ผู้เข้าชม
0
27 สิงหาคม 2567

จากนั้นกลายเป็นลำน้ำรวมที่ไหลผ่านเมืองปอยเปต หรือบันเตียเมียนเจย ลงสู่ที่ราบลุ่มไปยังเมืองศรีโสภณ ถือว่าเป็นสันปันน้ำที่แบ่งเขตภูมิวัฒนธรรมอันมีพัฒนาการของชุมชนโบราณแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์คือยุคเหล็กตอนปลายเข้าสู่สมัยก่อนเมืองพระนคร และเมืองพระนครอย่างชัดเจน

โดยสรุป กล่าวได้ว่าพัฒนาการของบ้านเมืองในเขตบริเวณตอนต้นของลุ่มน้ำบางปะกงบรรดาชุมชนเหล่านี้ มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงยุคหิน เช่นที่โคกพนมดีที่ใช้เครื่องมือหิน ซึ่งสัมพันธ์กับการปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเลเมื่อราว ๔,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว และเข้าสู่ยุคเหล็กตอนปลายเมื่อราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ก่อนจะเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่เมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการอยู่อาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์บ้างไม่เห็นภาพของความเป็นชุมชนที่หนาแน่นแต่อย่างใด


หลุมฝังศพแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี จังหวัดชลบุรี

ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยที่มีการรับอิทธิพลวัฒนธรรมทางศาสนาแล้ว พบว่าชุมชนขนาดใหญ่เช่นที่เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรีและเมืองพระรถที่จังหวัดชลบุรี มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับความเชื่อในศาสนาฮินดูมากกว่าพุทธศาสนาเถรวาทแบบทวารวดีอันอยู่ในช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา ก่อนที่ศิลปวัฒนธรรมแบบเขมรสมัยเมืองพระนครที่มีทั้งศาสนาฮินดูและพุทธมหายานจะแพร่เข้ามาในภายหลัง ซึ่งเห็นได้จากรูปแบบของปราสาทขอมและอโรคยศาล สมัยบายนที่เป็นพุทธมหายานแต่รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ราวสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ก็แพร่หลายเข้ามาเป็นช่วงสุดท้าย และเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ บ้านเมืองทั้งในเขตประเทศไทยและกัมพูชาก็เปลี่ยนมาเป็นพุทธเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์

แต่ในพื้นที่ภาคตะวันออกตอนบนแต่เขตอำเภอวัฒนานคร ที่ลำน้ำลำห้วยจากเขาและที่สูงไหลผ่านอำเภอตาพระยาและอรัญประเทศไปลงทะเลสาบเขมรในเขตกัมพูชานั้น หาได้เป็นบริเวณที่นับถือศาสนาฮินดูเหมือนกันกับชุมชนในลุ่มน้ำปราจีนบุรีหรือลุ่มน้ำบางปะกง แต่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมสมัยก่อนเมืองพระนคร (ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๕) ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘วัฒนธรรมเจนละ’
 

ผังเมืองโบราณศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี