ผู้เข้าชม
0

กว่าจะถึงรุ่งอรุณสุโขทัย โบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์จากพื้นที่การผลิตถลุงเหล็กในหุบเขาถึงยุคทวารวดีบนพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลำพัน

งานวิจัย ‘เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย’ ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม จากการสำรวจศึกษาทางโบราณคดีพบแหล่งชุมชนโบราณถึง ๕๓ แห่ง ในบริเวณจังหวัด ที่เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรสุโขทัย อันได้แก่ จังหวัดสุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์นั้น ทำให้ได้ทราบว่าก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ บริเวณดังกล่าวนี้ มีผู้คนมาตั้งหลักแหล่งอยู่ประปรายและชั่วคราว
3 กันยายน 2567


กว่าจะถึงรุ่งอรุณสุโขทัย โบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์

จากพื้นที่การผลิตถลุงเหล็กในหุบเขาถึงยุคทวารวดีบนพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลำพัน 

 

พรเทพ เฮง 

หน้าที่ 1/10

พิพิธภัณฑ์โบราณคดีชุมชนบ้านวังหาด ตั้งอยู่ในวัดจอมศรีรัตนมงคล 

จังหวัดสุโขทัย ที่มา: ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม

พิพิธภัณฑ์โบราณคดีชุมชนบ้านวังหาด ซึ่งตั้งอยู่ในวัดจอมศรีรัตนมงคล ที่เป็นวัดของชุมชน อาคารหลังเล็กๆ แห่งนี้รวบรวมโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีทั้งเด่นปางห้า และห้วยแม่กองค่าย ตลอดจนบริเวณในชุมชนและละแวกใกล้เคียงที่ชาวบ้านพบ จัดแสดงเพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวและให้ความรู้แก่คนทั่วไป

โบราณวัตถุจากบ้านวังหาดในช่วงยุคเหล็กตอนปลายนี้ แม้จะยังไม่มีการกำหนดอายุที่แน่นอนจากการขุดค้นก็ตาม แต่จากการประเมินอายุพบว่าอยู่ในช่วง ๒,๕๐๐ ปีลงมา โบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่พบจากนักสะสมนอกพื้นที่ในอดีตนั้นอยู่ในช่วงยุคเหล็ก

งานวิจัย ‘เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย’ ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม จากการสำรวจศึกษาทางโบราณคดีพบแหล่งชุมชนโบราณถึง ๕๓ แห่ง ในบริเวณจังหวัดที่เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรสุโขทัย อันได้แก่ จังหวัดสุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์นั้น ทำให้ได้ทราบว่าก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ บริเวณดังกล่าวนี้ มีผู้คนมาตั้งหลักแหล่งอยู่ประปรายและชั่วคราว ตามเส้นทางการคมนาคมโบราณที่ไปยังที่ราบลุ่มเชียงใหม่-ลำพูน ทางเหนือ และบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนบนทางตะวันออก 

แต่ภายหลังเกิดมีการขยายตัวของเส้นทางการค้าของบรรดาบ้านเมืองที่เจริญทั้งที่อยู่ใกล้ทะเลและบริเวณภายใน อันได้แก่ ละโว้ กัมพูชา เมาะตะมะ พุกาม หริภุญชัย และเวียงจันทน์ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากถิ่นต่าง ๆ เข้ามา สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้น 

ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ก็เกิดเมืองใหญ่ที่เรียกว่า ‘นคร’ ขึ้น ๔ แห่งในบริเวณลุ่มน้ำยม-น่านในเขตจังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์และสุโขทัย มีการรวมตัวกันเป็นรัฐสุโขทัยในยุคแรกขึ้น รัฐนี้ได้เติบโตและรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางการแพร่พระพุทธศาสนา

‘กำเนิดสุโขทัย รัฐแรกเริ่มของชนชาติไทยในสยามประเทศ’ บทบรรณาธิการโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิ-โภดม ได้อรรถาธิบายถึงการศึกษาพัฒนาการของรัฐในดินแดนประเทศไทยทางมานุษยวิทยาโบราณคดี โดยใช้แนวคิดในเรื่องคน พื้นที่ และเวลา เป็นหลัก

หน้าที่ 2/10

‘คน’ แลเห็นได้จากทางชาติพันธุ์ในตระกูลภาษา ‘พื้นที่’ เห็นได้จากร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานบ้านเมือง (cultural landscape) ที่เกิดขึ้นในมิติทาง ‘เวลา’ ยุคและสมัย โดยกล่าวถึงเมืองคู่บนลำน้ำยมและน่านว่า

