‘เขาพระพุทธบาท สระบุรี’ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สถานเพื่อแสวงบุญที่สำคัญที่สุดของพระราชอาณาจักร
วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญของจังหวัดสระบุรี มีรอยพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี ประดิษฐานบนไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเรียกกันว่า ‘เขาสัจจพันธคีรี’ ปัจจุบันอยู่ในตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีขนาดกว้าง ๒๑ นิ้ว ยาว ๕ ฟุต และลึก ๑๑ นิ้ว ค้นพบในรัชสมัยของ พระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๖๓ – ๒๑๗๑) ประดิษฐานอยู่ในมณฑปน้อย อันมีพระมณฑปใหญ่สวมครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง
‘เขาพระพุทธบาท สระบุรี’ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สถานเพื่อแสวงบุญที่สำคัญที่สุดของพระราชอาณาจักร
พรเทพ เฮง
รอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
มีขนาดกว้าง ๒๑ นิ้ว ยาว ๕ ฟุต และลึก ๑๑ นิ้ว
วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญของจังหวัดสระบุรี มีรอยพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี ประดิษฐานบนไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเรียกกันว่า ‘เขาสัจจพันธคีรี’ ปัจจุบันอยู่ในตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีขนาดกว้าง ๒๑ นิ้ว ยาว ๕ ฟุต และลึก ๑๑ นิ้ว ค้นพบในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๖๓ – ๒๑๗๑) ประดิษฐานอยู่ในมณฑปน้อย อันมีพระมณฑปใหญ่สวมครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง
รอยพระพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของประเทศ ตามคติอินเดียถือเป็นอุทเทสิกเจดีย์อย่างหนึ่งมาแต่โบราณ ภายหลังพุทธกาลไม่นานนัก โดยสร้างขึ้นเพื่ออุทิศต่อพระพุทธเจ้า เป็นของนับถือแทนพระพุทธรูป คือเป็นของเนื่องในตถาคตเจ้า เหมือนกับสังเวชนีย-สถาน ๔ แห่ง ได้แก่ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน รอยพระพุทธบาท ซึ่งอ้างกันว่าเป็นรอยที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปเหยียบไว้ ด้วยพระองค์เอง มีอยู่ ๕ แห่ง ซึ่งก็มีตำนานต่าง ๆ กัน คือ ๑. เขาสุวรรณมาลิก ๒.เขาสุมนกูฏ ๓. เมืองโยนก ๔. หาดทรายในลำน้ำนัมมทานที และ ๕. เขาสุวรรณบรรพต
พระมณฑปน้อยที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท สร้างสมัยพระเจ้าทรงธรรม แต่เดิมมีทองคำหุ้มอยู่ ต่อมาได้ถูกพวกจีนที่อาสาต่อสู้กับพม่า ลอกเอาทองคำไป แล้วยังเผาพระมณฑปด้วย รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ และได้รับการปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมในรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔
ส่วนพระมณฑปใหญ่ สร้างในสมัยพระเจ้าทรงธรรมเดิมเป็นพระมณฑปยอดเดียว ได้รับการเปลี่ยนแปลงเครื่องบนให้เป็นพระมณฑป ๕ ยอด ในรัชกาลพระเจ้าเสือ (พ.ศ. ๒๒๔๖ – ๒๒๕๑) แต่การปฏิสังขรณ์ได้ตกค้างมาจนถึงรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. ๒๒๕๑ – ๒๒๗๕)
ครั้นในรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงเปลี่ยนให้เป็นมณฑปยอดเดียวอีก ต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนยอดจากไม้เป็นคอนกรีตทั้งองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๕ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม ได้จัดการซ่อมครั้งหลังสุด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๔๗๘ สูงประมาณ ๓๗.๒๕ เมตร เครื่องบนและเสาลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกสีต่างๆ รอบผนังด้านนอก ประดับด้วยทองแดงฉลุลายเทพพนมบนกระจกสีน้ำเงิน ผนังด้านในถือปูนถึง ๓ ชั้น ชั้นแรก ถือปูนแล้วทาสีแดง เชื่อกันว่าทำในสมัยรัชกาลที่ ๑ ชั้นที่ ๒ ถือปูนแล้วปิดทองทึบ ทำในสมัยรัชกาลที่ ๓ และชั้นที่ ๓ ที่เห็นในปัจจุบัน ประดับลายทองเป็นรูปพระเกี้ยว ปูลาดด้วยแผ่นเงิน เปลี่ยนเป็นเสื่อเงิน สมัยรัชกาลที่ ๔
งานนักขัตฤกษ์ประจำปีของเทศกาลพระพุทธบาท มี ๒ ช่วง คือ ช่วงขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ครั้งหนึ่ง กับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ อีกครั้งหนึ่ง ตามคติของคนโบราณเชื่อกันว่า รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก หากได้มานมัสการรอยพระพุทธบาทนี้ครบ ๗ ครั้ง จะได้ไปจุติในสรวงสวรรค์ แม้แต่ในชาติภพนี้ อานิสงส์ผลบุญก็จะส่งให้ชีวิตมีความสำเร็จสมหวังทุกประการ
วัดพระพุทธบาท ถือเป็นพระอารามสำคัญของแผ่นดิน ที่พระมหากษัตริย์ทุกรัชสมัย โปรดให้บูรณ-ปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด ครั้งหลังสุดสำนักงานทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์ได้ร่วมกับวัดพระพุทธบาท จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์มณฑปพระพุทธบาท พระวิหารพระพุทธบาทสี่รอย และศาลาเปลื้องเครื่อง โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ เสร็จทั้งหมดในปี พ.ศ. ๒๕๖๑
วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๗ สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ผู้สร้างคือสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นไว้ มูลเหตุที่จะทรงโปรดให้สร้างวัดนี้ เพราะสืบเนื่องมาจากพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นรอยพระพุทธบาทประดิษฐาน ณ ที่ตรงนั้น ทรงพระเจริญพระราชศรัทธาเลื่อมใสยิ่งนัก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างก่อเป็นคฤห์ (เรือนน้อย) สวมรอยพระพุทธบาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อน
ภายหลังจากได้เสด็จพระราชดำเนินกลับถึงราชธานี จึงเริ่มงานสถาปนายกสถานที่พระพุทธบาทนั้นขึ้นเป็นพระมหาเจดียสถานและโปรดให้สร้างพระมหามณฑปครอบรอยพระพุทธบาท พร้อมกับโปรดให้เจ้าพนักงานสร้างพระอาราม สำหรับพระภิกษุสามเณรอยู่อาศัยเป็นประจำ เพื่อดูแลรักษาพระมหาเจดียสถานพร้อมกับบำเพ็ญสมณธรรมสืบไป
