ผู้เข้าชม
0

แหล่งทรัพยากร ‘ตะกั่ว’ และ ‘ดีบุก’ บริเวณต้นน้ำแม่กลองและเส้นทางน้ำภายใน

การมีแหล่งแร่ดีบุกในเขตเทือกเขาตะนาวศรีลงไปถึงเทือกเขาภูเก็ตและเทือกเขาบรรทัดในเขต คาบสมุทรสยาม รวมทั้งในเขตคาบสมุทรมลายู ตรวจสอบจากแนวหินอัคนีซึ่งเป็นหินแกรนิต [Granite] ที่ให้กำเนิดแร่ดีบุกมากที่สุด เป็นแหล่งแร่แบบปฐมภูมิแนวแร่ดีบุกที่กล่าวมา คิดเป็นครึ่งหนึ่งของการผลิตดีบุกได้ทั่วโลกทีเดียว
24 กันยายน 2567


แหล่งทรัพยากร ‘ตะกั่ว’ และ ‘ดีบุก’ บริเวณต้นน้ำแม่กลองและเส้นทางน้ำภายใน

 

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

หน้าที่ 1/17


ตำแหน่งที่พบแหล่งทำเหมืองแร่ดีบุก บริเวณสวนผึ้ง และชุมชนที่ใกล้กับจอมบึง
รวมทั้งบริเวณที่ตั้งของโคกพริก เมืองคูบัว และเมืองราชบุรี
หน้าที่ 2/17

แหล่งทรัพยากร ‘ตะกั่ว’ และ ‘ดีบุก’ บริเวณต้นน้ำแม่กลองและเส้นทางน้ำภายใน

การมีแหล่งแร่ดีบุกในเขตเทือกเขาตะนาวศรีลงไปถึงเทือกเขาภูเก็ตและเทือกเขาบรรทัดในเขต คาบสมุทรสยาม รวมทั้งในเขตคาบสมุทรมลายู ตรวจสอบจากแนวหินอัคนีซึ่งเป็นหินแกรนิต [Granite] ที่ให้กำเนิดแร่ดีบุกมากที่สุด เป็นแหล่งแร่แบบปฐมภูมิแนวแร่ดีบุกที่กล่าวมา คิดเป็นครึ่งหนึ่งของการผลิตดีบุกได้ทั่วโลกทีเดียว น่าจะมีการทำเหมือง ‘แร่ดีบุก’ ด้วยวิธีการร่อนแร่ดีบุกธรรมชาติจากการกัดเซาะสู่ลำธารต้นน้ำในเทือกเขาที่สูง โดยยังไม่มีการทำแร่กึ่งอุตสาหกรรมแบบเหมืองหาบที่เกิดขึ้นในช่วงรัตนโกสินทร์

ตำแหน่งของชุมชนและความต่อเนื่องของกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการเป็นแหล่งแร่ โดยเฉพาะดีบุก รวมทั้งตะกั่ว ซึ่งมักจะพบแร่สังกะสีและเงินรวมอยู่ด้วยนั้น แบ่งออกอย่างสอดรับกันใน ๓ อาณาบริเวณคือ

๑. พื้นที่ทำแร่ในป่าเขาที่สูง
๒. ชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตที่ราบลอนลูกคลื่นใกล้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ และภูเขาหินปูนในระยะที่อยู่กึ่งกลางของแหล่งผลิต
๓. ชุมชนที่อยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมทางน้ำเพื่อนำส่งสินค้าออกสู่ทะเลและการเดินทางระยะทางไกล

อย่างไรก็ตาม เส้นทางทรัพยากรตามที่ตั้งสมมติฐานเบื้องต้นนี้ไม่อาจรวมแร่ทองแดง ซึ่งพบว่ามีเหมืองทองแดงโบราณและการถลุงแร่ทองแดงระดับอุตสาหกรรมในช่วงก่อนประวัติศาสตร์อยู่ที่บริเวณเทือกเขาวงพระจันทร์ เมืองละโว้หรือลพบุรีเป็นแหล่งใหญ่ ซึ่งจนถึงการศึกษาในปัจจุบัน อาจจะเป็นแหล่งผลิตทองแดงที่ต่อเนื่องแหล่งใหญ่ที่สุดในเขตแผ่นดินภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๑. สวนผึ้งในเทือกเขาตะนาวศรี ขุมแร่ดีบุกโบราณที่สอดคล้องกับชุมชนยุคสุวรรณภูมิที่จอมบึง ปากท่อ และเมืองโบราณคูบัว

แหล่งทำเหมืองของ ‘สวนผึ้ง’ นั้นอยู่ในพื้นที่ ๓ กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก เหมืองดีบุกยุคแรกแบบหาบล้วนอยู่ตามลำห้วยกล่าวกันว่ามีถึงห้าหรือหกสาย มีกลุ่มเหมืองในอดีตเช่น เหมืองโลหะศิริ เหมืองตะโกปิดทอง เหมืองลุงสิงห์ เหมืองเริ่มชัย เหมืองทุ่งเจดีย์ เหมืองเขากระโจม เหมืองผาปก-ค้างค้าว ไปจนถึงบ้านบ่อซึ่งเป็นจุดไหลลงลำน้ำภาชี

กลุ่มที่สอง ซึ่งอยู่ทางใต้ลงมาเป็นต้นน้ำภาชี มีเหมืองเช่นเหมืองห้วยม่วง เหมืองห้วยคอกหมู เหมืองบ่อคลึง เป็นต้น ทั้งสองกลุ่มอยู่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง ส่วนกลุ่มที่สาม อยู่นอกแนวสันของสองกลุ่มแรกออกมาทางโป่งกระทิงและพุน้ำร้อนในพื้นที่อำเภอบ้านคาปัจจุบัน มีเหมืองพุน้ำร้อนที่อยู่ตอนในสุดหรือใต้สุด ต่อมาคือเหมืองจักรชัย และเหมืองลำบ่อทอง

นักสำรวจท้องถิ่นทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์สุรินทร์ เหลือลมัย ยืนยันจากประสบการณ์การสำรวจและรับฟังจากคำบอกเล่าว่า บริเวณลานแร่หรือเหมืองแร่ทุกแห่งของสวนผึ้งและบ้านคาจะพบโบราณวัตถุทั้งหินและโลหะปะปนอยู่ในชั้นเดียวกัน 

ที่น่าสนใจคือ พบมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ และโบราณวัตถุร่วมสมัยกับยุคเหล็กตอนปลายหรือยุคสุวรรณภูมิจำนวน ๓ แห่งที่
 


มโหระทึกที่บ้านหนองวัวดำในอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก
ห้วยสวนพลู เขาจมูก ที่พบเศษภาชนะสำริดแบบสัดส่วนดีบุกสูง
หน้าที่ 3/17

‘กลุ่มชุมชนโบราณถ้ำเขาขวากและโดยรอบ’ บ้านหนองกวาง ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม ซึ่งเป็นอาณาบริเวณต่อเนื่องกับเขตจอมบึงที่บ้านปากบึง ซึ่งพบโบราณวัตถุพวกลูกปัดรูปลักษณ์แปลกตา ลูกปัดที่มีความสัมพันธ์กับแถบคาบสมุทรเช่นเขาสามแก้วในจังหวัดชุมพร และลูกปัดเหล่านี้มีอายุอยู่ในช่วงต้นพุทธกาลราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ เพราะลูกปัดที่เป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ นั้นล้วนเกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์มงคลทางพุทธศาสนา

