ผู้เข้าชม
0

'เขมรลาวเดิม' และร่องรอยคนลาวในสังกัดขุนนางเขมรที่วัดเกาะศาลพระ

'ชาวเขมรลาวเดิม’ ที่อยู่อาศัยกันในจังหวัดราชบุรีนั้นคือใคร มาจากที่ใด และทำไมจึงเรียกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งว่าเป็นชาวเขมรลาวเดิม ทั้งที่ชาวเขมร และชาวลาว นั้นมีความแตกต่างทั้งทางภาษาและชีวิตวัฒนธรรม บทความจะเชิญชวนให้มาตราจสอบเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงธนบุรี และการย้ายครัวชาวเขมรเข้าสู่สังกัดมูลนายใหม่ ในยุคเริ่มแรกหลังกรุงศรีอยุธยาสลายไป
21 สิงหาคม 2563



 

 

'เขมรลาวเดิม' 

และร่องรอยคนลาวในสังกัดขุนนางเขมรที่วัดเกาะศาลพระ

 

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

หน้าที่ 1/9


 

เอกสารงานศึกษาในจังหวัดราชบุรีและทั่วไปสรุปไปในแนวทางเดียวกันว่า ไม่สามารถสืบค้นเพราะไม่ทราบที่มาแน่ชัดว่า ‘ชาวเขมรลาวเดิม’ นั้นคือใคร มาจากที่ใด ทำไมจึงเรียกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งว่าเป็นชาวเขมรลาวเดิม ทั้งที่ชาวเขมร และชาวลาว นั้นมีความแตกต่างทั้งทางภาษาและชีวิตวัฒนธรรม

จากงานศึกษาท้องถิ่นของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี โดย พูลศรี จีบแก้ว กล่าวถึงถิ่นกำเนิดเดิมและสาเหตุของการอพยพครัวเข้ามาอยู่ในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียงในบางประการ กล่าวอย่างสรุป ได้แบ่งชาวเขมรลาวเดิมออกเป็นสองกลุ่มตามภาษาและสำเนียงการพูด คือ

๑. ชาวเขมรลาวเดิมที่พูดภาษาไทยปนลาว

มีความทรงจำจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า ‘ถูกกวาดต้อนมาจากทางเหนือ’ ใช้ภาษาลาวปนไทย นักภาษาศาสตร์กล่าวว่ามีคำสำเนียงภาษาลาวที่แตกต่างไปจาก ‘ภาษาลาวครั่ง’ ข้อมูลจากเอกสาร ๘ ชาติพันธุ์ในจังหวัดราชบุรี มีข้อสังเกตของผู้เก็บข้อมูลคือ ชาวเขมรลาวเดิมมีภาษาพูดสำเนียงคล้ายภาษาลาวอีสาน ศัพท์สำนวนบางคำคล้ายกับภาษาไทยเหนือและอีสาน เช่น เว้า แปลว่า พูด, บ่หย่าน แปลว่า ไม่กลัว, ไปเด๋ามา แปลว่า ไปไหนมา, ไปเฮ็ดนา แปลว่า ไปทํานา, ปวดแค้ว หรือ ปวดแข่ว แปลว่า ปวดฟัน, ไปเดี๋ยวหกคืน แปลว่า ไปเดี๋ยวเดียวแล้วจะกลับ, หกมื้อเด๋า แปลว่า กลับเมื่อไร, หกมื้ออื้น แปลว่า กลับพรุ่งนี้, ไปโพ้นไปพี้ แปลว่า ไปโน่นไปนี้, แย้มอีหยัง แปลว่า มองอะไร, หกบ้านมื้อได๋ แปลว่า กลับบ้านเมื่อไร

ชาวเขมรลาวเดิมที่พูดภาษาลาวเหล่านี้ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ระหว่างคลองน้ำอ้อมและแม่น้ำแม่กลองที่ต่อเนื่องมาจนถึงแนวถนนท้าวอู่ทองและบริเวณโดยรอบทางฝั่งตะวันตกทางอำเภอปากท่อและเรื่อยมาจนถึงคลองวัดประดู่ในอำเภอวัดเพลง นอกจากนี้ยังมีชุมชนในกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานข้ามไปจนถึงแถบอำเภอบางแพทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ได้แก่ ในเมืองพื้นที่ ‘บ้านพงสวาย’ ซึ่งเป็นเขตใกล้กับตัวเมืองราชบุรีในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกล่าวว่ามีบางส่วนอยู่แถบเจ็ดเสมียนและพื้นที่ในตำบลคุ้งกระถินรวมทั้งตำบลคุ้งน้ำวนในอำเภอเมืองราชบุรี, ตำบลวัดยางงาม ตำบลบ่อกระดาน ตำบลดอนทราย ในอำเภอปากท่อ และที่ตำบลวัดเพลง ตำบลเกาะศาลพระ ในอำเภอวัดเพลง, ตำบลหัวโพ ตำบลวังเย็น ตำบลวัดแก้ว ตำบลบางแพ ในอำเภอบางแพ และน่าจะกระจายต่อเนื่องอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดราชบุรีและจังหวัดเพชรบุรีตามแนวสันทรายคือ ‘ถนนท้าวอู่ทอง’ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญตั้งแต่จังหวัดราชบุรีถึงเพชรบุรี


 