ปัจจุบันนี้ บริเวณพระอารามซึ่งกว้างขวางใหญ่โต ได้แบ่งออกเป็นสองเขตเพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา คือเขตพุทธาวาสเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาท พระอุโบสถและปูชนียสถานอื่นๆ ที่อยู่บนไหล่เขาตลอดลงมาถึงเชิงเขา เขตสังฆาวาสเป็นที่อยู่จำพรรษาของพระภิกษุสามเณร มวลหมู่กุฎีพร้อมทั้งศาลาการเปรียญตั้งอยู่ที่บริเวณพื้นดินติดกับเขตพุทธาวาส ทั้งสองเขตมีกำแพงล้อมรอบเป็นสัดส่วน มีถนนคั่นกลางระหว่างเขต เพราะเหตุว่าวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท จึงได้รับพระราชทานนามมาแต่เดิมว่า วัดพระพุทธบาท แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปนิยมเรียกสั้นๆ ว่า วัดพระบาท
สำหรับตำนานพระพุทธบาทนี้ มีปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวไว้ในปุณโณวาทสูตร พร้อมทั้งมีอรรถกถาขยายความของพระสูตรนี้ออกไปอีกมากมาย คำให้การของขุนโขลน ซึ่งพิมพ์ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗ บันทึกเกี่ยวกับ รอยพระพุทธบาทไว้ว่า
‘….รัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม มีพระสงฆ์ไทยพวกหนึ่ง เดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ ลังกาทวีป พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ จึงตรัสแก่คณะสงฆ์ไทยว่า รอยพระพุทธบาทที่อยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา บนยอดเขาสุวรรณบรรพต ทิศเหนือกรุงศรีอยุธยา พร้อมกับทรงพระราชอักษรเป็นราชสาส์นถวายมายังพระเจ้าทรงธรรม เมื่อพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ได้ทราบความในพระราชสาส์นของพระลังกาแล้ว จึงมีพระราชโองการตรัสแก่เสนาบดีให้ออกป่าวร้อง แก่ประชาราษฎร์ให้เที่ยวค้นหารอยพระพุทธบาท ให้จงได้
เขตพุทธาวาสเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาท พระอุโบสถและปูชนียสถานอื่นๆ
ที่อยู่บนไหล่เขาตลอดลงมาถึงเชิงเขา
นายพรานผู้หนึ่งชื่อบุญ เที่ยวยิงเนื้อในแคว้น ปะรัตนครราชธานี นายพรานนี้ถือสัตว์มั่นคง จะยิงตัวดำ ถ้าตัวแดงขวางก็ไม่ยิง ถ้าจะยิงตัวเมีย ตัวผู้มาขวาง ก็ไม่ยิง วันหนึ่งนายพรานยิงเนื้อตาย พอพระฤๅษีลงไป สรงน้ำที่ท่าวัด นายพรานจึงสั่งพระฤๅษีว่าช่วยบอกพระคงคาให้ไหลขึ้นมาจะล้างเนื้อ พระฤๅษีจึงว่า ตนเองสวดมนต์ภาวนาอยู่ทุกวันค่ำเช้ามิได้ขาด ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ก็ไม่เคยเรียกพระคงคาไหลขึ้นมาบนเขาได้ ต้องลงไปอาบน้ำถึงท่าวัด แต่นายพรานฆ่าสัตว์อยู่เป็นนิจ จะสั่งให้พระคงคาไหลขึ้นมาหาถึงบนเขาได้อย่างไร นายพรานจึงให้ไปบอก
เมื่อพระฤๅษีลงไปที่ท่าวัด และบอกแก่พระคงคาตามสั่ง พระคงคาก็ไหลขึ้นไปที่นายพรานยิงเนื้อไว้นั้น นายพรานจึงยกเอาก้อนศิลากั้นน้ำไว้ให้เป็นขอบคันบ่ออยู่ นายพรานจึงล้างเนื้อในบ่อนั้น จนกลายเป็นบ่อพรานล้างเนื้อในปัจจุบัน
ต่อมาวันหนึ่ง นายพรานยิงเนื้อจนบาดเจ็บ มันหลบหนี ขึ้นไปบนไหล่เขา ปรากฏว่าเนื้อนั้นกลับหายจากบาดเจ็บเป็นปกติ นายพรานเห็นประหลาดจึงเข้าไปดูในสถานที่นั้น เห็นศิลานั้นเป็นลิ้นถอด มีน้ำขังอยู่ไม่มาก แต่พอเนื้อได้ดื่มกิน นายพรานจึงตักน้ำ มาดื่มและลูบกาย เกลื้อนกลากก็หายไป นายพรานจึงชักลิ้นศิลาถอดที่ปิดฝ่าพระพุทธบาทนั้นออก ตักน้ำให้แห้ง จึงได้เห็นพระลายลักษณ์เป็นกงจักรปรากฏอยู่ นายพรานคิดว่าเป็นรอยของคนโบราณ จึงมิได้บอกเล่าผู้ใด
ภาพตัวอย่างการเสด็จพยุหยาตราทางน้ำ ทำให้เกิดขบวนเรือพระที่นั่งต่างๆ
และเรือรูปสัตว์นานาชนิดที่งดงาม
ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพพิธี
เมื่อข้าหลวงกรมการเมืองพบนายพรานจึงไต่ถาม นายพรานจึงเล่าให้ฟัง แล้วนำขึ้นไปยังรอยพระพุทธบาท และพากันไปกราบทูลพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงทราบว่า รอยพระพุทธบาท สถิตอยู่เหนือยอดเขาสุวรรณบรรพต จึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อเป็นฝาผนังหลังคามุงกระเบื้องอย่างวัดเจ้าพระยาเชิง (วัดพนัญเชิง อยุธยา) ให้เป็นร่มพระบาทไว้ ตั้งให้นายพรานเป็นขุนสัจจพันธ์คีรีนพคูหาพนมโขลน นับแต่นั้นมา...’
ปัจจุบัน ภูมิทัศน์และภูมิวัฒนธรรมของเขาพระพุทธบาทได้แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ‘แสนเสียดายเขาพระพุทธบาท’ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้เขียนบทความโบราณคดีเชิงวิพากษ์ถึงเขาพระพุทธบาทที่สระบุรี ไว้อย่างลุ่มลึกว่า
‘….ในประวัติศาสตร์อยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ‘เขาพระพุทธบาท’ คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่แวดล้อมไปด้วยความงามของป่าเขา ห้วยธาร พันธุ์ไม้ และสัตว์ป่านานาชนิด เป็นสถานที่แสวงบุญที่สำคัญของพระราชอาณาจักร เกิดศิลปวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางอารยธรรม นั่นคือการเสด็จพระราชดำเนินทั้งพยุหยาตราทางน้ำและทางบกจากพระนครศรีอยุธยามายังพระพุทธบาท
การเสด็จฯ พยุหยาตราทางน้ำทำให้เกิดขบวนเรือพระที่นั่งต่างๆ และเรือรูปสัตว์นานาชนิดที่งดงาม และเป็นมรดกตกทอดลงมาจนทุกวันนี้ ขบวนเรือจะเห่กล่อมกันมาตามลำน้ำป่าสักจากอยุธยา มาขึ้นบกที่อำเภอท่าเรือ จากนั้นก็เป็นขบวนช้าง ม้า รถ และคนเดินไปตามถนนที่ให้พวกฝรั่งมาส่องกล้องตัดให้ผ่านป่าดงไปยังพระพุทธบาท เพื่อที่พระมหากษัตริย์และเจ้านายจะได้นมัสการพระพุทธบาท
การโดยเสด็จฯ ทางน้ำและทางบกนี้ เป็นการชมน้ำ ชมปลา ชมนก ชมไม้ ชมป่าเขาไปในตัวเอง เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ เขาพระพุทธบาท ก็มีการสร้างพระตำหนักหลายแห่งเพื่อการประทับพักอิริยาบถของพระมหากษัตริย์ เจ้านาย และข้าราชบริพาร นับเป็นเวลาหฤหรรษ์ที่ระคนไปกับการทำบุญแสวงบุญ จนเป็นเหตุให้เกิดพระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์ และบทกวีของกษัตริย์ เจ้านาย และขุนนางมากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร อันเป็นที่รู้จักกันทั่วไป แม้แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็เกิดนิราศขึ้นหลายเรื่อง เช่น นิราศพระบาทของสุนทรภู่ เป็นต้น
เขาพระพุทธบาทคือภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนประชาชนทั่วไปพากันเดินทางมาทั้งทางรถ ทางเท้า เพื่อแสวงบุญ ในฤดูกาลจะแออัดไปด้วยผู้คนทุกชั้นทุกวัยและทุกหนแห่ง เพราะมีความเชื่อกันว่า ถ้าผู้ใดไปไหว้พระพุทธบาทถึงเจ็ดครั้งแล้วตายไปจะไม่ตกนรกขึ้นสวรรค์ได้เลย....
