ผู้เข้าชม
0

ภูกำพร้า เนินที่ตั้งพระธาตุพนมเกิดจากการกระทำของมนุษย์ นัยสำคัญพระศรีอาริยเมตไตรย สถานที่ประดิษฐานพระธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ ในภัทรกัป

เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๘ น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนม และประจวบกับระหว่างนั้นฝนตกพายุพัดแรงติดต่อมาหลายวัน ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิมการก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒
8 ตุลาคม 2567


ภูกำพร้า เนินที่ตั้งพระธาตุพนมเกิดจากการกระทำของมนุษย์ 

นัยสำคัญพระศรีอาริยเมตไตรย สถานที่ประดิษฐานพระธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ ในภัทรกัป

 

พรเทพ เฮง

หน้าที่ 1/12

เมื่อวันที่  ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๘ น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนม และประจวบกับระหว่างนั้นฝนตกพายุพัดแรงติดต่อมาหลายวัน ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิมการก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒

นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุมีน้ำหนักถึง ๑๑๐ กิโลกรัม ปัจจุบันองค์พระธาตุ มีฐานกว้างด้านละ ๑๒.๓๓ เมตร สูง ๕๓.๖๐ เมตร เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูงแลดูสง่างาม
 


พระธาตุพนมล้มทลายลง เนื่องจากความเก่าแก่ ประจวบกับฝนตกพายุ
พัดแรงติดต่อมาหลายวัน จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
 

 

พระธาตุพนม เป็นพุทธศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองนครพนมและประเทศไทยมาช้านาน ได้รับการเคารพสักการะทั้งจากชาวไทยและชาวลาว นอกจากนี้วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ยังนับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ครั้งพระราชพิธีราชาภิเษกของทุกรัชกาล จะต้องมีการนำน้ำจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในประเทศรวมทั้งที่วัดพระธาตุพนมไปร่วมพิธีเพื่อประกอบพิธีมุรธาภิเษก และเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ พระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานต้นไม้ ทอง เงิน น้ำอบ และผ้าคลุม เพื่อนมัสการพระธาตุพนมทุกปี 

ในเทศกาลเข้าพรรษา ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเทียนพรรษาเป็นพุทธบูชาทุกปี งานนมัสการพระธาตุพนมประจำปีจัดขึ้นระหว่างวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี ปัจจุบันวัดพระธาตุพนมและพระธาตุพนมได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และดูแลรักษาเป็นอย่างดี

พระธาตุพนม เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวอีสานและลาวตลอดริมฝั่งโขง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ หน้า ๓๖๘๗ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๖ ตอนที่ ๑๖๐ หน้า ๓๒๑๗ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๒๒ มีพื้นที่ประมาณ ๑๗ ไร่ ๓ งาน ๕๖ ตารางวา

องค์พระธาตุพนม ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ วัดพระธาตุพนมได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร

จุดหนึ่งทางภูมิวัฒนธรรมหรือภูมิศาสตร์โบราณคดีที่ถูกมองข้ามของพระธาตุพนม คือสถานที่ตั้งขององค์พระธาตุเป็นเนินดินสูงกว่าบริเวณโดยรอบประมาณ ๒ เมตร เนินดินอันเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุพนม ที่เรียกมาตั้งแต่โบราณกาลว่า ‘ภูกำพร้า’ ไม่ได้ถูกกล่าวถึงหรือมีงานวิจัยทางวิชาการออกมามากนัก 

สถานที่ประดิษฐานพระธาตุพนมในอุรังคธาตุนิทานเรียก ภูกำพร้า ชื่อนี้มีนัยสำคัญอย่างไร? ภูเขาลักษณะเช่นไร? จึงเรียก ภูกำพร้า ทำไมพระธาตุพนมจึงต้องสร้างบนภูกำพร้า?
หน้าที่ 2/12

ก่อนอื่น หลักใหญ่ใจความเมื่อกล่าวถึงพระธาตุพนมมักจะยกเอาตำนานอุรังคธาตุนิทาน วรรณกรรมพระพุทธศาสนาที่สำคัญทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพระธาตุพนมในฐานะสถูปพระอุรังคธาตุเป็นประธานของเรื่องพร้อมทั้งยังผูกโยงศาสนสถานที่สำคัญในแถบอีสานจนถึงลาวเข้าไว้ด้วยโครงเรื่องร่วมกัน ตำนานนี้ได้ย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล พระโคตมพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงแดนสุวรรณภูมิและแสดงปาฏิหาริย์ประทับรอยพระพุทธบาทไว้หลายแห่ง 

จนถึงในส่วนสำคัญที่พระองค์เสด็จมาจนถึงภูกำพร้าและรับสั่งกับพระกัสสปะว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานให้นำพระอุรังคธาตุมาประดิษฐานไว้ที่เนินภูกำพร้าแห่งนี้ก่อนเสด็จกลับ กระทั่งหลังการเสด็จปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะจึงได้นำพระอุรังคธาตุมาประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้า ครั้งนั้นพอท้าวพระยา ๕ เมือง ได้ทราบเรื่องก็ออกมาพร้อมใจกันสถาปนาพระธาตุขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุขึ้น 

พระธาตุพนม ถือเป็นพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนพระอุระ) ของสมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้าตามที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุ ในส่วนชื่อพระธาตุพนมเองปรากฏเป็นเชิงลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในแผ่นทองจารึกซึ่งจารึกไว้ในสมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก แห่งนครเวียงจันทน์ ในช่วงของการบูรณะใน พ.ศ. ๒๒๓๖ – ๒๒๔๕ ว่า ‘ธาตุปะนม’

ในตำนานอุรังคธาตุกล่าวไว้ว่า องค์พระธาตุพนมสร้างครั้งแรกในราว พ.ศ. ๘  ในสมัยอาณาจักรศรี-โคตรบูรกำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ โดยท้าวพญาทั้ง ๕ อันมีพญาศรีโคตรบูร เป็นต้น และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ อันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประมุข 

ตามตำนานยังได้อธิบายถึงลักษณะทางกายภาพและวิธีการก่อสร้างไว้ว่าในสมัยแรกนั้น การก่อสร้างมีการใช้อิฐดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยม กว้างด้านละสองวาของพระมหากัสสปะ สูงสองวา ข้างในเป็นโพรง มีประตูเปิดทั้งสี่ด้าน แล้วจึงเผาให้สุกทีหลังเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าที่พระมหากัสสปะเถระนำมาจากประเทศอินเดีย ประดิษฐานไว้ข้างใน แล้วปิดประตูทั้งสี่ด้าน แต่ยังปิดไม่สนิททีเดียว ยังเปิดให้คนเข้าไปสักการะบูชาได้อยู่บางโอกาส

