแก้ว
 


ตัวอย่างชิ้นส่วนแก้ว ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา
หน้าที่ 10/13

บริเวณแหลมโพธิ์เป็นสันทรายขนาดใหญ่ มีคลองพุมเรียงไหลผ่าน สภาพทั่วไปเป็นป่าโปร่ง บริเวณใกล้ปากน้ำเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน และที่จอดเรือของชาวประมง ทางด้านทะเลฝั่งตะวันออกเป็นดินโคลน มีป่าโกงกางขึ้นอยู่ทั่วไป จากปลายแหลมเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร มีซากโบราณสถานก่ออิฐ ๑ แห่ง แต่ปัจจุบันพังทลายไปมากแล้ว ใกล้ ๆ กันเป็นบ่อน้ำรูป ๖ เหลี่ยม พบเสาธรณีประตูทำด้วยหินปูน พ.ศ. ๒๕๓๔ โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) สำรวจพบซากเรือบริเวณแหลมโพธิ์และได้พบโบราณวัตถุต่างๆ เช่น เศษเครื่องถ้วยต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า คงเป็นที่จอดเรือของชาติต่าง ๆ โดยอาจมีการพำนักชั่วคราวเพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับเมืองโบราณไชยา ทั้งหาเสบียงอาหารและน้ำจืด เพื่อทำการเดินเรือค้าขายกับชาติอื่นไกลออกไป 

เมื่อนำมาสรุปภาพทั้งหมดของแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่มีสภาพภูมิศาสตร์ที่เกื้อหนุนในการเป็นที่จอดเรือเพื่อซ่อมแซมเรือและหาเสบียง ตลอดจนขนถ่ายสินค้าแลกเปลี่ยนกับชุมชนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ โดยมีคลองพุมเรียงเป็นเส้นทางสำคัญในการขนถ่ายสินค้า 



บริเวณแหลมโพธิ์เป็นสันทรายขนาดใหญ่ มีคลองพุมเรียงไหลผ่าน
สภาพทั่วไปเป็นป่าโปร่ง ใกล้ปากน้ำเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน และที่จอดเรือของชาวประมง

หลักฐานที่พบแสดงถึงกิจกรรมการค้าขายทางทะเลอย่างน้อยตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังเป็นต้นมา สินค้าขาเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องถ้วยชามจีนมีแหล่งผลิต จากเตาฉางชา มณฑลหูหนาน เตาหยังเหม่ติง ในเขตจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี เตายั่ว มณฑลเจ้อเจียง เตามีเสียน มณฑลเหอหนาน และเตากงเสียน มณฑลเหอหนาน 

ส่วนสินค้าประเภทแพรไหมไม่เหลือสภาพให้เห็น แต่สันนิษฐานว่าคงเป็นสินค้าสำคัญที่นำเข้ามาจากเมืองจีน  สำหรับสินค้าส่งออกน่าจะได้แก่สินค้าพื้นเมืองประเภทเครื่องเทศสมุนไพร ไม้หอม ผลิตภัณฑ์จากป่าและสัตว์ป่า ที่เหลือหลักฐานว่า น่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น คืออุตสาหกรรมการผลิตลูกปัดแก้ว 

แม้ว่าวัตถุดิบประเภทเศษแก้ว หรือเศษภาชนะเครื่องแก้วเล็กๆ จะเป็นของนำเข้า แต่ก็มีหลักฐานว่าผลิตขึ้นเองในท้องถิ่น และมีปริมาณมากเพียงพอที่จะจัดได้ว่า น่าจะเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ตลาดค้าลูกปัดน่าจะมีทั้งตลาดภายนอก หมายถึงเป็นสินค้าส่งออกไปยังดินแดนห่างไกล เช่น ดินแดนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เมืองท่าต่างๆ ในคาบสมุทรมลายูทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมไปถึงดินแดนโพ้นทะเลด้วย 

ส่วนตลาดภายในหมายถึงชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงลึกเข้าไปในภาคพื้นทวีป หรือเมืองท่าในลุ่มน้ำต่างๆ เช่น ชุมชนเมืองท่าที่แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย แหล่งโบราณคดีควนพุนพิน ในเขตลุ่มน้ำตาปี เป็นต้น 

แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์จึงมีลักษณะเป็นเมืองท่า หรือแหล่งรวมสินค้าที่นำเข้าและส่งออก การแพร่กระจายของโบราณวัตถุซึ่งเป็นของจากต่างประเทศ ทำให้ทราบถึงขอบข่ายการค้าที่ครอบคลุมคาบสมุทรมลายู รวมไปถึงเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรอันเป็นที่ตั้งชุมชน เมืองท่าฝั่งทะเลอันดามัน เช่น แหล่งโบราณคดีเหมืองทอง บ้านทุ่งตึก ตำบลเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นต้น 

เส้นทางการค้านี้ครอบคลุมบรรดาหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนตอนใต้ รวมไปถึงเส้นทางการเดินเรือสินค้าจากจีนไปยังตะวันออกกลาง หรือเป็นที่รู้จักกันในนามเส้นทางสายแพรไหมทางทะเลด้วย อายุสมัยกำหนดอายุจากเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕) เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ ) แหล่งเมืองท่าทางพาณิชย์นาวีที่แหลมโพธิ์ คงมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ และคงสืบเนื่องมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาด้วย

