ผู้เข้าชม
0

โควิด ๑๙ : อุบัติการณ์ ล้างโลก และสร้างโลก

ปรากฏการณ์โควิด ๑๙ ที่เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก โดยประกาศขององค์การอนามัยโลกตั้งแต่วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๓ จนถึงวันนี้ (๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๓) มีผู้ติดเชื้อกว่า ๑๐ ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า ๕ แสนคน อาจารย์ศรีศักรเขียนบทความเชิงวิชาการชวนให้ติดตามแนวคิดทางมานุษยวิทยาพื้นฐาน ให้เห็นความแตกต่างในวิธีการมองโลกและจักรวาลของคนตะวันตกและคนตะวันออก สังคมแบบผู้พิชิตโลกและผู้สยบยอมโลก และผลลัพท์ที่ปรากฏในทุกวันนี้
29 มิถุนายน 2563



 

 

 

โควิด ๑๙ : อุบัติการณ์ 'ล้างโลก' และ 'สร้างโลก'

ศรีศักร วัลลิโภดม

หน้าที่ 1/9

แนวคิดพื้นฐาน


 

แนวคิดทางมานุษยวิทยาสังคมเห็นว่าความเป็นมนุษย์หรือ มนุษยชาติ [Mankind] นั้นเป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สัตว์สังคม ซึ่งต้องอยู่รวมกันเป็น กลุ่ม [Group] จึงจะ มีชีวิตรอดได้ [Survival]

สัตว์สังคมมีหลายอย่างหลายประเภท แต่สัตว์สังคมที่เรียกว่า ‘มนุษย์’ หรือ ‘คน’ นั้นมีวิวัฒนาการทางชีววิทยามานานหลายขั้นตอนก่อนที่จะเป็นมนุษย์หรือคนขึ้นมาให้อยู่เหนือสัตว์โลกอื่นๆ ซึ่งนอกจากรูปร่างที่แตกต่างแล้วยังเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความคิดและสติปัญญา สามารถสื่อสารกันได้ด้วยระบบสัญลักษณ์

การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มที่เรียกว่า สังคม [Society] เป็น กลุ่ม [Group] ที่มีโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างกัน หาใช่การรวมกลุ่มกันชั่วคราวแบบที่เรียกว่า ม็อบ [Mob] ไม่ ในการอยู่รอดร่วมกันทางสังคมของมนุษย์นั้น ต้องมี วัฒนธรรม [Culture] คือสิ่งที่มนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นสังคมคิดและสร้างขึ้นเพื่อการมีชีวิตรอดร่วมกัน

เพราะฉะนั้น ทั้ง สังคม [Society] และ วัฒนธรรม [Culture] คือสิ่งที่แยกกันไม่ออก ประดุจเหรียญที่มีสองด้าน คำว่า วัฒนธรรม ในแนวคิดทางมานุษยวิทยาจึงไม่อยู่ลอยๆ หากต้องมีสังคมเป็นกรอบหรือ บริบท [Social context] ที่หมายถึงการแลเห็นการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มในมิติของ เวลา [Time] และ พื้นที่ [Space]

สัตว์สังคมอื่นๆ ก็มีการสร้างวัฒนธรรมเพื่อการอยู่รอดเหมือนกัน แต่วัฒนธรรมของสัตว์มนุษย์นั้น สร้างขึ้นด้วยความสามารถในการเรียนรู้และมีความคิดสติปัญญา ต่างจากสัตว์โลกอื่นๆ ที่สร้างวัฒนธรรมด้วยสัญชาติญาณ [Instinct] จึงทำให้วัฒนธรรมของมนุษย์เป็นวัฒนธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนรุ่นไป  ในขณะที่วัฒนธรรมของสัตว์สังคมอื่น หยุดนิ่ง [Static]

เพราะฉะนั้นการศึกษาสัตว์สังคมเช่นมนุษย์หรือคนนั้น จึงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นตามเวลา [Through time] และการเปลี่ยนแปลงก่อนเวลา [Over time] ในทำนองเดียวกันกับการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่ข้าพเจ้าเรียกว่า ประวัติศาสตร์สังคม [Social history] อันเป็นการศึกษาที่แลเห็นมิติทางสังคมกับมิติทางวัฒนธรรมไปด้วยกัน

 

 


 

