ผู้เข้าชม
0

‘เมืองโบราณทุ่งยั้ง’ ภูมิวัฒนธรรมเมืองคู่บนลุ่มน้ำน่านตะวันออก สระหลวง-สองแคว

วัดพระบรมธาตุ, พระบรมธาตุทุ่งยั้ง, วัดทุ่งยั้ง, วัดมหาธาตุเจดีย์ เขตแม่พร่อง ลุ่มน้ำน่าน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่สม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นวัดสำคัญประจำเมืองทุ่งยั้งและจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นที่เคารพสักการะของชาวอุตรดิตถ์และพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
23 ตุลาคม 2567


'เมืองโบราณทุ่งยั้ง' ภูมิวัฒนธรรมเมืองคู่บนลุ่มน้ำน่านตะวันออก

สระหลวง-สองแคว

พรเทพ เฮง
 

หน้าที่ 1/12


แผนที่เมืองโบราณทุ่งยั้ง จังหวัดอุตรดิตถ์
ที่มา: วารสารเมืองโบราณ
หน้าที่ 2/12

วัดพระบรมธาตุ, พระบรมธาตุทุ่งยั้ง, วัดทุ่งยั้ง, วัดมหาธาตุเจดีย์ เขตแม่พร่อง ลุ่มน้ำน่าน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่สม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นวัดสำคัญประจำเมืองทุ่งยั้งและจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นที่เคารพสักการะของชาวอุตรดิตถ์และพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป 

ทั้งนี้ นอกจากโบราณพุทธสถานและวัตถุภายในวัด อาทิ พระบรมธาตุ วิหาร และหลวงพ่อโตแล้ว วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งยังมีประเพณีประจำปีที่สำคัญคือ ประเพณีอัฐมีบูชา หรือพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธสรีระจำลอง จัดขึ้นทุกวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี โดยเป็นวันงานสลากภัตของวัดและจะมีการจัดแสดงพุทธประวัติตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพด้วย 

ย่านชุมชนเก่าทุ่งยั้ง เป็นชุมชนความทรงจำ และชุมชนโดยรอบโบราณสถานเมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองเก่าสมัยสุโขทัยและมีเมืองซ้อนกันอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ‘เวียงเจ้าเงาะ’ โดยเมืองทุ่งยั้งเดิมเป็นเมืองขึ้นของเมืองพิชัย แต่ต่อมาแม่น้ำน่านเกิดเปลี่ยนเส้นทางน้ำ ทำให้เมืองทุ่งยั้งเกิดความแห้งแล้ง ชาวบ้านจึงอพยพออกจากพื้นที่ไปอาศัยในแถบบางโพ-ท่าอิฐแทน ทำให้เมืองทุ่งยั้งกลายเป็นเมืองร้างและพังทลายลงในที่สุด คงเหลือไว้แต่พระธาตุทุ่งยั้งเพียงอย่างเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ว่าเป็นเมืองโบราณ โดยชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบโบราณสถาน ขนานไปตามแม่น้ำน่านในแนวตะวันออก-ตะวันตก สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ปัจจุบัน ชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนโดยรอบพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้สองชั้น เป็นชุมชนที่มีฐานเศรษฐกิจด้านการเกษตร

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง หรือวัดพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ที่กลางเทศบาลตำบลทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๔๗ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

ลุ่มแม่น้ำน่านในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นพื้นที่สำคัญที่พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมา ดังพบชุมชนและบ้านเมืองสำคัญบนพื้นที่นี้หลายเมือง เช่น เวียงเจ้าเงาะ เมืองทุ่งยั้ง เมืองฝาง เมืองพิชัย เมืองลับแล เมืองตาชูชก เป็นต้น 

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชุมชนโบราณบนดินแดนนี้เติบโตและมีพัฒนาการสู่บ้านเมืองที่ยิ่งใหญ่ในสมัยหลัง ก็ด้วยตำแหน่งที่ตั้งซึ่งเสมือนจุดต่อแดนระหว่างบ้านเมืองทางตอนเหนือกับตอนใต้ ที่นี่จึงเป็นศูนย์รวมของสินค้าและวัฒนธรรมจากเหล่าพ่อค้า นักเดินทาง และกองทัพ ที่หมุนเวียนมาหยุดพักชุมนุมกันตั้งแต่สมัยโบราณ 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เสนอข้อคิดเห็นไว้ในงานวิจัยเรื่องเมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัยว่า เมืองสระหลวงในจารึกพ่อขุนรามคำแหงน่าจะอยู่ที่เมืองทุ่งยั้งมากกว่าเมืองพิจิตร เพราะทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองมีที่ราบลุ่มหนองบึงสมกับที่จะได้ชื่อว่าสระหลวง

‘ทุ่งยั้งคือนครสระหลวง’ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้สังเคราะห์และตีความจากภูมิวัฒนธรรมบริเวณลุ่มน้ำยม น้ำน่าน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของภาคกลางตอนบน ประกอบด้วยเมืองสำคัญ ๔ เมือง คือ สุโขทัยกับศรีสัชนาลัย ในลุ่มน้ำยม เมืองพิษณุโลกและทุ่งยั้งในลุ่มน้ำน่าน โดยมองว่า ในจารึกสุโขทัยตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ปรากฏชื่อเมืองสำคัญ ๔ เมืองเช่นกัน คือ สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ที่ยังคงชื่อเดิมมาจนถึงทุกวันนี้ และสองแควซึ่งเป็นเมืองเก่าทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำน่าน ตรงข้ามกับเมืองพิษณุโลก ซึ่งตั้งขึ้นมาแทนที่ในสมัยหลัง
 


วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เขตแม่พร่อง ลุ่มน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์
ที่มา: ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย

หน้าที่ 3/12

อีกเมืองหนึ่งคือ ‘เมืองสระหลวง’ โดยที่ผ่านมามีการตีความหลากหลายกระแส ซึ่งอาจารย์ศรีศักร เสนอว่า คือเมืองทุ่งยั้ง อันเป็นเมืองโบราณที่มีขนาดใหญ่ทัดเทียมกับสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และพิษณุโลก ทั้งยังมีโบราณวัตถุสถานที่มีอายุถึงสมัยสุโขทัยยุคต้นด้วยเช่นกัน

