ผู้เข้าชม
0

จากโคกเมืองวัดเขียนบางแก้วสู่เมืองพัทลุง

บทความชุด ‘คาบสมุทรแห่งสยามประเทศ’ ตอน สร้างบ้านแปลงเมืองที่ทะเลสาบสงขลา จากงานเขียนของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม แบ่งออกเป็น ๒ เรื่อง คือ จากโคกเมืองวัดเขียนบางแก้วสู่เมืองพัทลุง และ จากสทิงพระสู่เมืองสงขลา การสำรวจศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาโบราณคดีการสร้างบ้านแปลงเมืองในดินแดนประเทศไทย พบว่ารอบทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่สำคัญในการตั้งถิ่นฐานแต่แรกเริ่มและยุคสมัยแห่งการค้าของคาบสมุทรสยาม
26 มกราคม 2564


 

จากโคกเมืองวัดเขียนบางแก้วสู่เมืองพัทลุง

ปรับจากบทความในวารสารเมืองโบราณปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๓

 

ศรีศักร วัลลิโภดม

หน้าที่ 1/10

 

 

 

 
 

รายการอดีตในอนาคต

ชุดบ้านเมืองในคาบสมุทรแห่งสยามประเทศ

'สร้างบ้านแปลงเมืองที่ทะเลสาบสงขลา' ตอนที่ ๑ 'จากโคกเมืองวัดเขียนบางแก้วสู่เมืองพัทลุง'


ทะเลสาบสงขลา : ลากูนบนชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของไทย

ลากูนคือทะเลสาบ และทะเลสาบสงขลาคือลากูนใหญ่ที่สุดในดินแดนชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของประเทศไทย มีลักษณะเป็นเกาะ เดินเรือจากนครศรีธรรมราชผ่านเส้นทางน้ำแถบอำเภอหัวไทรมายังเมืองพัทลุงที่ปากประและลำปำได้ การเกิดเป็นทะเลสาบได้นั้น ต้องอาศัยเขาและแนวสันทรายที่เกิดขึ้นจากการทับถมของปะการังจากหัวเขาแดงไปถึงระโนดและจากระโนดผ่านหัวไทรขึ้นไปยังปากพนังและแหลมตะลุมพุก เกิดแนวสันทรายที่กระทำด้วยคลื่นลมซึ่งพัดเข้าสู่ชายฝั่งทะเล เป็นสันทราย [San dune] ระยะทางร่วม ๑๕๕ กิโลเมตร

พื้นที่ทะเลสาบสงขลา แบ่งออกเป็น ๓ ตอน ตอนเหนือคือทะเลน้อย ตอนกลางคือทะเลหลวง และตอนใต้สุดคือทะเลสาบ มีทางออกทะเลอยู่ที่ปลายหัวเขาแดงและแหลมสนฝั่งเมืองสงขลา นับเนื่องเป็นลากูนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคในปัจจุบัน

 

บริเวณโคกเมือง ซึ่งมีกลุ่มโบราณสถานหลายแห่งและต่างยุคสมัย โดยมีพระบรมธาตุที่วัดเขียนริมคลองบางแก้วเป็นประธาน คลองบางแก้วไหลสู่ทะเลสาบสงขลา ด้านหน้าคือแนวแหลมจองถนน และเห็นเกาะสี่เกาะห้าซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรรังนกสินค้าส่งออกที่สำคัญของบ้านเมืองรอบทะเลสาบ

หน้าที่ 2/10


ภูมิวัฒนธรรมของการสร้างบ้านแปงเมืองจากโครงสร้างทางกายภาพของทะเลสาบสงขลา สามารถแบ่งพื้นที่ทะเลสาบได้ดังนี้

๑. พื้นที่ชายฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นชายหาดแต่เดิม ปัจจุบันคือแถบแนวจังหวัดพัทลุง

๒. พื้นที่เป็นเกาะและเขาทางตะวันออก ปัจจุบันคือแนวสันทรายและแผ่นดินที่เรียกว่าแผ่นดินบก ทะเลสาบตอนบนเรียกว่า ‘ทะเลหลวง’ แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ

ส่วนบน ที่อยู่ต่ำจากทะเลน้อย ตั้งแต่ระโนดลงมาจนถึงเกาะใหญ่ที่อยู่ทางด้านตะวันออก ส่วนด้านตะวันตกตั้งแต่ปากประ เมืองพัทลุง ลงมาจนถึงแหลมจองถนน ระยะทางราว ๓๐ กิโลเมตร เป็นพื้นที่ห้วงน้ำขนาดใหญ่

ส่วนล่าง จากแหลมจองถนนและเกาะใหญ่ลงมาจนถึงปากรอทางฟากตะวันตก และทางฝั่งตะวันออกในแถบสทิงพระระยะทางราว ๓๔ กิโลเมตร เต็มไปด้วยเขาเล็กและเขาใหญ่ที่กลายเป็นเกาะมากมาย เช่น เกาะหมาก เกาะใหญ่ เกาะนางคำ  เป็นต้น ทำให้เกิดพื้นที่ขวางทางน้ำในทะเลสาบ  ด้านตะวันตกจึงเป็นช่องน้ำแคบ แต่ทางฟากตะวันออกทางสทิงพระเป็นร่องน้ำใหญ่กว้างไหลไปออกช่องแคบที่ ‘ปากรอ’ ลงสู่ทะเลสาบสงขลา อันเป็นพื้นที่ส่วนสุดท้าย ซึ่งมีทางออกทะเลทางเดียวที่ ‘หัวเขาแดง’

พื้นที่ของทะเลสาบบริเวณนี้เป็นรูปกลมรี จากปากรอจนถึงหาดใหญ่และเมืองสงขลาระยะราว ๒๒ กิโลเมตร เป็นพื้นที่ซึ่งมีเขาและเกาะอยู่บ้าง เช่น ‘เกาะยอ’

๓. พื้นที่เป็นพรุและควนทางเหนือ ในบริเวณอำเภอเชียรใหญ่ต่อเนื่องกับอำเภอระโนดและบริเวณที่ลุ่มของอำเภอควนขนุน เป็นแผ่นดินที่เพิ่มจากชายฝั่งทะเลจากควนขนุนมาจรดแนวสันทรายที่ระโนดผ่านหัวไทรขึ้นไปถึงปากพนัง เป็นที่ราบลุ่มสลับด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำของป่าพรุและเขาลูกโดดที่อยู่เหนือบริเวณทะเลน้อยขึ้นไป ทำให้เกาะแต่เดิมจากทะเลน้อยลงไปจนถึงทะเลหลวงและทะเลสาบสงขลากลายเป็นลากูน ในบันทึกและแผนที่ของนักเดินเรือพ่อค้าชาวยุโรปราว ๓๐๐ ปีมาแล้ว ระบุว่าเรือทะเลเคยเดินทางผ่านพื้นที่ซึ่งยังเป็นทางน้ำเข้าไปถึงเมืองพัทลุงที่ลำปำ  ก่อนที่เส้นทางน้ำดังกล่าวจะใช้คลองระโนดแทน

ส่วนพื้นที่ส่วนบนของทะเลสาบสงขลาก็คือ ทะเลน้อย เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่น้ำทะเลเข้าไม่ถึง เกิดจากการทับถมจากที่ลาดเทือกเขาบรรทัดทางตะวันตก การงอกของสันทรายจากแนวหินปะการังไปจดแหลมตะลุมพุก

๔. พื้นที่อ่าวทางใต้ซึ่งเป็นภูเขาและหุบเขาที่สัมพันธ์ระหว่างเทือกเขาบรรทัดกับเทือกเขาสันกาลาคีรีในแถบจังหวัดสงขลาต่อเนื่องกับจังหวัดตรังและสตูล การเกิดขึ้นของชายฝั่งทะเลตั้งแต่หาดใหญ่ รัตภูมิ ไปจนถึงควนเนียง สงขลา และปากพะยูนที่พัทลุงนั้น เป็นการงอกแบบเว้าแหว่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง มีเขาลูกโดดอยู่มากทั้งชายฝั่งและพื้นทะเลเป็นเขาและเกาะ เช่น เกาะนางคำ เกาะหมาก เกาะสี่ เกาะห้า เกาะใหญ่ ฯลฯ จนทำให้ไม่มีแนวสันทราย ส่วนชายฝั่งทะเลจากหาดใหญ่ถึงเมืองสงขลาที่แหลมสนและเก้าเส้งเป็นพื้นที่ลาดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี  ลำน้ำไหลลงทะเลทะเลสาบสงขลาทั้งนั้น โดยเฉพาะ ‘ลำน้ำอู่ตะเภา’   