ในมิติทางสังคมนั้นคือ การเห็น โครงสร้างสังคม [Social structure] ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างเช่นเรื่องของครอบครัว ชุมชน ชาติพันธุ์ บ้านเมือง และรัฐ เป็นต้น ที่มีการรวมกันเป็น องค์กร [Organization] ที่ข้าพเจ้าจะไม่ให้ความสำคัญเท่าใดในบทความ  แต่จะเน้นใน มิติทางวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลาย ความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นเรื่องของความคิดของมนุษย์ที่มีต่อตนเองและจักรวาล

เช่นเรื่อง การมองโลก [Worldview] ศาสนา ศีลธรรม ค่านิยม อุดมคติ ขนบธรรมเนียม ศิลปะ ประเพณี และวิถีชีวิต เป็นต้น

โดยการเขียนนี้จะเลือกเน้นการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ทางสังคมและวัฒนธรรมมาวิเคราะห์และวิจารณ์ ซึ่งเรื่องแรกและในคอลัมน์นี้คือ

ปรากฏการณ์โควิด ๑๙ กับการมองโลกมองสังคมของคนในหลายประเทศหลายสังคมในปัจจุบัน

 

โควิด ๑๙ : อุบัติการณ์ ‘ล้างโลก' และ ‘สร้างโลก’

ประสบการณ์และความคิดของข้าพเจ้าที่มีมา คิดแต่เพียงว่า มหันตภัย ที่มีอานุภาพในการทำลายโลกนั้น มีทั้งการกระทำของทั้งธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ มนุษย์ผู้เป็นสัตว์โลกที่ไม่มีสัตว์อื่นใดทำลายล้างได้ นอกจากมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น การผลิตยาเสพติด สงครามปรมาณูและนิวเคลียร์  ส่วนการกระทำของธรรมชาติก็เช่น แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด พายุทอร์นาโด เป็นต้น

แต่มหาภัยที่เป็นโรคห่าระบาดจนคนตายเป็นหมื่นเป็นแสนนั้น เป็นสิ่งที่รับรู้มาจากทางประวัติศาสตร์ ไม่เคยมีประสบการณ์ เช่น โรคระบาดในสมัยกรุงเทพฯ ตอนต้น ที่เอาศพคนตายไปทิ้งให้แร้งกินที่วัดสระเกศ หรือโรคระบาดซาส์และไข้หวัดนก แต่ก็ไม่ระบาดกว้างขวางไปทั่วโลก เพราะสามารถมีวัคซีนขึ้นมาแก้ไขได้

 

 

 

หน้าที่ 2/9

 


 

พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ หลังหยุดไปใน พ.ศ. ๒๔๗๕

 

 

 

 


 

ต่างกับโรคระบาดโควิด ๑๙ ที่เป็นประสบการณ์ของข้าพเจ้าในขณะนี้ ที่มีอานุภาพแผ่ซ่านไปทั่วทุกทวีปในโลก คนติดเชื้อเป็นจำนวนนับสิบล้านและตายหลายแสนคน ซึ่งเมื่อเห็นคนตายจากทีวีแล้วเป็นสิ่งน่าตกใจและสลดใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะบรรดาประเทศที่มีคนตายเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านนั้น ล้วนเป็นประเทศที่เป็นมหาอำนาจของโลกทั้งสิ้น

ต่างกับประเทศไทยที่เราอยู่ในขณะนี้ มีคนติดเชื้อเพียงจำนวนพัน ตายไม่ถึงร้อย และส่วนใหญ่ก็รักษาหายกลับไปบ้านได้เกือบหมด นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง

เพราะก่อนหน้าการเกิดโรคระบาดนี้ ข้าพเจ้าเคยคิดว่า สังคมไทยและประเทศไทยอยู่ในสภาพล้มละลายทั้งทางศีลธรรม [Demoralization] และความเป็นมนุษย์ [Dehumanization]

ดังเห็นได้จากคุณภาพและพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่สะท้อนออกมาจากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมเกษตรกรรมแบบชาวนามาเป็นสังคมอุตสาหกรรม แต่ครั้งรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคสงครามเย็น

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่โลกแบ่งออกเป็นสองค่าย ค่ายเสรีประชาธิปไตยแบบทุนนิยม กับค่ายสังคมนิยมประชาธิปไตยที่เรียกว่า คอมมิวนิสต์ ซึ่งมีรัสเซียและจีนเป็นหัวหอก เป็นสังคมเผด็จการ ในขณะค่ายเสรีประชาธิปไตยก็มีอเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศส ล้วนเป็นมหาอำนาจมาแต่ยุคอาณานิคมเป็นฝ่ายการปกครองแบบทุนนิยมเสรีที่เรียกว่า ประชาธิปไตย โดยอ้างความเป็นใหญ่ของประชาชนในแผ่นดิน ทำให้การปกครองบ้านเมืองต่อมาจากการเลือกตั้งมีรัฐสภาและกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นที่มาของอำนาจในการบริหารและปกครอง