‘….ทุ่งยั้ง เป็นเมืองโบราณ​ที่ตั้งชนแดนระหว่างอาณาจักรล้านนาทางตอนเหนือกับอาณาจักรทางใต้ คือสุโขทัยและอยุธยา นามเมืองมีความหมายทั้งทางโลกและทางธรรม คือเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับยับยั้ง​อยู่​ ณ สถานที่​แห่ง​นี้​ ขณะที่​ทางภูมิศาสตร์​เป็น​พื้นที่​ที่หยุดยั้งการเดินทาง​ของ​ขบวน​สินค้า​และ​กองทัพ​ เมือง​ทุ่ง​ยั้ง​มีขนาดใหญ่​ รูป​ทรงรีไม่สม่ำเสมอ ทางตะวันตก​เฉียงเหนือของ​ตัว​เมือง​มีเวียงขนาดเล็ก​ที่มีการขุดคูเมืองล้อมรอบแสดงความเป็นพื้นที่​สำคัญ​ของ​เมือง​ ชาวบ้าน​เรียกว่า​ เวียงเจ้าเงาะ…’
 


ทางตะวันตก​เฉียงเหนือของ​ตัว​เมือง​มีเวียงขนาดเล็ก​ที่มีการขุดคูเมืองล้อมรอบ
ชาวบ้าน​เรียกว่า​ เวียงเจ้าเงาะ

จากทุนอุดหนุนการวิจัยจากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่อาจารย์ ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ เป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ อาจารย์ศรีศักร ได้ทำการศึกษาร่องรอยของเมืองโบราณในเขตแคว้นสุโขทัย โดยอาศัยบรรดารายชื่อของเมืองโบราณที่ปรากฏในศิลาจารึก กฎหมายเก่า ตำนาน พงศาวดาร ที่เป็นของสมัยสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไปในเขตจังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก อันนับเนื่องเป็นพื้นที่ภาคกลางตอนบนในลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน โดยบอกถึงวัตถุประสงค์ของการวิจัยว่า

‘…เหตุที่กำหนดเอาพื้นที่ภาคกลางตอนบนดังกล่าวเป็นอาณาบริเวณของสุโขทัย เพราะมีกล่าว ในศิลาจารึกสุโขทัยสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๓ (พญาไสลือไท) ที่บอกเขตแคว้นสุโขทัย กินพื้นที่แต่เมืองสร้อย ในลุ่มน้ำปิง เขตจังหวัดตากลงมาจนถึง กโรมตีนพิง ซึ่งหมายถึงเมืองพระบาง ตีนเขากบในเขตจังหวัดนครสวรรค์ โดยรายชื่อเมืองที่พบจากจารึกและหลักฐานทางเอกสารมีเมืองกระจายกันอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน และป่าสัก แต่ร่องรอยของแหล่งที่เป็นชุมชนโบราณ ซึ่งได้จากการศึกษาสำรวจพบ ๕๓ เมือง บางแห่งก็พิสูจน์ได้ว่าเป็นเมืองที่มีชื่อในเอกสาร แต่อีกหลายแห่งยังกำหนดไม่ได้ เพราะมีจำนวนมากที่เป็นชุมชนบ้านเมืองในสมัยหลังลงมาถึงสมัยอยุธยาตอนต้น โดยเฉพาะเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลงมา

จากการศึกษาทางภูมิวัฒนธรรมของบ้านเมืองดังกล่าว กำหนดได้ค่อนข้างแน่นอนว่าบริเวณที่ตั้งบ้านเมืองของสุโขทัยในยุคแรกๆ นั้น อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน ตั้งแต่เขตจังหวัดตาก อุตรดิตถ์ ลงมาจนถึงสุโขทัยและพิษณุโลก โดยมีเมืองสำคัญ ๔ เมือง อยู่บนลำน้ำยม ๒ เมือง คือเมืองสุโขทัยกับเมืองศรีสัชนาลัย และบนลำน้ำน่าน ๒ เมือง คือเมืองพิษณุโลกและเมืองทุ่งยั้ง

ทั้ง ๔ เมืองนี้ เมืองสุโขทัยกับเมืองศรีสัชนาลัยมีความชัดเจนทั้งตำแหน่งที่ตั้งของเมืองและชื่อเมืองในศิลาจารึกสุโขทัย แต่เมืองพิษณุโลกกับเมืองทุ่งยั้ง ชื่อเมืองปรากฏในสมัยหลัง คือสมัยอยุธยา ราว  พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลงมา นั่นคือเมืองพิษณุโลก เป็นเมืองที่สร้างใหม่บนฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำน่านในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแทนเมืองสองแควครั้งสุโขทัยบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ส่วนเมืองทุ่งยั้งนั้นปรากฏในกฎหมายเก่าของกรุงศรีอยุธยาและศิลาจารึกสุโขทัย สมัยสุโขทัยตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา ร่วมสมัยกับเมืองปากยม...’

หน้าที่ 4/12

ความชัดเจนในการตีความตามภูมิวัฒนธรรมของอาจารย์ศรีศักร ได้ปรากฏในบทความ 'กำเนิดสุโขทัย รัฐแรกเริ่มของชนชาติไทยในสยามประเทศ' โดยเฉพาะการนำเสนอแนวความคิดว่า ‘ทุ่งยั้งคือนครสระหลวง’ ผ่านการสร้างเครือข่ายอำนาจด้วยการกินดอง

‘…จากการศึกษาพื้นที่อันเป็นถิ่นฐานการสร้างบ้านแปงเมือง ที่ข้าพเจ้าเรียกว่า ภูมิวัฒนธรรม จากชื่อเมืองบรรดามีในจารึกสุโขทัย ตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงลงมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท พบว่าพื้นที่ที่เป็นแกนกลางของรัฐสุโขทัยในระยะเริ่มแรกนั้น เป็นพื้นที่ในเขตจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ ที่มีลำน้ำยมไหลจากจังหวัดแพร่ ผ่านแนวเขามาลงที่ราบในเขตอำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสําโรง มายังอำเภอเมืองสุโขทัย ก่อนจะวกไปทางตะวันออกเข้าหาลำน้ำน่านในเขตจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร

ลำน้ำยมนี้อยู่ทางตะวันตกของพื้นที่ที่เป็นแกนกลาง ส่วนทางตะวันออกมีลำน้ำน่านไหลผ่านเทือกเขา หุบแอ่งในที่สูงจากเขตอำเภอเวียงสามายังอำเภอท่าปลา ซึ่งกลายเป็นบริเวณเขื่อนสิริกิติ์ ผ่านบริเวณเขามาลงที่ราบตั้งแต่เขตเมืองฝางจนถึงอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ แล้วไหลลงทางใต้ผ่านอำเภอพิชัย อำเภอทองแสนขัน อำเภอวัดโบสถ์ มายังอําเภอเมืองพิษณุโลก และจากเมืองพิษณุโลกก็ไหลสู่ที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงในเขตอำเภอเมืองพิจิตรไปยังจังหวัดนครสวรรค์ 

