ผู้เข้าชม
0

สรีดภงส์ ความลับในการจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรตามฤดูกาลแบบครบวงจรของสุโขทัย

ความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำของบ้านเมืองสมัยโบราณที่สามารถรับมือกับวิกฤตธรรมชาติอย่างอุทกภัย หรือภัยที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ที่เอื้อต่อการสร้างบ้านแปงเมืองได้นั้นมีความน่าทึ่งเป็นอย่างมาก
1 ตุลาคม 2567


สรีดภงส์ ความลับในการจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค
และเพื่อการเกษตรตามฤดูกาลแบบครบวงจรของสุโขทัย

 

พรเทพ เฮง

 

หน้าที่ 1/12


ผังเมืองสุโขทัยและระบบการจัดการน้ำภายในเมือง
หน้าที่ 2/12

ความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำของบ้านเมืองสมัยโบราณที่สามารถรับมือกับวิกฤตธรรมชาติอย่างอุทกภัย หรือภัยที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ที่เอื้อต่อการสร้างบ้านแปงเมืองได้นั้นมีความน่าทึ่งเป็นอย่างมาก 

เมืองโบราณสุโขทัยตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ปรากฏแนวคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นกำแพงเมืองทั้ง ๔ ด้าน ขนาดกำแพงเมืองด้านเหนือและใต้ ยาวประมาณ ๑,๘๐๐ เมตร ส่วนด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกกว้างประมาณ ๑,๖๐๐ เมตร ที่ตั้งของเมืองสุโขทัยตามภูมิศาสตร์โบราณคดี เป็นส่วนขอบของพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านเหนือบริเวณนี้จะปรากฏภูเขาเล็กๆ โผล่ขึ้นมาไม่สูงมากนัก แล้วค่อยๆ ลาดลงเป็นพื้นที่ราบกว้างสม่ำเสมอต่อเนื่องไปตลอด จนถึงด้านใต้ของพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ทางภาคกลางของประเทศไทย
 


คูเมืองสุโขทัย จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม

 

ด้านทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัยปรากฏแนวเทือกเขาประทักษ์ ทำหน้าที่เป็นหลังคารับน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่ที่ราบทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุโขทัย และต่อเนื่องไปสู่พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำยมที่อยู่ห่างออกไปราว ๑๔ กิโลเมตร

แนวเทือกเขาประทักษ์ทอดตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เป็นระยะทางกว่า ๒๙ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ราว ๓๑๒ ตารางกิโลเมตร มีสันเขาค่อนไปทางด้านทิศตะวันตก ทำให้ภูเขาฝั่งตะวันตกมีความลาดชันมากกว่าฝั่งตะวันออก มียอดเขาสูงต่ำรวมทั้งหมด ๓๙ ยอด มีหุบเขาระหว่างยอดเขาลูกต่างๆ เป็นต้นน้ำลำธารที่จะไหลสู่ที่ลาดเชิงเขา น้ำที่ไหลลงจากลำธารบนเทือกเขาประทักษ์ ที่มีผลเกี่ยวกับระบบน้ำสุโขทัย 

เทือกเขาประทักษ์ประกอบด้วยชุดหินแม่ทะ มีหินกรวดมน หินทราย หินดินดาน หินชนวน หินปูน และหินภูเขาไฟ มีแหล่งต้นน้ำบนเทือกเขาไหลลงมาเป็นลำธาร ซึ่งมีความลาดชันและรุนแรง พัดพาตะกอนหิน กรวด ทราย ทับถมในลำธารบนภูเขา แล้วค่อยๆ เปลี่ยนสภาพพื้นที่เอนลาดสู่พื้นที่ราบ ตะกอนหินที่มีขนาดใหญ่จะทับถมบริเวณเชิงเขา ลักษณะดินบริเวณนี้จะแข็งและร่วน ตะกอนส่วนมากในบริเวณนี้เป็นกรวดและทราย เป็นที่แห้งแล้งหรือกึ่งแห้งแล้งไม่สามารถกักเก็บน้ำหรือเพาะปลูกได้

ส่วนตะกอนที่มีขนาดเล็กกว่าจะถูกพัดพาไกลออกไป และเมื่อเข้าสู่ที่ราบที่ห่างไกลภูเขามากขึ้น พื้นที่บริเวณนี้กระแสน้ำจะไหลช้ากว่า และเมื่อเข้าสู่ที่ราบที่ห่างไกลภูเขามากขึ้นอีกจะกลายเป็นที่ราบระดับ บริเวณนี้จะมีป่าไม้เตี้ยๆ หรือหญ้าขึ้นปกคลุมห่างๆ

ที่ราบลุ่มบริเวณนี้จะมีน้ำท่วมขังทุกปี กระแสน้ำที่ไหลช้าจะทำให้อนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่าตกตะกอนบริเวณใกล้ฝั่ง ส่วนอนุภาคเล็กจะตกตะกอนไกลออกไป ทำให้พื้นที่ริมฝั่งประกอบด้วยอนุภาคขนาดโต ทำให้เกิดสภาพภูมิประเทศสูง เรียกว่า สันริมน้ำ เป็นบริเวณที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ และเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน และถัดลงไปเป็นที่ลุ่มต่ำ ประกอบด้วยอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่าที่เรียกว่า ที่ลุ่มต่ำ มีการระบายน้ำได้ไม่ดีนัก ใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว

ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยมมีลักษณะเป็นท้องกระทะที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดที่ราบขั้นบันไดของแม่น้ำที่ต่อเนื่องจากที่ลาดของเชิงเขาประทักษ์ 

หน้าที่ 3/12

การวิจัยเพื่อศึกษารูปแบบภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารจัดการน้ำของเมืองโบราณสุโขทัยที่แสดงถึงวัฒนธรรมที่มีภูมิปัญญาโบราณที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและทำเลที่ตั้งเมือง ผ่านหลักฐานทางเอกสารประวัติศาสตร์และโบราณคดี สามารถแบ่งออกเป็นในเขตกำแพงเมืองและนอกเขตกำแพงเมืองที่แสดงถึงการเข้าใจสภาพภูมิประเทศจากความลาดเอียงที่สามารถส่งน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม

ระบบบริหารจัดการน้ำภายนอกเมืองสุโขทัย ได้แก่ สรีดภงส์ บารายสุโขทัย ทะเลหลวง และลำคลอง โดยคำนึงถึงตำแหน่งเส้นทางน้ำไหลที่มาจากหุบเขาและระดับความสูงต่ำของพื้นที่ก่อนที่จะมีการสร้างคันดินเพื่อขวางทางน้ำไหล เพื่อชะลอน้ำและเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งสามารถส่งน้ำเข้ามาในเมือง อีกทั้งส่วนใหญ่ใช้น้ำเพื่อการเกษตร 

ส่วนระบบบริหารจัดการน้ำภายในเมืองสุโขทัย ได้แก่ ตรีบูร ตระพังและบ่อบาดาลหรือบ่อกรุ โดยใช้วิธีการขุดให้เกิดเป็นบ่อเก็บน้ำ

‘ภูมิวัฒนธรรม และการจัดการน้ำในสมัยโบราณ: ทวารวดี – รัตนโกสินทร์’ โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิ-โภดม ซึ่งบรรยายพิเศษที่ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีการกล่าวถึงเมืองโบราณสุโขทัยถึงแนวทางการจัดการน้ำว่า จากตัวอย่างการจัดการน้ำของเมืองโบราณในแต่ละยุค พบว่าในยุคเริ่มแรกตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดีลพบุรี รวมถึงเมืองสุโขทัย เป็นการจัดการน้ำเพื่อป้องกันเมืองในฤดูน้ำหลากและใช้อุปโภคบริโภคในหน้าแล้ง ซึ่งในยุคดังกล่าวยังไม่ปรากฏรูปแบบของการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร แต่ต่อมาในสมัยสุโขทัยได้พบร่องรอยของการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นการสร้างเหมืองฝายใช้กันเองในท้องถิ่น

‘…เมืองสุโขทัยนั้น ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ค่อนข้างเด่นชัด กล่าวคือ มีโครงสร้างของเมืองไว้เพื่อการจัดการน้ำ โดยพื้นที่บริเวณเมืองสุโขทัยไม่มีน้ำจากใต้ดินและห่างไกลจากแม่น้ำ ทำให้ต้องชักน้ำจากภูเขาเข้ามาสู่คูเมืองแล้วจึงผันมากักเก็บไว้ในตระพังเพื่อใช้ในตัวเมือง ซึ่งจะพบว่าพื้นที่เมืองสุโขทัยจะมีสระหรือตระพังอยู่โดยรอบ

เมื่อมีพื้นที่กักเก็บน้ำ ย่อมต้องมีแหล่งที่มาของน้ำ แหล่งต้นน้ำของสุโขทัยนั้นไหลมาจาก ‘โซกพระร่วง’ (โซก เป็นคำโบราณหมายถึง ลำธาร) ที่อยู่ในบริเวณระหว่างเขาสองลูก คือ เขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้าย 

จากนั้นน้ำจะไหลผ่านมายัง ‘สรีดภงส์’ เป็นทำนบกั้นน้ำที่มีลักษณะคล้ายเขื่อนแต่การทำงานนั้นคล้ายคลึงกับฝายน้ำล้น เมื่อเกิดน้ำล้นจะมีการระบายเข้าสู่คลองเสาหอเรื่อยลงไปจนถึงคูเมืองสุโขทัย จะเห็นได้ว่าสุโขทัยใช้หลักการชักน้ำจากภูเขา แล้วจึงใช้ทำนบกั้นน้ำช่วยเบนทิศทางน้ำเข้ามาในเมือง
 


แผนที่แสดงระบบจัดการน้ำภายในเมืองสุโขทัย โดยชักน้ำจากภูเขา
เข้ามาสู่คูเมืองแล้วจึงผันมากักเก็บไว้ในตระพัง
หน้าที่ 4/12

‘สรีดภงส์’ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์ในการเบนทิศทางน้ำเข้าสู่คูเมืองแล้ว ยังมีหน้าที่ชะลอและเบนน้ำไม่ให้ไหลลงมาพุ่งกระแทกกับตัวเมืองโดยตรง จะเห็นได้ว่าหลักการสร้างและวางผังเมืองของสุโขทัย นอกจากเป็นการจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค กระนั้นยังจัดการป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้ามาสู่ตัวเมืองโดยฉับพลัน แต่ทว่าน้ำที่ไว้ใช้อุปโภคบริโภคในตัวเมืองสุโขทัยไม่ได้มาจากคลองเสาหอดังที่กล่าวข้างต้น แต่มาจากพื้นที่ทางทิศตะวันตกบริเวณระหว่างวัดตะพานหินและวัดพระบาทน้อย

อันมีลักษณะพื้นที่เป็นแหล่งน้ำระหว่างภูเขาสองลูกเช่นเดียวกัน ซึ่งจะไหลลงมายังทางประตูอ้อ จากนั้นจะมีการผันน้ำเข้าสู่แหล่งกักเก็บน้ำกินน้ำใช้ในตัวเมือง ซึ่งก็คือคูวัดต่างๆ ที่อยู่ภายในเมือง แต่จากการพัฒนาในยุคหลังทำให้เส้นทางน้ำของวัดตะพานหินนี้ไม่สามารถใช้การได้จึงต้องเปลี่ยนกลับมาทางโซกพระร่วงแทน

ทั้งนี้ คูน้ำตามวัดต่างๆ ในตัวเมืองสุโขทัยถูกใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ดังนั้น  ศาสนสถานสองแห่งที่อยู่บนภูเขา คือ วัดตะพานหิน และวัดพระบาทน้อยจึงมาจากความเชื่อที่ว่า น้ำที่มาจากภูเขาเป็นน้ำที่สะอาดมาก เพื่อเป็นการรักษาน้ำไม่ให้สกปรก จึงกำหนดสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาควบคู่กับน้ำเพื่อรักษาแหล่งน้ำนั้น เช่น ศาสนสถานและภูเขา เป็นต้น