สังคมไทยเป็นสังคมในระบอบราชาธิปไตยมาแต่โบราณกาล เป็นระบอบเผด็จการที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้มีอำนาจเด็ดขาดในแผ่นดินก็ตาม แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทางศีลธรรมและความเชื่อที่มาจากอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็น ‘ทศพิธราชธรรม’ ‘ทศบารมี’ และการเป็น ‘องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก’ ให้แก่ประชาชนที่มีศาสนาและชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันในแผ่นดิน

หน้าที่ 3/9

 


 

 

สรุปให้กระชับคือเป็นระบอบเผด็จการที่มีความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติควบคุม ถ้าหากทรงประพฤติผิดทางศีลธรรม ก็จะถูกอำนาจเหนือธรรมชาติลงโทษ เพราะฉะนั้นพระมหากษัตริย์จึงต้องสยบต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ โดยผ่านการกระทำทางประเพณีพิธีกรรมที่เป็นสิ่งสื่อสารให้ประชาชนซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองรับรู้

เมื่อมาถึงตอนนี้ก็หวนคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ไม่ได้ทรงเป็น เจว็ดภายใต้รัฐธรรมนูญ หากทรงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องทุกข์สุขของประชาชนร่วมกับทางฝ่ายรัฐบาลในลักษณะคู่ขนานในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจของบ้านเมือง ในยุคการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม ด้วยการเสด็จออกไปดูแลทุกข์สุขของประชาชนด้วยพระองค์เอง และทรงริเริ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ในการพัฒนาที่ได้ผล ดีกว่าการดำเนินการของทางรัฐบาลในรูปการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง

พระองค์ไม่เกี่ยวข้องและก้าวล่วงในการใช้อำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ หากใช้อำนาจทาง ปัญญาบารมี อย่างกษัตริยาธิราชเจ้าในอดีต พระองค์ไม่ต้องเสด็จฯ ไปประชุมที่รัฐสภา แต่ทรงนำบรรดาข้าราชการที่จงรักภักดีไปร่วมสาบานต่อหน้าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรในอุโบสถวัดพระแก้ว อันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเหนือจักรวาล ในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

เมื่อมาถึงตรงนี้ก็อดคิดไม่ได้ถึงสถานที่สัญลักษณ์ในถนนราชดำเนิน อันเป็นถนนที่เกิดขึ้นในสมัยราชาธิปไตย ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย สถานที่สำคัญมี ๓ แห่ง คือ

พระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วบนถนนราชดำเนินใน

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนินกลาง

และพระบรมรูปทรงม้าที่ปลายถนนราชดำเนินนอก

สถานที่ทางสัญลักษณ์ทั้งสามนี้แตกต่างกันในความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งอดีตและในปัจจุบัน

 


ภาพ 'ยมานตกะ' [Yamataka]  เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาแบบวัชรยาน

ให้ตระหนักถึงจุดหมายแห่งการเดินทางหรือการตื่นรู้ ในที่สุดคือความตาย

ภาพวาดยามะจากญี่ปุ่น ผู้พิพากษาความตาย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙  

หน้าที่ 4/9


ในยุคเสรีประชาธิปไตย พระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วกับพระบรมรูปทรงม้า คือ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ [Sacred] ในขณะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็น สาธารณ์ [Profane] ในการมองจักรวาลของคนไทยที่เป็นคนตะวันออก

การมองโลกมองจักรวาล [Worldview] นั้น เป็นจินตนาการอย่างหนึ่งในความเป็นมนุษย์ที่นักมานุษยวิทยารุ่นเก่าๆ เห็นว่ามีความแตกต่างกันของคนตะวันตกและตะวันออก คือ

คนตะวันตกมองจักรวาลว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมได้หรือสยบได้ โดยความรู้ทางธรรมชาติ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ที่ทำให้คนตะวันตกกลายเป็นมหาอำนาจเข้าครอบครองโลกทางวัตถุในขณะนี้

แต่คนตะวันออก เช่นคนไทย คนจีน และคนชาติอื่นๆ ในเอเชียมองจักรวาลในมิติที่มีสิ่งเหนือธรรมชาติซึ่งไม่อาจสยบได้ ต้องอาศัยการอ่อนน้อม อ้อนวอนด้วยประเพณีพิธีกรรมทางความเชื่อในศาสนาและไสยศาสตร์