พื้นที่ลำน้ำยมทางด้านตะวันตกกับลำน้ำน่านทางตะวันออก มีเมืองโบราณใหญ่ที่มีร่องรอยการสร้างเมืองใหม่ทับและมีการขยายเขตเมืองหลายสมัย ตั้งแต่ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงมาจนถึงสมัยอยุธยา คือเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัยบนลุ่มน้ำยม เมืองทั้งสองเป็นเมืองคู่ โดยสุโขทัยอยู่ทางใต้และศรีสัชนาลัยอยู่ทางเหนือ ซึ่งในจารึกพ่อขุนรามคำแหงมักเรียกชื่อรวมกันว่า พ่อขุนรามคำแหงเป็นเจ้าเมืองศรีสัชนาลัย-สุโขทัย โดยใช้ชื่อเมืองศรีสัชนาลัยมาก่อน ในขณะที่ลุ่มน้ำน่านทางตะวันออกมีเมืองคู่บนลำน้ำเดียวกัน ที่ในศิลาจารึกเรียก สระหลวง-สองแคว โดยใช้เมืองสระหลวงที่อยู่ทางเหนือน้ำขึ้นก่อนและตามมาด้วยสองแคว ที่ปัจจุบันคือพิษณุโลก...’

จากศิลาจารึกสุโขทัยเช่นเดียวกัน กล่าวถึงเจ้าเมืองสุโขทัยในตอนต้น ว่ามีความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดจากการกินดองระหว่างผู้เป็นเจ้าเมือง ๒ ตระกูล คือตระกูลพ่อขุนผาเมืองแห่งเมืองสองแคว กับพ่อขุนบางกลางหาวแห่งเมืองบางยาง ที่ต่อมาคือสระหลวงและทุ่งยั้ง 

โดยพ่อขุนบางกลางหาวแต่งงานกับนางเสือง ธิดาของพ่อขุนศรีนาว นำถม เจ้าเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย เมืองทั้งสองเป็นเมืองคู่ที่มีมาก่อน และมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี และลพบุรี ต่อมาได้ถูกยึดครองโดยพ่อขุนศรีนาวนำถม เมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์ได้เลิกจดขึ้น...’

ส่วนการเคลื่อนย้ายของผู้คน ก่อเกิดเป็นบ้านเมืองและนครรัฐ อาจารย์ศรีศักร มองถึงพัฒนาการของเมืองโบราณในช่วงเวลานั้นว่า...`
 


วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เมืองพิษณุโลก
เดิมอยู่ในอาณาเขตเมืองสองแคว
หน้าที่ 5/12

‘….สรุปโดยย่อจากการศึกษาการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองในดินแดนตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ว่าเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของดินแดนสยามประเทศ ที่พัฒนาขึ้นแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ อันเป็นสมัยเวลาของการเปลี่ยนแปลงและเติบโตของบ้านเมือง ที่เป็นผลมาจากการขยายตัวทางการค้าของจีนตั้งแต่ราชวงศ์ซุ้งลงมา

ทำให้เกิดเส้นทางการค้าและการคมนาคมบริเวณบ้านเมืองชายทะเลเข้ามาแลกเปลี่ยนและขนถ่ายสินค้าจากดินแดนภายใน (hinterland) เป็นผลให้เกิดการเคลื่อนไหวของผู้คนหลายชาติพันธุ์เข้ามาตั้งหลักแหล่ง สร้างบ้านแปงเมืองกันตามลุ่มน้ำต่างๆ ที่ไหลลงจากเขาและที่สูงสู่ที่ราบลุ่ม ทำให้เกิดเป็นเมืองใหญ่ขึ้นมา ดังเช่นเมืองไชยาที่อ่าวบ้านดอน เพชรบุรี ราชบุรี ตามพรลิงค์ที่นครศรีธรรมราช สุพรรณภูมิ อโยธยา แพรกศรีราชา หริภุญชัย เขลางค์นคร ศรีสัชนาลัย-สุโขทัย เป็นต้น ในดินแดนหรือพื้นที่ที่กำหนดจากศิลาจารึกและหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่าอยู่ในขอบเขตของแคว้นสุโขทัย คือพื้นที่ในลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ที่มีส่วนบนอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์และตาก และตอนล่างมาสุดปากน้ำโพในเขตจังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ดังกล่าวมีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านเมืองมาแต่ยุคเหล็กตอนปลายราว ๒,๕๐๐ ปี หรือ ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาลลงมา เช่นเดียวกันกับภูมิภาคอื่นๆ ในบริเวณภายในของประเทศ 

การตั้งถิ่นฐานชุมชนเกิดขึ้น ๒ ลักษณะ คือ ๑) ในบริเวณที่ลาดเชิงเขาซึ่งมีทางน้ำไหลลงสู่ที่ราบลุ่ม เพราะเป็นบริเวณที่มีทั้งน้ำกินและน้ำใช้ในการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยเฉพาะข้าว ให้พอเพียงแก่การเลี้ยงคนจำนวนมาก ๒) ในบริเวณกลางพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ในบริเวณหนองน้ำและลำน้ำคดเป็นกุด เป็นวัง เป็นมาบ ที่ในเวลาหน้าแล้ง พื้นที่ชายขอบน้ำเป็นพื้นที่แห้ง ซึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ทาม อยู่โดยรอบของบริเวณที่มีน้ำตลอด ที่เรียกว่า บึงหรือบุ่ง พื้นที่ราบแห้งในฤดูแล้งนี้ คือบริเวณที่ใช้ทำนา เรียกว่า นาทาม เป็นพื้นที่เพาะปลูกและอุดมไปด้วยพืชพันธุ์ที่เป็นอาหารแก่คนเป็นจำนวนมาก จึงเกิดการตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนโดยรอบหนองน้ำ (lake) ขึ้น….’