นอกจากนี้สุโขทัยไม่ได้มีแค่การจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความครบวงจรระหว่างการจัดน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการจัดการน้ำเพื่อชลประทานหรือการเกษตร (แบบตามฤดูกาล ไม่ใช่เศรษฐกิจการเกษตร) คือ ‘ถนนพระร่วง’ ซึ่งมีแนวคันดินทอดยาวไปยังเมืองศรีสัชนาลัยและอีกแนวไปถึงเมืองกำแพงเพชร โดยถนนพระร่วงนี้มิใช่ถนนอย่างที่เข้าใจ หากแต่เป็นแนวคันทำนบที่ใช้ในการชะลอน้ำกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากจึงสามารถใช้ในการปลูกข้าวนาทามได้...’

สรีดภงส์ หรือ ศรีดภงส์, สรีดภงค์, สรีดภงษ์, ทำนบพระร่วง ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย บ้านมนต์คีรี ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย เป็นเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำอยู่ภายนอกกำแพงเมืองเก่าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จากประตูอ้อ ซึ่งเป็นประตูเมืองด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกขนาบด้วยภูเขาสองลูกเป็นรูปก้ามปู คือเขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา ภูเขาทั้งสองลูกนี้อยู่ในทิวเขาหลวงด้านหลังตัวเมืองสุโขทัยโบราณ ลึกเข้าไปในทิวเขานี้เป็นซอกเขาอันเป็นต้นกำเนิดของทางน้ำเรียกว่า ‘โซกพระร่วงลองขรรค์’

 


ถนนพระร่วง แนวคันดินทิศเหนือของเมืองสุโขทัย
ทอดยาวไปยังเมืองศรีสัชนาลัย

 

สำหรับแหล่งต้นน้ำในอดีตเรียกว่า โซก ก็คือลำธาร โซกที่สำคัญได้แก่ โซกพระร่วงลองขรรค์ โซกพระร่วงลับขรรค์ โซกพม่าฝนหอก โซกชมพู่ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลมาจากเขาประทักษ์ ห่างไปประมาณ ๒.๓ กิโลเมตร บริเวณส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาประทักษ์อันเป็นแหล่งที่อุดมด้วยพืชพรรณไม้ต่างๆ รวมทั้งพืชสมุนไพร และเป็นพื้นที่เปรียบเสมือนหลังคาที่สามารถรองรับน้ำฝนได้อีกด้วย

 

หน้าที่ 5/12

คันดินกั้นน้ำขนาดใหญ่ในระหว่างหุบเขากิ่วอ้ายมาถึงเขาพระบาทใหญ่อันเป็นที่รวมของน้ำจากโซกต่างๆ ตามบริเวณเขาถึง ๑๗ โซก เป็นคันดินสำหรับผันแปรทิศทางของน้ำ ที่เชื่อกันมาแต่เดิมว่าคือ    สรีดภงส์ ที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกที่ ๑ น้ำจากสรีดภงส์จะถูกระบายไปตามคลองเสาหอ เพื่อเข้าไปใช้อุปโภคบริโภคภายในเมือง โดยระบายเข้าสู่เมืองตรงมุมตะวันตกเฉียงใต้  

ทุกวันนี้มีการเข้าใจผิดกันมาก โดยเรียกแนวกั้นน้ำซึ่งกักเก็บให้เป็นอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานว่า สรีดภงส์ เพราะจริงๆ สรีดภงค์คือคันดินแถววัดเขาพระบาทใหญ่  ไม่ใช่เขื่อนสรีดภงส์ในปัจจุบันที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่ โดยกรมชลประทานร่วมกับกรมศิลปากร ให้มีความสูงและแข็งแรงกว่าเดิมสำหรับใช้กักเก็บน้ำ มีความสูงประมาณ ๑๐ เมตร ยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง ๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร เจตจำนงดั้งเดิมเมื่อครั้งเมืองโบราณสุโขทัย สรีดภงส์ ถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคันดิน หรือที่เรียกว่า ทำนบกั้นน้ำ (dyke) มีจุดประสงค์หลักคือการทำหน้าที่กักเก็บน้ำบริเวณที่ราบต่ำระหว่างเขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา เพื่อใช้ในการเกษตรกรรมและการล่อเลี้ยงน้ำและการใช้สอยในเมืองคูเมืองผ่านทางคลองเสาหอทางทิศตะวันออกตามความลาดชันของพื้นที่ที่ลาดเอียงไปทางทิศตะวันออก
 


แนวกั้นน้ำซึ่งกักเก็บให้เป็นอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน

เป็นคันดินกั้นน้ำระหว่างเขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา โดยเขื่อนจะกักน้ำและมีระบบชักน้ำไปตามคลองส่งน้ำลำเลียงไปตามคลองสู่กำแพงเมืองเก่า แล้วน้ำจะไหลเข้าสู่สระตระพังเงินสระตระพังทองเพื่อใช้สอยในเมืองและพระราชวังในสมัยสุโขทัย

ส่วนในปัจจุบัน กรมชลประทานได้เข้ามาสร้างเขื่อนดินสูงเป็นแนวเชื่อมระหว่างปลายเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายมา สามารถกักเก็บน้ำที่ไหลออกมาจากโซกพระร่วงลองขรรค์ บริเวณระหว่างเขาทั้งสองลูกจึงกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดย่อมและระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนี้ลงคลองเสาหอ ซึ่งจะนำน้ำนี้เข้าคูเมืองสุโขทัยที่มุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้ อันเป็นตำแหน่งที่มีระดับความสูงของพื้นดินสูงที่สุดของเมืองสุโขทัย

น้ำจากคลองเสาหอจะไหลลงคูเมืองด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ จากนั้นจะไหลเข้าคูเมืองด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกไปสู่มุมเมืองทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีระดับต่ำที่สุดก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำลำพันไปลงแม่น้ำยมที่อยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันออก

จากการศึกษาพบว่า แต่เดิมก่อนที่กรมชลประทานจะก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำนั้น บริเวณนี้จะมีคันดินเตี้ยๆ สูงประมาณ ๑-๒ เมตร ทอดยาวเป็นแนวขนานกันกับเขื่อนดินสร้างใหม่ของกรมชลประทาน มีคำเรียกคันดินโบราณนี้ว่า ทำนบพระร่วง แต่ลักษณะคันดินไม่สูงนักรวมทั้งมิได้มีสภาพการก่อสร้างที่แข็งแรงพอ จึงอาจที่จะวิเคราะห์ได้ว่า คันดินโบราณที่เรียกว่าทำนบพระร่วงนี้ มิได้ทำหน้าที่เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำเหมือนกับเขื่อนดินที่กรมชลประทานมาสร้างไว้ อาจจะทำหน้าที่เพียงเพื่อบังคับทิศทางของน้ำที่มีมากในฤดูฝน มิให้ไหลล้นไปในทิศทางอื่นที่มิใช่ทิศทางไปสู่เมืองสุโขทัย แต่จะทำหน้าที่เบนน้ำทั้งหมดที่ไหลมาจากเขาทั้งสองลูกนี้ให้ไหลลงไปในคลองเสาหอทั้งหมดเพื่อนำไปสู่คูเมืองสุโขทัย

ทั้งนี้ แนวคันดินที่ทำหน้าที่เบี่ยงเบนทิศทางของน้ำให้ไหลไปตามทิศที่ต้องการซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับทำนบพระร่วงนั้น ถูกพบได้โดยทั่วไปบนพื้นที่ลาดเอียงรอบๆ เมืองเก่าสุโขทัย โดยพบมากที่สุดที่บริเวณเชิงเขาด้านทิศตะวันตกจรดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง โดยที่ไม่ได้เรียกว่าทำนบพระร่วงแต่อย่างใด เฉพาะคันดินเป็นแนวเชื่อมระหว่างเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายนี้ที่มีชื่อเรียกกันมาว่า ทำนบพระร่วง เพราะอาจเป็นคันดินแนวที่ชัดเจนที่สุดและถูกรู้จักมาช้านานก็เป็นได้ 

ทั้งนี้ ทำนบพระร่วงแห่งนี้ นักวิชาการหลายท่านได้เรียกชื่อเป็น สรีดภงส์ ตามชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช)

หน้าที่ 6/12

สรีดภงส์ ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนพิเศษ ๑๓๒ง วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน (โบราณสถานเขื่อนกั้นน้ำโบราณ) และขึ้นทะเบียนขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization - UNESCO) เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ ๕๗๔

เมื่อมาวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์โบราณคดีถึงทำเลที่ตั้งของเมืองสุโขทัยนั้นตั้งอยู่บนที่ราบลาดเอียงชายป่า มีลำธารที่ไหลมาจากทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขา ทางทิศตะวันออกของเมืองเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่

ทำให้เห็นได้ว่าเมืองสุโขทัยนั้นตั้งอยู่ริมทะเลสาบ มีขุนเขาเป็นฉากบังอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ มีการสร้างคูเมืองกำแพงเมือง มีระบบการจัดผังเมืองเป็นบ้าน เป็นเมือง เขตสวนไร่นา บ้านใหญ่ บ้านเล็ก ความรู้ทางด้านฝายน้ำล้นที่มีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ได้ถูกนำมาใช้ก่อสร้าง ชักน้ำไปทางทิศตะวันออก ผ่านคูเมืองและพื้นที่ใช้ประโยชน์ต่างๆ ก่อนไหลลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำยม

ระดับความลาดเอียงในเมืองสุโขทัยที่มีความสูงถึง ๓-๔ เมตร ย่อมกักเก็บน้ำไม่ได้จึงต้องมีการขุดสระน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในการเกษตรกรรม ภูมิศาสตร์โบราณคดีของกรมศิลปากร ได้อรรถาธิบายถึง สรีดภงส์ ว่า มาจากภาษาสันสกฤตว่า สริทฺกงฺค แปลว่า ทำนบ  

จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ โดยเจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ ๓ สุโขทัย พบแนวคันดินเชื่อมต่อระหว่างเขากิ่วอ้ายมาและเขาพระบาทใหญ่ มีการขุดดินจากด้านในเพื่อนำมาปรับถมเป็นคันดินกั้นน้ำ ลักษณะคันดินที่เหลืออยู่มีขนาดฐานกว้างประมาณ ๑๔ เมตร สูง ๔ เมตร คันดินตอนบนกว้าง ๓-๔ เมตร ยาว ๓๓๐ เมตร สภาพพังทลายขาดเป็นช่วงๆ เพราะถูกน้ำกัดเซาะ 

สภาพปัจจุบันได้รับการปรับปรุงคันดินตามระบบชลประทาน มีความสูงประมาณ ๑๐ เมตร กักเก็บน้ำได้ ๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับน้ำประมาณ ๕ ตารางกิโลเมตร รับน้ำจากเทือกเขาประทักษ์ เขาค่าย เขาเจดีย์งาม ที่เป็นพื้นที่หลังคารับน้ำไหลลงมาเป็นลำธาร หรือ โซกต่างๆ เช่น โซกพระร่วงลองพระขรรค์/ โซกเรือตามอญ/ โซกอ้ายก่าย/ โซกน้ำดิบชะนาง/ โซกชมพู่/ โซกพม่าฝนหอก

ลักษณะการวางผังเมืองสุโขทัย จากทำเลที่ตั้งของเมืองสุโขทัยเดิมอยู่ในบริเวณวัดพระพายหลวง (ชุมชนพระพายหลวงในปัจจุบัน) บนที่เนินสูงใกล้เขาเพื่อเลี่ยงการเกิดน้ำท่วมจากริมแม่น้ำ ซึ่งได้รับอิทธิพลการสร้างเมืองจากฮินดูที่มีความชำนาญในการจัดรูปแบบแผนผังของเมืองและการสร้างระบบชลประทาน การเปลี่ยนแปลงของประชากรที่เพิ่มขึ้นสู่การสร้างเมืองใหม่สุโขทัยที่ใหญ่กว่าเมืองเดิม ๔ เท่า ตั้งอยู่ในด้านทิศใต้ของเมืองเดิม ถูกสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ เริ่มมีการสำรวจแหล่งน้ำและเส้นทางน้ำไหลเพื่อให้ภายในเมืองถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ 