๒. ชาวเขมรลาวเดิมที่พูดภาษาไทยปนเขมร

กล่าวว่าตั้งบ้านเรือนอยู่ในย่านเมืองและสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง โดยเฉพาะทางตะวันออกของเมืองราชบุรีบริเวณที่ติดกับเมืองราชบุรีเก่าที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๒ เช่นที่บ้านพงสวาย บ้านคลองแค บ้านคุ้งกระถิน บ้านคุ้งน้ำวน บ้านอู่เรือ บ้านรากขาม บ้านห้วยหมู และบ้านเด่นกระต่าย เขตอำเภอเมืองราชบุรี คือบ้านสมถะ ตำบลบางโตนด บ้านสนามชัย ตำบลเจ็ดเสมียน ในอำเภอโพธาราม และที่บ้านโคกพระ บ้านหนองกระทุ่มในอำเภอปากท่อ เป็นต้น บันทึกว่ายังพบว่ามีการใช้ภาษาไทยปนเขมรเป็นคำๆ เช่น โตวนามอ หรือโตวน่าม้อ แปลว่า ไปไหนมา, ดําบาย แปลว่า หุงข้าว, ซีบาย แปลว่า กินข้าว, ซีบายเหอยเน้อง แปลว่ากินข้าวหรือยัง, พ็อกตึ๊ก แปลว่า ดื่มน้ํา, บอง แปลว่า พี่, ปะโอน แปลว่า น้อง, ตักตึ๊ก แปลว่า ตักน้ํา, ตะแกจะค้ํา แปลว่า หมาจะกัด เป็นต้น

จะเห็นว่าพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรจะอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองบริเวณย่านเมืองเป็นกลุ่มหมู่บ้านหลายแห่งทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก และขึ้นเหนือไปถึงกลุ่มบ้านในตำบลเจ็ดเสมียนและต่ำลงไปทางลำน้ำแม่กลองจนถึงปากท่อ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ลาวนั้นมีแทรกอยู่ในพื้นที่ตั้งบ้านเรือนของกลุ่มเขมรอย่างใกล้ชิดกันด้วย และขยายออกไปทางคลองแม่น้ำอ้อมและพื้นที่โดยรอบ ดูว่าน่าจะเป็นกลุ่มใหญ่กว่ากลุ่มเขมรโดยประเมินคร่าวๆ

ในปัจจุบันทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ปะปนแต่งงานข้ามกลุ่ม และน่าจะกระจัดกระจายบ้านเรือนไปตามวิถีชีวิตการทำมาหากิน การบุกเบิกพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม จนแทบไม่พบร่องรอยของชุมชนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์โดดๆ จะมีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่อายุราว ๘๐ ปีขึ้นไป เช่น ที่รอบวัดเกาะศาลพระที่พอจะพูดในสำเนียงและถ้อยคำ ‘ลาว’ ได้ไม่กี่คำและเฉพาะบางคนเท่านั้น ชาวบ้านชุมชนเกาะศาลพระยังเลือกการการแสดงแบบ ‘เซิ้ง’ ปาดตาล ที่เป็นอาชีพพื้นฐานของคนในท้องถิ่นแต่เดิมเป็นอัตลักษณ์ในการแสดงทางวัฒนธรรม ซึ่งการเซิ้งที่มีวงกลองยาวประกอบก็ถือว่าเป็นการรื่นเริงของผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ลาวทั่วไป

จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่อยู่โดยรอบวัดเกาะศาลพระ ก็แน่ใจว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ‘ลาว’ จากถ้อยคำและสำเนียงพูดของผู้สูงวัย ซึ่งยากที่จะยินยอมพูดด้วยเพราะรู้สึกว่า การเป็นเขมรลาวเดิมสำหรับตนและผู้คนที่มีเชื้อสายนั้น ดูด้อยและน่าปกปิดต่อคนภายนอกมากกว่าที่จะเป็นเรื่องน่าชื่นชม

แต่อย่างไรก็ตามพวกเขายังคงยอมรับความเป็น ‘เขมร’ ลาวเดิม อย่างไม่แน่ใจว่าเป็นคนลาวหรือคนเขมร ซึ่งดูไปก็เห็นว่าไม่ได้ให้ความสำคัญในประเด็นนี้เท่าใดนัก

หน้าที่ 2/9


 

ประเพณีพิธีกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่ตกทอดสืบต่อมาและทำให้แยกความแตกต่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ได้มากกว่าคำบอกเล่าอื่นๆ ทางกลุ่มชาวลาว ผู้บันทึกข้อมูลอ้างถึงประเพณีการถือผีบรรพบุรุษที่ค่อนข้างเคร่งครัด และจะต้องบอกกล่าวเมื่อมีการบวช แต่งงาน และงานศพ  และการเลี้ยงผีตามสายตระกูลที่เรียกว่าเลี้ยงตามก๊ก ซึ่งเครื่องเซ่นจะแตกต่างกันในแต่ละตระกูล ส่วนตามบ้านจะมีหิ้งผีในห้องหนึ่งของบ้านเมื่อทำบุญวันสารท เทียบได้กับ ‘บุญข้าวสาก’ ของชาวลาวที่ต้องเลี้ยงผีบรรพบุรุษและผีไม่มีญาติตลอดจนผีตาแฮกตามไร่นา ซึ่งจะนำอาหารต่างๆ ใส่กระบะไปไหว้ตามศาลปู่ตาหรือโคนต้นไม้ใหญ่ ส่วนทางกลุ่มเขมรนั้นกล่าวกันว่ามีพิธี ‘โดนตา’ ซึ่งเป็นบุญสารทเดือนสิบเช่นกัน กลุ่มชาวเขมรเรียกกันทั่วไปว่าพิธีแซนโฎนตา เป็นการเลี้ยงผีบรรพบุรุษในช่วงวันสารทเขมร แต่ไม่แน่ใจในข้อมูลที่คัดลอกกันมาว่าเป็นการเก็บข้อมูลพิธีกรรมนี้จากท้องถิ่นในพื้นที่หรือไม่