เมื่อมามองถึงภูมิวัฒนธรรมประเด็นเมืองคู่บนลำน้ำยมและน่าน โดยภาพรวมของอาณาบริเวณที่เป็นแคว้นสุโขทัย อาจารย์ศรีศักร มองว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีลำน้ำปิงและทิวเขาเป็นขอบเขตทางด้านตะวันตก ลำน้ำน่านและทิวเขาทางด้านตะวันออก ซึ่งลำน้ำทั้งสองนี้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในการติดต่อกับบ้านเมืองภายนอกในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นบริเวณที่มีความเจริญจากภายนอกเข้ามาได้เร็วกว่า ก่อนที่จะกระจายลงไปยังพื้นที่ชุมชนตามหนองบึงและลำน้ำกลางทุ่งของที่ราบลุ่ม 

‘….รัฐแรกเริ่มของสุโขทัยที่พัฒนาขึ้นในบริเวณลุ่มน้ำยมทางตะวันตกและลุ่มน่านทางตะวันออก มีความเจริญเติบโตเป็นบ้านเมืองมาก่อนในที่ลาดเชิงเขาหลวงทางตะวันตกของลุ่มน้ำยม เพราะเป็นบริเวณที่มีทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุ โดยเฉพาะเหล็กและของป่านานาชนิด อีกทั้งเป็นแหล่งที่มีแม่น้ำ ลำน้ำหลายสายไหลลงจากเขามาที่ลุ่ม ทำให้เป็นไร่เป็นนาได้มากกว่าอื่นๆ พื้นที่สำคัญดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ตำบลวังหาดและตลิ่งชันในเขตอำเภอบ้านด่านลานหอย
 


แผนที่แสดงตำแหน่งของแหล่งโบราณคดีชุมชนยุคเหล็กและสมัยทวารวดี
ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ก่อนการเกิดรัฐสุโขทัย

 

หน้าที่ 6/12

เป็นแหล่งอุตสาหกรรมในการถลุงเหล็ก ทำเครื่องมือเหล็กและเครื่องประดับ เช่น ลูกปัดแก้วและดินเผา ได้รับความเจริญจากภายนอก โดยเฉพาะจากทางภาคกลางในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สมัยทวารวดีมาทางลุ่มน้ำปิง ที่ผ่านแนวเขาสันปันน้ำจากเมืองตากเข้ามายังบริเวณต้นน้ำแม่ลำพันในเขตบ้านด่าน ลานหอย และขยายมาตามเชิงเขาหลวงในเขตอำเภอเมืองเก่าสุโขทัย ไปตามเชิงเขาโค้งเขาทาง จนถึงเขตอำเภอคีรีมาศ อันเป็นบริเวณที่มีเส้นทางคมนาคมติดต่อจากสุโขทัยไปยังบ้านเมืองในลุ่มน้ำปิง ตั้งแต่กำแพงเพชรลงไปถึงนครสวรรค์ และจากกำแพงเพชรไปทางตะวันตก จะผ่านเทือกเขาเข้าไปยังลุ่มน้ำสาละวินในดินแดนมอญ-พม่า ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าบริเวณเชิงเขาหลวงและต้นน้ำแม่ลำพันนั้น คือแหล่งเกิดชุมชนบ้านเมืองที่มีมาแต่สมัยทวารวดี

พอถึงสมัยลพบุรีก็เกิดการตั้งเมืองสุโขทัยขึ้นในบริเวณวัดพระพายหลวง ที่มีปุระ วัดพระพายหลวงเป็นศูนย์กลาง อันเป็นลักษณะเมืองแบบขอมที่พบในประเทศกัมพูชาในลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นเวลาที่บรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายในภาคกลาง เช่นลุ่มน้ำเจ้าพระยาอุปถัมภ์พุทธศาสนามหายานและรับศิลปวัฒนธรรมแบบขอมเข้ามา 
 


วัดพระพายหลวง อันเป็นลักษณะเมืองแบบขอมที่พบในประเทศกัมพูชา
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม

แต่เมืองสุโขทัยไม่ได้เกิดเป็นชุมชนเมืองในศิลปวัฒนธรรมลพบุรีเพียงแห่งเดียว ยังเกิดพร้อมกันกับเมืองเชลียง ที่ต่อมาเรียกว่าศรีสัชนาลัย ที่นับเป็นเมืองปลายสุดการคมนาคมของลุ่มน้ำยมในเขตแคว้นสุโขทัย เพราะการคมนาคมตามลำน้ำนี้ด้วยเรือใหญ่ จากปากน้ำโพขึ้นไปเพียงแก่งหลวงของเมืองศรีสัชนาลัย เหนือขึ้นไปจากนั้นติดเกาะแก่งกลางน้ำ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกันกับทางลำน้ำน่านที่เดินทางจากปากน้ำโพที่เมืองพระบาง นครสวรรค์ ไปได้เพียงแต่ตำบลท่าเสา เมืองอุตรดิตถ์ เดินทางต่อไปยังเมืองน่านไม่ได้ แต่อุตรดิตถ์เป็นเมืองรุ่นหลังในสมัยอยุธยา 

เมืองสำคัญจึงเป็นเมืองทุ่งยั้งหรือสระหลวง อันเป็นเมืองคู่บนลำน้ำน่านรวมกับเมืองสองแควที่พิษณุโลก แต่ทั้งเมืองสองแควและสระหลวงไม่มีร่องรอยความเก่าแก่บนเส้นทางคมนาคม ที่มีคนแต่สมัยทวารวดีซึ่งมาจากบ้านเมืองที่เจริญแล้วผ่านเข้ามาผสมกับคนท้องถิ่น และไม่เห็นความเป็นชาติพันธุ์และตระกูลแต่เดิมของคนที่เพิ่งเคลื่อนย้ายเข้ามา เช่น ตระกูลของคนไทยที่มาตั้งตัวที่เมืองสองแควและสระหลวง หรืออีกนัยหนึ่ง บุคคลผู้เป็นตระกูลเจ้าเมืองของเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยเป็นใครไม่รู้ เช่นเดียวกันกับคนในบ้านเมืองทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาแต่สมัยทวารวดีลงมา....’

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิพนธ์ไว้ในหนังสือไทยรบพม่าว่า เมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองขึ้นเมืองพิชัยตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยได้ทรงประทานความเห็นว่า เมืองทุ่งยั้งน่าจะเป็นเมืองหน้าด่าน ทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำน่านในสมัยสุโขทัย เนื่องจากมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นที่ราบ ติดต่อกับตัวเมืองอุตรดิตถ์ที่อยู่ริมแม่น้ำน่าน และภายหลังก็สันนิษฐานว่าเมืองทุ่งยั้งน่าจะหมดความสำคัญลง เนื่องจากทางน้ำในแม่น้ำน่านแปรปรวน กัดเซาะทำลายตลิ่งจนทำให้เมืองทุ่งยั้งไม่เหมาะสมที่จะเป็นเมืองหน้าด่านอีกต่อไป 

ปัจจุบันยังมีร่องรอยของคูเมืองกำแพงเมืองบางส่วน ซึ่งจากกำแพงเมืองที่เป็นหินศิลาแลงที่อยู่ใกล้กับวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ทั้งนี้เมืองทุ่งยั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับเวียงเจ้าเงาะ โดยสันนิษฐานกันว่าเป็นชุมชนสมัยแรกของอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ภายในเมืองทุ่งยั้งอีกที ภายในแหล่งโบราณคดีของเวียงเจ้าเงาะปรากฏทั้งบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ คันคูเมือง ๓ ชั้น และโบราณวัตถุอีกมากมาย

สำหรับสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของพระบรมธาตุภายในวัดทุ่งยั้ง มีลักษณะเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเมืองทุ่งยั้งน่าจะเป็นเมืองลูกหลวงในสมัยสุโขทัย ปัจจุบันวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมทั้งมีโบราณสถานที่สำคัญอย่างพระวิหารหลวง พระอุโบสถ หลวงพ่อประธานเฒ่า

หน้าที่ 7/12

โบราณสถานที่พบในอาณาบริเวณเมืองโบราณที่อำเภอลับแล ที่มีรูปแบบศิลปะสมัยสุโขทัยได้แก่พระบรมธาตุทุ่งยั้งตั้งอยู่กลางเมือง ซากสถูปทรงดอกบัวตูมที่วัดทองเหลือตั้งอยู่นอกเมืองไปทางทิศตะวันออก รวมทั้งวัดพระแท่นศิลาอาสน์และวัดพระยืน ซึ่งแม้จะมีลักษณะของการบูรณะในสมัยอยุธยาแล้วแต่ก็ยังพบร่องรอยว่าเคยเป็นอาคารก่อสร้างในสมัยสุโขทัยมาก่อนเช่นกัน 

เนื่องจากเมืองโบราณแห่งนี้มีขนาดใหญ่มาก ฉะนั้นเมื่อมีผู้พบซากกำแพงเมืองบางตอนจึงคิดว่าเป็นเมืองขนาดย่อมซ้อนอยู่ด้วยกันอีกเมืองหนึ่งชาวบ้านเรียกกันมาว่า เวียงเจ้าเงาะ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทอดพระเนตรแต่เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรม-        โอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพรรณนาไว้ในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงว่า 

‘....ขี่ม้าไปตามถนนพระแท่นเข้าเขตทุ่งยั้ง ซึ่งบัดนี้รวมอยู่ในอำเภอลับแลแล้วลัดเข้าไปในป่าไปดูที่ซึ่งเรียกกันว่า เวียงเจ้าเงาะ ที่นี้เป็นที่ชอบกล...ตามความสันนิษฐานของข้าพเจ้าว่า เวียงเจ้าเงาะนี้เป็นเทือกป้อมหรือค่ายซึ่งสร้างขึ้นเป็นที่รวบรวมครัวเข้าไปไว้เป็นที่มั่นในคราวมีศึก....’ 

เมืองโบราณทุ่งยั้งในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยติดต่อกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งพิจารณาได้จากสำเนียงการพูดของคนทุ่งยั้งเทียบกับกลุ่มคนในชุมชนชาวสุโขทัยเดิม ที่อาศัยอยู่ในแถวหมู่ที่ ๑๐ และหลายๆ หมู่บ้านในเขตตำบลทุ่งยั้ง ที่มีประวัติชุมชนว่าเป็น กลุ่มคนที่อพยพไปตั้งบ้านเรือนที่อื่น

การปรากฏชื่อเมืองทุ่งยั้ง เป็นชื่อเมืองโบราณปรากฏอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์อีกหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ พงศาวดารเหนือ ซึ่งชำระรวบรวมเมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีชื่อเมืองนี้อยู่ในเรื่องสร้างเมืองสวรรคโลกยกบาธรรมราชขึ้นเป็นพระยาธรรมราชาครองเมืองสวรรคโลก โดยหลังจากที่พระยาธรรมราชาสร้างเมืองสวรรคโลกแล้วได้ส่งพระราชโอรสไปครองเมืองต่างๆ ซึ่งมีเมืองทุ่งยั้งรวมอยู่ว่า

‘….บาธรรมราช ผู้ปกครองเมืองสวรรคโลก ได้สร้างเมืองทุ่งยั้งขึ้น เพื่อให้พระโอรสไปปกครอง และให้ชื่อว่า กัมโพชนคร….’

 

‘....จึงชะพ่อชีพราหมณ์ผู้ใหญ่ มารับเอาธรรมกุมารไปราชาภิเษกด้วยนางพราหมณีก็ได้ชื่อว่ากัมโพชนครคือเมืองทุ่งยั้ง และให้สาส์นนั้นไปถึงบ้านบุรพคาม ตกแต่งกำแพงและคูให้ทำพระราชวังให้บริบูรณ์...’

ส่วนหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับเมืองทุ่งยั้งที่ปรากฏอยู่ในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๓๘ พบที่วัดสระศรี จังหวัดสุโขทัย สันนิษฐานว่าจารึกเมื่อราว พ.ศ. ๑๙๔๐ มีความว่า 

‘….พระราชโองการบรมเอาฬารหนักหนา จึงท่านให้ตราพระปรชญบดิให้ลูกขุนมูลตวานบริวารไพร่ฟ้าทั้งหลายถ้วนเมืองเล็กเมื – (อง)ใหญ่) --- ราชสีมาทั้งหลายนี้ไซร้ กลางเมืองสุโขทัยอันเป็นประธานกึ่งในเมื – (อง) – ทํเนปรเชลียง กำแพงเพชร ทุ่งย้าง ปากยมสองแคว....’ 
 


วัดพระยืน พบร่องรอยว่าเคยเป็นอาคารก่อสร้าง
ในสมัยสุโขทัยมาก่อน จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
หน้าที่ 8/12

ในกฎหมายลักษณะลักพาครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ก็เรียกชื่อทุ่งยั้งเป็นเมืองคู่กับเมืองบางยม ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นเมืองร้างอยู่ริมน้ำยม

ในปี พ.ศ. ๒๒๓๘ เมื่อพระเจ้าบรมโกศเสด็จไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์นั้น ปรากฏเรียกชื่อเมือง ทุ่งยั้งว่า เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง หลังจากเมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองขึ้นของเมืองพิชัยแล้ว ต่อมาแม่น้ำน่านเปลี่ยนทางเดิน ทำให้เมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองดอน ชาวเมืองจึงอพยพมาตั้งภูมิลำเนาที่ตำบลท่าอิฐและตำบลบางโพธิ์ เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตีเมืองสวางคบุรี (ก๊กเจ้าพระฝาง) ได้แล้ว พระองค์ได้เสด็จไปทำพิธีสมโภชพระแท่นศิลาอาสน์ที่เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง ในสมัยกรุงธนบุรีเมืองทุ่งยั้งมีชื่อเต็มว่า เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง และมีความสำคัญพอสมควรอีกด้วย

