กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทสด๊กก๊อกธมครั้งแรก ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ วันที่ ๘ มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ต่อมาได้กำหนดเขตพื้นที่โบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนพิเศษ ๘๑ ง วันที่ ๑๕ กันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ รวมพื้นที่โบราณสถาน ๖๔๑ ไร่ ๒ งาน ๘๒ ตารางวา การจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรได้อนุรักษ์ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๖ – ๒๕๕๗ ตามหลักการอนุรักษ์และบูรณะโดยวิธีอนัสติโลซิส บนพื้นฐานของงานโบราณคดี
ฃ
หน้าบันของปราสาท จะเห็นลักษณะของหินที่แตกต่างกัน
จากการบูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซิส
วิทยานิพนธ์ ‘อนัสติโลซิสเพื่อการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม (An anastylosis for the restoration of sdok kok thom temple) โดย วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกเชี่ยวชาญด้านโบราณสถาน เป็นการวิจัยเกี่ยวกับวิธีการอนุรักษ์โบราณสถานประเภทหินที่เรียกว่า อนัสติโลซิส
วิธีการวิจัยได้เริ่มต้นจากการทบทวนสารสนเทศงานวิจัยที่เกี่ยวข้องงานศึกษาในช่วงก่อนหน้านี้ของผู้วิจัยเกี่ยวกับอนัสติ-โลซิส รวบรวมข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งแนวคิดของ ดร.สัญชัย หมายมั่น ผู้เป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ปราสาทหินในประเทศไทย
ข้อมูลจากการทดลองประกอบหินหล่นและการขุดแต่งมาผสมผสานกันเข้าเป็นข้อมูลทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานที่สามารถตรวจสอบและยืนยันได้ ด้วยการศึกษาเปรียบเทียบกับรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรที่มีการเรียงลำดับอายุสมัยไว้แล้วโดยนักวิชาการชาวฝรั่งเศส
จากการวิเคราะห์แต่ละองค์ประกอบทำให้สามารถสรุปได้ว่าสิ่งก่อสร้างของปราสาทสด๊กก๊อกธมที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างยุคสมัยคลังหรือเกลียง และสมัยบาปวน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ สอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ ๒ ซึ่งระบุถึงรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างปราสาทบาปวนขึ้นเป็นปราสาทประจำรัชกาลที่เมืองพระนคร แต่ด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมในบางองค์ประกอบที่ยังคงมีรูปแบบค่อนข้างโน้มเอียงไปในลักษณะของยุคก่อนมากกว่า
จึงสันนิษฐานได้ว่า เป็นการปฏิสังขรณ์เทวาลัยที่มีมาก่อนการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ หรือเป็นการก่อสร้างในช่วงตอนต้นของรัชสมัย โดยมีองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่ให้ข้อมูลสำคัญที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะของยุคสมัยที่ทำการก่อสร้างปราสาท เช่น รูปแบบของปราสาทประธาน และการตั้งเสาหินที่มีลักษณะเหมือนเสานางเรียงขนาดเล็กล้อมรอบปราสาทประธาน เหมือนเป็นการแสดงถึงปริมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์ที่ยังไม่มีหลักฐานปรากฏที่ใดมาก่อน ดังนั้นลักษณะทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของปราสาทสด๊กก๊อกธม จึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบเพื่อกำหนดอายุสมัย