ผู้เข้าชม
0
27 สิงหาคม 2567

ปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว

‘ภูมิวัฒนธรรมของการตั้งถิ่นฐานสมัยโบราณกับเมืองหน้าด่านตะวันออก’ บทความที่สังเคราะห์ความรู้ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้ขยายภาพเพ่งไปที่บริเวณเขตสันปันน้ำด้านตะวันออกของภูมิภาคนี้ที่เป็นรอยต่อของราชอาณาจักรกัมพูชาไว้ว่า

‘… กลุ่มชุมชนบริเวณตาพระยาซึ่งพื้นที่เป็นแบบที่ราบลุ่มสลับภูเขาลูกโดด ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับเทือกเขาพนมดงเร็กลง มาทางใต้จนจดเขตตำบลโคกสูง แยกออกได้เป็นสองส่วนคือ อาณาบริเวณด้านทิศเหนือกินพื้นที่ในเขตตำบลนางรอง ตำบลทัพราช ตำบลทัพไทย ตำบลทัพเสด็จ ลงมาถึงตลาดสดตาพระยา พบแหล่งโบราณคดีที่เป็นปราสาทในวัฒนธรรมแบบเขมรทั้งเล็กและใหญ่มากมาย ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่อยู่ในระนาบเดียวกันกับ ‘ปราสาทบันทายฉมาร์’ อันเป็นเมืองใหม่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทางฝั่งกัมพูชา จังหวัดบันเตยเมียนเจยในปัจจุบัน

บริเวณด้านใต้อันเป็นที่ลุ่มต่ำมีลำน้ำสายเล็กๆ และที่เป็นหนองขึงในเขตตำบลหนองปรือ ตำบลหนองแวงลงมาถึงตำบลโคกสูงและตำบลโนนหมากมุ่น บรรดาสายน้ำที่ลงจากเขาและที่สูงในบริเวณนี้ไม่ได้ไหลจากตะวันตกมายังตะวันออกอย่างบริเวณตอนบน หากไหลลงจากทางตะวันตกและทางเหนือลงใต้โดยที่มารวมกันในพื้นที่ตำบลหมากมุ่นก่อนที่จะพากันไหลผ่านเข้าเขตกัมพูชา ไปในเขตจังหวัดบันเตยเมียนเจย ก่อนเข้าบริเวณที่ลุ่มต่ำในเขตเมืองศรีโสภณ

เรียกได้ว่าเป็น พื้นที่รอบเขาอีด่าง อันเป็นพื้นที่ที่มีทั้งเขาลูกโดด เขาเล็กเขาน้อย หนองน้ำขนาดใหญ่และเล็ก รวมถึงพื้นที่โคกเนินที่มีลำน้ำใหญ่น้อยไหลลงจากเขาและที่สูงมากมาย พบชุมชนโบราณสมัยเมืองพระนครกระจายกันอยู่มากมาย มีทั้งปราสาทที่ตั้งอยู่บนเขาและหนองน้ำ สระน้ำจำนวนมาก เช่น ปราสาทเขาโล้น ปราสาทสด๊กก๊อกธม ปราสาทสระแซร์ออ ปราสาททับเซียม เป็นต้น

ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว อายุกำหนดตามจารึกที่พบราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ นับเป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในเขตสันปันน้ำฝั่งตะวันออก เป็นปราสาทที่มีรูปแบบทางศิลปกรรมในช่วงเกลียงต่อกับบาปวน

ชุมชนโบราณและสภาพภูมิประเทศในเขตฟากสันปันน้ำทางตะวันออกนี้ หากใช้ ‘เขาสามสิบ’ เป็นเขาศักดิ์สิทธิ์และเป็นจุดสันปันน้ำ ธารน้ำลำห้วยที่ไหลลงจากเขาและที่สูงจะไหลผ่านลงที่ลุ่มต่ำไปรวมกับลำน้ำพรมโหดไหลผ่านที่ราบลุ่มเข้าสู่บริเวณตัวอำเภออรัญประเทศ อันเป็นจุดที่มีลำห้วยไผ่ไหลผ่านเมืองไผ่มาสมทบ