การรับอิทธิพลการวางผังเมืองจากวัฒนธรรมเขมรโบราณจึงมีการกำหนดแนวแกนเมืองตรึงอยู่ทั้ง ๔ ทิศ มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ๒ กิโลเมตร กว้าง ๑.๖ กิโลเมตร มีประตูเมืองทั้งหมด ๔ ทิศ ได้แก่ ประตูศาลหลวง (ทิศเหนือ) ประตูกำแพงหัก (ทิศตะวันออก) ประตูนะโม (ทิศใต้) และประตูอ้อ (ทิศตะวันตก) 
 


ทำเลที่ตั้งของเมืองสุโขทัยเดิมอยู่ในบริเวณวัดพระพายหลวง 
จากระบบฐานข้อมูลศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม

 

หน้าที่ 7/12

นอกจากเมืองถูกสร้างด้วยรูปทรงสี่เหลี่ยมแล้ว สถาปัตยกรรมและบารายหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ถูกสร้างขึ้นด้วยรูปสี่เหลี่ยมเช่นกัน โครงสร้างภายในเมืองสุโขทัยประกอบด้วยกำแพงเมืองและคูน้ำสลับกัน ๓ ชั้นหรือเรียกว่า ตรีบูร เพื่อป้องกันน้ำจากหุบเขา จึงเปรียบเสมือนฝายน้ำล้นที่ป้องกันน้ำท่วมเมืองและป้องกันข้าศึกศัตรู ซึ่งลักษณะของกำแพงเมืองถูกก่อด้วยอิฐศิลาแลงสลับกับคูน้ำขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน 

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ยังพบหลักฐานการสร้างถนนพระร่วงเป็นแนวคันดินที่ทอดตัวยาวแนวเหนือ-ใต้ผ่านเมืองสุโขทัยที่ประตูศาลหลวงและประตูกำแพงหัก กรมศิลปากรสำรวจพบโบราณสถานส่วนใหญ่เป็นวัดโบราณที่ตั้งขึ้นใจกลางเมืองบ้างตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำที่เรียกว่า ตระพัง 

ระบบบริหารจัดการน้ำเมืองสุโขทัยเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แสดงให้เห็นถึงการจัดการน้ำที่มีมาตั้งแต่อดีต เข้าใจถึงลักษณะภูมิประเทศ ความลาดเอียงของพื้นที่ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ จึงใช้ความลาดเอียงให้เกิดประโยชน์ต่อการเลือกตั้งถิ่นฐานและตำแหน่งของพื้นที่กักเก็บน้ำที่สามารถแบ่งออกเป็นภายในและภายนอกเขตกำแพงเมือง 
 


วัดสระศรี เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางตระพังตระกวน

ได้แก่ ตรีบูร ตระพังหรือสระน้ำ บ่อบาดาล บ่อกรุ ลำคลอง สรีดภงส์ บารายและทะเลหลวง โดยภายในเมืองใช้ท่อดินเผาเชื่อมสระน้ำเข้าด้วยกัน อาศัยความลาดเอียงของเมืองให้น้ำไหล

ระบบบริหารจัดการน้ำนอกเขตกำแพงเมือง เมืองสุโขทัยมีแนวเทือกเขาประทักษ์ทอดตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ของเมือง จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า เทือกเขาประทักษ์นี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มีบทบาทสำคัญในการอุปโภคบริโภคของชุมชนเมืองสุโขทัยในสมัยโบราณ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสรรน้ำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยให้มีน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี สามารถทดและส่งน้ำไปใช้ได้อย่างประหยัดและเพียงพอในช่วงฤดูเพาะปลูกและสามารถระบายทิ้งได้ในกรณีที่มีน้ำมากเกินไป โดยนอกเขตกำแพงเมืองประกอบด้วย เหมืองฝาย สรีดภงส์ และทำนบกั้นน้ำ

เหมืองฝาย คือคันกั้นน้ำเพื่อกักเก็บน้ำที่เกินในฤดูฝน ลดการเกิดอุทกภัยและช่วยการเพาะปลูกในฤดูแล้ง 

สรีดภงส์ หรือทำนบหรือคันดิน ปัจจุบันมีการค้นพบและสันนิษฐานถึงสรีดภงส์ในจารึกหลักที่ ๑ จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทั้งหมด ๓ ตำแหน่งดังนี้

สรีดภงส์ ๑ (ทำนบ ๑ ตต.) หรือเรียกว่าทำนบพระร่วง เป็นเขื่อนกั้นน้ำสร้างด้วยดินเหนียวรูปตัวไอ (I) ยาว ๕๐๐ เมตร สูง ๘๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สามารถเก็บน้ำได้ประมาณ ๘๐,๐๐๐ – ๑๒๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองสุโขทัยไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีลักษณะเป็นแนวคันดินเชื่อมต่อระหว่างเขากิ่วอ้ายมาและเขาพระบาทใหญ่ รับน้ำบนเทือกเข้าประทักษ์ เขาค่าย เขาเจดีย์งาม ไหลลงมาเป็นลำธารหรือโซกต่างๆ มารวมกันในพื้นที่รับน้ำก่อนจะไหลตามคลองเสาหอและเข้าสู่แนวคูน้ำล้อมรอบเมืองสุโขทัยบริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ 

สรีดภงส์ ๒ (ทำนบ ๒ ตต.) หรือเรียกว่าทำนบกั้นน้ำโคกมน เป็นเขื่อนกั้นน้ำขนาดใหญ่สร้างด้วยดินเหนียวรูปตัววี (V) ยาว ๑,๑๗๕ เมตร กั้นระหว่างหุบเขาสะพานเรือและเขากุดยายชีทางทิศใต้ของเมืองสุโขทัย 