โลกทัศน์ทำนองนี้ดูมีอิทธิพลมาถึงการมองความเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน ที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า

 

 

'พระยมกวัดไกวคทา' ตำรวจในเมืองเบงกาลูรูไล่ประชาชนที่กำลังขับขี่รถมอร์เตอร์ไซค์

ภายหลังรัฐกำหนดให้ห้ามออกนอกเคหสถาน การป้องการเชื้อโควิด ๑๙ ในอินเดีย

Darpan News Desk IANS, 10 Jul, 2018

คนอเมริกันประท้วงล็อคดาวน์การระบาดของโคโลนาไวรัสที่ ฮันติ้งตันบีช มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

ศุกร์ที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๓ 

Photo: Jeff Gritchen/MediaNews Group/Orange County Register/Getty Images


คนรุ่นใหม่และรัฐไทยมองความเป็นมนุษย์ตามฝรั่งว่ามนุษย์คือ ทรัพยากร [Human resource] ที่เป็นเรื่องทางวัตถุนิยมและเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อคุณค่าในทางเศรษฐกิจหมดไป เมื่อคนเข้าสู่วัยชราทำอะไรไม่ได้ก็หมดไปทั้งคุณค่าและมูลค่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการเกิดโรคโควิด ๑๙ ระบาด คนแก่ คนชราไม่มีประโยชน์แก่การที่จะรักษาพยาบาลให้มีชีวิตรอดอย่างคนรุ่นหนุ่มสาวที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ

ความโอหังทางวัฒนธรรมตะวันตกต่อจักรวาล ดังกล่าวนี้ เห็นได้ด้วยการคิดว่าไวรัสโควิด ๑๙ คือสัตว์ตัวเล็กที่สุดในจักรวาลที่มองไม่เห็นตัวต้องใช้ตาดูด้วยกล้อง อันเป็นอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ และเมื่อมีการพัฒนายารักษาโรคและวัคซีนขึ้นมาให้ทันการก็อาจหยุดยั้งและกำจัดให้หมดไปได้ แต่เผอิญที่ต้องตายกันเป็นเบือแทบทุกทวีปในโลกขณะนี้เพราะตั้งอยู่ในความประมาทจึงไม่ทันการ

ในขณะที่คนตะวันออก เช่นคนไทยและสังคมไทยที่ถูกวัฒนธรรมแบบอเมริกันครอบงำให้เป็นทาสทางสติปัญญา ให้เป็นสังคมประชาธิปไตยแบบอเมริกันอยู่นั้น กลับมีชีวิตรอดจากโควิด ๑๙ ได้ดีกว่าประเทศที่มีอำนาจ เช่น อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ในโลกเสรีประชาธิปไตย

 

หน้าที่ 5/9

 

พระยม [Dikpala Yama] ทิศปาลกยามะ 

เทพแห่งความตายและผู้รักษาทิศตามจักรวาลวิทยาในศาสนาฮินดู ทิศตะวันตกเฉียงใต้

 


 

ทั้งนี้เพราะยังมีคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบท้าทายจักรวาลแบบอเมริกันยังครอบงำไม่หมด อีกทั้งคนในสังคมส่วนใหญ่ยังเห็นมนุษย์เป็น 'คน' เป็น ‘จุลจักรวาล’ ที่มีมนุษยธรรม ไม่อาจทอดทิ้งได้ เป็นเหมือนทรัพยากรที่หมดคุณค่าได้

และเผอิญประจวบเหมาะกับผู้นำของรัฐบาลที่คนรุ่นใหม่กล่าวหาว่าเป็นจอมเผด็จการนั้น ตัดสินใจในภาวะวิกฤตของโรคระบาด ให้สุขภาพของประชาชนอยู่ก่อนและเหนือเสรีภาพ ทำให้ระดมกำลังแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางสาธารณสุข รวมทั้งการจัดการในเรื่องโรงพยาบาล สถานที่กักกันและพักฟื้นทั่วราชอาณาจักร รับมือการระบาดของโรคโควิด ๑๙ จนอยู่ในลักษณะที่ควบคุมได้ มีคนตายน้อยและหายป่วยมาก ดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

โดยย่อคนไทยและประเทศไทยอยู่ในภาวะรอดพ้นจากโรคระบาดในขณะนี้ แต่เหตุสำคัญที่คนไทยตายน้อยและรอดตายกว่าคนในประเทศทางตะวันตกและบรรดาประเทศอื่นๆ ที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมก็คือ