ที่ราบรอบเขาลูกโดดและขอบบึง ก็พบชุมชนเพื่อการอยู่อาศัย บางแห่งยังใช้ถ้ำและเพิงผาสำหรับการจัดพิธีกรรม และการฝังศพ บางแห่งก็พบการฝังศพครั้งที่สอง เป็นหม้อบรรจุภาชนะแล้ว โบราณวัตถุที่พบอนุมานได้ว่าเป็นยุคเหล็กตอนปลาย และที่มีความชัดเจนว่าอยู่ในช่วงร่วมสมัยกับการทำเหมืองแร่ดีบุกในหุบเขา ก็เพราะพบ บ้านหนองวัวดำ ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ ห่างจากเมืองโบราณคูบัวราว ๒๐ กิโลเมตร บริเวณที่พบมีร่องรอยของการฝังศพ และพบเครื่องประดับประเภทลูกปัดหินอาเกตและคาร์นีเลียนทรงกระบอก ลูกปัดแก้ว และเปลือกหอย กำไลและแหวนสำริด 

‘เมืองโบราณคูบัว’ และ ‘บ้านโคกพริก’ มโหระทึกแบบเฮเกอร์ I มีรายงานว่าพบภายในเมืองโบราณคูบัว แต่ขนาดเล็กกว่าพบที่ถ้ำเขาขวากและบ้านหนองวัวดำ ส่วนบ้านโคกพริกอยู่เยื้องและอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองโบราณคูบัวที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของคลองแม่น้ำอ้อมในระนาบใกล้เคียงกันราว ๒.๕ กิโลเมตร และห่างจากปากคลองแม่น้ำอ้อมสบกับแม่น้ำแม่กลองราว ๔ กิโลเมตร คลองแม่น้ำอ้อม น่าจะเป็นเส้นทางแม่น้ำเดิมที่ใช้ในช่วงยุคเหล็กตอนปลายต่อเนื่องจนถึงสมัยทวารวดี พบลูกปัดทั้งรูปตรีรัตนะ เต่า ช้าง ในรูปแบบสัญลักษณ์เช่นเดียวกันกับชุมชนที่บริเวณขอบจอมบึง ลูกปัดทำจากหินควอตซ์ที่น่าจะทำจากแหล่งผลิตในพื้นที่ซึ่งมีคุณภาพดีมาก  

ชุมชนที่คูบัวเป็นเมืองท่าภายในที่ตั้งขึ้นอย่างสืบเนื่องในการเป็นจุดขนถ่ายสินค้าออกสู่ทะเล เพราะมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ชัดเจน รวมทั้งเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างบ้านเมืองโพ้นทะเลทั้งทางตะวันตกและตะวันออก 

บริเวณคูบัวและลำแม่น้ำอ้อมของแม่กลองนี้คือเมืองท่านานาชาติสำคัญที่สืบเนื่องมาจากการเดินเรือเลียบชายฝั่งตั้งแต่ต้นพุทธกาลหรือก่อนหน้านั้นเพื่อมานำเอาแร่ธาตุสำคัญคือ ‘ดีบุก’ และ ‘ตะกั่ว’ เพื่อนำไปใช้ในโลหะผสม [Alloy] ที่สำคัญคือสำริด นั่นเอง 

อนึ่ง น่าจะมีแหล่งผลิตดีบุกในเขตเทือกเขาตะนาวศรีอีกหลายแห่งในบริเวณต้นน้ำแควน้อยและแควใหญ่ เพราะพื้นที่เหล่านี้สามารถเดินทางออกไปสู่ชายฝั่งทะเลอันดามันทางแถบทวายและรัฐมอญได้เช่นกัน แต่บริเวณที่น่าสนใจอีกแห่งคือแถบ ‘ด่านช้าง’ เพราะพบร่องรอยของเหมืองดีบุกเก่าในตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ในละแวกใกล้เคียงกับต้นน้ำของลำตะเพิน ซึ่งบริเวณนี้น่าจะเป็นที่มาของชื่อ ‘ด่านช้าง’ เพราะมีบ้านคอกช้างตั้งอยู่และลำตะเพินเป็นเส้นทางตัดข้ามเขาไปยังลำน้ำแควใหญ่ได้

เพราะพบชุมชนโบราณที่มีโบราณวัตถุ ประเภทหม้อสามขา เครื่องมือหิน ไปจนถึงเครื่องมือสำริด กระจายหลายแห่งตามเส้นทางจากบ้านตะเพินคี่ สู่ บ้านทุ่งมะกอก ที่ตำบลองค์พระ บริเวณนี้เป็นแหล่งเหมืองดีบุกเก่า โดยมีการศึกษาคุณภาพของลำน้ำและน้ำใต้ดินบริเวณนี้ก็จะพบการปนเปื้อนของสารหนูในปริมาณเกือบสูงสุดที่จะใช้บริโภคอุปโภคได้ อันแสดงถึงการมีแหล่งแร่ดีบุกและผลอันเนื่องมาจากการทำเหมืองแร่ในอดีต
 


เครื่องมือเหล็กและขวานสำริดจากบ้านเขาวง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
เครื่องมือเหล็กรูปแบบนี้
พบรอบเขาขวาก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีจำนวนมาก
จากนิทรรศการพิพิธภัณฑ์วัดพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
หน้าที่ 4/17

นอกจากนี้ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีที่ บ้านละว้าวังควาย อยู่ริมลำตะเพิน อันแสดงถึงความสัมพันธ์ของผู้คนในเขตที่สูงจากกลุ่มชาวละว้าที่เป็นผู้เชื่อมต่อขนส่งทรัพยากรแร่ธาตุภายในออกสู่ภายนอก ซึ่งมีการบันทึกไว้แถบชุมชนบางขวาก-สามชุก ต้นน้ำท่าว้าและแม่น้ำท่าจีน นอกจากนี้ยังพบที่ บ้านห้วยเหล็กไหล บ้านห้วยหินลาด บ้านโป่งคอม ซึ่งมีหลักฐานที่เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมสำริดแบบดองเซินหรือซาหวิ่นจากทางเวียดนามหลายชิ้น รวมทั้งภาชนะดินเผาแบบสีดำขัดมันรูปแบบต่างๆ และเครื่องมือเหล็กที่มีความคล้ายคลึงกับแหล่งหนองกวาง เขาขวาก ในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

จากชุมชนที่สูงในเขตภูเขาก็ยังพบในพื้นที่ซึ่งเทไปสู่แนวลำกระเสียวทางตะวันตก เช่นที่บ้านพุน้ำร้อน บ้านท่าเย็น บ้านโป่งข่อย ไปจนถึงเขาขวาง น่าสังเกตว่าชุมชนเก่าเหล่านี้พบโบราณวัตถุที่สืบเนื่องต่อมาในสมัยการค้าเริ่มแรก เช่นเครื่องเคลือบเซลาดอนจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย-สุโขทัย ภาชนะจากเตาแม่น้ำน้อย
 