 เมืองเก่าสงขลาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านหลังคือปากช่องเข้าทะเลสาบสงขลา

 

บริเวณทะเลหลวง หน้าเกาะใหญ่กระแสสินธุ์ ตรงข้ามกับแหลมจองถนน

หน้าที่ 3/10

ภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.๒๕๒๗  บริเวณวัดพะโคะและตระพังพระที่อยู่ใกล้เคียง

 

เศียรพระพุทธรูปหินทรายแดง พบบริเวณโคกวิหารหรือที่เชื่อว่าเป็นวิหารถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา วัดเขียนบางแก้ว

ร่องรอยของการตั้งถิ่นฐาน

รอบทะเลสาบสงขลามีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ‘ยุคเหล็ก' ราวพุทธศตวรรษที่ ๑ ลงมา คือ เครื่องมือหินและเศษภาชนะดินเผา ลูกปัด ทั้งชายฝั่งทะเลสาบด้านตะวันตกในเขตจังหวัดพัทลุง และชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกในเขตอำเภอสทิงพระและระโนด จังหวัดสงขลา

บริเวณสำคัญคือริมคลอง ‘โคกทอง’ ซึ่งน่าจะเป็นคลองขุดระหว่างทะเลนอกจากทะเลหลวงภายใน ซึ่งน่าจะตัดตรงต่อกับคลองระโนดในทุกวันนี้โดยไปออกปากคลองระโนด ส่วนทางฝั่งทะเลนอกมี ‘วัดอู่ตะเภา’ ริมชายหาดที่ปัจจุบันไม่พบร่องรอยเก่าแก่นอกจากชื่อสถานที่และคำบอกเล่าว่าเป็นชุมชนเก่าว่ามีปากคลองแต่ดั้งเดิม ทุกวันนี้ไม่พบแล้ว และพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่นาสองฝั่งก็กลายเป็นบ่อกุ้งไปหมด

บริเวณโคกทอง เป็นเนินใหญ่อยู่ทางฝั่งใต้ของคลองโคกทอง และอยู่ทั้งสองฝั่งของถนนกลางเมืองระโนดที่ตัดผ่าน ริมคลองและเนินหลายแห่งพบเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก ซึ่งพบแหวนทองซึ่งเป็นตราประทับรูปโคหมอบ และลูกปัดซึ่งเทียบได้กับลูกปัดที่พบในสมัยยุคเหล็กหรือช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑ แบบที่พบแถบคอคอดกระ ทั้งสองฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะแบบเครื่องถ้วยจีนยุคสมัยต่างๆ มีทั้งในราชวงศ์หมิงและชิงด้วย ดังนั้นบริเวณเส้นทางคลองโคกทองที่ต่อกับคลองระโนดจึงมีการใช้งานมาโดยตลอด

ในยุคประวัติศาสตร์พบแหล่งศาสนสถานและชุมชนที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา เป็น ‘ยุคเดียวกันกับสมัยทวารวดี-ศรีวิชัย’ มีทั้ง ‘ศาสนาฮินดูและพุทธมหายาน’ ผสมกัน และมีการเกิดขึ้นของบ้านเมืองใหญ่โตในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อันเป็นสมัยอยุธยาตอนกลาง เลยมาจนถึงเมืองสงขลาและพัทลุงในสมัยอยุธยาตอนปลายที่ต่อเนื่องลงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

 

