‘พระธาตุภูเพ็ก’ ศาสนบรรพตในคติฮินดูไศวนิกาย เทวาลัยสมมติเขาไกรลาสดัดแปลงเปลี่ยนแปรเป็นพุทธศาสนสถาน
‘ปราสาทหินภูเพ็ก’ หรือปราสาทพระธาตุภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่บนยอดเขาที่เรียกว่า ดอยคูหา หรือดอยเพ็ก นับเป็นศาสนสถานที่สำคัญ ถ้าปราสาทพนมรุ้ง เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ของอีสานใต้ที่อยู่บนเทือกเขา ที่นี่ก็จัดว่าเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่บนภูเขาลูกเดียวของอีสานเหนือ ปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ ปราสาทหินภูเพ็กตั้งอยู่บนภูเขาสูง การเข้าถึงต้องเดินขึ้นบันไดไปเท่านั้น สภาพทางกายภาพโดยรอ
‘พระธาตุภูเพ็ก’ ศาสนบรรพตในคติฮินดูไศวนิกาย เทวาลัยสมมติเขาไกรลาส
ดัดแปลงเปลี่ยนแปรเป็นพุทธศาสนสถาน
พรเทพ เฮง
‘ปราสาทหินภูเพ็ก’ หรือปราสาทพระธาตุภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่บนยอดเขาที่เรียกว่า ดอยคูหา หรือดอยเพ็ก นับเป็นศาสนสถานที่สำคัญ ถ้าปราสาทพนมรุ้ง เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ของอีสานใต้ที่อยู่บนเทือกเขา ที่นี่ก็จัดว่าเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่บนภูเขาลูกเดียวของอีสานเหนือ ปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ ปราสาทหินภูเพ็กตั้งอยู่บนภูเขาสูง การเข้าถึงต้องเดินขึ้นบันไดไปเท่านั้น สภาพทางกายภาพโดยรอบภูเขาเป็นป่า สิ่งก่อสร้างของวัดขาดการดูแลรักษาทำให้อาคารเสื่อมโทรม
บริเวณปราสาทหินภูเพ็ก ซึ่งอยู่บนยอดเขาหินทรายบนเทือกเขาภูพาน ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยาปรากฏแท่นหินทราย ขนาด ๕๖ X ๕๖ เซนติเมตร สูง ๖๐ เซนติเมตร ด้านบนมีการแกะสลักเป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียงรอบเป็นรูปทรงเรขาคณิตจำนวน ๑๖ ช่อง ใช้ติดตามตำแหน่งของดวงอาทิตย์ จากทิศทางของแสง จะได้ทราบฤดูกาลและกำหนดเวลาทำการเกษตร ลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นหินทรายหมวดหินภูพาน ยุคครีเทเชียส ซึ่งประกอบด้วยหินตะกอนประเภทหินทรายเป็นส่วนใหญ่
‘ปราสาทหินภูเพ็ก’ หรือปราสาทพระธาตุภูเพ็ก
ปราสาทหินภูเพ็กก่อด้วยหินแกรนิต เรือนธาตุตั้งอยู่บนฐานยกสูง ตอนหน้าของปราสาท มีฐานหินเป็นก้อนเรียงซ้อนๆ กัน ยื่นออกคล้ายกากบาทสูงกว่าฐานของเรือนฐานเล็กน้อย ตัวเรือนธาตุทั้งสี่ด้านย่อมุมๆ ละ ๕ เหลี่ยม รวมเป็น ๒๐ เหลี่ยม ความกว้างของปราสาทโดยรอบกว้างด้านละ ๑๑ เมตร มีชานเป็นพื้นที่กว้างพอสมควร ความสูงจากพื้นดินถึงฐานชั้นที่ ๑ สูง ๑.๕๘ เมตร จากฐานชั้นที่ ๑ ถึงฐานชั้นที่ ๒ สูง ๐.๗๐ เมตร ตัวเรือนปราสาททั้ง ๓ ด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก หน้าอาคารปราสาทหันไปทางทิศตะวันออก
นอกจากนี้ ยังมี ‘ลานเพ็กมุสา’ เป็นลานหินเล็กๆ อยู่เชิงเขาไม่ห่างจากบันไดทางขวามือ หรืออยู่ทางทิศเหนือของ สระแก้ว บริเวณนี้เชื่อว่า บรรดาชายหนุ่มเห็นดาวเพ็ก ที่ฝ่ายหญิงประดิษฐ์เป็นโคมไฟชักขึ้นไว้เหนือยอดไม้ คล้ายดาวประกายพรึกเช้ามืดที่ขึ้นขอบฟ้า
‘สระแก้ว’ มีอยู่ ๒ แห่ง คือสระที่อยู่ด้านทิศเหนือห่างจากพระธาตุหรืออาคารปราสาท ๑๖ เมตร อยู่ติดกับบริเวณลานหลังเขา ๒ เมตร สระอีกแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากปราสาท ๓๐ เมตร สระทั้งสองแห่งกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๐ เมตร น้ำในสระแก้วทิศเหนือไม่แห้ง ถือว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในบริเวณยอดภูเพ็กยังมีถ้ำต่างๆ อีกหลายแห่ง เช่น ถ้ำพลวง ถ้ำเปือย ถ้ำกบงา ถ้ำซาววา ถ้ำเยือง เป็นต้น