ภาชนะแบบสีดำขัดมันรูปแบบต่างๆ [Black polished wares] พบในถ้ำที่บ้านตะเพินคี่
จากนิทรรศการพิพิธภัณฑ์วัดพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี


กระดึงสำริดรูปใบหน้า ที่น่าจะเป็นสิ่งของเนื่องในวัฒนธรรมดองเซิน พบที่บ้านพุน้ำร้อน
อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี  
น่าเสียดายที่มีการทาสีและเขียนภาพลงบนโบราณวัตถุ 
 

นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการถลุงเหล็กรวมทั้งก้อนตะกั่ว บริเวณด่านช้างและรอยต่อจึงเป็นพื้นที่สำคัญอีกแห่งที่ควรศึกษาพิจารณาอย่างละเอียด เพราะพื้นที่นั้นต่อเนื่องกับแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อันเป็นชุมชนในช่วงก่อนยุคเหล็กกลุ่มใหญ่ที่สำคัญและมีอัตลักษณ์พิเศษเรื่องภาชนะดินเผาแบบสามขาและภาชนะแบบมีนม ซึ่งน่าจะใช้สำหรับการฝังศพครั้งที่สองซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ (ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน) จากแถบหนองราชวัตรก็อาจติดต่อหรือมีความเกี่ยวเนื่องกับแหล่งโบราณคดีในยุคก่อนยุคเหล็กแถบลำน้ำสีบัวทอง ในจังหวัดอ่างทอง

 

หน้าที่ 5/17

๒. ตะกั่วและเหมืองสำคัญที่ทองผาภูมิ

แร่ตะกั่วเป็นส่วนผสมของการผลิตโลหะผสมโดยเฉพาะสำริด โดยใช้ในปริมาณสัดส่วนที่น้อยกว่าดีบุก แหล่งแร่ตะกั่วในเขตเทือกเขาตะนาวศรีนั้นมีเพียงแหล่งเทือกเขาในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีที่อยู่ในระหว่างลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่เท่านั้น แนวเทือกเขาหินปูนนี้เริ่มตั้งแต่บ้านเก่าไปถึงเกริงกระเวียและสังขละบุรี นอกจากนั้นพบเล็กน้อยในแถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน แพร่ เพชรบูรณ์ เลย เพชรบุรี และยะลา 

ส่วนทางฝั่งทวายไม่พบรายงานว่ามีแหล่งแร่ ในเขตสหภาพเมียนมาพบแหล่งแร่ตะกั่วในบริเวณรัฐฉานทางตอนเหนือของประเทศเท่านั้น ไม่พบการทำเหมืองตะกั่วในเขตคาบสมุทรสยาม-มลายูในยุคสุวรรณภูมิ จนกระทั่งพบร่องรอยของเหมืองตะกั่วเก่าในเขตอำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุงในเทือกเขาบรรทัดที่ข้ามผ่านระหว่างจังหวัดตรังและพัทลุง และน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเศรษฐกิจในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๘ จากโบราณวัตถุที่พบในพื้นที่ใกล้เคียงคือชิ้นส่วนของสถูปจำลองและตำนานเรื่องนางเลือดขาวในเส้นทางตรังและพัทลุง

แหล่งแร่ตะกั่วในบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ในทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ พบตะกรันหรือ slag ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือของแร่ที่ถูกถลุงแร่เงินออกไปแล้ว จากการค้นพบตะกรันนี้เอง ทำให้มีการสำรวจกันมาก โดยในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ นักสำรวจชาวเยอรมันได้ค้นพบแหล่งแร่บ่อใหญ่ (หนองไผ่) ต่อมาเกิดสงครามโลกจึงหยุดชะงักไปหลายครั้งจนราว พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นต้นมาก็เริ่มดำเนินการต่อเนื่องโดยบริษัทใหญ่และร่วมกับชาวเยอรมัน  

ที่ ‘เหมืองสองท่อ’ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ มีการขุดหาตะกรันหรือ slag แร่ตะกั่วซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายมากมาย น่าจะเป็นสิ่งที่เหลือจากการถลุงตะกั่วในสมัยโบราณ ซึ่งในตะกรันนี้ยังมีแร่ตะกั่วค้างอยู่อีกประมาณ ๔๐-๕๐% จากข้อมูลเบื้องต้นของเอกสารการทำเหมืองแร่ตะกั่ว จากหลักฐานการศึกษาค่าไอโซโทปของธาตุคาร์บอน ๑๔ จากไม้ไผ่ที่ใช้ในการทำแร่จากอุโมงค์โบราณพบว่ามีอายุมากกว่าหนึ่งพันปีมาแล้วถึงหลายร้อยปี และยังพบตะกั่วรูปกรวย หรือที่เรียกว่า ‘ตะกั่วนม’ และหากค่าอายุที่มากกว่าหนึ่งพันปีขึ้นไปก็แสดงว่าพ้องกับก้อนตะกั่วที่เป็นสินค้าส่งออกพบในเรือสินค้าซึ่งจมในทะเลหลายแห่งตั้งแต่ยุคสมัยศรีวิชัยจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา


 


ก้อนตะกั่ว (ซ้าย) ก้อนตะกั่วนม (ขวา) พบในบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี 
ปัจจุบันจัดแสดงเป็นนิทรรศการ ที่เจดีย์ยุทธหัตถี อำเภอพนมทวน จังหวัดหาญจนบุรี

 

แต่ข้อมูลจากอีกแหล่งที่ยืนยันว่าเหมืองสองท่อน่าจะมีอายุเก่ากว่าพันปีไปจนเกือบสองพันปี คือหลักฐานจาก ‘ภูมิเสนย’ [Phum Snay] แหล่งฝังศพขนาดใหญ่ในยุคเหล็กตอนปลายใกล้กับเมืองศรีโสภณ อยู่ในจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีการศึกษาค่า ‘ไอโซโทปเสถียร’ ของตะกั่วที่บ่งบอกว่ามาจากแหล่งใดได้ค่อนข้างแม่นยำ 

การศึกษาแหล่งโบราณคดีที่ภูมิเสนย ซึ่งให้ค่าอายุโดยเฉลี่ยจากการเปรียบเทียบวัตถุทางวัฒนธรรมจากหลุมฝังศพไว้ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑-๖ หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๖-๑๑ ซึ่งยังคงพบหลักฐานร่องรอยของเศษภาชนะแบบพิมายดำและเนื้อแกร่งแบบบุรีรัมย์ในการอยู่อาศัยต่อมาด้วย โดยการนำของ Yoshimitsu Hirano นักวิชาการจากญี่ปุ่นนำเสนอว่าพวกเขาตรวจสอบค่าไอโซโทปของตะกั่วพบว่า 

หน้าที่ 6/17

ค่า ‘ไอโซโทปเสถียร’ ที่ค่อนข้างแม่นยำนั้นบ่งชี้ว่ามาจาก เหมืองสองท่อ ในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นค่าไอโซโทปที่ตรงกันในรายละเอียด (Yoshimitsu Hirano, Ji-Hyun Ro. Chemical composition and Lead Isotope ratios of Bronze artifacts excavation in Cambodia and Thailand. Water Civilization: From Yangtze to Khmer Civilizations. Yoshinori Yasuda Editor, 2013)

