ผู้เข้าชม
0
27 สิงหาคม 2567

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบความนิยมของการประดับชั้นหลังคาในสถาปัตยกรรมเขมรนั้น คงมิใช่จะเกิดขึ้นแต่เฉพาะตัวปราสาทประธานเท่านั้น ดังเช่นตัวโคปุระชั้นในด้านทิศตะวันออกของปราสาทก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากการที่เคยประดับชั้นหลังคาด้วยปราสาทจําลองมาสู่การประดับชั้นหลังคาด้วยตัวกลีบขนุนรูปนาคด้วยเช่นกัน ซึ่งการที่โคปุระของปราสาทสด๊กก๊อกธมได้นําเอาตัวกลีบขนุนรูปนาคมาใช้เป็นส่วนประกอบที่สําคัญในการประดับชั้นหลังคานั้น จึงได้ทําให้ตัวโคปุระแห่งนี้กลายเป็นทรงพุ่มด้วยเช่นเดียวกัน จากช่วงเวลานี้เองความนิยมนี้คงได้ส่งผลให้ตัวโคปุระของปราสาทอื่นๆ ในศิลปะเขมรมีรูปร่างที่คล้ายคลึงและสอดคล้องกับรูปทรงของปราสาทประธานด้วย ยกตัวอย่างเช่น ตัวโคปุระของปราสาทบา-ปวน

จากหลักฐานข้อความในศิลาจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ ๒ ได้ทําให้คลี่คลายและทราบว่าปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้ ได้เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย แต่อย่างไรก็ตาม รูปเคารพหลักของตัวปราสาทสด๊กก๊อกธมก็มิได้มีการถูกค้นพบและกล่าวถึงในรายงานสํารวจมาก่อนเลย จึงทําให้เกิดข้อสันนิษฐานได้ว่ารูปเคารพหลักที่ประดิษฐานอยู่ ณ ปราสาทแห่งนี้นั้นคงได้ถูกโจรกรรมและขนย้ายออกไปนานมากแล้ว

นอกเหนือจากนี้ บรรดาภาพสลักเล่าเรื่อง ที่ปรากฏยังปราสาทสด๊กก๊อกธมก็พบเพียงไม่มากนัก ทั้งนี้คงเนื่องมาจากสาเหตุสําคัญคือ บรรดาภาพเล่าเรื่องเหล่านี้คงได้ถูกโจรกรรมและทําลายลงด้วยเช่นกัน ภาพสลักเล่าเรื่องที่สําคัญที่สุดที่ได้ปรากฏอยู่ ณ ปราสาทสด๊กก๊อกธมคือ ภาพศิวคชาสูร ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาพประติมานวิทยาที่หาพบได้ยากและไม่บ่อยนักในศิลปะเขมร และถือได้ว่าเป็นภาพคชาสูรแห่งเดียวที่ได้ปรากฏอยู่ในศิลปะเขมรในประเทศไทย

 


 

อ้างอิง

ปราสาทสด๊กก๊อกธม อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม กรมศิลปากร

‘ภูมิวัฒนธรรมของการตั้งถิ่นฐานสมัยโบราณกับเมืองหน้าด่านตะวันออก’ บทความที่สังเคราะห์ความรู้ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

'ปราสาทสด๊กก๊อกธม: ปราสาทเขมรทรงพุ่มรุ่นแรกในประเทศไทย' วิทยานิพนธ์โดย โดย ราฆพ บัณฑิตย์ ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖

‘อนัสติโลซิสเพื่อการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม (An anastylosis for the restoration of sdok kok thom temple) วิทยานิพนธ์ โดย วสุ โปษยะนันทน์  หลักสูตรปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๒  



คำสำคัญ : ปราสาทสด๊กก๊อกธม,ปราสาทเมืองพร้าว,ปราสาทเขมร,สระแก้ว
พรเทพ เฮง
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกโบราณคดี รุ่น ๓๘ ทำงานด้านสื่อ ด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และสาระบันเทิงมาค่อนชีวิต