ผู้เข้าชม
0
27 สิงหาคม 2567

ปราสาทประธานปราสาทสด๊กก๊อกธม

ฐานไม่มีร่องรอยของการแกะสลักลวดลายใดๆ 

เมื่อวิเคราะห์โครงสร้างของปราสาทประธานปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณส่วนฐานของตัวปราสาทประธาน ผู้วิจัยพบว่า ไม่มีร่องรอยของการแกะสลักลวดลายใดๆ ทั้งสิ้น จากหลักฐานเหล่านี้เองจึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า ตัวปราสาทประธานปราสาทสด๊อกก๊อกธมยังคงสร้างไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์

ตามข้อเสนอของผู้วิจัยสันนิษฐานว่า ด้วยสาเหตุที่ตัวปราสาทแห่งนี้มีการสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ คงเนื่องมาจากสาเหตุที่พราหมณ์สทาศิวะ ผู้ซึ่งมีความสําคัญยิ่งได้ถึงแก่อสัญกรรม นอกจากนั้นยังทําให้พบว่าเทคนิคและวิธีการดําเนินงานของช่างเขมรโบราณในการแกะสลักลวดลายต่างๆ ที่จะประดับประดาลงบนตัวอาคารสถาปัตยกรรมนั้น ช่างชาวเขมรโบราณได้มีเทคนิคการแกะสลักหินทราย โดยเริ่มต้นจากบริเวณส่วนบนของตัวอาคารก่อน แล้วจึงได้มีการแกะสลักหินทรายส่วนอื่น ไล่ลงมายังบริเวณส่วนล่างของตัวสถาปัตยกรรม ซึ่งมีตัวอย่างเช่นเดียวกันนี้ที่ปราสาทตาแก้ว เมืองพระนคร

ลักษณะเด่นที่สําคัญของปราสาทประธานปราสาทสด๊กก๊อกธม คือตัวปราสาทประธานควรที่อาจจะจัดได้ว่าเป็นปราสาททรงพุ่มในรุ่นแรกของศิลปกรรมเขมร และอาจถือได้ว่าเป็นปราสาททรงพุ่มที่มีความเก่ากว่าปราสาทหินพิมาย โดยอาศัยหลักฐานข้อความจากศิลาจารึกที่กล่าวถึงปีการสถาปนาปราสาทสด๊กก๊อกธมที่สร้างขึ้นก่อน คือในปี พ.ศ. ๑๕๙๕ แต่การที่จะกล่าวสรุปได้ว่าปราสาทประธานปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้เป็นปราสาททรงพุ่มหลังแรกนั้นคงยังไม่เด่นชัด อันเนื่องด้วยสาเหตุที่ได้มีการค้นพบปราสาทหลังอื่นๆ ที่มีลักษณะการก่อสร้างเป็นทรงพุ่มมาก่อนแล้วด้วยเช่นกัน โดยที่บรรดาปราสาทเหล่านั้นซึ่งได้แก่ ปราสาทตาเมือนธม อําเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ และปราสาทสระกําแพงใหญ่ อําเภออุทุม-พรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับการสถาปนาขึ้นในรัชกาลพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๑ ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าปราสาทสด๊กก๊อกธมทั้งสิ้น 

เอกลักษณ์รูปแบบของปราสาทที่มีลักษณะเป็นทรงพุ่มนั้น จึงพอที่จะสรุปได้ว่าน่าที่จะได้เริ่มทําการก่อสร้างและกําเนิดขึ้นในช่วงราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นอย่างน้อย โดยที่ปราสาทสระกําแพงใหญ่ เราได้พบมีการใช้กลีบขนุนรูปนาคและปราสาทจําลองในการประดับชั้นหลังคาอยู่ ส่วนที่ปราสาทตาเมือนธมพบเพียงแต่การใช้กลีบขนุนรูปนาคประดับชั้นหลังเท่านั้น จึงทําให้พอที่จะกล่าวได้ว่าปราสาทสระกําแพงใหญ่คงจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถาปัตยกรรมในศิลปะเขมรที่จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการประดับชั้นหลังคาปราสาทที่เคยใช้ตัวปราสาทจําลองอันเป็นอิทธิพลอินเดีย มาสู่การประดับชั้นหลังคาปราสาทด้วยตัวกลีบขนุนรูปนาค