ดังนั้นการใช้แหล่งแร่ตะกั่วจากทางฝั่งตะวันตกของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาไปสู่ชุมชนใหญ่ที่ใช้โลหะและมีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนกับพื้นที่ห่างไกลทั้งทางทะเลและภายในแผ่นดินในยุคสมัยเวลาที่เทียบได้ในช่วงยุคสุวรรณภูมิตอนปลายไปจนถึงยุคฟูนันและช่วงต้นของยุคสมัยทวารวดีที่ภูมิเสนยนี้ ก็ทำให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุแหล่งใหญ่จากเทือกเขาตะนาวศรีในระหว่างพื้นที่ต้นน้ำแควน้อยและแควใหญ่ ก่อนจะไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลองที่มีบทบาทมาตั้งแต่ยุคเหล็กตอนปลายหรือช่วงสุวรรณภูมิไม่แตกต่างไปจากการเป็นแหล่งแร่ดีบุกเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการว่าบริเวณเหมืองสองท่อเป็นแหล่งทรัพยากรก็คือ การพบแหล่งโบราณคดีที่ ‘ถ้ำองบะ’ ตำบลด่านแม่แฉลบ (14°37′48″N 98°58′48″E) ซึ่งห่างจากแหล่งเหมืองสองท่อมาทางลำน้ำแควใหญ่ราว ๔๐-๕๐ กิโลเมตร บริเวณถ้ำองบะอยู่ในตำแหน่งทางออกหรือปัจจุบันเรียกว่าบ้านปากเหมือง

มีรายงานการค้นพบโบราณวัตถุที่มีความสำคัญ เช่น โลงศพไม้ กลองมโหระทึกสำริด ภาชนะดินเผา กำไลหิน กำไลสำริด จักรหิน เครื่องมือหินกะเทาะ ลูกปัดหิน เครืองมือเหล็ก แหวนเงิน ห่วงเงิน เเละโครงกระดูกมนุษย์ แม้จะมีอายุการอยู่อาศัยเก่ากว่ายุคเหล็กตอนปลายถึงหมื่นปี แต่มีการพบมโหระทึกสำริดภายในถ้ำอย่างน้อย ๕ ใบ และอาจนำมาจากโดยรอบหรือในบริเวณเดียวกันอีกกว่า ๕ ใบ ถือว่าเป็นแหล่งที่พบมโหระทึกเพื่อใช้ในพิธีกรรมที่มีการนำเข้ามากไม่แพ้ทางแถบคาบสมุทรคอคอดกระเช่นกัน

อนึ่ง การศึกษา ‘ไอโซโทปเสถียร’ ล่าสุดซึ่งสามารถแยกแยะตะกั่วจากแหล่งที่มาต่างๆ ด้วยอัตลักษณ์ระดับอะตอมของตะกั่ว จากกรณีการศึกษาการปนเปื้อนของแร่ตะกั่วจากการทำเหมืองที่ห้วยคลิตี้ มีข้อค้นพบสำคัญ จากการศึกษาการใช้อัตลักษณ์ของสัดส่วนไอโซโทปเสถียรของตะกั่ว 206Pb/ 207Pb และ 208Pb/207Pb ร่วมกับไอโซโทปรังสี 210Pb พบว่า 

 

 

ตะกั่วความเข้มข้นสูง มาจากหางแร่ตลอดลำห้วย อายุของตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่วไม่ถึงปี แสดงว่าเป็นตะกั่วที่เพิ่งรั่วไหลออกมาจากแหล่งกำเนิดปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่ตะกั่วจากการลักลอบปล่อยเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว (วิจัย ‘ไอโซโทปเสถียร’ เผยความจริงตะกั่วคลิตี้ ที่อาจต้องรื้อวิธีฟื้นฟูทั้งระบบ, https://greennews.agency/?p=23670)

ความเป็นพิษของตะกั่วเป็นที่รู้จักในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แล้วเพราะเป็นสารพิษต่อระบบประสาทที่สะสมตัวอยู่ในเนื้อเยื่ออ่อนและกระดูก ก่อให้เกิดโรคทางประสาท ตั้งแต่ปัญหาทางพฤติกรรมจนถึงสมองบาดเจ็บและยังส่งผลถึงสุขภาพทั่วไป ระบบหัวใจหลอดเลือดและระบบไต

 


ชิ้นส่วนมโหระทึกพบที่ถ้ำองบะ
ภาพจากนิทรรศการในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า

 

หน้าที่ 7/17

ชุมชนยุคสุวรรณภูมิที่ริมน้ำแควน้อย ปราสาทเมืองสิงห์และข้อสันนิษฐานเครือข่ายเส้นทางติดต่อข้ามภูมิภาค

มีการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณริมแม่น้ำแควน้อยนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ การฝังศพพบในระดับความลึกประมาณ ๑.๕ เมตรจากผิวดินจำนวน ๔ โครง สภาพไม่สมบูรณ์ เนื่องจากถูกรบกวนจากสัตว์ในดินและอื่นๆ สิ่งของที่พบร่วมกับโครงกระดูกมีจำนวนมากทั้งภาชนะสำริด เครื่องประดับต่างๆ เช่น กำไลสำริด กำไลเปลือกหอย ลูกปัดหินอะเกตและคาร์นีเลียน ลูกปัดแก้ว เครื่องมือเหล็ก แวดินเผา ขวานสำริด ภาชนะดินเผา ๘ ใบ โดยวางเรียงต่อกันเป็นแนวทางด้านปลายเท้า ๗ ใบ และทัพพีสำริดใส่ไว้ในภาชนะดินเผาที่อยู่ปลายเท้า
 


บริเวณฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงยุคเหล็กตอนปลายหรือสุวรรณภูมิ
บริเวณริ่มตลิ่งของริมแม่น้ำแควน้อย 
ที่อยู่บนโค้งแม่น้ำ 


บริเวณฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงยุคเหล็กตอนปลายหรือสุวรรณภูมิ
บริเวณริ่มตลิ่งของริมแม่น้ำแควน้อย ที่อยู่บนโค้งแม่น้ำ 


ซึ่งโบราณวัตถุหลายชิ้น รวมทั้งรูปแบบพิธีกรรมการฝังศพ เห็นได้ชัดว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับแหล่งชุมชนที่ ‘บ้านดอนตาเพชร’ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ที่อยู่ห่างจากเมืองโบราณอู่ทองราว ๓๐ กิโลเมตร อายุจากการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีและโบราณวัตถุที่ดอนตาเพชรนั้นอยู่ที่ประมาณ ๒,๓๐๐-๑,๗๐๐ ปีมาแล้วหรือราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๘

โบราณวัตถุชี้ชัดถึงการอยู่ในเส้นทางติดต่อกับชุมชนภายนอกจากอินเดียสมัยราชวงศ์โมริยะ-ศุงคะที่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๕ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย การพบต่างหูแบบลิง-ลิง-โอ ในวัฒนธรรมซาหวิ่น 

หน้าที่ 8/17

ด้ามทัพพีสำริดรูปนกยูงที่บ้านดอนตาเพชรนี้ยังพบที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว ในจังหวัดชุมพร ซึ่งก็คล้ายกับรูปแบบทัพพีสำริดพบที่ริมน้ำแควน้อยนี้เช่นกัน การเดินทางติดต่อมายังเส้นทางเศรษฐกิจในสมัยยุคเหล็กตอนปลายหรือในปัจจุบันเริ่มเรียกขานกันว่า ‘ยุคสุวรรณภูมิ’ มีการศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรบริเวณคอคอดกระจากหลักฐานทางโบราณคดีและการขุดค้นต่างๆ ของทั้งนักวิชาการและนักสะสม

จนทางมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ มีความเห็นทางวิชาการว่าทั้งอาณาบริเวณคาบสมุทรไทยช่วงที่เรียกว่า คอคอดกระ’ [Kra Isthmus] เส้นทางติดต่อของอารยธรรมโบราณที่เข้ามาพร้อมกับพ่อค้า- นักเดินทางระยะไกลนำร่องรอยความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือที่ชาวอนุทวีปรู้จักกันในนามดินแดน ‘สุวรรณภูมิ’ และกลายเป็นจุดเชื่อมต่ออารยธรรมสู่ชายฝั่งจีนตอนใต้ในห้วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ ๒-๗ ถือว่ามีกิจกรรมการผลิตและขนส่งสินค้าร่วมกับผู้คนหลากหลายทั้งจากทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ตั้งแต่แนวละติจูดบริเวณต้นน้ำกระบุรีในจังหวัดชุมพร ไปจนถึงแนวอ่าวบ้านดอนตอนต้นของอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและปลายสุดของพื้นที่จังหวัดระนองในอำเภอสุขสำราญทางฝั่งอันดามัน
 


ช้อนหรือทัพพี ทำจากสำริด คล้ายกับสิ่งของอุทิศให้ศพที่ 'บ้านดอนตาเพชร'
อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี จากนิทรรศการบริเวณหลุมฝังศพ
ของอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี

 

ช่วงเวลานี้บริเวณคอคอดกระถือเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจสำคัญในการนำเอาแร่ธาตุทั้งดีบุก ตะกั่ว และทองคำ และอื่นๆ จากบริเวณคาบสมุทรรวมทั้งการเป็นแหล่งผลิตลูกปัดและเครื่องประดับที่ทำจากหินกึ่งอัญมณีจากบริเวณนี้รวมทั้งการทำลูกปัดจากแก้วนำไปแลกเปลี่ยนค้าขายกับทั้งที่เป็นเมืองท่าค้าขายชายฝั่งอินเดียและทางจีนตอนใต้และบ้านเมืองรายทาง (สามารถอ่านรายละเอียดได้จากงานศึกษาของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ‘ข้ามคาบสมุทรในห้วงแห่งสุวรรณภูมิ’, ๒๕๖๖)
 


ลูกปัดอาเกตที่พบได้จากชุมชนในยุคเหล็กตอนปลายหรือยุคสุวรรณภูมิ
ที่น่าจะมีความสัมพันธ์กับแหล่งนำเข้าและแหล่งผลิตทางแถบคาบสมุทรที่คอคอดกระ
จากนิทรรศการบริเวณหลุมฝังศพของอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี
 
หน้าที่ 9/17

ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเส้นทางและชุมชนเนื่องในการแลกเปลี่ยนควบคุมแร่ตะกั่ว สังกะสี และเงิน ในยุคสุวรรณภูมิและยุคลพบุรี-อู่ทอง

ข้อสันนิษฐานเส้นทางชุมชนที่อยู่ในกิจกรรมเนื่องในการทำเหมืองแร่โดยเฉพาะจากแร่ตะกั่วในยุคเริ่มแรก (มากกว่าหนึ่งพันปีขึ้นช่วงราวยุคสุวรรณภูมิ/ยุคลพบุรี/อู่ทอง-สุพรรณภูมิ) เปรียบเทียบจากการทำเหมืองแร่ตะกั่วราว พ.ศ. ๒๔๙๒ ลงมา ยังอยู่ในระยะเป็นข้อเสนอเพื่อตรวจสอบสมมติฐานเบื้องต้นและความน่าจะเป็นในเส้นทางติดต่อต่างๆ โดยแบ่งตามยุคสมัยโดยคร่าวๆ ออกเป็นสองช่วงดังนี้

๑. ยุคเหล็กตอนปลายหรือยุคสุวรรณภูมิ-ฟูนัน-ทวารวดี

๑. เหมืองทองผาภูมิ - แควน้อย - ลำน้ำภาชี - จอมบึง - สวนผึ้ง (เหมืองดีบุก) - ปากท่อ - คูบัว - โคกพริก ออกสู่อ่าวไทย (ยุคสุวรรณภูมิ-ฟูนัน)
๒. เหมืองทองผาภูมิ - แควน้อย - แม่น้ำแม่กลอง - เมืองคูบัว - ถนนท้าวอู่ทอง - เมืองท่าที่เขาเจ้าลาย ชะอำ ออกสู่อ่าวไทย (ยุคทวารวดี)
๓. เหมืองทองผาภูมิ - ลำห้วยขมิ้น - แควใหญ่ - ดอนตาเพชร - อู่ทอง - คลองท่าว้า - คลองขวาก (สามชุก) - คลองสีบัวทอง (อ่างทอง)

อนึ่ง การค้นพบในเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ เมื่อได้รับอนุญาตให้ทำทะเบียนบันทึกภาพจากการทำงานและการสะสมข้อมูลของ ‘คุณมนัส โอภากุล’ ผู้ล่วงลับ ซึ่งมีการบันทึกภาพและข้อมูลอย่างเป็นระบบและละเอียดมาก จนทำให้พบว่าบริเวณ ‘วัดสวนแตงริมลำน้ำท่าว้า’ ห่างจากวัดภูเขาดินลงมาทางใต้ราว ๖ กิโลเมตร พบโบราณวัตถุหน้าโรงเรียนวัดสวนแตงในปัจจุบันหลายชิ้นที่อยู่ในสมัยสุวรรณภูมิ คือ แหวนทองแกะเป็นรูปตรีรัตนะและเครื่องทองที่มีอิทธิพลการทำแบบแปะเม็ดทองขนาดเล็กๆ ซึ่งเป็นวิธีการทำเครื่องอิทธิพลเปอร์เซียโบราณและพบการผลิตมากแถบคอคอดกระทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ทำให้เห็นเส้นทางการคมนาคมในยุคสุวรรณภูมิจนถึงยุคสุพรรณภูมิ/อโยธยา ที่ลำน้ำท่าว้าคือเส้นทางสำคัญ (ขอบพระคุณครอบครัวโอภากุลและคุณยืนยง โอภากุล ที่อนุญาตให้ ‘มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์’ เผยแพร่และสนับสนุนการจัดทำระบบทะเบียนและการบันทึกภาพถ่าย)

         ๔. เหมืองทองผาภูมิ - ลำห้วยขมิ้น - แควใหญ่ - ข้ามเขาสู่ลำตะเพิน - บ้านตะเพินคี่ - บ้านพุน้ำร้อน (ด่านช้าง) - คลองบางขวาก (สามชุก) - คลองสีบัวทอง (อ่างทอง) หรือตัดสู่เส้นทางสู่อีสานในเขตที่ราบลอนลูกคลื่น ลพบุรี-ป่าสัก


แผนที่เก่ารัชกาลที่ ๖ แสดงบริเวณหน้าวัดสวนแตง ริมน้ำท่าว้า
ใกล้กับจุดที่พบโบราณวัตถุ คือ แหวนและเครื่องประดับทองคำ

หน้าที่ 10/17


แหวนทองคำที่มีรูปสัญลักษณ์ ตรีรัตนะ ภาพโดย มนัส โอภากุล พ.ศ. ๒๕๒๐
พบบริเวณหน้าโรงเรียนวัดสวนแตง จากหอจดหมายเหตุมนัส โอภากุล


แยก ‘คลองบางขวาก’ ลำน้ำสุพรรณบุรี ก่อนถึงตลาดสามชุกราว ๑๐ กิโลเมตร ก่อนถึงแพรกน้ำบริเวณริมตลิ่งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือแม่น้ำท่าจีนราว ๑๐๐ เมตร มีการฝังศพของชุมชนมนุษย์ในยุคเหล็กตอนปลายหรือยุคสุวรรณภูมิ พบโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งใน พ.ศ. ๒๕๒๔ และมีการขุดหาสิ่งของไปพอสมควรและยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้น่าจะอีกหลายส่วน เพราะอยู่ในพื้นที่ดูแลของบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาล สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ

โบราณวัตถุเท่าที่พบในพิพิธภัณฑ์วัดบางขวากเป็นพวกลูกปัดขนาดใหญ่เล็กทำจากหินคาร์นีเลียนและอาเกตรูปทรงกลมและรูปทุ่น คุณภาพดีมาก ลูกปัดแก้ว เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน แวดินเผา กำไลสำริด และภาชนะดินเผาทำเป็นเบ้าหลอมโลหะรวมทั้งตะคันปากจีบขนาดย่อมๆ ซึ่งรูปแบบโบราณวัตถุที่พบเกี่ยวเนื่องในยุคสมัยสุวรรณภูมิที่น่าจะมีความสัมพันธ์กับแหล่งผลิตลูกปัดที่คอคอดกระรวมทั้งเห็นร่องรอยของกระบวนการหลอมโลหะบางอย่างในพื้นที่นี้

 

นอกจากนี้ หากเดินทางไปตามลำน้ำบางขวาก ยังสามารถติดต่อไปถึงคลองสีบัวทอง บริเวณที่พบโบราณวัตถุในสมัยก่อนยุคเหล็กเป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ในที่ราบลุ่มใกล้ลำน้ำสีบัวทอง บ้านสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง และห่างจากจุดนี้มาตามลำน้ำสีบัวทองในอำเภอวิเศษไชยชาญก็มีรายงานว่าพบลูกปัดแบบสุวรรณภูมิจำนวนหนึ่งโดยไม่แน่ใจว่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหรือมีการฝังศพอย่างไร ร่องรอยที่นี่ก็น่าจะใช้ต่อเนื่องยาวนาน เพราะยังคงอยู่ในเส้นทางติดต่อจากสุพรรณภูมิที่มีเส้นทางน้ำเก่าคลองท่าว้าซึ่งเป็นเส้นเดียวกับคลองท่าข่อยหรือท่าคอยไปทางทิศตะวันตกราว ๑.๕ กิโลเมตร และห่างจาก ‘โบราณสถานเนินทางพระ’ ที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำท่าข่อยหรือท่าคอยรวมแล้วราว ๗ กิโลเมตร บริเวณแพรกคลองขวากและย่านยาวของลำน้ำสุพรรณบุรีและท่าว้า/ท่าคอย จึงเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมมาตั้งแต่อาจจะก่อนหน้ายุคสุวรรณภูมิจนถึงยุคลพบุรีและอู่ทองจนถึงกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ เนื่องจากสามารถเดินทางไปสู่ชุมชนต่างๆ ในหลากหลายทิศทางนั่นเอง
 


ลูกปัดทั้งหินกึ่งมีค่า และลูกปัดแก้ว  เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดบางขวาก
โดยได้รับบริจาคมาจากโรงงานน้ำตาล สุพรรณบุรี 
หน้าที่ 11/17

๒. ยุคลพบุรี-ยุคอู่ทอง/สุพรรณภูมิ-ยุคอยุธยา/กรุงเทพฯ

๑. เหมืองทองผาภูมิ - ลำน้ำแควน้อย -  ปราสาทเมืองสิงห์ - เมืองกลอนโด - แม่น้ำแม่กลอง - พงตึกและสระโกสินารายณ์ - เมืองนครปฐมโบราณ - เมืองราชบุรี (แม่น้ำอ้อม/แม่น้ำแม่กลอง) ออกสู่อ่าวไทย

‘เมืองกลอนโด’ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย เป็นเมืองที่ใช้ลำน้ำเก่าเป็นคูเมืองด้านหนึ่งและสร้างแนวกำแพงดินรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กราว ๒๐๐ x ๒๐๐ เมตร รายการการขุดค้นสรุปว่า พบเครื่องถ้วยแบบชิงไป๋ในราชวงศ์ซ่งใต้ และเครื่องเคลือบจากแหล่งเตาบุรีรัมย์ ก้อนดินเผาที่มีการกดประทับของไม้และตะกรันโลหะที่ยังไม่ได้วิเคราะห์ว่าเป็นโลหะใด อายุจากเครื่องถ้วยคงอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙

ลงมาตามลำน้ำแม่กลองจะพบ ‘บ้านพงตึก’ ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองในอำเภอท่าม่วง ไม่ปรากฏร่องรอยคูน้ำคันดิน แต่พบซากอาคารที่ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชนใหญ่มาก่อน มีการขุดพบตะเกียงโรมันสำริดสมัยพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ พระพุทธรูปศิลปะแบบอมราวดีสมัยพุทธศตวรรษที่ ๗ และพระพุทธรูปสมัยทวารวดีอีกหลายองค์ ชุมชนแห่งนี้ควรมีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดีขึ้นไป
 


ภาพถ่ายทางอากาศเมืองกลอนโด น่าจะเป็นเมืองด่านของเมืองสิงห์ 

ถัดจากบ้านพงตึกลงมาตามลำน้ำแม่กลองประมาณ ๖ กิโลเมตร ฝั่งตรงข้ามทางตะวันออก พบเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมขนาด ๘๐๐ x ๘๐๐ เมตร เมืองนี้มีสระน้ำขนาดใหญ่ราว ๔๐๐ x ๒๐๐ เมตรอยู่ทางเหนือ ชาวบ้านถือว่าเป็นสระศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าอู่ทองเรียกว่า ‘สระโกสินารายณ์’ และจึงเรียกว่า ‘เมืองโกสินารายณ์’ ภายในเมืองมีโคกเนินที่เป็นโบราณสถาน ที่อยู่อาศัย และสระน้ำหลายแห่ง

จากลักษณะของโบราณสถาน ผังเมืองและโบราณวัตถุ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา เทวรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางเปล่งรัศมี แสดงให้เห็นว่าเมืองโกสินารายณ์นี้มีอายุในสมัยลพบุรี มีศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิฝ่ายมหายานเช่นเดียวกับพบที่ปราสาทเมืองสิงห์ ลวดลายปูนปั้นประดับเป็นแบบทวารวดีตอนปลายและแบบลพบุรีผสมกัน ปัจจุบันศาสนสถานเหล่านี้ถูกขุดทำลายหมดสิ้นแล้ว 
 