ตามที่ในตำนานกล่าวว่า ‘ยังมิได้ฐานปนาให้สมบูรณ์’ นี้ก็หมายความว่า ยังมิได้ปิดประตูพระธาตุให้มิดชิดนั่นเอง แต่มีการสถาปนาให้สมบูรณ์ในราว พ.ศ. ๕๐๐ โดยก่อขึ้นรวมยอดเข้าเป็นรูปฝาละมี

‘ตำนานอุรังคธาตและพระธาตุพนม รากเหง้าของบ้านเมืองสองฝั่งโขง’ จากหนังสือเรื่อง ‘นิเวศวัฒนธรรมในความเปลี่ยนแปลง’ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้ย่อยสรุปรวมถึงภูมิวัฒนธรรมของคนลุ่มน้ำโขงตอนกลาง ในช่วงเวลาที่เกี่ยวเนื่องกับนครรัฐที่เรียกว่า ‘ศรีโคตรบูร’ ไว้ว่า

‘…ตำนานอุรังคธาตุหรือตำนานพระธาตุพนม เนื้อหากล่าวถึงการเดินทางของพระพุทธองค์เมื่อครั้งที่เสด็จยังชมพูทวีป เพื่อมาประทับรอยพระบาทไว้หลายแห่งในดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขง โดยมีพุทธ-พยากรณ์ว่าสั่งให้ พระมหากัสสปะเถระอัครสาวก กับเจ้านครรัฐทั้ง ๕ คือ พระยาสุวรรณภิงคารเมืองหนองหารหลวง พระยาจุลนีพรหมทัตเมืองแกวสิบสองจุไท พระยาคำแดงเมืองหนองหารน้อย พระยาอินทปัตเมืองเขมร และพระยานันทเสน เมืองศรีโคตรบูร เพื่อมาร่วมกันสร้างพระธาตุ อัญเชิญอุรังค-ธาตุพระพุทธเจ้ามาบรรจุ ณ พระธาตุพนมที่ภูกำพร้า
 

ตามตำนานการก่อสร้างพระธาตุพนม มีการใช้อิฐดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยม
ข้างในเป็นโพรงมีประตูเปิดทั้งสี่ด้าน เมื่อครั้งพังทลายลง
จึงเห็นว่าด้านในก่อด้วยอิฐทึบ
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
หน้าที่ 3/12

พระธาตุพนมเป็นศูนย์รวมศรัทธาของคนลุ่มน้ำโขงตอนกลาง ในช่วงเวลาที่เกี่ยวเนื่องกับนครรัฐที่เรียกว่า ‘ศรีโคตรบูร’ ซึ่งบ้านเมืองในรัฐโบราณสองฝั่งโขงที่มีอายุเก่าแก่ต่อเนื่องจากสมัยทวารวดีตอนปลายและสมัยเขมรยุคก่อนเมืองพระนครและสมัยเมืองพระนคร ร่วมสมัยกับรัฐจามปาทางชายฝั่งทะเลเวียดนามตอนกลาง โดยมีเครือข่ายบ้านเมืองตั้งแต่เมืองหนองหารหลวงและหนองหารน้อยในสกลนคร ที่ต่อมามีเมืองที่อยู่อีกด้านของเทือกเขาภูพาน คือสาเกตนคร หรือร้อยเอ็ดที่มีหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ทีเดียว

ในระยะต่อมาจากเมืองมรุกขนครที่ภูกำพร้า ซึ่งน่าจะอยู่ทั้งสองฝั่งของลำน้ำโขงที่บริเวณพระธาตุพนมและฝั่งตรงข้ามคือทางเซบั้งไฟ ก็มีเมืองเวียงจันทน์-เวียงคำและเมืองไผ่หนามในที่ราบลุ่มน้ำงึมขึ้นมาแทนที่ 
 


‘ศรีโคตรบูร’ มีเครือข่ายบ้านเมืองตั้งแต่เมืองหนองหารหลวงและหนองหารน้อย
ในสกลนคร ที่ต่อมามีเมืองที่อยู่อีกด้านของเทือกเขาภูพาน คือสาเกตนครหรือร้อยเอ็ด
 

ตำนานอุรังคธาตุนั้นเป็นความทรงจำที่ถูกเขียนขึ้นในช่วงยุคที่อาณาจักรล้านช้างรุ่งเรืองเมื่อราวพุทธ-ศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ โดยเป็นคตินิยมของพระภิกษุสงฆ์ที่จะเขียนถึงบ้านเมืองในอดีตโดยอิงกับชาดกทางศาสนาหรือความเชื่อที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ตามสถานที่ต่างๆ และสถานที่แห่งนั้นก็จะมีคนตั้งบ้านแปงเมืองต่อไปหรือที่เรียกว่า ‘พระเจ้าเลียบโลก’ ในตำนานของทางล้านนาที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จึงปรากฏสถานที่สำคัญเป็นชื่อบ้านนามเมืองในท้องถิ่นต่างๆ อยู่ทั้งสองฝั่งโขงจนไปถึงสกลนครและร้อยเอ็ดจนทุกวันนี้

ส่วนหลักฐานทางศาสนสถานและโบราณวัตถุชี้ว่า มีบ้านเมืองทั้งสองฝั่งตั้งแต่เวียงจันทน์จนถึงสะหวันนะเขต โดยมีศูนย์กลางของรัฐและความศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองอยู่ที่ ‘พระธาตุพนม’ และบริเวณเซ-บั้งไฟในฝั่งลาว ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระธาตุพนม ตลอดจนบริเวณลำน้ำก่ำที่เข้ามาถึงเมืองสกลนครในอดีต

นักวิชาการรุ่นก่อนมักไม่ยอมรับว่าศรีโคตรบูรมีจริง เนื่องจากเสาะหาเฉพาะหลักฐานที่เป็นบ้านเมือง ซึ่งมีศาสนสถานที่สามารถกำหนดอายุ สิ่งที่พบส่วนใหญ่นั้นกระจัดกระจายโดยไม่สามารถเชื่อมโยงได้ นักวิชาการโดยมากจึงไม่เชื่อถือเรื่องราวในตำนานที่ปรากฏเนื่องจากพิจารณาว่าเป็นหลักฐานเอกสารที่ไม่น่าเชื่อถือว่าเป็นข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ดังนั้น จึงมีบางแห่งที่เรียกตำนานอุรังคธาตุนี้นี้ว่า ‘อุรังค-นิทาน’