เมื่อมองในด้านภูมิวัฒนธรรมของพุทธศาสนา พระธาตุภูเพ็ก ตามตำนานพระธาตุเจดีย์อีสาน ใช้ลักษณะโครงเรื่อง มี ๒ แบบ คือ ๑. มีการกล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าอยู่ ๓ ฉบับ และ ๒. การไม่ได้เสด็จมาของพระพุทธเจ้า ๗ ฉบับ โครงเรื่องโดยส่วนใหญ่ สอดคล้องกับทฤษฎีโครงสร้างนิทานของ วลาดิมีร์ พรอปป์ (Vladimir Propp) นักคติชนวิทยาชาวรัสเซีย คือคนอื่นให้สิ่งของกับพระเอก สิ่งของเป็นสาเหตุให้พระเอกเดินทางไปอีกเมืองหนึ่ง เช่นเดียวกับในตำนานคือ พระอรหันต์ได้รับพระธาตุ พระธาตุเป็นสาเหตุให้พระอรหันต์ เดินทางไปอีกเมืองหนึ่ง
บุคคลหลัก มีการกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอดีต ๓ พระองค์ ว่าได้เคยมาประดิษฐานพระอุรังคธาตุ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระอรหันต์ที่มีบทบาทสำคัญในการนำเอาพระธาตุของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันมาประดิษฐานไว้ ณ ดินแดนอีสาน และเจ้าเมืองที่มีบทบาทในการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ บุคคลรอง มีการกล่าวถึง พระสงฆ์ เจ้าเมืองต่างๆ พระมเหสีของเจ้าเมืองต่างๆ ที่มีบทบาทในการช่วยเหลือการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ และมีความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะตั้งอยู่เพียง ๕,๐๐๐ ปี ให้ชาวบ้านพยายามสืบทอดพระพุทธศาสนาไว้ให้ได้ และให้รีบทำบุญทำกุศลเพื่อที่จะได้กลับมาเกิดในยุคของพระศรีอริยเมตไตรย
จากความเชื่อตามตำนานอุรังคธาตุ ตำนานความเชื่อที่คนโบราณจำนวนมากเชื่อว่าโบราณสถานแห่งนี้เกี่ยวพันกับพุทธศาสนามาโดยตลอดถึง ๔ ช่วงสมัย สมัยที่ ๑ กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาบริเวณที่เรียกว่า ดอยแท่น หลังจากที่ได้ทรงเทศนาธรรมแก่พระสุวรรณภิงคารแล้ว
สมัยที่ ๒ หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วบรรดาชาวเมืองหนองหารหลวง และเมืองหนองหารน้อยก่ออุโมงค์แข่งขันกัน อุโมงค์เมืองหนองหารน้อย คือ องค์พระธาตุภูเพ็กแห่งนี้
สมัยที่ ๓ พระมหากัสสปะนำพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ได้นำอุรังคธาตุประดิษฐานที่ดอยแท่นก่อนแยกย้ายไปบิณฑบาต ในเมืองหนองหารหลวง หนองหารน้อย
สมัยที่ ๔ คือ สมัยหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปได้ ๕๐๐ ปี ท้าวพระยาและฤาษี ๒ ตน คือ อมรฤาษี และโบธิกฤาษี ได้นำก้อนหินที่ดอยแท่นไปร่วมปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมดอยภูกำพร้า ความเชื่อดังกล่าว ทำให้เกิดการเชื่อมโยง อธิบายสถานที่สำคัญๆ เช่น ‘แค้นแท้’ เป็นบริเวณลานหินขนาดกว้างอยู่ห่างจากตัวปราสาท ไปทางทิศตะวันตกสุดขอบไหล่เขาที่ตั้งตัวปราสาท บริเวณแห่งนี้มีทั้งก้อนหิน ที่ถูกเครื่องมือโบราณสกัดขาดแล้วเป็นก้อนขนาดใหญ่รอการเคลื่อนย้าย และที่อยู่ระหว่างสกัดเห็นเป็นร่องๆ จำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าช่างผู้สร้างปราสาทแห่งนี้มิได้นำก้อนหินมาจากเชิงเขาแต่อย่างใด แต่หากสกัดหินจากยอดเขาแห่งนี้ด้วยความพยายาม ที่เรียกบริเวณนี้ว่า แค้นแท้ เพราะผู้สกัดหินถูกเพื่อนๆ หลอกลวงว่าอุโมงค์ของสตรีที่หนองหารหลวงสร้างเสร็จแล้ว ดาวเพ็กขึ้น แล้วให้วางมือจากการก่อสร้าง ต่อเมื่อรู้ว่าเสียรู้สตรีจึงมีแต่ความแค้นในอก
