เพราะพบจารึกหลายหลักในบริเวณนี้ที่สัมพันธ์กับกษัตริย์ในวัฒนธรรมเจนละ เช่น ‘จารึกที่ช่องสระแจง’ ซึ่งกล่าวพระนามของ ‘กษัตริย์มเหนทรวรมัน’ สร้างบ่อน้ำในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบริเวณที่อยู่บนช่องเขาพนมดงเร็ก ซึ่งเป็นเส้นทางเดินทางสู่บ้านเมืองในพื้นราบของอำเภอตาพระยา กษัตริย์มเหนทรวรมันคือพระองค์เดียวกันกับเจ้าชายจิตรเสนวรมันของเจนละบกที่อยู่ในที่ราบสูงโคราช ผู้ทรงจารึกพระนามไว้ตามสถานที่ต่างๆ เมืองต่างๆ สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ต่อมาเจ้าชายจิตรเสนพระองค์นี้ได้เข้ามาเป็นใหญ่ในเจนละน้ำ คือพื้นที่รอบทะเลสาบเขมรในพระนามว่า ‘มเหนทรวร-มัน’ เพราะพระองค์ทรงมีศักดิ์เป็นพระอนุชาของ ‘ศรีภววรมัน’ ผู้เป็นใหญ่ของแคว้นเจนละและเป็นพระราชธิดาของ กษัตริย์อิศานวรมันผู้ครองเมืองสมโบร์ไพรกุก เป็นนครหลวงของเจนละน้ำใกล้กับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
นอกจากจารึกที่กล่าวถึงพระนามของ มเหนทรวรมัน ที่ปราสาทช่องสระแจงแล้ว ยังพบจารึกที่เอ่ยพระนาม ศรีภวรวรมัน ข้อความจากศิลาจารึกได้แสดงให้เห็นภาพเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองหลายบริเวณ คือบริเวณทะเลสาบเขมรและลุ่มน้ำโขงตอนล่าง บริเวณลุ่มน้ำมูล-ชีตอนล่างในเขตลุ่มน้ำโขงตอนบน และบริเวณจังหวัดจันทบุรี
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เสนอว่าบ้านเมืองในบริเวณนี้แสดงให้เห็นความแตกต่างในระดับโครงสร้างข้างบน อันเป็นเรื่องของศาสนา การเมือง และสถาบันกษัตริย์แบบศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ โดยเฉพาะศาสนสถานสำคัญของฮินดูคือ ปราสาทและเทวสถาน ทางพุทธเถรวาทคือ สถูปหรือธาตุ ส่วนโครงสร้างข้างล่าง อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องการตั้งถิ่นฐานและชีวิตในการกินอยู่อาศัยโดยเฉพาะเครื่องมือเครื่องใช้เครื่องประดับ และบรรดาภาชนะลักษณะเป็นวัฒนธรรมแบบทวารวดี
ในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ บ้านเมืองบริเวณนี้ไม่ปรากฏว่าเป็นชุมชนที่เป็นบ้านเมืองสำคัญเช่นในอดีต แต่กลายเป็นเมืองหรือชุมชนเมืองด่านที่อยู่ในเส้นทางข้ามภูมิภาคที่เป็นปากประตูไปสู่บ้านเมืองในเขตเขมรต่ำและบริเวณรอบทะเลสาบเขมร รวมทั้งเป็นเส้นทางเดินทางสู่บ้านเมืองในเขตอีสานใต้โดยใช้ช่องเขาของเทือกเขาพนมดงเร็กผ่านไปสู่บ้านเมืองต่างๆ ในเขตชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะทางจันทบุรีที่สามารถเดินทางเรือเลียบชายฝั่งไปสู่บ้านเมืองโพ้นทะเลต่างๆ ได้…’
จารึกที่ช่องสระแจง กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์ชื่อ มเหนทรวรมัน