ร่องรอยสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดูจะคลุมเครือนี้ ในนาม ชาว ‘เขมรลาวเดิม’ ไม่ได้มาจากการบอกเล่าของชาวบ้านในปัจจุบัน แต่เป็นการเทียบกลับไปในบันทึกจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง ตอนที่ ๘  พงศาวดารเขมร ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีจนนักองเองเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ กล่าวถึงในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. ๒๓๑๔ เกิดความขัดแย้งในกรุงกัมพูชา พระรามราชาหรือนักองโนน พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราชรามาธิบดีหรือนักองตน หนีเข้ามาพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี พระโสทัตหรือมักเทียนตื้อหรือพระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองเปียมหรือฮ่าเตียนที่อยู่ใกล้กับเมืองพุทไธมาศหรือบันทายมาศ ผู้ที่สนิทสนมกับสมเด็จพระนารายณ์ฯ เกณฑ์ไพร่พลในแขวงเมืองบันทายมาศและเมืองกรัง ยกทัพมาตีเมืองตราดและเมืองจันทบุรี กวาดต้อนผู้คนไปมาก จากเหตุที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ครั้งเสด็จมาทางตะวันออกเพื่อขอความช่วยเหลือและพยายามเป็นไมตรีต่อเมืองฮ่าเตียนในช่วงกรุงแตกฯ แต่ไม่ได้ผล และเมื่อเสด็จปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว หัวเมืองทางตะวันออกนั้นถูกโจมตีต่อเนื่องเรื่อยมา

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ให้จัดกองทัพบกมีเจ้าพระยาจักรีหรือต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นแม่ทัพยกไปทางเมืองปราจีนบุรี พานักองโนนหรือพระรามราชาไปด้วยในกองทัพ ส่วนกองทัพเรือนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จเดินเรือเลียบชายฝั่งไปเองตีได้เมืองเปียมหรือฮ่าเตียน แล้วยกไปตามคลองเล็กคลองน้อยเข้าสู่ภายในหัวเมืองเขมร ถึงพนมเปญหรือเกาะพนมเพ็ญ กองทัพเจ้าพระยาจักรีตีได้เมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ และเมืองบริบูรณ์ ซึ่งอยู่ในจังหวัดกำปงชนังในปัจจุบัน แล้วยกล่วงลงไปตีได้เมืองบันทายเพชรหรืออุดงมีชัยที่เป็นเมืองหลวงของเขมรหลังเมืองพระนครล่มสลายไปแล้วและมีเขาพระราชทรัพย์อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระราชวงศ์เขมรอยู่กลางเมือง

 

คุณลุงละเอียด ศรีสะอาด วัย ๘๔ ปี เชื้อสายชาวเขมรลาวเดิม ที่ยังคงพูดภาษาลาวได้บ้างเป็นคำๆ

หน้าที่ 3/9

 

พระอุโบสถเดิมวัดเกาะศาลพระ ริมคลองแม่น้ำอ้อม ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่

 

ศาลาริมน้ำหลังเก่าที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้ แต่ยังไม่มีงบประมาณซ่อมแซม ริมคลองแม่น้ำอ้อม วัดเกาะศาลพระ


 

สมเด็จพระนารายณ์ราชาสู้รบต้านทานไม่ได้ จึงพาครอบครัวหนีไปเมืองญวน เจ้าพระยาจักรียกทัพต่อไปตีได้เมืองบาพนม อยู่ในจังหวัดไพรแวงในปัจจุบัน มีภูเขาบาพนมเป็นเขาสำคัญในอดีต และเป็นเส้นทางเข้าสู่ออกแอวและบริเวณแขมร์กรอมหรือเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงซึ่งในขณะนั้นเป็นพื้นที่ซึ่งญวนกำลังเริ่มเข้ามายึดครองอย่างเข้มงวดในระยะต่อมา แล้วมาสมทบทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เกาะพนมเปญ

พอทัพไทยเลิกทัพกลับ สมเด็จพระนารายณ์ราชาก็พากองทัพญวนขึ้นมารักษาเมืองเขมรเช่นเดิม แต่หมายถึงใช้อำนาจทางการทหารของชาวญวนหรือเวียดนามในตระกูลเหงวียนในเวลานั้นที่ขยายอำนาจสู่ทางใต้สู่เขตอิทธิพลของชาวจามปาและดินแดนของเขมร เจ้าพระยาจักรีเดินทัพกลับยังสยาม ถึงมากลางทางทราบว่าญวนขึ้นมาช่วยเขมร จึงไปกวาดต้อนครัวจาก ‘เมืองบาราย เมืองโพธิสัตว์’

และจับ ขุนนางเขมร คือ พระยายมราช ชื่อ ควร พระยารามเดชะ ชื่อ มู พระยาไกร ชื่อ ลาย ‘พระยาแสนทองฟ้า’ ชื่อ ลาย รวมกับครอบครัวที่ได้ในกรุงนั้นหมื่นเศษส่งเข้ามากรุงธนบุรี แล้วตั้งปกครองเมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐไว้ 