คนไทยไม่โอหัง

และท้าทายโรคร้ายอย่างคนในประเทศทางตะวันตกที่เห็นว่าโควิดไม่เป็นโรคที่ร้ายแรงจนเกิดการประมาท ตั้งตัวไม่ติดในด้านการรักษาพยาบาลจนขาดอุปกรณ์และสถานที่โรงพยาบาล และที่สำคัญไม่ระวังตัวเองในการใส่หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างที่จะทำให้เชื้อโรคระบาดได้ โดยเฉพาะผู้นำประเทศของประเทศเสรีประชาธิปไตย เช่น อเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ และบราซิล เป็นต้น ยิ่งทำให้เป็นประเทศที่มีคนติดเชื้อ และหายด้วยโรคระบาดเป็นจำนวนหมื่นแสนและล้าน

คนในโลกที่เจริญแล้วทางตะวันตกแลเห็นว่าไวรัสโควิด ๑๙ คือสัตว์โรคที่เล็กที่สุดในโลกที่อาจฆ่าได้ด้วยยารักษาโรคทางวิทยาศาสตร์

แต่คนไทยที่มองโลกอย่างคนตะวันออก 'ไวรัสโควิด๑๙' คือความตายแบบที่เคยระบาดและทำลายบ้านเมืองและชุมชนมาแล้วในอดีต จนทำให้เกิดบ้านร้างเมืองร้างและความอดอยาก พอเกิดภัยพิบัติขึ้นมาอีกในครั้งนี้ทำให้สำนักชุมชนครอบครัว และวัฒนธรรมความเชื่อในอดีตหลายๆ อย่างกลับฟื้นคืนมาอย่างน่าประหลาด

ทางรัฐบาลทุ่มเทงบประมาณนอกจากการรักษาพยาบาลแล้วยังแจกเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ เพื่อประทังความอดอยาก และคนในสังคมในชุมชนที่พบมีพอกินก็ออกมาแจกของปันของในเรื่องอาหารการกิน  จนเกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาเช่น ตู้แบ่งปัน อะไรทำนองนั้น คนรวยแจกเงินแจกของ ซึ่งรวมทั้งบรรดาร้านค้า ร้านอาหาร แต่ที่สำคัญก็คือ วัดกลับมาทำหน้าที่แบบเดิมในการวัดแจกอาหารให้กับคนในชุมชน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากเมตตาธรรมในทางพระศาสนาที่เคยมีการอบรมปลูกฝังกันมาในอดีตแต่ครั้งบ้านเมืองยังอยู่ในระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตย

ซึ่งนอกจากวัดอันเป็นสถาบันทางศาสนาแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังทำหน้าที่นี้ในการบริจาคและส่งสิ่งของจำเป็นแก่ชีวิต เช่นเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ และอาหารให้แก่ประชาชนและชุมชนในยามวิกฤติ เป็นสิ่งที่สืบทอดอย่างไม่ขาดระยะมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๙

หน้าที่ 6/9


 

สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในประเทศในยุคไวรัสโควิด ๑๙ ระบาดครั้งนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า มฤตยูโควิด ๑๙ มีทั้งการทำลายล้างและการสร้างสรรค์ตามความเชื่อในทางพุทธศาสนาที่คนทำบาปและมีบาปก็ต้องชดใช้กรรมล้มตายไป ส่วนคนที่ทำบุญและมีบุญ มีเมตตาธรรมก็คือคนที่รอด

แต่ก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่าคงจะอยู่รอดในช่วงเวลานี้เท่านั้นในหมู่ของคนที่ยังมีการมองโลกแบบตะวันออกที่กำลังจะกลายเป็นคนรุ่นเก่า เพราะคนรุ่นใหม่ที่มองโลก มองสังคมและวัฒนธรรมแบบคนตะวันตกที่เป็นพวกวัตถุสังคม เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และคลั่งไคล้เสรีภาพในการปกครองทุนนิยมประชาธิปไตยที่ลอกเลียนแบบมาจากอเมริกัน กำลังจะเติบโตเป็นคนส่วนใหญ่และรุ่นใหม่ของประเทศ กำลังเคลื่อนไหวและเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที

ในช่วงเวลาขณะนี้ที่การดำเนินงานของทางรัฐบาลในด้านสาธารณสุขที่ทำให้ได้ชัยชนะเหนือความตายของโควิด ๑๙ นั้น ก็เพราะนายกรัฐมนตรีมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ในเรื่องสุขภาพเหนือเสรีภาพนั่นเอง 

