ผู้เข้าชม
0
27 สิงหาคม 2567


แผนผังจำลองปราสาทสด๊กก๊อกธม

ซึ่งที่ผ่านมาเคยทราบกันว่าปราสาทหินพิมายที่มีอายุอ่อนกว่าปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้ เป็นปราสาททรงพุ่มหลักแรกในศิลปะเขมร แต่ผลจากการศึกษาครั้งนี้เองจึงทำให้ทราบว่านอกเหนือจากปราสาทหินพิมายแล้ว ปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้ ควรที่จะให้อยู่ในกลุ่มปราสาทศิลปะเขมรในประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นทรงพุ่มรุ่นแรกด้วยเช่นกัน

สำหรับคติการสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นคติการจำลองจักรวาลของการสร้างศาสนสถานรับผ่องถ่ายความเชื่อที่วัฒนธรรมเขมรรับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดีย โดยเชื่อว่าการสร้างศาสนสถานสำหรับเป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าในศาสนาฮินดู  เปรียบเหมือนเป็นที่สถิตของเทพเจ้า คือ เขาพระสุเมรุ  อันเป็นแกนกลางของจักรวาล โดยตัวศาสนสถานมีสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ใช้แทนความหมายของภูมิจักรวาล เช่น ปราสาทประธานแทนเขาพระสุเมรุ สระน้ำแทนมหาสมุทรทั้งสี่ การสร้างศาสนสถานเป็นการจำลองจักรวาลมาไว้บนโลกมนุษย์ และเป็นที่สถิตของเทพเจ้า จึงต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ ตามที่กำหนดไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาอย่างเคร่งครัด ศาสนสถานจึงมีขนาดใหญ่โต และใช้เวลาก่อสร้างยาวนาน ซึ่งใช้ในความหมายที่เป็นศูนย์กลางของเมืองหรือชุมชน

ลักษณะแผนผังบริเวณปราสาทสด๊กก๊อกธม แสดงให้เห็นถึงแผนผังการก่อสร้างอาคารที่มีทางเดินมุ่งเข้าสู่จุดศูนย์กลาง ซึ่งลักษณะของแผนผังรูปแบบนี้ เรียกว่า ‘แผนผังที่ใช้แกนเป็นหลัก’  สร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล ตั้งอยู่บนเนินดินสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีองค์ประกอบและความหมายดังนี้

• บาราย เป็นสัญลักษณ์ที่เปรียบเทียบเสมือนมหานทีสีทันดร บารายเป็นที่เก็บน้ำขนาดใหญ่สำหรับการอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม

• สระน้ำรูปปีกกา สัญลักษณ์ที่เปรียบเสมือน มหาสมุทรทั้งสี่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ

• ทางดำเนิน ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์เปรียบเสมือนสะพานสายรุ้ง คือเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์

• ประสาทประธาน เป็นอาคารจุดศูนย์กลางของปราสาทสด๊กก๊อกธม เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุหรือเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระศิวะ และภายในปราสาทประธานเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ ที่เป็นรูปเคารพแทนองค์พระศิวะ