อย่างไรก็ตาม การศึกษาตำนานนั้น ควรพิจารณาระบบสัญลักษณ์ที่เป็นรหัสนัยยะได้ในลักษณะของความทรงจำที่สะท้อนเหตุการณ์ที่ผ่านมา รวมทั้งต้องเข้าใจถึงคติความเชื่อที่เขียนหรือบันทึกในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมักเป็นการบันทึกขึ้นภายหลังและเจือปนด้วยโลกทัศน์ของผู้บันทึก มากกว่าที่จะเป็นการบันทึกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ล่วงไปแล้ว

เมื่อพระธาตุพนมล้มในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นอกจากจะพบหลักฐานสำคัญจากลวดลายซึ่งมีอิทธิพลศิลปะจามชัดเจนปรากฏบนฐานอาคารปราสาทอิฐหลังเดิม โดยมีการสร้างพระธาตุครอบไว้แล้ว ที่ยอดมณฑปซึ่งล้มหักพัง พบ ‘อูบมุง’ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นกล่องโลหะขนาดใหญ่มีฝาครอบ และที่ยอดมีรูปแบบคล้ายคลึงกับยอดอูบทองคำพบที่บริเวณบ้านหนองเรือทองริมน้ำเซบั้งไฟ ฝั่งตรงข้ามกับพระธาตุพนม

หน้าที่ 4/12

บริเวณบ้านหนองเรือทองนี้ มีการพบหลักฐานเป็นเครื่องทองที่มีลายดุนภาพรูปเทวรูปในศาสนาฮินดูจำนวนมาก ที่สัมพันธ์กับหลักฐานของกลุ่มจามในรัฐจามปาทางเวียดนามตอนกลาง เรื่อยไปจนถึงมุกดาหารและแขวงสะหวันนะเขตในประเทศลาว อันเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงว่า บริเวณพื้นที่ธาตุพนมนั้นมีความสำคัญต่อบ้านเมืองที่เรียกว่า ศรีโคตรบูร มาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ และมีหลักฐานว่าสัมพันธ์กับบ้านเมืองในแถบรัฐจามปาทางชายฝั่งเวียดนามด้วย...’

จากข้อมูลและการเปรียบเทียบข้างต้นจึงได้ตั้งรูปแบบสันนิษฐานไว้ว่า พระธาตุพนม มีในส่วนของงานศิลปกรรมมีความเป็นพื้นถิ่นค่อนข้างสูงและอาจมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจากทางเขมร เจนละ ทวารวดีและจาม แต่ในส่วนของรูปแบบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมมีอิทธิพลจามอย่างชัดเจน โดยกำหนดช่วงเวลาได้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔–๑๕

พระธาตุพนมในมุมมองกระแสหลักนั้น ประวัติการก่อสร้างพระธาตุพนมเป็นปัญหาในเชิงการศึกษาโบราณคดีและข้อมูลในมิติประวัติศาสตร์มาตลอดยุคสมัย ข้อมูลและเอกสารส่วนมากยังคงใช้การอ้างอิงจากตำนานอุรังคธาตุ ซึ่งเป็นตำนานที่เชื่อมโยงโดยตรงกับพระธาตุพนมเอง แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการเป็นพระธาตุเจดีย์ที่มีความเก่าแก่และมีความสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงและการมีศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ได้ใช้มุมมองทางภูมิศาสตร์โบราณคดีและภูมิวัฒนธรรม มาตั้งข้อสังเกตต่อตัวบริบทโดยรอบและรูปแบบพระธาตุพนมองค์เดิมว่า 

‘…วัดพระธาตุพนมตั้งอยู่บนดอยภูกำพร้าอันเป็นที่สูงอยู่ริมแม่น้ำโขง แต่ก่อนแม่น้ำโขงอยู่ใกล้กับองค์พระธาตุมากกว่าบริเวณนี้ ร่องรอยของทางเดินแม่น้ำเก่ายังเห็นอยู่ที่เรียกว่า บึงธาตุ ในปัจจุบัน 

โบราณวัตถุสถานในเขตรอบๆ องค์พระธาตุเป็นของที่มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยล้านช้างและอยุธยา โดยเฉพาะของสมัยทวารวดีนั้นได้แก่หลักหินและเสมาหิน ซึ่งปักอยู่ตามทิศต่างๆ รอบองค์พระธาตุ บางหลักเป็นของในพุทธศาสนา ซึ่งปักแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระธาตุมาแต่สมัยทวารวดี

โบราณสถานที่สำคัญที่สุดของวัดคือ องค์พระธาตุพนม สร้างเป็นรูปคูหาสี่เหลี่ยมซ้อนสองชั้นด้วยอิฐฐานกว้างด้านละ ๑๖ เมตร ส่วนยอดเป็นทรงโกศต่อเติมขึ้นใหม่ภายหลัง ลักษณะคูหาสองชั้นที่ก่อด้วยอิฐดูผิดแผกไปจากลักษณะเจดีย์แบบสมัยทวารวดีที่พบทั้งในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่วไป 

รอบๆ คูหาชั้นแรกมีลวดลายสลักบนแผ่นอิฐซึ่งมีรูปกษัตริย์ทรงช้าง ม้า มีบริวาร มีรูปสัตว์ เช่น ควายเนื้อทราย นอกนั้นเป็นลวดลายต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนกับศิลปะแบบขอมแบบจามและแบบทวารวดี โดยเฉพาะลักษณะของม้าที่มีผู้ควบวิ่งนั้น นักโบราณคดีบางท่านบอกว่าละม้ายไปทางจีนหรือญวน…’
 


โบราณวัตถุที่พบในเขตรอบๆ องค์พระธาตุเป็นของที่มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี
จนถึงสมัยล้านช้างและอยุธยา
หน้าที่ 5/12

ด้วยวิธีการศึกษาของอาจารย์ศรีศักรได้ใช้การวิเคราะห์หลักฐานในทางมานุษยวิทยา รวมถึงหลักฐานทางวัตถุสถานประกอบ การตั้งข้อสังเกตส่วนมากได้กล่าวถึงความเป็นศิลปะพื้นถิ่นที่ไม่สามารถผูกโยงกับอิทธิพลวัฒนธรรมใดได้อย่างชัดเจน ภาพสลักอิฐบนซุ้มประตูทั้ง ๓ ด้านและรูปกษัตริย์ทรงพาหนะถือเป็นลวดลายที่เก่าแก่ที่สุด และได้สรุปถึงลักษณะของศิลปกรรมที่เป็นไปได้ไว้ว่า