ถ้าหากนำมาเป็นอุดมการณ์สำคัญในระบอบการปกครองต่อไปว่า สังคมไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อมีชีวิตที่ดี มีสุขภาพทางกายและใจ โดยไม่จำเป็นจะต้องมีเสรีภาพอยู่เหนืออื่นใดแล้ว ก็น่าจะนำมากล่าวได้เต็มปากว่า นี่แหละคือประชาธิปไตยแบบไทยๆ

เมื่อมาถึงตรงนี้ข้าพเจ้าก็อดนึกไม่ได้ว่าที่จริงใน ยุคสงครามเย็น นั้น ประเทศทั้งสองค่ายในโลกต่างก็อ้างตนว่าเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน คือ เสรีทุนนิยมประชาธิปไตย  กับ สังคมนิยมประชาธิปไตย  ที่ประเทศไทยและคนไทยเรียกว่าเป็นระบบการปกครองเผด็จการคอมมิวนิสต์

เมื่อโควิด ๑๙ อุบัติขึ้นนั้นเกิดขึ้นในประเทศจีนที่เป็นประเทศผู้นำในระบบสังคมนิยมประชาธิปไตยลุกลามใหญ่โต คนจีนติดเชื้อและตายมากที่สุด แต่จีนกลับแก้ไขโดยทุ่มการดำเนินการทุกอย่างในทางสาธารณสุข ทั้งการสร้างโรงพยาบาล การเพิ่มบุคคลากรทางการแพทย์ แล้วใช้ระบบเผด็จการบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ไม่มีการโต้เถียง โรคภัยก็สงบลงในเวลารวดเร็ว และจีนก็เปิดประเทศได้ตามปกติ

และสิ่งสำคัญที่ข้าพเจ้าประทับใจกับประธานาธิบดีของจีนที่ประกาศว่า รัฐบาลจีนจะไม่ยอมให้คนจีนต้องตายด้วยโรคร้ายนี้แม้แต่คนเดียว ดูแล้วก็คือการให้ความสำคัญกับชีวิตและสุขภาพของประชาชนเหนืออื่นใดในระบอบการปกครอง


 

ข้าพเจ้าก็เลยนึกปลงสังเวชว่า เป็นเวรกรรมอันใดที่ทำให้ต้องมาเลือกการปกครองแบบทุนนิยมเสรี ที่เป็นเรื่องการเน้นความเป็นเสรีภาพของปัจเจกชนที่มีความเหลื่อมล้ำคนจนและคนรวย ดังที่แลเห็นอยู่ทุกวันในขณะนี้ 

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้หดหู่ใจในช่วงวิกฤตการณ์โควิด ๑๙ นี้ก็คือ ความไร้เดียงสาและไร้จิตสำนึกของบรรดานักการเมืองรุ่นใหม่ที่ปลุกระดมให้คนเป็นปรปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการนำเอาประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่มีการทำลายเพื่อล้มล้างพระมหากษัตริย์ โดยมีการทำลายคุกบาสตีลเป็นสัญลักษณ์ เพราะประชาชนถูกกดขี่จากทางรัฐ ทำให้เกิดความยากจนและอดอยาก จึงต้องตะโกนออกมาว่า “แปง แปง” คือเรียกหาขนมปัง นั้นคือฝรั่งเศส

แต่เมืองไทยภายใต้การปกครองที่แบบราชาธิปไตยที่มีมานับเป็นพันปีไม่เคยปรากฏมีความทุกข์ยาก อดอยากของประชาชน จนต้องมีการปฏิวัติโดยคนที่เป็นประชาชนคนเบื้องล่าง การปฏิวัติรัฐประหารเป็นสิ่งที่จำกัดอยู่กับการแย่งชิงอำนาจกันเองในหมู่ชนชั้นปกครองเท่านั้น แม้แต่การปฏิวัติใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็หาใช่ประชาชนจากเบื้องล่างได้ทำจนสำเร็จ ด้วยเหตุนี้จึงต้องประนีประนอมกันด้วยการเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จากประสบการณ์ทางวิชาการของข้าพเจ้า ความคิดที่จะทำลายสถาบันกษัตริย์นั้น มาจากสถาบันการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนั่นเองที่อบรมสั่งสอนบรรดาคนไทยที่ไปเรียนว่า สถาบันกษัตริย์เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของการปกครองของเสรีประชาธิปไตย