‘…ภาพรวมของอาณาบริเวณที่เป็นเขตแคว้นสุโขทัย เป็นพื้นที่ซึ่งลำน้ำปิงและทิวเขาเป็นขอบเขตทางด้านตะวันตก และลำน้ำน่านและทิวเขาทางด้านตะวันออก ซึ่งลำน้ำทั้งสองนี้เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในการติดต่อกับบ้านเมืองภายนอกในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นบริเวณที่มีความเจริญจากภายนอกเข้ามาได้เร็วกว่า ก่อนที่จะกระจายลงไปยังพื้นที่ชุมชนตามหนอง บึง และลำน้ำกลางทุ่งของที่ราบลุ่ม

รัฐแรกเริ่มของสุโขทัยที่พัฒนาขึ้นในบริเวณลุ่มน้ำยมทางตะวันตกและลุ่มน้ำน่านทางตะวันออกนั้น มีความเจริญเติบโตเป็นบ้านเมืองมาก่อนในที่ลาดเชิงเขาหลวง ทางตะวันตกของลำน้ำยม เพราะเป็นบริเวณที่มีทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุ โดยเฉพาะเหล็กและของป่านานาชนิด อีกทั้งเป็นแหล่งที่มีแม่น้ำ โดยลำน้ำหลายสายไหลลงจากเขามาสู่ที่ลุ่ม ทำให้เป็นไร่เป็นนาได้มากกว่าที่อื่นๆ 

พื้นที่สำคัญดังกล่าวอยู่ในบริเวณตำบลวังหาดและตลิ่งชัน ในเขตอำเภอบ้านด่านลานหอย เป็นแหล่งอุตสาหกรรมในการถลุงเหล็ก ทำเครื่องมือเหล็กและเครื่องประดับ เช่น ลูกปัดแก้วและดินเผา ได้รับความเจริญจากภายนอก โดยเฉพาะจากทางภาคกลางในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สมัยทวารวดีมาทางลุ่มน้ำปิงที่ผ่านแนวเขาสันปันน้ำจากเมืองตากเข้ามายังบริเวณต้นน้ำแม่ลำพันในเขตบ้านด่านลานหอย และขยายมาตามเชิงเขาหลวงในเขตอำเภอเมืองเก่าสุโขทัยไปตามเชิงเขา โค้งเขาทางใต้จนถึงเขตอำเภอคีรีมาศ

อันเป็นบริเวณที่มีเส้นทางคมนาคมติดต่อจากสุโขทัยไปยังบ้านเมืองในลุ่มน้ำปิง ตั้งแต่กำแพงเพชรลงไปถึงนครสวรรค์ และจากกำแพงเพชรไปทางตะวันตก จะผ่านเทือกเขาไปยังลุ่มน้ำสาละวินในดินแดนมอญ-พม่า ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าบริเวณเชิงเขาหลวงและต้นน้ำแม่ลำพันนั้น คือแหล่งเกิดชุมชนบ้านเมืองที่มีมาแต่สมัยทวารวดี

สรีดภงค์และแนวเขาหลวงที่อยู่ทางด้านหลัง 



พอถึงสมัยลพบุรีจึงเกิดการตั้งเมืองสุโขทัยขึ้นในบริเวณวัดพระพายหลวง ที่มีปุระ วัดพระพายหลวง เป็นศูนย์กลาง อันเป็นลักษณะเมืองแบบขอม ที่พบในประเทศกัมพูชา ในลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นเวลาที่บรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายในภาคกลาง เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา อุปถัมภ์พุทธศาสนามหายานและรับศิลปวัฒนธรรมแบบขอมเข้ามา แต่เมืองสุโขทัยไม่ได้เกิดเป็นชุมชนเมืองในศิลปวัฒนธรรมลพบุรีเพียงแห่งเดียว ยังเกิดพร้อมกันกับเมืองเชลียง ที่ต่อมาเรียกว่า ศรีสัชนาลัย ที่นับเป็นเมืองปลายสุดการคมนาคมของลุ่มน้ำยมในเขตแคว้นสุโขทัย เพราะการคมนาคมตามลำน้ำนี้ด้วยเรือใหญ่ จากปากน้ำโพขึ้นไปได้เพียงแก่งหลวงของเมืองศรีสัชนาลัย เหนือขึ้นไปจากนั้นติดเกาะแก่งกลางน้ำ 

หน้าที่ 3/10

วัดมหาธาตุ สุโขทัย (บน) และวัดเจดีย์เจ็ดยอด ศรีสัชนาลัย (ล่าง)

ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกันกับทางลำน้ำน่านที่เดินทางจากปากน้ำโพที่เมืองพระบาง นครสวรรค์ ไปได้เพียงแต่ตำบลท่าเสา เมืองอุตรดิตถ์ เดินทางต่อไปยังเมืองน่านไม่ได้ แต่อุตรดิตถ์เป็นเมืองรุ่นหลังในสมัยอยุธยา เมืองสำคัญจึงเป็นเมืองทุ่งยั้งหรือสระหลวง อันเป็นเมืองคู่บนลำน้ำน่านรวมกับเมืองสองแควที่พิษณุโลก แต่ทั้งเมืองสองแควและสระหลวงไม่มีร่องรอยความเก่าแก่บนเส้นทางคมนาคมที่มีคนมาตั้งแต่สมัยทวารวดี

‘นครรัฐสุโขทัยในสยามประเทศ’ เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุโขทัย จากงานสำรวจและวิเคราะห์ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัยผ่านหลักการมานุษยวิทยาโบราณคดี ก่อให้เกิดคำอธิบายพัฒนาการรัฐสุโขทัยที่ต่างจากกรอบแนวคิดของประวัติศาสตร์รัฐชาติ และทำให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘ภูมิวัฒนธรรม’ ต่อพัฒนาการของบ้านเมืองรัฐสุโขทัย ทั้งปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และเส้นทางการค้า ตลอดจนการจัดการและความสำคัญของทรัพยากรในบริเวณเมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย เป็นต้น

การลงพื้นที่แหล่งโบราณคดีที่มีพัฒนาการ ‘ก่อน’ การเกิดขึ้นของรัฐสุโขทัย (ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙) ทั้งชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์-ทวารวดี ณ บ้านวังหาด บริเวณต้นน้ำแม่รำพันในเขตอำเภอบ้านด่านลานหอย และชุมชนในวัฒนธรรมเขมรบริเวณโบราณสถานปรางค์เขาปู่จา (ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖) ในเขตอำเภอคีรีมาศ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพื้นฐานและความสืบเนื่องของสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ลุ่มน้ำยม

นอกจากนี้ได้นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างเมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย กับเมืองในบริเวณโดยรอบ ทั้งเมืองกำแพงเพชร และเมืองพระบาง (นครสวรรค์) ผ่านหลักฐานทางโบราณคดี ทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีความสัมพันธ์กันแม้ว่าวัสดุในการก่อสร้างจะแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่

เพราะฉะนั้น รัฐสุโขทัยมิได้เกิดขึ้นมาโดยลำพัง และมีการปกครองแบบรวมศูนย์เป็นอาณาจักร ในช่วงระยะแรกของรัฐสุโขทัยจึงเป็นรัฐ (State) ที่มีขอบเขตความสัมพันธ์ทั้งบ้านเมืองที่อยู่ใกล้เคียงและทางไกล 

 

หน้าที่ 4/10

ซึ่งรูปแบบของความสัมพันธ์บ้านเมืองในระยะนี้ โดยเป็นรัฐแห่งหนึ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และการมีชุมชนที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ประกอบกับความสัมพันธ์กับบ้านเมืองต่างๆ ในบริเวณโดยรอบ ผ่านระบบเครือญาติและการค้าตามที่ปรากฏหลักฐานจารึก ตำนาน และงานศิลปกรรมที่พบตามเมืองโบราณต่างๆ 

‘คนในสมัยก่อนสุโขทัย: มิติและมุมมองทางประวัติศาสตร์โบราณคดีจากอดีตถึงปัจจุบัน’ บทความโดยธีรศักดิ์ ธนูศิลป์ ศูนย์ข้อมูลทวารวดี สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย กรมศิลปากร ที่นำเสนอข้อมูลทางโบราณคดีที่ได้จากการศึกษาบริเวณลุ่มน้ำแม่ลำพันที่อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดสุโขทัย ให้รายละเอียดว่า

พัฒนาการทางสังคมของชุมชนระยะแรกเริ่มในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลำพัน ในช่วงเวลาก่อน  พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ยังคงมีช่องว่างและข้อสงสัยทางวิชาการอีกหลายประการ ทั้งในเรื่องของประชากร วิถีชีวิต ความเชื่อ หรือการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก เป็นต้น 