ครัวเขมรที่เข้ามาครั้งนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔ สมเด็จพระจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ‘เมืองราชบุรี’

ในกลุ่มเมืองชื่อกำปงสวายหรือกพงสวายในชื่อเอกสารเก่า เมืองบาราย เมืองเชิงไพร มักอยู่ด้วยกัน และอยู่แถบจังหวัดกำปงธมและกำปงจามที่อยู่ด้านเหนือของทะเลสาปต่อกับเขตภูเขาสูงของกระแจะ และต่อแดนกับทางแขมร์กรอมหรือพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

จึงสันนิษฐานว่าผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมานั้น นอกจากมาจากเมืองโพธิสัตว์ที่มีเพลงเขมรโพธิสัตว์ยังเหลือเป็นร่องรอยหลักฐาน ก็อาจรวมไปถึงเมืองกำปงสวายที่เคยเรียกว่า 'กพงสวาย' ที่ยังมีบ้าน ‘พงสวาย’ เป็นกลุ่มบ้านใหญ่ของชาวเขมรลาวเดิมในเมืองราชบุรีฝั่งตะวันออกของลำน้ำแม่กลอง ‘เมืองบาราย’ ในเอกสารก็น่าจะอยู่อยู่ระหว่างจังหวัดกำปงธมและกำปงจามในปัจจุบัน ไม่ไกลจากเมืองกำปงสวายจึงพอเห็นความสัมพันธ์กัน

ส่วนตำแหน่งขุนนางเขมรที่ถูกกวาดครัวมาด้วยด้วยกัน คือ พระยายามราช (ควร) พระยารามเดชะ (มู) พระยาไกร (ลาย) และ พระยาแสนท้องฟ้า (ลาย) ซึ่งราชทินนามชื่อหลังนี้กลายมาเป็นตำแหน่งกรมการเมืองหรือผู้ปกครองกลุ่มชาวเขมรลาวเดิมในตำแหน่ง ‘พระแสนท้องฟ้า’  ซึ่งมีความเชื่อมโยงในช่วงเวลาต่อมาที่มีการกวาดต้อนชาวลาวบางกลุ่มที่มาอยู่สมทบกับชาวเขมรที่ราชบุรี

หน้าที่ 4/9


 

การจัดการจากราชสำนักกรุงธนบุรีในเมืองเขมรยังคงมีต่อมาจนเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ หรือสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ยกทัพจากกรุงธนบุรีไปถึงเมืองบันทายเพชรหรือเมืองอุดงมีชัย กราบทูล สมเด็จพระรามราชาหรือนักองโนนว่า จะขึ้นไปตีเมืองลาวตามลำแม่น้ำโขงจากเมืองอุดงในเขมรต่อเนื่องไปถึงเมืองเวียงจันทน์ จากที่เกณฑ์พลมาแล้วหมื่นหนึ่ง จะขอไพร่พลมาสมทบกับเสบียงอาหารอีกหมื่นหนึ่งด้วย

สมเด็จพระรามราชาให้เกณฑ์คนเมืองกระพงสวาย (กำปงสวาย) เมืองศรีสุนทร (สีทันดร) เมืองตะบงคะมุม ยกทัพเรือไปสมทบ ให้พระยาพระคลังของเขมรไปตั้งกองสีข้าวสารส่งกองทัพอยู่ที่เมืองกระพงธม เมืองกระพงสวาย จนราษฎรได้รับความเดือดร้อน พวกเขมรที่ไปทัพหนีทัพกลับมาหาครอบครัว สมเด็จพระรามราชาก็ส่งคนไปจับมาลงโทษ แต่ถูกราษฎรจับข้าหลวงและพระยาพระคลังนั้นฆ่าเสีย

สมเด็จพระรามราชาให้ไปเอาตัวพระยาเดโช ชื่อแทน พระยาแสนท้องฟ้า ชื่อเปียง พระยามนตรีเสน่หา ชื่อโส ซึ่งหนีทัพมาเมืองบันทายเพชร ให้ฆ่าพระยามนตรีเสน่หา แต่พระยาแสนท้องฟ้าน้องพระยาเดโชนั้นให้เฆี่ยน ๕๐ ที ถอดเสียจากที่ พระยาเดโชนั้นให้คงที่อยู่ตามเดิม แล้วให้คืนไปอยู่เมืองกระพงสวายดังเก่า

แต่ต่อมาก็เข้ากับฝ่ายญวนจับพระรามราชาประหารเสียในภายหลัง จนกลายเป็นการนำปัญหาเข้าสู่กลุ่มการเมืองสามฝ่ายคือ เขมร ญวน และสยาม อย่างชัดแจ้งในช่วงเวลาต่อมา’

จนข้ามปีต่อมา เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกหรือเจ้าพระยาจักรีแต่เดิมและเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ตีเมืองล้านช้างได้แล้ว จึงอพยพกวาดต้อนครัวกลุ่มใหญ่เข้ามาทางเมืองพันพร้าว แล้วให้ทัพเมืองหลวงพระบางไปตีเมืองทันต์ ญวนเรียกว่า เมืองซือหวี เมืองม่อย ๒ เมืองนี้เป็น ‘ลาวทรงดำ อยู่ริมเขตแดนเมืองญวน’ ได้ครอบครัวลาวทรงดำ พร้อมลาวเวียง ลาวหัวเมืองฟากโขงตะวันออกลงมาเป็นอันมาก