ตามหลักฐานและข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเหล่านี้จะเห็นได้ว่าเมืองโบราณที่เชื่อกันว่าเป็นเมืองทุ่งยั้งแห่งนี้เป็นเมืองเก่าแก่ในแว่นแคว้นสุโขทัยแน่นอน แต่ในสมัยสุโขทัยจะเรียกชื่อว่าอย่างไรไม่ทราบชัดเจน จนกระทั่งถึงสมัยปลายสุโขทัยหรือต้นกรุงศรีอยุธยาจึงปรากฏชื่อเรียกว่า ทุ่งยั้ง 
 


วัดพระแท่นศิลาอาสน์  ตั้งอยู่ในเขตเมืองทุ่งยั้ง 
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม

เนื่องจากเมืองโบราณแห่งนี้มีขนาดกว้างใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่เหมาะสมมาก คืออยู่ในที่ราบลุ่มฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านและยังอยู่ในเส้นทางติดต่อกับเมืองอื่นๆ ขึ้นไปตั้งทางเหนือและต่อไปถึงหลวงพระบางเวียงจันทน์ในประเทศลาวได้ 

ที่มาของชื่อเรียกทุ่งยั้งนั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีของกรมศิลปากร สันนิษฐานไว้ในบทความเรื่อง ‘อุตรดิตถ์เมืองแห่งท่าน้ำ’ ว่า หากพิจารณาโดยชื่อของเมืองทุ่งยั้งว่าหมายถึงที่ยับยั้งในระหว่างการเดินทางก็เป็นการสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศที่เปลี่ยนจากที่ราบมาเป็นที่สูงของภูเขาทำให้แบบแผนการเดินทางต้องเปลี่ยนแปลงไประหว่างการเดินทางโดยทางน้ำตามแม่น้ำน่านจากทิศใต้เปลี่ยนมาเป็นการเดินทางโดยทางบก 

‘….การเกิดขึ้นของเมืองทุ่งยั้งในฐานะเป็นสถานที่หยุดเพื่อสับเปลี่ยนการเดินทางจึงเป็นคำอธิบายที่นำมาใช้ได้...ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เมืองทุ่งยั้งน่าจะหมดความสำคัญลงเพราะศูนย์กลางความเจริญได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองลับแลแทนดังที่ยังคงปรากฏชื่อตำบลทุ่งยั้งอยู่ในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มาจนทุกวันนี้....’

หากพิจารณาถึงการซ้อนทับของ ‘เมืองทุ่งยั้ง’ กับ ‘เวียงเจ้าเงาะ’ ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งซ้อนกันอยู่ในบริเวณเดียวกันคือ เวียงเจ้าเงาะซ้อนอยู่ในเมืองทุ่งยั้งมีเนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไร่ ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาซึ่งลาดลงมาจากบริเวณวัดพระแท่นศิลาอาสน์ มีคูน้ำและกำแพงเมือง ๒ – ๓ ชั้น ว่าไปแล้วเมืองทุ่งยั้งมีขนาดกว้างใหญ่มาก คลุมพื้นที่บริเวณเนินเขานางทองจนถึงบริเวณที่ราบลุ่มบ้านไผ่ล้อม จากหลักฐานกำแพงเมือง ๓ ชั้น และแทบจะเป็นแนวคันดินที่ทำมาจากศิลาแลงแห่งเดียวในประเทศไทย 

โบราณวัตถุสถานที่ปรากฏอยู่ สันนิษฐานได้ว่าเมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองเก่าสมัยสุโขทัย ว่ากันว่า เมืองทุ่งยั้ง มีตำนานที่บอกเล่าความเป็นมาของสถานที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น ตำนานพระเจ้าเลียบโลกของทางล้านนา ส่วนเวียงเจ้าเงาะ เมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองทุ่งยั้งนั้นก็มีตำนานของพื้นที่ที่เกี่ยวกับนิทานเรื่องสังข์ทอง โดยตำนานได้ผูกเอาบ่อแลง และคูน้ำคันดินของเวียงเจ้าเงาะว่าเป็นเมืองท้าวสามล และกระท่อมปลายนาของเจ้าเงาะ เป็นต้น 

ด้วยความที่เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนเนินสูงที่เทลาดมาจากเขาและที่สูงในเขตวัดพระแท่นศิลาอาสน์ทางทิศตะวันตก ส่วนทางตอนเหนือและตะวันออกมีเทือกเขาสูงยาวเป็นแนวต่อเนื่องจากจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าไม่สม่ำเสมอ อันน่าจะเป็นผลจากการขยายเมืองมาหลายครั้ง

หน้าที่ 9/12

ที่เด่นชัดคือ บริเวณที่เป็นส่วนต่อฟากตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองทุ่งยั้งที่เรียกว่า เวียงเจ้าเงาะ นอกจากนี้เมืองโบราณทุ่งยั้งยังมีหนองน้ำขนาดใหญ่สำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ในเมืองด้วย คือ หนองพระแล ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ กับหนองพระทัย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง

ตำนานพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ชาวบ้านเรียกชื่อวัดนี้ไปต่างๆ กัน เช่น วัดมหาธาตุ วัดมหาธาตุทุ่งยั้ง วัดพระธาตุทุ่งยั้ง วัดหน้าพระธาตุ วัดบรมธาตุ และวัดทุ่งยั้ง โดยในคัมภีร์ปัญจพุทธพยากร ซึ่งเป็นเรื่องแทรกอยู่ท้ายปัญญาสชาดก สันนิษฐานว่าตำนานพระแท่นศิลาอาสน์นี้ได้รับอิทธิพลมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลกของล้านนา เนื่องจากเมืองทุ่งยั้งอยู่ติดกับเขตล้านนา ตำนานพระบรมธาตุทุ่งยั้งที่ปรากฏในตำนานพระแท่นศิลาอาสน์ได้ถูกเขียนขึ้นอย่างมากมายหลายเรื่องเล่ามีความเหมือนและแตกต่างกันบ้าง 
 


หนองพระแล หนองน้ำทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองทุ่งยั้ง
ที่มา: มิวเซียมไทยแลนด์-หนองพระแล

เมื่อสืบค้นถึงการกล่าวถึงเมืองโบราณทุ่งยั้งในยุคสมัยต่างๆ ในสมัยอยุธยาตอนต้นถึงตอนกลางยังไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารกล่าวถึงวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งโดยตรง พระราชพงศาวดารกล่าวเพียงว่า ในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ทรงทำศึกกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา โดยพระเจ้าติโลกราชทรงยกกองทัพจากเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองใกล้เคียงมาตั้งมั่นที่เมืองทุ่งยั้งในขณะนั้น