ปฐมบทเรื่องคนก่อนสุโขทัยเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ หลังจากมีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ฝังอยู่ใต้ฐานอาคารก่อนการสร้างเจดีย์วัดช้างล้อม เมืองศรีสัชนาลัย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๒ ตลอดจนการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ซึ่งมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินฝังร่วมอยู่ด้วย ที่แหล่งโบราณคดีบ้านบึงหญ้า อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย กำหนดอายุราว ๓,๐๐๐ – ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว พบเครื่องมือหินขัดรูปทรงคล้ายใบมีด ซึ่งใบมีดหินนี้เป็นเครื่องมือที่พบเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลกเท่านั้น โดยข้อมูลดังกล่าวนำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีในเขตเมืองศรีสัชนาลัย บริเวณแหล่งโบราณคดีวัดชมชื่น เพื่อศึกษาพัฒนาการของพื้นที่ก่อนสมัยสุโขทัย จากหลักฐานที่พบบ่งชี้ว่ามีการเข้ามาใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยโลหะตอนปลาย สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี เรื่อยมาจนถึงสมัยสุโขทัย 

พัฒนาการของพื้นที่ก่อนสมัยสุโขทัยในภาพรวม โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลำพัน ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของเมืองสุโขทัย และสายน้ำดังกล่าว เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ราบระหว่างเทือกเขาสูงในเขตเมืองเก่าสุโขทัยและเทือกเขาสูงตอนบนซึ่งเป็นเส้นทางการค้าโบราณและแหล่งทรัพยากรที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต 

แหล่งโบราณคดีวัดชมชื่น มีการเข้ามาใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่สมัยโลหะตอนปลาย สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี จนถึงสมัยสุโขทัย



ขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลำพันนั้น อ้างอิงจากจุดกำเนิดต้นน้ำแม่ลำพันบริเวณด้านเหนือสุด คือเทือกเขาสูงในเขตรอยต่ออำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย และอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ความสูงประมาณ ๗๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแนวเทือกเขาสูงแรกก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ภาคเหนือตอนบน และทางด้านตะวันตกติดต่อกับเทือกเขาสูงของจังหวัดตาก ที่ต่อเนื่องไปถึงประเทศ  เมียนมา โดยคลองแม่ลำพันจะไหลลงสู่ที่ราบลุ่มเมืองเก่าสุโขทัยใกล้ทำนบ ๗ อ ผ่านที่ราบลุ่มต่ำลงสู่แม่น้ำยม เป็นระยะทางกว่า ๑๐๐ กิโลเมตรตลอดเส้นทางของลำน้ำสายนี้

หน้าที่ 5/10

จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลำพันที่ผ่านมา พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นประจักษ์พยานถึงกลุ่มชุมชนระยะแรกเริ่มสืบเนื่องจนถึงสมัยสุโขทัย โดยพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เครื่องมือขวานหินขัด กำหนดอายุในเบื้องต้นประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว กลองมโหระทึกสำริด เครื่องมือโลหะ และหลักฐานที่เกี่ยวกับงานโลหะกรรม ที่แสดงให้เห็นว่า ชุมชนบริเวณนี้มีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งทรัพยากร และผู้มีองค์ความรู้ในการใช้สินแร่ ประกอบกับเป็นพื้นที่สำคัญบนเส้นทางที่จะใช้ในการเชื่อมโยงโครงข่ายชุมชนต่างๆ สอดคล้องกับการกระจายตัวของแหล่งถลุงโลหะจำนวนมากในเขตพื้นที่เทือกเขาสูงตอนบนของประเทศไทย ซึ่งชุมชนเหล่านี้ส่งผลต่อการเจริญขึ้นของชุมชน และพัฒนาเป็นเมืองต่างๆ ในสมัยสุโขทัยในที่ราบลุ่มตอนล่างในที่สุด 
 

ชิ้นส่วนกลองมโหระทึกจากพิพิธภัณฑ์โบราณคดีชุมชนบ้านวังหาด

สรุปผลการศึกษาว่า ระยะแรก ผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ เข้ามาใช้ทรัพยากรและเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ในสมัยหิน ระยะที่สอง พบการเข้ามาใช้พื้นที่อาจจะช่วงสมัยสําริดหรือปลายโลหะ พบการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก ระยะที่สาม ร่วมสมัยกับทวารวดี ซึ่งในพื้นที่ทางตอนเหนือมีเมืองหริภุญชัย และพบเหรียญเงิน เป็นต้น แต่ไม่พบการขยายตัวเป็นเมืองและการรับศาสนาเข้ามา อาจเป็นไปได้ว่าพื้นที่ดังกล่าว เป็นเสมือนพื้นที่หลักในการรับและกระจายสินค้า โดยเฉพาะการเป็นผู้ควบคุมเส้นทางทางตอนเหนือ?