‘ลาวทรงดำ’ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เพชรบุรี ลาวเวียง ลาวหัวเมืองฟากโขงตะวันออก ก็โปรดเกล้าฯให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสระบุรีบ้าง เมืองราชบุรีบ้าง ตามหัวเมืองตะวันตกบ้าง อยู่เมืองจันทบุรีบ้าง

ดังนั้น กลุ่มที่ถูกอพยพมาในชุดหลังนั้นมี ‘ไทดำ’ หรือ ‘ชาวโซ่ง’ ในพื้นที่เมืองเพชรบุรีแถบอำเภอเขาย้อยเป็นสำคัญถูกอพยพเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ พร้อมกับกลุ่มลาวจากฝากตะวันออกของแม่น้ำโขง ซึ่งกล่าวรวมๆ ได้ว่านับแต่เมืองหลวงพระบาง เมืองหงสา ไล่ลงมาจนถึงกลุ่มลาวที่เวียงจันทน์ ซึ่งจะถือเอาสำเนียงเสียงพูดก็นับว่าต่างกัน และตั้งถิ่นฐานจากเดิมก็กระจัดกระจายออกไปอีกหลายแห่ง

 

วัดเกาะศาลพระ ย่านเขมรลาวเดิมที่เป็นชาวลาว ที่ริมแม่น้ำอ้อม อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี

หน้าที่ 5/9

 

พระเจดีย์แบบย่อมุมไม้สิบสองสูงใหญ่พอประมาณ น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลางมาแล้ว และถูกบูรณะใช้งานอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มชาวเขมรลาวเดิมผู้เข้ามาใหม่ ที่วัดเกาะศาลพระ จังหวัดราชบุรี

 


 

ซึ่งกลุ่มชาว ‘ญ้อ’ ถือเป็นชาวลาวจากเมืองหงสาที่พูดสำเนียงแบบหลวงพระบาง ชาวบ้านบางท่านที่วัดเกาะศาลพระจดจำว่าเป็นสิ่งที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านของตนสันนิษฐานถึงการพูดหรือสำเนียงเฉพาะในบ้านแถบวัดเกาะศาลพระ ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ามีความแตกต่างระหว่างกลุ่มลาวในสำเนียงการพูดที่อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าเขมรลาวเดิมนี้อีกเช่นกัน

แต่ที่มีนัยะซ่อนอยู่คือ การเริ่มต้นกวาดต้อนครัวนี้ตั้งต้นที่เมืองอุดงในเขมร และผู้ที่มีบทบาทคือขุนนางเขมรที่กำปงสวายหรือกระพงสวาย คือ พระยาเดโช (แทน) และพระยาแสนท้องฟ้า (เปียง) ที่เคยเป็นกำลังหลักในกองทัพเขมรจากกำปงสวายและกำปงธมไปตีล้านช้างนั้น แม้จะหนีทัพกลับมาแต่ก็น่าจะมีชาวเขมรติดทัพกลับมาพร้อมกับชาวลาวและไทดำไม่น้อย และชาวลาวส่วนหนึ่งให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ราชบุรี ซึ่งควรมาพร้อมครัวทัพเขมรที่ติดทัพมาจากกำปงสวายส่วนหนึ่งและสามารถเชื่อมต่อความสัมพันธุ์กับกลุ่มชาวเขมรที่เคยถูกกวาดต้อนมาจากเมืองบารายได้

ในอดีตเมื่อกวาดต้อนครัวชาวต่างๆ มาอยู่ ณ ที่ใด ก็จะให้ผู้ปกครองแต่เดิมดูแลปกครองคนในกลุ่มตน และให้ขึ้นสังกัดมูลนายเป็นไพร่หลวงบ้าง ไพร่สมบ้าง ไพร่ส่วยบ้าง ผ่านทางมูลนายที่เป็นขุนนางฝ่ายต่างๆ ที่ไปทัพกลับมาแต่ละคราว

กลุ่มชาวเขมรในการอพยพครัวระยะแรกมี พระยายามราช (ควร) พระยารามเดชะ (มู) พระยาไกร (ลาย) และพระยาแสนท้องฟ้า (ลาย) ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มผู้ดูแลปกครองชาวเขมรมาแต่แรก และรับผู้อพยพเพิ่มเติมที่สืบเนื่องจากการกวาดต้อนตั้งแต่เมืองอุดงในเขมรเรื่อยไปตามแม่น้ำโขงจนถึงเวียงจันทน์และหลวงพระบางตลอดไปจนถึงเมืองมอยและเมืองซือหวีต่อเขตแดนญวนที่กล่าวกันว่าคือเมืองม้วยในหัวพันและเมืองแถนในเมืองลาว ถูกนำไพร่พลเคลื่อนเข้ามาเป็นชุดแรก ก่อนจะอพยพจากเหตุต่างๆ มาอีกหลายระลอกในสมัยช่วงกรุงรัตนโกสินทร์

