ปราสาทสด๊กก๊อกธม อยู่ห่างจากชายแดนประเทศไทย - ประเทศกัมพูชา เป็นระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร เดิมเรียกว่าปราสาทเมืองพร้าว ต่อมาเรียกว่า ปราสาทสด๊กก๊อกธม คำว่า สด๊กก๊อกธม เป็นภาษาเขมร คำว่า สด๊ก มาจากคำว่า สด๊อก แปลว่า รก ทึบ คำว่า ก๊อก แปลว่า ต้นกก และคำว่า ธม แปลว่า ใหญ่ ดังนั้น สด๊กก๊อกธม จึงแปลว่า รกไปด้วยต้นกกขนาดใหญ่
เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ขณะนั้นจังหวัดสระแก้วยังเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรี และแถบชายแดนตะวันออกติดกับ ราชอาณาจักรกัมพูชายังระอุด้วยไฟสงครามของอุดมการณ์ทางการเมือง อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เคยได้ออกสำรวจปราสาทสด๊กก๊อกธม พร้อมกับกลุ่มนักศึกษาโบราณคดีในยุคนั้น ซึ่งถือว่าเป็นการสำรวจยุคแรกๆ ที่เป็นไปตามหลักระเบียบวิธีวิจัยทางวิชาการของไทย
ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นโบราณสถานขอมที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออก ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เพื่อใช้ประดิษฐานรูปเคารพและใช้ประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ทั้งนี้คำว่า ‘สด๊กก๊อกธม’ นั้น หมายถึง ‘เมืองที่มีต้นกกขึ้นรกในหนองน้ำใหญ่’ และในปัจจุบันเค้าลางของความหมายนี้ ก็ยังพอมองเห็นได้จากหนองน้ำใหญ่ที่น่าจะเป็นร่องรอยของอดีตตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก
หนองน้ำขนาดใหญ่บริเวณปราสาทสด๊กก๊อกธม
บรรณาลัยภายในเขตปราสาทสด๊กก๊อกธม
อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหญ้าแก้ว ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว มีอายุกว่า ๙๐๐ ปี กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ แต่เนื่องจากภัย-ธรรมชาติและการสู้รบตามแนวชายแดนทำให้ปราสาทแห่งนี้รกร้างยาวนาน
ในพุทธศักราช ๒๕๓๘ - ๒๕๕๓ กรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยดำเนินงานทางโบราณคดี และบูรณะปราสาทด้วยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) ซึ่งเป็นวิธีประกอบรูปโบราณสถานขึ้นจากซากปรัก-หักพัง ให้กลับมามีสภาพที่รักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด
ตัวปราสาทสด๊กก๊อกธม ก่อด้วยหินทรายมีโคปุระ หรือซุ้มประตูเหลืออยู่เพียงด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเท่านั้น ภายในระเบียงคดมีบรรณาลัยก่อด้วยหินทราย ๒ หลังอยู่หน้าปราสาทหลังกลางซึ่งเป็นปรางค์ประธาน ส่วนด้านนอกปราสาททางทิศตะวันออก มีสระน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมและมีถนนปูด้วยหินจากตัวปราสาทไปจนถึงสระน้ำ ปราสาทนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้วยความเชื่อที่ว่าทิศตะวันออกเป็นทิศแห่งพลังแสงสว่างและสิริมงคล ส่วนทิศตะวันตกเป็นทิศแห่งความตาย