จากโคกเมืองวัดเขียนบางแก้ว สู่เมืองพัทลุง

อาจารย์ศรีศักรและอาจารย์มานิต วัลลิโภดม เคยไปสำรวจแหล่งโบราณคดีในเขตสงขลา พัทลุง ด้วยการนำของพระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส และคุณเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร ผู้เป็นปราชญ์ทางโบราณคดีเมืองสงขลา  พบว่าตามเขาตามถ้ำหินปูนของเขาลูกโดดตั้งแต่เขตอำเภอรัตภูมิขึ้นไปถึงเขาชัยสน เขาอกทะลุ  และเขาอื่นๆ ไปจนถึงอำเภอควนขนุน พบ ‘ถ้ำ’ ที่เป็นศาสนสถานในพุทธมหายาน มีพระพิมพ์ดินเผาหรือดินดิบแบบศรีวิชัยกระจายอยู่ทั่วไป นับเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่อำเภอรัตภูมิขึ้นไปจนถึงอำเภอควนขนุนพัทลุงต่อนครศรีธรรมราช มีความเป็นบ้านเป็นเมืองมาแต่สมัยศรีวิชัย คือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลงมา ซึ่งช่วงเวลาก่อนสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ นั้นการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองเป็นชุมชนเล็กๆ กระจุกกันอยู่ตามชายเขาลูกโดดดังกล่าว

บริเวณชุมชนก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เหล่านี้ อยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลหลวง มักตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำที่ไหลลงจากเทือกเขาบรรทัด ผ่านที่ลาดลุ่มและลุ่มต่ำไปออกทะเลหลวงที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเกาะสทิงพระ

 

หน้าที่ 4/10

เขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จุดสังเกต  [Landmark] สำคัญของทะเลสาบสงขลา และเป็นบริเวณย่านการค้าสำคัญของชุมชนภายในที่ติดต่อกับโพ้นทะเล

 

 เครื่องทองที่พบแผ่นทองคำสมัยราชวงศ์ซุ้งใต้ (พ.ศ. ๑๖๗๐-๑๘๒๒ ) ที่พบบริเวณท้องทุ่งด้านตะวันตกของเขาชัยสน (ภาพจาก https://news.thaiza.com)

 

ภาพจิตรกรรมเท่าที่เหลือบนผนังถ้ำที่เขากลาง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ไม่ห่างจากเขาอ้อและกลุ่มเขาเมืองชัยบุรีเท่าใดนัก

 

ควายน้ำที่เลี้ยงไว้บริเวณทะเลน้อย ใกล้ปากคลองปากประ เส้นทางเดินทางเข้าสู่กลุ่มเขาเมืองชัยบุรี

หน้าที่ 5/10


ตำแหน่งเมืองสำคัญก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อยู่ใกล้กับเขาชัยสน ซึ่งมีลำน้ำจากเทือกเขาผ่านลงมาเป็นลำน้ำบางแก้วไปลงทะเลที่ ‘วัดเขียนบางแก้ว’ และบริเวณโคกเมือง อันเป็นตำแหน่งเมืองท่าสำคัญในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงมา ด้วยบริเวณที่ตั้งที่อยู่อาศัยซึ่งมีชายน้ำเป็นที่ขนถ่ายสินค้า พบเศษภาชนะดินเผาทั้งชนิดเคลือบและเผาจากต่างประเทศ เช่นเดียวกันกับพบที่หน้าเมืองสทิงพระบนฝั่งตรงข้ามของทะเลหลวง และพบหลักฐานทางโบราณคดีคือแผ่นทองคำที่ระบุอายุในช่วงราชวงศ์ซ่งใต้ ซึ่งมีจารึกภาษาจีนอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙ ในบริเวณที่ดอนด้านตะวันออกใกล้กับเขาชัยสน ทำให้แลเห็นความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีที่วัดเขียนบางแก้ว ซึ่งเป็นเมืองคู่ร่วมสมัยกับเมืองสทิงพระบนฝั่งตรงข้าม

 

เมืองคู่สองฝั่งทะเลหลวง เมืองสทิงพระและโคกเมืองวัดเขียนบางแก้ว

เมืองสทิงพระและโคกเมืองที่วัดเขียนบางแก้วก็คือ เมืองพัทลุงและสงขลา ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ความสำคัญของเมืองคู่ร่วมสมัยระหว่างเมืองสทิงพระกับเมืองที่วัดเขียนบางแก้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นเมืองที่สัมพันธ์กับการนับถือพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ที่เผยแผ่จากนครศรีธรรมราชในพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙ เพราะมีพระสถูปเจดีย์ วิหาร และพระพุทธรูปศิลาที่คล้ายคลึงกัน และในสมัยอยุธยาตอนปลายยังเป็นศูนย์กลางของคณะสงฆ์ที่ทางอยุธยากำหนดให้เป็นศูนย์กลางในการปกครองวัดและชุมชนเหมือนกัน คือทางฝั่งเกาะที่เมืองสทิงพระ มีคณะสงฆ์ฝ่ายลังกาชาติ ซึ่งมี ‘สมเด็จพระราชมุนี’ หรือบางท่านเรียก ‘หลวงพ่อพะโคะ’ บางท่านเรียก ‘หลวงปู่ทวด’ เป็นผู้ปกครอง ในขณะที่ทางวัดเขียนบางแก้วมี ‘พระครูลังกาแก้ว’ ของคณะสงฆ์ลังกาแก้วปกครอง