กลุ่มลาวเวียงและลาวหัวเมืองทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงนั้น หากอยู่ในกลุ่มที่ไม่ใช่ครัวจากบ้านเดียวเมืองเดียวกัน ก็อาจจะถูกจัดให้ไปรวมกับกลุ่มชาวเขมรที่ติดทัพมา และไปอยู่รวมกับชาวเขมรที่ตั้งเป็นกลุ่มใหญ่ต้นทางของการอพยพเก็บไพร่พลเมืองเข้าสู่บ้านเมืองหลังเสียกรุงศรีอยุธยาที่ถือว่ากลุ่มชาวเขมรนั้นเป็นกลุ่มผู้อพยพชุดแรกๆ ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีและหลังสมัยกรุงแตกฯ ไปแล้วเพียง ๔ ปี

สังเกตได้ว่ามีทั้งที่ บ้านพงสวาย ที่มีทั้งชาวเขมรและชาวลาวอยู่ด้วยกัน และกลุ่มชาวลาวที่เป็นกลุ่มทางริมแควแม่น้ำอ้อมทางอำเภอวัดเพลงและอำเภอบางแพเป็นกลุ่มใหญ่ที่แทรกอยู่กับกลุ่มชาวเขมรทางแถบปากท่อ โดยมีขุนนางที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบขุนนางของสยามเป็นผู้ปกครองดูแลโดยได้รับพระราชทานที่ดินทำกินตั้งถิ่นฐานสืบต่อมา

หน้าที่ 6/9


 

ตรวจสอบตระกูลกรมการเมืองที่ได้รับพระราชทานนามสกุลในครั้งรัชกาลที่ ๖ พบนามสกุล ‘ยมะคุปต์’ ผู้ขอพระราชทานคือ พระแสนท้องฟ้า (ป่อง) กรมการพิเศษเมืองราชบุรี ต้นตระกูลที่เป็นปู่ทวดคือ พระยายมราช (ควร) เขมร ผู้เข้ามาคราวกรุงธนบุรี ใน พ.ศ. ๒๓๑๔  ปู่คือพระบวรนายก (ณี)  บิดาคือ พระยาวิเศษสงคราม (มาด) ถือเป็นสายตระกูลตรงของขุนนางชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในระลอกแรก ซึ่งน่าจะสืบสายตระกูลปกครองชาวเขมรและลาวในเมืองราชบุรีซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่มาตั้งแต่บัดนั้น

ช่วงราวปลายรัชกาลที่ ๔ มีการขุดคลองในบริเวณภูมิภาคตะวันตกอันเนื่องมาจากผลของสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (พ.ศ. ๒๓๙๘) โดยเฉพาะทางแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีนหลายสาย แต่การขุดคลองที่สำคัญคือคลองภาษีเจริญจากทางฝั่งธบุรีเชื่อมกับทางแม่น้ำท่าจีน และคลองดำเนินสะดวก (พ.ศ. ๒๔๐๙-๒๔๑๑) ที่เชื่อมจากแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้ควบคุมดูแลและออกงบประมาณราว ๑,๐๐๐ ชั่ง โดยรัชกาลที่ ๔ พระราชทานพระราชทรัพย์ ๔๐๐ ชั่ง และใช้กำลังของทหาร ข้าราชการ ชาวบ้าน และชาวจีนร่วมกันขุด และทรงอนุญาตให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ และคนในสายตระกูลบุนนาคเข้าจับจองที่ดิน ๒ ฝั่งคลอง แต่ก็ปล่อยรกร้างไปจนมีการจัดระเบียบในคราวรัชกาลที่ ๕ หลังจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลแล้ว

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ถือเป็นผู้มีบารมี ท่านสร้างทำเนียบที่พักอยู่ที่ถนนวรเดช ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ซึ่งเป็นปีที่พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในขณะที่ศูนย์กลางที่ทำการของรัฐตั้งอยู่ที่เมืองใหม่ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง และในเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปพระราชทานแผ่นสุพรรณบัฏจารึกตำแหน่ง ‘สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์’ พร้อมด้วยเครื่องยศอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม เช่น เสลี่ยงงา กลด และดาบประดับพลอยลงยา  และโปรดเกล้าฯ ให้มีอำนาจสั่งการเด็ดขาดในราชการทุกอย่างทุกกรม รวมทั้งการสั่งประหารชีวิตผู้กระทำความผิดได้ ณ บ้านพักหลังนี้

ท่านชอบออกไปตรวจราชการตามหัวเมืองต่าง ๆ และพำนักอยู่ที่เมืองราชบุรีเป็นส่วนใหญ่ รวมเวลากว่า ๙ ปี จึงถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมที่ปากคลองกระทุ่มแบน ขณะกำลังเดินทางกลับจากราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕


 

หลังจากนั้นทำเนียบหรือบ้านนี้ตกเป็นของหลวง และใช้เป็นกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรีสมัยที่พระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรีคนแรกในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (เทียน บุนนาค) มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี จึงได้ย้ายที่ว่าการเมืองจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลองมารวมกับศาลาว่าการมณฑลเรียกว่า ศาลา‘รัฐบาลมณฑลราชบุรี’ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ในรัชกาลที่ ๖ จึงมีการสร้างศาลารัฐบาลมณฑลราชบุรีหลังใหม่ ปัจจุบันคืออาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี จึงใช้เป็นจวนเจ้าเมืองราชบุรีแทน