สรีดภงส์ ๓ (ทำนบ ๓ ตต.) เป็นเขื่อนกั้นน้ำขนาดใหญ่สร้างด้วยดินเหนียวรูปตัวยู (U) ยาว ๑,๐๐๐ เมตร กั้นระหว่างหุบเขาสะพานหินและเขาเจดีย์งามทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัยระยะทาง ๒ กิโลเมตร ซึ่งสรีดภงส์ เป็นตัวควบคุมน้ำ ปล่อยน้ำปริมาณมากหรือน้อยแล้วแต่ความต้องการ ทำให้เมืองสุโขทัยมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดทั้งปี

หน้าที่ 8/12

นอกจากนี้ ยังมีทำนบกั้นน้ำ พื้นที่ห่างจากเชิงเขาซึ่งเป็นพื้นที่กว้างจะมีการทำคันบังคับน้ำเพื่อกำหนดทิศทางการไหลของน้ำและลดความแรงของกระแสน้ำไม่ให้ปะทะกับที่ของชุมชน จากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ จารึกพ่อขุนรามคำแหงว่าทางทิศตะวันออกของเมืองสุโขทัยมี ‘ทะเลหลวง’ เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีบริเวณกว้างขวางน้ำท่วมถึง ในบริเวณ ๒ ฝั่งของแม่น้ำยม ที่ไม่สามารถระบุพื้นที่แน่ชัดได้ว่าอยู่ในตำแหน่งใด ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพพื้นที่เป็นบ้านเรือนทั้งหมด

ส่วนการอุปโภคบริโภคในเมืองสุโขทัย ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติไหลลงมาในหุบที่กักเก็บน้ำได้จำนวนมาก ทำให้เกิดลำธารคือ คลองเสาหอไหลตามแนวกำแพงเมืองและคูเมืองกักเก็บไว้ใน ตระพัง หรือสระน้ำไหลลงสู่คลองแม่รำพัน

เมืองสุโขทัยมีสระน้ำที่สามารถบรรจุน้ำได้ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตร จำนวน ๘๐ สระ โดยน้ำจากคูเมืองจะไหลเข้าสู่สระต่างๆ ตามบริเวณที่มีชุมชนอยู่อาศัย โดยมีตระพังขนาดใหญ่จำนวน ๔ ตระพัง ได้แก่ ตระพังเงิน สระของชุมชนด้านทิศตะวันตกอยู่ในวัดมหาธาตุมีลักษณะเป็นคูน้ำรอบวัดไหลลงสู่สระในพระราชวังตระพังทอง ตระพังตระกวนหรือตระพังโพยสี และตระพังสอ ตามลำดับ 

เมืองสุโขทัยมีการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลจำนวน ๑๗๔ บ่อ ซึ่งบ่อจะมีลักษณะเป็นบ่อกลมกรุด้วยศิลาแลง หินและอิฐก่อเสริมถึงปากบ่อ ซึ่งปริมาณบ่อน้ำมีความสัมพันธ์กับปริมาณของประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้นๆ โดยบ่อที่ขุดขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในทิศตะวันตกและทิศเหนือของเมือง ส่วนด้านทิศตะวันออกและทิศใต้พบบ่อน้ำไม่มากนั้นทำให้สันนิษฐานได้ว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

ระบบน้ำเมืองโบราณสุโขทัยมีหัวใจหลักหรือกุญแจไขความลับที่สำคัญคือ ‘ท่อปู่พระยาร่วง’ เป็นคลองส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ปรากฏนามในจารึกปี พ.ศ. ๒๐๕๓ บนฐานเทวรูปพระอิศวร พบที่เมืองโบราณกำแพงเพชร ปัจจุบันเทวรูปนี้ประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดกำแพงเพชร ความตอนหนึ่งกล่าวว่า

‘...อนึ่งท่อปู่พระยาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้นก็ถมหายสิ้นและเขาย่อมทำนาทองฟ้าและหาท่อนั้นพบกระทำท่อเอาน้ำไปเลี้ยงนาให้เป็นนาเหมืองนาฝายมิได้เป็นนาทาฟ้า อันทำทั้งนี้ ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์...’


บ่อน้ำบาดาล มีลักษณะเป็นบ่อกลมกรุด้วยศิลาแลง หินและอิฐก่อเสริมถึงปากบ่อ
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม


แนวคลองจากกำแพงเพชรถึงบางพานนั้น ตามที่ปรากฏในจารึก ยังมีร่องรอยปรากฏให้เห็นในภาพถ่ายทางอากาศ และยังคงสภาพให้เห็นได้ในภูมิประเทศ และเป็นแนวเดียวกันกับแนวที่เชื่อกันมาในอดีตว่า เป็นถนน นั่นคือ ‘ถนนพระร่วง’ ซึ่งเชื่อมโยงจากเมืองสุโขทัย ไปยังเมืองศรีสัชนาลัยทางด้านเหนือ และเมืองกำแพงเพชรทางด้านใต้

ระบบบริหารจัดการน้ำสมัยสุโขทัย กรมศิลปากร ได้ให้ข้อมูลการทดน้ำมาใช้ใน-นอกเมืองเก่าสุโขทัย ว่า ภายในเมืองสุโขทัยมีสระเก็บกักน้ำประมาณ ๑๗๕ สระ มีทั้งแบบขุดลงไปในดิน และกรุผนังด้วยอิฐหรือศิลาแลง บ่อที่ลึกที่สุดอยู่บริเวณด้านหลังอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ขนาดปากบ่อกว้าง ๓ เมตร ลึก ๒๕ เมตร มีคลองส่งน้ำจากบริเวณเมืองชั้นในทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ส่งน้ำจากตระพังตระกวนเข้ามายังตระพังสอ