‘…ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบนี้กล่าวได้ว่ามีแหล่งที่มาเดียวกันกับปราสาทของจามและขอม ลวดลายประดับอิฐในระยะแรกๆ เป็นของกลุ่มชนที่อยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนนี้ ซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากศิลปกรรมที่ผ่านทะเลขึ้นมาทางปากแม่น้ำโขงและแคว้นอันนัมสมัยหลังราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ก็มีการซ่อมแซมลวดลายอิฐขึ้น ลักษณะของเสากลมและเทวรูปที่ประดับใกล้เสาได้อิทธิพลศิลปะขอมแบบไพรกเมง…’

นอกจากนี้ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ยังได้อรรถาธิบายและวิเคราะห์ไว้อย่างลุ่มลึกใน ‘เมืองสกลนครโบราณในรัฐ ศรีโคตรบูร และตำนานอุรังธาตุ’ บทความ ซึ่งขยายความต่อจาก ‘ตำนานอุรังคธาตุกับความคิดคำนึงทางโบราณคดี’ ว่า ทุกวันนี้รู้จักพระธาตุพนมในลักษณะที่ว่าเป็นพระธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่และมีความศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

แต่ปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่ามีมานานเท่าใดใครเป็นผู้สร้างอยู่ในแว่นแคว้นใดมาก่อนตลอดจนมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพียงใดนั้น ยังเป็นที่คาดคะเนไม่ได้แน่นอนและมักเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในวงการโบราณคดี

 ‘…สิ่งที่พอจะกล่าวได้อย่างมั่นใจขณะนี้ก็คือลักษณะของศิลปกรรมอันได้แก่ลวดลายและภาพที่สลักบนแผ่นอิฐซึ่งประดับรอบพระธาตุเจดีย์ตอนล่างทั้งสี่ด้านเป็นลักษณะศิลปกรรมที่เป็นตัวเองไม่ใช่ลักษณะศิลปะของจาม มอญ และขอม ทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าเป็นของที่สร้างโดยชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในสมัยโบราณคือเจ้าของดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขง หลักฐานทางโบราณคดีขณะนี้ยังไม่มีเพียงพอส่วนใหญ่เป็นตำนานพงศาวดารซึ่งเรียบเรียงขึ้นภายหลังเหตุการณ์เป็นจริงที่เกิดขึ้นช้านาน

เอกสารที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของพระธาตุพนมและเรื่องราวของประชาชนตลอดจนแว่นแคว้นที่เกี่ยวข้องซึ่งถือได้ว่าดีที่สุดขณะนี้ก็คือ ตำนานอุรังคธาตุ


ภาพสลักอิฐบนซุ้มประตูขององค์พระธาตุพนม
หน้าที่ 6/12

คำว่าอุรังคธาตุนั้นหมายถึงพระบรมธาตุส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้าซึ่งพระมหากัสสปะนำมาประดิษฐานไว้ ณ ดอยกัปปนคีรีหรือภูกำพร้า อีกนัยหนึ่งก็คือพระธาตุพนมนั่นเอง ตำนานเล่มนี้การเรียงลำดับเหตุการณ์และสถานที่ดูค่อนข้างสับสนจึงมีผู้นำไปเรียบเรียงใหม่ให้อ่านง่ายขึ้นหรือไม่ก็มีผู้ตัดตอนเอาเรื่องราวของสถานที่ไปแยกเขียนเป็นประวัติตำนานของท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ตำนานพระธาตุเชิงชุม ตำนานพระบาท ตำนานพระธาตุนารายณ์เจงเวง ฯลฯ

สาระสำคัญในตำนานอุรังคธาตุนั้น อาจวิเคราะห์เป็นเรื่องสำคัญได้ดังนี้ เรื่องแรกคือพุทธทำนายเป็นสิ่งที่จะต้องมีประจำอยู่ในทุกๆ ตำนาน คือการที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ยังท้องถิ่นใดถิ่นหนึ่งในสุวรรณภูมิแล้วทรงทำนายการเกิดของบริเวณที่จะเป็นศาสนสถานวัดวาอารามหรือบ้านเมือง ตลอดจนการกำหนดพระมหากษัตริย์หรือบุคคลที่จะทะนุบำรุงพระศาสนา

ในตำนานอุรังคธาตุนี้ พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ในท้องที่ต่างๆ เช่นที่ หนองคาย สกลนคร และนครพนม ทรงกำหนดภูกำพร้าในเขตอำเภอธาตุพนม เป็นสถานที่บรรจุพระอุรังคธาตุ และทำนายการเกิดของนครเวียงจันทน์ในบริเวณ  หนองคันแทเสื้อน้ำ

ถัดจากพุทธทำนายก็เป็นนิยายปรัมปรา [Myth] เกี่ยวกับประวัติการเกิดของภูมิประเทศอันได้แก่ แม่น้ำ ที่ราบ และภูเขา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชนที่อยู่อาศัย ตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงการเกิดของแม่น้ำสำคัญๆ ตามลำแม่น้ำโขงว่าเป็นการกระทำของพวกนาค ซึ่งแต่เดิมมีที่อยู่อาศัยในหนองแส เขตยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน

นาคเหล่านั้นได้เกิดทะเลาะวิวาทกันจนเป็นเหตุให้ต้องทิ้งถิ่นฐานเดิมล่องมาตามลำแม่น้ำโขงทางใต้ขุดควักพื้นดินทำให้เกิดแม่น้ำสายต่างๆ ขึ้น เช่น แม่น้ำอู แม่น้ำพิง แม่น้ำงึม แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ฯลฯ ข้อความที่เกี่ยวกับหนองแสและการวิวาทกันของพวกนาคจนเป็นเหตุให้ต้องหนีลงมาทางใต้ตามลำแม่น้ำโขงนั้นตรงกันกับข้อความในตำนานอื่นคือตำนานสุวรรณโคมคำและตำนานสิงหนวัติ