นอกจากอาคารที่พำนักและสร้างวัดศรีสุริยวงศ์ ใน พ.ศ. ๒๔๑๔ ท่านยังสร้างตึกแถวเป็นอาคารร้านค้าเพื่อให้คนมาเช่าทำกิจการต่างๆ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ชอบดูละคร นับสนุนให้มีละครหญิงขึ้นและฟังดนตรี ทั้งวงปี่พาทย์ของท่านยังเป็นวงที่มีชื่อเสียงมากวงหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ คณะละครและวงปี่พาทย์ของท่านได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในพระนครยุคนั้น เมื่อมาอยู่ที่ราชบุรีจึงมีสำนักดนตรีปี่พาทย์ที่ขึ้นชื่อและน่าจะเป็นต้นกำเนิดให้มีการปรับเพลง ‘เขมรโปสัต’ มาเป็นเพลง ‘เขมรโพธิสัตว์’ ด้วย

ท่านให้การสนับสนุนนักร้อง นักดนตรี และละคร ครูที่มีชื่อเสียงเยี่ยมยอด เช่น หม่อมสุด ครูมีแขก ครูทัต จ่าโคม และ ‘พระแสนท้องฟ้า’ ที่เป็นปี่พาทย์และนักขับเสภาที่มีชื่อเสียงมากในสำนักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยาวงศ์ (ช่วง  บุนนาค) ในครั้งรัชกาลที่ ๕ 

และพระแสนท้องฟ้าคนนี้น่าจะเป็นพระแสนท้องฟ้า (ป่อง) ผู้เป็นนายอำเภอและกรมการเมืองพิเศษในเวลาต่อมาด้วย เพราะสืบตระกูลมาจากพระยายมราช (ควร) ผู้เป็นทวดและเป็นเขมรจากโพธิสัตว์หรือเมืองบารายที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

พระแสนท้องฟ้า (ป่อง) ยังเป็นบิดาของ ครูสงัด ยมะคุปต์ ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถเป็นอย่างยิ่งในเรื่องปี่พาทย์ และมีความสามารถพิเศษในการขับเสภาของกรมศิลปากรในเวลาต่อมา ท่านแต่งงานกับ ครูลมุน ยมะคุปต์ ครูผู้ใหญ่ในวงการนาฎศิลป์ไทย นอกจากนี้ในเพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นนักดนตรีปี่พาทย์แห่งราชบุรีสืบต่อมาก็มีเช่น ‘ครูรวม พรหมบุรี’ ที่เรียนกับท่านเจ้าอาวาสวัดช่องลมในยุคนั้น

หน้าที่ 7/9


 

เพลงเก่าเพลงหนึ่งซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีคือ ‘เขมรโพธิสัตว์’ ไม่ทราบผู้แต่งแต่น่าจะกำเนิดมาจากกกลุ่มชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเพลงที่นักดนตรีไทยเดิมไม่ทราบชื่อแต่งให้เป็นเพลงสำเนียงเขมร นอกจากนี้ยังมีเพลงไทยสําเนียงเขมรอีกหลายเพลงที่ตั้งชื่อตามแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวเขมรเหล่านี้เช่น เขมรราชบุรี เขมรปากท่อ เขมรเขาเขียว

ทำนองเพลงเขมรโพธิสัตว์มีความไพเราะ จึงนิยมนำมาขับร้องและบรรเลงโดยทั่วไป ครูช้อย สุนทรวาทิน ได้นำเพลงเขมรโพธิสัตว์ ๒ ชั้น มาแต่งเป็นเพลงเถา  ท่านมีลูกศิษย์มากและหลายท่านที่มีชื่อเสียงเป็นครูผู้ใหญ่ในยุคต่อมาเช่น พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) พระยาเสนาะ ดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ครูเพชร จรรย์นาฎ พระประดับดุริยกิจ (แหยม) พระพิณบรรเลงราช (แย้ม) เป็นต้น ครูช้อยเป็นบุตรครูทั่งครูดนตรีผู้ใหญ่รุ่นใกล้เคียงกับพระประดิษฐ์ไพเราะหรือครูมีแขกซึ่งเคยอยู่ในอุปถัมภ์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

เพลงเขมรโพธิสัตว์เป็นเพลงไทยเดิมที่ไพเราะมากเพลงหนึ่ง โดยเฉพาะในอัตราจังหวะ ๒ ชั้น เพลงนี้นิยมเล่นกันในงานมงคล มีการนำเอาเพลงเขมรโพธิสัตว์ไปใช้ประกอบการฟ้อนรำ ต่อมาเพลงลูกกรุงทำนองไทยเดิมเขมรโพธิสัตว์ สองชั้นคือเพลงเพลงเขมรโพธิสัตว์แปลงหรือเพลง ‘นวลแข’ และเพลง ชั้นเดียว คือเพลง ‘นางอาย’

เพลงทำนองเขมรต่างๆ จึงสัมพันธ์กับกลุ่มชาวเขมรที่เข้ามาแต่แรก แต่ก็เพียงชื่อและร่องรอยบางอย่างเท่านั้น เพราะถูกปรับจากการอยู่อาศัยในท้องถิ่นร่วมกับชาวลาวกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาเป็นระลอกๆ โดยตลอดในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และถูกทำให้เป็นเพลงอย่างไทยในสำนักดนตรีจากเมืองหลวงที่อุปถัมภ์โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) นั่นเอง

 

 

 

 

หน้าที่ 8/9


 

วัดเกาะศาลพระ ถิ่นของชาวเขมรลาวเดิม

ชาวบ้านที่วัดเกาะศาลพระ แม้ถูกเรียกว่าชาวเขมรลาวเดิม แต่คำพูดหลายคำที่เหลืออยู่เป็นคำลาว บางท่านว่าบรรพบุรุษอาจจะเป็นชาวญ้อ ที่เป็นกลุ่มคนลาวจากทางเมืองหงสาแต่เดิม ซึ่งอาจจะเป็นไปได้มาก