 
หน้าที่ 9/12

คูเมืองและกำแพงเมืองสุโขทัยวางตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคันดินเป็นกำแพง ๓ ชั้น และคูน้ำ ๓ ชั้น ทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันข้าศึกและเป็นคันบังคับน้ำมาใช้ประโยชน์ โดยเป็นน้ำที่ไหลมาจากคลองเสาหอด้านทิศตะวันตกมายังบริเวณคูเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งคงมีท่อเชื่อมสู่คูเมืองชั้นใน เนื่องจากในการบูรณะปรับปรุงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๓๑ ได้ขุดพบท่อน้ำดินเผาขนาดต่างๆ ใกล้ขอบสระและคูน้ำล้อมรอบวัดเสมอๆ เช่นที่วัดพระพายหลวง วัดมหาธาตุ วัดเชตุพน เป็นต้น
 


ผังเมืองสุโขทัย คูเมืองและกำแพงเมืองสุโขทัยวางตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
มีคันดินเป็นกำแพง ๓ ชั้น และคูน้ำ ๓ ชั้น
 

 

นอกจากนี้ยังมีทำนบกั้นน้ำอื่นๆ ก่อสร้างไว้เพื่อส่งน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในเมือง ทำนบที่สำคัญได้แก่ แนวคันดินหมายเลข ๔ ต. ถนนพระร่วง ๑ สุโขทัย-กำแพงเพชร ตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกกำแพงเมือง มีความสูงประมาณ ๐.๕๐-๒.๕๐ เมตร กว้างราว ๔-๖ เมตร ยาวประมาณ ๗๓ กิโลเมตรถึงเมืองกำแพงเพชร มีโบราณสถานตามถนนพระร่วงสายนี้ ๒-๓ แห่ง และแนวคันดินถนนพระร่วง ๒ สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ขนาดใกล้เคียงกับถนนพระร่วง ๑ สุโขทัย-กำแพงเพชร วางตัวเริ่มต้นตั้งแต่ประตูศาลหลวงมุ่งขึ้นไปถึงเมืองศรีสัชนาลัย โดยแนวคันดินที่พบขาดหายเป็นระยะๆ สำรวจพบโบราณสถานเรียงรายตามแนวถนน ๒๓ แห่ง แนวคันดินเหล่านี้นอกจากใช้เป็นถนนแล้วยังใช้เป็นแนวบังคับน้ำที่ไหลมาจากทางทิศตะวันตกเพื่อใช้ประโยชน์และผันน้ำไปสู่แม่น้ำยม

วิธีการควบคุมน้ำของเมืองสุโขทัย จากการศึกษาระบบบริหารจัดการน้ำในสมัยสุโขทัย พบหลักฐานระบุถึงเหมืองฝายจากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๓ หรือศิลาจารึกนครชุม พ.ศ. ๑๙๐๐ ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ มีคำว่า ‘เหมืองแปลงฝายรู้ปรา...’ และจารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร พ.ศ. ๒๐๕๓ ระบุว่า ‘อนึ่งท่อปู่พระยาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้นก็ถมหายสิ้นและเขาย่อมทำนาทางฟ้า และหาท่อนั้นพบ กระทำท่อเอาน้ำเข้าไปเลี้ยงนาให้เป็นนาเหมืองนาฝาย มิได้เป็นทางฟ้า...’  

เห็นได้ว่าในสมัยปู่พระยาร่วง ซึ่งอาจเป็นราชวงศ์สุโขทัย ได้มีการบริหารจัดการน้ำแบบเหมืองฝายขึ้นในเขตกำแพงเพชร สำหรับในเมืองสุโขทัยนั้นพบว่าน้ำจากเทือกเขาประทักษ์ไม่มีบทบาทในการทำลายเมือง น้ำจะไหลจากแหล่งน้ำธรรมชาติลงสู่ที่ราบลุ่มต่ำ ตามลำธาร ลำห้วย เช่น คลองยาง เหมืองตาราม เหมืองยายอึ่ง คลองตาเจ็ก เป็นต้น สรีดภงส์ ๒ เป็นฝายน้ำล้นที่สร้างขึ้นระหว่างเขานายากับเขากุดยายชี น้ำเหนือฝายนี้จะระบายไปตามเหมืองยายอึ่งสู่ที่ราบต่ำทางทิศตะวันออกเพื่อใช้ในการเกษตรกรรม

การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในสมัยสุโขทัยนั้น เมื่อมีการขยายชุมชนเดิมจากวัดพระพายหลวงมายังชุมชนสุโขทัยระบบการควบคุมน้ำเดิมของชุมชนวัดพระพายหลวงยังใช้การได้อยู่ คือคันบังคับน้ำทางตะวันออกและตะวันตกของวัดพระพายหลวง ทำให้ชุมชนสุโขทัยยังทำเกษตรกรรมได้ในบริเวณทางทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศใต้ของเมือง ดังคำในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พ.ศ. ๑๘๓๕ ว่า 

หน้าที่ 10/12

‘...เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยนี้มีพิหารปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมากป่าพลู มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก มีป่าม่วง มีป่าขาม ดูงามดังแกล้ง เบื้องตีนนอนสุโขทัยนี้ มีตลาดปสาน มีพระอจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากลาง มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่ บ้านเล็ก เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎี พิหาร ปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทพดาในเขาอันนั้น...’