อันเรื่องราวเกี่ยวกับนาคนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่นิยมกันมากในบรรดาบ้านเมืองสองฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่หนองแส ซึ่งเป็นตอนต้นน้ำในเขตยูนนาน ลงมาจนถึงเมืองเขมรตรงปากแม่น้ำโขงมีลัทธิเคารพบูชานาค เชื่อกันว่านาคเป็นผู้บันดาลให้เกิดแม่น้ำลำคลองเกิดความสมบูรณ์พูนสุขแก่บ้านเมืองและอาจบันดาลภัยพิบัติให้น้ำท่วมเกิดความล่มจมแก่บ้านเมืองได้

 

นาคมีความสัมพันธ์กับคนในฐานะเป็นบรรพบุรุษ เช่น ในประวัติของอาณาจักรฟูนัน ในจดหมายเหตุจีนกล่าวว่า พราหมณ์มาแต่งงานกับลูกสาวนาค แล้วตั้งตัวเป็นกษัตริย์ปกครองฟูนัน ตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงทรมานพวกนาคจนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา กลายเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาไป

ยิ่งไปกว่านั้น นาคยังเป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ ในการปกครองและความยุติธรรม กษัตริย์องค์ไหนเจ้าเมืองคนไหนประพฤติผิดในการปกครองหรือประชาชนมีจิตใจไร้ศีลธรรมจะได้รับการลงโทษจากนาค ทำให้บ้านเมืองพิบัติล่มจมไป แต่ผู้ใดเจ้าเมืองใดยึดมั่นในพระพุทธศาสนานาคก็จะทำตัวเป็นผู้คุ้มกันและช่วยเหลือ

นิยายปรัมปราคติอันเกี่ยวกับนาคซึ่งเชื่อกันว่าเป็นความจริงนี้ ถ้าหากวิเคราะห์และแปลความหมายตามหลักวิชามานุษยวิทยาแล้วอาจมองได้ ๒ ลักษณะคือ

๑. นาคในลักษณะที่เป็นกลุ่มชนดั้งเดิม 

๒. นาคในลักษณะที่เป็นลัทธิหนึ่งในทางศาสนา

ถ้าหากแบ่งขั้นตอนของการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนที่มาจากหนองแสตามตำนานแล้วก็กล่าวได้ว่า ตำนานสุวรรณโคมคำและตำนานสิงหนวัติ เป็นเรื่องของกลุ่มชนที่เคลื่อนย้ายมาตั้งรกรากอยู่ในเขตลุ่มน้ำโขงตอนบน คือตั้งแต่เขตจังหวัดเชียงราย หลวงพระบางลงมาจนถึงจังหวัดเลย

หน้าที่ 7/12

สำหรับตำนานอุรังคธาตุนั้น เป็นเรื่องของผู้ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยตั้งแต่เขตจังหวัดหนองคายลงไปจนถึงอุบลราชธานี ส่วนเรื่องที่ว่า นาคเป็นลัทธิหนึ่งในทางศาสนานั้น หมายความว่าระบบความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชนที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่หนองแสลงมา เป็นลัทธิที่เกี่ยวกับการบูชานาค

นาคเป็นสิ่งนอกเหนือธรรมชาติที่สำคัญ บันดาลให้เกิดแม่น้ำ หนอง บึง ภูเขาและที่อยู่อาศัย ครั้นเมื่อวัฒนธรรมอินเดียโดยเฉพาะพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์แพร่หลายเข้ามา ลัทธิบูชานาคก็ได้ผสมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิศาสนาที่เข้ามาใหม่ จะเห็นได้ว่าเรื่องการที่พระพุทธเจ้าทรงทรมานนาคก็ดี เรื่องพระอิศวรและพระนารายณ์ (พระกฤษณะ) รบกับพญานาคก็ดี
 


หน้าบันฝั่งทิศตะวันตก เป็นภาพพระพรหมประทับนั่งบนบัลลังก์พระหัตถ์ถือลูกประคำ
ขนาบข้างด้วยเหล่าพราหมณ์ ด้านบนเป็นภาพเทวดากำลังรดน้ำสังข์บนอากาศ

 

ในตำนานอุรังคธาตุนั้นเป็นการแสดงถึงชัยชนะของศาสนาใหม่ที่มีต่อระบบความเชื่อเก่า แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าระบบความเชื่อดั้งเดิมจะสลายตัวไป กลับถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาใหม่ด้วย

ดังจะเห็นได้ว่าบรรดานาคได้กลายมาเป็นผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชน กษัตริย์หรือเจ้าเมืององค์ใดเป็นผู้ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาก็มักจะได้รับความช่วยเหลือจากนาคในการสร้างบ้านแปงเมืองและบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้แก่บ้านเมือง แต่ถ้ากษัตริย์หรือประชาชนไม่ยึดมั่นในพระศาสนาขาดศีลธรรมนาคก็จะกลายเป็นอำนาจนอกเหนือธรรมชาติที่บันดาลความวิบัติให้บ้านเมืองนั้นล่มจมเป็นหนองเป็นบึงไปอย่าง เช่น เมืองหนองหารหลวงและเมืองมรุกขนคร เป็นต้น

การบรรจุพระอุรังคธาตุและการสร้างตลอดจนบูรณะพระธาตุพนมเป็นเรื่องของการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างแคว้นหรือบ้านเมืองต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วอาจแบ่งระยะเวลาออกได้เป็น ๒ ระยะ ระยะแรก เป็นเรื่องราวที่เป็นนิยายปรัมปราคติ [Myth] คือเริ่มแต่สมัยพุทธกาลในรัชกาลของพระยาติโคตรบูรผู้ครองแคว้นศรีโคตรบูร พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ทรงกำหนดให้พระกัสสปะนำพระอุรังคธาตุมาบรรจุ ณ ภูกำพร้าหลังจากพระองค์นิพพานแล้ว

ครั้งพระมหากัสสปะนำพระอุรังคธาตุมาบรรจุนั้นพระยาติโคตรบูรสิ้นพระชนม์ไปแล้ว พระยานันท-เสนราชอนุชาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งศรีโคตรบูรแทนได้ร่วมกับพระยาสุวรรณภิงคารแห่งแคว้นหนองหารน้อย พระยาอินทปัตนครแห่งแคว้นอินทปัตถนคร และพระยาจุลณีพรหมทัตแห่งแคว้นจุลณี

หลังจากก่อองค์พระธาตุเสร็จแล้วพระอินทร์และเทพยดาทั้งหลายก็พากันมาสักการะพระอุรังคธาตุสร้างเสริมตกแต่งพระธาตุให้งดงาม ทำรูปกษัตริย์ทั้งหลายจากแคว้นต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการก่อพระธาตุทรงช้างทรงม้าพร้อมทั้งลวดลายประดับไว้บนผนังรอบๆ องค์พระธาตุทั้งสี่ทิศ 

