ผู้เข้าชม
0
16 กันยายน 2566

 

พิพิธภัณฑสถานสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ จังหวัดนครราชสีมา อาคารชั้นเดียวทรงไทยประยุกต์ ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา ในพื้นที่ของวัดสุทธจินดาวรวิหาร ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ภายนอกคูเมืองเก่าด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นคูเมืองที่สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ชื่อของ พิพิธภัณฑ์สถานสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ นั้นมาจากชื่อของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)

เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ริเริ่มก่อตั้ง อดีตพระเถระสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาส วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อำเภอเมืองอุบลราชธานี , วัดสุทธจินดาวรวิหาร มณฑลนครราชสีมา , วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ และวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ  โดยมีตำแหน่งและสมณศักดิ์ เป็นถึงสังฆนายกรูปแรกแห่งประเทศไทย

 

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาวรวิหาร ได้มอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ท่านรวบรวมไว้ให้กับกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาค้นคว้าจัดแสดง และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน  กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์สถานขึ้น เป็นอาคารชั้นเดียวทรงไทยประยุกต์ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ และเปิดบริการให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่  ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๗

ภายในพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และวัฒนธรรมต่างๆตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ อาทิ สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์  โดยเป็นโบราณวัตถุที่ได้จากแหล่งขุดโบราณคดี โบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา เช่น บ้านปราสาท บ้านดอนขวาง เมืองเสมา และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสิ่งของที่ประชาชนบริจาคให้เพิ่มเติมในภายหลังด้วย