นับเป็นการใช้แนวคิด ‘วิวัฒนาการทางสังคม’ [Evolutionalism]  อย่างโดดๆ โดยไม่คำนึงว่ายังมีแนวคิดอื่น เช่น ทฤษฎีในเรื่อง ‘โครงสร้างและหน้าที่’ [Structural functionalism] มาอธิบายได้ว่า การยังมีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ ต้องการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ก็เพราะยังมีหน้าที่และความหมายต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยอยู่ ซึ่งก็แลเห็นได้จากพระราชกรณียกิจที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพัฒนาประเทศในลักษณะคู่ขนานกับรัฐบาลด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำให้คนไทยได้ฟื้นฟูชุมชนและท้องถิ่นของคนให้มีความมั่งคงในเรื่องอาหารและชีวิตวัฒนธรรมอย่างที่เคยมีมาในอดีต และหลุดจากการเป็นทาสปัญญาของอเมริกันและคนตะวันตก อย่างแลเห็นได้ในระยะเวลาที่โควิด ๑๙ ระบาดทุกวันนี้

สำนึกในเรื่องชุมชนและการรักแผ่นดินเกิดกลับมา คนที่ไปอยู่ต่างประเทศต่างทยอยกันกลับมาภายในบ้านเกิดเมืองนอนของตน และคนในชุมชนทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าเกิดความรักและความเมตตาที่จะช่วยเหลือคนที่ยากไร้และมีทุกข์ด้วยการแบ่งปันกันในเรื่องอาหารการกินและสิ่งจำเป็นแก่ชีวิต อย่างเช่นการเกิด 'ตู้ปันสุข' ที่แพร่กระจายไปแทบทุกแห่ง เป็นต้น

หน้าที่ 7/9

 

 


 

เลยคิดว่าคนไทยคงไม่มีวันอดอยากแบบคนอดอยากในฝรั่งเศสที่ต้องไปทำลายคุกบาสตีล และกำจัดสถาบันกษัตริย์อย่างที่นักวิชาการและนักการเมืองรุ่นใหม่ไร้เดียงสาปลุกระดมกันอยู่ในขณะนี้

ก่อนหน้าอุบัติการณ์โควิด ๑๙ นี้ ข้าพเจ้าเคยมีความคิดแบบสิ้นหวังในสังคมไทยที่เริ่มมาแต่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม เปลี่ยนสังคมเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรมแต่ครั้งรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะถูกอเมริกันครอบงำไปเกือบทั้งหมดทางวัฒนธรรมให้กลายเป็นสังคมทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยจนเกิด ภาวะล่มสลายทั้งด้านศีลธรรม [Demoralization] และ ความเป็นมนุษย์ [Dehumanization]

คือเห็นได้จากคนทั้งรุ่นใหม่และเก่าเป็นทาสของอบายมุข นับแต่การทุจริตคอรัปชั่นในแทบทุกวงการ การเป็นทาสยาเสพติดในหมู่คนรุ่นใหม่ที่มีผลให้เกิดอาชญากรรมแทบทุกเมื่อเชื่อวัน  การฆ่ากันเอง และการผิดประเวณีระหว่างพ่อแม่ลูก และญาติพี่น้อง ศาสนาเสื่อม เกิดอลัชชีที่กลายเป็นอาชญากร รวมทั้งการทำลายสภาพแวดล้อมกัน เนื่องจากการขยายตัวทางอุตสาหกรรมและสร้างบ้านเมืองแบบใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดความแออัดเกิดมลภาวะในน้ำในดินและอากาศเหล่านี้ เป็นต้น

โดยเฉพาะการทำลายสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ทำให้เกิดโรคร้อนขึ้น มีผลทำให้เกิดภัยพิบัติในด้านต่างๆ เช่นน้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุหมุนและคลื่นยักษ์ ดังกล่าวนี้มีคนรุ่นเก่าๆ มักกล่าวว่าเป็นเพราะธรรมชาติจะเอาคืน จึงเกิดภัยพิบัติขึ้น แต่คนหลายคนรวมทั้งข้าพเจ้าเองเห็นเป็นบาปกรรมของมนุษย์ที่จะต้องถูกอำนาจเหนือธรรมชาติลงโทษด้วยการทำลายล้าง และเปิดโอกาสให้คนที่มีศีลธรรม มีมนุษยธรรมได้สร้างชีวิตใหม่ขึ้น

โควิดคือไวรัสตัวเล็กที่สุดในจักรวาลที่พวกมนุษย์ที่คิดว่า จักรวาลคือสิ่งที่ควบคุมได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะทำลายล้างเมื่อไหร่ก็ได้ และความโอหังบังอาจนี้ทำให้เกิดอาการ การ์ดตก จึงเกิดการตายเกือบทั้งโลก