สมัยอยุธยาตอนปลาย ในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ปี พ.ศ. ๒๒๗๕ – ๒๓๐๑ ได้ทรงมาปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุทั้งที่เมืองพิษณุโลกและเมืองทุ่งยั้งโดยปรากฏความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เป็นหมายรับสั่งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีความโดยสังเขปว่า ‘โปรดให้มีตราพระราชสีห์ให้เมืองลับแล เมืองทุ่งยั้งรื้อวิหารและกำแพงแล้วสร้างใหม่’ มีการสมโภชใหญ่ ๓ วัน ๓ คืน ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานที่ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อหลักเมือง หากในส่วนขององค์พระบรมธาตุนั้นไม่มีข้อความในพงศาวดารระบุว่าได้มีการปฏิสังขรณ์ จึงไม่อาจสรุปได้ว่าองค์พระบรมธาตุจะได้รับการปฏิสังขรณ์เช่นเดียวกับวิหารและกำแพงหรือไม่

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ – ๒๕๕๒ สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย ได้ทำการบูรณะพระเจดีย์พระบรมธาตุทุ่งยั้งโดยการฉาบปูนรอบองค์พระเจดีย์ใหม่ ขัดเศษปูนและคราบตะไคร้น้ำและอื่นๆ ขัดปูนตำทั่วทั้งองค์พระเจดีย์

สมัยกรุงธนบุรี ปี พ.ศ. ๒๓๑๓ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินขึ้นมาปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง ชำระพระสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ อาราธนาพระราชาคณะมาสั่งสอน โดยให้พระธรรมเจดีย์อยู่ทุ่งยั้ง เสร็จแล้ว เสด็จไปนมัสการสมโภชพระมหาธาตุเมืองสวางคบุรี ๓ วัน บูรณะพระอารามให้บริบูรณ์ เสด็จไปนมัสการสมโภชพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ๓ วัน เสด็จลงไปนมัสการสมโภชพระมหาธาตุเมืองสวรรคโลก ๓ วัน เสด็จลงไปนมัสการสมโภชพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ๓ วัน แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงธนบุรี โดยพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า ‘....เสด็จพระราชดำเนินไปสมโภชพระ ณ ย้าง ๓ วัน...’ และพระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กล่าวว่า ‘....เสด็จพระราชดำเนินไปสมโภชพระ ณ ทุ้งย้าง ๓ เวร...’ มีเพียงพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ชำระสมัยหลังกล่าวขยายความว่าเสด็จไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ เมื่อพิจารณาจากบริบทสถานที่ที่พระองค์เสด็จไปสมโภชล้วนแต่เป็นพระธาตุ จึงน่าจะหมายถึงพระบรมธาตุทุ่งยั้งมากกว่า

หน้าที่ 10/12

ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชสมภพครบ ๕ รอบ ๖๐ พรรษา และจังหวัดอุตรดิตถ์ครบรอบการจัดตั้ง ๑๐๐ ปี จังหวัดอุตรดิตถ์จึงมีมติดำเนินโครงการหุ้มทองจังโกพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จำนวน ๔๙๙ แผ่น และปรับแต่งภูมิทัศน์รอบพระบรมธาตุเจดีย์

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่ารูปแบบเดิมของพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จากแรกเริ่มเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือดอกบัวตูมแบบสุโขทัย จากการบูรณะในภายหลังหลายครั้งทำให้เปลี่ยนเป็นทรงอื่น แต่ยังคงเหลือฐานเขียงซ้อนกัน ๓ ชั้น อันเป็นลักษณะของฐานเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สันนิษฐานว่ารูปแบบพระบรมธาตุเป็นทรงระฆัง มีมาลัยเถาซ้อนกัน ๓ ชั้น มีฐานปัทม์รองรับ คล้ายกับรูปทรงของพระมหาธาตุเมืองฝาง วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ที่บูรณะพร้อมกัน สันนิษฐานว่าสร้างเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๐๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุด้วย 

รูปทรงปัจจุบันเป็นรูปแบบการบูรณะของหลวงพ่อแก้ว (เจ้าอธิการแก้ว) เจ้าอาวาส พร้อมกับหลวงคลัง (อิน) ภายหลังจากพระบรมธาตุพังลงมาเมื่อ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ฐานเขียงซ้อนกัน ๓ ชั้น ชั้นที่ ๒ – ๓ มีบัวลูกฟักคาดกลางระหว่างท้องไม้ชั้นละ ๒ เส้น ฐานเขียงชั้นที่ ๓ ทำซุ้มคูหาอยู่กึ่งกลางของแต่ละด้าน ยอดเป็นซุ้มเจดีย์มอญ-พม่า องค์ระฆังก่อเป็นทรงระฆัง รองรับด้วยบัวปากระฆังขนาดใหญ่ ทำเป็นลักษณะคล้ายกลีบบัวล้อมรอบ บัลลังก์ขนาดใหญ่ มีปล้องไฉนป่องกลาง ไม่มียอดฉัตร มีเจดีย์ขนาดเล็กมุมฐานเขียง ๔ มุม ทำแบบเจดีย์มอญ-พม่า

งานวิจัยที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การศึกษาสถาปัตยกรรมวัดพระธาตุทุ่งยั้ง ผ่านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมพุทธศาสนา โดยศึกษาสกุลช่างท้องถิ่นโดยมีวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งเป็นศูนย์กลาง โดย สุร-ยุทธ เพ็ชรพลาย วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งในด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมได้ขาดช่วงการศึกษาที่ต่อเนื่องไปนาน กล่าวได้ว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือเรื่อง ‘เที่ยวตามรางรถไฟและจดหมายระยะทางไปพิษณุโลก’ บทพระนิพนธ์และข้อสันนิษฐานของทั้งสองพระองค์ได้ทำให้งานศิลปกรรมของท้องถิ่นนี้ เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา การศึกษาในเรื่องดังกล่าวก็จางขาดหายไป เข้าใจว่าคงเนื่องมาจากข้อคิดเห็นและข้อสันนิษฐานของสองพระองค์ท่าน ทำให้นักวิชาการหลายคนถือเป็นข้อยุติ 

 

ถึงกระนั้น หลักฐานต่างๆ ตลอดจนข้อมูลปลีกย่อยที่ยังไม่ค้นพบในขณะนั้น ยังมีอีกมาก ระยะเวลาที่ศึกษาตลอดจนวิธีการศึกษายังอยู่ในวงจำกัด เมื่อได้มีการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ และข้อมูลปลีกย่อยมาเพิ่มเติม ก็ทำให้เรื่องราวของท้องถิ่นเป็นที่น่าสนใจขึ้นมาอีก ข้อมูลจากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวและสมเด็จฯ ทั้งสองพระองค์เป็นหลัก และเป็นข้อมูลที่สำคัญสามารถทำให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบศิลปกรรม และหลักฐานดั้งเดิมบางส่วนได้เป็นอย่างมาก 