ทั้งสองแห่งเป็นเมืองคู่ขนานที่อยู่สองฝั่งทะเลสาบในจังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุง แต่การเกิดขึ้นเป็นเมืองพัทลุงและเมืองสงขลาที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นต้นมา แต่พัฒนาการบ้านเมืองทั้งสองนี้มีที่มาต่างกัน

ทางเมืองพัทลุงเกิดก่อน อันเนื่องจากชุมชนชายทะเลของชายฝั่งทะเลตั้งแต่บริเวณโคกเมืองและ ‘วัดเขียนบางแก้ว’ และ ‘แหลมจองถนน’ ลงไปถึง ‘บ้านพระเกิด’ ในเขตอำเภอปากพะยูน เป็นแหล่งที่มีการเลี้ยงช้างป่าซึ่งใช้เป็นพาหนะในการเดินทางข้ามคาบสมุทร ผ่านช่องเขาบรรทัดจากจังหวัดพัทลุงไปยังจังหวัดตรังและสตูลทางฟากฝั่งทะเลอันดามัน

เมืองพัทลุงในบริเวณนี้เป็นชุมชนบ้านเมืองของคนเลี้ยงช้างที่สัมพันธ์กับ ‘ตำนานนางเลือดขาว’ นางเลือดขาวคือธิดาของนายกองช้างผู้เป็นหัวหน้าชุมชนที่สัมพันธ์กับเมืองที่วัดเขียนบางแก้วและเมืองสทิงพระ เดิมเป็นชายาของพระยากุมารผู้เป็นเจ้าเมือง ต่อมาได้ไปเป็นพระสนมของ ‘พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช’ แต่บางตำนานบอกว่าเป็นสนมของ ‘พระร่วงเมืองสุโขทัย’ รวมทั้งนางเลือดขาวยังได้รับการยกย่องและขนานนามจากคนทั้งฝั่งพัทลุงและฝั่งตรัง สตูล ภูเก็ต รวมไปถึงเกาะลังกาวีว่าเป็น ‘สมเด็จพระนางเจ้า’ บ้าง ‘แม่เจ้าอยู่หัว’ บ้าง จึงปรากฏตั้งเป็นชื่อของชุมชน วัด และสถานที่สำคัญตามท้องถิ่นตามตำนานที่เล่าตมลำดับ

บริเวณเมืองสทิงพระที่อยู่บนเกาะฟากตรงข้ามกับเมืองที่วัดเขียนบางแก้วและแหลมจองถนนก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับช้าง เพราะพบสระโบราณแห่งหนึ่งมีเสาปักอยู่ในสระ คนเรียกว่า ‘เสาตะลุง’ ซึ่งหมายถึงเสาล่ามช้าง เหตุนี้จึงมีคนเรียกทั้งสทิงพระและเมืองที่วัดเขียนบางแก้วว่า ‘เมืองตะลุงหรือพัทลุง’

 

พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรสมัยอยุธยา ชาวบ้านเรียกว่า 'แม่ทวด' ประดิษฐานเป็นพระลากในเรือพระ ตามประเพณีชักพระช่วงออกพรรษาของวัดเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง

วัดพะโคะ ฝั่งสทิงพระใกล้กับเมืองสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่เป็นเมืองคู่กับโคกเมืองทางฝั่งวัดเขียนบางแก้วที่อยู่ตรงข้ามฝั่งทะเลหลวง 

หน้าที่ 6/10

 

คันดินรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัสที่บ้านควนมะพร้าว ฝั่งพัทลุง ต่ำกว่าคลองลำปำมาเล็กน้อย ปัจจุบันอยู่ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จังหวัดพัทลุง และมีสภาพเกือบสมบูรณ์