อาจารย์ศรีศักร ให้ข้อมูลและสังเคราะห์เชื่อมโยงทางภูมิวัฒนธรรมให้เห็นโครงร่างภาพของอาณาจักรและความเชื่อความศรัทธาผ่านภูมินามเมืองว่า คนทั่วไปรับรู้เรื่องพระพุทธบาทจากหลักฐานทางพงศาวดารและตำนานเพียงแค่รัชกาลพระเจ้าทรงธรรมในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ โดยมีการกล่าวว่า ทางลังกาบอกมาว่ามีรอยพระพุทธบาทที่เขาสุวรรณบรรพตในเมืองไทย ซึ่งมีการประกาศหา และในที่สุดก็มีพรานบุญเป็นผู้พบที่ภูเขาในเขตจังหวัดสระบุรี
‘….พระมหากษัตริย์จึงเสด็จฯ ไปนมัสการ ทรงสร้างพระมณฑปครอบ และสถาปนาเป็นปูชนียสถานสำคัญของราชอาณาจักร เป็นสถานที่ที่พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลต้องเสด็จไปนมัสการ แต่หลักฐานทางโบราณคดีนั้น พบว่าใกล้ๆ กับเขาพระพุทธบาท มีเมืองโบราณที่มีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดีอยู่แล้ว ในตำนานเรียก ‘เมืองปรันตะปะ’ หรือ ‘เมืองขีดขิน’ เป็นเมืองที่มีหน้าที่รักษาพระพุทธบาท
เรื่องเมืองขีดขินนี้คงสร้างขึ้นและรับรู้กันในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เพื่อให้เป็นเมืองลิงคู่กับเมืองนพบุรีหรือลพบุรีที่หนุมานสร้างในนิทานเรื่องรามเกียรติ์ แต่ถ้าเชื่อมโยงจากความคิดทางประวัติศาสตร์ก็เห็นชัดว่าเป็นเมืองที่สัมพันธ์กับเขาพระพุทธบาทตั้งแต่สมัยทวารวดีอย่างชัดเจน และถ้าคิดให้ลึกลงไปก็อาจแลเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคำบอกของชาวลังกาในเรื่องการมีรอยพระพุทธบาท กับเมืองปรันตะปะหรือเมืองขีดขินนี้
ข้าพเจ้าตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้มานานและความกระจ่างก็เกิดขึ้น คือเมื่อประมาณเกือบ ๔๐ ปีที่ผ่านมา ได้สำรวจพบถ้ำและจารึกที่ปากถ้ำแห่งหนึ่ง ที่ตำบลพุกร่างซึ่งเป็นบริเวณด้านใต้ของกลุ่มเขาพระพุทธบาท ข้าพเจ้าไปพบตามคำบอกเล่าของรองศาสตราจารย์เสนอ นิลเดช ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ข้าพเจ้านับถือ ท่านเป็นชาวสระบุรี รับทราบมาจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน
ตอนที่ข้าพเจ้าเดินทางไปสำรวจนั้น สภาพถ้ำและปากถ้ำยังรกร้าง ภายในถ้ำเต็มไปด้วยขี้ค้างคาว หลังจากพบแล้วก็แจ้งให้ทางกรมศิลปากรทราบ ต่อมาบิดาของข้าพเจ้าคือ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ในขณะนั้นเป็นหัวหน้ากองโบราณคดี ได้ไปสำรวจและให้เจ้าหน้าที่ทำการคัดลอกจารึกไว้ ภายหลังมีผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณจากลังกาหรืออินเดียไม่ทราบแน่ ได้เข้ามาพบปะด้วย
อาจารย์มานิตจึงนำหลักฐานจารึกไปหารือ เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครอ่านได้ชัด ผู้เชี่ยวชาญท่านนั้นก็อ่านอย่างคร่าวๆ แต่พอจับใจความว่ามีคำว่า ‘อนุราธปุระ’ อยู่
เพียงคำว่า ‘อนุราธปุระ’ ข้าพเจ้าก็ดีใจ เพราะเป็นชื่อเมืองสำคัญทางพระพุทธศาสนาของศรีลังกา ที่ร่วมสมัยทวารวดีกับเมืองสำคัญในเมืองไทยที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาทเหมือนกัน จึงน่าจะมีอะไรที่เชื่อมโยงกับเมืองปรันตะปะ และคำบอกเล่าของคนลังกาที่ปรากฏในพงศาวดารครั้งสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะตำแหน่งของเมืองปรันตะปะหรือเมืองขีดขินนั้น อยู่ที่ตำบลบางโขมดไม่ห่างไกลจากถ้ำที่พบจารึกเท่าใด
ถ้ำนี้ ข้าพเจ้าและอาจารย์มานิตได้เคยเข้าไปสำรวจ พบว่าเป็นถ้ำกว้าง ลึก แต่เต็มไปด้วยขี้ค้างคาว สอบถามจากคนในท้องถิ่นได้ว่าเคยมีคนร้ายเข้าไปลักโบราณวัตถุ โดยเฉพาะเคยมีพระพุทธรูปหินแบบทวารวดีอยู่ แต่ถูกลักไปเป็นสมบัติของเอกชนที่เป็นเชื้อพระวงศ์แล้ว หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็ไม่ได้ติดตามอะไร แต่มีผู้เชี่ยวชาญอ่านจารึกได้อ่านมาแล้วได้ความชัดเจนว่า กุนทรชน ผู้ตั้งอาณาจักรอนุราธปุระ ได้มอบให้พ่อลุงสินายธะ เป็นตัวแทนร่วมกับชาวเมือง (อนุราธปุระ) ร่วมกันจัดพิธีขับร้องฟ้อนรำ (เพื่อการเฉลิมฉลองปูชนียวัตถุ) ที่ประดิษฐานไว้แล้วในสถานที่นี้....’