แต่ข้าพเจ้าเป็นคนตะวันออกรุ่นเก่าที่มองว่าในโลกและจักรวาลหาได้มีความสัมพันธ์เฉพาะมนุษย์และสิ่งมีชีวิตกับธรรมชาติแต่อย่างเดียวไม่ หากเหนือธรรมชาติยังมีสิ่งเหนือธรรมชาติอันเป็นมิติทางจิตวิญญาณ

 


 

ข้าพเจ้าไม่มองโควิด ๑๙ เป็นสัตว์ไวรัสตัวเล็กๆ แต่เป็นความตายที่เป็นการกระทำของอำนาจเหนือธรรมชาติในกระบวนการลงโทษลงทัณฑ์กับคนบาปที่ไม่น่าจะเป็นเหยื่อของโควิดในครั้งนี้เท่านั้น หากจะมีหลายระลอกที่คาดไม่ได้ว่าจะเป็นอะไรในภายหน้า

แต่ครั้งนี้อยากจะเขียน  รำพันพิลาป ให้แก่บรรดาผู้ที่เป็นนักประชาธิปไตยเสรีทุนนิยมแบบอเมริกันว่า

 

“ประชาธิปไตยขามขู่

ถูกตู่ถูกปด

ยอมทู้บูชา    

ไม่กล้าทรยศ

ลงท้ายตายหมด   

โควิดเจ้าเอย”

หน้าที่ 8/9


Covid-19: Global Destruction and Creation

Srisakra Vallibhotama 

Translated by Pornnalat Phachyakorn

Overview

With the worldwide spread of Covid-19 (corona virus disease 2019) pandemic, Mother Nature has reminded us of our fragility as well as reflected on our arrogance and careless behaviour towards our planet. Over 30 million people have been infected with Covid-19 and nearly one million people around the world have died. This article will focus on analyzing different world views over the phenomenon of Covid-19 pandemic based on the cultural dimension.

In Western cultures, advanced science and technology are considered major tools that can be used to control and overcome nature. As a result, many developed countries, such as the United States, France and the United Kingdom, merely view the viruses that cause Covid-19 as tiny organisms that can be eradicated by science-based medicine. Moreover, under Western democratic capitalism, humans are seen as an economic resource that can become redundant when one turns useless or old. Such an arrogant world view has downplayed the seriousness of the incident and allowed people to be reckless, resulting in high infection and death rates in these regions.

On the other hand, people in Eastern cultures, including Thailand, are still relatively influenced by traditional beliefs in supernatural beings that cannot be defeated and need to be shown respect through practices of religious and occult rituals. Therefore, Eastern people see the infectious corona virus as a kind of death that has plagued and destroyed cities and communities in the past and have acted accordingly. At the start of the epidemic, there were fears that Thailand could be hard hit and might not survive. Surprisingly, Thailand has seen much lower rates of Covid-19 infections and fatalities when compared to many developed countries. It can be said that Thais’ modesty and humility towards the incident greatly contributed to the country’s success in the pandemic control.

คำสำคัญ : ปรากฏการณ์โควิด ๑๙,การมองโลก [Worldview],สภาพล้มละลายทั้งทางศีลธรรม [Demoralization] และความเป็นมนุษย์ [Dehumanization],ทศพิธราชธรรม,กฎหมายรัฐธรรมนูญ

Oddly enough, this pandemic has revived many long-lost cultures and beliefs in Thai society such as temples serving their original purpose in distributing food for local communities and the restored sense of community. There has been a great deal of public cooperation and participation as well as the implementation of highly effective measures by the government and related agencies in an attempt to control the outbreak. Such success is achieved despite the Western concept of democratic capitalism being dominant in the present Thai society. Social capitalist China also appears to manage the pandemic crisis more efficiently than the Western world.

Thus, the deadly Covid-19 outbreak has shown that democratic capitalism is not the right and only answer for all societies particularly in a time of crisis. It can be seen that Thailand could thrive better when we return to our traditional way of life under constitutional monarchy. Natural disasters are Mother Nature’s way of retaliating the human race. Those who are sinned are to be punished by supernatural powers while, at the same time, giving the virtuous ones a chance of a new beginning.

 

ศรีศักร วัลลิโภดม
อีเมล์: [email protected]
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมและสังคม ผู้สนใจศึกษางานทางโบราณคดีมาแต่วัยเยาว์จนปัจจุบัน ปรากฎผลงานเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
พรนลัท ปรัชญากร
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ภายหลังย้ายมาอยู่ไต้หวันกลายเป็นแม่บ้านลูกสอง มีอาชีพรับงานแปลและวาดรูปอิสระ
หน้าที่ 9/9