ผู้เข้าชม
0
16 กันยายน 2566

ทับหลังสลักรูปเทวดานพเคราะห์ ศิลปะลพบุรี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗    หินทราย ขนาด กว้าง ๒๕ เซนติเมตร ยาว ๑๑๓ เซนติเมตร หนา ๒๙ เซนติเมตร สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ประทานให้กรมศิลปากร มีลักษณะแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สลักภาพเทวดานพเคราะห์จำนวน ๙ องค์อยู่ในซุ้ม แต่ละองค์ประทับอยู่บนสัตว์พาหนะ ยกเว้นพระราหู แผ่นหินสลักนี้คล้ายกับทับหลังที่ใช้ประดับอยู่บนกรอบประตูของปราสาทแบบเขมร แต่แผ่นหินนี้มีขนาดเล็กกว่ามาก

พระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธินาคปรก  ศิลปะอยุธยา อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐เป็นสำริด สูง ๙๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๕๖ เซนติเมตร  สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ประทานให้กรมศิลปากร   ลักษณะพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่องปางสมาธิประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปสี่เหลี่ยม พระเนตรเปิด เหลือบมองต่ำ พระโอษฐ์ค่อนข้างหนา พระกรรณยาวสวมกุณฑลหรือตุ้มหู ทรงสวมมงกุฎทรงกรวยหรือชฎามกุฎ  สวมกรองศอ พาหุรัด กำไลข้อพระกร หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางบนพระเพลา ขอบสบงเว้าต่ำ ประทับนั่งบนขนดนาคสามชั้น มีเศียรนาคเจ็ดเศียร แผ่พังพานอยู่ด้านบน

พระพุทธรูปทรงเครื่องปางป่าเลไลยก์ ศิลปะอยุธยา อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ –๒๓  เป็นไม้ สูง ๑๓๙ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๔๓.๘ เซนติเมตร  โดยพระครูสิริธรรมาทร เจ้าอาวาสวัดสะแก เจ้าคณะอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕  ลักษณะ พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ประทับนั่งบนฐานบัวหงาย ห้อยพระบาททั้งสองข้างบนฐานสี่เหลี่ยมยกสูง  พระพักตร์รูปไข่ พระเนตรเหลือบมองต่ำ ปลายพระเนตรชี้ขึ้น พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็ก พระหัตถ์ขวาวางคว่ำ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระชานุ สันนิษฐานว่า สร้างรูปช้างและวานรประกอบที่ฐานด้านหน้า แต่หลุดหายไป เป็นพระพุทธรูปที่ฉลองพระองค์ทรงเครื่องขัตติยราชแบบกษัตริย์ เช่น สวมมงกุฎ กรองศอ ทับทรวง ฉลองพระบาท ฯลฯ โดยเป็นที่นิยมสร้างกันมากในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และแบ่งออกได้เป็น ๒ แบบ คือ แบบทรงเครื่องใหญ่ และแบบทรงเครื่องน้อย

ภายในพื้นที่จัดแสดงด้านในยังมีโบราณวัตถุที่น่าสนใจนอกเหนือจากนี้ อย่างสิ่งของที่ประชาชนมอบให้ ได้แก่  ภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์รูปแบบต่างๆ เครื่องมือเครื่องใช้สำริด เครื่องถ้วยจีน ตลอดจนศิลปะพื้นบ้านอีสาน   และมีศิลปวัตถุที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ อย่าง พระเก้าอี้ ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาแล้ว 3 รัชกาลด้วยกัน คือ

1. รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี เสด็จมาทำพิธีเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา พ.ศ.2443

2. รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พิธีฉลองโล่ห์กองทหารม้า พ.ศ.2446

3. รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คราวเสด็จประพาสเมืองนครราชสีมา พ.ศ.2498

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปท่องเที่ยวเยี่ยมชม ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ใจกลางเมืองจังหวัดนครราชสีมา

การบริการ- การเข้าชม มีอัตราค่าธรรมเนียมเข้าชม

  • ประชาชนชาวไทย คนละ 10 บาท
  • ชาวต่างประเทศ คนละ 50 บาท
  • นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ พระภิกษุ-สามเณร ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม

เวลาปิด-เปิด

  • เปิดทำการวันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 09.00 - 16.00 น.
  • หยุดประจำสัปดาห์ วันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์