จารึก พบที่ถ้ำนารายณ์ ปรากฏคำว่า 'อนุราธปุระ'
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
เมื่ออาจารย์ศรีศักร ได้ไปสำรวจในปี พ.ศ.๒๕๔๖ อีกครั้ง ในแนวความคิดพระพุทธบาทตามเส้นทางเสด็จฯ โบราณ ได้แวะเข้าไปดูถ้ำและจารึก ที่ปัจจุบันเรียกว่า ‘ถ้ำนารายณ์’ เห็นความสำคัญของถ้ำที่สัมพันธ์กับจารึก
‘….ถ้ำนี้เป็นสิ่งอื่นไปไม่ได้ นอกจากการเป็นถ้ำวิหารที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองในบริเวณนี้ที่สัมพันธ์กับกลุ่มชนที่เรียกว่า กุนทรีชนและเมืองอนุราธปุระ ซึ่งก็แน่นอนว่าคงเกี่ยวข้องกับเมืองปรันตะปะหรือขีดขินอย่างชัดเจน ดังนั้น เมื่อดูตำแหน่งที่ตั้งของถ้ำศาสนสถานนี้ กับสภาพแวดล้อมที่เคยเป็นลานผาหน้าถ้ำและภูเขาที่สวยงาม โดยพยายามจินตนาการลบภาพอัปลักษณ์ของโรงปูนและร่องรอยการทำลายเขาออกไปแล้ว ก็แลเห็นได้ชัดว่า ในสมัยเมืองปรันตะปะยังรุ่งเรืองนั้น บริเวณด้านใต้ของเขาพระพุทธบาทคือแหล่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญของบ้านเมืองตั้งอยู่ด้านตรงข้ามกับบริเวณมณฑปพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นด้านเหนือในสมัยอยุธยา….’
ในตำนานเรียก ‘เมืองปรันตะปะ’ หรือ ‘เมืองขีดขิน’
นอกจากนี้ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เคยจัดการเดินทางท่องเที่ยวที่เรียกว่าชุด “ประวัติศาสตร์สองข้างทาง ‘ตามเสด็จกษัตริย์อยุธยาไปสักการะพระพุทธบาท’
‘….การเสด็จพยุหยาตราทางน้ำที่สำคัญก็คือ ‘การเสด็จไปไหว้พระพุทธบาท’ ซึ่งเราจะไปวันนี้ การไหว้พระพุทธบาทเข้าใจว่าไหว้ในเดือน ๓ นี่เป็นเดือน ๗ เดือน ๘ แล้ว แต่เขาไหว้กันในเดือน ๓ เรื่องพระพุทธบาทเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาในตอนกลางลงมาไม่ใช่ตอนต้น ในการที่ไปไหว้พระพุทธบาทนี้ มีเสด็จพยุหยาตราทางน้ำจากตัวพระบรมมหาราชวังท่าวาสุกรีล่องไปตามลำน้ำ เข้าลำน้ำป่าสัก แล้วไปหยุดประทับร้อนที่ตำหนักนครหลวง จากตำหนักนครหลวงก็เสด็จทางน้ำต่อไปยังท่าเจ้าสนุกที่สระบุรี ตามเส้นทางน้ำคือขบวนพยุหยาตรา ซึ่งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ได้แต่งกาพย์เห่เรือขึ้นมา จากท่าเจ้าสนุกจะเดินทาง ทางสถลมารคคือทางบกไปยังพระพุทธบาท....’
เมื่อเปิดพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๑๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ในบทที่ ๙๐. เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ก็มีรายละเอียดที่ชัดเจนในการสืบทอดอย่างต่อเนื่องถึงการเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปพระพุทธบาทของพระมหากษัตริย์
‘….ครั้นมาถึง ณ วันอาทิตย์เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปพระพุทธบาท ยกยอดมณฑปและบรรจุพระบรมธาตุ ด้วยเสด็จขึ้นไปครั้งนั้นเป็น กระบวนใหญ่ สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ประชวรอยู่ ก็โปรดฯ ให้ตามเสด็จขึ้นไปด้วย พระเจ้าลูกเธอ ๑๕ พระองค์ เจ้าจอม ๒๐ พระองค์ พระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายในและเจ้าจอมเถ้าแก่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่ได้เคยไปนมัสการพระพุทธบาท ก็โปรดฯ ให้ตามเสด็จขึ้นไปด้วยเป็นอันมาก
ละครข้างในสำรับเล็กด้วย วันพุธเดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ เสด็จขึ้นไปประทับพระราชวังท้ายพิกุล ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ สวดพระพุทธมนต์บนลานพระพุทธบาท เวลาค่ำมีระบำ ครั้น ณ วันอาทิตย์เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เป็นวันพระฤกษ์ยกยอดพระมณฑป บรรจุพระบรมธาตุในพระมกุฎพันธนเจดีย์แล้วมีละครด้วย ครั้นขึ้น ๑๔ ค่ำ ทรงปิดทองพระพุทธรูปในถ้ำพิมานจักรี เวลาบ่ายสวดพระพุทธมนต์ที่ถ้ำประทุน ครั้นรุ่งขึ้น ๑๕ ค่ำ บรรจุพระบรมธาตุพระเจดีย์ศิลาที่สั่งให้ทำเข้ามาแต่เมืองจีน เวลาบ่ายมีธรรมเทศนา
วันแรม ๑ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินไปเขาแก้วทางพุแคโดยทางสถลมารค ถึงพลับพลาที่ประทับเขาแก้วแล้วได้ทอดพระเนตรเห็นช้างสำคัญสีเหลืองเป็นพื้นเจือแดง จักษุเหมือนน้ำทอง ขนตัวขนหางก็เหลืองด้วย เป็นเผือกโทเทียมเอก ในตำราช้างจะเรียกว่า เหมหัตถี ก็ได้
ครั้นรุ่งขึ้นวัน แรม ๒ ค่ำ เวลาบ่ายเสด็จไปทรงนมัสการพระฉาย ประทับแรมราตรี ๑ แรม ๓ ค่ำ เสด็จกลับมาประทับเขาแก้ว รุ่งขึ้นวันแรม ๔ ค่ำ ให้มีละครทำขวัญช้าง วันแรม ๕ ค่ำ เสด็จกลับมาประทับแรมอยู่พลับพลาท่าเจ้าสนุก ทรงพระราชดำริว่าศาลเทพารักษ์เขาตกนั้น เดิมเป็นช่อฟ้าเครื่องไม้ ไฟป่าลามมาไหม้ก็ต้องทำบ่อยๆ เห็นว่าไม่มั่นคง จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ทำเป็นเก๋งฝาอิฐปูนขึ้นหลัง ๑ แล้ว ให้หลวงสัจจพันธศีรีเลือกหาก้อนศิลาเนื้อดีริมศาลเจ้า ส่งลงไปกรุงเทพมหานคร จะทำเจว็ดเทวรูปจะเอาขึ้นไปไว้แทนเจว็ดใหม่ วันแรม ๗ ค่ำ เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพมหานคร….’
พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้อ้างถึงเหตุการณ์ค้นพบรอยพระพุทธบาท ที่สระบุรี ในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม ไว้ว่า
‘....ในปีนั้นเมืองสระบุรีบอกมาว่า พรานบุณพบรอยเท้าอันใหญ่บนไหล่เขาเป็นประหลาด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดีพระทัย เสด็จด้วยพระที่นั่งชัยพยุหยาตรา พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาสามนตราชดาษดา โดยชลมารคนทีธารประทับท่าเรือ รุ่งขึ้นเสด็จทรงพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์ พร้อมด้วยคเชนทรเสนางคนิกรเป็นอันมาก
ครั้งนั้นยังมิได้มีทางสถลมารค พรานบุณเป็นมัคคุเทศก์นำลัดตัดดงไปเถิงเชิงเขา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสทอดพระเนตรเห็นแท้เป็นรอยพระบรมพุทธบาทมีลายลักษณ์กงจักร ประกอบด้วยอัฏฐตรสต มหามงคล ๑๐๘ ประการ สมด้วยพระบาลี แล้วต้องกับเมืองลังกาบอกเข้ามาว่า กรุงศรีอยุธยามีรอยพระพุทธบาท เหนือยอดเขาสุวรรณบรรพต ก็ทรงพระโสมนัสปรีดาปราโมท ถวายทัศนัขเหนืออุตมางคสิโรตม์ ด้วยเบญจางคประดิษฐเป็นหลายครา กระทำสักการบูชาด้วยธูปเทียนคันธรสจะนับมิได้
ทั้งท้าวพระยาเสนาบดีกวีราชนักปราชญ์บัณฑิตชาติทั้งหลาย ก็ถวายวันทนาประณามน้อมเกล้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ต่างคนต่างมีจิตต์โสมนัศปราโมทยิ่งนัก กระทำสักการบูชา….’
เมื่อค้นหลักฐานถึงความสัมพันธ์และความเลื่อมใสศรัทธาของพระมหากษัตริย์ก็จะมีอย่างสืบเนื่องมิขาดสาย ตั้งแต่พระมณฑปสร้างครั้งแรกในสมัยพระเจ้าทรงธรรมครอบรอยพระพุทธบาทเป็นปราสาทยอดเดี่ยวและได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ แล้วให้ฝรั่งส่องกล้อง ตัดทางสถลมารคกว้าง ๑๐ วา ตรงตลอดถึงท่าเรือ ให้แผ้วถางทางให้ราบเป็นถนนหลวงเสด็จ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จกลับทางท่าเรือทรงพระกรุณาสั่งให้ตั้งพระราชนิเวศน์ ตำหนักฟากตะวันออกให้ชื่อว่า พระตำหนักท่าเจ้าสนุก
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดเกล้าฯ ให้ตกแต่งธารทองแดงเป็นที่เสด็จประพาสและสร้างพระตำหนัก สำหรับเป็นที่ประทับในเวลาเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาท โบราณสถานที่สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง คือพระวิหารหลวง กำแพงแก้วรอบพระมณฑปทำด้วยเครื่องหินอ่อน
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างถนนจากลพบุรีถึงเขาสุวรรณบรรพต และสร้างอ่างเก็บน้ำชื่อว่าอ่างแก้วและก่อทำนบกั้นน้ำตามไหล่เขา ได้บูรณปฏิสังขรณ์อาคารนี้เป็นครั้งแรกในรัชกาลสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ พุทธศักราช ๒๒๔๖–๒๒๕๑) โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระมณฑปพระพุทธบาทใหม่ เปลี่ยนยอดพระมณฑปเดิมซึ่งเป็นยอดเดี่ยวให้เป็นพระมณฑป ๕ ยอด ดังนั้นอาคาร พระมณฑปพระพุทธบาทในสมัยพระเจ้าเสือ มีรูปลักษณะเป็นพระมณฑป ๕ ยอดเหมือนพระที่นั่งศิวาลัย มหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ลักษณะเป็นพระมณฑปมีเสาหานโดยรอบ ตกแต่งเป็นซุ้มโค้งแบบมณฑปโถง ซึ่งได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายหลัง
ในรัชกาลสมเด็จพระภูมินทราบดี (พระเจ้าท้ายสระ) ได้นำกระจกเงาแผ่นใหญ่ที่ประดับอยู่ในนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี ไปประดับฝาข้างในพระมณฑปแล้วปั้นลายปิดทองประกอบ เดิมโครงสร้างภายในพระมณฑปก่ออิฐเป็นผนังโค้ง มีรอยก่ออิฐอุดโค้งทุกด้าน ข้อสันนิษฐานนี้ ทำให้คิดว่า พระมณฑปที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าทรงธรรมจะเป็นพระมณฑปโถง และแปลงเป็นโค้งเมื่อทำเครื่องใหม่
ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พุทธศักราช ๒๒๗๕–๒๓๐๑) ได้ถวายช้างต้นพระบรมจักรวาลเป็นพุทธบูชา และสร้างบานประตูพระมณฑปประดับมุก ๘ บาน เป็นบานประตูมุกสมัยอยุธยา ที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ (พระที่นั่งสุริยามรินทร พุทธศักราช ๒๓๐๑–๒๓๑๐) พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ในปีจอ พุทธศักราช ๒๓๐๔ มีชาวจีนพร้อมใจกันรับอาสาออกมาสู้ข้าศึก โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลคลองสวนพลู ขณะที่ข้าศึกยังประชิดพระนครจีนในกองทัพคบคิดกับพรรคพวกประมาณ ๓๐๐ คนเดินทางไปยังรอยพระพุทธบาทลอกทองคำที่หุ้มองค์พระมณฑปน้อย ซึ่งสวมรอยพุทธบาท และเลิกแผ่นเงินที่ปูลาดพื้นพระมณฑป นำเอามาเป็นประโยชน์ส่วนตัว แล้ววางเพลิงเผาองค์พระมณฑปเสียหาย
พระมณฑปน้อย สวมครอบรอยพระพุทธบาท
แผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เหตุการณ์บ้านเมืองยังอยู่ในภาวะสงคราม พระองค์ทรงมีพระราชภารกิจต้องป้องกันประเทศชาติ มิให้ข้าศึกรุกราน และฟื้นฟูบ้านเมืองให้เจริญ ไม่ปรากฏว่าเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท แต่โปรดเกล้าฯ ให้ทำหลังคากระเบื้องกั้นรอยพระพุทธบาทไว้พลาง พระยาราชสงครามเป็นแม่กองปรุงตัวไม้เครื่องบนพระมณฑปไว้ ยังไม่สำเร็จก็เปลี่ยนรัชกาล
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จไปอำนวยการปฏิสังขรณ์พระมณฑป พระองค์ได้ทรงมีพระราชศรัทธา รับแบกตัวลำลองเครื่องบนหนึ่งตัว แล้วเสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่ท่าเรือ ไปจนถึงพระพุทธบาท นับเป็นเยี่ยงอย่างที่ยอดเยี่ยม เป็นที่ปรากฏแก่มหาชนโดยทั่วไป ในการทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา
พระมหากษัตริย์ในพระราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ก็ได้ทรงทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ ของพระพุทธบาท ให้อยู่ในสภาพที่ดีเลิศอยู่ตลอดมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมกุฏภัณฑเจดีย์ที่อยู่ใกล้พระมณฑปองค์หนึ่ง และสร้างเครื่องบนพระมณฑปใหญ่ กับสร้างพระมณฑปน้อย ทั้งให้เปลี่ยนแผ่นเงินปูพื้นพระมณฑป เป็นเสื่อเงินและได้ทรงยกยอดพระมณฑป พร้อมทั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระมกุฎภัณฑเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๓
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ๔ ครั้ง ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงและซ่อมแซมผนังข้างในพระมณฑป สร้างบันไดนาคทางขึ้นพระมณฑปจากเดิมที่มีอยู่สองสายเป็นสามสาย และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้เสด็จไปยกยอดพระมณฑป เมื่อปี พ.ศ. ๒
รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระบรมราชโองการให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จไปบูรณะพระมณฑป
รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมณฑปน้อยสวมรอยพระพุทธบาท
รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดไฟไหม้พระมณฑปน้อย จึงได้มีการสร้างพระมณฑปน้อยขึ้นใหม่ รวมทั้งปิดทองผนังภายในที่ได้ทาชาดไว้แต่ครั้งรัชกาลที่ ๑
รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธียกยอดพระมณฑปและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่พระมกุฎภัณฑเจดีย์
รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงรำบูชาต่อหน้าธารกำนัล โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมผนังข้างในมณฑป ให้เขียนลายของผนังภายในพระมณฑปและเพิ่มทางเดินบันไดนาค อีก ๑ สาย รวมเป็น ๓ ช่องบันได พร้อมทั้งหล่อหัวนาคสำริด ปลายรัชกาล เครื่องบนพระมณฑปที่เป็นไม้ชำรุดผุพัง โปรดเกล้าให้สร้าง พระมงคลทิพมุนี เป็นแม่งานซ่อมปรับปรุงใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ
ทางเดินบันไดนาค พร้อมหัวนาคสำริด ทางขึ้นสู่พระมณฑป
รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมุงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ปฏิสังขรณ์ พระมณฑปต่อมาจนแล้วเสร็จ
รัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงเปลี่ยนยอด พระมณฑปเดิมเป็นมณฑปเสริมเหล็กพร้อมทั้งซ่อมพระมณฑปทั้งหลัง ในวันที่ ๙ มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งเย็น ทรงจุดธูปเทียนบูชานมัสการ แล้วมีพระราชดำรัสที่สำคัญตอนหนึ่งว่า
“....รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ได้ค้นพบในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระเจ้าทรงธรรมได้สร้างพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาทและทรงสถาปนาถาวรวัตถุอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก พระมหากษัตริย์ได้เสด็จไปถวายสักการบูชาและได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อมาเป็นพระมหาเจดีย์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย การที่พระเจ้าทรงธรรมได้ทรงมีพระราชศรัทธาอันแรงกล้า ทรงวางรากฐานปูชนียสถานสำคัญแห่งนี้ไว้เป็นปฐม เป็นพระราชกรณียกิจอันหนึ่งที่น่าอนุโมทนายิ่งนัก....”
จากข้อมูลและเอกสารชั้นต้นที่สำคัญซึ่งประมวลมา ทำให้เห็นภาพของภูมิวัฒนธรรมของรอยพระพุทธบาท สระบุรี ที่มีความสำคัญอย่างมากกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ทั้งในเชิงพระราชประเพณีและพระราชนิยม
การสถาปนาวัดพระพุทธบาททำให้พระพุทธบาทสระบุรี กลายเป็น ‘มหาเจดียสถาน’ ที่ได้รับความนับถือศรัทธาจากมหาชนอย่างมาก จนเกิดประเพณีที่ราชสำนักและราษฎรทั่วไปเดินทางมานมัสการรอยพระพุทธบาทกลางเดือน ๓ เป็นประจำทุกปี หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า ‘ไปพระบาท’ และด้วยความเชื่อที่ว่าผู้ใดเดินทางมาสักการะรอยพระพุทธบาทครบ ๓ ครั้ง ๗ ครั้งจะไม่ตกนรก ยิ่งส่งผลให้ประเพณีดังกล่าวได้รับความนิยมตั้งแต่สมัยอยุธยาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เมื่อกล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาทของพระมหากษัตริย์ จะปรากฏข้อความว่า ‘โดยโบราณราชประเพณีแต่ก่อน’ หรือ ‘ตามขัตติยราชประเพณีมาแต่ก่อน’ สอดคล้องกับข้อความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงกล่าวถึงการเสด็จออกนอกพระนครของพระมหากษัตริย์ ว่า
“ถึงเจ้าแผ่นดินเมืองไทยที่มีธรรมเนียมสืบมา เหตุที่ให้เสด็จมาก็มีสามอย่าง เสด็จไปสงคราม อย่างหนึ่ง เสด็จไปวังช้างอย่างหนึ่ง เสด็จไปนมัสการพระคือพุทธบาทแลที่อื่นๆ อย่างหนึ่ง...”
ในโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อกวีกล่าวถึงการเสด็จออกนอกพระนคร กล่าวได้ว่าการเสด็จพระราชดำเนิน ‘ไปพระบาท’ คือการเดินทางครั้งสำคัญที่เป็นทั้ง ‘ราชประเพณี’ และอาจเป็น ‘พระราชนิยม’ ของพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่มีหลักฐานว่า เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาทมากกว่า ๑ ครั้ง เช่น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นต้น
การเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาทของพระมหากษัตริย์ เปิดโอกาสให้กวีราชสำนักทั้งเจ้านายและข้าราชการที่ได้ตามเสด็จสร้างสรรค์วรรณคดีขึ้น วรรณคดีเหล่านั้นบางเรื่อง ได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติที่ผู้แต่งพบเห็นเมื่อครั้งเดินทาง ‘ไปพระบาท’ ได้แก่ กาพย์ห่อโคลง นิราศธารโศกและกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรหรือเจ้าฟ้ากุ้งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นเมื่อเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร โดยเสด็จตามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปนมัสการรอยพระพุทธบาท
วรรณคดีเกี่ยวกับพระพุทธบาทสระบุรี ได้แก่ บุณโณวาทคำฉันท์ นิราศพระบาทของสุนทรภู่ นิราศพระบาทสำนวนนายจัด โคลงนิราศวัดรวก และ โคลงลิลิตนั้น ตำนานพระพุทธบาท ซึ่งเป็นวรรณคดีที่มีต้นฉบับครบถ้วนและมีเนื้อหากล่าวถึงคติความเชื่อเรื่อง พระพุทธบาทสระบุรีและประเพณี ‘ไปพระบาท’ โดยตรง
ส่วนโคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย โคลงนิราศ พระพุทธบาท กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง แม้ว่าจะสร้างสรรค์ ขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเดินทาง ‘ไปพระบาท’
สำหรับวรรณคดีบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีของพระมหากษัตริย์ ได้แก่ บุณโณวาทคำฉันท์และโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท วรรณคดีทั้ง ๒ เรื่อง สร้างสรรค์ขึ้นโดยมีมูลเหตุมาจากการเสด็จพระราชดำเนิน ‘ไปพระบาท’ ของพระมหากษัตริย์
ตำนานรอยพระพุทธบาทสระบุรีในบุณโณวาทคำฉันทร์และโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท โดย วรรณวิวัฒน์ รัตนลัมภ์ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และเรื่องโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาทที่มีเนื้อหาเป็นการรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทสระบุรีไว้ทั้งหมด แต่งขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในการเสด็จพระราชดำเนินยกยอดมณฑปพระพุทธบาทของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า รัชกาลที่ ๖