เมืองพัทลุงที่ใกล้ปากคลองลำปำ ช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในภาพจะเห็นวังเก่าและใหม่ของเจ้าเมืองพัทลุง วัดวังและวัดวิหารเบิก ด้านไกลคือเขาอกทะลุที่ตั้งของเมืองพัทลุงในปัจจุบัน และกลุ่มเขาเมืองชัยบุรี

‘เมืองพัทลุง’ ที่มีมาก่อนสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น น่าจะหมายถึงเมืองทั้งสองแห่งที่อยู่บนเกาะแถบชายทะเล ก่อนที่จะเกิดทะเลสาบสงขลาขึ้นจากการงอกของแผ่นดินและสันทราย ตั้งแต่อำเภอควนขนุนและอำเภอระโนด ไปยังปากพนังในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช

บริเวณบ้านเมืองตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ลงมานั้นอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลใต้ฝั่งคลองลำปำ เพราะพบร่องรอยเวียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบเดียวกับที่พบบริเวณเมืองสทิงพระ, เวียงสีหยัง และเวียงพังยางทางฝั่งนี้ด้วยที่ใกล้ๆ บ้านควนมะพร้าว ซึ่งเป็นย่านชุมชนเมืองพัทลุงที่ปากน้ำลำปำและอยู่ห่างจาก ‘วัดป่าขอม’ ที่พบใบเสมาหินทรายแดงราว ๓ กิโลเมตร และห่างมาราว ๖ กิโลเมตรตามชายฝั่งของชายฝั่งทะเลหลวงฝั่งเมืองพัทลุงลงมาจนถึงแถบบ้านคลองขุดมายังอ่าววัดสะทัง และแหลมจองถนนมายังหาดพัดทอง วัดเขียนบางแก้ว และคลองบางแก้ว

พัทลุงช่วงเวลานี้ ถือเป็นบ้านเมืองที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ ที่สัมพันธ์กับวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชในสมัยอยุธยา เป็นเขตชนแดนระหว่างสยามกับมลายูที่มีศูนย์กลางของรัฐอยู่ที่นครปัตตานี

 

เมืองพัทลุงที่เขาเมืองไชยบุรีซึ่งเดินทางเข้าทางลำน้ำปากประ

ในสมัยอยุธยาตอนกลาง มีร่องรอยการขยายตัวทางฝั่งพัทลุงผ่านลำปำขึ้นไปยังคลองปากประที่มีทะเลน้อยและพื้นที่ป่าพรุ ซึ่งมีลำน้ำชะอวดไหลผ่านไปออกทะเลที่ปากพนัง ดังนั้น แถบปากคลองลำปำและคลองปากประเป็นแหล่งท่าจอดเรือจากนครศรีธรรมราชและจากโพ้นทะเล จึงเกิดเป็นชุมชนเมืองขึ้นมารองรับ

เมืองสงขลาเป็นเมืองท่าสินค้าที่มีความรุ่งเรืองและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ซึ่งเจ้าเมืองเป็นคนมุสลิมเชื้อสายอาหรับต่างไปจากสุลต่านเมืองปัตตานีซึ่งเป็นคนมลายู ได้อาศัยช่องว่างความขัดแย้งทางการเมืองของกรุงศรีอยุธยาหลังรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ขึ้นมาประกาศตนเองในรูปของรัฐอิสระจากกรุงศรีอยุธยา ที่สามารถขยายอำนาจทางการค้าและการทหาร โดยขยายอาณาเขตเหนือบรรดาบ้านเล็กเมืองน้อยตามชายฝั่งทะเลขึ้นไปถึงนครศรีธรรมราชทางเหนือ และบ้านเมืองชายฝั่งจากสงขลาไปยังอำเภอเมือง อำเภอจะนะ และอำเภอเทพา

ดังในตำนานกล่าวถึงสุลต่านสุลัยมานแต่งตั้งน้องชายและลูกหลานไปปกครองที่เมืองไชยบุรีทางฟากฝั่งพัทลุง ที่เมืองไชยา เมืองจะนะ เมืองเทพา เป็นต้น  เหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้สุลต่านสุลัยมานสามารถตั้งเป็นรัฐอิสระและขยายอาณาเขตขึ้นไปจนถึงนครศรีธรรมราชได้นั้น น่าจะเป็นเพราะบ้านเมืองชายฝั่งทะเล จากสงขลาขึ้นไปถึงนครศรีธรรมราชถูกรุกรานปล้นสะดมจากพวกอุยงคตนะหรือพวกอยู่ปลายแหลมที่เป็นโจรสลัดจากเมืองยะโฮร์ทางมาเลเซีย ซึ่งในช่วงเวลานั้นอยุธยาเกิดความขัดแย้งและไม่มีกำลังพอที่จะช่วยบ้านเมืองทางนครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุงได้ หัวเมืองทางใต้จึงต้องพึ่งเมืองสงขลาของสุลต่านสุลัยมานแทน