ส่วนระยะที่สี่ พบหลักฐานแต่ค่อนข้างเบาบางในพื้นที่ลุ่ม แต่ในเขตเทือกเขายังพบร่องรอยการติดต่อแลกเปลี่ยนในสมัยที่คาดว่าน่าจะเป็นช่วงที่เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองในสมัยสุโขทัยแล้ว สอดคล้องกับการพบเครื่องถ้วยสุโขทัยและเครื่องมือเครื่องประดับสมัยหลังตามเส้นทางการติดต่อและชุมชนโบราณ ตามแนวเขาและสันเขาต่อเนื่องไปจนถึงพม่า

‘ชุมชนต้นน้ำแม่ลำพัน’ บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้นำเสนอและกล่าวถึง บ้านวังหาด อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ว่าเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงสมัยทวารวดี อันเนื่องมาจากมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น เครื่องประดับสำริด เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดหินมีค่าต่างๆ ที่น่าจะแสดงถึงกลุ่มชุมชนที่มีอายุอยู่ในช่วงยุคเหล็กลงมาว่า มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับการพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บริเวณตอนเหนือของจังหวัดสุโขทัยและในปริมณฑลมาก่อน 

อีกทั้งเมื่อกล่าวถึงสุโขทัย ย่อมมีการติดเพดานความคิด เรื่องรัฐสุโขทัยในพุทธศตวรรษที่ ๑๙  และแนวความคิดเรื่องการอพยพของชนชาติไทยเป็นหลัก เรื่องราวของผู้คนและชุมชนก่อนหน้านั้น แทบจะไม่ปรากฏร่องรอยอื่นใดเลย นอกจากในตำนานที่เขียนขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งมิได้ร่วมสมัยในเหตุการณ์โดยตรง

ด้วยเหตุดังกล่าว แหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญแห่งนี้จึงควรถูกพิจารณาเป็นพิเศษ ต้นน้ำแม่ลำพันอยู่ในหุบเขาเขตอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ไหลลัดเลาะเป็นลำธารสายเล็กๆ น้ำมากไหลแรงในฤดูน้ำ และเกือบจะแห้งผากในช่วงแล้ง 

หน้าที่ 6/10

แผนที่บ้านวังหาด และชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง

ลำน้ำแม่ลำพันไหลจากเทือกเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดสุโขทัย ในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย กลายเป็นเส้นน้ำสำคัญไหลอ้อมผ่านเมืองเก่าสุโขทัยแล้วไปรวมกับลำน้ำยมแถวตัวจังหวัดสุโขทัยปัจจุบัน 

ในเขตที่สูงระดับ ๑๐๐-๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล จนถึงบริเวณเทือกเขาในระหว่างห้วยแม่กองค่าย, ห้วยแม่ลำพัน, ห้วยโด, ห้วยข้ามแดน เป็นเขตที่สูงที่อยู่ระหว่างหุบเขาไปจนถึงบ้านแม่แสลมในเขตอำเภอเถิน ซึ่งสามารถติดต่อกับเส้นทางที่ใช้กันมาแต่โบราณ อันเป็นเขตรอยต่อระหว่างเมืองเหนือกับเมืองใต้ (หมายถึงสุโขทัยกับล้านนา) ดังปรากฏหลักฐานสิ่งก่อสร้างลักษณะเป็นป้อม ที่บ้านหอรบ อยู่ห่างจากอำเภอทุ่งเสลี่ยมไปไม่ไกลนัก ซึ่งบริเวณต้นน้ำแม่ลำพัน มีแหล่งโบราณคดีไล่เรียงจากที่สูงมาสู่ทุ่งราบ ดังนี้ 

เด่นปางห้าง แหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีความสัมพันธ์ของเนินดินที่มีกิจกรรมถลุงโลหะและโบราณวัตถุที่พบดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมสมัยกัน ในห้วงเวลาใกล้เคียงกันอย่างชัดเจน

ห้วยแม่กองค่าย พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วไป โบราณวัตถุที่พบถูกจำหน่ายไปหมดแล้ว ส่วนใหญ่คือ จำพวกลูกปัดและเครื่องมือเหล็ก ลักษณะเช่นเดียวกับที่เด่นปางห้าง และไม่พบว่าเป็นแหล่งฝังศพ

บ้านวังหาด อยู่ปลายสุดของที่ราบลุ่มน้ำแม่ลำพัน ต่อจากเขตที่สูงและเทือกเขา โบราณวัตถุที่พบเป็นประเภทเดียวกับที่พบในแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง ลักษณะเด่นน่าจะเป็นเครื่องมือเหล็กที่มีรูปแบบเดียวกัน