รูปเหล่านี้เชื่อกันว่าคือที่ปรากฏบนลวดลายสลักอิฐนั่นเอง เหตุนี้จึงเป็นสิ่งที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์เรื่อยมา ต่อมาบรรดากษัตริย์ทั้งหลายที่ร่วมกันก่อพระธาตุก็สิ้นพระชนม์ไป แต่ว่าไปประสูติใหม่ในวงศ์กษัตริย์ของแคว้นต่างๆ ที่กล่าวนามมาแล้ว ในที่สุดพระยาติโคตรบูรก็ได้เสวยพระชาติเป็นพระยาสุมิตตธรรมครองเมืองรุกขนครแห่งแคว้นศรีโคตรบูร ส่วนกษัตริย์องค์อื่นๆ ได้บวชเรียนจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ทรงมาพบกันอีกทีและทรงร่วมกันบูรณะก่อสร้างพระธาตุพนมครั้งที่สองขึ้น ในครั้งนี้เชื่อกันว่าพระธาตุพนมมีรูปร่างเป็นคูหาสี่เหลี่ยมสองชั้นก่อด้วยอิฐซ้อนกัน
 

หน้าที่ 8/12

ต่อจากรัชกาลพระยาสุมิตตธรรมแห่งมรุกขนครแล้วแคว้นโคตรบูรก็เสื่อมลง ความสำคัญของบ้านเมืองได้ย้ายไปอยู่ที่นครเวียงจันทน์อันมีพระยาจันทรบุรีอ้วยล้วยเป็นต้นวงศ์กษัตริย์ และได้ทรงอุปถัมภ์พระธาตุพนมต่อมา ระยะหลังเหตุการณ์เกี่ยวกับพระธาตุพนมเป็นเรื่องในสมัยล้านช้างซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์แล้ว ตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า พระยาโพธิสาราชได้เสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์สร้างวิหารและถวายข้าพระเป็นจำนวนมากเพื่อคอยดูแลรักษาพระบรมธาตุพระยาโพธิสาราชนี้มีหลักฐานว่าขึ้นครองราชย์ในล้านช้างเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๓

สมัยหลังๆ ลงมาก็ถึงรัชกาลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงทราบเรื่องราวของพระธาตุพนมจากตำนาน ได้เสด็จมานมัสการพระบรมธาตุและทรงบูรณปฏิสังขรณ์ เรื่องของตำนานอุรังคธาตุที่มีมาแต่โบราณมาหมดสิ้นเอาในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง ต่อมาพระพนมเจติยานุรักษ์ (ปัจจุบันคือพระเทพรัตนโมลี) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมซึ่งเป็นปราชญ์มีความรอบรู้ในเรื่องอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีคนหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รวบรวมเรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุขึ้นใหม่ให้ชื่อว่า ‘อุรังคนิทาน’ ได้นำเอาเรื่องราวและเหตุการณ์เกี่ยวกับพระธาตุพนมในสมัยหลังรัชกาลพระเจ้าไชยเชษฐาลงมาจนปัจจุบัน ซึ่งมีบันทึกอยู่ในศิลาจารึกตำนานพงศาวดารและความทรงจำของผู้รู้ในท้องถิ่นมาเพิ่มเติมไว้

จากเรื่องราวที่เพิ่มเติมนี้ ทำให้ทราบว่าพระธาตุพนมเป็นศาสนสถานที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกยุคทุกสมัย การบูรณปฏิสังขรณ์แต่ละครั้งเป็นเหตุการณ์ในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเจ้าบ้านผ่านเมือง ขุนนางข้าราชการ ประชาชน และพระภิกษุสงฆ์ต้องมาร่วมกันดำเนินการ

การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญในภายหลังนี้ได้แก่ครั้งพระครูหลวงโพนสะเม็กในปี พ.ศ. ๒๒๓๕ ครั้งพระครูวิโรจน์รัตโนบลจากวัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ และครั้งสุดท้ายกรมศิลปากรมาบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓...’

สำหรับความสำคัญของ ‘ภูกำพร้า’ ตำนานเล่าสืบต่อว่า ภูกำพร้า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง ทางทิศตะวันออกจะพบบึงน้ำกว้างยาวขนานไปกับแม่น้ำโขง เรียกกันในท้องถิ่นว่า ‘บึงธาตุ’ และเชื่อกันว่าบึงนี้ถูกขุดขึ้นในอดีตเพื่อนำเอาดิน ที่ได้มาปั้นอิฐก่อองค์พระธาตุพนมขึ้น

จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พ.ศ. ๒๕๑๘–๒๕๒๒ ได้กล่าวถึงตำนานอุรังคธาตุ ประกอบกับหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดี บ่งถึงกำเนิดขององค์พระธาตุพนมว่า 

‘…เมื่อระยะเวลาประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๐–๑๔๐๐ บริเวณอำเภอธาตุพนม เคยเป็นศูนย์รวมของกลุ่มชนเผ่าต่างๆ เพราะอยู่ในชัยภูมิที่เป็นศูนย์กลางของทางคมนาคม ศาสนสถาน จึงได้ถูกสร้างขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งแต่เดิมเป็นบริเวณที่ราบเสมอกัน อยู่ห่างจากลำน้ำโขงเก่าที่เปลี่ยนทางเดินประมาณ ๕๐ เมตร (ลำน้ำโขงเก่าอยู่ทางทิศตะวันออกขององค์พระธาตุ ปัจจุบันเรียกว่าบึง บึงยาว หรือบึงธาตุ) โดยได้มีการขุดคู ๓ ด้าน คือด้านทิศตะวันตก ทิศเหนือและทิศใต้ คูด้านทิศเหนือและทิศใต้น่าจะถูกขุดยาวออกไปทางทิศตะวันออกจดลำน้ำโขง ใช้ลำน้ำโขงเดิมเป็นคูด้านทิศตะวันออก 
 


ริมฝั่งแม่น้ำโขงยามเช้า
หน้าที่ 9/12

ในการขุดคูทั้งสามด้านนั้น ได้นำเอาดินที่ขุดได้เข้ามาถมที่ตรงกลางกลายเป็นเนินดินสูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๒ เมตร เรียกตามตำนานว่า ภูกำพร้า และเนื่องจากการขุดคูเพียงสามด้าน ด้านทิศตะวันออกไม่ได้ขุด ในการถมดินจึงทำให้ภูกำพร้าสูงทางด้านทิศตะวันตก และลาดต่ำไปทางทิศตะวันออก            