ผังเมืองโกสินารายณ์ ริมลำน้ำแม่กลอง
หน้าที่ 12/17

‘เมืองราชบุรี’ ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำแม่กลองด้านตะวันตก น่าจะสืบเนื่องมาจาก ‘เมืองคูบัว’ ที่อยู่บริเวณแม่น้ำอ้อม ซึ่งเป็นลำน้ำเก่าของแม่น้ำแม่กลองอันเป็นเมืองในสมัยทวารวดี เมืองราชบุรีเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๕๕๐ x ๒,๑๐๐ เมตร และเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน ดูว่าจะเป็นเมืองท่าค้าขายในยุคราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา

เมืองราชบุรีเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีโบราณสถานสำคัญภายในเมืองหลายแห่งที่มีอายุตั้งแต่สมัยลพบุรีลงมาจนถึงอยุธยาและกรุงเทพฯ ศาสนสถานสมัยลพบุรีได้แก่ ‘พระปรางค์วัดมหาธาตุ’ กำแพงศิลาแลงรอบวัดมหาธาตุซึ่งมีพระพุทธรูปสลักบนใบเสมาของกำแพงได้รับอิทธิพลศิลปะแบบบายนของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และวัดมหาธาตุนี้น่าจะทำขึ้นใหม่สืบเนื่องจากศาสนสถานแบบปราสาทซึ่งอาจมีรูปแบบเช่นเดียวกับวัดกำแพงแลง เพชรบุรีในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงถูกนำมากล่าวอ้างบ่อยๆ ว่า เป็นหลักฐานที่แสดงว่า เมืองราชบุรีนี้คือ ‘เมืองชัยราชปุระ’ ที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์ ว่าเป็นเมืองขึ้นของกัมพูชา หากพระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุ เมืองราชบุรี ดูเป็นศิลปะแบบลพบุรีเช่นเดียวกับปรางค์วัดมหาธาตุ เมืองลพบุรี

นอกจากนี้ ยังพบพระพุทธรูปที่เป็นของในสมัยทวารวดีและลพบุรีเป็นจำนวนมาก มีพระเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมอันเป็นศิลปแบบอู่ทองและเสมาหินทรายแดงในสมัยลพบุรีและอู่ทอง 

๒. เหมืองทองผาภูมิ - ลำน้ำแควน้อย - ปราสาทเมืองสิงห์  - เมืองครุฑ - ลำน้ำแควใหญ่ - บ้านลาดหญ้า (เมืองกาญจน์เก่า) - อู่ทอง (เทือกเขาพระ, เขาดีสลัก, เขาวง, เขาสำเภาจอด) - หนองแจง - เนินทางพระ (สามชุก) - แม่น้ำน้อย - แม่น้ำเจ้าพระยา - กลุ่มเมืองทวารวดี เช่น กลุ่มเมืองอู่ตะเภา สู่ดงแม่นางเมืองและเมืองในลุ่มน้ำปิง หรือแยกเข้าลุ่มน้ำน่านตัดออกสู่อีสาน ฯลฯ

‘เมืองครุฑ’ ตั้งอยู่ถัดจากเมืองสิงห์ไปทางตะวันออกอยู่ในพื้นที่ระหว่างเขาห่างจากลำน้ำแควน้อยประมาณ ๕ กิโลเมตร เป็นเมืองโบราณขนาดเล็กที่ใหญ่กว่าเมืองกลอนโดไม่มากนัก มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบขนาด ๓๐๐ x ๕๐๐ เมตร  รูปสี่เหลี่ยม และพบร่องรอยของศาสนสถานและครุฑทำจากหินทรายขนาดใหญ่ที่น่าจะสัมพันธ์กับอิทธิพลทางพุทธศาสนาแบบเดียวกับปราสาทเมืองสิงห์ ปัจจุบันนำไปจัดแสดงไว้ที่อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์มีรายงานว่าพบพระทำจากตะกั่วและเนื้อชินและเครื่องถ้วยแบบราชวงศ์ซ่งใต้ที่เมืองครุฑนี้ด้วย

ทางริมน้ำแควใหญ่หรือแควศรีสวัสดิ์ พบชุมชนโบราณมีอายุเพียงปลายสมัยลพบุรีลงมาจนถึงสมัยอยุธยาที่ ‘บ้านท่าเสา’ และ ‘บ้านลาดหญ้า’ บ้านท่าเสาตั้งอยู่บนฝั่งด้านเหนือของลำน้ำแควใหญ่ มีซากวัดโบราณเช่น ‘วัดขุนแผนและวัดนางพิมพ์’ ที่พระเจดีย์เก่าในเขตวัดนี้เคยมีผู้ขุดพบพระเครื่องแบบลพบุรีตอนปลาย ส่วนที่บ้านลาดหญ้าซึ่งอยู่ต่ำลงประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร เคยเป็นที่ตั้งของ ‘เมืองกาญจนบุรีเก่า’ ในสมัยอยุธยา 



ครุฑ แกะสลักจากหินทราย พบที่เมืองครุฑ อยู่ในเชิงเขาในพื้นที่เดินทางบก
ระหว่างเขาไม่ไกลจากปราสาทเมืองสิงห์นัก 

หน้าที่ 13/17


แนวโบราณสถานที่เนินทางพระในปัจจุบัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
ประเมินจากแนวที่กันไว้ขนาด ๑๐๐ x ๑๐๐ เมตร 


ปูนปั้นรูปเศียรเทวดา พบที่เนินทางพระ มีอิทธิพลคล้ายศิลปะแบบพุกาม

พระปรางค์ที่วัดขุนแผน พระมหาธาตุเมืองกาญจนบุรีเก่า บ้านท่าเสา
คล้ายกับพระมหาธาตุสวนแตงที่บ้านศาลาขาว ริมน้ำท่าว้า จังหวัดสุพรรณบุรี


แนวป้อมที่เมืองกาญจนบุรีเก่า ริมลำตะเพิน อำเภอเมืองกาญจนบุรี
หน้าที่ 14/17

๓. เหมืองทองผาภูมิ -  ลำห้วยขมิ้น - แควใหญ่ - ท่ากระดาน - ห้วยแม่ละมุ่น - ห้วยแม่กระพร้อย - เข้าสู่แนวเขากำแพง, เขาดีสลัก, เขาวง, เขากุฎิที่อู่ทอง - เลาขวัญ - หนองแจง (ซึ่งมีโบราณวัตถุเก่าถึงในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ และเรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ) - แนวคลองท่าว้า - เนินทางพระ -บางขวาก - ลำน้ำสีบัวทอง - เมืองคูเมือง (๓ แห่ง) - เมืองสิงห์บุรีที่วัดพระนอนจักรสีห์ - ละโว้

หรือจากเขาวงและเขากุฎิมาที่ดอนคา - พระธาตุสวนแตง/สระศักดิ์สิทธิ์ท่าว้า - ลัดสู่สุพรรณภูมิ - แม่น้ำสุพรรณบุรี - แม่น้ำน้อย - เมืองคูเมือง (๓ แห่ง) - เมืองสิงห์บุรีที่วัดพระนอนจักรสีห์ - ละโว้, 