แต่ความเป็นรัฐอิสระของเมืองสงขลาอยู่ได้เพียงสองชั่วคน ก็เกิดสงครามกับกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ที่ส่งกองทัพเรือมาตีสงขลาหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ จนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงตีสงขลาได้และทำลายเมืองกวาดต้อนผู้คนไปอยู่ที่อื่น พร้อมกับย้ายเมืองมาอยู่ที่เมืองไชยบุรีแทน มีการสร้างป้อมปราการของเมืองโดยนายช่างวิศวกรชาวฝรั่งเศส ให้เป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองสงขลาที่ถูกยุบให้เป็นเมืองบริวาร

หน้าที่ 7/10

พระเจดีย์สมัยอยุธยาที่วัดเขา บริเวณเมืองเก่าพัทลุงที่เขาเมืองชัยบุรี โดยรอบเขาเจดีย์นี้มีกำแพงลักษณะป้อมค่ายที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในยุคนั้นและสร้างป้อมค่าย กำแพงเมือง ประตูเมืองแบบชาวตะวันตกเช่นนี้ขึ้นหลายแห่งตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ

เขาอกทะลุและเขาคูหาสวรรค์ เมืองพัทลุงใหม่ในยุคปัจจุบันนับแต่รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ต่อจากเมืองพัทลุงเก่าที่ปากน้ำลำปำ

พระเจดีย์ประธานที่วัดวัง อันถือเป็นวัดประจำตระกูลเจ้าเมืองพัทลุงในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์และสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน ด้านหน้าคืออนุสาวรีย์พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) กล่าวกันว่า เดิมชื่อ 'ขุน' เป็นเชื้อสายรุ่นเหลนของสุลต่านสุลัยมาน  เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อมาได้เข้าถวายตัวช่วยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ โปรดฯให้ไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุง และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น 'พระยาแก้วโกรพพิไชย' รั้งตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุงจนถึงรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ภาพในพระอุโบสถวัดวิหารเบิก ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามฝั่งถนนกับวัดวัง บริเวณเมืองพัทลุงเก่า ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย และเขียนภาพจิตรกรรมฝีมือเดียวกับทางวัดวังตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓
หน้าที่ 8/10


พอถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแม่ทัพเรือของกรุงศรีอยุธยาชื่อพระยาราชบังสัน (ตะตา) ผู้เป็นลูกหลานของสุลต่านสุลัยมาน เจ้าเมืองสงขลาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง

จึงนับได้ว่าเมืองเขาไชยบุรีคือเมืองพัทลุงในทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง

 

เมืองพัทลุงที่ปากน้ำลำปำ

พอมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การเดินทางทางทะเลจากนครศรีธรรมราชและจากทะเลหลวงมายังฝั่งพัทลุง ต้องเปลี่ยนมาใช้คลองขุด ซึ่งก็คือ 'คลองระโนด’ ที่ตัดผ่านคาบสมุทรในเขตอำเภอระโนดเข้ามาในทะเลหลวงภายในทะเลสาบสงขลา และมาขึ้นฝั่งยังท่าเรือที่ปากน้ำลำปำ จึงเกิด ‘เมืองพัทลุงใหม่’ ที่ลำปำแทนเมืองพัทลุงที่เขาชัยบุรี

บริเวณนี้ก็จะมีบ้านพักของเจ้าเมืองพัทลุงที่เรียกว่าวังเจ้าเมืองพัทลุงและวัดวังที่เป็นวัดในตระกูล ณ พัทลุงและตระกูลจันทโรจนวงศ์ รวมไปถึงการเป็นย่านตลาด และชุมชนวัดในช่วงต้นกร6งรัตนโกสินทร์อีกหลายแห่ง ถือเป็นย่านการค้าสำคัญ ก่อนเปลี่ยนจากการเดินทางทางน้ำและเรือโดยสารเลียบชายฝั่งทะเลเป็นทางรถไฟและรถยนต์ต่อมา

จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ มายังพัทลุงและสงขลา เมืองพัทลุงจึงย้ายตำแหน่งเมืองมาใกล้ทางรถไฟในบริเวณที่ราบภายในระหว่างเขาอกทะลุกับเขาคูหาสวรรค์จนปัจจุบัน

 


This article is the first part in the series: ‘The Peninsula of Siam’

Part 1: Urban Settlements in the Songkhla Lake Region

Article by Srisakra Vallibhotama

Overview

Songkhla Lake is the largest natural lagoon in the eastern coast of Thailand divided into three distinct parts, namely Thale Noi, Thale Luang and Thale Sap. This article is focused on examining the early urban development of Phattalung City around Songkhla Lake that was in relation with their locations and geography that allowed civilization to emerge.

The archaeological evidence suggests that Songkhla Lake area had been occupied by people since the Iron Age. Votive tablets found in caves related to Mahayana Buddhism show that small urban settlements were concentrated in the foothill areas from Rattaphum District in Songkhla Province to Khuan Khanun District in Phatthalung Province around the Srivijaya period.

Muang Sathing Phra and Khok Muang Wat Khian Bang Kaew were once Phatthalung City and Songkhla City prior to the late Ayutthaya period. The two cities, situated on each side of Thale Luang, were related to Theravada Buddhism (Lankawong) and were both designated by Ayuttaya as a center for temple and community governance. However, Phatthalung City and Songkhla City as we see today were formed in the late Ayutthaya period. The two cities had different origins in urban development.

Phatthalung City was formed first. The coastal communities were engaged in raising wild elephants which were used as a means of transport across the peninsula. Muang Sathing Phra and Khok Muang Wat Khian Bang Kaew also shared similar stories related to elephants. Phatthalung City during the 18th-19th Buddhist Centuries was a city that followed Theravada Buddhism bordering Siam and Malay.             

Songkhla City was a prosperous port city. It remained an independent state for only two generations before being defeated by Ayutthaya’s King Narai the Great. The city was then moved to Muang Khao Chai Buri which replaced Songkhla City as an administrative center. It was later ruled by a descendant of Songkhla City’s former governer Sultan Sulaiman. Therefore, it can be considered that Muang Khao Chai Buri was truly a historical city of Phatthalung City.

In the Rattanakosin era, the ‘New Phatthalung City’ was established at Lampam instead of the one at Khao Chai Buri. This was due to a change in how people travelled from Nakhon Si Thammarat and Thale Luang to Phatthalung via a man-made waterway called Ranote Canal. In the reign of King Rama V, there was a construction of railway connecting Bangkok to Phatthalung and Songkhla. As a result, Phatthalung City was relocated to be adjacent to the railway in the inland flat plain between Khao Ok Thalu and Khao Khuha Sawan which is now its current location.     

หน้าที่ 9/10

 

 

ภาพจิตรกรรมพุทธประวัติตอนออกมหาภิเนษกรมณ์ที่วัดวัง ใกล้ปากน้ำลำปำ เขียนราวสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยช่างที่ฝึกหัดเขียนจากกรุงเทพฯ ชื่อ นายสุ่น ต่อมาเป็นหลวงเทพบัณฑิตย์ กรมการเมืองพัทลุง

คำสำคัญ : ทะเลสาบสงขลา,โคกเมือง,วัดเขียนบางแก้ว,เขาเมืองชัยบุรี,เมืองพัทลุง
ศรีศักร วัลลิโภดม
อีเมล์: [email protected]
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมและสังคม ผู้สนใจศึกษางานทางโบราณคดีมาแต่วัยเยาว์จนปัจจุบัน ปรากฎผลงานเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
พรนลัท ปรัชญากร
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ภายหลังย้ายมาอยู่ไต้หวันกลายเป็นแม่บ้านลูกสอง มีอาชีพรับงานแปลและวาดรูปอิสระ
วิเชียร หลงละเลิง
อีเมล์: Wichianlonglalerng​@gmil.com,
ช่างภาพอิสระ
หน้าที่ 10/10