เมื่อได้สร้างภูกำพร้าเสร็จแล้ว จึงสร้างศาสนสถานขึ้นที่ยอดเนินของภูกำพร้า การสถาปนาองค์พระธาตุพนมครั้งนี้ ได้ปรากฏอยู่ในการเขียนตำนานอุรังคธาตุ ที่พยายามอ้างอิงไปถึงสมัยพุทธกาล อันเป็นวิธีการเขียนประวัติศาสตร์ของคนโบราณในแถบนี้ ซึ่งมีภูมิหลังทางด้านพุทธศาสนา ว่า พระมหากัสสปะ ผู้รู้พุทธทำนายได้นำกระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้าหรือที่เรียกกันว่า พระอุรังคธาตุ มายังภู-กำพร้า 

ตามตำนานกล่าวว่า สมัยนั้นเป็นเวลา พ.ศ. ๘ และเหตุที่พระเถรเจ้ามาที่ภูกำพร้านี้ เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงทำนายไว้ว่า พระอุรังคธาตุของพระองค์จะได้มาประดิษฐานอยู่ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อรอเวลาผู้มีบุญมาสถาปนาในภายหลัง เรื่องที่พระมหากัสสปะนำพระอุรังคธาตุมาที่ภูกำพร้านี้ ทราบไปถึงพญา ๕ ตน ซึ่งมีบ้านเมืองครอบครองอยู่ในบริเวณใกล้เคียงโดยรอบคือ พญาสุวรรณภิงคาร เมืองหนองหารหลวง พญาคำแดง เมืองหนองหารน้อย พญาอินทปัต เมืองอินทปัตถนคร พญานันทเสน เมืองศรีโคตรบูร พญาจุลนีพรหมทัต แคว้นจุลนี จึงมาร่วมกันก่อสร้าง ‘อูบมุง’ เพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตุ และตำนานได้กล่าวเป็นทำนองอิทธิปาฏิหาริย์ว่า พระบรมสารีริกธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์ให้ทราบว่า ยังมิใช่เวลาที่สมควรจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พญา ๕ ตน จึงเพียงประดิษฐานพระอุรังคธาตุไว้ ณ ที่นั้น โดยยังมิได้ทำการสถาปนา

งานวิจัยทางวิชาการ ‘ภูกำพร้า: ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ตามคติพุทธศาสนา’ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ภูกำพร้าอันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระธาตุพนมในอุรังคธาตุนิทาน ผลการวิจัยพบว่า ภูกำพร้า มีนัยสำคัญเกี่ยวข้องกับประวัติพระศรีอาริยเมตไตรย ทั้งยังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ ในภัทรกัป ความเป็นกำพร้าในคำว่า ‘ภูกำพร้า’ แสดงให้เห็นถึงลักษณะภูเขาลูกโดดที่โผล่ขึ้นท่ามกลางที่ราบ และคำว่าภูในภูกำพร้านี้มีความหมายตรงกับคำว่า ‘พนม’ ใน ‘พระธาตุพนม’ 

นอกจากนี้ยังพบว่าชื่อภูกำพร้านี้ยังถูกใช้เป็นชื่อวัดอื่นๆ ทั้งในล้านช้าง ล้านนา และลพบุรี โดยในล้านนาใช้คำว่า ม่อนกำพร้า แทนคำว่า ภูกำพร้า อย่างไรก็ตาม ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีใน พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๒๒ พบว่า ภูกำพร้า ที่ตั้งพระธาตุพนมเกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยมีการสรุปไว้ว่า 

‘…ความเป็นกำพร้าในภูกำพร้า คือลักษณะกำพร้าของภูเขาที่เป็นภูเขาลูกโดดท่ามกลางที่ราบ โดยคำว่า ภู ในภูกำพร้า ตรงกับคำว่า พนม ในพระธาตุพนม นอกจากภูกำพร้าที่พระธาตุพนมแล้ว ยังพบชื่อภูกำพร้าที่ใช้เป็นชื่อสถานที่ตามธรรมชาติ และชื่อวัดทั้งในล้านช้าง ล้านนา และลพบุรี โดยในล้านนาใช้คำว่า ม่อนกำพร้าแทน คำว่าภูกำพร้า และภูเขาที่ใช้คำว่า พนม ได้แก่ เขาขุนพนม ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 

อย่างไรก็ตาม ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๒๒ พบว่า พระธาตุพนมที่ประดิษฐานอยู่บนเนินดินสูง ๒ เมตร เดิมเป็นที่ราบ เนินดินนั้นเกิดขึ้นจากกิจกรรมมนุษย์ ด้วยการขุดดินเป็นคูน้ำล้อมทั้ง ๓ ด้าน และนำดินที่ขุดขึ้นมาถมเป็นเนิน ไม่ได้เป็นภูกำพร้าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่จากความจริงประจักษ์ที่ผู้แต่งอุรังคธาตุนิทานได้พบเห็นว่า องค์พระธาตุพนมตั้งอยู่บนเนินสูง ๒ เมตร จึงเรียกเนินสูงนั้นว่า ภูกำพร้า ด้วยเหตุนี้ภูกำพร้าจึงเป็นภูศักดิ์สิทธิ์ตามคติพุทธศาสนาที่สืบต่อมาแต่โบราณจากวัฒนธรรมพราหมณ์-ฮินดู…’

รายละเอียดของกรมศิลปากรได้เข้าสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๒๒ ภายหลังจากที่พระธาตุพนมพังทลายลงในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ผลจากการสำรวจเบื้องต้นก่อนการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า 

‘…ผลจากการสำรวจเบื้องต้นก่อนการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า ภูกำพร้า อันเป็นที่ตั้งพระธาตุพนมนั้น มีลักษณะเป็นเนินดินสูงจากบริเวณโดยรอบประมาณ ๒ เมตร ทางทิศตะวันตกจะสูงกว่าทางทิศตะวันออก องค์พระธาตุตั้งอยู่ค่อนมาทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดของภูกำพร้า ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๖๐๐ เมตร เป็นแม่น้ำโขงในอดีต เมื่อถึงฤดูฝน น้ำในแม่น้ำโขงจะขึ้นท่วมถึงองค์พระธาตุพนม