อีกเส้นทางจากสุพรรณภูมิแยกเข้าสู่ - คลองขุดบางยี่หน - สู่อโยธยา/อยุธยาในฐานะเมืองศูนย์กลางราชอาณาจักรและเมืองท่าขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา
 


เศษภาชนะดินเผาอายุในช่วงราชวงศ์ซ่งเหนือ จากบ้านหนองแจง อำเภอดอนเจดีย์
จังหวัดสุพรรณบุรี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งคุณมนัส โอภากุล เขียนบทความ
แสดงข้อมูลชัดเจน เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์โรงเรียนวัดหนองแจง 


เหรียญอีแปะ จากบ้านหนองแจง อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งคุณมนัส โอภากุล เขียนบทความแสดงข้อมูลชัดเจน
เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์โรงเรียนวัดหนองแจง 

หน้าที่ 15/17

ข้อสรุป

ต้นน้ำแม่กลองเป็นแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุที่หายาก โดยเฉพาะแร่ตะกั่ว ซึ่งมีผลพลอยได้คือแร่เงินด้วย และมีร่องรอยของการทำเหมืองโบราณที่อาจใช้สืบเนื่องมานานนับพันจนถึงสองพันปี การทำเหมืองโบราณยุคปัจจุบันในระยะแรกๆ ถูกบันทึกว่า นำเอาก้อนตะกั่วนมและ Slag ที่เหลือจากการถลุงที่มีอยู่เกลื่อนกลาด นำมาใช้ถลุงซ้ำใหม่และได้เนื้อตะกั่วถึง ๔๐ เปอร์เซนต์ 

การทำเหมืองตะกั่วที่นี่น่าจะเกิดขึ้นสองระยะสำคัญ คือในยุคสุวรรณภูมิหรือยุคเหล็กตอนปลายในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ โดยประมาณต่อเนื่องกับทวารวดี 

และการทำเหมืองตะกั่วและดีบุกในเขตที่สูงของต้นน้ำแม่กลองนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการใช้ทรัพยากรพื้นฐานในการส่งเป็นสินค้าออกสำคัญในยุคต่อเนื่องกับยุคลพบุรีตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เรื่อยมาจนกำเนิดบ้านเมืองใหม่ๆ ที่เป็นพื้นฐานของสยามประเทศเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา

โดยมีการสร้างเมืองใหญ่รองรับที่ริมน้ำแควน้อยคือเมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ เป็น     ศาสนสถานสำคัญ มีเส้นทางเดินทางผ่านทางลำน้ำแควน้อยและแม่น้ำแม่กลอง ส่วนเส้นทางสำคัญมากอีกเส้นทางหนึ่งคือการเดินทางเข้าสู่แนวเทือกเขาของเขตเมืองอู่ทองเดิมในสมัยทวารวดี และมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องดังพบศาสนสถานสำคัญบนยอดเขาและการบูชารอยพระพุทธบาทจำลองรวมทั้งการบรรจุพระพิมพ์ การบูชาโดยเขียนสัญลักษณ์ธรรมจักรลงบนผนังถ้ำในเขตเทือกเขาหลายแห่งต่อเนื่องกับเขตเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองอู่ทองเก่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตามคติเดิมในช่วงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ มาแล้วและปรากฏแบบแผนในเส้นทางข้ามคาบสมุทรสยามตอนล่างด้วย

แล้วใช้เส้นทางน้ำโบราณคือลำน้ำท่าว้าตั้งถิ่นฐานและเดินทางติดต่อ โดยมีการลัดเข้าสู่บ้านเมืองแห่งใหม่ในยุคสุพรรณภูมิที่เกิดขึ้นสองฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือแม่น้ำท่าจีนเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งในช่วงก่อนหน้านั้น มีการสร้างเตาเผาภาชนะเนื้อแกร่งที่บ้านบางปูน เหนือจากตัวเมืองสุพรรรภูมิขึ้นมาตามลำน้ำสุพรรณบุรีราว ๒ กิโลเมตร พบเครื่องถ้วยในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ในการขุดค้นและภาชนะจากเตาบางปูนที่อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ซึ่งเป็นช่วงที่เรียกว่าสุพรรณภูมิ/อโยธยาและศิลปกรรมที่ถูกเรียกว่าแบบอู่ทอง 


แผนที่แสดงที่ตั้งของเหมืองตะกั่วและบริเวณที่ตั้งสำคัญต่างๆ ในช่วงยุคสุวรรณภูมิ
หรือยุคเหล็กตอนปลายมาจนถึงสมัลลพบุรี-อู่ทอง/สุพรรรภูมิ
หน้าที่ 16/17

ซึ่งมีการสร้างปราสาทเมืองสิงห์ เมืองโกสินาราย์ เนินทางพระ อาคารดั้งเดิมที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี และวัดกำแพงแลง เพชรบุรีที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมความเชื่อจากเขมรยุคบายนในกัมพูชาเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ 

การสืบเนื่องของชุมชนโบราณที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของสยามประเทศ ในตอนต้นน้ำคือในเขตลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่ ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ซึ่งมีชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์แต่ยุคโลหะขึ้นไปกระจัดกระจาย และเป็นบริเวณที่เส้นทางคมนาคมติดต่อหลากหลายทั้งเมืองมอญและเมืองทวายในประเทศพม่า ดินแดนลุ่มเจ้าพระยา เห็นร่องรอยของการเชื่อมต่อกับบ้านเมืองไปจนถึงกลุ่มเมืองเหนือของแคว้นสุโขทัย บ้านเมืองทางเชิงเขาพนมดงรักในเครือข่ายเครื่องถ้วยแบบบุรีรัมย์ กลุ่มละโว้/อโยธยา กลุ่มสยามที่ลงไปถึงคาบสมุทรของตามพรลิงค์ จากเส้นทางทรัพยากรแร่ธาตุดังที่กล่าวมานี้เป็นสำคัญ

และช่วงเวลาที่สืบเนื่องวัฒนธรรมของบ้านเมืองอันเก่าแก่นี้ทำให้เกิดบ้านเมืองในยุคต่อไปที่กรุงศรีอยุธยา  ซึ่งมีการรวบอำนาจทางการเมืองกระชับขึ้นจนกลายเป็นสยามประเทศในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐

 

 

 

 

 


 

 

คำสำคัญ : ตะกั่ว,ดีบุก,ทรัพยากร,แร่โบราณ,สุวรรณภูมิ,เทือกเขาตะนาวศรี

บรรณานุกรม

ศรีศักร วัลลิโภดม. ตามสองฝั่งน้ำแม่กลองก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๐. เมืองโบราณ ปีที่ ๔, ฉบับที่ ๑ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๒๐), หน้า ๗๖-๙๕.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. เหมืองแร่และเครือข่ายการค้ายุคสุวรรณภูมิที่ราชบุรี. เมืองโบราณ

อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์. http://virtualhistoricalpark.finearts.go.th/muangsing/index.php/th/ (๑๑/๑๑/๖๖)

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
อีเมล์: [email protected]
เจ้าหน้าที่วิชาการของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เริ่มทำงานกับมูลนิธิฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ ทำโครงการนำร่องร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่ง ก่อนทำงานศึกษาท้องถิ่นร่วมกับชาวบ้าน และปัจจุบันกลับมาสนใจศึกษางานโบราณคดี
หน้าที่ 17/17