บ้านตลิ่งชัน มีความแตกต่างจากกลุ่มแหล่งโบราณคดีต้นน้ำแม่ลำพันอื่นๆ สามารถบอกถึงความสำคัญของกลุ่มชุมชนโบราณต้นน้ำแม่ลำพันได้เป็นอย่างดี อย่างลูกปัด เป็นโบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านขุดพบและพบโดยบังเอิญตามบริเวณผิวดิน ลูกปัดที่พบแยกประเภทออกได้เป็นลูกปัดแก้ว, ลูกปัดหิน, และยังมีลูกปัดแบบพิเศษที่ทำจากทองคำซึ่งพบเป็นจำนวนน้อยมาก

หน้าที่ 7/10

เครื่องประดับแผ่นเงินและทองดุน เป็นแผ่นโลหะเงินและทอง ชิ้นบาง รูปลักษณ์เกือบเป็นวงกลม ส่วนขอบด้านบนม้วนพับเป็นรูทรงกระบอกสำหรับร้อยเชือก น่าจะใช้ประดับคล้องคอ ลวดลายดุนนูนโค้งเป็นรูปใบหน้าสัตว์ ตาโปน หู กลมตั้ง จมูกและปากยื่น มีขนแสกกลางที่ศีรษะ และขนที่แผงคอ แผ่นดุนลวดลายทำจากเงินและทองนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปสัญลักษณ์ของสิ่งใด สิ่งนี้เป็นความเชื่อเนื่องในวัฒนธรรมแบบทวารวดียุคแรกๆ สัตว์ที่เป็นมงคลสัญลักษณ์ 

เหรียญรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะ เป็นโลหะผสมแผ่นบางรูปกลม ที่พบมี ๔ ขนาดแตกต่างกันไปอาจจะหมายถึงตามค่าของสิ่งของแลกเปลี่ยน ด้านหนึ่งเป็นรูปพระอาทิตย์ครึ่งดวงแผ่รัศมี มีจุดไข่ปลาเรียงรอบขอบเหรียญ

เครื่องประดับสำริด เท่าที่พบทำเป็นกำไลข้อมือเนื้อบางไม่มีการตกแต่ง ซึ่งอาจจะใช้เทคนิควิธีรีด ตี เชื่อมประสาน เนื้อโลหะสำริด กำไลข้อมือขนาดต่างๆ มีลวดลายประดับรูปครึ่งวงกลมขนาดเล็กๆ เรียงต่อกันเป็นแถวที่วงรอบนอก บางชิ้นมีลูกกระพรวนห้อยประดับอยู่ ๒-๓ ลูก แหวนขนาดต่างๆ ใช้ลูกกระพรวน ๒ ลูกประดับทำเป็นหัวแหวน เทคนิคการผลิตเครื่องประดับสำริดเช่นนี้ นับว่าซับซ้อนอยู่ไม่น้อย ลูกกระพรวนนั้นเป็นเทคนิควิธีการทำแบบแทนที่ขี้ผึ้ง 

ภาชนะดินเผา เนื้อดินคุณภาพไม่ดีนัก ลายขุด ลายเชือกทาบ และผิวเรียบ รูปทรงภาชนะเท่าที่พบเป็นรูปหม้อก้นกลม ภาชนะคล้ายชามขนาดต่างๆ

เครื่องมือเหล็ก เนินโล่ง พื้นที่กว่า ๑๐ ไร่ พบเศษตะกรันแร่เหล็กกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ บางแห่งเห็นได้ชัดว่า เป็นพื้นที่ของการเตรียมย่อยหิน เตรียมแร่ เพื่อใช้ในการถลุง พื้นที่บริเวณนี้นับว่าเป็นแหล่งถลุงโลหะขนาดใหญ่ที่ถูกรบกวนจากมนุษย์น้อยมาก นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ ที่พื้นที่แห่งนี้ อาจไม่ได้ใช้ผลิตโลหะเพียงแค่เหล็กอย่างเดียว เพราะพบก้อนแร่ตะกั่วรวมอยู่ด้วย

ผลิตภัณฑ์จากชุมชนต้นน้ำแม่ลำพันเท่าที่พบ มีดังนี้ ใบหอกขนาดต่างๆ/ แท่งฉมวก/ ขวานต่อด้ามแบบสั้นและยาว/ แท่งเหล็กกลมตันหน้าตัดคล้ายแท่งชะแลง/ แท่งเหล็กกลมเรียวปลายแหลม/ ดาบยาวปลายด้ามทำเป็นรูปกลมเจาะรู ด้ามจับคงจะใช้แบบหุ้มพันด้าม/ ขวานแบบมีคมสองด้าน ตรงกลางมีรูปสำหรับสอดด้าม/ เตาสามขา เป็นเตาเหล็กที่คงสภาพสมบูรณ์มาก แสดงถึงความประณีตและวิธีคิดประดิษฐ์อันน่าทึ่งของผู้คนกลุ่มนี้