แหล่งน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคภายในเมืองสุโขทัย มีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน คือน้ำจากสระต่างๆ และน้ำจากบ่อบาดาล น้ำจากสระต่างๆ (ตระพัง) ในเมืองสุโขทัยมีสระน้ำที่สามารถบรรจุน้ำได้ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตร จำนวน ๘๐ สระ น้ำจากคูเมืองจะไหลเข้าสู่สระต่างๆ ตามบริเวณที่มีชุมชนอยู่อาศัย โดยมีตระพังขนาดใหญ่ จำนวน ๔ ตระพัง ดังนี้

ตระพังเงิน อยู่ทางทิศตะวันตกของวัดมหาธาตุ มีขนาดกว้าง ๕๒ เมตร ยาว ๒๕๓ เมตร ลึก ๓ เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ ๓๙,๔๖๘ ลูกบาศก์เมตร

ตระพังทอง อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ มีขนาดกว้าง ๑๗๕ เมตร ยาว ๘๐๐ เมตร ลึก ๓ เมตร เก็บกักน้ำได้ ๙๖๓,๗๕ ลูกบาศก์เมตร เกาะกลางเป็นที่ตั้งของวัดตระพังทอง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง เมื่อคราวเสด็จทอดพระเนตรเมืองเก่าสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ไว้ว่า ตอนแรกที่พระองค์ประทับแรมอยู่ได้อาศัยน้ำในตระพังทองให้สัตว์ที่เป็นพาหนะเดินทางอาศัยดื่มกิน

ตระพังตระกวน อยู่ทางทิศเหนือของตระพังเงินและวัดมหาธาตุ มีขนาดกว้าง ๒๑๖ เมตร ยาว ๔๑๗ เมตร ลึก ๓ เมตร รับน้ำได้ ๒๒๒,๕๐๔ ลูกบาศก์เมตร เกาะกลางเป็นที่ตั้งของวัดสระศรี

ตระพังสอ อยู่ทางทิศเหนือของพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง มีขนาดกว้าง ๕๖.๗๕ เมตร ยาว ๒๑๘ เมตร ลึก ๓ เมตร กักเก็บน้ำได้ ๓๗,๑๑๔ ลูกบาศก์เมตร

น้ำในตระพังเหล่านี้จะระบายไปยังตระพังอื่นๆ ภายในเมือง โดยเริ่มจากทางด้านทิศตะวันตกมาสู่ด้านทิศตะวันออก โดยการวางท่อระบายน้ำต่อถึงกันระหว่างสระต่างๆ จากการขุดแต่งโบราณสถานในเมืองสุโขทัย พบท่อระบายน้ำบริเวณวัดมหาธาตุด้านเหนือ เป็นท่อดินเผาเคลือบ ปากท่อกว้าง ๔๕ เซนติเมตร ปลายสอบเหลือ ๑๘ เซนติเมตร 

และพบอีกแห่งหนึ่งที่มุมกำแพงวัดมหาธาตุด้านใต้ พบท่อที่มีขนาดเท่ากันโดยตลอด ส่วนหัวและปลายทำสวมต่อกันได้ ส่วนสระน้ำเล็กๆ จะไม่มีท่อระบายน้ำส่งถึงกัน อาศัยเพียงน้ำฝนตามฤดูกาล จึงไม่มีน้ำขังอยู่ตลอดทั้งปี จึงต้องมีการขุดบ่อบาดาลมาใช้อีกส่วนหนึ่งด้วย
 


ท่อน้ำโบราณพบที่เมืองสุโขทัย
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม


ว่าไปแล้ว สรุปท้ายสุด เมืองและชุมชนโบราณที่รู้จักวิธีการจัดการน้ำแล้ว โดยพบร่องรอยการสร้างคูน้ำล้อมรอบแทนการสร้างกำแพงเมือง ทั้งยังสร้างทำนบคันดินเบนน้ำ-ชะลอน้ำเข้าสู่คูเมือง และสร้างสระขนาดใหญ่ เพื่อเป็น ‘Tank moat’ กักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค จากตัวอย่างการจัดการน้ำของเมืองโบราณในแต่ละยุค พบว่าในยุคเริ่มแรกตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดีลพบุรี รวมถึงเมืองสุโขทัย เป็นการจัดการน้ำเพื่อป้องกันเมืองในฤดูน้ำหลากและใช้อุปโภคบริโภคในหน้าแล้ง ซึ่งในยุคดังกล่าวยังไม่ปรากฏรูปแบบของการจัดการน้ำเพื่อชลประทานการเกษตร 

หน้าที่ 11/12

แต่ต่อมาในสมัยสุโขทัยได้พบร่องรอยของการบริหารจัดการน้ำของราษฎร ซึ่งเป็นการสร้างเหมืองฝายใช้กันเองในท้องถิ่น เป็นที่น่าสังเกตว่าน้ำจะอยู่คู่กับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เสมอ ไม่ว่าเมืองนั้นจะตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำหรือที่ลาดเขา เช่น วัดตะพานหินตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำสำคัญของสุโขทัย จะเห็นได้ว่าเมืองโบราณสร้างบ้านแปงเมืองเพื่ออยู่อาศัยโดยดูที่ภูมิทัศน์ และปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับพื้นที่และธรรมชาติ

 

 

 

 

 

 

 


อ้างอิง

‘ภูมิวัฒนธรรม’ และการจัดการน้ำในสมัยโบราณ: ทวารวดี – รัตนโกสินทร์ โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิ-โภดม

'เขื่อนสรีดภงส์ ทำนบพระร่วง' ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยา   สิรินธร (องค์การมหาชน)

'เขื่อนสรีดภงส์ และแหล่งต้นน้ำในอดีต' อุทยานแห่งชาติรามคำแหง สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

คำสำคัญ : สรีดภงส์,การจัดการน้ำ,สุโขทัย,ตระพัง,การจัดการน้ำโบราณ

'สรีดภงส์หรือทำนบพระร่วง' อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

'การจัดการทรัพยากรน้ำ: ศึกษาเฉพาะกรณี เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย' โดย กชกร สุชาติเลิศปัญญา สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปี พ.ศ. ๒๕๔๒

'ระบบชลประทานสมัยสุโขทัย' กรมศิลปากร

'รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับระบบชลประทานของเมืองโบราณสุโขทัย'        ปุญชรัสมิ์ เอี่ยมประเสริฐกุล ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

'จารึกเมืองกำแพงเพชร พ.ศ. ๒๐๕๓: ๕๐๐ ปี ท่อปู่พระยาร่วง' สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

พรเทพ เฮง
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกโบราณคดี รุ่น ๓๘ ทำงานด้านสื่อ ด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และสาระบันเทิงมาค่อนชีวิต
หน้าที่ 12/12