การศึกษาพบว่าตำนานรอยพระพุทธบาทสระบุรีในบุณโณวาทคำฉันท์และโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท ล้วนมีที่มาจากพระปุณโณวาทสูตรคัมภีร์เทศนา ที่แต่งขึ้นเพื่อใช้อธิบายความเป็นมาของรอยพระพุทธบาทสระบุรีโดยเฉพาะ มิได้มาจากปุณโณวาทสูตร ในพระไตรปิฎกดังที่ผู้แต่งอ้างไว้ในบุณโณวาทคำฉันท์ และมิได้มาจากอรรถกถาปุณโณวาทสูตร ดังที่ผู้แต่งอ้างไว้ในโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
แม้ว่าตำนานรอยพระพุทธบาทสระบุรีในวรรณคดีทั้ง ๒ เรื่องจะอธิบายความเป็นมาของมหาเจดียสถานดังกล่าวเช่นเดียวกัน กระนั้นด้วยจุดประสงค์การแต่งและยุคสมัยที่ต่างกัน ทำให้ความสำคัญของตำนานรอยพระพุทธบาทสระบุรีและภาพสะท้อนคติความเชื่อที่มีต่อรอยพระพุทธบาทสระบุรีในวรรณคดีดังกล่าวแตกต่างกันไปด้วย
กล่าวคือ บุณโณวาทคำฉันท์ของพระมหานาควัดท่าทราย แต่งขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ส่วนโคลงลิลิตดั้นตำนาน พระพุทธบาทของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ แต่งขึ้นเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เสด็จพระราชดำเนินยกยอดมณฑปพระพุทธบาท
เมื่อพิจารณาเนื้อเรื่องและลำดับการนำเสนอเนื้อหาในปุณโณวาทคำฉันท์และโคลงลิลิตนั้นตำนาน พระพุทธบาท พบว่าวรรณคดีทั้ง ๒ เรื่องมีลักษณะร่วมด้านเนื้อหาที่แบ่งได้เป็น ๓ ส่วนคือ ๑) กล่าวถึง ตำนานพระพุทธบาทสระบุรี ๒) กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนิน ‘ไปพระบาท’ ของพระมหากษัตริย์ ๓) กล่าวถึงมหรสพสมโภชและการรื่นเริงเนื่องในประเพณี ‘ไปพระบาท’
ลักษณะร่วมด้านเนื้อหาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโคลงลิลิตนั้นตำนานพระพุทธบาทที่สร้างสรรค์ขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับ แรงบันดาลใจและอิทธิพลด้านเนื้อหามาจากบุณโณวาทคำฉันท์ซึ่งเป็นวรรณคดีเกี่ยวกับพระพุทธบาทสระบุรีโดยตรงเรื่องแรกและเรื่องเดียวในสมัยอยุธยา อย่างไรก็ตามรายละเอียดของเนื้อหาในโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาทที่แตกต่างไปจากบุณโณวาทคำฉันท์ก็แสดงให้เห็นการสร้างสรรค์ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับโลกทัศน์ในบริบทสังคมสมัยรัชกาลที่ ๖ ด้วยเหตุนี้เนื้อหาในบุณโณวาทคำฉันท์และโคลงลิลิตดิ้นตำนานพระพุทธบาทจึงสะท้อนภาพสังคมวัฒนธรรมและคติความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธบาทสระบุรีแตกต่างกันไปตามยุคสมัย
กระนั้นวรรณคดีต่างสมัยทั้ง ๒ เรื่องก็ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คติความเชื่อเรื่องพระพุทธบาทสระบุรีและประเพณี ‘ไปพระบาท’ มีผลต่อการสร้างสรรค์เนื้อหาในวรรณคดีดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลง
การเสด็จพระราชดำเนิน ‘ไปพระบาท’ ของพระมหากษัตริย์ ในบุณโณวาทคำฉันท์กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนิน โดยเน้นการพรรณนากระบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค พระราชกุศลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและการเสด็จประพาสป่าเพื่อชมธรรมชาติโดยรอบ ผู้แต่งเน้นการพรรณนาความยิ่งใหญ่และงดงามของแบบธรรมเนียมราชสำนักสมัยอยุธยา เพื่อสื่อถึงพระราชศรัทธา พระบารมี พระราชอำนาจ และการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาอุปถัมภ์พระพุทธบาทสำคัญของอาณาจักรอันถือเป็นการสืบทอดโบราณราชประเพณี และการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะองค์อัครศาสนูปถัมภกให้เป็นที่ประจักษ์
ส่วนโคลงลิลิตขั้นตำนานพระพุทธบาท แม้ว่าจะมีมูลเหตุแห่งการสร้างสรรค์มาจากการเสด็จพระราชดำเนินยกยอดมณฑปพระพุทธบาทของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กระนั้นผู้แต่งก็มิได้มุ่งบันทึกเฉพาะภาพเหตุการณ์ดังกล่าวเท่านั้น แต่นำเสนอเนื้อหาในลักษณะของงานค้นคว้าที่ใช้ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารมาเป็นวัตถุดิบแสดงให้เห็นการเสด็จพระราชดำเนิน ‘ไปพระบาท’ และการอุปถัมภ์พระพุทธบาทสระบุรีของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเชื่อมโยงว่าการเสด็จพระราชดำเนินมา อุปถัมภ์พระพุทธบาทสระบุรีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือการสืบทอดโบราณราชประเพณีที่เหล่าบรรพกษัตริย์ทรงถือปฏิบัติสืบต่อกันมาและตอกย้ำพันธกิจที่สถาบัน พระมหากษัตริย์จึงมีต่อพระพุทธบาทสระบุรี
กล่าวได้ว่าการเสด็จพระราชดำเนิน ‘ไปพระบาท’ ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการประกอบพระราชกรณียกิจในฐานะองค์อัครศาสนูปถัมภกให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อยืนยันสิทธิธรรมในการปกครองและส่งเสริมอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่พระองค์ทรงสนับสนุน
เส้นทางถนนพระเจ้าทรงธรรม หรือถนนฝรั่งส่องกล้องซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เป็นเส้นทางที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงพระราชศรัทธาของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ ในสมัยอยุธยาตอนปลายตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เป็นต้นมา ถือว่าเป็นประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลต้องเสด็จไปนมัสการถวายสักการะเป็นประจำ มีผลทำให้เกิดการจัดรูปขบวนเสด็จพระราชดำเนินทั้งทางชลมารคและสถลมารค
เส้นทางถนนพระเจ้าทรงธรรม หรือถนนฝรั่งส่องกล้อง ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จ
พระเจ้าทรงธรรม ที่มา: เทศบาลตำบลพุกร่าง
ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา จะเห็นได้ว่าในสมัยพระเจ้าปราสาททองได้พัฒนาเส้นทางสถลมารค โดยจัดสร้างที่พักริมทางและแหล่งน้ำ ปัจจุบันโบราณสถานตามเส้นทางนมัสการรอยพระพุทธบาทยังคงเหลือร่องรอยปรากฏ
สำหรับภูมิสถาน ภูมิสังคมวัฒนธรรม วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี เป็นวัดที่รับการสถาปนามาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี ประมาณปี พ.ศ. ๒๑๖๗ ประวัติความเป็นมาของวัดถูกบันทึก ไว้เป็นตำนาน ในพระราชพงศาวดาร และเอกสารสำคัญอื่นๆ เป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาแต่ช้านาน ซึ่งมีปรากฏหลักฐานประวัติศาสตร์พระราชพงศาวดารกรุงเก่า บันทึกว่า