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ กรมศิลปากรส่งคณะเจ้าหน้าที่มาสำรวจเพื่อทำแผนผังตัวปราสาทหินภูเพ็กและบริเวณรอบๆ คณะดังกล่าวได้สลักข้อความไว้ที่ขอบประตูว่า มาราชการสนาม ลงวันที่ ๗/๑๐/๒๔๗๖ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเจดีย์ภูเพ็ก หรือพระธาตุภูเพ็ก ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ กำหนดเขตที่ดินเนื้อที่โบราณสถาน ประมาณ ๑๙ ไร่ ๑ งาน ๔๓ ตารางวา ประกอบด้วยรายละเอียดสิ่งก่อสร้าง ๓ อย่างคือ ปรางค์ประธาน ฐานศิลาแลง (ความจริงเป็นหินทราย) และสระน้ำ ต่อมาได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาเพิ่มเติม เพื่อกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔
พระธาตุภูเพ็ก มีเส้นทางขึ้นภูเขาสูงคดเคี้ยวสูงจากระดับน้ำทะเล ๕๒๐ เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู แต่ภายหลังดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถาน
เป็นปราสาทขอมขนาดใหญ่ องค์พระธาตุก่อสร้างด้วยหินทราย เรือนธาตุตั้งอยู่บนฐานยกสูง ตอนหน้าของปราสาทมีฐานหินเป็นก้อนเรียงซ้อนๆ กัน ยื่นออกคล้ายกากบาท เรียกว่า โคปุระ สูงกว่าฐานของเรือนฐานเล็กน้อย ตัวเรือนธาตุทั้งสี่ด้านย่อมุมๆ ละ ๕ เหลี่ยม หน้าอาคารปราสาทหันไปทางทิศตะวันออกและมีบันไดหินก่อปูนขึ้นบนยอดเขาประมาณ ๔๙๑ ขั้น ตามตำนานสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยเดียวกับพระธาตุนารายณ์เจงเวง
พระธาตุนารายณ์เจงเวง ตามตำนานสันนิษฐานว่าสร้างสมัยเดียวกับ
มีการยกเรื่องประวัติศาสตร์การก่อสร้างปราสาทภูเพ็กไว้ในตำนานพระอุรังคธาตุ ซึ่งกล่าวไว้ว่า พระธาตุภูเพ็กสร้างโดยฝ่ายชายเพื่อแข่งขันกับฝ่ายหญิงซึ่งสร้างพระธาตุนารายณ์เจงเวง เพื่อรอบรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า ทั้งสองฝ่ายถือกติกาว่าถ้าดาวเพ็ก (ดาวศุกร์) ขึ้น ให้หยุดสร้าง ในการก่อสร้างฝ่ายหญิงได้ออกอุบายแขวนโคมไว้บนยอดสูง ทำให้ฝ่ายชายเข้าใจผิดเห็นว่าเป็นดาวศุกร์และหยุดสร้างปราสาท ทำให้ปราสาทภูเพ็กมีลักษณะที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จมาจนทุกวันนี้
เมื่อขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุผ่านมาถึง พระมหากัสสปะทราบเรื่องการสร้างอุโมงค์ จึงแจ้งแก่ชาวเมืองหนองหารหลวงว่า ไม่สามารถแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ได้ เพราะต้องนำไปไว้ยังภูกำพร้า (พระธาตุพนม) ตามพุทธบัญชา แต่ก็ได้มอบ ‘ธาตุพระอังคาร’ (เถ้าถ่าน) ให้ไว้บรรจุในอุโมงค์ของฝ่ายหญิงแทน (ในพระธาตุนารายณ์เจงเวง) การนมัสการพระธาตุต้องเดินขึ้นบันได ๔๙๑ ขั้น ไปยังองค์พระธาตุซึ่งอยู่บนเทือกเขาภูพาน
ปราสาทหินพิมาย พบเป็นนิทานในทำนองที่มีฝ่ายชายแข่งขันกับฝ่ายหญิง
สร้างพระธาตุ โดยแข่งกับปราสาทหินพนมวัน
นิทานเรื่องทำนองนี้มีอยู่ทั่วไปในภูมิภาคขึ้นอยู่กับว่าใครจะแต่งเรื่องแบบไหน เท่าที่ค้นคว้าได้พบว่ามีอยู่อีก ๒ แห่ง คือ ปราสาทหินพิมาย แข่งกับปราสาทหินพนมวัน ที่โคราช และปราสาทหินวัดภู ที่แขวงจำปาสัก ประเทศลาว แข่งกับ พระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม
หากมองภาพกว้างของเทือกเขาในแอ่งสกลนคร วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้ให้ข้อมูลถึงภูมิศาสตร์โบราณคดีของบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนกลางไว้ว่า เมื่อผ่านบริเวณโขงเจียม ซึ่งเป็นแนวเขาทั้งสองฝั่ง และเป็นจุดบรรจบของลำน้ำมูลที่ไหลมาสบบริเวณนี้ทำให้เกิดเกาะแก่งและผาชัน และเป็นจุดที่พบจารึกจิตรเสนอีกแห่งหนึ่ง แม่น้ำโขงเลี้ยวไปทางตะวันออกเลียบแนวภูเขาที่เรียกว่า ภูควาย เป็นจุดเริ่มต้นของเทือกเขาพนมดงเร็ก บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเมืองปากเซ ซึ่งฝั่งตรงกันข้ามมีแนวเขาสูงใหญ่เทือกหนึ่ง มียอดเขาสำคัญอยู่ ๓ แห่งคือ ภูหลวง ภูจำปาสัก และภูเก้า ซึ่งมีรูปลักษณ์แปลกตาเพราะยอดเขามีหินตั้งขึ้นคล้ายเดือยตามธรรมชาติ จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของคนท้องถิ่นและในศาสนาฮินดูเป็นที่สถิตของพระศิวะ จึงเรียกว่า ลึงคบรรพต ต่อมาคนลาวเห็นคล้ายการเกล้าผมมวยตั้งขึ้นบนศีรษะ จึงเรียกว่าภูเกล้าหรือภูเก้า ส่วนชาวบ้านเรียกว่า ภูควาย
หากเปรียบเทียบระหว่างปราสาทพนมกรม (Phnom Krom) ที่ริมโตนเลสาบ เมืองเสียมราช ประเทศกัมพูชา กับปราสาทภูเพ็ก สกลนคร ประเทศไทย มีการคัดเลือกสถานที่สร้างบนภูเขาที่มีรูปร่างเหมือนเขาพระสุเมรุ และมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เอกสารของกรมศิลปากรในหนังสือชื่อ ‘รอยอดีตสกลนคร’ ให้รายละเอียดไว้ว่า ไม่สามารถยืนยันปราสาทแห่งนี้สร้างในสมัยใด เพราะไม่ปรากฏจารึกและลวดลายแกะสลักแม้แต่แผ่นเดียว แต่จากการดูแบบแปลนและทำเลสถานที่ตั้งสันนิษฐานว่าอาจจะสร้างในราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๖ – ๑๗ ในศิลปะเขมรแบบบาปวน-นครวัด และน่าจะมีความตั้งใจสร้างเพื่อเป็นศาสนสถานฮินดู
หนังสือ ‘ร้อยรอยเก่าสกลนคร’ จัดทำโดยสำนักศิลปากรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด ของกรมศิลปากร ให้ข้อมูลว่า ปราสาทภูเพ็กน่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ เช่นเดียวกับศาสนสถานอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง จารึกภาษาขอมโบราณที่ขอบประตูปราสาทเชิงชุม (พระธาตุเชิงชุม) ซึ่งถอดความเป็นภาษาไทยโดยผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากร ได้แปลความหมายว่า
‘แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ชยานักษัตร วันอังคาร ตรงกับปฏิทินมหาศักราช วันอังคารที่ ๒๗ เดือนอัสวิน มหาศักราช ๑๑๒๖’ เมื่อเทียบกับปฏิทินสากลปัจจุบัน เป็น วันอังคารที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๑๗๔๗ เป็นช่วงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
พร้อมกับให้รายละเอียดพระธาตุภูเพ็กว่า เป็นปราสาทหินทรายขนาดใหญ่ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ก่อได้เพียงผนังเรือนธาตุระดับคานทับหลังของปราสาท องค์ปราสาทมีทางเข้าคูหาภายในด้านทิศตะวันออก ส่วนอีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก ปราสาทมีมุขกระสันเชื่อมกับมณฑปที่มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานล่างสุดของปราสาทและมณฑปเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทมีสระน้ำขนาดเล็ก ๒ สระ (สระแก้ว) เนื่องจากเป็นปราสาทที่ก่อสร้างไม่สำเร็จและไม่มีลวดลายที่สามารถใช้เปรียบเทียบเพื่อกำหนดอายุได้
ว่าไปแล้ว ปราสาทหินภูเพ็ก ถือเป็นปราสาทขอมโบราณที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย เป็นปราสาทเทวาลัย ศาสนบรรพต ซึ่งยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ไม่มีหลังคา และยอดปราสาท เพียงแต่ทำขื่อตั้งไว้เท่านั้น ตั้งบนยอดเขาที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคทางทิศเหนือสุดของอาณาจักรกัมพุชเทศะ-ขอม-เขมร ในยุคโบราณ (Ancient Khmer) และอาจเป็นปราสาทหินในรูปแบบ ปราสาทประธานเชื่อมอาคารมณฑปบนฐานแกนยาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างอยู่ทางทิศเหนือสุดของภูมิภาคอีสานเหนือ-อีสานใต้ จนถึงเขตเขมรต่ำ (ขะแมร์กรอม) ทางทิศใต้ อันเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางอำนาจการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของอาณาจักรเขมรโบราณ สร้างด้วยหินทรายบนฐานศิลาแลง มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ด้านหน้าเชื่อมต่อกับมณฑปรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