โบราณวัตถุที่พบบริเวณบ้านวังหาด

หน้าที่ 8/10

ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินคาร์เนเลียน และลูกปัดกาเกต

พบมากในกลุ่มชุมชนโบราณบ้านแม่น้ำลำพัน

วลัยลักษณ์ ได้นำลักษณะเด่นที่พบในกลุ่มแหล่งโบราณคดีต้นน้ำแม่ลำพัน มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเชิงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์และตีความออกมาได้ว่า ‘ชุมชนโบราณต้นน้ำแม่ลำพัน: ชุมชนผลิตเหล็กผู้ร่ำรวย’ ว่า

‘…บริเวณที่สูงทางตอนเหนือของจังหวัดสุโขทัยต่อแดนกับตากและลำปาง ยังไม่มีการพบแหล่งโบราณคดีในช่วงยุคเหล็กและทวารวดีมาก่อน อาจเรียกได้ว่า เป็นรอยต่อของห้วงเวลาระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้ การค้นพบแหล่งโบราณคดีในกลุ่มต้นน้ำแม่ลำพัน จึงเป็นภาพต่อที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งในการสร้างภาพอดีตของดินแดนในประเทศไทย

ชุมชนกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นพิเศษ คือเป็นชุมชนผลิตเหล็กและเป็นช่างฝีมือผู้ชำนาญในการผลิตเครื่องมือที่มีความประณีตรูปแบบต่างๆ จนเห็นได้ชัดว่า เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของท้องถิ่น นอกจากนี้ โบราณวัตถุที่พบร่วมกันแสดงถึงการติดต่อกับชุมชนภายนอกที่ห่างไกล ซึ่งอาจใช้ระบบการแลกเปลี่ยน เป็นสิ่งที่แน่ว่า ทรัพยากรในท้องถิ่นคือ เหล็กและเครื่องมือเหล็ก ต้องเป็นสินค้าสำคัญของชุมชน ลูกปัดแก้วลูกปัดหิน ที่นำมาจากแดนไกล เครื่องประดับที่เป็นรูปสัญลักษณ์และเหรียญเงินรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะคือสิ่งแลกเปลี่ยน เป็นประจักษ์พยานได้ดีถึงการติดต่อดังกล่าว

ในภาคกลาง ตั้งแต่ขอบบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ลงมาจนถึงลพบุรี เป็นพื้นที่ของชุมชนในช่วงสำริด-เหล็ก และชุมชนในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนก่อเกิดเป็นบ้านเมืองสมัยทวารวดีที่เห็นได้ชัดที่สุด

ปลายยุคเหล็ก ประชากรน่าจะเพิ่มจำนวนขึ้น กลุ่มชุมชนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงกันหลายๆ กลุ่ม พัฒนาไปสู่การมีศูนย์กลางชุมชนและจัดระเบียบทางสังคมที่ซับซ้อนมากกว่าก่อน พร้อมๆ กับการรับกระแสวัฒนธรรมจากอินเดียที่เข้ามาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งทางด้านศาสนาความเชื่อและสินค้ารูปแบบต่างๆ 

ช่วงเวลาแห่งพัฒนาการนี้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดบ้านเมืองที่เห็นชัดเจน เช่นที่ ออกแก้ว เบคถะโน หรือ อู่ทอง บางท่านเรียกช่วงนี้ว่า สมัยหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ ยุคที่ยังไม่ปรากฏรูปเคารพ ระยะเวลาราว ๑๐๐ AD. - ๓๐๐ AD. บางท่านเรียกช่วงนี้ว่า ฟูนัน-สุวรรณภูมิ ราว ๓๐๐ AD. - ๖๐๐ AD. เป็นห้วงเวลาก่อนจะเกิดเป็นรัฐทวารวดี (ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๗ - ๑๑) อย่างแท้จริง