ไม่เฉพาะในช่วงเวลาขณะนั้น ยังสามารถย้อนขึ้นไปได้ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ราวรัชกาลที่ ๓ ได้อีกด้วย การศึกษาเปรียบเทียบกับวัดต่างๆ ทั้งในท้องถิ่นและที่เกี่ยวข้องกับที่อื่นๆ เข้ามาด้วย ซึ่งทำให้มองเห็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างท้องถิ่นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากการศึกษา พบว่าในท้องถิ่นใกล้เคียงมีวัดที่สำคัญถึง ๔ วัด ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันคือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก หรือวัดพระพุทธชินราช วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง วัดพระฝางสวางคบุรี และวัดดอนสัก 

ความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์นี้ก็ได้แก่ รูปแบบศิลปกรรมและขบวนการทางช่าง วิธีการก่อสร้างต่างๆ ได้แก่ ๑. พระธาตุเจดีย์ ได้มีการพบภาพถ่ายเก่าก่อนบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทำให้เห็นรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเจดีย์ในสกุลต่างๆ ทำให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะเป็นรูปแบบของท้องถิ่นเอง 
 


พระมหาธาตุเมืองฝาง สันนิษฐานว่ารูปแบบของพระบรมธาตุ
คล้ายกับพระธาตุทุ่งยั้ง ที่มา: มิวเซียมไทยแลนด์-วัดพระฝาง
หน้าที่ 11/12

๒. สถาปัตยกรรมพระวิหารและพระอุโบสถ พบว่า ส่วนสำคัญที่แสดงออกให้เห็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของสกุลช่างท้องถิ่น คือ ระบบและโครงสร้างของหลังคาพระวิหารที่แตกต่างไปจากงานสกุลช่างหลวง โดยรับอิทธิพลจากวัดพระพุทธชินราชเป็นต้นแบบ แล้วนำมาปรับปรุงใช้เป็นแบบอย่างในท้องถิ่น ได้แก่ การวางตัวไม้แผ่นแบบพาดเชื่อมหัวเสาไปตามยาวอาคาร ในขณะที่สกุลช่างหลวงทั่วไปจะวางขื่อพาดเชื่อมหัวเสาตามขวางของอาคารก่อนจะบากรับไม้แป นอกจากนี้แล้ว การวางไม้กลอนและไขราก็ต่างไปจากสกุลช่างหลวง โดยช่างท้องถิ่นจะพาดไม้กลอนลงบนแปหัวเสา ในขณะที่สกุลช่างหลวงจะยกลอยไปจนที่เชิงกลอน โดยแปหัวเสาจะไม่ติดกันกับไม้กลอน 

๓. จากศิลปกรรมอื่นๆ ได้แก่ งานแกะสลักไม้บนหน้าบัน และงานจิตรกรรมเป็นงานของช่างท้องถิ่นที่ชัดเจน ได้สะท้อนให้เห็นแนวคิดและทัศนคติต่างๆ เช่น คติความเชื่อเรื่องไตรภูมิพุทธประวัติ และนิทานพื้นบ้าน ในส่วนของอายุศิลปกรรม ในส่วนที่ไม่มีหลักฐานประวัติการซ่อมก็เป็นการยากที่จะระบุเวลาลงไปแน่ชัด เพราะงานสกุลช่างท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับศาสนาจะอยู่ในขอบเขตจำกัด ไม่แผ่กว้างอย่างสกุลช่างหลวงที่สามารถเทียบเคียงรูปแบบและประวัติการสร้างได้จะมีชัดเจนที่สุดคือ การซ่อมในสมัยรัชกาลที่ ๓ และที่ ๕ 

เมื่อมาผนวกกับการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับภาษาถิ่นของตำบลทุ่งยั้ง หมู่ที่ ๒ ทุ่งยั้งเหนือ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เนื่องจากเป็นภาษาที่มีความแตกต่างจากภาษาอื่น โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับภาษาสุโขทัยและภาษาพิษณุโลก ก็ยิ่งยืนยันถึงสมมติฐานและการสังเคราะห์ตีความของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ในทางภูมิวัฒนธรรมว่า ‘ทุ่งยั้งคือนครสระหลวง’ ตามในจารึกพ่อขุนรามคำแหงมากกว่าเมืองพิจิตร เพราะทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองมีที่ราบลุ่มหนองบึงสมกับที่จะได้ชื่อว่า สระหลวง และความเป็นเมืองคู่บนลุ่มน้ำน่านตะวันออก สระหลวง-สองแคว

 


 
อ้างอิง

'ทุ่งยั้งคือนครสระหลวง' โดย ศรีศักร วัลลิโภดม วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม - มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

 

คำสำคัญ : พระบรมธาตุทุ่งยั้ง,เมืองโบราณทุ่่งยั้ง,สระหลวง,สองแคว,อุตรดิศถ์

‘ทุ่งยั้ง: เมืองชนแดนแห่งลุ่มน้ำน่านและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์’ โดย วิยะดา ทองมิตร, ธีระวัฒน์ แสนคำ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม - มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

‘วิถีชนบนตำนาน : ตำนานเมืองพระห้าอิริยาบถ ทุ่งยั้งและเวียงเจ้าเงาะ’ โดย ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม - มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

‘ประวัติพระแท่นศิลาอาสน์ และประวัติเมืองทุ่งยั้ง, เวียงท้าวสามล เวียงเจ้าเงาะ ในจังหวัดอุตรดิตถ์’ โดย สงัด รอดมัน 

'พระบรมธาตุทุ่งยั้ง ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองทุ่งยั้ง' โดย  ธีระวัฒน์ แสนคำ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์

'ประวัติพระบรมธาตุทุ่งยั้ง (รวบรวม)' โดย นรินทร์ ประภัสสร

'การศึกษาสถาปัตยกรรมวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง' โดย สุรยุทธ เพ็ชรพลาย วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๓๖

'ทุ่งยั้ง' ศูนย์ข้อมูลวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

'วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง' หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์ กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

‘แนวกำแพงเมืองทุ่งยั้ง’ ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

'การเปรียบเทียบภาษาไทยมาตรฐานกับภาษาถิ่นทุ่งยั้งเหนือ' โดย กองศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

พรเทพ เฮง
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกโบราณคดี รุ่น ๓๘ ทำงานด้านสื่อ ด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และสาระบันเทิงมาค่อนชีวิต
หน้าที่ 12/12