หน้าที่ 11/13

การศึกษาทางด้านโบราณคดีของเมืองไชยา โดยการสำรวจและขุดค้นบริเวณแหลมโพธิ์ ทำให้ทราบถึงการพัฒนาของชุมชนโบราณเมืองไชยาได้เป็นอย่างดี ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บริเวณเมืองไชยานั้นมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ การตั้งชุมชน เมืองยุคติดต่อทางวัฒนธรรมกับภายนอก ยุคติดต่อสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับต่างชาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

จากหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่ได้จากการสำรวจขุดค้นบริเวณแหลมโพธิ์ จะเห็นได้ว่าพบเครื่องถ้วยพื้นเมือง เครื่องถ้วยจีน ลูกปัด เศษแก้วอาหรับ เป็นจำนวนมาก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งที่ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นสถานีการค้า และมีความสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่พุมเรียง บริเวณสันทรายเมืองไชยา อันเป็นที่ตั้งของโบราณสถานวัดแก้ว วัดหลง และวัดเวียง

สำหรับโบราณวัตถุต่างๆ ยังพบกระจัดกระจายทั่วไปบริเวณคาบสมุทร อาทิ บริเวณเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา, ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่, ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น



ขวานหินขัดรูปแบบต่างๆ พบจากอำเภอไชยา
จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา

 

นอกไปจากนั้นยังพบบริเวณภาคตะวันออกกลาง ที่เมืองซีราฟ บริเวณอ่าวเปอร์เซีย เมืองนิชาปูร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเปอร์เซีย บริเวณชวาภาคกลาง เช่นที่ จันทิปราบานัน จันทิบุโรพุทโธ บูเก็ต เซกุนตัง เกาะสุมาตรา ในประเทศอินโดนีเซีย และบริเวณบริเวณทางเหนือของประเทศศรีลังกาอีกด้วย น่าสังเกตว่าจากการขุดค้นนั้น พบเครื่องถ้วยจีนและเปอร์เซียที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ไม่พบเครื่องถ้วยที่อยู่ในรุ่นหลังกว่านี้ จึงมีการตั้งข้อสมมติฐานว่า ได้มีการย้ายสถานีการค้าของฝั่งทะเลด้านตะวันออกจากแหลมโพธิ์ไปยังบริเวณอื่นของคาบสมุทร หรือภูมิภาคอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคต่อมา

นอกไปจากนั้นยังพบเครื่องมือหินแบบต่างๆ บริเวณตำบลปากหมาก ใกล้ต้นน้ำคลองไชยา ทั้งยังพบกลองมโหระทึก และประติมากรรมต่างๆ ที่มีอิทธิพลของศิลปะอินเดียผสมผสานกับศิลปะพื้นถิ่นเหล่านี้ ล้วนแต่ชี้ให้เห็นชัดว่า บริเวณเมืองโบราณไชยามีพัฒนาการทางด้านการตั้งชุมชนและมีการติดต่อกับภายนอกเรื่อยมา จนกลายเป็นเมืองท่า หรือเมืองสำคัญของบริเวณคาบสมุทรสยามเทศะนี้มาโดยตลอด
 


กลองมโหระทึก พบจากอำเภอไชยา
จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา
​​​​​​​
หน้าที่ 12/13

อ้างอิง 

'ศรีวิชัยที่ไชยา' โดย ศรีศักร วัลลิโภดม วารสารเมืองโบราณ ฉบับที่ ๔๕.๒ เดือนเมษายน - มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒

‘แหลมโพธิ์ เมืองท่าการค้าสมัยศรีวิชัย’ โดย นภัคมน ทองเฝือ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

‘แหลมโพธิ์ แหล่งเศรษฐกิจของศรีวิชัย’ โดย ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

'แหลมโพธิ์: การศึกษาเครื่องถ้วยต่างประเทศที่เกี่ยวกับด้านการค้าที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ' โดย เขมชาติ เทพไชย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

'หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเกี่ยวกับสมาพันธรัฐศรีวิชัย' โดย ดร. เกียรติกำจร มีขนอน วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร

'โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช เล่ม ๒: สุราษฎร์ธานี. นครศรีธรรมราช' โดย สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช  กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๔

'พัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี' โดย เพลงเมธา ขาวหนูนา วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๗

'เครื่องถ้วยจีน พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี ณ โบราณสถานวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี' โดยสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

'การศึกษาเครื่องแก้วจากแหล่งโบราณคดีชายฝั่งทะเลในภาคใต้ของประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๖' โดย ญาติมา ทองคำ วิทยานิพนธ์ของบัณฑิตวิทยาลัย สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๕๒

 

คำสำคัญ : แหลมโพธิ์,เมืองท่าการค้าโบราณ,แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์,อำเภอไชยา,จังหวัดสุราษฎร์ธานี

'เรือบ้านคลองยวน ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี' กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

‘ลูกปัด ภาพสะท้อนทางความเชื่อ สังคม และเศรษฐกิจโบราณในคาบสมุทรภาคใต้: กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี’ โดย นภัคมน ทองเฝือ, สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

‘องค์ประกอบของภูมิทัศน์วัฒนธรรมเมืองโบราณไชยา สุราษฎร์ธานี’ โดย วิภากร ธรรมวิมล พรธรรม ธรรมวิมล ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาระศาสตร์ ฉบับที่ ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

‘การค้าขายทางทะเลระหว่างเมืองโบราณสมัยทวารวดีกับประเทศจีนและภูมิภาคตะวันออกกลาง’ โดย ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร Veridian E-Journal ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๒ เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๘

พรเทพ เฮง
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกโบราณคดี รุ่น ๓๘ ทำงานด้านสื่อ ด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และสาระบันเทิงมาค่อนชีวิต
หน้าที่ 13/13