หน้าที่ 9/10

ชุมชนน้อยใหญ่ เกิดขึ้นมาในช่วงเวลานี้มากมาย ดังที่เคยเห็นว่าเป็นพัฒนาการเฉพาะในเขตภาคกลาง ส่วนพื้นที่เหนือขึ้นไปนั้นมองไม่เห็นสภาพการณ์อย่างนี้แน่ชัด กลุ่มชุมชนต้นน้ำแม่ลำพันนี้ คือข้อมูลซึ่งเป็นหลักฐานกลุ่มแรกที่แสดงให้เห็นขอบข่ายของสังคมที่มีรูปแบบใกล้เคียงกัน มีความสัมพันธ์กัน กินบริเวณลึกเข้าสู่ดินแดนภายในบริเวณลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำปิง มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า ขณะเดียวกันนั้น ผู้คนที่ต้นน้ำวังใกล้พระธาตุจอมปิง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชุมชนโบราณต้นน้ำแม่ลำพันอีกด้วย (โดยดูจากรูปแบบของโบราณวัตถุและเครื่องมือเหล็ก) ย่อมแสดงให้เห็นถึงอาณาเขตของการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างชุมชนในพื้นที่ห่างไกลผ่านที่สูงและเทือกเขาทางตอนเหนือสู่ที่ราบลุ่มในแอ่งลุ่มน้ำวัง ทำให้เห็นว่า ผู้คนในช่วงเวลานี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ มิใช่เป็นเพียงผู้คนในตำนานที่อยู่บนที่สูง (มิลักขุ) ที่เรามักใช้อธิบายถึงกลุ่มคนก่อนการสร้างบ้านแปงเมือง โดยเฉพาะในภาคเหนือกันโดยมาก…’

วลัยลักษณ์ ได้สรุปในบทความไว้ว่า กลุ่มชุมชนโบราณต้นน้ำแม่ลำพันเห็นได้ว่าเป็นกลุ่มวัฒนธรรมยุคเหล็กต่อเนื่องกับยุคแรกเริ่มรับวัฒนธรรมอินเดียที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เป็นผู้ชำนาญการทางการผลิตโลหะและเครื่องมือเครื่องใช้ที่ประณีตประโยชน์ใช้สอยสูงและทันสมัย นิยมใช้สิ่งของจากต่างถิ่น ซึ่งคงผ่านระบบการแลกเปลี่ยนผ่านคนกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนโบราณอื่นๆ แล้ว นับว่าเป็นกลุ่มผู้ผลิตผู้ร่ำรวย และไม่ใช่เป็นชุมชนที่ผลิตโลหะและเครื่องมือเครื่องใช้เพียงอย่างเดียว แต่มีการทำเกษตรกรรมด้วย 

‘…ดังจะเห็นว่า มีพื้นที่การผลิตในหุบเขาสำหรับถลุงเหล็ก มีแหล่งชุมชนใกล้ลำน้ำแม่ลำพันบนพื้นราบสำหรับอยู่อาศัยและทำการเกษตร อันเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตที่น่าจะเรียกว่า ชุมชนโบราณ กลุ่มต้นน้ำแม่ลำพัน ชุมชนกลุ่มต้นน้ำแม่ลำพันร่วมสมัยกับชุมชนโบราณมากมายในเขตภาคกลาง ซึ่งมีพัฒนาการของชุมชนชัดเจน หากจะมองให้กว้างขึ้นไปอีก ความสัมพันธ์เหล่านี้แสดงออกถึงสังคมที่ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ไม่ว่าจะภายในเขตประเทศไทยหรือดินแดนต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับแต่จีนตอนใต้ลงมา จนถึงชายฝั่งเวียดนาม และภาคกลางของไทย พลวัตแห่งความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเหล่านี้ ก่อให้เกิดรัฐและบ้านเมืองต่างๆ ในภายหลัง...’

 


 

คำสำคัญ : สุโขทัย,ก่อนประวัติศาสตร์,การถลุงเหล็ก,ลุ่มแม่น้ำลำพัน

อ้างอิง

‘ชุมชนต้นน้ำแม่ลำพัน’ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑, มกราคม-มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๐

‘เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย’ งานวิจัยของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

‘กําเนิดสุโขทัย รัฐแรกเริ่มของชนชาติไทยในสยามประเทศ’ บทบรรณาธิการโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-มีนาคม ปีพ.ศ. ๒๕๖๒

อดีตในอนาคต ตอนที่ ๑๘ “นครรัฐสุโขทัยในสยามประเทศ” ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑

‘จันเสนเมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี - ป่าสัก สังคมและวัฒนธรรมจันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก’ โดย ศรีศักร วัลลิโภดม  

'คนในสมัยก่อนสุโขทัย: มิติและมุมมองทางประวัติศาสตร์โบราณคดีจากอดีตถึงปัจจุบัน’ โดย ธีรศักดิ์ ธนูศิลป์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ ศูนย์ข้อมูลทวารวดี สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย กรมศิลปากร

‘โครงกระดูกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านบึงหญ้า อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย’ โดย จารึก วิไลแก้ว นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๓ เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ปี พ.ศ.๒๕๔๔

พรเทพ เฮง
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกโบราณคดี รุ่น ๓๘ ทำงานด้านสื่อ ด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และสาระบันเทิงมาค่อนชีวิต
หน้าที่ 10/10