พรานบุญ ได้พบรอย พระพุทธบาท แล้วจึงนำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมให้ทรงทราบ พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงมีรับสั่งให้ทำมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทแล้ว เตรียมการพระราชพิธี เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาททางน้ำ ด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค และต่อด้วยทางบกสถลมารคจัดเป็นพระราชพิธียิ่งใหญ่ในครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนในแผ่นดินของรัชกาลองค์ต่อๆ มา ก็พบหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์มณฑปและสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อแสดงถึงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของแต่ละพระองค์ จึงปรากฏศาสนสถานมากมายภายในบริเวณของวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร แล้วยังเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะต้องเสด็จ มานมัสการรอยพระพุทธบาท
วัดพระพุทธบาทเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มณฑลอยุธยา อธิบายได้ดังนี้ พระพุทธบาทเมื่อก่อนนั้นเป็นเมืองจัตวา ขึ้นอยู่กับกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองพระพุทธบาทก็ถูกยุบลงเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อจัดตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาล ในรัชกาลที่ ๕ เพราะตัดที่ตอนเป็นเมืองเก่าตั้งเป็นอำเภอหนองโดน ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศยกฐานกิ่งอำเภอพระพุทธบาทขึ้นเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๙
เขตและอุปจารวัดหรือเขตบำเพ็ญภาวนา วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร มีลักษณะเป็นกำแพงและภูเขาเป็นเขตกั้น จะเห็นได้ ทิศใต้และทิศตะวันออกติดกับกำแพงและภูเขาโพธิ์ลังกา ซึ่งมีเนื้อที่ส่วนความยาวตั้งแต่ด้านจากทิศเหนือติดกับกำแพงเก่า ลักษณะเป็นเขาลูกเตี้ย ๆ และทิศตะวันตกติดกับพระราชวังท้ายพิกุล ทิศเหนือถึงทิศใต้วัดได้ทั้งสิ้น ๑๔ เส้น ๒ วา และเนื้อที่ส่วนความกว้างตั้งแต่ด้านทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกวัดได้ ๘ เส้น ๑๙ วา โดยรอบเขตของวัดนั้นมีหมู่บ้านอยู่เป็นจำนวนมาก
พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร แม้จะสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามการที่มีรอยพระพุทธบาทและในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ได้ถวายที่ดิน ออกไปด้านละ ๑ โยชน์หรือด้านละ ๑๖ กิโลเมตร ก็ยังมีผู้ที่แสดงตนว่าเป็นเจ้าของที่ดินผืนนี้อยู่หลายครั้งจนเมื่อถึงสมัย รัชกาลที่ ๙ จึงได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาท ขึ้นเพื่อป้องกันการรุกล้ำเขตพระพุทธบาท
ที่ดินของวัดพระพุทธบาท ดังที่ระบุชัดเจนในพงศาวดาร ว่ามีพระราชโองการของพระเจ้าทรงธรรม ที่มีพระราชศรัทธาอุทิศถวายที่ดิน โดยนับออกไปจากรอยพระพุทธบาท ๑ โยชน์ หรือ ๑๖ กิโลเมตร โดยรอบและตั้งให้มีวิสุงคามสีมากว้าง ๑๔.๗๐ เมตร ยาว ๒๙.๐๙ เมตร เป็นเมือง จัตวาสร้างยาวนานถึง ๔ ปี เสร็จแล้วทรงเสด็จไปนมัสการและจัดงานสมโภชนานกว่า ๗ วัน จนเป็น ราชประเพณีสืบราชประเพณีสืบมา และในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ยุคของรัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเห็นว่าควรจะรักษาพื้นที่ดินของพระพุทธบาทเป็นประโยชน์ต่อศาสนา จึงออกพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตหวงห้าม มีพื้นที่ ๘,๕๑๓ ไร่ ซึ่งไม่ครบตามที่พระเจ้าทรงธรรมถวายไว้เป็นอุทิศบูชา
จนมาในยุคของสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการเวนคืนที่ดินในจํานวนนี้ไปได้ ๒,๐๐๐ ไร่ เพื่อก่อตั้งเป็นนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท ฉะนั้นที่ดินจํานวน ๖,๕๑๓ ไร่ จึงเป็นธรณีสงฆ์ซื้อขายกันไม่ได้แม้จะมีโฉนดก็ตาม
อย่างไรก็ตามที่ดินวัดพระพุทธบาทก็มีกรณีเป็น ข้อพิพาทอยู่หลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็ถูกยกฟ้องด้วยการพิจารณาจากพระราชพงศาวดารเกี่ยวกับพระพุทธบาท
อ้างอิง
'แสนเสียดายเขาพระพุทธบาท' โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม บทบรรณาธิการ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๔ เดือนตุลาคม - ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
'ตามเสด็จกษัตริย์อยุธยาไปสักการะพระพุทธบาท' โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ชุดประวัติศาสตร์สองข้างทาง อาจารย์ศรีศักรพาเที่ยว
พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๑๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
'คติความเชื่อเรื่องพระพุทธบาทสระบุรีและประเพณี "ไปพระบาท" ในการสร้างสรรค์วรรณคดีไทย' โดย วรรณวิวัฒน์ รัตนลัมภ์ วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. ๒๕๕๖
'พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี' โดย หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ กรมศิลปากร ปี พ.ศ. ๒๔๙๒
'อำเภอพระพุทธบาท' สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพระพุทธบาทที่ว่าการอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
'คำให้การของขุนโขลน' ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗
ประวัติวัดพระพุทธบาท สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิมพ์แจกในงาน ทอดพระกฐินพระราชทานของสำนักนายกรัฐมนตรี ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
‘ตำนานรอยพระพุทธบาทสระบุรีในบุณโณวาทคำฉันทร์และโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท’ บทความวิทยานิพนธ์โดย วรรณวิวัฒน์ รัตนลัมภ์ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม - มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗
'รอยพระพุทธบาทในศิลปะร่วมสมัยไทย : กรณีศึกษา พิชัย นิรันต์ และ พัดยศ พุทธเจริญ' วิทยานิพนธ์โดย วรรณกวี โพธะ หลักสูตรปริญญาศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๖
‘รอยพระพุทธบาทบนจิตรกรรมฝาผนังภายในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา’ โดย ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วารสารรามคำแหง ฉบับมนุษยศาสตร์ ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๖๗
‘ระฆังโบราณ : การจัดทำทะเบียนและการสื่อความหมาย ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี’ วิทยานิพนธ์โดย สุภัทรชัย จีบแก้ว สาขาวิชาการบริหารศิลปะและวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี พ.ศ. ๒๕๕๙