หน้าที่ 10/12

รอบภูกำพร้ามีคูน้ำ ๓ ด้าน ยกเว้นบริเวณหน้าวัดพระธาตุพนมจะมีบึงธาตุ มีลักษณะเป็นบึงน้ำกว้างประมาณ ๓ เมตร ยาวขนานไปกับแม่น้ำโขง ชาวบ้านเชื่อกันว่าบึงนี้ถูกขุดขึ้นในอดีตเพื่อนำเอาดินที่ได้มาปั้นเป็นอิฐก่อเจดีย์ แต่มีความเป็นไปได้ว่าบึงธาตุอาจเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำโขงสายเดิมก็ได้ 

ด้วยเหตุนี้ รอบภูกำพร้าจึงเป็นคูน้ำ ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านทิศเหนือใต้ ตะวันตก ส่วนทางตะวันออกเป็นแม่น้ำโขงสายเดิม (บึงธาตุ) ที่เดิมอาจเชื่อมกับคูน้ำด้านทิศเหนือและใต้

ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนั้น พบว่าในอดีตบริเวณที่ตั้งพระธาตุพนมเป็นพื้นที่ราบเสมอ ตามหลักฐานจากเศษถ่านและดินเผาที่ใต้ผิวดินชั้นที่ ๑ ของหลุมที่ ๔ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระธาตุพนม และหลุมที่ ๕ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระธาตุพนม อันแสดงให้เห็นร่องรอยการอยู่อาศัยของผู้คนมาก่อน ที่จะมีการสร้างพระธาตุพนม 

ถัดขึ้นมาเป็นชั้นทรายหนาประมาณ ๕–๑๐ เซนติเมตร ก่อนเป็นชั้นดินเหนียวอัดแน่น ซึ่งเชื่อว่าเป็นดินเหนียวที่เกิดจากการขุดคูน้ำโดยรอบพระธาตุทั้ง ๓ ด้าน ด้วยเหตุนี้บริเวณที่จะสร้างพระธาตุจึงสูงกว่าบริเวณโดยรอบประมาณ ๒ เมตร ถัดขึ้นมาเป็นชั้นดินสีน้ำตาลปนอิฐหัก ซึ่งอาจเกิดจากการชำรุดของพระธาตุในระยะเวลาต่อมา จากนั้นจึงมีการถมปรับระดับพื้นบริเวณพระธาตุให้เสมอกันตามหลักฐานชั้นดินที่เป็นดินร่วนค่อนข้างเหนียวสีน้ำตาลเข้ม มีอิฐหักและกระเบื้องถูกกวาดลงหลุม ชั้นดินบนสุดเป็นชั้นดินที่เป็นรากของวัชพืช ด้านล่างของชั้นดินชั้นนี้มีแนวอิฐหัก 

ด้วยเหตุนี้ จากการขุดค้นทางโบราณคดี จึงทำให้รู้ว่า ภูกำพร้า อันเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุพนมนั้น เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ ที่มีการขุดคูน้ำ ๓ ด้านขึ้นมาถมเป็นเนินสูง ยกเว้นการขุดด้านทิศตะวันออกที่เป็นแม่น้ำโขงสายเดิม ส่งผลให้พื้นที่ในการถมดิน มีความสูงทางด้านทิศตะวันตกแล้วลาดต่ำไปทางทิศตะวันออกที่ไม่ได้ขุดคูน้ำ เมื่อสร้างเนินสูงแล้ว จึงสร้างศาสนสถานที่ยอดเนินของภูกำพร้าที่ค่อนไปทางทิศตะวันตก เดิมเป็นที่ราบ ไม่มีเนินกำพร้าหรือภูกำพร้ามาแต่เก่าก่อน เป็นไปได้ว่า การปรากฏขึ้นของภูมิสถานที่ตั้งพระธาตุพนมบนเนินดินสูงจากพื้นที่โดยรอบ ๒ เมตร ตามที่ตำนานเรียกว่า ภูกำพร้านั้น ต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการแต่งตำนาน กล่าวคือ ในสมัยที่มีการแต่งตำนานองค์พระธาตุพนมต้องปรากฏอยู่ก่อนบนเนินดินที่สูงนั้นแล้ว ผู้แต่งได้อาศัยความเชื่อในท้องถิ่นเรื่องภูกำพร้าซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อธิบายเนินสูงที่ประดิษฐานพระธาตุพนม...’


หลังจากพระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ ได้มีการก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่
ตามแบบเดิม เสร็จสิ้นเมื่อวันที่  ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒
หน้าที่ 11/12

อ้างอิง

‘เมืองสกลนครโบราณในรัฐ “ศรีโคตรบูร” และตำนานอุรังธาตุ’ โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม  ความทรงจำจากภาพถ่าย จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๑๐๗ เดือนกรกฎาคม - กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘

หนังสือเรื่อง ‘นิเวศวัฒนธรรมในความเปลี่ยนแปลง’ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

'ภูกำพร้า: ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ตามคติพุทธศาสนา' โดย ศิริศักดิ์ อภิศักดิ์มนตรี, ธณิกานต์ วรธรรมานนท์ วารสารพุทธศิลปกรรม ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒ (ปี พ.ศ. ๒๕๖๒) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่

'อุรังคธาตุ ตำนานพระธาตุพนม' การสัมมนาทางวิชาการเรื่องวรรณกรรมสองฝั่งโขง กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

'ประชุมตำนานพระธาตุ ภาคที่ ๑-๒' กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

'เมืองโบราณ พระธาตุพนม' โดย มานิต วัลลิโภดม / น. ณ ปากน้ำ และคณะ วารสารเมืองโบราณฉบับพิเศษ พระธาตุพนม

‘พระธาตุพนม’ ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

‘ข้อมูลใหม่ที่ได้จากจารึกในพระธาตุพนม’ โดย วัชรินทร์ พุ่มพงษ์แพทย์ วารสารศิลปากร ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๑-๒ เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๑๙

 

คำสำคัญ : พระธาตุพนม,ภูกำพร้า,ตำนานอุรังคธาตุ

'การศึกษาวิเคราะห์พุทธศาสนาผ่านตำนานพระธาตุพนม และพระธาตุเชิงชุม' โดย คำพันธ์ ผิวกระจ่าง, ประยูร แสงใส วารสารพื้นถิ่นโขง ชี มูล ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒ เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

จดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พ.ศ. ๒๕๑๘–๒๕๒๒ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี

พรเทพ เฮง
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกโบราณคดี รุ่น ๓๘ ทำงานด้านสื่อ ด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และสาระบันเทิงมาค่อนชีวิต
หน้าที่ 12/12