รูปแบบสถาปัตยกรรมมีเรื่องราวของปราสาทหินในคติไศวนิกายผสมกับนิกายปศุปตะ ที่สร้างเทวาลัยขึ้นบนยอดเขาเพื่อสมมติให้เป็นเขาไกรลาส (Kailasha) บนพื้นโลก เพื่อประดิษฐานรูปประติมากรรมศิวลึงค์ (Shiva Linga) เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ ประดิษฐานอยู่เป็นประธานในอาคารประธานที่เรียกว่า วิมาน
ปราสาทภูเพ็กยังเป็นปราสาทหินที่ถูกวางแผนผังในรูปแบบของ ปราสาทประธาน (วิมาน) เชื่อมต่อมณฑปด้วยอันตราละบนฐานต่อเนื่องขนาดใหญ่ในวัฒนธรรมปราสาทแบบเขมร อีกฐานชั้นซ้อนของมณฑปที่ปราสาทภูเพ็ก ก็เป็นรูปแบบของฐานมณฑปแผนผังทรงจัตุรมุข ที่ยกพื้นบัวสูงกว่าฐานบัวของปราสาทประธานเพียงแห่งเดียว นับจากรูปแบบของปราสาทประธานในแผนผังเดียวกันที่พบในประเทศไทยและกัมพูชา
แผนผังของปราสาทเชื่อมมณฑปที่ปราสาทภูเพ็ก มีขนาดความยาวประมาณ ๓๔ เมตร เป็นแบบที่ใช้แกนยาวเป็นหลัก (Plan Axe) ในแนวตะวันออกถึงตะวันตกที่เริ่มจากบันไดต้นทางมายังชาลาทางเดินหรือทางดำเนิน) ตรงขึ้นสู่ตระพักบันได ก่อนขึ้นสู่บันได ที่ไต่ระดับความลาดชันขึ้นไปสิ้นสุดที่เพิงหน้าผาหินทรายทางด้านหน้าของยอดเขาดอยเพ็กจากแกนยาวเส้นตรง เมื่อผ่านขึ้นไปสู่ยอดเขา ก็จะพบตัวฐานของปราสาทภูเพ็กวางตัวทอดยาว หมุนหน้า (Orientations) ไปทางทิศตะวันออกแท้ (Due East) โดยจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นตรงกับกรอบประตูในช่วงวันวสันตวิษุวัต” (Vernal Equinox) ซึ่งเป็นวันที่ช่วงสว่าง (กลางวัน) และช่วงมืด (กลางคืน) ในหนึ่งวันจะมีเวลาใกล้เคียงกันมากที่สุดในรอบปี โดยแนวฐานปราสาทภูเพ็ก จะทำมุมเฉียงขึ้นไปทางทิศเหนือจากแนวเส้นขนานละติจูด (Latitude Parallel) ประมาณ ๓ องศา
ขนาดใหญ่ ที่มา: กรมศิลปากร
ในช่วงเวลาหนึ่งของเดือนมีนาคมและกันยายนในทุกปี พระอาทิตย์จะขึ้นที่ขอบฟ้าทางทิศตะวันออกแท้ตรงกับแกนหลักของปราสาทพอดี ซึ่งก็เหมือนกันกับการหมุนหน้าหรือหมุนทิศของปราสาทเทวาลัยในวัฒนธรรมของเขมรโบราณโดยทั่วไป ที่ส่วนใหญ่ก็จะเริ่มต้นจากการรังวัดหามุมแสงของพระอาทิตย์ตอนเช้า ซึ่งอยู่ในระบบความเชื่อโดยวางแผนผังตามแนวแสงของพระอาทิตย์ในเวลาเช้าทาบเป็นเงาจากหลักหมุดหนึ่งไปยังอีกหลักหนึ่งตามแนวเงาไปทางทิศตะวันตก เพื่อเตรียมการก่อสร้างอาคารศาสนสถานตามแนวหลักที่กำหนดขึ้นจากแสงอาทิตย์ สอดรับกับคติความเชื่อเก่าแก่ที่สืบทอดกันตั้งแต่ยุคก่อน
สำหรับ ศิวลึงค์ (Shiva Linga) ขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างอันซับซ้อน เป็นสัญลักษณ์สำคัญแทนองค์พระศิวะ มีร่องรอยของการจัดวางหมู่อาคารศาสนสถานล้อมรอบอาคารที่เป็นจุดศูนย์กลางอย่างปราสาทประธาน ด้วยระบบของอาคารระเบียงคดที่มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมล้อมปริมณฑลศักดิ์สิทธิ์ และอาจประกอบด้วยอาคารอื่นๆ ทั้งบรรณาลัย พลับพลาและอาคารเรือนเครื่องไม้
ประติมากรรมหินทราย ๒ ชิ้น คือ ศิวลึงค์ กับ ครรภบัตร
พบที่ปราสาทภูเพ็ก ที่มา: กรมศิลปากร
บันไดต้นทาง (Stairway) ด้านหน้าสุดของระดับชั้นล่างตามแนวแกนหลักของปราสาทภูเพ็ก จากตระ-พักเขาด้านล่างทางทิศตะวันออก น่าจะเป็นบันไดที่ทำขึ้นจากหินทราย เป็นชั้นเริ่มต้นอยู่ใกล้กับลานจอดรถของวัดพระธาตุภูเพ็ก ถัดขึ้นมาเป็นชาลาทางเดิน หรืออาจมีการทำเป็นหัวนาคที่หน้าบันได เรียกว่า สะพานนาค (Naga Bridge) บุด้วยหินทรายเป็นก้อนวางเรียงเป็นแนว ซึ่งหากสร้างเสร็จสมบูรณ์ก็อาจมีการวางเสานางเรียง (Cumval) เช่นเดียวกับปราสาทบนยอดเขาหลังอื่นๆ ด้านในของชาลาทางเดินใช้ดินบดอัดและนำหินทรายภูเขามาวางจัดเรียงปูทับไว้เป็นพื้นทางเดินด้านบน