วัดเกาะศาลพระอยู่ทางฝั่งตะวันตกริมคลองแม่น้ำอ้อมใน หมู่ ๘ ในตำบลเกาะศาลพระ ยังมีร่องรอยทางน้ำเก่าที่บางส่วนถูกลบไปแล้ว น่าจะเคยเป็นเกาะตามธรรมชาติมาก่อน พื้นที่ภายในวัดค่อนข้างร่มรื่นเนื่องจากมีต้นไม้ใหญ่ๆ พวกต้นไม้ตระกูลยางยังพอมีอยู่ และรอบๆ พระอุโบสถหลังเก่ายังมีต้นอินจันกล่าวกันว่ามีถึง ๘ ต้น แต่ละต้นขนาดใหญ่จนประเมินอายุน่าจะมากกว่าร้อยปีขึ้นไป และอาจมากกว่า ๒๐๐ ปี ตามประวัติตามช่วงเวลาการอพยพเข้ามาของผู้คนที่เรียกว่าชาวเขมรลาวเดิมตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และยังมีต้นอินจันอีกหลายต้นทั้งทางหน้าศาลาการเปรียญและกุฎิสงฆ์

ลูกอินนั้นผลกลมส่วนลูกจันนั้นผลกลมแบน ต้นอินจันมีทั้งสองสายพันธุ์อยู่ในต้นเดียวกัน และตั้งข้อสังเกตว่าต้นอินจันเหล่านี้เรามักพบตามวัดเก่าหรือตามวัดที่มีโบราณสถานเป็นปราสาทหินทางแถบพระตะบอง ก็พบต้นอินจันต้นใหญ่ๆ เป็นจำนวนมากเช่นกัน

พระอุโบสถหลังเก่า แม้จะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วก็ยังเห็นว่าเคยเป็นแบบตกท้องช้างหรือท้องสำเภา โค้งเล็กน้อย หน้าบันเป็นการปั้นปูนลวดลายพรรณพฤกษาและมีลิงและกระรอกป่ายปืนอยู่ช่วงล่าง และเคยประดับด้วยถ้วยกระเบื้องเคลือบซึ่งหลุดหายไปหมดแล้วมาก่อน ส่วนหน้าบันบนประตูทางเข้าเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณในพรรณพฤกษา งดงามมาก ในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่หน้าตักราว ๓  เมตรประดิษฐานอยู่เป็นประธาน ด้านซ้ายและขวามีพระโมคคลาน์และพระสารีบุตร

ช่อฟ้าใบระกาแบบสั้นๆ มีหลังคาพาไลโดยรอบและมีเสาขนาดใหญ่รองรับ  ซุ้มประตูทางเข้าทำเป็นแบบฐานสิงห์ ด้านบนเป็นปรางค์ขนาดสั้น รูปทรงพระอุโบสถและซุ้มประตูทางเข้าที่กำแพงแก้วเช่นนี้ทำให้นึกถึงพระอุโบสถและซุ้มประตูแบบวัดที่พบในประเทศกัมพูชา

ส่วนพระเจดีย์ด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสององค์ใหญ่ ทั้งรูปแบบและขนาดย่อมกว่าเจดีย์ประธานที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์หรือเจดีย์ศรีสุริโยทัยในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา แลเห็นเด่นชัดว่าเคยเป็นวัดสำคัญมาก่อนในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่นิยมสร้างพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองบนฐานเขียงยกสูงและฐานสิงห์รวมทั้งมีซุ้มจรนัมทั้งสี่ทิศ องค์ระฆังสี่เหลี่ยมบนฐานบัวสูงและยอดเป็นบัวคลุ่มจนถึงแกนเม็ดน้ำค้าง อายุสมัยควรมีอายุตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิลงมา มีการเขียนลวดลายและระบายสีที่ฐานหน้ากระดานที่องค์เจดีย์ น่าจะเป็นการเขียนในรุ่นซ่อมแซมใหญ่แล้ว ลวดลายมีอิทธิพลจีนอยู่มาก และถือว่าน่าจะซ่อมในรุ่นเดียวกับพระอุโบสถในยุคหลังกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเจดีย์ที่มีความงาม รูปทรงลงตัวและยังมีสภาพที่ดีอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ยังมีศาลาท่าน้ำ สร้างด้วยไม้ ที่มีสภาพทรุดโทรมมาก จนกลัวว่าจะหักพังทลายเสียในเร็ววัน แต่ชาวบ้านบอกว่ามีการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว และรอการซ่อมแซมจากกรมศิลปากร และจะไม่มีผู้ใดเข้าไปยุ่งเกี่ยว

คำสำคัญ : เขมรลาวเดิม,พระแสงท้องฟ้า,พงสวาย,ยมะคุปต์,สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

 

 

 

พระอุโบสถ วัดเกาะศาลพระ

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
อีเมล์: [email protected]
เจ้าหน้าที่วิชาการของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เริ่มทำงานกับมูลนิธิฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ ทำโครงการนำร่องร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่ง ก่อนทำงานศึกษาท้องถิ่นร่วมกับชาวบ้าน และปัจจุบันกลับมาสนใจศึกษางานโบราณคดี
หน้าที่ 9/9