ด้านบนสุดของยอดเขา มีร่องรอยของการปรับพื้นที่เขาธรรมชาติให้เป็นลานเรียบเสมอกัน ทางด้านขวาของบันไดทางขึ้น มีร่องรอยของสระน้ำที่ไม่มีการกรุขอบสระด้วยหิน เรียกว่า สระแก้ว ซึ่งเป็นลักษณะของบ่อน้ำกินน้ำใช้ของผู้คนที่มาเป็นแรงงานสร้างปราสาท ไม่ใช่สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ติดกับสระน้ำใกล้กับหน้าผา มีลานหินขนาดไม่ใหญ่นัก ลานเพ็กมุสา
บริเวณมุขกระสันของปราสาทหินภูเพ็ก ปรากฏประติมากรรมหินทราย ๒ ชิ้น คือ ศิวลึงค์ กับ ครรภ-บัตร ที่มีความสำคัญสามารถทำให้ทราบถึงลัทธิทางศาสนาของปราสาทแห่งนี้ได้ว่าสร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด
ครรภบัตรเป็นแท่นหินรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านบนตรงกลางเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ ๒๒ ซม. และมีช่องสี่เหลี่ยมขนาด ๕ X ๕ ซม. เจาะเรียงเป็นแนวรอบช่องสี่เหลี่ยมตรงกลาง ด้านละ ๕ ช่อง รวมทั้งสิ้น ๑๖ ช่อง ถือเป็นแท่นหินสำหรับบรรจุสัญลักษณ์มงคล สำหรับประกอบพิธีฝังอาถรรพ์ก่อนการประดิษฐานรูปเคารพ โดยจะอยู่ภายในแท่นที่ประดิษฐานรูปเคารพอีกชั้นหนึ่ง ช่องเหล่านี้เจาะสำหรับบรรจุแผ่นโลหะ หิน รัตนชาติ หรือสิ่งของอื่นๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของอนุภาคทั้งหลายในจักรวาล ตามตำแหน่ง ทิศ และระดับความสำคัญ
ครรภบัตรที่มีการบรรจุสัญลักษณ์อย่างถูกต้องจะทำหน้าที่เป็นมณฑล หรือแผนผังจักรวาล ในรูปย่อที่รวมของพลังอำนาจและความศักดิ์สิทธิทั้งหลายในจักรวาล อันจะส่งกระแสถ่ายทอดความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่รูปเคารพที่ประดิษฐานอยู่ด้านบน รูปเคารพนั้นจะเกิดมีชีวิตและพลังอำนาจกลายสภาพเป็นตัวแทนสมบูรณ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า
การที่ใช้ช่องสี่เหลี่ยมของปราสาทเป็นการดูวันเวลาจากดวงอาทิตย์ ตำแหน่งที่ใช้ก่อสร้างพระธาตุภูเพ็กบนยอดภูสูงบนบริเวณที่โล่งแจ้ง ไม่มีป่าเขาหรือต้นไม้มาขวางกั้นเพื่อให้แสงสาดส่องลงมาตัวปราสาทพอดี แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา ตรงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์สำคัญ ได้แก่ วสันตวิษุวัต (vernal equinox) ศารทวิษุวัต (autumnal equinox) ครีษมายัน (summer solstice) เหมายัน (winter solstice) และครึ่งทางจักรราศี (cross quater)
งานวิจัยที่นำเสนอข้อมูลทางวิชาการแนวคิดใหม่ของปราสาทหินภูเพ็ก หรือพระธาตุภูเพ็ก ‘ราชวงศ์มหิธรปุระ : ข้อสันนิษฐานใหม่’ โดย ดุสิต ทุมมากรณ์ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น องค์ความรู้ทางวิชาการที่สังเคราะห์มีความเกี่ยวโยงกับพระธาตุภูเพ็กอย่างมีนัยสำคัญ
‘….ห่างจากตัวเมืองสกลนครเก่าไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒๒ กิโลเมตร ในเขตอําเภอพรรณานิคม มีโบราณสถานสําคัญคือ พระธาตุภูเพ็ก ที่ตั้งอยู่บนยอดภูเพ็ก หนึ่งในยอดเขาสูงในเขต เทือกเขาภูพาน โดยอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๕๒๒ เมตร
มีลักษณะเป็นปราสาทขนาดใหญ่ประเภทศาสนบรรพตในคติศาสนาฮินดูไศวนิกายก่อด้วยหินทรายทั้งหลัง มีศิวลึงค์เป็นประธานของศาสนสถานมีอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ ที่อาจเทียบได้กับปราสาทพระวิหาร ประเทศกัมพูชา แม้ศาสนสถานแห่งนี้จะสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่มีการแกะสลักลายประดับ แต่ก็มีการใช้งานประกอบพิธีกรรมแล้ว
ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ในอาคารทรงสามเหลี่ยมอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ ถ้ำพระ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ตามคติพุทธศาสนามหายานก็แสดงอิทธิพลศิลปกรรมจากปราสาทพระวิหารเป็นอย่างมาก และเมื่อพิจารณาถึงภูมิศาสตร์ ที่ตั้งของเมืองสกลนครเก่าที่มีภูพานเป็นปราการหลัง บนยอดภูพาน มีพระธาตุภูเพ็กเป็นศาสนบรรพตเหนือยอดเขา เช่นเดียวกับปราสาทพระวิหาร มีหนองหารหลวงเป็นแหล่งน้ำใหญ่ เป็นคลังปลาอันอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกับทะเลสาบแห่งเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา ที่แวดล้อมด้วยที่ราบกว้างใหญ่อันอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกข้าว ทอดยาวจากแม่น้ำโขงจนถึงฝั่งประเทศลาวและเวียดนามที่มีสภาพเป็นเทือกเขาสูง อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์และสัตว์ป่า ตลอดจนชนเผ่าพื้นเมือง
ทำให้สามารถสร้างบ้านแปลงเมืองได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะขุนนางยศกำสเตงที่จัดสรรที่ดินกับข้าราชการและประชาชนในเขตพระธาตุเชิงชุมนั้นก็มีอายุร่วมสมัยกับกำสเตงมหิธรวรมันที่ย้ายจากปราสาทพระวิหารมายังดินแดนแห่งรังโคลพอดี คือ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗
นอกจากนี้แล้ว อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม กล่าวว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ไม่ปรากฏหลักฐานชื่อของรัฐหรือเมืองสำคัญ ในช่วงเวลาระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ ก็ตาม แต่ก็พบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงเมืองขนาดใหญ่ที่น่าจะเป็นศูนย์กลางของรัฐได้ เช่น เมืองพิมายในลุ่มน้ำมูลของแอ่งโคราชและเมืองหนองหารหลวง จังหวัดสกลนคร
พระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
ด้วยเหตุนี้จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าดินแดนแห่งรังโคลที่กำสเตงมหิธรวรมันได้รับพระราชทานจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ให้มาสร้างเมืองใหม่ในนามเมืองมหิธรปุระ น่าจะได้แก่พื้นที่บริเวณเมืองสกลนครเก่าหรือเมืองหนองหารหลวงในช่วงปลายพุทธศตวรรษ ที่ ๑๖ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยมีผู้สืบต่อสำคัญคือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ และพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑
ซึ่งทั้งสองพระองค์คงใช้เมืองแห่งนี้เป็นฐานอำนาจในการทำสงครามขยายอำนาจเพื่ออ้างสิทธิในการปกครองอาณาจักรเขมรโบราณกับกษัตริย์อีกองค์หนึ่งที่เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา และเป็นไปได้ว่าพระองค์อาจครองราชย์อยู่ที่เมืองมหิธรปุระซึ่งได้เจริญรุ่งเรืองกลายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมเขมรโบราณของบ้านเมืองในดินแดนแอ่งสกลนคร แอ่งโคราชตลอดจนบางส่วนของประเทศลาว โดยเมืองแห่งนี้นับถือทั้งศาสนาพุทธมหายานและศาสนาฮินดู
จนถึงในสมัยพระราชนัดดาของพระองค์ คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ การทำสงครามกับอาณาจักรเขมรโบราณได้สิ้นสุดลง พระองค์สามารถผนวกดินแดนเข้าเป็นปึกแผ่น ทรงครองราชย์ที่เมืองพระนครและสร้างปราสาทนครวัดอันยิ่งใหญ่เพื่อเป็นศาสนสถานประจำรัชกาลของพระองค์ พร้อมกันนั้นพระราชวงศ์และขุนนางสำคัญของพระองค์ก็ได้สร้างศาสนสถานสำคัญๆ ในดินแดนแถบภาคอีสานของประเทศไทย เช่น นเรนทราทิตย์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาสร้างปราสาทพนมรุ้ง กมรเตงอัญศรีวีเรนทราธิบดี เจ้าเมืองโฉกวะกุลขุนศึกสำคัญสถาปนาศรีวิเรนทราศรม ซึ่งน่าจะได้แก่ ปราสาทประธานปราสาทพิมาย เพื่อถวายแด่กมรเตงชคัตวิมายะ และบุคคลผู้นี้เป็นหนึ่งในแม่ทัพสำคัญในภาพสลักกระบวนทัพอันยิ่งใหญ่ ที่ปราสาทนครวัดของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ร่วมกับกองทัพจากเมืองสําคัญต่างๆ รวมทั้งกองทัพเสียมกุกซึ่งอาจ ได้แก่ กองทัพไทยดําจากถิ่นฐานเดิมที่เป็นเครือญาติของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ที่มหิธรปุระ หรือเมืองสกลนครเก่าก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ถิ่นฐานเดิมของราชวงศ์มหิธรปุระที่ปราสาทพระวิหารและดินแดนแถบจังหวัดศรีสะเกษก็ยังมีความสำคัญอย่างมากต่อกษัตริย์ราชวงศ์มหิธรปุระ โดยมีกษัตริย์ราชวงศ์นี้จำนวนสามพระองค์ที่ขึ้นครองราชย์โดยพราหมณ์ภควัตบาทกมรเตงอัญดคุรุศรีทิวากรบัณฑิต แห่งปราสาทพระวิหารเป็นผู้ประกอบพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ พระเจ้าธนณินทรวรมันที่ ๑ และพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒
ซึ่งในจารึกปราสาทพระวิหาร ๒ กล่าวว่า เท้าของพราหมณ์ผู้นี้ ข้างหนึ่งวางอยู่เหนือพุ่มพระหัตถ์และอีกข้างหนึ่งวางอยู่เหนือพระเศียรของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ด้วยเหตุนี้จึงน่าเชื่อได้ว่าดินแดนแถบปราสาทพระวิหาร และจังหวัดศรีสะเกษอาจจะเป็นที่ตั้งเมืองกษิตินทรคราม เมืองสําคัญเมืองหนึ่งของราชวงศ์มหิธรปุระ สายตระกูลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ที่จารึกปราสาทพนมรุ้ง ๗ กล่าวถึงนั่นเอง....’
พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และภาพภายในพระราชวัง ที่ปราสาทนครวัด
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
อ้างอิง
‘ปราสาทหินภูเพ็ก’ กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
‘เจดีย์ภูเพ็กหรือพระธาตุภูเพ็ก’ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
'มรดกโลกที่วัดพู ฟื้นฝอยหามรดกยุคอาณานิคมของอินโดจีนแห่งฝรั่งเศส' โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๑๐๐ ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
‘พระธาตุภูเพ็ก’ ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม สำนักวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร กระทรวงวัฒนธรรม
‘ฤาไทสกลกำลังจะตื่น’ โดย ประสาท ตงศิริ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสกลนคร หมายเหตุจากผู้อ่าน จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๙๔ (เม.ย.-มิ.ย.๒๕๕๕)
'การศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: กรณีศึกษา ๖ กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร' โดยญาตาวี ไชยมาตย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
‘ราชวงศ์มหิธรปุระ : ข้อสันนิฐานใหม่’ โดย นายดุสิต ทุมมากรณ์ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น
'ร้อยรอยเก่าสกลนคร' โดย กนกวลี สุริยะธรรม สํานักศิลปากรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
'รอยอดีตสกลนคร' อรุณศักดิ์ กิ่งมณี บรรณาธิการ/เรียบเรียง สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๗ ขอนแก่น กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
'การศึกษาเชิงวิเคราะห์ตำนานพระธาตุเจดีย์อีสาน' โดย สังเวียน สาผาง วารสารสังคมศาสตร์ปัญญาพัฒน์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๖๒ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
'แนวทางการพัฒนาด้วยกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ทางความเชื่อและวัฒนธรรม ตามสุริยะปฏิทิน บนพื้นที่พระธาตุภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร ด้วยการวิจัยแบบมีส่วนร่วม' รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ SMARTS ครั้งที่ ๑๑ โดย กัลยาณี กุลชัย, พีรชัย กุลชัย